Always (1989) : Steven Spielberg ♥♡
สร้างใหม่จาก A Guy Named Joe (1943) หนึ่งในแรงบันดาลใจ Steven Spielberg ให้อยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ นำเสนอเรื่องราวความเชื่อว่าเมื่อคนรักตายจากไป อีกฝ่ายจะกลายเป็นวิญญาณ ยังคงล่องลอยอยู่เคียงข้าง ‘ตลอดไป’
Always (1989) เป็นภาพยนตร์ถูกตีตราว่าแย่ที่สุดของผู้กำกับ Steven Spielberg ปัญหาคือการดำเนินเรื่องที่มีความเอื่อยๆเฉื่อยๆ เต็มไปด้วยอารมณ์อ่อนไหว (Sentimental) จนรู้สึกเหมือนยัดเยียด ‘Message’ ความเชื่อเกี่ยวกับจิตวิญญาณ และเมื่อเปรียบเทียบต้นฉบับที่รีเมคมา คุณภาพก็ไม่ได้ดีเด่นไปกว่ากันสักเท่าไหร่
a remake that wasn’t remade enough.
นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 2/4
ส่วนตัวบอกเลยว่าไม่ได้ชื่นชอบหนังสักเท่าไหร่ แต่พอเข้าใจเหตุผลที่หลายๆคนโปรดปราน Always (1989) เพราะสามารถเป็นกำลังใจให้บุคคลประสบความสูญเสีย ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาแห่งความเศร้าโศกเสียใจ โดยใช้ข้ออ้างเกี่ยวกับ ‘ความเชื่อ’ ว่าเมื่อคนรักตายจากไป วิญญาณของอีกฝ่ายจะยังคงอยู่เคียงข้าง ไม่เหินห่างไปไหนไกล
แต่ไม่ว่าแฟนตาซีดังกล่าวจะจริงหรือไม่ มองอีกแง่มุมหนึ่งนั่นคือการลวงหลอกตัวเอง ไม่ยินยอมรับสภาพความจริง เพียงข้ออ้างสำหรับการมีชีวิต เต็มไปด้วยความหมกมุ่นยึดติด … สำหรับใครหลายๆคน การมีความเชื่อแค่เพียงเท่านั้นก็มากเกินพอแล้วละ!
Steven Allan Spielberg (เกิดปี 1946) เจ้าของฉายา ‘พ่อมดแห่งวงการภาพยนตร์’ เกิดที่ Cincinnati, Ohio ในครอบครัว Orthodox Jewish ปู่ทวดอพยพจากประเทศ Ukrane ชอบเล่าอดีตถึงญาติพี่น้องที่ต้องสูญเสียชีวิตในค่ายกักกันนาซี, ตั้งแต่เด็กค้นพบความสนใจในสื่อภาพยนตร์ Captains Courageous (1937), Pinocchio (1940), Godzilla, King of the Monsters (1956), Lawrence of Arabia (1962), รวมถึงหลายๆผลงานของผู้กำกับ Akira Kurosawa, กำกับเขียนบทภาพยนตร์เรื่องแรก Firelight (1963) โดยได้ทุนจากครอบครัว $500 เหรียญ
หลังเรียนจบมัธยมปลายมุ่งสู่ Los Angeles เข้าศึกษาต่อ California State University, Long Beach ระหว่างนั้นเป็นเด็กฝึกงานยัง Universal Studios มีโอกาสถ่ายทำหนังสั้น Amblin’ (1968) คว้ารางวัลมากมายจนไปเข้าตารองประธานสตูดิโอขณะนั้น Sidney Sheinberg จับเซ็นสัญญา 7 ปี ดรอปเรียนมหาวิทยาลัย เริ่มทำงานเป็นผู้กำกับซีรีย์โทรทัศน์ Night Gallery (1969) ตอน Eyes นำแสดงโดย Joan Crawford แม้เสียงตอบรับจะไม่ค่อยดีนัก แต่ได้รับคำชื่นชมจาก Crawford เชื่อเลยว่าไอ้เด็กคนนี้อนาคตไกลแน่ๆ
เมื่อครั้นสรรค์สร้าง Jaws (1974) ผกก. Spielberg มีโอกาสสนทนา Richard Dreyfuss เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่อง A Guy Named Joe (1943) ค้นพบว่าต่างฝ่ายต่างมีความชื่นชอบโปรดปราน รสนิยมเดียวกัน!
- Dreyfuss บอกว่าเคยดูหนังเรื่องนี้อย่างน้อย 35 รอบ (น่าจะนับถึงตอนเริ่มสรรค์สร้าง Always (1989) กระมัง!)
- Spielberg เคยรับชมทางโทรทัศน์เมื่อครั้นยังเป็นเด็ก คือหนึ่งในแรงบันดาลใจครุ่นคิดอยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์
ต่างฝ่ายต่างพยายามมองหาโอกาสร่วมกันสร้างใหม่ A Guy Named Joe (1943) จนกระทั่ง Spielberg หลังเสร็จจาก Indiana Jones and the Last Crusade (1989) ต้องการหยุดพักหนัง Blockbuster สักระยะ เพื่อเติมเต็มอีกหนึ่งความเพ้อฝันวัยเด็กสักที!
เกร็ด: A Guy Named Joe (1943) ภาพยนตร์แนว Romantic Fantasy Drama กำกับโดย Victor Fleming, นำแสดงโดย Spencer Tracy ประกบ Irene Dunne สามารถเข้าชิง Oscar: Best Original Story แต่พ่ายให้กับ Going My Way (1943)
บทหนังพัฒนาโดย Jerry Belson ทำการเปลี่ยนแปลงพื้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มาเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นในปัจจุบัน Pete Sandich คือนักบินดับเพลิง (จากเดิมเป็นนักขับเครื่องบินทิ้งระเบิด) ระหว่างเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ สามารถให้ความช่วยเหลือเพื่อนสนิท แต่ตนเองกลับจนประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต! (ดั้งเดิมคือเครื่องบินถูกศัตรูโจมตี Pete เสียสละตนเองเพื่อให้ลูกเรือคนอื่นรอดชีวิต)
เรื่องราวของ Pete Sandich (รับบทโดย Richard Dreyfuss) คือนักบินดับเพลิง ผู้ชื่นชอบชีวิตโลดโผน จนสร้างความไม่พึงพอใจต่อแฟนสาว Dorinda Durston (รับบทโดย Holly Hunter) พยายามโน้มน้าวให้เขาเลิกเล่นกับความเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ แล้วเครื่องบินของเพื่อนสนิท Al Yackey (รับบทโดย John Goodman) มีปัญหาเครื่องยนต์ขัดข้อง Pete เข้าไปช่วยเหลือ แต่กลับทำให้เขาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต
ภายหลังการตายของ Pete ตื่นขึ้นมาพบเจอกับพระเจ้า Hap (รับบทโดย Audrey Hepburn) อาจเพราะกรรมดีเคยทำไว้ก่อนตาย เลยได้รับแต่งตั้งเป็นวิญญาณผู้พิทักษ์ Ted Baker (รับบทโดย Brad Johnson) มีหน้าที่ชี้แนะนำ พูดคำกรอกหูอีกฝั่งฝ่าย แต่ก็ดูเหมือนไม่ค่อยช่วยอะไรสักเท่าไหร่ ถึงอย่างนั้นเขาก็มีโอกาสพบเจอ Dorinda เห็นการปรับตัว เปลี่ยนแปลง ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาแห่งสูญเสีย และเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง
ตัวละคร Pete Sandich ไม่ว่าจะ Spencer Tracy หรือ Richard Dreyfuss ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยเข้ากับบทบาทนี้สักเท่าไหร่ ทั้งสองอายุค่อนข้างมาก (เห็นผมหงอกบนศีรษะ) น่าจะพานผ่านอะไรมาเยอะ ภาพลักษณ์ไม่เหมือนนักบินผาดโผน/วัยรุ่นอารมณ์ร้อน มีความกล้าบ้าบิ่น ชอบเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย แต่ในแง่มุมความดื้อด้าน หัวรั้น นิสัยเอาแต่ใจ ต้องถือว่าพวกเขาไม่สองรองใคร
Holly Hunter ในบทบาท Dorinda Durston ถือเป็นไฮไลท์ของหนัง! แม้เกลือกกลั้วโคลนตมก็ยังคงความเป็นเพชรเจิดจรัส ทั้งชุดเดรสสีขาว รวมถึงอุปนิสัยใจคอ ‘รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง’ ความสูญเสียทำให้ตกอยู่ในสภาวะหมดสิ้นหวัง แม้ยังคงพยายามรักษาภาพภายนอกที่เข้มแข็ง แท้จริงแล้วกลับเปราะบาง เพียงกะเทาะเบาๆก็แตกหัก แต่เธอจักค่อยๆปรับเปลี่ยนตนเอง ยินยอมรับสภาพความจริง จนสามารถข้ามผ่านช่วงเวลาเลวร้าย และกางปีกโบยบินสู่เสรีภาพ
บทบาทของ John Goodman คอยสร้างสีสัน บรรยากาศผ่อนคลาย เต็มไปด้วยคารมคมๆคายๆ สีหน้ายียวนกวนประสาท แต่มิตรภาพผองเพื่อนไม่เป็นสองรองใคร และภายหลังการสูญเสียยังกลายเป็นป๊ะป๋า คอยปกป้องดูแล Dorinda ยุงไม่ให้ไต่ ไร่ไม่ตอม เรียกเสียงหัวเราะขบขันอยู่บ่อยครั้ง
ผมเสียดายบทบาทการแสดงสุดท้ายของ Audrey Hepburn ที่แทบไม่มีอะไรน่าจดจำ รับบท Hap (ย่อมาจาก Happy หรือเปล่า?) เทวดา/นางฟ้า ผู้มอบโอกาสให้กับ Pete กลายเป็นวิญญาณผู้พิทักษ์ คอยติดตาม ให้คำแนะนำ พูดกรอกหูโน่นนี่นั่น (แต่ไม่เห็นอีกฝ่ายจะคล้อยตามเลยสักนิด) ดูแล้วเหมือนพระเจ้าให้โอกาสตัวเขามากกว่า เพื่อว่าจะสามารถปล่อยละวางความหมกมุ่นยึดติด จักได้นอนตายตาหลับ ไปสู่สุขคติ
เกร็ด: สาเหตุที่ Hepburn ตอบตกลงแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ นอกจากเพื่อโอกาสร่วมงานผู้กำกับ Speilberg ยังนำค่าจ้าง $1 ล้านเหรียญ บริจาคการกุศลให้กับ UNICEF
ถ่ายภาพโดย Mikael Salomon (เกิดปี 1945) ตากล้องสัญชาติ Danish อพยพสู่สหรัฐอเมริกาช่วงปลายทศวรรษ 80s มีผลงานดังๆอย่าง The Abyss (1989), Always (1989), Backdraft (1991), มินิซีรีย์ Band of Brothers (2001), มินิซีรีย์ The Andromeda Strain (2008) ฯลฯ
งานภาพของหนังเต็มไปด้วยความโฉบเฉี่ยว กล้องเคลื่อนไหลอย่างมีชีวิตชีวา ตามสไตล์ลายเซ็นต์ผกก. Spielberg ความท้าทายคือฉากเครื่องบินโฉบลงมาดับไฟป่า นอกนั้นไม่มีอะไรให้พูดถึงสักเท่าไหร่, สถานที่ถ่ายทำหลักๆคือ Boise National Forest, Idaho
ตัดต่อโดย Michael Kahn ขาประจำของ Spielberg ร่วมงานกันมาตั้งแต่ Close Encounters of the Third Kind (1977), หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Pete Sandich สามารถแบ่งออกเป็นครึ่งแรก-ครึ่งหลัง เมื่อครั้นยังมีชีวิต-กลายเป็นวิญญาณผู้พิทักษ์
- ครึ่งแรก, เมื่อครั้นยังมีชีวิต
- ภารกิจดับเพลิง กับเหตุการณ์เฉียดเป็นเฉียดตาย
- งานเลี้ยงวันเกิด Dorinda Durston
- Dorinda พยายามเกลี้ยกล่อม Pete ให้ละเลิกพฤติกรรมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย
- Pete ให้ความช่วยเหลือเพื่อนสนิท เป็นเหตุให้ตนเองประสบโศกนาฎกรรม
- ครึ่งหลัง, กลายเป็นวิญญาณผู้พิทักษ์ (ชวนให้นึกถึง Wings of Desire (1987) อยู่ไม่น้อย)
- Pete ฟื้นคืนชีพกลายเป็นวิญญาณ พบเจอกับ Hap อธิบายหน้าที่ใหม่
- ออกติดตาม Ted Baker พบเจอแต่เรื่องวุ่นๆวายๆ
- ก่อนตระหนักว่า Ted แอบชื่นชอบ Dorinda ทำได้เพียงมองด้วยสายตาอิจฉาระหว่างดินเนอร์
- ภารกิจดับเพลิงครั้งใหม่ Dorinda แอบอาสาขึ้นบิน Pete คอยให้ความช่วยเหลืออยู่ข้างๆ
- หลังเหตุการณ์นั้นทำให้ Pete สามารถปล่อยละวาง อำนวยอวยพรขอให้โชคดี
การนำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองวิญญาณล่องลอย –ชวนให้ผมนึกถึง Wings of Desire (1987)– อาจสร้างความโคตรรำคาญให้ใครหลายคน นั่นเพราะคำพูดของ Pete ล้วนถูก Ted ทำหูทวนลม แทบไม่สามารถปรับเปลี่ยนสิ่งใด แล้วจะให้กลายเป็นวิญญาณผู้พิทักษ์ทำไมกัน? ผมมองว่าการหูทวนลมของ Ted ล้อกับพฤติกรรมก่อนหน้าของ Pete เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ไม่เคยรับฟังอะไรใคร -กรรมสนองกรรม- จุดประสงค์ก็เพื่อให้ตัวละครตระหนักถึงสันดานธาตุแท้ตัวเอง เรียนรู้ที่จะปล่อยวาง มอบความเชื่อมั่นแก่ผู้อื่น เพื่อท้ายสุดเขาจักได้ไปสู่สุขคติ/สรวงสวรรค์
เพลงประกอบโดย John Williams ขาประจำผู้กำกับ Spielberg ร่วมงานกันมาตั้งแต่ The Sugarland Express (1944), สำหรับ Always (1989) เต็มไปด้วยท่วงทำนองที่มีความอ่อนไหว (Sentimental) ให้ผู้ชมรู้สึกเคลิบเคลิ้ม ล่องลอยบนปุยเมฆ มอบสัมผัสของจิตวิญญาณ ที่มีทั้งความสุข-ทุกข์ ดีใจ-เศร้าโศก ยังคงโหยหาช่วงเวลาแห่งชีวิต ก่อนเรียนรู้ที่จะปล่อยวางทุกความหมกมุ่นยึดติด และไปสู่สุขคติ
สำหรับ Smoke Gets in Your Eyes ต้นฉบับแต่งโดย Jerome Kern, คำร้องโดย Otto A. Harbach, สำหรับละครเพลง Roberta (1933) และเคยประกอบภาพยนตร์ A Guy Named Joe (1943) ด้วยเช่นกัน! ฉบับที่ใช้ในหนังขับร้องโดย J. D. Souther
Pete Sandich เป็นบุคคลชื่นชอบความตื่นเต้นท้าทาย จนบางครั้งทำตัวโลดโผนเกินเลยเถิดไปไกล แถมไม่เคยสนใจใครอื่นรอบข้าง แม้แต่แฟนสาว Dorinda Durston ยังพยายามหักห้ามปรามก็ไม่เคยครุ่นคิดรับฟัง แถมยังกีดกันไม่ให้เธอกระทำสิ่งย้อนรอยแบบเดียวกับตนเองอีกต่างหาก
เพราะหนังนำเสนอผ่านมุมมองของ Pete (ไม่ใช่ Dorinda) เนื้อหาสาระจึงไม่ใช่แค่การก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาแห่งความเศร้าโศกเสียใจ (แต่คนส่วนใหญ่/ผู้ชมทั่วไป มักทำความเข้าใจได้แค่ประเด็นนี้) แต่คือบทเรียนเกี่ยวกับความเย่อหยิ่งทะนงตน บุคคลผู้ลุ่มหลงในตนเอง ชอบอวดอ้างปากดีว่าฉันเก่ง เลยกระทำสิ่งอันตราย ท้าความตาย โดยไม่รู้จักความรับผิดชอบต่อผู้อื่นใด ต้องรอให้ตกตายจริงๆก่อนหรือไร ถึงตระหนักในความโง่เขลา เบาปัญญาอ่อน
แต่เอาจริงๆหนังไม่ได้ต้องการหักห้ามบุคคลลักษณะเช่นนี้สักเท่าไหร่ เพราะมันคือ’เสรีภาพ’ในการแสดงออก ใครอยากจะทำอะไรบ้าบิ่นท้าความตายก็ตามสบาย เป้าหมายแท้จริงพยายามเสี้ยมสอนให้รู้จักความรับผิดชอบต่อตนเอง และมอบความเชื่อมั่นให้กับผู้คนอื่น
ถ้ามีคนที่เรารักและรักเรา ต้องการใช้ชีวิตครองคู่อยู่ร่วม เราก็ควรมองหาหนทางประณีประณอม โอนอ่อนผ่อนปรน แสดงออกอย่างให้เกียรติ เสมอภาคเท่าเทียม อย่ากระทำแต่สิ่งตอบสนองตัณหาส่วนตน แล้วปฏิเสธรับฟังความคิดเห็นของอีกฝั่งฝ่าย เรียนรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจ ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อตนเองและคนที่เรารัก ยินยอมรับในสิ่งเขาเป็น เปิดโอกาส มองโลกในมุมกว้าง สักวันหนึ่งทั้งเธอและเขาก็จักได้รับอิสรภาพ และไปสู่สุขคติ
- Pete Sandich เรียนรู้ที่จะปล่อยละวางชีวิต หมกมุ่นยึดติดกับแฟนสาว จนสุดท้ายก็ได้ไปสู่สุขคติ
- Dorinda Durston เรียนรู้ที่จะก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาแห่งการสูญเสีย หมกมุ่นยึดติดกับตนเอง และสามารถเริ่มต้นชีวิต/รักครั้งใหม่
เท่าที่ผมอ่านจากชีวประวัติผู้กำกับ Spielberg เล่าว่ามีโอกาสรับชม A Guy Named Joe (1943) ร่วมกับบิดา ซึ่งเคยเป็นทหารผ่านศึกช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สูญเสียเพื่อนฝูง ญาติพี่น้องมากมาย นั่นกระมังที่สร้างความประทับฝังใจไม่รู้เลือน ครุ่นคิดสรรค์สร้าง Always (1989) เพื่อส่งต่อเรื่องราวดีๆ ความเชื่อเกี่ยวกับชีวิต จิตวิญญาณของคนที่เรารัก จักยังคงอยู่เคียงข้างกันตลอดไป
หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง เสียงวิจารณ์ค่อนไปทางย่ำแย่ สัปดาห์แรกเปิดตัวแค่อันดับ 5 รายรับในสหรัฐอเมริกา $43.8 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $74.1 ล้านเหรียญ แค่เพียงคืนทุนเล็กๆน้อยๆ ไม่ถือว่าประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่
นอกจากการแสดงของ Holly Hunter, บทบาทสุดท้ายของ Audrey Hepburn และเพลงประกอบเพราะๆของ John Williams อะไรอย่างอื่นผมแทบไม่เห็นความน่าสนใจ รู้สึกผิดหวัง เสียเวลา เอาจริงๆไม่อยากเขียนบทความนี้ด้วยซ้ำ แต่ครุ่นคิดอยากให้คนที่ชื่นชอบโปรดปราน Always (1989) ได้พบเห็นมุมมองด้านอื่นของหนังบ้าง
แทนที่จะเสียเวลารับชม A Guy Named Joe (1943) หรือ Always (1989) ผมแนะนำให้ไปหา It’s a Wonderful Life (1946) หรือ Wings of Desire (1987) หรือ Ghost (1990) จะสร้างความตระหนักถึง ‘คุณค่าของชีวิต’ ได้ตราตรึงกว่าเป็นไหนๆ
จัดเรต PG กับพฤติกรรมสุดบ้าบิ่น และการหลอกตัวเอง
Leave a Reply