Amores perros (2000) : Alejandro González Iñárritu ♥♥♥♥
ร้อยเรียงสามเรื่องราวจากกลุ่มสามชนชั้น เกี่ยวเนื่องกันด้วยอุบัติเหตุกลางสื่แยกถนน โดยมีสุนัขคือตัวแทนจิตวิญญาณความเป็นคน กัดขัดแย้งกันจนสุดท้ายไม่มีใครหลงเหลืออะไร, ภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิดผู้กำกับ Alejandro González Iñárritu ทั้งรักทั้งเกลียดประเทศเม็กซิโก จึงรังสรรค์สร้าง Love’s a Bitch นี้ขึ้นมา
ผมเกิดความช็อค อึ้งทึ่ง ตะลึงงัน ทั้งๆรู้อยู่แก่ใจว่าผู้กำกับ Iñárritu คงไม่นำสุนัขมาต่อสู้กัดกันจริงๆ แต่ให้ตายเถอะ! มันช่างดูสมจริงเสียเหลือเกิน! … และเหมือนแค่บางฉบับของหนังเท่านั้นที่มีขึ้นข้อความเตือนไว้ต้นเรื่อง
“The Animals used in this film were in no way mistreated and all scene in which they appeared were under strict supervision with the utmost concern for their handling”.
ชื่อหนังภาษาสเปน perros แปลตรงตัวว่า สุนัข ขณะเดียวกันสื่อได้ถึงชีวิตที่ย่ำแย่ ตกต่ำทราม หรือคือ ‘bad love’ ความรักอันเลวร้าย, ขณะที่ชื่อภาษาอังกฤษ Love’s a Bitch มุมหนึ่งเพื่อสะท้อนความเห็นแก่ตัวของเพศหญิง แต่ถึงเธอทำตัวบัดซบสักเพียงไหน ฉันก็ยังรักสุดหัวใจ
ทุกตัวละครหญิงใน Amores perros ต่างทำตัว ‘Bitchy’ รูปสวยใจทราม หาความงดงามภายในไม่ได้สักเท่าไหร่ ขณะที่ทุกตัวละครชายต่างก็มีสันดานโฉดชั่วไม่ต่างกัน ด้วยเหตุนี้กระมัง ‘ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่’ เลยมีความเข้ากันได้ดั่ง ‘กิ่งทองใบหยก’
ซึ่งทั้งหมดนั้นคือประเทศเม็กซิโก ในสายตาผู้กำกับ Alejandro González Iñárritu เพราะผืนแผ่นดินนี้คือบ้านเกิดเมืองนอน ต่อให้เลวร้าย โฉดชั่ว ตกต่ำทรามสักเพียงใด ฉันก็ไม่อาจตัดใจเลิกรักเธอ
Alejandro González Iñárritu (เกิดปี 1963) ชื่อเล่น Negro ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ Mexican เกิดที่ Mexico City คนสุดท้องจากพี่น้อง 7 คน เมื่ออายุ 16 ปี ทำงานในเรือขนส่งสินค้าข้ามมหาสมุทร Atalantic จึงมีโอกาสเปิดโลกกว้าง ท่องเที่ยวยุโรป แอฟริกา สองปีถัดมาเรียนต่อสาขาสื่อสาร Universidad Iberoamericana, จบแล้วได้เป็นนักจัดรายการวิทยุ สถานี WFM ต่อมากลายเป็นโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ โฆษณา จนกระทั่งรู้จักเพื่อนนักเขียน Guillermo Arriaga ร่วมกันก่อตั้งสตูดิโอ ร่วมงานสร้างหนังสั้น ซีรีย์โทรทัศน์ และภาพยนตร์เรื่องแรก Amores perros (2000)
ผลงานในช่วงทศวรรษแรกๆของ Iñárritu จะยังไม่เน้น Long Take งานภาพมีความโฉบเฉี่ยวฉวัดเวียน ตัดต่อรวดเร็วฉับไว นำเสนอเรื่องราวหลากหลายมุมมองที่ไม่สัมพันธ์ แตกต่างกัน แต่สามารถเชื่อมโยงด้วยบางสิ่งอย่าง ขณะที่หัวข้อสนใจมักเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สรรพสัตว์ ธรรมชาติ เกิด-ตาย/การมีชีวิต
เกร็ด: ภาพยนตร์เรื่องโปรดของ Iñárritu คือ Andrei Rublev (1966)
สำหรับ Amores perros และอีกสองเรื่องถัดมา 21 Grams (2003), Babel (2006) รวมเรียกว่า Trilogy of Death เริ่มต้นด้วยแนวคิดเดียวกัน คือสำรวจคุณค่าของความเป็นมนุษย์
“I have tried to explore different realities in different social classes… At the bottom line , we are human beings, and it doesn’t matter where you are or which god you believe in or which country you live in”.
– Alejandro González Iñárritu
เรื่องราวแบ่งออกเป็นสามส่วน
– Octavio y Susana, เรื่องราวของ Octavio (รับบทโดย Gael García Bernal) ตกหลุมรัก Susana (รับบทโดย Vanessa Bauche) ภรรยาของพี่ชาย Ramiro (รับบทโดย Marco Pérez) รับไม่ได้ที่พี่ชอบขึ้นเสียง ใช้กำลังรุนแรง เต็มไปด้วยอารมณ์กวัดแกว่งกับสุดที่รักของตนเอง เลยพยายามโน้มน้าวชักจูงเธอให้หลบหนีไปอยู่ด้วย แต่จะเอาเงินที่ไหน … โชคชะตาหล่นใส่เมื่อ Cofi สุนัขร็อตไวเลอร์สายพันธุ์ดี เก่งกาจเรื่องการต่อสู้ นำลงแข่งขันได้รับชัยชนะพนันนับครั้งไม่ถ้วน แต่พอตั้งใจครั้งสุดท้ายกลับถูกคู่แข่งเอาคืน ขับขี่รถไล่ล่าจนพุ่งฝ่าไฟแดง ชนกลางสี่แยก ได้รับบาดเจ็บสาหัสปางตาย
– Daniel y Valeria, เรื่องราวของ Daniel (รับบทโดย Álvaro Guerrero) ต้องการเลิกราภรรยาเก่าเพื่อมาอาศัยอยู่กินกับโมเดลลิ่งสาวชู้รัก Valeria (รับบทโดย Goya Toledo) แต่วันนั้นเธอประสบอุบัติเหตุโดนรถชนได้รับบาดเจ็บสาหัส ขาต้องเข้าเฝือกไว้ไม่สามารถขยับเดินได้ พักรักษาตัวอยู่ในบ้านตัวคนเดียวกับสุนัขตัวโปรด แต่มันกลับสูญหายตัวไปใต้พื้นห้อง เพราะอะไรกัน?
– El Chivo y Maru, เรื่องราวของ El Chivo (รับบทโดย Emilio Echevarría) หลายปีก่อนทอดทิ้งลูกสาวและภรรยาเพื่อเข้าร่วมกลุ่มก่อการร้าย ถูกจับติดคุกแบบโง่ๆ พ้นโทษออกมากลายเป็นมือปืนรับจ้าง ได้รับการไหว้วานให้เข่นฆ่าชายคนหนึ่ง ขณะกำลังจะลงมือพอดิบพอดีพบเห็นรถชนกันตรงสี่แยก เข้าไปช่วยเหลือและพบเห็นสุนัข (Cofi) ได้รับบาดเจ็บสาหัสเลยให้การช่วยเหลือไว้ และหลังจากเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น ทำให้เขาตั้งมั่นใจเลิกราอาชีพที่เคยทำมา ตัดผมโกนหนวดสวมสูท จากกระยาจกข้างถนนกลายเป็นสุภาพบุรุษมีสง่าราศี เพื่อที่จะสักครั้งในชีวิต พานพบเจอหน้า Maru ลูกสาวแท้ๆของตนเอง
Octavio จากเด็กหนุ่มขี้อาย เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยาพี่ชาย Ramiro เพราะถูกแก่งแย่งชิงสาวคนรัก Susana ทำเธอท้อง แถมยังชอบใช้กำลังความรุนแรง จึงเริ่มทำตัวเลวๆต่อเพื่อฉกแย่งชิงเธอมาครอบครอง วางแผนหลบหนีเอาตัวรอดด้วยเงินจากพนันสู้สุนัข แต่ชีวิตก็มิอาจเป็นดั่งความเพ้อใฝ่ฝัน
รับบทโดย Gael García Bernal ในผลงานแรกแจ้งเกิด ค้นพบโดยผู้กำกับ Iñárritu, ใบหน้าละอ่อนเยาว์ ดูอ่อนแอปวกเปียก ภาพลักษณ์ของคนไม่ชอบใช้กำลังรุนแรง แต่ภายในเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราดเหมือนสุนัขเลี้ยง Cofi โกรธเกลียดเคียดแค้นพี่ชาย รับไม่ได้ที่ต้องทนฟังเสียงกิจกรรมร่วมรักห้องข้างๆ ค่อยๆเรียนรู้ว่าเงินสามารถซื้อเรือนร่างกายเธอได้ แต่สุดท้ายก็มิอาจครอบครองหัวจิตใจ ค้นพบความจริงที่แสนเหี้ยมโหดร้าย ไม่เท่าเทียม
Susana หญิงสาวที่เปลือกนอกดูบริสุทธิ์สดใส แต่ภายในเร่าร้อนรุนแรงร่าน Sex ชอบผู้ชายที่มีความเข็มแข็งแกร่ง ตอบสนองตัณหาพึงพอใจของตนเอง ด้วยเหตุนี้เลยยินยอมศิโรราบต่อ Ramiro พยายามบอกปัด Octavio แต่เมื่อเขาใช้เงินมาหลอกล่อจึงยินยอมคล้อยตาม แต่ภายหลังแสดงความยึดถือมั่นในหลักศีลธรรมจรรยา ฉันรักกับคนที่ฉันแต่งงาน นายมันคนนอกไม่มีวันเข้าใจอะไร
รับบทโดย Vanessa Bauche (ตั้งชื่อตามนักแสดง Vanessa Redgrave) นักแสดงละครเวที/ภาพยนตร์ แจ้งเกิดกับ El Patrullero (1991), เคยมีบทสมทบเล็กๆใน The Mark of Zoro (1998), ผลงานโด่งดังสุดคือ Amores perros (2000), มองในมุมของ Octavio คงเห็น Susana ราวกับแม่พระ/นางฟ้า ซึ่ง Bauche แสดงสีหน้าออกมาได้โคตรน่าสงสารเห็นใจ แต่ตัวตนแท้จริงเมื่อปิดประตูคลุกคลีกับผัวอยู่ในห้อง ไม่ต่างอะไรกับยัย Bitch หื่นกระหาย ร่านราคะ ไม่เช่นนั้นจะยินยอมศิโรราบ เสียตัว อดรนทนการถูกใช้กำลังกดขี่ข่มเหงจากสามีอยู่ทำไม!
Ramiro นักเลงหัวไม้ ติดยา อารมณ์กวัดแกว่งเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ดูเหมือนคนพึ่งพาอะไรไม่ได้สักอย่าง แต่ข้างในนั้นอ่อนแอ ปวกเปียก ได้รับการเติมเต็มจาก Susana ทำให้กล้าเผชิญหน้ากับโลกอันเหี้ยมโหดร้าย
รับบทโดย Marco Pérez นักแสดง/ศิลปิน งานประจำคือโรงละครแนวทดลอง แสดงภาพยนตร์/โทรทัศน์บ้างประปราย ผลงานแจ้งเกิดคือ Amores Perros (2000) ด้วยภาพลักษณ์ภายนอกเหมือนนักเลงหัวไม้ การแสดงเต็มไปด้วยความกวัดแกว่งทางอารมณ์ สร้างมิติให้กับตัวละครได้ตราตรึงไม่น้อยทีเดียว ผู้ชมคงอยากให้หมอนี่ตายๆไปเสียได้ แต่นั่นใช่ความรู้สึกที่ถูกต้องเหมาะสมหรือ?
Daniel บรรณาธิการนิตยสาร แม้แต่งงานมีภรรยาและลูกสาวสองคน แต่ชีวิตกลับยังโหยหาความสุขสำราญกับชู้รัก Valeria ตัดสินใจเลิกราหย่าร้างแล้วมาอาศัยอยู่กับเธอ แต่โชคชะตาทำให้เขาเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน สำนึกผิดแต่ไม่สามารถหวนคืนกลับไปได้อีก
รับบทโดย Álvaro Guerrero นักแสดงสัญชาติเม็กซิกัน ผลงานเรื่องแรกคือ The Mission (1986), โด่งดังสุดหนี้ไม่พ้น Amores perros (2000), ภาพลักษณ์ของ Guerrero คือนักธุรกิจ ทำให้ตัวละครมีมาดสง่างามดูดี สามารถจัดการทุกสิ่งอย่างได้อย่างเรียบร้อยหมดจรด แต่ภายในจิตใจของเขานั้นไม่ต่างอะไรกับพื้นผุพัง หลบซ่อนเร้นด้วยหนูนับพัน เฝ้ารอยคอยเวลาทรุดโทรมพังทลาย จนสุดท้ายอาจไม่หลงเหลืออะไรให้มีชีวิตอยู่
Valeria โมเดลลิ่งสาวสวยสุดเซ็กซี่ เป็นนักสร้างภาพหลอกตนเอง คบชู้สู่ชายกับ Daniel จนเขาละเลิกภรรยา ซื้ออพาร์ทเม้นท์หลังใหม่อาศัยอยู่ร่วมกัน แต่อุบัติเหตุไม่มีใครคาดคิดถึงนั้น ทำให้อนาคตของเธอดับวูบลง ถูกเลิกจ้าง ไหนยังจะสุนัขตัวโปรด Richie หายตัวไปใต้พื้นบ้าน จิตใจเต็มไปด้วยความหวาดหวั่นสั่นสะพรึงกลัว จนในที่สุดหมดสูญสิ้นทุกสิ่งอย่าง
รับบทโดย Goya Toledo นักแสดง/โมเดลลิ่งสัญชาติ Spanish เพื่อนสนิทของ Penélope Cruz จบจากโรงเรียนการแสดงเดียวกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ Mararía (1998), Amores Perros (2000) ฯ ความงามเซ็กซี่ของ Toledo นั้นกินขาด! ผู้กำกับ Iñárritu ก็จงใจขายเรียวขาของเธออย่างเต็มที่ ซึ่งพอได้รับอุบัติเหตุเข้าเฝือกเหล็ก แลดูอัปลักษณ์ทั้งภายนอกและจิตใจ สีหน้าสายตาเต็มไปด้วยอาการหวาดกลัวตัวสั่น และท้ายที่สุดนั้นเมื่อต้องสูญเสียอนาคตก้าวเดิน กลายเป็นคนหมดสิ้นอาลัย ตายทั้งเป็น!
El Chivo จากเคยรักลูกและภรรยามากๆ เมื่อตัดสินใจเลือกอุดมการณ์เข้าข้างกลุ่มก่อการร้าย จำต้องทอดทิ้งสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง หลังจากถูกจับ ติดคุก ได้รับการปล่อยตัว กลายมาเป็นมือปืนรับจ้าง ใช้ชีวิตวันๆเหมือนเศษขยะ ไร้ซึ่งเป้าหมายความต้องการใดๆ กระทั่งพบเห็นตัวตายตัวแทนของตนเองเสียชีวิตไป (สามีใหม่ของภรรยา/พ่อใหม่ของลูกสาว) จึงเริ่มแอบซุ่มมอง ลักลอบเข้าไปในบ้านของเธอ และการว่าจ้างครั้งสุดท้าย ทำให้เรียนรู้ถึงความตายไม่ใช่หนทางออกของทุกสิ่ง
รับบทโดย Emilio Echevarría นักแสดงสัญชาติ Mexican ที่พอโด่งดังแจ้งกับ Amores perros (2000) และ Y Tu Mamá También (2001) โกอินเตอร์กับ Die Another Day (2000), The Alamo (2004) ฯ พอไว้หนวดดก ทรงผมกระเซอะกระเซิง ใครๆย่อมมองไม่เห็นคุณค่า แต่หลังจากตัดโกนเลี่ยนเตียนดูดี กลับมีสง่าราศีดูดีจนแทบจดจำไม่ได้ นั่นแปลว่าภาพลักษณ์ภายนอกหาได้สำคัญเท่าจิตใจคน และการเรียนรู้ เติบโต วัยใดก็สามารถทำให้ชีวิตปรับเปลี่ยนไป
ถ่ายภาพโดย Rodrigo Prieto ตากล้องสัญชาติ Mexican หลังจากแจ้งเกิดโด่งดังกับ Amores perros (2000) โกอินเตอร์ผลงานหลากหลาย อาทิ 8 Mile (2002), Alexander (2004), Brokeback Mountain (2005), Argo (2012), Silence (2016), The Irishman (2019) ฯ
งานภาพในแต่ละตอนของหนังมีสัมผัสที่แตกต่างกันไป
– Octavio y Susana, เต็มไปด้วยความโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียน เต็มไปด้วยแสงสีสัน พบเห็นทั้งมุมก้ม-เงย ซึ่งสะท้อนการต่อสู้ดิ้นรนของชนชั้นกลาง เร่งรีบร้อนเพื่อให้ชีวิตสามารถดิ้นรนเอาตัวรอด
– Daniel y Valeria, ส่วนใหญ่ของหนังอยู่ภายในอพาร์ทเม้นท์หรู ไม่เน้นการขยับเคลื่อนสั่นไหวกล้องมากนัก แสดงถึงชีวิตที่ไม่จำเป็นต้องต่อสู้ดิ้นรนอะไรมาก แต่โทนสีหม่นๆแห้งแล้งก็ใช่ว่าชีวิตจะพานพบเจอความสงบสุขใดๆ
– El Chivo y Maru, การจัดวางองค์ประกอบภาพ เต็มไปด้วยอะไรไม่รู้ที่ชวนให้รู้สึกรกๆ สกปรก มุมกล้องแอบๆ ราวกับคนชนชั้นล่างไม่มีตัวตนใดๆในสังคม
เผื่อคนไม่ทันสังเกต Iñárritu มีบทรับเชิญเล็กๆช็อตนี้
ตัดต่อโดย Iñárritu, Luis Carballar และ Fernando Pérez Unda เห็นว่าฉบับแรกของหนังยาวเกือบๆ 3 ชั่วโมง เลยไปขอคำปรึกษาจากเพื่อนสนิท Guillermo del Toro แนะนำให้เล็มโน่นนี่นั่นตัดออกไปอีกนิด จนได้ 153 นาที มีความสมบูรณ์ที่สุดแล้ว
หนังแบ่งเรื่องราวออกเป็นสามส่วนที่ไม่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ แต่เชื่อมโยงด้วยเหตุการณ์รถชนกลางสี่แยกเป็นจุดหมุน
– Octavio y Susana, นำเสนอเรื่องราวก่อนหน้าขับรถชน (มุมมองบุคคลที่หนึ่ง)
– Daniel y Valeria, นำเสนอเรื่องราวภายหลังถูกรถชน (มุมมองบุคคลที่สอง)
– El Chivo y Maru, คาบเกี่ยวเรื่องราวก่อนหน้า-ภายหลัง (มุมมองบุคคลที่สาม)
ซึ่งในแต่ละตอน จะพบเห็นเศษเลี้ยวเล็กๆของตอนอื่นๆแทรกปรากฎอยู่ด้วย เพื่อเป็นการเติมเต็มเนื้อเรื่องราวที่ขาดหาย อาทิ
– รายการสัมภาษณ์ของ Valeria ค้างๆคาๆอยู่ตอน Octavio y Susana ก่อนไปเปิดเผยเต็มๆที่ Daniel y Valeria
– หลังจากอุบัติเหตุรถชน โชคชะตากรรมของรอด/ตายของ Octavio จะปรากฎอยู่ตอน El Chivo y Maru
– หลังจากอุบัติเหตุรถชน Valeria ได้รับการช่วยเหลืออย่างไร ปรากฎอยู่ตอน El Chivo y Maru เช่นกัน
ฯลฯ
หลายครั้งของการดำเนินเรื่อง พบเห็นการตัดต่อคู่ขนานสองเหตุการณ์สลับไปมา และบางครั้งแม้คนละตอน แต่มีความต่อเนื่องทางอารมณ์
– ระหว่างการต่อสู้หมา ตัดภาพไปงานศพพ่อเลี้ยงของ Maru … สื่อถึงศัตรู/คู่ต่อสู้สูญเสียชีวิต
– Ramiro ออกปล้น, Octavio เล่นพนันสู้สุนัข … การทำงานหาเงินที่ถือว่าผิดกฎหมายทั้งคู่
– Octavio ร่วมรักกับ Susana, Ramiro ถูกรุมทำร้าย … สะท้อนความสุขสูงสุดของ Octavio ได้ครอบครองหญิงคนรัก และกำจัดพี่ชาย/ศัตรูหัวใจ
– Ramiro ถูกยิงขณะกำลังปล้นธนาคาร, El Chivo กำลังรักษาแผลให้กับสุนัขที่เพิ่งพบเจอ
– Octavio เฝ้ารอคอยที่สถานีขนส่ง, El Chivo ตัดผมโกนหนวด ตระเตรียมตัวสำหรับการออกเดินทางครั้งใหม่
ฯลฯ
เพลงประกอบโดย Gustavo Santaolalla สัญชาติ Argentine เจ้าของสองรางวัล Oscar: Best Original Score จากเรื่อง Brokeback Mountain (2005) และ Babel (2006)
งานเพลงของ Santaolalla โดดเด่นกับการใช้เสียงกีตาร์นำ (มีทั้งกีตาร์โปร่ง/ไฟฟ้า) เริ่มต้นมอบสัมผัสอันเคว้งขว้างว่างเปล่า ชีวิตเต็มไปด้วยความเจ็บปวดรวดร้าวทุกข์ทรมาน แต่ไม่ว่าจะชนชั้นไหนก็เหมือนกัน ถ้าเราสามารถอาศัยอยู่ได้ด้วยความรู้สึกเพียงพอดี โลกทั้งใบนี้คงไม่ต่างจากสรวงสวรรค์ ระยิบระยับงดงามตระการตา เอื้อนเกินกว่าคำอื่นใดจะใช้บรรยาย
สุนัข คือสัตว์ที่เป็น ‘เพื่อนแท้ของมนุษย์’ ในบริบทของภาพยนตร์เรื่องนี้ เปรียบได้กับ ‘จิตวิญญาณ’ ของตัวละคร
– Cofi แทนด้วยความเกรี้ยวกราดคลุ้มคลั่งของ Octavio ทั้งๆเจ้าของแท้จริงคือ Ramiro แต่กลับไม่เคยเอาใจใส่ดูแล ก็เหมือนภรรยา Susana แสดงออกว่ารักแต่ไม่ใคร่ใส่ใจอะไรอย่างอื่น
– Richie ลูกรักของ Valeria เมื่อมันสูญหายตัวไปใต้พื้นห้อง เธอเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานแทบเป็นแทบตาย คลุ้มคลั่งเกรี้ยวกราด ถึงขนาดกระทำกับตนเองจนหมดสิ้นสูญอนาคต (ขา = สัญลักษณ์ของการก้าวเดิน อนาคตข้างหน้า)
– สุนัขสามสี่ตัวของ El Chivo รักมากเหมือนลูก มีจิตอารีย์กับ Cofi แต่กลับกลายเป็น ‘เลี้ยงงูเห่า’ ต้องการเข่นฆ่าล้างแค้นแต่ไม่สามารถกระทำได้ ตระหนักย้อนแย้งเข้ากับอาชีพมือปืนรับจ้างของตนเอง เลยตัดสินใจกระทำบางสิ่งอย่างที่แตกต่างออกไป
ขณะที่สุนัขมีความจงรักภักดีต่อเจ้านาย แต่มนุษย์ทั้งหลาย ชาย-หญิง แทบทั้งนั้นหาความซื่อสัตย์ต่อใครแทบไม่ได้
– Octavio แม้มีพี่ชายแท้ Ramiro แต่โกรธเกลียดเคียดแค้นไม่สามารถให้อภัย
– Susana แต่งงานกับ Ramiro แต่ลักลอบมีชู้ Octavio
– Ramiro แม้รักกับ Susana แต่ไม่ใคร่สนใจใยดี ทะนุถนอมดูแลเธอสักเท่าไหร่
– Daniel นอกใจภรรยา คบชู้กับ Richie
– Valeria สร้างภาพหลอกผู้ชม ให้ครุ่นคิดว่ากำลังคบหาใครบางคน แต่แท้จริงคือคบชู้กับ Daniel
– El Chivo แม้รักภรรยาและลูกสาวมากๆ แต่กลับเลือกอุดมการณ์สูงส่งกว่าสิ่งใด และทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหลัง
ฯลฯ
Dogfighting คือกิจกรรมที่แฝงนัยยะถึงการต่อสู้ดิ้นรนของชนชั้นทำงาน (Working Class) ปากกัดตีนถีบ หาเช้ากินค่ำ เงินเท่านั้นทรงคุณค่าสำคัญสูงสุด สามารถนำไปซื้อรถ/ขับเคลื่อนชีวิต และเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝันของตนเอง … นี่สามารถสะท้อนสภาพชีวิตความเป็นอยู่ใน Mexico City ได้เช่นกัน
คนชนชั้นสูง แม้ไม่ต้องดิ้นรนหาเช้ากินค่ำ แต่ก็ใช่ว่าจะมีความมั่นคง
– พื้นบ้านทะลุ สะท้อนถึงความไม่มั่นคงในชีวิตและจิตใจ
– ถูกหนูกัดก่อนกิน บ่อนทำลายจากภายใน
– ได้รับบาดเจ็บขา คือการสูญเสียอนาคต ไม่สามารถก้าวเดินต่อไปสู่วันข้างหน้า
– ภาพโปสเตอร์ขนาดใหญ่ สะท้อนความภาคภูมิใจในตนเอง สัญลักษณ์แห่งความสำเร็จ ชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับการยินยอมรับจากสังคม
ฯลฯ
สำหรับ El Chivo สิ่งผิดพลาดพลั้งที่สุดในชีวิตเขา คือการทอดทิ้งภรรยาและลูกๆเพื่ออุดมการณ์เพ้อใฝ่ฝันของตนเอง อันเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียดายเวลาที่ขาดหาย ภาพพ่อบุญธรรม-แม่-ลูก นำรูปถ่ายตนเองมาตัดแปะแทนที่ วางเงินไว้ใต้หมอนเพราะเชื่อว่าสามารถแก้อดีต/ปัญหาได้ทุกสิ่งอย่าง
ความมหัศจรรย์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้ชมสามารถมองสามเรื่องราวดำเนินขึ้นต่อเนื่องกันไปข้างหน้า แค่ปรับเปลี่ยนตัวละคร และเวลาที่คาบเกี่ยวกัน ลองทำความเข้าใจในลักษณะนี้ดูนะครับ
– ชายหนุ่มตกหลุมรักหญิงสาวที่แต่งงานกับพี่ชาย กำลังมีทารกน้อยน่ารัก ชักชวนเธอหนีไปอยู่ด้วยกันแต่ไม่สำเร็จ
– ชายวัยกลางคนหย่าร้างภรรยา ทอดทิ้งลูกสาวตัวเล็ก คบชู้แฟนใหม่หนีไปอยู่ด้วยกัน แต่กลับชอกช้ำระกำใจ ตระหนักได้ว่าครุ่นคิดผิด
– ชายชราต้องการหวนกลับไปหาลูกโตเป็นสาว ตระหนักได้ถึงความผิดพลาดครั้งเก่าก่อน ต้องการทำบางสิ่งอย่างเพื่อเป็นการทิ้งท้าย
การเดินทางท่องเที่ยวยุโรป/แอฟริกาของผู้กำกับ Alejandro González Iñárritu ส่งอิทธิพลต่อหนังเรื่องนี้เป็นอย่างมาก สามเรื่องราวที่เต็มไปด้วยความแตกต่างแห่งชีวิต ก็เหมือนภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อของมนุษย์แต่ละชนชาติพันธุ์ ถึงกระนั้นเราก็อาศัยอยู่อย่างกลมกลืนหนึ่งเดียวร่วมกันบนโลกใบนี้
Trilogy of Death คือสามระดับแห่งความสัมพันธ์ที่ผู้กำกับ Iñárritu พานพบเจอในชีวิต
– Amores perros (2000) ความแตกต่างทางชนชั้น/สังคม อาศัยอยู่ร่วมกันในประเทศประเทศเม็กซิโก
– 21 Grams (2003) สะท้อนความรู้สึกภายในจิตใจที่แตกต่างกันต่อความตาย
– Babel (2006) ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์จากทั่วทุกโลก
มุมมองของ Iñárritu ชีวิตคือปริมาณนับไม่ถ้วนของการสูญเสีย เริ่มตั้งแต่เกิด เติบโต สูญเสียความเยาว์วัย, บริสุทธิ์สดใส, ขนร่วง ฟันหลุด สุขภาพย่ำแย่ และที่สุดคือสิ้นลมหายใจ ทุกสิ่งอย่างมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่อง ว่ายเวียนวนดั่งวัฏจักร
“My theory is that life is a relentless number of losses that we suffer. From when we’re born to when we die, we are losing. We are losing our innocence. We start losing our hair, our teeth, our health, and then we lose our life. For me, it’s about how you deal with that, how you transform pain. Because I think pain should not be enjoyed, but pain is something you can transform. It’s a way to remain connected with things. This is how nature works. The flower grows and blooms, then dries and dies, and is born again. It’s constant part of life”.
เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes สาย International Critics’ Week คว้ามา 3 รางวัล
– Critics Week Grand Prize
– Grand Golden Rail
– Young Critics Award
ด้วยทุนสร้าง $2.4 ล้านเหรียญ ทำเงินในสหรัฐอเมริกา $5.4 ล้านเหรียญ รวมทั้วโลก $20.9 ล้านเหรียญ ประสบความสำเร็จอย่างล้มหลาม
และยังได้เป็นตัวแทนประเทศ Mexico
– เข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film พ่ายให้กับ Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000)
– เข้าชิง Golden Globes: Best Foreign Language Film
– คว้ารางวัล BAFTA Award: Best Film not in the English Language
ตลกคือเริ่มต้นผมมีความลังเลกับตอนแรกของหนังที่เต็มไปด้วยความรุนแรงคลุ้มคลั่ง แต่พอดูหนังจบกลับกลายเป็นตอนชื่นชอบสุดซะงั้น! ไม่รู้เพราะส่วนตัวตกหลุมรักผู้หญิงลักษณะนี้หรือเปล่านะ ทึ่งในความอดรนทนไปได้อย่างไรกับผู้ชายแบบนั้น ชวนให้ระลึกถึง Election (1999) ขึ้นมาชอบกล
แนะนำคอหนังอาชญากรรม ดราม่า สะท้อนภาพประเทศ Mexico ในสายตาผู้กำกับ Alejandro González Iñárritu, ชื่นชอบการตัดต่อ ดำเนินเรื่องต่างมุมมอง, แฟนๆนักแสดง Emilio Echevarría และ Gael García Bernal ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ กับความสมจริงของสุนัขสู้กัน, คบชู้นอกใจ, เข่นฆาตกรรม
Leave a Reply