Andrei Rublev (1966) : Andrei Tarkovsky ♥♥♥♥♡
(11/4/2019) ไม่ใช่แค่ชื่อเหมือนกัน แต่ยังเรื่องราวชีวิต จิตวิญญาณศิลปิน และความเชื่อศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า ทำให้ปรมาจารย์ผู้กำกับ Andrei Tarkovsky ระบายวาดภาพจิตรกรเอกชาวรัสเซีย Andrei Rublev ราวกับภาพยนตร์อัตชีวประวัติของตนเอง, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
“ถ้าไม่เห็นนรกมาก่อน จะไม่เห็นความสวยงาม” หวนระลึกถึงคำจำกัดความที่ผมเคยเขียนไว้เมื่อสามปีก่อน รับชมครั้งนี้ยังรู้สึกได้ว่าเป็นจริงไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเจ็ดเรื่องราวแรกมิอาจเทียบเท่า Masterpiece ตอนสุดท้าย วินาทีที่ระฆังดังกึงก้องกังวาล ใครอยู่แห่งหนไหนจักต้องหันหน้าชายตามองมาอย่างมิอาจหลบหลีกเลี่ยง
อารัมบท+เจ็ดตอนแรกของหนัง ไม่ใช่ว่ามีความห่วยบรมประการใด คือทุกตอนต่างมีความยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบในตนเอง แต่เรื่องราวความน่าสนใจเมื่อเทียบบทสรุปสุดท้าย แตกต่างห่างชั้นระดับฟ้ากับเหว กระนั้นไม่ขอแนะนำให้กระโดดข้ามไปดู 45 นาทีสุดท้ายเลยนะครับ ฝึกความอดทนค่อยเป็นค่อยไป แผดเผามอดไหม้ตกอยู่ในขุมนรกสักพักหนึ่งก่อน พอฟื้นคืนชีพจักได้พบเห็นคุณค่าชีวิต และความไร้ที่ติของภาพยนตร์เรื่องนี้โดยทันที
ระฆัง ไม่ใช่แค่สำหรับเคาะบอกชั่วโมงยาม แต่ยังคือเสียงของ ‘ความหวัง’ ศูนย์รวมจิตใจทุกผู้คนได้ยินฟัง มันช่างมีความลึกลับพิศวง ไพเราะงดงามราวกับท่วงทำนองจากสรวงสวรรค์ ซึ่งก็ไม่แค่มนุษย์เท่านั้นจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบสนองสิ่งนี้
Andrei Arsenyevich Tarkovsky (1932 – 1986) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Russian เกิดที่ Zavrazhye, Yuryevetsky District บุตรชายของกวีคนสำคัญของรัสเซีย Arseni Tarkovsky (1907-1989) และ Maya Ivanovna Vishnyakova ครอบครัวมีน้องสาว Mariana อีกคน, ช่วงสงครามโลกที่สอง ครอบครัว Tarkovsky อพยพย้ายไปอยู่ทางชนบทของเมือง Yuryevets อาศัยอยู่กับตายายยังบ้านไม้หลังเก่าๆผุพัง ส่วนพ่อไปรบอยู่แนวหน้ากลับมาสูญเสียขาไปข้างหนึ่ง, โตขึ้นสมัครเรียนสาขาผู้กำกับ State Institute of Cinematography (VGIK) สร้างภาพยนตร์นักศึกษาสามเรื่อง The Killers (1956), There Will Be No Leave Today (1959), The Steamroller and the Violin (1961) เรื่องสุดท้ายได้รับคำชมล้นหลามจนมีได้รับโอกาสจาก Mosfilm กำกับหนังเรื่องแรก Ivan’s Childhood (1962) คว้ารางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice Film Festival
จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้ มาจากการสนทนาเรื่อยเปื่อยกับนักแสดง Vasily Livanov เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวชีวิต Andrei Rublev และถ้าเลือกได้ก็อย่างรับบทตัวละครนี้ (แต่ก็แห้วนะครับ)
Andrei Rublev (เกิดประมาณ ค.ศ. 1360-70, เสียชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1427-30) จิตรกรเอกชาวรัสเซีย แห่งยุคสมัย Medieval/Byzantine บวชเป็นบาทหลวง สังกัด Eastern Orthodox Church จากลูกศิษย์กลายเป็นเพื่อนร่วมงานคนสำคัญของ Theophanes the Greek (1340 – 1410) และ Prokhor of Gorodets, ผลงานชิ้นเอกคือ The Trinity (1410) ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ Tretyakov Gallery, Moscow
ความสนใจของ Tarkovsky ต่อ Andrei Rublev ไม่ใช่แง่มุมผลงาน อัตชีวประวัติ หรือพื้นหลังประวัติศาสตร์ แต่กำลังต้องการทดลองเชื่อมโยงตนเองเข้ากับตัวละคร สร้างความสัมพันธ์ นำเสนอพัฒนาการความคิด อิทธิพลแรงบันดาลใจ และความเชื่อศรัทธาต่อพระเจ้า ซึ่งเรื่องราวส่วนใหญ่ถือว่าเป็นการปรุงปั้นแต่งสร้างสรรค์ขึ้น (อ้างอิงแค่ยุคสมัยพื้นหลัง และบางตัวละครที่มีจดบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์)
ช่วงระหว่างโปรดักชั่น Ivan’s Childhood (1962) ผู้กำกับ Tarkovsky ได้ยื่นข้อเสนอต่อสตูดิโอ Mosfilm เพื่อสร้างภาพยนตร์ชีวประวัติ Andrei Rublev จากนั้นใช้เวลากว่าสองปีเพื่อศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล ร่วมพัฒนาบทกับ Andrei Konchalovsky เสร็จสิ้นได้รับการอนุมัติเดือนเมษายน ค.ศ. 1964 จากนั้นนำไปตีพิมพ์ลงในนิตยสารภาพยนตร์ Iskusstvo Kino เพื่อรับฟังข้อถกเถียง เสียงจากผู้อ่านทั่วไป นักวิจารณ์ และนักประวัติศาสตร์ ปรากฎเอ่อล้นด้วยคำยกย่องสรรเสริญ แต่ในด้านความละเอียดของเนื้อหาข้อมูลใหม่ๆ ไม่ใช่แง่มุมด้านศิลปะที่ใคร่อยากรับรู้
เรื่องราวของหนังแบ่งออกเป็นแปดตอน + อารัมบท/ปัจฉิมบท นำเสนอช่วงชีวิตของจิตรกร Andrei Rublev (รับบทโดย Anatoly Solonitsyn) พานผ่านเหตุการณ์ต่างๆในช่วงต้นศตวรรษที่ 15 (ค.ศ. 1400 – 24) อันส่งผลกระทบกลายเป็นอิทธิพล แรงบันดาลใจ ต่อการรังสร้างสรรค์ผลงานวาดภาพฝาผนังตามโบสถ์วิหารทั่งกรุง Moscow
นำแสดงโดย Anatoly Alekseyevich Solonitsyn (1934 – 1982) นักแสดงสัญชาติรัสเซีย เกิดที่ Bogorodsk, ก่อนเข้าสู่วงการภาพยนตร์ เป็นนักแสดงละครเวทีอยู่ที่ Sverdlovsk หลังมีโอกาสอ่านบทหนัง Andrei Rublev จากนิตยสาร Iskusstvo Kino เกิดความชื่นชอบสนใจ ต่อมาได้รับการติดต่อจาก Tarkovsky ควักเงินส่วนตัวขึ้นเครื่องบินสู่ Moscow เพื่อพูดคุยสนทนา เซ็นสัญญา และประกาศกร้าวฉันนี่แหละเหมาะสมบทบาทนี้ที่สุด, ซึ่งหลังจากนี้ Solonitsyn ก็ได้กลายเป็นเพื่อนสนิทสนม/ขาประจำของ Tarkovsky ร่วมงานกันจนพลันด่วนเสียชีวิตจากไปก่อนหน้าไม่กี่ปี
รับบท Andrei Rublev จิตรกรเอกที่ไม่เคยพบเห็นจับพู่กันวาดอะไรนอกจากสาดเทสีใส่ฝาผนัง ใบหน้าแม้สงบนิ่งแต่ภายในเต็มไปด้วยความปั่นป่วนคลุ้มคลั่ง ทุกสิ่งอย่างพานผ่านมานั้นท้าทายความเชื่อ ศรัทธา ส่งผลอิทธิพลต่อทัศนคติ ความครุ่นคิด และจิตวิญญาณ ถึงขนาดเคยให้สัตย์สาบานจะไม่ขอพูดคุยกับใครอีก แต่เมื่อเสียงสวรรค์จากพระผู้เป็นเจ้าดลบันดาลดังขึ้น เกิดความแน่วแน่ตั้งมั่น ต่อจากนี้ไปคงไม่มีวันสั่นคลอนอุดมการณ์เป้าหมายของตนได้อีก
Andrei Rublev เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ‘Iconic’ ศิลปินจากยุคกลาง ทำให้ชาวรัสเซียต่างมีภาพจินตนาการแตกต่างกันไป การเลือกนักแสดงมีชื่อหน้าคุ้นเคย ผู้ชมคงไม่จดจำตราตรึงสักเท่าไหร่ ตัวเลือก Solonitsyn ที่ยังไม่เคยผ่านผลงานภาพยนตร์ใดๆ ถือว่าประสบความสำเร็จน่าเชื่อถือมากๆ เพราะนั่นกลายเป็นภาพลักษณ์ติดตัว และการแสดงออกทางใบหน้าราวกับภาพวาดผลงานศิลปะ(ของ Rublev) อย่างยิ่งยวดเลยละ
“[Anatoly have] a face with great expressive power in which one could see a demoniacal single-mindedness”.
– Andrei Tarkovsky
ก็ไม่เพียงแค่ภาพลักษณ์เท่านั้นนะ สิ่งที่ต้องชมเลยสำหรับ Solonitsyn คือวิวัฒนาการทางอารมณ์ที่ถ่ายทอดออกมาผ่านสีหน้าสายตา มีความหลากหลายปรับเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ (ปริมาณพอๆกับ Donatas Banionis แสดงนำเรื่อง Solaris) ตราตรึงสุดคือช็อตสุดท้ายของเขาหนัง นั่งลงโอบกอดเด็กชายหนุ่มแล้วพูดเสียงสั่นๆพร้อมคราบน้ำตา
ถ่ายภาพโดย Vadim Yusov (1929 – 2013) สัญชาติรัสเซีย ตากล้องขาประจำของ Tarkovsky ตั้งแต่ The Steamroller and the Violin (1960)
สไตล์ Tarkovsky มักเน้นถ่ายทำ Long Take เคลื่อนติดตามตัวละคร หรือไม่ก็หมุนรอบทิศทาง 360 องศา (ลักษณะคล้ายพู่กันตวัดกวัดไกว) ปรับโฟกัสเบลอ-ชัด เล่นระยะใกล้-ไกล สองสิ่งคู่ขนานเกิดขึ้นพร้อมกันแต่มักอยู่คนละฟากฝั่งหรือทิศทางตรงกันข้าม และช่วงท้ายพบเห็นการใช้เครน/เฮลิคอปเตอร์ เพื่อขยายขอบเขตมุมมองให้มีความยิ่งใหญ่อลังการ ทิวทัศนียภาพพื้นหลังกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา
การเลือกถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ ไม่เพียงสะท้อนมุมมองต่อโลกอันเหี้ยมโหดร้ายของ Andrei Rublev แต่เพื่อมิให้ผลงานศิลปะอันทรงคุณค่า(ของ Rublev) ถูกมองข้ามไม่ได้สนใจ (เพราะภาพสีมันทุกสิ่งอย่างจะดูกลมกลืนไปเสียหมด) เว้นไว้เพียงปัจฉิมบทช่วงท้าย เมื่อบรรดาภาพวาดชิ้นเอกปรากฎสีสันขึ้นมา มันจึงมีความงดงาม ตราตรึง ขนลุกขนพองอย่างที่สุด
อารัมบท, ชายชื่อ Yefim (รับบทโดย Nikolay Glazkov) ต้องการท้าพิสูจน์ให้ทุกคนเห็น ว่าตนเองสามารถได้รับอิสรภาพโบยบินบนฟากฟ้าเหมือนดังนกกา แต่บอลลูนนั้นหนามิได้ตระเตรียมการอะไรสำหรับร่อนลง นั่นคงคือราคาแห่งความทะเยอทะยานที่ ‘ศิลปิน’ ต้องแลกมา
“the symbol of daring, in the sense that creation requires from man the complete offering of his being. Whether one wishes to fly before it has become possible, or cast a bell without having learned how to do it, or paint an icon – all these acts demand that, for the price of his creation, man should die, dissolve himself in his work, give himself entirely”.
– Andrei Tarkovsky
วินาทีที่ Yefim ตกลงพื้น ตัดภาพไปที่ม้ากำลังนอนกลิ้งเกลือกแบบ Slow Motion สัญลักษณ์ของชีวิต อิสรภาพ และการเริ่มต้นออกเดินทาง ส่งต่อถึง Andrei Rublev (และผู้กำกับ Andrei Tarkovsky)
เริ่มต้นองก์แรก แนะนำสามจิตรกรที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันตัดไม่ขาด (ตั้งแต่ต้นจนจบ) กำลังออกเดินทางท่ามกลางผืนแผ่นดินชนบทรัสเซีย แล้วอยู่ดีๆห่าฝนก็สาดเทลงมา ชีวิตพานพบเจอสิ่งไม่คาดฝันอยู่เสมอๆ
สามจิตรกรต่างมีลักษณะแตกต่างตรงกันข้าม
– Andrei Rublev (รับบทโดย Anatoly Solonitsyn) เป็นนักสังเกตการณ์ มีมนุษยธรรมสูงส่ง ชื่นชอบการค้นหาความดีในตัวคน โหยหาแรงบันดาล แต่เต็มไปด้วยความใคร่สงสัย ขลาดหวาดกลัวต่อภัยไม่อาจคาดเดา
– Daniil (รับบทโดย Nikolai Grinko) ชีวิตพานผ่านอะไรมามากจึงเกิดความเหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย ขี้เกียจคร้าน แม้มีฝีมือเป็นที่โปรดปราน แต่ก็ไม่มีอะไรสามารถปรับเปลี่ยนแปลงมุมมอง โลกทัศนคติส่วนตัวได้โดยง่าย (ตัวละครได้แรงบันดาลใจจากจิตรกร Daniel Chorny)
– Kirill (รับบทโดย Ivan Lapikov) เป็นคนไร้ฝีมือ ไร้ชื่อเสียงโด่งดัง แม้มีความเฉลียวฉลาดรอบรู้ แต่นิสัยขี้อิจฉาและหลงตนเอง ทำให้เห็นผิดเป็นชอบ ครุ่นคิดตัดสินใจอะไรผิดพลาดโดยง่าย
ตัวตลก (The Jetster) มีคำเรียกภาษารัสเซีย Skomorokh นักแสดงที่สามารถร้องรำทำเพลง เล่นดนตรี ทำได้ทุกสิ่งอย่างเพื่อเรียกเสียงหัวเราะขบขัน แต่ขณะเดียวกันก็ชอบล้อเลียน เสียดสี ศาสนา ขุนนาง พระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ถูกจับกุม ลงโทษทัณฑ์ โดยเฉพาะจาก Russian Orthodox Church จนแทบหมดสิ้นสูญพันธุ์ในศตวรรษที่ 17
ไดเรคชั่นการถ่ายภาพของ Sequence นี้ สังเกตว่ากล้องจะเคลื่อนหมุน 360 องศา ติดตาม Skomorokh ไปรอบๆกระต๊อบ สะท้อนถึงความเห็นแก่ตัวของตัวตลกนี้ ‘โลกต้องหมุนรอบตัวเขา’
หลายคนอาจไม่ทันสังเกตว่า Kirill ไปแจ้งความจับตัวตลกต่อทางการตอนไหน คือช็อตเล็กๆนี้ที่ Andrei Rublev มองผ่านช่องแคบๆเล็ก พบเห็นไกลๆ และด้านนอกฝนยังตกพรำๆ
เมื่อเจ้าหน้าที่ทางการกำลังเดินเข้าไปในบ้านเพื่อจับกุมตัวตลก สังเกตชายขี้เมาสองคนด้านนอกกำลังต่อสู้ หยิบไม้/ขวาน พยายามเขวี้ยงขว้างใส่กันแต่ไม่โดนสักที และจังหวะนี้ตั้งท่าอย่างดิบดีดันไปติดพันต้นไม้ขวางหน้าเสียอย่างนั้น นี่เป็นการสะท้อนการปกครองยุคสมัยนั้น สามัญชนไม่อาจเอื้อมไขว่คว้า สู้รบปรบมือต่อเจ้าหน้า/ชนชั้นผู้นำได้
เมื่อตัวตลกถูกเจ้าหน้าที่ทางการจับกุม ไม่มีใครในกระต๊อบหลังนี้(รวมถึงผู้ชม)ล่วงรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา ภาพถ่ายผ่านประตูสะท้อนถึงมุมมองของผู้คน คับแคบต่อสิ่งพบเห็น เต็มไปด้วยความใคร่พิศวงสงสัย
ช็อตแรกที่ถูกกล่าวขวัญพูดถึงมากๆ นำเสนอเหตุการณ์คู่ขนานเบื้องหน้า-หลัง ระหว่างบาทหลวง และด้านหลังไกลลิบๆเจ้าหน้าที่จับกุมตัวตลกออกเดินทางสู่เมืองใหญ่ ซึ่งมันไม่ได้จบแค่ช็อตนี้นะครับ สังเกตดีๆจะพบว่าลากยากไปไกลมากๆ
สำหรับช็อตนี้ มีเพียงบาทหลวงสองคนที่เดินผ่านระยะใกล้ คือ Andrei Rublev และ Daniil กำลังเดินทางกลับ Andronikov Monastery ขณะที่ Kirill เหมือนว่าจะเดินติดตามเจ้าหน้าที่ทางการอยู่ด้านหลังสู่เมืองใหญ่
ต่อเนื่องมาที่ Kirill กำลังเดินตรงไปหา Theophanes the Greek ภาพด้านหลังคู่ขนานคือลูกศิษย์ (ของ Theophanes) ที่ถูกใส่ร้ายป้ายสี กำลังโดนการลงโทษทัณฑ์ … ต่อเนื่องไปถึงแบกหาม ตรึงไม้กางเขนในฉากต่อๆไป
ช็อตแรกของ Theophanes the Greek ชายสูงวัยใกล้ลงโลง นอนแผ่พังพาบราวกับหมดสิ้นพละกำลัง เรี่ยวแรง และความคิดบันดาลใจ สนทนาปรัชญากับ Kirill แม้แรกเริ่มเกิดความพึงพอใจ แต่สุดท้ายกลับเลือก Andrei Rublev ร้องขอให้เป็นผู้ช่วยในการวาดภาพฝาผนัง Cathedral of the Annunciation, Moscow
การที่ Theophanes the Greek ส่งตัวแทนมาเอ่ยปากชักชวนแต่ Andrei Rublev ทำให้สองเพื่อนร่วมงานแสดงออกด้วยความไม่พึงพอใจอยู่ลึกๆ
เริ่มต้นจาก Daniil แม้ยามเช้าตรูแต่กลับจุดไฟ พบเห็นเงาขนาดใหญ่ปรากฎเบื้องหลัง นี่น่าจะมีนัยยะถึงความสามารถของเขา ได้เป็นแค่เพียงเงาของ Andrei Rublev
ขณะที่ Kirill ไม่ปกปิดบังความรู้สึกใดๆของตนเอง พูดจาด่ากราด ตัดสินใจออกเดินทางร่ำลาจาก และท้ายสุดระบายความเกรี้ยวกราดกับสุนัข ใช้ไม้เท่าฟาดตบตี(น่าจะถึงตาย) ผิดกับตอนต้นเรื่องที่ชายขี้เมาไม่อาจเอื้อมเจ้าหน้าที่รัฐ กับสัตว์ชั้นต่ำการกระทำนี้นั้นไม่ใช่ปัญหา
ต่อมากับลูกศิษย์เอก Foma (รับบทโดย Mikhail Kononov) ถือว่าเป็นคนมีพรสวรรค์ แต่ขาดความทะเยอทะยาน ไร้ซึ่งอุดมการณ์ ปรัชญาชีวิต ด้วยเหตุนี้เลยถูกอาจารย์ Andrei Rublev ตำหนิต่อว่าเรื่องการผสมสี เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เอาแน่เอานอนไม่ได้ นิสัยโป้ปดโกหกหลอกลวงก็เช่นกัน
ช็อตนี้ผมเรียกว่า ‘รากหงอก’ สะท้อนถึงความสูงวัยชรา คิดอ่านหัวโบราณของ Theophanes the Greek ซึ่งขณะนั้นกำลังโต้ถกเถียงกับ Andrei Rublev เรื่องศรัทธา ความเชื่อ ศาสนา และชาวรัสเซียรุ่นใหม่
สังเกตว่าตำแหน่งทิศทางหันหน้า ศีรษะ สายตายังไม่ยอมสบกัน สะท้อนถึงความครุ่นคิดเห็นแตกต่างในทัศนคติ อุดมการณ์ของทั้งคู่
ระหว่างการถกเถียงระหว่างสองศิลปิน คู่ขนานกับเหตุการณ์ที่ลูกศิษย์ของ Theophanes the Greek กำลังถูกนำพาตัว แบกหาม และถูกตรึงไม้กางเขน ซึ่งคำถามของ Andrev Rublev ครุ่นคิดว่าทุกผู้คนในเหตุการณ์ล้วนเป็นไปตามประสงค์ของพระเจ้า
และระหว่างลูกศิษย์ Foma กำลังล้างพู่กัน กล้องเคลื่อนไหลตามสายน้ำ พบเห็นแพรกสาหร่าย … นี่คงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับ Tarkovsky เริ่มต้น Solaris (1972) ด้วยภาพแห่งชีวิตและความทรงจำนี้
Witches’ Sabbath คือพิธีกรรมชุมนุมของคนนอกศาสนา ไม่เชื่อถือในพระเจ้า ใช้ชีวิตด้วยอิสรภาพเสรี, สังเกตการถ่ายทำ Sequence นี้ ใช้กล้องแพนติดตามตัวละครกำลังเดินวิ่งเคลื่อนไปฝั่งซ้าย Andrei Rublev พบเห็นเกิดความใคร่สนใจ แต่วินาทีนั้นเดินๆอยู่ไม่ทันมองไฟลุกติดเสื้อผ้า นี่เป็นสัญลักษณ์ของเพลิงราคะ ราวกับพระผู้เป็นเจ้ากำลังหักห้ามตักเตือนไว้มิให้อยู่นาน เพราะมันอาจลุกลามเคลิบเคลิ้มคล้อยตามจนมิสามารถควบคุมตนเองได้
นัยยะของทิศทางการเคลื่อน/แพน
– กล้องเคลื่อนทางซ้าย สวนทางกับความถูกต้อง
– กล้องเคลื่อนทางขวา ทิศทางของความถูกต้อง
การที่ Andrei Rublev ถูกจับหมัดตรึงกางเขนเหมือนพระเยซูคริสต์ อาจมีนัยยะเปรียบเทียบถึงการทำงานของเขา คือผู้เผยแพร่ศาสนา หลักคำสอนสั่งพระเจ้า บุตรแห่งพระเจ้า … ไม่แตกต่างกัน
Andrei Rublev เดินทางกลับมาหาพรรคพวกเช้าวันถัดมา ทุกคนต่างจับจ้องมองสภาพของเอาอันเต็มไปด้วยริ้วรอยขีดข่วน พานผ่านพบเห็นสิ่งท้าทายความเชื่อศรัทธาของตนเองอย่างยิ่งยวด
สิ่งคู่ขนานเบื้องหลังช็อตนี้คือเรือลำเล็กที่ชาวนอกรีตศาสนา ได้ทำพิธีปลดปล่อย Witches’ Sabbath ล่องลอยมาชนกับเรือของพวกเขาพอดี นัยยะคงสื่อถึงการบรรจบพบเจอ น้ำน้อยหรือจะสู้น้ำใหญ่ สุดท้ายอีกไม่นานคงถูกกำจัดให้หมดสิ้นซากไป
ไม่ทันขาดคำ! กลุ่มของ Andrei Rublev ขณะกำลังล่องแล่นเรือ ก็ได้พานพบเห็นการไล่ล่าจับกุมคนนอกรีตศาสนาบนฝั่ง หญิงสาวตัดสินใจแหวกว่ายน้ำหลบหนี ตลกที่เธอเคยช่วยเหลือ Andrei (มีคุณธรรมประจำใจ) ตอนนี้เมื่อตนเองกำลังเดือดร้อน สิ่งที่เขาแสดงออกคือเพิกเฉย
แล้วทั้งสองก็สวนทางในทิศตั้งฉากกัน ไม่แม้แต่มองหน้าสบตา หรือแสดงออกว่าเคยพบเจอรับรู้จักกัน!
จากเหตุการณ์ที่ Andrei ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือหญิงนอกรีตผู้นั้น ราวกับกลายเป็นตราบาปฝังใจ เก็บเอาความรู้สึกขัดแย้งมาหมกมุ่น ครุ่นยึดติด จนไม่สามารถรังสรรค์สร้าง วาดภาพฝาผนัง หรือเกิดแรงบันดาลใจกระทำอะไรได้
การโต้ถกเถียงระหว่าง Andrei และ Daniil สถานที่คือทุ่งดอกไม้ มันช่างสวยงามกว้างใหญ่ แต่จิตใจของเขากลับหมกมุ่นครุ่นคิดมาก ไม่ต้องการวาดภาพ The Last Judgment ที่เหี้ยมโหดร้าย
แซว: แต่ Andrei Rublev ก็เคยวาดภาพ The Last Judgment (1408) อยู่ที่ Assumption Cathedral, Vladimir
ผมละฮากริบกับฉากนี้ เมื่อ Grand Prince (รับบทโดย Yuriy Nazarov) ไม่พึงพอใจกับสถาปัตยกรรมที่นายช่างออกแบบมาให้ แต่เพราะรับงานอื่นมาแล้วเลยมิสามารถแก้ไข ซึ่งระหว่างกำลังอุ้มบุตรชาย ถูกเขาตบตีหน้าใช้ความรุนแรงใส่ … ประมาณว่า พ่อ! เลิกเห็นแก่ตัวเถอะ
ความเกรี้ยวกราดโกรธของ Andrei Rublev ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับช่างสถาปัตยกรรม ทำให้เขาสาดเทสีใส่ผนังสีขาด จิตใจแปดเปื้อนด้วยความสกปรกโสมม ชั่วเลวร้ายของโลกใบนี้ ขอให้เด็กชายอ่านข้อความจากไบเบิ้ล และสิ่งทรงคุณธรรมสุดของเขา คือรับเลี้ยงดูแล Durochka (รับบทโดย Irma Raush) ตัวตลกสาวที่ทั้งโง่และใบ้
ลึกๆผมรู้สึกว่าการรับเลี้ยงดูแล Durochka เพื่อชดใช้ความผิดที่ Andrei ไม่สามารถช่วยเหลือสาวนอกรีตผู้นั้น … แต่ความรู้สึกมันเทียบแทนกันได้จริงๆนะหรือ
ทั้งๆควรเป็นศัตรู (ยืนอยู่คนละฟากฝั่งแม่น้ำ) แต่ Grand Prince กลับมีความเร่งรีบร้อน ต้องการยึดครอบครองบัลลังก์จากพี่ชาย จึงขอร่วมมือกับชาวตาตาร์ (ชาว Turk ที่พูดภาษารัสเซีย) บุกเข้ามาโจมตีเมือง Vladimir ฆ่า ข่มขืน กระทำชำเรา เต็มไปด้วยความโหดโฉดชั่วร้ายรุนแรง
ช็อตที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้ชม นักวิจารณ์ และกองเซนเซอร์สมัยนั้น เพราะฉากนี้ม้าถูกหอกแทง เลือดพุ่ง ตกบันได เสียชีวิตจริงๆ
ฉากอื่นๆที่ดูเหมือนมีการใช้ความรุนแรงต่อสัตว์ ล้วนเป็นจัดฉากขึ้นยกเว้นเพียงวินาทีนี้ เพราะผู้กำกับ Tarkovsky ต้องการสะท้อนสิ่งชั่วร้าย ภัยจากสงคราม ซึ่งม้าผู้โชคร้ายตัวนี้เห็นว่าซื้อจากโรงฆ่าสัตว์ คือมันกำลังจะต้องตายจริงๆนะแหละ เลยไม่ตะขิดตะขวน ศีลธรรมมโนธรรมสูงส่งประการใด
การฆ่าม้าจริงๆ และ Andrei Rublev ถูกบีบบังคับให้ต้องสังหารทหารผู้ชั่วร้าย สะท้อนถึงสภาพจิตใจของเขาขณะนั้น ‘ตายทั้งเป็น’ สูญสิ้นความเชื่อศรัทธา แรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงานใดๆ เหตุนี้เลยกระทำการลงโทษทัณฑ์ทรมานตนเอง ตั้งสัตย์สาบานปิดปากไม่ขอพูดคุยกับใครอีก ซึ่งคนสุดท้ายสนทนาด้วยคือ Theophanes the Greek
บทหนังดั้งเดิม ตอนนี้ตั้งชื่อว่า The Charity ซึ่งหลังจาก Durochka กลายเป็นภรรยาของชาวตาตาร์ จะมีซีนที่เธอคลอดลูกออกมา แต่เหมือนว่าจะถูกตัดออกเพราะงบประมาณไม่เพียงพอถ่ายทำ
เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Silence เพื่อสะท้อนสัตย์สาบานไม่พูดกับใครของ Andrei Rublev แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็มิอาจรับรู้เข้าใจควาต้องการของ Durochka เพราะหิวโหยเลยพร้อมทำทุกอย่าง แม้แต่กับชาวตาตาร์ที่เคยต้องการข่มขืนเธอ มาคราวนี้กลับยินยอมพร้อมใจ … มันช่างขัดย้อนแย้งกันเสียเหลือเกิน
การสูญเสีย Durochka น่าจะทำให้ Andrei ครุ่นคิดย้อนกลับเข้าหาตัวเอง บุคคลที่เป็นตัวแทนความชั่วร้าย กลับมีบางเสี้ยวส่วนน้ำใจดีงาม … จุดประกายความหวังเล็กๆ โลกไม่ได้เหี้ยมโหดร้ายทารุณขนาดนั้น
Kirill หวนกลับมาในสภาพทรุดโทรม แก่เฒ่า น้ำเสียงแหบแห้ง ขณะนี้กำลังพูดคุยกับ Andrei Rublev แม้ท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ (สะท้อนความเย็นยะเยือกที่อยู่ภายใน) พบเห็นหยิบนำเอาก้อนหินเผาไฟ จิตใจยังลุ่มร้อนหมกมุ่นครุ่นต่อการกระทำของตนเอง ไม่สามารถปลดปล่อยวางอดีตอันเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานได้
Boriska (Nikolai Burlyayev) เด็กชายหนุ่ม บุตรของนักหล่อระฆัง ช็อตแรกของเขาพบเห็น
– หาง/ตูดมา สะท้อนถึงความตกต่ำต้อยไร้ค่า ไม่มีตัวตนในสายตาผู้คน
– ไก่ ส่งเสียงขับขานยามเช้า ปลุกให้ตื่น บอกโมงยาว ถึงเวลาลุกขึ้นทำอะไรเพื่อตัวตนเองเสียที
แม้ใครๆจะมองออกว่าชายหนุ่มคนนี้แม้โป้ปดหลอกลวง แต่ด้วยความขี้เกียจคร้าน/เห็นแก่ตัวของเจ้าพนักงาน เกิดอะไรขึ้นก็ให้มันรับผิดชอบไป ซึ่งพอยินยอมตอบตกลงนำพาไปยังเมือง Vladimir เด็กชายวิ่งสะดุดผ้าล้ม … แบบนี้มันลางไม่ดีเท่าไหร่นะ คล้ายๆเชือกรองเท้าหลุดใน Solaris ไม่ผิดเพี้ยนเลย!
แรกเริ่มต้นคือค้นหาสถานที่สำหรับขุดดิน มันจะมีวินาทีที่ Boriska เหม่อมองท้องฟ้า กล้องค่อยๆเคลื่อนขึ้นมุมสูงน่าจะด้วยเครน ราวกับพระผู้เป็นเจ้ากำลังทอดสายตามองลงมา
การพบเจอดินเหนียวสำหรับปั้นระฆัง เป็นความบังเอิญขณะฝนตก (ฟ้าประทาน) ใช้รองเท้าเขวี้ยงขว้างจากนั้นลื่นไถลตกลงมาเบื้องล่าง สะท้อนได้ถึงสิ่งทรงคุณค่าสุด(ของการทำระฆัง) ไม่ได้อยู่สูงส่งค่ำฟ้า แต่คือรองเท้าและดินจากบริเวณต่ำต้อยด้อยค่าที่สุด (ในสายตามนุษย์)
ช็อตนี้เป็นการนำเข้ามุมมองของ Andrei Rublev น่าจะครั้งแรกที่พานพบเห็น Boriska ทั้งๆลื่นไถลจากเนินสูงขนาดนั้นยังพยายามดิ้นรนตะเกียกตะกาย สร้างความพิศวงสงสัย ดึงดูดความสนใจเขาอย่างยิ่งยวดเลยละ
กล่าวคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับหนุ่มน้อยคนนี้ สะท้อนอะไรหลายๆอย่างถึงตัวเขา แรกเลยก็การตกจากที่สูง=เคยมากด้วยความเชื่อศรัทธาแรงกล้า ปัจจุบันไร้เรี่ยวแรงหมดสูญสิ้นทุกสิ่งอย่าง
กลับตารปัตรกับเมื่อตะกี้ ครานี้ Andrei Rublev มองจากมุมสูงลงมาในหลุมขุดเพื่อหลอมระฆัง พบเห็น Boriska แม้เต็มไปด้วยความเหนื่อยอ่อนล้าใกล้หลับ แต่กลับไร้ความยินยอมพ่ายแพ้ต่อสิ่งใด
ระหว่างกำลังเริ่มเผาไหม้หลอมเครื่องเงิน จะมีเหตุการณ์คู่ขนานเกิดขึ้น เมื่อตัวตลกจากตอนแรก หวนระลึกจดจำ Andrei Rublev ครุ่นคิดเข้าใจว่าบาทหลวงผู้นี้นี่แหละที่ส่งมอบตนเองต่อเจ้าหน้าที่ทางการ ติดคุกหัวโตหลายปี แถมโดนตัดลิ้นหายไปครึ่งหนึ่ง … แล้วนั้น Kirill เข้ามาหักห้ามปราม คุกเข่าไหว้วานลงโทษทัณฑ์ที่ตนเถอะ
ในมุมมองของตัวตลก ยินยอมให้อภัยเพราะคิดเห็นว่าไม่ใช่ความผิดของ Kirill แต่พอข้อเท็จจริงได้รับการเปิดเผยออก มันกลายเป็นความตลกขบขันไม่ออก ที่คุกเข่าขอให้ลงโทษทัณฑ์ เพราะตนเองนี่แหละเป็นคนกระทำ!
ฉากที่ Kirill สารภาพทุกสิ่งอย่างต่อ Andrei สังเกตว่าทั้งสองรายล้อมรอบด้วยควันไฟ ของเปลวเพลิงที่มอดไหม้หมดแล้ว หลงเหลือเพียงขี้เถ้าท่าน … สะท้อนถึงสารภาพบาปต่อสิ่งที่เป็นอดีต กาลเวลาเคลื่อนผ่านไปแล้ว ซึ่งก็พบว่ามันไม่ใช่เรื่องจะแค้นเคืองโกรธอันดับ
การกระทำนี้ของ Kirill ทำให้ Andrei เกิดความตระหนักได้ถึง ทุกสิ่งอย่างเมื่อเกิดขึ้นผ่านไปแล้วก็หลงเหลือแค่ความทรงจำเถ้าท่าน จะมัวนำเอาอารมณ์ความรู้สึกนั้นมาหมกมุ่นดั่งเปลวไฟคุกรุ่นอยู่ทำไม
ภาพช็อตนี้คือมุมมองต่อ Grand Prince แม้ประชาชนต่างคุกเข่าก้มหัว แต่การสร้างระฆังใบนี้มองเห็นผ่านช่องแคบๆ หลังจากแก่งแย่งชิงเมืองนี้มา ก็เท่านี้ละนะความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้คน
ความตึงเครียด กดดันของ Boriska ทำให้เขาเดินควักไขว่ไปมารอบๆระฆัง ระหว่างบาทหลวงกำลังทำพิธีสมโภชระฆัง ไม่สามารถอยู่นิ่งยืนสงบ
จากหันตูดม้า วิวัฒนาการเอาใบหน้าม้า มาผลักไสถูไถ นี่เป็นการแสดงออก/ยินยอมรับของชนชั้นสูงต่อสามัญชน ไม่ยอมหลงจากหลังมาเพื่อเทียบความเสมอภาค คลุกคลี หรือพูดจาขอบคุณแม้แต่น้อย!
วินาทีที่ระฆังดังขึ้น เป็นภาพของ Andrei Rublev หันหน้ามาพานพบเห็นกับ Durochka ในชุดขาวแม่ชี? กำลังเดินลากม้า, ทั้งหมดนี้ส่อถึง Andrei ได้ค้นพบเจอหนทางสว่าง เสียงจากสวรรค์ บอกว่ายกโทษให้อภัยทุกสิ่งแล้วมา ยกเลิกสัตย์สาบานไม่ปริปากพูดคุย และหวนกลับไปทำงานวาดภาพฝาผนังเสียทีเถอะนะ
สุดท้ายแล้วทั้ง Andrei และ Boriska ต่างนั่งคลุกอยู่กับดิน พูดให้กำลังใจเพื่อให้สามารถลุกขึ้นก้าวเดินต่อไปข้างหน้า กระทำสิ่งทรงคุณค่าต่อมวลชน (ไม่ใช่ชนชั้นผู้นำเท้าไม่เคยเปลื้อนดิน)
กล้องเคลื่อนจากชายสองวัย ไล่มาจนถึงเท้า และมาสิ้นสุดยังกองเพลิงมอดไหม้ สะท้อนถึง อดีตที่กำลังเคลื่อนผ่านไป ตอนจบของทุกภาพยนตร์ และค่อยๆแปรสภาพสู่ภาพวาดผลงานของ Andrei Rublev มีสภาพรอยแตกร้าวไม่ต่างกัน
ผลงานภาพวาดของ Andrei Rublev ไล่เรียงดังต่อไปนี้
– Enthroned Christ
– Twelve Apostles
– The Annunciation
– Twelve Apostles
– Jesus entering Jerusalem
– Birth of Christ
– Enthroned Christ
– Transfiguration of Jesus
– Resurrection of Lazarus
– The Annunciation
– Resurrection of Lazarus
– Birth of Christ
– Trinity
– Archangel Michael
– Paul the Apostle
– และ The Redeemer
และช็อตสุดท้ายของหนัง ภาพสีเบลอๆของม้าสี่ตัวท่ามกลางสายฝน
– ม้า คือสัญลักษณ์แห่งชีวิต ในบริบทนี้ยังเปรียบได้กับสิ้นสุดการเดินทาง
– สถานที่รายล้อมด้วยทะเลสาป/แม่น้ำ ฝนกำลังตก หมายถึงกาลเวลาเคลื่อนผ่าน แปรสภาพจากอดีตสู่ปัจจุบัน
– ภาพสี คือชีวิตชีวา หรือกาลปัจจุบัน
– ภาพเบลอๆ เลือนลางระหว่างอดีต-ปัจจุบัน
ผมรู้สึกภาพช็อตนี้เสมือนลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Andrei Tarkovsky แบบที่ศิลปินมักลงชื่อไว้ใต้ผลงานตนเอง เพราะมันปรากฎขึ้นหลังจากร้อยเรียงภาพวาดผลงานของ Andrei Rublev
ตัดต่อโดย Lyudmila Feiginova ขาประจำของผู้กำกับ Tarkovsky ร่วมงานกันตั้งแต่ Ivan’s Childhood (1962), นำเสนอเรื่องราวผ่านข้อความขึ้นปรากฎ ซึ่งจะมีความเนื่องกับ Andrei Rubelv หนทางใดหนึ่ง ประกอบด้วย
I. The Jester (ฤดูร้อน, 1400)
II. Theophanes the Greek (รอบปี 1405–06)
III. The Passion (1406)
IV. The Holiday (1408)
V. The Last Judgment (ฤดูร้อน,1408)
VI. The Raid (ฤดูใบไม้ร่วง, 1408)
VII. Silence (ฤดูหนาว, 1412) [ฉบับดั้งเดิมใช้ชื่อ The Charity]
VIII. The Bell (รอบปี 1423–24)
ฉบับแรกสุดของหนังความยาว 205 นาที ตั้งชื่อว่า The Passion According to Andrei ออกฉายรอบปฐมทัศน์ปี 1966 แต่ถูกแบนห้ามฉายโดยกองเซนเซอร์รัสเซีย ทำให้ Tarkovsky ต้องเล็มโน่นนี่ออกไปจนเหลือ 186 นาที เปลี่ยนชื่อใหม่ Andrei Rublev ออกฉายปี 1971 ซึ่งเนื้อหาสาระสำคัญยังอยู่ครบหมด แค่มีความกระชับรวบรัดกุมขึ้นเท่านั้นเอง
“The cuts have in no way changed neither the subject matter nor what was for us important in the film. In other words, we removed overly long scenes which had no significance. We shortened certain scenes of brutality in order to induce psychological shock in viewers, as opposed to a mere unpleasant impression which would only destroy our intent”.
– Andrei Tarkovsky
เพลงประกอบโดย Vyacheslav Ovchinnikov (1936 – 2019) คีตกวีสัญชาติรัสเซีย ผู้เคยประพันธ์บทเพลง The Bouquet for the Queen (1986) เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา, ผลงานภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Ivan’s Childhood (1962), War and Peace (1966-67), Andrei Rublev (1969) ฯ
บทเพลงสะท้อนถึงจิตวิญญาณอันล่องลอยของ Andrei Rublev ความเชื่อศรัทธาที่แม้ตั้งมั่นแต่กำลังค่อยๆสั่นคลอน หลังจากประสบพบเหตุการณ์เลวร้ายมากมายจนหมดสูญสิ้นเรี่ยวแรงบันดาลใจ ถึงกระนั้นตราบเท่าที่ยังมีชีวิตลมหายใจ โอกาสและความหวังย่อมหวนคืนกลับมาหา ซึ่งพอตั้งใจเงี่ยหูสดับฟังเลยรับรู้เข้าใจว่า เป้าหมายสิ่งนิรันดรนั้นมีเพียงสรวงสวรรค์หนึ่งเดียว
ไม่นานมานี้ผมเพิ่งได้รับชม Cave of Forgotten Dreams (2010) ภาพยนตร์สารคดีของผู้กำกับ Werner Herzog ที่ทำการบันทึกภาพวาดฝาผนังเก่าแก่ที่สุดในโลก ณ Chauvet Cave ซึ่งช่วงท้ายมีการร้อยเรียงภาพประกอบบทเพลงออเครสต้าเต็มวงพร้อมเสียงร้องคอรัส (ราวกับท่วงทำนองจากสรวงสวรรค์) มอบสัมผัสอันขนลุกขนพอง ทรงพลังตราตรึงไม่ย่อหย่อนไปกว่ากัน
เรื่องราวของ Andrei Rublev สะท้อนบทแห่งชีวิตผู้กำกับ Andrei Tarkovsky น่าจะประมาณดังต่อไปนี้
– บอลลูน สัญลักษณ์ของความเพ้อฝันทะเยอทะยาน แต่ไม่ว่าจะไต่สูงเท่าไหร่ก็ต้องตกลงมา ความตายเป็นสิ่งมิอาจหลบหลีกเลี่ยง เช่นนั้นแล้วทำอย่างไรให้ตนเองได้รับการจดจำอมตะชั่วนิจนิรันดร์
– พานพบเจอตัวตลก The Jester ร่ำร้องเพลง พูดจาดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น สะท้อนถึงคนในวงการก่อนหน้าที่ผู้กำกับ Tarkovsky จะแจ้งเกิดโด่งดัง คงเคยประชดประชันเสียดสี ตำหนิต่อว่าไดเรคชั่นการทำงานย้อนครูเช่นนี้ ย่อมไม่มีทางประสบผลสำเร็จไได้รับการจดจำเหนือกาลเวลาแน่ๆ
– พบเจออาจารย์ผู้มีความรู้สามารถ Theophanes the Greek แต่กลับไม่ยินยอมรับในตัวลูกศิษย์ เพราะความหัวก้าวหน้าเฉลียวฉลาดเกินไป, Tarkovsky เป็นนักเรียนหัวขบถที่เบื่อหน่ายทฤษฎีของผู้กำกับรุ่นบุกเบิก Sergei Eisenstein, Vsevolod Pudovkin เกลียดนักการตัดต่อ Soviet Montage ผลงานของเขาเลยโคตรของโคตร Long Take
– The Passion นำเสนอมุมมองความเชื่อศรัทธาของ Tarkovsky ที่มีต่อพระเจ้าผู้สร้าง และไดเรคชั่นภาพยนตร์ของตนเอง
– พานพบเจอพูดคุยกับคนนอกศาสนา พยายามยั่วหยอกเย้า ชักจูงจมูก แต่ก็ไม่ยินยอมหลงทางผิด เพราะยังคงยึดถือมั่นศรัทธา เชื่อในหลักอุดมการณ์ ไดเรคชั่นภาพยนตร์ และศรัทธาต่อพระเจ้าสูงสุด
– The Last Judgment การสิ้นสูญศรัทธา ไร้แรงบันดาลใจ ครุ่นคิดอะไรไม่ออก Tarkovsky ก็น่าจะเคยพานผ่านช่วงเวลา Writer’s Block/Director’s Block มาเฉกเช่นกัน
– The Raid คือการพานผ่านช่วงเวลาทุกข์ยากในสงคราม สำหรับ Tarkovsky คงต้องการสะท้องถึงสงครามโลกครั้งที่สอง อันส่งผลประทบต่อชีวิต จิตใจ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
– การปิดปากตั้งสัตย์ไม่ขอพูดจา ว่าไปคล้ายๆกองเซนเซอร์รัสเซียที่พยายามควบคุม กีดกักกัน ให้ภาพยนตร์ทุกเรื่องในประเทศนั้นต้องไม่มีเนื้อหาบ่อนทำลาย ขัดย้อนแย้งต่อหลักศีลธรรมอันดีงาม
และตอน The Bell ถือได้ว่าคือประมวลผลสรุปชีวิตของผู้กำกับ Tarkovsky และ Andrei Rublev
– เด็กเมื่อวานซืนไม่ได้ล่วงรับรู้ความลับอะไร แต่ใช้การโป้ปดอ้างว่ามีวิชาเพื่อพิสูจน์อัจฉริยภาพ/คุณค่าของตนเอง
– จริงๆแล้วดินเหนียวใช้จากแหล่งไหนก็ได้ แต่ความเรื่องมากเจ้ากี้เจ้าการก็เพื่อตอบสนองวิสัยทัศน์ ความคิดเห็นส่วนตน ซึ่งถ้ามันสำเร็จบรรลุผลก็ถือว่าเข้าใจไม่ผิด (เทียบได้กับการสร้างภาพยนตร์ ในวิถีความเชื่อของตนเอง)
– การทดลองผิดถูก เต็มไปด้วยความโล้เล้ลังเล ไม่แน่ใจ เครียด กดดัน แต่ท้ายที่สุดนั้นเมื่อเสียงระฆังดังก้องกังวาลย์ ความทุกข์ทรมานหนักอกได้รับการปลดปล่อยระบายออก น้ำตาไหลพรากๆด้วยความปลื้มปีติยินดี (สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของ Tarkovsky เมื่อตอนฉายภาพยนตร์เรื่องแรก Ivan’s Childhood ประสบความสำเร็จคว้ารางวัล Golden Lion ไม่มีอะไรน่าดีใจไปกว่าค้นพบสถานที่ยืนของตนเอง)
ซึ่งในบริบทนี้สามารถเปรียบเทียบการสร้างระฆัง ได้กับจิตรกรรมฝาผนังของ Andrei Rublev และภาพยนตร์เรื่องนี้ของผู้กำกับ Andrei Tarkovsky ถือเป็นตัวแทนความหวังแห่งชีวิต เชื่อมั่นในศรัทธาจิตวิญญาณของตนเอง ไม่ขลาดหวาดกลัวภัยพาล แล้วพระเจ้าจะประทานอำนวยอวยพร
หนังสร้างเสร็จสิ้นฉบับแรก The Passion According to Andrei ออกฉายรอบปฐมทัศน์ที่ Dom Kino, Moscow เมื่อปี 1966 ปรากฎว่าถูกนักวิจารณ์ตำหนิต่อต้านเรื่องความรุนแรง หลายฉากล่อแหลม เสื่อมศีลธรรมจรรยา เป็นเหตุให้ถูกกองเซนเซอร์ขึ้นหิ้งห้ามนำออกฉายจนกว่าจะมีการตัดบางฉากออกไป
เทศกาลหนังเมือง Cannes เมื่อปี 1967 ต้องการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี เหตุการณ์ October Revolution (1917) จึงติดต่อขอนำภาพยนตร์เรื่องนี้ไปออกฉาย แต่ทางการอ้างว่ายังตัดต่อแก้ไขไม่เสร็จเลยพลาดโอกาสไป
อีกสองปีถัดมาถึงยินยอมให้เทศกาลหนังเมือง Cannes ด้วยข้อแม้แค่รอบเดียวและนอกสายการประกวด ปรากฎว่าเป็นที่ถูกใจนักวิจารณ์ล้นหลาม แถมคว้ารางวัล FIPRESCI prize (นอกสายการประกวด) *** คือถ้าได้เข้าฉายในสายการประกวด คงเป็นเต็งหนึ่งลุ้นรางวัล Palme d’Or
กว่าที่ทางการรัสเซียจะยินยอมปล่อยหนังออกฉาย ก็ปลายปี 1971 ฉบับความยาว 183 นาที แต่ไม่อนุญาตให้มีโปสเตอร์ติดหน้าโรงหนัง, ด้วยทุนสร้าง 1.3 ล้านรูเบิลรัสเซีย ไม่มีรายงานรายรับ ยอดขายตั๋ว 2.98 ล้านใบ น่าจะทำกำไรประสบความสำเร็จล้นหลามทีเดียว
สำหรับคนสนใจหนังฉบับเต็ม The Passion According to Andrei (บ้างเรียกว่า Director’s Cut) ได้รับการบูรณะโดย Martin Scorsese บินไปถึงรัสเซียเพื่อขอต้นฉบับมา กลายเป็น DVD และ Blu-Ray โดย Criterion Collection
ตัดประเด็นความเชื่อ ศรัทธา พระผู้เป็นเจ้าทิ้งไป ที่เหลือคือสิ่งที่ผมชื่นชอบคลุ้มคลั่งไคล้ ไดเรคชั่นคู่ขนานของผู้กำกับ Andrei Tarkovsky ความโคตรอลังการ Epic และเรื่องราวตอนสุดท้ายยังตราตรึงไม่เสื่อมคลาย
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” สาสน์สาระอันทรงคุณค่าของหนังอยู่ตอนสุดท้าย มันอาจคือความบังเอิญ/โชคดีที่ชายหนุ่มสามารถหล่อหลอมทำระฆังได้สำเร็จเสร็จ แต่ชีวิตมันก็ประมาณนี้มิใช่หรือ ร่ำเรียนรู้ ทดลองผิดๆถูกๆ หาคำตอบทำทุกสิ่งอย่างด้วยตนเอง ไม่เช่นนั้นจะสามารถเกิดความเข้าใจ ได้รับการยินยอมรับเฉกเช่นไร
จัดเรต 15+ กับศรัทธาพระเจ้า ความรุนแรงไม่ทันตั้งตัว
คำโปรย | ผู้กำกับ Andrei Tarkovsky ระบายภาพจิตรกรเอกชาวรัสเซีย Andrei Rublev ได้อย่างงดงาม ทรงคุณค่า จนกลายเป็นจิตวิญญาณของตนเอง
คุณภาพ | มาสเตอร์พีซ
ส่วนตัว | คลุ้มคลั่งไคล้
Andrei Rublev (1966)
(4/2/2016) นี่เป็นหนัง Russia ที่สวยงามและยิ่งใหญ่มาก แต่การจะทนดูหนังเรื่องนี้จบได้ คุณต้องอดทนเอาชนะความไม่รู้เรื่อง เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะไม่สามารถทนดูหนังเรื่องนี้ผ่านครึ่งชั่วโมงแรกไปได้ แต่ผมบอกไว้เลยว่า ถ้าคุณสามารถทนดูจนจบได้ จะเห็นความสวยงามของหนังเรื่องนี้ในระดับที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้
ด้วยความที่หนังยาว 3 ชั่วโมง ถือว่ายาวมากๆ ถ้าหนังไม่สนุกจริงน้อยคนนักจะทนไหว ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่อยากเสียเวลายาวๆเพื่อดูหนังที่ไม่สนุก หรือดูแล้วไม่รู้เรื่องนะครับ กับ Andrei Rublev ทำเอาผมเกือบพลาดอะไรดีๆไปแล้ว ครึ่งชั่วโมงแรกเป็นอะไรที่จับต้องไม่ได้ ไม่มีความสนุกเลย และมันอะไรก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร ตั้งแต่ที่ผมดูหนังมา นี่เป็นหนังที่ครึ่งชั่วโมงแรกทำคนดูเจ็บปวดที่สุดแล้ว ผมเกือบจะหยุดดูเมื่อผ่านครึ่งชั่วโมงแรกไปด้วยซ้ำ แต่ไม่รู้อะไรดลใจให้ทนดูต่อไป คงเพราะความอยากรู้ว่าหนังเรื่องนี้มันคืออะไรกันแน่ แต่ก็พบว่าคำตอบของหนังมันเซอร์ไพรส์ผมได้แบบ อึ้ง ทึ่ง ด้วยครึ่งหลังที่อลังการงานสร้าง ยิ่งใหญ่ ยอดเยี่ยม สวยงาม นี่มันหนังเรื่องเดียวกันเหรอนี่ ครึ่งแรกที่ดูไม่รู้เรื่อง แต่ครึ่งหลังมันกลับคือสุดยอดภาพยนตร์ มีคำพูดว่า “ถ้าไม่เห็นนรกมาก่อน จะไม่เห็นความสวยงาม” คำนี้จริงกับหนังเรื่องนี้ครับ
ผมเคยดูผลงานของ Andrei Tarkovsky เรื่อง Solaris มาเมื่อนานมาแล้ว ดูเพราะกำลังติดหนังแนวไซไฟอยู่ แต่ก็ผิดหวัง เพราะหนังดูยากพอสมควร (ว่าจะหามาดูอีกรอบ เผื่อเห็นอะไรที่ไม่พลาดไป) ปกติหนังรัสเซียผมก็ไม่ค่อยได้มีโอกาสดูเท่าไหร่ ที่ดู Andrei Rublev ก็เพราะเป็นหนังในโพลของนิตยสาร Sight & Sound ค่อนข้างสูง (อันดับ 27) เป็นหนังยุค Medieval ที่น่าสนใจ ก็เลยตัดสินใจดู สไตล์ของผู้กำกับคนนี้ ผมวิเคราะห์จากหนังเรื่องนี้ เขาเป็นนักทดลองที่นำเสนอเรื่องราวธรรมดาทั่วไป ที่คนดูคาดไม่ถึง เน้นบทสนทนาที่แฝงแนวคิด และรูปแบบเชิงสัญลักษณ์ สิ่งที่เขาชอบใช้เชิงสัญลักษณ์คือ ม้า ซึ่งเปรียบเหมือน การมีชีวิต เพราะม้าเป็นสัตว์ที่ต้องวิ่งอยู่ตลอดเวลา เราคิดถึงม้า ก็ต้องนึกถึงการวิ่งทุกที เหมือนชีวิตที่ดำเนินไปข้างหน้า ไม่สามารถหยุดวิ่งได้ เราจะเห็นม้าแทรกอยู่หนังของ Tarkovsky ใน Andrei Rublev ก็จะเห็นแทบทุกตอนเลย (สัตว์สัญลักษณ์นี้ เหมือน Dove ในหนังของ John Woo)
Andrei Rublev คือใคร เขาเป็นจิตรกรชื่อดังมากๆ เป็นพระของศาสนาคริสต์ (เห็นว่าเป็นคริสเตียนไม่ใช่คาทอลิก) ในช่วงศตวรรษที่ 15 ถ้าใครเป็นคนที่ชมชอบงานศิลปะ คงน่าจะเคยได้ยินชื่อของ Rublev มาก่อนแน่ๆ ภาพวาดดังๆของเขาเป็นภาพวาดเกี่ยวกับพระเจ้าและศาสนาคริสต์ ดังที่สุดคือภาพ Trinity
ผมไม่รู้จัก Andrei Rublev หรอกครับ ก็มารู้จักเขาจากในหนังเรื่องนี้แหละ ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านศิลปะภาพวาดเท่าไหร่ นี่เป็นหนังชีวประวัติของ Andrei Rublev ที่ดูยังไงก็ไม่เหมือนหนังชีวประวัติเลย เห็นว่าตอนแรก Taskovsky มีความตั้งใจจะสร้างหนังชีวประวัติสักเรื่อง ใครก็ได้ที่มีชื่อเสียง สร้างชื่อในประวัติศาสตร์ให้กับรัสเซียตัวเอง ซึ่งก็ไปลงเอยที่ Andrei Rublev แทนที่จะเล่าเรื่องแบบตรงไปตรงมา เขากลับใส่การทดลองต่างๆลงไปในหนัง โดยแบ่งออกเป็นเรื่องสั้นนับรวมได้ 8 เรื่อง และมีเรื่องเปิดเรื่องปิด ดูคุ้นๆคล้ายๆกับ La Dolce Vita นะครับ (แต่ La Dolce Vita มี 7 เรื่อง) แต่ละเรื่องมันมีเรื่องเล่าของตัวเอง จบภายในตอน ดูเหมือนจะไม่มีความต่อเนื่องกัน แต่จะมีจุดเชื่อมกันของทุกๆตอน … เทคนิคนี้เอามาใช้กับหนังชีวประวัติเนี่ยนะ! ใช่แล้วครับ
ผมดูหนังเรื่อง Steve Jobs มา ผมไม่คิดว่า Aron Sorkin เคยดู Andrei Rublev แน่ๆ แต่มันก็มีความคล้ายกันบางอย่าง คือแทนที่จะเล่าชีวประวัติของบุคคลตรงๆ ใช้การเล่าแนวคิดผ่านผลงานของคนๆนั้น หนัง Steve Jobs ใช้ 3 เหตุการณ์ที่สร้างชื่อให้กับ Steve Jobs มาเล่าเรื่อง ส่วน Andrei Rublev จะว่า 8 เรื่องในหนัง คือ 8 ภาพวาด หรือ 8 เหตุการณ์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับ Andrei Rublev ในการวาดออกมาก็ว่าได้ (แต่มันจะหมายถึง 8 ภาพวาดไหมนั้นผมไม่แน่ใจเท่าไหร่ ผมสังเกตจากชื่อตอนที่มันคล้ายๆกับชื่อภาพวาดมาก ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเลยไม่ชัวร์เท่าไหร่ แต่ใครดูแล้วรู้ว่ามันคือชื่อภาพวาดจริงๆ บอกมาได้เลยนะครับ)
ผมมาสังเกตจุดนี้ เมื่อผ่านครึ่งชั่วโมงแรกไปแล้ว เอะ! หรือว่าการเล่าเรื่องของหนังเรื่องนี้ มีจุดเชื่อมคือผลงานของ Andrei Rublev เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เพราะอะไรเขาถึงวาด มีแรงบันดาลใจอะไร วาดเพื่ออะไร … พอคิดได้ประมาณนี้ผมก็อ๋อเลยละครับ ผมเพิ่งดู Steve Jobs มาด้วยเลยจับจุดนี้ได้ แต่หนังมีความยากกว่ามากๆ ตรงที่ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตัว Andrei Rublev เลย จึงต้องใช้การสังเกตอย่างมากว่ามีการนำเสนออะไรบ้าง แต่หนังเรื่องก็ดันไม่บอกอะไรเราเลย ปล่อยให้คนดูฉงนไปจนถึงเกือบๆจบครึ่งแรกถึงจะเริ่มจับทางได้ จะมีสักกี่คนเชียวที่สามารถอดทนเพื่อหาคำตอบของหนังยาวขนาดนี้ได้
ของจริงมันอยู่ครึ่งหลังครับ ผมละขนลุกเลยตอนเรื่องที่ 6 (ครึ่งแรก 5 เรื่อง ครึ่งหลัง 3 เรื่อง) มันอลังการมาก นี่ไม่น่าจัดเป็นหนัง Art House แล้ว มันคือ Medieval Epic เลย มีฉากสงครามขนาดย่อมๆ เกณฑ์คน เกณฑ์ม้านับร้อย (ไม่รู้ถึงพันหรือเปล่า) เพื่อเข้าฉาก แต่ที่สุดของ Andrei Rublev คือเรื่องสุดท้าย ชื่อว่า “Bell” เป็นเรื่องที่ยาวที่สุด และสวยงามที่สุดของหนังเรื่องนี้ เป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่พ่อเป็นคนสร้างระฆัง ขณะนั้นผู้ครองเมืองต้องการสร้างระฆังใบใหญ่ แต่พ่อของเด็กหนุ่มเสียไปแล้ว ทหารไปเจอเขา เด็กหนุ่มอ้างว่ารู้เทคนิคลับในการสร้างระฆังขนาดใหญ่ หนังเล่าเรื่องการสร้างระฆัง ขั้นตอนวิธีต่างๆ จนกระทั่งสร้างเสร็จ ตอนจบระฆังจะดังไหม เด็กคนนั้นพูดจริงหรือเปล่าเรื่องที่เขารู้เทคนิคลับ แล้ว Andrei Rublev เกี่ยวข้องยังไงกับระฆังนี้ ไม่สปอยครับ ต้องไปอดทนดูเอง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำให้หนังเรื่องนี้มีคุณค่ามากๆ ผลลัพธ์ของมันเป็นอะไรที่ คนดูครึ่งชั่วโมงแรกแล้วปิดทิ้งทนดูต่อไม่ได้ไม่มีทางคาดถึงได้เป็นอันขาด
ถึงจุดนี้ ถ้าคุณเป็นคนที่ดูหนังเรื่องนี้ไม่จบ ให้รีบกลับไปดูหนังเรื่องให้จบก่อนเลยนะครับ ทนดูให้ผ่านครึ่งแรกไปให้ได้ ไม่เข้าใจมันก็เถอะทนดูไป อะไรๆมันอยู่ครึ่งหลัง และอธิบายทุกอย่างมีคำตอบไว้แล้ว ครึ่งหลังดูไม่ยากเลย หนังเล่าเรื่องแบบตรงไปตรงมา ครึ่งหลังคุณจะรู้สึกหนังผ่านไปเร็วเสียอีก
Anatoly Solonitsyn นักแสดงนำของเรื่อง เล่นเป็น Andrei Rublev กว่าผมจะจำหน้าตัวละครนี้ได้ ก็กินไปหลายตอนทีเดียว ตอน Jetster เป็นอะไรที่ผมสับสนมาก เพราะ 3 ตัวละครมันหน้าเหมือนกันหมด (เหมือนยังไง!) สร้างความสับสนให้ผมทีเดียวว่าเกิดอะไรขึ้น เชื่อว่าคนที่ดูจบแล้วจะเห็นภาพชัดมากๆว่าทำไมถึงต้องใช้ตัวละครถึง 3 ตัว แต่ละตัวถ้าเปรียบ Andrei Rublev เขาคืออัจฉริยะด้านการวาดภาพ ตัวละครที่ 2 Daniel Chorny นำแสดงโดย Nikolai Grinko นี่เป็นตัวละครที่ฝีมือกลางๆ แต่มีนิสัยที่ไม่สนใจอะไรเป็นพิเศษ ไม่ซีเรียสกับชีวิต (เขาเป็นคนที่นอนหลับในตอน Jetster) และ Kirill นำแสดงโดย Ivan Lapikov ศิลปินที่ไม่ได้มีฝีมือโดดเด่นอะไรเลย เขาเป็นคนขี้อิจฉาด้วยซ้ำ (เราจะเข้าใจนิสัยขึ้อิจฉาของเขาเมื่อดูเรื่องที่ 2) และเรามารู้ตอนหลังว่า คนที่แจ้งจับ Jester คือ Kirill นี่นับเป็นหนังเรื่องแรก ฉายต่อจาก Prologue ตอนนี้ผมเชื่อว่าไม่มีใครเข้าใจครับว่ามันคือเรื่องอะไร มีความสำคัญอะไร แต่หนังจะเฉลยทุกสิ่งทุกอย่างในตอนหลังว่ามันคือการแนะนำที่มาที่ไปของแต่ละตัวละคร และ jetster ผมถือว่าเซอร์ไพรส์มากๆ ที่ไปโผล่ตอนท้ายเรื่องด้วย เขาเป็นคนเฉลยทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นของเรื่องแรก
ข้ามไปเรื่องที่ 4 เลยนะครับ นี่เป็นตอนที่ทำให้ผมเริ่มฉุกคิดว่าชื่อตอนที่ขึ้นมาแต่ละช่วง มันอาจจะหมายถึง ชื่อภาพวาดของ Andrei Rublev ชื่อตอนนี้คือ The Feast ใน Wiki ใช้คำว่า pagans ในหนังใช้คำว่า witch ซึ่งผมก็พอเข้าใจความหมายว่าน่าจะเป็นพวกนอกรีต แนวคิดของศาสนาในสมัยนั้นมีอะไรแปลกๆเยอะครับ เช่นว่า คนที่ออกนอกบ้านโดยไม่ใส่อะไรติดตัวเลย คือคนบ้า Andrei Rublev ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ด้วยความสนใจอยากรู้อยากเห็น ก็แอบเข้าไปดู แต่เขาโดนคนพวกนี้จับได้ว่า จึงถูกจับมัดไว้ และถูกปล่อยตัวหลังจากได้รับการจุมพิตจากหญิงสาวคนหนึ่ง ตอนนี้ตั้งคำถามกับความเชื่อได้ดีมากๆ ผมไม่รู้ว่าทำไมชาวคริสต์ถึงมองว่าการไม่ใส่เสื้อผ้าเป็นเรื่องที่น่าอับอาย แต่พุทธเราสอนว่าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเป็นของภายนอก ที่ใส่ก็เพื่อปกปิดส่วนที่จะทำให้คนอื่นเห็นแล้วเกิดอารมณ์ จุดที่ผมจับทางหนังได้ในตอนนี้ คงเพราะเป็นตอนที่มีเรื่องราวชัดเจน จับต้องได้ เข้าใจได้ การแสดงออกทางสีหน้าของ Anatoly Solonitsyn (ที่เล่นเป็น Andrei Rublev) ยอดเยี่ยมมากๆ ตอนที่เขารู้สึกอับอายกับสิ่งที่เกิดขึ้น มันทำให้เรารู้สึกว่าเขาเป็นตัวละครที่มีความเชื่อต่อพระเจ้าที่หนักแน่นมากๆ รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ (ในความเชื่อของเขา)
เรื่องที่ 5 เป็นตอนที่ตอกย้ำความคิดของผมว่าอาจจะมาในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ชื่อ The Last Judgment คือ Andrei Rublev ต้องวาดรูป The Last Judgement ให้กับโบสถ์แห่งหนึ่ง แต่เขาไม่สามารถวาดได้ เพราะภาพ The Last Judgement นั้นมีความรุนแรง คนเห็นแล้วเกิดความหวาดกลัว เขาไม่อยากวาดภาพที่ทำให้คนหวาดกลัว ใช่เลยครับ ณ จุดนี้ เราจะเริ่มเข้าใจแล้วว่า เรื่องราวแต่ละตอนของหนังเรื่องนี้ คือการเล่าเหตุการณ์ เรื่องราวกว่าจะเกิดภาพวาด แรงบันดาลใจของ Andrei Rublev เราจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างเขากับตัวละครอื่นๆ ความเชื่อและแนวคิดทางศาสนาที่มีอิทธิพลต่อการวาดรูปต่างๆ ตอนนี้มีการอธิบายหลายๆอย่างที่ชัดเจนมากขึ้น จบเรื่องนี้เคือจบครึ่งแรกของหนัง
ความยิ่งใหญ่เกิดขึ้นหลังจากนี้ ผมสังเกตหนังไม่ทำให้เราเห็นตัวละคร Andrei Rublev วาดรูปเลยนะครับ เรื่อง 5 นี่กำลังจะวาด พอแต่เรื่องที่ 6 ภาพวาดเสร็จแล้ว และหนังไม่ใช่มุมมองของ Rublev ในการเล่าเรื่องเลย เราจะเห็นชัดในครึ่งหลัง การเล่าเรื่องผ่านมุมมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบๆตัว Andrei Rublev อย่าง เรื่องที่ 5 เริ่มต้นด้วย ฉากต่อสู้ สงคราม เมื่อฉากทรมานจบลงเราถึงจะเห็นผลกระทบสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละคร ซึ่งกลายเป็นอิทธิพลส่งผลต่อ Andrei Rublev ผมรู้สึกว่านี่เป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมมากๆ มีคำพูดว่า “สิ่งรอบข้างเป็นตัวกำหนดการใช้ชีวิตของตัวเรา” จุดนี้ในหนังชัดเจนมากๆ
เรื่องที่ 6 ที่ ฉากสงครามเราจะได้เห็นฟันกันแบบจริงๆจัง ฉากทรมานนี่ไม่หลบมุมกล้องเลยเห็นว่าหนังโดนแบนในรัสเซียด้วย คงเพราะหลายฉากในตอนนี้ที่มีความรุนแรงอย่างมาก จุดจบของเรื่องที่ 6 เป็นอะไรที่น่าสนใจมากครับ เป็นที่มาของชื่อเรื่องที่ 7 “Silent” ซึ่งลากไปถึงตอนที่ 8 การกระทำของ Andrei Rublev มองได้ว่าการกระทำเพื่อชดใช้ความผิด ผมเรียกว่า การตั้งมั่นเพื่อเอาชนะใจตนเอง ในหนังมีตัวละครหญิงตัวหนึ่งที่ไม่มีเสียงพูด คิดว่าเธอคงพูดไม่ได้ การพูดไม่ได้มีความหมายของการไม่มีสิทธิ์ ไม่มีเสียงในสังคม ตอนที่ 7 Andrei Rubrev เลือกที่จะปฏิญาณไม่พูด แต่เขากลับไม่สามารถห้ามหญิงสาวคนที่ไม่มีเสียงพูดให้อยู่กับเขาได้ ทั้งๆที่เขาช่วยชีวิตเธอไว้แท้ๆ แต่เธอกลับเหมือนไม่เห็นบุญคุณ ผมไม่คิดเช่นนั้นนะครับ คนสมัยก่อนมักจะมองว่าตัวเองเป็นเจ้าของคนอื่น Andrei มองหญิงคนนี้เหมือนตัวเองเป็นเจ้าของเธอ แต่เธอไม่คิดเช่นนั้น เธอมีตัวตน มีจิตวิญญาณ แม้จะพูดไม่ได้ แต่เธอก็มีความต้องการเป็นของตัวเอง เธอมีสิทธิ์ที่จะเลือก สิทธิ์ที่จะทำในสิ่งที่เธอต้องการ ไม่มีใครมาห้ามเธอได้ ไม่ว่านั่นจะเป็นสิ่งดีหรือไม่ดี มันล้อกับเรื่องตอนที่ 5 ที่ Andrei ไม่อยากวาดรูป The Last Judgement คนอื่นพยายามขอร้อง บังคับ แต่เขาก็ไม่ยอมวาด(แต่สุดท้ายเขาก็วาดนะครับ)
เรื่องที่ 8 ผมเอ่ยไปแล้ว นั่นเป็นตอนที่ผมชอบที่สุดด้วย แต่ยังมีอีกไฮไลท์หนึ่งเกิดขึ้นหลังจากจบเรื่องที่ 8 หนังได้ทำอะไรที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน นี่เป็นหนังขาวดำทั้งเรื่อง แต่กับ epilogue หนังเปลี่ยนเป็นภาพสี นำเสนอภาพวาด ที่เป็นผลงานของ Andrei Rubrev โอ้! คิดได้ไง สุดยอดเลย กล้องค่อยๆเคลื่อนขึ้นลง เลื่อนเข้าเลื่อนออก ภาพเหล่านี้กี่ร้อยปีแล้วเนี่ย ผมนึกถึงภาพวาดตามวัด ตามโบสถ์ไทยเก่าๆ สมัยรัชกาล 1-2-3 ที่เก่ามากๆและเหลืออยู่ไม่มากแล้ว มันคือภาพที่มีค่าทางประวัติศาสตร์ ผมไม่รู้จัก Andrei Rubrev แต่หนังเรื่องนี้ทำให้ผมเข้าใจตัวตนของ Andrei Rubrev มากๆ รู้จักผลงาน เข้าใจความสวยงามของผลงานของเขา แต่กระนั่นใช่ว่าผมจะชื่นชอบผลงานของเขานะครับ ผมเห็นรูปแล้ว รู้สึกว่ามันประหลาดอ่ะ มนุษย์ในภาพวาดมันดูไม่สมส่วนเอาเสียเลย ดูแล้วหลอนๆ น่ากลัวยังไงพิลึก ไม่รู้เหมือนกันนะว่าคนที่ชอบผลงานของ Andrei Rubrev จะรู้สึกอย่างไง แต่ก็ยอมรับว่าเป็นงานศิลปะที่โดดเด่นมากทีเดียว
ถ่ายภาพหนังโดย Vadim Yusov นี่เป็นหนังที่ใน 1 การถ่ายภาพ มักจะมี 2 เรื่องราวเกิดขึ้นในฉากนั้น ผมเห็นชัดเจนมากๆตอน Jetster เรื่องแรกเลย ตอนที่ Jetster โดนจับ ขณะที่ 3 พระเดินอยู่ฝั่งหนึ่งของริมแม่น้ำ กล้องค่อยๆเลื่อนตาม และด้านหลังไกลๆอีกฝั่งหนึ่ง เราจะเห็นทหารที่กำลังลากคอ Jetster เพื่อไปรับโทษ ทั้งสองเหตุการณ์กำลังเดินไปพร้อมกัน นี่เป็นฉากที่สวยงามมากๆเลยละครับ เราจะเห็นคล้ายๆกันนี้ในเรื่องที่ 5 ที่ฝั่งหนึ่งเป็นทหารของกลุ่มหนึ่ง อีกฝั่งเป็นทหารของอีกกลุ่มหนึ่ง
เพลงประกอบที่ครึ่งแรกแทบไม่ได้ยิน ไปถูกยัดใส่ครึ่งหลังหมดแล้ว ประพันธ์โดย Vyacheslav Ovchinnikov ตอน epilogue ผมชอบมากๆ เป็น Orchrestra ที่ทรงพลังสุดๆ เหมือนเราฟังเพลงคลาสสิคแล้วดูงานศิลปะอยู่ด้วย ความรู้สึกต่อหนังทั้งเรื่องของผมก็เป็นคล้ายๆกันนี้ เพลงประกอบที่ฟังแล้วรู้สึกเหมือนกำลังดูงานศิลปะที่สุดสวยงามอยู่ ผมเอาคลิปตอนจบมาให้ดู ฟังแล้วรู้สึกยังไงกันบ้างเอ่ย
คุณเห็นม้านั่นไหม มีม้าในทุกเรื่องของ Andrei Rubrev ครับ ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องที่เป็นบอลลูน ตอนผมดูก็คิดไม่ถึงว่ามันจะเป็นบอลลูนนะ นึกว่าเป็นการทดลองอะไรบางอย่าง แต่มันคือบอลลูนนะแหละ ผู้คนมากมายกำลังกีดขวางไม่ให้บอลลูนลอยขึ้น แต่เมื่อบอลลูนลอยขึ้นได้แล้ว มันก็ต้องตก หนังใช้การถ่ายภาพซูมเข้าอย่างรวดเร็ว ดูรู้ว่าหนังบอกว่าตก และตัดไปม้าตัวหนึ่งล้มลง (นี่แปลว่าคนที่ขึ้นบอลลูนน่าจะตกลงมาตาย) เพราะม้าเป็นสัญลักษณ์ของชีวิต เมื่อเราแทนทุกฉากที่ใช้ม้าเป็นตัวประกอบ อย่างฉากสงครามในเรื่องที่ 5 ที่มีม้าเต็มไปหมด เราจะแทนม้าทั้งหมดเปรียบเหมือนผู้คนเลยก็ได้ มีฉากหนึ่งที่ม้าต้องเดินลงบันได และตกลงมา สูงทีเดียว ไม่รู้ม้าจะขาหักหรือเปล่า นี่ก็แสดงถึงชีวิตที่ตกต่ำและสิ้นสุดลง ต่อจากฉากนี้ไม่นานสงครามก็จบ
นี่เป็นหนังอีกเรื่องที่ผมเพิ่งดูจบเมื่อวานสดๆร้อนๆ แล้วรู้สึกว่าต้องมาเขียนระบาย มาแย่งหนังอีกเรื่องที่ผมตั้งใจจะเขียนวันนี้ Andrei Rublev เป็นหนังที่ดูจบแล้วผมอยากพูดถึงมันในทันทีเลย เพราะกว่าจะดูจบ ความทุกข์ปนความสุขมันเกิดขึ้นมา นี่น่าจะเป็นหนังเรื่องแรกๆเลยที่ทำให้ผมรู้สึกหลงรักและเกลียดชังมันในการดูครั้งแรก แต่เชื่อว่าถ้าได้ดูครั้งต่อไป ความเกลียดชังจะค่อยๆจางหายไป เพราะผมเห็นแล้วว่าหนังเรื่องนี้มันสวยงามและยิ่งใหญ่เกินไป หนังไม่ได้มีอะไรที่ยากเกินเข้าใจ เพียงแต่คุณต้องผ่านประสบการณ์อันสุดแสนทรมานจากการดูครั้งแรกให้จบให้ได้เสียก่อน ซึ่งเมื่อมันผ่านไปแล้ว ที่เหลือของหนังเรื่องนี้คือความสุดยอดอันคาดไม่ถึง
ผมแนะนำหนังเรื่องนี้ให้กับคนทุกคนเลยนะครับ กับคนสมัยนี้ก็เช่นกัน เพราะหนังมีความท้าทายมากๆ ผมอยากจะท้าคนที่ถอดใจจากครึ่งชั่วโมงแรก ให้อดทนดูจนจบ เชื่อว่าไม่มีใครที่จะรู้สึกผิดหวังกับหนังเรื่องนี้แน่ๆ ไม่แน่ว่าคุณอาจจะหลงรักจนกลายเป็นหนังโปรดเรื่องถัดไปเลยก็ว่าได้ แต่หนังแนะนำไว้ที่อายุ 15+ ตรงฉากรุนแรงนะครับ นอกนั้นโอเคเลย นี่เป็นหนังที่ผมการันตีว่า “ห้ามตายถ้ายังไม่ได้ดู”
คำโปรย : “ใครดูหนังเรื่องนี้ไม่จบถือว่าพลาดแล้ว Andrei Rublev ความสวยงามบนความยิ่งใหญ่อลังการ ไม่มีหนังเรื่องไหนที่ทำให้คุณทั้งเกลียดและหลงรักได้ในเรื่องเดียวกัน แต่ Andrei Tarkovsky ผู้กำกับชาวรัสเซียคนนี้ทำได้”
คุณภาพ : LEGENDARY
ความชอบ : LOVE
[…] Andrei Rublev (1966) : Andrei Tarkovsky ♠♠♠♠♠ […]
[…] Andrei Rublev (1966) : Andrei Tarkovsky ♥♥♥♥♡ […]