An American in Paris

An American in Paris (1951) hollywood : Vincente Minnelli ♥♥♥♥

Paris! Just look at it. No wonder so many artists have come here and called it home. ปารีส, ฝรั่งเศส เมืองอันน่าพิศวง มีอะไรในเมืองนี้ ที่ทำให้ผู้คนมากหน้าหลายตาจากทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะศิลปินต่างมีความหลงใหล ชื่นชม ฤาเพราะความสวยงามทางทัศนียภาพ ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ หรือเคยมีบุคคลสำคัญของโลกเคยอาศัยอยู่ มนต์เสน่ห์อะไรกันที่ทำให้ปารีสน่าสนใจขนาดนี้

เมื่อพูดถึงงานศิลปะ ถ้าไม่พูดถึง Paris ก็กระไรอยู่ เพราะที่แห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์รวมของศิลปินแขนงต่างๆจากทั่วทุกมุมโลก (เหมือนนักดนตรีต้องเวียนนา, งานศิลปะต้องปารีส) หนังเรื่อง An American in Paris ถือว่าเข้าคอลเลคชั่น Painter & Artist แน่นอน เพราะตัวเอกเป็นศิลปินนักวาดภาพที่มาแสวงโชคในกรุงปารีส เมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศส แม้ใจความของหนังจะไม่เกี่ยวกับสร้างสรรค์ผลงาน แต่การดำเนินเรื่องใน Paris ที่ทำให้เราเข้าใจวิถีชีวิต ความคิด ความต้องการ และความฝันของศิลปิน ว่าทำไมอะไรๆก็ต้องปารีส เมือนี้มีอะไรน่าสนใจ ถึงขนาดน่าจะเรียกได้เลยว่าเป็น ‘เมืองหลวงแห่งงานศิลปะ’

ใครเคยดู Midnight in Paris (2011) ของ Woody Allen มาแล้ว ก็น่าจะเข้าใจความพิศวงของ Paris ในมุมมองที่ออกแฟนตาซีเสียหน่อย ความทรงจำของ Paris มีอะไรบ้าง? Fitzgerald, Hemingway, Gertrude Stein, Alice B. Toklas, Picasso, Dali, Cole Porter, Man Ray, Luis Bunuel, Tom Eliot รู้จักบ้างไม่รู้จักบ้าง (ส่วนใหญ่ผมจะไม่รู้จัก) นี่เป็นเมืองที่เคยเป็นที่อยู่ของศิลปินชื่อดังมากมาย Van Gogh ก็ยังเคยมาอยู่ช่วงหนึ่ง บรรยากาศที่ให้ความรู้สึกเหมือน ตัวเองกำลังยืนอยู่ ณ จุดเดียวกับสุดยอดศิลปินในอดีต เขาอาจจะเคยเดินถนนสายเดียวกับเรา เห็นวิวทิวทัศน์เดียวกับเราก่อนสร้างผลงานกระฉ่อนโลก ไม่แน่ว่าสักวันเราอาจจะสามารถทำแบบพวกเขาได้, เชื่อว่าแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งของ Midnight in Paris น่าจะมาจาก An American in Paris ด้วยนะครับ

Vincente Minnelli ผู้กำกับชาวอเมริกัน ขึ้นชื่อในการกำกับหนังแนว Musical ผลงานโคตรฮิตของเขาอาทิ Meet Me in St. Louis (1944), The Band Wagon (1953), Gigi (1958) ล้วนเป็นแนว Musical ทั้งนั้น เรื่องหลังสุดทำให้เขาได้ Oscar สาขา Best Director, เคยแต่งงานกับ Judy Garland เมื่อปี 1945 แต่อยู่ด้วยกันได้แค่ 6 ปี ก็หย่า แต่งงานอีก 3 ครั้งก็ไปแทบไม่รอดเลย จนมีคนตั้งข้อสงสัยว่า Minnelli น่าจะเป็นเกย์, ก่อนที่จะมาเป็นผู้กำกับหนัง เคยกำกับละครเวที จนกระทั่งปี 1940 ได้ถูกโปรดิวเซอร์ชื่อดังแห่งยุค Arthur Freed ของ Metro-Goldwyn-Mayer (MGM) ชักชวนมาทำงานภาพยนตร์, Minnelli ถือว่านำยุค Golden Age ของหนังแนว Musical มาให้กับ MGM เลยนะครับ โดยเฉพาะ An American in Paris หนึ่งในหนังเพลงที่ฮิตที่สุดในทศวรรษนั้น (ก่อนจะถูกโค่นโดน Singin’in the Rain) จากทุนสร้างประมาณ $2 ล้าน ทำเงินได้ $6.9 ล้าน เข้าชิง Oscar 8 สาขาได้มา 6 รวมถึง Best Picture เป็นหนังเพลงเรื่องที่ 3 ถัดจาก The Broadway Melody (1929) และ The Great Ziegfeld (1936) ที่ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

ได้แรงบันดาลใจมาจาก Orchestral ชื่อ An American in Paris ของ George Gershwin เป็นบทภาพยนตร์โดย Alan Jay Lerner ในความจริงนั้น Lerner เป็นนักแต่งเพลงนะครับ เขามักจะเขียนเนื้อร้องที่ใช้ประกอบเพลง แต่ขณะเดียวกันเพื่อให้แต่ละเพลงมีเนื้อหาต่อเนื่อง Lerner ก็เลยจำต้องแต่งเรื่องราวให้ต่อเนื่องไปด้วย,  Lerner มาจากสายละครเวทีแบบเดียวกับผู้กำกับ Minnelli ผลงานภาพยนตร์ที่ดังๆของเขาอาทิ Gigi (1958), My Fair Lady (1964), Camelot (1969) และ The Little Prince (1974), สำหรับบทหนังเรื่องนี้ เห็นว่าใช้เวลาเขียนถึง 4 เดือน และมาเร่งเอาคืนสุดท้าย 12 ชั่วโมงรวดเดียวจนเสร็จ (ก่อนคืนวันแต่งงานของเขา) เอาจริงๆผมไม่คิดว่าบทหนังเรื่องนี้มีอะไรที่น่าสนใจเท่าไหร่ มันอาจจะมีความคล้องจองกับเพลงที่แต่งอย่างลงตัว แต่ไม่ได้มีอะไรที่น่าสนใจ หรือน่าดึงดูดเลย กระนั้นเขาก็ได้ Oscar สาขา Best Original Screenplay เสียงั้น

นำแสดงโดย Gene Kelly เรื่องนี้เขาออกแบบท่าเต้น (choreographer) เองด้วย และมีหลายครั้งที่ผู้กำกับ Minnelli อยู่ในสถานะที่ไม่สามารถกำกับได้ (คงเพราะเป็นช่วงกำลังจะเลิกกับ Judy Garland) จึงทำให้ Gene Kelly ต้องลงมือกำกับด้วยตัวเอง (เขาไม่ได้เครดิตการกำกับนะครับ) อย่างเพลง Embraceable You เป็น Kelly ที่กำกับฉากนี้เองทั้งหมด

นำหญิงโดย Leslie Caron เดิมทีนักแสดงที่รับบทนี้คือ Cyd Charisse แต่ในตอน Pre-Production พอเธอรู้ตัวว่าตั้งครรภ์จำต้องถอนตัวออกไป คนที่แนะนำ Leslie Caron คือ Gene Kelly เพราะเขาต้องการให้มีนักแสดงชาวฝรั่งเศสในหนังจริงๆ ไม่ใช่มีแต่อเมริกัน โดย Kelly ไปเตะตาเธอเข้าขณะไปพักร้อนที่ Paris และได้เห็นการแสดง Ballet ของเธอ, นี่ถือเป็นผลงานการแสดงหนังเรื่องแรกของ Caron ด้วยนะครับ หลังจากนั้นเธอก็โด่งดังขึ้นเรื่อยๆ ได้เข้าชิง Oscar 2 ครั้งแต่ไม่ได้ไป จาก Lili (1953) และ The L-Shaped Room (1962) ตอนรับบทใน An American in Paris เห็นว่าเธอยังพูดภาษาอังกฤษไม่คล่อง แม้จะมีแม่เป็นชาวอเมริกันแต่ก็ไม่ใช่ภาษาหลัก โชคดีที่บทของเธอมีบทพูดไม่มากนัก เน้นการแสดง เต้น Ballet ซึ่งแสดงศักยภาพของเธอออกมาได้เด่นชัด

นักแสดงสมทบที่ต้องพูดถึง Oscar Levant เขาเป็นนักเปียโนนะครับ ในหนังให้เขาแสดงเปียโนแบบสดๆเลย Levant อาจไม่ใช่นักแสดงที่มีความสามารถมากนัก แต่ก็ถือว่าสามารถแย่งซีนได้ในหลายๆฉากได้ เหตุที่เขารับเล่นหนังเรื่องนี้เพราะเป็นเพื่อนสนิทและรู้จักกับ George Gershwin ตัวจริงๆมาก่อน

ถ่ายภาพโดย Alfred Gilks ปารีสสวยมาก… นั่นเป็นสิ่งที่ผมอยากจะพูด แต่ไม่ครับ เราจะเห็นวิวทิวทัศน์ภายนอกไม่เยอะเท่าไหร่ มีแค่ช่วงต้นเรื่องและเกริ่นก่อนเข้าบางฉากเท่านั้น ฉากอื่นๆถ้าไม่เต็มไปด้วยผู้คนก็เป็นฉากเต้นที่ใช้ฉากหลัง ถ่ายในสตูดิโอ ถ้าพูดแบบนี้หลายคนคงคิดว่า แล้วหนังมันมีกลิ่นอายของปารีสยังไง? … คำตอบคือ ผู้คน-วิถีชีวิต, ความมีระดับที่หรูหรา-ฟุ่มเฟือย, เสื้อผ้า-หน้าผม, สถาปัตยกรรม เราไม่จำเป็นต้องเห็นทัศนียภาพของปารีสโดยรอบ ก็สามารถรู้สึกได้ว่าที่นี่ปารีส

ฉากที่ผมชอบที่สุด เชื่อว่าหลายคนคงชอบคล้ายๆกัน ฉากเต้นรำใต้สะพานของคู่พระนาง ช่วงแรกๆจะมีเนื้อร้องเกี้ยวพาราสีของพระเอก พอทั้งสองเริ่มเต้นรำ ไม่จำเป็นต้องมีคำพูดใดๆ ใช้การเคลื่อนไหวช้าเร็วหยุดแสดงออกซึ่งการเกี้ยวพาราสี กล้องถ่ายภาพตามการเคลื่อนไหว เลื่อนซ้ายขวา ถอยเข้าออก ไม่ให้สองตัวละครหลุดกรอบเฟรม ความอ่อนไหว นุ่มนวล และเสียงดนตรีที่หวานแหวว ผสานคล้องกันท่าเต้นสัมผัสได้ถึงอารมณ์ของตัวละคร ฉากนี้ผมถือว่าเป็นการเต้นที่โรแมนติกที่สุดในหนังเพลงของ hollywood แล้วนะครับ

ตัดต่อโดย Adrienne Fazan ได้ Oscar สาขา Best Edited คนเดียวกับที่ตัด Singin’ in the Rain ช่วงที่ผมถือว่าการตัดต่อเป็นไฮไลท์ที่สุดของหนังคือช่วง Dream-Sequence จุดเด่นอยู่ที่ความต่อเนื่อง ในฉากนี้ผมไม่เคยนับดูว่ามีกี่เหตุการณ์เกิดขึ้น (สังเกตจากเสื้อผ้าหน้าผม ฉากที่เปลี่ยนไป 1 ชุดคือ 1 เรื่องราว) มันมีอะไรๆหลายอย่างเกิดขึ้นมากมาย ที่ถือว่าเป็นบทสรุปของทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น นำมาสรุปรวบย่อในรูปแบบของการเต้น, ต้องยอมรับว่าตัดแต่ละเหตุการณ์ได้ลงตัวมากๆ ไม่รู้สึกสะดุดหรือจับจังหวะหยุดได้เลย ประมาณ 20 นาทีในฉากนี้ ต้องชมทั้งการถ่ายภาพและตัดต่อที่จัดเต็ม

เห็นว่า Gene Kelly ได้ดูหนังเรื่อง The Red Shoes (1948) แล้วชอบมากๆ จนขอโปรดิวเซอร์ให้ทุ่มเงินไม่อั้นเพื่อฉากนี้ ใช้งบไปถึง $450,000 แถมระหว่างถ่ายผู้กำกับ Minnelli ยังหนีไปทำหนังอีกเรื่อง Father’s Little Dividend (1951) จนเสร็จแล้วกลับมาถ่ายฉากนี้ต่อ, Kelly เต้นบัลเล่ต์ไม่ได้นะครับ แต่ Caron เต้นได้ Dream-Sequence จึงเป็นส่วนผสมระหว่าง Tab Dance กับ Ballet ที่เต้นคู่กัน ล้อกันได้ลงตัวมากๆ และมีหลายฉาก/สัญลักษณ์ที่สร้างล้อกับ The Red Shoes เช่น พระเอกหยิบดอกกุหลาบสีแดง, สวมชุดสีแดง, ร้านเสื้อผ้า (ใน The Red Shoes เป็นร้านรองเท้าและรองเท้าสีแดง)

ผมเชื่อว่า นักดูหนังหลายท่านจะดูฉากนี้ไม่เข้าใจ ผมขออธิบายแบบไม่ลงรายละเอียดมากนะครับ นี่เป็นความฝันของพระเอก เพราะขณะนั้นนางเอกได้ตัดสินใจแต่งงานกับชายคนที่หมั้นหมายเธอเอาไว้ ซึ่งเขามาพบว่าคู่หมั้นของเธอเป็นชายคนที่เรารู้จัก พระเอกเลยจินตนาการวาดฝัน ด้วยความโศกเศร้านึกย้อนกลับถึงอดีต ในความรักที่เขาพบเจอและควรได้ครอบครองหญิงสาว แต่แทนที่จะใช้ Flashback ย้อนภาพธรรมดาๆ กลับใช้เป็นการเต้นๆ เป็นการเล่าเรื่อง เริ่มต้นด้วยภาพเบลอๆจับต้องไม่ได้ จากนั้นเป็นเรื่องราวชีวิตประจำวันของเขาในกรุงปารีส, เจอกับนางเอกที่ร้านดอกไม้ เกี้ยวพาราสีแต่เธอไม่สนใจ, เขารู้สึกผิดหวังแต่ไม่ท้อแท้ เปลี่ยนภาพลักษณ์ของตนเองแล้วไปเกี้ยวพาราสีใหม่ คราวนี้หญิงสาวยอมอ่อนใจ, ทุกอย่างเหมือนกำลังจะไปได้สวยแต่สุดท้ายความฝันนั้นก็อันตรธานหายไป ทุกคนหายไป กลับเข้าสู่โลกความเป็นจริง, ช่วงนี้ถือเป็น Climax ของหนังเลย เพราะเป็นการทบทวนความทรงจำครั้งสุดท้าย เพื่อมุ่งสู่ตอนจบ ผมคงไม่สปอยว่าเป็นยังไง เชื่อว่าบางคนอาจจะเดาได้ หนัง hollywood ยุคนั้นมันต้อง happy ending

Dream-Sequence ถือเป็นดาบสองคมในหนังเรื่องนี้ เพราะมันทำให้บางคนชอบ บางคนเกลียด ส่วนที่เกลียดเพราะไม่เข้าใจ ส่วนที่ชอบเพราะมันแปลกใหม่ไม่เคยเห็น ทั้งๆที่ฉากนี้ไม่ได้ใหม่เลย ผมบอกแล้วว่า Gene Kelly ได้แรงบันดาลใจมาจากการเต้นบัลเล่ต์ในหนังเรื่อง The Red Shoes คนที่เคยดู The Red Shoes มาเจอกับ An American in Paris คงจะเกิดอีกอารมณ์หนึ่งคือเปรียบเปรียบ ทีแรกผมอยากเปรียบเทียบนะครับ ในใจรู้สึกว่า The Red Shoes ดีกว่านิดๆ แต่ An American in Paris มีบางอย่างที่น่าสนใจ (Red Shoes เป็นเรื่องของความผูกพันธ์ และ Paris เป็นเรื่องของความพรากจาก) คนที่ชอบหนังมาทั้งเรื่อง เจอ Climax นี้เข้าไปคงมึนตึบกันเป็นแถว พยายามทำความเข้าใจกับมันก่อนที่จะตัดสินใจชอบหรือเกลียดนะครับ อย่ามองข้ามเพราะนี่ถือเป็นใจความสำคัญที่สุดของหนังเลย ถ้าใครบอกให้มองข้ามแสดงว่าคุณไม่ได้เข้าใจหนังเรื่องนี้เลย

เพลงประกอบให้เครดิตกับ George Gershwin แม้เขาจะเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 1937 ซึ่งคนที่ถือลิขสิทธิ์อยู่ตอนนั้นคือพี่ชาย Ira Gershwin ตอนที่ MGM ของซื้อลิขสิทธิ์ American in Paris เห็นว่า Ira พ่วงข้อตกลงว่าจะต้องใช้ทำนองเพลงที่ George แต่ง และเขาจะรับหน้าที่เขียนเนื้อร้องที่เป็นคำพูดขึ้นมา, สำหรับคนที่ไม่รู้จัก George Gershwin เขาคือคีตกวีชื่อดังคนหนึ่งในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 นะครับ เพลงที่น่าจะดังที่สุดของเขาเลยคือ Rhapsody in Blue (1924) เพลงประจำสายการบิน United Airlines ไว้ผมจะมาเขียนรีวิวเพลงนี้ในอนาคตต่อไปนะครับ, George เสียชีวิตด้วยเนื้องอกในสมอง ด้วยวัยเพียง 38 ปีเท่านั้น

ทำนองต้นฉบับ American in Paris ของ George Gershwin ใครที่ดูหนังมาแล้วคงคุ้นหูเป็นอย่างดี จะได้ยินอยู่เรื่อยๆ เพลงนี้ฟังดูจะรู้สึกว่ามันทำนองดนตรีอเมริกันชัดเลย ก็แน่ละชื่อเพลงก็ American จะไม่ให้เป็นอเมริกันได้ยังไง ใจความของปารีส ผมคิดว่าน่าจะอยู่ที่เสียงหวานๆของฟลุต คลาริเน็ตและเครื่องเป่าทั้งหลายที่คอยแทรกเสียงขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ ทรัมเป็ตบ้าง ทรัมโบนบ้าน ผมฟังเพลงนี้ไปจะเห็นภาพ Gene Kelly โก้งโค้งเต้นอยู่ตลอดเลย (ใครเป็นแบบผมบ้างเนี่ย)

ส่วนเพลงเนื้อร้อง ผมเลือกเพลง I Got Rhythm ขับร้องโดย Gene Kelly เพลงอาจจะไม่ได้ไพเราะที่สุดในหนัง แต่ฟังแล้วติดหู มีความสนุกสนาน ฮัมตามได้ง่าย นี่คงเป็นเหตุผลให้เพลงนี้ติดอันดับ 32 ของ AFI: 100 Years…100 Songs เป็นเพลงเดียวของหนังเรื่องนี้ที่ติดชาร์ท

An American in Paris มีเรื่องเกี่ยวกับอะไรกัน? หลังสงครามโลกจบ ผู้คนที่ยังมีชีวิตรอด ถ้าไม่หลอนด้วยภาพของสงครามก็ยังต้องมีชีวิตต่อไป ตัวเอกในหนังเรื่องนี้เขาเลือกที่จะเดินตามความฝันเป็นศิลปินนักวาดรูป เลือกลงหลักปักฐานอยู่ที่ปารีส ฝรั่งเศส หนังเริ่มต้นด้วยวิถีชีวิตของผู้คน พระเอกที่ต้องการเลี้ยงชีพด้วยการขายงานศิลปะของตน วันหนึ่งได้พบกับหญิงสาวผู้ร่ำรวยเงินทองคนหนึ่งอ้างว่าให้ความสนใจในงานศิลป์ของเขา ซึ่งไม่ต้องบอกก็น่าจะรู้กันได้ว่าเธอสนใจในตัวศิลปินมากกว่า พระเอกถึงไม่ใช่คนร่ำรวย แต่ก็ไม่ใช่คนที่ขายตัวเองเพื่อเงินทองหรือลาภยศสรรเสริญ (หญิงสาวคนนี้น่าจะเป็นตัวแทนของคนชั้นสูงในฝรั่งเศส ที่ร่ำรวยจนไม่ต้องทำอะไรก็ได้ พวกเธอหาความสุขด้วยการอนุเคราะห์ผู้อื่นเพื่อแลกกับความต้องการของตน) การได้รู้จักกับเธอทำให้เขาได้พบกับหญิงสาวอีกคนหนึ่งและตกหลุมรัก ทั้งๆที่ต่อมาเธอบอกว่ามีคู่หมั้นแล้ว แต่เขาก็พร้อมเสียสละทุกอย่างเพื่อมอบความสุขให้กับเธอ ถ้าเธอรักฉันมากกว่า ก็ขอให้… , ผมวิเคราะห์ดูใจความสำคัญของหนัง มันคือเรื่องรักๆใคร่ๆ รักสามเส้า รัก-ไม่รัก-กลับมารัก เพียงแต่วิธีการเล่าเรื่อง เพื่อลากเข้าประเด็นหลักของหนัง มันยืดยาวใส่ไข่ตีฟองจนฟูฟ่อง มากเกินความจำเป็นจนจับต้องอะไรไม่ได้ นี่แหละครับหนังแนว Musical พล็อตมักจะไม่มีอะไรมาก แต่ใส่ไข่ ใส่เพลง ใส่จังหวะ การเต้น เพื่อให้หนังมีเนื้อเรื่อง ทั้งๆที่สิ่งที่ต้องการขายคือ ลีลา การเต้น ความบันเทิงและความเพลิดเพลิน ซึ่งอีกไม่กี่ปีหลังจากหนังเรื่องนี้ฉาย หนังแนว Musical ก็จะเริ่มเสื่อมมนต์คลัง จมดิ่งสู่จุดตกต่ำ

ครั้งหนึ่งผมเคยชอบหนังเรื่องนี้มากๆ แต่พอเมื่อได้ดู Singin’ in the Rain มติเอกฉันท์ว่าเต้นรำในสายฝนยอดเยี่ยมกว่ามากๆ กระนั้นถ้าไม่มี An American in Paris ก็น่าจะไม่มี Singin’in the Rain นะครับ เหตุผลอย่างแรก)คือ Gene Kelly เอาประสบการณ์ choreographer จาก Paris มาปรับใช้กับ Singin’ เป็นพัฒนาการที่ถ้าคนดูสองเรื่องนี้ต่อๆกันจะเห็นเลยว่าท่าเต้นคล้ายๆกัน, สอง) องค์ประกอบหลายๆอย่างของทั้งสองเรื่องนี้เหมือนกัน พระเอกตกหลุมรักนางเอก มีผู้ช่วย (Paris มี Oscar Levant ส่วน Singin’ มี Donald O’Connor) มีศัตรูหัวใจ (Paris นางเอกมีคู่มั่นแล้ว, Singin’ พระเอกถูกริษยาโดยนางอิจฉา), สาม) โครงสร้างของเรื่องราว ตกหลุมรัก อกหัก แล้วกลับมารักกันอีกรอบ ปรับความเข้าใจกัน ฉากเกี้ยวพาราสียังมีจังหวะคล้ายๆกัน (ตรงนี้ An American in Paris ทำได้ดีกว่า) สามอย่างนี้ถือว่าเป็นหัวใจของหนังทั้ง 2 เรื่อง ที่เรียกว่าแทบจะโคลนกันมา เปลี่ยนเพียง Setting สถานที่ตั้ง และเรื่องราวเท่านั้น แต่แก่นของมันเหมือนกันเดะๆ

โดยปกติถ้ามันเหมือนกันขนาดนี้ หนังเรื่องแรกที่ฉายก่อนย่อมควรจะได้รับเครดิตมากกว่าสิ ใช่ครับ ณ ช่วงเวลานั้น หนังสองเรื่องถ้าชกกันหมัดต่อหมัด คนในทศวรรษนั้นเลือก An American in Paris ดีกว่า Singin’in the Rain ดูจากปริมาณ Oscar ก็ได้ Paris เข้าชิง 8 ได้ 6 ส่วน Singin’ เข้าชิง 2 ไม่ได้สักรางวัล แต่ 10-20 ปี ทศวรรษผ่านไป กลายเป็นว่านักวิจารณ์ คนทั่วๆไปต่างลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า Singin’in the Rain ยอดเยี่ยมกว่า An American in Paris มากนัก เพราะเรื่องราว ความลงตัว จังหวะ อารมณ์ ท่าเต้น เพลงประกอบ ทุกสิ่งทุกอย่าง Singin’ มีความโดดเด่น กินใจ เข้าถึงผู้ชมกว่ามากๆ

หลายคนคงคิด ถ้า Paris ไม่มี Dream-Sequence ช่วง 20 สุดท้ายนะ หนังอาจจะได้รับการยกย่องมากกว่า Singin’ อีก นี่ผมไม่เห็นด้วยนะครับ เพราะ Dream-Sequence นี่แหละที่ทำให้ Paris โด่งดังเป็นที่กล่าวขวัญถึงปัจจุบัน นักวิจารณ์แทบทั้งนั้นจะชื่นชมในความคิดสร้างสรรค์ ที่นำเสนออะไรแปลกใหม่นี้ออกมา เราแทบจะไม่ใครกล้าทำอะไรแบบนี้อีกแล้วในสมัยปัจจุบัน Singin’ ยังถือว่ามีความคลาสสิคกว่า ตรงที่กาลเวลามันจะทำให้เราผู้พันธ์กับหนังมากกว่า Paris ระหว่างเรื่องราวรักๆใคร่ๆ (แบบ Paris) กับเรื่องราวเล่าประวัติศาสตร์ ยุคเปลี่ยนภาพหนังเงียบกลายมาเป็นหนังเสียง (Singin’) มันชัดอยู่แล้วว่าเรื่องหลังย่อมมีความน่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมัน “ร่วมสมัย” An American in Paris มันเป็น “แฟชั่น” นะครับ เมื่อผ่านยุคหนึ่งมาแฟชั่นมันก็ตกยุค แต่ ร่วมสมัย ยังไงก็ไม่ตกยุค

แต่ไม่ใช่ว่า ทศวรรษหนึ่งผ่านมาแล้วคนจะไม่เห็นคุณค่าความดีของ An American in Paris เหลืออยู่นะครับ ยังไง Oscar 6 ตัวมันก็ต้องมีอะไรยอดเยี่ยมบ้าง สิ่งที่ยังคงได้รับการชื่นชมไม่เปลี่ยนแปลงคือ ศิลปะในหนังเรื่องนี้ ทั้งภาพวาดของพระเอก (วาดโดย Gene Grant), ออกแบบฉาก (E. Preston Ames, Cedric Gibbons, F. Keogh Gleason และ Edwin B. Willis), เครื่องแต่งกาย (Orry-Kelly, Walter Plunkett, และ Irene Sharaff) 3 สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้มีความเป็นศิลปะสุดๆ (สองสาขานี้ได้ Oscar นะครับ) นี่ยังไม่รวมถึง choreographer ที่ผสมผสานการเต้น Ballet กับ Tab-Dance และเพลงประกอบของ George Gershwin ที่โดดเด่นไม่แพ้กัน ในแง่ความเป็นศิลปะที่อยู่ในหนัง นักวิจารณ์บางท่าน (เช่นผม) ยก Paris เหนือกว่า Singin’ หลายชั้นเลย

นอกจาก 6 รางวัลที่ An American in Paris ได้จาก Oscar แล้ว ยังมีอีกหนึ่งที่ต้องพูดถึงปิดท้าย คือ Gene Kelly ได้รับ Honorary Award สำหรับความเก่งกาจในการแสดง ร้อง เล่น เต้น กำกับ โดยเฉพาะความยอดเยี่ยมในการออกแบบท่าเต้นให้กับภาพยนตร์ “his versatility as an actor, singer, director and dancer, and specifically for his brilliant achievements in the art of choreography on film.” ก่อนหน้านี้เคยได้เข้าชิงแค่ครั้งเดียว การมอบ Honorary ให้กับ Kelly นี้หลังจากหนังเรื่อง An American in Paris ออกฉาย แสดงว่า ณ ขณะนั้นถือเป็นจุดสูงสุดในการแสดงของ Kelly เลย ผู้คนให้การยอมรับ นี่เป็น Oscar ตัวแรกและตัวเดียวที่เขาได้ตลอดชีวิตการทำงาน

ผมแนะนำหนังเรื่องนี้กับคนติดหนัง hollywood ถือเป็นหนัง Classic แต่ดูเข้าใจได้ ภาพสวย เพลงเพราะ ใครชอบร้อง-เล่น-เต้น Tab-Dance และ Ballet ห้ามพลาด, เด็กศิลป์คงชื่นชอบงานศิลปะในหนังไม่น้อย จัดเรต PG ฉากเกี้ยวพาราสีมี passion ระหว่างพระนางที่ผู้ใหญ่ควรให้แนะนำ, ฉากตอนจบอาจเข้าใจยากสักหน่อย คนมีประสบการณ์ดูหนังพอสมควรน่าจะพอสังเกตและทำความเข้าใจได้

TAGLINE | “An American in Paris คือแฟชั่นที่มีความสวยงาม ถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา แต่คุณค่าทางศิลปะยังเต็มแน่น โดยเฉพาะ Gene Kelly และ Leslie Caron ที่กลายเป็นอมตะ”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LOVE 

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
0 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Best of Painter & Artist Films | RAREMEAT BLOG Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…] อาทิ Rembrandt (1936), Utamaro and His Five Women (1946), An American in Paris (1950), Vincent & Theo (1990), La vie de bohème (1992), A Soul Haunted by Painting (1994), Basquiat […]

%d bloggers like this: