All Quiet on the Western Front (1930) : Lewis Milestone ♥♥♥♥
ในประเทศ Germany ใช่ว่าทุกคนจะคิดเหมือนดั่ง Adolf Hitler ยังมีบุคคลที่มองว่า สงครามไม่ใช่ทางออกของปัญหา กระนั้นแนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง ก็มิได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้เกิดขึ้น นอกเสียจากคว้ารางวัล Oscar สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ผู้แต่งนิยายเรื่องนี้ Erich Maria Remarque (1898 – 1970) เป็นชาว German เกิดที่ Osnabrück, Lower Saxony ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่ออายุถึง 18 ปี สมัครเข้าเป็นทหารบก (ตามคำชักชวนล่อหลอกของอาจารย์) ประจำหน่วย Western Front, 2nd Company ต่อมาย้ายไปประจำการอยู่ที่ Torhout, Houthulst, วันที่ 31 กรกฎาคม 1917 ได้ถูกศัตรูโจมตีทำร้าย เป็นแผลที่ขาซ้าย แขนขวา และลำคอ พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลทหารจนสิ้นสุดสงคราม
ใครรับชมหนังเรื่องนี้แล้วอ่านย่อหน้าข้างบนคงพอจะคาดเดาได้ นี่เป็นภาพยนตร์กึ่งอัตชีวประวัติของผู้เขียน นำเสนอประสบการณ์ตรงจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และได้สอดไส้ใส่แนวคิด ทัศนคติ ความรู้สึกของตนเองลงไปอย่างครบถ้วน บ่งบอกชัดเจนเลยว่า ‘ฉันไม่เห็นด้วยกับสงคราม’ ใจความต่อต้าน anti-wars
แต่ใช่ว่า Remarque ผ่านสงครามโลกมาแล้วจะเริ่มเขียนหนังสือขายโดยทันที ปลดประจำการกลับถึงบ้านได้งานเป็นครูฝึกสอน โรงเรียนประถมศึกษาที่เมือง Lohne จากนั้นเปลี่ยนงานไปทำบรรณารักษ์, นักข่าว, บรรณาธิการข่าว ฯ งานไหนได้เงินเยอะกว่าก็รีบตรงไปสมัครทันที จนกระทั่งกลายเป็นนักเขียนให้กับบริษัทผลิตยาง Continental Rubber Company
ก่อนที่จะไปเป็นทหาร Remarque ตั้งแต่อายุ 16 มีความสนใจแต่งกลอน เขียนหนังสือเรื่อง The Dream Room (Die Traumbude) แต่ยังไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ จนกระทั่งไปรบกลับมา ถึงค่อยๆใช้วันเวลาว่างหลังจากทำงาน ขัดเกลาแก้ไขนิยายจนเสร็จสำเร็จ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1920 แต่ก็ยังไม่ได้คิดจริงจังกับงานเขียนนัก, กระทั่งปี 1927 ได้ตีพิมพ์นิยายเรื่องถัดมา Station at the Horizon (Station am Horizont) นี่เองที่ทำให้เขาเกิดความต้องการเขียน All Quiet on the Western Front (Im Westen nichts Neues)
ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ Vossische Zeitung (น่าจะรายสัปดาห์) ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 1928 รวมเล่มขายเดือนมกราคม 1929 ได้รับการแปล 22 ภาษา ใน 18 เดือนแรกขายได้ 2.5 ล้านเล่ม ทำให้มีการเขียนนิยายภาคต่อ The Road Back (1930) [คงเปลี่ยนไปใช้ตัวละครนำอื่นที่น่าจะยังมีชีวิตอยู่]
สำหรับนิยายฉบับภาษาไทย ใช้ชื่อว่า ‘แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง’ เป็นพระนิพนธ์แปลโดยหม่อมเจ้าขจรจบกิตติคุณ กิติยากร ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์รายเดือนชื่อทหารราบ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ (ค.ศ. 1929) และรวมเล่มจำหน่ายครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘
เรื่องราวของ Paul Bäumer (รับบทโดย Lew Ayres) และผองเพื่อนร่วมชั้นเรียน ทุกคนต่างหลงคำคารมของอาจารย์ สมัครเป็นทหารรับใช้ชาติต่อสู้กับศัตรู แต่เมื่อมาถึงแนวรบแดนหน้าก็ได้พบกับความจริงอันโหดร้าย แถมเพื่อนๆแต่ละคนค่อยๆสูญสิ้นตายจากไป นี่เรามาทำสงครามเพื่ออะไร? ครั้งหนึ่งเมื่อ Bäumer ได้รับบาดเจ็บกลับมาบ้าน พบว่าหลายสิ่งอย่างได้เปลี่ยนไปในแบบที่เขาไม่รู้จัก ตัดสินใจกลับสู่แนวรบแดนหน้าอีกครั้ง ราวกับว่าสงครามได้กลายเป็นบ้านของเขาไปเสียแล้ว
ชื่อนิยายต้นฉบับภาษาเยอรมัน Im Westen nichts Neues แปลว่า In the West Nothing New (ในแนวรบแดนหน้า Western Front ที่นี่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง) คงเป็นคำรำพันของ Bäumer เมื่อได้หวนกลับคืนสู่แนวรบนี้อีกครั้ง
Lewis Milestone หรือ Leib Milstein (1895 – 1980) ผู้กำกับสัญชาติ Moldovan เกิดที่ Kishinev, Russian Empire มีเชื้อสาย Jews เดินทางมาแสวงโชคยังอเมริกาเมื่อปี 1912 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นอาสาสมัครของ U.S. Signal Corps (กองสื่อสาร) ฝึกกองกำลังทหารหน่วยสื่อสาร ทำให้ได้รับสัญชาติอเมริกาเมื่อปี 1919
หลังสงครามเดินทางสู่ Hollywood เริ่มต้นจากเป็นคนตัดฟีล์ม ผู้ช่วยผู้กำกับ นักเขียนบท จนได้กำกับภาพยนตร์ มีผลงานอาทิ The Kid Brother (1927) [ไม่ได้เครดิต], Two Arabian Knights (1927) [คว้ารางวัล Oscar: Best Director จากการประกาศรางวัลครั้งแรก], Hell’s Angels (1930) [กำกับส่วนของนักแสดง ไม่ได้เครดิต], The Front Page (1931), The General Died at Dawn (1936), Of Mice and Men (1939), Ocean’s 11 (1960), Mutiny on the Bounty (1962) ฯ
หลังจากนิยายฉบับภาษาอังกฤษในชื่อ All Quiet on the Western Front วางแผงจำหน่ายเมื่อเดือนกรกฎาคม 1929 โปรดิวเซอร์ Carl Laemmle, Jr. ของ Universal Studio เรียกตัว Milestone เข้าไปพูดคุย ชักชวนให้ดัดแปลงสร้างภาพยนตร์จากนิยายเล่มนี้ น่าจะเพราะสนใจความสำเร็จของหนังเรื่อง Two Arabian Knights (1927) ที่ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่ง Milestone ก็มีความยินดีอย่างยิ่ง
สำหรับนักแสดง ถือได้ว่าเป็นหนังรวมดาราทั้งเก่าใหม่แห่งยุคสมัยหนังเงียบ แต่เชื่อว่าคอหนังสมัยนี้คงไม่ค่อยรู้จักกันแล้ว
Lewis Frederick Ayres III (1908 – 1996) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Minneapolis, Minnesota ในครอบครัวนักดนตรี ออกจากโรงเรียนกลางคันเพื่อร่วมทัวร์กับวงดนตรีเล็กๆ ภายหลังเปลี่ยนหันมาสนใจการแสดง เข้าตา Agent คนหนึ่งทำให้ได้รับบทประกบ Greta Garbo ในภาพยนตร์เรื่องแรก The Kiss (1929) และหลังจาก All Quite on the Western Front ได้เซ็นสัญญากับ Universal แต่กลับเป็นได้แค่นักแสดงเกรด B ของสตูดิโอเท่านั้น, Ayres เคยได้เข้าชิง Oscar: Best Actor ครั้งหนึ่งกับหนังเรื่อง Johnny Belinda (1948)
Paul Bäumer ตอนอายุ 19 สมัครเข้าเป็นทหารประจำหน่วย Western Front ที่ซึ่งเขาได้พบเจอกันเหตุการณ์ต่างๆ เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิต ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ
– ก่อนสงคราม Bäumer เป็นนักเรียนที่มีความเฉลียวฉลาด หัวสร้างสรรค์ อ่อนไหว น่าหลงใหล ชื่นชอบการแต่งกลอน เขียนหนังสือ และรักครอบครัวอย่างยิ่ง
– ช่วงกลับบ้าน สงครามทำให้ Bäumer มีทัศนคติต่อทุกสิ่งอย่างเปลี่ยนไปโดยสิ้น กลายเป็นคนเหนื่อยหน่าย อ่อนล้า อมทุกข์ เบื่อโลก ไม่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับใคร กระทั่งครอบครัวก็ไม่เข้าใจความรู้สึกของเขา
ตอนจบในหนังสือ Bäumer กลายเป็นคนไม่รู้ตัวเอง ว่าควรคิดทำอะไรต่อไปในชีวิต (คือชีวิตไม่มีอะไรหลงเหลืออีกต่อไป) การตายของเขาในเดือนตุลาคม 1918 วันที่เงียบสงบสันติ ในสนามรบ (All Quiet on the Western Front) แต่เขากลับถูกยิงเสียชีวิต ใบหน้าที่นิ่งสงบ ‘as though almost glad the end had come.’
Louis R. Wolheim (1880 – 1931) นักแสดงภาพยนตร์/ละครเวทีสัญชาติอเมริกา มีชื่อเสียงพอสมควรในยุคหนังเงียบ มักได้รับบทนักเลง/ตัวร้าย น่าเสียดายรีบด่วนเสียชีวิตจากไปก่อนวัยอันควร,
รับบท Stanislaus Katczinsky หรือที่ในหนังเรียกสั้นๆว่า Kat สหายรุ่นพี่ ผู้มากประสบการณ์ในสนามรบ ด้วยตัวเลขอายุ 40 ถือได้ว่าเป็นผู้นำตัวจริงของ 2nd Company เอาตัวรอดนับครั้งไม่ถ้วนราวกับมี Sixth Sense แต่วันแห่งโชคชะตาสุดท้ายก็ต้องมาถึง, ในตอนแรก Kat ก็ไม่ได้สนใจชอบหน้า Bäumer สักเท่าไหร่ แต่เมื่อสามารถเอาตัวรอด ผ่านหลายสนามรบมาด้วยกันเริ่มคุ้นหน้า ความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องแน่นแฟ้น เมื่อพระเอกกลับบ้านไปพบกับความไม่คุ้นเคย เขาจึงต้องการกลับสู่สนามรบ เพื่อได้พบเจอกับ Kat อีกสักครั้งหนึ่ง
การแสดงของ Wolheim ถือว่าคือไฮไลท์ของหนังเลย สร้างสรรค์ตัวละครให้มีความเก๋าเกม มากประสบการณ์ เป็นผู้ใหญ่ที่น่านับถือ ลุ้นระทึกให้มีชีวิตรอด ซึ่งพอตัวละครจากไป ก็ปวดร้าวแทบขาด
John Wray (1887 – 1940) นักแสดงภาพยนตร์/ละครเวที สัญชาติอเมริกา หนึ่งในนักแสดง Broadways มีชื่อที่เดินทางสู่ Hollywood เพราะการมาถึงของยุคสมัยหนังเงียบ
รับบท Corporal Himmelstoss ก่อนสงครามทำงานเป็นบุรุษไปรษณีย์ พอเป็นทหารได้เป็นครูฝึกหน่วยของ Bäumer แสดงความบ้าอำนาจ เข้มงวด เห็นแก่ตัวเกินไป เป็นที่เกลียดชังของทุกคน แต่พอตัวเขาถูกส่งไปรบแนวหน้า ก็พบว่าแท้จริงเป็นคนขี้ขลาดเขลา อ่อนแอ ไม่กล้าแม้กระทั่งเดินหน้าในสนามรบ เห็นว่าภายหลังรอดชีวิตมาได้ กลายมาเป็นพ่อครัว ไม่ได้ต้องออกไปรบแนวหน้าอีก
การแสดงของ Wray ถือว่าเป็น Comedy ของหนัง สร้างสีสันได้เยอะทีเดียว โดดเด่นในช่วงแรก แต่หลังๆก็จืดจางหายไปเลย (บทหมด) ใครๆคงบอกได้ว่าตัวละครนี้ หมาเห่าใบตองแห้ง, ดีแต่ปาก, ใจปลาซิว ฯ
เนื่องจากช่วงปีที่สร้าง ยังเป็นยุคสมัยเปลี่ยนผ่านระหว่างหนังเงียบกับหนังพูด จึงมีการสร้างหนังขึ้นสองเวอร์ชั่น คือฉบับหนังเงียบ และฉบับหนังพูด (ฉบับหนังเงียบยังมีหลงเหลืออยู่นะครับ แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจหามารับชมเท่าไหร่)
ถ่ายภาพโดย Arthur Edeson ตากล้องในตำนาน ที่มีผลงานเด่นตั้งแต่ยุคหนังเงียบ Robin Hood (1922), The Thief of Bagdad (1924), The Lost World (1925) และยิ่งใหญ่กับหนังพูด Frankenstein (1931), The Maltese Falcon (1941), Casablanca (1942) ฯ
ในช่วงแรกๆ หลายช็อตจะมีลักษณะคล้ายกรอบรูป ราวกับเป็นตัวแทนของภาพความคิดจินตนาการ ของเหล่าวัยรุ่นหนุ่มที่จินตนาการเพ้อฝันถึงสงคราม ได้ทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ, ผมชอบช็อตนี้ในห้องเรียน กล้องเคลื่อนจากหน้าต่าง เห็นด้านนอกขบวนพาเรดกำลังส่งทหารไปร่วมรบ ขณะที่หนุ่มๆทั้งหลายกำลังนั่งฟังคำชวนเชื่อของอาจารณ์ ปลุกใจอย่างเคลิบเคลิ้ม กล่อมเกลาให้พวกเขาตัดสินใจสมัครเข้าเป็นทหารรับใช้ชาติ
ไฮไลท์ของงานภาพ คือการเคลื่อนกล้องไปด้านข้าง ตามแนวการเดิน/กราดยิง/แถวหน้า ผมชอบช็อตที่กล้องไหลไป ตัวประกอบศัตรูค่อยๆ(ถูกยิง)ล้มเรียงลงคล้ายๆโดมิโน่ ถ้าไม่มีการตัดสลับไปมาระหว่างคนยิงกับผู้ถูกยิง ช็อตพวกนี้คงมีความต่อเนื่องที่สวยงามมากแน่
ช็อตหนึ่งที่สร้างความอึดอัดให้กับผู้ชมสมัยนั้น คือมือปลอมสองข้างกำจับรั้วลวดหนามแล้วถูกระเบิดกระจุย เห็นแล้วชวนให้ขนลุกขนพองโดยแท้
ช่วงท้ายของหนัง กับอีกฉากที่ได้รับการกล่าวขานจนกลายเป็น iconic ของหนังเรื่องนี้, Bäumer เอื้อมมือไขว่คว้าผีเสื้อตัวหนึ่ง (ที่บ้านของ Bäumer จะมีช็อตหนึ่งถ่ายติดคอลเลคชั่นผีเสื้อเก็บสะสมอยู่ คาดว่าคงเป็นงานอดิเรก) เปรียบประหนึ่งผีเสื้อคือ ความหวัง เพ้อฝัน โบยบิน สันติสุข ที่ชายหนุ่มพยายามไขว่คว้า แต่กลับไม่ได้มาครอบครอง, จังหวะที่ Bäumer ถูกยิง เหมือนมือจะชักกลับ กล้องเคลื่อนอย่างเร็วให้ความรู้สึกเหมือน ผีเสื้อโบยบินทิ้งจากไปแล้ว (แต่ผีเสื้อตัวนั้นเหมือนตายแล้วมากๆ)
เกร็ด: ช็อตนี้เป็นมือของผู้กำกับนะครับ เพราะ Ayres ไม่มีคิวว่างมาถ่ายซ่อมฉากนี้แล้ว
และช็อตสุดท้ายของหนัง เป็นภาพของเหล่าทหารขณะกำลังเดินทัพที่หันกลับมามอง ซ้อนกับสุสานหลุมฝังศพที่มีมากมายเหลือคณะ, นัยยะของช็อตนี้สะท้อนความหมายของสงคราม คือการไปตายนั่นเอง
ตัดต่อโดย Edgar Adams ตากล้องอายุสั้นของ Universal (ทั้งชีวิตมีผลงานตัดต่อแค่ 4 เรื่องเท่านั้น), หนังใช้เวลาถ่ายทำ 4 เดือน แต่ได้ฟุตเทจความยาว 295,000 ฟุต ที่ต้องตัดให้เหลือเพียง 12,000 ฟุต (ประมาณ 150+ นาที) นี่ไม่ใช่งานง่ายแม้แต่น้อย
หนังใช้มุมมองของ Paul Bäumer ดำเนินเรื่องราวไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ต่อให้สงครามจะมีฉากรบพุ่งยิ่งใหญ่อลังการแค่ไหน นั่นก็เป็นเพียงการเกริ่นก่อนเข้าสู่เรื่องราวเล็กๆของทหารหนุ่มผู้นี้เท่านั้น
การลำดับฉากสงคราม มีความต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบเร่งและดูรู้เรื่อง, เริ่มจากทุกสิ่งอย่างเงียบสงัด เห็นภาพการเตรียมความพร้อม รอคอยการพุ่งรบ จากนั้นทหารฝั่งหนึ่งจึงเริ่มกรีธาทัพ ระเบิดปูพรมเริ่มทำงาน (แต่เราจะไม่เห็นเครื่องบินสักลำเลยนะ) พอได้ระยะใกล้ก็เริ่มกราดยิง ตัดสลับไปมาทั้งสองฝ่ายเพื่อให้เห็นคนยิงและผลลัพท์ จากนั้นเป็นการต่อสู้ประชิดตัว สิ้นสุดฉากสงคราม
ต้องถือว่าหนังได้แรงบันดาลใจจาก The Big Parade (1925) พอสมควร โดยเฉพาะฉากพักผ่อนคลายขณะไม่ได้อยู่ในสนามรบ จีบสาวที่ถึงพูดคุยกันไม่รู้เรื่องแต่มีความต้องการตรงกัน นี่ช่วยบรรเทาคลายความเครียดให้กับผู้ชมได้เยอะมากทีเดียว
สำหรับเพลงประกอบถือว่าไม่มีนะครับ เพราะก่อนการมาถึงของ King Kong (1933) บทเพลงจะใช้แค่ประกอบฉากเท่านั้น ยังไม่ถึงจุดที่ใช้สร้างสัมผัส บรรยากาศ หรืออารมณ์ของหนัง
หนังไม่ได้พูดถึงจุดเริ่มต้นของสงคราม แต่เริ่มต้นด้วยความเชื่อ ค่านิยม อุดมการณ์ของผู้ใหญ่สมัยนั้น ที่พยายามปลูกฝังล้างสมองชายหนุ่มวัยรุ่นคนยุคใหม่ ที่ยังใสซื่ออ่อนต่อโลก ‘สมัครเป็นทหารเพื่อชาติสิ ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ต่อสู้ ขับไล่ ยึดครองดินแดนของศัตรูผู้รุกราน’ ฮอร์โมนที่พลุกพร่าน ได้รับการชี้นำจนเกิดความฮึกเหิมกล้าหาญ ลักษณะนี้มีหรือจะไม่ยินยอมคล้อยตาม แต่วินาทีที่เซ็นชื่อยื่นใบสมัครกลายเป็นทหารแล้ว ทุกอย่างก็สายเกินไปแล้ว
คำว่า’ผู้ใหญ่’ ที่ผมว่ามานี้ ไม่ได้หมายถึงแค่ครูอาจารย์/พ่อแม่ ที่มีอายุสูงวัย ประสบการณ์ชีวิตมากกว่าวัยรุ่นหนุ่มสาวนะครับ แต่ยังรวมถึงผู้นำปกครองประเทศ ที่มีอิทธิพลชี้ชักนำพา อย่าง Hitler, Mussolini, Stalin ฯ สำหรับวัยรุ่นหนุ่มสาวที่วุฒิภาวะยังไม่มากเพียงพอ ยากนักที่จะมองเห็นหน้ากาก ความจริงที่แอบซ่อนอยู่เบื้องหลัง จิตใจอันคดเคี้ยวเลี้ยวลดของผู้นำเหล่านี้ ที่ต่างโกงกินคอรัปชั่น พูดจาวาทะดีแต่จิตใจสนแต่เอื้อผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น
ผลกระทบจากสงครามที่แท้จริง ไม่ใช่แค่การสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง บ้านเรือนราษฎร ทหารนายกอง ระดับกายภาพเท่านั้น แต่ยังส่งผลร้ายแรงต่อจิตใจของผู้คนทุกระดับ -ผ้าขาวใสสะอาด พรมน้ำให้เปียกยังตากแห้งกลับมาเหมือนเดิมได้ แต่เมื่อใดที่ถูกสาดสีโคลนเลน ต่อให้พยายามใช้น้ำยาซักล้างทำความสะอาดแค่ไหนก็ไม่มีวันกลับมาขาวเหมือนใหม่ได้อีกแล้ว- จิตใจของชายหนุ่มที่เคยใสซื่ออ่อนต่อโลก เมื่อพบเจอกับความเลวร้ายของสงคราม ถ้าโชคดีเอาตัวรอดผ่านช่วงแรกๆแห่งความช็อคตกตะลึงไปได้ พวกเขาก็จะเข้าใจตัวตนธาตุแท้ความหมายของสงคราม มันไม่ใช่เรื่องเกียรติยศ ศักดิ์ศรี ทำเพื่อชาติ ฯ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องโกหกโป้ปดทั้งเพ หามีคุณค่าเมื่อเทียบกับชีวิตที่ต้องพบกับการสูญเสีย การตายอย่างไร้สาระ ไร้เหตุผล ไร้ประโยชน์ ทำไมไม่เอาผู้นำของสองประเทศ ไม่พอใจกันใช่ไหม ก็จัดเวทีต่อสู้ต่อยตีกันให้พึงพอใจทั้งสองฝ่าย ใครชนะก็จะยินยอมก้มหัวทำตาม แบบนี้การสูญเสียสิ้นเปลืองก็จะไม่บังเกิดขึ้นแม้แต่น้อย
แต่ใช่ว่าสุดท้ายแล้วหนังเรื่องนี้จะมีทางออกที่แท้จริงของสงคราม เพราะทุกตัวละครหลักล้วนเสียชีวิตก่อนที่สงครามจะจบ นี่เป็นการนำเสนออย่างมีนัยยะว่า เป้าหมายความสันติสุขของโลกยังอยู่ห่างไกลความจริง และมันคงเป็นไปไม่ได้ที่โลกนี้จะปราศจากความขัดแย้ง/การต่อสู้/สงคราม ก็ได้แต่หวังว่ายุคสมัยของเราจะไม่มีสงครามครั้งใหญ่ระดับโลกเกิดขึ้นอีก
ยุคสมัย Nazi เรืองอำนาจ มีหรือนิยาย/หนังเรื่องนี้จะได้รับการยอมรับ รัฐมนตรีกระทรวงชวนเชื่อ (Propaganda Minister) Joseph Goebbels ได้ประกาศเผานิยายทั้งหมดของ Bäumer/ห้ามฉายภาพยนตร์ ผู้ใดมีครอบครองจะถูกลงโทษสาหัส, สำหรับตัวผู้เขียน อพยพลี้ภัยไปอยู่บ้านที่ซื้อไว้ก่อนแล้วที่ Porto Ronco, Switzerland (คาดว่าคงพยากรณ์การเกิดขึ้นซ้ำรอยสงครามโลกครั้งที่ 1 ไว้แล้ว จึงเตรียมทางหนีทีไล่ไว้พร้อม) อาศัยอยู่ที่นั่นจนเสียชีวิต
เกร็ดไร้สาระ: Remarque แต่งงานครั้งที่สามกับภรรยาคนที่สอง นักแสดงหญิงชื่อดัง Paulette Goddard เมื่อปี 1958 [เธอคือนางเอก Modern Times และ The Great Dictator และเคยแต่งงานกับ Charlie Chaplin อยู่ช่วงหนึ่งด้วย]
ด้วยทุนสร้าง $1.2 ล้านเหรียญ หนังทำเงินในอเมริกาได้เพียง $1.5 ล้านเหรียญ ถือว่าขาดทุนพอสมควร แต่เมื่อส่งออกต่างประเทศ ฉายซ้ำ หลายปีถัดมาก็เริ่มทำกำไรได้, เข้าชิง 4 สาขา Oscar คว้ามา 2 รางวัล ประกอบด้วย
– Outstanding Production ** ได้รางวัล
– Best Director ** ได้รางวัล
– Best Writing พ่ายให้กับ The Big House (1930) [หนังเกี่ยวกับนักโทษในเรือนจำ เรื่องแรกของโลก]
– Best Cinematography พ่ายให้กับหนังสารคดีที่งานภาพน่าทึ่งมากๆ With Byrd at the South Pole (1930)
ในบรรดาหนังสงครามทั้งหลาย All Quite on the Western Front มีความคลาสสิกที่รับชมสมัยปัจจุบัน ยังหาได้ตกยุคล้าสมัยแม้แต่น้อย มีความสวยงาม ตราตรึง น่าหลงใหลเป็นอย่างยิ่ง และแฝงแนวคิดทัศนคติต่อต้านสงครามที่น่าสนเท่ห์ เพราะใจความคือผู้ใหญ่หลอกล่อลวงเด็กหนุ่มให้หลงเชื่อกลายเป็นเหยื่อ นี่เป็นสิ่งที่วัยรุ่นคนหนุ่มทั้งหลาย สมควรอย่างยิ่งที่ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” อย่าเชื่อในค่านิยมของฝูงชน ประวัติศาสตร์เคยเกิดขึ้นซ้ำรอยมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ยังจะโง่งมงายหลงผิดไปอยู่ทำไม … แต่มันก็ยังมีอยู่นะ เยอะด้วย! คนที่เชื่อว่าสงคราม/ความรุนแรงแก้ปัญหาได้ทุกสิ่งอย่าง
ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้ค่อนข้างมาก แต่คงไม่มากเกินกว่านี้ เพราะความโหดร้ายรุนแรงของสงคราม สร้างความทรมานกายใจให้ผมอย่างมากขณะรับชม นี่เป็นแนวหนังที่ไม่โปรดปรานแม้แต่น้อย
แนะนำอย่างยิ่งกับคอหนังต่อต้านสงคราม และผู้กำลังศึกษาประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 1
จัดเรต 15+ กับภาพความโหดร้ายรุนแรง และความคิดครอบงำ
Leave a Reply