All That Jazz

All That Jazz (1979) hollywood : Bob Fosse ♥♥♥♥

ความจริง-ความฝัน ปัจจุบัน-อดีต-อนาคต คือสิ่งที่กระจัดกระจายอย่างไร้แบบแผน ในหนังเพลงรางวัล Palme d’Or ของผู้กำกับ Bob Fosse แบบเดียวกับ 8½ (1963) ของ Federico Fellini, เรื่องราวกึ่งอัตชีวประวัติของผู้กำกับที่พยายามสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ให้ประสบความสำเร็จ ต่างกันที่ 8½ นำเสนอวิกฤตทางความคิดสร้างสรรค์ (สมอง) ส่วน All That Jazz ทำการผ่าตัดเปิดอก (หัวใจ)

Bob Fosse คือผู้กำกับในตำนาน คนแรกคนเดียวที่สามารถคว้ารางวัล Best Director จาก 3 สถาบันใหญ่ของอเมริกา Oscar, Emmy, Tony แถมในปีเดียวกันด้วย
– Oscar: Best Director จากหนังเรื่อง Cabaret (1972)
– Emmy: Outstanding Directorial Achievement in Comedy. Variety or Music จากเรื่อง Liza with a Z (1972)
– Tony: Best Direction of a Musical และ Best Choreography จากเรื่อง Pippin (1972)

ทั้งชีวิตกำกับภาพยนตร์เพียง 5 เรื่องเท่านั้น ทุ่มความสนใจส่วนใหญ่ให้กับละครเพลง ซึ่ง Fosse ยังเป็นนักออกแบบท่าเต้นที่สามารถคว้ารางวัล Best Choreography จาก Tony Awatd ได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ถึง 8 ครั้ง จากการเข้าชิงทั้งหมด 12 ครั้ง

ช่วงกลางยุค 70s, Fosse สร้างภาพยนตร์ลำดับที่ 3 เรื่อง Lenny (1974) ช่วง post-production ในห้องตัดต่อ เขามีความหงุดหงิดไม่พอใจในคุณภาพงาน ทำให้ตัดหนังซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกระทั่งงานสร้างละครเพลง Chicago (1975) ได้เริ่มต้นขึ้น ทำให้ต้องทำงานหลายๆอย่างไปพร้อมกันอย่างบ้าคลั่ง จนต้องแยกอยู่กับภรรยา (แต่ไม่ได้หย่า) มีชู้ และเคยหามเข้าโรงพยาบาลเพราะโหมงานหนังเกินไป

ปี 1979, Fosse ได้นำเอาประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองในช่วงเวลาดังกล่าว พัฒนาขึ้นเป็นโปรเจคภาพยนตร์กึ่งอัตชีวประวัติเรื่องใหม่ (ลำดับที่ 4) ร่วมเขียนบทโดย Robert Alan Aurthur ตั้งชื่อหนังว่า All That Jazz ‘ทุกอย่างในชีวิตมันก็มีแค่นี้เอง’

It’s showtime, folk!

Joe Gideon กำลังคัดเลือกนักเต้น เพื่อแสดงในละครเพลงชุดใหม่ เริ่มต้นจากคนเต็มเวที ค่อยๆลดลงเรื่อยๆ จนเหลือ final candidate สุดท้ายไม่กี่คน, ฉากนี้เล่าเรื่องโดยใช้ภาพ การตัดต่อ และเพลงประกอบ มีลักษณะเหมือน Music Video ภาพประกอบเพลง/เพลงประกอบภาพ, เราสามารถมองฉากนี้เป็นใจความสำคัญของหนังได้เลย (จากมีทุกสิ่งอย่างมากมายจนเหลือไม่กี่อย่าง, จากประสบความสำเร็จจนล้มเหลว)

บทเพลง On Broadway (1963) แต่งโดย Barry Mann กับ Cynthia Weil ขับร้องโดย George Benson เคยไต่อันดับ US Billboard Hot 100 สูงสุดที่ 9, บทเพลงแนว Soul จิตวิญญาณแห่งความฝัน ใช่ว่าทุกคนจะได้รับโอกาสหรือประสบความสำเร็จ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ถูกรับเลือก ส่วนใหญ่ก็ต้องกลับบ้านมือเปล่า พยายามต่อไป

Joseph ‘Joe’ Gideon เป็นผู้กำกับ นักออกแบบท่าเต้น ละครเพลง/ภาพยนตร์ ที่ติดหญิง, ติดยา, ติดเหล้า, ติดบุหรี่ (บุหรี่ถือเป็นสัญลักษณ์แทนเวลาของชีวิต การเผาไหม้ที่ค่อยๆหมดไป เมื่อเหลือแต่ก้นบุหรี่ก็ทิ้งลงพื้น เหยียบย่ำให้ไฟ/ชีวิตดับสิ้น) เรียกว่าด้านมืดทุกอย่างในชีวิต หมอนี่รับเข้าตัวเองหมด,

รับบทโดย Roy Scheider (1932 – 2008) นักแสดงชาวอเมริกัน ผู้ยิ่งใหญ่แต่โคตรอาภัพ ตลอดชีวิตไม่เคยได้รางวัลการแสดงอะไรกับเขาเลย เข้าชิง Oscar 2 ครั้ง จากบทนำหนังเรื่องนี้ และนักแสดงสมทบใน The French Connection (1971) มีชื่อเสียงประสบความสำเร็จที่สุดกับ Jaws (1975) จนได้เล่นภาคต่อ Jaws 2 (1978)

เดิมนั้นบท Joe Gideon ตกเป็นของ Richard Dreyfuss แต่ได้ถอนตัวออกไปในขณะซักซ้อมเตรียมการแสดง เพราะรู้สึกว่าโปรดักชั่นหนังไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไหร่ (แต่ภายหลังออกมาให้สัมภาษณ์ว่า คิดผิดที่ถอนตัว) เมื่อ Scheider เข้ามา ได้สร้างความลุ่มลึกให้กับตัวละครนี้ยิ่งขึ้นไปอีก (คงเพราะ Scheider และ Bob Fosse มีความคล้ายๆกันด้วยละ จึงแสดงออกมาได้เข้มข้นขนาดนี้)

Angel of Death หญิงสาวในชุดสีขาว ชื่อ Angelique (รับบทโดย Jessica Lange) ที่ชอบขอให้ Gideon เล่าเรื่องโน่นนี่นั่นให้ฟัง ด้วยความเจ้าชู้ของ Gideon เหมือนว่าเขาจะตกหลุมรักเธอคนนี้ แต่ไม่สามารถครอบครองได้ (เพราะถ้าได้เป็นเจ้าของเมื่อไหร่ก็เท่ากับ จุดจบของชีวิต) แล้วเธอปรากฎตัวมาได้ยังไง? เราสามารถเปรียบฉากพวกนี้เหมือนนิมิต ภาพแฟนตาซีอนาคตของเขาหลังจากที่เสียชีวิต/โลกหลังความตาย ที่เธอปรากฎตัวตั้งแต่ต้นเรื่องเพราะหนังเรื่องนี้ อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ความจริง-ความเพ้อฝัน เกิดขึ้นได้พร้อมๆกัน (มันเลยไม่แปลกที่เราจะเห็นตัวแทนของความตายตั้งแต่ต้นเรื่อง)

Jessica Lange นักแสดงสาวสัญชาติอเมริกา เป็นหนึ่งในคนที่ได้ Triple Crown of Acting (คือได้รางวัลการแสดงจากสามสถาบันของอเมริกา Oscar, Emmy, Tony) มีผลงานแจ้งเกิดคือ King Kong (1976) กับบทบาท Angel of Death ดูไม่มีอะไรมาก แต่มีความยั่วเย้าด้วยท่าทาง สายตา คำพูด เชื้อเชิญให้ Gideon หลงใหลในตัวเธอ แต่เมื่อเวลายังมาไม่ถึงจึงไม่สามารถครอบครองซึ่งกันและกันได้, เห็นว่า Bob Fosse เขียนบทนี้เพื่อเธอโดยเฉพาะ โดยได้แรงบันดาลใจจาก Joan McCracken ภรรยาคนที่ 2 ที่เสียชีวิตไปเมื่อนานมาแล้ว (เสียชีวิตตั้งแต่ปี 1959 นี่กระมังที่คือเหตุผลให้ตัวละคร Gideon ดูจงเกลียดจงชังโลกนี้จังเลย)

ถ่ายภาพโดย Giuseppe Rotunno ตากล้องในตำนานชาวอิตาลี ที่เคยทำงานเป็นขาประจำกับ Federico Fellini และ Luchino Visconti อาทิ Rocco and His Brothers (1960), The Leopard (1963), Amarcord (1973) ฯ ผมเชื่อว่าถ้า Gianni Di Venanzo ตากล้องที่ถ่าย 8½ ไม่ด่วนเสียชีวิตจากไปเสียก่อน คงได้ร่วมงานกับ Bob Fosse เป็นแน่

แทบทุกฉากของหนังถ่ายทำภายใน ทำให้สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวกล้อง, ทิศทาง, การจัดฉาก, จัดแสงได้ง่าย ฯ ซึ่งทุกฉากจะต้องมีสีดำเป็นองค์ประกอบหลัก (แน่ละหนังเกี่ยวกับด้านมืดของมนุษย์)

เทคนิคการสังเกตฉากไหนเป็นโลกความจริง/ฉากไหนอยู่ในความฝันจินตนาการ (ของ Gideon) ให้มองหาความสมเหตุสมผลของฉากนั้น ถ้าคุณรู้สึกว่านี่โน่นนั่นเกิดขึ้นได้ยังไง มาจากไหน ขาดความสมจริง นั่นคือฉากแฟนตาซีในจินตนาการของตัวละครแน่

เทคนิคเพิ่มเติมสำหรับคนที่ดูหนังเป็น ให้สังเกตการจัดแสงของหนัง ถ้าภาพเบลอๆ แสงจ้าๆ นั่นคือความฝัน/ความทรงจำ, ถ้าสีเข้มๆ ภาพคมชัด นั่นคือโลกความจริง, แต่มันจะมีอยู่ฉากหนึ่งที่ความจริงกับความฝันเหมือนจะเหลื่อมกันอยู่ บทเพลง Take Off With Us ในช่วง Air-otica มีการพ่นควัน ภาพมัวๆ แสงเบลอๆ นั่นเปรียบเสมือน ความฝันของ Fosse ที่กลายเป็นการแสดง (ในโลกความจริง)

ต้องถือว่า Take Off With Us คือ Masterpiece ในการออกแบบท่าเต้นของ Bob Fosse เลยนะครับ จริงอยู่มันติดเรต แต่คือความจำเป็นที่ต้องปลดเปลื้องทุกอย่างออก เพื่อให้เห็นการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ทุกสัดส่วนในร่างกาย, ความเปลือยเปล่าของร่างกายภายนอก คือสัมผัสที่จะทำให้เรามองเห็นสิ่งที่อยู่ภายใต้เนื้อหนัง ทุกท่วงท่าการเคลื่อนไหวราวกับจะมองเห็นว่า สิ่งที่อยู่ข้างในของนักเต้น/ผู้ออกแบบท่า เป็นคนเช่นไร คิดอะไรอยู่ (ฉากนี้ยังมีนัยยะถึง ชีวิตมันก็แค่เปลือกนอก สิ่งสำคัญนั้นอยู่ภายใน)

ซึ่งหลังจากจบเพลงนี้ Gideon เดินเข้าไปถามเหล่าโปรดิวเซอร์ ว่าผ่านหรือไม่ผ่าน, มีช็อตหนึ่ง ด้านหลังเป็นกระจกสะท้อนเห็นนักเต้นกำลังพักผ่อนจากการแสดง (กระจกมักจะสะท้อนสิ่งที่อยู่ในใจ/อีกโลกหนึ่ง) ที่พื้นมีเส้นสีแดงอยู่ตรงกลางภาพ และ Gideon กำลังเหยียบอยู่ (คาบเส้น), นัยยะของช็อตนี้คือ ‘cross the line’ การกระทำที่เกินขอบเขตการยอมรับได้ (หรือคือการผสมผสานระหว่างโลกความจริงกับความฝัน), นี่คือช็อตที่ผมชอบสุดในหนัง

มีอีกฉากหนึ่งที่ค่อนข้างน่าประทับใจ ขณะกำลังเตรียมงานอ่านบทละครเพลงให้ทีมงานฟัง เราจะเห็นภาพที่ทุกคนยิ้มร่า หัวเราะสนุกสนาน แต่จะไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย, Gideon เหมือนว่าจะไม่ได้ตั้งใจฟังด้วยซ้ำ เขาจุดบุหรี่ สูบจบหมด ทิ้งลงพื้นแล้วเหยียบ นี่แปลว่าสิ่งรอบข้างขณะนั้นไม่ได้มีความหมายอะไรต่อเขาเลย

ตัดต่อโดย Alan Heim ที่เคยร่วมงานกับ Bob Fosse เรื่อง Lenny (1974) ทั้งคู่ได้ทำการทดลองที่เรียกว่า ‘Fosse Time’ เหตุการณ์จริง-ในความฝันแฟนตาซี อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ทุกสิ่งอย่างเกิดขึ้นอย่างสะเปะสะปะคล้ายๆ 8½ (1963) ของ Federico Fellini คุณไม่จำเป็นต้องหาเหตุผลมีสาระมาอธิบายว่าทำแบบนี้ไปเพื่ออะไร เพราะมันคือ ‘feeling’ ความรู้สึก/อารมณ์ของผู้กำกับล้วนๆ คือสิ่งที่เรียกว่า ‘Fosse Time’ ซึ่งก็แตกต่างจาก 8½ ที่ได้รับการขานนามว่า ‘Felliniesque’

ผมรู้สึกว่า All That Jazz ดูค่อนข้างง่ายกว่า 8½ เพราะมีหลายอย่างที่เป็นข้อจำกัด จนกลายเป็นตัวช่วยให้ผู้ชมเข้าใจหนังได้ง่ายขึ้น, นั่นคือการนำเสนอด้วยบทเพลง ในชีวิตประจำวันคงไม่มีใครร้องรำทำเพลงแน่ๆบ้าคลั่งแบบนั้นแน่ ดังนั้นหลายๆฉากที่ดูแปลกเว่อเกินจริง เหล่านั้นเข้าใจได้เลยว่ามันต้องเป็นความฝันแฟนตาซี

มีไฮไลท์การตัดต่อที่ปรากฎแทรกอยู่เรื่อยๆ นั่นคือภาพชุดเช้าวันใหม่ของ Gideon หยอดตา กินยา อาบน้ำ มองกระจกพูดคำว่า It’s showtime, folk! และทุกครั้งจะมีเพลง Concerto for Strings in G major, RV 151 หรือ Concerto alla rustica ของ Antonio Vivaldi บรรเลงขึ้นด้วย, พฤติกรรมเหล่านี้ เปรียบได้กับวัฏจักรคลาสสิกของการเริ่มต้น/prologue ก่อนจะทำบางสิ่งบางอย่าง ถือเป็นการสร้างจังหวะให้กับการตัดต่อ

เกร็ด: Dexedrine คือยากระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ใช้เพื่อเพิ่มสมาธิให้กับคนจิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว (คนสมาธิสั้น) มีชื่อเล่นของยาชนิดนี้คือ ยาขยัน, ยาแก้ง่วง, ยาเพิ่มพลังและยาบำรุงกำลัง ฯ

เพลงประกอบโดย Ralph Burns ร่วมงานกับ Fosse ตั้งแต่ Cabaret (1972) หนังมีทั้งเพลงชื่อดังที่นำมาใช้ประกอบ และหลายเพลงแต่งขึ้นใหม่

ใน Sequence สุดท้ายหนัง Fosse นำเสนอ/พยากรณ์ ‘ความตาย’ ของตนเอง ด้วยบทเพลง Bye Bye Life (ดัดแปลงมาจากเพลง Bye Bye Love ของ Everly Brothers) ขับร้องโดย Ben Vereen กับ Roy Scheider คงเป็นความตั้ง’ใจ’ของผู้กำกับที่ว่า เมื่อตอนฉันกำลังจะตาย ขอเป็นแบบนี้แล้วกัน สวยสดใสเต็มที่กับชีวิต, เสื้อผ้า ฉาก ทุกสิ่งอย่างในฉากนี้มันเงาวาวสะท้อนแสง มีไฟ Disco ผู้คนมากมายเป็นกองเชียร์ (จะเห็นว่าเป็นคนรู้จักของเขาทั้งนั้น) ซึ่ง Gideon จับไมค์ร้องเพลงเองด้วย (ปกติเขาจะเป็นคนคอยกำกับการแสดงเฉยๆ ไม่มีฉากอื่นที่ร้องเพลงเอง) นี่แสดงถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมกับความฝัน/ความตาย ของตนเอง

การตายถือว่าเป็น Theme ของหนังที่มีการพูดถึง เสียดสี ล้อเล่น มาตั้งแต่ต้นเรื่อง โดยเฉพาะ 5 สถานะของคนที่กำลังจะตาย
– anger พอรู้ว่าตัวเองจะตาย เกิดความโกรธเกรี้ยว ไม่พอใจ หัวเสีย หงุดหงิด โวยวาย
– denial คนประเภทไม่ยอมรับความจริง ฉันยังไม่อยากตาย ไม่พร้อมจะตาย ร้ายแรงคือไม่เชื่อว่าตนเองกำลังจะตาย
– bargaining ดื้อรั้น ขัดขืน พยายามทำทุกอย่างเพื่อต่อลมหายใจ ขอมีชีวิตอีกหน่อยนะ มีหลายอย่างยังไม่ได้ทำเลย
– depression หดหู่ สิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก ชีวิตไร้ค่า ไม่มีประโยชน์ ไม่สนใจใคร เหม่อลอย (แล้ววิญญาณก็ออกจากร่างไป)
– acceptance สุดท้ายคือการปลงใจยอมรับได้ เพราะการตายคือสัจธรรมที่มนุษย์ทุกคนต้องเจอ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งต้องยอมรับได้ (ถ้าไม่ได้แล้วยังไง ก็ต้องตายอยู่ดี) คนใกล้ตาย เมื่อถึงสถานะนี้ก็จะหมดห่วง จากโลกไปด้วยความพึงพอใจ ไม่หลงยึดติดกับอะไร

การยอมรับความตายของ Gideon คือความต้องการของ Fosse เมื่อถึงคราฉันกำลังจะตาย ก็อยากให้ทุกคนรอบตัวให้กำลังใจเชียร์ (จะเห็นว่าไม่มีใครร้องไห้กับการจากไปเลย) เพราะเขากำลังจะได้ครอบครองหญิงสาวคนสุดท้ายที่สวยที่สุด

Fosse ถูกหามส่งโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 25 กันยายน 1987 ขณะกำลังทำละครเพลงเรื่อง Sweet Charity ก่อนที่จะเสียชีวิตลงคืนนั้น ด้วยโรคหัวใจ (heart attack) มีอดีตภรรยากุมมืออยู่ข้างกาย นี่แทบไม่ต่างจากหนังเลยนะครับ สิริอายุ 60 ปี

ผมนำบทเพลง Bye Bye Love (1957) มาให้ฟังแทนนะครับ จะได้ไม่สปอยเพลง เชื่อว่าหลายคนต้องเคยได้ยินแน่ เป็นแนว Rockabilly, Country, Rock and Roll แต่งโดย Felice Bryany กับ Diadorius Boudleaux Bryant (ทั้งสองเป็นสามีภรรยา) ขับร้องโดย Isaac Donald ‘Don’ Everly กับ Phillip ‘Phil’ Everly (Everly Brothers), ขึ้นสูงสุดอันดับ 2 บน US Billboard Pop Charts และนิตยสาร Rolling Stone จัดอันดับ 210 ในชาร์ท The 500 Greatest Songs of All Time

ใจความของ All That Jazz คือเรื่องราวกึ่งอัตชีวประวัติ ที่ทำการสำรวจ ‘จิตวิญญาณ’ ของผู้กำกับเอง, คำภาษาอังกฤษที่ผมเจอในบทความนักวิจารณ์หนึ่งถือว่าตรงมากๆ ‘spiritual autopsy’ (การชันสูตรจิตวิญญาณ) แต่ไม่ใช่ว่าดีขึ้นสวรรค์ ชั่วลงนรกนะครับ แค่นำเสนอการคิดทบทวนว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในชีวิต ไม่ได้ตัดสินว่าตายแล้วจะเป็นยังไงต่อไป

บทเพลง Life is Cabaret ในหนังเรื่อง Cabaret (1972) และชื่อหนังเรื่องนี้ All That Jazz ทำให้ผมเกิดความเข้าใจในปรัชญาชีวิตของผู้กำกับ Bob Fosse เขามองทุกสิ่งอย่างของมนุษย์คือการแสดง ทั้งเรื่องการงาน ความรัก ครอบครัว ฯ เหมือนว่ามันก็แค่เปลือกนอก ไม่ใช่ตัวตนแท้จริงของชีวิต … แล้วอะไรคือความจริงสำหรับเขา? คำตอบที่ผมสังเกตพบคือ ‘การตาย’ ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดบนโลกหนีความจริงนี้ได้พ้น แต่แทนที่จะวิ่งหนี Fosse เลือกเผชิญหน้า พูดคุย เล่นสนุกกับมัน รอคอยจนกว่าถึงวันเวลาได้พบสัจธรรมนี้ ชีวิตของเขาก็แค่ Cabaret, All That Jazz เท่านั้น

เกร็ด: คำว่า All That Jazz มาจากสำนวน and all that jazz แปลว่า และอื่นๆ (ฯ) หรือในภาษาละตินว่า et cetera

ด้วยทุนสร้าง $12 ล้านเหรียญ หนังทำเงิน $37.8 ล้านเหรียญ ได้กำไรพอสมควร, นอกจากรางวัล Palme d’Or เทศกาลหนังเมือง Cannes หนังยังได้เข้าชิง Oscar 9 สาขา ได้มา 3 รางวัล
– Best Picture (พ่ายให้กับ Kramer vs. Kramer)
– Best Director
– Best Actor (Roy Scheider)
– Best Writing, Screenplay Written Directly for the Screen
– Best Cinematography
– Best Film Editing **ได้รางวัล
– Best Art Direction **ได้รางวัล
– Best Costume Design **ได้รางวัล
– Best Music, Original Song Score and Its Adaptation or Best Adaptation Score

ตัวเต็ง Oscar ปีนั้นคือ All That Jazz ของ Bob Foose กับ Apocalypse Now ของ Francis Ford Coppola เป็นคู่มวยที่เจอกันอีกแล้ว หลังจากปี 1972 ที่ Cabaret กับ The Godfather แต่คราวนี้สงสัยเพราะ Oscar เบื่อหน้าทั้ง Fosse และ Coppola (คือทั้งคู่ต่างก็คว้า Oscar มาแล้ว) เลยตัดสินใจมอบให้ทางเลือกที่สามแทน

All That Jazz คือหนังเพลงเรื่องสุดท้ายที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Picture ในทศวรรษนั้น ซึ่งกว่าจะมีหนังเพลงเรื่องถัดมาต้องรออีกนานเลย, เรื่องถัดมาที่ได้เข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมคือ อนิเมชั่น Beauty and the Beast (1991) แต่ถ้าหนังคนแสดงก็ Moulin Rouge! (2001) [ระยะเวลา 22 ปี]

ตอนที่หนังออกฉาย Stanley Kubrick แสดงความเห็นว่า “best film I think I’ve ever seen”

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ ประทับใจในหลายๆบทเพลง/ท่าเต้น และการนำเสนอความบ้าคลั่งในวิธีท้าทายผู้ชมได้เป็นอย่างดี, แต่ผมชอบ 8½ มากกว่านะครับ

นี่เป็นหนังเหมาะสำหรับคนที่มีประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ค่อนข้างสูง ถึงจะมีโอกาสเข้าใจเทคนิค เหตุผลของการเล่าเรื่อง มองเห็นความสวยงามที่แปลกประหลาดของหนัง แนะนำว่าควรจะดู 8½ (1963) ให้เกิดความเข้าใจโดยกระจ่างแจ้งเสียก่อน จะทำให้คุณเข้าใจอะไรๆได้ง่ายขึ้นเยอะเลย

จัดเรต 18+ ภาพโป๊เปลือย บุหรี่ และความบ้าคลั่ง

TAGLINE | “All That Jazz คือ Masterpiece แห่งชีวิตของ Bob Fosse ที่ก็มีเพียงเท่านี้แหละ นำแสดงโดย Roy Scheider”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: