And Then There Were None

And Then There Were None (1945) hollywood : René Clair ♥♥♡

ดัดแปลงจากนิยาย Best-Selling ขายดีที่สุดเกิน 100 ล้านเล่มของ Agatha Christie คุณภาพของหนังถือว่ายอดเยี่ยมสวยงามในสไตล์ Poetic Realism แต่น่าผิดหวังที่ผู้กำกับ René Clair เปลี่ยนแปลงตอนจบให้ต่างจากนิยาย กลายเป็นสไตล์ Hollywood โลกสวยไร้ค่าโดยทันที

ระหว่างรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมมีความชื่นชอบประทับใจในแนวคิดเป็นอย่างยิ่ง ทีแรกตั้งใจจะเขียนบทความแบบเต็มๆ วิเคราะห์โดยละเอียด แต่พอถึงช่วงท้ายตอนจบหนังเท่านั้นแหละ แทบจะหาอะไรเขวี้ยงใสโทรทัศน์ให้พัง ทุกสิ่งอย่างที่ปูพื้นมาอย่างดีสูญสิ้นไร้ค่าโดยสิ้นเชิง ไม่อยากเชื่อว่า Agatha Christie จะเขียนหักมุมหักหลังคนอ่านได้ไร้สาระขนาดนี้ แต่พอมาค้นหาข้อมูลดูถึงค่อยพบว่า นั่นไม่ใช่ตอนจบจริงๆของนิยาย (และฉบับละครเวที) เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาต่อกองเซนเซอร์ Hays Code และมักอาจหนักเกินต่อผู้ชมในช่วงเวลาสงครามโลกครั้งที่ 2

ค้นไปค้นมา ทำให้พบเจอภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่ง Ten Little Indians (1987) สัญชาติรัสเซีย มีคะแนน IMDB สูงถึง 8.0 จากคนโหวตพันกว่าคน ได้รับการยกย่องว่าดัดแปลงตรงต่อนิยาย And Then There Were None ที่สุดแล้ว ขอยกการวิเคราะห์ตีความอย่างละเอียดไว้ที่บทความนั้นแล้วกัน

Agatha Christie (1890 – 1976) นักเขียนนิยายแนวอาชญากรรมชื่อดังระดับโลก สัญชาติอังกฤษ เขียนนิยายเรื่อง Ten Little Niggers ตั้งแต่ปี 1938 ได้แรงบันดาลใจจากบทเพลงกล่อมเด็กของอเมริกา Ten Little Indians (หรือ Ten Little Injuns) ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์รายวัน Daily Express ระหว่างวันที่ 6 มิถุนายน ถึง 1 กรกฎาคม 1939 รวมเล่มวางขาย 6 พฤศจิกายน 1939 กับฉบับวางขายที่อเมริกาใช้ชื่อว่า And Then There Were None (ท่อนสุดท้ายของบทเพลงที่แต่งล้อเลียน Ten Little Indians)

เรื่องราวของคน 8 คน ได้รับคำเชิญให้มาอาศัยพักผ่อนสุดสัปดาห์ ณ บ้านพักต่างอากาศบนเกาะเล็กๆแห่งหนึ่ง ที่มีคนรับใช้อีก 2 คนอาศัยอยู่ ค่ำคืนนั้นพวกเขาพบเจอความลึกลับพิศวง เพราะเจ้าภาพไม่มาปรากฎตัวแต่ได้ส่งแผ่นเสียง (Gramophone) บันทึกคำพูดอธิบายบอกว่าสถานที่แห่งนี้คือการตัดสินพิพากษารับโทษ จากความผิดที่ทั้ง 10 เคยกระทำในอดีต ล้อกับเพลง Ten Little Indians ทีละคนค่อยๆตายจากไป นี่มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่! และใครกันคือฆาตกรปริศนาผู้อยู่เบื้องหลังทุกสิ่งอย่าง?

นิยายเล่มนี้ได้รับเสียงตอบรับอย่างดี กลายเป็น Best-Selling แห่งปี สร้างความพึงพอใจให้ Christie เป็นอย่างมาก เพราะทุ่มเทกายใจและเวลา ใช้เวลาเขียนกว่าปีๆถึงจะเสร็จ

“I wrote the book after a tremendous amount of planning, and I was pleased with what I made of it.”

เมื่อปี 1941, Christie ได้รับคำขอจาก Reginald Simpson ให้พัฒนานิยายเล่มนี้เป็นบทละครเวที ตอนแรกบอกปัดปฏิเสธแต่ภายหลังมองเป็นความท้าทาย ใช้เวลาถึง 2 ปีเต็ม และตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตอนจบให้ต่างออกไป เพราะขณะนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มันดูสิ้นหวังเกินไปถ้าจะจบแบบต้นฉบับนิยาย

“I must make two of the characters innocent, to be reunited at the end and come safe out of the ordeal.”

ซึ่งตอนจบของบทละครเวที ตัวละคร Vera คิดว่าตัวเองยิงฆ่า Lombard แต่กระสุนแค่เฉียดๆไปเท่านั้น พอเธอเดินอย่างระหองระแหงสิ้นหวังเข้าไปในบ้าน ถูกชายคนหนึ่งบีบรัดคอ แล้วพระเอกก็เข้ามาช่วยเหลือได้ทัน ทำให้ทั้งคู่เหลือรอดชีิวิตตอนจบ (นี่ไม่ถือเป็นการสปอยตอนจบของหนังนะครับ เพราะมีความแตกต่างกันพอสมควร)

ละครเวทีเรื่องนี้เปิดการแสดงที่ St James’s Theatre ณ West End, London เมื่อปี 1943 ได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดี ผ่านไป 260 รอบการแสดง ระเบิดลง (ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) เลยย้ายมาที่ Cambridge Theatre, ส่วน Broadway เริ่มเปิดการแสดงที่ Broadhurst Theatre ใช้ชื่อ Ten Little Indians เมื่อเดือนมิถุนายน 1944 ก่อนย้ายไป Plymouth Theatre รวมทั้งหมด 426 รอบ

สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ดัดแปลงสร้างโดย René Clair หรือ René-Lucien Chomette (1898 – 1981) นักเขียน/ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นคนขับรถพยาบาล ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง กลายเป็นความหลอกหลอนต่อต้านสงครามโดยสิ้นเชิง จากนั้นทำงานเป็นนักข่าวฝั่ง Left-Wing, ได้รับการชักชวนจากพี่ชาย กลายเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Jacques de Baroncelli สร้างหนังเงียบขนาดสั้นเรื่องแรก Entr’acte (1924) ตามด้วยหนังยาว The Phantom of the Moulin Rouge (1925) กลายเป็นตำนานกับหนังแนว Poetic Realism เรื่อง Un chapeau de paille d’Italie (1928), Sous les toits de Paris (1930), Le Million (1931), À nous la liberté (1931) ฯ

ความสำเร็จกับภาพยนตร์ในประเทศ ทำให้เป็นที่รู้จักระดับระดับนานาชาติ ได้รู้จัก Alexander Korda ทำหนังกับ London Film เดินทางต่อไป Hollywood ผลงานแรกของ Universal Studios เรื่อง The Flame of New Orleans (1941) ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แต่ก็ยังสามารถดิ้นรนเอาตัวรอด ได้สร้างภาพยนตร์ต่ออีกหลายเรื่อง I Married a Witch (1942) และ And Then There Were None (1945).

นำแสดงโดย Barry Fitzgerald (1888 – 1961) นักแสดงสัญชาติ Irish เจ้าของบทบาทดังอย่าง Bringing Up Baby (1938), How Green Was My Valley (1941), For Going My Way (1944), The Quiet Man (1952) ฯ รับบทอดีตผู้พิพากษา Judge Francis J. Quinncannon (ชื่อในนิยายคือ Justice Lawrence J. Wargrave) เป็นคนที่มีความโหดเหี้ยม ซาดิสต์รุนแรง โด่งดังเรื่องการตัดสินโทษประหารชีวิตนักโทษคดีฆาตกรรมด้วยการแขวนคอ จนได้รับฉายา ‘hanging judge’ ด้วยสำเนียงน้ำเสียง ท่าทางการพูดมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ (ในสไตล์ Barry Fitzgerald) มักเป็นผู้ชักนำแสดงทัศนะความคิดเห็น และสามารถควบคุมสถานการณ์ต่างๆได้ดีเสมอ

June Duprez (1918 – 1984) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ มีชื่อเสียงจาก The Thief of Bagdad (1940) ทำให้ได้รับโอกาสเดินทางสู่ Hollywood, รับบท Vera Claythorne เดินทางมายังเกาะแห่งนี้เพราะคิดว่าได้เป็นเลขาผู้ช่วยชั่วคราวของ U.N. Owen แต่กลับกลายเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัย ถูกกล่าวหาปรักปรำว่าเป็นคนปล่อยเด็กชายคนหนึ่งให้จมน้ำ แต่ตัวเธอยืนกรานเสียงแข็งไม่เคยกระทำอะไรแบบนั้น ลองจินตนาการดูนะครับถ้าช่วงท้ายเธอยิงปืนฆ่า Lombard เสียชีวิตจริงๆ เหตุการณ์ดังกล่าวมันจะสะท้อนกลับเข้าหาตัวเอง แต่เพราะหนังไม่ได้ทำให้ตอนจบเป็นแบบนั้น ความสมดุลของเรื่องราวเลยสูญเสียไปโดยสิ้นเชิง

Louis Hayward (1909 – 1985) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ แต่เกิดที่ Johannesburg, South Africa เป็นนักแสดงละครเวทีขาประจำของ Noël Coward จนมีชื่อเสียงโด่งดัง, รับบท Philip Lombard นายทหารปล่อยให้ชาวพื้นเมืองแอฟริกันอดตาย 21 ศพ (จากการขโมยอาหารของพวกเขา) อ้างว่าสวมรอยเพื่อนมาพักร้อน ชื่อของเขาคือ Charles Morley แต่จะจริงไหมคงไม่มีใครตอบได้

Walter Huston (1883 – 1950) พ่อของผู้กำกับดัง John Huston คว้า Oscar: Best Supporting Actor จากเรื่อง The Treasure of the Sierra Madre (1948), รับบท Dr. Edward G. Armstrong หมอทำคนไข้เสียชีวิต เพราะความขี้เมาของตนเอง Hangover จากการดื่มหนักเกินไป ในตอนแรกไม่ยอมรับความผิดพลาดของตนเอง แต่ภายหลังค่อยๆกล้าเปิดอกรับผิด แต่มันก็อาจสายเกินไปสำหรับคนแบบเขา

Roland Young (1887 – 1953) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ มีชื่อเสียงจากบทสมทบในภาพยนตร์ดังหลายๆเรื่อง (เรียกตัวเองว่า Freelance Performer), รับบท Detective William Henry Blore อดีตสารวัตรตำรวจ ลาออกมาเป็นนักสืบเอกชน ครั้งหนึ่งเคยให้การโกหกต่อศาลทำให้ผู้บริสุทธิ์คนหนึ่งต้องติดคุกภายหลังเสียชีวิต จริงๆแล้วตัวเขาต้องถูกทับเสียชีวิตโดยนาฬิการูปหมี แต่หนังเปลี่ยนเป็น…

สำหรับอีก 5 คนที่เหลือขอติดไว้โอกาสหน้าแล้วกัน

ถ่ายภาพโดย Lucien Andriot สัญชาติฝรั่งเศส โดดเด่นเรื่องแสงเงาให้สัมผัสคล้าย film noir แต่เพราะเป็นหนังแนว mystery ความมืดจึงแทนด้วยความลึกลับพิศวง มากกว่าสะท้อนด้านมืดที่อยู่ในจิตใจ (แต่ก็สามารถวิเคราะห์ตีความไปทางนั้นได้) ซึ่งพอช่วงท้ายเมื่อบนเกาะแห่งนี้ไฟดับมืดมิด ความสว่างจากแสงเทียนมองไม่แทบไม่เห็นอะไรอื่นเลยนอกจากตัวละครที่ยังหลงเหลือมีชีวิตอยู่

หลายครั้งทีเดียวที่หนังถ่ายภาพตัวละครหน้าตรงระดับสายตา (เป็น Medium Shot ไม่ถึงระดับ Close-Up) ตั้งแต่ฉากแรก 8 คนบนเรือ นี่เป็นลักษณะของ Portrait Shot เพื่อพรรณาพูดถึงเรื่องราวของตัวละครนั้นๆ อาจเป็นการแนะนำตัว เล่าความจริงพื้นหลัง ลักษณะการถ่ายภาพช็อตแบบนี้ ได้รับความนิยมอย่างสูงกับหนังแนว Poetic Realism

และอีกหลายช็อตทีเดียว หนังพยายามรวมทุกตัวละคร (ที่ยังมีชีวิตอยู่) ให้ปรากฎร่วมกันในช็อตเดียว โดยเฉพาะในห้องอาหารที่มีรูปปั้นอินเดียแดง 10 ตัววางอยู่ด้วย แล้วจะค่อยๆถูกขโมยหายไปอย่างน่าพิศวงสงสัย

ตัดต่อโดย Harvey Manger หนังไม่ได้ใช้มุมมองตัวละครใดเป็นพิเศษในการเล่าเรื่อง พยายามตัดสลับไปมานำเสนอทุกคนอย่างเท่าเทียม แต่เราสามารถมองว่า คำร้องของบทเพลง Ten Little Indians คือสิ่งที่ทำให้ผู้ชมเกิดความใคร่ติดตามเนื้อเรื่อง ลุ้นระทึก พยายามตรวจเช็คครุ่นคิดค้นหา ว่าตัวละครที่ตายมีนัยยะตรงกับเนื้อร้องนั้นรึเปล่า

ช่วงโดดเด่นคือการสอดแนมงูกินหาง ลำดับจากคนหนึ่งแอบมองลอดผ่านรูกุญแจ ตัดไปเห็นอีกคนแอบหลบอยู่ติดกำแพง ถอยไปอีกคนกำลังเปิดประตูมาเห็น ฯ นี่เป็นการนำเสนอ’ความหวาดระแวง’ของมนุษย์ อันมีสาเหตุจากการกลัวผู้อื่นล่วงรู้ความผิด/สิ่งชั่วร้ายที่อยู่ในจิตใจของตนเอง

เพลงประกอบโดย Mario Castelnuovo-Tedesco นักกีตาร์สัญชาติอิตาเลี่ยน ย้ายมาอยู่อเมริกาปี 1939 กลายเป็นนักแต่งเพลงขาประจำของ MGM, บทเพลงร่วมสร้างบรรยากาศ เติมเต็มความลึกลับพิศวงให้กับหนัง มักดังขึ้นในช่วงที่ตัวละครไม่ได้มีการพูดคุยสนทนา ราวกับเป็นท่อนสร้อยของบทกวี เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างฉาก

บทเพลง Ten Little Indians ถือว่าเป็น Masterpiece ของหนังเลยละ เสียงร้องของ Mischa Auer (ผู้รับบท Prince Nikita Starloff) สัญชาติรัสเซีย สำเนียงแบบว่าบ้าคลั่ง ผิดเพี้ยนได้ใจจริงๆ

จุดเริ่มต้นของ Ten Little Injuns (Injuns ก็คือ Indias) เป็นบทเพลงแต่งขึ้นโดย Septimus Winner เมื่อปี 1868 ได้แรงบันดาลใจจากเด็กชายเชื้อสายอินเดียแดงชื่อ John Brown พี่ชายคนโต ที่ครอบครัวของเขาเริ่มต้นจากมีคนเดียว เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนมีพี่น้อง 10 คน พอพวกเขาทั้งหมดเติบโตขึ้นก็ค่อยๆแยกย้ายออกจากบ้าน จนสุดท้ายไม่เหลือใคร, สำหรับท่อนสุดท้าย จะถือว่าแทนตอนจบของหนังเรื่องนี้ก็ยังได้

“One little Injun livin’ all alone, He got married and then there were none.”

Clair สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ภายใต้ช่วงเวลากฎของ Hays Code มีความเข้มงวดกวดขันอย่างยิ่งต่อการนำเสนอพูดเอ่ยถึง ฆาตกรรมเด็ก, การข่มขืน ฯ ด้วยเหตุนี้จึงต้องให้ตัวละครยืนกรานปฏิเสธ มีความบริสุทธิ์ใจไว้ก่อน แต่จะเป็นจริงเช่นนั้นไหมไม่มีใครตอบได้

ว่าไปมันก็เป็นเรื่องน่าเห็นใจเล็กๆ ข้อจำกัดของยุคสมัย ซึ่งทำให้ใจความของเรื่องราวนี้ที่แท้จริง อันเป็นการตีแผ่ด้านมืดในจิตใจของมนุษย์ เมื่อครั้นเคยกระทำผิดในอดีต ย่อมเกิดความหวาดหวั่นกลัวระแวง อับอายขายหน้าที่จะต้องพูดความจริง และสุดท้ายกรรมสนองการกระทำ, กับตอนจบแบบในหนัง เรื่องราวมันจึงแปรสภาพเหลือเพียง Mystery สืบค้นหาผู้อยู่เบื้องหลัง ฆาตกรตัวจริง ใครกันที่เป็น U. N. Owen ไม่ได้สะท้อนอะไรๆออกมาเลย

หนังสร้างเสร็จออกฉายไม่กี่เดือนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง นี่ทำให้ผู้ชมสามารถตีความเรื่องราว เปรียบตัวละครทั้งหลายดั่งประเทศต่างๆ เบื้องหน้าเหมือนเป็นคนดีเชื่อถือได้ แต่ลับหลังต่างมีความลับที่เคยกระทำความชั่วช้ามากมาย เข่นฆ่ากันเองให้ล้มตายในสงครามใหญ่ หลงเหลือเพียง…อเมริกาและพันธมิตรคู่รัก เอาตัวรอดจากความขัดแย้ง หนีออกจากเกาะนรกแห่งนี้ได้เท่านั้น

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบ 90% ของหนัง แต่เพราะ 10% สุดท้ายมันทำให้ทุกสิ่งอย่างที่สร้างมาสิ้นหวังพังทลาย เกิดความผิดหวังอย่างรุนแรงถึงที่สุด และเกิดอาการรู้สึกเสียดายเวลาที่รับชม นี่เป็นปรากฎการณ์เกิดขึ้นกับผมเองไม่บ่อยครั้งนัก ทำให้ไร้กระจิดกระใจในการเขียนถึงหนังเรื่องนี้โดยสิ้นเชิง ถ้าคุณยึดถือมั่นในหนังแนว Hollywood แล้วละก็ นี่คงเป็นฉบับดัดแปลงนิยาย Masterpiece ของ Agatha Christie ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าไม่ สนความสมเหตุสมผลมาก มีอีกเรื่องหนึ่งที่ดีกว่ามาก ขอเอาเวลาไปเขียนถึงบทความนั้นดีกว่านะครับ

แนะนำกับคอหนังแนว Mystery พิศวงลึกลับ, ชื่นชอบนิยายของ Agatha Christie เรื่องฆาตกรรมยกเกาะ, รู้จักผู้กำกับ René Clair และนักแสดงนำอย่าง Barry Fitzgerald, Walter Huston, Louis Hayward

จัดเรต 13+ กับบรรยากาศความพิศวงลึก และพื้นหลังอันชั่วร้ายของทุกตัวละคร

TAGLINE | “And Then There Were None ถึงคุณภาพงานสร้างจะสวยงามโดดเด่น แต่ตอนจบมันควรที่จะไม่เหลืออะไร แค่ชื่อหนังก็หลอกลวงผู้บริโภคแล้ว”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | WASTE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: