An Autumn Afternoon

An Autumn Afternoon (1962) Japanese : Yasujirō Ozu ♥♥♥♥♡

ผลงาน Masterpiece เรื่องสุดท้ายของปรมาจารย์ผู้กำกับ Yasujirō Ozu ชีวิตบั้นปลายยามบ่ายของพ่อ จำต้องหาทางส่งเสียลูกสาวให้ได้แต่งงานเป็นฝั่งฝา แม้หาใช่ความตั้งใจก็มิอาจหลบหลีกเลี่ยง เพราะเสี่ยงจะกลายเป็นเหมือนอาจารย์ ผู้มีลูกสาวขึ้นคานเป็นแบบอย่าง, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

An Autumn Afternoon ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของ Yasujirō Ozu ได้รับคำจำกัดความจากนักวิจารณ์ ว่าคือ ‘Testament’ พินัยกรรมก่อนลาจากโลกนี้ไปด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันเกิดขณะอายุครบ 60 ปี วันที่ 12 ธันวาคม 1963

แน่นอนว่า Ozu ไม่ได้มีความตั้งใจจะให้ An Autumn Afternoon คือผลงานเรื่องสุดท้าย มีการค้นพบบันทึกส่วนตัว กำลังวางแผนตระเตรียมโปรเจคถัดไป ตั้งชื่อว่า Radishes and Carrots เรื่องราวของลูกสาวกำลังจะแต่งงาน แต่พ่อตรวจพบว่าป่วยเป็นโรคมะเร็ง เธอจึงต้องต้องตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

Yasujirō Ozu (1903 – 1963) ปรมาจารย์ผู้กำกับสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Fukagawa, Tokyo เป็นลูกคนรองจากพี่น้อง 5 คน ตอนเด็กๆชอบโดดเรียนไปดูหนังอย่าง Quo Vadis (1913), The Last Days of Pompeii (1913) กระทั่งได้รับชม Civilization (1918) ตัดสินใจโตขึ้นจะต้องกลายเป็นผู้สร้างภาพยนตร์, เรียนจบ ม.ปลาย อย่างยากลำบาก เพราะเป็นคนหัวช้า สอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ไหนก็ไม่ติด โชคดีมีลุงเป็นนักแสดง ได้ทำงานกับสตูดิโอ Shochiku (ขัดขืนคำสั่งของพ่อ) เป็นผู้ช่วยตากล้อง กลับจากรับราชการทหารเลื่อนขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ไม่นานได้กำกับหนังเงียบเรื่องแรก Sword of Penitence (1927) น่าเสียดายฟีล์มสูญหายไปแล้ว

ตลอดชีวิตของ Ozu พบเห็นพี่น้องแต่งงานมีครอบครัวออกจากบ้าน แต่ตนเองกลับครองตัวเป็นโสด (ก็เคยไปสู่ขอคนอื่นบ้าง แต่ถูกปฏิเสธ) อาศัยอยู่กับแม่จนเสียชีวิตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1962 ตั้งใจสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ คงจะอุทิศให้ผู้หญิงคนเดียวรักมากที่สุด ร่วมงานกับนักเขียนเพื่อนสนิทขาประจำ Kogo Noda

เรื่องราวของ Shūhei Hirayama (รับบทโดย Chishū Ryū) ทำงานบริษัทโรงงานแห่งหนึ่ง มีบุตรสามคนประกอบด้วย
– ลูกชายคนโต Kōichi (รับบทโดย Keiji Sada) แต่งงานแล้วกับ Akiko (รับบททโดย Mariko Okada) ย้ายออกไปอยู่อพาร์ทเม้นต์เล็กๆ
– ลูกสาวคนรอง Michiko Hirayama (รับบทโดย Shima Iwashita) อายุ 24 ปี ยังเป็นโสด รับภาระหน้าที่ดูแลพ่อและน้องชายคนเล็ก
– ลูกชายคนเล็ก Kazuo ยังเรียนหนังสือ

Shūhei มีเพื่อนสนิทร่วมรุ่นเดียวกันสองคน พบเห็นไปสังสรรค์กันอยู่เป็นประจำ
– Shūzō Kawai (รับบทโดย Nobuo Nakamura) ทำงานบริษัทเดียวกับ Shūhei พยายามเซ้าซี้เพื่อนรักให้พาลูกสาวนัดมาดูตัวแต่งงาน
– Shin Horie (รับบทโดย Ryūji Kita) อดีตรองหัวหน้าห้อง ชีวิตประสบความสำเร็จมั่งคั่ง เคยแต่งงานมีลูกแล้วภรรยาเสียชีวิต ตัดสินใจแต่งงานใหม่กับหญิงสาวรุ่นราวคราวเดียวกับลูกสาว ใช้ชีวิตอย่างเต็มทีครึกครื้นเครง

ครั้งหนึ่งของงานเลี้ยงรุ่น ได้เชิญอดีตครูประจำชั้น Seitarō Sakuma (รับบทโดย Eijirō Tōno) ฉายา Hyōtan (The Gourd แปลว่า น้ำเต้า, มะระ) ขณะพากลับไปส่งบ้านพบเห็นสภาพอันทุกข์ยากลำบาก อาศัยอยู่กับลูกสาวยังโสด Tomoko Sakuma (รับบทโดย Haruko Sugimura) แก่หง่อมเกินกว่าใครจะมาสู่ขอแต่งงาน นั่นค่อยๆสร้างความหวาดหวั่นสั่นสะท้านให้กับ Shūhei ไม่เคยครุ่นคิดมาก่อนอยากจะรีบร้อนให้ Michiko แต่งงานออกจากบ้านไป กระทั่งอาจารย์ได้ให้คำแนะนำจากประสบการณ์ตรง

“Make hay while the sun shines.
Waste not your thoughts on eternity.
Drain your glass ere life is gone”.

เกร็ด: make hay while the sun shines คือสำนวนอังกฤษ ที่ตรงกับสำนวนไทย ‘น้ำขึ้นให้รีบตัก’ มีโอกาสอย่ามัวแต่รั้งรีรอ เพราะไม่ใช่ทุกครั้งจะช้าๆได้พร้าเล่มงาม

ครึ่งหลังของหนังคือความพยายามของพ่อ Shūhei ที่จะจัดแจง เจ้ากี้เจ้าการ สรรหาคู่ครองเหมาะสมให้กับ Michiko นั่นทำให้เขาค้นพบว่าตัวเองครุ่นคิดกระทำการเชื่องช้าเกินไป สุดท้ายคงได้แต่หวังว่าเธอคงพบเจอความสุขในชีวิต (กับเจ้าบ่าวที่ไม่ได้ทั้งรู้จักชื่อ และพบเห็นหน้าตา)

นำแสดงโดย Chishū Ryū (1904 – 1993) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tamamizu, Kyush หมู่เกาะทางใต้ของญี่ปุ่น พ่อเป็นพระที่ Raishōji โตขึ้นสอบเข้าสาขาพุทธศาสนาที่ Tōyō University ครอบครัวตั้งใจให้เป็นนักบวช แต่เจ้าตัวลาออกกลางคัน เลือกเข้าเรียนการแสดงที่สตูดิโอ Shōchiku, เริ่มต้นจากเป็นตัวประกอบเล็กๆ จนกระทั่งรู้จักกลายเป็นขาประจำกับ Yasujirō Ozu มีชื่อเสียงจาก The Only Son (1936) ทั้งๆที่อายุเพียง 32 แต่ได้รับบทพ่อ รับบทนำครั้งแรก There Was a Father (1942), โด่งดังสุดในชีวิตคงเป็น Late Spring (1949) และ Tokyo Story (1953)

รับบทพ่อ Shūhei Hirayama ที่หลังจากลูกชายคนโตแต่งงานออกจากบ้าน และภรรยาเสียชีวิตจากไป ก็ไม่ได้ครุ่นคิดอะไรเกี่ยวกับครอบครัวจริงๆจังๆเสียนาน จนกระทั่งถูกเพื่อนสนิท Shūzō Kawai รบเร้าเซ้าซี้ชี้แนะให้หาคู่ครองกับลูกสาวได้แล้ว แต่เจ้าตัวก็ยังคงเฉื่อยชาเรื่อยเปื่อย กระทั่งพบเห็น/รับคำสอนจากอดีตครูประจำชั้น Seitarō Sakuma ปัจจุบันทันด่วนรั้งรีรอต่อไปไม่ได้ รีบร้อนจัดแจงให้ Michiko แต่งงานเป็นฝั่งฝาเสียที กลับบ้านค่ำคืนวันนั้น ใจหายวาบเมื่อตระหนักขึ้นว่าเธอจากไปแล้วจริงๆ

การแสดงของ Ryū แม้มิได้มีความพิเศษอะไรมากมาย แต่ความเชื่องช้า ไม่ยี่หร่า โลกหมุนรอบตนเอง กว่าจะเดินเหิน ยกเหล้าจิบเข้าปากได้แต่ละที ช่างสอดคล้องเข้ากับไดเรคชั่นของผู้กำกับ Ozu เนิบนาบ มั่นคง สุภาพบุรุษ, ในบรรดานักแสดงขาประจำ ผมคิดว่า Ryū คือตัวตายตัวแทนของ Ozu ที่น่าจะใกล้เคียงตัวจริงมากสุดแล้วกระมัง

สำหรับนักแสดงอื่นๆ ขอกล่าวถึงแบบคร่าวๆก็แล้วกันนะ
– Shima Iwashita (เกิดปี 1941) นักแสดงหญิงชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่น เข้าสู่วงการจากบทสมทบเล็กๆเรื่อง Late Autumn (1960), Harakiri (1962), โด่งดังแจ้งเกิดกับ An Autumn Afternoon (1962), รับบท Michiko อายุ 24 ปี (ตัวจริงเพิ่งอายุ 21 ปี) หญิงสาวพราวเสน่ห์ ใบหน้าคมคาย มีความเฉลียวฉลาด ไหวพริบใช้ได้ ต้องการเสียสละตนเองเพื่อพ่อและน้องชาย แต่หลังจากถูกรบเร้าซี้เซ้า คะยั้นคะยอจนเริ่มหมดความอดทน ก็ตามใจพ่อแล้วกัน วินาทีที่เธอก้มหน้าผิดหวัง แม้มิได้แสดงอารมณ์อะไรออกมา แต่ความช้าเนิบกลับสามารถทำให้ใครๆหลั่งน้ำตาออกมาได้
– Keiji Sada (1926 – 1964) นักแสดงหนุ่มสุดหล่อ แจ้งเกิดกับ Phoenix (1941), Carmen Comes Home (1951), I Will Buy You (1956), Equinox Flower (1958) ฯ น่าเสียดายอายุสั้นไปหน่อย ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิต, รับบท Kōichi ลูกชายคนโตที่พอแต่งงานออกจากบ้าน ชีวิตยังคงต้องดิ้นรนเอาตัวรอด ง่วนกับการงานยังต้องมาทนต่อภรรยาเจ้ากี้เจ้าการ อยากได้ไม้ตีกอล์ฟใจจะขาดกลับถูกสั่งห้าม แสดงอาการอ่อนเปลี้ยหมดเรี่ยวแรง เมื่อไหร่ชีวิตฉันจะก้าวหน้าประสบความสำเร็จสักที
– Mariko Okada (เกิดปี 1933) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น พ่อของเธอ Tokihiko Okada เคยร่วมงานกับ Ozu เรื่อง Tokyo Chorus (1931) พอลูกสาวเติบโตขึ้นเลยได้รับโอกาสกับ Floating Clouds (1955), Late Autumn (1960), เรื่องนี้รับบท Akiko ภรรยาจอมเจ้ากี้เจ้าการของ Kōichi นิสัยเอาแต่ใจ ทะเล้น เล่นแง่งอน ชอบพูดปากเปียกปากแฉะ จนสามีเกิดอาการเหงาหงอยเศร้าซึม สุดท้ายจึงยินยอมอ่อนข้อ ผ่อนจ่ายค่าไม้กอล์ฟให้ กระหยิ่มยิ้มเล็กๆในใจ สามารถคุมผู้ชายได้อยู่ในกำมือ
– Nobuo Nakamura (1908 – 1991) นักแสดงรุ่นใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น ขาประจำของ Kurosawa และ Ozu, รับบท Shūzō Kawai เพื่อนสนิทร่วมรุ่นและร่วมงานกับ Shūhei เป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ คอยให้คำแนะนำโน่นนี่นั่น สีหน้าสายตาและน้ำเสียง ถากถางประชดประชัน เมื่อไหร่เอ็งจะครุ่นคิดได้สักที พยายามครอบงำสุดๆแต่ก็ไม่เคยสำเร็จลุล่วง
– Ryūji Kita (1905 – 1972) นักแสดงรุ่นใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เป็นนักแสดงสมทบ อีกหนึ่งขาประจำของ Ozu, รับบท Shin Horie รองหัวหน้าห้อง ที่ชื่นชอบจัดงานรวมรุ่นพบปะสังสรรค์เพื่อนสนิท ด้วยภาพลักษณ์บุคลิกดูเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ทั้งยังประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ยังมักมากไม่รู้จักพอ แต่งงานใหม่กับภรรยายังสาว สร้างความอิจฉาริษยาให้เพื่อนฝูงอย่างท่วมท้น
– แถมท้ายกับ Eijirō Tōno (1907 – 1994) นักแสดงยอดฝีมือสัญชาติญี่ปุ่น ได้รับการจดจำอย่างสูงกับ Tokyo Story (1953), Seven Samurai (1954), Yojimbo (1961), เรื่องนี้รับบท Seitarō Sakuma อดีตครูประจำชั้นฉายา The Gourd ใบหน้าท่าทาง ดูเป็นคนไม่เอาอ่าว ลึกๆเต็มไปด้วยความรวดร้าว จมปลักอยู่กับความทุกข์ทรมาน มางานเลี้ยงรุ่นก็เกิดอาการอิจฉาลูกศิษย์ เมามายอย่างเสียสติ เสี้ยมสั่งสอนบทเรียนสุดท้าย อย่าจมปลักเพราะครุ่นคิดว่าชีวิตจะมั่นคงยืนยงอยู่กับเราชั่วนิจนิรันดร์

ถ่ายภาพโดย Yuharu Atsuta ตากล้องขาประจำของ Ozu โดยใช้ฟีล์มสี Agfacolor จากประเทศเยอรมัน เพราะความอบอุ่นนุ่มนวลในสัมผัสสีส้ม สร้างความกลมกล่อมให้กับผลลัพท์โทนภาพที่ออกมา

นอกจาก ‘สไตล์ Ozu’ ที่พบเห็นได้โดยทั่วๆไป เรื่องนี้ยังมีการทดลองบางอย่าง อาทิ
– โทนสี พบเห็นวัตถุอะไรสักอย่างสีแดง/ส้มๆ ปรากฎอยู่แทบทุกช็อตฉาก
– แสง เงา และความมืดมิด เด่นชัดมากกับช่วงท้าย
ฯลฯ

อย่างแรกเลยที่เชื่อว่าสร้างความประหลาดใจให้หลายๆคน คือพื้นหลังของ Opening Credit ที่นับตั้งแต่ A Story of Floating Weeds (1934) ก็ใช้ภาพผ้ากระสอบ (Sackcloth) สัญลักษณ์ของคนชนชั้นกลางญี่ปุ่น เปลี่ยนแปลงมาเป็นภาพวาดใบต้นเฟิร์น (Fronds) แต่มองอีกมุมผมเห็นเหมือนก้างปลา อาจถือว่าบางสิ่งอย่างได้สูญเสียหายไปจากจิตใจของผู้กำกับ Ozu

ปล่องควันโรงงาน สัญลักษณ์ของอุตสาหกรรม/ทุนนิยม โลกยุคใหม่ที่ญี่ปุ่นกำลังก้าวไป หลังพานผ่านสงครามโลกครั้งที่สองมากว่าทศวรรษ อะไรๆได้รับการพัฒนากระโดดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ต่างมีความคิดอ่าน ผิดแผกไปจากคนรุ่นก่อนโดยสิ้นเชิง

ความสูงของปล่อง ยังสะท้อนนัยยะถึงความเพ้อฝันทะเยอทะยานของมนุษย์ ต้องการประสบความสำเร็จ ไขว่คว้าได้รับชัยชนะเป็นที่หนึ่ง แต่ถึงกระนั้นส่วนใหญ่ แบบลูกชายคนโต Kōichi ยังคงจมปลักต่ำต้อย เงินจะซื้อตู้เย็น/ไม้กอล์ฟยังแทบจะไม่มี อาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นท์เล็กๆอุดอู้ สุขสบายตรงไหน??

นี่ทำให้บ้านของพ่อ Shūhei Hirayama กลายเป็นเหมือนวัตถุโบราณ สร้างด้วยไม้ ดูเก่าแก่คร่ำครึ โบร่ำโบราณ โลกกำลังหมุนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจริงๆ

ที่ผมนำช็อตนี้มา จะให้สังเกตด้านซ้ายของภาพ มีพระพุทธรูปปั้นประดับฉากอยู่ นี่เป็นการสะท้อนความเชื่อ ศรัทธา ของตัวละครและผู้กำกับ Ozu ที่สอดแทรกขนบวิถี แนวคิด หลายๆอย่างลงไปในภาษาภาพยนตร์ของตนเอง

ช็อตลายเซ็นต์ของ Ozu, บุคคลผู้นั่งกึ่งกลางคือประธานในงานเลี้ยงรุ่นครั้งนี้ Shin Horie ถัดมาด้านซ้ายมือคือแขกคนสำคัญสุดในงาน อดีตครูประจำชั้น The Gourd ที่เอาแต่ก้มหน้าก้มตา จกอาหาร สุรา วางกองเรียงรายอยู่ตรงหน้า ขณะที่คนอื่นกำลังพูดคุยสนทนาอย่างออกรสชาติ

เกร็ด: อาหารที่ The Gourd รับประทาน ไม่ใช่ปลาซามะ แต่คือ Hamo ฮาโมะ, ปลาไหลทะเล อาหารพื้นเมืองของชาว Kyoto ที่ถือว่าเลิศหรูราคาสูงทีเดียว ไม่ใช่หากินกันง่ายๆในปัจจุบัน

An Autumn Afternoon คือหนังของคนขี้เมาโดยแท้ (ตัวละครน่าจะดื่มเหล้าเยอะสุดแล้วในหนังของ Ozu) นี่สะท้อนตัวตนของ Ozu ขณะนั้น การสูญเสียแม่ทำให้เขายิ่งดื่มหนักกว่าเดิมเพื่อหลงลืม แต่แน่นอนว่ามีแต่ทุกข์ทรมานขึ้นๆไปอีก

สังเกตว่าทุกช็อตที่ถ่ายบนโต๊ะอาหาร ต้องมีขวด/แก้วเหล้า วางอยู่เป็นองค์ประกอบของภาพเสมอ คงเพื่อไม่ให้ภาพดูโล่งว่างเกินไป และถือเป็นงานศิลปะ ‘สไตล์ Ozu’

งานอดิเรกตีกอล์ฟของ Kōichi แฝงนัยยะถึงความพยายามเล็งลูกให้ตรงเป้ากึ่งกลาง หรือคือทำงานสำเร็จลุล่วงบรรลุตามเป้าหมาย แต่ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าคนมีฝีมืออย่างเขา (ตีลูกเข้ากึ่งกลางทุกครั้ง/ได้รับคำชมดีเยี่ยม) จะมีโอกาสเป็นเจ้าของไม้กอล์ฟ MacGregor คุณภาพดี/หรือเลื่อนขั้น ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เพราะถ้าสตางค์ไม่มี บารมีไม่ถึง ยุคสมัยทุนนิยมนี้ก็แห้วแดก นั่งเหงาหงอย เฝ้ารอคอยโชคชะตาที่ไม่รู้จักมาถึงหรือเปล่า

ลึกๆนี่เป็นการเสียดสีโลกทัศนคติ ‘ทุนนิยม’ ผู้คนบริโภคความสะดวกสบาย ก็ดูอย่างภรรยา Akiko เงินไม่ค่อยจะมีแต่อยากได้โน่นนี่นั่น ตู้เย็น เครื่องดูดฝุ่น จำเป็นกว่าไหนๆกลับไปซื้ออะไรก็ไม่รู้สนองความต้องการของตนเอง

เรื่องราวนี้ของ Kōichi อยากได้ไม้กอล์ฟแต่ภรรยาไม่ให้ซื้อสุดท้ายยินยอมประณีประณอม สะท้อนกับพ่อ Shūhei ครึ่งแรกไม่ได้ใคร่อยากให้ Michiko แต่งงาน แต่ครึ่งหลังเมื่อครุ่นคิดได้ก็รีบร้อนตัดสินใจหาคู่ครองให้

เราสามารถแบ่งหนังออกเป็น ครึ่งแรก-ครึ่งหลัง สะท้อนกันและกันแทบทุกสิ่งอย่าง จุดสังเกตคือปล่องโรงงานอุตสาหกรรม
– ครึ่งแรก พบเห็นถ่ายจากภายนอกโรงงาน
– ครึ่งหลัง เริ่มต้นช็อตนี้ ถ่ายจากภายในสำนักงาน

กับคนช่างสังเกตจะพบเห็นความละม้ายคล้ายคลึงของครึ่งแรก-ครึ่งหลัง หลายๆช็อตก็ถ่ายมุมเดิมเปะ แต่อะไรๆกลับเปลี่ยนแปลงไป, บางฉากก็จะถ่ายมุมตรงข้าม, และที่สุดคือเรื่องราวกลับตารปัตร
– ครึ่งแรก Shūhei ไม่ได้มีความคิดอยากให้ลูกสาวแต่งงานออกจากบ้าน, ครึ่งหลังเมื่อครุ่นคิดได้ ก็รีบจัดแจงเร่งรีบให้เธอแต่งงาน
– ครึ่งแรก Kōichi มาหาพ่อที่บ้านเพื่อขอเงิน, ครึ่งหลัง พ่อไปหา Kōichi ที่บ้าน ขอความช่วยเหลือ
– ครึ่งแรก Shūhei ไปดื่มกับอดีตลูกน้องในสังกัดตอนเป็นทหารเรือที่ Torys Bar, ครึ่งหลังไปกับ Kōichi ดูตัวว่ามาดามเจ้าของร้าน หน้าตาละม้ายคล้ายแม่มากแค่ไหน

อย่างช็อตนี้ ร้านเดิม มุมกล้องเดิม เปลี่ยนตำแหน่งนั่งนิดหน่อย Horie กลายมาเป็นอาจารย์ The Gourd ครึ่งแรกสอนอะไรเพื่อนไม่ได้ แต่ครึ่งหลังคำแนะนำอาจารย์ช่างทรงพลังยิ่งนัก

ฉากที่ทรงพลังสุดของหนัง ทั้งๆนักแสดงไม่ได้กลั่นอารมณ์อะไรออกมาเลย แค่ค่อยๆก้มหน้ารับความผิดหวัง กลับสามารถทำให้ใครๆ และตัวผมเอง สั่นสะท้านถึงขั้นหลั่งไหลธารน้ำตาออกมา

สิ่งที่ Michiko กระทำอยู่ขณะนี้ คือการเอาสายรัดวัดตัว พันม้วนมือข้างหนึ่ง แล้วเปลี่ยนไปพันมืออีกข้างหนึ่ง จากนั้นคลายออก นี่แสดงถึงการยึดติดแล้วปล่อยวาง ครั้งแรกคงกำลังครุ่นคิดถึงชายหนุ่มที่เธอตกหลุมรัก, และครั้งที่สองค่อยๆเริ่มม้วนใหม่อีกรอบ ครานี้คงสะท้อนคำขอพ่อ ยินยอมผูกมัดแต่งงานคลุมถุงชนพบเจอชายแปลกหน้า

แบบเดียวกับ Late Spring (1949) แค่เพียงเศษเสี้ยว พบเห็นลูกสาวสวมชุดแต่งงานก็เหลือเฟือเกินพอ ไม่จำเป็นต้องมีพิธีรีตรองอะไร แค่นี้ก็ถือว่ามากเกินพอใน ‘สไตล์ Ozu’

วินาทีที่ Michiko ในชุดเจ้าสาว กำลังเดินออกจากห้อง ภาพช็อตนี้จะพบเห็นอะไรบางอย่างหมุนติ้วๆอยู่ นี่แฝงนัยยะถึงวัฏจักรชีวิตเวียนวนดำเนินไปอย่างแน่นอน สังเกตพบเห็นกันหรือเปล่าเอ่ย

ช็อตถัดมาเป็นอะไรที่ผมพบเห็นแล้วสั่นสะท้านหัวใจมากๆ อยู่ดีๆโทนภาพเกิดการปรับเปลี่ยนแปลง จากเคยสีส้มๆอบอุ่น กลายเป็นน้ำเงินเยือกเย็นเฉียบ (เทียบสีกับภาพด้านบน ย่อมพบเห็นความแตกต่างจัดเจน) นี่คือการจัดโทนแสงสีที่สะท้อนอารมณ์ของเรื่องราว ไม่ค่อยพบเห็นนักในหนังของ Ozu

นัยยะตรงไปตรงมาเลย เมื่อ Michiko แต่งงานออกจากบ้าน ชีวิตที่เคยเป็นอยู่สุขสบาย เต็มไปด้วยความอบอุ่น ก็พลันมืดครึ้มเย็นลง จิตใจหายวูบวาบ ไม่มีอีกแล้วสินะลูกสาวที่เคยอยู่ใกล้ชิด พบเห็นเติบโตเลี้ยงดูมากับมือ

เมื่อพ่อกลับถึงบ้านหลังงานแต่งงาน ตัวเขาถูกปกคลุมไปด้วยความมืดมิด สะท้อนถึงจิตใจอันซึมเศร้าหมอง หดหู่ ทุกข์ทรมาน ทั้งๆวันนี้คือความสุขของลูกแท้ๆ แต่พ่อกลับเศร้าสร้อยเหงาหงอยหมดสิ้นอาลัน

ช็อตนี้ถือว่าสะท้อนกับภาพสุดท้ายของครึ่งแรก ที่เป็นการออกเดินทางขึ้นรถไฟของ Michiko เธอกำลังมุ่งสู่อนาคตที่สดใส ขณะที่พ่อนั่งจมปลักอยู่ท่ามกลางความมืดมิด

แซว: ทุกช็อตที่ผมนำมานี้ ล้วนต้องมีอะไรสักอย่างสีแดง/ส้ม สอดแทรกอยู่เสมอ สังเกตเห็นกันหรือเปล่าเอ่ย

ตัดต่อโดย Yoshiyasu Hamamura ขาประจำของ Ozu อีกเช่นกัน, ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของพ่อ Shūhei Hirayama เป็นส่วนใหญ่ และมีสองสามครั้งที่เปลี่ยนไปเล่าเรื่องของลูกชาย Kōichi เพื่อเติมเต็มอีกฟากฝั่งหนึ่งของเรื่องราว

เรื่องราวแต่ละตอนย่อยๆของ An Autumn Afternoon จะแตกต่างจากหลายๆผลงานก่อนหน้า ที่มีลักษณะ นำเข้า-นำออก เป็นลูปวนรอบจบในตอน ประเด็นคือถ้าใครสามารถแบ่งหนังออกเป็นครึ่งแรก-ครึ่งหลัง จักพบเห็นความต่อเนื่องกันของฉากเดียวกัน ซึ่งจะกลายเป็นว่า นำเข้าอยู่ครึ่งแรก-นำออกย้ายไปอยู่ครึ่งหลัง เป็นอะไรที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน แต่คือ Masterpiece ไม่เคยพบเห็นจากแห่งหนไหนมาก่อนอย่างแน่นอน

ทำไมหนังถึงต้องแบ่งออกเป็นครึ่งแรก-ครึ่งหลัง สะท้อนตรงกันข้ามกันแทบเปะๆ? เพื่อบ่งบอกว่า ‘ไม่มีอะไรจะยั่งยืนยงมั่นคงอยู่ชั่วนิจนิรันดร์’ ต่อให้ทุกสิ่งอย่างยังเหมือนเดิม ก็ย่อมต้องมีบางอย่างปรับเปลี่ยนแปลงไป

เพลงประกอบโดย Takanobu Saitō (ใช้ชื่อในเครดิต Kojun Saitô) คีตกวีสัญชาติญี่ปุ่น มีผลงานหลากหลายแนว Orchestra, Chamber Music, ส่วนภาพยนตร์ร่วมงานกับ Ozu เท่านั้น

ถ้าใครรับชมหนังของ Ozu มาหลายๆเรื่อง ได้ยินบทเพลงประกอบเรื่องนี้จะเกิดความมักคุ้นเคย เพราะเป็นการผสมผสานหลายๆท่วงทำนองที่เคยใช้มา โดยเฉพาะจาก Floating Weeds มีความละม้ายคล้ายคลึงพอสมควร แต่ทรงพลังมากขึ้นเพราะนี่คือผลงานเรื่องสุดท้าย ขนลุกใจหายวาบ ยากจะทำใจ

ด้วยความร่วมสมัยของหนัง จึงเลือกใช้เครื่องดนตรีจากฟากฝั่งตะวันตกเสียส่วนใหญ่ โดดเด่นมากกับเสียงไวโอลิน รวดร้าว บาดลึกไปถึงทรวง มักดังขึ้นในช่วงเวลาแห่งความผิดหวัง (Michiko ไม่ได้ครองคู่แต่งงานกับคนที่เธอแอบรัก) สุข-ทุกข์เศร้าโศก (พ่อส่งลูกสาวไปแต่งงาน) และอ้างว้างโดดเดี่ยว (ช่วงท้ายของหนัง)

เผื่อใครอยากฟัง Gunkan kôshinkyoku แปลว่า Japanese Warship March แต่งโดย Tôkichi Setoguchi เป็นเพลงมาร์ชประจำทหารเรือของญี่ปุ่น

Down in the valley it is already spring
Clouds of cherry blossoms;
But here, the sluggish eye, the taste of mackerel
The blossoms are melancholy
And the flavor of sake becomes bitter.

นี่คือคำแปลบทกลอนที่ Ozu แต่งให้กับแม่ผู้ล่วงลับ ซึ่งชื่อหนังภาษาญี่ปุ่น Sanma no aji แปลตรงตัวคือ The Taste of Sanma/Mackerel รสชาติของปลาซามะ/แมกเคอเรล ของอร่อยขึ้นชื่อที่มีมากในช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสี (Autumn) เนื้อปลามีรสหวานแบบธรรมชาติ แต่อร่อยสุดคือช่วงปลายปี เพราะปลาเหล่านี้จะเก็บสะสมไขมันเอาไว้ต่อสู้กับอากาศหนาวเย็นของญี่ปุ่น ทำให้มีเนื้ออ้วนแน่นละเอียด นำไปย่างสุกคลุกเกลือหรือซีอิ๊ว อร่อยนักแล

ปลาซามะ/แมกเคอเรล ถือเป็นสัญลักษณ์ของฤดูกาลผันเปลี่ยนแปลง เฉกเช่นเดียวกับชีวิตผลัดใบ คนรุ่นเก่าจากไป ลูกหลานเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ หญิงสาวแต่งงานออกจากบ้าน วัฏจักรชีวิตดำเนินเวียนวนไม่รู้จักจบสิ้น

แซว: หนังไม่มีการพูดเอ่ยถึงหรือลิ้มรสปลาซามะ/แมกเคอเรล มีแต่ปลาฮาโมะ ที่อาจารย์ The Gourd รับประทาน ไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วยเลย แต่อาจจะถือว่าคือๆกันก็ได้ (มั้งนะ)

คนเป็นพ่อ-แม่ ช่วงเวลาเศร้าสร้อยเหงาหงอยที่สุดในชีวิต มักเมื่อต้องพลัดพรากร่ำลาจากลูกรัก แต่ถึงจักยึดติดมากสักแค่ไหน สักวันหนึ่งก็ต้องปลดปล่อยพวกเขาและเธอไป โบยบินสู่โลกกว้างได้รับอิสรภาพเสรี อย่าให้จมปลักอยู่กับคนแก่เฒ่าเลยนะ เพราะสุดท้ายแล้วเรานั่นแหละจะเป็นผู้รู้สึกผิดที่เหนี่ยวฉุดรั้งความเจริญไว้

การพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปของโลก คงไม่มีทางที่คนรุ่นเก่าจักสามารถปรับตัวก้าวเดินตามได้ทัน แค่เพียงใช้ประสบการณ์ที่มี วางแผน ตระเตรียมการ และปล่อยให้คนรุ่นใหม่ก้าวขึ้นมาสวมรอยแทนที่ นั่นถือเป็นวิถีวัฏจักรของโลก สัจธรรมแห่งความจริง

ส่วนตัวมีความหลงใหลคลั่งไคล้ ประทับใจหนังเรื่องนี้มากๆ น้ำตาไหลซึมอยู่สองครั้ง จิตใจเต็มไปด้วยอารมณ์หดหู่เศร้าหมอง สั่นสะท้านไปถึงทรวง ระดับความรุนแรงที่ผมได้รับนี้ ทำให้รู้สึกลึกๆว่าความตั้งใจของผู้กำกับ Ozu ไม่ได้ต้องการถ่ายทอดการจากไปของลูกสาวหรอกนะ (เพราะเขาเป็นโสดตลอดชีวิต ไม่ได้มีลูกหลาน จะถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกนั้นออกมาทำไม) แต่น่าจะคือกลบเกลื่อนการสูญเสียแม่ที่รักยิ่ง ทอดทิ้งเขาไว้ให้อยู่ตัวคนเดียว อ้างว้างโดดเดี่ยวไม่หลงเหลือใคร ร่ำสุราเมาเมายก็ไม่ได้ช่วยเหลืออะไรอีกต่อไปแล้ว

“In the end, we spend our lives alone … all alone”.

สิ่งที่ถือเป็นพินัยกรรมของ Ozu จากหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” คือสัจธรรมข้อหนึ่งของชีวิต “อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา” ทุกสิ่งอย่างล้วนมีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรจะยั่งยืนยง มั่นคงจีรัง หรืออยู่ชั่วนิจนิรันดร์ เราจึงจำเป็นต้องค่อยๆเรียนรู้จักปรับตัว ปล่อยวางจากมานะทิฐิ ความยึดติด และเสียสละบางสิ่งให้ผู้อื่น เพื่อโลกจักได้หมุนต่อไป (อย่าหวังให้โลกหมุนรอบตัวเรา)

ความตายของ Ozu ในครบรอบวันเกิด 60 ปี ช่างเป็นอะไรที่พอดิบพอดีอย่างน่าเหลือเชื่อ (หรือเป็นความจงใจหว่า?) ความโสดโดดเดี่ยว อ้างว้างเดียวดาย คงกัดกร่อนกินตัวเขาจนไร้ซึ่งจิตวิญญาณ ความต้องการมีชีวิตหลงเหลือ ถือเป็นเรื่องน่าเศร้าสลดต่อบุคคลผู้พยายามทำความเข้าใจคุณค่าของความเป็นมนุษย์ กลับพ่ายแพ้ให้กับตัวตนเองอย่างไม่น่าเชื่อ

“Isn’t life disappointing?”

จัดเรต PG เพราะตัวละครร่ำสุราแทนน้ำ เยอะเกิ้น

คำโปรย | “An Autumn Afternoon ผลงานทิ้งท้ายของ Yasujirō Ozu ความเสียสละของพ่อช่างงดงาม ซาบซึ้งกินใจ สั่นสะท้านถึงทรวง”
คุณภาพ | เตร์พี
ส่วนตัว | ซาบซึ้งกินใจ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: