Aliens (1986)
: James Cameron ♥♥♥♥
ภาคต่อของ Alien (1979) ที่ได้แปรสภาพจากแนว Horror Sci-Fi กลายเป็น Action Sci-Fi อีกหนึ่งของการปฏิวัติภาพยนตร์แนวนี้ โดยผู้กำกับ James Cameron ที่เพิ่งเสร็จสร้าง The Terminator (1984) เราจะเห็นพิมพ์เขียวหลายๆอย่างที่อีก 2 ทศวรรษถัดมากลายเป็น Avatar (2009)
โดยปกติแล้วหนังภาคต่อ มักจะมีแนวทาง direction ที่ใกล้เคียงกับภาคแรก อาจจะขยายเรื่องราวหรือมีเหตุการณ์เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน แต่ Alien กับ Aliens (เติม s เข้าไปจากเอกพจน์กลายเป็นพหูพจน์) มีการเปลี่ยนแปลงแนวหนังที่ทำให้สัมผัสของทั้งสองภาคแตกต่างโดยสิ้นเชิง, ต้องบอกว่านี่เป็นความรู้สึกค่อนข้างละเอียดอ่อน ผู้ชมที่ไม่ได้สนใจอะไรพวกนี้คงไม่สามารถรับรู้ความแตกต่างแน่นอน ยังไงลองศึกษาจากบทความนี้ดูนะครับ ความแตกต่างที่ผมว่านี้แหละทำให้ Aliens ได้รับการยกย่องกล่าวขวัญ เทียบเท่าไม่ยิ่งหย่อนกว่า Alien แม้แต่น้อย
หลังความสำเร็จของ Alien (1979) มีหรือผู้สร้างจะไม่อยากทำภาคต่อออกมา แต่ขณะนั้น 20th Century Fox อยู่ในช่วงผลัดเปลี่ยนเจ้าของ โดยสองนักลงทุนชื่อดัง Marc Rich กับ Marvin Davis เข้ามาซื้อกิจการมูลค่า $700 ล้านเหรียญเมื่อปี 1981 ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในครั้งใหญ่ ผู้บริหารสตูดิโอคนใหม่ Norman Levy ไม่สนใจการสร้างหนังภาคต่อแม้แต่น้อย ทำให้โปรเจคต้องพับไป, ปี 1983 มีการเปลี่ยนผู้บริหารอีกครั้ง Larry Gordon ทำให้ภาคต่อของ Alien กลับมาสดใสอีกครั้ง
โปรดิวเซอร์ Larry Wilson คงเคยยื่นข้อเสนอให้ Ridley Scott ผู้กำกับ Alien (1979) กลับมาสานงาน แต่เจ้าตัวขณะนั้นยังไม่มีความสนใจทำหนังภาคต่อ (หนีไปสร้าง Blade Runner ตามด้วย Legend) ฯ จึงต้องมองหาผู้กำกับคนอื่น ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสอ่านบทหนัง The Terminator เกิดความประทับใจอย่างยิ่ง ชักชวน James Cameron ที่ปรากฎว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ Alien ให้มาร่วมงาน เจ้าตัวตอบตกลงแทบจะทันที, ใช้เวลาช่วงระหว่างรอคิวถ่ายทำ The Terminator (Arnold Schwarzenegger ติดงานถ่าย Conan the Destroyer ยังไม่ว่างมาแสดง) ได้พัฒนาบทภาพยนตร์จนเกือบเสร็จ ผู้บริการ Gordon ได้เห็นวิสัยทัศน์แล้วเกิดความประทับใจอย่างยิ่ง ‘ถ้า The Terminator ประสบความสำเร็จ จะให้สร้าง Aliens ต่อเลย’
James Francis ‘Jim’ Cameron (เกิดปี 1954) ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติ Canadian ถือเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ประสบความสำเร็จสูงสุดใน Hollywood ด้วยคำเรียกขานตัวเอง ‘I’m king of the world!’ [จากหนังเรื่อง Titanic] มีภาพยนตร์ 2 เรื่องที่เคยทำเงินสูงสุดในโลก Titanic (1997) และ Avatar (2006)
เกิดที่ Kapuskasing รัฐ Ontario ด้วยความเป็นเด็กเรียนไม่เก่ง ออกจากโรงเรียนกลางคันไปเป็นคนขับรถบรรทุก กระทั่งวันหนึ่งมีโอกาสรับชมหนังเรื่อง Star Wars (1977) ตัดสินใจว่าชีวิตนี้ต้องเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ให้ได้, เริ่มต้นงานในวงการจากการเป็นผู้สร้าง miniature-model ที่สตูดิโอ Roger Corman Studios ไม่นานกลายเป็น Art Director ให้กับหนังไซไฟเรื่อง Battle Beyond the Stars (1980) ต่อมาทำ Special Effects ให้กับ Escape from New York (1981) ของผู้กำกับ John Carpenter, Production Designer เรื่อง Galaxy of Terror (1981) ฯ
ระหว่างทำ Special Effects ให้กับหนังเรื่อง Piranha II: The Spawning เมื่อปี 1981 ผู้กำกับหนัง Miller Drake ถอนตัวจากโปรเจคกลางคันเนื่องจากความคิดสร้างสรรค์แตกต่าง โปรดิวเซอร์ Ovidio Assonitis จึงมอบโอกาสทองให้ Cameron ก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับ, แม้ผลลัพท์ออกมาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แต่ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้เขาได้แรงบันดาลใจสร้าง The Terminator (1984) ผลงานแจ้งเกิด หนึ่งในหนังไซไฟได้รับการกล่าวขาน ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก
ความสำเร็จอันล้นหลามของ The Terminator ทำให้ Cameron ได้รับอิสระในทิศทางการสร้าง Aliens ไม่จำเป็นต้องรักษาสูตรสำเร็จแนวทางเดิมของ Alien ซึ่งตัวเขามีความสนใจอย่างยิ่ง ในการสร้างฉากการต่อสู้ล้ำยุค เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เปลี่ยนแนวหนังไปที่ ‘more on terror, less on horror’ นำแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ สงครามเวียดนาม ที่กองทัพสหรัฐมีอาวุธยุทโธปกรณ์เหนือล้ำหน้ากว่าเวียดกงมาก จนเกิดความเย่อหยิ่งจองหอง แต่สุดท้ายกลับไม่สามารถเอาชนะ พ่ายแพ้ย่อยยับเยินกลับมา (นี่คือเจนคติของเหล่านาวิกโยธิน ที่เปรียบเทียบเอเลี่ยนว่าเป็นแค่แมลงชั้นต่ำ สุดท้ายแทบทุกคนถูกฆ่าอย่างเลือดเย็น น่าสมน้ำหน้า!)
เกร็ด: คำว่า the drop, bug hunt และเครื่อง Exoskeleton ในหนังได้แรงบันดาลใจจากนิยายของ Robert A. Heinlein เรื่อง Starship Troopers
Sigourney Weaver ผู้รับบท Ripley ในภาคแรก เกิดความไม่มั่นใจในโปรเจคภาคต่อ แต่เมื่อได้พบปะพูดคุยกับ James Cameron เธอเกิดความประทับใจอย่างยิ่ง ยินยอมกลับมารับบทด้วยค่าตัวสูงถึง $1 ล้านเหรียญ (มากกว่าเดิม 30 เท่า) ทีแรก Fox จะไม่เอา แต่ผู้กำกับยืนกรานว่าต้อง Weaver นำแสดงเท่านั้น สุดท้ายก็เลยต้องยินยอม
เกร็ด: Weaver ได้รับฉายาในกองถ่ายว่า Rambolina เป็นการล้อบทบาทของเธอ ว่าคล้าย John Rambo เสียเหลือเกิน
Ellen Ripley จากที่เอาแต่วิ่งหนีในภาคก่อน กลับมาครั้งนี้ประสบการณ์เดิมสั่งสอนเรียนรู้จดจำ ไม่อีกแล้วที่จะนิ่งเฉยรอคอยความช่วยเหลือจากใคร ในเมื่อฉันก็คือมนุษย์คนหนึ่ง สามารถจับปืนลุกขึ้นมาต่อสู้ สวม Exosuit ต่อกรกับเอเลี่ยนตัวแม่ ปกป้องเด็กหญิงที่เกิดความรักเอ็นดูราวกับลูกแท้ๆ คงด้วยสันชาติญาณแม่ นี่คือภาพลักษณ์ใหม่ของ Ripley ที่เรียกว่า ‘หญิงแกร่ง’
การแสดงของ Weaver ได้รับคำชมอย่างยิ่ง ในการถ่ายทอดความเข้มแข็งของหญิงสาว ผู้ชายทำอะไรได้ฉันก็ต้องทำได้, เธอได้เข้าชิงทั้ง Golden Globes และ Oscar สาขา Best Actress ถือว่าสมควรอย่างยิ่ง แม้ไม่ได้รางวัล (พ่ายให้กับ Marlee Matlin จาก Children of a Lesser God) แต่ก็ถือว่าเป็น milestone ครั้งสำคัญของหนังแนว Action/Horror/Sci-Fi ครั้งแรกที่มีนักแสดงเข้าชิงรางวัลการแสดง
ถึงทุนสร้างจะเพิ่มขึ้นจากภาคก่อนเท่าตัว แต่ Aliens ยังคงต้องปักหลักถ่ายทำที่ Pinewood Studios, London และ Cameron ต้องร่วมกับทีมงานชาวอังกฤษ ที่ล้วนชื่นชมยกย่องผู้กำกับ Ridley Scott แทบไม่มีใครเชื่อมือผู้กำกับหน้าใหม่ คิดว่าเขายังอายุน้อยไร้ประสบการณ์ พยายามหาเรื่องเลี่ยงงาน ไม่เคารพยอมรับ, ขนาดว่า Cameron พยายามนำ The Terminator ที่ยังไม่ได้ฉายในอังกฤษมาให้พวกเขารับชมดูก่อน จะได้มีทัศนคติเปลี่ยนไป แต่หลายคนก็มิได้สนใจ หาข้ออ้างโน่นนี่นั่น (นิสัยผู้ดีอังกฤษก็ประมาณนี้นะครับ เย่อหยิ่งจองหอง)
ผู้กำกับภาพก็เช่นกัน เดิมร่วมงานกับ Dick Bush ที่หาข้ออ้างโน่นนี่ คิวงานไม่ว่างบ้าง จัดแสงยึดตามความต้องการของตนเอง จนทำให้ Cameron ไม่พึงพอใจรุนแรง สุดท้ายถึงขั้นไล่ออก แล้วได้ Adrian Biddle ที่เคยเป็นผู้ช่วย Ridley Scott ขึ้นมาเป็นตากล้องแทน
(เป็นกองถ่ายที่มีบรรยากาศ มาคุ อย่างยิ่ง)
ลักษณะของงานภาพมีความมืดหม่น อึมครึม ไม่เน้นบรรยากาศความสยดสยอง แต่เป็นลุ้นระทึกตื่นเต้น จะไม่มีเอเลี่ยนแบบผุบโผล่ออกมาให้บังเอิญตกใจ ส่วนใหญ่จะค่อยๆปรากฎ ค่อยๆเคลื่อนตัวเดินเข้ามาช้าๆ เน้นปริมาณมากให้เกิดอาการขนลุกซู่ มากความความหวาดกลัวที่น่าสะพรึง
จุดเด่นของ Aliens ยังคงคือการจัดแสงที่มีนัยยะสำคัญ ในการเปรียบเทียบเอเลี่ยนกับความมืดหม่น/ความชั่วร้าย ส่วนเหล่านาวิกโยธิน แทบจะไม่มีแสงตรงๆส่องไปถึงพวกเขาเลย (มีนัยยะถึง แสงสว่างไปไม่ถึงคนพวกนี้)
Concept Art ออกแบบโดย Syd Mead ที่มีผลงานอย่าง Blade Runner, Tron ฯ ผลงานเด่นกับเรื่องนี้ คือยานอวกาศ Sulaco เดิมที่ Cameron ออกแบบไว้มีลักษณะเป็นทรงกลม แต่เพราะมันคงดูตลกเกินไป สุดท้ายจึงเปลี่ยนมาใช้ต้นแบบของ F-4 Phantom II ผสมกับ AH-1 Cobra [เครื่องบินที่ใช้ในสงครามเวียดนาม]
เกร็ด: ด้วยรูปทรงใหม่นี้ทำให้ Sulaco ได้รับฉายาว่า ‘gun in space’
สำหรับ Alien Queen ได้แรงบันดาลใจจากหนึ่งในงานออกแบบของ H. R. Giger ชาว Swiss นำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ทำให้ส่วนหัวมีขนาดเล็กลง แต่ตัวใหญ่ขึ้น สูง 8 ฟุต (=2.4 เมตร) โครงสร้างร่างกาย บางอย่างตัดออกให้มีความเพียว เคลื่อนไหวง่ายขึ้น และส่วนหางที่วิวัฒนาการขึ้นมาจาก Facehugger ได้ใช้ประโยชน์เยอะทีเดียว
เกร็ด: Alien Queen ไม่ได้ใช้คนสวมชุดเคลื่อนไหวนะครับ มีเครื่องยนต์กลไกซ่อนอยู่เบื้องหลัง ใช้ Pullback Motor ควบคุมถึง 14 คน (แต่ Alien ขนาดปกติยังคงใช้ชุดยาง สวมใส่นักแสดงแทนนะครับ)
ช่วงท้ายของหนังยังคงเต็มไปด้วย Special Effect สุดอลังการ (ในสมัยนั้น) แสงไฟหมุนกระพริบถี่ๆจนแสบตา, ควันสีขาวที่พวยพุ่งออกมาจากท่อ จนแทบมองอะไรไม่เห็น, เสียงสัญญาณเตือนภัยพร้อมระเบิด, เสียงเครื่องยนต์กลไกที่กำลังทำงานผิดพลาด ฯ เหล่านี้เพื่อสร้างความสับสนวุ่นวายอลม่าน ให้ผู้ชมเกิดความเครียดวิตกจริต สมัยนั้นถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง แต่สมัยนี้กับคนดูเป็นอาจจะไม่ค่อยรู้สึกอะไรเท่าไหร่
ตัดต่อโดย Ray Lovejoy ที่มีผลงานดังอย่าง 2001: A Space Odyssey (1968), The Shining (1980), The Dresser (1983), Batman (1989) ฯ
ไม่ได้ใช้เทคนิค ‘slow pace’ สร้างจังหวะ บรรยากาศให้กับอีกต่อไป แต่ใช้ความเร็วมากขึ้นในการตัดต่อ ‘fast pace’ เพื่อให้เกิดความตื่นเต้น ลุ้นระทึก ในฉากการต่อสู้ (แต่ก็ไม่ได้เร็วเท่าหนังสมัยนี้นะครับ) ผู้ชมแทบไม่เกิดความรู้สึกสยดสยองกับภาพที่เห็นนัก เพราะการตัดต่อไม่ทิ้งไว้นาน กับฉากพวกนั้นแปปๆแล้วก็ตัดเปลี่ยนไปเลย รับรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นแต่ไม่ทันที่จะเกิดความรู้สึกตอบสนอง
มุมมองการเล่าเรื่องถือว่าเป็นของ Ripley เลยก็ได้ เพราะหนังเรื่องนี้ เธอกลายเป็นนางเอกเต็มตัวแล้ว, กับภาคแรกนั้นถือว่ามีความไม่แน่นอน เพราะผู้ชมยังไม่รู้ว่าใครจะรอดถึงตอนจบ แต่หนังเรื่องนี้ ทุกคนจะรับรู้ว่า Ripley ต้องอยู่ถึงตอนจบแน่ แต่จะรอดไหมอาจต้องไปลุ้นอีกที
เพลงประกอบโดย James Horner นี่เป็นผลงานที่เขาบอกว่าประมาณ 80% ของความทุ่มเทเท่านั้น แต่กลับทำให้ได้เข้าชิง Oscar: Best Original Score เป็นครั้งแรก
แผนเดิมในการทำเพลงประกอบ คือระยะเวลา 6 สัปดาห์ ควบคู่ไปกับปรับแต่งให้เข้ากับหนัง แต่กลายเป็นว่าเหลือเวลาอีก 3 สัปดาห์จะฉาย ยังตัดต่อเสร็จไม่ถึงครึ่ง เห็นว่าบทเพลงขณะ Ripley สู้กับ Alien Queen ฉากสุดท้าย Horner แต่งข้ามคืน (ไม่เสร็จด้วย เลยต้องยืมใช้บทเพลงของ Alien เข้าช่วย) วันรุ่งขึ้นเข้าห้องอัดเลย เป็นความดื้อดึงของผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ที่ไม่ยอมเลื่อนเวลาฉายหนังออกไป ทำให้ตารางงานแน่นขนัด หนังฉายโดยไม่มีรอบปฐมทัศน์ (เพราะเสร็จไม่ทันกำหนด)
สัมผัสของบทเพลงมีความมืดหม่น ตื่นเต้น ลุ้นระทึก ใช้การผสมเสียงจากเครื่อง Synthesizers ทำให้มีกลิ่นอายของโลกอนาคต แต่สามารถมองได้ว่าเป็นตัวแทนของความชั่วร้ายมืดหม่น เป็นเสียงของเทคโนโลยีแทนที่จะเกิดคุณประโยชน์กลับสนองโทษ
หลังจากหนังเรื่องนี้ James Horner ไม่คิดว่าจะได้ร่วมงานกับ Cameron อีกแน่ แต่ทั้งสองก็กลับมาตอน Titanic (1997) และ Avatar (2009) ที่สามารถทำเงินประสบความสำเร็จล้มหลามถล่มทลาย จนใครๆมองว่า Cameron-Horner กลายเป็นคู่หูกันไปแล้ว, น่าเสียดายเราคงไม่มีโอกาสเห็นทั้งสองทำงานร่วมกันอีก เพราะ Horner เสียชีวิตจากเครื่องบินตกเมื่อปี 2015
ใจความของ Aliens ภาคนี้ เราสามารถนำแนวคิดของ Alien ภาคแรกมาต่อยอดได้เลย นั่นคือ แทนด้วยสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย หรือบุคคลกระทำการข่มขืนเหยื่อ, กับภาคที่แล้วนำเสนอในระดับจุลภาค คือใช้เอเลี่ยนตัวเดียวแทนมวลรวมความชั่วร้ายของมนุษย์ แต่กับหนังเรื่องนี้เอเลี่ยนมากมายเต็มไปหมด ถือว่าเป็นตัวแทนระดับมหภาค ความชั่ว/บุคคล ที่พบเจอได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน มีมากเท่าไหร่ก็ไม่มีใครตอบได้
Ripley เป็นหญิงสาวที่เหมือนว่า เคย/เกือบ ถูกข่มขืนมาก่อน จึงมี’ประสบการณ์’ ในการรับมือเรื่องพรรค์นี้ได้เป็นอย่างดี มนุษย์ส่วนใหญ่เราก็จะแบบนาวิกโยธินผู้เย่อหยิ่งทั้งหลาย ของแบบนั้นปากอ้างฉันฝึกฝนเตรียมพร้อมรับมือมาเป็นอย่างดี … สุดท้ายเจอเข้าจริงก็พบว่า ล้วนเป็นพวกหมาเห่าใบตองแห้ง ‘ดีแต่ปาก’ แทบจะไม่มีใครสามารถพึ่งพิงพาได้สักคน
ผู้ชายในหนังเรื่องนี้มีสถานะเป็นพระรอง คือถ้าไม่ปอดแหกแบบ Private Hudson (รับบทโดย Bill Paxton) ก็พึ่งพาไม่ได้เท่าไหร่แบบ Lieutenant Gorman (รับบทโดย William Hope) หรือแม้แต่คนที่เหมือนจะเป็นพระเอก Corporal Dwayne Hicks (รับบทโดย Michael Biehn) พอได้รับบาดเจ็บ ก็ช่วยเหลืออะไรไม่ได้อีกเลย
ตัวละครที่น่าสนใจคือ Bishop (รับบทโดย Lance Henriksen) แอนดรอยด์รุ่นใหม่ที่อ้างว่าได้รับการปรับปรุงให้ดีกว่า Ash จากภาคก่อน, ตอนพบเจอกับ Ripley ครั้งแรก ด้วย Trauma ความทรงจำฝังใจอันชั่วร้าย จึงแสดงความไม่ยอมรับ เหมารวมคิดว่าหุ่นพวกนี้ต้องไม่มาดีแน่ แต่สุดท้ายเพราะความทุ่มเทจริงใจของ Bishop คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้รอดชีวิต นั่นทำให้เธอได้เรียนรู้ใหม่ว่า ‘ใช่ว่าทุกคนที่มีพื้นหลังเดียวกัน จะต้องเป็นคนเลว’
เป็นคำถามที่น่าคิดทีเดียว ความชั่วร้ายทั้งหลายทั้งหมดในโลกนี้ มีสาเหตุจุดเริ่มต้นมาจากอะไร? ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น อาชญากรข่มขืน, นักเลงขี้เมาหัวราน้ำ, มาเฟียเจ้าพ่อขาใหญ่ ฯ เหล่านี้คือด้านมืดความชั่วร้ายของมนุษย์ แต่ใช่ว่าอยู่ดีๆใครสักคน จะลุกขึ้นมาเป็นฆาตกร นักเลง มาเฟีย ฯ มันต้องมีเหตุผล จุดเริ่มต้นบางอย่าง สะสมพอกพูนเปลี่ยนแปลง จากผู้บริสุทธิ์กลายเป็นผู้ร้าย กลายเป็นเอเลี่ยน (Alien สามารถแปลได้ว่า คนแปลกหน้า, ความแปลกแยก, แตกต่าง)
ถ้าเราเปรียบเทียบเอเลี่ยนแต่ละตัว คือความชั่วร้ายแต่ละสิ่งอย่างที่อยู่ในจิตใจมนุษย์ จะสามารถมองว่าแม่/ราชินี ของเหล่าเอเลี่ยน (Alien Queen) คือสาเหตุจุดเริ่มต้นตอของความชั่วร้ายทุกสิ่งอย่าง (นี่เป็นการสมมติจุดเริ่มต้นของความชั่วร้ายขึ้นมา โดยใช้’แม่’ที่มีสถานะเป็นผู้ให้กำเนิด เปรียบเทียบคือจุดเริ่มต้นตนของความชั่วร้าย), การต่อสู้ระหว่าง Ripley กับ Alien Queen คือ มนุษย์ตัวเล็กๆ สู้กับ จุดเริ่มต้น/มารดา ของมวลรวมความชั่วร้ายทั้งปวง
การเผชิญหน้ากันของ Ripley กับ Alien Queen ถือเป็นคู่ปรับที่สมน้ำสมเนื้อ ทั้งสองมีสันชาติญาณเพศแม่ สู้เพื่อปกป้อง/ล้างแค้น แทนลูก, Ripley ปกป้อง Newt เด็กหญิงที่เอ็นดูเหมือนลูกแท้ๆ ส่วน Alien Queen เพราะความโกรธแค้นที่ Ripley ฆ่าลูกในไส้ของตนต่อหน้าต่อตา
ผมไม่ค่อยประทับใจตอนจบของหนังเท่าไหร่ เพราะมันซ้ำกับ Alien คือ เปิดประตูยานอวกาศ ให้แรงกดดันจากภายนอก ฉุดกระชากดึง Alien Queen ให้ออกนอกยาน มีแถมนิดนึงใช่ว่าเธอจะยอมจากไปง่ายๆ ดึงขาเหนี่ยวรั้งไว้ Ripley ไว้ด้วย แต่สุดท้ายมีหรือจะสามารถยื้อรั้งกับบุคคลผู้ไม่ยอมรับความชั่วร้ายเข้ามาในจิตใจ กระเด็นกระดอนล่องลอยออกไปในสุญญากาศ
ฉากสุดท้ายของหนัง ภาพถ่ายให้เห็น Ripley นอนหลับอย่างเป็นสุข นั่นคือผลลัพท์จากการที่ไม่หลงเหลือความชั่วร้ายในใจอีกแล้ว อันทำให้เกิดความสงบนิ่ง ปล่อยวาง … ราวกับนิพพาน หลุดพ้น
บรรดาหนังของ James Cameron ต้องถือว่าหลายๆเรื่องมีความสัมพันธ์ใกล้เคียงกัน, กับ Aliens ผมรู้สึกว่ามีหลายอย่างถือได้ว่าเป็นแม่พิมพ์ของ Avatar (2009) อาทิ การสำรวจอวกาศ, ดวงดาวอันไกลโพ้น, ความเย่อหยิ่งจองหองอวดดีของมนุษย์, ไฮไลท์คงเป็นชุด Exosuit เท่ห์มากขอบอก ฯ นี่ไม่แปลกอะไรนะครับ ผู้กำกับคนเดียวกัน จะสร้างจุดเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในหนังของตัวเองมิได้กระไร
ด้วยทุนสร้าง $17 – 18 ล้านเหรียญ หนังทำรายรับทั่วโลก $183.3 ล้านเหรียญ กลายเป็นหนังเรต R ทำเงินสูงสุดในโลกขณะนั้น, เข้าชิง Oscar 7 สาขา ได้มา 2 รางวัล
– Best Actress (Sigourney Weaver)
– Best Art Direction-Set Decoration
– Best Edited
– Best Music, Original Score
– Best Sound
– Best Sound Editing **ได้รางวัล
– Best Visual Effects **ได้รางวัล
การเข้าชิง Oscar ของ Sigourney Weaver ทำให้กระแสของฮีโร่/นักแสดงนำหญิงใน Hollywood เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น จริงๆคงเริ่มตั้งแต่ The Terminator แล้วละ แต่หนังเรื่องนี้ชัดกว่ามาก (เพราะตัวละครรองไม่เด่นเท่าตัวหลัก และ The Terminator คนมักจะจดจำคนเหล็กได้มากกว่านางเอก)
ส่วนตัวแค่ชอบหนังเรื่องนี้ ไม่ต่างกับ Alien เพราะผมไม่หลงใหลหนังประเภท ฆ่าไว้ก่อน เหตุผลไว้ทีหลัง, แต่ก็ค่อนข้างชอบหลายๆแนวคิดของหนัง โดยเฉพาะ Exosuit รู้สึกว่ามันเจ๋งมากๆ แต่ว่าไปฉากแอ๊คชั่นเริ่มขาดความตื่นเต้น ลุ้นระทึก สมจริง เข้าไปทุกทีเมื่อเทียบเท่ากับสมัยนี้ หนังคงกำลังเริ่มเข้าสู่การเป็น Cult Classic แล้วสินะ
แนะนำกับคอหนัง Action ตื่นเต้น สนุกสนาน ลุ้นระทึก
คอหนัง Sci-Fi ชื่นชอบการครุ่นคิดปรัชญา และตั้งคำถาม
คอหนัง Feminist กับนักแสดงนำหญิง Sigourney Weaver
และเพลงประกอบที่ก็ไม่เลวของ James Horner
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แฟนหนังแฟนไชร์ Alien ถ้าจะเรียกตัวเองว่าแฟนพันธุ์แท้ พลาดเรื่องนี้ไปได้อย่างไร
จัดเรต 18+ กับความเย่อหยิ่งจองหอง ความรุนแรง และความตาย
Leave a Reply