All the King’s Men (1949) : Robert Rossen ♥♥♡
นี่คือ Citizen Kane (1942) ฉบับการเมือง/เลือกตั้ง ดัดแปลงจากนวนิยายรางวัล Pulitzer Prize คว้าสาม Oscar รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี, ชายคนหนึ่งพบเห็นช่องทางการเมือง ไต่เต้าจนได้รับชัยชนะเลือกตั้ง แล้วค่อยๆตกต่ำเพราะผลแห่งการกระทำของตนเอง
ถึงจะบอกว่า All the King’s Men เปรียบได้กับ Citizen Kane ฉบับการเมือง/เลือกตั้ง แต่อย่าไปคาดหวังความยิ่งใหญ่อลังการเทียบเท่า เพราะมันแทบจะคัทลอก-วาง (Copy-Paste) ปรับเปลี่ยนแปลงแค่เนื้อหาฉากหลังเท่านั้นเอง
การที่ผู้ชม/นักวิจารณ์สมัยนั้น ต่างสรรเสริญเยินยอภาพยนตร์เรื่องนี้เหลือเกิน ถึงขนาดคว้า Oscar: Best Picture ผมได้ข้อสรุปว่า เพราะใครๆเพิ่งเริ่มตระหนักถึงอิทธิพลความสำคัญของ Citizen Kane เมื่อพบเห็นการโคลนนิ่งที่มีความตราตรึงทรงพลังใกล้เคียง เลยอยากปรับแก้ไขความผิดพลาดจากอดีต … และรู้สึกว่าปีนั้นการแข่งขันอ่อนมากๆด้วย ไม่มีหนัง Hollywood เรื่องไหนควรคู่หรืออยู่เหนือกาลเวลา โชคชะตาเลยมาลงเอย All the King’s Men
กาลเวลาทำให้คุณภาพหนังเสื่อมถดถอยลงมาก สาเหตุหลักๆเพราะถูกรัศมี Citizen Kane บดบังกลบมืดมิด จนแทบไม่มีใครพูดกล่าวถึงอีกสักเท่าไหร่ แต่เพิ่งได้โอกาสโหนกระแสเมื่อมีการสร้างใหม่ All the King’s Men (2006) โดยผู้กำกับ Steven Zaillian นำแสดงโดย Sean Penn, Jude Law, Kate Winslet, Mark Ruffalo ถึงดาราคุณภาพคับ แต่ได้เสียงตอบรับต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ถ้าคุณไม่ใช่แฟนเดนตายของนวนิยาย ก็ช่างหัวมันเถอะนะครับ
Robert Rossen (1908 – 1966) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City ครอบครัวเชื้อสาย Russian-Jewish พ่อเป็นแรบไบ ตั้งแต่เด็กมีความสนใจเล่นพูล (เป็นแรงบันดาลใจสร้าง The Hustler) เข้าเรียนต่อ New York University จบออกมาทำงานผู้จัดการละครเวที Off-Broadway รู้จักสนิทสนม John Huston, Elia Kaza, Joseph Losey, สู่วงการภาพยนตร์เป็นนักเขียน Marked Woman (1937), กำกับเรื่องแรก Johnny O’Clock (1947), ผลงานเด่นๆ All the King’s Men (1949) และ The Hustler (1961)
Rossen เคยเข้าร่วมพรรค American Communist Party ระหว่างปี 1937 – 47 ด้วยความเชื่อว่า
“The Party was dedicated to social causes of the sort that we as poor Jews from New York were interested in”.
– Robert Rossen
กระนั้นเมื่อรับเรียนรู้เบื้องหลังข้อเท็จจริงของพรรค ตัดขาดความสัมพันธ์เมื่อปี 1949 แต่ไม่วายโดนหมายเรียกของ House Un-American Activities Committee จนถูกขึ้นบัญชีดำ Hollywood Blacklist เมื่อปี 1951 ไม่สามารถหาการงานอะไรทำได้ เลือกตัดสินใจเปิดเผย 57 รายชื่อคนรู้จัก เพื่อตนเองขายผ้าหน้ารอด
สำหรับ All the King’s Men ต้นฉบับคือนวนิยายชื่อเดียวกัน แต่งโดย Robert Penn Warren (1905 – 1989) กวี นักเขียน/นักวิจารณ์ สัญชาติอเมริกัน ผู้บุกเบิกกลุ่มเคลื่อนไหว New Criticism, ร่วมก่อตั้งนิตยสาร The Southern Review และคว้ารางวัล Pulitzer Prize ถึงสามครั้ง
– Pulitzer Prize for the Novel สำหรับผลงาน All the King’s Men (1946)
– อีกสองครั้งคือ Pulitzer Prize for Poetry เมื่อปี 1958 และ 1979
เรื่องราวได้แรงบันดาลใจจาก Huey Pierce Long Jr. (1893 – 1935) นักการเมืองชื่อดัง ฉายา The Kingfish ผู้มีคำขวัญประจำใจ ‘Every Man a King’ เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐ Louisiana ระหว่างปี 1928-32 และได้รับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาตั้งแต่ 1932 จนกระทั่งถูกลอบสังหารเสียชีวิต 1935
ผู้กำกับ Robert Rossen มีความคลั่งไคล้นวนิยายเล่มนี้อย่างมาก น่าจะเพราะเรื่องราวดังกล่าวสะท้อนอุดมการณ์ของตัวตนเองขณะเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ ตัดสินใจควักเงินส่วนตัวจ่ายค่าลิขสิทธิ์และเริ่มต้นดัดแปลงบทรอไปก่อน จนกระทั่งสรรหาได้สตูดิโอ Columbia Picture อาสาออกทุนสร้างให้
เรื่องราวของ Jack Burden (รับบทโดย John Ireland) นักข่าวหนุ่มถูกส่งตัวไปติดตามสถานการณ์เลือกตั้งท้องถิ่นที่ Kanoma County พบเจอ Willie Stark (รับบทโดย Broderick Crawford) เหมือนเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต มั่นคงต่ออุดมการณ์เพื่อประชาชน ต้องการต่อสู้ซึ่งๆหน้าแต่ไม่วายพ่ายแพ้ย่อยยับเยิน! เรียนรู้สะสมประสบการณ์จนมองเห็นลู่หนทางเอาชนะ ค่อยๆไต่เต้าจนได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการรัฐ เพ้อใฝ่ฝันต้องการไปให้ถึงประธานาธิบดี แต่เบื้องหลังความจริงกำลังค่อยๆถูกเปิดเผย ก็อยู่ที่มุมมองผู้ชมต่อวิธีการของเขา ดี-ชั่ว ถูก-ผิด ประการใด
นำแสดงโดย William Broderick Crawford (1911 – 1986) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Philadelphia, Pennsylvania ครอบครัวเป็นนักแสดงเร่ แม่เคยสมทบหนัง Top Hat, Swing Time, ด้วยเหตุนี้เลยเขามีความใคร่สนใจด้านการแสดง ได้ทุนเข้าเรียน Havard University แต่บอกปัดเพื่อเข้าสู่วงการ เริ่มจากเป็นละครเวที จัดรายการวิทยุ Broadway ภาพยนตร์เรื่องแรก Woman Chases Man (1937), เรื่อยๆเปื่อยๆในบทสมทบหนังเกรด B จนกระทั่งคว้า Oscar: Best Actor จาก All the King’s Men (1949) ถึงได้รับการจดจำเสียที
รับบท Willie Stark ชายร่างใหญ่วัยกลางคน จากเคยหนักแน่นด้วยอุดมการณ์ เมื่อตระหนักทราบถึงความโง่เขลาเบาปัญญา ปรับเปลี่ยนแปลงความคิดอ่าน ใช้ทุกวิถีหนทางนำมาเพื่อชัยชนะการเลือกตั้ง ดี-ชั่วไม่ใช่สิ่งสำคัญ ขอแค่ให้ฉันได้ข้ออ้างผลประโยชน์ ถูกตราหน้าว่าเผด็จการก็ไม่เป็นไร!
แต่เดิมผู้กำกับ Rossen ตระเตรียมบทบาทนี้ไว้ให้ John Wayne แต่เจ้าตัวบอกปัดพร้อมส่งจดหมายด่ากลับ รับไม่ได้กับความชั่วช้าสามาลย์ของตัวละคร} ซึ่งในปีนี้ Wayne ยังมีโอกาสเข้าชิง Oscar: Best Actor จากเรื่อง Sands of Iwo Jima (1949) แต่ก็พ่ายให้กับ Broderick Crawford จากเรื่องนี้นี่แหละ!
Crawford ถือเป็นนักแสดงฝืมือที่ไม่ค่อยมีโอกาสสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่รับบทตัวตลกสร้างความขบขันจนกลายเป็น Typecast ครานี้พลิกบทบาทเลยขอทุ่มสุดตัว ไม่มีอะไรจะเสียอยู่แล้ว! ปรากฎว่าประสบความสำเร็จเกิดความคาดหมาย ทั้งภาพลักษณ์ Charisma พูดคำยากๆรัวๆ และพัฒนาการตัวละคร จากดีแท้บริสุทธิ์ค่อยๆหยาบกร้านแข็งกระด้าง ท้ายสุดกลายสภาพดั่งปีศาจ เย่อหยิ่งผยอง จองหองอวดอ้างดี ใช้ความเผด็จการเอามันทุกสิ่งอย่าง
เกร็ด: ว่ากันว่า Crawford ดื่มเหล้าเมากรึ่มๆก่อนเข้าฉาก ไม่ถึงขั้นเมามายแต่เพื่อให้ได้เข้าถึงตัวละครอย่างสมจริงที่สุด
John Benjamin Ireland (1914 – 1992) นักแสดงสัญชาติ Canadian เกิดที่ Vancouver แต่อพยพย้ายสู่ New York City ตั้งแต่เล็ก เรียนจบเกรด 7 แล้วออกมาทำงานช่วยเหลือครอบครัว ดิ้นรนไปเรื่อยๆจนกระทั่งตกหลุมรักการแสดง เริ่มจากละครเวที เซ็นสัญญาสตูดิโอ Fox สมทบหนังอย่าง My Darling Clementine (1946), Red River (1948), Joan of Arc (1948), โด่งดังพลุแตกกับ All the King’s Men (1949), แต่ได้รับการจดจำสูงสุดคงคือ Crixus เรื่อง Spartacus (1960)
รับบท Jack Burden นักข่าวหนุ่มหล่อไฟแรง แต่ยังขาดอุดมการณ์เป้าหมายในชีวิต จนกระทั่งได้พบเจอ Willie Stark เชื่อว่านี่แหละคือคนจริง! ผู้สามารถเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบ จึงให้ความส่งเสริมสนับสนุนผลักดัน แต่หลังจากได้ร่วมงานและถูกแก่งแย่งแฟนสาว Anne Stanton (รับบทโดย Joanne Dru) แม้ไม่พึงพอใจกลับมิสามารถขัดแย้งเห็นต่างอะไร เฝ้ารอคอยเวลาให้บางสิ่งอย่างบังเกิดขึ้น
แม้หนังจะเริ่มต้นที่ตัวละครนี้และใช้เสียงบรรยายดำเนินเรื่อง แต่บทบาทจะค่อยๆเลือนลางจนกลายเป็นเพียงตัวประกอบสมทบ ใบหน้าอันหล่อเหลาของ Ireland ก็ไม่ช่วยอะไร เพียงความดื้อด้านรั้นหัวชนฝา ทั้งๆรู้ว่าผิดแต่ก็ไม่คิดปรับเปลี่ยนแปลงตัดสินใจ ลื่น(ปลา)ไหลไปตามบทบาท และหยอกเย้าเข้าขา Mercedes McCambridge เป็นอย่างดี
Carlotta Mercedes Agnes McCambridge (1916 – 2004) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน ผู้กำกับ Orson Welles ให้คำนิยามว่า ‘the world’s greatest living radio actress’ เกิดที่ Joliet, Illinois ครอบครัวเชื้อสาย Irish นับถือ Roman Catholic โตขึ้นเข้าเรียน Mundelein College จบออกมาเป็นนักพากย์วิทยุ ละครเวที Broadway แสดงโทรทัศน์ และภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด All the King’s Men (1949) คว้ารางวัล Oscar: Best Supporting Actress, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Johnny Guitar (1954), Giant (1956) ฯ
รับบท Sadie Burke แรกเริ่มเป็นผู้ช่วยหาเสียงของ Willie Stark เต็มไปด้วยความเบื่อหน่ายเพราะรับรู้ว่ายังไงก็ไม่ชนะ แต่หลังจากพบเห็นการเปลี่ยนแปลงคาดไม่ถึง ได้ทำงานเลขานุการส่วนตัว รับรู้เบื้องหลังความจริง ลึกๆคงอยากหลบหนีไปให้ไกล แต่ตระหนักรู้ตัวได้ว่าเซ็นสัญญากับปีศาจ ย่อมมิอาจหลุดรอดพ้น
วันที่ McCambridge มาทดสอบหน้ากล้อง ถูกทิ้งให้นั่งรอคอยหลายชั่วโมงจนหงุดหงิดหัวเสีย ด่ากราดโปรดิวเซอร์แล้วกลับบ้านไป วันถัดมาถูกเรียกตัวบอกว่าได้รับบท!
จริตของ McCambridge เป็นอะไรที่ชวนชมดีแท้ ถึงใบหน้าไม่สวย(ว่าไปดูเหมือน Judy Garland)แต่รวยเสน่ห์ จัดจ้าน ร่านแรง และน้ำเสียงมีลีลาเฉพาะตัว ทำเหมือนไม่แคร์ยี่หร่าแต่ครุ่นคิดหน้าหลังเข้าใจสถานการณ์เป็นอย่างดี
ถ่ายภาพโดย Burnett Guffey (1905 – 1983) สัญชาติอเมริกัน เจ้าของสองผลงาน Oscar: Best Cinematography เรื่อง From Here to Eternity (1953) และ Bonnie and Clyde (1967) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ All the King’s Men (1949), In a Lonely Place (1950), Birdman of Alcatraz (1962) ฯ
งานภาพของหนังรับอิทธิพลเต็มๆจาก Citizen Kane (1942) ทั้งการจัดแสงเงากลิ่นอายนัวร์ ทิศทางมุมกล้อง องค์ประกอบภาพสะท้อนจิตวิทยาตัวละคร รวมถึงการรวบเร่งรัดเรื่องราวด้วยการร้อยเรียงฟุตเทจข่าว ฯ
หนุ่ม-สาว พรอดรักกอดจูบต่อหน้ารูปภาพอันใหญ่โตของบิดาด้านหลัง ถ่ายมุมเงยขึ้นสะท้อนถึงอิทธิพลครอบงำ ทั้งๆเสียชีวิตจากไปแล้วแต่คนรุ่นหลังยังต้องเงยหน้ามอง ขวนขวายไขว่คว้าความสำเร็จให้ได้เท่าเทียมบรรพบุรุษเคยกระทำมา
ฉากนี้คือตอน Willie Stark ตระหนักถึงทุกสิ่งที่ตนเองกระทำมาก่อนหน้านี้ ไม่ต่างอะไรจากสวนสนุก ของเด็กเล่น หาได้รับรู้เข้าใจธาตุแท้จริงของเกมการเมือง ที่ต่างเล่นสกปรก สรรหาสารพัดวิธีซกมก เพื่อให้ได้รับชัยชนะเลือกตั้ง สำคัญเหนือกว่าสิ่งอื่นใดในปฐพี
ขณะที่ Jack Burden และ Sadie Burke ได้เพียงเกาะบันไดจับจ้องมองอยู่ห่างๆ บนเวทีมุมเงยขึ้น Willie Stark ได้ค้นพบตัวเอง ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำหน้า ไม่อีกแล้วจะยอมเป็นหุ่นเชิดให้คนยืนข้างหลังควบคุมชี้ชักนำ
การยกเท้าขึ้นวางบนโต๊ะระดับเดียวกับศีรษะ มักสื่อถึงการกระทำดูหมิ่นเหยียบหยามผู้อื่น แต่ขณะเดียวกันสามารถมองว่า สิ่งดี-ชั่ว สูง-ต่ำ มีความเท่ากันในสังคม สะท้อนเข้ากับวิถีทางของตัวละครนี้ ฉันพร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้มาด้วยชัยชนะ!
ว่าไปตำแหน่ง/ทิศทาง หันหน้าของตัวละคร ล้วนมีนัยยะสำคัญเช่นกัน อย่างช็อตนี้สามตัวละครหันหน้าไปทางซ้ายอย่างพร้อมเพียงคือเห็นพ้อง ขณะที่ Jack Burden คนเดียวเท่านั้นครุ่นคิดเห็นต่าง เลยหันไปอีกด้านหนึ่งเผชิญหน้ากับพวกเขา
นี่เป็นช็อตที่ใครๆน่าจะตระหนักได้ทันทีว่าคือ Citizen Kane-like ถ่ายมุมเงย พบเห็นตัวละคร และรูปภาพขนาดใหญ่โตประดับพื้นหลัง แสดงถึงพลังอำนาจ ความยิ่งใหญ่ และชัยชนะที่มาจากการเลือกตั้ง
และที่ขาดไม่ได้คือ Xanadu-like คฤหาสถ์อันกว้างใหญ่โต แต่กลับให้สัมผัสอันเวิ้งว้างว่างเปล่า นั่นคือตำแหน่งสูงสุดของโลก ‘ยิ่งสูงยิ่งหนาว’ ขี่หลังเสือแล้วไม่สามารถก้าวลงได้ จำต้องตะเกียกตะกายปีนป่ายขึ้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดเรี่ยวแรงสิ้นลมหรือกลิ้งตกเขา ยกธงขาวยินยอมรับความพ่ายแพ้
ตัดต่อโดย Al Clark หลังจากเรียบเรียงทุกสิ่งอย่างเข้าด้วยกันได้ความยาว 250 นาที พยายามแล้วแต่ไม่สามารถตัดทอนไปมากกว่านี้ สตูดิโอ Columbia เลยว่าจ้าง Robert Parrish รวบรัดเหลือเพียง 109 นาที!
ต้นฉบับนวนิยาย ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองสายตาและเสียงบรรยายของ Jack Burden แต่ฉบับหนังเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับ Willie Stark เสียมากกว่า ผลลัพท์เลยออกมาดูครึ่งๆกลางๆ ชวนให้มึนงงสับสนว่าใครคือตัวละครหลักดำเนินเรื่องกันแน่!
การมี Time Skip เยอะๆ ส่งผลเสียต่อหนังสักมากทีเดียว เพราะทำให้ผู้ชมไม่สามารถประติดประต่อเรื่องราวเข้าด้วยกัน ชวนให้เกิดอาการมึนงงสับสน การแสดงก็จะขาดๆเกินๆ ไร้ความต่อเนื่องทางอารมณ์ ตัวละครประเดี๋ยวดีประเดี๋ยวเดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ และตอนจบเป็นอะไรที่ยากเกินคาดเดา
การตัดต่อ/เล่าเรื่อง เป็นส่วนที่ Citizen Kane ทำออกมาได้ดีกว่ามากๆระดับฟ้ากับเหว! นั่นคงเพราะ Welles คงครุ่นคิดตระเตรียมการไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว ขณะที่แผนเดิมของ Rossen ได้ความยาว 250 นาที ถือว่าล้มเหลวผิดพลาด แก้ปัญหาเฉพาะหน้าผลลัพท์ออกมาเลยไม่ค่อยดีเท่าไหร่ … ผมละอยากรับชมฉบับ 250 นาที เหลือเกินนะ! เชื่อเล็กๆน่าจะทำออกมาได้ดีกว่านี้
เพลงประกอบโดย Louis Gruenberg (1884 – 1964) คีตกวีสัญชาติ Russian อพยพย้ายสู่อเมริกาช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง แต่งเพลงประกอบหนังดังๆอย่าง Stagecoach (1939), So Ends Our Night (1941), Commandos Strike at Dawn (1942), All the King’s Men (1949) ฯ
งานเพลงให้สัมผัสเหมือนสารคดีข่าว/Filmreel มักได้ยินช่วงระหว่าง Time Skip ด้วยท่วงทำนองสะท้อนเรื่องราวอารมณ์ สร้างความต่อเนื่องจากเหตุการณ์ล่าสุด กอปรเข้ากับเสียงบรรยายและ Sound Effect จนเต็มไปด้วยความโกลาหน สับสนวุ่นวาย และลางร้ายหายนะค่อยๆคืบคลานเข้ามา
Humpty Dumpty sat on a wall,
Humpty Dumpty had a great fall.
All the king’s horses and all the king’s men
Couldn’t put Humpty together again.– คำร้องบทเพลงกล่อมเด็ก Nursery Rhyme
นัยยะของกลอนบทนี้กล่าวถึงตัวละคร Humpty Dumpty (มีรูปร่างหน้าตาเหมือนไข่)
– นั่งอยู่บนกำแพง คือปีนขึ้นสูง ไต่เต้าสู่ความสำเร็จ
– พลัดตกลงมา คือตกต่ำล้มเหลว
– ไม่ว่าไพร่ฟ้าประชาราษฏร์ ก็มิอาจให้ความช่วยเหลือ
– ประกอบร่างแตกละเอียดของ Humpty Dumpty ให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม
ในบริบทของภาพยนตร์เรื่องนี้ Humpty Dumpty คงจะสื่อได้ถือนักการเมือง Willie Stark ผู้ไต่เต้าสู่ความสำเร็จสูงสุดแล้วค่อยๆตกต่ำลง ขณะที่ All the King’s Men ย่อมหมายถึง ‘ประชาชน’ ไม่มีใครไหนจะสามารถช่วยเหลือ กอบกู้ชื่อเสียง และชีวิตของเขาให้กลับคืนมาเหมือนเดิมได้
All the King’s Men ชักชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามถึงการกระทำของนักการเมือง Willie Stark นั่นเป็นสิ่งถูก-ผิด ดี-ชั่ว ประชาธิปไตยจริงๆหรือเปล่า? ปากอ้างว่าได้รับเสียงส่งเสริมสนับสนุน ผลโหวตอุดหนุนจากประชาชน แต่เบื้องหลังกลับเล่นเกมสกปรก ใช้เงินจกซื้อทุกสิ่งอย่าง ขจัดอริให้พ้นทาง ชัยชนะเท่านั้นคือสิ่งสำคัญสูงสุด
ผู้กำกับ Robert Rossen สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยอุดมคติคอมมิวนิสต์ สามารถเรียกได้ว่าชวนเชื่อ ต่อต้านประชาธิปไตย (Anti-Democrat) ชักนำให้ผู้ชมพบเห็นความคอรัปชั่นที่หลบซ่อนเร้น คนส่วนใหญ่มักมองไม่เห็น … แต่บางคนก็แสร้งทำเป็นพร่าตาบอด บางครั้งเพื่อผลประโยชน์ แต่ส่วนใหญ่ด้วยหลักการเพี้ยนๆ (ขึ้นขี่หลังเสือแล้วหาทางลงไม่ได้)
แต่การจะตัดสินประชาธิปไตยด้วยปลาเน่าในเข่งก็หาใช่สิ่งถูกต้องสักเท่าไหร่ (ต่อให้มันเน่าทั้งเข่งเลยก็เถอะ!) เพราะวิธีการให้ประชาชนมีสิทธิ์ส่วนร่วมในการเลือก ตัดสินใจ นั่นต่างหากละคืออุดมคติของการปกครอง ความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคม ที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นเรื่องผลกรรมเวร สักวันเดี๋ยวพวกเขาก็สาแก่ใจ
สังเกตจากแทบทุกตัวละครในหนัง ‘กรรมสนองกรรม’ ของพวกเขาล้วนเป็นผลลัพท์จากอดีต
– Willie Stark โหยหาชัยชนะ ทำทุกสิ่งอย่างจนได้รับมา ท้ายที่สุดค่อยๆตกต่ำลง ล้วนจากการกระทำของตนเอง
– Jack Burden เริ่มต้นจากไร้อุดมการณ์ แต่พอพบเจอที่คาดคิดว่าใช่แล้วเข้าใจผิด ก็มิอาจกล้ำกลืนฝืนลงจากหลังเสือ
– ผู้พิพากษา พยายามอ้างว่าตนเองทำในสิ่งที่ถูก แต่ครั้งแรกสุดกลับเคยกระทำสิ่งชั่วร้าย เมื่อหวนระลึกตระหนักขึ้นมาได้ เลยมิอาจบากหน้าทนอยู่
– Anne Stanton ทรยศหักหลังแฟนหนุ่ม คบชู้สู่ชาย ไปๆมาๆทรยศต่อครอบครัว สุดท้ายแทบไม่หลงเหลือใครใกล้ตัวมีชีวิตอยู่
ฯลฯ
หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่ทำเงินได้ $2.4 ล้านเหรียญ ดูจากขนาดโปรดักชั่นคาดคิดว่าน่าจะขาดทุนพอสมควร, เข้าชิง Oscar 7 สาขา คว้ามา 3 รางวัล
– Best Motion Picture ** คว้ารางวัล
– Best Director
– Best Actor (Broderick Crawford) ** คว้ารางวัล
– Best Supporting Actor (John Ireland)
– Best Supporting Actress (Mercedes McCambridge) ** คว้ารางวัล
– Best Writing, Screenplay
– Best Film Editing
เกร็ด:
– เป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายจนถึงปัจจุบัน ที่ดัดแปลงจากผลงานคว้ารางวัล Pulitzer Prize
– เป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่คว้าภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแต่พลาดสาขาบท ซึ่งครั้งถัดมาคือ Gladiator (2000) รวมเวลา 50 ปีให้หลัง
ส่วนตัวค่อนข้างผิดหวังกับหนัง คัทลอก-วางจาก Citizen Kane ยังไม่เท่าไหร่ อคติเกิดจากมุมมองการดำเนินเรื่อง สัมผัสได้ถึงความโล้เล้ลังเล แถมกระโดดไปกระโดดมา หาหลักปักฐานไม่ค่อยได้เท่าไหร่
แนะนำคอหนังการเมือง เลือกตั้ง เคยอ่านนวนิยายรางวัล Pulitzer Prize, ตากล้อง/นักตัดต่อ นักเรียนภาพยนตร์ลองศึกษาเปรียบเทียบ Citizen Kane, แฟนๆผู้กำกับ Robert Rossen และรู้จักนักแสดงนำ Broderick Crawford, John Ireland, Mercedes McCambridge ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ กับความหยาบคาย คอรัปชั่น
Leave a Reply