
All That Heaven Allows (1955)
: Douglas Sirk ♥♥♥♥♡
เรื่องราวความรักระหว่างบุคคลละชนชั้น อาจดูเฉิ่มเชยล้าหลังแต่ปัจจุบันยังคงพบเห็นได้ทั่วไป ปัญหาส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากอิทธิพลคนรอบข้าง มิอาจทนเสียงเห่าหอนของหมูหมากาไก่ จนกว่าตระหนักว่าทำไมฉันต้องรับฟังใคร ถึงจักค้นพบความสุขแท้จริงอยู่ที่ใจเราเอง, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ถ้าให้ผมเลือกหนังแนว Romantic ในยุคสมัย Hollywood Classic จะต้องมี All That Heaven Allows (1955) ติดอันดับอย่างน้อย Top10 เรื่องราวอาจไม่หวานแหววกุ๊กกิ๊ก แต่จะทำให้หนุ่มสาวได้ข้อคิดสำหรับการใช้ชีวิตคู่ จริงอยู่สาระดังกล่าวอาจเฉิ่มเชยล้าหลัง แต่ก็ยังทรงคุณค่าน่าค้นหา และไฮไลท์คือไดเรคชั่นผู้กำกับ Douglas Sirk พัฒนาความเชยๆของ Melodrama ให้กลายเป็นความบันเทิงชั้นสูง งดงามระดับวิจิตรศิลป์
This is the dialectic—there is a very short distance between high art and trash, and trash that contains an element of craziness is by this very quality nearer to art.
Douglas Sirk
ภาพยนตร์ของ Douglas Sirk เมื่อตอนออกฉายมักถูกมองข้ามโดยนักวิจารณ์ (แต่ก็ประสบความสำเร็จทำเงินล้นหลาม) เพราะเห็นเพียงความเฉิ่มเชย ล้าหลัง (cliché) โปรดักชั่นราคาถูก ดูจอมปลอม นอกจากสีสันสดใส (ของ Technicolor) นอกนั้นก็ไม่มีอะไรแปลกใหม่ให้น่าสนใจ
แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน เริ่มต้นจากบรรดานักวิจารณ์ฝรั่งเศส (โดยเฉพาะ Jean-Luc Godard) นิตยสาร Cahiers du cinéma สามารถแยกแยะระหว่างเศษขยะกับสิ่งของล้ำค่า คนบ้า vs. อัจฉริยะ เพราะมันมีเพียงเส้นแบ่งบางๆที่เลือนลาง ถ้าไม่สังเกตแล้วครุ่นคิดอย่างจริงจัง ย่อมไม่สามารถพบเห็นความแตกต่าง
อิทธิพลของ Sirkian สามารถเรียกว่าได้ว่า ‘บิดาแห่ง Melodrama’ กลายเป็นแรงบันดาลใจผู้กำกับดังๆอย่าง Rainer Werner Fassbinder, Quentin Tarantino, Todd Haynes, Pedro Almodóvar, Wong Kar-wai, David Lynch, John Waters, Lars von Trier หรือแม้แต่ Ryusuke Hamaguchi
โดยเฉพาะ Guillermo del Toro ในคำกล่าว Oscar Speech เมื่อตอนขึ้นรับรางวัล Best Director และ Best Picture จากภาพยนตร์ The Shape of Water (2017) ต่างเอ่ยถึง Douglas Sirk สองครั้งด้วยกัน!
The place I like to live the most is at Fox Searchlight, because in 2014 they came to listen to a mad pitch with some drawings and the story and a maquette. And they believed that a fairy tale about an amphibian god and mute woman done in the style of Douglas Sirk, and a musical, and a thriller was a sure bet.
– คำกล่าวเมื่อตอนรับรางวัล Oscar: Best DirectorGrowing up in Mexico as a kid, I was a big admirer of foreign films, from films like ET or Willy Wyler or Douglas Sirk or Frank Capra
– คำกล่าวเมื่อตอนรับรางวัล Oscar: Best Picture
Douglas Sirk ชื่อจริง Hans Detlef Sierck (1897 – 1987) ผู้กำกับสัญชาติ German เกิดที่ Hamburg, German Empire ช่วงวัยรุ่นมีความชื่นชอบละครเวที แต่เข้าเรียนกฎหมายยัง Munich University มีเรื่องให้ย้ายมหาวิทยาลัยมาเป็น University of Jena ตามมาด้วย Hamburg University เปลี่ยนสู่คณะปรัชญา ประวัติศาสตร์ และศิลปศาสตร์ ที่นี่ทำให้มีโอกาสรับฟังคำบรรยายทฤษฎีสัมพันธภาพของ Albert Einstein จากนั้นมีโอกาสเข้าร่วมโปรดักชั่น Deutsches Schauspielhaus มุ่งมั่นเอาดีด้านการละคร ซึ่งก็ประสบความสำเร็จไม่ใช่น้อย
แม้ตัวเขาจะไม่ได้มีเชื้อสาย Jews แต่ตัดสินใจอพยพสู่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1937 เพราะภรรยากำลังถูกเพ่งเล็ง ได้เซ็นสัญญากับ Columbia Pictures สร้างภาพยนตร์ Anti-Nazi อาทิ Hitler’s Madman (1943), Summer Storm (1944), ย้ายสังกัดมา Universal-International สร้างผลงานระดับตำนานอย่าง Magnificent Obsession (1954), All That Heaven Allows (1955), Written on the Wind (1956), A Time to Love and a Time to Die (1958), และ Imitation of Life (1959)
สไตล์ของ Sirk มีลักษณะ Melodrama มักเกี่ยวกับผู้หญิง ‘woman film’ นำเสนอมุมมองที่อ่อนไหว น่าสงสารเห็นใจ ปัญหาภายในครอบครัว ด้วยเทคนิคที่ดูไม่ค่อยสมจริงสักเท่าไหร่ เลยทำให้นักวิจารณ์สมัยนั้นมองข้ามไม่สนใจ บ้างเรียกว่า ‘bad taste’ แต่กลับประสบความสำเร็จทำเงินล้นหลาม, เป็นนักวิจารณ์ฝรั่งเศสของ Cahiers du cinéma เริ่มต้นจาก Jean-Luc Godard พบเห็นคุณค่า และกลายเป็นอิทธิพลสำคัญต่อยุคสมัย French New Wave
“…I am going to write a madly enthusiastic review of Douglas Sirk’s latest film, simply because it set my cheeks afire”.
Jean-Luc Godard เกริ่นนำในบทความวิจารณ์ A Time to Love and a Time to Die (1958)
ความสำเร็จของ Magnificent Obsession (1954) ทำให้สตูดิโอ Universal-International เรียกร้องผู้กำกับ Sirk สรรค์สร้างโปรเจคถัดมาที่เป็นการประกบคู่ระหว่าง Rock Hudson และ Jane Wyman โดยได้เลือกนวนิยายความรักต่างวัย All That Heaven Allows (1952) แต่งโดย Edna L. Lee (1890-1963) และสามี Harry Lee … ไม่แน่ใจนำจากชีวิตคู่ของพวกเขาเลยหรือเปล่านะ
ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Peg Fenwick นามปากกาของ Margaret ‘Peg’ McCray (1907-87) นักเขียน/ดัดแปลงบท ชาวอเมริกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ Whirlpool of Desire (1939), All That Heaven Allows (1955) ฯ
เกร็ด: ชื่อนวนิยายได้แรงบันดาลใจจากบทกวี Love and Life ประพันธ์โดย John Wilmot, 2nd Earl of Rochester (ค.ศ. 1647 – 80) กวีชาวอังกฤษ และข้าราชบริพารของ King Charles II
All my past life is mine no more,
The flying hours are gone,
Like transitory dreams giv’n o’er,
Whose images are kept in store
By memory alone.The time that is to come is not;
How can it then be mine?
The present moment’s all my lot;
And that, as fast as it is got,
Phyllis, is only thine.Then talk not of inconstancy,
False hearts, and broken vows;
If I, by miracle, can be
This live-long minute true to thee,
’Tis all that Heav’n allows.
แม่หม้าย Cary Scott (รับบทโดย Jane Wyman) อาศัยอยู่เมืองเล็กๆ Stoningham, New England ร่วมกับบุตรชาย-สาว ที่ต่างเติบใหญ่เป็นวัยรุ่น เนื่องจากอดีตสามีเป็นคนมีหน้ามีตาในสังคม รู้จักผู้คนแวดวงชนชั้นสูง เลยมีนักธุรกิจ เพื่อนชายสูงวัย พยายามเกี้ยวพาราสี แสดงความสนใจอยากสู่ขอแต่งงาน แต่กลับยังไม่มีใครเป็นที่พึงพออกพอใจ จนกระทั่งพบเจอคนสวน Ron Kirby (รับบทโดย Rock Hudson) นักรุกขกร (Arborist) ตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ แม้ต่างชนชั้นฐานะ อายุก็ห่างกันไม่น้อย แต่กลับชื่นชอบถูกชะตา พาไปแนะนำให้รู้จักเพื่อนฝูง แวดวงกรรมาชน ที่ดูมีชีวิตชีวา มีความซื่อสัตย์จริงใจ ไม่มีใครสวมหน้ากากเข้าหากัน
Ron ตัดสินใจสู่ขอแต่งงาน แต่ Cary ตระหนักว่านั่นอาจไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด เพราะเธอกลัวเสียงซุบซิบนินทา (Gossip) ไม่ได้รับการยอมรับจากผู้คน ถูกสังคมตำหนิครหา รวมไปถึงบุตรชาย-สาว เข้ากันไม่ได้กับสามีใหม่ จนแล้วจนรอดความหวาดระแวงก็กลายเป็นจริง มิอาจอดรนทนกลั้นฝืนกล้ำกลืนบอกเลิกรา
แต่หลังจากกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน Cary ก็ค่อยๆตระหนักการตัดสินใจนั้นผิดพลาด เพราะบุตรชาย-สาว ต่างเติบใหญ่กำลังจะออกจากบ้าน ส่วนเพื่อนฝูงก็มีอยู่แค่ไม่กี่หน่วยคน จะไปมัวสนคำซุบซิบนินทาเหล่านั้นอยู่ใย แต่จะให้หวนกลับไปหา Ron ก็ยังขี้ขลาดเขลา กลัวการเสียหน้า จนกระทั่ง…
Jane Wyman ชื่อจริง Sarah Jane Mayfield (1917 – 2007) นักร้อง/นักแสดง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Saint Joseph, Missouri หลังพ่อ-แม่หย่าร้าง อาศัยอยู่กับครอบครัวบุญธรรม ระหว่างเรียนมัธยมค้นพบความชื่นชอบร้องเพลง จัดรายการวิทยุ มุ่งหน้าสู่ Hollywood เริ่มจากเป็นตัวประกอบ เข้าตาแมวมองเซ็นสัญญา Warner Bros. เมื่อปี 1936 ผลงานช่วงแรกๆส่วนใหญ่เป็นหนังเกรดบี จนกระทั่งความสำเร็จของ The Lost Weekend (1945) ทำให้ได้รับโอกาสสำคัญๆอย่าง The Yearling (1946), Johnny Belinda (1948)**คว้า Oscar: Best Actress, ผลงานเด่นๆ อาทิ The Blue Veil (1951), Magnificent Obsession (1954), All That Heaven Allows (1955) ฯ
รับบท Cary Scott แม่หม้ายยังสวย แต่งงานตั้งแต่อายุ 17 ปี บุตรชาย-สาวล้วนเติบโตเป็นวัยรุ่น ไม่เคยครุ่นคิดแต่งงานใหม่ แต่ถูกใครต่อใครโน้มน้าว เกลี้ยกล่อมเกลา มีนักธุรกิจ ชายสูงวัย พยายามเสนอตัวเข้ามา แต่กลับตกหลุมรักคนสวน Ron หลงใหลในความซื่อสัตย์ จริงใจ ตรงไปตรงมา ไม่เสแสร้งสร้างภาพ แต่นั่นก็สร้างปัญหาเพราะความแตกต่างทางอายุและชนชั้นฐานะ ทำให้แวดวงของเธอไม่ยินยอมรับ เต็มไปด้วยคำครหานินทา แถมยังถูกลูกๆปฏิเสธหัวชนฝา
ผมยังไม่เคยรับชมผลงานคว้า Oscar ของ Wyman เลยเทียบไม่ได้ว่ายอดเยี่ยมระดับไหน แต่ความรู้สึกส่วนตัวหลงใหลประทับใจบทบาทนี้มากๆ เต็มไปด้วยมิติ หลากหลายอารมณ์ ความสับสน ขัดแย้งแย้งในจิตใจ โหยหาความรักแต่มิอาจทอดทิ้งสักสิ่งอย่าง เลยต้องสูญเสีย ทนทุกข์ทรมาน จนกระทั่งได้เรียนรู้ว่าสิ่งสำคัญสูงสุดคือตัวเราเอง รอยยิ้มตอนจบถือเป็นประสบการณ์ชีวิต สุข-ทุกข์ หวาน-ขม คลุกเคล้าคราบน้ำตา
ส่วนของการแสดงที่ผมประทับใจสุดคือการวางตัว อากัปกิริยาเล็กๆเมื่อเข้าร่วมงานเลี้ยง ทั้งแวดวงชนชั้นสูงและกรรมาชน ต่างดูนอกคอก ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของฝั่งฝ่ายไหน เว้นเพียงเมื่อเต้นระบำร่วมกับแฟนหนุ่ม ราวกับทำให้เธอค้นพบสรวงสวรรค์ ดินแดนแห่งความเพ้อใฝ่ฝัน แต่กว่าจะก้าวไปสู่จุดนั้นด้วยตนเอง ก็ต้องผ่านบททดสอบที่ต้องทนทุกข์ทรมานไม่น้อยทีเดียว!
Rock Hudson ชื่อจริง Roy Harold Scherer Jr. (1925-85) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Winnetka, Illinois ครอบครัวหย่าร้างเพราะยุคสมัย Great Depression ช่วงวัยรุ่นค้นพบความชื่นชอบในภาพยนตร์ เพ้อฝันอยากเป็นนักแสดง แต่ไม่สามารถท่องจำบทเลยพลาดโอกาสสำคัญๆมากมาย, อาสาสมัครทหารเรือในสงครามโลกครั้งที่สอง ประจำเรือขนส่งเครื่องบิน SS Lew Wallace หลังปลดประจำการมุ่งสู่ Los Angeles เข้าตาแมวมอง Henry Wilson เปลี่ยนชื่อให้เป็น Rock Hudson (มาจากสองคำ Rock of Gibraltar และ Hudson River) สมทบภาพยนตร์เรื่องแรก Fighter Squadron (1948), จากนั้นเซ็นสัญญา Universal-International ค่อยๆสะสมประสบการณ์ ได้รับบทนำ Scarlet Angel (1952), ร่วมงานครั้งแรกกับ Douglas Sirk เรื่อง Taza, Son of Cochise (1954), แจ้งเกิดโด่งดังจาก Magnificent Obsession (1954), ผลงานเด่นๆ อาทิ All That Heaven Allows (1955), Giant (1956), Written on the Wind (1956), Pillow Talk (1959) ฯ
รับบท Ron Kirby ชายหนุ่มใหญ่ โสด อาศัยอยู่ตัวคนเดียว เป็นนักรุกขกร (Arborist) ระหว่างรับงานตัดแต่งต้นไม้ในสวนของ Cary ได้รับคำชักชวนให้จิบชา พูดคุยสนทนา บังเกิดความประทับใจกันและกัน เลยชักชวนไปเที่ยวบ้าน พบเห็นวิถีชีวิตที่แตกต่าง แต่กลับยิ่งทำให้เธอลุ่มหลงใหล เลยตัดสินใจสู่ขอแต่งงาน
การแสดงของ Hudson น่าประทับใจขึ้นมากๆๆๆกว่า Magnificent Obsession (1954) หลายเท่าตัวเลยละ! นอกจากภาพลักษณ์สูงใหญ่ คมเข้ม ยังมีมาดสุภาพบุรุษ ลูกผู้ชาย เป็นตัวของตนเอง เปี่ยมด้วยความเชื่อมั่นใจ ไม่ดูเก้งก้างอีกต่อไป (ปกปิดความเป็นเกย์ได้อย่างมิดชิด) และเมื่อต้องสูญเสียคนรัก สามารถแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างเจ็บปวด รวดระทม เอ่อล้นออกมาจากภายใน
บทบาทนี้จักพัฒนากลายเป็น ‘ภาพจำ’ ติดตัวของ Hudson หนุ่มใหญ่ หล่อล้ำ ผิวคล้ำ หน้าหวาน ‘matinee idol’ ทำให้สาวๆกรี๊ดลั่น ตกหลุมรักหลงใหล และมักแสดงด้านอ่อนแอออกมาจากภายใน (การเป็นเกย์ของ Hudson ทำให้เขาเข้าใจตัวละครที่ต้องปกปิดซุกซ่อนเร้นบางสิ่งอย่าง/ความอ่อนแอไว้ภายใน แสดงออกมาได้อย่างสมจริงยิ่งกว่านักแสดงร่วมสมัยคนอื่นๆ)
ถ่ายภาพโดย Russell Metty (1906-78) ตากล้องสัญชาติอเมริกัน เริ่มจากผู้ช่วยห้องแลป Standard Film Laboratory ในสังกัด Paramount Pictures ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ จากนั้นออกมาเป็นช่างภาพของ Universal Studios และกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Douglas Sirk ผลงานเด่นๆ อาทิ Bringing Up Baby (1938), Magnificent Obsession (1954), All That Heaven Allows (1956), Written on the Wind (1956), Imitation of Life (1959), Spartacus (1961)**คว้า Oscar: Best Cinematography, Color
The angles are the director’s thoughts. The lighting is his philosophy.
Douglas Sirk
‘สไตล์ Sirk’ แทบทั้งหมดถ่ายทำในสตูดิโอ มีการจัดองค์ประกอบฉากภายในเต็มไปด้วยรายละเอียด สิ่งข้าวของเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ ประดับประดาด้วยต้นไม้/ดอกไม้ ลวดลาย สีสันสวยสดใส ผิดกับฉากภายนอกที่มักใช้ Rear Projecter ดูจอมปลอม หลอกลวง (แต่ถ้าถ่ายมุมกว้างไม่เห็นใบหน้านักแสดง ก็จะเป็นหน้าที่ของกองสอง-สาม ทำให้รายละเอียดดูมีความสมจริงอยู่บ้าง)
ช่วงทศวรรษ 50s การมาถึงของ Technicolor สร้างความหลงใหล ประทับใจให้ผู้กำกับ Sirk หลังจากทดลองผิดลองถูกกับ Taza, Son of Cochise (1954) [เห็นว่าถ่ายทำด้วยระบบ 3D ด้วยนะ] ก็ค้นพบวิถีทางที่จะนำเสนอภาพสี ทำอย่างไรถึงจะออกมาให้ดูดี มีความชอุ่มชุ่มชื่น (lush color) ซึ่งก็เริ่มต้นจาก Magnificent Obsession (1954) ถือเป็นเรื่องที่ทำให้ ‘สไตล์ Sirk’ พัฒนามาถึงจุดสูงสุด!
มุมกล้องในหนังของผู้กำกับ Sirk ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนมากมาย แทบทั้งนั้นถ่ายจากด้านหน้า มุมมองเหมือนละครเวที ซิทคอม Soap Opera (เพราะส่วนใหญ่ถ่ายทำในสตูดิโอ) แต่จะไปโดดเด่นเรื่องการจัดแสง สีสัน และเงามืด สร้างบรรยากาศที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึก/ปรัชญาของผู้สร้าง
หลายคนอาจสงสัยว่าหนังไปถ่ายทำฉากภายนอกยังเมือง Stoningham, New England หรืออย่างไร? แท้จริงแล้วสถานที่แห่งนี้ชื่อว่า Colonial Street หมู่บ้านที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับใช้เป็นฉากถ่ายทำภาพยนตร์โดยเฉพาะ อยู่ในอาณาจักรของ Universal Studios Lot ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ Uncle Tom’s Cabin (1927) โน่นเลยละ!
เกร็ด: ภาพยนตร์/ซีรีย์ดังๆที่ถ่ายทำยังสถานที่แห่งนี้ อาทิ Harvey (1950), The Burbs (1989), Casper (1995), Psycho (1998), Deep Impact (1998), Buffy the Vampire Slayer (1999), Desperate Housewives (2004-2012) ฯลฯ

ชีวิตของ Cary Scott ส่องเข้าไปในกระจกเงา พบเห็นสีหน้าอันเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย โหยหาใครสักคนสำหรับพึ่งพักพิงอยู่เคียงข้างกาย เพราะลึกๆเข้าไปภายในนั้นมีเพียงภาพสะท้อนบุตรชาย-สาว ที่ต่างเติบโตเป็นวัยรุ่น ใกล้ถึงเวลาออกจากบ้าน ทอดทิ้งเธอให้หลงเหลือตัวคนเดียว เปล่าเปลี่ยวหัวใจ
กระจก คือสัญลักษณ์สะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจตัวละคร ซึ่งฉากนี้ก็คือภาพของ Cary และลูกๆทั้งสอง ช่วงต้นเรื่องก็เพียงเท่านั้นแหละ (กิ่งใบไม้ที่ Ron ตัดมาให้ เพียงวางอยู่เคียงข้าง ยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของภาพสะท้อนในกระจก)


ในห้องนอนของ Cary สังเกตว่าจะมีแสงสีน้ำเงินที่เด่นชัดมากๆ (น่าจะเป็นแสงจากภายนอกสาดส่องเข้ามาทางหน้าต่าง) ให้ความรู้สึกหนาวเหน็บ เย็นยะเยือก สื่อถึงความโดดเดี่ยว อ้างว้างก็ได้เช่นกัน ซึ่งจะตัดกับชุดเดรสแดงแรงฤทธิ์ แสดงถึงความเซ็กซี่ เร่าร้อน ต้องการใครบางคนเติมเต็มตัณหา สิ่งขาดหายไปจากอุรา
การใช้สีของผู้กำกับ Sirk ถือว่ามีพัฒนาการฉูดฉาดขึ้นจาก Magnificent Obsession (1954) ซึ่งเรื่องนี้จะพบเห็นแดง-น้ำเงิน ขาว-ดำ มืด-สว่าง สองขั่วตรงข้ามสะท้อนความแตกต่าง (ทางมุมมอง ทัศนคติ แวดวงชนชั้น ฯ)

งานเลี้ยงเต้นรำในแวดวงไฮโซ สังเกตว่าบุรุษสวมสูทโก้หรู สตรีใส่เดรสเจิดจรัส (ไม่ซ้ำสีกันด้วยนะ) สถานที่มีความโอ่อ่า หรูหรา แต่เลือกใช้โทนสีน้ำเงิน สื่อถึงความเยือกเย็นชา สนทนาอย่างดัดจริต สร้างภาพเหมือนยี่หร่าผู้อื่น แต่แท้จริงกลับไม่ใคร่สนอะไรใครนอกจากตนเอง
การสร้างภาพให้แวดวงไฮโซในลักษณะนี้ เป็นการแสดงทัศนคติในแง่ลบ โจมตีอย่างรุนแรง เหมือนพยายามอคติ ชี้ชักนำผู้ชมให้รู้สึกว่ากลุ่มคนเหล่านี้ดูกะล่อนปลิ้นปล้อน ดัดจริต สร้างภาพ อัปลักษณ์เกินทน … เอาจริงๆมันไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น แค่ถูก ‘dramatize’ เพื่อแบ่งแยกซ้าย-ขวา ชนชั้นสูง-ต่ำ ออกจากกันให้เห็นภาพชัด

เรื่องของความรักไม่เกี่ยงกับอายุ (Jane Wyman แก่ว่า Rock Hudson แค่ 7 ปีเท่านั้น!) ซึ่งหนังก็นำเสนอความแตกต่างระหว่างแม่-ลูก(สาว) การแสดงออกของคนสองรุ่นที่ก็แตกต่างตรงกันข้าม (ความสูง-ต่ำ ของคู่รักพวกเธอก็เช่นกัน)
- ขณะที่แม่พยายามรักษาหน้า สร้างภาพให้ดูดี (ด้วยการไม่จุมพิตกับ Harvey) ผิดกับบุตรสาว ทีแรกพยายามพูดคำอวดฉลาด แต่พอแฟนหนุ่มโน้มตัวลงจูบ ก็ไม่ได้ขัดขืนต่อต้าน
- แม่ยื้อยักๆ สองจิตสองใจที่จะแต่งงานใหม่ บุตรสาวของเธอเพียงอายุ 17 ตอบตกลงแต่งงานกับแฟนหนุ่มเรียบร้อยแล้ว โดยเหมือนจะไม่ครุ่นคิดอะไรให้วุ่นวายใจ

วินาทีที่ Cary ตอบตกลงจะไปเยี่ยมชมบ้านของ Bob ภาพช็อตนี้เหมือนมุมกล้องเงยขึ้นเล็กๆ สามารถสะท้อนถึงชัยชนะ (ของ Bob) ถือเป็นความสำเร็จแรกที่จะเริ่มต้นสานสัมพันธ์ฉันท์ชาย-หญิง … เป็นช็อตเล็กๆที่บอกใบ้ว่า Bob ก็มีความสนใจ Cary อยู่เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้เสื้อสีเลือดหมูของ Bob ล้อกับเดรสแดงของ Cary ที่สวมใส่ยามราตรี (ตรงกันข้ามฉากนี้ พวกเขาพบเจอกันตอนกลางวัน) สะท้อนถึงต่างฝ่ายต่างกำลังมองหาใครบางคน ที่สามารถเคียงข้าง แต่งงาน ใช้ชีวิตครองคู่อยู่ร่วมกัน … หนังจะซ่อนเร้นสิ่งที่กลับตารปัตรตรงกันข้ามนี้อยู่เรื่อยๆนะครับ

นี่อาจดูเหมือนภาพมุมกว้างทั่วๆไปของบ้านเล็กในป่าใหญ่ แต่สองสามครั้งที่พบเห็นช็อตภายนอกลักษณะนี้ มันให้ความรู้สึกแปลกๆตา ดูฟุ้งๆ เบลอๆ เหมือนปรับภาพให้หลุดโฟกัส เพื่อสร้างความรู้สึกเหมือนฝัน จินตนาการ เพราะสถานที่แห่งนี้จักคือรังรัก ดินแดนที่ Cary ขวนขวายไขว่คว้า อยากมาพักอยู่อาศัย ครองคู่แต่งงานกับ Bob แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะพันธนาการมากมายฉุดเหนี่ยวรั้งเธอไว้
หนังของผู้กำกับ Sirk มักจงใจถ่ายฉากภายนอกให้ดูปลอมๆ ไม่สมจริง ผิดธรรมชาติ ด้วยเหตุผลอย่างที่บอกไป เพื่อให้ผู้ชมตระหนักถึงความแตกต่างเกี่ยวกับชีวิตจริง vs. ภาพยนตร์

จุมพิตแรกระหว่าง Cary กับ Bob ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว นั่นเพราะเงาของชายหนุ่มอาบฉาบใบหน้าแม่หม้ายสาว แสดงถึงอิทธิพลของเขาที่แผ่ปกคลุม สร้างความลุ่มหลงใหล แม้ดูเร่งรีบร้อนไปหน่อย แต่เธอก็ไม่ปฏิเสธขัดขืน (เหมือนนักธุรกิจคนนั้นในงานเลี้ยงแวดวงไฮโซ) ยินยอมปล่อยตัวกายใจ ให้ล่องลอยไปตามสันชาตญาณ แต่เมื่อถอนริมฝีปาก หวนกลับมามีสติ ค่อยๆครุ่นคิด แล้วเริ่มตระหนักถึงอะไรหลายๆอย่าง

หลังกลับจากบ้านสวน Cary นั่งบรรเลงเปียโน (บทเพลง Liszt: Consolation No. 3) พร้อมเห็นภาพสะท้อนบนแท่นวางกระดาษโน๊ต (Sheet Music) ใบหน้าของเธอกำลังครุ่นคิด วิตกจริต ทบทวนเหตุการณ์บังเกิดขึ้น พื้นหลังคือผ้าม่านสะท้อนความจนปัญญา ไม่สามารถหาหนคำตอบให้ตนเอง นี่ฉันจะทำอะไรยังไงต่อไปดี

Walden ชื่อเต็มๆ Walden; or, Life in the Woods (1854) หนังสือแนว transcendentalist ของ Henry David Thoreau (1817-62) นักเขียน นักกวี นักปรัชญา ผู้นำแนวคิด Transcendentalism ปฏิเสธสังคมที่เต็มไปด้วยความคอรัปชั่น เชื่อว่าการพึ่งพาตนเอง ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย อาศัยอยู่กับธรรมชาติ คือวิถีทางแห่งอิสรภาพอย่างแท้จริง
The mass of men lead lives of quiet desperation. Why should we be in such desperate haste to succeed? If a man does not keep pace with his companions, perhaps it is because he hears a different drummer. Let him step to the music which he hears, however measured… or far away.
ผมรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้อาจคือแรงบันดาลใจของนวนิยาย All That Heaven Allows เพราะเนื้อหาสาระเหมือนต้องการแนะนำให้ผู้อ่าน เลือกใช้ชีวิตอย่างสันโดษ อยู่ร่วมกับธรรมชาติ หลบหนีจากแวดวงสังคมที่เต็มไปด้วยการสร้างภาพ มีแต่ความโป้ปด พูดคำหลอกลวง จิตใจคนเหล่านั้นช่วงกลวงโบ๋ อัปลักษณ์พิศดาร

งานเลี้ยงในแวดวงกรรมาชน (กลับตารปัตรกับแวดวงไฮโซ) สังเกตว่าแสงสีน้ำเงินยามค่ำคืน(และสายลมพัดแรง)จะพบเห็นอยู่เพียงด้านนอกเท่านั้น ส่วนภายในจะเต็มไปด้วยความอบอุ่นของโทนสีเหลือง-ส้ม ผู้คนกำลังโยกเต้น ครื้นเครงด้วยเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม ไม่มีใครเสแสร้งสร้างภาพ คิดอะไรก็พูดออกมาตรงๆ ซื่อสัตย์บริสุทธิ์จริงใจ ใช้ชีวิตอย่างอิสรภาพอย่างแท้จริง
แซว: ล็อบสเตอร์ สำหรับชนชั้นกรรมชีพถือเป็นอาหารสุดหรูหรา ราคาแพง จุดสูงสุดที่พวกเขาสามารถขวนขวายไขว่คว้ามารับประทาน (แต่สำหรับไฮโซ นี่เป็นอาหารหาทานได้ทั่วๆไป ไม่ได้เลิศหรูอะไรสักเท่าไหร่)

Sequence ที่ถือว่ามีความเป็น ‘Cinematic’ เต็มไปด้วยภาษาภาพยนตร์มากสุดของหนัง คือระหว่าง Bob ตัดสินใจสู่ขอแต่งงาน ตระเตรียมรังรักแห่งนี้ คาดหวังว่า Cary จะยินยอมตอบตกลงแล้วมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน แต่เธอก็แสดงสีหน้าสับสน ว้าวุ่นวายใจ ไม่ค่อยแน่ใจว่าความรักระหว่างเราจะเป็นไปได้หรือไม่
จากที่ทั้งสองหันหน้าเข้าหากองไฟ แสงสว่างอันอบอุ่นอาบฉาบบนใบหน้า แต่พอหลังจาก Bob พูดบอกขอแต่งงาน Cary เดินมาตรงหน้าต่างซึ่งเต็มไปด้วยความหนาวเหน็บของสีน้ำเงิน และความมืดมิดเข้าปกคลุมพวกเขาทั้งสอง เช่นกันกับขณะจุมพิตราวกับจำต้องปกปิด ซุกซ่อนเร้น หวาดกลัวการเปิดเผยความสัมพันธ์ดังกล่าวสู่สาธารณะ


ชุดกระเบื้อง ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความสัมพันธ์ระหว่าง Bob กับ Cary
- เริ่มต้นพบเจอกระเบื้อง โถ ถ้วยแก้ว กระจัดกระจายไปทั่ว
- สะท้อนความสัมพันธ์ที่ยังไม่เป็นรูปร่าง เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นเอง
- Bob นำเศษกระเบื้องมาปะติดปะต่อจนมีสภาพเหมือนใหม่
- สัญลักษณ์ของการสานความสัมพันธ์ ทำบางสิ่งอย่างเป็นรูปเป็นร่างให้เธอ (แต่เหมือนว่าเขาจะเร่งรีบร้อนไปหน่อยนะ)
- Cary ปัดตกแตกจนไม่หลงเหลือเศษชิ้นดี
- ความคาดหวังที่แตกร้าว ล่มสลาย ทำลายความสัมพันธ์ของกันและกัน (จะมองเป็นความไม่ได้ตั้งใจก็ได้เช่นกัน)

ฉากนี้จบลง ณ ตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างความหนาวเหน็บจากหิมะภายนอก (สีน้ำเงิน) และความอบอุ่นจากเตาผิงภายใน (สีเหลือง-ส้ม) สะท้อนความสัมพันธ์ของทั้งคู่ที่มีทั้งสุข-ทุกข์ ร้อน-หนาว หวาน-ขม ติดแหงกอยู่ตรงกึ่งกลาง ไม่รู้จะหาหนทางออกความสัมพันธ์เช่นไร

ปฏิกิริยาของบุตรชาย Ned เมื่อรับรู้ว่ามารดาจะแต่งงานใหม่ ยินยอมรับได้ถ้าเป็นคนแก่กว่า หรืออยู่ในแวดวงเดียวกัน แต่พอบุคคลนั้นคือคนสวน Cary ก็แสดงอาการต่อต้าน ขัดขืน ซับซ้อนยิ่งขึ้นด้วยปม Opedius Complex (ที่น้องสาวเคยวิเคราะห์ไว้) เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยาว่าที่พ่อใหม่ พยายามทำทุกอย่างเพื่อเรียกร้องความสนใจจากแม่
นี่เป็นฉากหลังจาก Cary กลับมาจากงานเลี้ยงแวดวงไฮโซ (ต้องการเปิดตัว Bob แต่ประสบความล้มเหลว) บุตรชายเฝ้ารอคอยมารดาอยู่ตรงประตู พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยเงามืด และช็อตสุดท้ายก่อนหนีออกจากบ้าน แผ่นกั้นแบ่งแยกทั้งสองออกจากกัน


ปฏิกิริยาของบุตรสาว Kay เข้าไปในห้องของเธอ พบเห็นกระจกสาดแสงสีรุ้งอาบฉาบตัวละครทั้งสอง … เอาจริงๆผมครุ่นคิดไม่ตกว่ามันสื่อถึงอะไร นี่ไม่ใช่ฉากเกี่ยวกับสีสันของชีวิต แต่คือความเจ็บปวดรวดร้าวทางจิตใจของทั้งแม่-ลูก เล่าถึงเสียงซุบซิบนินทา ข่าวลือเสียๆหายๆ ทั้งรู้ว่าไม่ใช่ความจริงแต่ก็มิอาจยินยอมรับไหว สังคมช่างเต็มไปด้วยความเหี้ยมโหดร้าย (หรือสีรุ้งสะท้อนปฏิกิริยาผู้คนในสังคมที่แตกต่างกันไป รึป่าวนะ?)
สำหรับ Cary วินาทีนี้ไม่สามารถอดรนทนสิ่งบังเกิดขึ้นกับลูกๆของตนได้อีกต่อไป (แสงสีรุ้งอาจสะท้อนความครุ่นคิดที่เปลี่ยนแปลงไปของเธอ) จึงต้องครุ่นคิดตัดสินใจอะไรบางอย่าง


นั่นคือ Cary ขับรถฝ่าพายุหิมะ เพื่อไปบอกเลิกรากับ Bob สังเกตว่าฉากนี้จะไม่มีแสงสีอบอุ่นจากเตาผิง และใบหน้าตัวละครทั้งสอง มักจะถูกปกคลุมด้วยความมืดมิด ไม่ก็แสงสีน้ำเงิน สะท้อนจิตใจที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว หนาบเหน็บถึงทรวงใน ต่างฝ่ายต่างไม่อยากเลิกรา แต่ก็มิอาจขัดขืนความแตกต่างของโชคชะตา


ภายหลังการบอกเลิกรา วิถีชีวิตของ Cary ก็หวนกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง รับฟังคำพร่ำบ่นของเพื่อนสนิท Sara แต่เธอกลับไม่สามารถทนเสียงเครื่องดูดฝุ่น (ของแม่บ้าน) จนต้องผลักปิดประตูด้านหลัง … นี่เป็นฉากเล็กๆที่แฝงนัยยะถึงการที่ผู้คน/ตัวละคร เมื่อมิอาจอดรนทนต่อเสียงเห่าหอน การซุบซิบนินทา วิธีการแก้ปัญหานั้นแสนง่ายดาย ก็คือปิดประตู ไม่รับฟังมัน เท่านั้นเอง!

Because it’s supposed to be the last refuge for lonely women?
Cary Scott
Cary พยายามหลีกเลี่ยงการซื้อโทรทัศน์มาโดยตลอด เพราะครุ่นคิดว่านั่นคือหนทางออกสุดท้ายของหญิงโสด แต่กลับเป็นบุตรชาย ที่ซื้อมาเป็นของขวัญวันคริสต์มาส แล้วกล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าไปจนพบเห็นภาพสะท้อนบนจอตู้ ทำให้เธอตระหนักว่าที่อุตสาห์เสียสละ(เป็นโสดเพื่อลูกๆ) แม้งไร้สาระทั้งเพ! และทั้งสองก็กำลังจะออกจากบ้าน ตระเตรียมตัวไปมีชีวิตของตนเอง แถมแนะนำให้ขายทิ้ง (แล้วก่อนหน้านี้มึงจะพูดว่า ถ้าขายบ้านทิ้งแล้วเราอยู่ที่ไหน ทำเหียไร!)
จะว่าไปการเคลื่อนกล้องเข้าหาโทรทัศน์ พยากรณ์อนาคตที่สไตล์/ไดเรคชั่นของหนังเรื่องนี้ จะกลายเป็นต้นแบบให้กับละครน้ำเน่า ‘Soap Opera’ เรื่องราว Melodrama ที่ได้รับความนิยมล้นหลาม(ทางโทรทัศน์)มาจนถึงปัจจุบัน


หลังจาก Cary รับรู้ว่า Bob ประสบอุบัติเหตุ เธอจึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะมาปักหลักอาศัยอยู่บ้านหลังนี้ โดยมีเจ้ากวางน้อยจับจ้องมองจากด้านนอกด้วยความใคร่รู้ใคร่สงสัย (Reindeer ของ Santa Clause คือสัญลักษณ์ของการเดินทาง ขอให้ปลอดภัย พบเจอโชคดีมีชัย ‘Bon Voyage’) และเมื่อเขาฟื้นตื่นขึ้นมาเห็นเธอ พูดคำ “You’ve come home”. กล้องค่อยๆเคลื่อนไปด้านหลัง อนาคตของพวกเขายังคงหนาวเหน็บ แต่กลับเต็มไปด้วยความอบอุ่น (ในวันขึ้นปีใหม่) เบิกบานหฤทัย (แล้วเจ้ากวางน้อยก็กระโดดออกจากเฟรมไป)
เจ้ากวางน้อยตัวนี้มันแย่งซีนไปเต็มๆเลยนะ! ฉากจบที่กลายเป็น ‘Iconic’ ทั้งของหนังเรื่องนี้และผู้กำกับ Sirk ทดแทนความตั้งใจดั้งเดิมที่ต้องการให้ Bob เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ก็มิอาจขัดต่อข้อเรียกร้องของสตูดิโอ จึงจำต้องลงเอยด้วยความ Happily Ever After

ตัดต่อโดย Frank Gross (1905-60) ในสังกัด Universal Studios มีโอกาสร่วมงานผู้กำกับ Douglas Sirk อยู่สองสามครั้ง ผลงานเด่นๆ อาทิ All That Heaven Allows (1955), Operation Petticoat (1959) ฯ
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Cary Scott ตั้งแต่เริ่มช่วงฤดูใบไม้ร่วง พานผ่านคริสต์มาส และ(น่าจะ)ถึงวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่เริ่มให้ความสนใจคนสวน Ron Kirby จนกระทั่งตกลงปลงใจอาศัยอยู่ร่วม โดยไม่สนคำครหาของใครผู้ใดอีกต่อไป
ผมขอแบ่งเรื่องราวของหนังออกเป็นสามองก์ด้วยกัน
- วิถีชีวิต แวดวง ความแตกต่างระหว่างชนชั้น
- แนะนำตัวละคร Cary, Ron
- แวดวงชนชั้นสูง
- งานเลี้ยงของไฮโซ มีแต่การโอ้อวด สร้างภาพ พูดจาถากถาง มารยาสารพัด
- นักธุรกิจคนหนึ่งพยายามใช้กำลัง บีบบังคับเพื่อขอ Cary แต่งงาน แต่เธอไม่ยินยอมพร้อมใจเลยสักนิด!
- ส่วนชายอีกคนอายุค่อนข้างมาก แต่มีมารยาท พิธีรีตอง สนเพียงทำทุกสิ่งอย่างให้ถูกต้องตามครรลอง
- แวดวงกรรมาชน
- Ron ชักชวนมาที่บ้านของตน แต่เขาอาศัยหลับนอนอยู่ในโรงกระจก ใช้ชีวิตอย่างไร้ความวิตกกังวลใดๆ
- อีกครั้งหนึ่ง Ron ชักชวน Cary มาร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่บ้านเพื่อนสนิท พบเห็นทุกคนต่างใช้ชีวิตตามเสียงเพรียกเรียกร้องของหัวใจ ไม่มีอะไรให้ต้องเสแสร้ง สร้างภาพ ครุ่นคิดอะไรก็เปิดเผยออกมา แม้แรกๆจะทำให้เธอรู้สึกผิดที่ผิดทางไปบ้าง แต่ไม่นานก็สามารถปล่อยตัวกายใจ เพลิดเพลินไปกับอิสรภาพแห่งชีวิต
- Ron สู่ขอแต่งงาน Cary และอุปสรรค์ที่พวกเขาต้องฟันฝ่า
- Ron นำพา Cary มายังโรงบด (millstone) ที่กำลังปรับปรุงให้กลายเป็นรังรัก แล้วสู่ขอแต่งงาน
- Cary นำพา Ron ไปแนะนำกับลูกๆ และแวดวงชนชั้นสูง แต่ได้เสียงตอบรับไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่
- การต่อต้านของลูกๆทำให้ Cary มิอาจอดรนฝืนทน จึงตัดสินใจบอกเลิกรากับ Ron
- การตระหนักรู้ของ Cary
- เทศกาลคริสต์มาสกำลังมาถึง แต่กลับไม่มีใครกลับบ้านในค่ำคืนคริสต์มาสอีฟ ถึงอย่างนั้น Cary ก็ได้มีโอกาสหวนกลับมาพบเจอ Ron ต่างยังคงโหยหากันและกัน
- เมื่อวันคริสต์มาสมาถึง Cary ก็ตระหนักได้ว่าลูกๆทั้งสองกำลังจะจากไป แล้วที่ฉันอุตส่าห์จะเสียสละตนเอง เพื่ออะไร?
- อุบัติเหตุเกิดขึ้นกับ Ron ทำให้ Cary ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ ไม่สนคำเห่าหอนของใครอีกต่อไป
การดำเนินเรื่อง ‘สไตล์ Sirk’ จะใช้เทคนิค Cross-Cutting ทุกครั้งระหว่างการเปลี่ยนฉาก ซึ่งจะสร้างความต่อเนื่องที่ลื่นไหลราวกับสายน้ำ แม้ซีนนั้นจะมีเพียงภาพช็อตเดียวก็ตาม เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ล่องลอยไป ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเวลาเคลื่อนพานผ่านนานสักเท่าไหร่ … หนังของ Sirk ให้ความรู้สึกเหมือนไม่ยาว แต่รายละเอียดยิบๆย่อยๆ เยอะโคตรๆ
เพลงประกอบโดย Frank Skinner (1897-1968) สัญชาติอเมริกัน ทำงานในสังกัด Universal Studios ขาประจำของผู้กำกับ Douglas Sirk ผลงานเด่นๆ อาทิ Mad About Music (1938), Son of Frankenstein (1939), Arabian Nights (1942), Harvey (1950), Imitation of Life (1959) ฯ
‘สไตล์ Sirk’ ไม่นิยมเรียกร้องขอ Original Soundtrack นิยมเลือกบทเพลงคลาสสิกมีชื่อ มาเรียบเรียงดัดแปลงใหม่ นั่นเพราะเขาต้องการสร้างความมักคุ้น เหมือนเคยได้รับฟัง สัมผัสถึงความซ้ำซากจำเจอ (cliché) สอดคล้องกับเนื้อเรื่องราวเชยๆ การเแสดงเฉิ่มๆ พื้นหลังไม่แนบเนียน ทุกสิ่งอย่างดูจอมปลอม เพราะนี่คือการละคอน/ภาพยนตร์ อย่านำมาสับสนกับชีวิตจริง
โดยหน้าที่เพลงประกอบ ‘สไตล์ Sirk’ ก็เพื่อบีบเค้นคั้น บดขยี้อารมณ์ ขยายโสตประสาทของผู้ชม ให้สามารถเข้าถึงความรู้สึกตัวละครขณะนั้นๆ ซึ่งความมักคุ้นเคยในท่วงทำนอง จักสร้างสัมผัสบรรยากาศ พื้นหลังของเรื่องราวได้โดยอัตโนมัติ (ยกตัวอย่าง เมื่อได้ยินบทเพลง Joy to the World ก็จะเข้าถึงบรรยากาศเทศกาลคริสต์มาสได้โดยทันที)
มีหลายบทเพลงที่ผมพอคุ้นหูอยู่บ้าง แต่ขี้เกียจตั้งใจหาอย่างจริงจัง ที่ดังๆได้ยินเป็นประจำจะมี
- Liszt: Consolation No. 3 in D-flat major, S.172
- Brahms: Symphony No. 1 in C minor, Op. 68, IV. Adagio
- Schumann: Fantasiestücke, Op. 12. ท่อนที่ 8: Warum?
- บทเพลง Joy to the World ต้นฉบับคำร้องโดย Isaac Watts (เขียนเมื่อปี ค.ศ. 1719) ซึ่งเป็นการเรียบเรียงจาก Psalm 98, เรียบเรียงเป็นบทเพลงครั้งแรกโดย Lowell Mason (เมื่อปี ค.ศ. 1848)
นำเอาบทเพลง Consolation No. 3 ฉบับบรรเลงโดย Lang Lang ตีความบทเพลงของ Liszt ได้ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่ง (Lang Lang มี Liszt เป็นไอดอลตั้งแต่เด็ก คือแรงบันดาลใจทุ่มเททั่งชีวิตให้กับการเล่นเปียโน อัลบัมนี้เลยตั้งชื่อว่า Liszt – My Piano Hero (2011))
ตามหลักศาสนาคริสต์ว่าไว้ ความรักเป็นสิ่งไม่มีอายุ ชนชั้นวรรณะ เชื้อชาติพันธุ์ (เอาจริงๆก็น่าจะรวมถีงเพศสภาพด้วยสินะ!) แต่คนส่วนใหญ่ล้วนไม่สามารถ/ปฏิเสธทำความเข้าใจ พยายามสรรหาข้ออ้างเหตุผล พูดคำดูถูก สายตาหมิ่นแคลน แสดงออกพฤติกรรมหยามเหยียด เพื่อเป็นการยกตนข่มท่าน ฉันมีความเลิศหรูสูงส่งเหนือกว่ายัยนั่น เรียกร้องให้สังคมขับไล่ ผลักไส กีดกัน แม่มดต้องถูกเผารุมประชาทัณฑ์
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม จีงต้องการอยู่ร่วมกับผู้อื่น โหยหาการยินยอมรับ พิสูจน์คุณค่าของตนเอง แต่แท้จริงแล้วนั่นคือเรื่องไร้สาระทั้งเพ! มันไม่มีความจำอะไรที่เราต้องพิสูจน์การมีตัวตน เรียกร้องให้ผู้อื่นยินยอมรับ อยากทำอะไรก็ทำ (อย่าไปสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นเป็นพอ) ชีวิตเต็มไปด้วยอิสรภาพ เพียงจิตใจ(ของเรา)ที่พยายามกักขังหน่วงเนี่ยวตัวเราเอง
มนุษย์ไม่ชอบความแตกต่าง! ตั้งแต่กายภาพ สีผิว เชื้อชาติพันธุ์ และมโนภาพ ความครุ่นคิด ทัศนคติ การเมือง ฯ เพราะมันเป็นสิ่งแบ่งแยก สร้างความแตกหักให้สังคม ประเทศชาติ ยินยอมรับเฉพาะพวกเผ่าพงษ์พันธุ์ เข้าใจอะไรๆเหมือนๆกัน มิตร-ศัตรู จำเป็นต้องต่อสู้ กำจัดอีกฝั่งฝ่าย ไม่ยินยอมให้อยู่เคียงชิดใกล้ (กลัวการถูกทรยศหักหลัง)
ชนชั้นวรรณะก็เฉกเช่นเดียวกัน เพราะต่างฝ่ายต่างมีวิถีชีวิต แนวความคิด โลกทัศนคติที่แตกต่างออกไป ถ้าจับมานั่งพูดคุยสนทนา ก็ไม่มีทางสื่อสารเข้าใจ นานๆครั้งถีงจะมีใครบางคนเปิดอกยินยอมรับฟัง ไแต่บุคคลนั้นก็มักถูกตีตราว่าร้าย กลายเป็นพวกหัวขบถ นอกรีต และมักโดนขับไล่ ผลักไสส่ง มิอาจหวนกลับมารวมกลุ่ม เป็นพรรคพวกเดียวกันอีกต่อไป
การจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต มุมมอง/ทัศนคติ เป็นสิ่งที่ต้องใช้ความเชื่อมั่น หาญกล้า พร้อมเผชิญหน้าความเสี่ยง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิดถ้าครุ่นคิดจะก้าวออกมาจากสถานที่ปลอดภัย ‘safe zone’ แต่เมื่อไหร่สามารถกระทำได้สำเร็จ มันราวกับการเปิดโลกทัศน์ ถือกำเนิดใหม่ (ก้าวออกมาจากกะลาครอบ) ชีวิตพบเจอความสดชื่น เบิกบาน ไม่ต้องทนกับความซ้ำซากจำเจอีกต่อไป
ถือเป็นความโชคดีของคนยุคเรา ที่โลกได้พัฒนาการเรื่องราวความรัก มาถีงจุดที่คนส่วนใหญ่มีสิทธิ์เลือกคู่ครองด้วยตนเอง ไม่จำเป็นต้องสนเสียงหมูหมากาไก่ ขี้เหม็นปากคำพูดผู้อื่นใด สามารถตอบสนองตัณหา ความพีงพอใจของเราสอง รักกันชอบกัน อยากจะร่วมรักเพศสัมพันธ์ ไม่มีอะไรใครไหน สามารถกีดกั้นขวางได้อีกต่อไป
All That Heaven Allows เอาจริงๆมันไม่ใช่สวรรค์บันดาล พระเจ้าอนุญาต แต่ขี้นอยู่กับตัวเราเองล้วนๆจะสามารถครุ่นคิดเข้าใจ ‘ตัวกูของกู’ กล้าเปลี่ยนแปลงตนเอง กระทำสิ่งตอบสนองความต้องการ/พีงพอใจ ไม่ต้องสนใครว่าอะไร เชื่อมั่นในความรู้สีก/สันชาตญาณ สำเร็จ-ล้มเหลวให้เป็นเรื่องอนาคต ทำปัจจุบันวันนี้ให้ดีที่สุดก็เพียงพอแล้วละ
สำหรับผู้กำกับ Douglas Sirk ในบทสัมภาษณ์หนี่งที่ผมอ่านเจอ รู้สีกว่าเขาแอบเปรียบเทียบ Heaven กับสตูดิโอ Universal ที่อนุญาตให้สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้โดยไม่ก้าวก่ายไดเรคชั่น ถ่ายภาพ ตัดต่อ เพลงประกอบ (สามารถคง ‘สไตล์ Sirk’ ได้สมบูรณที่สุด) ซี่งเขาก็ยินยอมเล่นตามกฎกติกามารยาท (เช่นตอนจบแบบ Happy Ending) แค่นั้นก็มีความซาบซี้ง พีงพอใจมากๆๆๆแล้วละ
At least I was allowed to work on the material—so that I restructured to some extent some of the rather impossible scripts of the films I had to direct. Of course, I had to go by the rules, avoid experiments, stick to family fare, have ‘happy endings,’ and so on. Universal didn’t interfere with either my camera work or my cutting—which meant a lot to me.
Douglas Sirk
เข้าฉายช่วงเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งถือว่าเข้ากับบรรยากาศหนังมากๆ เลยสามารถทำเงินในสหรัฐอเมริกา $3.1 ล้านเหรียญ (ไม่มีรายรับทั่วโลก) ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยเลยละ
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (digital restoration) คุณภาพ 2K โดย Criterion Collection แต่งานค่อนข้างหยาบ ยังมีรอยขีดข่วนหลงเหลืออยู่พอสมควร และเสียงยังคงเป็น Mono แค่ลดเสียงรบกวน ไม่ได้ปรับปรุงให้มีคุณภาพดีขึ้นสักเท่าไหร่
สิ่งที่ผมโคตรหลงใหลของภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือไดเรคชั่นผู้กำกับ Sirk เต็มไปด้วยลีลาที่พบเห็นแล้วบังเกิดความเพลิดเพลินใจ ละเมียดละไม วิจิตรศิลป์ ขณะที่เนื้อหาสาระ(สำหรับผมแล้ว)ไม่ได้มีสลักสำคัญสักเท่าไหร่ แต่ก็ถือว่าทรงคุณค่า สร้างประโยชน์สาธารณะ
รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้หวนระลึกถึง Ali: Fear Eats the Soul (1974) ผลงานชิ้นเอกของ Rainer Werner Fassbinder ที่ได้แรงบันดาลใจจาก All That Heaven Allows (1955) ด้วยการพัฒนาเรื่องราวให้มีความเข้มข้น สมจริง รุนแรงยิ่งขึ้นกว่าเก่า (นำเสนอความรักระหว่างหญิงสูงวัย กับชายหนุ่มผิวสี ไม่ใช่แค่ความแตกต่างทางอายุและชนชั้น แต่ยังเชื้อชาติพันธุ์ที่รุนแรงกว่ามากๆ) แต่ทั้งสองเรื่องต่างมีลีลานำเสนอเฉพาะตัว ระหว่าง ‘สไตล์ Sirk’ vs. ‘สไตล์ Fassbinder’ ผมเลือกไม่ได้ว่าคลั่งไคล้เรื่องไหนมากกว่า (ฝั่งโลกสวยคงชื่นชอบ All That Heaven Allows, แต่คนด้านมืดน่าจะคลั่งไคล้ Ali: Fear Eats the Soul)
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” โดยเฉพาะหนุ่ม-สาว คู่รัก ไม่จำเป็นต้องมีความแตกต่างทางชนชั้น (คู่ธรรมดาๆทั่วไปก็รับชมได้) ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเสี้ยมสอนแนวคิด อย่าไปหมกมุ่นครุ่นยึดติด สนใจขี้ปากของใครรอบข้าง เรื่องครอบครัว ชีวิตคู่ ล้วนขึ้นอยู่กับตัวเรา จะไปฟังเสียงเห่าหอน หมาเห่าใบตองแห้งอยู่ทำไม
จัดเรต pg กับปฏิกิริยาน่าขยะแขยงของคนบางกลุ่ม
Leave a Reply