All the President’s Men (1976)
: Alan J. Pakula ♥♥♥♥
Robert Redford กับ Dustin Hoffman รับบทสองนักข่าวหนังสือพิมพ์ The Washington Post ที่ขุดคุ้ยคดี Watergate Scandal แฉเหตุอื้อฉาวทางการเมืองครั้งสำคัญ นำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีของ Richard Nixon
สำหรับชาวอเมริกัน เมื่อพูดถึง Richard Nixon คงส่ายหัวเบือนหน้าหนี รู้สึกอับอายขายหน้าประชาชี น่าจะเป็นประธานาธิบดียอดแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติ (แต่เชื่อว่าปัจจุบันคงมีผู้ท้าชิงแล้วละ) แถมยังเป็นคนแรกที่ลาออกจากตำแหน่ง (ไม่นับคนที่เสียชีวิต หรือถูกลอบสังหาร) เพื่อแสดงความรับผิดชอบเหตุการณ์คดี Watergate Scandal เห็นว่าในตอนแรกจะถูกไต่สวนดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่ปธน. คนถัดไปที่ขึ้นมาแทน Gerald Rudolph Ford, Jr. หนึ่งเดือนหลังจากนั้นประกาศให้อภัยโทษ Nixon รอดตัวทุกข้อกล่าวหา
‘ทำดีร้อยหน ไม่เท่ากับทำชั่วหนเดียว’ ในช่วงเวลาของ Nixon ได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติมากมาย ผ่อนคลายความตึงเครียดสงครามเย็น จากสหภาพโซเวียต และประเทศจีน ทั้งยังถอนกำลังทหารออกจากสงครามเวียดนาม แต่ทุกสิ่งที่เขาทำมาได้สูญเสียความหมายไปโดยสิ้นเชิงเมื่อเข้าไปพัวพันต้องสงสัยกับคดีคอรัปชั่นของลูกน้องภายใต้สังกัด แม้หลักฐานจะค่อนข้างมัดตัว แต่ยืนกรานปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา จนเป็นที่มาของประโยคในตำนาน
“When the president does it, that means that it is not illegal.”
– อดีตปธน. Richard Nixon ให้สัมภาษณ์กับ David Frost เมื่อปี 1977
ผมรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้โดยไม่ได้มีความรู้อะไรมาก่อนทั้งนั้น ได้ยินชื่อปธน. Nixon ไม่เคยเห็นหน้าหรือรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น ระหว่างรับชมก็ครุ่นคิดตาม ความคอรัปชั่นภายในของรัฐบาลมักสาวไปถึงผู้นำเลยหรือเปล่า? พอตอนจบขึ้นข้อความว่า Nixon ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ก็ทำเอาผมสะดุ้งโหยงเลย นับถือ ‘Spirit’ ของท่านเป็นอย่างยิ่ง เมืองไทยต่อให้แฉแหลกจนไม่หลงเหลืออะไร ความรับผิดชอบของผู้นำประเทศคงไม่มีมากถึงขนาดนี้แน่
Carl Bernstein กับ Bob Woodward สองนักข่าวของ The Washington Post เขียนหนังสือ All the President’s Men (1974) เพื่อบันทึกเหตุการณ์ เรื่องราวระหว่างที่พวกเขาออกสืบค้นหาทำข่าว Watergate Scandal เริ่มตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 1972 วันที่ ชาย 5 คน บุกเข้าไปยังสำนักงานใหญ่ของพรรค Democratic (Democratic National Committee, DNC) ตั้งอยู่ที่ Watergate Office Complex, Washington D.C. แล้วถูกตำรวจจับได้ ไปจนถึงการเปิดโปงเทปลับ บันทึกทุกการสนทนาที่ติดตั้งอยู่ในทำเนียบขาวเมื่อปี 1973, น่าเสียดายที่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์วางจำหน่ายวันที่ 15 มิถุนายน 1974 ยังไม่ถึงตอน Nixon ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1974
บทความข่าว Watergate Scandal ทำให้ The Washing Post คว้ารางวัล Pulitzer Prize for Public Service และได้รับการยกย่องโดย Gene Roberts นักข่าวผู้ทรงพิทธิพลที่สุดในช่วงปลายทศวรรษ 20
“maybe the single greatest reporting effort of all time”
ตอนแรก Bernstein กับ Woodward มีความคิดพัฒนาเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้เป็นหนังสือ แต่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเพราะพวกเขายังง่วนอยู่กับการขุดคุ้ยข่าวคาวนี้อยู่ จนกระทั่ง Robert Redford เข้ามาพูดคุยเกี่ยวกับโปรเจคภาพยนตร์ หนังสือเลยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และได้รับค่าลิขสิทธิ์ดัดแปลงสูงถึง $450,000 เหรียญ
เกร็ด: ชื่อนิยาย All the President’s Men ได้แรงบันดาลใจจาก All the King’s Men (1946) นิยายรางวัล Pulitzer Prize เขียนโดย Robert Penn Warren ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ปี 1949 กำกับโดย Robert Rossen คว้ารางวัล Oscar: Best Picture
เกร็ด 2: ขณะที่ชื่อนิยาย All the King’s Men ได้แรงบันดาลใจจากบทเพลงกล่อมเด็ก (Nursery Song) ชื่อว่า Humpty Dumpty มีคำร้องว่า
Humpty Dumpty sat on a wall,
Humpty Dumpty had a great fall.
All the king’s horses and all the king’s men
Couldn’t put Humpty together again.
Redford ว่าจ้าง William Goldman ที่โด่งดังกับ Butch Cassidy and the Sundance Kid (1969) ให้มาดัดแปลงบทภาพยนตร์ ขอคำปรึกษาจาก Woodward ที่ยินดีมาก แต่ Bernstein ไม่ค่อยอยากให้ความร่วมมือสักเท่าไหร่ เพราะหนังตั้งใจนำเสนอแค่ครึ่งแรกของหนังสือ 7 เดือนแรกของการสืบสวนสอบสวน จบตรงหลังตีพิมพ์บทความข่าวแรก และ Nixon กล่าวคำสัตย์สาบานรับตำแหน่ง ปธน. สมัยสอง สร้างความไม่ค่อยพึงพอใจเท่าที่ควร
Goldman เป็นผู้คิดเขียนประโยคในตำนานของหนัง ไม่ได้อ้างอิงจากนิยาย หรือ Deep Throat ตัวจริงเคยพูดออกมาแต่อย่างใด
“Just follow the money”.
เกร็ด: ตัวจริงของ Depp Throat ถูกเก็บงำความจริงมาจนถึงปี 2005 ได้รับการเปิดเผยโดยเจ้าตัวเอง Mark Felt รองผู้อำนวยการ สำนักงานสืบสวนกลางแห่งชาติ (Federal Bureau of Investigation)
Alan Jay Pakula (1928 – 1998) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City, เข้าสู่วงการด้วยเป็นผู้ช่วยแผนกวาดการ์ตูนที่ Warner Bros. ย้ายมา Paramount Picture เป็นโปรดิวเซอร์ To Kill a Mockingbird (1962) กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Sterile Cuckoo (1969), โด่งดังกับ ‘Paranoid Trilogy’ ประกอบด้วย Klute (1971), The Parallax View (1974), All the President’s Men (1976), อีกผลงานเด่นคือ Sophie’s Choice (1982)
น่าจะเพราะ The Parallax View (1974) แน่ๆที่ทำให้ Pakula ได้รับการติดต่อจาก Redford ให้มากำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องราวของนักข่าวโทรทัศน์ หลังจากพบเห็นผู้สมัครชิงปธน. คนหนึ่งถูกลอบสังหารต่อหน้าต่อตา แต่คิดว่าเรื่องราวมันไม่ใช่แค่สิ่งที่สื่อรายงานออกมาแน่ จึงออกสืบสอบสวนค้นหาข้อเท็จจริง สัมภาษณ์บุคคลนี้โน่นนั่นจนกระทั่ง…
หลังจากได้รับการว่าจ้าง Pakula นำบทของ Goldman มาขัดเกลาเล็กน้อยตามไดเรคชั่นความสนใจของตนเองและ Redford จนได้เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่าย
Bob Woodward (รับบทโดย Robert Redford) ได้รับการมอบหมายให้เดินทางไปที่ศาล เพื่อทำข่าวเกี่ยวกับหัวขโมย 5 คน บุกเข้าไปในสำนักงานใหญ่ของพรรค Democratic เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 1972 แต่มันช่างน่าฉงนสงสัย ทำไมทั้งห้าถึงมีทนายส่วนตัว พวกเขายังไม่ได้รับสิทธิ์โทรศัพท์ติดต่อหาใครด้วยซ้ำ
ร่วมกับ Carl Bernstein (รับบทโดย Dustin Hoffman) นักข่าวอีกคนของ The Post ได้รับมอบหมายให้ช่วยเหลือ Woodward ในการสืบสวนสอบคดี Watergate นี้ พวกเขาค้นพบว่า เงินค่าจ้างหัวขโมยทั้งห้าคนนี้ มีที่มาที่ไปจาก Committee to Re-elect the President (CREEP) ของปธน. Richard Nixon นี่อาจแปลว่ามีเรื่องราวไม่ชอบมาพากล คอรัปชั่นภายในหน่วยงานของว่าที่ประธานาธิบดีสมัยสองผู้นี้
ตอนแรก Redford ไม่ได้ต้องการรับบท Bob Woodward ด้วยตนเอง แต่ถูกสตูดิโอ Warner Bros. กดดันจะไม่อนุมัติทุนสร้างถ้าเขาไม่แสดงนำ นี่สร้างความลำบากใจเล็กๆให้ เพราะคิดว่าคนที่จะมารับบทเป็นคู่ขาของตัวละคร จักต้องมี Charisma เก่งกาจไม่แพ้กัน หลังจากถูก Al Pacino บอกปัด ตกลงที่ Dustin Hoffman ถือเป็นตัวเลือกสมน้ำสมเนื้อกันดีแท้
Charles Robert Redford Jr. (เกิดปี 1936) นักแสดง ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Santa Monica, California สมัยเด็กชื่นชอบศิลปะและกีฬา โตขึ้นเข้าเรียน University of Colorado ไม่ทันจบหนีไปเที่ยวยุโรป ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี กลับมาเรียนวาดรูปที่ Pratt Institute, Brooklyn ตามด้วยการแสดงที่ American Academy of Dramatic Arts, New York City เริ่มจากเป็นนักแสดง Broadways ตามด้วยแสดงซีรีย์โทรทัศน์ จนได้เข้าชิง Emmy Award: Best Supporting Actor, ภาพยนตร์เรื่องแรก Tall Story (1960) เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Chase (1966), Barefoot in the Park (1967), โด่งดังกับ Butch Cassidy and the Sundance Kid (1969), Downhill Racer (1969), The Sting (1973), All the President’s Men (1976) ฯ กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Ordinary People (1980) คว้า Oscar: Best Director
Bob Woodward นักข่าวหน้าใหม่ของ The Washington Post เพิ่งเข้าร่วมได้ประมาณ 9 เดือน แม้ยังด้อยประสบการณ์ แต่มี ‘passion’ การทำงานอย่างเต็มเปี่ยม แถมยังได้เส้นสายจากคนวงในช่วยยืนยันข้อเท็จจริงหลายๆอย่างได้ด้วย
Dustin Lee Hoffman (เกิดปี 1937) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Los Angeles, California, ในครอบครัวเชื้อสาย Jews ตอนเด็กตั้งใจเป็นนักเปียโน แต่ภายหลังเข้าเรียนการแสดงแล้วรู้สึกว่าง่ายกว่ามากเลยผันตัวมาทางนี้ เริ่มจากเป็นนักแสดงละครเวทีประกบกับ Gene Hackman ต่อมามุ่งสู่ New York พักอยู่ห้องเช่นเดียวกับ Robert Duvall, หลังจากมีผลงาน Off-Broadway เข้าเรียน Actors Studio กลายเป็นนักแสดง Method Acting, ภาพยนตร์เรื่องแรก The Tiger Makes Out (1967), ได้รับการจดจำจาก The Graduate (1966), Midnight Cowboy (1969), All the President’s Men (1976), Tootsie (1982) ฯ คว้า Oscar: Best Actor สองครั้งเรื่อง Kramer vs. Kramer (1979), Rain Man (1988)
Carl Bernstein นักข่าวที่มีประสบการณ์ทำงานตั้งแต่อายุ 16 เป็นคนกร่างๆ แต่มีชั้นเชิงของตนเอง สามารถโน้มน้าวชักจูงหญิงสาวคนหนึ่งที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวง ให้ระบายความรู้สึกภายในและเรื่องราวข้อเท็จจริงบางอย่างออกมา
ทั้ง Redford และ Hoffman อาศัยปักหลังอยู่ The Washington Post เป็นเดือนๆ คอยสังเกตวิถีการทำงาน เข้าร่วมประชุม ครั้งหนึ่งเคยถูกเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเด็กส่งของ, เรื่องการแสดงต้องถือว่าทั้งคู่ประชัน ขับเขี่ยว ต่อกรกันได้อย่างสุดเหวี่ยง ไม่มีใครยอมใคร วิธีการคือพวกเขาจะจดจำบทพูดของฝ่ายตรงข้าม เพื่อรับรู้จังหวะขณะสนทนา จะเริ่มขึ้นขัดได้ตอนไหน
ตลกคือทั้งสองไม่มีใครได้เข้าชิงสาขาการแสดงของทั้ง Oscar และ Golden Globe คงเพราะพวกเขาขาดการปะทะทางอารมณ์ที่เข้มข้น แค่ตัวละครมีความแนบเนียนสมจริงเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอให้ถือว่าโดดเด่นทรงพลัง
เรื่องค่าตัวไม่มีรายงานว่าใครได้มากกว่า แต่ชื่อที่ขึ้นนำหน้าเลียนแบบแนวคิดของภาพยนตร์เรื่อง The Man Who Shot Liberty Valance (1962)
– Redford ชื่อขึ้นนำหน้าในโปสเตอร์และ Trailer
– Hoffman ขึ้นชื่อนำในเครดิตหนัง
ไฮไลท์ของการแสดงตกเป็นของตัวสองตัวประกอบ
Jason Robards (1922 – 2000) โคตรนักแสดง Triple Crown of Acting (คว้า Tony, Oscar, Emmy) เจ้าของ 2 รางวัล Oscar: Best Supporting Actor จากเรื่อง All the President’s Men (1976) และ Julia (1977), รับบท Ben Bradlee ผู้เป็น Executive Editor มอบหมายให้ Woodward และ Bernstein ทำงานร่วมกัน อ่านบทความที่พวกเขาตีพิมพ์แล้วตอกกลับเบาๆ ต้องการหลักฐานมัดตัวที่เด่นชัดเจนกว่านี้ มาดนิ่งๆลุ่มลึกคมคาย ชอบยกเท้าวางบนโต๊ะประชุมแบบไร้มารยาท แต่ไม่น่าเชื่อคือคนที่เขียนโน๊ต ‘We stand by our story’. เชื่อมั่นในลูกน้องอย่างถึงที่สุด
Jane Alexander (เกิดปี 1939) นักแสดงหญิงยอดฝีมือสัญชาติอเมริกัน ที่คว้ารางวัล Tony กับ Emmy ได้แล้ว แต่ยังพลาด Oscar จากการเข้าชิง 4 ครั้งเรื่อง The Great White Hope (1970), All the President’s Men (1976), Kramer vs. Kramer (1979), Testament (1983), รับบท Judy Hoback Miller หญิงสาวบ่อน้ำตาแตก ที่หลังได้พบเจอ Bernstein ปากพูดฉันจะไม่บอกอะไรทั้งนั้น แต่ไม่นานก็หลุดพูดออกมา บอกตัวอักษรย่อของ 3 จาก 5 ผู้อยู่เบื้องหลังเงินทอนของ CREEP
เนื่องจาก The Washington Post ไม่อนุญาตให้หนังถ่ายทำยังสถานที่จริง (ก็แน่ละสถานที่ทำงาน จะหาเวลาว่างที่ไหนมาถ่ายทำ) ทีมงานจึงต้องจำลองสร้างทั้งชั้น Newsroom ขึ้นมาที่ Warner Brothers Studio, California ออกแบบโดย George Jenkins สูญงบประมาณไป $200,000 เหรียญ อ้างอิงจากสถานที่จริง ข้าวของเครื่องใช้ โต๊ะเก้าอี้ ถังขยะ ล้วนจัดซื้อจากเจ้าเดียวกัน กระนั้นการออกแบบในส่วนลึกด้านหลังไกลๆ เหมือนว่าจะมีขนาดเล็กลงกว่าปกติเพื่อเพิ่มมิติให้กับหนัง
ถ่ายภาพโดยเจ้าชายแห่งความมืด Gordon Willis ที่มีโคตรผลงานอย่าง The Godfather Trilogy, Annie Hall (1977), Manhattan (1979) ฯ
งานภาพมีความโดดเด่นในการใช้ความมืด มุมกล้อง และเทคนิคภาพ Deep-Focus เห็นรายละเอียดพื้นหลัง ความลึกคมชัด ล้วนสื่อสะท้อนนัยยะบางสิ่งอย่าง
ขอเริ่มจากความมืดแล้วกัน นี่เป็นของถนัดของ Willis โดยเฉพาะเลย, กับฉากพบเจอสาย Deep Throat ที่ลานจอดรถแห่งหนึ่ง ใช้การจัดแสง Low Key มองอะไรแทบไม่เห็น สะท้อนถึงตัวตนสุดลึกลับของชายผู้นี้ ไร้เบื้องหลังแต่กลับเป็นแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ก่อนเริ่มสนทนามักจุดไฟแช็คขึ้นมา นั่นคือแสงสว่างเล็กๆที่ใช้ชี้นำทางเมื่ออยู่ในความมืด
เกร็ด: Woodward ช่วยผู้กำกับในการคัดเลือก Hal Holbrook ให้มารับบทนี้ เพราะเมื่อตัวจริงของ Deep Throat ได้รับการเปิดเผย ก็พบว่าใบหน้า/การแสดงของทั้งคู่ มีความคล้ายคลึงกันอย่างยิ่ง
เกร็ด2: Deep Throat เป็นศัพท์ที่ในทศวรรษนั้นยังไม่ใช่คำหยาบ หรือท่วงท่าหนึ่งของการมี Sex ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากภาพยนตร์เรื่อง Deep Throat (1972) เปลี่ยนนิยามความหมายนี้โดยสิ้นเชิง
ตอนที่สองหนุ่มออกสืบข่าว เคาะประตูบ้านตามรายชื่อ สังเกตภาพสิ่งที่อยู่ด้านหลังพวกเขาจะค่อยๆมีความมืดมิดขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งครั้งหนึ่งในช็อตห้องโถงนี้ …ยังกะอพาร์ทเม้นท์ผีสิง… นี่คือขณะที่พวกเขาเกิดความเข้าใจผิดอะไรบางอย่างต่อคู่สนทนา จมดิ่งลึกลงไปในความมืดมิด
ตำแหน่งทิศทางของการถ่ายภาพ, ตอนที่ Bernstein พยายามเค้นหาข้อมูลจาก Judy Hoback Miller แรกสุดเลยเธอยืนกรานไม่พูดอะไรทั้งนั้น หลบซ่อนตัวอยู่ด้านหลังซี่กรงของบันได แต่เมื่อเริ่มใจออกจึงค่อยๆเดินออกมานั่ง และพรั่งพรูหลุดอะไรต่ออะไรมิรู้ออกมาจนแทบหมดสิ้น
Bird Eye View ช็อตในห้องสมุด ขณะที่ Bernstein กับ Woodward ค้นหาบัตรยืมหนังสือของใครบางคนแต่ไม่พบเจอ กล้องค่อยๆเคลื่อนถอยขึ้นสู่เบื้องบนของเพดาน ก็ไม่รู้ทำได้ยังไงถึงกลายมาเป็นช็อตนี้ (เพดานของห้องสมุดอาจสูงจริงๆนะแหละ) เห็นว่าช็อตเดียวความยาว 30 วินาที สิ้นงบประมาณไปถึง $90,000 เหรียญ
มุมมองของภาพที่ค่อยๆกว้างขึ้นเรื่อยๆจนเห็นภาพรวม สะท้อนถึงนัยยะของหนัง คดีความ Watergate Scandal เริ่มต้นจากความผิดพลาดเล็กๆของคน 4-5 คน แต่กำลังได้รับการเปิดเผยให้เห็นภาพกว้างใหญ่โดยรวมมากขึ้น
สำหรับเทคนิค Deep Focus มีการใช้ Split-Focus Diopter ภาพจะคมชั้นทั้ง 2 ฝั่งซ้าย-ขวา ในระยะใกล้-ไกล, อย่างช็อตนี้ภาพใกล้ฝั่งขวาคือตัวละครของ Redford กำลังพูดคุยโทรศัพท์ ขณะที่ภาพด้านหลังไกลลิบๆฝั่งซ้ายนั่น บรรดานักข่าวของ The Washington Post ต่างกำลังลุ้นเชียร์ George McGovern ที่เพิ่งเอาชนะคะแนนโหวตภายในต่อ Thomas Eagleton ได้เป็นตัวแทนของพรรค Democrat ลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีที่กำลังจะเกิดขึ้น
สังเกตว่าตำแหน่งกึ่งกลางตรงเสาจะมีความเบลอ-ชัด แบ่งแยกชัดเจน แต่ไฮไลท์ของ Long Take 6 นาทีนี้ กล้องจะค่อยๆซูมเข้าไปฝั่งตัวละคร Woodward ทิ้งโฟกัสฝั่งซ้ายออกไปโดยสิ้นเชิง ไม่ยักรู้ว่า Split-Focus สามารถทำแบบนี้ได้ด้วย
ฉากนี้ถ่ายทำเทคเดียว ซึ่งจะมีขณะที่ Redford เรียกชื่อตัวละครผิด แต่เพราะเขายังอยู่ในตัวละครนั่น เลยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันท่วงที กลายเป็นความไม่จงใจที่ผลลัพท์ออกมายอดเยี่ยม
ช็อตนี้ก็ Split-Focus Diopter แต่เป็นบน-ล่าง, ด้านล่างระยะใกล้เห็นมือกำลังพิมพ์ดีด ด้านบนระยะไกลเห็นจอโทรทัศน์ กำลังประกาศคะแนน ชัยชนะการเลือกตั้งของ Nixon
ช็อตสุดท้ายของหนัง กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าไปจากที่คมชัดทั้งสองฝั่ง พอมาถึงจุดๆหนึ่งด้านใกล้ฝั่งซ้ายเห็นเป็นภาพในโทรทัศน์ ตอน Richard Nixon กำลังกล่าวคำสัตย์สาบานเป็น ปธน. สมัยสอง ขณะที่ด้านหลังไกลๆฝั่งขวา Bernstein กับ Woodward กำลังปั่นพิมพ์บทความที่จะสั่นสะเทือนบัลลังก์ราชานี้ให้พังทลายลง
ตัดต่อโดย Robert L. Wolfe สัญชาติอเมริกัน เข้าชิง Oscar: Best Edited สามครั้งจาก All the President’s Men (1976), The Rose (1979), On Golden Pond (1981)
หนังดำเนินเรื่องในสองมุมมองของ Carl Bernstein กับ Bob Woodward ทั้งที่อยู่ด้วยกันและแยกไปทำงานของตนเอง แทบทั้งหมดเป็นเรื่องงาน ส่วนตัวของพวกเขาช่างมีน้อยนิด (หนังมีฉากที่บ้านของทั้ง Bernstein กับ Woodward แต่เชื่อว่าหลายคนคงดูไม่รู้แน่ว่าบ้านใคร เพราะเป็นเพียงพื้นหลังประกอบเท่านั้น ไม่ได้มีสาระสำคัญอะไร)
เรื่องราวของหนัง แม้ส่วนใหญ่จะเป็นการสืบสวนค้นหาข้อมูลของนักข่าวทั้งสอง แต่พื้นหลังในช็อตเดียวกัน (สังเกตจากฉาก Deep Focus ทั้งหลาย) มักมีเรื่องราวคู่ขนานเล่าไปพร้อมกันด้วย ซึ่งล้วนคือเหตุการณ์เลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ปี 1972 ที่ผลลัพท์คือ Richard Nixon ได้เป็นต่ออีกสมัยสอง
เพลงประกอบโดย David Shire นักแต่งเพลงสัญชาติอเมริกัน โด่งดังกับ The Conversation (1974), All The President’s Men (1976), Zodiac (2007) ฯ
เชื่อว่าหลายคนคงไม่ทันได้ยินเพลงประกอบแน่ๆ มีด้วยหรือ? เพราะช่างกลมกลืนไปกับหนังเสียเหลือเกิน เสียงพิมพ์ดีดยังโดดเด่นกว่า, บทเพลงแรกที่ได้ยิน ผ่านไปประมาณ 28-30 นาที ตอนที่กล้องค่อยๆเคลื่อนขึ้นบนเพดานห้องสมุด ให้สัมผัสของความลึกลับพิศวงที่ค่อยๆเปิดเผยออกทีละเล็กน้อย
เราจะได้ยินบทเพลงนี้อีกสองสามครั้งในหนัง ขณะที่ Woodward ออกเดินทางไปหา Deep Throat
สำหรับบทเพลงคลาสสิก Concerto for Two Trumpets in C Major (RV537) ประพันธ์โดย Antonio Vivaldi
Woodward เข้ามาในห้องของ Bernstein เพราะความหวาดกลัวที่อาจกำลังถูกดักฟัง ชีวิตไม่ค่อยปลอดภัย บทเพลงนี้ที่เต็มเปี่ยมด้วยความครึกครื้นร่าเริงสดใส กลบเสียงพูดคุยทุกสิ่งอย่าง ตรงกันข้ามกับอารมณ์ตึงเครียด กดดัน หวาดวิตกของพวกเขาทั้งหลาย
ในห้องของ Bernstein เนี่ยนะ! เป็นรสนิยมที่คาดคิดไม่ถึงทีเดียว คงเพื่อให้เกิดความผ่อนคลายเครียดจากการทำงาน บทเพลงนี้น่าจะช่วยได้มากยิ่งทีเดียว
Sound Effect เสียงพิมพ์ดีด ถ้าไม่ได้ Oscar: Best Sound คณะกรรมการคงหูหนวกแล้วละ โดดเด่นดังยิ่งกว่าเพลงประกอบหนังเสียอีก แต่จะบอกว่าตอนต้นเรื่องเสียงที่ได้ยิน ไม่ใช่จากเครื่องพิมพ์ดีดเลยนะ นั่นเป็นการผสมระหว่างเสียงยิงปืน กับฟาดแส้ ที่บังเอิญเหมือนกับเสียงพิมพ์ดีเปะๆ และตอนท้ายถ้าตั้งใจฟังให้ดีๆ จะมีเสียงปืนดังขึ้น 21 ครั้งเป็นพื้นหลังเสียงพิมพ์ดีดรัวๆ ซึ่งนั่นเป็นการยิงสดุดีหลังจากที่ปธน. Nixon ถวายสัตย์สาบานเสร็จสิ้น
แม้ ‘อิสรภาพของสื่อ’ จะได้รับการประกาศยอมรับอย่างเป็นทางการจากสหประชาชาติ (United Nations) ตั้งแต่ปี 1948 ด้วยคำกล่าว
“Everyone has the right to freedom of opinion and expression; this right includes freedom to hold opinions without interference, and to seek, receive, and impart information and ideas through any media regardless of frontiers”.
แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถยึดถือมั่นมีความเป็นกลางได้เสมอไป เพราะหลายๆครั้งอย่างกรณีลักษณะหนังเรื่องนี้ อาจโดยไม่รู้ตัว สื่อถูกคุกคามโดยอิทธิพลด้านมืดที่พยายามเล่นตุกติกนอกกติกา ไม่ต้องการให้ถูกเปิดโปงความลับข้อเท็จจริงออกสู่สาธารณะ
นี่ถือเป็นความท้าทายขีดความสามารถ จรรยาบรรณ ของนักข่าวและสื่อ จะยังสามารถธำรงตนวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝักใฝ่ฝ่ายใด นำเสนอเฉพาะข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานยืนยันอ้างอิงพิสูจน์ได้ เพราะถ้าเกิดบทความนั้นกลายเป็นเท็จขึ้นมา ความนิยมน่าเชื่อถือของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นก็จะลดลงโดยทันที
Ben Bradlee ผู้เป็นหัวหน้าบรรณาธิการ แม้จะมิได้ลงมาร่วมสืบค้นไล่ล่าเกม rat-fucking แต่เขาคือผู้อ่านที่คอยตัดสินน้ำหนักของบทความข่าว เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ควรค่าขึ้นหน้าหนึ่งหรือโยนไปอยู่หลังท้ายๆ และเมื่อเลือกเล่นตีข่าวใหญ่ ก็มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่นำเสนอไป ไม่เกรงกลัวอิทธิพลอำนาจมืดใดๆ นั่นเป็นสิ่งทรงคุณค่าที่สุดของของสื่อเลยก็ว่าได้
ขณะที่ Bernstein กับ Woodward ทั้งคู่ถือว่ายังเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง มิอาจมองเห็นภาพรวมของเหตุการณ์ได้โดยทันที แต่จักค่อยๆมีทัศนวิสัยแนวคิดที่เปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ 5 รายชื่อผู้อยู่เบื้องหลัง กับสามชื่อย่อเดาส่งๆกลับฟลุ๊กถูก แต่อีกสองและหนึ่งชื่อสุดท้าย ผมเองก็รู้สึกหวั่นใจเล็กๆว่าเป็นการเดิมพนันที่ค่อนข้างเสี่ยงไปหน่อยหรือเปล่า นับเป็นความโชคดีที่พวกเขาทายถูก (มาแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ตอนหลังที่ Deep Throat ยินยอมเฉยคำตอบ) ตอนจบของหนังมันเลยเป็นเพียง ‘จุดเริ่มต้น’ ของการเปิดเผยข้อมูลอีกหลายๆอย่างมากมายเต็มไปหมด
ผมว่าหนังน่าจะมีภาคสองอย่างยิ่งเลยนะ (แต่สร้างไม่ทันแล้วละ นักแสดงแก่หง่อมหมดแล้ว) นำเอาครึ่งหลังของหนังสือต่อจากเหตุการณ์นี้เลยก็ได้ ไปจนถึงวันที่ Nixon ประกาศลาออกจากตำแหน่งปธน. เพราะความสำเร็จของหนังเรื่องนี้ ยังไงภาคต่อก็น่าจะเอาตัวรอดได้อยู่แล้ว ก็ไม่รู้ทำไมไม่มีใครคิดสร้างต่อ
Watergate Scandal น่าจะถือเป็นการขุดคุ้ยแฉความคอรัปชั่นครั้งสำคัญที่สุดของโลก เพราะถือว่าอยู่ในความสนใจไม่ใช่แค่เฉพาะชาวอเมริกันแต่คือทั่วทั้งโลก [ว่ากันว่ามีผู้รับชมการถ่ายทอดสด(ทั่วโลก) ขณะที่ Nixon ประกาศลาออกจากตำแหน่งปธน. ถึง 400 ล้านคน] ซึ่งเทรนด์ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้ อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับความคอรัปชั่น จะถูกลงท้าย (suffix) ภาษาอังกฤษด้วยคำว่า -gate
ด้วยทุนสร้าง $1.5 ล้านเหรียญ ทำเงินได้ $70.6 ล้านเหรียญ สูงเป็นอันดับ 4 ของปี รองจาก Rocky, To Fly! และ A Star is Born
เข้าชิง Oscar 8 สาขา คว้ามา 4 รางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Supporting Actor (Jason Robards) ** คว้ารางวัล
– Best Supporting Actress (Jane Alexander)
– Best Writing, Screenplay Based on Material from Another Medium ** คว้ารางวัล
– Best Film Editing
– Best Art Direction-Set Decoration ** คว้ารางวัล
– Best Sound ** คว้ารางวัล
ผู้ชนะปีนั้นคือ Rocky จริงๆก็ถือว่าตัวเต็งหนึ่ง เพราะเป็นหนังชาตินิยมอเมริกันโดยแท้ แถมทำเงินสูงสุดแห่งปีอีกต่างหาก แต่ผู้ชมสมัยนี้คงหัวเสียกับความพ่ายแพ้ของ Taxi Driver และ Network ที่กลายเป็นตำนานเหนือกาลเวลา
All the President’s Men ได้กลายเป็นที่ชื่นชอบของเหล่า Journalist/Reporter แทบจะเป็นบทเรียนสำคัญของคนที่อยากเรียน/เป็นผู้สื่อข่าวต้องหามารับชม เพราะจะได้ซึมซับรับจิตวิญญาณของการทำงาน เข้าใจความหมายอิสรภาพของสื่อ และรู้จักการค้นหาเป้าหมายของสิ่งที่เรียกว่า ‘ภาพรวม’ ให้พบเจอเสียก่อน ถึงจะสามารถทำข่าวนั้นได้อย่างลอดช่องทะลุปรุโปร่ง
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้ (แต่น้อยกว่า Spotlight) หลงใหลในงานภาพของ Gordon Willis และการแสดงปะทะคารมที่ไม่เคยยอมกันของ Robert Redford กับ Dustin Hoffman สะท้อนจิตวิญญาณของนักข่าวออกมาได้อย่างทรงพลัง
ถ้าคุณไม่เคยรับรู้เรื่องราวของ ปธน. Richard Nixon มาก่อน เชื่อว่าจะทำความเข้าใจหนังเรื่องนี้ได้ค่อนข้างยากลำบากทีเดียว แนะนำให้ลองศึกษาหาอ่าน หรือรับชมภาพยนตร์ชีวประวัติอย่าง Nixon (1995) น่าจะช่วยได้มากทีเดียว
แนะนำกับคอหนัง Political Thriller, คนทำงานสายข่าว หนังสือพิมพ์, สนใจประวัติศาสตร์ เรื่องราวของ Watergate Scandal และปธน. Richard Nixton, แฟนๆนักแสดง Robert Redford, Dustin Hoffman ห้ามพลาด
จัดเรต 13+ กับประเด็นการเมืองอันสุดเข้มข้น และความคอรัปชั่นในองค์กรรัฐ
Leave a Reply