All About Lily Chou-Chou (2001) : Shunji Iwai ♥♥♥♥
เมื่อมนุษย์ (ไม่ใช่แค่วัยรุ่น) ถูกกดขี่ข่มเหง ควบคุมครอบงำ ได้รับบาดเจ็บทั้งร่างกาย-จิตใจ จักเริ่มมองหาสถานที่พักผ่อนคลาย ท้องทุ่งแห่งความสงบสันติ หรือใครสักคน Lily Chou-Chou สำหรับพึ่งพักพิง (Escapist) แต่ถ้าโลกส่วนตัวใบนั้นยังถูกคุกคาม ความเกรี้ยวกราดจะปะทุระเบิดออกอย่างคลุ้มบ้าคลั่ง
รับชม All About Lily Chou-Chou (2001) ทำให้ผมหวนระลึกถึง A Brighter Summer Day (1991), My Own Private Idaho (1991) และล่าสุด Elephant (2003) ทั้งสามเรื่องมีความละม้ายคล้ายคลึงในการนำเสนอปัญหาวัยรุ่น ได้รับอิทธิพลจากสภาพสังคมอันโหดร้าย เมื่อถึงจุดๆหนึ่งพวกเขาก็มิอาจอดรนทน จึงระบายความเกรี้ยวกราดออกมาอย่างคลุ้มบ้าคลั่ง
มันเกิดอะไรขึ้นบนโลกใบนี้กัน? นั่นคือสิ่งที่ไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ เพราะต่างคนก็ต่างวิถี ต่างมีเวรมีกรรมแตกต่างกันไป แต่สำหรับ All About Lily Chou-Chou (2001) ผมรู้สึกว่าผู้กำกับ Shunji Iwai แอบสอดใส่คำตอบตามความครุ่นคิดเห็นตนเองเอาไว้ ปัญหาวัยรุ่นส่วนใหญ่เกิดจากเงินๆทองๆ อิทธิพลของระบอบทุนนิยม
ผมแนะนำให้ลองหา Swallowtail Butterfly (1996) ผลงานมาสเตอร์พีซ(ที่แท้จริง)ของผู้กำกับ Iwai เป็นการแสดงทัศนะต่อต้านระบอบทุนนิยม (Anti-Capitalism) อาจทำให้คุณเข้าใจสิ่งที่ผมอธิบายไปย่อหน้าก่อน ปัญหาวัยรุ่นล้วนมีสาเหตุจากอิทธิพลจากเงินๆทองๆ คือสิ่งแบ่งแยกมนุษย์ออกเป็นรวย-จน สร้างค่านิยมความสุขสบาย ทำให้ผู้คนต่างขวนขวายไขว่คว้า เติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน ยินยอมกระทำสิ่งต่างๆโดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว ศีลธรรม มโนธรรม ปล่อยปละละเลยจิตสำนึกของจิตใจ
สิ่งน่าอึ้งทึ่งที่สุดของ All About Lily Chou-Chou (2001) คือลูกเล่นลีลา ‘สไตล์ Iwai’ ถือว่ามาก่อนกาลมากๆ เพราะผู้ชมสมัยนั้นยังไม่ค่อยเข้าใจแนวคิดโลกเสมือน สังคมออนไลน์ และวิธีการดำเนินเรื่องที่มีคนพิมพ์ข้อความพูดคุยสนทนา เป็นการทดลองที่ท้าทาย แปลกใหม่ … ปัจจุบันคนที่ชอบชมไลฟ์สด น่าจะมักคุ้นการแสดงความคิดเห็น เลื่อนผ่านหน้าจอแนวราบ-แนวดิ่ง หรืออีโมรูปหัวใจวิ้งๆ
และที่ตราประทับจิตใจผู้ชมมากสุดก็คือ Lily Chou-Chou ศิลปิน/ไอดอลเสมือนที่หนังสร้างขึ้น (ไม่มีตัวในโลกความจริง) คืออีกหนึ่งตัวอย่าง ‘สินค้า’ ของระบอบทุนนิยม เล่นกับอารมณ์ของผู้ฟัง/ผู้ชม ลวงล่อหลอกให้มนุษย์มีความหมกมุ่นยึดติด ลุ่มหลงในมายาคติ หลบหลีกหนีจากโลกความจริง ก่อให้เกิดอีกปัญหาสังคมติดตามมาอีกนับไม่ถ้วน (พวกนักเลงคีย์บอร์ด ก็ถือกำเนิดจาก ‘สินค้า’ ตัวนี้นะครับ) … ผมเคยเขียนถึงความรำคาญใจในบทความ BNK48: Girls Don’t Cry (2018) สารคดีที่ความพยายามคือสินค้า หยาดเหงื่อ-แรงกาย-คราบน้ำตามีมูลค่ามหาศาล
Shunji Iwai (เกิดปี 1963) ผู้กำกับสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Sendai, Miyagi ตั้งแต่เด็กชื่นชอบฟังเพลงคลาสสิกของ Schubert, Chopin, เคยเพ้อฝันอยากเป็นนักเขียนนิยาย แต่เลือกเรียนวิจิตรศิลป์เพราะต้องการทำงานเขียนการ์ตูน สำเร็จการศึกษาจาก Yokohama National University แล้วทำงานพาร์ทไทม์ร้านเช่าวีดิโอ จากนั้นมีโอกาสกำกับ Music Video, แจ้งเกิดจากละครโทรทัศน์ Fireworks (1993), ภาพยนตร์เรื่องแรก Love Letter (1995), Swallowtail Butterfly (1996), All About Lily Chou-Chou (2001), Hana & Alice (2004) ฯลฯ
หลังเสร็จจากการถ่ายทำภาพยนตร์ Love Letter (1995) ผู้กำกับ Iwai อ่านพบเจอข่าวนักเรียนมัธยมต้นฆ่าตัวตาย นั่นมันเกิดเหตุการณ์บ้าบอคอแตกอะไรขึ้น ทำให้เขาเริ่มตระหนักถึงปัญหาวัยรุ่น มุมมืดของสังคม จึงเริ่มต้นครุ่นคิดเขียนบทร่างแรกๆของ Lily Chou-Chou
ระหว่างสรรค์สร้าง April Story (1997) ผู้กำกับ Iwai ได้รับการติดต่อโปรเจคร่วมทุนสร้างญี่ปุ่น-ไต้หวัน-ฮ่องกง ตั้งชื่อว่า Y2K ร่วมกับ Edward Yang และ Stanley Kwan จึงมีโอกาสเดินทางไปฮ่องกง แล้วได้รับชมคอนเสิร์ตของศิลปิน Faye Wong รู้สึกตกตะลึงในความคลั่งไคล้ของวัยรุ่นสมัยนั้น จึงนำมาปรับปรุงเรื่องราว Lily Chou-Chou เกี่ยวกับเด็กหนุ่มไต้หวันตกหลุมรักนักร้องสาวชาวฮ่องกง
แต่หลังจากโปรเจค Y2K ต้องล้มเลิกไปเพราะเกิดเหตุการแผ่นไหว 1999 Jiji Earthquake มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,400+ คน ทำให้ผู้กำกับ Iwai ปรับเปลี่ยนพื้นหลังมาเป็นประเทศญี่ปุ่น แล้วมอบหมายให้นักแต่งเพลง Takeshi Kobayashi ที่เคยร่วมงานผลงานก่อนหน้า Swallowtail Butterfly (1996) เขียนบทเพลงแรก 共鳴, Kyoumei -Kuukyo na Ishi- และเลือกศิลปิน Salyu เพื่อเป็นต้นแบบนักร้องสาว Lily Chou-Chou
แม้บทหนังจะพร้อมแล้วสำหรับถ่ายทำ แต่ผู้กำกับ Iwai ยังรู้สึกไม่พึงพอใจสักเท่าไหร่ บังเกิดแนวความคิดลองทำเป็นนวนิยายออนไลน์ เปิดเว็บไซต์ชื่อว่า Lilyholic มีกระดานสนทนา สำหรับโพสเรื่องราวของ Lily Chou-Chou แล้วให้ผู้อ่านสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ … สามเดือนผ่านไปจึงทำการปิดเว็บไซต์ แล้วนำคอมเมนต์ต่างๆมาปรับปรุงบทภาพยนตร์ ให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับของกลุ่มแฟนคลับ Lily (แทนที่จะเป็นเรื่องราวของ Lily โดยตรงๆ)
เกร็ด: เว็บไซด์ Lilyholic ได้ถูกนำมาทำเป็น CD-Rom วางขายเฉพาะในญี่ปุ่น ปัจจุบันน่าจะหาซื้อ-ขายไม่ได้แล้วกระมัง
First, I had a script, the story of singer Lily. But unable to start the film, I started this novel version on my website, to which readers were invited, and invited to post messages, remarks, comments and questions. What mattered most to me was to give life, an existence to this singer, so that she could already exist in people’s minds before the movie release.
Shunji Iwai
Yūichi Hasumi (รับบทโดย Hayato Ichihara) เคยเป็นเพื่อนสนิทของ Shūsuke Hoshino (รับบทโดย Shugo Oshinari) รับรู้จักกันมาตั้งแต่ชั้นประถมปลาย แถมยังเป็นคนแนะนำให้รู้จักศิลปิน Lily Chou-Chou ซึ่งได้รับการแนะนำต่อมาอีกทีจากเพื่อนสาว Yōko Kuno (รับบทโดย Ayumi Ito) และเหมือนว่าเด็กหนุ่มทั้งสองต่างแอบชื่นชอบเธอคนนี้
แต่พอทั้งสามเข้าเรียนชั้นมัธยมต้น หลังจาก Shūsuke พานผ่านประสบการณ์เฉียดตายจากทริปฤดูร้อนที่ Okinawa เมื่อเปิดเทอมกลับมาอุปนิสัยเปลี่ยนเป็นขั้วตรงข้าม จากเคยเหนียงอายรักสงบ กลายเป็นคนเกรี้ยวกราด ชอบใช้ความรุนแรง เยียบย่ำกระทำร้ายผู้อื่น แม้แต่ Yūichi ยังพลอยโดนลูกหลง เลวร้ายที่สุดก็คือข่มขืน Yōko จนทำให้เพื่อนสาวอีกคน Shiori Tsuda (รับบทโดย Yū Aoi) ที่ถูกแบล็กเมล์ให้ขายตัว ตัดสินใจกระโดดฆ่าตัวตายลงจากเสาสัญญาณสื่อสาร
Yūichi ได้ก่อตั้งเว็บไซด์แฟนคลับ สำหรับให้สมาชิกที่มีความชื่นชอบหลงใหล Lily Chou-Chou สามารถพูดคุยสนทนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น นั่นถือเป็นสถานที่ที่ทำให้เขาสามารถพักผ่อนคลายจากความตึงเครียด เก็บกดดัน ละทอดทิ้งปัญหาทุกสิ่งอย่างจากโลกความจริง และทุกครั้งเมื่อรับฟังเพลงของ Lily ก็จักค้นพบความสุขสงบขึ้นภายใน
Hayato Ichihara (เกิดปี 1987) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kawasaki, Kanagawa เมื่อเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ห้า เข้าตาแมวมองจับมาแสดงโฆษณาผลิตภัณฑ์ของ Nissin จากนั้นได้รับบทสมทบ Ju-on 2 (2000), แจ้งเกิดกับ All About Lily Chou-Chou (2001), แล้วโด่งดังจากซีรีย์ Water Boys 2 (2004) ฯลฯ
รับบท Yūichi Hasumi เด็กหนุ่มหน้าละอ่อน รับรู้จัก Shūsuke Hoshino มาตั้งแต่ประถมปลาย ร่วมชมรมเคนโด้ และต่างมีความชื่นชอบศิลปิน Lily Chou-Chou จึงสร้างเว็บไซต์แฟนคลับ LilyPhilia เป็นผู้ดูแล/แอดมินนามแฝง Philia (フィリア, ชื่อวงดนตรีเก่าของ Lily) ใช้สำหรับหลบหลีกหนี (Escapist) สำหรับพักผ่อนคลายเวลามีความอึดอัดคับข้อง ไม่พึงพอใจต่อสิ่งต่างๆในชีวิตประจำวัน
แต่เมื่อพวกเขาเลื่อนชั้นมัธยมต้น หลังกลับจากทริปฤดูร้อนที่ Okinawa พบเห็นพฤติกรรมของ Shūsuke เปลี่ยนแปลงขั้วตรงข้าม จำต้องก้มหัวกลายเป็นลูกน้อง ถูกบีบบังคับให้ลักขโมยสิ่งข้าวของ กระทำร้ายร่างกายผู้อื่น สร้างความหวาดกลัวตัวสั่น อึดอัดคับข้องแค้น พอพบเห็น Yōko ถูกข่มขืน Shiori ตัดสินใจฆ่าตัวตาย ก็มิอาจอดรนทนต่อสิ่งบังเกิดขึ้นอีกต่อไป เลยตัดสินใจบางสิ่งอย่างอันเลวร้าย
บอกตามตรงผมจดจำใบหน้าของ Ichihara แทบจะไม่ได้! เพราะส่วนใหญ่มักเห็นก้มศีรษะ ปฏิเสธการเผชิญหน้า หลบสายตาใครต่อใคร แต่เมื่อไหร่ที่ต้องบีบเค้นคั้นทางอารมณ์ ทั้งตอนร่ำร้องไห้ ระบายความอึดอัดอั้น แสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดโกรธออกมา ต้องชมว่าทรงพลัง สั่นสะท้านทรวงในผู้ชม
การที่ Yūichi ไม่ได้พานผ่านประสบการณ์เฉียดตายแบบ Shūsuke ทำให้เขายังอ่อนแอ ขี้ขลาดเขลา ไม่กล้าที่จะเผชิญหน้าต่อสู้ โต้ตอบกลับผู้อื่นใด เมื่อถูกกลั่นแกล้ง/กดขี่ข่มเหง เลยได้แค่อดกลั้นฝืนทน เก็บซ่อนเร้นความรู้สึกอันเกรี้ยวกราดไว้ภายใน ด้วยเหตุนี้เขาเลยสรรค์สร้างพื้นที่ส่วนบุคคล (ในเชิงนามธรรม) แล้วหลบซ่อนตนเองอยู่บนเว็บไซด์ LilyPhilia
เขาเป็นคนที่พยายามค้นหาพื้นที่ของตนเอง แต่ก็ไม่เคยหาเจอ เขาไม่รู้สึกไว้วางใจใคร จนได้พบเจอกับ Lily Chou-Chou ผมว่า Yūichi เป็นตัวแทนความรู้สึกของทุกคน ความสงสัยที่ว่าพื้นที่ใดที่เป็นของเราบ้าง
Hayato Ichihara
Shugo Oshinari (เกิดปี 1981) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Chiba, ช่วงระหว่างร่ำเรียนมัธยมเข้าตาแมวมอง ถ่ายแบบลงนิตยสาร Popteen, Tokyo Street News กระทั่งมีโอกาสแสดงละครดราม่า Heaven Cannot Wait (2000), สมทบภาพยนตร์ Blue Spring (2001), แจ้งเกิดโด่งดัง All About Lily Chou-Chou (2001), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Battle Royale II: Requiem (2003), Heaven’s Story (2010) ฯ
รับบท Shūsuke Hoshino รูปหล่อ พ่อรวย เรียนดี กีฬาเด่น นิสัยเรียบร้อย ภายนอกดูสมบูรณ์พร้อมทุกสิ่งอย่าง ใครต่อใครเลยมักพูดจาดูถูก ส่งสายตาเหยียดหยาม จนแทบไม่มีเพื่อนคบหา หลังจากได้รับแนะนำจาก Yōko ค้นพบความชื่นชอบหลงใหล Lily Chou-Chou แนะนำต่อให้ Yūichi และกลายเป็นสมาชิกเว็บไซด์ LilyPhilia ใช้นามแฝง Blue Cat (青猫, Ao Neko)
แต่หลังกลับจากทริปที่ Okinawa พานผ่านประสบการณ์เฉียดตาย (พอดิบพอดีกับกิจการที่บ้านล้มละลาย) ทำให้ได้รับบทเรียนสำคัญของชีวิต เลยละเลิกที่จะอดกลั้นฝืนทนต่อสิ่งต่างๆ ใครดีมาดีตอบ ร้ายมาร้ายตอบ พร้อมใช้กำลัง ความรุนแรง ระบายสิ่งอัดอั้นภายในโดยไม่สนอะไรใครทั้งนั้น แม้กระทั่งเพื่อนสนิท หรือหญิงสาวเคยชื่นชอบ ท้าพิสูจน์ศักยภาพตนเอง ไม่ต้องการก้มหัวให้ใครอีกต่อไป
ย้อนไปตอนนั้นผมไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่รู้จักเว็บบอร์ด โลกในหนังจึงเป็นสิ่งแปลกใหม่ แต่ด้วยความที่เป็นวัยรุ่น ผมเลยเจ้าใจด้านมืด และด้านน่ากลัวของตัวละครวัยรุ่นได้
บทของผมมืดหม่นมาก ผมพยายามจะค้นหาให้ลึกขึ้น แต่ก็ไม่คิดว่าตัวนี้ผิดปกติหรอกนะ พวกเราต่างมีบางอย่างคล้ายกันด้วยซ้ำ
Shugo Oshinari
บทบาทของ Oshinari คือกระจกสะท้อน Ichihara ต่างมีรสนิยม ความชื่นชอบ อุปนิสัยใจคอ อะไรหลายๆอย่างคล้ายคลึงกัน แต่หลังจากทริปที่ Okinawa ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ Shūsuke แสดงออกด้วยความเย่อหยิ่ง ทะนงตน ลุ่มหลงใหลในอำนาจ กลายเป็นหัวโจ๊กจอมเผด็จการ ใช้ความรุนแรงกับผู้ต่อต้านขัดขืน กระทำสิ่งต่างๆโดยไม่สนความถูก-ผิด ดี-ชั่ว มโนธรรม ศีลธรรมอีกต่อไป
พฤติกรรมทั้งหมดทั้งมวลของ Shūsuke ล้วนคือความเกรี้ยวกราดต่อสภาพสังคมอันเหี้ยมโหดร้าย หลังพานผ่านประสบการณ์เฉียดตาย ทำให้เขาหมดสิ้นความขลาดหวาดกลัวสิ่งใด หาญกล้าลุกขึ้นมาโต้ตอบกลับ กระทำสิ่งท้าพิสูจน์ตนเอง เพื่อสร้างพื้นที่ส่วนบุคคล (ในเชิงรูปธรรม) โดยไม่ยินยอมก้มหัวศิโรราบต่อผู้อื่นใดอีกต่อไป
Ayumi Ito (เกิดปี 1980) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo เคยเป็นโมเดลถ่ายแบบตั้งแต่อายุ 6 ขวบ, จากนั้นร่ำเรียนบัลเล่ต์ ก่อนหันมาสนใจด้านการแสดง เล่นหนังเรื่องแรก Samurai Kids (1993), แจ้งเกิดโด่งดังกับ Swallowtail (1996), ผลงานเด่นๆติดตามมา อาทิ Dr. Akagi (1998), All About Lily Chou-Chou (2001), พากย์เสียง Tifa Lockhart เกม Final Fantasy VII, The Go Master (2006), Gantz (2011) ฯลฯ
รับบท Yōko Kuno เพื่อนร่วมชั้น Shūsuke และ Yūichi เป็นคนแนะนำให้พวกเขารับรู้จัก Lily Chou-Chou ด้วยความสามารถด้านดนตรี จึงเป็นที่อิจฉาริษยาจากบรรดานักบูลลี่ เลยมักถูกรุมกลั่นแกล้ง พูดคำดูถูกเหยียดหยาม แม้เธอไม่พยายามใคร่สนใจ แต่ครั้งหนึ่งถูกล่อลวงไปข่มขืนกระทำชำเรา เช้าวันถัดมาโรงเรียนด้วยการโกนศีรษะ ทำเหมือนไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น ปฏิเสธแสดงความอ่อนแอให้ใครอื่นพบเห็น!
เกร็ด: ดั้งเดิมนั้นตัวละครนี้หลังถูกข่มขืนจะตัดสินใจกระทำอัตวินิบาต แต่พอผู้กำกับ Iwai พบเห็นสายตาอันมุ่งมั่นของ Ito ทั้งการฝึกเล่นเปียโน Debussy: Arabesque No.1 และยินยอมพร้อมโกนศีรษะจริงๆ เลยจำต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทกลายเป็น หญิงแกร่ง! เข้มแข็งกว่าเหล็กกล้า
แม้ตัวละครนี้แทบไม่มีบทบาทอะไร แต่ต้องถือว่า Ito สามารถขโมยซีนโดดเด่นได้เหนือกว่าใครเพื่อน ด้วยการแสดงความเข้มแข็งออกทางสีหน้าสายตา ท่าทางเคลื่อนไหว โดยเฉพาะโกนศีรษะไปโรงเรียน มันคือการสำแดงความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง ไม่ใช่นักแสดงทุกคนจะมีความหาญกล้า (เพราะมันจะสูญเสียโอกาสทางการแสดงไปอีกหลายเดือน)
จะว่าไปตัวละคร Yōko ก็เป็นกระจกสะท้อน Shiori ต่างถูกพวกผู้ชาย(ข่มขืน)กระทำชำเรา แต่ฝั่งหนึ่งปฏิเสธศิโรราบต่อเหตุการณ์บังเกิดขึ้น ส่วนอีกฝ่ายยินยอมก้มหัว สยบแทบเท้า เลยต้องอดรนทน จนท้ายสุดก็มิอาจกลั้นฝืนตนเองได้อีกต่อไป
ตัวละครของฉันเหมือนจะไม่ค่อยมีบทบาทในช่วงต้นๆของหนัง แต่เธอเป็นคนที่มีความเข้มแข็งแกร่งจากภายใน เหมือนกับใช้ชีวิตอยู่ตามปกติแล้วอยู่ดีๆต้องเจอกับเรื่องแย่ๆ สำหรับฉันฉากที่น่าจดจำคือกลังจากถูกข่มขืนแล้ว เธอโกนหัวไปโรงเรียน นั่นแหละค่ะคือความแข็งแกร่งภายในของเธอ เรารู้สึกร่วมไปกับพลังของเธอได้ ฉันชอบที่เธอเผชิญหน้ากับสิ่งที่ต้องเจออย่างเข้มแข็ง
Ayumi Ito
Yū Aoi (เกิดปี 1985) นักแสดง/นักพากย์สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Fukuoka, เมื่ออายุ 14 เริ่มต้นแสดงละครเวที ก่อนมีผลงานซีรีย์โทรทัศน์ แจ้งเกิดกับภาพยนตร์ All About Lily Chou-Chou (2001), Hana and Alice (2004), Hula Girls (2006) ** คว้ารางวัล Japan Academy Prize: Best Supporting Actress, พากย์เสียงอนิเมะ Tekkon Kinkreet (2006), Redline (2009), ภาพยนตร์คนแสดง Rurouni Kenshin (2012-21) รับบท Megumi Takani ฯลฯ
รับบท Shiori Tsuda หญิงสาวถูกแบล็กเมล์โดย Shūsuke ยินยอมกลายเป็นโสเภณี (มีคำเรียกภาษาญี่ปุ่นว่า Enjo-kōsai) ดูเหมือนเธอจะมีใจให้ Yūichi (แต่ก็รับรู้ว่าเขาแอบชื่นชอบ Yōko) ครั้งหนึ่งขโมยฟังบทเพลงของ Lily Chou-Chou จนบังเกิดความชื่นชอบหลงใหล (ไม่แน่ใจว่าเธอเข้าร่วมเว็บไซด์ LilyPhilia หรือเปล่านะ) แต่หลังจากพบเห็นสิ่งบังเกิดขึ้นกับ Yōko ก็มิอาจอดกลั้นฝืนทนเหตุการณ์ทั้งหมดนี้อีกต่อไป เลยตัดสินใจกระทำอัตนิวิบาตยังเสาสัญญาณสื่อสารแห่งหนึ่ง
เกร็ด: เสียงริงโทนโทรศัพท์คือบทเพลง King of Summer (2000) ขับร้องโดยดูโอ้ KinKi Kids แต่เครื่องที่ใช้(พร้อมตุ้งติ้งทั้งหลาย)เป็นของ Ayumi Ito
เมื่อครั้น Aoi ยังรูปร่างอวบๆ หน้าใสๆวัยสะรุ่น ช่วงแรกๆดูหน้านิ่วคิ้วขมวด เต็มไปด้วยความหงุดหงิด โกรธรังเกียจที่ถูกแบล็กเมล์กลายเป็นโสเภณี ซึ่งหลังจากระบายความอัดอั้นกับ Yūichi บังเกิดความสนิทสนมชิดใกล้ กลายเป็นคนร่าเริงสดใส มีพลังใจในการดำรงชีวิต และพอพบเห็นสิ่งบังเกิดขึ้นกับ Yōko ทุกสิ่งอย่างสร้างมาก็พังทลายลงตรงหน้า มิอาจอดกลั้นธารน้ำตา ตราตรึงจนผู้ชมก็มิอาจฝืนทนเช่นเดียวกัน
สิ่งที่จำได้แม่นที่สุด คือฉันเศร้ามากตอนถ่ายฉากที่ Yōko โกนหัวมาโรงเรียน ที่จริงในบทฉันไม่ต้องร้องไห้ แต่ก็กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ผู้กำกับ Shunji Iwai เลยบอกให้ตากล้อง Noboru Shinoda ถ่ายทำสดๆ ฉันนึกไม่ออกเลยว่าตอนนั้น Ayumi Ito จะรู้สึกยังไง เธอไปโกนหัวที่อีกห้องนึงตอนที่เราซ้อมกันอยู่ แล้วจู่ๆก็โผล่เข้ามา ห้องเงียบสนิทเลย ฉันปวดท้องขึ้นมาเลยค่ะ
Yū Aoi
ตัวละคร Shiori นอกจากเป็นกระจกสะท้อน Yōko ยังมีลักษณะคู่ขนานกับ Yūichi ต่างยินยอมก้มหัวศิโรราบให้เผด็จการ ไร้ความหาญกล้าลุกขึ้นมาทำอะไร ได้แค่เพียงมองหาใครสักคนพึ่งพักพิงทางกาย พื้นที่สำหรับพักผ่อนคลายหัวใจ จนกระทั่งพบเห็นการแสดงความเข้มแข็งของ Yōko (โกนศีรษะมาโรงเรียน) เลยตระหนักถึงความอ่อนแอของตนเอง บังเกิดความสิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก เลยตัดสินใจกระทำอัตวินิบาต ต้องการ(เป็นว่าว)ล่องลอยสู่ท้องฟ้าไกล
ถ่ายภาพโดย Noboru Shinoda (1952-2004) ตากล้องขาประจำของผู้กำกับ Shunji Iwai ร่วมงานกันตั้งแต่ Love Letter (1995), All About Lily Chou-Chou (2001) ไปจนถึง Hana and Alice (2004)
All About Lily Chou-Chou (2001) ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของญี่ปุ่นที่ถ่ายทำโดยกล้องดิจิตอลตลอดทั้งเรื่อง! (จริงๆก่อนหน้านี้ Love & Pop (1998) ของผู้กำกับ Hideaki Anno ถ่ายทำด้วยกล้องดิจิตอลเกือบทั้งหมด แต่เพราะมีบางส่วนผสมอนิเมะเข้าร่วมด้วย เลยยังไม่สามารถเรียกเต็มปากเต็มคำ) ฉากทั่วไปใช้กล้องรุ่น Sony HDW-F900R ส่วนทริป Okinawa (และฉาย Rape Scene) คงจะแค่กล้อง HandyCam ราคาถูกๆ(ของ Sony)มากกว่า
การถ่ายทำด้วยกล้องดิจิตอล Hand Held ทำให้งานภาพดูมีอิสระในการขยับเคลื่อนไหว ดำเนินไปอย่างไร้กฎกรอบ โซ่พันธนาการเหนี่ยวรั้ง (Unchained Camera) รวมถึงยังใช้แสงธรรมชาติเพื่อสร้างความฟุ้งๆจร้าๆ หลายครั้งทำให้ดูเหมือน ‘สมัครเล่น’ ซึ่งผมว่าสอดคล้องเข้ากับเรื่องราวของเด็กหนุ่ม-สาว ช่วงวัย(รุ่น)แห่งการลองผิดลองถูก ผันแปรเปลี่ยนวิธีการนำเสนอไปเรื่อยๆ (โดยสันชาติญาณของผู้กำกับและตากล้อง) จนไม่สามารถคาดเดาทิศทางอะไรได้
งานภาพของหนังได้รับคำชมอย่างมากๆว่ามีความสวยงามตา สร้างความเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย แต่ให้ตายเถอะ! เนื้อเรื่องราวกลับเต็มไปด้วยความเหี้ยมโหดร้าย จับต้องประเด็นปัญหาวัยรุ่นมากมาย แต่นั่นถือเป็นคอนเซ็ป/วิถีของภาพยนตร์เรื่องนี้ ภายนอกแลดูดี แต่ข้างในนั้นกลับป่นปี้ “สวยแต่รูป จูบไม่หอม”
สถานที่ถ่ายทำหลักๆประกอบด้วย Ōta จังหวัด Gunma, ท้องทุ่งนายัง Ashikaga จังหวัด Tochigi, คอนเสิร์ตจัดยัง Yoyogi National Gymnasium ย่าน Shibuya City, และสำหรับทริป Okinawa ถ่ายทำยัง Iriomote-jima เป็นเกาะทางตอนใต้สุดของญี่ปุ่น ห่างจากไต้หวันประมาณสองร้อยกว่าๆกิโลเมตรเท่านั้น (ถ้าใครจะไปเที่ยวเกาะนี้ ต้องขึ้นเครื่องบินไปลง Ishigaki-jima แล้วต่อเรือข้ามฟาก)
ช่วงอารัมบทและปัจฉิมบท ได้รับการถกเถียงอย่างมากว่า ท้องทุ่งนาแห่งนี้ที่ตัวละครทั้งสาม Yūichi, Shūsuke, Shiori ไปยืน-นั่ง-นอน เสียบหูฟังเพลงจากเครื่องเล่นซีดีอยู่นั้น คือสถานที่แห่งหนใด? ดินแดนแห่ง Ether? โลกเสมือนบนเว็บไซด์ LilyPhilia? หรือจะมองว่าคือพื้นที่ส่วนบุคคล สรวงสวรรค์ในจินตนาการที่พวกเขาล่องลอยมาถึงระหว่างรับฟังบทเพลงของ Lily Chou-Chou ทำให้สามารถทอดทิ้งความตึงเครียด อึดอัดคับข้องใจ สร้างความผ่อนคลาย เบาสบาย และบังเกิดความสุขสงบขึ้นภายใน
ช่วงอารัมบทจะพบเห็นเพียง Yūichi นั่นอาจเพราะเขาเป็นคนสร้างโลกใบนี้ขึ้นมา รวมถึงเว็บไซด์แฟนคลับ LilyPhilia (ในตอนแรก Blue Cat ของ Shūsuke ยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก, ส่วน Shiori ถูกทำให้เป็นปริศนาว่าเข้าร่วมหรือเปล่า), ส่วนปัจฉิมบทพบเห็น Yūichi, Shūsuke, Shiori (จริงๆน่าจะใส่ Yōko เข้าไปด้วย) ต่างคือตัวละครที่ต้องการดินแดน Ether แห่งนี้มากที่สุด
แม้ว่าช่วงท้ายของหนัง Shūsuke, Shiori ประสบเหตุโศกนาฎกรรมตายจากไปแล้ว แต่การที่พวกเขายังพบเห็นยังดินแดนแห่งนี้ สามารถอธิบายด้วยเหตุผลของ Ether จากเนื้อคำร้องบทเพลง Ai no Jikken (แปลว่า Experiment of Love) มีชีวิตก็เหมือนความตาย แม้หมดสิ้นลมหายใจก็ยังพบเห็น/สัมผัสได้ถึงตัวตน
Life like dead
Dead like life
Experiment in love – it confuses me
Experiment in love – does it make you laugh?I see you. You see me.
(Where do you live?)
You see me. I see you.
(I am living in the present)
I see you. You see me and now
หนังเริ่มต้นเรื่องราวด้วยการลักขโมยกระเป๋าผู้โดยสารคนหนึ่ง ภายในนั้นไม่เงินสักเยน กลับเต็มไปด้วยประกาศนียบัตร ใบรับรองการทำงานหรืออะไรสักอย่าง นี่สามารถเหมารวมถึงระบอบการศึกษาได้เลยนะ จบมาได้รับกระดาษใบหนึ่งที่ไม่ได้มีคุณค่าอะไร เพียงสนองความพึงพอใจ เอาไปใช้สมัครงาน แต่ก็ไม่การันตีว่าจะสามารถหาเงิน เอาตัวรอดในสังคม … สำหรับวัยรุ่น สิ่งเหล่านี้ไม่มีมูลค่าอะไรทั้งนั้น!
ท้องทุ่งนาเขียวขจี สีสันสวยสดใส พร้อมบทเพลงสุดไพเราะ Debussy: Clair de Lune แต่ภาพโปสเตอร์ Lily Chou-Chou อัลบัม EROTIC กลับเป็นป้ายสุสาน (MV บทเพลง Kyoumei -Kuukyo na Ishi- ก็ราวกับลุกขึ้นจากขุมนรก) มันช่างขัดย้อนแย้งตรงกันข้าม! แถมยังมีขณะที่ Yūichi แบกโปสเตอร์สุสานนี้ไว้ด้านหลัง … สะท้อนวิถีของภาพยนตร์เรื่องนี้ ภายนอกภาพสวยแลดูดี แต่ข้างในนั้นกลับเละเทะป่นปี้
ผมลองหาข้อมูลก็พบเจอเหตุการณ์เมื่อวันพุธที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 2000 วัยรุ่นอายุ 17 ปี ฆาตกรรมหญิงสูงวัย 68 ปี แล้วใช้มีดจี้เด็กสาววัย 6 ขวบ เป็นตัวประกันขณะอยู่บนรถโดยสารบนทางด่วน Sanyo Expressway ตำรวจพยายามต่อรองอยู่ 15 ชั่วโมง ระยะทาง 190 ไมล์ ระหว่างหยุดพักรถตรงจุดจอดบนทางด่วน (เติมน้ำมันกระมัง) ตำรวจแอบเข้ามาทางประตูทางออกฉุกเฉิน ควบคุมตัวไว้ได้สำเร็จ ไม่มีผู้โดยสารอื่นได้รับบาดเจ็บเพิ่มเติม
เท่าที่ผมอ่านข่าวพบว่าไม่มีการระบุชื่อ ระบุรถโดยสารสายไหน (เคารพสิทธิส่วนบุคคลอย่างมากๆ) แค่อธิบายว่าวัยรุ่นคนนี้เคยเป็นเด็กดี เรียนเก่ง แต่พอขึ้นมัธยมปลายได้เพียง 9 วัน ก็เปลี่ยนแปลงเป็นคนละคน ก่อนหน้านี้เคยใช้มีดจู่โจมมารดา เลยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจิตเวช พอได้รับอนุญาตกลับบ้านก็ก่อเหตุดังกล่าว หลังถูกจับกุมให้การสารภาพแรงจูงใจ “ต้องการได้รับประสบการณ์เมื่อเข่นฆ่าใครบางคน”
“I wanted to experience what it would be like to kill someone”.
reference: https://apnews.com/article/2dcd6fd151fc6de704ce2c8318e39122
reference: https://www.wsws.org/en/articles/2000/10/jap-o18.html
ผู้กำกับ Iwai เคยให้สัมภาษณ์ถึงวิธีการถ่ายทำฉากภายใน ว่าต้องเฝ้ารอคอยพระอาทิตย์เคลื่อนอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ วันหนึ่งมีเวลาเพียงไม่กี่นาทีเพื่อถ่ายทำช็อตสวยๆ แสงสว่างฟุ้งๆจร้าๆแบบนี้ … ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งที่สาดลำแสงเข้ามาในห้องได้อย่างพอดิบดี!
หลังจาก Yūichi ถูกจับได้ว่าลักขโมยของ สังเกตว่าจะก้มหน้าก้มตาอยู่ตลอดเวลา ทำเหมือนว่ายินยอมรับความผิด ใครต่อใครเลยต่างพร้อมยกโทษให้อภัย เพราะครุ่นคิดว่านี่คือครั้งแรกและซีดีแผ่นเดียว (แม้ก่อนหน้านี้เคยลักขโมยสิ่งข้าวของมานับครั้งไม่ถ้วนก็เถอะ) ผิดกับมารดาที่ไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง ครั้งเดียวก็ถือว่าลักขโมย ถึงขั้นทุบตีทำร้าย ไม่ยินยอมรับว่าตนเองนะแหละคือหนึ่งในสาเหตุ (เพราะไม่เคยเสี้ยมสั่งสอน เป็นต้นแบบอย่างที่ดีให้กับบุตรชาย)
หลังเหตุการณ์ดังกล่าว หนังมีการนำเสนอที่ชักชวนให้ผู้ชมขบครุ่นคิดว่ามีนัยยะแฝงอะไร? มารดาขึ้นรถโดยสาร ส่วน Yūichi ปั่นจักรยานกลับบ้าน → แต่พอมาถึงป้ายรถปลายทาง มารดากำลังเดินกลับ Yūichi ปั่นจักรยานแซงหน้า แล้วหยุดจอดให้เธอซ้อนท้ายด้านหลัง
เอาจริงๆแล้วมารดาซ้อนท้ายจักรยาน Yūichi กลับบ้านเลยก็ยังได้ (ไม่ต้องขึ้นรถโดยสาร) แต่ถ้ามองความต่อเนื่องจากฉากก่อนหน้า การที่เธอขึ้นรถประจำทางเหมือนเพราะยังรู้สึกโกรธ ไม่พึงพอใจบุตรชาย แต่เมื่อถึงป้ายรถปลายทางค่อยสามารถยกโทษให้อภัยสิ่งบังเกิดขึ้น (จึงยินยอมซ้อนท้ายจักรยาน)
หนังจงใจไม่ถ่ายให้เห็นว่าภาพการถูกกระทำของ Yūichi (หลบซ่อนอยู่ในความมืดมิด) เพียงแค่สมาชิกกลุ่มแก๊งค์ Shūsuke พูดบอก ออกสั่งโน่นนี่นั่น ปฏิกิริยาของผู้ชมเท่านั้น อาบฉาบแสงสีเขียว (สัญลักษณ์ของความชั่วร้าย/สีของ The Matrix (1999))
แซว: ในหนังจะมีการกล่าวถึงภาพยนตร์ The Matrix (1999) โดยทำการเปรียบเทียบโลกใบนี้ที่มีความเหี้ยมโหดร้ายดั่ง The Matrix และสรวงสวรรค์ Ether ก็คือโลกความจริงอันงดงาม (จริงๆมันน่าจะสลับกันมากกว่า)
นวนิยายออนไลน์บนเว็บไซต์ Lilyholic ดั้งเดิมนั้น Yūichi และ Shūsuke เข้าชมรมวิ่งแข่ง (Tracking & Field) แต่หนังเปลี่ยนมาเป็นเคนโด้ (เพราะผู้กำกับ Iwai เคยเข้าร่วมชมรมนี้สมัยเรียนมัธยม) ซึ่งสามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ของการต่อสู้ดิ้นรน เอาชีวิตในสังคม มีผู้เข้มแข็ง-อ่อนแอ ผู้แพ้-ผู้ชนะ ถือเป็น”ธรรมชาติชีวิต”
การปัสสาวะลงจากบนสะพาน ก็แฝงนัยยะถึงการเป็นผู้เข้มแข็งแกร่ง อยู่ตำแหน่งสูงกว่า ย่อมสามารถกระทำสิ่งต่างๆต่อผู้อ่อนแอ บุคคลที่อยู่ภายใต้ โดยไม่ต้องสนถูก-ผิด ดี-ชั่ว มโนธรรม ศีลธรรม เพราะนั่นคือ”ธรรมชาติชีวิต”ของห่วงโซ่อาหาร
วิธีการเอาตัวรอดจากรุ่นพี่มัธยมปลายของ Shūsuke ช่างมีความแยบยลยิ่งนัก! ใช้ความได้เปรียบจากการเป็นนักกีฬาเคนโด้ จึงมีความพริ้วไหว กระโดดขึ้นหลังรถ แล้วซ่อนตัวอยู่ใต้รถบรรทุก แต่สถานที่ที่ใครต่อใครมองว่าถูกห้อมล้อมจนมุม กลับส่งต่อซองใส่เงินให้เพื่อนๆออกวิ่งใส่เกียร์ผี ไม่มีทางที่นักเลงรุ่นพี่เหล่านี้จะติดตามทัน
การหลบซ่อนใต้รถบรรทุก สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ของความอ่อนแอ ขลาดเขลา (ทั้งวัยวุฒิ ประสบการณ์ชีวิต ล้วนมีน้อยกว่ารุ่นพี่มัธยมปลาย) แต่ไม่ได้แปลว่าพวกเขาจักต้องเป็นผู้แพ้ตลอดไป ถ้าใช้ความได้เปรียบจากสิ่งที่พึงมี (เข้าชมรมเคนโด้ ทำให้มีร่างกายแข็งแรงกว่า) ย่อมอาจสามารถพลิกกลับเป็นผู้ชนะในท้ายที่สุด
ทริปยัง Okinawa ผู้กำกับ Iwai ซื้อกล้อง HandyCam ให้เด็กๆทั้งสี่ถือคนละตัว ถ่ายทำจากมุมมองของพวกเขาเอง แล้วนำมาร้อยเรียงปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน (แต่เหตุการณ์ทั้งหมดล้วนมีในบทภาพยนตร์นะครับ)
ผมใช้วิธีให้กล้องแฮนดีแคมกับนักแสดงแต่ละคน เหมือนให้พวกเขาไปเที่ยวกันแล้วถ่ายวีดิโอเพื่อนๆมา ซึ่งผมก็เอาฟุตเตจที่ได้ไปใส่ในหนังจริงๆ
Shunji Iwai
หลายคนอาจรู้สึกว่าทริปที่ Okinawa มีความเยิ่นเย้อยืดยาว แถมงานภาพก็ดิบๆเถื่อนๆ ดูไม่ค่อยรู้เรื่องสักเท่าไหร่ (ก็แน่ละถ่ายด้วยกล้องคุณภาพต่ำกว่าปกติ) แต่ทั้ง Sequence นี้คือหัวใจของหนังเลยนะ! เพราะเป็นการนำเสนอเหตุผลที่ทำให้ Shūsuke ปรับเปลี่ยนอุปนิสัยตนเองไปอย่างขั้วตรงข้าม
การที่พวกเขาได้พบเห็นลำธาร ผืนป่า มหาสมุทร เรียนรู้จักวิถีเอาตัวรอดของสรรพสิ่ง ต้นไทร ปลาหัวแหลม ปะการัง หรือแม้แต่ขณะแหวกว่ายอยู่เฉยๆก็อาจจมน้ำโดยไม่รู้ตัว เหล่านี้คือสิ่งเสี้ยมสอน หล่อหลอม ให้บังเกิดความเข้าใจต่อ”ธรรมชาติชีวิต”
เรื่องราวของ Shijar Fish ปลาบินหัวแหลมพุ่งตรงเข้าหาแสงไฟเพื่อเข่นฆ่าเหยื่อ, ต้นไทร (นักบุญแห่งป่า นักฆ่าแห่งพงไพร) พืชปรสิตที่เติบโตขึ้นด้วยการโอบรัดต้นไม้อื่น, ปะการังใช้หนามแหลมทิ่มแทงปะการังตัวข้างๆเพื่อแก่งแย่งพื้นที่หาอาหาร ฯลฯ เอาจริงๆสรรพสัตว์แทบทุกชนิดล้วนอยู่ในห่วงโซ่อาหาร ต่างมีสถานะเป็นผู้ล่าและเหยื่อ นั่นคือ”ธรรมชาติชีวิต” แต่มนุษย์มักแสร้งทำเป็นหลงลืมด้วยการสร้างกฎกรอบอันชอบธรรมของตนเองขึ้นมา
การได้เรียนเรียนรู้จักเรื่องราวเหล่านั้น ไม่ได้ทำให้มนุษย์มีตระหนักรู้บังเกิดขึ้นแต่อย่างใด จนกว่าจะเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านั้น พานผ่านประสบการณ์เฉียดตาย Shūsuke จึงบังเกิดความเข้าใจว่าชีวิตมี(มูล)ค่าเพียงไหน อะไรคือสำคัญสูงสุดในการธำรงชีพรอด
LINK: https://www.papaiwat.com/th/story/category/detail/id/8/iid/151
หลายคนคงมึนๆงงๆกับการที่กล้องถ่ายภาพกระแสน้ำเคลื่อนไหล หมุนวนไปมา แต่พอพบเห็นช็อตเกยตื้นของ Shūsuke ก็น่าจะตระหนักว่านั่นคือภาพขณะจมน้ำ ซึ่งวิธีการนำเสนอดังกล่าวทำแลดูคล้ายกล้องสลับลาย (Kaleidoscope) บ้างมองว่าเหมือนพิธีจุ่มศีล สัญลักษณ์ของการถือกำเนิดใหม่ (เพราะหลังจากนี้ Shūsuke กำลังจะปรับเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนละคน)
ชายแปลกหน้าที่มาพบเห็น Shūsuke ตอนแรกเหมือนต้องการจะผายปอด แต่การแสดงท่าทางแปลกๆ รุกรี้รุกรน คงทำไม่เป็น มันเลยเป็นการจุมพิตเสียมากกว่า! (มองว่าเป็น Kiss of Death ก็ไม่ผิดกระมัง) ผมตีความว่าคือการฉวยโอกาส เหมือนหลายๆครั้งที่แสร้งทำเป็นลืมคืนกล้องให้เด็กๆ ผลลัพท์ก็คือถูกรถชนเลือดอาบ ได้รับผลกรรมคืนตอบสนอง (บางคนมองว่าการจุมพิตครั้งนี้ ได้นำเอาความโชคร้ายของ Shūsuke ใส่ตัวเอง)
หลังพานผ่านประสบการณ์เฉียดตาย ระหว่างนั่งเรือขากลับ Shūsuke ตัดสินใจหยิบเงินที่เหลือโปรยทานลงท้องทะเล เป็นการแสดงให้เห็นว่า ‘เงิน’ หาใช่สิ่งสำคัญสูงสุด ขณะที่ใครต่อใครต่างส่งเสียงออกมาอย่างเสียดาย เขากลับแสยะยิ้มอย่างเริงร่า บังเกิดความเข้าใจใน”ธรรมชาติชีวิต”
นี่เป็นฉากที่ล้อกับช่วงท้ายของ Swallowtail Butterfly (1996) ที่ตัวละครตัดสินใจเผาเงินทั้งหมด เพราะตระหนักว่ามันหาใช่สิ่งสำคัญสูงสุดในชีวิต ไม่สามารถซื้อคืนความสุขกลับมาได้
เหยื่อรายแรกหลังกลับจากทริป Okinawa ของ Shūsuke ชื่อว่า Inubushi (Inu=สุนัข, Bushi=ก้มหัว) ถูกสั่งให้ถอดเสื้อผ้า แล้วแหวกว่าย ตะเกียกตะกาย เหมือนสุนัขตกน้ำ (ล้อกับตอนที่ Shūsuke เคยเกือบจมน้ำ) แม้จะไม่จมน้ำตายแต่ก็อับอายขายขี้หน้า สังเกตว่าฉากนี้มีการย้อมสีให้ออกโทนม่วงๆ เพื่ออธิบายคำนิยามของ philia เรียกว่า “The Age of Gray” ว่านับจากวันนี้ทุกสิ่งอย่างได้ปรับเปลี่ยนแปลงไป
If that’s true, humanity’s last day was September 1, 1999. The first day of school. From that day on, the world was gray.
The age of gray. Only the rice fields are that bright, sterile green.
From: philia
ผลลัพท์สำหรับ Inubushi จากเคยเป็นนักเลงประจำห้อง เลยสูญเสียความมั่นใจในตนเอง (กลับตารปัตรตรงกันข้ามกับ Shūsuke) หลังจากเหตุการณ์วันนี้ก็ไม่เคยมาโรงเรียนอีกเลย อาจย้ายหนีไม่ก็ป่วยโรคซึมเศร้าอย่างแน่แท้
โดยปกติแล้วการระบายความอึดอัดอั้น มักใส่อารมณ์อย่างเกรี้ยวกราด ตบตีกระทืบซ้ำอย่างรุนแรง แต่สิ่งที่ Shiori กระทำต่อ Yūichi มันช่างมีความหน่อมแหน้ม ออนซอน เหมือนหวาดกลัวเขาจะได้รับบาดเจ็บ (ผมมองว่าเป็นการตบสร้างภาพ พยายามแสดงออกให้เห็นว่าตนเองเข้มแข็งแกร่ง) แต่แล้วจู่ๆเธอก็วิ่งลงคูคลอง เปียกปอนชุ่มฉ่ำ (เหมือนตั้งใจจะฆ่าตัวตาย แต่ธารน้ำมันตื้นเขินเลยแค่เปียกปอน กลายเป็นแสดงด้านอ่อนแอให้เห็นซะงั้น!)
โดยปกติแล้วมนุษย์พยายามซุกซ่อนด้านอ่อนแอของตนเอง ไม่ยินยอมเปิดเผยธาตุแท้ตัวตนให้ใครพบเห็น ยกเว้นบุคคลที่มีความชื่นชอบพอ คนพิเศษของหัวใจ ถึงไม่มีอะไรให้ต้องปกปิดบัง … นี่น่าจะคือแนวคิดของช็อตนี้ที่พอ Yūichi มาส่งถึงบ้าน Shiori เดินหลบต้นไม้เข้าไปชำระล้างร่างกาย มุมกล้องค่อยๆถอยออกมาให้เห็นภาพทั้งสองมองไม่เห็น(ความลับของ)กันและกัน
หลายคนมองว่า Shiori แอบชื่นชอบ Yūichi แต่ผมยังรู้สึกเพิ่มเติม เหมือนเธอพยายามเปรียบเทียบตนเองกับเขา (การมีใครสักคนสำหรับเปรียบเทียบ จะทำให้รับรู้สึกว่าสิ่งที่ตนเองประสบอยู่ไม่ได้ย่ำแย่เลวร้ายสักเท่าไหร่) เวลาไปไหนต่อไหนด้วยกัน หญิงสาวจึงมักวางอำนาจบาดใหญ่ ขโมยซีดี Lily Chou-Chou พาไปเลี้ยงอาหารหรู (นี่เป็นลักษณะการยกตนข่มท่าน แม้ฉันเป็นโสเภณีขายตัวแต่ก็ไม่ได้เลวร้ายเท่าเขาสักเท่าไหร่)
ฉากข่มขืน Yōko ในโรงงานผลิตหมอน (เคยเป็นโรงงานของบิดา Shūsuke แต่ถูกปิดกิจการ ล้มละลาย) ถ่ายทำด้วยกล้อง HandyCam เหมือนตอนไปทริป Okinawa ด้วยนัยยะเดียวกันคือสร้างความดิบๆเถื่อนๆ ดูไม่ค่อยรู้เรื่องสักเท่าไหร่ แต่สะท้อน”ธรรมชาติชีวิต” ผู้อ่อนแอก็ร่ำร้องไห้พ่ายแพ้ ผู้เข้มแข็งกว่าถึงได้รับชัยชนะ มีสิทธิ์ครอบครองเป็นเจ้าของทุกสรรพสิ่งอย่าง
มันจะมีขณะหนึ่งระหว่างที่ Yōko พยายามดิ้นรนขัดขืน พบเห็นขนนก (ที่อยู่ในหมอน) ปลิดปลิวไปทั่วอาคารหลังนี้ ให้ความรู้สึกเหมือนไก่ถูกเชือด สูญเสียปีกโบยบิน (รวมถึงทรงผมที่เธอตัดสินใจโกนทิ้ง) มองภายนอกเหมือนจะสวยงาม แต่กลับซ่อนเร้นด้วยความเหี้ยมโหดร้าย
ภาพผู้ร้ายถ่ายย้อนแสง สวมฮู้ดคลุมศีรษะ สูบบุหรี่พ่นควันอย่างหนัก ทุกครั้งเพียงออกคำสั่งแต่ไม่เคยเข้าไปร่วมวงกระทำสิ่งใดๆ นั่นเพราะธาตุแท้จริงของ Shūsuke ไม่ได้ใคร่อยากจะทำสิ่งเลวร้ายเหล่านี้ แถมตนเองยังเคยชื่นชอบ Yōko แต่เพราะนี่คือ”ธรรมชาติชีวิต” ไม่สามารถประณีประณอม แสดงด้านอ่อนแอให้ใครพบเห็น จึงต้องสร้างภาพเข้มแข็งแกร่ง สำหรับเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล แสดงจุดยืนของตนเองในสังคม
การโกนศีรษะของ Yōko มักได้รับการตีความถึงอารยะขัดขืน ลุกขึ้นมาเผชิญหน้าต่อสู้ แสดงความเข้มแข็งแกร่ง ไม่ยินยอมศิโรราบในฐานะผู้ถูกกระทำ หรือเปิดเผยด้านอ่อนแอให้ใครผู้ใดพบเห็น
แต่เอาจริงๆผมไม่รู้สึกว่า Yōko มีความเข้มแข็งแกร่งขนาดนั้นเลยนะครับ ด้วยนิสัยประณีประณอม ไม่ชอบระรานใคร การโกนศีรษะของเธอน่าจะสื่อถึงความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ พร้อมตัดทิ้งสิ่งเลวร้ายที่บังเกิดขึ้น อะไรไม่อยากจดจำก็หลงลืมทอดทิ้งมันไป คือสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่เสียมากกว่า
ช็อตสวยสุดของหนัง! หญิงสาวแหงนมองท้องฟากฟ้า พบเห็น…
- เสาสัญญาณสื่อสารตั้งตระหง่าน (สะท้อนปัญหาการสื่อสารของวัยรุ่น ไม่สามารถพูดคุยปรับความเข้าใจอะไรต่อใคร ไร้พื้นที่ส่วนบุคคลสำหรับพักผ่อนคลายความอึดอัดอั้นภายใน)
- เครื่องบินเจ็ทกำลังเคลื่อนพานผ่าน (สามารถเปรียบถึงนกที่โบยบินอย่างอิสรภาพ)
- ว่าวกำลังเล่นลม (นัยยะเดียวกับเครื่องบินเจ็ท อยากที่จะถลาแล่นลม ได้รับอิสรภาพโบกโบยบิน)
- และดวงอาทิตย์ทอแสงสีรุ้ง (เป้าหมายปลายทาง สถานที่แห่งความเพ้อใฝ่ฝัน สรวงสวรรค์อันสุขสงบที่ใครๆต่างโหยหา)
แต่ความสวยงามของฉากนี้ กลับเป็นเพียงสิ่งอาบหน้าหายนะที่กำลังจะบังเกิดขึ้น! Shiori เพราะไม่สามารถพูดคุยสื่อสาร ทำความเข้าใจอะไรกับใคร สภาพจิตใจจึงเต็มไปด้วยความอึดอัดอั้น ต้องการได้รับอิสรภาพเหมือนนก โบกโบยบินบนท้องฟ้าไกล มุ่งสู่สรวงสวรรค์อันสุขสงบ … แต่เธอเป็นมนุษย์ไร้ซึ่งปีกโบยบิน เมื่อถลาลงมาจากเสาสัญญาณสื่อสาร จึงตกลงสู่ภาคพื้นดิน สิ้นลมหายใจ ถึงอย่างนั้นวิญญาณของเธอคงสามารถล่องลอยไป
คอนเสิร์ตของ Lily Chou-Chou ในนวนิยายจัดที่ Live House สมมติชื่อ Shibuya Quatre ส่วนหนังถ่ายทำยัง Yoyogi National Gymnasium ซึ่งก็ตั้งอยู่ย่าน Shibuya City, ตัวประกอบนับพัน ส่วนใหญ่คือสมาชิกเว็บไซด์ Lilyholic ทุกคนจะได้รับโบว์ชัวร์ที่เขียนอธิบายรายละเอียดว่าจะให้ทำอะไรยังไง โดยเฉพาะหลังคอนเสิร์ตจะมีความวุ่นวายากๆ แต่ต้องชมเลยว่าสามารถจัดเก็บบรรยากาศฝูงชนได้ยอดเยี่ยม น่าประทับใจ
Shūsuke ขโมยตั๋วคอนเสิร์ตของ Yūichi และเปิดเผยว่าตนเองคือ Blue Cat แทบไม่อยากเชื่อว่าจะพบเห็นความแตกต่างขั้วตรงข้ามระหว่างบุคคลจริงๆ-ตัวตนในโลกเสมือน (หรือจะมองร่างกาย-จิตวิญญาณ ก็ได้เช่นกัน) นั่นกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เขามีสภาพเหมือน Music Video บทเพลง Kyoumei -Kuukyo na Ishi- กำลังกลิ้งเกลือกอยู่ในโคลนตม จมอยู่ภายใต้สุสาน ไม่สามารถแหวกว่าย ตะเกียกตะกาย ลุกขึ้นกลับมามีชีวิตได้อีก
ดั้งเดิมในฉบับนวนิยายออนไลน์ Shūsuke เสียชีวิตจากการถูกรถชนตาย (น่าจะโดย Yūichi ผลักให้ถูกรถชน มั้งนะ) แต่หนังเปลี่ยนมาเป็นถูกแทงเสียชีวิต (ทำลายร่างกาย) เพื่อจะสามารถใช้มืดแทงแอปเปิ้ล (ซึ่งมีอีเมล์ของ Blue Cat เฉลยว่าคือนามแฝงของ Shūsuke) แทนสัญลักษณ์ของการทำลายจิตวิญญาณ
ทำไมต้องแอปเปิ้ล? ผลไม้เด็ดจากสวนอีเดน ซึ่งยังพบเห็นโลโก้แมคอินทอชบนคอมพิวเตอร์ของ Yūichi (ที่ใช้เป็น Server เว็บไซด์ LilyPhilia) ซึ่งสามารถมองเป็นสัญลักษณ์ของ Ether ได้ด้วยเช่นกัน
นี่เป็นช็อตที่น่าพิศวงยิ่งนัก มุมกล้องนี้ทำให้หลายๆคนตื่นตระหนก ตกอกตกใจ ครุ่นคิดว่า Yūichi คิดสั้นแขวนคอตาย! ผมเองยังใจหายวาปชั่วครู่ (มันเป็นมุมกล้องที่ชวนให้จิ้นไปไกลจริงๆ) แต่ก็ไม่คิดว่าผู้กำกับ Iwai จะทำลายโครงสร้างของหนังด้วยการมีตัวละครฆ่าตัวตายซ้ำสองครั้ง … ก่อนจะมาเฉลยว่าแค่ออกกำลังกาย ยืดเส้นสายเท่านั้นเอง
แล้วทำไมถึงยืนท่านี้? ผมครุ่นคิดว่า Yūichi น่าจะกำลังครุ่นคิดจะฆ่าตัวตายอยู่เหมือนกัน (สังเกตจากท่าท่างยืดตัว นั่งลง แล้วยกขึ้น) ยังคงหมกมุ่นยึดติดกับเหตุการณ์เมื่อวันคอนเสิร์ต แต่เพราะความอ่อนแอขี้ขลาดเขลา เชื่อเถอะว่าหมอนี่ไม่มีทางกระทำอัตนิวิบาตอย่างแน่นอน!
และคำถามโลกแตก ห้องพักแห่งนี้ของใคร? หลายคาดเดาว่าคือห้องของ Shūsuke เพราะไม่เชื่อว่าครอบครัวของ Yūichi จะมีเงินซื้อเปียโน แต่ผมว่าก็ไม่แน่นะ Yūichi ก็พอเล่นเปียโนได้นิดๆหน่อยๆ
เมื่อกำลังจะขึ้นชั้น ม.3 Yūichi ขอให้มารดาย้อมสีผม ต้องการจะปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ตนเองเป็นคนใหม่ แต่เฉดสีสันในร้านแห่งนี้ สีเขียวเหมือนแสงยามค่ำคืน (แบบเดียวภาพยนตร์ The Matrix (1999)) สื่อถึงโลกใบนี้ที่ยังคงมีความเหี้ยมโหดร้าย รายล้อมรอบด้วยภยันตราย “ธรรมชาติชีวิต” ยังคงไม่ได้ปรับเปลี่ยนแปลงไป
ผลการเรียนที่ตกต่ำ แสดงถึงความหมกมุ่น ยังครุ่นคิดถึงเหตุการณ์เมื่อครั้นวันงานคอนเสิร์ต มันเหมือนว่า Yūichi ได้สูญเสียอีกขั้วตรงข้ามของตนเอง (Shūsuke) ไปชั่วนิจนิรันดร์! แต่ฉากย้อมสีผม และภาพช็อตสุดท้ายนี้ สามารถตีความถึงการกำลังจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ ขึ้นสู่ชั้น ม.3 อย่างไม่ต้องหวาดกลัวเกรงอะไรใครอีกต่อไป
ช็อตสุดท้ายของหนัง Yūichi เดินมาหยุดยืนอยู่ตรงหน้าต่าง (สามารถสื่อถึงอนาคตที่สาดส่องแสงสว่าง) แต่ตำแหน่งพอดิบพอดีเห็นภาพสะท้อนในกระจก (เทียบแทนถึงร่างกายและจิตวิญญาณ) กำลังจับจ้องมอง Yōko บรรเลงเปียโนบทเพลง Debussy: Arabesque No.1 ราวกับสถานที่แห่งนี้ ช่วงเวลาขณะนี้ ได้กลายเป็นสรวงสวรรค์บนดิน เด็กชายไม่ต้องล่องลอยให้ถึง Ether อีกต่อไป!
ตัดต่อโดย Yoshiharu Nakagami, ผู้กำกับ Iwai เล่าว่าฉบับดั้งเดิม (Original Cut) ความยาว 157 นาที แต่ตัดสินใจหั่นฉากข่มขืน, ชายหาด และงานศพ (เห็นว่านำฟีล์มต้นฉบับดังกล่าวถูกไฟไหม้ ฟุตเทจถ่ายทำไว้เลยสูญหายไปด้วย) จนเหลือระยะเวลา 146 นาที (2 ชั่วโมง 26 นาที) ไม่ได้ทำให้อรรถรสของหนังสูญเสียไปสักเท่าไหร่
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Yūichi Hasumi แต่จะไม่ได้นำเสนอในลักษณะเส้นตรง (Non-Chronological Order) เริ่มต้นเหตุการณ์ปัจจุบันขณะเรียนอยู่ชั้น ม.2 → แล้วเล่าย้อนอดีตตั้งแต่เข้าเรียนมัธยมต้น ม.1 (ค.ศ. 1999 ขณะอายุ 13 ปี) → ช่วงระหว่างปิดเทอมหน้าร้อน ท่องเที่ยวทริป Okinawa → กลับมาขึ้น ม.2 (ค.ศ. 2000 ขณะอายุ 14 ปี) พบเห็นความเปลี่ยนแปลงที่บังเกิดขึ้นกับ Shūsuke → พอมาบรรจบเหตุการณ์ในปัจจุบัน ก็ดำเนินต่อมุ่งสู่ไคลน์แม็กซ์ คอนเสิร์ตของ Lily Chou-Chou (ค.ศ. 2001 ขณะอายุ 15 ปี)
- อารัมบท, Yūichi ยืนฟังเพลงอยู่กลางท้องทุ่งนา
- ห้านาทีแรกถือเป็นการอารัมบทลูกเล่นลีลา ภาษาภาพยนตร์ที่ใช้แทนการสื่อสารในโลกเสมือน/สังคมออนไลน์ สมาชิกพูดคุยโต้ตอบผ่านเว็บไซด์ LilyPhilia เพื่อให้ผู้ชมค่อยๆเรียนรู้ปรับตัวเข้าหาวิธีดำเนินเรื่องดังกล่าว
- ม.2 วิถีชีวิตของ Yūichi
- ร่วมกับผองเพื่อนลักขโมยของบนรถไฟ ร้านขายซีดี แล้วนำมาขายต่อ
- Yūichi ลักขโมยซีดี Lily Chou-Chou แล้วถูกจับได้
- ค่ำคืนนั้น Yūichi เลยโดยกลั่นแกล้ง (Bully) จากเพื่อนๆร่วมแก๊งค์ Shūsuke
- (Flashback) ย้อนอดีต ม.1
- Yūichi และเพื่อนสนิท Shūsuke เข้าร่วมชมรมเคนโด้
- (ถ่ายทำด้วยกล้อง HandyCam) ทริปท่องเที่ยว Okinawa ทำให้ Shūsuke พานผ่านประสบการณ์เฉียดตาย
- การเปลี่ยนแปลงของ Shūsuke เมื่อขึ้นชั้น ม.2 กลายเป็นหัวโจ๊กที่พร้อมใช้กำลังรุนแรง กลั่นแกล้ง กระทำร้ายผู้อื่น
- บรรจบกับองก์แรก ความชั่วร้ายของ Shūsuke
- ทำการแบล็กเมล์ Shiori ให้เธอกลายเป็นโสเภณีขายตัว
- การแข่งขันขับร้องเพลง นำสู่การข่มขืน Yōko และการฆ่าตัวตายของ Shiori
- ไคลน์แม็กซ์งานคอนเสิร์ตของ Lily Chou-Chou เมื่อ Yūichi ไม่สามารถอดรนทนต่อ Shūsuke ได้อีกต่อไป
- ปัจฉิมบท & Closing Credit,
- Yūichi และ Yōko เริ่มต้นเป็นนักเรียน ม.3
- Closing Credit ปรากฎภาพของ Yūichi & Shūsuke & Shiori ยืนฟังเพลงอยู่กลางท้องทุ่งนา ล้อกับอารัมบทที่เป็นการสื่อสารในโลกเสมือน แต่เปลี่ยนประเด็นพูดคุยเป็นเหตุการณ์โศกนาฎกรรมในคอนเสิร์ตของ Lily Chou-Chou
เส้นเรื่องที่มีลักษณะกระโดดไปกระโดดมา (Non-Chronological Order) รวมถึงการปรากฎข้อความตัดสลับภาพเหตุการณ์อยู่บ่อยครั้ง ล้วนสามารถเปรียบเทียบถึงห้วงอารมณ์วัยรุ่น เดี๋ยวขึ้น-เดี๋ยวลง เดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ ซึ่งยังทำให้ผู้ชมมิอาจสามารถคาดเดาสิ่งกำลังบังเกิดขึ้นสักเท่าไหร่ (แต่ก็พอมีคำบอกใบ้ผ่านภาษาภาพยนตร์อยู่บ้างนะครับ)
สิ่งท้าทายสุดในการรับชมหนังเรื่องนี้ ก็คือการอ่านข้อความที่ปรากฎกลางจอ ซึ่งมักทำการตัดสลับช็อตต่อช็อตกับภาพเหตุการณ์บังเกิดขึ้น นี่ถือเป็นอีกลักษณะหนึ่งของ Jump Cut เพื่อสร้างความแปลกแยก รู้สึกแตกต่าง เพราะนั่นคือบทสนทนาที่มาจากโลกเสมือน/สังคมออนไลน์ พูดคุยโต้ตอบผ่านเว็บไซด์ LilyPhilia มักปรากฎขึ้นระหว่างตัวละครบังเกิดความไม่พึงพอใจอะไรบางอย่าง ต้องการหลบหลีกหนี (Escapist) กระโดดออกจากสถานที่/เหตุการณ์ขณะนั้น
วิธีการนำเสนอดังกล่าวมันสร้างความยุ่งยากมากๆสำหรับคนอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออก เพราะสายตาที่ต้องเหลือบมาอ่านซับไตเติ้ลอยู่ตลอดเวลา ทำให้มองไม่ทันเห็นภาพเหตุการณ์ที่หนังต้องการตัดสลับเคียงคู่ขนานกันไป นี่ถือว่าสูญเสียอรรถรสในการรับชมอย่างมากๆ … นักวิจารณ์ตะวันตกหลายคนส่ายหัวกับเทคนิคนี้ มองว่าหนังสร้างข้อแม้ในการสื่อสารที่ยุ่งยาก ซับซ้อนเกินไป (จริงๆถ้าหนังไม่ใช้การตัดสลับไปมาระหว่างข้อความ <> ภาพเหตุการณ์ มันอาจทำให้หนังดูง่ายขึ้นเยอะ แต่การทำเช่นนั้นจะทำลายความเหลื่อมล้ำ/สูญเสียเส้นแบ่งบางๆระหว่างโลกเสมือน vs. โลกความจริง)
เพลงประกอบโดย Takeshi Kobayashi (เกิดปี 1959) โปรดิวเซอร์/นักแต่งเพลงชาวญี่ปุ่น หลังเรียนจบทำวงดนตรี Backing Band ให้นักร้องดังๆอย่าง Yosui Inoue, Misato Watanabe, Anri, ออกอัลบัมแรกของตัวเอง Duality (1988), โด่งดังจากบทเพลง Anata ni Aete Yokatta ขับร้องโดย Kyōko Koizumi คว้ารางวัล Japan Record Awards: Best Arrangment, สำหรับภาพยนตร์ร่วมงานผู้กำกับ Shunji Iwai อาทิ Swallowtail Butterfly (1996), All About Lily Chou-Chou (2001) ฯ
Kobayashi เริ่มเขียนเพลงประกอบตั้งแต่ก่อนโปรดักชั่น เพื่อสร้างต้นแบบตัวละคร Lily Chou-Chou สำหรับกำหนดทิศทางของหนัง ซึ่งในช่วงที่ผู้กำกับ Iwai เปิดเว็บไซต์ Lilyholic ตีพิมพ์นวนิยายออนไลน์ ก็นำเอาหลายๆบทเพลงมาเปิดตัว ให้ผู้ติดตามร่วมแสดงความคิดเห็น (นำเอาคอมเมนต์เหล่านั้นมาใช้ในหนังด้วยเช่นกัน)
แม้ผู้กำกับ Iwai จะมีต้นแบบ Lily Chou-Chou มาจากนักร้องสาวชาวฮ่องกง Faye Wong แต่บรรดานักวิจารณ์มักเปรียบเทียบกับศิลปิน Kate Bush หรือ Björk ทั้งสองต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดดเด่นในความคิดสร้างสรรค์ แต่ละบทเพลงสะท้อนความรู้สึกนึกคิด สภาวะทางอารมณ์ และความคิดเห็นต่อสังคม พานผ่านเนื้อร้องและรูปแบบดนตรีแนวทดลอง (Experimental Music)
สไตล์เพลงของ Lily Chou-Chou ฟังแล้วรู้ล่องลอย เบาสบาย พักผ่อนคลายจากความตึงเครียด ทอดทิ้งปัญหาใดๆบนโลก แล้วโบยบินสู่สรวงสวรรค์ ซึ่งหนังจะมีคำกล่าวถึง Ether สสารอะไรสักอย่างล่องลอยอยู่รอบตัวเรา แม้คำอธิบายจะฟังไม่ค่อยรู้เรื่องสักเท่าไหร่ แต่คนส่วนใหญ่คาดกันว่าน่าจะสื่อถึงสไตล์ดนตรี Ethereal มีต้นแบบมาจากแนว Dark Wave หรือ Gothic Rock เชื่อมโยงใยถึงภาวะไม่ใช่ทางโลก (Unworldy) ฟังแล้วรู้สึกเหมือนได้ขึ้นสู่สรวงสวรรค์ (Heavenly)
บทเพลงถือว่าชัดเจนในสไตล์ Ethereal มากที่สุดของหนังก็คือ Opening Song ชื่อ Arabesque ซึ่งได้แรงบันดาลใจจาก Debussy: Arabesque No.1 แต่ไม่ได้คัทลอกหรือดัดแปลงท่วงทำนองใดๆนะครับ เพียงนำเอาแนวคิดดั้งเดิมของคีตกวี Claude Debussy เขียนเพลงโดยนำแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ ภาพวาด หรืองานศิลปะ มาสร้างสัมผัสทางดนตรี ‘Impressionist’ ซึ่งความล้ำของ Kobayashi ยังคือการใช้เสียงสังเคราะห์ เครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ (แทนเครื่องดนตรีคลาสสิกดั้งเดิม) เพิ่มเติมความโมเดิร์น ล้ำยุคสมัย ล่องลอยไปท่ามกลางสรวงสวรรค์บนท้องทุ่งนา
เมื่อมีการอ้างอิงถึง Debussy: Arabesque No.1 แน่นอนว่าก็ต้องมีการใช้บทเพลงคลาสสิกนี้ประกอบในหนัง (และยังมี Clair de Lune (1910), Pour invoquer Pan, dieu du vent d’ete (1914), La fille aux cheveux de lin (1909-10)) แต่ผมจะไม่ขอลงรายละเอียดเพราะได้แยกอีกบทความ Debussy: Deux Arabesques ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
Ayumi Ito มีความต้องการอย่างแรงกล้าในการเล่น Arabesque No.1 แม้จะไม่เคยร่ำเรียนเปียโนมาก่อน แต่ก็ลักจำแล้วซักซ้อมอย่างหนัก ถึงอย่างนั้นเสียงที่ได้ยินบรรเลงโดย Yui Makino (เกิดปี 1986) นักร้อง/นักพากย์/นักแสดง ได้รับการค้นพบโดยผู้กำกับ Iwai ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ให้มาเดี่ยวเปียโนภาพยนตร์ Love Letter (1995), All About Lily Chou-Chou (2001) และ Hana and Alice (2004)
เกร็ด: น่าจะเป็นความจงใจที่ชื่อศิลปิน Lily Chou-Chou มีความสัมพันธ์บางอย่างกับ Claude Debussy (1862-1918)
- Marie-Rosalie Texier (1873-1932) ชื่อเล่น Lilly คือภรรยาคนแรกแต่งงานเมื่อปี 1899-1904 ซึ่งตอนที่ Debussy บอกยุติความสัมพันธ์ชีวิตคู่ เธอคิดสั้นฆ่าตัวตายแต่เอาตัวรอดมาได้อย่างหวุดหวิด
- Claude-Emma Debussy Bardac (1905-19) ชื่อเล่น Chouchou คือบุตรสาวจากภรรยาคนที่สอง Emma Bardac (1862-1934) แต่โชคร้ายล้มป่วยโรคคอตีบ เสียชีวิตขณะอายุเพียง 14 ปีเท่านั้น!
- Children’s Corner (1908) คือบทเพลงที่ Debussy อุทิศให้บุตรสาว Chouchou
Ai no Jikken (แปลว่า Experiment of Love) ฟังดูน่าจะเป็นบทเพลงเกี่ยวกับความรัก แต่กลับดังขึ้นระหว่างที่ Yūichi โดนรุมซ้อมโดยสมาชิกของแก๊งค์ Shūsuke แล้วยังถูกสั่งให้ช่วยเหลือตนเอง (Masterbation) ยินยอมกระทำตามโดยไม่โต้ตอบขัดขืนประการใด
ผมรู้สึกว่าบทเพลงนี้คือการทดลองให้นิยาม Ether เสียมากกว่า! แม้ว่า Yūichi จะถูกกลั่นแกล้ง กระทำร้ายร่างกาย แต่จิตใจของเขากลับล่องลอยออกไป (อยู่ในโลกของ Ether) ฉันเห็นเธอ เธอเห็นฉัน, ฉันอยู่ในกายเธอ เธออยู่ในกายฉัน, ชีวิตไม่ต่างจากความตาย ทุกสรรพสิ่งรายล้อมรอบในทะเล Ether
ต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น | คำแปลภาษาอังกฤษ |
---|---|
I see you. You see me. (Tooku wo miru) You see me. I see you. (Haruka tooku o) I see you. You see me and now I’m in you. You’re in me (Eeter no umi) You’re in me. I’m in you. (Kwooku no soto) I’m in you. You’re in me and now Ai no jikken ga watashi wo mayowaseru Ai no jikken de waratte iru no? Ai wa mai, ai wa tobu (soshite) Ai wa suru, ai wa kau (soshite) Ai wa seku, ai wa ai wo ai shite ‘ru Life like dead Dead like life Ai no jikken ga watashi wo mayowaseru Ai no jikken de waratte iru no? I see you. You see me. (Doko ni ikite ‘ru) You see me. I see you. (Genzai wo ikite ‘ru) I see you. You see me and now | I see you. You see me. (Seeing far) You see me. I see you. (Far far away) I see you. You see me and now I’m in you. You’re in me. (The sea of ether) You’re in me. I’m in you. (Surrounding the quark) I’m in you. You’re in me and now Experiment in love – it confuses me Experiment in love – does it make you laugh? Love dances, love leaps (and then) Love is made, love sustains (and then) Love is impatient, love makes love to love Life like dead Dead like life Experiment in love – it confuses me Experiment in love – does it make you laugh? I see you. You see me. (Where do you live?) You see me. I see you. (I am living in the present) I see you. You see me and now |
Aragusuku No Uta ขับร้อง-เล่น Sanshin (เครื่องดนตรีพื้นบ้าน Okinawa ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของ Shamisen) โดย Miho Omasu พรรณาความงดงามของเกาะ Aragusuku ด้วยภาษาท้องถิ่น Yaeyama ได้ยินสองครั้งในหนัง
- ครั้งแรกระหว่างทริป Okinawa ดังขึ้นระหว่าง Shūsuke นั่งผ่อนคลายอยู่ริมชายหาด จากนั้นลงไปเล่นน้ำ แล้วพยายามแหวกว่ายตะเกียกตะกายขึ้นฝั่ง
- ครั้งหลังเมื่อกลับจากทริป Okinawa หลังจาก Shūsuke แสดงความไม่พึงพอใจเพื่อนร่วมชั้น หลังจากใช้มีดตัดผม สั่งให้ลงไปคลุกโคลนเลนกลางท้องทุ่งนา แหวกว่ายตะเกียกตะกายขึ้นฝั่ง
ทั้งๆเป็นบทเพลงพรรณาความงดงามของเกาะ Aragusuku แต่กลับดังขึ้นในช่วงเวลาที่ตัวละครกำลังตะเกียกตะกาย ต้องสู้ดิ้นรนเพื่อให้สามารถเอาชีวิตรอดขึ้นฝั่ง ฟังดูขัดย้อนแย้งกันเองแต่นั่นคือวิถีของภาพยนตร์เรื่องนี้ ภายนอกแลดูดี แต่ข้างในนั้นกลับป่นปี้
Ether no Chie – Tsubasa wo Kudasai (แปลว่า Please give me wings) ขับร้องประสานเสียง (A cappella) ในเครดิตเขียนว่า Ayuchuugakkou 2nen4kumi ซึ่งแปลว่า โรงเรียน Ayuchu ห้อง ม.2/4 (ก็คือห้องเรียนสมมติในหนัง)
นี่คือบทเพลง Original ของหนังนะครับ! แต่พยายามทำให้เหมือนว่าเป็นเพลงที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เริ่มต้นนำมาเรียบเรียงสำหรับขับร้องประสานเสียงพร้อมบรรเลงเปียโน แต่หลังจากแก๊งค์สาวบูลลี่ปฏิเสธต่อต้าน Yōko จึงมีการเรียบเรียงใหม่กลายเป็น A cappella โดยไม่ต้องใช้เครื่องดนตรีใดๆประกอบ
ถ้ามองที่นัยยะการขับร้อง A cappella สามารถสื่อถึงการประสาน(เสียง)สามัคคี(ของวัยรุ่น) จักทำให้สิ่งต่างๆสำเร็จลุล่วงด้วยดี เหมือนนกติดปีกโบยบินถึงสรวงสวรรค์, แต่ในความเป็นจริงนั้น บทเพลงนี้ทำให้รอยร้าวระหว่างแก๊งค์สาวบูลลี่กับ Yōko มาถึงจุดแตกหัก! … นี่เช่นกันคือวิถีของภาพยนตร์เรื่องนี้ ภายนอกแลดูดี แต่ข้างในนั้นกลับป่นปี้
Tobenai Tsubasa (แปลว่า Wings that can’t fly) บทเพลงดังขึ้นระหว่างที่ Shiori ตัดสินใจฆ่าตัวตาย แต่ก่อนจะกระโดดลงจากเสาสัญญาณสื่อสาร แถวนั้นบังเอิญมีกลุ่มคนกำลังเล่นว่าว พบเห็นเลยเข้าไปขอลองดูสักครา นั่นกลายเป็นสิ่งที่หญิงสาวใคร่โหยหา แม้ตนเองไม่มีปีกแต่อยากโบกโบยบิน ชีวิตได้รับอิสรภาพแบบนั้นบ้าง
I saw a crooked schoolyard
I saw white gym uniforms
Crows flew low in the sky
Please share some of
your black feathers with me
My hands can’t reach
The stairway to the skyThe evening sky was red
Everyone’s stares were cold
Then a big stone fell from
The sky
And crushed meIn my heart I could see
What was left behind
Your excuses and lies
Are like useless pieces
Of trash
My hands can’t reach
The stairway to the skyThe evening sky was red
Everyone’s stares were cold
Then a big cloud came down
From the sky
And hid meLet’s cheer up and live
The light that pours from
The rifts in the sky is going
To move againThe evening sky is red
It will be dark soon
If I throw away
These wings that can’t fly
If I throw them away, I will soar in the skySo if I throw away
These wings that can’t fly,
If I throw them away, I will soar in the sky
บทเพลงแรกที่ Kobayashi แต่งขึ้นเพื่อใช้สร้างศิลปิน Lily Chou-Chou ก็คือ Kyoumei (Kuukyo na Ishi) แต่คำแปล Resonance (Empty Stone) ค่อนข้างเข้าใจยากพอสมควร ผมไปอ่านเจอคำอธิบายจากเว็บไซต์หนึ่ง ให้ความหมายของ 共鳴, Kyoumei ได้น่าสนใจทีเดียว คือความรู้สึกเข้าใจ/ซาบซึ้งการกระทำของอีกฝั่งฝ่าย
to harbour feelings of understanding and appreciation towards another person’s thoughts or actions
ส่วนคำหลัง 空虚な石, Kuukyo na Ishi ก้อนหินที่ว่างเปล่า? น่าจะสื่อถึงตัวบุคคลที่ได้สูญเสียทุกสิ่งอย่าง จนไม่หลงเหลืออะไรภายในจิตใจ … ซึ่งสามารถเทียบแทนถึง Yūichi หลังจากถูก Shūsuke ขโมยตั๋วคอนเสิร์ต Lily Chou-Chou ยืนจับจ้องมอง Music Video บทเพลงนี้ในสภาพสิ้นหวัง หมดเรี่ยวแรง พละกำลังกาย-ใจ ไม่รู้จะทำอะไรต่อไป
A long winding road runs along here
Continuing on and on, seemingly forever
Time is the only thing that moves, quietly onwardOn the way to becoming an adult, I gave up
Deep inside my heart
I found many mirrors, reflectingMeeting you fills me with joy
Meeting you leaves me with a heavy heart
But it’s the joy that hurts me more
Because there, within my heart, there still lies a hollow stone.Born into this this world for the sole purpose of living and existing
Is there a meaning other than that?
And what may that be? Love, perhaps…I turn my eyes to a torn poster lying on the edge of the road
“Love is here, and god is inside you…” and then I can no longer make out the words.Beyond the universe, at the end of your soul
From inside of this body, a vibration is born, arriving over at you
Co-feeling, spreading beyond the meaning of the word
Meeting you fills me with joy
Meeting you leaves me with a heavy heart
But it’s the joy that hurts me more
Because there, within my heart, there still lies a hollow stone.
นี่เป็น Music Video ที่สร้างความรู้สึกหลอกหลอน ขนลุกขนพอง สั่นสะท้านทรวงใน พบเห็นหลุมฝังศพ ป้ายสุสาน และศิลปิน Salyu (ครั้งแรกครั้งเดียวที่ปรากฎตัวในหนัง) กำลังลุกขึ้นจากโคลนตม เปลอะเปลื้อนสกปรกโสมม สื่อถึงช่วงเวลาต่ำตมที่สุดในชีวิต (ของ Yūichi) สภาพจิตใจไม่ต่างจากตกตายทั้งเป็น
Closing Song ชื่อบทเพลง Glide (แปลว่า การร่อน, เหินหาว, ถลาแล่นลม) แม้จะเน้นๆย้ำๆคำร้อง I wanna be อยากเป็นโน่นนี่นั่น แต่แท้จริงแล้วเนื้อหาเพลงนี้คือความต้องการหลบหลีกหนี ไปให้ไกลจากสถานที่อันโหดร้ายแห่งนี้ สามารถโบกโบยบินสู่ท้องฟ้าไกล ได้รับอิสรภาพที่ไม่ต้องถูกควบคุมครอบงำโดยใคร
เกร็ด: บทเพลงนี้ได้ถูกร้องใหม่โดยศิลปิน Mitski ประกอบภาพยนตร์เรื่อง After Yang (2021) แต่ผมฟังแล้วกุมขมับ เพิ่งเคยได้ยินการคัฟเวอร์ที่แย่กว่าต้นฉบับก็ครานี้ละ!
I wanna be
I wanna be
I wanna be just like a melody
just like a simple sound
like in harmonyI wanna be
I wanna be
I wanna be just like the sky
just fly so far away
to another placeTo be away from all
to be one
of everythingI wanna be
I wanna be
I wanna be just like the wind
just flowing in the air
through an open spaceI wanna be
I wanna be
I wanna be just like the sea
just swaying in the water
so to be at easeTo be away from all
to be one
of everythingI wanna be
I wanna be
I wanna be just life a melody
just like a simple sound
like in harmony
แม้หนังจะชื่อ All About Lily Chou-Chou แต่เรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาวัยรุ่นเสียมากกว่า (All About Teenage Problem) อาทิ การกลั่นแกล้ง (Bully), ใช้ความรุนแรง (Violence), ลักขโมยของ (Shoplifting), ขู่กรรโชก (Blackmail), โสเภณี (Prostitute), ข่มขืน (Rape), ฆ่าตัวตาย (Suicide), เข่นฆาตกรรม (Murder) และยังรวมถึงการหลบหลีกหนีปัญหา (Escapist) สร้างโลกเสมือน/พื้นที่ส่วนบุคคล สำหรับปฏิเสธการเผชิญหน้า
มันไม่ใช่ว่าจู่ๆวัยรุ่นจะแสดงปัญหาเหล่านี้ออกมา พวกเขาล้วนได้รับอิทธิพลจากหลายสิ่งต่างๆแวดล้อมรอบข้าง อาทิ
- ครอบครัว
- บ้านของ Shūsuke Hoshino มีฐานะร่ำรวย แต่บิดาไม่ค่อยอยู่บ้าน ส่วนมารดาก็ระริกระรี้(แรดร่าน)ทำตัวเหมือนพี่สาว(มากกว่าแสดงความเป็นแม่) จึงทำให้ขาดความอบอุ่น และหลังจากธุรกิจครอบครัวล้มละลาย เลยสูญเสียต้นแบบอย่าง บุคคลสำหรับพึ่งพักพิง
- Yūichi Hasumi สูญเสียบิดาจากอุบัติเหตุ อาศัยอยู่กับมารดาแต่งงานสามีใหม่ (ที่ก็แอบคบชู้นอกใจ) ทำให้ขาดความอบอุ่น และเมื่อมารดารับรู้ว่าเขาเคยลักเล็กขโมยน้อย เพียงครั้งเดียวก็คอยตอกย้ำซ้ำเติม นั่นทำให้ศรัทธาต่อครอบครัวค่อยๆหมดสูญสิ้นไป
- โรงเรียน
- ครูสาว Sachiyo Oyamauchi ที่แม้รับรู้ปัญหา แต่กลับเพิกเฉย ปล่อยปละละเลย ไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวในสิ่งบังเกิดขึ้น ครุ่นคิดว่าหน้าที่ตนเองเพียงให้ความรู้วิชาการ ส่วนการใช้ชีวิตคือเรื่องส่วนบุคคล
- สามสาวแก๊งค์บูลลี่ มีความระริกระรี้ สนเพียงกระทำสิ่งตอบสนองความต้องการ เมื่อไม่ชอบขี้หน้าใครก็พร้อมกลั่นแกล้ง พูดจาว่าร้าย ปฏิเสธการมีส่วนร่วมใดๆ
- สมาชิกแก๊งค์ของ Shūsuke Hoshino พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อพิสูจน์ตนเอง ให้ผู้อื่นก้มหัวศิโรราบ ใครลุกขึ้นมาต่อต้านจะถูกกระทำร้าย ประจานให้อับอาย
- สังคม
- สื่อโทรทัศน์เต็มไปด้วยข่าวอาชญากรรม ปล้นฆ่า ลักพาตัว พบเห็นอยู่ทุกๆวี่วัน (อ้างว่าเพื่อคอยย้ำเตือนสติผู้ชม แต่มันกลับยิ่งสะสมความรุนแรงในจิตใจ)
- ระหว่างทริป Okinawa จะพบเจอนักท่องเที่ยวแปลกหน้า ท่าทางลับๆล่อๆ เข้ามาขอความช่วยเหลือบ่อยครั้ง ซึ่งล้วนพยายามจะลักขโมยกล้อง HandyCam ติดตัวกลับไปด้วยเสมอ แล้วจู่ๆครั้งสุดท้ายถูกรถชน(ไม่รู้เสียชีวิตหรือเปล่า) มันช่างเป็นสังคมที่เหี้ยมโหดร้ายยิ่งนัก!
- ร้านรับซื้อ(ซีดี)ของเถื่อน, ตั๋วคอนเสิร์ตขายเกินราคา หรือแม้แต่โสเภณีเด็ก เกิดขึ้นเพราะอุปสงค์-อุปทาน มีคนซื้อย่อมมีคนขาย มีผู้ให้บริการก็ต้องมีผู้ใช้บริการ เมื่อพบเห็นช่องทางย่อมสามารถเติมเต็มความต้องการของกันและกัน
- โลกของเราก็เต็มไปด้วยความเหี้ยมโหดร้าย
- Shijar Fish ปลาบินหัวแหลมพุ่งตรงเข้าหาแสงไฟยามค่ำคืนเพื่อเข่นฆ่าเหยื่อ
- ต้นไทร หรืออีกชื่อต้นไม้รัดคอ คือพืชปรสิตที่เติบโตขึ้นด้วยการโอบรัดต้นไม้อื่นแล้วแย่งสารอาหาร กัดกินจนอีกฝ่ายแห้งเหี่ยวตายจากไป
- เช่นกันกับปะการังใช้หนามแหลมทิ่มแทงปะการังตัวข้างๆ แล้วยึดพื้นที่สำหรับหาอาหารนั้นมา
เอาจริงๆมันไม่ทางที่ใครจะให้คำตอบได้ว่า ปัญหาวัยรุ่นเกิดจากอะไร? ภาพยนตร์เรื่อง Elephant (2003) อธิบายด้วยแนวคิด ‘ตาบอดคลำช้าง’ ได้อย่างน่าสนใจมากๆ แต่สำหรับ All About Lily Chou-Chou ผมมีความรู้สึกอย่างแรกกล้าว่าผู้กำกับ Iwai ต้องการชี้นำให้เห็นถึงอิทธิพลของระบอบทุนนิยม อุปสงค์-อุปทาน อะไรก็ตามที่มันขายได้ย่อมมีผู้ซื้อ ไม่ว่าจะถูกหรือผิดกฎหมาย เพียงตอบสนองความต้องการส่วนบุคคล แลกมาด้วยอะไรก็ช่างหัวมัน
การเปลี่ยนแปลงขั้วตรงข้ามของ Shūsuke (ให้ความรู้สึกคล้ายๆตอนจบของ Swallowtail Butterfly (1996)) นอกจากพานผ่านประสบการณ์เฉียดตาย ยังทำให้ตระหนักว่า ‘เงิน’ หาใช่สิ่งสำคัญสูงสุดในการใช้ชีวิต (เพราะวินาทีแห่งความเป็น-ตาย เงินมากมายในกระเป๋าก็ช่วยอะไรไม่ได้) ระหว่างเดินทางกลับจากทริป Okinawa เลยทำการโปรยทานลงท้องทะเล (Shūsuke เป็นทั้งผู้ลักขโมยเงิน และทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง) ใครอื่นล้วนรู้สึกสูญเสียดาย แต่สำหรับชายหนุ่มนั้นคือจุดเริ่มต้น การถือกำเนิดใหม่
ด้วยเหตุนี้พฤติกรรมหลังกลับจากทริปของ Shūsuke จึงแสดงออกด้วยความเกรี้ยวกราด ต่อต้านสังคม ไม่ยินยอมรับระบอบทุนนิยม ลักขโมยสิ่งข้าวของ รีดไถเงินๆทองๆ ก่อร่างสร้างฐานอำนาจขึ้นมา เพื่อสร้างพื้นที่ส่วนบุคคล (ในเชิงรูปธรรม) โดยไม่ยินยอมก้มหัวศิโรราบต่อสิ่งอื่นใด
ตรงกันข้ามกับ Yūichi เพราะไม่ได้พานผ่านประสบการณ์เฉียดตาย เลยยังคงอ่อนแอ ขี้ขลาดเขลา เมื่อถูกกลั่นแกล้งก็อดกลั้นฝืนทน เก็บกดความรู้สึกอันเกรี้ยวกราดไว้ภายใน ด้วยเหตุนี้เลยสรรค์สร้างพื้นที่ส่วนบุคคล (ในเชิงนามธรรม) แล้วหลบซ่อนตนเองอยู่บนเว็บไซด์ LilyPhilia แต่เมื่อสถานที่แห่งนี้ถูกรุกราน ระหว่างงานคอนเสิร์ตของ Lily Cho-Chou (Shūsuke ขโมยบัตรเข้าชมคอนเสิร์ตของ Yūichi) เขาเลยมิอาจอดรนทนได้อีกต่อไป
สำหรับ Yōko การถูกข่มขืนทำให้เธอเปลี่ยนแปลงในเชิงกายภาพ (ตรงกันข้ามกับ Shūsuke ที่ปรับเปลี่ยนอุปนิสัยใจคอ) ตัดสินใจโกนศีรษะมาโรงเรียน แม้ภายในคงเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด แต่ปฏิเสธพูดบอกอะไรใคร ทำเหมือนไม่เคยมีเหตุการณ์ใดๆบังเกิดขึ้น นี่เป็นการแสดงความเข้มแข็งแกร่งทางจิตใจ … แต่เธอก็มีดนตรี บรรเลงเปียโน นั่นคือพื้นที่ส่วนบุคคลสำหรับระบายความอึดอัดอั้น ผ่อนคลายความรู้สึกทรวงใน
ขณะที่ Shiori การได้พบเห็น Yōko โกนศีรษะมาโรงเรียน นั่นทำให้จิตวิญญาณของเธอสั่นสะท้าน ตระหนักถึงความอ่อนแอขี้ขลาดเขลา บังเกิดความสิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก สูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง เมื่อมิอาจอดรนทนเลยตัดสินใจกระทำอัตวินิบาต ต้องการ(เป็นนก-ว่าว-เครื่องบิน)ล่องลอยสู่ท้องฟ้าไกล … เพศสัมพันธ์แม้ทำให้ร่างกายไปถึงจุดสูงสุดบนสรวงสวรรค์ แต่เธอไม่ได้ต้องการค้าประเวณี มันเลยไม่ใช่พื้นที่ส่วนบุคคลสำหรับระบายความอึดอัดอั้นทางใจ
สังเกตว่าทั้งสี่ตัวละครต่างมีสิ่งเหมือนกันคือการต้องอาการเก็บกด อดกลั้นฝืนทน สะสมความเกรี้ยวกราดไว้ภายใน โหยหาพื้นที่ส่วนบุคคล สถานที่บังเกิดความสุขสงบภายใน แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็มิอาจอดรนทนไหว เลยปะทุระเบิดออกมาอย่างเลวร้าย รุนแรง จนกลายเป็นโศกนาฎกรรม
ผมมองศิลปิน Lily Chou-Chou นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของการหลบหลีกหนี (Escapist) พื้นที่ส่วนบุคคล ที่บรรดาตัวละครได้ค้นพบความสุขสงบภายในระหว่างรับฟัง/รับชม พูดคุยสนทนาบนเว็บไซด์ LilyPhilia ยังคือตัวแทนของระบอบทุนนิยม ใช้อารมณ์ของวัยรุ่นเป็นเครื่องมือสำหรับขายสินค้า แสวงหากำไร สร้างลัทธิ/วิถีความเชื่อขึ้นใหม่ ให้เกิดความลุ่มหลงศรัทธา สูญเสียความสามารถในการครุ่นคิด เผชิญหน้า แก้ปัญหาที่แท้จริง
ผู้กำกับ Iwai สรรค์สร้าง All About Lily Chou-Chou (2001) สำหรับเป็นแรงบันดาลใจวัยรุ่นหนุ่ม-สาว แม้ต้องอดกลั้นฝืนทนต่อสิ่งต่างๆ ให้เรียนรู้จักการหลบหลีกหนี (Escaptist) สร้างพื้นที่ส่วนบุคคล โลกใบเล็กๆของตนเอง แม้มันจะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องนัก แต่การได้พักผ่อนคลายชั่วขณะ บังเกิดความสุขสงบขึ้นภายใน ย่อมเติมเต็มพลังใจในการใช้ชีวิตอย่างมากๆทีเดียว
สำหรับผม โตเกียวก็เหมือนโรงพยาบาลใน Lily Chou-Chou ผมพยายามจะอธิบายถึงชีวิตของเหล่าคนป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลแห่งนี้ แต่อย่างที่เราเห็นว่าพวกเด็กๆ ยังสร้างโลกของตัวเองขึ้นมาอีกที โลกที่พวกเขาใช้หลบหนีจากความหวาดกลัวในสถานที่ที่เขาอยู่ หลบหนีจากการกังขังและความโดดเดี่ยว
Shunji Iwai
ด้วยทุนสร้าง ¥150 ล้านเยน (=$1.25 ล้านเหรียญ) สามารถทำเงินในญี่ปุ่น ¥3 พันล้านเยน (=$25.2 ล้านเยน) ถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม! แต่เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์กลับไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่มองว่าหนังเข้าถึงยาก เล่นลีลามากเกินไป โดยเฉพาะผู้ชมทางฝั่งตะวันตกมักไม่เข้าใจสภาพแวดล้อม/ปัญหาสังคมในญี่ปุ่นสักเท่าไหร่
กาลเวลาทำให้หนังดูดึขึ้นตามลำดับ เพราะโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยสังคมออนไลน์ แนวคิด/วิธีการนำเสนอของผู้กำกับ Iwai ถือว่ามาก่อนกาลหลายปีมากๆ แถมสภาพสังคมอดีต-ปัจจุบันก็ไม่ได้แตกต่างกันนัก (เลวร้ายลงทุกวี่วันเลยด้วยซ้ำ) เรื่องราวจึงยังคงสดใหม่ ทันสมัย เหนือกาลเวลาไปแล้วละ
ในเมืองไทย All About Lily Chou-Chou (2001) ถือว่าได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม! จากบรรดานักวิจารณ์ และโดยเฉพาะผู้กำกับหนังวัยรุ่นจาก GTH, GDH อาทิ ย้ง ทรงยศ สุขมากอนันต์ เล่าว่าเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจสรรค์สร้าง เด็กหอ (พ.ศ. ๒๕๔๙), โต้ง บรรจง ปิสัญธนะกูล แสดงความเห็นว่า “ได้อารมณ์เหงา และเป็นหนังเท่ห์ที่สุด” ฯลฯ
แซว: VCD ฉบับของค่าย EVS เฉพาะที่วางขายในไทย มีการตัดฉากทริป Okinawa ออกไป 30 นาทีเต็มๆ สมัยนั้นทำให้คนด่ากันตรึม แต่ปัจจุบันถือเป็นของหายากเผื่อใครชอบสะสม (แต่ฉบับ DVD ของ EVS มีครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ได้ตัดฉากไหนออกไป)
โดยส่วนตัวแล้วชื่นชอบแนวคิด เทคนิคลีลา ลูกเล่นในการนำเสนอ ‘สไตล์ Iwai’ ที่มีความแปลก(ใหม่) ไม่ซ้ำแบบใคร ใช้ประโยชน์จากกลวิธีเหล่านั้น ถ่ายทอดอารมณ์เกรี้ยวกราดและความสงบสันติได้อย่างน่าประทับใจ ภาพสวย เพลงเพราะ ตัดต่อเยี่ยม แต่โลกใบนี้มันช่าง…
แนะนำคอหนังดราม่า สะท้อนปัญหาวัยรุ่น, ครู-อาจารย์ พ่อ-แม่ผู้ปกครอง นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ทำงานเกี่ยวกับเยาวชน ศึกษาทำความเข้าใจสิ่งบังเกิดขึ้นกับพวกเขาดูนะครับ
จัดเรต 18+ กับความเสียสติแตกของวัยรุ่น ลักขโมย ข่มขืน กระทำร้ายร่างกาย ฆ่าตัวตาย และเข่นฆาตกรรม
Leave a Reply