All About Eve (1950) : Joseph L. Mankiewicz ♥♥♥♥
การจะประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดัง บางครั้งต้องแลกมาด้วยการย่ำเหยียบ (stepping stone) บุคคลผู้ให้ความสงเคราะห์ช่วยเหลือ แต่มันคุ้มค่าเหมาะสมคู่ควรแล้วหรือ?, หนังรวมดาราแห่งยุค นำทีมโดย Bette Davis ที่คว้า Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Cannes แต่พลาด Oscar เพราะต้องแย่งกับ Anne Baxter นอกจากนี้ยังมี Celeste Holm, George Sanders, Gary Merrill [ว่าที่ภรรยาใหม่ของ Davis], และแจ้งเกิด Marilyn Monroe เข้าชิง Oscar 14 สาขา (สถิติมากที่สุด) คว้ามา 6 รางวัล รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
รับชมรอบนี้ผมรู้สึก All About Eve มีคุณภาพค่อยๆเสื่อมลงตามกาลเวลา ไม่ค่อยคุ้มค่ากับสถิติเข้าชิง Oscar สูงสุด 14 สาขาเสียเท่าไหร่ คงเพราะในปีเดียวกันนั้นมีหนังเรื่อง Sunset Boulevard (1950) ของผู้กำกับ Billy Wilder ที่มีความคล้ายคลึงอย่างมากให้เปรียบเทียบ ซึ่งต้องบอกว่าภาพรวมของเรื่องนั้นทำได้ยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบกว่า จนกลายเป็นอมตะเหนือกาลเวลาไปแล้ว ส่วนเรื่องนี้แม้ได้การแสดงของ Betty Davis ที่เหนือล้ำกว่า Gloria Swanson แต่ภาพรวมมีความจืดชืด เหนื่อยอ่อนล้า เฉื่อยชา คงเหลือแต่เรื่องวุ่นๆของเหล่าดาราให้พูดถึง (มากกว่าตัวหนังเสียอีก)
แต่อย่าเพิ่งมองว่านี่เป็นหนังห่วยนะครับ ตรงกันข้ามคือโคตรหนังที่มีความยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบมากๆ แค่พอนำไปเปรียบเทียบกับหนังในตำนานระดับเดียวกัน เรื่องราวคล้ายคลึงกัน ความชื่นชมชอบมันเลยอยู่ที่รสนิยมของคุณเอง ซึ่งผมมองว่า Sunset Boulevard >>> All About Eve
ถ้าคุณเป็นคนที่เก่งภาษาอังกฤษอย่างน้อยระดับ Fluent ขอแนะนำอย่างยิ่งให้อ่าน Subtitle ภาษาอังกฤษนะครับ นี่เป็นหนังที่บทสนทนาพูดคุยมีความสวยงาม ไม่ถึงระดับภาษาดอกไม้ แต่ก็เรียกได้ว่า ‘ภาษากวี’ ลีลาการเล่นสัมผัสคำที่ลึกล้ำลงตัว และมีความหมายนัยยะแฝงที่ล้วนซ่อนเร้นอยู่ ผมมีความเพลิดเพลินกับการรับฟังแล้วคิดตามที่ตัวละครพูดอย่างยิ่ง ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพแล้วกัน
– “Fasten your seat belts, it’s going to be a bumpy night!” ถ้าคุณไม่เคยรับชมหนังเรื่องนี้คงคิดว่า พูดถึงตอนขับรถให้คาดเข็มขัดนิรภัย แต่ในหนังมีความหมาย ให้เตรียมพร้อมรับมือกับความวุ่นวายที่กำลังจะเกิดขึ้นในคืนนี้ มันจบไม่สวยแน่ๆ … ประโยคนี้ติดอันดับ 9 จัดอันดับ AFI’s 100 Years…100 Movie Quotes
– “You won’t bore him, honey. You won’t even get a chance to talk.” ประโยคนี้ติดอันดับ 25 การจัดอันดับ The 100 Greatest Movie Lines ของนิตยสาร Premiere ปี 2007
– “All of a sudden she’s playing Hamlet’s mother.” ประโยคนี้ติดอันดับ 53 การจัดอันดับ The 100 Greatest Movie Lines ของนิตยสาร Premiere
– “What I go after I want to go after. I don’t want it to come after me.”
– “Why do they always look like unhappy rabbits?”
คงไม่แปลกอะไรถ้าเรื่องราวของหนังจะมาจากเรื่องจริง, ดัดแปลงจากเรื่องสั้น The Wisdom of Eve (1946) ตีพิมพ์ลงในนิตยสารแฟชั่นของผู้หญิง Cosmopolitan เขียนโดย Mary Orr เรื่องจริงของตนเอง ขณะที่ได้เป็นแฟนตัวยงของ Elisabeth Bergner นักแสดงละครเวทีชื่อดัง ระหว่างทำการแสดงเรื่อง The Two Mrs. Carrolls ช่วงปี 1943-1944 ได้รับความอุปถัมภ์กลายเป็นผู้ช่วยทำงานใกล้ชิด กลายเป็นตัวสำรอง (understudy) แต่ไปๆมาๆอสรพิษก็แลบลิ้น Orr พยายามทำให้ Bergner เสียชื่อเสียง ด้วยการเรียกเธอว่า ‘the terrible girl’ วิธีการต่อมาก็คือ เขียนเรื่องสั้นนี้โดยให้ตัวละคร Eve Harrington แทนด้วยเธอเอง และ Margola Cranston คือ Bergner ที่โฉดชั่วร้ายกว่าปกติ และตอนจบแน่นอนว่า Eve ประสบความสำเร็จ (แต่ชีวิตจริงรู้สึกจะไม่นะครับ)
ปี 1949 ผู้กำกับ Joseph L. Mankiewicz และโปรดิวเซอร์ Darryl F. Zanuck ขณะนั้นมีความสนใจสร้างหนังเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘นักแสดงที่เริ่มมีอายุ’ (aging actress) ได้มีโอกาสอ่าน The Wisdom of Eve เกิดความประทับใจในพล็อต ซึ่งสามารถแทรกใส่แนวคิดที่พวกเขาสนใจเพิ่มเติมเข้าไปได้ ตั้งชื่อ Working Title ว่า Best Performance มีการแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพล็อตรองพอสมควร อาทิ
– ชื่อตัวละคร Margola Cranston เปลี่ยนเป็น Margo Channing
– ตัดตัวละครสามีของ Margo ออกไป แทรกใส่แฟนหนุ่ม Bill Sampson
– เพิ่มเติมให้ Eve เหมือนเลสเบี้ยน และต้องการครอบครองทั้ง Bill Sampson และ Lloyd Richards
ฯลฯ
การคัดเลือกนักแสดง สำหรับ Margo แรกสุดตั้งใจให้ Susan Hayward แต่เธอดูเด็กไป ตามด้วย Marlene Dietrich เป็นเยอรมันเกินไป, Gertrude Lawrence มีปัญหาสุขภาพ, Barbara Stanwyck, Tallulah Bankhead, Ingrid Bergman ติดสามีอยู่อิตาลี, Joan Crawford ล้วนคิวไม่ว่าง, เกือบจะได้ลงเอยที่ Claudette Colbert เห็นว่าเซ็นสัญญาไว้แล้วด้วย แต่มีปัญหาปวดหลัง ทำให้ถอนตัวกระทันหัน สุดท้ายบทจึงตกเป็นของ Bette Davis ที่ชื่นชมว่าเป็นบทดีที่สุดตั้งแต่เคยแสดงมา
Ruth Elizabeth ‘Bette’ Davis (1908 – 1989) เจ้าแม่นักแสดงเจ้าบทบาทสัญชาติอเมริกา นักแสดงระดับตำนานที่มีความสามารถสูง รับบทได้หลากหลาย ไม่ห่วงสวย แม้จะชอบมีปัญหากับผู้อื่นไปทั่ว แต่ได้รับการยกย่องอันดับ 2 เป็นรองเพียง Katharine Hepburn จากการจัดอันดับของ AFI’s 100 Years…100 Stars
ก่อนหน้าแสดงหนังเรื่องนี้ Davis กำลังอยู่ในช่วงตกต่ำ (Professional Setbacks) มีหนังไม่ทำเงินหลายเรื่อง และเพิ่งหมดสัญญากับ Warner Bros. กลายเป็น Freelance ทำให้มีอิสระในการเลือกรับเล่นหนังค่ายไหนก็ได้
Margo Channing เป็นนักแสดงละครเวทีชื่อดัง อายุขึ้นเลข 4 แต่ยังสวยเลิศเชิดหยิ่ง ไม่รู้ปากอมสุนัขไว้กี่ตัว ทั้งๆที่ชีวิตประสบความสำเร็จควรที่จะสุขสมบูรณ์ แต่เธอกลับไม่เคยแสดงว่าตัวเองมีความสุขเลย ราวกับระเบิดเวลาที่พร้อมปะทุออก แต่อย่างน้อยที่สุดกับแฟนหนุ่ม และเพื่อนรักทั้งสอง ก็ไม่เคยคิดกลั่นแกล้งแทงหลังเพื่อน จริงใจไม่ไก่กา
Bill Sampson: You have every reason for happiness.
Margo Channing: Except happiness!
หลังมีการประกาศว่า Davis จะมารับบท Margo ในหนังเรื่องใหม่ ผู้กำกับดัง Edmund Goulding โทรศัพท์หา Mankiewicz เตือนและให้คำแนะนำวิธีการรับมือกับ Davis เพราะความเธอชอบทำอะไรนอกเหนือการควบคุม และมักสร้างปัญหาให้กับเพื่อนนักแสดง (โดยเฉพาะเพศหญิง), แปลกที่หนังเรื่องนี้ Davis เป็นเด็กดีมากๆ เธอแทบจะไม่ทำอะไรนอกบทเลย (คงเพราะประทับใจบทพูดของหนังที่ลงตัวมากๆแล้ว) ปัญหาเดียวก็คือ Celeste Holm ที่เกลียดขี้หน้าตั้งแต่วันแรกในกองถ่าย
การแสดงของ Davis เต็มไปด้วยความกร้านโลก ด้วยขณะนั้นกำลังมีความระหองระแหงกับสามีคนปัจจุบัน William Grant Sherry น้ำเสียงของเธอหลายครั้งมีความหยาบกระด้าง พูดเสียงสูงออกทางลำคอ แสดงออกซึ่งความเจ็บแค้น เบื่อหน่าย เซ็งสามี ไม่นานทั้งคู่ก็เซ็นใบหย่าเลิกกัน, แต่ใช่ว่า Davis จะเสียเวลาทำใจนาน ตัวละคร Bill Sampson แฟนหนุ่มว่าที่สามีของ Margo รับบทโดย Gary Merrill ไม่รู้ปิ๊้งอะไรกันในกองถ่าย ทั้งสองจับมือจดทะเบียนแต่งงานก่อนหน้าหนังออกฉายเสียอีก
Margo Channing: Groom?
Bill Sampson: Yes, dear.
Margo Channing: Do you know what I’m going to be?
Bill Sampson: A cowboy?
Margo Channing: A married lady. With a paper to prove it.
เกร็ด: สำหรับ Gary Merrill สามีคนที่ 4 (คนสุดท้ายที่จดทะเบียน) ของ Davis แต่งงานปี 1950 เซ็นใบหย่าปี 1960
Anne Baxter (1923 – 1985) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Michigan City, Indiana ตั้งแต่อายุ 5 ขวบมีโอกาสแสดงละครเวทีของโรงเรียน เกิดความชื่นชอบหลงใหล ผลักดันตัวเองให้กลายเป็นนักแสดงอาชีพ เริ่มต้นจากเป็นนักแสดง Broadways กำลังจะโด่งดังจาก The Philadelphia Story (1939) ในบทน้องสาวของตัวละคร Katherine Hepburn แต่สงสัยไก่เห็นตีนงู Hepburn ไม่ชอบเธอเป็นการส่วนตัวจึงขอเปลี่ยนนักแสดง, ตอนอายุ 16 มีโอกาสมาคัดเลือกนักแสดงหนังเรื่อง Rebecca (1941) แต่ผู้กำกับ Alfred Hitchcock มองว่าเธอยังเด็กเกินไป เลยมอบบทให้ Joan Fontaine, ต่อมาได้เซ็นสัญญา 7 ปีกับ 20th Century Fox มีผลงานเรื่องแรก 20 Mule Team (1940) ตามมาด้วย The Magnificent Ambersons (1942), ได้ Oscar: Best Supporting Actress จากหนังเรื่อง The Razor’s Edge (1946)
Eve Harrington ช่วงแรกเชื่อว่าใครๆคงคิดว่าเธอเป็นเด็กหญิงสาวผู้น่าสงสาร น่าเห็นใจ น่ารักเอ็นดู แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆเสือเริ่มออกลายคราม อสรพิษจำต้องแลบลิ้นเห็นแฉก ความปรารถนาชั่วร้ายในใจจึงค่อยๆเปิดเผยออก แต่จะยังมีหลายคนเชื่อว่าเธอคงไม่ร้ายขนาดนั้นแน่ จนตอนจบสิ่งที่ยัยนี่แสดงออกมา เรียกได้เลยว่า bitch นางแพศยา
เหตุผลที่ Eve เป็นผู้หญิงเช่นนั้น สามารถมองได้คือความเพ้อฝันหวาดระแวง เพราะวัยเด็กยากจนข้นแค้น โตขึ้นมาจึงแสวงหากระทำทุกสิ่งอย่าง เปลี่ยนอดีตแปลงตัวตนเริ่มต้นชีวิตใหม่ ไต่เต้า ย่ำเหยียบ ทะยานพาตัวเองขึ้นสู่ความสำเร็จสูงสุดโดยไม่สนใจอะไรทั้งนั้น
เกร็ด: เดิมทีบทนี้ผู้กำกับคาดหวังให้ Jeanne Crain แต่เธอท้องเสียก่อนจึงบอกปัดไป
Baxter อ้างอิงตัวละคร Eve จากชีวิตจริงที่เคยพบเจอนักแสดงคนหนึ่งระหว่างเป็นนักแสดง Broadway ตอนนั้นเธออายุ 13 และถูกข่มขู่โน่นนี่นั่นให้ทำตาม ไม่เช่นนั้น ‘I gonna finish you off.’ การแสดงของ Baxter เป็นทั้งจุดเด่นและจุดด้อยของหนัง ครึ่งแรกเธอค่อนข้างจะจืดจางพอสมควร คงด้วยใบหน้าและสายตาดวงกลมโตที่ใสซื่อ แต่พอความชั่วร้ายต่างๆนานาปรากฎ สายตาเปลี่ยนจากล่องลอยเป็นคมกริบ ครึ่งหลังโดดเด่นเกินหน้าเกินตามาก แม้จะไม่ถึงเลวปากจัดระดับของ Davis แต่ก็ร้ายดูชม
ทั้งๆที่บนจอ Eve เป็นศัตรูกับ Margo แต่ชีวิต Baxter กับ Davis เป็นเพื่อนสนิทกัน (ผมว่าไก่เห็นตีนงูจริงๆนะ คือต่างรู้ว่าอีกฝ่ายคิดอะไร เลยสามารถเป็นเพื่อนกันได้แบบไม่ตอแหล)
“The studio tried to play that up all during the filming, but I liked Bette very much. She’d come on the set and go ‘Sssssss’ at me, but it was just a joke between us.”
เช่นกับกับ Davis ที่ก็ชื่นชมชอบ Baxter ที่มีความทุ่มเทกายใจเต็มร้อยต่อการแสดง รับส่งเล่นมุกกับเธอได้ตลอดกองถ่าย, แม้ภายหลังจะเป็น Baxter พยายามล็อบบี้คณะกรรมการ Academy ให้ตัวเองได้เข้าชิงสาขา Best Actress (เป็นครั้งแรกที่นักแสดงนำหญิงสองคน เข้าชิง Oscar: Best Actress จากหนังเรื่องเดียวกัน) แต่เพราะไม่ได้รางวัลทั้งคู่ (สงสัยไปแย่งคะแนนกันเอง) เลยไม่รู้จะงอนอะไร
Celeste Holm (1917 – 2012) นักแสดงภาพยนตร์ โทรทัศน์ และละครเวที สัญชาติอเมริกัน มีผลงานที่ทำให้ได้ Oscar: Best Actress จากเรื่อง Gentleman’s Agreement (1947) และได้เข้าชิงจาก Come to the Stable (1949) และ All About Eve (1950)
วันแรกที่ Holm มาถึงกองถ่าย ใบหน้ายิ้มแย้มพูดทักทายทุกคน ‘Good morning,’ แต่พอมาถึง Davis เธอตอบว่า ‘Oh shit, good manners.’ เจอไปแบบนี้ทั้งสองไม่พูดคุยกันอีกเลยตลอดการถ่ายทำ
Karen Richards เพื่อนสนิทสาวของ Margo เป็นผู้แนะนำ Eve ให้รู้จัก ทีแรกไม่เชื่อว่าเธอจะคืออสรพิษที่แอบซ่อนเขี้ยวเล็บ แต่เมื่อได้ถูกรัดเข้ากับตนเองถึงกับกลืนไม่เข้าคายไม่ออก แต่วินาทีที่เธอหัวเราะลั่นออกมาบนโต๊ะอาหาร เหมือนรู้ตัวว่ากำลังคิดไปเองว่าถูกรัด (คือเธอถูกคำของ Eve หลอกล่อจนเครียดวิตกจริต แต่พอรู้ว่าไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นก็ปล่อยหัวเราะออกมา นี่ฉันคิดอะไรไปไกลมาก)
การแสดงของ Holm ถือว่าแย่งซีนในหลายๆฉาก อย่างหัวเราะบนโต๊ะอาหาร ผมหัวเราะลั่นตามเธอทุกครั้งเลยละครับ เพราะรู้สึกเหมือนตัวละครที่ได้ปลดเปลื้องระบายความอึดอัดเป็นทุกข์ออกไปบางส่วน
Thelma Ritter (1902 – 1969) คุณยายนักแสดงสมทบหญิงยอดฝีมือ เธอเป็นนักแสดงตลกที่หน้านิ่งปากร้าย ใช้คำพูดจิกกัดอย่างเจ็บแสบ เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress ถึง 6 ครั้ง ไม่เคยได้รางวัล
บท Birdie เห็นว่าผู้กำกับ Mankiewicz สร้างเพิ่มขึ้นมาเพื่อเธอโดยเฉพาะ เพราะประทับใจจากการร่วมงานตอน A Letter to Three Wives (1949), เธอเป็นคนใช้แม่บ้านของ Margo มีฝีปากร้ายคม ช่างสังเกต และเห็นตีนงูของ Eve ตั้งแต่ครั้งแรกๆที่พบเจอ
Margo Channing: Birdie, you don’t like Eve, do you?
Birdie: You looking for an answer or an argument?
Margo Channing: An answer.
Birdie: No.
Margo Channing: Why not?
Birdie: Now you want an argument.
อีกหนึ่งสำหรับนักแสดงหญิงที่แจ้งเกิดจากหนังเรื่องนี้ Marilyn Monroe ตอนนั้นเธอยังเป็นใครก็ไม่รู้ มีบทบาทเล็กๆ Miss Caswell แต่งตัวสวยสง่าหรูรา หน้าตาซื่อบื้อไร้สมอง ต้องถือว่าผู้กำกับ Mankiewicz เป็นคนสร้างภาพลักษณ์นี้ให้กับ Monroe ได้รับการจดจำจนสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองจนประสบความสำเร็จ
Miss Claudia Caswell: Oh, waiter!
Addison DeWitt: That is not a waiter, my dear, that is a butler.
Miss Claudia Caswell: Well, I can’t yell “Oh butler!” can I? Maybe somebody’s name is Butler.
Addison DeWitt: You have a point. An idiotic one, but a point.
Miss Claudia Caswell: I don’t want to make trouble. All I want is a drink.
ถึงฉากของ Monroe จะมีไม่เยอะ แต่ก็สร้างความเสียเวลาในกองถ่ายไม่น้อย เพราะเธอชอบลืมบทจดจำไม่ค่อยได้ คงเพราะความประหม่าจากเข้าหน้ากล้องครั้งแรก ไม่ได้อยากสร้างปัญหาแต่กลับกลายเป็นตัวปัญหาเสียเอง
สำหรับนักแสดงฝั่งชาย ขอพูดถึงแค่คนเดียวพอนะครับ George Sanders (1906 – 1972) นักแสดง นักร้องสัญชาติอังกฤษ ด้วยสำเนียงที่เป็นผู้ดีทำให้มักได้รับบทตัวละครที่มีความซับซ้อน หรือตัวร้ายที่มีความลึกล้ำ มีผลงานดังอาทิ Rebecca (1940), Foreign Correspondent (1940) King Richard and the Crusaders (1954), ให้เสียง Shere Khan ใน The Jungle Book (1967)
Addison DeWitt นักข่าว นักวิจารณ์ละครเวที (ตัวละครได้แรงบันดาลใจจากนักวิจารณ์ชื่อดัง George Jean Nathan) มีใบหน้าสงบนิ่ง แต่ความปลิ้นปล้อนลิ้นสองแฉก เฉกเช่นเดียวกับ Eve แต่เขายังมีสามัญจิตสำนึก ไม่ต้องการให้ใครครอบครัวบ้านแตก จึงตัดสินใจตลบตะแลงหญิงสาวให้รู้สำนึกในการกระทำของตัวเอง เธอจึงต้องยอมหยุดและยินยอมเป็นของเขา
การแสดงของ Sanders นิ่งลุ่มลึก คมคาย ดั่งอสรพิษนักฆ่ามากประสบการณ์ที่ค่อยๆคืบคลานอย่างช้าๆ จับจ้องมองรับรู้ชั่วครู่ก็จำแนกพวกเดียวกันออกเห็น ไฮไลท์การแสดงอยู่ขณะที่ตัวละคร DeWitt พูดความจริงของ Eve ออกมา เดินตามเธอเข้าไปในห้องนอน ฆาตกรรมเธอให้ตายทั้งเป็น ด้วยใบหน้าอันสงบนิ่งเยือกเย็น
Addison DeWitt: The mark of a true killer: Sleep tight, rest easy, and come out fighting.
เห็น Zsa Zsa Gabor ภรรยาป้ายแดงของ George Sanders ขณะนั้น (สามีคนที่ 3 ของ Gabor, ภรรยาคนที่ 2 ของ Sanders) ต้องตามติดมาที่กองถ่ายแทบทุกวัน เพราะเธออิจฉา Marilyn Monroe ที่ได้เข้าฉากร่วมกับสามี คงกลัวว่าจะลักลอบเป็นชู้กัน (Gabor หย่ากับ Sanders ปี 1954)
เกร็ด: George Sanders บอกว่านี่คือหนังเรื่องโปรดที่ตนแสดง (ก็แน่ละ ทำให้เขาได้รางวัล Oscar: Best Supporting Actor)
ถ่ายภาพโดย Milton R. Krasner ตากล้องขาประจำของ 20th Century-Fox ที่มีผลงานดังอย่าง Arabian Nights (1942), A Double Life (1947), The Set-Up (1949) [ได้ Best Cinematography จากเทศกาลหนังเมือง Cannes], Monkey Business (1952), Three Coins in the Fountain (1954) [ได้ Oscar: Best Cinematography], The Seven Year Itch (1955), King of Kings (1961), How the West Was Won (1962) ฯ
งานภาพส่วนใหญ่ของหนังจะเป็นถ่ายภายใน ใช้ระยะ Medium Shot ไม่ก็ Full Shot จงใจไม่เข้าใกล้ใบหน้าตัวละครมากไป (เพราะผู้ชมอาจจะมองเห็น รับรู้สิ่งที่อยู่ภายใน) สิ่งหนึ่งที่น่าจะประกอบอยู่ทุกฉากคือบุหรี่ โดยเฉพาะของ Margo ที่แทบจะติดมือเธอตลอดเวลา ควันบุหรี่บางครั้งลอยผ่านหน้ากล้องบดบังใบหน้าตัวละคร มีนัยยะถึงความมัวหมอง สับสนอลวุ่นวาย (เหมือนควันบุหรี่) เวลาหยิบขึ้นมาสูบก็ไม่แน่นอน ตามอารมณ์อยากพวกเขา เวลาเครียดๆหรือคิดอะไรไม่ออก
Mankiewicz เป็นผู้กำกับที่มีความหลงใหลในงานศิลปะเป็นอย่างมาก สังเกตจากหลายๆฉาก อาทิ ห้องโถงมอบรางวัล Sarah Siddons Award, ในบ้านของ Margo ฯ จะเต็มไปด้วยรูปภาพวาดแขวนผนัง หลายครั้งจะเห็นประกอบเป็นพื้นหลัง หรือกล้องจะเคลื่อนผ่านแล้วไปหยุดที่รูปภาพหนึ่ง มันมีนัยยะสำคัญแน่นอน น่าเสียดายที่ผมไม่รู้จักงานศิลปะมากพอที่จะแนะนำให้ได้
แต่มีภาพวาดหนึ่งที่หาข้อมูลได้ นั่นคือ Sarah Siddons as the Tragic Muse (1784) ภาพวาดสีน้ำมันโดย Joshua Reynolds จิตรกรชื่อดังสัญชาติอังกฤษ ผู้ก่อตั้งและประธานคนแรกของ Royal Academy of Arts, รูปปั้นรางวัล Sarah Siddons Award ที่ Eve ได้รับ ก็มีแรงบันดาลใจมาจากภาพนี้ (แถมภาพนี้มีประดับผนังของบ้าน Margo ด้วยนะครับ)
ภาพวาด Sarah Siddons as the Tragic Muse มีสองเรื่องราวซ่อนเร้นอยู่
– เรื่องราวของ Sarah Siddons หญิงสาวที่มีตัวตนจริงๆในศตวรรษ 18 ครอบครัวฐานะยากจนจึงส่งไปเป็นคนใช้ตระกูลผู้ดี บังเอิญในครอบครัวศิลปิน ซึ่งได้ค้นพบความสามารถด้านการแสดง มีโอกาสเล่นละครเวทีจนประสบความสำเร็จ โด่งดังด้วยฉายา Queen of Tragedy โดยเฉพาะ Lady Macbeth ในบทละครของ William Shakespeare, ตอนอายุ 18 รีบแต่งงานมีลูก 7 คน แต่เหลือรอดชีวิตเพียง 2 คน ว่ากันว่าเพราะเธอผันเอาความทุกข์โศกเศร้าจากการสูญเสียสู่การแสดง ทำให้เรื่องราวความสามารถของเธอกลายเป็นตำนานเล่าขานสืบต่อ
– เรื่องราวของ Tragedy of Muse หรือ Melpoméne ตัวละครจากเทพปกรณัมกรีก-โรมัน ชื่อมาจากคำว่า melpo หรือ melpomai แปลว่า การเฉลิมฉลองด้วยการเต้นและร้องเพลง ‘to celebrate with dance and song.’ เป็นลูกของ Zeus กับ Mnemosyne มีพี่น้องอีก 8 คน, เหตุผลที่ Melpoméne กลายเป็นตัวแทนของโศกนาฎกรรม นี่ผมหาข้อมูลให้ไม่ได้ แต่รูปปั้นแกะสลักของเธอล้วนมีนัยยะถึงความทุกข์โศกเศร้า อาทิ มือข้างหนึ่งถือหน้ากาก, หรือถือมีด, คบหากับ Dionysius และชื่นชอบการร้องเพลงที่มีบรรยากาศหดหู่
นัยยะของภาพวาดนี้ต่อหนัง ก็คือเรื่องราวของ Eve ที่มีความคล้ายคลึง เป็นตัวแทนของ Sarah Siddons และ Melpoméne, ซึ่งเกียรติยศของรางวัล Sarah Siddons Award มีนัยยะถึงความอัปยศอดสู โศกนาฎกรรม มอบให้กับผู้หญิงปลิ้นปล้อนอย่าง Eve ถือว่าสมควรอย่างยิ่ง
แซว: ทีแรกผมนึกว่าวิกที่ Eve สวมใส่ จะเป็นทรงเดียวกับภาพวาด Sarah Siddons เสียอีก แต่เทียบแล้วไม่น่าใช่นะครับ
ตัดต่อโดย Barbara McLean ขาประจำของ 20th Century Fox ทำงานจนได้เป็นหัวหน้าแผนกตัดต่อ ที่เชื่อมือไว้ใจได้ของโปรดิวเซอร์ Darryl F. Zanuck, เธอเป็นผู้ถือสถิติเข้าชิง Oscar: Best Edited มากสุด 7 ครั้ง ก่อนถูก Michael Kahn แซงได้เมื่อปี 2012 ผลงานที่ดังๆอาทิ Wilson (1944) [ได้ Oscar: Best Edited], Twelve O’Clock High (1949), The Robe (1953) ฯ
ความโดดเด่นมากๆของหนังคือการใช้เสียงบรรยายเล่าย้อนอดีต ผมจับผู้บรรยายได้ 2 คน คือ Addison DeWitt กับ Karen Richards, เริ่มต้นจาก DeWitt ที่มีน้ำเสียงเยือกเย็นชา แนะนำบอกกล่าวสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น จากนั้นเป็นเสียงของ Karen หวนระลึกนึกย้อนพร้อมกับภาพย้อนอดีต จากนั้นหนังดำเนินไปข้างหน้าเรื่อยๆ จนกว่ามีเหตุการณ์ที่ตัวละครไม่สามารถพูดออกมาได้ถึงเป็นเสียงบรรยาย สลับกันระหว่าง DeWitt กับ Karen ก่อนย้อนกลับมาปัจจุบันอีกครั้งสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วดำเน้นหน้าต่อไปอีกหน่อย พบเจอสิ่งที่เรียกว่าวงจรวัฎจักร เด็กหญิงสาว Phoebe (นำแสดงโดย Barbara Bates) มีเรื่องราวมาแบบเดียวกับ Eve เลย หรือประวัติศาสตร์จะเกิดขึ้นซ้ำรอย
เราจะไม่เห็นการแสดงบนเวทีของ Eve เลยนะครับ (คือถ้ากับ Margo ยังพอเห็นบ้างจากข้างเวที) นี่เป็นความจงใจของผู้กำกับ เพื่อให้ผู้ชมจินตนาการไปเอง กับคำชมที่ว่ายอดเยี่ยมระดับ ‘revelation’ เป็นอย่างไร, จริงๆมองอีกนัยยะหนึ่งก็ได้ คือการแสดงของ Eve เราไม่จำเป็นต้องเห็นบนเวทีหรอก เพราะที่เธอสวมหน้ากากแสดงอยู่ ก็ยอดเยี่ยมสมจริงมากๆแล้ว
เพลงประกอบโดย Alfred Newman คีตกวีอัจฉริยะสัญชาติอเมริกัน ร่วมกับ Max Steiner และ Dimitri Tiomkin ทั้งสามได้รับฉายาว่า ‘three godfathers of film music’ เข้าชิง 45 ครั้ง ได้มา 9 รางวัล (ถึงปี 2016 ได้จำนวนรางวัลมากสุดเป็นอันดับ 3, เข้าชิงเคยมากครั้งสุดก่อน John William แซงเมื่อปี 2006)
บทเพลงของ Newman มีลักษณะเป็น Classical ภาษาประกอบเรื่องราวของหนัง ด้วย Orchestra จัดเต็มวง ทำนองเมโลดี้จะประสานเสียง สอดคล้องทำนองต่อเนื่องไปทางเดียวกัน บางครั้งนุ่มนวล บางครั้งทรงพลัง ไม่ได้ทำให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ร่วมใดๆ แต่สร้างสัมผัส บรรยากาศให้กับหนัง
เรื่องราวของ Eve ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องราวของ Eve แต่คือทุกคนรอบข้างที่ได้รู้จักพบเจอเธอ ถ้าเป็นบุคคลสามารถทำประโยชน์ กลายเป็นฐานรองพื้นให้ย่ำเหยียบก้าวสูงขึ้นไป หญิงสาวก็จะปรนเปรอ ปรนนิบัติเป็นอย่างดี จนกว่าจะไขว่คว้าสิ่งที่ต้องการได้สำเร็จ ก็จะซ่อนเขี้ยวกรงเล็บ หรือลิ้นสองแฉกแอบไว้ไม่ให้ใครเห็น แต่ของแบบนี้ไม่ง่ายหรอกนะที่จะหลบซ่อน เพราะยังมีสิ่งมีชีวิตประเภทเดียวกันที่แค่มองตาก็สามารถรับรู้เข้าใจเห็นได้โดยทันที
มีไต่เต้าเดินขึ้น ก็ต้องมีคืบคลานเดินลง ดั่งวัฏจักรวงจรชีวิต ไม่มีใครจะสามารถเป็นดาวอยู่ค้างฟ้าได้ยาวนาน (แต่ก็จะหลงเหลือเป็นตำนาน), เรื่องราวของ Eve เป็นความพยายามไต่เต้าสู่ความสำเร็จ ตรงกันข้ามกับ Margo ที่ชีวิตความสำเร็จถึงจุดสูงสุดแล้ว คงอีกไม่ได้นานก็จะค่อยๆตกต่ำลง การสวนทางระหว่าง Eve กับ Margo เป็นสิ่งที่ยังไงก็ต้องเกิดขึ้น แต่ทั้งสองจะแสดงออกต่อกันอย่างไร อะไรคือความเหมาะสม อะไรคือมารยาทสมควรทำ
ไม่มีใครในโลกพูดไว้นะครับ อะไรคือความคุ้มค่าเหมาะสมคู่ควร ในสถานการณ์ลักษณะนี้ผมขอเริ่มจากการนิยามคำว่า ‘รุ่นพี่’ กับ ‘รุ่นน้อง’ แตกต่างกันไม่ใช่ด้วยวัยวุฒิแต่คือคุณวุฒิ คนที่มีความรู้ความสามารถ ประสบความสำเร็จเริ่มต้นก่อนถือเป็นรุ่นพี่ ใครที่ดำเนินรอยตาม ประสบความสำเร็จมาทีหลังถือว่าเป็นรุ่นน้อง (อายุไม่จำเป็นต้องมากน้อยหรือเท่ากัน)
พระพุทธเจ้าสอนให้ภิกษุพรรษาอ่อนกว่าบวชทีหลัง ต้องรับฟังคำสั่งสอนแนะนำจากภิกษุพรรษามากกว่าบวชก่อน
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า
“ดูกรอานนท์ บัดนี้พวกภิกษุยังเรียกกันและกันด้วยวาทะว่า อาวุโส ฉันใด โดยกาลล่วงไปแห่งเรา ไม่ควรเรียกกันฉันนั้น ภิกษุผู้แก่กว่า พึงเรียกภิกษุผู้อ่อนกว่า โดยชื่อหรือโคตร หรือโดยวาทะว่า อาวุโส แต่ภิกษุผู้อ่อนกว่าพึงเรียกภิกษุผู้แก่กว่าว่า ภันเต หรืออายัสมา”พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อที่ ๑๔๑
การที่มนุษย์ควรเคารพบุคคลที่วัยวุฒิ คุณวุฒิ สูงกว่า ก็เพื่อลดทิฐิทะนงตั้งมั่นที่อยู่ในใจของทั้งสองฝ่าย, โดยปกติแล้วบุคคลผู้สูงวุฒิกว่าหรือรุ่นพี่ มักเกิดความคิดว่าตัวเองเต็มเปี่ยมด้วยความรู้ ประสบการณ์ พึงอาบน้ำมาก่อน เพื่อมิให้เกิดมิจฉาทิฐิ บุคคลผู้ต่ำวุฒิกว่าหรือรุ่นน้อง ควรจะนอบน้อมถ่อมตน ละเว้นการแสดงออกอวดอ้าง แม้บางครั้งจะมีความรู้ประสบการณ์เหนือกว่า ก็ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยแสดงออกให้เป็นที่คับข้องใจ ค้นหาเวลาอันเหมาะสมควรค่อยแสดงความคิดเห็นสามารถ เช่นนี้ก็จะได้รับความยอมรับ สังคมถึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข
สำหรับคนหัวก้าวหน้า ได้อิทธิพลจากวัฒนธรรมชาติตะวันตกเสียมาก เรื่องพรรค์นี้ รุ่นพี่รุ่นน้อง คงคิดรู้สึกแล้วยังไง? เรื่องไหนฉันมีวุฒิสูงกว่าก็ต้องแสดงออกให้ประจักษ์ตั้งแต่แรก เพราะมนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียม ทำไมจะต้องประณีประณอมรั้งรีรอ ต้องการเอาชนะก็ไม่ควรมีสิ่งใดขัดขวาง เพื่อความสำเร็จต้องสามารถย่ำเหยียบกำจัดทิ้งขว้างได้ทุกอย่าง, นี่เป็นความคิดที่ไม่ถือว่าผิดนะครับ แต่เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับหนังเรื่องนี้ไหม คุณรับการกระทำของตัวละคร Eve ได้หรือเปล่า? ถ้าตอบว่าได้ ไม่เห็นเธอจะผิดอะไรก็ตามนั้น จงดำเนินตามรอยความเชื่อของตนเองไป คงไม่มีใครสามารถชี้แนะสั่งสอนให้คุณคิดเข้าใจเองได้ จนกว่าจะรับรู้บางสิ่งอย่างด้วยตนเอง
ฉากสุดท้ายของหนัง Phoebe สวมทับชุดของ Eve ยืนมองกระจกเห็นภาพสะท้อนตนเอง แล้วโค้งคำนับ นี่มีนัยยะถึง เรื่องราวของหนังเรื่องนี้ สามารถเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่มีที่จบสิ้น ‘เด็กหญิงสาวมีความเพ้อฝันอยากประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดัง กระทำการแลกทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้ไปถึงจุดนั้น’
นักแสดงที่เริ่มมีอายุ (aging actress) มีนัยยะสื่อถึงอะไรได้บ้าง? ผมได้เคยเกริ่นไว้อย่างเยิ่นยาวในบทความ Sunset Boulevard ถึงจุดเริ่มต้น Hollywood สตูดิโอแรกที่มีฐานที่มั่นใน California คือ Nestor Motion Picture Company เมื่อเดือนตุลาคม 1911 เป็นเวลากว่า 40 ปี (นับถึงปีที่สร้างหนังเรื่องนี้) เทียบกับมนุษย์ก็ถือว่าอยู่ในช่วงวัยกลางคน ใกล้เข้าสู่ช่วงวัยทอง (Golden Age) ที่มีความเปล่งปลั่งเป็นประกาย, ความสนใจของ Sunset Boulevard คือ พวกเขาเหล่านักแสดงทั้งหลาย ที่เคยมีชื่อเสียงในทศวรรษต้นๆ หายหน้าหายตาหายไปไหนกันหมด, สำหรับหนังเรื่องนี้คือ เมื่อคนรุ่นเก่าเริ่มสูงวัยร่วงโรยรา คนรุ่นใหม่จึงก้าวเข้ามาแทนที่
ใจความของหนังสามารถมองได้ว่า เป็นการหยุดย้อนมองตัวเองของ Hollywood พิจารณาว่าตอนนี้ตัวฉันเป็นยังไง แล้วจะก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างไร เพราะตอนนี้ในวงการภาพยนตร์ ถือว่ามีทั้งหญิงสาววัยกลางคนที่พร่ำเพ้อโหยหา อิจฉาความเยาว์วัย กับเด็กหญิงสาวผู้สดใส ยินยอมกระทำทุกอย่างเพื่อความสำเร็จ, เป็นไปได้หรือเปล่าที่คนทั้งสองกลุ่มจะเดินหน้าก้าวไปพร้อมกันจับมือกัน หรือจะตัวใครตัวมันไม่เลยไม่เข้ามายุ่งย่างสุงสิงต่อกัน … หนังไม่เชิงเป็นปลายปิดให้คำตอบแบบหลังนะครับ แค่นำข้อแม้ของรุ่นพี่ ว่าถ้าพฤติกรรมของรุ่นน้องมาใหม่แบบนี้ ฉันก็ไม่แคร์พวกแกหรอก ถ้ามาด้วยความปรารถนาดีจริงใจ เป็นใครใครก็รักภักดี แต่ถ้าเคลือบแคลงแอบแฝงยาพิษ สักวันย่อมต้องถูกค้นพบและได้รับการตอบโต้อย่างสาสม
หนังได้รับเชิญไปฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้า 2 รางวัลกลับมา
– Special Jury Prize (เทียบเท่ากับ Jury Prize)
– Best Actress (Bette Davis)
ด้วยทุนสร้าง $1.4 ล้านเหรียญ หนังทำเงินรวมทั่วโลก $8.4 ล้านเหรียญ, เข้าชิง Oscar 14 สาขา ได้มา 6 รางวัล ประกอบด้วย
– Best Picture ** ได้รางวัล
– Best Director ** ได้รางวัล
– Best Actress (Bette Davis)
– Best Actress (Anne Baxter)
– Best Supporting Actor (George Sanders) ** ได้รางวัล
– Best Supporting Actress (Celeste Holm)
– Best Supporting Actress (Thelma Ritter)
– Best Adapted Screenplay ** ได้รางวัล
– Best Cinematography – Black-and-White
– Best Film Editing
– Best Art Direction – Black-and-White
– Best Costume Design – Black and White ** ได้รางวัล
– Best Original Score
– Best Sound Mixing ** ได้รางวัล
สถิติเข้าชิง Oscar สูงสุดนี้ ยังไม่มีเรื่องไหนสามารถโค่นล้มลงได้ แต่มี 2 เรื่องเทียบเท่าคือ Titanic (1997) และล่าสุด La La Land (2016), เช่นกันกับ นักแสดงหญิงเข้าชิงสาขาการแสดงพร้อมกัน 4 คน ตลกคือไม่มีใครได้รางวัลกลับไป
ผมไม่มีข้อกังขาเท่าไหร่กับรางวัล Best Picture เพราะถือว่าเป็นตัวเต็งคู่คี่สูสีกับ Sunset Boulevard มาตั้งแต่ต้นฤดูล่ารางวัลแล้ว ใครชนะก็ถือว่าพอรับได้หมด แต่การเข้าชิงเป็นสถิติ 14 รางวัลนี่สิ มากเกินไปหน่อยไหม เพราะตัวหนังก็ไม่ได้มีคุณภาพเว่อระดับนั้น, ปัจจัยสำคัญของการได้เข้าชิงเยอะ คือสาขานักแสดงที่มีถึง 5 คนได้เข้าชิง นี่อาจเป็นผลพวงจากการที่ Golden Globe Award สมัยนั้นจะมีชื่อผู้เข้าชิงแต่ละสาขาแค่ 3 เรื่องเท่านั้น ทำให้ Oscar ที่ต้องมี 5 ไม่รู้จะไปสรรหาผู้เข้าชิงอื่นจากไหน แนวโน้มสูงที่ก็จะวนมาใกล้ๆ กับเรื่องที่ได้เข้าชิง, อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ คือการล็อบบี้คณะกรรมการลงคะแนนรอบคัดเลือก (นี่ไม่ใช่ครั้งแรกนะครับ ทศวรรษนั้นเห็นทำกันร่ำไป) กับหนังเรื่องนี้มี Anne Baxter เป็นตัวตั้งตัวตี เพราะเธอต้องการเข้าชิงสาขา Best Actress มีตัวละครของตนเองเป็นถึงชื่อหนัง จะให้เข้าชิงสาขาสมทบก็กระไรอยู่ ผลพวงเลยกลายเป็นได้เข้าชิงยกชุดนักแสดงมาเลย เป็นความเว่อที่ผมรู้สึกไม่สมควรเอาเสียเลย
เพราะความคล้ายคลึงกับ Sunset Boulevard (1950) จึงเป็นการยากหาไม่เกิดการเปรียบเทียบ ผมจะวิเคราะห์ความโดดเด่นแยกตามองค์ประกอบนะครับ
– การแสดงของ Gloria Swanson ล่องลอยราวกับวิญญาณหลอกหลอน จับต้องไม่ได้, ส่วน Bette Davis เกรี้ยวกราดกร้าน ขัดขืนโต้ตอบ อยู่ติดดินทำให้มีตัวตนจับต้องได้ [จุดนี้ต้องถือว่า Davis โดดเด่นกว่า]
– บทสนทนาของ Sunset Boulevard คือประโยคธรรมดาที่เสียดสีล้อเลียนประชดประชัน, All About Eve มีความสวยงามราวกับบทกวี [จุดนี้ All About Eve ยังโดดเด่นกว่า]
– งานภาพนัวร์ของ Sunset Boulevard สร้างมิติลึกล้ำด้วยความมืด เงา และการออกแบบบ้านผีสิงที่เข้าไปกี่ครั้งยังคงน่ากลัวอยู่, ส่วนงานภาพของ All About Eve มีความสว่างสดใส เต็มไปด้วยภาพวาดศิลปะที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จักแล้ว กำลังค่อยๆเสื่อมค่าลงตามกาลเวลา [Sunset Boulevard เข้าวิน]
– Sunset Boulevard มีการเล่าเรื่องที่ค่อยๆสร้างบรรยากาศความพิศวง จนกระทั่งตอนจบทำให้ขนหัวลุกซู่, All About Eve เล่าเรื่องด้วยลีลาซับซ้อน ชวนให้เกิดปริศนาข้อสงสัย [ให้คะแนนเท่ากัน]
– เพลงประกอบของ Sunset Boulevard สะพรึงสั่นสะท้านถึงขั้วหัวใจ ส่วน All About Eve นั้นไม่มีอะไรให้น่าพูดถึง [Sunset Boulevard เพลงเพราะกว่า]
– direction ของการกำกับ Billy Wilder ช่วยผลักดันชี้แนะนำให้นักแสดงแสดงศักยภาพของตนเองออกมาได้เต็มที่, ส่วน Joseph L. Mankiewicz มักจะปล่อยให้นักแสดงแสดงศักยภาพออกมาด้วยตนเอง (จริงๆแค่จะบอกว่า Wilder เป็นผู้กำกับที่มีวิสัยทัศน์ยอดเยี่ยมกว่า Mankiewicz)
การที่นักวิจารณ์และผู้ชมสมัยนั้นมองว่า All About Eve โดดเด่นกว่า Sunset Boulevard เพราะส่วนใหญ่ขัดขืนไม่ยอมรับต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตัวละครของ Gloria Swanson (ประมาณว่า เป็นไปไม่ได้ที่ Hollywood ดินแดนแห่งความฝัน จะสามารถทำให้คนกลายเป็นบ้า)
เหตุผลส่วนตัวที่ชื่นชอบ Sunset Boulevard มากกว่า All About Eve เพราะบรรยากาศของหนังมีความหลอกหลอนสั่นสะท้านขนหัวลุก นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ผมตราตรึงจดจำฝังใจลึกซึ้งมากกว่า เรื่องราวสุดช็อค การแสดงสุดเจ๋ง และคำพูดคมๆเป็นไหนๆ
ระหว่างเด็กหญิงสาวไร้เดียงสาแปลงกายเป็นอสรพิษ กับหญิงสูงวัยเป็นที่รู้จักใต้หล้ากลายเป็นผีไร้ญาติ วิญญาณล่องลอย, ชื่นชอบแบบไหนแล้วแต่จะเลือกเลย
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” โดยเฉพาะวัยรุ่นหนุ่มสาวที่กำลังมีความเพ้อฝันทะเยอทะยาน ไต่เต้าไขว่คว้าแสวงหาความสำเร็จ รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วลองครุ่นคิดทำความเข้าใจ คำว่า ‘แลกมาด้วยทุกสิ่งอย่าง’ กับเป้าหมายที่วาดฝันอยู๋นั้น มันคุ้มกันหรือเปล่า? … ถ้าคำตอบยังมีความคิด เชื่อมั่น ว่าสิ่งที่ทำอยู่คุ้มค่าเหมาะสมคู่ควร ก็ขอให้ทำต่อไปให้สำเร็จนะครับ
สำหรับผู้ใหญ่วัยกลางคนก็เช่นกัน ถ้าคุณมีอายุ 40 แล้วยังต้องทนทุกข์ยากลำบาก ชีวิตขาดความสุขสบาย ลองทบทวนพิจารณาตัวเองสักนิด เทียบตัวเองกับตัวละคร Bette Davis กับสิ่งที่ทำอยู่มันคุ้มค่าเหมาะสมคู่ควร ‘กับตนเอง’ หรือเปล่า นี่เป็นอายุที่เราควรมีความสุขได้แล้ว แต่การไม่มี มันหมายความว่าอะไร??
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดารานักแสดง ผู้ทำงานในวงการบันเทิงทั้งหลาย, แฟนๆนักแสดงอย่าง Bette Davis, Anne Baxter, George Sander และ Marilyn Monroe ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ กับความปลิ้นปล้อน เหมือนงูมีลิ้นสองแฉก
Leave a Reply