Amour (2012) : Michael Haneke ♥♥♥♥
ในอพาร์ทเม้นท์แห่งนึ่ง ชายชราอาศัยอยู่กับหญิงชรามาหลายทศวรรษ ห้องนั่งเล่นเต็มไปด้วยหนังสือ รูปภาพ (เรื่องราวความทรงจำเก่าๆ) แต่แล้ววันหนึ่งทุกอย่างก็หยุดนิ่ง เวลาของพวกเขากำลังจะหมดลง, หนังรางวัล Palme d’Or และ Oscar: Best Foreign Language Film ที่ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ช่วงชีวิตของมนุษย์นั้นแสนสั้น ในตัวเลขแค่ไม่กี่ปี ร่ายกายเติบโตเปลี่ยนแปลงจากเด็กเป็นวัยรุ่น ผู้ใหญ่เป็นกลางคน สูงวัย ชราภาพ รวดเร็วเกินกว่าที่จิตใจจะปรับตัวได้ทัน, ว่าไปจิตใจของมนุษย์ไม่เคยแก่ลงเลยนะครับ มีแต่จะเติบโตพัฒนาเฉลียวฉลาดขึ้น ยิ่งมีชีวิตอยู่นานๆ ประสบการณ์ยิ่งสะสมพอกพูน ความรู้ท่วมหัวเต็มไปหมดรอบด้าน แต่ขณะเดียวกันการมีชีวิตอยู่บนโลกนานๆ มักทำให้เกิดความคิดยึดติดไม่อยากจากโลกนี้ไป นี่ฉันก็อยู่มาไม่กี่ปีเองนะ หมดอายุไขของชีวิตแล้วหรือ!
การหวนระลึกถึงความทรงจำในอดีต ถือเป็นกิจกรรม/กระบวนการคิดหนึ่งของมนุษย์ (เป็นการประมวลผลสิ่งต่างๆที่เคยเกิดขึ้นมา) ไม่จำเป็นต้องอายุขนาด 60-70 ปี แค่ตอนอายุ 20-30 บางทีก็มีความทรงจำบางอย่างเกิดขึ้นตราตรึงฝังใจ จดจำสิ่งนั้นไว้ไม่รู้ลืม และชอบที่จะหวนนึกคิดถึงอยู่บ่อยครั้ง, กระนั้นไม่มีทางที่คนธรรมดาทั่วไปจะสามารถจดจำรายละเอียดความทรงจำทุกสิ่งอย่างได้ทั้งหมด เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ สิ่งที่หลงเหลืออยู่จะมีเพียงแค่ ‘ความรู้สึก’ ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งนั้น (จดจำได้แต่สิ่งนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม)
“I don’t remember. I don’t remember the film either. But I remember the feeling.”
Amour เป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับความรัก ความตาย แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมไม่ค่อยเห็นใครที่ไหนพูดถึงกันคือ ‘ความทรงจำ’ มันไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆมนุษย์เกิดมาแล้วแก่เลย (ไม่ใช่แบบ The Curious Case of Benjamin Button) ก่อนจะเป็นผู้สูงวัย ก็ต้องเคยเป็นเด็กน้อย หนุ่มสาว วัยรุ่น มาก่อน เช่นกันกับความรักของพวกเขา ไม่ใช่เพิ่งจะมาพิสูจน์รักกันตอนใกล้ตาย สมัยหนุ่มสาวถ้าไม่เคยชอบคอ เกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ซึ่งกันและกัน จะสามารถแต่งงานอยู่กินมานานขนาดนั้นได้อย่างไร, การที่คนสองคนอยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน ย่อมต้องเกิดความผูกพันธ์ลึกซึ้งที่ไม่อาจตัดขาดแยกจากกันได้ แต่เมื่อใครคนหนึ่งต้องทนทุกข์ทรมานตามอายุไข อีกคนที่ยังมีชีวิตอยู่จะตัดสินใจ เลือกคิดเลือกกระทำเช่นไร
มีหนังญี่ปุ่นเรื่องหนึ่ง Tokyo Tower: Mom and Me and Sometimes Dad (2007) เรื่องราวระหว่างแม่กับลูกและบางครั้งพ่อ ตั้งแต่เด็กจนโต ในวันที่แม่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง ลูกชายก็ดูแลเอาใจเป็นอย่างดี (พ่อทอดทิ้งไปแล้ว), ตอนผมดู Amour เกิดความรู้สึกคล้ายๆกัน ในส่วนต่างที่สามารถเรียกได้ว่า My Wife and Me and Sometimes my Daughter
Michael Haneke (เกิดปี 1942) ปรมาจารย์ผู้กำกับชาว Austria สร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นจากชีวิตจริงของตนเอง ป้าวัย 90 ที่เป็นผู้เลี้ยงดูเขามาตั้งแต่เด็ก ทนทุกข์ทรมานจากโรคไขข้ออักเสบ (Rheumatism) อาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นท์เพียงลำพัง เพราะไม่ต้องการเข้าโรงพยาบาลหรือสถานเลี้ยงดู ครั้งหนึ่งเธอขอให้ Haneke ช่วยให้พ้นทุกข์ แต่เขาไม่ทำ!
Haneke คงครุ่นคิดเรื่องนี้อย่างหนักถึงการปฏิเสธครั้งนั้น ถึงขนาดเริ่มพัฒนาบทหนังมาตั้งแต่ปี 1992 (ขณะนั้นอายุ 50) แต่ยังไม่สามารถตอบตัวเองได้ว่า สิ่งที่เลือกตอนนั้นถูกผิดประการใด
“I have tormented myself terribly with the script and I was left with the impression that I have not succeeded in getting the hang of this topic”
จนกระทั่งตัวเองกลายเป็นผู้สูงวัย อายุเกือบ 70 ปี ผมเชื่อว่าเขาคงได้คำตอบนั้นแล้ว (ซึ่งก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในหนัง)
Haneke พัฒนาบทหนังโดยมี Jean-Louis Trintignant อยู่ในใจ (นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Haneke พัฒนาบทหนังโดยมีนักแสดงอยู่ในใจ อย่าง The Piano Teacher นั้นมี Isabelle Huppert เป็นต้นแบบ) เห็นว่าทั้งสองอยากร่วมงานกันมานาน แต่ยังไม่มีโอกาสสักที ซึ่ง Trintignant จริงๆก็ retire เกษียณตัวไป 7 ปีแล้ว แต่เมื่อได้ชม The White Ribbon (2009) ผลงานก่อนหน้าของผู้กำกับเกิดความชื่นชอบมาก ตัดสินใจกลับมาแสดงเพราะเชื่อมั่นใน Haneke ล้วนๆ
“he has the most complete mastery of the cinematic discipline, from technical aspects like sound and photography to the way he handles actors”
– Jean-Louis Trintignant ให้สัมภาษณ์ถึง Michael Haneke
Jean-Louis Xavier Trintignant (เกิดปี 1930) นักแสดง นักเขียนบท ผู้กำกับสัญชาติฝรั่งเศส ถือเป็นผู้มีชื่อเสียงระดับโลก มีผลงานดังอย่าง
– A Man and a Woman (1966) ที่คว้า Palme d’Or กับ Oscar: Oscar: Best Foreign Language Film
– The Man Who Lies (1968) คว้า Silver Bear: Best Actor จากเทศกาลหนังเมือง Berlin
– Z (1969) คว้า Best Actor จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
– Three Colors: Red (1994)
บอกตามตรงผมจดจำใบหน้าของ Trintignant แทบไม่ได้ เต็มไปด้วยความเหี่ยวย่น แต่นั่นหมายถึงริ้วรอยของประสบการณ์ ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก กระนั้นตัวละครนี้กลับเต็มไปด้วยความเหลอหลา ป้ำๆเป๋อๆ อันเกิดจากความไม่รู้ว่าจะคิดจะทำอะไร โดยเฉพาะในวินาทีที่ตัวละครของ Riva หยุดนิ่งไป เชื่อว่าใครๆก็คงทำตัวไม่ถูกแน่, การแสดงของ Trintignant ถือว่าแบกหนังไว้ทั้งเรื่องทั้งกายและใจ (รวมถึงแบก Riva ด้วย) แปลกที่กลับได้รับคำชมน้อยกว่า Riva
Emmanuelle Riva (1927 – 2017) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส ที่มีชื่อเสียงจากการแสดงเรื่องแรก Hiroshima mon amour (1959), ได้รางวัล Volpi Cup: Best Actress จากหนังเรื่อง Thérèse Desqueyroux (1962), ผลงานอื่นที่ดังๆ อาทิ Léon Morin, Priest (1961), Three Colors: Blue (1993) ฯ
Haneke เขียนตัวละครนี้โดยมี Riva อยู่ในใจ แต่เขาไม่ค่อยมั่นใจว่าเธอจะสามารถเล่นได้ จึงขอให้มา Audition ร่วมกับนักแสดงคนอื่นๆ และตัดสินใจเลือกจากการเคลื่อนไหว (พิการด้านหนึ่ง) ที่มีความสมจริง
สิ่งที่ทำให้ Riva ได้รับคำชมอย่างมากในหนังเรื่องนี้ คงเป็นขณะทุกข์ทรมานดิ้นรนอยู่บนเตียง เสียงร้องคร่ำครวญโหยหวน พูดจาไม่เป็นประสา ใครเห็นคงรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวแทน, จริงอยู่การแสดงของเธอยอดเยี่ยมสมจริง แต่จะบอกว่าเทียบไม่ได้เลยกับ Kirin Kiki ใน Tokyo Tower: Mom and Me and Sometimes Dad (2007) เพราะในฉากลักษณะเดียวกันนี้ เสียงร้องและการดิ้นของ Kiki ขนาดเห็นแค่ขา แต่ผมไม่สามารถทนมองตรงๆได้ ต้องเบือนหน้าหนีตลอด จุดอกแน่นหายใจไม่ออก น้ำตาสองข้างไหลทะลัก รู้สึกกำลังจะตายร่วมไปกับตัวละคร
ถ้าไม่เปรียบเทียบกัน การแสดงของ Riva ก็ถือว่ายอดเยี่ยมนะครับ สมควรอย่างยิ่งกับการเข้าชิง Oscar, มีอีกฉากหนึ่งที่ต้องพูดถึง ตอนเธอร้องไห้เพราะฉี่ราดที่นอนเหมือนเด็ก อับอายจนต้องขับรถเข็นหนี … ความดื้อด้านถือเป็นนิสัยหนึ่งของผู้สูงวัย เพราะอีโก้ที่อยู่ในใจของตนเอง ประมาณว่าฉันอายุปูนนี้แล้วแต่กลับทำตัวเหมือนเด็ก ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองไม่ได้, นี่คือสิ่งที่ผมให้ข้อสังเกตไปตั้งแต่ย่อหน้าแรกๆ เพราะจิตใจของมนุษย์เติบโตขึ้นเรื่อยๆไม่มีแก่ลง ผิดกับร่างกายที่พอโตเต็มที่ก็จะเริ่มโรยรา จิตใจไม่สามารถปรับตัวเข้ากับร่างกายที่อ่อนแอลงได้ ผลลัพท์ก็เลยเป็นแบบนี้
มีฉากพิศวงหนึ่ง ในวันที่ชายชราไปงานศพกลับมาเร็ว เห็นหญิงชรานั่งอยู่ตรงพื้น เธอลงไปทำอะไรตรงนั้น? ผมคิดว่านั่นไม่ใช่อุบัติเหตุแน่ๆ น่าจะคือความพยายามฆ่าตัวตาย ด้วยการปีนหน้าต่างตกตึก แต่เพราะหมดแรงกลางคันเลยได้แค่นั่งกองอยู่ตรงนั้น (คือถ้าแบบเอามีดกรีดข้อมือน่าจะง่ายกว่านะ แต่เธอคงไม่อยากเป็นภาระให้สามีที่ต้องมาเก็บกวาด กระโดดตึกนี่แหละคงง่ายที่สุดแล้ว)
Isabelle Huppert รับบทลูกสาวที่ไม่เอาถ่านของทั้งสอง ผมมองว่าตัวละครนี้ว่าเป็น Sometimes my Daughter ลูกที่ปากบอกว่ารักเป็นห่วงเป็นใจ จิตใจทุกข์ทรมาน แต่กลับไม่สามารถทำอะไรให้เกิดขึ้นได้, คงมีคนมองว่าตัวละครนี้มีความเห็นแก่ตัวค่อนข้างมาก แต่ผมมองกลับกัน แล้วเธอจะทำอะไรได้
คนเป็นพ่อแม่หลายคน ไม่ค่อยอยากให้ลูกเห็นตนในสภาพนั้นเท่าไหร่ เวลามีคนมาเยี่ยมเยียนชอบทำตัวสดใสร่าเริง กลบเกลื่อนบอกว่าไม่เป็นอะไรมาก อาการไม่หนัก เดี๋ยวก็หาย นั่นเพราะไม่อยากให้ลูกๆหรือใครๆต้องคอยวิตกกังวลเป็นห่วง, คือเราต้องเข้าใจทั้งสองฝ่ายนะครับ ถ้าพวกเขาไม่เรียกร้องอะไรจะไปมองว่าการไม่ทำอะไรเป็นสิ่งไม่ถูกต้องนั้นก็ไม่ใช่ เพราะบางทีถ้าฝืนทำในสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการ รังแต่จะก่อให้เกิดความทุกข์มากยิ่งขึ้นไปเสียเปล่า
อย่างหนังเรื่องนี้ ผมเข้าใจตัวละครของ Huppert มากๆเลยละ เพราะชีวิตจริงของผมก็มีลักษณะคล้ายเธอ คือสุดท้ายแล้วคนเป็นลูกอย่างเราก็ทำอะไรไม่ได้ การจะมองเธอว่าเป็นลูกไม่รักดีนั้นไม่ถูกต้องแน่นอน
นักแสดงสมทบคนหนึ่ง Alexandre Tharaud รับบทเป็นลูกศิษย์เรียนเปียโนของหญิงชรา, Tharaud เป็นนักเปียโนจริงๆ ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งนะครับ Haneke เลือกใช้บริการเขาเพราะจะได้นำบทเพลงที่เล่นมาใช้ประกอบในหนังด้วย (เห็นว่า ผลงานขายดีขึ้นแบบเทน้ำเทท่า)
ถ่ายภาพโดย Darius Khondji ตากล้องลูกครึ่ง Iranian-French ที่มีผลงานอย่าง Seven (1995), Evita (1996), Midnight in Paris (2011) ฯ ถ่ายหนังเรื่องนี้ด้วยกล้องดิจิทอล แต่ได้สีไม่เป็นที่พอใจผู้กำกับเสีย เห็นว่าใช้เวลาเป็นปีเพื่อปรับสีให้ตรงตามที่ต้องการ
ภาพของหนังมีลักษณะที่เรียกว่า Frame Story ส่วนใหญ่ตั้งกล้องไว้เฉยๆให้นักแสดงเดินเข้าออกผ่านหน้ากล้อง แต่ก็มีการเคลื่อนกล้องแบบ Tracking Shot ติดตามตัวละครบ้างบางครั้ง มีการนับทั้งหมด 236 คัต (รวมเครดิต) ในเวลา 127 นาที เฉลี่ยช็อตละ (ASL) 32 วินาที, นี่มีลักษณะเหมือนกรอบรูปภาพ อัลบัมรวมรูปความทรงจำ ของสองผู้ชรา ในช่วงเวลาบั้นปลายของชีวิต มันจึงมีความเชื่องช้า อืดอาดยืดยาด … คนแก่ไม่มีทางทำอะไรได้เร็วเหมือนวัยรุ่นนะครับ หนังเรื่องนี้ก็เช่นกัน
ในห้องนั่งเล่น ด้านหลังเต็มไปด้วยหนังสือและภาพวาด มีนัยยะถึงเรื่องราว/บันทึก ความทรงจำจากอดีต, เฟอร์นิเจอร์ไม้คือความเก่า คลาสสิก โบราณ
ปู่ย่าคู่นี้ กินข้าวกันแบบหลบๆซ่อนๆ ในมุมหนึ่งของห้อง (มุมเล็กๆของชีวิต) ที่จะมีภาพเก่าๆของพวกเขาติดผนังอยู่ไว้เชยชมอดีต
หนังมีสถานที่หลักแห่งเดียวคือ ในอพาร์ทเมนท์แห่งหนึ่ง ซึ่งใช้การสร้างฉากจำลองขึ้นมาในสตูดิโอ แล้วใช้พื้นหลังหน้าต่างเป็น Green Screen ทำ post-production ทีหลัง, เห็นว่า Emmanuelle Riva อยู่กินหลับนอนอยู่ในฉากที่สร้างขึ้นนี้เลยตลอดการถ่ายทำ เพราะเธอไม่ชอบที่จะเดินทางไปกลับ ผ่านมลพิษตามท้องถนน ซึ่งทีมงานได้จ้าง รปภ. ส่วนตัวให้เลย
ตัดต่อโดย Monika Willi, Nadine Muse จริงอยู่หนังมีการตัดต่อไม่เยอะ แต่ลำดับของเรื่องราวใช่ว่าจะดำเนินเป็นเส้นตรง
ฉากแรกของหนัง เปิดมาด้วยการทำลายประตูห้องแห่งหนึ่ง (ใน Timeline ถือว่าเป็นช่วงท้ายของเรื่องราว) กล้องเคลื่อนเลื่อน Long-take ไปมาโดยรอบ ก่อนมาจบที่ห้องสุดท้ายเห็นร่างของหญิงชรานอนอยู่บนเตียง หน้าต่างเปิดออก (คาดว่าเพื่อให้นกพิราบบินออกไป)
ฉากถัดมาตัดไปที่การแสดงคอนเสิร์ต ถ่ายให้เห็นเบื้องหน้าบรรดาผู้คนที่เดินเข้ามานั่งรอจมการแสดง จากนั้นแสงไฟค่อยๆหรี่ลง เสียงปรบมือดังขึ้น จบที่การแสดงดนตรีเพลง Schubert: Impromptus, D. 899 (Op. 90) No. 1 in C minor
กับช็อตนี้หากันเจอไหมเอ่ย ปู่ย่าสองคนนั่งอยู่กันที่ตรงไหน (ใบ้ให้ว่าแถวที่ 4 จากข้างหน้า) และด้านข้างย่าจะมีเก้าอี้ว่าตัวหนึ่ง เดาได้เลยว่าน่าจะต้องเป็นของตัวละคร Huppert แน่ๆ
การตัดต่อ บางครั้งเป็นภาพจากอดีต (มีลักษณะเหมือนภาพหลอน/ภาพลวงตา), บางช็อตเป็นในความฝัน (ขณะเดินออกนอกห้อง), มีช่วงหนึ่ง นำเสนอภาพวาดทั้งหลายที่อยู่ในห้อง เห็นว่านั่นคือ Collection ของผู้กำกับ Haneke ที่ครอบครัวของเขาวาดไว้ทั้งหมด (ก็อาจมีภาพที่ผู้กำกับวาดเองด้วย แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าภาพไหน)
มุมมองของเรื่องราว ส่วนใหญ่เป็นของตัวละคร Trintignant (ที่สามารถแทนได้ด้วยตัวของผู้กำกับ) ยกเว้นช็อตแรกกับช็อตสุดท้าย ที่เป็นความว่างเปล่า เหมือนต้องการบอกว่า ชีวิตก่อนเริ่มต้นและหลังจบสิ้น มันก็ไม่มีอะไรนอกจากความไม่มี
สำหรับบทเพลง มีแต่เพลงคลาสสิกเท่านั้นที่ได้ยิน ผมของเลือก Beethoven: Bagatelles, Op. 126, Allegro in G minor นำมาให้ฟังนะครับ นี่เป็นบทเพลงที่ Beethoven เคยบอกไว้ว่า ‘are probably the best I’ve written’ อุทิศเพลงนี้ให้พี่ชาย Johann van Beethoven บรรเลงโดย Alexandre Tharaud
เพลงนี้จะได้ยิน 2 ครั้ง
1) หญิงชราให้ลูกศิษย์เล่นให้ฟัง ตั้งใจฟังจนจบ
2) ชายชราเปิดจากแผ่นซีดีให้ฟัง แต่เธอทนฟังได้ไม่นานก็ขอให้ปิด
Bagatelles แปลว่า a thing of little importance; a very easy task. สิ่งเล็กๆที่ไม่ค่อยสำคัญ, บทเพลงนี้เริ่มต้นมาจะเป็นโน๊ตรัวๆเสียงสูง ถัดจากนั้นจะเป็นเสียงนุ่มๆของโน๊ตเสียงต่ำ ตัดสลับไปมาหลายครั้งในเพลง นี่แสดงถึงสิ่งตรงกันข้าม
ปฏิกิริยาของหญิงชราต่อการฟังเพลงทั้งสองครั้ง แสดงถึงความพึงพอใจในชีวิต, ครั้งแรกเมื่อขอลูกศิษย์เล่นให้ฟัง ประหนึ่งว่าคือความทรงจำอันน่าภาคภูมิใจของตนเอง แต่ครั้งหลังที่สามีเปิดให้ฟัง มันคือสถานะของตัวเองขณะนี้ที่เจ็บปวดทุกข์ทรมาน (จนไม่ต้องการที่หวนระลึกถึงความสุขในอดีต)
ใจความของหนังเรื่องนี้ ผมขออ้างตามที่ผู้กำกับอธิบายมาเลยแล้วกันนะครับ
“the question of how to deal with the suffering of a loved one”
สิ่งที่ Haneke นำเสนอในหนังเรื่องนี้คือ คำถาม? เราจะคิดตัดสินใจทำอะไรกับคนรัก ถ้าต้องตกอยู่ในสถานการณ์เป็นตาย ทุกข์ทรมานแสนสาหัส, จริงอยู่หนังเสนอแนะวิธีการและคำตอบ แต่มันคือแนวคิดของผู้กำกับนะครับ ไม่จำเป็นว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ลักษณะคล้ายๆกันนี้แล้วคุณจะต้องคิดทำแบบเดียวกับเขา เพราะในชีวิตจริง Haneke ก็ไม่ได้ทำแบบในหนัง เราอาจมองได้ว่าเป็นตราบาปเล็กๆในใจของเขา ที่พอแก่ตัวลงก็เริ่มมองย้อนคิดได้กับตนเอง ถ้าฉันตกอยู่ในสถานการณ์ทนทุกข์ทรมานเช่นนั้น อยากตายแต่ทำไม่ได้ ก็คงต้องขอคนอื่นแบบเดียวกัน
คำถามลักษณะนี้ในชีวิตจริงมีเยอะแยะมากมาย เช่นว่า หญิงสาวคลอดก่อนกำหนดกำลังตกเลือด ต้องเลือกว่าระหว่างชีวิตลูกกับชีวิตแม่, เรือล่มกลางทะเล ต้องเลือกช่วยระหว่าง พ่อ/แม่/คนรัก/ลูก ฯ มันไม่มีคำตอบที่ถูกต้องของคำถามพวกนี้นะครับ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ของผู้ที่มีสิทธิ์ตัดสินใจนั้น นี่ไม่ใช่เรื่องที่ใครคนอื่นพอได้รับฟังแล้วนำไปวิพากย์วิจารณ์เป็นเรื่องสนุกปาก ให้ลองพิจารณาดูว่า
– สามีตัดสินใจเลือกภรรยา เพราะชีวิตของคนรักสำคัญกว่า, ลูกมีใหม่เมื่อไหร่ก็ได้
– ตัดสินใจเลือกลูก เพราะเขาคือผู้บริสุทธิ์ สืบสายเลือดของตน, ภรรยามีใหม่เมื่อไหร่ก็ได้
ผมขอที่จะไม่วิพากย์วิจารณ์ ตัดสินใดๆทั้งนั้นกับการเลือกว่าฝั่งไหนถูกฝั่งไหนผิด แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันในหนัง สิ่งที่ผมจะเลือก … คือไม่ทำแบบในหนังแน่นอนนะครับ
สำหรับตอนท้าย ไล่จับนกพิราบ คำสัมภาษณ์ของผู้กำกับต่อฉากนี้
“Consider the pigeon just a pigeon. You can interpret it any way you want. I wouldn’t describe it as a symbol. I have problems with symbols, because they always mean something specific. I don’t know what the pigeon means. All that I know for certain, I think, is that the pigeon appears. It may symbolize something in particular to Georges and individual viewers, but it doesn’t symbolize anything to me. You have to be careful when you deal with elements with multiple meanings, they must be dealt with ambiguously. This has already happened several times in the past. Remember 71 Fragments of a Chronology of Chance: Bach chorales can be heard playing on a radio again and again, and you could regard that as a metaphor, as an opportunity to see it as more than it is. But you don’t have to. There are lots of pigeons in Paris.”
แต่สำหรับคนที่อยากเข้าใจ ผมมองการกระทำของตัวละครต่อนกพิราบคือนัยยะของฉากนี้
– ในตอนแรกที่อยู่ดีๆนกก็เข้ามาในบ้าน สิ่งที่เขาทำคือหาทางไล่มันออก แล้วปิดหน้าต่างไม่ให้กลับเข้ามา
– ตอนหลังเมื่อเห็นมันอยู่ในบ้านอีกครั้ง แทนที่จะไล่ไปกลับไล่จับ ต้อนจนมุม (ตรงนี้หนังตัดไปเขียนจดหมาย ข้อความว่า จับนกได้แล้วปล่อยมันไป)
ลักษณะเหมือนสถานะจิตใจของตัวละคร (state of mind) ตอนแรกไม่ยอมรับขับไล่ ตอนหลังโอบรับไว้, นกมักใช้เป็นสัญลักษณ์ของอิสระ เสรีภาพ โบยบินไปตามท้องฟ้า ไร้สิ่งยึดเหนี่ยว ซึ่งการปฏิเสธครั้งแรกมองได้ถึง การไม่ยอมรับชีวิต/ความตาย ส่วนครั้งหลังย่อมตรงกันข้าม อะไรจะเกิดมันก็เกิด เป็นอิสระแล้ว รับได้ทุกอย่าง
เกร็ด: ฉากนี้ถ่ายทำทั้งหมด 12 เทค เพราะ Haneke ต้องการกำกับทิศทางของนกให้เคลื่อนไหวตามที่เขาต้องการ (และคงต้องการให้ Trintignant แสดงความเหนื่อยล้าออกมาด้วย)
ส่วนช็อตสุดท้ายนี้ ในบ้านที่ว่างเปล่า (เป็นการตัดกระโดดข้ามไปอนาคต หลังเสร็จจากงานศพ) ลูกสาวเดินเข้าออก ผ่านห้องที่ไม่เหลือใคร อ้างว้างโดดเดี่ยว คงกำลังหวนระลึกถึงความทรงจำในอดีตเมื่อครั้นพ่อและแม่ของตนยังอาศัยอยู่, ช็อตนี้แบ่งครึ่งสองด้านได้อย่างสมมาตร สามารถแทนด้วยอะไรก็ได้ ความเป็น/ความตาย, มี/ไม่มี, แสงสว่าง/ความมืด ฯ
ประตูเป็นสัญลักษณ์ที่พบบ่อยและเป็นหนึ่งในลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Haneke, ช็อตนี้มี 4 บาน คิดเล่นๆ แทนได้ด้วย 4 ห้องหัวใจ ปิดไว้, เปิดอยู่มองไม่เห็น, เปิดอยู่มีคนอยู่, และเปิดไว้ไม่มีใครอยู่
เดิมหนังตั้งชื่อว่า These Two ต่อมาเป็น The Music Stops แต่ฟังดูใช้ไม่ได้ทั้งคู่ วันหนึ่ง Trintignant แนะนำกับ Haneke นี่เป็นหนังเกี่ยวกับความรัก ทำไมไม่ใช้ชื่อว่า Amour (ภาษาฝรั่งเศส แปลว่า Love, ความรัก) จึงได้กลายมาเป็นชื่ออย่างเป็นทางการ
หนังออกฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล Palme d’Or เป็นครั้งที่ 2 ของ Haneke ถัดจาก The White Ribbon (2009) แต่ศักยภาพของหนังเรื่องนี้ ประธาน Jury ในปีนั้น Nanni Moretti บอกว่าคณะกรรมการอยากให้ทั้ง Best Actor, Best Actress และ Best Screenplay (เรียกว่าเป็นเอกฉันท์ทุกรางวัล) แต่เพราะมีปีหนึ่งที่ Haneke ได้ 3 รางวัลจาก The Piano Teacher (2001) คือ Grand Prix, Best Actor, Best Actress จึงมีการเขียนกฎเพิ่มเติมว่า ภาพยนตร์ที่ฉายในสายประกวดจะสามารถคว้ารางวัลใหญ่ได้เพียง 1 รางวัลเท่านั้น!
ส่วน Oscar ได้เข้าชิง 5 สาขา ได้มา 1 รางวัล ประกอบด้วย
– Best Picture
– Best Director
– Best Actress (Emmanuelle Riva)
– Best Original Screenplay
– Best Foreign Language Film ** ได้รางวัล
ตอนที่หนังได้เข้าชิงหลายรางวัล สร้างความเซอร์ไพรส์ให้ชาวอเมริกาอย่างมาก มีไม่บ่อยนักที่ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ จะได้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย ย้อนไปครั้งล่าสุดก็ Babel (2006) [แต่ยังมีพูดภาษาอังกฤษ], Letters from Iwo Jima (2006) [กำกับโดยผู้กำกับอเมริกัน] ถ้าจะหนังภาษาต่างประเทศล้วนๆ คงต้อง Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000)
สำหรับ Emmanuelle Riva ถือเป็นการเข้าชิง Oscar ครั้งแรกในชีวิต ตอนอายุ 85 ปี 321 วัน ถือว่าเป็นผู้เข้าชิงอายุมากที่สุดในสาขา Best Actress ทำลายสถิติเดิมของ Jessica Tandy ที่เข้าชิงและคว้ารางวัลได้จาก Driving Miss Daisy (1989) ตอนอายุ 80 ปี
ส่วนตัวรู้สึกแค่ชอบหนังเรื่องนี้ เหตุเพราะผมนำหนังไปเปรียบเทียบกับ Tokyo Tower: Mom and Me and Sometimes Dad (2007) ที่มีความสะเทือนทางอารมณ์กว่ามาก (ร้องไห้เจ็บปวด ดิ้นทุรนทุราย) แม้ในด้านศิลปะภาพยนตร์และการเซอร์ไพรส์ตอนจบ Amour จะลึกล้ำกว่ามาก แต่ไม่สามารถทำให้เกิดความสะเทือนใจได้เท่าไหร่
จะว่าผมมอง ความสัมพันธ์ต่างวัยระหว่างแม่กับลูก สวยงามซาบซึ้งกว่า ชายแก่หญิงแก่ในวันใกล้ตายเป็นไหนๆ
อาจเพราะผมยังหนุ่มแน่นอยู่ด้วยกระมัง ความแก่ชราเป็นเรื่องไกลตัว จึงไม่ค่อยอยากครุ่นคิดทำความเข้าใจเสียเท่าไหร่, แต่ก็ยังเชื่อว่าเมื่อแก่ตัวขนาดนั้น น่าจะเห็นไม่ต่างจากความคิดปัจจุบัน
แนะนำกับวัยรุ่นหนุ่มสาว ผู้ใหญ่ทุกคน “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” โดยเฉพาะที่พ่อแม่ ญาติสูงอายุ ยังมีชีวิตอยู่ รับชมหนังแล้วจดจำประโยคนี้ไว้ให้ดี
“I hope from the bottom of my heart that one day someone treats you the same way you treat your patients and that you too will have no way of defending yourself.”
จัดเรต 15+ กับบรรยากาศของความเจ็บปวด และความตาย
Leave a Reply