Ali: Fear Eats the Soul (1974) : Rainer Werner Fassbinder ♥♥♥♥♡
ความรักที่ใครๆต่างบอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่มีอะไรในโลกนี้ที่เป็นไปไม่ได้! Ali: Fear Eats the Soul คือภาพยนตร์ระดับ Masterpiece นำเสนอความหวาดสะพรึงกลัวที่ค่อยๆกัดกร่อนทำลายจิตวิญญาณ ถ้าเรามัวสนแต่รับฟังเรื่องร้ายๆจากขี้ปาก สายตา และการกระทำของผู่อื่น, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
Neuer Deutscher Film หรือ New German Cinema คือยุคสมัยหนึ่งของวงการภาพยนตร์เยอรมัน (เหมารวมทั้งตะวันออก-ตะวันตก) เริ่มต้นปลายทศวรรษ 60s สิ้นสุด 80s ลักษณะคล้ายๆ French New Wave และ New Hollywood เป็นช่วงเวลาการมาถึงของผู้กำกับรุ่นใหม่ ใช้ทุนสร้างต่ำ ถ่ายทำนอกสถานที่ มีความรวดเร็วฉับไว โดยศูนย์กลางตาพายุประกอบด้วย Werner Herzog, Wim Wenders และ Rainer Werner Fassbinder (จริงๆยังมีอีกหลายคนที่ดังๆ Volker Schlöndorff, Wolfgang Petersen, Margarethe von Trotta ฯลฯ แต่สามคนนั้นคือ Top 3 ได้รับการยกย่องจดจำระดับตำนาน!)
โดยปกติแล้วผมไม่ค่อยชื่นชอบหนังประเภทดูถูกเหยียดหยาม ‘Racism’ แต่เรื่องนี้ได้สร้างพื้นที่สุดพิเศษขึ้นในหัวใจ โดยเฉพาะไดเรคชั่นของ Rainer Werner Fassbinder บีบบังคับผู้ชมสัมผัสถึงความน่าหวาดสะพรึงกลัว โลกทัศน์ชาวเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (และต่อ Fassbinder เองด้วย) เก็บกดอารมณ์เกรี้ยวโกรธ ไม่สามารถโอดครวญแสดงความรวดร้าวให้ใครพบเห็น
นักวิจารณ์ส่วนใหญ่จะยกย่อง Ali: Fear Eats the Soul (1974) มากกว่า All That Heaven Allows (1955) ผมเองก็เลือกยากเพราะต่างมีความชื่นชอบหลงใหลที่แตกต่างกัน
- Ali: Fear Eats the Soul (1974) มีความแตกต่างระหว่างคู่รักที่สุดโต่ง สร้างสภาพแวดล้อมรอบข้างได้อย่างน่าหวาดสะพรึงกลัว ในระดับสามารถกัดกร่อนทำลายจิตวิญญาณ
- All That Heaven Allows (1955) ด้วยสีสันที่มีความสดใส สร้างบรรยากาศผ่อนคลาย เพลิดเพลินในการรับชม และมีความคลาสสิกกว่า
หลายคนน่าจะคาดเดาไม่ยากว่า Ali: Fear Eats the Soul (1974) คือเรื่องราวกึ่งๆอัตชีวประวัติของผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder สถานะของเขาขณะนั้นคล้ายๆตัวละคร Eugen (ที่เจ้าตัวเล่นรับเชิญ Cameo) มีแฟนสาว Irm Hermann (รับบท Krista ภรรยาของ Eugen) และคู่ขา Ali (รับบทโดย El Hedi ben Salem) เพราะสังคมเยอรมันสมัยนั้นยังไม่สามารถยินยอมรับ HomoBisexual ทั้งยังแรงงานต่างด้าว (ประเด็นดูถูกเหยียดหยาม Racism) เพิ่มเติมคือระยะห่างอายุ (โคแก่กินย่าอ่อน) เรียกว่าจับประเด็นสังคมที่ความอ่อนไหว ท้าทายขนบกฎกรอบอย่างไม่เกรงกลัวสิ่งใด
ไฮไลท์ของหนังต้องยกให้ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Fassbinder โดยเฉพาะวิธีสร้างสภาพแวดล้อมด้วยระยะห่าง พื้นที่ว่าง ตัวประกอบต่างยืนสงบนิ่ง หันมาจับจ้องมองด้วยสายตาถมึงทึง จี้แทงใจดำผู้ชมถึงทรวงใน … สามารถมองเป็น Black Comedy หัวเราะหึๆแต่ไม่อาจส่งเสียงอะไรออกมา
R. W. Fassbinder หรือ Rainer Werner Fassbinder (1945-82) นักแสดง ผู้กำกับ สัญชาติเยอรมัน เกิดที่ Bad Wörishofen, Bavaria เพียงสามสัปดาห์หลังจากนาซี ประกาศยอมพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง, บิดาเป็นแพทย์ที่มีความหลงใหลในการเขียนบทกวี ส่วนมารดาทำงานล่ามแปลภาษา (German <> English) ครอบครัวหย่าร้างเมื่อเขาอายุได้หกขวบ อาศัยอยู่กับแม่ที่มักส่งบุตรชายไปดูหนังเพื่อไม่ให้รบกวนเวลาทำงาน (และกุ๊กกิ๊กกับคนรักใหม่) นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ Fassbinder ชื่นชอบหลงใหลภาพยนตร์ และค้นว่าตนเองมีรสนิยม Bisexual (ได้ทั้งชายและหญิง)
ช่วงวัยรุ่นถูกส่งไปโรงเรียนประจำ แต่พยายามหลบหนีหลายครั้ง จนบิดาต้องพามาอาศัยอยู่ด้วยกัน กลางวันช่วยทำงานหาเงิน กลางคืนร่ำเรียนหนังสือ และค้นพบความหลงใหลในการเขียนบทกวี ละคร เรื่องสั้น (จากอิทธิพลของบิดา), พออายุ 18 มุ่งหน้าสู่ Munich เข้าเรียนการแสดงยัง Fridl-Leonhard Studio ทำให้พบเจอว่าที่(นักแสดง)ขาประจำ Hanna Schygulla ระหว่างนั้นก็ได้ทำงานผู้ช่วยผู้กำกับ บันทึกเสียง Sound Man เขียนบทละคร สร้างหนังสั้น เคยยืนใบสมัคร Berlin Film School แต่ได้รับการบอกปัดปฏิเสธ, กระทั่งเมื่อปี 1967 มีโอกาสเข้าร่วม Munich Action-Theater ได้เป็นทั้งนักแสดง เขียนบท ผู้กำกับ ไม่นานก็ประสบความสำเร็จ จนสามารถก้าวสู่วงการภาพยนตร์เรื่องแรก Love Is Colder Than Death (1969), ผลงานเด่นๆ อาทิ Ali: Fear Eats the Soul (1974), The Marriage of Maria Braun (1979), Berlin Alexanderplatz (1980), Veronika Voss (1982) ฯ
ช่วงต้นทศวรรษ 70s, ผู้กำกับ Fassbinder เพิ่งมีโอกาสค้นพบ/รับชมผลงานของ Douglas Sirk เรื่อง All That Heaven Allows (1955) และ Imitation of Life (1959) บังเกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ ค่อยปรับเปลี่ยนแนวทางสรรค์สร้างภาพยนตร์ของตนเอง ครุ่นคิดพัฒนาบท Ali: Fear Eats the Soul โดยนำแรงบันดาลใจเรื่องเล่าจากภาพยนตร์(ผลงานก่อนๆ) The American Soldier (1970) แม่บ้านโรงแรมแห่งหนึ่ง (รับบทโดย Margarethe von Trotta) กล่าวถึงเพื่อนพนักงานทำความสะอาดชื่อ Emmi พบเจอตกหลุมรัก และแต่งงานกับ Ali แรงงานต่างด้าวชาว Turkish
สำหรับ Ali: Fear Eats the Soul เป็นผลงานสร้างขึ้นระหว่าง Martha (1974) และ Effi Briest (1974) ด้วยระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์ ปรับเปลี่ยนแปลงรายละเอียดจากเดิมเล็กน้อย อาทิ พื้นหลัง Hamburg มาเป็น Munich, ส่วน Ali กลายเป็นคนผิวสีชาว Moroccan (เพื่อให้คู่ขาขณะนั้น El Hedi ben Salem รับบทแสดงนำ) และเพิ่มเติมช่องว่างระหว่างอายุของพวกเขา (หญิงสูงวัย-ชายหนุ่มหล่อ)
เรื่องราวของ Emmi Kurowski (รับบทโดย Brigitte Mira) สาวหม้ายวัย 60 ปี จับพลัดจับพลูเดินเข้าบาร์แห่งหนึ่ง Asphalt Bar พบเจอชายผิวสี Ali (รับบทโดย El Hedi ben Salem) เชื้อสาย Moroccan เข้ามาพูดคุย ทักทาย เกี้ยวพาราสี จบที่ห้อง ร่วมรักหลับนอน และวันถัดมาตกลงปลงใจแต่งงาน นั่นสร้างความหวาดหวั่น สะพรึงกลัว ถูกทุกคนรอบข้างปฏิเสธต่อต้าน ลูกๆของเธอเอง เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน ผู้คนในสังคมต่างมีสายตาอันดูถูกเหยียดหยาม ซุบซิบนินทา ต่อว่ากระทำสิ่งไม่น่าอภิรมณ์ใจ
นำแสดงโดย Brigitte Mira (1910 – 2005) นักแสดงสัญชาติเยอรมัน เกิดที่ Hamburg, Weimar Republic บิดาเป็นนักเปียโนชาวรัสเซีย เชื้อสาย Jewish โตขึ้นมุ่งสู่กรุง Munich เริ่มจากเป็นนักเต้นบัลเล่ต์ แสดงละครเวที ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเอาตัวรอดด้วยการปกปิดชาติกำเนิด แสดงหนังชวนเชื่อให้กับนาซี สามารถสู่วงการภาพยนตร์เต็มตัวช่วงทศวรรษ 50s สนิทสนมเป็นขาประจำของ Fassbinder ผลงานเด่นๆ อาทิ Ali: Fear Eats the Soul (1974), Berlin Alexanderplatz (1980) ฯ
รับบท Emmi Kurowski แม่หม้ายลูกสามเชื้อสายโปแลนด์ ปัจจุบันประกอบอาชีพแม่บ้าน พนักงานทำความสะอาด ใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวลำพัง ลูกๆต่างเติบใหญ่แยกย้ายออกจากบ้าน, วันหนึ่งเข้าไปหลบฝนยัง Asphalt Bar โดยไม่รู้ตัวถูกเกี้ยวพา ตกหลุมรัก Ali โดยมิใคร่สนใจความแตกต่างเรื่องอายุ ชาติพันธุ์ สีผิว แต่กลับถูกเสียงครหานินทาจากทุกผู้คนรอบข้าง จนสร้างความหวาดหวั่นสะพรึงกลัวขึ้นในจิตใจ
ภาพลักษณ์ของ Mira ก็อาจสร้างอคติให้ใครหลายคน ยัยแก่หน้าตาเหี่ยวย่น รูปร่างอ้วนป้อม ไม่มีความงดงามน่ามองเลยสักนิด กลับมีชายหนุ่มหล่อ ล่ำบึก อวัยวะเพศใหญ่ ตกหลุมร่วมรัก มันจะเป็นไปได้ยังไง! ใครรู้สึกขยะแขยง รังเกียจ รับไม่ได้ ให้ค่อยๆหายใจเข้าลึกๆแล้วผ่อนออกช้าๆ จากนั้นลองปรับทัศนคติตนเอง เรื่องราวความรักเป็นสิ่งไม่เข้าใครออกใคร ทำไมเราต้องไปต่อต้าน สอดรู้สอดเห็น ‘มันเรื่องพวกเขา คุณจะมาเสือกทำไม’ โลกยุคสมัยนี้ไม่กีดกันเรื่องพรรค์นี้อีกต่อไปแล้วนะครับ ชาย-ชาย หญิง-หญิง หนูตกถังข้าวสาร โคแก่กินหญ้าอ่อน ขอเพียงแค่บรรลุนิติภาวะ ไม่ใช่กำลังหรือกระทำผิดกฎหมาย ถ้าอีกฝั่งฝ่ายยินยอมพร้อมใจ หมู-หมา-กา-ไก่ ก็ตามสบายเลยเถอะ
ผมละอยากเห็นคุณย่า Mira เมื่อครั้นยังสวยสาว น่าจะเป็นนักแสดงที่มากความสามารถคนหนึ่ง แต่เธอเข้าสู่วงการภาพยนตร์ช่วงทศวรรษ 50s เมื่ออายุขึ้นเลขสี่แล้ว, สำหรับบทบาท Emmi ถือว่ามีความซับซ้อนมากๆ แม้การแสดงออกภายนอกเหมือนไม่ค่อยมีอะไรให้พูดถึง แต่ความหวาดสะพรึงกลัวจากปฏิกิริยาผู้คนรอบข้าง จักค่อยๆกัดกร่อนกิน ทำลายจิตวิญญาณ ทุกครั้งที่ร่ำไห้ แม้มองไม่เห็นคราบน้ำตา (เพราะถ่ายจากระยะไกล) แต่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวด รวดระทม สงสารเห็นใจ (ถ้าคุณสามารถก้าวข้ามอคติเรื่องรูปร่างหน้าตา และยินยอมรับความรักของเธอได้เท่านั้นนะครับ)
แซว: ผมละชอบแฟชั่นของคุณย่าจริงๆ ภายนอกดูสงบเสงี่ยมเรียบร้อย แต่พอถอดเสื้อโค้ทพบเห็นชุดลวดลายแอ็ปสแต็ก ทำตัวราวกับวัยสะรุ่น โหยหาสิ่งสามารถตอบสนองตัณหา ความพึงพอใจ ทั้งยังภาพวาดงานศิลปะในอพาร์ทเม้นท์ เธอมักนั่งอยู่เคียงข้างทะเล เกลียวคลื่นสาดกระเซ็นเข้าฝั่ง (สื่อถึงจิตใจที่เต็มไปด้วยความครึกครื้นเครง โหยหาฝั่งฝัน ใครบางคนสำหรับพึ่งพักพิง)
El Hedi ben Salem ชื่อเต็ม El Hedi ben Salem m’Barek Mohammed Mustafa (1935 – 1977) นักแสดงเชื้อสาย Moroccan อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ใกล้กับ Atlas Mountains, เมื่อตอนอายุ 15 ปี ถูกบังคับให้แต่งงานภรรยาอายุ 13 ปี มีบุตรร่วมกัน 5 คน แต่พอต้นทศวรรษ 70s ตัดสินใจทอดทิ้งภรรยาและลูกๆ ออกเดินทางมุ่งสู่ยุโรป พบเจอผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder ณ Gay Bathhouse แห่งหนึ่งในกรุงปารีส สานสัมพันธ์ ตกหลุมรัก กลายเป็นคู่ขา ติดตามย้ายมาสู่เยอรมัน กลายเป็นนักแสดง Ali: Fear Eats the Soul (1974)
รับบท Ali ชายผิวสีเชื้อสาย Moroccan ลูกจ้างร้านซ่อมรถ เวลาว่างหลังเลิกงานมักเดินทางไปดื่มกินสนุกสนานกับพรรคพวกที่บาร์แห่งหนึ่ง กระทั่งพบเจอ Emmi Kurowski ทีแรกก็ไม่ได้ครุ่นคิดอะไร กระทั่งถูกท้าทายให้ชักชวนเธอเต้น พูดคุยจนเกิดความสนิทสนม ไปกันต่อถึงที่ห้อง เพราะความโดดเดี่ยว เหงาหงอย และใช้ความกล้าสักหน่อย ทำในสิ่งไม่มีใครคาดคิดถึง
Ali เป็นคนพูดประโยค Angst essen Seele auf ให้กับ Emmi ถ้ารักกันจริงก็ไม่มีอะไรต้องหวาดหวั่นกลัว แต่ครึ่งหลังกลับกลายเป็นเขาเองที่เต็มไปด้วยอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว ไม่พึงพอใจ หนีออกจากบ้านไปร่วมรักเพื่อนสาวเจ้าของบาร์ ดื่มเหล้า เล่นพนันหมดตัว เครียดหนักจนล้มป่วยโรคแผลในกระเพาะ … ความหวาดกลัวกัดกร่อนกินกระเพาะอาหาร/จิตวิญญาณของเขาไปซะงั้น!
บทบาทของ Salem ไม่ได้มีความโดดเด่นด้านการแสดงอะไรมากมาย แค่ภาพลักษณ์ผิวสี ร่างกายบึกบึน กล้ามใหญ่ อวัยวะเพศล่ำ (ผมว่า Fassbinder จงใจมากๆในการถ่ายไอ้จ้อนของ Salem เพื่อให้ผู้ชมเกิดความชัดเจนถึงความเป็น ‘ยอดชาย’) ได้อภิสิทธิ์สามีผู้กำกับ ส่งให้โด่งดังกลายเป็นตำนานโดยไม่รู้ตัว
ความสัมพันธ์ระหว่าง Fassbinder กับ Salem มีความลึกซึ้ง รักมาก แต่เพราะสังคมสมัยนั้นยังยินยอมรับพวกเขาไม่ได้ ส่งผลให้ต่างดื่มหนัก เสพยา อารมณ์ฉุนเฉียว เมื่อตอนเลิกราทำให้ Salem ใช้มีดทิ่มแทงทำร้ายผู้อื่น ถูกจับติดคุก แขวนคอฆ่าตัวตายเมื่อปี 1977 หลายปีถัดมาเมื่อทราบถึง Fassbinder สร้างภาพยนตร์(เรื่องสุดท้าย)อุทิศให้ Querelle (1982)
แซว: ภาพวาดด้านหลัง Ali นอกจากม้าที่กำลังคึกคะนอง (ครุ่นคิดต่อแบบเสื่อมๆเอาเองนะครับ) เขายังเป็นตัวแทนของบุคคลสามารถพึ่งพักพิง เป็นที่อยู่อาศัยของ Emmi เมื่ออยู่ร่วมกันในบ้านหลังนี้ จักสร้างความอบอุ่ม กระชุ่มกระชวย ทำให้เธอกลับมาเป็นสาวอีกครั้ง
ถ่ายภาพโดย Jürgen Jürges (เกิดปี 1940) สัญชาติเยอรมัน หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนสอนถ่ายภาพ เริ่มต้นเด็กฝึกงานสตูดิโอ ‘art film GmbH’ จากนั้นได้เป็นผู้ช่วยตากล้อง Young Törless (1965), กระทั่งได้ร่วมงานผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder เรื่อง Ali: Fear Eats the Soul (1974), ผลงานเด่นๆ อาทิ Faraway, So Close! (1993), Sawdust Tales (1997), Funny Games (1997), Shadows of Time (2004), DAU. Natasha (2020) ** ควัารางวัล Silver Berlin Bear: Outstanding Artistic Contribution
ไดเรคชั่นของ Fassbinder มีความรวดเร็ว แม่นยำ ไม่มีการซักซ้อม เทคเดียวผ่าน เพราะสนิทสนมเชื่อมั่นต่อนักแสดงในสังกัด (Stock Company) ส่วนใหญ่ก็มาจากคณะละครเวทีที่เคยร่วมงานกันมานาน และด้วยความเข้าใจในเทคนิค ลูกเล่น ภาษาภาพยนตร์อย่างถ่องแท้ (แม้ไม่เคยร่ำเรียนจากแห่งหนไหน) ถ่ายทำจากสถานที่จริงทั้งหมด ทำให้ปีๆหนึ่งสามารถสรรค์สร้างผลงาน 4-5 เรื่อง ด้วยทุนสร้างต่ำมากๆ
สิ่งโดดเด่นมากๆคือการเว้นพื้นที่ ระยะห่าง โดยเฉพาะระหว่างตัวละครพูดคุยสนทนา ถ้าด้วยความเบิกบาน เต็มไปด้วยรอยยิ้ม มุมกล้องจะค่อนข้างชิดใกล้ Medium Shot หรือ Close-Up ทำให้เห็นสีหน้า ปฏิกิริยา รับรู้สึกถึงอารมณ์แสดงออกมา แต่เมื่อไหร่ที่มีความอึดอัดอั้น เศร้าโศกเสียใจมักพบเห็นมุมกล้องระยะไกล Long Shot หรือ Extreme-Long Shot แค่ได้ยินเสียงสะอื้น หรือคำพูดบอกว่าอย่าร่ำไห้ โดยไม่รู้ตัวผู้ชมกลับเอ่อล้นด้วยความรู้สึกบางอย่าง
หนังปักหลักถ่ายทำในกรุง Munich โดยสองสถานที่ถ่ายทำหลักๆ ประกอบด้วย
- Asphalt Bar ปัจจุบันกลายเป็นร้านพิซซ่า L’Angolo Della Pizza, Breisacher Straße 30
- ร้านอาหาร Osteria Italiana ตั้งอยู่ Schellingstraße 62 (ร้านโปรดของ Adolf Hitler) ปัจจุบันยังคงเปิดให้บริการอยู่นะครับ
ตั้งแต่ Opening Credit เสียงบทเพลงที่ดังขึ้น(อาจ)สร้างความฉงนสงสัย ทำไมหนังเยอรมันกลับเปิดเพลงแนวอาหรับ บางคนไม่เคยได้ยินมาก่อนด้วยซ้ำในชีวิต ซึ่งช็อตแรกที่ Emmi เปิดประตูเข้ามาในบาร์แห่งนี้ ถ่ายจากระยะไกล (แสดงถึงความไม่คุ้นเคย แปลกแยก เพิ่งเข้ามาในร้านครั้งแรก) โต๊ะว่างเปล่า (ไม่ใช่ว่าไม่มีลูกค้านะครับ แต่ต้องการสร้างบรรยากาศโดดเดี่ยว ลำพังให้ตัวละคร) พบเห็นตู้กดเพลงอยู่ข้างๆ (แต่เชื่อว่าสายตาผู้ชม มักจับจ้องมองตรงประตูเป็นส่วนใหญ่)
ช็อตสองถ่ายมุมมองย้อนกลับมา (จากสายตาของ Emmi) พบเห็นทุกคนในบาร์ยืนแน่นิ่ง ตาไม่กระพริบ ร่างกายไม่ขยับเคลื่อนไหวติง ‘stillness’ แต่จ้องมองเธอด้วยความใคร่ฉงนสงสัย นั่นดูเสียมารยาทมากๆ สร้างความกระอักกระอ่วน กระวนกระวาย นี่ฉันทำผิดอะไรถึงถูกใครต่อใครจับจ้องด้วยสายตาเช่นนั้น … นี่คือไดเรคชั่นของผู้กำกับ Fassbinder ที่ได้รับคำกล่าวขวัญอย่างมาก ใช้ตัวประกอบสร้างบรรยากาศ/สภาพแวดล้อมให้หนัง เพื่อผู้ชมบังเกิดอารมณ์ร่วมไปกับตัวละคร
ส่วนภาพวาดฝาผนังบนเพดาน พบเห็นผืนน้ำ ชายหาด และภูเขา น่าจะเป็นการสะท้อนถึงความเพ้อฝัน ดื่มเบียร์เหล้ายังบาร์แห่งนี้ ย่อมสามารถจินตนาการ ล่องลอยไปถึงสรวงสวรรค์!
ผู้กำกับ Fassbinder ดูจะชื่นชอบภาพวาด ผลงานศิลปะมากๆ ภาพด้านหลังของ Emmi ให้ความรู้สึกละม้ายคล้ายผลงานของ Paul Gauguin ในช่วง African Period ด้วยสไตล์ Primitivism ซึ่งคงสื่อถึงบาร์แห่งนี้เป็นสถานที่ของคนต่างด้าว ชาวอาหรับ/แอฟริกัน สำหรับมาเพลิดเพลิน สังสรรค์ ฟังดนตรี เริงระบำ พูดคุยผ่อนคลายความเครียดในชีวิตประจำวัน
ขณะเดียวกันภาพวาดที่ปรากฎร่วมช็อตกับตัวละคร มักสะท้อนสิ่งที่อยู่ภายใน สภาวะทางจิตใจออกมาด้วยเช่นกัน ในบริบทนี้น่าจะสื่อถึงความต้องการพื้นฐานของ Emmi ครั้งแรกคือแค่หลบฝน ส่วนครั้งหลังๆล้วนเป็นการเฝ้ารอคอยใครบางคน
Ali ถูกท้าทายโดยเพื่อนสาวให้ไปชักชวน Emmi เต้นระบำ เมื่อเขาเดินไปที่โต๊ะกลับยืนพูดอยู่ด้านหลัง (เหมือนต้องการสื่อถึงสถานะของตนเอง แม้เป็นบุรุษแต่เป็นได้เพียงช้างเท้าหลัง เพราะสภาพสังคมตีตราชาติพันธุ์ของเขาว่ามีความต่ำต้อยกว่าชาวเยอรมัน)
พอมาถึงบนฟลอว์เต้นรำ แสงสีแดงแห่งแพชชั่น (passion) ลุ่มเร้าร้อน ร่านราคะ แม้ท่าเต้นจะไม่ได้มีลีลาตื่นเต้นเร้าใจ แต่การพูดคุยสนทนากลับสร้างความน่าหลงใหล ใคร่อยากรู้อยากเห็น Ali เลยแสดงความเป็นสุภาพบุรุษ จ่ายเงินค่าโค้ก และต้องการไปเดินส่งยังอพาร์ทเม้นท์ของเธอ
สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นบ่อยๆ คือหนังมักถ่ายทำจากอีกห้องหนึ่ง พานผ่านบานประตู หน้าต่าง ทำให้พบเห็นขอบกำแพงซ้าย-ขวา บน-ล่าง ซึ่งเป็นการจำกัดมุมมอง โลกทัศน์ของผู้ชม/ตัวละคร สามารถสื่อถึงโลกส่วนตัวของพวกเขา (ที่มีเพียงเราสองอยู่ร่วมกัน) หรือจะมองว่ามันคือกฎกรอบ วิถีทางสังคมที่พยายามบีบบังคับ ควบคุมครอบงำ กีดกันความสัมพันธ์ของทั้งสอง จนแทบไม่หลงเหลือพื้นที่ส่วนตัวก็ได้เช่นกัน
แซว: ไม่ใช่แค่ลวดลายแอ็ปสแต็กบนชุดของ Emmi แต่ยังผ้าม่าน เฟอร์นิเจอร์หลายๆชิ้นในบ้าน ล้วนมีความวัยสะรุ่น แสดงถึงความไม่อยากแก่
การจัดวางตำแหน่งตัวละคร มักมีทิศทางที่สะท้อนความเหมือน-แตกต่าง หันหน้าเข้าหา ตั้งฉาก หรือฝั่งตรงกันข้าม ยกตัวอย่างที่โต๊ะอาหาร มารดา-บุตรสาว นั่งเคียงข้างฝั่งเดียวกัน ขณะที่กับลูกเขย (หรือ Ali) ตำแหน่งตั้งฉากแสดงถึงความแตกต่างทางกายภาพ (บางครั้งก็มีความครุ่นคิดเห็น เข้าใจที่แตกต่างกัน)
เกร็ด: ผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder รับเชิญบทบาท Eugen ลูกเขยสุดโหด สีหน้าแสดงความไม่พึงพอใจที่แม่สะใภ้(และภรรยา)ทำอะไรไม่ได้ดั่งใจเสียเลย
ช็อตนี้ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว เพราะ Eugen (รวมถึงผู้กำกับ Fassbinder) มักแสดงท่าทีเกรี้ยวกราด เผด็จการ นิสัยเอาแต่ใจกับภรรยา Krista (รับบทโดย Irm Hermann ที่เป็นแฟนสาวในชีวิตจริงขณะนั้นของ Fassbinder) แต่ในบางเรื่องเขากลับยืนหลบอยู่ข้างหลัง เหมือนเป็นคนพึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่
Hermann ให้สัมภาษณ์บอกว่าขณะนั้นเธอต้องการจะเลิกรากับ Fassbinder (ไม่รู้เพราะรับไม่ได้ที่คบซ้อนกับ El Hedi ben Salem หรือเปล่านะ) แต่กลับเป็นว่าเขาไม่สามารถยินยอมรับการเลิกรานั้นได้ พยายามติดตามตื้อ บีบบังคับ ใช้กำลังรุนแรง ถึงขนาดตบตีทำร้ายกลางถนน
He couldn’t conceive of my refusing him, and he tried everything. He almost beat me to death on the streets of Bochum ….
Irm Hermann กล่าวถึงความสัมพันธ์กับ Rainer Werner Fassbinder
Osteria Italiana ชื่อดั้งเดิม Osteria Bavaria เปิดกิจการตั้งแต่ปี 1890 เน้นเสิร์ฟอาหารอิตาเลี่ยนเป็นหลัก มีชื่อเสียงโด่งดังจากการเป็น(หนึ่งใน)ร้านโปรดของ Adolf Hitler ปัจจุบันยังคงเปิดให้บริการอยู่นะครับ
แรงบันดาลใจของช็อต/ฉากนี้มาจากภาพยนตร์เรื่อง Letter from an Unknown Woman (1948) กำกับโดย Max Ophüls เพื่อสื่อถึงโลกส่วนตัวของสองคู่รักสามี-ภรรยา (ฉากนี้หลังการจดทะเบียนสมรส) มีเพียงบริการที่รอคอยการสั่งอาหาร ขณะที่โต๊ะอื่นๆล้วนว่างเปล่าไร้ลูกค้า (นี่เช่นกันต้องการสื่อถึงโลกส่วนตัวที่มีเพียงพวกเขาสองคน) และภาพวาดพื้นหลังทิวทัศน์จากมุมสูง พบเห็นตึกรามบ้านช่อง ไม่รู้เหมือนกันว่าประเทศเยอรมันหรืออิตาลี (สื่อถึงโลกทั้งใบได้กลายเป็นของพวกเขา)
ฉากนี้ได้แรงบันดาลใจจาก All That Heaven Allows (1955) บุตรชาย/สาว+ลูกเขย เมื่อได้รับทราบว่ามารดาแต่งงานใหม่กับชายต่างด้าวผิวสี พวกเขานั่งนิ่ง อ้ำอึ้ง ไร้ซึ่งปฏิกิริยาใดๆ กล้องค่อยๆเคลื่อนไหลจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง ผ่านไปหลายเสี้ยววินาทีบุตรชายคนโต Albert (นั่งหน้าสุด ไล่เรียงลำดับตามวิทยฐานะ) ลุกขึ้นมาเตะโทรทัศน์จนพัง แสดงความเกรี้ยวกราดโกรธ รับไม่ได้กับ ‘การละคอน’ ที่บังเกิดขึ้น
แซว: โทรทัศน์ใน All That Heaven Allows (1955) คือสิ่งที่มารดา(ในหนังเรื่องนั้น)ปฏิเสธความต้องการมาโดยตลอด เพราะครุ่นคิดว่ามันคือหนทางออกสุดท้าย เฝ้ารอคอยวันตาย แต่บุตรชายกลับซื้อมาให้เป็นของขวัญวันคริสต์มาส (ราวกับจะสาปแช่งแม่ให้แก่ตายไวๆ)
ในกลุ่มเพื่อนร่วมงาน/แม่บ้านทำความสะอาด เมื่อใครคนหนึ่งรับรู้ว่า Emmi แต่งงานกับสามีผิวสีต่างด้าว ก็พยายามผลักไส ชักนำพาคนอื่นๆให้ตีตนออกห่าง ช็อตนี้นำแสดงการแบ่งแย่งระหว่างสองฝั่งฝ่ายอย่างชัดเจน ใช้เสาตรงบันไดคั่นแบ่ง แล้วปฏิเสธการสนทนาร่วมกัน กระซิบกระซาบอยู่กับพรรคพวกเดียวกันเอง
ท่ามกลางโต๊ะเก้าอี้สีเหลือง มีเพียงคู่รัก Emmi-Ali นั่งอยู่ศูนย์กลางจักรวาล พนักงาน/บริกรต่างยืนจับจ้องมองอยู่ห่างๆ แม้แต่ต้นไม้สูงใหญ่ยังขนาบข้างสองฟากฝั่ง นี่คือโลกส่วนตัวของพวกเขาท่ามกลางพื้นที่สาธารณะ แต่กลับมอบความรู้สึกโดดเดี่ยว ลำพัง เพราะใครๆต่างตีตนออกห่าง ไม่หลงเหลือใครให้การยินยอมรับพวกเขา
จริงอยู่ว่าความรักเป็นเรื่องของคนสองคน แต่ชีวิตจริงมันมีความจำเป็นที่เราต้องไปมาหาสู่ คบค้าสมาคม ทำสิ่งต่างๆร่วมกับผู้อื่น ไม่มีทางที่มนุษย์จะสามารถใช้ชีวิตอยู่ตัวคนเดียวหรือเพียงแค่เราสองคนบนโลกใบนี้ … นี่คือฉากที่บรรยายข้อเท็จจริงดังกล่าวได้อย่างตราตรึงมากๆ
แซว: ฉากในภัตราคาร Osteria Italiana มีการพูดถึง Golden Caviar อาหารสุดหรูของจักรพรรดิ สัญลักษณ์ของความรัก นั่นทำให้ผมอยากเปรียบเทียบกับเก้าอี้สีเหลือง(ทอง) ราวกับสรวงสวรรค์ของ Emmi-Ali
หลังกลับจากฮันนีมูน (ไม่รู้เนิ่นนานสักเท่าไหร่) ใครก็ตามที่เคยมีอคติ ต่อต้านความสัมพันธ์ระหว่าง Emmi-Ali จู่ๆหวนกลับมาสานความสัมพันธ์ หนึ่งในนั้นก็คือพ่อค้าร้านขายของชำ ตระหนักว่าตนเองต้องละวางความโกรธเกลียด เพื่อชักจูงลูกค้าขาประจำกลับเข้าร้าน … นี่เป็นฉากที่ผมขำก๊าก คนเราเปลี่ยนแปลงเพื่อผลประโยชน์ง่ายดายขนาดนี้เชียวหรือ??
นี่เป็นช็อตย้อนรอยกับตอนที่ Emmi ถูกเพื่อนร่วมงานพยายามตีตนออกห่าง แบ่งแยกฝั่งฝ่าย แต่เมื่อเธอหวนกลับมาทำงานอีกครั้ง สลับสับเปลี่ยนมาเป็นพนักงานใหม่ (ตำแหน่งเดียวกับที่ Emmi เคยนั่งอยู่) ประสบโชคชะตาไม่แตกต่างเดิมสักเท่าไหร่
หนังนำเสนอช็อตนี้เพื่อนำเสนอความเปลี่ยนแปลงของ Emmi จากที่เคยถูกใครต่อใครกีดกัน ต่อต้าน ไม่ยินยอมรับเข้าพวก แต่เมื่อกาลเวลาทำให้ผู้คนยินยอมรับเหตุการณ์ดังกล่าวได้แล้ว มันจึงสลับสับเปลี่ยนเป้าหมาย กลายเป็นเธอที่กระทำการย้อนแย้งทุกสิ่งอย่าง
การมี Emmi ปฏิเสธไม่ทำ Couscous สื่อถึงการไม่ยินยอมเปิดรับตัวตนอีกฝั่งฝ่าย สะท้อนความเย่อหยิ่งทะนงตนในความเป็นเยอรมัน นี่คือลักษณะของการดูถูกเหยียดหยาม (Racism) พฤติกรรมที่เธอเคยได้รับจากผู้อื่น แล้วจู่ๆกลับแสดงออกย้อนแย้งการกระทำ ซะงั้น!
ต่อมา Emmi ชักชวนเพื่อนมาที่บ้านแล้วกระทำสิ่ง … เป็นผมคงยินยอมรับไม่ได้! มันเหมือนเธอกำลังอวดอ้างสามี ต้องการให้ใครต่อใครเกิดความอิจฉาริษยา ที่หญิงสูงวัยเช่นฉันได้แต่งงานกับหนุ่มหล่อล้ำ กล้ามแน่น อวัยวะเพศใหญ่, แน่นอนว่าย่อมสร้างความไม่พึงพอใจให้ Ali ฉันไม่ใช่ตัวตลก ขี้ข้าคนรับใช้ ที่จะให้ใครมาเชยชมด้วยสายตาลุ่มหลงใหล เหตุนี้เขาจึงต้องการหลบหนีออกจากอพาร์ทเม้นท์ ก่อนจะไปนั้นเผชิญหน้ากันตรงโถงทางเดิน นั่นเป็นวินาทีแห่งความแตกแยก เห็นต่าง ไม่เข้าใจกันและกัน ยืนคนละประตูซ้าย-ขวา ระยะใกล้-ไกล ก่อนแยกย้ายคนละทิศทาง
ความสัมพันธ์ระหว่าง Ali กับ Barbara เจ้าของ Asphalt Bar มีลักษณะเหมือนคู่ขา (สมัยนี้มีคำเรียกว่า ‘กิ๊ก’) สำหรับเติมเต็มความต้องการของกันและกัน ตั้งแต่อาหาร Couscous และการร่วมรักหลับนอน ถ่ายผ่านด้านนอกประตูห้อง (สื่อถึงโลกส่วนตัวของพวกเขา)
- ครั้งแรกยามกลางวัน (สะท้อนความเบิกบาน ระเริงรื่น ยินดีปรีดาที่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ)
- ครั้งหลังท่ามกลางความมืดมิด (สะท้อนถึงสภาพจิตใจที่หม่นหมอง รู้สึกผิด รอบนี้เหมือนแค่ต้องการเรียกร้องความสนใจเท่านั้นเอง)
เกร็ด: Couscous หรือ Moroccan Rice อาหารยอดนิยมของคนแถบแอฟริกาเหนือ ได้จากการนำแป้งเซโมลีนา มาผ่านความร้อนด้วยกรรมวิธีต่างๆ อาทิ แช่น้ำร้อน หรือนึ่ง เสิร์ฟโดยราดสตูไว้ด้านบน หญ้าไข่มุก และข้าวฟ่าง รวมทั้งธัญพืชอื่นๆ ก็ได้เช่นกัน
ร้านซ่อมรถ สถานที่ทำงานของ Ali เลือกใช้โทนสีน้ำเงิน มอบสัมผัสที่ดูเหือดแห้งแล้ง เย็นยะเยือก สะท้อนเข้ากับความพยายามของ Emmi ต้องการจะหวนกลับมาคืนดีกับชายคนรัก แต่กลับถูกใครต่อใครเข้าใจผิด ครุ่นคิดว่าแค่เพียงเรื่องตลกขบขัน ยัยคนนี้ไม่ทางเป็นภรรยาของคนต่างด้าวอย่างแน่นอน
แม้ในที่สุด Emmi จะสามารถหวนกลับมาคืนดีกับ Ali แต่จู่ๆเขากลับล้มป่วย ปวดท้องโรคแผลในกระเพาะอาหาร (สามารถสื่อนัยยะถึงอาการหวาดสะพรึงกลัว ได้กัดกร่อนกินจิตวิญญาณของเขาถึงภายใน) ช็อตนี้ในโรงพยาบาล เธอกำลังยืนคุยกับหมอ ภาพสะท้อนในกระจกคือเตียงคนไข้ต่างด้าว ที่ประสบโชคชะตาไม่แตกต่างกัน ไม่มีใครเหลียวแลให้ความช่วยเหลือ เมื่อรักษาหายอีกหกเดือนก็จักหวนกลับมาอีกครั้ง
เมื่อการสนทนาจบสิ้น กล้องจะเคลื่อนเลื่อนไปที่กระจกด้านหลัง พบเห็นภาพสะท้อนของ Emmi เดินเข้าไปถึงยังเตียงของ Ali ตั้งใจว่าต่อจากนี้จะไม่ยินยอมให้เขาตกอยู่ในสภาพดังกล่าวอีกต่อไป
แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ ช็อตสุดท้ายของหนังจบลงที่ Emmi หันเหม่อมองออกไปตรงหน้าต่าง คาดหวังว่าภายภาคหน้าอะไรๆคงปรับเปลี่ยนแปลงในทิศทางดีขึ้น แต่สิ่งที่เธอพบเห็นกลับคือบานเกล็ด หรือกรงขัง นั่นหมายถึงผู้กำกับ Fassbinder ยังไม่สามารถพบเห็นอนาคตฟ้าสดใส ได้รับอิสรภาพจากกฎกรอบ พันธนาการสังคมที่มีอยู่ในปัจจุบัน
นัยยะนี้หมายถึงทั้งการปฏิบัติต่อคนต่างด้าวในเยอรมัน และทัศนคติในเรื่องความรัก ไม่ว่าจะมีความแตกต่างทางอายุ สีผิว ชนชั้นวรรณะ ฐานะ ชาติพันธุ์ หรือแม้แต่เพศสภาพ Homo/Bisexual
ตัดต่อโดย Thea Eymèsz สัญชาติเยอรมัน ขาประจำของ Fassbinder,
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสายตาของ Emmi Kurowski ตั้งแต่เดินเข้ามาในบาร์แห่งหนึ่ง พานผ่านช่วงเวลา (ไม่รู้นานเท่าไหร่) ที่ได้พบเจอ ตกหลุมรัก แต่งงานกับ Ali มีบางช่วงที่คิดเห็นต่าง เข้าใจไม่ตรงกัน แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีสามารถบ่อนทำลายความรักในโลกของพวกเขาได้สำเร็จ
- องก์หนึ่ง, สานสัมพันธ์รักระหว่าง Emmi & Ali
- แรกพบเจอในบาร์แห่งหนึ่ง Ali เข้าไปชักชวนเต้นระบำ
- กลับมาที่อพาร์ทเม้นท์ของ Emmi พาขึ้นห้องพัก ร่วมรักหลับนอน
- องก์สอง, คำครหาจากคนรอบข้าง
- เสียงซุบซิบนินทาจากเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่พนักงานร้านขายของชำ
- ลูกๆของ Emmi ต่างแสดงท่าทีไม่ยินยอมรับ Ali
- เพื่อเฉลิมฉลองการแต่งงาน Emmi พา Ali มารับประทานอาหารยังร้านหรูแห่งหนึ่ง
- เมื่อ Emmi อดรนทนไม่ไหว จึงชักชวน Ali ไปท่องเที่ยวพักผ่อนคลาย ห่างจากสถานที่แห่งนี้ไปสักระยะ
- องก์สาม, แม้ปัญหาจากภายนอกสงบลงไป แต่จิตวิญญาณกลับถูกกัดกร่อนจากความหวาดสะพรึงกลัว ก่อให้เกิดเป็นปัญหาภายในครอบครัว
- พอกลับจากฮันนีมูน ความบาดหมางกับใครๆก็ค่อยๆเจือจางลง คืนดีกับเพื่อนบ้าน, เพื่อนร่วมงาน, พนักงานร้านขายของชำก็หาวิธีให้ได้ลูกค้าเก่ากลับคืน
- ขณะที่ Emmi กระทำย้อนแย้งต่อสิ่งที่ตนเองเคยถูกกระทำ, Ali รู้สึกเหมือนตนเองกลับเป็นขี้ข้าชาวเยอรมัน เกิดความสับสน จนกระทั่งนอกใจภรรยา
- Emmi พยายามติดตามขอคืนดีกับ Ali
- และในที่สุดพวกเขาก็สามารถปรับความเข้าใจกัน
หนังมีการดำเนินเรื่องที่ค่อนข้างเชื่องช้า เว้นช่องว่าง ระยะห่าง ก่อน-หลังพูดคุยสนทนาก็มักแช่กล้องค้างไว้สักระยะ ไม่รีบร้อนตัดเปลี่ยนฉากโดยทันที จุดประสงค์เพื่อสร้างความอึดอัด กระอักกระอ่วน บรรยากาศตึงเครียด มีเพียงเราสองในโลกที่รายล้อมรอบด้วยความเงียบงัน
หนังไม่มีบทเพลงประกอบ ทั้งหมดล้วนคือ Diegetic Music ได้ยินจากตู้กดเพลง عالعصفورية หรือ Al Asfouryeh (แปลว่า Sparrow, นกกระจอกเทศ) แต่งโดย Philemon Wahba, ขับร้องโดย Sabah, การเลือกบทแนวเพลงอาหรับ นอกจากสะท้อนชาติพันธุ์ของ Ali ผู้ชมสมัยนั้นอาจไม่มักคุ้นหูสักเท่าไหร่ สามารถสร้างความแปลกแยก แตกต่าง สะท้อนสัมพันธ์ภาพระหว่าง Emmi กับ Ali ที่ถูกผลักไส ไม่มีใครอยากให้การยินยอมรับ
Ali: Fear Eats the Soul นำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ที่ถูกสังคมต่อต้าน ยินยอมรับไม่ได้! สามารถสะท้อนตรงๆถึงรสนิยมทางเพศของผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder ขณะนั้นมีแฟนสาว Irm Hermann พร้อมคู่ขา El Hedi ben Salem ไม่ว่าจะ Homo หรือ Bisexual ยังเป็นสิ่งที่เมื่อคนยุคสมัยนั้นรับรู้พบเห็น จักแสดงออกด้วยสายตารังเกียจ เหยียดหยาม พูดตำหนิต่อว่า ซุบซิบนินทา ปฏิเสธคบค้า ทำราวกับว่าไม่ใช่มนุษย์ระดับเดียวกัน
เหตุการณ์ที่ตัวละครพบเจอ สะท้อนสิ่งที่ Fassbinder ประสบพบเจอเข้ากับตนเอง ซึ่งก็ไม่ใช่แค่เรื่องเพศสภาพ ยังความชัดย้อนแย้งต่อขนบวิถีทางสังคมนานัปการ ถึงปากพูดบอกไม่แคร์ แต่ลึกๆกลับเต็มไปด้วยความหวาดหวั่นสั่นสะพรึงกลัว มันเป็นสิ่งค่อยๆกัดกร่อนทำลายจิตวิญญาณ สูญเสียความตั้งมั่นคง ต้องการหลบลี้หนีแต่ก็ได้เพียงชั่วครั้งคราว ประเดี๋ยวประด๋าว สุดท้ายยังคงต้องหวนกลับมาเผชิญหน้า ปรับตัว กาลเวลาเท่านั้นถึงทำให้ใครๆยินยอมรับความแตกต่าง
Black September (1972) เหตุการณ์ที่กลุ่มผู้ก่อการร้าย Palestinian จับกุมตัวประกันนักกีฬาอิสราเอลที่เข้าร่วมการแข่งขัน 1972 Munich Summer Olympic ทำให้ชาวอาหรับที่อาศัยอยู่ในประเทศเยอรมันทศวรรษนั้น ถูกเหมารวมว่ามีความชั่วโฉดชั่วร้าย ตัวอันตราย เลยได้รับการกดขี่ข่มเหง ตีตราว่าไม่ใช่มนุษย์ ปฏิเสธความเสมอภาคเท่าเทียม
แม้หนังจะไมมีการพูดเอ่ยถึง Black September สอดไส้มาอย่างเงียบๆ แต่ชาวเยอรมันยุคสมัยนั้นย่อมสามารถตระหนักได้โดยทันที เพราะปี 1974 ใครๆยังคงโกรธเกลียด เคียดแค้น เต็มไปด้วยอคติต่อชาวมุสลิมอาหรับอย่างรุนแรง มาทำชื่อเสียงประเทศชาติป่นปี้ย่อยยับเยิน! … ภัยเงียบดังกล่าว ต่างชาติอย่างเราๆอาจไม่ตระหนักถึง กระนั้นความลุ่มลึกซึ้งของหนัง ถ่ายทอดบรรยากาศยุคสมัยนั้นออกมา จนใครๆก็น่าสัมผัสจับต้องได้เลยว่าเลวร้ายขนาดไหน
ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังสามารถสะท้อนมุมมองต่างชาติต่อชาวเยอรมัน ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง, ความโฉดชั่วร้ายของกองทัพนาซี แม้เกิดจากท่านผู้นำ Adolf Hitler และส่วนหัวกะทิของประเทศ แต่ประชาชนทั้งหมดและลูกหลานเหลน ต่างถูกเหมารวมสมรู้ร่วมคิด ก่อเกิดอคติต่อชนชาติพันธุ์ พวกเยอรมันคือคนชั้นต่ำช้าเลวทราม หาความดีงามไม่ได้เลยสักนิด!
กรรมสนองของชาวเยอรมันรุ่นใหม่ (ที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) อาจฟังดูไม่ยุติธรรมเอาเสียเหลือ เพราะต้องแบกรับอคติที่เกิดจากบรรพบุรุษของตนเอง ฉันไม่ได้มีส่วนร่วมรู้เห็น Adolf Hitler เสียด้วยซ้ำ! นั่นกลายเป็นปัญหาย้อนกลับภายใน ที่ทำให้ชาวเยอรมันด้วยกันเองเกิดปัญหาขัดแย้งภายใน จิตใจยังคงเย่อหยิ่งทะนงในเกียรติ ศักดิ์ศรี ครุ่นคิดว่าตนเองยังสูงส่ง ไม่ยินยอมเปิดรับบุคคลภายนอกโดยง่าย
กาลเวลาเท่านั้นจักทำให้ผู้คนหลงลืมเลือนอดีต! ซึ่งมีอยู่สองกรณีในความเข้าใจของผมเอง
- เมื่อคนรุ่นที่พานผ่านเหตุการณ์วันมหาวิโยค สูญสิ้นหมดไปจากโลก (ประมาณหนึ่งศตวรรษหลังจากนั้น) คนรุ่นถัดๆไม่เคยพานผ่านช่วงเวลาดังกล่าว จึงไม่อาจหวนระลึกนึกถึงประวัติศาสตร์นั้นอีกต่อไป
- หรือเมื่อเกิดมหาสงครามที่ยิ่งใหญ่กว่า อันนี้เห็นได้ชัดเจนกับ WW1 แทบจะถูกลืมเลือน มองข้าม หลังการมาถึงของ WW2 (กล่าวคือ WW3 มาถึงเมื่อไหร่ ผู้คนก็จะค่อยๆลืมเลือน WW1 & WW2 ไปอย่างช้าๆ)
ชื่อหนังภาษาเยอรมันคือ Angst essen Seele auf แปลตรงตัวตามหลักแกรมม่า Fear eat soul up ซึ่งถือว่าผิดหลักไวยากรณ์ (ประโยคที่ถูกต้องคือ Angst isst die Seele auf) แต่นี่เป็นความจงใจของผู้กำกับ สื่อถึงการยังพูดไม่ชัดของ Ali (ใครสามารถรับฟังภาษาเยอรมัน น่าจะพอจับสำเนียงเสียงพูดตัวละครได้) ทั้งยังสะท้อนทัศนคติบิดๆเบี้ยวๆของผู้คน การไม่ยินยอมรับ ไม่สามารถปรับตัว สร้างความหวาดกลัวที่กัดกร่อนทำลายจิตวิญญาณ จนไม่สามารถครุ่นคิด-พูด-กระทำสิ่งถูกต้องเหมาะสม
หนังใช้ทุนสร้าง DM 260,000 ถือว่าค่อนข้างน้อยสำหรับโปรดักชั่น 2 สัปดาห์, เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม สามารถคว้ามาสองรางวัล
- FIPRESCI Prize รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากการโหวตของนักวิจารณ์ในเทศกาล
- Prize of the Ecumenical Jury รางวัลส่งเสริมคุณธรรม มอบให้กับภาพยนตร์ทรงคุณค่าต่อมนุษยชาติ
กาลเวลาทำให้หนังได้รับการยกย่องสรรเสริญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ติดอันดับนิตยสาร Sight & Sound ทั้งสองชาร์ท และสังเกตว่า Director’s Poll อันดับสูงกว่า Critic’s Poll แสดงว่าเป็นผลงานที่สร้างอิทธิพลให้ผู้กำกับภาพยนตร์มากกว่าทางฝั่งนักวิจารณ์
- Sight & Sound: Critic’s Poll 2012 ติดอันดับ 90
- Sight & Sound: Director’s Poll 2012 ติดอันดับ 75
เกร็ด: ผู้กำกับ Martin Scorsese จัดให้ภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ในลิส ’39 Essential Foreign Films for a Young Filmmaker’
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (digital restoration) คุณภาพ 4K ควบคุมดูแลโดยตากล้อง Jürgen Jürges แล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี 2014 กลายเป็น Blu-Ray โดย Criterion Collection ซึ่งยังได้รวบรวมอีกหลายผลงานเด่นๆของผู้กำกับ Fassbinder สามารถหารับชมได้ทาง Criterion Channel
แค่ประมาณ 2-3 ช็อตแรกก็ทำให้ผมอึ้งทึ่งในไดเรคชั่นผู้กำกับ Fassbinder เกิดความชื่นชอบหนังโดยทันที จากนั้นชาย-หญิงเต้นรำ พาขึ้นห้อง หัวใจก็เริ่มโป่งพอ ความรักที่เหมือนเป็นไปได้ แต่โลกนี้ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ ค่อยๆหลงใหล คลั่งไคล้ พบเห็นจิตวิญญาณ สไตล์ลายเซ็นต์ ความเป็น ‘ศิลปิน’ ล่องลอยอยู่ทุกช็อตฉาก
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ปลาจะแหวกว่ายทวนน้ำ แต่ถ้ามันทำสำเร็จก็จักพบเห็นความล้ำค่าแห่งชีวิต เช่นกันกับความสุขของตัวเรา ทำไมต้องไปสนเสียงเห่าหอนผู้ใด
จัดเรต 18+ กับการเหยียดหยาม (Racism) ด้วยคำพูด สายตา และการกระทำ
Leave a Reply