All About My Mother (1999)
: Pedro Almodóvar ♥♥♡
หนังรางวัล Best Director จากเทศกาลหนังเมือง Cannes และกวาด Best Foreign Language Film แทบทุกสถาบัน (Oscar, Golden Globe, BAFTA ฯ), แด่นักแสดงที่รับบทแม่ แด่ผู้หญิงทุกคน แด่ผู้ชายที่กลายเป็นหญิง แด่ทุกคนที่ต้องการเป็นแม่ และแด่แม่ผู้คือทุกสิ่งทุกอย่าง
หนังเรื่องนี้น่าชื่อว่า All About Women จะตรงกับเรื่องราวมากกว่านะ
ปกติแล้วผมไม่มีปัญหากับเพศทางเลือก คือไม่มีอคติ ไม่มีความรังเกียจหรือต่อต้าน ภาพยนตร์แนวนี้ก็รับชมมาแล้วหลายเรื่องไม่เคยที่จะมีปัญหาใดๆ แต่สำหรับหนังเรื่องนี้ Pedro Almodóvar ผู้กำกับเกย์สัญชาติสเปน สร้างขึ้นด้วยอิสรภาพทางเพศในระดับที่ทำให้ผมเกิดความรู้สึกขยะแขยง คลื่นไส้ แทบไม่สามารถทนรับชมดูจนจบได้ (แต่ก็ดูจนจบนะ) นั่นเพราะสิ่งที่เขานำเสนอ คือ ด้านมืดที่สุดของเพศทางเลือก ในเรื่องราวเจ็บปวดที่สุด และตีแผ่ความจริงที่สุด
ผมไม่ใช่เกย์ และรู้ตัวว่าไม่ใช่เกย์ แม้สมัยวัยรุ่นจะเคยเที่ยวเล่นกับเกย์ (Gay), ตุ๊ด (Transvestite) กระเทย (Homosexual) ฯ ก็ไม่เคยที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่ง เพราะความอยากรู้อยากลอง ทำให้รู้จักเข้าใจเหตุผลโดยถ่องแท้ ว่าทำไมกลุ่มคนเหล่านี้ ผู้ชายถึงไม่อยากเป็นผู้ชาย ผู้หญิงถึงไม่อยากเป็นผู้หญิง กับคนที่มีความผิดปกติทางร่างกายนั่นก็อีกเรื่องนึง แต่ถ้าไม่แทบทั้งนั้นล้วนเกิดจากจิตใจที่ไม่ยอมรับเพศสภาพของตนเอง
ในทางจิตวิทยา เหตุผลของการไม่ยอมรับเพศสภาพของตนเอง มักเกิดจากความเก็บกด อัดอั้นบีบบังคับ คาดหวังแล้วผิดหวัง จนสุดท้ายไม่ยอมรับตนเอง ต้องการเป็นคนอื่นเพศอื่น หรือแปรสภาพไปตามความต้องการของตนเอง ซึ่งสิ่งที่ล้วนเป็นแรงผลักดันขับเคลื่อนทางจิตก็คือ ‘ความต้องการทางเพศ’
กับเกย์ กระเทย ทอม ดี้ ตุ๊ด ไบ ฯ แทบทั้งนั้นที่ผมรู้จัก ล้วนมีความต้องการ อารมณ์ทางเพศสูงมากๆ ในระดับหมกมุ่นรุนแรง, นี่ไม่ใช่สิ่งผิดหรือเลวร้ายอะไรนะครับ เพราะผู้ชายเพศปกติหรือผู้หญิงเพศปกติ ก็ล้วนมีความต้องการแรงขับเคลื่อนทางเพศเป็นของปกติอยู่แล้ว แต่การวิธีแสดงออกมาต่างหากที่จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงวุฒิภาวะการยอมรับทางสังคม เช่นว่า ความสำส่อนเปลี่ยนคู่นอนไม่ซ้ำหน้า คบชู้แย่งผัวเมีย ทำให้ครอบครัวบ้านแตก ฯ แบบนี้ใครที่ไหนคงไม่สามารถยอมรับมองว่าเป็นคนดีได้แน่นอน
ในทางพุทธศาสนา จิตวิญญาณนั้นไม่มีเพศสภาพ คือเป็นได้ทั้งชาย, หญิง และชายหญิง แต่เมื่อจุติเกิดเป็นมนุษย์หรือสัตว์ ร่างกายมีการแบ่งแยกออกเป็น 2 เพศคือ เพศชาย และเพศหญิง, กับบุคคลซึ่งร่างกายไม่ปรากฎว่าเป็นเพศอะไรจะมีคำเรียกว่า ‘บัณเฑาะก์’ [บันเดาะ] หรือกะเทย นี่ถือเป็นความผิดปกติทางร่างกาย อันเป็นผลจากกรรมในอดีตชาติ เช่น เคยตัดอวัยวะเพศคน/สัตว์, ทำหมัน, ผิดศีลข้อ 3 ฯ
ส่วนเพศสภาพเกย์ กระเทย ทอม ดี้ ตุ๊ด ไบ ฯ ไม่ถือว่าเป็นสภาพบัณเฑาะว์โดยตรง เพราะไม่ได้มีเครื่องหมายบ่งบอกความบกพร่องทางเพศ อวัยวะเพศมีปกติสมบูรณ์ดีในเชิงร่างกาย (คือไม่ได้เกิดจากผลกรรมในอดีต) ที่เกิดอาการเบี่ยงเบน จิตใจชอบพอในเพศเดียวกัน เพราะการสะสมมาหลายๆชาติ อาจเคยเกิดเป็นผู้ชาย/ผู้หญิงติดต่อกันมานาน สั่งสมอุปนิสัยความเป็นชาย/หญิงเรื่อยมา พอมาถึงชาตินี้ผลกรรมบางอย่างทำให้เกิดเป็นเพศตรงข้าม แต่จิตใจเป็นยังคงเพศเดิม ก็เลยแสดงตัวตนออกมาผิดไปจากเพศสภาพปัจจุบัน
พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้กีดกันเพศทางเลือกนะครับ คือไม่ได้สอนให้รังเกียจต่อต้าน แต่ให้คำชี้แนะนำสั่งสอนว่า มนุษย์ทุกคนบนโลกต่างล้วนเคยเกิดเป็นเกย์ กระเทย ทอม ดี้ ฯ ถ้าไม่ใช่ปัจจุบันก็อดีตชาติมาแล้วทั้งนั้น ไม่ถือว่าเป็นผลจากกรรมหรือความผิดปกติแต่อย่างใด แค่ว่าถ้าจะบวชต้องไม่มีความผิดปกติทางร่างกายที่เป็น บัณเฑาะก์ ถึงสามารถอุปสมบทได้เท่านั้น (เหตุผลที่ บัณเฑาะก์ บวชไม่ได้ เพราะจะเกิดความยากลำบากในการปฏิบัติธรรม ภิกษุผู้ยังละทางโลกไม่ได้มักจะกีดกัน ต่อต้าน แบ่งแยก อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายก็มักไม่ยอมรับนับหน้านับถือ แบบนี้บวชเรียนไปรังแต่จะได้บาปกรรม)
Pedro Almodóvar Caballero (เกิดปี 1949) ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติสเปน เกิดที่ Calzada de Calatrava หมู่บ้านเล็กๆในจังหวะด Castile-La Mancha มีพี่สาวสองคนและน้องชายอีกหนึ่ง, ตอนอายุ 8 ขวบ ครอบครัวส่งไปเรียนโรงเรียนสอนศาสนาที่เมือง Cáceres คาดหวังว่ากลับมาจะกลายเป็นพระ (แต่พระในสเปนขึ้นชื่อเรื่องความคอรัปชั่นเลย) แต่ Almodóvar กลับเลือกเดินเข้าโรงภาพยนตร์ และได้อิทธิพลเต็มๆจากผู้กำกับในตำนาน Luis Buñuel
“Cinema became my real education, much more than the one I received from the priest”
ขัดต่อความต้องการของครอบครัว Almodóvar ย้ายไปอยู่ Madrid ปี 1967 วาดฝันต้องการเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ แต่เพราะผู้นำเผด็จการในประเทศขณะนั้น Francisco Franco สั่งห้ามทุกอย่าง เขาเลย self-taught สอนตัวเองสร้างภาพยนตร์ ทำงานหาเงินซื้อกล้อง Super 8 ถ่ายทำหนังสั้นออกฉายตามผับบาร์ปาร์ตี้
“I showed them in bars, at parties… I could not add a soundtrack because it was very difficult. The magnetic strip was very poor, very thin. I remember that I became very famous in Madrid because, as the films had no sound, I took a cassette with music while I personally did the voices of all the characters, songs and dialogues”.
ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกที่สร้างคือ Pepi, Luci, Bom (1980) ได้เสียงตอบรับไม่ดีเท่าไหร่ เพราะยังเป็นการลองผิดลองถูก และเรื่องราวเต็มไปด้วยความหมกมุ่น Sex และข้อขัดแย้งทางสังคม แต่ภายหลังก็กลายเป็น Cult Culture, เรื่องถัดมา Labyrinth of Passion (1982) เล่าเรื่องความเร่าร่าน Sex ของดาราดัง ตกหลุมรักกับเจ้าชายหนุ่มที่เป็นเกย์จากตะวันออกกลาง ได้รับเสียงตอบรับทีดีขึ้น แน่นอนต่อมากลายเป็น Cult Culture, สำหรับผลงานที่ประสบความสำเร็จระดับนานาชาติครั้งแรกคือ Women on the Verge of a Nervous Breakdown (1988) เป็นแนว Feminist Light-Comedy ด้วยบทสนทนารวดเร็วติดจรวด ส่อ-เสียด-สี-แทง นี่ทำให้ Almodóvar ได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็น ‘women’s director’ แบบเดียวกับ George Cukor, Rainer Werner Fassbinder, Michelangelo Antonioni,
“women are more spectacular as dramatic subjects, they have a greater range of registers, etc”.
Almodóvar เป็นเกย์ที่ไม่ได้ปิดบังตัวเอง มีแฟนหนุ่มเป็นตากล้องสุดหล่อ Fernando Iglesias คบหากันตั้งแต่ปี 2002 แม้ปัจจุบันจะอยู่บ้านคนละหลังแต่ก็ไปมาหาสู่กันอยู่เรื่อยๆ
ค่อนข้างชัดเจนในความสนใจของ Almodóvar เพราะเขาเป็นเกย์ (แต่ไม่รู้คิงหรือควีนนะ) จึงมีความสนใจในเรื่องพรมแดนที่คั่นขัดขวางระหว่างเพศทั้งสอง สิ่งที่เขานำเสนอในผลงานภาพยนตร์ไม่ใช่การตีแผ่ แต่คือการถ่ายทอดความจริงแบบตรงไปตรงมา สร้างโลกของเหล่าเพศทางเลือก เพื่อสะท้อนปัญหาทางสังคมที่มักเกิดขึ้นจากความหมกหมุ่นอันไร้ขอบเขตของพวกเขาเหล่าเอง มีนัยยะเพื่อแนะนำสอนสั่งชี้นำตักเตือน ให้รู้จักแวดระวัง รักตัวเอง เพราะมันยากนักที่คนอย่างพวกเราจะได้พบความรักแท้จริง
กับคนที่มิได้มีสถานะทางเพศชัดเจนรับชมหนังของ Almodóvar ผมค่อนข้างเชื่อว่า จะเกิดความชื่นชอบประทับใจ หลงใหลคลั่งไคล้ รู้สึกตรงมากๆกับโลกที่อาศัยอยู่, แต่กับคนที่ชัดเจนในเพศตัวเอง ขวาจัดหัวโบราณ จะไม่สามารถวางตัวเป็นกลาง ลุกรี้รน ต่อต้านรับไม่ได้รุนแรงกับเรื่องพรรค์นี้แน่ๆ
เรื่องราวของ All About My Mother เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตมนุษย์ที่เรียกตัวเองว่าเพศหญิง ไม่จำกัดว่าต้องเป็นผู้หญิงแท้ๆ, ผู้ชายแต่งหญิงทำนม หรือแปลงเพศแล้วกลายเป็นหญิงเทียม สิ่งที่มีเหมือนกันคือ’สัญชาติญาณเพศแม่’ต่อการมีลูก ต่อให้เป็นโสเภณี ขี้ยา เศษสวะของสังคมก็ยังคิดได้ เมื่อต้องรับภาระแบกก้อนเนื้อที่ค่อยๆเติบโตขึ้นในหน้าท้องของตนเอง ตกหลุมรักทั้งๆที่ยังไม่เคยพบเห็นหน้า ต้องการวาดฝันให้เขาเติบโตในโลก/สังคมที่ดีกว่าตนเคยเป็นอยู่ แต่โศกนาฏกรรมก็มักเกิดขึ้น อุบัติเหตุโดยไม่ได้ตั้งใจ, โรค/ความผิดปกติบางอย่างที่ส่งผ่านกระแสเลือด (สู่ลูกในครรภ์) ฯ และที่สำคัญคือ เมื่อลูกเติบใหญ่โตพอ แม่จะมีความกล้าเล่าเอ่ยถึงอดีตของตนให้ลูกรักฟังหรือเปล่า แล้วเขาจะยอมรับได้ไหม!
นำแสดงโดย Cecilia Roth นักแสดงสัญชาติ Argentine ที่ได้ฉายาว่า ‘Almodóvar girl’ มีผลงานร่วมกับผู้กำกับดังหลายเรื่อง, เกิดที่ Buenos Aires, Argentina ในครอบครัวชาวยิว เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงที่นั่นจนปี 1976 เมื่อทหารเข้ายึดอำนาจการปกครอง อพยพย้ายไปอยู่สเปน กลายเป็นหนึ่งในนักแสดงประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วยุโรป
รับบท Manuela อดีตนักแสดงละครเวทีที่น่าจะพอมีฝีมือใช้ได้อยู่ ขณะเดียวกันเป็นผู้หญิงสำส่อนมักมากในกาม น่าจะเคยเป็นโสเภณี มั่ว Sex ไปเรื่อยจนพลาดพลั้งตั้งครรภ์ วินาทีนั้นตัดสินใจทิ้งทุกสิ่งอย่าง นั่งรถไฟหนีจาก Barcelona ไป Madrid เริ่มต้นชีวิตใหม่ เลี้ยงดูลูกชายจนเติบใหญ่ แต่แล้วอุบัติเหตุอันคาดไม่ถึงบังเกิดขึ้น อันทำให้เธอต้องเดินทางกลับ Barcelona เพื่อแก้ไขบางสิ่งบางอย่างจากอดีต ให้ตนเองสามารถมีชีวิตก้าวเดินต่อไปได้ (จริงๆคือ ตามหาพ่อของลูกชายเพื่อจะบอกว่า…)
ไม่ถึงระดับนั้น แต่ผมคือว่า Roth มีการแสดงคล้ายๆ Isabelle Huppert คือดัดจริต เย่อหยิ่ง เสแสร้ง ในมุมหนึ่งเธอคือแม่ผู้รักลูกสุดหัวใจ แต่อีกมุมหนึ่งเธอก็คือผู้หญิงที่มีความต้องการเหมือนหญิงสาวทั่วไป แค่มันอาจทะลักล้นมากกว่า แต่คุณไม่ได้เห็นหรอกว่าเป็นอย่างไร
Antonia San Juan Fernández นักแสดงหญิง Transsexual, เกิดที่ Las Palmas de Gran Canaria ตอนอายุ 19 เดินทางมา Madrid วาดฝันเป็นนักแสดงละครเวที ทำงานคาบาเร่/Show Girl ตามผับบาร์, ต้องถือว่า Juan ได้แจ้งเกิดกับหนังเรื่องนี้ แม้จะมีผลงานการแสดงก่อนหน้าอยู่บ้างแต่ไม่ทำให้เธอเป็นที่รู้จัก ซึ่งจากความสำเร็จทำให้มีงานเข้ามากมาย ได้แสดงภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง
Agrado (แปลว่า agreeable, เข้ากันได้ง่าย) เธอคือไฮไลท์ของหนังเลย เป็นโสเภณีที่มีความจัดจ้าน ไร้ยางอาย สำส่อนไหมไม่รู้ แต่มีความกล้าในระดับที่ต้องปรบมือให้ กับฉากที่ออกมาประกาศหน้าเวทีว่าวันนี้จะงดการแสดง แต่ให้ผู้ชมเลือกระหว่างรับเงินคืน กับฟังเรื่องราวชีวิตความเป็นมาของเธอ, ทุกครั้งที่ปรากฎตัวสามารถเรียกเสียงหัวเราะเล็กๆได้เสมอ ซึ่งผู้ชมจะรู้สึกชื่นชมในความตั้งมั่นอุดมการณ์การเป็น Transsexual ซึ่งเธอก็ภูมิใจมากๆเสียด้วยนะ (แม้ฉากแรกของหนังเธอจะโดนทุบตีทำร้ายจนตาบวม ก็หาได้แคร์อะไรไม่)
เกร็ด: เห็นว่าฉากที่ Agrado ออกมาพูดหน้าเวที ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงที่โรงละครของประเทศอาร์เจนติน่า เมื่อไฟดับนักแสดงหญิงชื่อ Lola Membrives ให้ผู้ชมเลือกระหว่างรับเงินคืน กับฟังเรื่องราวชีวิตของเธอ
ถึง Manuela จะเป็นตัวเองศูนย์กลางของหนัง แต่ Agrado เรียกได้ว่า ‘source of life’ ต้นกำเนิดพลังชีวิต
Maria Luisa Paredes Bartolomé นักแสดงภาพยนตร์ ละครเวทีสัญชาติสเปน เธอเป็นผู้หญิงนะครับ แต่ในหนังจะดูเหมือนเป็นผู้ชาย/กระเทย, เธอคือหนึ่งใน ‘Almodóvar girl’ ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงระดับชาติก็ต้องขอบคุณ Almodóvar นี่แหละ
รับบท Huma Rojo ผู้หญิงสูงวัยที่มีความแปรปรวนทางจิตใจสูง แม้ชีวิตจะประสบความสำเร็จแต่กลับเต็มไปด้วยความทุกข์ [คล้ายๆกับ Margo ใน All About Eve] เพราะความรักหึงหวงกับ Nina (รับบทโดย Candela Peña) หญิงสาวขี้ยาอารมณ์ร้อนที่ไม่เห็นคุณค่าในความรักที่เธอมอบให้, ผมว่า ณ จุดหนึ่งมันค่อนข้างชัดนนะว่า Huma ต้องการที่จะร่วมรักกับ Manuela แต่เพราะอะไรๆเกิดขึ้นมากมาย ทำให้สุดท้ายเมื่อเลิกกับ Nina ก็ได้ตีฉิ่งขึ้นขี่กับ Agrado
Penélope Cruz Sánchez นักแสดงสาวสวยสุดเซ็กซี่สัญชาติสเปน มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก, เกิดที่ Alcobendas, Madrid มีความตั้งใจแรกจะเป็นนักเต้น เรียนบัลเล่ต์อยู่เกือบ 10 ปี แต่พอได้รับชม Tie Me Up! Tie Me Down! (1990) ของผู้กำกับ Pedro Almodóvar ตัดสินใจกลายเป็นนักแสดง, ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกตอนอายุ 16 เรื่อง Jamón (1992) ร่วมงานกับ Almodóvar ครั้งแรกตอน Live Flesh (1997)
Cruz โกอินเตอร์ครั้งแรกกับหนังเรื่อง Vanilla Sky (2001) ประกบ Tom Cruise ประสบความสำเร็จสูงสุดคงจาก Volver (2006) ที่คว้ารางวัล Best Actress จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
รับบท Rosa เด็กหญิงสาวตัวเล็กๆน่ารักน่าเอ็นดู ยากจะเชื่อว่ากลับโคตรสำส่อน ท้องกับผู้ชายที่เป็นตุ๊ต (Transvestite) แถมติดเชื้อ HIV Positive ความผิดพลาดนี้ทำให้เธอหมดหวังที่จะทำตามความฝัน แต่ก็พยายามทำดีที่สุด ปกป้องลูกในไส้ให้ได้มีชีวิตลืมตาขึ้นดูโลก
ถึงจะเป็นบทเล็กๆ แต่ดวงตากลมโตของ Cruz เรียกความสงสารได้เยอะ และรู้สึกจะไม่มีคำสถบด่าออกจากปากแม้แต่คำเดียว, นี่ผมแทบไม่อยากเชื่อสายตา เพราะปกติเคยเห็นเธอมักรับบทบาทหญิงสาวปากจัด กร้านโลก (ตอน Pirate 4 นี่แบบว่า เร่าร้อนแรงมากๆ)
เรื่องราวของ Rosa ถือว่าคล้ายคลึงกับ Manuela มากทีเดียว ท้องกับพ่อคนเดียวกัน (บังเอิญไปไหม!) มีความต้องการ วาดฝันให้ลูกได้ออกไปจากวังวน สภาพแวดล้อมที่ตนอยู่
ถ่ายภาพโดย Affonso Beato ตากล้องสัญชาติ Brazilian ขาประจำของ Jim McBride และ Pedro Almodóvar, คำนิยามสั้นๆต่องานภาพที่ผมให้หนังคือ ‘โลกสวย ตรงไหน?’
สองคำที่ผมให้มานี้มีความหมายแยกกันนะครับ, ขอเริ่มจาก ‘โลกสวย’ หนังมีการเลือกใช้ลวดลาย สีสัน โทนสีภาพที่มีความโดดเด่นแปลกตา ชัดสุดคงเป็นเสื้อโค้ทสีแดง ผมเห็นทั้ง 4 ตัวละครหลักต่างต้องเคยใส่เสื้อคลุมสีนี้ คงมีนัยยะประมาณว่า พวกเธอคงเคยผ่านช่วงเวลาอันโหดร้ายเจ็บปวด (สีแดง=เลือด, การสูญเสีย), สำหรับฉากภายใน เฟอร์นิเจอร์ โต๊ะเก้าอี้ Wallpaper ล้วนต้องมีลวดลาย การเลือกสีที่มีความเด่นแบบฉูดฉาด (แรดขึ้นมา) นัยยะเปรียบประมาณ โลกของเหล่าเพศทางเลือก ที่มีความตื่นเต้นเร้าใจ สดใส ไม่น่าเบื่อ นี่สะท้อนชีวิตของพวกเขาที่มีสีสันได้แทบทุกวี่วัน เรียกได้ว่าโลกสวย
สำหรับคำว่า ‘ตรงไหน?’ คือการวางตำแหน่งมุมกล้องของหนังเรื่องนี้ มีนัยยะแสดงจุดยืนทางสังคมของเหล่าเพศทางเลือก ที่สมัยนั้นคงยังไม่มีใครรับรู้ว่า พวกเราจะยืนอยู่ตรงไหนของสังคม, มีช็อตแปลกประหลาดมากมาย อาทิ ตอนที่ Esteban กำลังจดบันทึก กล้องถ่ายมุมแทนกระดาษ เห็นปากกากำลังเขียน, ชายคนที่รับหัวใจของ Esteban กล้องเคลื่อนไปตรงหัวใจ แล้วให้ตัวละครเดินชน (เห็นเหมือนภาพวูบเข้าไป), ถ่ายอุโมงค์ที่รถไฟเคลื่อนไหว (ราวกับท่อส่งเลือก/หัวใจ) ฯ ความแปลกประหลาดของมุมกล้อง หลายครั้งทำให้เกิดคำถาม หนังมีอะไรที่เป็นจุดร่วมจุดยืนของการถ่ายภาพไหน?
ผมค่อนข้างประทับใจในงานภาพของหนัง ที่เปรียบเสมือนเป็นการสร้าง’โลก’ของเหล่าเพศทางเลือก ถึงมันจะไม่ได้สวยงามอะไรมากแต่มีความรู้สึกว่าใช่ ตรงกับชีวิตสีสันของพวกเขาและเธอ เป็นอย่างยิ่ง
ตัดต่อโดย José Salcedo ขาประจำของ Almodóvar, หนังใช้มุมมองของ Manuela เป็นหลักในการเดินทาง ค้นหา พบเจอ และตัดสินใจ ซึ่งหลายๆเรื่องราวมักจะสะท้อน คล้ายคลึง ล้อกับหนังดังในอดีต ทั้งหนังของ Almodóvar เอง (ผมยังไม่เคยดูหนังเรื่องอื่นของผู้กำกับนะครับ แต่ได้ยินว่าถ้าคุณรับชมมาหลายเรื่องแล้ว หลายๆตีม พล็อตรองมักจะวนเวียนเกิดขึ้นซ้ำอยู่บ่อยๆ) หนังดังมี 2 เรื่องคือ All About Eve (1950) และ A Streetcar Named Desire (1951) ถ้าคุณเคยรับชมสองเรื่องนี้มาก่อนแล้ว จะได้เปรียบมากทีเดียว เพราะหลายๆเรื่องราวกับกระจกสะท้อน ดึงพล็อตมาเปะๆเลย
ถือเป็นแนวคิดที่น่าสนใจใช้ได้เลยนะครับ บางสิ่งอย่างที่เราเคยเห็นในภาพยนตร์ หรือเคยคิดฝันจินตนาการ ไปๆมาๆกลับเกิดขึ้นจริงในชีวิต อย่าง คลิปวีดิโอที่ Manuela ถ่ายทำเพื่อโปรโมท การบริจาคอวัยวะ (ที่เราเห็นในโทรทัศน์นั่นเป็นการถ่ายทำนะครับ ณ ตอนนั้นยังไม่ใช่เรื่องจริง) ใครจะไปคิดว่าอยู่ดีๆเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นกับตัวเธอเอง จะเห็นว่าที่คิดที่เตรียมการไว้ เทียบไม่ได้กับความรู้สึกขณะพบเจอเข้ากับตัวเองจริงๆแม้แต่น้อย
เพลงประกอบโดย Alberto Iglesias นักแต่งเพลงสัญชาติสเปน ขาประจำของ Pedro Almodóvar กับ Julio Medem ที่เคยได้เข้าชิง Oscar จากผลงานเรื่อง The Constant Gardener (2005), The Kite Runner (2007), Tinker Tailor Soldier Spy (2011) ฯ
บทเพลงที่ใช้ในหนังแทบไม่มีซ้ำกันเลยนะครับ ทั้งทำนอง แนวดนตรี กลิ่นอายสัมผัส มีความหลากหลายแตกต่าง ผมไม่ค่อยอยากเปรียบเทียบสักเท่าไหร่ เพราะมันเหมือนความสำส่อนไม่เลือกหน้า เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆตามอารมณ์เรื่องราวของหนัง, บรรยากาศของบทเพลง ในโลกใบนี้เต็มไปด้วยความเวิ้งอ้างว้าง เปล่าเปลี่ยว เดียวดาย ไม่สุขสมหวัง นี่คือสิ่งที่อยู่ในใจของเหล่ามนุษย์เพศทางเลือก พวกเขาโหยหาที่จะรัก ต้องการได้มาครอบครอง แต่เพราะความง่ายที่ได้มา บางสิ่งอย่างมันเลยสูญหายไปอย่างรวดเร็ว
Sex ไม่ต่างอะไรกับยาเสพติด สำหรับบางคนติดแล้วเลิกไม่ได้ ซึ่งมักจะมีพฤติกรรมเลวทรามบางอย่าง อาทิ ต้องเปลี่ยนหน้าไปเรื่อยๆมันถึงมีความเร้าใจ หรือทำอะไรแปลกใหม่ท้าทายรุนแรงพิศดาร ไม่สามารถย่ำเหยียบอยู่กับรูปแบบวิถีเดิมๆได้, ถึงหนังเรื่องนี้จะพูดถึงเพศแม่ สภาพเพศหญิงเป็นหลัก แต่ขณะเดียวกันก็พูดถึง Sex และความต้องการ แม้จะไม่นำเสนอ Love Scene อันเร่าร้อนแรง แต่วาทะคำพูดมันปลุกเร้าความต้องการ ความหมกมุ่น สันชาติญาณที่อยู่ภายในออกมาอย่างชัดเจน
เพศผู้หญิงแท้ๆ เมื่อพวกเธอตั้งท้องคลอดลูกสำเร็จ ส่วนใหญ่ความต้องการทางเพศจะค่อยๆลดลง เพราะเหมือนว่าฮอร์โมนได้ทำหน้าของตนเองเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว จากต้องการความรักต้องการ Sex ก็จะแปรสภาพกลายเป็น รักลูกในไส้ ดูแลเอาใจใส่ทะนุถนอม สายสัมพันธ์เยื่อใยบางๆที่มองไม่เห็นตัดไม่ขาด นี่คือสิ่งที่เรียกว่า ‘สันชาติญาณเพศแม่’
แต่สำหรับเกย์ กระเทย ตุ๊ด ไบ ฯ ว่ากันตามตรง ต่อให้ร่างกายกลายเป็นผู้หญิง แต่เพราะไม่ใช่เพศหญิงแท้ๆ ฮอร์โมนก็กินเข้าไป ไม่มีทางมีหรอกที่จะสามารถมี ‘สันชาติญาณเพศแม่’ เว้นเสียแต่เรียกว่า ‘สัญชาติญาณเพศพ่อ’ ซึ่งผมว่ามันตลกสิ้นดี ผู้หญิงที่มีดุ้นมีนมกลับเป็นพ่อของลูก … คนหัวโบราณแบบแม่ของ Rosa รับรู้ความวิปริตนี้เข้าไป จะเห็นว่าเธอหน้ามืดกำลังจะเป็นลมวูบจับในทันที
ทั้งหมดของหนังเรื่องนี้ คือด้านมืดของโลกที่ถูกสร้างให้มีสีสันสวยสดใส เรื่องราวสุดอัปลักษณ์พิศดารคนโลกสวยรับไม่ได้แน่ๆ แต่ทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นจริงเกิดขึ้นได้มาแล้วทั้งนั้น ก็อยู่ที่คุณแล้วละจะยอมรับการมีตัวตนของโลกใบนี้ได้หรือเปล่า? (ไม่ยอมรับก็ไม่มีค่าอะไรนะครับ เพราะมันมีอยู่จริงบนโลก)
ถือว่าเป็นปาฏิหารย์ที่ลูกของ Rosa รอดชีวิตมาได้ (ผมไม่แน่ใจว่ามีเหตุการณ์ลักษณะนี้ เคยมีเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า) นี่มีนัยยะถึง อย่างน้อยในมุมมืดของโลก ยังมีประกายความหวัง ของบุตรผู้ซึ่งยังใสซื่อบริสุทธิ์ไร้ความมัวหมอง นั้นคือบัตรผ่านหนทางออกจากขุมนรกของเพศหญิงผู้เป็นแม่
ด้วยทุนสร้าง 600 ล้าน pesetas (=$5 ล้านเหรียญ) หนังทำเงินทั่วโลก $67.8 ล้านเหรียญ น่าจะเป็นหนังภาษาสเปนที่เคยทำรายได้สูงสุดทั่วโลก, กวาดรางวัล ดังต่อไปนี้
– เทศกาลหนังเมือง Cannes: Best Director
– Academy Award: Best Foreign Language Film
– Golden Globe Award: Best Foreign Language Film
– BAFTA: Best Foreign Language Film
– BAFTA: Best Director
– European Film Awards: Best European Film
– European Film Awards: Best European Director
– European Film Awards: Best European Actress (Cecilia Roth)
สิ่งที่ผมไม่ชอบในหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่ที่ตัวของเกย์ กระเทย ทอม ดี้ ตุ๊ด ไบ ฯ แต่คือพฤติกรรมความสำส่อน การมั่ว Sex ที่สะท้อนให้เห็นถึงความตกต่ำของสังคม, ผมไม่โทษที่ตัวบุคคลหรือสถานะทางเพศ ว่าเป็นสิ่งทำให้สังคมตกต่ำ โลกเป็นเช่นนี้มานานแล้ว ความชั่วร้ายมวลรวม ค่อยๆแอบซ่อนสะสมอยู่ในจิตใจมนุษย์ สืบทอดส่งต่อมาอย่างยาวนาน, ในประเทศสเปนค่อนข้างชัดว่า ต้นตอสาเหตุความตกต่ำมาจาก Francisco Franco เพราะความเผด็จการที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวั่นวิตกกลัว กีดกันสั่งห้ามทุกสิ่งอย่าง ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่จอมพลเสียชีวิตจากไป ความอัดอั้นตันใจทุกอย่างระเบิดออกพร้อมกับความอิสระเสรี โดยไม่รู้ตัว ความชั่วร้ายที่ถูกกดข่มไว้ก็ออกมาเดินเพ่นพร่านเช่นกัน
ภาพที่ผมเห็นในหนังเรื่องนี้ไม่ใช่ เกย์ กระเทย ทอม ดี้ ตุ๊ด ไบ ฯ แต่คือสัตว์ประหลาด ความอัปลักษณ์ที่ปกติหลบซ่อนอยู่ภายในจิตใจมนุษย์ ออกมาเดินเพ่นพร่านป้วนเปี้ยนอย่างเต็มไปหมด ราวกับภาพหลอนที่เห็นแล้วอกสั่นสะเทือนลั่นหัวใจ หนังลักษณะเช่นนี้จะให้ชอบลงไปได้อย่างไร!
มันคงไม่ใช่ความตั้งใจของ Pedro Almodóvar ที่จะมีนัยยะเปรียบเทียบอย่างที่ผมบอกมานะครับ ผู้กำกับแค่ต้องการนำเสนอโลกที่เขามีชีวิตอยู่ มันอาจจะคือขุมนรกในสายตาผู้อื่น แต่สำหรับเขาที่นี่คือ paradise สรวงสวรรค์ชั้นเจ็ด ใครรับได้ก็รับ รับไม่ได้ฉันก็ไม่สนอยู่ดี
ย้ำอีกครั้งว่าผมไม่ได้มองเกย์ กระเทย ทอม ดี้ ตุ๊ด ไบ ฯ คือสัตว์ประหลาด แต่หนังเรื่องนี้ทำให้ผมเห็นพวกเขาเป็นสัตว์ประหลาด นี่เป็นสิ่งที่ผมยอมรับไม่ได้ ต่อต้าน ไม่ชอบ’หนัง’เรื่องนี้โดยสิ้นเชิง
แนะนำกับมนุษย์เพศทางเลือกทั้งหลาย ต้องหามารับชมดูให้ได้, จิตแพทย์ นักจิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ ศึกษาเรียนรู้ทำความเข้าใจปัญหา, ตากล้อง คนทำงานสายภาพยนตร์ทั้งหลาย มีเทคนิคลูกเล่นหลายอย่างน่าสนใจทีเดียว, และแฟนๆนักแสดงอย่าง Cecilia Roth, Penélope Cruz ไม่ควรพลาดเลย
จัดเรต 18+ ภาษา เรื่องราวเกี่ยวกับเพศ ความรุนแรง และความสำส่อน
Leave a Reply