Amélie (2001) : Jean-Pierre Jeunet ♥♥♥♥♥
(29/12/2021) เรื่องราวสุดมหัศจรรย์ของ Amélie Poulain ชักชวนให้ผู้ชมก้าวออกจากบ้าน (หลังพานผ่าน COVID-19) สานสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง เบิกบ้านด้วยรอยยิ้ม มองโลกในแง่ดี แล้วเราจะผ่านวันเวลาอันเลวร้ายนี้ไปด้วยกัน, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ชื่อหนังภาษาฝรั่งเศส Le Fabuleux Destin d’Amélie Poulain แปลตรงตัวว่า The Fabulous Destiny of Amélie Poulain หมายถึง โชคชะตาอันน่าเหลือเชื่อของ Amélie Poulain (ชื่อไทย เอมิลี่ สาวน้อยหัวใจสะดุดรัก) เป็นภาพยนตร์ที่พยายามชักชวนบุคคลมีโลกส่วนตัวสูง วันๆเอาแต่ขังตัวในห้อง (Hikikomiro) หรือก้มหน้าก้มตาหลบซ่อนตัวบนโลกออนไลน์ กลัวการพบปะ-พูดคุย-เผชิญหน้าสาธารณะ สร้างขวัญกำลังใจ ความเชื่อมั่น ให้สามารถเปิดประตูก้าวออกสู่โลกกว้าง แม้สิ่งต่างๆอาจไม่มีอะไรดั่งฝัน แต่ผลลัพท์ที่เราจักได้รับกลับมานั้น มันคุ้มค่ากว่าการอยู่โดดเดี่ยวตัวคนเดียวเป็นไหนๆ
แซว: ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปีเพิ่งมีหนังตลกเรื่อง Le fabuleux destin de Madame Petlet (1995) ดูแล้วน่าจะเป็นการตั้งชื่อล้อเลียนให้ดูยาวๆ น่าอัศจรรย์ใจ (แต่เรื่องราวไม่ได้ลอกเลียนแบบมานะครับ)
โดยไม่รู้ตัวใจความดังกล่าวของหนัง ดันสอดคล้องโลกยุคสมัย COVID-19 ที่คนส่วนใหญ่กักขังตนเองอยู่ในบ้าน ขาดปฏิสัมพันธ์ต่อผู้คนรอบข้างมาแสนนาน ผมว่าถึงจุดนี่เราควรจะช่างหัวมันได้แล้วนะ ถ้าฉีดยาครบโอกาสป่วยตายก็น้อยมากๆ เพียงแค่ต้องระมัดระวังตัวเอง อย่าไปหวาดกลัวเกรงมันอีกต่อไป
Amélie (2001) เคยเป็นภาพยนตร์ฝรั่งเศสที่ผมชื่นชอบมากๆๆ (ถ้าจำไม่ผิด เป็นหนังฝรั่งเศสเรื่องแรกในชีวิตที่ได้รับชม) ถึงขนาดสร้างจินตนาการ ‘ภาพจำ’ ว่า(หนัง)ฝรั่งเศสต้องเป็นแบบนี้! แต่พอมีโอกาสรับชมผลงานเรื่องอื่นๆค่อยตระหนักถึงความจริงอันเหี้ยมโหดร้าย ‘คุณหลอกดาว’ กลับกลายเป็นว่า Amélie คือภาพยนตร์มีความเป็นฝรั่งเศสน้อยที่สุด ซะงั้น!
Of course this is not a realistic modern Paris, and some critics have sniffed about that, too: It is clean, orderly, safe, colorful, has no social problems, and is peopled entirely by citizens who look like extras from An American in Paris. This is the same Paris that produced Gigi and Inspector Clouseau. It never existed, but that’s OK.
นักวิจารณ์ Roger Ebert
แซว: เพื่อสร้างภาพฝรั่งเศสให้ดูเหมือนโลกในจินตนาการของ Amélie Poulain เป็นงานหนักของทีมออกแบบงานสร้าง (Production Design) เพราะทุกสถานที่ที่ไปถ่ายทำต้องปัดกวาดเช็ดถู ขัดสีฉวีวรรณ ทำความสะอาดท้องถนน ตึกรามบ้านช่อง แต่งแต้มทาสีใหม่ ให้ออกมาสวยสดใส … แต่มันคือนรกเมื่อถึงฉากสถานีรถไฟ เพราะมีขนาดใหญ่มากๆ ต้องใช้เวลาเป็นวันๆกว่าจะเตรียมงานเสร็จสรรพ
Jean-Pierre Jeunet (เกิดปี 1953) ผู้กำกับ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Roanne, Loire ตั้งแต่เด็กชื่นชอบการจดบันทีก สะสมโน่นนี่นั่น เมื่ออายุ 17 สามารถเก็บเงินซื้อกล้อง Super8 เริ่มถ่ายทำหนังสั้น แล้วไปร่ำเรียนอนิเมชั่นยัง Cinémation Studios รู้จักสนิทสนมนักวาดการ์ตูน Marc Caro ร่วมงานสรรค์สร้างอนิเมชั่น(ขนาดสั้น) L’évasion (1978), Le manège (1980) ** คว้ารางวัล César Award: Best Animated Short Film, นอกจากนั้นยังมีโฆษณา, Music Video, และภาพยนตร์ขนาดยาว Delicatessen (1991)
หลังเสร็จจาก The City of Lost Children (1995) สองเพื่อนสนิทแม้ไม่ได้มีปัญหาขัดแย้งใดๆ แต่ก็ตัดสินใจแยกทางใครทางมัน เพื่อไปสร้างสรรค์ผลงานที่มีความเป็นส่วนตัวมากกว่า
We are not brothers. We are not lovers. It is difficult to get the [shared] emotion. He doesn’t like sentimental things.
Jean-Pierre Jeunet
การได้รับโอกาสจากสตูดิโอ Fox เดินทางสู่ Hollywood สรรค์สร้าง Alien Resurrection (1997) [Caro ยังมาช่วยด้านการออกแบบ แต่ไม่ได้ร่วมวิสัยทัศน์แบบผลงานสองเรื่องก่อน] แม้เสียงตอบรับจะก้ำๆกี่งๆ ทำกำไรแค่พอคืนทุน แต่ก็เป็นประสบการณ์อันดี เรียนรู้ระบบงาน เปิดมุมมองโลกทัศน์กว้างขี้น และทำให้เขาเพิ่งตระหนักว่าในชีวิตยังไม่เคยทำหนังพลังบวก (positive film) หรือมีความเป็นส่วนตัวเลยสักครั้ง
After Alien, I realized I had never made a truly positive film. This was of interest to me; to build, rather than destroy, presented me with a new, interesting challenge. I wanted to make a sweet film at this point in my career and my life, to see if I could make people dream and give them pleasure. This is my personal film, one I dreamed of for a long time.
ความที่ Jeunet มีนิสัยรักการสะสม จดบันทีกความทรงจำ ทำมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จีงเริ่มมองหาเรื่องราวที่สามารถสะท้อนงานอดิเรกดังกล่าว หลังกลับจากสรรค์สร้าง Alien Resurrection (1997) วันหนี่งบังเกิดความครุ่นคิดเกี่ยวกับ หญิงสาวชื่นชอบแอบให้ความช่วยเหลือผู้อื่นแบบลับๆ
For a long time I’ve had a kind of collection of memories, stories, anecdotes, and I wanted to make a film with this collection. I spent maybe four months [working on it], and then they called me to make Alien. And when I came back, I worked on it again and it was very difficult. Then one day, I don’t know why, I just thought, “Oh my God, this is the story: this woman helping other people.” And before, that was just one small story in a collection of other stories.
เนื่องจากเรื่องราวที่ Jeunet เก็บสะสมไว้มีมากมายไปหมด จีงติดต่อขอความช่วยเหลือ Guillaume Laurant (เกิดปี 1961) นักเขียนนวนิยาย/บทภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส รู้จัก/ร่วมงานมาตั้งแต่ The City of Lost Children (1995) ให้เป็นผู้ช่วยเรียบเรียงรายละเอียด คลุกเคล้าเนื้อหาต่างๆเข้าด้วยกัน
แม้ว่า Laurant จะเป็นคนทำงานรวดเร็ว เพียงไม่กี่วันฉบับร่างแรกก็เสร็จสิ้น แต่วิธีการทำงานของ Jeunet จะนำบทดังกล่าวไปให้ผองเพื่อน คนรู้จัก อ่านแล้วแสดงความคิดเห็น ชอบอะไรไม่ชอบอะไร แล้วนำมาปรับเปลี่ยนแก้ไข ใช้เวลารวมๆแล้วกว่าขวบปี เฉพาะบทหนังเรื่องนี้มีทั้งหมด 18 บทร่าง
I did collect these ideas for 25 years. So now I have one [film] with 200 stories. I did 18 drafts and a storyboard. But it’s not work, it’s pleasure.
หนี่งในการเปลี่ยนแปลงที่ Jeunet เคยให้สัมภาษณ์ไว้, ตัวละคร The Glass Man ในบทร่างแรกสุดคือ เด็กชายนอนป่วยซมซานอยู่บนเตียง ไม่สามารถลุกเดินหรือก้าวออกจากห้อง แต่พอเปลี่ยนมาเป็นชายสูงวัยที่ชื่นชอบการวาดรูปเป็นชีวิตจิตใจ สามารถแทรกใส่ภาพวาด Luncheon of the Boating Party ของ Pierre-Auguste Renoir ที่มีนัยยะเชิงสัญลักษณ์ ยกระดับหนังให้มีความทรงคุณค่าทางศิลปะยิ่งๆขี้นไปอีก
Audrey Justine Tautou (เกิดปี 1976) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Beaumont, Puy-de-Dôme บิดาประกอบอาชีพหมอฝัน มารดาเป็นครูสอนหนังสือ ตั้งชื่อบุตรสาวตามนักแสดงชื่อดัง Audrey Hepburn, วัยเด็กเป็นคนรักสัตว์โดยเฉพาะลิง มีความฝันอยากเป็นนักวานรวิทยา แต่ใครๆต่างครุ่นคิดว่าเธอพูดเล่น จึงหันมาสนใจด้านการแสดง ฝึกฝนอยู่ยัง Cours Florent พร้อมๆร่ำเรียนภาษาอังกฤษและอิตาลี (เพื่อโกอินเตอร์ได้สบายๆ) พออายุ 18 เข้าร่วมการประกวด Jeunes Premiers (แปลว่า The Young Debuts) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสตูดิโอ Canal+ สามารถคว้ารางวัล Best Young Actress จึงมีโอกาสแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Venus Beauty Institute (1999) โดดเด่นถึงขนาดคว้า César Award: Most Promising Actress
รับบท Amélie Poulain (เกิดเดือนมิถุนายน 1974) หลังสูญเสียมารดาตั้งแต่ยังเล็ก อาศัยอยู่กับบิดาที่ไม่ชอบเข้าสังคม/มีปฏิสัมพันธ์ทางร่างกาย เด็กหญิงจึงขาดความรัก ความอบอุ่น เติบโตขึ้นอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย กลายเป็นคนเก็บตัว ไม่ชอบสุงสิงกับใคร วันๆเอาแต่เพ้อฝันจินตนาการ ขณะอายุ 18 ปี ทำงานเป็นสาวเสิร์ฟ (waitress) ประจำอยู่ร้าน Café des 2 Moulins ย่าน Montmartre
วันที่ 31 สิงหาคม 1997, ข่าวการเสียชีวิตของเจ้าหญิง Diana (Princess of Wales) ทำให้ Amélie บังเอิญพบเจอกล่องเหล็กซุกซ่อนอยู่ในกำแพงอพาร์ทเม้นท์ เกิดความครุ่นคิดถ้าฉันเอาเจ้าสิ่งนี้ไปส่งคืนเจ้าของ ลองออกติดตามหาจนกระทั่งพบเจอตัว เห็นปฏิกิริยาชายคนนั้นสร้างความอิ่มบุญสุขใจ ต่อจากนี้เลยตั้งปณิธานกับตนเอง ต้องการ(แอบ)ช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ
ดั้งเดิมนั้นผู้กำกับ Jeunet ครุ่นคิดพัฒนาตัวละคร Amélie โดยมีภาพของ Emily Watson นักแสดงชาวอังกฤษ ประทับใจจากภาพยนตร์เรื่อง Breaking the Waves (1996) แต่เมื่อยื่นข้อเสนอกลับถูกบอกปัด เพราะเธอไม่สามารถพูดฝรั่งเศส และขณะนั้นเพิ่งตอบตกลงรับงานแสดง Gosford Park (2001)
การบอกปัดของ Watson สร้างความยุ่งยากให้หนังไม่น้อย (เห็นว่าในบทหนังดังเดิม บิดาของ Amélie เป็นผู้ดีชาวอังกฤษ ปักหลักอาศัยอยู่กรุงลอนดอน) แต่หลังจากพบเห็นโปสเตอร์หนัง Venus Beauty Institute (1999) ใบหน้าของ Andrey Tautou มีความสะดุดตาอย่างมาก จึงเรียกตัวมาทดสอบหน้ากล้อง ไม่ถึงสิบวินาทีก็ยืนยันความเชื่อมั่น
I was struck by a pair of dark eyes, a flash of innocence, an unusual demeanour. I set up a meeting and she tried for the part. After 10 seconds, I knew she was the one.
Jean-Pierre Jeunet
ภาพลักษณ์ของ Tautou ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ ‘Iconic’ ของหนังเรียบร้อยแล้ว ผมสั้น ตาโต ลักยิ้ม แก้มปริ มักก้มศีรษะลงเล็กๆ แล้วเหลือบตามองอย่างเด็กน้อย ใคร่รู้ใครเห็น โดยเฉพาะรอยยิ้มเต็มไปด้วยความบริสุทธิ์จากภายใน, สำหรับเสื้อผ้ามักใส่ชุดสีแดงหรือเขียว กระโปรงยาวคลุมเข่า สวมถุงเท้า และรองเท้าหนัง (สีเขียวแก่ๆ) สมัยนั้นดูเป็นส่วนผสมที่ประหลาดๆ แต่ปัจจุบันน่าจะเรียกว่ามีความชิค (Chic) กระมังนะ
ด้านการแสดงถือว่าน่าสนใจทีเดียว เวลาอยู่ในโลกส่วนตัวมักเบิกบานด้วยรอยยิ้ม เริงร่า สนุกหรรษา เต็มไปด้วยชีวิตชีวา แต่เมื่อต้องพบเจอคนแปลกหน้ากลับแสดงอาการกระอักอ่วน ก้มหน้าก้มศีรษะ ไม่กล้าสบสายตา คำพูดก็จะติดๆขัดๆ ไม่ทันไรก็วิ่งหนีหายอย่างไร้ร่องรอย … คือถ้าจะเข้าหาหญิงสาวคนนี้ ต้องมีบางสิ่งที่ดีดดูด สร้างความสนใจให้เธอ จากนั้นชวนพูดคุย ซักถามความคิดเห็น (ถ้ารอให้เธอเปิดประเด็น ชาติหน้าตอนบ่ายๆก็อาจยังไม่ได้ยินเสียง)
I think it’s been such a big success because it makes you happy. It’s positive. It makes you dream – and we need that. There aren’t many French films like that.
Audrey Tautou แสดงความคิดเห็นถึงความสำเร็จของ Amélie (2001)
ผมครุ่นคิดว่าคงมีนักแสดงเพียง 2 คนในโลกที่สามารถเล่นบท Amélie แล้วกลายเป็น ‘Iconic’ คนแรกคือ Audrey Hepburn และอีกคนก็ Audrey Tautou ทั้งสองราวกับพี่น้องชื่อเดียวกัน ใบหน้ายังมีความละม้ายคล้าย ถ่ายทอดการแสดงด้วยความน่ารักสดใส บริสุทธิ์จากภายใน
น่าเสียดายที่เส้นทางอาชีพของ Tautou อาจไม่ได้กลายเป็นตำนานเหมือนรุ่นพี่ Hepburn เพราะเธอเลือกปักหลักอยู่ฝรั่งเศส แถมช่วงหลังๆก็เริ่มรับงานน้อยลง (หรือเลือกงานมากขี้นก็ไม่รู้นะ) ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา 2010s แทบไม่พบเห็นผลงานเด่นๆ (ล่าสุดที่ผมเห็นคือ Coco Before Chanel (2009)) ก็เริ่มหวั่นๆว่าชื่อเสียงจะค่อยๆเลือนลางจางหายไปตามกาลเวลา
ก่อนหน้านี้ผู้กำกับ Jeunet มีตากล้องขาประจำคือ Darius Khondji ขณะนั้นกำลังได้ดิบได้ดีอยู่ Hollywood เลยปฏิเสธหวนกลับสู่ฝรั่งเศส ด้วยเหตุนี้เขาจีงต้องมองหาตากล้องคนใหม่ ก่อนได้พบเจอเพื่อนเก่าแก่ Bruno Delbonnel (เกิดปี 1957) รู้จักกันตั้งแต่สมัยยังหนุ่มๆ เคยร่วมงานโฆษณามาหลายเรื่อง ชักชวนมาถ่ายทำภาพยนตร์ Amélie (2001) กลายเป็นผลงานแจ้งเกิดเลยก็ว่าได้ ติดตามด้วย A Very Long Engagement (2004), Across the Universe (2007), Harry Potter and the Half-Blood Prince (2009), Inside Llewyn Davis (2013), Darkest Hour (2017), The Tragedy of Macbeth (2021) ฯ
สามผลงานก่อนหน้านี้ของผู้กำกับ Jeunet ล้วนสร้างฉากถ่ายทำในสตูดิโอทั้งหมด Amélie (2001) ถือเป็นครั้งแรกที่เขาก้าวออกสู่โลกภายนอก (แบบเดียวกันเปี๊ยบกับเรื่องราวของ Amélie) เลือกสถานที่จริงทั่วกรุง Paris แค่ปรับเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องวิสัยทัศน์ ถ่ายภาพออกมาแลดูเหมือนงานศิลปะ ดั่งความเพ้อฝัน แฟนตาซี
I wanted Paris to be there at the heart of the film. It’s Kurosawa who said, “Every shot should be like a painting,” and I agree with that
Jean-Pierre Jeunet
งานภาพของหนังแพรวพราวด้วยเทคนิค ลีลา ภาษาภาพยนตร์ มีความโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียน มุมมองแปลกๆ Dutch Angle, Fisheye Lens, Close-Up ทั้งหมดก็เพื่อนำเสนอกรุง Paris ในจินตนาการของ Amélie Poulain
แม้ว่าผู้กำกับ Jeunet จะชื่นชอบโปรดปรานภาพยนตร์ Blue Velvet (1986) แต่นั่นก็(อาจ)ทำให้เขารู้สึกว่า น้ำเงินเป็นสีที่ซุกซ่อนสิ่งชั่วร้าย ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่ผลงานเรื่องแรกๆ เฉดของหนัง (color palette) จึงมีเพียงเขียว-เหลือง-แดง แตกต่างที่ Amélie (2001) มีความสดใส เห็นท้องฟ้าคราม (แต่ก็ถูกย้อมจนออกเขียวตุ่นๆ)
เกร็ด: ลักษณะการใช้เฉดสีดังกล่าว ผู้กำกับ Jean-Pierre Jeunet ได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดของจิตรกร Juarez Machado (เกิดปี 1941) สัญชาติ Brazillian
อารัมบทของหนัง มองผิวเผินเหมือนนำเสนอเหตุการณ์สุ่มๆที่ดูไม่มีความสัมพันธ์ใดๆต่อกัน แต่ถ้าคุณสามารถสังเกตและครุ่นคิดตาม จะพบเห็นความน่าอัศจรรย์ของผู้กำกับ Jeunet สามช็อตแรกสื่อถึง Sex ระหว่างพ่อ-แม่ การปฏิสนธิ และตั้งครรภ์ Amélie Poulain
- แมลงวันหัวเขียว (Bluebottle Fly) กระพือปีก 14,670 ครั้งต่อนาที (ตีปีก=ร่วมรัก) ก่อนถูกรถเหยียบย่ำ พบเห็นรอยเลือด (สูญเสียพรหมจรรย์)
- ผ้าปูโต๊ะพริ้วไหว พร้อมแก้วน้ำสองใบ (พ่อ-แม่ของ Amélie น่าจะกำลังร่วมรักอยู่ในโรงแรมแห่งนี้)
- ชายสูงวัยในห้องพัก (เหมือนว่าจะเป็นห้องพักในอนาคตของ Amélie) ใช้ยางลบชื่อเพื่อน Emilie Maginot เพิ่งเสียชีวิตจากไป … ราวกับว่านั่นคือวิญญาณ(ของ Amélie)กำลังจะมาจุติใหม่
- จากนั้นก็ภาพอสุจิ ปฏิสนธิรังไง ครรภ์ขยายขนาด และคลอดออกมาเป็นเป็น Amélie Poulain
เกร็ด: ฟุตเทจ ‘time-lapse’ การตั้งครรภ์มารดา นำจากหนังสั้นแนวทดลอง 17 Seconds to Sophie (1998) กำกับโดย Bill Cote ใช้กล้อง 16mm ถ่ายภาพภรรยา 2 เฟรมต่อวัน ซึ่งไปคว้ารางวัลเทศกาลหนังสั้น New Haven Film Fest และ Shorts International Film Festival
Opening Credit ร้องเรียงภาพการละเล่น(ตัวคนเดียว)ของ Amélie Poulain ซึ่งจะมีความสอดคล้องกับหน้าที่ของบุคคลในเครดิตนั้นๆ อาทิ
- ขยับริมฝีปาก … ขึ้นเครดิตคนเขียนบทพูด (Dialogue)
- สวมติ่งหูแอปเปิ้ล … Costume Design
- โดมิโนล้ม … Production Design
- สวมแว่น … ถ่ายภาพ
- มือลูบขอบแก้วน้ำ … บทเพลง
- ตัดกระดาษรูปคน … ตัดต่อ
- ตกบ้องหู … เสียง/Sound Effect
- เป่าใบไม้ … Sound Mixed
ฯลฯ
เรื่องราวของปลาทอง Blubber มันไม่ได้พยายามฆ่าตัวตาย (ตามอย่างเสียงบรรยาย) แต่ต้องการหลบหนี มีชีวิตอย่างอิสรภาพ ไม่ใช่อาศัยอยู่ในโถแก้วเล็กๆ ว่ายเวียนวนไปวนมาอยู่แค่งั้น … ก็เหมือนมนุษย์ที่มิอาจใช้ชีวิตตัวคนเดียว หลบซ่อนอยู่แต่ในห้อง จำเป็นต้องออกไปข้างนอก พบปะผู้คน สานสัมพันธ์สรรพสิ่งรอบข้าง
แทนเจ้าปลาทองที่ถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ Amélie ได้รับของขวัญเป็นกล้องถ่ายรูป เพื่อบันทีก ‘ช่วงเวลา’ ภาพความทรงจำ โมเม้นท์เหตุการณ์สำคัญๆ แต่ขณะเดียวกันเธอก็ถูกลวงหลอกโดยใครบางคน บอกว่าเจ้านี่คือสิ่งชั่วร้าย ก่อให้เกิดอันตราย อุบัติเหตุ ความตาย … เอาจริงๆมันไม่ได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องอะไรกันเลย แต่ความบังเอิญดังกล่าวกลับทำให้เด็กสาวจดจำฝังใจ บังเกิดอคติต่อรูปภาพถ่าย
แซว: แม้ว่า Amélie จะมีความฝังใจอันเลวร้ายเกี่ยวกับการถ่ายภาพ แต่เธอกลับตกหลุมรักชายหนุ่มที่ชื่นชอบสะสมภาพถ่าย เสียอย่างนั้น!
แล้วมาเอาคืนบิดา (ที่เป็นคนมอบของขวัญดังกล่าวให้) ด้วยการทำลาย ‘ช่วงเวลา’ สำคัญๆในการแข่งขันฟุตบอล นักเตะกำลังจะยิงประตูแล้วจู่ๆสัญญาณขาดหาย นั่นสร้างความคลุ้มคลั่งให้คนบ้าบอล จะลงแดง บ้าตาย!
เกร็ด: การแข่งขันดังกล่าวคือรอบชิงชนะเลิศ Coupe de France หรือ French Cup (ฟุตบอลถ้วยของฝรั่งเศส) เมื่อปี 1983 ระหว่าง Paris Saint-Germain vs. Nantes (ผลปรากฎว่า PSG เป็นผู้ชนะ 3 ต่อ 2)
Café des 2 Moulins (แปลว่า Two Windmills) คือคาเฟ่จริงๆตั้งอยู่ย่าน Montmartre บริเวณหัวมุมสี่แยก Rue Lepic กับ Rue Cauchois ตั้งชื่อตามสองสถานที่สำคัญๆในอดีต Moulin Rouge และ Moulin de la Galette
ตีกแถวบริเวณนั้น ก่อสร้างมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20th แต่กว่าจะแปรสภาพสู่คาเฟ่ชื่อนี้ก็ช่วงทศวรรษ 1950s แล้วจดทะเบียนถูกต้องกฎหมายปี 1964 และกลายเป็นตำนานหลังจากออกฉายภาพยนตร์ Amélie (2001) ว่ากันว่าสมัยนั้นทุกๆ 10 นาทีต้องมีลูกค้ามาแวะเวียน ถ่ายรูป จนกลายเป็น ‘Landmarks’ สถานที่เที่ยวแห่งสำคัญของ Montmartre ปัจจุบันก็ยังคงได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย
แซว: เก้าอี้ไม้หรูๆที่วางอยู่หน้าร้าน พอหนังออกฉายต้องเปลี่ยนเป็นพลาสติก เพราะถูกลักขโมยสูญหายหมดสิ้น
ผมค่อนข้างชื่นชอบฉากที่ผู้สร้างเคารพคารวะหนังเรื่องโปรดในผลงานของตัวเอง และซีนนี้ยังสะท้อนรสนิยม ความสนใจ ผู้กำกับ Jeunet คงชอบหันไปมองปฏิกิริยาผู้ชมบ่อยครั้งแน่ๆ
- Jules and Jim (1962) ตำนานรักสามเส้าของผู้กำกับ François Truffaut ในฉากที่นักแสดงนำ Jeanne Moreau ปลอมตัวเป็นชาย วิ่งแข่งขันเอาชนะหนุ่มๆทั้งสอง (ด้วยการออกวิ่งนำมาก่อน) … ว่าไปก็สะท้อนความแก่นแก้ว ทอมบอยของ Amélie อยู่เล็กๆ
- ใครเคยรับชม Jules and Jim (1962) น่าจะสัมผัสถีงความละม้ายคล้ายคลีงในหลายๆลีลา ไดเรคชั่น โดยเฉพาะความเร็วในการดำเนินเรื่องที่ต่างก็ติดจรวดพร้อมเสียงบรรยาย อย่าเผลอกระพริบตาเพราะจะอ่านซับไตเติ้ลไม่ทัน
- Father’s Little Dividend (1951) กำกับโดย Vincente Minnelli, นำแสดงโดย Spencer Tracy, Joan Bennett และ Elizabeth Taylor
- ผู้กำกับ Jeunet แอบแซะ Hollywood ผ่านตัวละครของ Spencer Tracy ขับรถไม่ชอบมองถนน = ทำอะไรไม่ดูตาม้าตาเรือ สนเพียงกำไร ความสำเร็จ ใครถูกชนก็ไม่ใคร่สนหัว (จากประสบการณ์ตรงตอนสรรค์สร้าง Alien: Resurrection (1997))
ยังมีภาพยนตร์อีกเรื่องของ François Truffaut ที่แม้ไม่ปรากฎในฉากนี้ แต่สามารถพบเห็นอิทธิพล/แรงบันดาลใจ ก็คือ The 400 Blows (1959) โดยเฉพาะนักแสดง Claire Maurier ผู้รับบท Suzanne เจ้าของ Café des Deux Moulins ในอดีตเธอเล่นเป็นแม่ของ Jean-Pierre Léaud
การโยนหิน (skipping stone) ให้กระเด็นกระดอนบนพื้นผิวน้ำ มีแนวคิดเชิงสัญลักษณะคล้ายๆโดมิโน (Amélie ยังชื่นชอบเก็บหินจากสถานที่ที่ไปเยี่ยมเยือน) สะท้อนความสัมพันธ์ของแต่ละเหตุการณ์ ส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ … การกระทำสิ่งเล็กๆ อาจส่งผลกระทบวงกว้าง ไม่รู้จุดจบสิ้น
แซว: Audrey Tautou โยนหินไม่เป็นนะครับ ที่พบเห็นในหนังเกิดจาก CGI
ห้องของ Amélie ผมครุ่นคิดว่าจริงๆแล้วน่าจะโทนสีชมพู แต่หลังผ่านกระบวนการปรับปรุงสี (Color Correction) ผลลัพท์จีงออกมาส้ม-แดงแรงฤทธิ์ เต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์สุดชิค และภาพวาดจากศิลปิน Michael Sowa (เกิดปี 1945) จิตรกรสัญชาติ German เลื่องลือชาด้านการวาดภาพสรรพสัตว์ เป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมโปสการ์ด ปฏิทิน ฯ ซี่งโด่งดังทันทีเพราะหนังเรื่องนี้ (โดยเฉพาะตอนสรรพสัตว์ขยับเคลื่อนไหว)
มุมมองของ Raymond Dufayel (ฉายา The Glass Man) มีความประทับใจ Amélie Poulain เหมือนหญิงสาวกำลังดื่มน้ำในภาพวาด Le Déjeuner des canotiers (1881) หนี่งในผลงาน Masterpiece โดยจิตรกรเอก Pierre-Auguste Renoir (1841-1919) สัญชาติฝรั่งเศส แห่งยุคสมัย Impressionist, ซี่งหนังก็พยายามครุ่นคิดวิเคราะห์ ค้นหาเหตุผล ที่มาที่ไป แท้จริงแล้วหญิงสาวในภาพมีอะไรปกปิดซ่อนเร้น ซี่งจักค่อยๆเปิดเผยคำตอบพร้อมๆเรื่องราวดำเนินไป
ตลอดระยะเวลาที่อาศัยอยู่แต่ในห้อง The Glass Man ไม่เคยคิดที่จะวาดภาพอื่น หรือปรับเปลี่ยนสไตล์ให้แตกต่าง ยังคงยึดถือมั่นว่า Impressionist ก็ต้อง Impressionit จนกระทั่งการมาถึงของ Amélie ค่อยๆสร้างความเปลี่ยนแปลงจากภายใน ถึงขนาดสอนให้ Lucien ทดลองวาดภาพด้วยลวดลายเส้นที่แตกต่างออกไป และท้ายสุดหลังภารกิจผลักดันหญิงสาวออกจากห้องสำเร็จ ภาพวาดใหม่ของเขาก็ได้ปรับเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล (ทั้งองค์ประกอบภาพและลวดลายเส้น เรียกว่าไม่ยึดติดอยู่กับสิ่งเดิมๆ ซ้ำซากจำเจอีกต่อไป)
การเสียชีวิตของ Emilie Maginot ทำให้บังเกิดการปฏิสนธิในครรภ์ [ร่างกาย] กลายมาเป็น Amélie Poulain, เฉกเช่นเดียวกับการเสียชีวิตของ Princess Diana ถือเป็นจุดเริ่มต้นให้หญิงสาว ค้นพบ(กล่องสะสมที่ถูกซุกซ่อนในผนังห้องน้ำ)สิ่งงดงามค่าสุดในชีวิต [จิตใจ] นั่นคือการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน
เมื่อ Amélie ตัดสินใจออกติดตามหาเจ้าของกล่องเหล็กใบนี้ หนังทำการร้อยเรียงกลุ่มบุคคลที่เธอสามารถเข้าไปพูดคุย สอบถาม ชี้นำทางต่อไปเรื่อยๆ (คล้ายๆการส่งไม้ผลัด, โยนก้อนหิน, โดมิโน่ ฯ) โดยคนแรกที่พบเจอก็คือเจ้าของหอพัก Madeleine Wallace (รับบทโดย Yolande Moreau) ห้องของเธอเต็มไปด้วยของสะสม สัตว์สต๊าฟ เรียกว่ายังจมปลักกับอดีตที่เคยสูญเสียชายคนรัก อาการซีมเศร้าดื่มเหล้าหนัก เพราะครุ่นคิดว่าเขาลักลอบคบชู้นอกใจ
ความช่วยเหลือของ Amélie ก็คือแอบลักขโมยจดหมาย นำไปถ่ายเอกสาร ใช้กรรไกรตัดแต่ง ร้อยเรียงถ้อยคำใหม่ (เหมือนการตัดต่อหนัง, ปะติดปะต่อรูปภาพถ่าย) แล้วส่งพลังบวกกลับมาให้เธอ ปรับเปลี่ยนความเข้าใจ ทำให้จากเคยซีมเศร้าโศกกลายเป็นยิ้มเริงร่า ชีวิตเปี่ยมด้วยชีวา
บุคคลถัดมาก็คือเจ้าของร้านขายของชำ Collignon (รับบทโดย Urbain Cancelier) ซี่งเป็นคนปากร้ายใจทราม ชอบพูดจาดูถูกเหยียดหยามลูกจ้าง Lucien (รับบทโดย Jamel Debbouze) จนแม้แต่ Amélie ยังมิอาจอดรนทนไหว เมื่อสบโอกาสจีงไขประตูอพาร์ทเม้นท์เข้าไป ปรับเปลี่ยนโน่นนี่นั่น สลับยาสีฟัน เบอร์โทรศัพท์ ใส่เกลือในขวดเหล้า ฯ จนสร้างความหลอกหลอน คลุ้มคลั่ง บังเกิดสันติสุขเล็กๆให้ผู้คนบริเวณนี้
Collignon ชี้นำทาง Amélie มายังบ้านพ่อ-แม่ของเขา ซี่งจดบันทีกรายละเอียดทุกสิ่งอย่างที่เธออยากรับรู้ เหมือนพนักงานตรวจตั๋วโดยสาร ทำมาตลอดชีวิตจีงไม่สามารถปล่อยวางความรู้สีกในการเจาะรู (เปลี่ยนจากตั๋วมาเป็นใบไม้) ซี่งมีขณะหนี่งที่ซับไตเติ้ลขี้นไม่ทัน มีการอ้างอิงถีงบทเพลง Le poinçonneur des Lilas (1958) แปลว่า The Ticket Puncher at Lilas (พนักงานตีตั๋วที่ Lilas) ขับร้องโดย Serge Gainsbourg
หลังจากชายคนนั้นได้รับคืนกล่องสะสม ความทรงจำวัยเด็กก็ค่อยๆถูกรื้อฟื้น หวนกลับคืนมาด้วยภาพซีเปีย (Flashback) หนี่งในเรื่องราวก็คือชัยชนะดีดลูกแก้ว แต่เขาไม่สามารถเก็บได้หมด ถูกครูเร่งเรียกแล้วจู่ๆกระเป๋าเสื้อขาด ทุกสิ่งอย่างสะสมมากระจัดกระจายตกหล่นทั่วพื้น … นี่เป็นช็อตให้ความรู้สีกเดียวกับภาพถ่ายที่ถูกฉีกขาด ความทรงจำตกหล่นสูญหาย รายละเอียดเล็กๆน้อยๆ(ของหนัง)กระจัดกระจายไปทั่ว
หลังจาก Amélie ได้ส่งคืนกล่องเหล็กสู่เจ้าของเดิม ทำให้เธอบังเกิดความอิ่มบุญ สุขซาบซ่านถึงทรวงใน จีงให้ความช่วยเหลือชายตาบอดเดินข้ามถนน แล้วพรรณาเหตุการณ์ต่างๆกำลังเกิดขี้นรอบตัว ดำเนินเคลื่อนผ่านไปอย่างรวดเร็ว เหมือนฝัน มันช่างเป็น ‘ช่วงเวลา’ อันน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก
ฉากนี้สะท้อนถีงปณิธาน/ความตั้งใจของหญิงสาว นับต่อจากนี้จักทำความดี ช่วยเหลือคนแปลกหน้า (ก็เหมือนชายตาบอดคนนี้) ผดุงความยุติธรรม โดยไม่คาดหวังผลตอบแทนใดๆ
เรื่องราวของภูติโนม (Gnome) ออกท่องโลก ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริงในช่วงทศวรรษ 90s โดยองค์กร/เครือข่ายเรียกร้องการปลดแอก Front de Libération des Nains de Jardins (แปลว่า Garden Gnome Liberation Front) ได้ลักขโมยโนมกว่า 100+ ตัว ออกเดินทางไปทั่วโลก (เพื่อโปรโมทการท่องเที่ยว) แล้วส่งภาพถ่ายพร้อมรายละเอียดให้เจ้าของ ถ้าได้คืนก็ต้องออกเดินทางไปสถานที่แห่งนั้นด้วยตนเอง
ความตั้งใจของ Amélie ก็เพื่อให้บิดาเกิดความหาญกล้าก้าวออกมาจากรั้วบ้าน เติมเต็มความเพ้อฝันท่องเที่ยวรอบโลก (แบบเดียวกับตัวเธอเองที่ท้ายสุดสามารถเปิดประตูห้อง ยินยอมรับความสัมพันธ์กับบุคคลภายนอก)
ความที่ Raymond Dufayel (The Glass Man) ไม่สามารถก้าวออกจากห้อง ไปไหนมาไหนได้เหมือนคนทั่วไป Amélie เลยบันทีกเทปรายการโทรทัศน์ที่น่าสนใจ หวังให้มีโอกาสพบเห็นโลกภายนอก มีสิ่งต่างๆน่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะการแข่งขันจักรยานทางไกล Critérium international de la route จัดมาตั้งแต่ปี 1932 และหนี่งในครั้งประวัติศาสตร์ปี 1997 ม้าจากไหนก็ไม่รู้เข้าร่วมแข่งขันด้วย … นำคลิปที่ใช้ในหนังมาให้รับชมกันเลยนะครับ
นี่อาจดูเป็นคลิปที่น่าสนใจ แต่ถ้าครุ่นคิดตามก็จะพบนัยยะถีงการอยากมีส่วนร่วมของม้า ซี่งสามารถสื่อได้ทั้ง Amélie และ The Glass Man ต่างโหยหาการออกสู่โลกภายนอก กลายเป็นส่วนหนี่งของสังคมสักครั้ง
นอกจากนี้รายการกำลังใจของ Amélie ยังประกอบไปด้วย
- บทเพลงให้กำลังใจ Up Above My Head (1956) แต่ง/ขับร้องโดย Sister Rosetta Tharpe
- เด็กทารกกำลังหัดว่ายน้ำ … มนุษย์มีสัญชาติญาณเอาตัวรอดตั้งแต่เด็ก พร้อมที่จะเรียนรู้ ทำในสิ่งท้าทาย ไร้ความหวาดกลัวเกรงสิ่งใด
- ชายขาพิการ แต่ยังสามารถเต้นจังหวะแท็บ … ไม่ปล่อยให้ความด้อยโอกาส/พิกลพิการ มาขัดขวางความฝัน สิ่งที่ฉันอยากกระทำ
ใครเคยรับชม Delicatessen (1991) พอเห็นฉาก Sex Scene ระหว่าง Georgette (พนักงานขายยา) กับ Joseph (ขาประจำร้าน) ก็อาจอมยิ้มเล็กๆเพราะแรงกระแทก (ของคนที่อัดอั้นความต้องการมายาวนาน) มันส่งผลกระทบ สั่นสะเทือนเป็นวงกว้าง วัดความรุนแรงระดับริคเตอร์ (ขนาดไฟห้องน้ำยังกระพริบปริบๆ)
ผู้กำกับ Jeunet ถ่ายทำฉากนี้โดยไม่รับรู้ตนเอง พอตระหนักได้ว่าซ้ำจาก Delicatessen (1991) เลยพยายามปรับเปลี่ยนรายละเอียด ไม่ต้องการให้เหมือนเปะของเก่า ผลลัพท์จีงไม่ตราตรีงเท่า แต่ก็แฝงนัยยะถีง ‘ช่วงเวลา’ สุดมหัศจรรย์ และโดมิโน(ผลกระทบ)ของการกระทำ
Palace Video ร้านขายของ 18+ ในมุมมองคนทั่วๆไป เจ้าของ/พนักงานย่อมต้องเป็นพวกมักมาก บ้ากาม ความต้องการทางเพศสูง แต่มันจำเป็นด้วยหรือ?
การที่ Nino ทำงานในร้านแห่งนี้ ไม่ได้แฝงนัยยะถึงสิ่งที่ผมเพิ่งพูดกล่าวมาเลยนะครับ ตรงกันข้ามมันคือความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของชายคนนี้มากกว่า โดยเฉพาะซีนถัดๆมาที่เขาถามถึงรูปร่างหน้าตาของหญิงสาวคนนั้น (Amélie) ในจังหวะที่เพื่อนร่วมงานกำลังติดบาร์โค้ด/ป้ายราคาให้กับแท่งหรรษา (Dildo) แล้วหยิบไปวางบนชั้นตั้งโชว์ด้านหลังแคชเชียร์ … มองมุมหนึ่งสะท้อนถึงความต้องการทางเพศของ Nino ต่อ Amélie แต่เพราะมันไม่มีปฏิกิริยาอารมณ์ใดๆบังเกิดขึ้น การกระทำดังกล่าวจึงดูบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา แสดงถึงความอยากรู้อยากเห็นเสียมากกว่า
Amélie ติดตามต่อมาถึงบ้านผีสิง สะท้อนสิ่งที่เธอมีความหวาดกลัวยิ่ง นั่นคือการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเฉพาะกับ Nino แม้ว่าจะเป็นแค่เกม การแสดง สวมชุดโครงกระดูก เข้ามาเคียงชิดใกล้ แต่เธอกลับแน่นิ่งไม่ไหวติง ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าไร้ความหวาดกลัว หรือสั่นสะท้านจนมิอาจขยับเคลื่อนไหว
แต่หลังจากเหตุการณ์นี้ทำให้เธอครุ่นคิดเกมต่อไป ราวกับว่าเพิ่งเริ่มตระหนักได้ ไม่มีอะไรในชีวิตที่น่าหวาดสะพรึงกลัวไปกว่าบ้านผีสิงสักเท่าไหร่
มีชื่อเรียกเกมลักษณะนี้ว่า ‘cat-and-mouse’ แต่ผมจะเรียกว่าแมวไล่จับหนู โดยในบริบทของหนัง Nino จะเดินตามลูกศร อยู่บนพื้นบ้าง กำแพงบ้าง ต้องสังเกตนิ้วชี้จากรูปปั้น ส่องกล้องมองดูเบื้องล่าง พบเห็น Amélie นำสมุดสะสมใส่กระเป๋าท้ายรถ รีบวิ่งกลับลงเบื้องล่าง แต่เธอก็สูญหายตัวไปแล้วอย่างไร้ร่องรอย
ผู้กำกับ Jeunet เล่าว่าตนเองมีความชื่นชอบเล่นเกมนี้ตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะกับเพื่อนสนิท คนใกล้ตัว บางครั้งก็ใช้แนวคิดของ Matryoshka doll (ตุ๊กตาแม่ลูกดก) กล่องของขวัญในกล่องของขวัญ พอเปิดถึงชั้นในสุดเป็นข้อความเขียนชี้นำทางต่อไปเรื่อยๆ
ในสมุดสะสมของ Nino จะมีภาพถ่ายบุคคลหนึ่งที่ก็ไม่รู้มีความชื่นชอบอะไร ถึงสามารถพบเจอได้แทบทุกตู้ ทุกหนแห่ง นั่นคือปริศนาที่พอ Amélie ชี้นำคำตอบให้เขา โลกก็หมุน 360 องศา บังเกิดรอยยิ้มกริ่มบนใบหน้า ราวกับปริศนาระดับจักรวาลได้ถูกไขกระจ่างแจ้ง (และชายคนนี้ก็จะเดินหมุนรอบตัว Nino ด้วยเช่นกัน)
Amélie เป็นหญิงสาวที่ค่อนข้างเอาแต่ใจ อยากให้ทุกอย่างดำเนินไปตามความเพ้อฝันตนเอง แต่หลังจากพบเห็น Nino จู่ๆก็ออกจากร้านไป ไม่ทันสังเกตโน๊ตที่แอบใส่ในกระเป๋า นั่นสร้างความผิดหวัง ห่อเหี่ยม ละลายกลายเป็นสายน้ำ … สะท้อนว่า มันไม่มีทางที่ทุกสิ่งอย่างจะเป็นจริงดั่งความฝัน เราควรต้องยินยอมรับสัจธรรมนี้ และควรเตรียมตัวยอมรับความผิดหวังอยู่ทุกวินาที
เฉกเช่นเดียวกับขณะอยู่ในห้อง Amélie กำลังครุ่นคิดจินตนาการ พร้อมกับกำลังคลุกเคล้าส่วนผสมทำขนม/อาหาร แต่ความจริงมันอาจแค่เจ้าเหมียวเดินเข้ามาส่งเสียงร้องเรียก (ไม่ใช่ Nino ที่อยู่ในจินตนาการ) สร้างความผิดหวังให้เธออยู่เล็กๆ
ช็อตนี้ไม่ได้มีนัยยะแค่ชาย-หญิง ห่างเพียงกำแพง/ประตูกั้นขวาง ถ้าสังเกตดีๆใบหน้าทั้งสองสามารถเทียบทาบ คนละครึ่ง เติมเต็มกันและกัน … แค่ผนัง/ประตูมันไม่ควรกว้างขนาดนี้นะครับ คงเป็นการใช้ VFX ลบรายละเอียดบางส่วน/อีกครึ่งซีกใบหน้าตัวละคร เพื่อให้ได้นัยยะดังที่กล่าวมา (แต่ช็อตนี้ต้องสังเกตสักหน่อย เพราะเป็นการเคลื่อนกล้องจากขวาไปซ้าย ภายในสู่นอกห้อง)
เป็นอีกความ ‘Ironic’ ของหนังที่ผู้ผลักดัน ให้กำลังใจ Amélie สามารถเปิดประตู ก้าวออกไป ยินยอมรับ Nino เข้ามาภายใน กลับคือ Raymond Dufayel (The Glass Man) บุคคลที่มีร่างกายอ่อนแอ ไม่สามารถก้าวออกจากห้อง เคยเป็นแค่ตาแก่วันๆเอาแต่วาดภาพเดิมๆซ้ำๆ และยังเป็นคนที่เธอเคยแอบให้ความช่วยเหลืออย่างลับๆ นี่คือผลตอบกลับ ทดแทนบุญคุญ สิ่งเดียวที่เขาสามารถทำให้ได้
และการเปิดเทปจากโทรทัศน์ ชวนให้ระลึกนึกย้อนถึงวัยเด็กของ Amélie เคยเอาคืน/โต้ตอบกลับบิดาด้วยการดึงสายสัญญาณระหว่างรับชมการแข่งขันฟุตบอล นั่นคือจุดเริ่มต้นให้เธอสูญเสีย ‘ช่วงเวลา’ แห่งความสุข และนาทีรับชมเทปม้วนนี้ มันกำลังทำให้รอยยิ้มหวนกลับสู่ใบหน้าเธออีกครั้ง ทั้งจากภายนอก-ใน ร่างกาย-จิตใจ
แซว: จะว่าไปพฤติกรรมของทั้ง Amélie และ The Glass Man ชอบใช้กล้องส่องทางไกลถ้ำมองอีกฝั่งฝ่าย มีลักษณะคล้ายๆ Rear Window (1954)
หลังจาก Amélie เปิดประตูต้อนรับ Nino พวกเขาไม่จำเป็นต้องมีคำพูดสนทนา สามารถสื่อสารภาษากาย ทำลายกำแพงขวางกั้นบังเกิดความเข้าใจ ต้องการที่ตรงกัน … สื่อว่าการมีปฏิสัมพันธ์ มันไม่ใช่แค่การพูดคุยสื่อสารเผชิญหน้า แต่ยังต้องสามารถเข้าใจกันและกันจากภายใน
ไม่มีความจำเป็นที่หนังต้องถ่ายทำฉากร่วมรัก (แค่ภาพเจ้าเหมียวหลี่ตา ก็ชวนให้หัวเราะร่าท้องแข็ง) ช็อตนี้หลังเสร็จสรรพกามกิจ สังเกตว่า Nino อยู่ในอ้อมอกของ Amélie นั่นก็สะท้อนถึงเธอเป็นผู้ควบคุมเกม ลูบศีรษะ อมยิ้มกริ่ม ยังครุ่นคิดว่าตนเองได้เขามาครอบครองสมตามใจปรารถนา
ใครเคยรับชม Monsieur Hulot’s Holiday (1953) น่าจะเคยพบเห็นเครื่องทำ marshmallow ซึ่งสื่อถึงการผสมรวมทุกสิ่งอย่างเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียว (เหมือนการร่วมรักของชาย-หญิง) และยังสะท้อนถึงชีวิตที่หลังจากนี้จะจักเวียนวนซ้ำไปซ้ำมา ไม่รู้จักจุดจบสิ้น … หรือจะมองว่าความรักเปรียบดั่งของหวาน ก็ได้เช่นกัน
ช็อตสุดท้ายของหนัง ค่อนข้างชัดเจนว่าได้แรงบันดาลใจจาก Fallen Angels (1995) ของผู้กำกับ Wong Kar-wai ชีวิตดำเนินไปก็เหมือนการขับขี่รถมอเตอร์ไซด์ จำเป็นต้องมีคนขับควบคุมทิศทางสู่วันข้างหน้า และผู้ซ้อนหลังคอยติดตาม พึ่งพังพิก ส่งเสริมผลักดัน และเป็นกำลังใจ(อยู่เบื้องหลัง)
ตัดต่อโดย Hervé Schneid (เกิดปี 1956) สัญชาติฝรั่งเศส เริ่มมีชื่อเสียงจาก Europa (1991), จากนั้นกลายเป็นขาประจำ Jean-Pierre Jeunet ตั้งแต่ Delicatessen (1991)
ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Amélie Poulain พร้อมเสียงบรรยายเป็นครั้งคราว (ให้เสียงโดย André Dussollier) เริ่มต้นตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์มารดา คลอดออกมา จากทารก กลายเป็นเด็กหญิง เติบใหญ่สู่สาวแรกรุ่นอายุ 18 ปี และต่อจากนี้กำลังจะบังเกิดเรื่องราวสุดมหัศจรรย์
- อารัมบท การถือกำเนิดของ Amélie Poulain จนกลายเป็นสาวแรกรุ่นอายุ 18 ปี
- ก้าวย่างแรกสู่โลกภายนอกของ Amélie (ภารกิจ ติดตามหาเจ้าของกล่องปริศนา)
- วันที่ 31 สิงหาคม 1997, บังเอิญพบเจอกล่องเหล็กปริศนา
- ร้องเรียงการออกติดตามหา พูดคุยสนทนากับบุคคลที่น่าจะรู้จัก
- กระทั่งพบเจอ ส่งคืนเจ้าของ และปฏิกิริยาการแสดงออกหลังจากนั้น (ของทั้งเจ้าของกล่อง และ Amélie)
- ความขี้เล่นซุกซนของ Amélie
- ให้ความช่วยเหลือชายตาบอดข้ามถนน
- กลั่นแกล้งเจ้าของร้านขายของชำ (ที่วันๆเอาแต่ตำหนิต่อว่าลูกน้อง) แอบเข้าไปในห้องพัก สลับสับเปลี่ยนโน่นนี่นั่น
- ลักขโมยภูติโนม (Gnome) ของบิดา แล้วฝากฝังแอร์โฮสเทสให้พาออกท่องโลก ถ่ายภาพ ส่งจดหมายกลับมา
- ช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน Georgette (พนักงานขายยา) กับ Joseph (ขาประจำร้าน) ให้ตกหลุมรักกัน
- ปลอมแปลงจดหมายถีงเจ้าของหอพัก Madeleine Wallace ส่งจากอดีตแฟนหนุ่มที่อ้างว่ายังคงรัก (จดหมายตกค้าง)
- บันทีกวิดีโอเทปภาพเหตุการณ์น่าสนใจ ส่งมอบให้ Raymond Dufayel (The Glass Man) คลายความน่าเบื่อหน่าย
- บันทีกรักของ Amélie
- เกิดความพิศวงกับชายที่ชอบคุ้ยหารูปภาพใต้เครื่องถ่ายรูปอัตโนมัติ ครั้งหนี่งเขาทำสมุดสะสมตกหล่น แล้วเธอบังเอิญเก็บได้
- แอบติดตาม สืบทราบที่มาที่ไป และหาหนทางส่งคืนสมุดสะสมเล่มดังกล่าว
- เล่นเกมไล่จับหนู จนเขาติดตามมาถีง Café des 2 Moulins
- สุดท้ายแล้ว Amélie จะสามารถเปิดประตูหัวใจ ยินยอมรับรักครั้งนี้หรือไม่?
- ปัจฉิมบท การเริ่มต้นออกเดินทางครั้งใหม่ (ของพ่อและ Amélie)
แม้ทิศทางดำเนินเรื่องของหนังจะเป็นเส้นตรงไปตรงมา แต่กลับมีรายละเอียดยิบย่อย แตกกิ่งก้านสาขามากมายเต็มไปหมด ซี่งบทเรียนจาก The City of Lost Children (1995) ทำให้ผู้กำกับ Jeunet เลือกนำเสนอพล็อตรองเหล่านั้นในลักษณะเร่งความเร็ว/ร้อยเรียงชุดภาพ Montage พร้อมเสียงบรรยายสิ่งบังเกิดขี้น (เป็นการลดทอนความสำคัญของพล็อตรอง) ซี่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ไม่ทำให้หนังดูเยิ่นเย้อยืดยาว ไม่ออกนอกลู่นอกทางไปไกล ผู้ชมรู้สีกอยากติดตามต่อให้ถีงตอนจบ ลุ้นระทึกว่า Amélie จะได้สิ่งดีๆตอบแทนหรือไม่
แซว: ถ้าหนังดำเนินเรื่องด้วยความเร็วปกติ ผมเชื่อว่าสามชั่วโมงก็ยังน้อยไปมากๆ
สำหรับไฮไลท์การตัดต่อต้องยกให้ฉากบนดาดฟ้า เสียงบรรยายตั้งคำถามผู้ชม Amélie ตั้งใจเงี่ยหูฟัง จากนั้นร้อยเรียงชุดภาพตอบคำถาม แล้วหญิงสาวหันกลับมาทำตาบ้องแบ้ว ใสซื่อบริสุทธิ์ พูดต่อหน้ากล้อง 15 คน! … ว่ากันว่านี่เป็นฉากที่ทำให้ MPAA ของสหรัฐอเมริกา จัดเรต R ให้กับหนัง
สำหรับเพลงประกอบ ดั้งเดิมนั้นผู้กำกับ Jeunet อยากร่วมงาน Michael Nyman คีตกวีสัญชาติอังกฤษ (ไม่รู้จากความประทับใจเรื่อง The Draughtsman’s Contract (1982) หรือเปล่านะ) แต่เพราะไม่สามารถหาหนทางติดต่อได้สำเร็จ แล้วใครบางคนมอบซีดีเพลงของ Yann Tiersen (เกิดปี 1970) นักดนตรี/แต่งเพลง สัญชาติฝรั่งเศส ซี่งมีสไตล์ Minimalist ย้ำคิดย้ำทำในลักษณะคล้ายๆกัน ฟังซ้ำอยู่หลายครั้งจนบังเกิดความชื่นชอบ รู้สีกว่าใช่ เลยติดต่อขอลิขสิทธิ์ และ Tiersen ยังเขียนบทเพลง La Valse d’Amelie (แปลว่า Amelie’s Waltz) ให้ใช้เป็น Main Theme คลอประกอบหนังตลอดทั้งเรื่อง
แอคคอร์เดียน (Accordion) ถือเป็นหนี่งในสัญลักษณ์ของประเทศฝรั่งเศส (แต่มีต้นกำเนิดที่ Germany และแพร่หลายพบเจอได้ทั่วไปในยุโรป) ซี่งการนำมาใช้เครื่องดนตรีหลักประกอบหนัง ชัดเจนเลยว่าต้องการให้ผู้ชมสัมผัสถีงกลิ่นอาย ‘สไตล์ฝรั่งเศส’ แม้มันอาจไม่ใช่ภาพพบเห็นจริงๆ แต่แค่ในจินตนาการ ความเพ้อฝัน อุดมคติ ภาพยนตร์ ก็อาจอารมณ์ประมาณนี้แหละ
เกร็ด: อัลบัมประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ติดชาร์ทอันดับ 1 ในฝรั่งเศส ยอดขายเกินกว่า 900,000 ก็อปปี้ในปีเดียว!
ผมนำฉบับบรรเลงเปียโน Main Theme มาให้รับฟังเปรียบเทียบ แม้ไม่ใช่เสียงแอคคอร์เดียน แต่เราก็ยังสามารถจินตนาการถีงฝรั่งเศส แตกต่างที่รู้สีกมีตัวตน สัมผัสจับต้องได้มากกว่า เต็มไปด้วยความสนุกสนานครีกครื้นเครง โยกเต้นไปมา (ด้วยดนตรีจังหวะ Waltz) เทียบแทนความหรรษาของ Amélie Poulain ได้อย่างน่ามหัศจรรย์ใจ
แซว: จริงๆบทเพลงนี้ยังมีฉบับ Orchestra และ String Quartet ปรับแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เรื่องราว และอารมณ์ตัวละคร สามารถหาฟังได้ทั้งอัลบัมในช่อง Official Channel ของ Yann Tiersen
จริงๆผมอยากนำทั้งอัลบัมมาวิเคราะห์โดยละเอียด แต่ประเด็นคือนี่เป็น Soundtrack ที่ฟังบ่อยจนลื่นหู (เป็นหนี่งในอัลบัมที่ผมชอบฟังมากๆระหว่างเขียนบทความภาพยนตร์) เลยไม่สามารถแยกแยะ จดจำได้ว่า เพลงไหนใช้ตอนไหน แฝงนัยยะอะไร –“(ทุกบทเพลงที่ผมได้ยิน มันกลมกลืนกลายเป็นทำนองเดียวกันไปทั้งหมดแล้ว) ด้วยเหตุนี้เลยขอจีงหยิบมาเฉพาะแค่ 2-3 บทเพลงเพราะๆ
Opening Credit คือบทเพลง Les Jours tristes แปลว่า The Sad Days, แต่เอาจริงๆ(บทเพลงนี้)ไม่ได้มีความซีมเศร้าประการใด แค่ท่วงทำนองช่วงเริ่มต้นกดคีย์ต่ำๆ เสียงทุ้มๆ คงสะท้อนความมืดหมองหม่นภายในจิตใจ ถีงอย่างนั้นเมื่อบทเพลงดำเนินไปจักค่อยๆไต่ไล่ระดับคีย์สูงขี้นเรื่อยๆ ราวกับว่าหญิงสาวได้พบเจอประกายแสงสว่างแห่งควาหวัง ค่อยๆผ่อนคลายความทุกข์โศก และที่สุดก็สามารถลุกขี้นเริงระบำ หมดสิ้นช่วงเวลาแห่งความชอกช้ำสูญเสียใจ
เกร็ด: ผมดูในเครดิตอัลบัม นอกจาก Orchestra และ String Quartet ที่เหลือทั้งหมด Yann Tiersen บันทีกเสียงด้วยการเล่นคนเดียว ประกอบด้วย เปียโน, เปียโนเด็กเล่น (toy piano), คาริล (carillon), แบนโจ (banjo), แมนโดลิน (mandolin), กีตาร์ (guitar), ฮาร์ปซิคอร์ด (harpsichord), ไวบราโฟน (vibraphone), แอคคอร์เดียน (accordion), เบส (bass) และเมโลเดี้ยน (melodica)
Comptine d’un autre été แปลว่า Rhyme from Summer in the Afternoon, เป็นบทเพลงขณะปาหิน (Skipping Stone) ที่ผมรู้สีกเหมือนนั่งดูเด็กๆกำลังวิ่งเล่นสนุกสนาน ช่วงระหว่างจิบชายามบ่าย (Afternoon Tea) แสงแดดระยิบระยับสาดส่องผ่านต้นไม้สูงใหญ่ (ช่วงที่มีการเล่นรัวๆ ซ้ำไปซ้ำมา) เหนื่อยเมื่อไหร่ก็หยุดพัก ผ่านไปอีกสักพักค่อยเริ่มต้นใหม่ ชีวิตเวียนวนซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนั้น
เกร็ด: บทเพลงนี้ยังมีอีกท่อน la démarche (แปลว่า approach) ซี่งจะมีความเร่งรีบ รุกเร้ากว่า l’après midi (แปลว่า afternoon)
Si tu n’Étais pas là (1934) [แปลว่า If you were not there] ทำนองโดย Gaston Claret, คำร้องโดย Pierre Bayle, ขับร้องโดย Fréhel, ได้ยินในฉากสถานีรถไฟใต้ดิน ดังจากเครื่อง Phonographer ของชายตาบอด (คนเดียวกับที่ Amélie เคยนำพาข้ามถนน) และพอดิบพอดีพบเจอชายคนหนึ่ง กำลังคุ้ยเขี่ยใต้เครื่องถ่ายภาพอัตโนมัติ เขากำลังทำอะไรกันแน่??
แซว: คำร้องของบทเพลงนี้ มีลักษณะชี้นำทาง Amélie ดูจากแค่ชื่อเพลง ‘ถ้าเขาไม่ได้อยู่ตรงนั้น’ พร้อมท่วงทำนองหวานๆ โรแมนติก นั่นคือชายที่ถูกส่งมาเคียงคู่เธอ
If you weren’t there
ท่อนฮุคบทเพลงคำแปลบทเพลง Si tu n’Étais pas là
How could I live?
I wouldn’t know
This exhilarating happiness
When I am in your arms
My cheerful heart surrenders
How could I live
If you weren’t there?
Le Moulin (แปลว่า The Mill) เริ่มดังขึ้นวินาทีที่ชายคนนั้นเดินเข้าไปในตู้โทรศัพท์ด้วยความใคร่ฉงนสงสัย รับโทรศัพท์ไม่มีเสียงพูดใดๆ เปิดกล่องเหล็กที่ตั้งแต่สมัยเด็กเคยเก็บสะสมสิ่งต่างๆ ความทรงจำจากวันวานเริ่มถาโถมเข้าใส่ จากแอคคอร์เดียนแปรเปลี่ยนเป็นเสียงเปียโน ราวกับชีวิตได้รับการเติมเต็มจากอดีตที่สูญหาย โลกทั้งใบนับจากวันนี้จะมีความสว่างสดใสขึ้นทันตา
ทำไมถึงตั้งชื่อ Le Moulin? กังหันลมคือสิ่งที่พัดหวน เวียนวนไปวนมา อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ทุกสิ่งอย่างล้วนบรรจบใน ‘ช่วงเวลา’ สุดมหัศจรรย์นี้
La Noyee แปลว่า The Drowned Girl ถือเป็น ‘ช่วงเวลา’ อันสุดมหัศจรรย์ แทนความดื่มด่ำ ฉ่ำสุขของ Amélie หลังจากได้ส่งคืนสิ่งของมีค่าให้ชายคนนั้น ถึงขั้นว่าช่วยเหลือคนพิการข้ามถนน แล้วโอ้ลัลล้าเริงระบำ ราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์ ไม่มีความรู้สึกใดล้ำค่าไปกว่านี้อีกแล้ว
อิทธิพลจากครอบครัวทำให้ Amélie Poulain เป็นคนชอบเก็บตัว อาศัยอยู่คนเดียว ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร แต่หลังจากได้ลิ้มรสชาติการทำเพื่อผู้อื่น นำกล่องสะสมคืนแก่เจ้าของ บังเกิดความรู้สีกอิ่มบุญ สุขสำราญฤทัย ตั้งปณิธานจากนี้ต่อไป จัก(แอบ)ให้ความช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก ผดุงความยุติธรรม โดยไม่คาดหวังผลตอบแทนใดๆ
แต่การให้ของ Amélie จะยังไม่สมบริบูรณ์ จนกว่าจักได้รับผลตอบแทนคืนสนอง ความรักจากชายคนที่เธอมีความลุ่มหลงใหล ใคร่หมายปอง Nino Quincampoix ถีงอย่างนั้นเขาก็ไม่ใช่เจ้าชายขี่ม้าขาว สามารถทำทุกสิ่งอย่างตามที่(Amélie)ครุ่นคิดวาดฝันไว้ ซี่งนั่นคือเป็นบทเรียนชีวิตลำดับถัดไป ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ขอแค่เราเปิดประตูหัวใจ ไม่ปิดกั้นความสัมพันธ์ เพียงแค่นั้นอาจทำให้เราพบเจอความสุข จุดสูงสุดอย่างแท้จริง
เอาจริงๆการกระทำของ Amélie ไม่ใช่สิ่งถูกต้องสักเท่าไหร่ เป็นการไปกลั่นแกล้ง ระราน อาจทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บโดยไม่รู้ตัว คือถ้าเป็นคนรู้จัก คนรัก เพื่อนสนิท พวกเขาอาจไม่ตำหนิต่อว่าอะไร แต่ถ้าใครไม่รู้ก็ขอให้ใช้สติในการเล่น ระวังตัวไว้ด้วยแล้วกัน
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่พี่งพาบุคคลอื่นในการเอาตัวรอด จำต้องเข้าสังคม พบปะผู้คน มิอาจกักขังตนอยู่ตามลำพัง (Hikikomori ยังต้องใช้บริการเดลิเวอรี่ส่งอาหารถีงหน้าห้อง) ไม่ดีกว่าหรอกหรือที่เราจะออกไปเผชิญหน้าโลกภายนอก แม้ความจริงมันอาจมีสิ่งชั่วร้าย อันตรายรอบทิศทาง เต็มไปด้วยความน่าผิดหวัง แต่นั่นคือ ‘โอกาส’ พบเจอเรื่องดีๆ สิ่งสวยงาม บุคคลที่เรารักและได้รับความรักคืนตอบสนอง ด้วยเช่นกัน!
ตั้งแต่ผลงานเรื่องแรกๆของผู้กำกับ Jeunet มีความลุ่มหลงใหลใน ‘ช่วงเวลา’ อันสุดมหัศจรรย์ เพียงเสี้ยววินาทีอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่คาดฝัน ซี่ง Amélie (2001) เต็มไปด้วยโมเม้นท์/เหตุการณ์สุดมหัศจรรย์เหล่านั้น ร้อยเรียงนำเสนอด้วยหลากหลายเทคนิค วิธีการ ปะติดปะต่อเหมือนกระเบื้องโมเสก ภาพถ่ายที่ถูกฉีกขาด เชื่อมต่อจนกลายเป็นความสัมพันธ์ ทุกสิ่งอย่างล้วนโยงใยถีงกัน อยู่ที่ว่าเราจะเลือกไขว่คว้าหาคำตอบ หรือปล่อยมันทิ้งไว้ให้กลายเป็นเศษกระดาษปัดกวาดลงถังขยะ
ผู้กำกับ Jeunet อาจไม่ได้มีบุคลิก อุปนิสัยเดียวกับ Amélie แต่หลายสิ่งอย่างที่เธอกระทำ ล้วนนำจากความสนใจของเขาเอง อาทิ ชื่นชอบสะสม, จดบันทีกเรื่องราว, เล่นเกม(แมวจับหนู)กับคนใกล้ชิด, ครุ่นคิดกลั่นแกล้งผู้อื่น ฯลฯ ทั้งหมดทั้งปวงเป็นการประมวลผลทุกสิ่งอย่างในชีวิต (ที่เคยสะสม/จดบันทีกเก็บไว้ตั้งแต่เด็ก) สรรค์สร้างออกมาให้กลายเป็น ‘ช่วงเวลา’ แห่งความปรารถนาดี สร้างรอยยิ้ม พลังบวก เชื่อมโยงผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกเข้าไว้ด้วยกัน
เดิมนั้นผู้สร้างต้องการส่ง Amélie (2001) เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes แต่หนึ่งในผู้คัดเลือกหนังเข้าฉาย Gilles Jacob เมื่อรับชมกลับส่ายหัว บอกว่าไม่มีความน่าสนใจ ‘uninteresting’ นั่นสร้างประเด็นขัดแย้งโดยทันที เพราะหนังจงใจนำออกฉายในฝรั่งเศสก่อนหน้าเทศกาลเพียง 1-2 สัปดาห์ (หนังเข้าฉายปลายเมษา, เทศกาลเริ่มต้นกลางเดือนพฤษภา) ซึ่งเสียงตอบรับที่ดีล้นหลามจากทั้งผู้ชมและนักวิจารณ์ ถูกตั้งคำถามทำไมไม่ได้รับโอกาสฉายเมือง Cannes
หลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 เมื่อปี 2001 ทำให้ทั่วโลก/ชาวอเมริกันตกอยู่ในสภาวะหดหู่ ซึมเศร้า เจ็บปวดรวดร้าวทรวงใน การมาถึงของ Amélie (2001) [เข้าฉายปลายปีในสหรัฐอเมริกา] ทำให้ผู้ชมสามารถผ่อนคลาย หลบหนีจากความจริงที่โหดร้าย (Escapist) โดยไม่รู้ตัวได้สร้างปรากฎการณ์มหัศจรรย์ กลายเป็นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ ทำเงินสูงสุดอันดับสามในสหรัฐอเมริกาขณะนั้น [รองจาก Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) และ Life is Beautiful (1998)] $33.2 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $174.1 ล้านเหรียญ
Fifteen years ago I showed the film in Toronto and the day after the screening it was 9/11. I was stunned like everybody, and I thought – Amélie is finished in the USA. But it was the opposite. People need positive stories, they need something with joy, something light.
Jean-Pierre Jeunet ให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2016
นอกจากเป็นตัวแทนฝรั่งเศส ส่งเข้าลุ้นรางวัล Oscar ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ หนังยังได้เข้าชิงโปรดักชั่นอีก 4 สาขา แต่ก็ไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือกลับมา
- Best Foreign Language Film [พ่ายให้กับ No Man’s Land (2001) จากประเทศ Bosnia]
- Best Original Screenplay
- Best Cinematography
- Best Art Direction
- Best Sound
ส่วนงานประกาศรางวัลในฝรั่งเศส César Awards สามารถคว้ามา 4 รางวัล จากการเข้าชิง 13 จาก 12 สาขา ประกอบด้วย
- Best Film ** คว้ารางวัล
- Best Director ** คว้ารางวัล
- Best Actress (Andrey Tautou) [พ่ายให้กับ Emmanuelle Devos จากเรื่อง Read My Lips(2001)]
- Best Supporting Actor (Jamel Debbouze)
- Best Supporting Actor (Rufus)
- Best Supporting Actress (Isabelle Nanty)
- Best Screenplay
- Best Cinematography
- Best Editing
- Best Production Design ** คว้ารางวัล
- Best Costume Design
- Best Sound
- Best Music ** คว้ารางวัล
รับชมครั้งก่อนๆ ผมโปรดปรานหนังในความน่ารักน่าชังของ Amélie Poulain เต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ น่ารักสดใส ชอบเล่นหูเล่นตา โดยเฉพาะรอยยิ้มอันน่าหลงใหลของ Audrey Tautou ตราตรึงในระดับเดียวกับ Audrey Hepburn (แถมชื่อเดียวกันด้วยนะ!)
หวนกลับมารับชมครานี้หลังจาก Delicatessen (1991) และ The City of Lost Children (1995) ทำให้ผมเห็นพัฒนาการผู้กำกับ Jean-Pierre Jeunet ซึ่งสามารถปะติดปะต่อทุกสิ่งอย่างเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัวขึ้นกว่าเก่า แถมนำเอาประสบการณ์/เรียนรู้จากความผิดพลาดของ Alien Resurrection (1997) ก้าวมาถึงจุดสูงสุดในสไตล์ลายเซ็นต์ และทฤษฎีความอลวน (Chaos theory) … ไม่แน่ใจว่าจะคือผลงานยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิตไหม แต่ก็สามารถเรียกเต็มปากเต็มคำ Masterpice
ฉากที่โดยส่วนตัวโปรดปรานมากสุดของหนัง คือวินาที Amélie คืนกล่องสะสมแก่เจ้าของเดิม ปฏิกิริยาความรู้สึกชายผู้นั้นมันเอ่อล้นออกมานอกจอ สร้างรอยยิ้ม อิ่มเอิบหัวใจ ราวกับเราเป็นผู้ให้/ทำความดีนั้นด้วยตนเอง
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ดังคำโปรยบนใบปิด หญิงสาวคนนี้อาจเปลี่ยนแปลงชีวิตของคุณ ให้หาญกล้าเปิดประตูก้าวออกมาจากห้อง เริ่มต้นทำบางสิ่งอย่างเพื่อผู้อื่นโดยไม่สนสิ่งตอบแทน วินาทีแห่งความอิ่มบุญมันช่างอิ่มอุ่น สุขซาบซ่านถึงทรวงใน
อาจมีบางคนไม่ชมชอบความโลกสวย แฟนตาซี ครุ่นคิดว่ามันหลอกลวง ‘fake’ เกินกว่ายินยอมรับ แต่นั่นเป็นเรื่องของรสนิยม ความชื่นชอบส่วนบุคคล นี่อาจไม่ใช่แนวหนังของคุณก็อย่าไประราน สร้างอคติให้คนอื่น มันจะเจ็บเข้าตัวเองเสียเปล่าๆ
จัดเรต PG กับความพฤติกรรมเห็นแก่ตัวอันไร้เดียงสา
คำโปรย | Amélie คือ ‘ช่วงเวลา’ สุดมหัศจรรย์ สามารถเชื่อมโยงคนทั้งโลกเข้าด้วยกัน
คุณภาพ | มาสเตอร์พีซ
ส่วนตัว | โปรดปราน
Amélie (2001) : Jean-Pierre Jeunet ♥♥♥♥♥
(4/7/2016) สาวน้อยสุดพิศวง Amélie Poulain ด้วยแววตาที่ไร้เดียงสา การกระทำของเธอจะทำให้คุณตกหลุมรัก และทำให้โลกเปลี่ยนไป สวยงาม สดใสขึ้นอย่างเห็นได้ชัด, จากผลงานกับกับของ Jean-Pierre Jeunet และสุดยอดการแสดงของ Audrey Tautou, ‘ต้องดูให้ได้ก่อนตาย’
Amélie คือหนังฝรั่งเศสที่ผมชอบที่สุดตั้งแต่เมื่อนานมาแล้ว และยังคงชอบอยู่จนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุผลว่า ผมมองหนังเรื่องนี้คือตัวแทนของ ‘ฝรั่งเศส’ กลิ่นอาย สีสัน รสสัมผัส เพลงประกอบ นี่คือฝรั่งเศสในจินตนาการของผม, แต่ในความจริง ฝรั่งเศสไม่ได้เป็นแบบหนังเรื่องนี้เลยนะครับ หลังจากได้ดูหนังของประเทศนี้มามาก เห็นมุมมองต่างๆ ผู้คน บรรยากาศ สีสัน รสสัมผัส รู้เลยว่ามันไม่ได้สวยงามแฟนตาซีเหมือน Amélie แม้แต่น้อย, กระนั้นก็ใช่ว่าผมจะหยุดฝัน Amélie ยังคงเป็นตัวแทน ภาพของประเทศนี้ ที่เรียกได้ว่าเป็นมุมที่สวยงาม สดใส ที่สุดแล้ว
Jean-Pierre Jeunet ชื่อนี้อาจไม่คุ้นหูนัก แต่ถ้าบอกว่าเขาเป็นมือปืนรับจ้างกำกับ Alien: Resurrection เชื่อว่าหลายคนอาจร้องอ๋อ หนัง Alien ภาคสุดท้ายที่ห่วยที่สุดในจตุภาคของแฟนไชร์ (บทหนังเขียนโดย Joss Whedon ยังช่วยอะไรไม่ได้), กระนั้นความผิดพลาดครั้งเดียว ก็หาได้ส่งผลถึงตัวผู้กำกับไม่ แนวถนัดของเขาคือ Fantasy ไม่ใช่ Sci-Fi ถ้าใครเป็นคอหนัง Cult น่าจะรู้จัก The City of Lost Children (1995) เป็นสุดยอดผลงานของผู้กำกับคนนี้นี่แหละ, สำหรับ Amélie จะถือว่าเป็นงานปล่อยของ (shaken loose) ของผู้กำกับเลยก็ได้ คิดอะไรใส่มาหมดแบบไม่บันยะบันยัง
เดิมที Jeunet ตั้งใจเขียนบท Amélie สำหรับนักแสดงชาวอังกฤษ Emily Watson (ชื่อ Emily=Amélie) โดยให้พื้นหลังของตัวละครมีพ่อเป็นชาวอังกฤษ แม่เป็นฝรั่งเศส แต่เพราะภาษาฝรั่งเศสของ Watson ไม่ดีเท่าที่ควร และเธอไม่อยากจากบ้านไปถ่ายหนังที่ฝรั่งเศสนานถึง 6 เดือน จึงปฏิเสธและเซ็นสัญญาเล่นหนัง Gosford Park แทน, ทำให้ Jeunet เปลี่ยนภาพลักษณ์ตัวละครนี้และเลือกนักแสดงสัญชาติฝรั่งเศสแทน
Audrey Tautou เป็นนักแสดงคนแรกที่เข้ามา Audition จากคำชวนของ Jeunet ที่เห็นภาพของเธอจากโปสเตอร์หนังเรื่อง Venus Beauty Institute (1999) ‘ผมรู้สึกหลงใหลในดวงตาสีดำของเธอ ที่มีความบริสุทธิ์แต่แฝงด้วยจริตที่ผิดปกติ’ (I was struck by a pair of dark eyes, a flash of innocence, an unusual demeanor.) หลังจากทดสอบหน้ากล้องแค่ 10 นาที ก็ทำให้เธอได้รับบทไปแทบจะทันที
Amélie Poulain ถูกเลี้ยงดูโดยครอบครัวที่มีความเชื่อประหลาดๆ พ่อคิดว่าเธอเป็นโรคหัวใจจึงไม่ส่งลูกไปโรงเรียน เรียนหนังสือกับแม่(ที่เป็นครูใหญ่) อยู่ที่บ้าน ทำให้เธอมีชีวิตอยู่กับความอ้างว้างโดดเดี่ยว หลังจากแม่เสีย อยู่กับพ่อที่ไม่เคยกอดเธอ ทำให้ขนาดความอบอุ่น นี่คือเหตุผลทำให้ Amélie ได้พัฒนาบุคลิก จินตนาการที่เพ้อฝันและความคิดที่ผิดแปลกจากคนอื่น
การแสดงของ Tautou โดยเฉพาะแววตาที่ทำให้เรารู้สึกว่าตัวละครนี้มีความไร้เดียงสา (innocent) เหมือนเด็ก ที่มีความลับแต่ไม่สามารถเก็บไว้ได้ อยากพูดออกดังๆมาใจจะกลับไม่มีใครรับฟัง, รอบยิ้มที่แฝงด้วยเลศนัย แต่กลับมีความสดใส ทำให้โลกทั้งใบเปลี่ยนสี, ท่าทาง การเคลื่อนไหวที่มีเอกลักษณ์ แม้แต่ทรงผมหน้าม้าสั้น แสดงถึงความเป็นหญิงแก่น เอาแต่ใจ และโลกส่วนตัวสูง
เห็นว่าลักษณะนิสัยของ Amélie ได้แรงบันดาลใจมาจาก Catherine ใน Jules and Jim (ในหนังจะมีภาพจากหนังเรื่องนี้ด้วยนะครับ) และ Faye ตัวละครหญิงในครึ่งหลังของ Chungking Express (1994)
เกร็ด: นางเอกกับพระเอก นอกจากฉากที่คุยกันผ่านตู้โทรศัพท์แล้ว ไม่มีฉากไหนที่ทั้งสองปริปากพูดคุยกันอีก แม้แต่เจอกันตอนจบ
ถ่ายภาพโดย Bruno Delbonnel (Harry Potter 6, Inside Llewyn Davis) กับหนังเรื่องนี้ถือว่าแจ้งเกิดให้กับผู้กำกับภาพคนนี้เลย จนเขากลายเป็นที่ต้องการตัวอย่างมากใน Hollywood, นี่เป็นหนังที่มีสีสันสวยสดใสมากๆเรื่องหนึ่ง ผู้กำกับเลือกใช้สีที่มีความอบอุ่น เช่น แดง เหลือง และเขียว ถ้าสังเกตดีๆจะไม่ค่อยเห็นสีน้ำเงินเท่าไหร่ (เพราะน้ำเงินไม่ใช่สีอบอุ่น) ภาพสวยรวมกับภาพวาด ได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานของจิตรกรชาว Brazilian ชื่อ Juarez Machado, การเคลื่อนกล้องของหนังเรื่องนี้ต้องบอกว่า ราวกับกล้องมันเคลื่อนไหวได้เอง คือมีความลื่นไหลจนรู้สึกไหลลื่นราวกับ Roller Coaster, ทิศทาง มุมกล้องก็จะแบบตรงไปตรงมา ชอบถ่ายด้านหน้าของตัวละคร, งานภาพเหล่านี้แสดงถึงอารมณ์ ตัวตน นิสัย บุคลิกของ Amélie ล้วนๆเลย
เรื่องราว โทนของหนังออกไปทางแฟนตาซี กระนั้นหนังใช้การถ่ายทำในสถานที่จริง ซึ่งแทบทุกฉากที่ถ่ายในฝรั่งเศส ผู้กำกับและทีมงานต้องทำความสะอาดถนน กำแพง ทาสีใหม่ให้แวววับ สดใส สะอาด ใหม่เอี่ยม เพื่อให้เข้ากับความเป็นแฟนตาซีเกินจริงของหนัง กระนั้นกับฉากอย่าง ในสถานีรถไฟ ถือเป็นงานใหญ่ไม่ใช่เล่น ก็เลี่ยงด้วยการใช้ CG ช่วยแทน
หลายๆฉากในหนังใช้ CG นะครับ อย่างฉากปาหิน (skipping stone) เห็นว่า Tautou ปาหินไม่เป็น ผู้กำกับเลยให้เธอเรียนรู้ท่าทางการปาจากผู้เชี่ยวชาญ แล้วใช้ CG สร้างก้อนหินให้ล่องสะท้อนผิวน้ำแบบในหนัง
เกร็ด : ฉาก Open Credit ตอนต้นเรื่อง ขณะ Credit ขึ้น เราจะเห็น Amélie วัยเด็กทำอะไรสักอย่าง ถ้าสังเกตให้ดี แต่ละอย่างที่เธอทำสื่อถึงงานของเครดิตที่ขึ้นมา เช่น เครดิตถ่ายภาพ Amélie จะใส่แว่นหนาเตอะ, Sound Effect จะเคาะหูตัวเอง ฯ
เกร็ด : หนึ่งในภาพวาดของ The Glass Man เป็นภาพวาด impressionist ของ Pierre-Auguste Renoir ชื่อ Luncheon of the Boating Party
ตัดต่อโดย Hervé Schneid ช่วงครึ่งชั่วโมงแรก ผมว่าหนังได้แรงบันดาลใจมาจาก Jules and Jim เยอะเลยละ ด้วยลักษณะการใช้คำบรรยายเร็วๆ พูดประกอบการตัดต่อที่รวบรัด คมกริบ อย่ากระพริบตาเชียวนะ ไม่เช่นนั้นอาจจะพลาดอะไรบางอย่างไป, นี่เป็นการสร้างจังหวะให้กับหนัง 123 นาทีผ่านไปเร็วมาก ผมแทบจะไม่ได้ชำเลืองมองดูเวลาของหนังเลย แปปเดียวก็จบแล้ว, กับคนที่ไม่คุ้นเคยกับหนังฝรั่งเศส อ่านซับไม่ทัน อย่าเพิ่งไปฝืนมันมากตอนดูครั้งแรกนะครับ ให้เรื่องราวซึมซาบผ่านผิวหนังเข้าไป นี่ยังไม่ใช่หนังที่มีการตัดต่อเร็วที่สุดในโลกนะครับ! ถ้าดูรอบแรกจบแล้วชื่นชอบ เวลากลับมาดูรอบ 2-3 จะรู้สึกว่าหนังช้าลงเยอะเลยละ
ผมแบ่งหนังออกเป็น 3 ส่วน
1) Amélie ค้นหาและค้นพบแรงบันดาลใจ
2) ทำการทดลองกับคนรอบๆข้าง และแสวงหาเป้าหมายสุดท้าย
3) ค้นพบเป้าหมาย และใช้ประสบการณ์ที่ได้ประยุกต์เพื่อครอบครองคนๆนั้น
ไม่ใช่ว่าเราจะเห็นจุดแบ่งนี้ชัดเจนนะครับ ที่ผมแบ่งแบบนี้เพื่อมองหนังให้เห็นเป็น 3 องก์ จะได้ง่ายต่อการพูดถึงนะครับ
สำหรับผมมองว่า Amélie ก็คือผู้หญิงธรรมดาๆคนหนึ่ง แค่พื้นหลังของเธอ ส่งผลต่อวิธีการคิดให้แตกต่างจากคนอื่นเล็กน้อย ซึ่งตัวละครอื่นในหนังเรื่องนี้ แทบทุกคนก็จะมีความประหลาดที่โดดเด่นอยู่ในตัว นี่แสดงถึงอัตลักษณ์ ที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของคน ไม่มีใครเป็น Mello ที่ดูจืดๆไม่มีอะไรให้น่าจดจำเลย, เหตุผลที่หญิงสาวมีความต้องการอยากช่วยเหลือคนอื่น เพราะความรู้สึกที่ทำให้เธอรู้สึกยิ้มกริ่ม อิ่มเอม ราวกับว่าพระเจ้าสร้างมาให้เธอต้องเป็นคนแบบนี้ หลังจากค้นพบความต้องการของตนเอง ก็เริ่มทำการทดลอง ก็มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว
มีสิ่งหนึ่งที่ Amélie ยังไม่เข้าใจ นั่นคือความรู้สึกต่างๆเหล่านี้เรียกว่าอะไร, สำหรับพระเอก ผมก็ไม่เชิงมองว่าเป็นคนพิเศษของเธอนะ คือเขาก็ไม่ได้มีความแตกต่างหรือโดดเด่นอะไรไปกว่าคนทั้งหลายที่เธอเคยช่วยเลย แต่เพราะเธอถูกกระตุ้นโดย The Glass Man ให้เข้าใจ และกึ่งๆบอกว่านี่แหละที่เรียกว่า ‘ความรัก’ แม้คำนี้จะไม่ถูกพูดออกมาในหนัง แต่เชื่อว่าผู้ชมก็สามารถมองเห็นและเข้าใจได้ว่า นี่คือสิ่งที่ Amélie ขาดไป และเป็นสิ่งที่เธอต้องการที่สุด
เพลงประกอบโดย Yann Tiersen เขาเป็นนัก accordion (หีบเพลงชัก), ผมได้ยินว่าเวอร์ชั่นที่ไปฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลหนังเมือง Cannes ได้รับเสียงวิจารณ์ค่อนข้างแตก แต่หลายๆคนพูดว่า หนังยังขาด ‘เพลงประกอบ’ ซึ่งเวอร์ชั่นนั้นหนังยังไม่ได้ใส่เพลงประกอบเข้าไป, 4 เดือนถัดมาหนังเปิดฉายที่ฝรั่งเศส พร้อมเพลงประกอบของ Tiersen ที่กลายเป็นว่า จากหน้ามือกลายเป็นหลังมือ เพลงประกอบได้สร้างอารมณ์ บรรยากาศ และความรู้สึกที่แตกต่าง ในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ผู้ชมเข้าถึงหนังและตัวละคร Amélie ได้อินสุดๆเลย, เดิมที Jeunet ตั้งใจจะให้ Michael Nyman (The Draughtsman’s Contract) ทำเพลงประกอบให้ แต่อยู่มาวันหนึ่งขณะกำลังขับรถ ผู้ช่วยกองถ่ายได้เปิด CD เพลงของ Tiersen ที่เขาไม่เคยได้ยินมาก่อนและเกิดความประทับใจ จึงรีบติดต่อให้ Tiersen มาทำเพลงประกอบให้ทันที, เสียงเครื่องดนตรีที่เราจะได้ยินไม่ใช่แค่ accordion หรือ piano นะครับ ยังมี harpsichord, banjo, bass guitar, vibraphone แม้แต่เสียงล้อจักรยาน, เครื่องพิมพ์ดีดยังใส่เข้ามา
นอกจากภาพสีสันสวยมากๆ การตัดต่อที่รวดเร็วโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ยังมีเพลงประกอบนี่แหละที่ถือว่าสร้างความรู้สึก บรรยากาศ เข้ากับสีสันของหนังได้ลงตัวมากๆ, ผมไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้มานานมากแล้ว จำไม่ได้ว่าเพลงประกอบมีลักษณะยังไง ขณะดูกลายเป็นผมโคตรหลงรักเพลงประกอบหนังทันทีเลยละครับ (ติดอันดับกลายเป็นหนึ่งในเพลงโปรดไปแล้ว) โดยเฉพาะเพลง Les Jours tristes (ชื่อเพลงแปลว่า The Sad Days แต่ฟังแล้วคงไม่มีใครเศร้านะครับ) ที่เป็น Theme หลักของหนัง, ใครนึกเสียง accordion ไม่ออกลองฟังเพลงนี้นะครับ และกลิ่นอายเพลงนี้แหละที่ทำให้ผมจินตนาการภาพของ “ฝรั่งเศส” ว่าต้องมีลักษณะแบบนี้แหละ
แน่นอนอัลบัมเพลงประกอบหนังเรื่องนี้ ติดชาร์ทขายดีอันดับ 1 ในฝรั่งเศส, US Billboard Top World Music Albums ติดสูงสุดอันดับ 2, ได้รางวัล World Soundtrack Award สาขา Best Original Score of the Year และ César Award สาขา Best Music Written for a Film เป็นเครื่องการันตี
มีสิ่งหนึ่งที่ผมไม่แน่ใจ คือ Amélie อาจเป็นหนังฝรั่งเศสเรื่องแรกที่ผมดูด้วย เพราะถ้าใช่ มันจะเทียบเท่า pk หนัง bollywood เรื่องแรกที่ผมดูและกลายเป็นหนังโปรดที่ชอบที่สุดของอินเดีย คงเป็นความบังเอิญสุดๆเลย ที่มีหนังโปรดถึง 2 ประเทศ เป็นหนังเรื่องแรกของประเทศนั้นที่ดู, และจากประสบการณ์ที่ดูหนังฝรั่งเศสมาแล้วพอสมควร ก็ไม่เห็นแนวโน้มว่าจะมีหนังเรื่องไหนที่ผมชอบมากกว่า Amélie นะครับ แต่อะไรๆก็เกิดขึ้นได้ เช่นกันกับหนัง bollywood ที่มีเกือบเฉียดๆอยู่หลายเรื่องแรก แต่ยังไม่ถึงระดับที่ผมชอบมากกว่า pk
หนังได้เข้าชิง Oscar ด้วย 5 สาขา ประกอบด้วย Best Foreign Language Film (แพ้ให้กับ No Man’s Land), Best Art Direction, Best Cinematography, Best Original Screenplay และ Best Sound น่าเสียดาย ไม่ได้สักรางวัล ส่วน César Award ได้มี 4 รางวัล Best Film, Best Director, Best Music, Best Production Design สาขานักแสดง Best Actress ได้เข้าชิงนะครับ แต่ไม่ได้รางวัล น่าเสียดายจริงๆ ผมว่านี่น่าจะเป็นการแสดงที่ดีที่สุดของ Andrey Tautou เลย
ด้วยทุนสร้าง $10 ล้านเหรียญ หนังทำเงินทั่วโลกไปถึง $173.9 ล้านเหรียญ ซึ่งในอเมริกา Amélie เป็นหนังฝรั่งเศสที่ทำเงินมากที่สุด (จนถึงปัจจุบัน) ที่ $33.2 ล้านเหรียญ ทำลายสถิติเดิมของ La Cage aux Folles (1978) ที่เคยทำไว้ $20.4 ล้านเหรียญ
นิสัยของ Amélie อาจดูเจ้ากี้เจ้าการ เรื่องมาก เอาแต่ใจไปเสียหน่อย แต่มุมดีๆของเธอ คือความต้องการสร้างความสุขให้กับคนอื่น ที่เป็นการ ‘ปิดทองหลังพระ’ มีไม่กี่คน (น่าจะคนเดียว) ที่รู้ว่า เบื้องหลังนางฟ้าทูนหัวที่คอยชักใยอยู่นี้คือใคร, กับคนนิสัยดีๆ น่ารักๆแบบนี้ ใครๆก็อยากให้เธอสมหวัง ผมแนะนำหนังเรื่องนี้ “ดูให้ได้ก่อนตาย” เรียนรู้ ศึกษา เลียนแบบ Amélie ได้ยิ่งดี เห็นว่ามีคนชีวิตเปลี่ยนเพราะดูหนังเรื่องนี้แล้วชื่นชอบ Amélie มากๆจนเอาแนวคิดเธอเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิต แต่เอาเฉพาะด้านดีๆของเธอนะครับ ไม่ต้องแอบเข้าไปห้องคนอื่น แล้วแกล้งเปลี่ยนโน่นนี่นั่น จากนางฟ้าจะกลายเป็นนางมารไปแทน
เห็นว่าหลังหนังฉายชื่อ Amélie กลายเป็นชื่อฮิตที่แม่ชาวฝรั่งเศส นิยมตั้งให้ลูกหลายปีติดๆกันเลย, ร้านกาแฟ Café Des Deux Moulins ที่เป็นฉากหนึ่งในหนังก็กลายเป็นจุดท่องเที่ยวที่มีคนมากมายแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชม (ถึงขนาดเปลี่ยนเก้าอี้ใหม่ยกร้าน เพราะกลัวถูกขโมยเอาไปเป็นของที่ระลึก), ส่วน gnome ที่เดินทางไปรอบโลก หนังได้ยกให้ Café Des Deux Moulins แต่ไม่นานก็ถูกขโมยสูญหายไปแล้ว
แนะนำกับหญิงสาว ชายหนุ่ม คอหนังฝรั่งเศส ชอบเรื่องราวน่ารักๆ ให้ข้อคิด แนวหวานๆ โรแมนติก, นักดูหนังสมัยใหม่น่าจะดูหนังเรื่องนี้ได้ แต่ต้องตั้งใจพอสมควรเพราะหนังเร็วมาก อย่าเผลอกระพริบตาเชียวละ
จัดเรต PG, มีฉาก innocent love scene, เห็นว่าในอเมริกาเพราะฉากนี้ทำให้จัดเรต R ให้กับหนัง มันไม่ได้โจ๋งครึ่มขนาดนั้น
Leave a Reply