Animal Cracker

Animal Crackers (1930) hollywood : Victor Heerman ♥♥♥♡

“เช้าวันหนึ่ง ฉันยิงช้างในกางเกงนอน มันเข้ามาอยู่ได้ยังไงก็ไม่รู้ ต่อมาพยายามดึงงวงมันออก แต่ทำอย่างไรก็ไม่ขยับเขยื้อน…” ใครสามารถทำความเข้าใจมุกตลกเสื่อมๆของ Marx Brothers ก็อาจรับชมผลงานเรื่องที่สอง Animal Crackers ได้ด้วยสันชาตญาณสัตว์

“One morning I shot an elephant in my pajamas. How he got in my pajamas, I don’t know. Then, we tried to remove the tusks, … but they were embedded in so firmly, we couldn’t budge them. Of course, in Alabama the Tusk-a-loosa. But that’s entirely irr-elephant to what I was talking about”.

– Captain Jeffrey T. Spaulding (รับบทโดย Groucho Marx)

เกร็ด: เฉพาะ 2 ประโยคแรกถึง I don’t know. ได้รับการโหวตติดอันดับ 53 ชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Movie Quotes

จริงๆเฉลยไปมันก็ไม่สนุกนะครับ แต่ผมอยากให้คนครุ่นคิดได้ลองเปรียบเทียบดูด้วยว่าตรงกันไหม, เนื่องจากผู้พูดเป็นชาย ช้างในกางเกงนอนก็คืออวัยวะเพศของเขานะแหละ การยิงช้างสื่อถึงปัสสาวะ ช่วยตนเอง หรือฝันเปียก พยายามดึงงวงมันออกแต่จะให้ขยับเขยื้อนได้อย่างไรมีแต่ขยายขนาดใหญ่ … จริงอยู่ที่เมือง Alabama มีหัวหน้าเผ่าอินเดียแดงชื่อดัง Tuskaloosa (แปลว่า Black Warrior, ปัจจุบันได้กลายเป็นชื่อเมืองเล็กๆของรัฐ) แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับช้างน้อย/ไอ้จ้อนที่กำลังพูดถึงอยู่

Groucho Marx เป็นนักแสดงตลกคาเฟ่ Stand-Up Comedy ที่ต้องยินยอมรับในความเฉียบแหลม คมคาย ‘Master of Quick Wit’ ถึงขนาดผู้กำกับ/แฟนตัวยง Woody Allen เคยให้คำยกย่องสรรเสริญ

“Some years back I came to the conclusion that Groucho Marx was the best comedian this country ever produced. Now I am more convinced than ever that I was right. I can’t think of a comedian who combined a totally original physical conception that was hilarious with a matchless verbal delivery. I believe there is a natural inborn greatness in Groucho that defies close analysis as it does with any genuine artist. He is simply unique in the same way that Picasso or Stravinsky are and I believe his outrageous unsentimental disregard for order will be equally as funny a thousand years from now”.

– Woody Allen

ใน Animal Cracker ต้องถือว่า Groucho แสดงความเป็น ‘Master of Quick Wit’ น่าจะ(เสื่อม)เกือบๆที่สุด นอกจากมุกตลกยกเกริ่นอารัมบท ยังมีอีกมากโคตรเฉียบคมคาย ครุ่นคิดวินาทีนั้นอาจติดตามไม่ทัน แต่เห็นสอดพ้องไปเรื่อยๆสักวันคงสามารถเข้าใจ

“I was outside the cabin smoking some meat. There wasn’t a cigar store in the neighborhood!”

บุหรี่คือสัญลักษณ์ของความพึงพอใจ สูบ/ดูดเข้าไปราวกับขึ้นสรวงสวรรค์ชั่นเจ็ด นิยมใช้แทนความหมายของการมี Sex แต่เมื่อแอฟริกาไม่มีขายก็เลยสูบเนื้อ หรือคือการร่วมรักโสเภณี/คนท้องถิ่น!


ต้นฉบับ Animal Crackers คือละครเพลงตลกแต่งเนื้อเรื่องราวโดย George S. Kaufman และ Morrie Ryskind ใส่บทเพลงประกอบโดย Bert Kalmar และ Harry Ruby นำแสดงโดย Marx Brothers และ Margaret Dumont เปิดการแสดงยัง 44th Street Theatre, Broadway รอบปฐมทัศน์วันที่ 23 ตุลาคม 1928 สิ้นสุด 6 เมษายน 1929 รวมทั้งสิ้น 191 รอบ ถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม

Paramount Pictures ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลง Animal Cracker ร่วมกับ The Cocoanuts เพื่อให้กลายมาเป็นภาพยนตร์แนว Musical ในยุคหนังพูดเรื่องแรกๆ เริ่มโปรดักชั่น ถ่ายทำต่อเนื่องพร้อมกันไป เช้า-บ่าย จ่ายเงินทีเดียว ไม่เสียเวลาหลายเที่ยว!

ช่วงระหว่างถ่ายทำ The Cocoanuts สตูดิโอ Paramount รับล่วงรู้ถึงความเรื่องมาก เอาแต่ใจ นอนดึกตื่นสาย ไม่ตรงต่อเวลาของพี่น้อง Marx Brothers เลยต้องการแก้เผ็ดโดยว่าจ้าง Victor Heerman เลื่องลือชาในความเข้มงวดกวดกัน แต่เหมือนว่าจะไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าไร่ ทั้งยังประกาศกร้าวปฏิเสธร่วมงานครอบครัวนี้อีก

Victor Heerman (1893 – 1977) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Surrey มีพี่น้องสี่คน พ่อทอดทิ้งไปตั้งแต่ยังแบเบาะ แม่ทำงานเป็นนักตัดเย็บเสื้อผ้าให้โรงละครเวที ตัดสินใจอพยพย้ายสู่ New York เพราะได้งานยัง Broadway, สำหรับ Heerman พอเติบโตขึ้นตัดสินใจมุ่งสู่ Hollywood เขียนบท/กำกับหนังเงียบ ผลงานได้รับจดจำสูงสุดคือ Animal Crackers (1930) และเขียนบท Little Women (1933) ** คว้า Oscar: Best Writing, Adaptation

เรื่องราวของ Captain Jeffrey T. Spaulding (รับบทโดย Groucho Marx) นักสำรวจ ชื่นชอบการผจญภัย เพิ่งเดินทางกลับจากแอฟริกา ได้รับต้อนรับอย่างดีจาก Mrs. Rittenhouse (รับบทโดย Margaret Dumont) ซึ่งรอคอยฟังเรื่องเล่าอันสุดเร้าใจ ซึ่งแขกสำคัญอีกคนหนึ่งในงานคือนักสะสมงานศิลปะ Roscoe W. Chandler (รับบทโดย Louis Sorin) ต้องการโอ้อวดภาพวาดราคา $100,000 เหรียญ เพิ่งซื้อมาล่าสุด After the Hunt ของศิลปินนามสมมติ Beaugard

ความวุ่นๆ จับพลัดจับพลู เกิดขึ้นเมื่อมีคนมากมายต้องการขโมยภาพวาดราคาแพง After the Hunt จึงเกิดการสลับสับเปลี่ยน จริงเป็นเท็จ เท็จเป็นจริง ทำให้ Captain Spaulding ที่เหมือนว่าจะเป็นตำรวจจาก Scotland Yard เข้าร่วมออกแสวงหาเบาะแส ไขปริศนา ใครกันแน่คือคนอยู่เบื้องหลังบงการ หรือถูกปลวกกินสาปสูญหายไปแล้วอย่างไร้ร่องรอย


Groucho Marx ในบทบาท Captain Jeffrey T. Spaulding มากด้วยเรื่องเล่าเสื่อมๆจากการไปท่องเที่ยวแอฟริกา ดินแดนที่ยังพึ่งพิงธรรมชาติ อาศัยด้วยสันชาติญาณ (สนองตัณหาความอยาก) เต็มไปด้วยสัตว์ป่าน้อยใหญ่ ไม่ต่างอะไรจากมนุษย์, ความโดดเด่นของ Groucho คือการพูดที่ลื่นไหลคล้องจอง กลับตารปัตรความเข้าใจ แล้วพลิกตลบหลังอีกทีแบบไม่น่าเป็นไปได้

Chico Marx รับบทนักดนตรี Signor Emanuel Ravelli ขณะที่ Harpo Marx รับบทศาสตราจารย์ใบ้ (ก็ไม่รู้ด้านอะไรนะ) แท้จริงแล้วคือสองคู่หูหัวขโมย ปลิ้นปล้อนกะล่อน หนึ่งสะดิ้งทำเป็นอิตาเลี่ยน สองมัวแต่วิ่งไล่จับสาว ซึ่งมุกที่ถือว่าฮาสาหัสคือร้องเรียกหาไฟฉาย ‘Flash’ แต่เกิดความเข้าใจผิดๆครุ่นคิดว่าเป็น Fish, Flask, Flute, Flit, Flush ฯลฯ กว่าจะหยิบมาถูก ทำเอาท้องเกร็งแข็ง

Zeppo Marx รับบท Horatio Jameson ผู้ช่วยของ Captain Spaulding ที่โดยปกติบทจะไม่เยอะเท่าไหร่ แต่ครานี้ได้มุกหนึ่งไปเต็มๆระหว่างเขียนจดหมายให้

“You said a lot of things I didn’t think were very important, so I just omitted them!”

ผมว่าประโยคนี้สะท้อนหนังทั้งเรื่องเลยนะ สาธยายห่าเหวอะไรก็ไม่รู้ยาวเหยียด หาสาระอะไรไม่ได้ ตัดทิ้งมันไปก็ไม่ทำให้เนื้อใจความปรับเปลี่ยนแปลง!

เกร็ด: น้องเล็ก Zeppo ในหลายๆครั้งสวมบทบาทแทนพี่ๆที่ไม่สบาย ในฉากไฟดับเลียนแบบเสียง Groucho ได้อย่างเจ้าตัวบอกสมจริงมากๆ

“he was so good as Captain Spaulding that I would have let him play the part indefinitely, if they had allowed me to smoke in the audience”.

– Groucho Marx

และเช่นเคยสีสันคนที่ห้า ‘fifth Marx brother’ นั่นคือ Margaret Dumont รับบท Mrs. Rittenhouse ที่พยายามจะอุ้มชูส่งเสริม Captain Spaulding แต่ก็มีเรื่องชวนหัว ให้ปวดเศียรเวียนเกล้าบ่อยครั้ง, คำนิยมที่ผมเคยให้ไว้คือ ‘คนตบมุก’ ถือว่าไม่ตรงภาษาอังกฤษ ‘Comic Foil’ สักเท่าไหร่ ซึ่งความหมายจริงๆ คนหรือสิ่งที่มีความขัดแย้งแต่เข้ากันได้ดีกับคุณลักษณะผู้อื่น


ถ่ายภาพโดย George J. Folsey คิวงานต่อเนื่องจาก The Cocoanuts (1929) หลังจากนี้มีผลงานเด่นๆอย่าง The Great Ziegfeld (1936), Meet Me in St. Louis (1944), Seven Brides for Seven Brothers (1954), Forbidden Planet (1956) ฯ เข้าชิง Oscar: Best Cinematography ถึง 13 ครั้ง แต่ไม่เคยคว้าสักรางวัล

เฉกเช่นเดียวกับ The Cocoanuts (1929) ยุคสมัยแรกๆของหนังพูด ยังเต็มไปด้วยความยุ่งวุ่นวายให้การถ่ายทำ เพราะสตูดิโอ Sound Stage สมัยก่อนนั้น ยังไม่มีระบบจัดเก็บเสียง (Soundproof) และเครื่องบันทึกเสียงมีความละเอียดอ่อนไหวต่ออะไรเล็กๆน้อย (นึกถึง Singin’ in the Rain) ด้วยเหตุนี้งานภาพส่วนใหญ่ของหนังจึงตั้งกล้องแช่แน่นิ่ง ไม่ค่อยขยับเคลื่อนไหวติง (เพราะขยับเพียงเล็กน้อยอาจทำให้มิติของเสียงเสียไป)

หนังทั้งเรื่องถ่ายทำยัง Kaufman Astoria Studios ณ New York City (ที่เดียวกับ The Cocoanuts) เพื่อให้ Marx Brothers ระหว่างถ่ายทำหนัง สามารถควบแสดง Broadway ยามค่ำคืนต่อได้ทันที … ซึ่งช็อตแรกของหนัง น่าจะเป็นครั้งเดียวปรากฏภาพบนหนังสือพิมพ์ คือด้านนอกคฤหาสถ์หรูของ Mrs. Rittenhouse หน้าตาเช่นนี้เอง

พบเห็นบ่อยครั้งทีเดียวที่ตัวละครของ Groucho จะหันมาพูดคุยกับผู้ชม ‘Break the Fourth Wall’ บางครั้งก็ให้ตัวละครด้านหลังยืนหยุดนิ่ง บางทีก็หันหน้ามาคุยกับผู้ชมระหว่างเล่นมุก ถือเป็นการสร้างสีสัน มุ่งเน้นย้ำเรื่องราว ชักชวนให้ผู้ชมหยุดครุ่นคิด … เป็นแรงบันดาลใจบ่อยครั้งให้กับผลงานของ Woody Allen โดยเฉพะา Annie Hall (1977)

หนึ่งในฉากที่ผมรู้สึกว่าโคตรเสื่อม คือตอนไฟดับ ทำอะไรกันในมุมมืด เพราะมองไม่เห็นจึงมิอาจด่วนสรุปว่าเกิดอะไรขึ้น ผู้ชมอาจตระหนักว่า Chico กับ Harpo กำลังการสลับสับเปลี่ยนรูปภาพ After the Hunt แต่ผมมองเป็นการจ้ำจี้ ร่วมรัก เสร็จสรรพมีสองทางออก ฝนตก-แดดออก นกกระจอกเข้ารัง

ความลับๆล่อๆ วับๆแวมๆ สะท้อนถึงความส่อเสียดในเนื้อหาของหนัง ถ้าสามารถครุ่นคิดติดตาม จับได้ไล่กัน ถึงสามารถรับรู้เรื่องว่าพวกเขาพูดคุยอะไรกัน … แต่ถึงอย่างนั้นก็โดย Hays Code ที่แม้ยังไม่ถึงทศวรรษกลายเป็นกฎข้อบังคับจำเป็น หั่นออกจาก 99 นาที เหลือ 97 นาที!

ภาพวาด After the Hunt แค่ชื่อก็แฝงนัยยะอันลึกซึ้ง หลังการล่าสัตว์ (หรือร่วมรักหญิงสาว) ปรากฎภาพอัศวินขี่ม้าขาว (นึกถึงท่าควบม้า) และมีสุนัขเดินติดตาม (บริวาร/ข้าทาส/ฮาเร็ม) เสร็จกิจเสพสมหวังผ่อนคลาย

หนึ่งในภาพวาดที่ก็ไม่รู้จริงเท็จ คลุมเป็นผ้าห่มให้ Harpo พานผ่านค่ำคืนอันแสนหนาวเหน็บ … ก็แน่ละ ถ้ามีสาวๆนอนข้างกาย มีหรือจะไม่สุขสำราญใจ

ช็อตสุดท้ายของหนัง ถ้าใครสังเกตปืน Flit Gun จะเห็นว่ามันถูกเซนเซอร์ ทำให้เบลอๆ นั่นเพราะ Paramount ไม่สามารถขอลิขสิทธิ์ปรากฎยี่ห้อ Flit ถ่ายทำไปแล้วเลยต้องตามมีตามเกิดแบบนี้

คุณจินตนาการเห็น Flit Gun พ่นอะไรออกมา? สเปรย์แผ่ฉีดพุ่งไปถูกผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ(ทั่วโลก) ทำให้ใครๆเมื่อได้ดอมดมหมดสติสิ้นเรี่ยวแรง ศิโรราบต่อนอนลงกับพื้น

และวินาทีสุดท้าย Harpo ได้นอนข้างกายหญิงสาว เสพสมหวังในสิ่งที่เขาไล่ล่าติดตามตูดเธอมาตั้งแต่พานพบเจอ ตกหลุมรักแรกพบ!

ตัดต่อ … ไม่ขึ้นเครดิต

หนังดำเนินเรื่องเวียนวนอยู่ในคฤหาสถ์ของ Mrs. Rittenhouse ในระยะเวลา(เหมือนจะ) 1 วัน 1 คืน เมื่อการมาถึงของ Captain Spaulding จบสิ้นก่อนเที่ยงอีกวัน เมื่อสามารถไขปริศนาคดีภาพวาด After the Hunt สูญหายไปได้สำเร็จ

ส่วนใหญ่ของหนังดูเป็นการ ‘Improvised’ ของ Marx Brothers แต่จริงๆคือสี่พี่น้องตระเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี ผิดกับตัวประกอบทั้งหลายที่ไม่ค่อยรับล่วงรู้อะไร แสดงปฏิกิริยาออกมาอย่างตรงไปตรงมา เกิดความหงุดหงินน่ารำคาญใจอย่างสมจริง โดยเฉพาะฉาก Three Cheer! ผมว่า Louis Sorin ที่รับบท Roscoe W. Chandler ไม่เข้าใจว่า Harpo จะยกเก้าอี้มาทำไมถึงสามตัว (เพราะ Three Cheer มันพ้องเสียงกับ Three Chair)


เพลงประกอบ ส่วนใหญ่นำจากฉบับละครเวที เรียบเรียง/แต่งโดย Bert Kalmar และ Harry Ruby ซึ่งยุคสมัยนั้นยังไม่มีการ Pre-Record ทั้งหมดที่ได้ยินมีวงดนตรี/ออเครสต้าบรรเลง หลบมุมอยู่ด้านหลัง บันทึกกันสดๆ!

มีสองบทเพลงได้กลายเป็น Recurring Theme ของ Marx Brothers คือ Hello, I Must Be Going และต่อเนื่องกับ Hooray for Captain Spaulding ขับร้องโดย Groucho ร่วมกับ Margaret Dumont และคอรัสเบื้องหลัง มีใจความเพื่อล้อเลียนการสำรวจแอฟริกาของ Captain Spaulding ตั้งใจจะไปแต่ไม่ได้ไปสักที สุดท้ายเหมือนจะไปไม่ได้ไป

Chico Marx เป็นนักเปียโนที่มีฝีมือถือว่ายอดเยี่ยมทีเดียว สามารถเล่นด้วยลีลาอันเย้ายวน กวนประสาท มีคำเรียกว่า ‘keyboard gymnastics’ แถมยังสามารถใส่อารมณ์ศิลปินได้อย่างทรงเสน่ห์

นำบทเพลงที่ Chico แต่งขึ้นมาเอง (แต่คิดตอนจบไม่ได้สักที) ชื่อว่า I’m Daffy Over You

แต่บทเพลงที่ผมว่ายังคงแย่งซีนได้แจ่มสุด คือการเล่น Harp ของ Harpo ต่อจากบทเพลง Why Am I So Romantic? ขับร้องประสานเสียงโดย Lillian Roth และ Hal Thompson ซึ่งจะมีการผิวปากตาม ด้วยท่วงทำนองสั่นสะท้าน หวานฉ่ำ โคตรจะโรแมนติก เข้านอนหลับฝันดีเชียวละ!

มนุษย์บางจำพวกไม่ต่างอะไรจากสรรพสัตว์ บ้าๆบอๆ เพี้ยนสติแตก นี่มิใช่แค่สี่พี่น้อง Marx Brothers แต่ยังเรื่องวุ่นๆอลม่านเกี่ยวกับภาพวาด After the Hunt ที่ใครๆต่างต้องการครอบครอง ลักขโมย ด้วยข้ออ้างจุดประสงค์ไร้สาระของตนเอง

แทบทุกความต้องการของมนุษย์ล้วนมี ‘Sex’ เป็นที่ตั้ง ทั้งในเชิงรูปธรรม นามธรรม ซึ่งเรื่องนี้แถมด้วยวจีกรรม คือถ้อยคำพูดส่อเสียด แต่ก็ไม่ถึงขั้นลามกจรกเปรต ขึ้นอยู่กับความสามารถในการครุ่นคิด จินตนาการ อะไรคืองวงช้าง? อะไรคือหมีขั้วโลก? อะไรคือการล่าสัตว์?

ขณะเดียวกันหนังก็เต็มไปด้วยการเสียดสี ล้อเลียน ค่านิยมสังคมไฮโซ ชนชั้นสูงยุคสมัยนั้น ใครๆต่างลุ่มหลงใหลในสิ่งไร้สาระ แสดงออกด้วยความเห็นแก่ตัว พึงพอใจส่วนตน ต่อหน้าอย่าง-ลับหลังปิดไฟแล้วอีกอย่าง โกงไพ่ใต้โต๊ะ หรือพยายามใช้เงินซื้อบางสิ่งอย่าง

มีฉากหนึ่งที่ตัวละครของ Groucho พร่ำให้ Zeppo เขียนจดหมาย

“Living with your folks. Living with your folks. The beginning of the end. Drab dead yesterdays shutting out beautiful tomorrows. Hideous, stumbling footsteps creaking along the misty corridors of time. And in those corridors I see figures, strange figures, weird figures: Steel 186, Anaconda 74, American Can 138…”

ช่างเป็นอะไรที่น่าพิศวงเสียเหลือเกิน ซึ่งบังเอิญผมไปค้นพบเจอก่อนหน้านี้ไม่นาน Groucho ได้วางเงินลงทุนกับบริษัท Anaconda Copper แล้วสูญเสียรายได้มหาศาลจากเหตุการณ์พังทลายของตลาดหุ้น Stock Market Crash เมื่อปี ค.ศ. 1929 ภาพยนตร์เรื่องนี้เลยราวกับว่า ‘After the Crash’ รำพันความสิ้นหวังหดหู่ของตนเอง ต่อโชคชะตาคาดมิอาจคาดคิดถึง

“There’s one thing I’ve always wanted to do before I quit: Retire”.

– Captain Jeffrey T. Spaulding

คำพูดประโยคนี้ของ Groucho ก็น่าจะสื่อถึงความผิดพลาดพลั้งดังกล่าวได้เป็นอย่างดี!


หนังไม่มีรายงานทุนสร้างหรือรายรับ บอกเพียงแต่ว่าประสบความสำเร็จทำเงินสูงสุดอันดับ 4 ของปี 1930 นั่นทำให้ Marx Brothers ได้เซ็นสัญญาระยะยาวกับ Paramount Picture อีก 3 เรื่อง ก่อนแยกย้าย

“Animal Crackers is the summit of the evolution of comic cinema.”

– Salvador Dalí

คำนิยมชื่นชมของ Salvador Dalí ผมว่าไม่ดูเว่อสักเท่าไหร่เลยนะ Animal Cracker เป็นภาพยนตร์ที่ดูผิวเผินไม่มีอะไรโดดเด่น แต่ถ้อยคำพูด นัยยะเรื่องเล่า แฝงความหมายอย่างลุ่มลึกล้ำ แลดูคล้ายๆ Surrealism ในรูปแบบลีลาการสนทนา มีความแปลกประหลาด พิศดาร ต้องถือว่าระดับ Masterpiece แห่งแนว Comedy เลยละ!

ส่วนตัวมีความพึงพอใจ Animal Crackers ในระดับหนึ่ง ครุ่นคิดติดตามได้อย่างเพลิดเพลินอารมณ์ขัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังหงุดหงิดรำคาญในหลายๆมุกละลานผู้อื่น และด้วยข้อจำกัดแห่งยุคสมัย ยอดเยี่ยมสุดแล้วสามารถสรรค์สร้างออกมาได้

กับคนที่ยังไม่เคยรับชมผลงานของ Marx Brothers เรื่องนี้ถือว่าเหมาะสมควรแก่การเปิดประเดิมที่สุดแล้ว เพื่อจะเรียนรู้คาแรคเตอร์ สร้างความสนิทสนมชิดเชื้อ ซึ่งผลงานถัดๆไป อะไรๆก็จะลงตัวยิ่งขึ้น (และเละเทะยิ่งกว่าเดิม)

จัดเรต 13+ กับความน่ารำคาญ ของมุกประเภทละลาน

คำโปรย | Animal Crackers ได้ทำให้ Marx Brothers กลายเป็นสรรพสัตว์บ๊องๆ ซับซ้อนเหนือกาลเวลา 
คุณภาพ | ซับซ้อน-เหนือกาลเวลา
ส่วนตัว | พึงพอใจ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: