Amarcord (1973) : Federico Fellini ♥♥♥♥♡
(24/7/2019) สิ่งที่ผู้กำกับ Federico Fellini จดจำได้ไม่รู้ลืม (Amarcord แปลว่า I remember) คือช่วงชีวิตวัยเด็กที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานครึกครื้นเครง อลเวงปั่นป่วน อยากที่จะหวนกลับคืน แต่มิอาจฝืนธรรมชาติเป็นไปได้, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
นักวิจารณ์ทั้งหลายต่างถือว่า Amarcord (1973) คือภาพยนตร์ระดับ Masterpiece เรื่องสุดท้ายของปรมาจารย์ผู้กำกับ Federico Fellini ทั้งยังประสบความสำเร็จทำเงินสูงสุดในผลงานยุคหลัง (ของตนเอง) และสามารถคว้ารางวัล Oscar: Best Foreign Language Film
เกร็ด: ถ้าไม่นับ Honorary Award ผู้กำกับมีผลงานคว้า Oscar: Best Foreign Language Film มากที่สุดก็คือ Federico Fellini ประกอบด้วย La Strada (1954), Le notti di Cabiria (1957), 8½ (1963) และ Amarcord (1973) แต่ถ้านับรางวัลพิเศษด้วย จะเทียบเท่าเพื่อนร่วมชาติ Vittorio De Sica ที่ 4 รางวัลเท่ากัน
Amarcord เป็นภาพยนตร์ที่ตอนผมรับชมครั้งแรกชื่นชอบมากๆ แต่ไม่รู้ทำไมเหมือนกันเขียนถึงเมื่อสามปีก่อนกลับไม่ประทับใจสักเท่าไหร่ สงสัยจะดูตอนง่วงๆมึนๆทำงานหนัก หวนกลับมาครานี้ตระเตรียมกาย-ใจ ไว้ดีพร้อม ตกหลุมรักคลั่งไคล้ เคลิบเคลิ้มหลงใหลในสไตล์ลายเซ็นต์ Felliniesque ถึงจุดสมบูรณ์แบบที่สุดแล้วจริงๆ
นี่เป็นภาพยนตร์ที่มีเพียงสัมผัสเดียวเท่านั้น ‘Nostalgia’ หวนระลึกนึกย้อนถึงความทรงจำเมื่อครั้นวัยเด็กของผู้กำกับ Federico Fellini แม้เจ้าตัวจะให้สัมภาษณ์บอกว่า นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์อัตชีวประวัติ แค่สิ่งที่เคยพบเห็น พานผ่าน นำมารวบรวมร้อยเรียง ผสมผสานคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน … แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเชื่อนะครับ เพราะ Fellini ขึ้นชื่อว่าจอมโกหกพกลมอยู่แล้ว
“There is nothing autobiographical in Amarcord”.
– Federico Fellini
จริงๆ Fellini เคยสร้างภาพยนตร์ที่มีความใกล้เคียงอัตชีวประวัติมาแล้วครั้งหนึ่งคือ I Vitelloni (1953) ซึ่งถ้าใครรับชมสองเรื่องติดต่อกันคงตระหนักว่า แม้มีความคล้ายคลึงแต่ก็มิได้ใกล้เคียงกันสักเท่าไหร่ เพราะ Amarcord มิได้ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละครใดๆ แต่เป็นเมือง Rimini ในระยะเวลา 1 ปีเต็ม (พบเห็นครบ 4 ฤดูกาล Spring, Summer, Fall, Winter … and Spring)
Federico Fellini (1920 – 1993) ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติอิตาเลี่ยน หนึ่งในบุคคลทรงอิทธิพลสุดในวงการภาพยนตร์ เกิดที่ Rimini, Emilia-Romagna ในครอบครัวชนชั้นกลาง อาศัยอยู่บ้านติดทะเล Adriatic Sea ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบวาดรูป อ่านการ์ตูน เล่นหุ่นเชิด ตอนอายุ 6 ขวบ ได้รู้จักเปิดโลกทัศน์กับ Grand Guignol (โรงละครเวที) พบเห็นการแสดงของตัวตลกคณะละครสัตว์ รับชมภาพยนตร์ ละครเวที, พออายุ 17 เปิดร้านเล็กๆที่ Rimini รับจ้างวาดภาพ Portrait ทำโปสการ์ด เขียน Gag Writer ช่วงหนึ่งเป็นนักเขียนการ์ตูนรายสัปดาห์ สมัครเข้าโรงเรียนกฎหมายที่ University of Rome แต่ไม่เคยเข้าเรียนสักครั้ง เอาเวลาไปเขียนบททความ ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Marc’Aurelio, มีชื่อขึ้นเครดิตเขียนบทครั้งแรก Il pirata sono io (1943) ของผู้กำกับ Mario Mattoli, พบเจอ Giulietta Masino ปี 1942 แต่งงานกันปีถัดมา ลูกคนแรกแท้งเพราะตกบันได ลูกคนที่สองเกิดปี 1945 อายุเพียงเดือนเดียวเสียชีวิตจากโรคสมองอักเสบ (Encephalitis) พวกเขาจึงเพียงพอไม่เอาอีกแล้ว, หลังสงครามโลกครั้งที่สอง จับพลัดจับพลูพบเจอร่วมงานกับ Roberto Rossellini พัฒนาบทภาพยนตร์เรื่อง Rome, Open City (1945) เปิดประตูสู่ Italian Neorealism ตามด้วย Paisà (1946), ร่วมกำกับภาพยนตร์ครั้งแรกกับ Alberto Lattuada เรื่อง Variety Lights (1951), และฉายเดี่ยว The White Sheik (1952)
หลังเสร็จจาก Roma (1972) ซึ่งมีการนำเสนอภาพกรุงโรมในลักษณะคู่ขนาน ระหว่างอดีต-ปัจจุบัน ผสมคลุกเคล้าชีวประวัติผู้กำกับ Fellini นั่นเองทำให้เขาครุ่นคิดถึงผลงานลำดับถัดไป ต้องการเพียงหวนระลึกย้อนอดีต ความทรงจำวัยเด็ก ดำเนินเรื่องที่ Rimini อย่างเดียวเลย!
เพราะก่อนหน้านี้ I Vitelloni (1953) ได้เคยถูกนำเสนอเรื่องราวอัตชีวประวัติผ่านมุมมองตัวละคร (ที่เป็นอวตารของ Fellini) ไปเรียบร้อยแล้ว เพื่อไม่ให้ซ้ำแนวเดิม เลยสานต่อแนวคิดบางอย่างจาก Roma ที่เริ่มต้นด้วยคำท้าของนักเรียน/นักศึกษากลุ่มหนึ่ง เป็นไปได้หรือเปล่าที่จะสร้างภาพยนตร์ในมุมมองวัตถุ ‘an objective point of view’
ร่วมพัฒนาบทภาพยนตร์กับ Tonino Guerra (1920 – 2012) นักกวี/เขียนบท สัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำผู้กำกับ Michelangelo Antonioni, สำหรับ Amarcord เป็นการร่วมงานครั้งแรกกับ Fellini ก่อนติดตามมาด้วย And the Ship Sails On (1983) และ Ginger and Fred (1985)
เรื่องราวมีมุมมอง/จุดศูนย์กลางคือ Rimini, Emilia-Romagna ในระยะเวลา 1 ปีเต็ม
– เริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ: แนะนำตัวละคร, ประเพณีเผา Old Witch of Winter, โรงเรียนเปิดเทอม, พ่อสอนมารยาทบนโต๊ะอาหาร, สิ้นสุดที่วันฝนตก
– ฤดูร้อน: เริ่มต้นที่วันสารภาพบาป, ขบวนพาเรด Fascist, พ่อถูกจับโดนสุรากรอกปาก, ความฝันของ Gradisca, ฮาเร็มเจ้าชาย, และการเดินทางไปเยี่ยม Uncle Teo
– ฤดูใบไม้ร่วง: การมาถึงของเรือเดินสมุทร SS Rex, หลงทางท่ามกลางหมอกจัด, การแข่งรถ, Titta ถูกหยอกเย้าโดยหญิงขายบุหรี่ จนล้มป่วยไม่สบาย
– ฤดูหนาว: แม่ป่วยหนัก, เล่นปาหิมะ และพิธีศพ
– ปัจฉิมบท ฤดูใบไม้ผลิ: การแต่งงานของ Gradisca
นักแสดงเด่นๆของหนังประกอบด้วย, Armando Brancia (1917 – 1997) นักแสดงสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Naples, ก่อนหน้านี้มีผลงานตัวประกอบซีรีย์โทรทัศน์หลายเรื่อง กระทั่งแจ้งเกิดโด่งดังกับภาพยนตร์ Amarcord (1973)
รับบท Aurelio Biondi พ่อของ Titta เป็นหัวหน้าคนงานก่อสร้าง ผู้มีความเข้มงวดกวดขัน ชอบขึ้นเสียงใช้ความรุนแรงขณะหัวเสียอารมณ์ร้าย แต่ลึกๆแล้วมีจิตใจอ่อนไหว เป็นห่วงเป็นใยทุกคนในครอบครัว
การแสดงของ Brancia เกินกว่าครึ่งราวกับพายุเฮอร์ริเคนอารมณ์ที่โหนกระหน่ำ น่าสมน้ำหน้าด้วยซ้ำขณะถูกเหล้ากรอกปาก จนกระทั่งเมื่อภรรยาป่วยหนัก ผู้ชมถึงพบเห็นมุมอ่อนไหวซึ่งสะท้อนอีกด้านหนึ่งของจิตใจ ฉันไม่ได้อยากแสดงออกด้วยการขึ้นเสียง ใช้กำลังรุนแรง แค่ต้องการให้ครอบครัวอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติสุข รู้จักมารยาทสังคม ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร
Bruno Zanin (เกิดปี 1951) นักแสดงสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Vigonovo, Veneto เป็นลูกชาวนา ร่ำเรียนหนังสือจากโบสถ์จนอายุ 14 ปี มีเหตุบางอย่างให้ต้องหลบลี้หนีออกมา ถูกจับติดคุกระหว่างออกท่องอิตาลี จนมีโอกาสคัดเลือกนักแสดงได้รับบทนำ Amarcord (1973) เข้าสู่วงการแสดงโดยพลัน
รับบท Titta วัยรุ่นหนุ่มกำลังคึกคะนอง ชื่นชอบการกลั่นแกล้งหยอกล้อผู้อื่น เลยมักถูกพ่อ/ครูที่โรงเรียนลงโทษเป็นประจำ ซึ่งนั่นคงเป็นการเรียกร้องความสนใจ ปกปิตตัวตนแท้จริงที่เต็มไปด้วยความอ่อนไหว พบเห็นแม่ล้มป่วยเสียชีวิตแทบจะยินยอมรับความจริงไม่ได้
แค่ภาพลักษณ์ก็แลดูมีความเกเร หัวขบถ รอยยิ้มเสียงหัวเราะจากการหยอกล้อช่างใสซื่อบริสุทธิ์ ตรงไปตรงมา และเมื่อหลั่งน้ำตาชวนให้ใจหายใจคว่ำ ว่าไปละม้ายคล้ายคลึง Jean-Pierre Léaud นักแสดงนำเรื่อง The 400 Blows (1959) อยู่ไม่น้อยทีเดียว
หลายคนอาจครุ่นคิดว่า Titta น่าจะคืออวตารผู้กำกับ Fellini แต่ไม่ใช่นะครับ ผมอ่านเจอในบทสัมภาษณ์ เป็นเพื่อนสนิทวัยเด็กโรงเรียนเดียวกัน Luigi Benzi ชื่อเล่น Titta บิดาประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ต่างมีนิสัยชื่นชอบการกลั่นแกล้งเล่นผู้อื่นดังชีวิตจิตใจ
Titta ตัวจริงโตขึ้นเป็นทนายความ เมื่อมีโอกาสรับชมหนัง เห็นว่าจดจำตนเองได้โดยทันที! ชื่นชมในรายละเอียดเล็กๆมากมาย แม้จะผ่านมากว่า 40 ปี ก็ยังจดจำได้ไม่เสื่อมคลาย
นักแสดงที่ถือว่าเจิดจรัสสุดในหนังคือ Magali Noëlle Guiffray (1931 – 2015) นักร้อง/นักแสดงหญิง เกิดที่ İzmir, Turkey ครอบครัวเป็นชาวฝรั่งเศส ด้วยความหลงใหลด้านการแสดง โตขึ้นมุ่งสู่ปารีส สมทบภาพยนตร์ดังๆอย่าง Seul dans Paris (1951), Rififi (1955), Les Grandes Manœuvres (1955), เคยร่วมงานกับ Fellini ตั้งแต่ La Dolce Vita (1960), Fellini Satyricon (1969) และ Amarcord (1973)
รับบท Gradisca ช่างทำผม ผู้มีความเพ้อฝันต้องการตกถังข้าวสาร พานพบเจอ แต่งงานกับเจ้าชาย หรือใครก็ได้ที่ร่ำรวยเงินทอง มีชื่อเสียง หน้าตาในสังคม (ไม่จำเป็นต้องหล่อเหลา) เพื่อชีวิตต่อจากนี้จะได้มีความสุขสบาย ไม่ต้องทำอะไรวันๆก็มีชีวิตอยู่ได้
Noëlle มีความงามไฮโซเป็นจุดเด่น สวยหรูแบบดูมีสไตล์ แต่งชุดอะไรก็ออกมาดูดีเจิดจรัส ชวนให้เด็กหนุ่มเพ้อฝันใฝ่ อยากครอบครองเป็นเจ้าของ ดอกฟ้าหรือจะหันมามองหมาวัด เธอเฝ้ารอคอยแต่เจ้าชายขี่ม้าขาว โหยหาความร่ำรวยที่ยั่งยืนนาน พบพานเมื่อไหร่ก็จะพลีกายถวายทุกสิ่งอย่าง … แต่ตอนจบนั้น นั่นนะหรือ Gary Cooper ที่ตัดสินใจเลือก!
สังเกต: ชุดของ Gradisca เริ่มต้นจะแดงทั้งตัว แต่จะน้อยชิ้นลงเรื่อยๆ (ยังมีสีแดงให้เป็นจุดสังเกต) กระทั่งท้ายสุดตอนแต่งงาน ชุดเจ้าสาวขาวทั้งตัว ไม่หลงเหลือสีแดงใดๆอยู่อีก
ถ่ายภาพโดย Giuseppe Rotunno ตากล้องในตำนานของอิตาเลี่ยน ผลงานเด่นๆ อาทิ Rocco and His Brothers (1960), The Leopard (1963), Amarcord (1973), All That Jazz (1979) ฯ
ถึงพื้นหลังจะคือ Rimini, Emilia-Romagna แต่หนังไม่ได้มีการออกเดินทางไปยังสถานที่จริงเลยนะครับ ทั้งหมดถ่ายทำยังสตูดิโอ Cinecittà Studios, Rome
เรียกได้ว่าจุดสูงสุดของ Felliniesque งานภาพมีความลื่นไหล ล่องลอย นำพาผู้ชมราวกับอยู่ในความเพ้อฝันจินตนาการ เต็มไปด้วยสิ่งสัญลักษณ์ การกระทำแปลกๆมากมาย มีความสมมาตรและทุกสิ่งอย่างเวียนวนดั่งวัฏจักรชีวิต
ประเพณีเผา Old Witch of Winter จุดประสงค์ก็เพื่อขับไล่หน้าหนาวให้จากไป ก้าวสู่ฤดูใหม่ ปีใหม่ เริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ
“My grandfather made bricks
My father made bricks
I make bricks, too
but where’s my house?
เป็นบทกวีที่สะท้อนวิถีชีวิตชนชั้นกรรมกร/ล่าง ได้อย่างเจ็บแสบมากๆเลยละ ทำไมพวกเขาถึงไม่มีอะไรๆดีขึ้นจากเดินเลยสักนิด … คำตอบเพราะสวัสดิการรัฐยังเข้าไม่ถึงชุมชนบท นี่เป็นการเสียดสี Italy Fascist ยุคสมัยนั้นตรงๆเลยนะ
ศาสนาคือรากฐานของประเทศอิตาลี แต่บาทหลวงคนนี้กลับแทบไม่ใยดี Titta สารภาพบาปไปตามหน้าที่ ความสนใจของเขากลับอยู่ที่อะไรก็ไม่รู้ มีเรื่องให้ขัดจังหวะอยู่เรื่อยๆ
มันเกิดเหตุไฟไหม้หรืออะไรขึ้นก็ไม่รู้ละ แต่แทนที่ขบวนพาเรด Fascist จะเดินออกมาอย่างสง่าผ่าเผย กลับได้ยินเพียงเสียงโหวกเหวกล่องลอยมาตามสายลม ไม่มีใครมองเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นเบื้องหลัง
จะมองว่าเป็นกรรมสนองของพ่อก็ยังได้ ที่ชอบขึ้นเสียงต่อว่าลูกชาย ปากเปียกปากแฉะ เลยถูกเจ้าหน้าที่ Fascist นำเหล้ากรอกปาก แต่นัยยะเชิงสัญลักษณ์คือการบีบบังคับให้ยึดถือมั่นในอุดมการณ์ เชื่อมั่นในท่านผู้นำสูงสุด Il Duce
ฉากใน Grand Hotel ถูกถ่ายทอดออกมาในลักษณะเหมือนฝัน
– เรื่องราวของ Gradisca สะท้อนสิ่งที่อยู่ในจินตนาการออกมา อยากครอบครอง ตกหลุมรักเจ้าชาย
– ขณะที่ชายแก่คนหนึ่ง ได้ร่วมรักฮาเร็มกับหญิงสาว 28 คน
เรื่องราวของ Uncle Teo ปืนขึ้นบนต้นไม้ ร้องเรียกหาอิสรภาพ ตะโกนโหวกเหวกต้องการหญิงสาว! จะว่าไปราวกับเสียงเพรียกเรียกร้องของประชาชาที่มีต่อ Fascist (ในมุมผู้กำกับ Fellini)
ผมเลือกช็อตพระอาทิตย์กำลังตกดิน ที่มีความสวยงามมากๆ ประจวบกับทีมจิตแพทย์เดินทางมาถึงพอดี ไม่ต้องทำอะไรให้มากความ Uncle Teo ยินยอมศิโรราบลงจากต้นไม้โดยดี … นี่สะท้อนถึงความเผด็จการเบ็ดเสร็จของ Fascist สามารถควบคุม ครอบงำ ชี้ชักนำ สั่งการให้ใครทำอะไรก็ได้ดังใจ มิอาจปฏิเสธขัดขืน เพราะมิเช่นนั้นอาจโดนดีแบบเจ็บแสบ
หนึ่งในลายเซ็นต์ Felliniesque ที่พบเห็นปรากฎอยู่แทบทุกๆผลงาน ผมขอเรียกว่า ‘Fellini Walk’ กล้องเคลื่อนไถลหรือแพนนิ่งไป นักแสดง ตัวประกอบ รถรา เกวียน สรรพสัตว์ ต่างเดินอย่างพร้อมเพรียง ทิศทางเดียวกันหรือสลับสวนไปมา
ลักษณะการเดิน ‘Fellini Walk’ มันจะมีเอกลักษณ์บางอย่างที่ผู้ชมจะสามารถสังเกตจับต้องได้ นั่นคือจังหวะย่างก้าวที่มีความสอดคล้องราวกับการเต้น นั่นเพราะระหว่างถ่ายทำจะมีการเปิดเพลงบรรเลงประกอบไปด้วย (หนังใช้การพากย์เสียงทับภายหลัง)
อีกช็อตที่สุดแสนงดงาม ระหว่างแล่นเรือเพื่อออกไปต้อนรับ SS Rex ที่กว่าจะมาถึงก็เกือบเที่ยงคืน ออกเดินทางกันตั้งแต่ตะวันยังไม่ตกดิน รีบร้อนเห่อกันจริงจัง
ในความเป็นจริงนั้น SS Rex ไม่เคยเคลื่อนผ่าน Rimini เพราะเรือแล่นออกทะเล Mediterranean แต่เมืองนี้อยู่อีกฝั่งทะเล Adriatic (คนละด้านกันเลยละ) นี่น่าจะเป็นการสะท้อนความเพ้อใฝ่ฝันจินตนาการของผู้กำกับ Fellini แม้อาจมิเคยพานพบเห็นกับตา ได้เติมเต็มในโลกภาพยนตร์ก็ยังดี
เกร็ด: มีอยู่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ SS Rex แล่นผ่านเมือง Remini นั่นคือช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ถูกทิ้งระเบิดได้รับความเสียหายอย่างหนัก และจมลงที่ท่าเรือ Trieste
การมาถึงของหมอกลงหนาจัด ทำให้เด็กๆกล้าที่จะทำในสิ่งไม่มีใครมองเห็น นั่นคือการเด้นรำไปกับสายลม … ผมว่ามันเป็นฉากที่งดงามโรแมนติก และมีความเป็นกวีมากๆ แฝงนัยยะถึงความโดดเดี่ยว ลำพัง อนาคตล้วนเป็นของพวกเขาเอง ไม่มีใครจับครองคู่หรือต้องนำเต้นกับใคร
แฟนตาซีของ Titta ที่มีความลุ่มหลงใหลต่อสาวขายยาสูบ ได้รับการตอบสนองที่จักกลายเป็นปม Trauma ของตนเอง ถูกยัดเยียด บดขยี้ จนหายใจไม่ออก … นี่เช่นกันสะท้อนลักษณะของเผด็จการ Fascist ปลูกฝังอุดมการณ์โน่นนี่นั่นจนเกินกว่าใครจักสามารถทนรับไหว
นกยูง ในบริบทนี้น่าจะคือสัญลักษณ์ของอิสรภาพ แม้ท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเหน็บ หิมะตก แต่มันก็ยังสยายกางปีก รำแพนหางได้อย่างงดงามวิจิตร สะกดจิตใจใครๆทั้งหลายพานพบเห็น ตราตรึงไปกับมัน
วัฏจักรในรอบ 1 ปีของหนัง แน่นอนว่าต้องพบเห็นการเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย สุดท้ายในช่วงหิมะตก อากาศหนาวเหน็บ เย็นทั้งกาย-ใจ และในพิธีศพ ความมืดมิดเข้าปกคลุมทุกสิ่งอย่าง
หนังไม่ทำให้ผู้ชมจมอยู่ในความสูญเสียนานนัก แค่เพียงเสี้ยวพริบตาเดียวก้าวสู่ฤดูกาลใหม่ งานแต่งงานของ Gradisca กับพระเอก Gary Cooper สำเร็จสมหวังดั่งใจ
ตัดต่อโดย Ruggero Mastroianni น้องชายนักแสดงชื่อดัง Marcello Mastroianni ที่ได้กลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Fellini ตั้งแต่ Juliet of the Spirits (1965)
หนังดำเนินเรื่องโดยมีจุดศูนย์กลางของคือเมือง Rimini, Emilia-Romagna ในระยะเวลา 1 ปี ที่พอจะสังเกตเห็นความผันแปรเปลี่ยนระหว่างฤดูกาล
– การมาถึงของเกสร Poplar ตัวแทนฤดูใบไม้ผลิ และสิ้นสุดเมื่อตอนฝนตก
– อาการร้อน แดดแรง ย่อมแทนด้วยฤดูร้อน
– หมอกลงจัด ใบไม้เริ่มร่วงหล่น ก้าวเข้าสู่ Autumn/Falls
– และหิมะ = จุดเริ่มต้นฤดูหนาว
บ่อยครั้งที่ตัวละครจะหันมาพูดคุยสนทนาต่อหน้ากล้อง ‘Breaking the Fourth Wall’ ซึ่งไม่เพียงบรรยายเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่างๆ แต่ยังสร้างความสนิทสนมมักคุ้นเคยให้กับผู้ชม และบางครั้งจะนำเข้าสู่จินตนาการ แฟนตาซี หรือย้อนอดีตไปช่วงเวลาก่อนหน้าเล็กน้อย (หนังของ Fellini จะขาดสิ่งเหล่านี้ไปได้เช่นไร)
เพลงประกอบโดยอัจฉริยะ Nino Rota ที่ได้รังสรรค์ท่วงทำนองสุดไพเราะเพราะพริ้ง กลิ่นอายความทรงจำที่หอมหวน ตลบอบอวลด้วยรอยยิ้มแสนหวาน ฟังสบายผ่อนคลาย จินตนาการล่องลอยไป หวนระลึกถึงอดีตเมื่อไหร่ อิ่มอกอิ่มใจทุกครั้งคราว
ในบรรดาภาพรวมเพลงประกอบภาพยนตร์ของ Rota ส่วนตัวมีความ’ฟิน’ชื่นชอบ Amarcord มากที่สุดแล้ว แต่ถ้าเฉพาะบทเพลง Ma La Vita Continua (But Life Continues) จากเรื่อง Le notti di Cabiria (1957) ตราตรึงเกินกว่าสรรหาคำมาพรรณา
หนังของ Fellini จะต้องมีฉากหนึ่งที่บทเพลงมีลักษณะสนุกสนาน ครึกครื้นเครง ราวกับอยู่ในคณะละครสัตว์ ตัวละครก้าวเดินเคลื่อนผ่านหน้ากล้องไป ซึ่งเรื่องนี้คือ Tutti a Vedere il Rex ขณะที่ชาวเมือง Rimini แข่งกันล่องเรือเพื่อออกไปยลโฉมเรือข้ามสมุทร SS Rex ที่กว่าจะมาก็เที่ยงคืน ไม่รู้จะรีบเร่งกันไปไหน
คำว่า Amarcord ที่ถูกจริงๆในภาษาพื้นเมือง Romagnolo คือ a m’arcord (แปลว่า I remember) แต่จากบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับ Fellini บอกว่าเป็นการผสมคำใหม่ระหว่าง
– amare แปลว่า to love
– cuore แปลว่า heart
– ricordare แปลว่า to remember
– และ amaro แปลว่า bitter
ซึ่งปัจจุบันคำว่า Amarcord ได้มีความหมายใหม่จากภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการหวนระลึก ‘Nostalgia’ ถึงอดีตที่แสนหวาน ความทรงจำเก่าก่อนที่ยังคงคุกรุ่นในจินตนาการ
ถึงจะบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เกี่ยวกับความทรงจำ แต่ผู้ชมก็สามารถสังเกตเห็นมุมมอง ทัศนคติหลายๆอย่างของผู้กำกับ Fellini แทรกใส่อยู่ในไดเรคชั่นนำเสนอ อาทิ
– ระบบการศึกษาที่เชื่องช้าล้าหลัง ครูไม่ได้เอาใจใส่นักเรียนเท่าที่ควร มองความผิดเล็กๆทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่โต
– สถาบันครอบครัว พ่อใช้ความเผด็จการ ปากเสียง ความรุนแรงในการปกครองบุคคลใต้สังกัด
– ระบบการทำงาน สวัสดิการสังคมที่ยังไม่ก้าวหน้าไปไหน คนทำอิฐกี่ปีกี่ชาติก็ยังทำอิฐอยู่อย่างนั้น
– การมาถึงของ Fascist แทนที่จะให้มีความยิ่งใหญ่อลังการ เริ่มต้นกลับปกคลุมด้วยหมอกควันจนมองอะไรแทบไม่เห็น สะท้อนอนาคตที่มืดหมองมัวในยุคสมัยดังกล่าว
– พ่อถูกเจ้าหน้าที่ Fascist นำเหล้ากรอกปาก สะท้อนถึงการบีบบังคับให้ชาวอิตาเลี่ยนยึดถือมั่นในอุดมการณ์ ไร้ซึ่งอิสรภาพในการครุ่นคิดตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง
– สาวๆโสเภณีที่เข้ามาในเมือง Rimini ถูกจัดแจงโดยแม่เล้า เพื่อนำมาปรนเปลอปรนิบัติผู้มีอำนาจ กอบโกยผลประโยชน์ เงินทองมากมาย
– ระหว่าง Titti กำลังทำการสารภาพบาป กลับจินตนาการถึงหญิงขายบุหรี่ ต่อด้วย Gradisca พอเสร็จสิ้นก็พร้อมเพื่อนๆ ช่วยตนเองบนรถในโรงนา สะท้อนถึงศาสนาหาได้เป็นสิ่งจรรโลงใจมนุษย์แม้แต่น้อย
– การแต่งงานของ Gradisca แลดูเหมือนว่าจะได้พบเจ้าชาย มีชีวิตสุขสมหวังดั่งใจ แต่สังเกตว่าเธอถูกฉุดขึ้นรถ โยนดอกไม้ไม่มีใครรับ สามีแต่งเครื่องแบบทหาร Fascist อนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้าช่างมืดหมองหม่นเสียจริง!
สำหรับผู้กำกับ Fellini ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่แค่อดีตทรงจำ แต่คือภาพเพ้อฝันจินตนาการ เพราะโลกใบดังกล่าวได้เกิดขึ้นพานผ่านจบสิ้นสุดลงไปนานแล้ว ปัจจุบันขณะนั้นอะไรๆล้วนปรับเปลี่ยนแปลงไป ไม่สามารถย้อนวันวานให้หวนกลับคืนมา
ผลงานของ Fellini นับตั้งแต่ Amarcord เป็นต้นไป แทบจะทอดทิ้งปัจจุบันไปโดยสิ้นเชิง จมปลักอยู่กับเรื่องราวย้อนอดีต ความทรงจำ เพ้อฝันจินตนาการ ไม่ก็หวนระลึกถึงช่วงเวลาสุดแสนหวาน เช่นกันกับสไตล์ลายเซ็นต์ Felliniesque ค่อยๆเสื่อมความน่าสนใจไปตามกาลยุคสมัย
หนังไม่มีรายงานทุนสร้างหรือรายรับ บอกแค่ว่าเป็นผลงานของ Fellini ประสบความสำเร็จทั้งเสียงตอบรับ และทำเงินมากสุดแห่งทศวรรษ 70s โดยกลายเป็นตัวแทนประเทศอิตาลี เข้าชิงและคว้า Oscar: Best Foreign Language Film เมื่อปี 1975
แต่ไม่จบเท่านี้ ปีถัดมา 1976 เข้าฉายในสหรัฐอเมริกา ปรากฎว่าได้ลุ้น Oscar อีก 2 สาขา (แต่รอบนี้ไม่ได้ลุ้นรางวัลใดๆ)
– Best Director
– Best Original Screenplay
แซว: มีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยพอสมควรนะครับ เพราะสาขา Best Foreign Language Film ไม่จำเป็นว่าหนังต้องเข้าฉายในสหรัฐอเมริกาปีนั้น แค่ว่าในประเทศนั้นๆก่อนเดือนตุลาคมเป็นพอ ซึ่งถ้าเข้าฉายสหรัฐอเมริกาปีถัดไป คุณภาพยอดเยี่ยมดีพอ ก็ยังมีสิทธิ์ลุ้นรางวัลอื่นๆ (ที่ไม่ใช่สาขาต่างประเทศ)
นอกจากสไตล์ลายเซ็นต์ Felliniesque สิ่งที่โดยส่วนตัวคลั่งไคล้มากๆ คือบทเพลงประกอบของ Nino Rota ท่วงทำนองนุ่มๆ หอมหวนคุกกรุ่นออกจากเตายามเช้า ฟังแล้วผ่อนคลายเบาสบาย ล่องลอยกายใจ หวนระลึกถึงอดีตที่แสนหวาน สู่ความทรงจำอันเป็นนิรันดร์
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจไม่ได้แฝงข้อคิดทางศีลธรรมอันใดที่เป็นประโยชน์ แต่สัมผัสบรรยากาศแห่งการหวนระลึกถึง ‘Nostalgia’ จะทำให้ผู้ชมเกิดความอิ่มเอิบ เบิกบาน รอยยิ้มสุขสำราญ และตระหนักถึงคุณค่าแห่งชีวิต ความทรงจำที่จะอยู่กับเราตราบจนวันตาย
จัดเรต 13+ กับความหมกมุ่นเรื่อง Sex, อคติต่อ Fascist และคริสต์จักร
คำโปรย | เศษเสี้ยวความทรงจำของ Federico Fellini ที่ปรากฎใน Amarcord ช่างมีความงดงาม ตราตรึง สมบูรณ์แบบ
คุณภาพ | มาสเตอร์พีซ
ส่วนตัว | ตกหลุมรัก
Amarcord (1973)
(21/1/2016) หนึ่งในหนังของ Federico Fellini ที่ได้ Oscar สาขา Best Foreign Language Film ซึ่งหนังยังได้เข้าชิงอีก 2 สาขาคือ Best Director และ Best Writing, Original Screenplay แต่ไม่ได้ไป นิตยสาร Sight & Sound จัดอันดับหนังเรื่องนี้ที่ 124 (ชาร์ทนี้แค่ติดอันดับก็ถือว่าเยี่ยมมากๆแล้ว)
คำว่า Amarcord เป็นภาษา Romagnol (ภาษาทางเหนือของ Italy) แปลว่า I remember นี่เป็นหนังกึ่งอัตชีวประวัติ semi-autobiographical แบบ coming-of-age เป็นเรื่องราว 1 ปีของคนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยในเมืองหนึ่ง นี่เป็นหนังที่ดีที่สุดของ Fellini หลังจากยุค 1970 ไปแล้ว มันดูเหมือนพลังในการทำหนังของเขาลดลงพอสมควร ซึ่ง Amarcord ถ้าพูดกันตามตรงก็เหมือน Fellini ไม่รู้จะเล่าอะไรแล้ว ส่วนผสมของ Amarcord สามารถเห็นได้บ่อยในหนังของ François Truffaut แต่หนังเรื่องนี้ก็ใส่ความเป็น Fellini ไว้เต็มๆ ซึ่งความเป็นหนังของ Fellini นี่เองทำให้หนังมีสัมผัสที่แตกต่าง การเล่าเรื่องที่เหมือนกับการนอนฝันกลางวัน เสียดสีสังคม ศาสนาได้อย่างเฉียบขาด
ยุคหลังๆของการทำหนัง Fellini เขามุ่งประเด็นไปที่ Sexual และ Politic มากขึ้น เราจะเห็น Sex Symbol ในหนังเรื่องนี้ชัดเจนมากๆ ผมไม่รู้ว่ามุมมองเรื่อง Sex ของ Italy ปัจจุบันเป็นยังไง แต่จากหนังมันเหมือนเมืองไทยตอนนี้ ที่เรายังคงมอง Sex เป็นสิ่งที่ไม่ควรพูดถึงนัก ผมชอบฉากสารภาพบาปในโบสถ์นะ ที่บาทหลวงถามว่าช่วยตัวเองบ้างไหม แล้วชายหนุ่มก็จินตนาการไปไกล ตัดกลับมาบอกกับบาทหลวงว่า 2-3 ครั้ง สำหรับ Politic ก็ชัดเจนในหนังเช่นกัน ผมชอบ long take ที่ตั้งกล้องไว้แล้วคนในเมืองยืนรอทหารออกเดินออกมา แต่กลับแทนที่จะได้เห็นกลับมีควันลอยออกมาบดบังทัศนียภาพก่อน แต่ทหารก็เดินฝ่าควันนั้นออกมา ความหมายมันชัดเจนมากๆนะครับแต่เชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่เข้าใจเท่าไหร่ ผมพอจะรู้ว่าในยุค 1900 ต้นศตวรรษ Italy นั้นปกครองด้วยระบบ Fascist ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดของตนคือคนชั่วร้าย ในหนังจะมีตัวละครหนึ่งที่ไม่ได้ทำผิดอะไรเลย แค่ไม่ได้กินไวน์ที่ทหารสั่ง ก็ถูกลงโทษ
หนังสะท้อนระบอบทุนนิยมและระบบชนชั้นได้ยอดเยี่ยมมากๆ มีกลอนบทหนึ่งที่ตัวละครในหนังพูด ซึ่งฟังแล้วเห็นภาพความจริงในสังคมขณะนั้นเลย นี่เป็นคำพูดที่น่าจดจำที่สุดในหนังเรื่องนี้
My grandfather made bricks
My father made bricks
I make bricks, too
but where’s my house?
หนังเรื่องนี้ถ้าไม่สังเกตดีๆจะแทบมองไม่เห็นเลย ว่ามีการดำเนินเรื่องผ่านตัวละครไหน (ใครคือตัวเอง) คำตอบคือ ไม่ได้ดำเนินเรื่องผ่านตัวละครไหนเป็นพิเศษ Roger Ebert มองว่า เมืองคือตัวละครหนึ่ง ซึ่งถ้ามองแบบนี้ก็น่าจะเคลียร์เลยนะครับว่า หนังดำเนินเรื่องโดยใช้เมืองเป็นจุดศูนย์กลาง ไม่ใช่ตัวละครที่เป็นมนุษย์ แต่ก็มีนักแสดงที่ต้องพูดถึง โดยเฉพาะ Armando Brancia ที่เล่นเป็นพ่อของ Titta ที่ระเบิดพลังสุดๆเลย เป็นบทที่เขาได้รับการจดจำอย่างที่สุดใน Italy และ Bruno Zanin เด็กชายที่เล่นเป็น Titta นี่เป็นหนังเรื่องแรกของเขา เทียบกันเขาก็คือ Jean-Pierre Léaud ในหนังของ François Truffaut
เหตุการณ์ 1 ปีในหนัง เริ่มจากจุดสิ้นสุดฤดูหนาว วนไปจนถึงฤดูหนาวที่เริ่มขึ้นมาใหม่ ไม่มีจุดไหนบอกว่า 1 ปี แต่เราก็สามารถคาดเดาได้จากฤดูกาลที่เปลี่ยนไป เสื้อผ้า และคำพูดของตัวละคร เห็นว่าหนังถ่ายทำกันเกือบทั้งปีเลย เพราะต้องถ่ายฉากหิมะตกไปจนถึงฤดูร้อน สถานที่ถ่ายทำก็ใช้สถานที่จริงทั้งหมด
ถ่ายภาพโดย Giuseppe Rotunno เขาเป็นตากล้องขาประจำในยุคหลังๆของ Fellini เคยได้เข้าชิง Oscar ครั้งหนึ่งจากหนังเรื่อง All That Jazz มีหลายฉากทีเดียวที่คารวะหนังของ François Truffaut (ผมแนะนำให้ดู The 400 Blow ก่อนดู Amarcord นะครับ จะเห็นชัดเลย) แต่ยังคงไว้ซึ่งสไตล์การเต้นเข้าฉากของหนัง Fellini ทุกฉากในหนังจะรู้สึกมีชีวิตชีวา และนี่เป็นหนังภาพสี ที่ทำให้ความรู้สึกของภาพสมจริงมากขึ้น ฉากเปิดเรื่องนี่มันช่างวุ่นวาย เราอาจจะไม่ทันสังเกตว่าตัวละครไหนเป็นใคร มีบทบาทสำคัญอะไร แต่ถ้าเราดูจนจบแล้วเปิดกลับไปดูต้นเรื่องใหม่ เราจะเห็นทุกตัวละครในฉากนี้เหตุการณ์เกิดขึ้นกลางคืน และจะได้เจอทุกตัวละครพร้อมหน้ากันอีกครั้งในฉากตอนจบฉากงานเลี้ยงแต่งงานนอกเมืองที่เหตุการณ์เกิดขึ้นตอนกลางวัน เป็นอีกครั้งที่ Fellini สร้างความสมดุลระหว่างต้นเรื่องกับท้ายเรื่อง
ตัดต่อโดย Ruggero Mastroianni เขาเป็นน้องชายของ Marcello Mastroianni ที่เล่น La Dolce Vita ของ Fellini คงเพราะเหตุนี้ละมั้ง ที่ทั้งคู่กลายเป็นเพื่อนสนิทกัน เห็นว่าตัดต่อหนังให้กับ Fellini หลายสิบเรื่องเลย (ในยุคหลังๆ) นี่เป็นหนังของ Fellini อีกเรื่องที่มีการตัดต่อสลับไปมาระหว่างเรื่องจริง ความฝัน อดีตและจินตนาการ ซึ่งหนังทั้งเรื่องก็มีความรู้สึกเหมือนกับภาพความทรงจำในอดีตของ Fellini เอง
เพลงโดย Nino Rota ใน Amarcord จะมีเพลงที่ฟังแล้วติดหูอยู่เพลงหนึ่ง ฟังแล้วจะรู้สึกเหมือนว่าเรากำลังนั่งพิงโซฟา หน้ากองไฟ สูบไพค์ อารมณ์ผ่อนคลายมากๆ ลองฟังดูนะครับ รู้สึกแบบเดียวกับผมไหมเอ่ย
หนังเล่าเรื่องราวผ่านเด็กชายคนหนึ่ง เหตุการณ์ที่เขาเจอในเมืองแห่งหนึ่ง ในระยะเวลา 1 ปี มีลักษณะเหมือนไกด์ทัวร์ รอบๆเมืองใน 1 seasons เชื่อว่าใครก็ตามที่ได้ดู คงมีความรู้สึก nostalgia มากๆ แต่ไม่ใช่กับผมนะ คิดอยู่นานทีเดียวทำไมผมไม่รู้สึก nostalgia กับหนังเลย ก็พบว่า ผมดูอนิเมะ Slice-of-Life ของญี่ปุ่นมากไปนั่นเอง เพราะว่าแทบจะทุกเรื่องของอนิเมะ Slice-of-Life จะเป็นชีวิตวัยเรียนของเด็กมัธยม ซึ่งจะเล่าเรื่องผ่านปีการศึกษา เริ่มต้นจากเปิดเทอม ดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ ผ่านวันต่างๆ เทศกาลต่างๆ ฤดูกาลต่างๆที่เปลี่ยนไป คริสมาส ปีใหม่วาเลนไทน์ summer camp, school festival ทุกเรื่องจะมีอารมณ์ nostalgia อยู่ พอครบปีก็จะพูดว่า “ปีนึงผ่านไปเร็ว” เฉกเช่นนี้เองที่ผมไม่รู้สึก nostalgia กับหนังเรื่องนี้เลย แต่ก็เชื่อว่าคนดูอนิเมะไม่บ่อย อาจจะเข้าถึงความรู้สึกนี้ได้
และด้วยความที่ไม่รู้สึก nostalgia ในหนัง ทำให้ผมรู้สึก so-so กับหนังมาก มันอาจจะมีหลายฉากที่ดูบ้าคลั่ง และคิดได้ยังไง แต่สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ใช่อะไรที่จะทำให้ผมชอบนะ อย่างฉากลูกพี่ลูกน้องที่เข้าโรงพยาบาลบ้า ไปเยี่ยมญาติที่ชนบทแล้วปีต้นไม้ ในหนังจะมีตัวละครพ่อที่อารมณ์ฉุนเฉียวมากๆ (ผมเล่น GTA V อยู่ นึกมาได้ว่าเหมือนกับตัวละคร Michael เลย) แต่เมื่อมาเจอกับลูกพี่ลูกน้องที่บ้าจริงๆ (นึกถึง Trevor) ความบ้ามันคนละระดับแบบสู้กันไม่ได้เลย ฉากที่พ่อให้แม่และลูกๆขึ้นรถ ตะโกนบอกว่าจะทิ้งแล้วนะถ้าไม่ลงมา เชื่อว่าในชีวิตท่านต้องเคยเจอพ่อแม่พูดอะไรแบบนี้แน่ๆ ถ้าลูกไม่รีบพ่อจะไม่รอแล้วนะ ในหนังมันเอาจริงเลยแหะ คือขับรถหนีจริงๆ (แต่ก็แอบไปหลบมุม) ฉากนี้ผมหัวเราะท้องแข็งเลย เอาจริงดิ ระดับความบ้ามันสู้กันไม่ได้จริงๆ …
นี่เป็นหนังของ Fellini อีกเรื่องหนึ่งที่เต็มไปดัวยสัญลักษณ์มากมาย (ดังจะเห็นได้ในโปสเตอร์) กองไฟเผาแม่มดต้นเรื่องที่เป็นสัญลักษณ์ของความหวัง, เรือที่ล่องผ่านกลางมหาสมุทรคือความลึกลับและสิ่งที่เป็นราวกับความฝัน, นกยูงกลางหิมะ ความที่นี่เป็นหนังสี Fellini ก็จัดเต็มเรื่องความฉูดฉาก แต่ความหวือหวาด้าน Production ลดลงไปสมควร แต่กลับมาด้วยเรื่องราวที่เสียดสี ล้อเลียน จริงจังและหนักแน่นมากขึ้น เป็นส่วนผสมที่ลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อดีเดียว
ผมแนะนำหนังเรื่องนี้ให้กับแฟนหนัง Fellini ว่าต้องดูให้ได้ คนที่ชอบดูหนังที่ทำให้คิดถึงความหลัง แต่กับคนดูหนังทั่วไป ผมจะไม่แนะนำเท่าไหร่ ไม่ใช่หนังดูยากนะ แต่ดูแล้วอาจจะไม่คุ้นเคยสไตล์ของ Fellini เท่าไหร่ แต่ถ้าไม่ดูหนัง ผมแนะนำให้ฟังเพลงของ Nino Rota นะครับ ระหว่าง 8 1/2 กับ Amarcord ผมยังเลือกไม่ได้ว่าจะชอบเพลงจากหนังเรื่องไหนมากกว่ากัน เพราะมากๆทั้งคู่เลย หนังผมขอจัดเรตที่ 13+ นะครับ เพราะมีการนำเสนอภาพที่รุนแรง บ้าคลั่งและพูดถึงเรื่อง sex นิดหน่อย ไม่ได้ร้ายแรงมาก
คำโปรย : “Amarcord หนังสุด nostalgia ที่จะนำคุณไประลึกถึงความหลังวัยเด็กได้อย่างสมจริงและเพลิดเพลินไปกับเพลงประกอบที่แสนไพเราะโดย Nino Rota อีกหนึ่ง masterpiece ของ Federico Fellini ที่คอหนังห้ามพลาด”
คุณภาพ : SUPERB
ความชอบ : SO-SO
Leave a Reply
[…] Amarcord (1973) : Federico Fellini ♥♥♥ […]