Annie Hall (1977) : Woody Allen ♥♥♥♡
ภาพยนตร์อัตชีวประวัติของผู้กำกับ Woody Allen ที่ได้ทำการวิเคราะห์สภาพจิต นำเสนอความสนใจ และความสัมพันธ์โรแมนติกกับ Diane Keaton กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเทรนด์รอม-คอม, ถึงหนังจะไม่มีอะไรหวือหวานัก แต่แค่คำพูดสนทนา เดิน-นั่ง-นอน-มี Sex ถ้าคุณสามารถจับใจความได้เพียงบางส่วน ก็อาจตกหลุมรักหนังเลยเถิด
แต่ไม่ใช่สำหรับผมเลยนะ ต้องขอบอกไว้ก่อนว่า นี่เป็นหนังที่ทำให้ผมรังเกียจต่อต้าน ไม่ชอบในตัว Woody Allen อย่างรุนแรง เพราะถ้าคุณสามารถทำความเข้าใจหนังเรื่องนี้ได้อย่างลึกซึ้ง จะสามารถเข้าถึงตัวตนจิตวิญญาณของผู้กำกับ รู้ลึกโดยแท้ว่าเขาเป็นคนเช่นไร น่ารักน่าชัง น่าสนเท่ห์ น่าค้นหา ซึ่งสิ่งที่ผมค้นพบกลับก็คือ ความหมกมุ่น (ในเรื่อง Sex) ไร้ศีลธรรม ความเห็นแก่ตัว มองโลกในแง่ร้าย และการต่อต้านสังคม
สำหรับคนที่เห็นหนังเรื่องนี้คือ รอม-คอม รักโรแมนติกทั่วๆไป ก็ไม่ได้มีความผิดอะไรนะครับ เพราะมุมมองการรับรู้เข้าใจของคนเรามีไม่เท่ากัน ว่ากันว่าเหตุที่หนังได้ Oscar: Best Picture ปีนั้น สามารถเอาชนะ Star Wars (1977) เต็งหนึ่งทุกสถาบัน ก็เพราะความเป็นส่วนตัว และเรื่องราวความรักที่กินใจผู้ชม แต่แท้จริงแล้วนั่นกลับไม่ใช่ประเด็นใจความตั้งใจของผู้กำกับเลยสักนิด
เรื่องส่วนตัวกับงานศิลปะ สำหรับคนที่เรียกตัวเองว่า ‘ศิลปิน’ มักจะไม่สามารถแยกสองสิ่งนี้ออกห่างจากกันได้, มีช่วงขณะหนึ่งที่ผมเคยพยายามเขียนบทวิจารณ์ภาพยนตร์ โดยไม่สนเรื่องราวพื้นหลังของผู้กำกับ -ไม่สนว่านิสัยดีชั่ว ความคิดทัศนคติ ซ้ายขวาอะไรยังไง- สนแค่ตัวผลงานที่ออกมา มีความยอดเยี่ยมสวยงามระดับไหน แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็พบว่าตัวเองคิดผิดถนัด เพราะผลงานศิลปะคือสิ่งที่สะท้อนตัวตนของศิลปินออกมา มันมีความจำเป็นที่เราจะต้องเรียนรู้จักตัวตนของผู้สร้างงานนั้นๆ จึงสามารถเข้าใจจุดประสงค์ความต้องการ คิดแบบนี้เลยนำเสนอแบบนี้ ทุกสิ่งอย่างย่อมต้องมีที่มาที่ไป ใช้จิตวิเคราะห์ครุ่นคิดย่อมค้นหาคำตอบของความสัมพันธ์นั้นได้
Heywood ‘Woody’ Allen ชื่อเดิมคือ Allan Stewart Konigsberg (เกิดปี 1935) นักแสดง ผู้กำกับสร้างละครเวที/ภาพยนตร์ และเดี่ยวไมโครโฟน สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Brooklyn, New York ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในครอบครัวชาว Jews ชีวิตวัยเด็กไม่ค่อยมีความสุขนัก พ่อแม่มีปากเสียงทะเลาะวิวาทกันบ่อยครั้ง ทำให้ Allen ตั้งแต่เด็กจำต้องแปรสภาพความเครียดนี้ให้กลายเป็นเรื่องเล่าสนุกสนานขบขัน (เป็นการหนีตัวเองลักษณะหนึ่ง) พออายุ 15 เริ่มหัดเขียนมุกตลกลงในหนังสือพิมพ์ ไม่นานก็ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือ มียอดขายใช้ได้ทีเดียว
ช่วงทศวรรษ 60s เริ่มต้นเป็นเดี่ยวไมโครโฟน Stand-Up Comedy ที่ต้องถือว่าเป็นผู้สร้างนิยามใหม่ให้กับวงการ ด้วยความสนใจในเรื่องจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) [ตัวเขาต้องพึ่งนักจิตวิทยาตั้งแต่อายุยังน้อย] ชอบพูดถึงชีวิตบัดซบๆของตนเองในมุมขบขัน ไม่ค่อยสนใจปัญหาการเมือง สังคม สงคราม ที่ตลกสมัยนั้นชอบนำมาเสียดสีล้อเลียน, นี่ถือสไตล์ Comedy ที่สร้างความแตกต่าง ‘refreshing’ ให้กับคนอเมริกายุคสมัยนั้น
สำหรับภาพยนตร์ เริ่มต้นจากเป็นผู้เขียนบท What’s New Pussycat? (1965) แต่เพราะผลงานออกมาค่อนข้างย่ำแย่ ทำให้ Allen ตั้งปณิธานว่าจะเขียนเองกำกับเองนับจากนั้น โดยเรื่องแรกที่ถือเครดิตผู้กำกับคือ What’s Up, Tiger Lily? (1966) เป็นการนำเอาภาพยนตร์ญี่ปุ่นแนวสายลับเรื่อง International Secret Police: Key of Keys (1965) มาตัดต่อพากย์เสียงใหม่ โดยเขียนบทพูดดั้นสดไม่อิงของเดิม ทำเป็นโทนคล้ายๆ James Bond แต่จากแนวเครียดๆทำให้กลายเป็นตลกขบขัน … ก็คิดไปได้นะ
เกร็ด: ด้วยเหตุนี้ทำให้ Allen ตัดสินใจรับบท Jimmy Bond ในหนัง parody เรื่อง Casino Royale (1967)
ขณะเดียวกันก็มีความสนใจด้านละครเวทีไปพร้อมๆกัน พัฒนาบทละคร Broadways เรื่อง Don’t Drink the Water (1966) ตามด้วย Play It Again, Sam (1969) [แรงบันดาลใจจากหนังเรื่อง Casablanca] ทำให้ได้รู้จักกับ Diane Keaton ทั้งคู่ตกหลุมรักแรกพบ ‘fell in love at the first sight’
“He showed me the ropes and I followed his lead. He is the most disciplined person I know. He works very hard, I find the same thing sexy in a man now as I always have: humor. I love it when they are funny. It’s to die for.”
– Diane Keaton พูดถึง Woody Allen
ก่อนหน้าที่ Allen จะได้พบเจออยู่กิน เป็นแฟนกับ Keaton เคยแต่งงานมาก่อนแล้วถึง 2 ครั้ง
– ครั้งแรกตอนอายุ 20 ปี แต่งงานกับ Harlene Rosen อายุ 17 ปี พบเจอกันขณะ Allen กำลังเริ่มต้นเป็นนักแสดงตลก Stand-Up Comedian สุดท้ายเลิกราหย่าขาดกันเพราะข้ออ้างเรื่อง Sex
– แต่งงานครั้งที่สองกับ Louise Lasser เมื่อปี 1966 หย่าขาดเมื่อปี 1970 เธอปรากฎตัวในหนังของ Allen ทั้งหมด 3 เรื่อง Take the Money and Run (1969), Bananas (1971), Everything You Always Wanted to Know About Sex* (*But Were Afraid to Ask) (1972)
สำหรับ Diane Keaton ชื่อจริงของเธอคือ Diane Hall ชื่อเล่น Annie (เกิดปี 1946) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Los Angeles, California เติบโตขึ้นในครอบครัว Free Methodist แม่ของเธอเคยชนะการประกวด Mrs. Los Angeles ทำให้ตัวเองมีสนใจด้านการแสดง โดยมี Katharine Hepburn เป็นไอดอลประจำใจ, ผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกที่สร้างชื่อคือ Kay Adams-Corleone ใน The Godfather (1972) จากนั้นมีโอกาสไปคัดเลือกนักแสดงละครเวที Play It Again, Sam พบเจอตกหลุมรักกับ Woody Allen ย้ายไปอาศัยอยู่ด้วยกัน ผ่านไปปีหนึ่งแยกๆอยู่ๆ ร่วมงานทั้งละครเวทีและภาพยนตร์ อาทิ Sleeper (1973) Love and Death (1975) Annie Hall (1977) Interiors (1978) Manhattan (1979) และส่งท้ายอีกเรื่อง Manhattan Murder Mystery (1993) ทั้งชีวิตของ Keaton แม้จะพัวพันกับผู้ชายหลายคน อาทิ Warren Beatty, Al Pacino (ในกองถ่าย The Godfather) แต่กลับไม่เคยคิดจริงจังถึงขั้นแต่งงานกับใคร
สำหรับ Allen แล้ว Keaton เป็นผู้หญิงที่ …
“I don’t like meeting heroes. There’s nobody I want to meet and nobody I want to work with—I’d rather work with Diane Keaton than anyone—she’s absolutely great, a natural.”
ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ แม้จะเลิกราหมดสิ้นความรักโรแมนติกไปแล้ว แต่ยังคงเป็นเพื่อนสนิทต่อกันเรื่อยมา, สำนวนไทยอธิบายความสัมพันธ์ของทั้งคู่ได้ตรงที่สุดคงเป็น ‘ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่’
ที่ผมเล่ามานี่คือชีวประวัติคร่าวๆของ Woody Allen และ Diane Keaton นะครับ ไม่ใช่เรื่องย่อของหนัง จะเห็นว่ามันเหมือนกันแทบจะเปะๆเลย แต่เคยมีครั้งหนึ่งที่ผู้กำกับออกมาพูดในเชิงไม่พอใจนัก บอกว่านี่ไม่ใช่หนังอัตชีวประวัติของตน เป็นอะไรที่ฟังไม่ขึ้นเอาเสียเลย กับคนนิสัยแบบนี้คงไม่แปลกถ้าจะกลับกลอกอะไรซ้ำไปซ้ำมา มันอาจไม่ใช่ชีวประวัติจริงๆก็ได้ มันแล้วแต่คุณละ เลือกที่จะ’เชื่อ’หรือเปล่า
จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้ เกิดขึ้นระหว่าง Allen กำลังเดินเล่นกินลมชมวิว พูดคุยอยู่กับนักเขียนบท Marshall Brickman ที่ New York City หัวข้อสนทนาก็มีหลากหลาย หวนระลึกถึงวันเก่าๆ ทบทวนหลากหลายแนวคิดไอเดียที่เคยนำเสนอต่อโปรดิวเซอร์แล้วถูกปฏิเสธ ฯ จนได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะสร้างหนังที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับชายอายุย่างเข้า 40 ปี (Allen ตอนนั้นก็อายุผ่าน 40 ปีแล้ว) เป็นบทวิเคราะห์ชีวิตที่ผ่านมา โดยมี 3 หัวข้อสำคัญ
1) ความสัมพันธ์(และ Sex) กับหญิงสาว
2) ความธรรมดาสามัญของชีวิต
3) ความลุ่มหลงใหลในการค้นหาและพิสูจน์ตัวเอง
มีอีกประเด็นหนึ่งที่เพิ่มเติมเสริมเข้ามาภายหลังคือ การครุ่นคิดถึง’ความตาย’ จากคำเตือนของ Brickman ได้กลายเป็นประเด็นหมกหมุ่นที่จะทวีความสนใจขึ้นเรื่อยๆในหนังเรื่องถัดมาของผู้กำกับ
สำหรับการจะนำเสนอเรื่องราวลักษณะนี้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีชีวิตของใครสักคนเป็นต้นแบบ เรียกว่าต้องเสียสละความเป็นส่วนตัว ประจานตัวเองให้โลกเห็น เพื่อให้ผู้ชมได้เกิดความบันเทิงหัวเราะอย่างสนุกสนาน นี่เองเป็นเหตุให้ Allen ตัดสินใจนำเรื่องราวชีวิตของตนเองใส่ลงไปเป็นต้นแบบของหนัง, ผมไม่แน่ใจว่านี่คือหนังเรื่องแรกของ Woody Allen เลยหรือเปล่าที่นำเรื่องราวชีวประวัติของตนเองใส่ลงไป ซึ่งผลลัพท์ทำให้เขากลายเป็น’ศิลปิน’ผู้สร้างภาพยนตร์อย่างสมบูรณ์แบบเต็มตัว
สำหรับภาพยนตร์ที่เป็นต้นแบบ อิทธิพลสำคัญของหนังเรื่องนี้ คือ 8½ (1963) ของผู้กำกับ Federico Fellini ที่ได้มีการผสมผสาน ความจริง-ความฝัน อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต คลุกเคล้ากันอย่างปะปนเป ต้องใช้การสังเกตครุ่นคิดวิเคราะห์ถึงจะรับรู้ว่าฉากนั้นอยู่ช่วงเวลา Timeline ไหนของชีวิต, เพิ่มเติมกับอีกเทคนิคหนึ่งของหนัง คือการจ้องหน้าพูดคุยสื่อสารกับตัวละคร หรือศัพท์เทคนิคที่เรียกว่า ‘Breaking the Fourth Wall’ เพื่อเป็นการสื่อสารสนทนากับผู้ชม ให้รู้สึกมีส่วนร่วมของหนัง เช่นกันกับการที่ตัวละครเดินๆอยู่ในฉาก ครุ่นคิดพูดออกมาเสียงดัง แล้วตัวประกอบเดินเข้ามาพูดคุย แนะนำ ถามคำถาม (นี่ก็ถือว่าเป็น Fourth Wall เช่นกันนะครับ)
เกร็ด: ไม่เคยมีใครค้นหาว่าภาพยนตร์เรื่องแรกที่มีการ’ทำลายกำแพงที่สี่’คือเรื่องอะไร แต่คาดการณ์กันว่าเป็นหนังของนักแสดงตลกยุคหนังเงียบ Oliver Hardy กับ Stan Laurel ที่ชอบหันมามองกล้อง จ้องหน้าเหมือนจะชวนสนทนากับผู้ชม, ส่วนหนังพูดเรื่องแรกๆที่ได้รับการกล่าวขานคือ Animal Crackers (1930) หนังตลกของพี่น้อง The Marx Brothers
ตอนแรก Allen ตั้งชื่อหนังว่า Anhedonia (แปลว่า inability to feel pleasure, บุคคลผู้ไร้ซึ่งความพึงพอใจ = ตายด้าน) ส่วน Brickman มีคำแนะนำอาทิ
– It Had to Be Jew ล้อกับบทเพลง It Had to Be You (1924) ซึ่งตัวละครของ Keaton ได้ขับร้องเพลงนี้ด้วยในไนท์คลับ
– Rollercoaster Named Desire ล้อกับบทละคร/ภาพยนตร์เรื่อง A Streetcar Named Desire และบ้านของพระเอกที่อยู่ใต้เครื่องเล่น Rollercoaster
– Me and My Goy ไม่แน่ใจล้อกับละครเพลงเรื่อง Me and My Girl (1937) หรือภาพยนตร์เรื่อง For Me and My Gal (1942)
สตูดิโอ United Artists ที่ให้ทุนสร้างและจัดจำหน่าย คงเอาเท้าก่ายหน้าผากเมื่อได้ยินชื่อหนังเหล่านี้ เห็นว่าเป็นปัญหาของ Woody Allen มาแสนนานกับการตั้งชื่อภาพยนตร์ ดูอย่างเรื่องก่อนๆ What’s Up, Tiger Lily? (1966), Take the Money and Run (1969), Bananas (1971), Everything You Always Wanted to Know About Sex* (*But Were Afraid to Ask) (1972) ฯ ด้วยเหตุนี้ผู้บริหารจึงลงทุนไปว่าจ้างบริษัทโฆษณาให้มาช่วยครุ่นคิดหาชื่อหนังที่น่าจะพอดึงดูดผู้ชมได้ ซึ่งเห็นว่ารอบทดลองฉายมีการเปลี่ยนชื่อหนังไปเรื่อยๆด้วย เพื่อทดสอบปฏิกิริยาของผู้ชม อาทิ Anhedonia Strikes Cleveland!, Anxiety, Annie and Alvy ก่อนที่สุดท้ายจะมาลงเอยที่ Annie Hall ชื่อของตัวละคร Diane Keaton ต้องบอกว่าเรียบง่าย ธรรมดาสามัญ แต่สะท้อนเรื่องราวของหนังได้อย่างลงตัวสวยงามที่สุด
ตัวละครที่ Woody Allen รับบทชื่อว่า Alvy ‘Max’ Singer ชายผู้มีปัญหากับระบบความคิด ทำให้มีมุมมองทัศนคติต่างจากคนปกติทั่วไป อันมีจุดเริ่มต้นจากสภาพแวดล้อมและครอบครัววัยเด็ก โตขึ้นจึงตัดสินใจแปรสภาพความอึดอัดอั้นนั้นสู่การเป็นตัวตลก เล่าเรื่องชีวิตของตนเองสู่สาธารณะด้วยความขบขัน (มองว่านี่คือการบำบัดทางจิตวิธีหนึ่ง), นี่คงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก เพราะตัวละคร Max = Allen น่าจะทุกกระเบียดนิ้ว
ถ้าคุณรับชมหนังของ Woody Allen มาหลายเรื่อง น่าจะรับรู้ได้ทันทีเลยว่าทุกตัวละครที่เขียนขึ้นมา ล้วนมาจากตัวเองแทบทั้งสิ้น ซึ่งบุคลิก คาแรคเตอร์ นิสัยของตัวละครก็จะเป็น pattern แบบเดียวกันนี้ อาจแตกต่างที่บางความคิด ทัศนคติ ที่จะผันแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลาเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น
ผมคิดว่าเหตุผลที่ Max/Allen ไม่ค่อยอยากจะมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งอะไรกับใคร ‘I would never wanna belong to any club’ สาเหตุเริ่มต้นเกิดจากพ่อแม่ของเขาแน่ๆ เพราะเมื่อได้พบเห็นทั้งสองทะเลาะเบาะแว้งกัดกันอยู่ตลอดเวลา เด็กชายย่อมเกิดความคิด ‘ความสัมพันธ์ของผู้ใหญ่ทั้งสอง ช่างไร้สาระ น่าเบื่อ’ ด้วยเหตุนี้จึงปฏิเสธต่อต้าน หาข้ออ้างจากเรื่องเล็กๆกลายเป็นเรื่องใหญ่ๆ ‘The universe is expanding.’ ชีวิตมนุษย์เราช่างไร้ค่าเสียเหลือเกินเมื่อเทียบกับการมีตัวตนของจักรวาล การเกิดไม่ได้มีความหมายอะไรทั้งนั้นเพราะสักวันก็ต้องตาย ด้วยเหตุนี้ ความสัมพันธ์ลึกซึ้งของคนสองคน จึงเป็นเรื่องไร้สาระทั้งเพ ต้องการความรัก/Sex เพื่อตอบสนองกามตัณหาอารมณ์ของตนเองเท่านั้น จริยธรรมคุณธรรมสูงส่งอะไรนั่น ไม่มีความหมายใดๆทั้งสิ้น! (ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะ ชีวิตวัยเด็กเติบโตขึ้นจากการพบเห็นพ่อแม่ทะเลาะกันเท่านั้นเองนะครับ),
ผลพลอยต่อเนื่องกับพฤติกรรม ‘ต่อต้านสังคม’ และ ‘มองโลกในแง่ร้าย’ ซึ่งถ้าใครตามติดผู้กำกับคนนี้ จะรู้ว่าเขาแทบไม่เคยไปร่วมงานประกาศรางวัล Oscar เพราะค่ำคืนวันอาทิตย์มักมีโปรแกรมแข่งบาสเกตบอล กีฬาโปรดของตนเอง
”The whole concept of awards is silly. I cannot abide by the judgment of other people, because if you accept it when they say you deserve an award, then you have to accept it when they say you don’t.”
เหล่านี้คือเหตุผลที่ทำให้ผมไม่ชื่นชอบชายชื่อ Woody Allen เลยนะครับ บุคคลที่ทำหนังเหมือนด้วยอุดมการณ์สูงส่ง แต่ตัวตนแท้จริงแล้วกลับมองทุกสิ่งรอบตัวเป็นเพียงสิ่งไร้สาระ สนใจสร้างภาพยนตร์เพียงเพื่อฆ่าเวลาให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ การที่คุณยกย่องชื่นชมผู้กำกับคนนี้มากแค่ไหน ตัวเขากลับหาสนใจแยแส อย่าหวังได้ยินคำพูด ‘ขอบคุณ’ ออกจากปากนะครับ เพราะขนาดแค่คำว่า ‘I Love You’ กับนางเอก (และน่าจะคนรักทั้งหลายในชีวิตจริง) ยังไม่เคยพูดออกมาสักครั้ง
“Doc, my brother’s crazy. He thinks he’s a chicken.”
“Well, why don’t you turn him in?”
“I would, but I need the eggs.”
แนวคิดคำพูดสุดท้ายของหนัง สามารถวิเคราะห์ตีความได้กว้างๆ ต่อสิ่งที่เรารู้ว่ามีปัญหา/ผิดพลาด/ไม่ถูกต้องเหมาะสม แต่กลับไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้, ซึ่งผมมองว่านัยยะของประโยคนี้คือ ความสัมพันธ์และ Sex กล่าวคือ ฉันรู้อยู่แก่ใจไม่อยากสร้างสัมพันธ์/มี Sex กับใคร แต่ใจมันห้ามความต้องการของสัญชาติญาณไม่ได้ ก็เลยจำต้องปล่อยมันไป
“I guess that’s pretty much now how I feel about relationships; they’re totally irrational, and crazy, and absurd, but I guess we keep going through it because most of us need the eggs.”
– Woody Allen
บทบาทที่ Diane Keaton รับบท ชื่อว่า Annie Hall (มาจากชื่อเล่นและนามสกุลจริงๆของเธอ) สดใสร่าเริง ยิ้มแย้มแจ่มใส มองโลกในแง่ดี เข้ากับคนอื่นได้ง่าย รักความตื่นเต้นสนุกสนาน เปิดกว้างทุกสิ่งอย่าง High-Tension ยิ้มแย้มตลอดเวลา นี่ทำให้ตัวเธอไม่เคยคิดจริงจังกับใครที่เข้ามาในชีวิต, แน่นอนเช่นกันว่า แทบทุกอย่างของตัวละครนี้ คือตัวจริงของ Keaton แต่ผมว่าไม่เชิงใช่ร้อยเปอร์เซนต์นะ น่าจะเรียกว่า มุมมองของ Allen ต่อหญิงสาวชื่อ Keaton เสียมากกว่า
หญิงสาวประเภท Annie Hall/Diane Keaton เปรียบเสมือนฤดูร้อน (แบบ Summer Finn จาก (500) Days of Summer) แต่ไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนฤดู ต้องการที่จะเป็นอมตะ คงชีวิตให้สดใสเจิดจรัสจ้าอยู่แบบนั้น เมื่อใดที่พบกับความจืดชืดเบื่อหน่าย ก็จะค่อยๆปลีกถอยตัวเองออกห่าง ค้นหาความสนุกสนานเร้าใจใหม่ (กับคนใหม่) ผู้ชายแทบทั้งนั้นที่พบเจอผู้หญิงแบบนี้ จะหลงใหลคลั่งไคล้แบบโงหัวไม่ขึ้น แต่เมื่อเธอจากไปก็พร่ำหวังให้เหลียวมองกลับ สุดท้ายก็เป็นได้แค่เพื่อนกันตลอดไป
ฉากโต๊ะอาหารที่บ้านของครอบครัว Hall เป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ เพราะเราจะได้เห็นพื้นหลังของตัวละครนี้ที่เติบโตขึ้นมา พบว่ามีความอึดอัด เคร่งเครียด เป็นทางการอย่างยิ่ง นี่คงสร้างความอัดอั้นให้กับ Annie ตั้งแต่เด็ก ด้วยเหตุนี้เมื่อได้ออกจากบ้าน เสมือนดั่งนกหลุดออกจากกรงขัง โบยบินอย่างอิสระเสรีไร้สิ่งครอบงำจำกัด ฉันไม่อยากมีชีวิตโคตรน่าเบื่อแบบที่เคยเป็นมา, ซึ่งพอเปรียบเทียบกับโต๊ะอาหารที่บ้านของครอบครัว Singer ราวกับน้ำกับน้ำมัน ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง
ด้วยเหตุนี้กระมัง Max กับ Annie, Allen กับ Keaton จึงสามารถเติมเต็มกันและกันได้อย่างลงตัวแม้พื้นหลังจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ผมค่อนข้างหลงใหลในการแสดงของ Keaton เป็นอย่างมาก มีความเป็นธรรมชาติ เป็นตัวของตัวเองสูง ก็แหงละตรงกับบุคลิกตัวเองตรงเสียขนาดนั้น รอยยิ้มของเธอทำให้โลกทั้งใบสวยขึ้นสดใส หนุ่มๆเห็นแล้วคงหัวใจละลาย สาวๆ… ไม่รู้สิ อาจจะหลงเสน่ห์ก็เป็นได้, เห็นว่าชุดที่เธอสวมใส่ตอนพบกับพระเอกครั้งแรก (เลือกชุดเองกับมือ) ได้กลายเป็นเทรนด์แฟชั่นของคนอเมริกาช่วงปลายยุค 70s ไปเลย ลักษณะของชุดนี้เรียกว่า ‘menswear’ สวมหมวกกะลา, โค้ทแขนสั้นทับเสื้อแขนยาว ผูกไทด์ และกางเกงหลวมๆ
แซว: ถ้าเป็นโค้ทแขนยาว จะคล้ายกับชุด The Trump ของ Charlie Chaplin เสียกระไร
ชุดนี้ก็สะท้อนตัวตนความเป็นอิสระของตัวเธอออกมานะครับ เพราะความที่ไม่ต้องการยึดติดกับแนวคิดอะไร รวมทั้งความเป็นหญิง จึงใส่ชุดเหมือนกับผู้ชาย (มีแนวโน้มสูงมากที่ Keaton และตัวละครนี้จะเป็นเลสเบี้ยนด้วย)
สำหรับฉากต่อแถวรอชมภาพยนตร์ ที่จะมีเกรียนหนังโอ้อวดบรรยายความรู้ทรงภูมิ เดิมนั้น Allen ส่งจดหมายเชิญผู้กำกับดังอย่าง Federico Fellini กับ Luis Buñuel แต่ทั้งคู่บอกปัดปฏิเสธ (สงสัยเพราะไม่รู้จักว่า Woody Allen คือใคร? ในอเมริกาอาจมีชื่อ แต่ทั่วโลกยังโนเนม) สุดท้ายเลยไปชักชวน Marshall McLuhan ศาสตราจารย์นักวิเคราะห์สื่อชื่อดังสัญชาติแคนาดา ผู้เขียนหนังสือ The Medium is the Massage (สื่อกลางคือตัวสาร) ผมไปอ่านเจอว่า หนังสือเล่มนี้เป็นแนวทดลองที่กวนประสาทมาก บางหน้าไม่มีตัวอักษร (หน้าเปล่าๆ), บางหน้าต้องส่องกระจกถึงอ่านออก, มีการใช้ Emoji คั่นเรื่องล้อเล่นกับจริงจัง ฯ สังเกตชื่อหนังสือ Massage นี่ยังจงใจเขียนผิดเพี้ยนจากคำว่า Message เลยนะครับ ที่ทำเช่นนี้มีจุดประสงค์เพื่อ …
ใครสนใจไปตามอ่านที่: https://bitwiredblog.com/2011/10/16/สื่อกลางคือตัวสาร-ในยุค/
นักแสดงรับเชิญ Christopher Walken นี่ก่อนที่ The Deer Hunter (1978) จะออกฉายในปีถัดไป ซึ่งภาพลักษณ์นี้ใครเป็นแฟนๆของลุงแกน่าจะจดจำได้อย่างดี ตาลอยๆ พูดภาษามนุษย์ แต่เหมือนไม่ได้อยู่บนโลก, เห็นว่าในบทจริงๆมีมากกว่านี้แต่ถูกตัดออกไปเพราะเวลาหนังที่มากเกิน ซึ่งฉากตอนที่พี่แกขับรถ กับสิ่งที่พูดก่อนหน้านี้ นี่เป็นอะไรที่ผมหลุดหัวเราะดังมากๆ หวาดเสียวลุ้นระทึกอยู่ว่า จะพุ่งชนรถคันที่สวนมาหรือเปล่า
Truman Capote นักเขียนนิยายสัญชาติอเมริกัน ที่มีผลงานดังอย่าง In Cold Blood และ Breakfast at Tiffany’s มารับเชิญ cameo ในหนัง ปรากฎตัวใน ‘Winner of the Truman Capote look-alike Contest’ คนสมัยนี้ที่ไม่รู้จักพี่แก คงไม่มีใครหลุดขำแน่ๆ
นี่เป็นหนัง debut ของ Sigourney Weaver ด้วยนะครับ รับบทเป็นนักแสดงแทน Alvy ซ้อมละครเวทีช่วงท้าย ต้องบอกเลยว่าเหมือนมากๆ เพราะเรื่องนี้รึเปล่าเนี่ย ถึงทำให้ไปเข้าตา Ridley Scott ชักชวนให้มาเล่น Alien (1979)
ถ่ายภาพโดย Gordon Willis ช่างภาพในตำนานเจ้าของผลงาน The Godfather Trilogy เจ้าของฉายา ‘the prince of darkness’ ซึ่งหลังจากหนังเรื่องนี้ก็ได้เป็นขาประจำของ Allen ไปอีกคน,
หนังขึ้นชื่อเรื่องการถ่ายภาพ Long Take ตั้งกล้องทิ้งไว้ แพนนิ่ง เคลื่อนไหวตาม ฯ หลายครั้งมีลักษณะเป็น 1 ช็อตต่อ 1 ฉาก มีคนจับเวลาโดยเฉลี่ย ASL (Average Shot Length) อยู่ที่ 14.5 วินาที ยุคสมัยนั้นถือว่าค่อนข้างยาวแล้วนะครับ (ASL โดยเฉลี่ยในทศวรรษนั้นอยู่ที่ 6-7 วินาที) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเพียงบทสนทนาพูดคุยของตัวละคร เดิน-นั่ง-นอน-มี Sex แทบทุกอากัปกิริยาต้องมีการพูดคุยกันอยู่ตลอด
ความโดดเด่นของ Willis คือการจัดแสงและเงา จึงได้ฉายาว่า ‘prince of darkness’ มีความเชี่ยวชาญด้านจัดแสงสื่อถึงอารมณ์ และมีนัยยะสำคัญแฝงบางอย่าง (ลองไปครุ่นคิดพิจารณาเอาเองนะครับ) มีหลายช็อตมุมกล้องสวยๆที่ทำให้ผมคลั่งไปเลย อาทิ
นอกจากแสงสีแดง (=ราคะ/เลือด) ช็อตนี้ยังมีการซ้อนภาพ (ถ่ายทำ 2 ครั้ง ฟีล์มม้วนเดิม ภาพที่ได้จากการถ่ายครั้งใหม่จะมีลักษณะโปร่งแสง) ให้สัมผัสราวกับตัวละครได้ถอดเอาวิญญาณออกจากร่างกาย
ผมชอบช็อตนี้ที่สุดเลย แสงจากโคมไฟส่องเป็นสามเหลี่ยม แต่แสงส่องด้านหลังสองตัวละครเห็นลางๆเหมือนกล่องสี่เหลี่ยม (มีเส้นตั้งฉากตรงผนังห้อง) การจัดแสงเงาช็อตนี้มีลักษณะเหมือนรูปทรงเรขาคณิต คล้ายกับภาพวาดของ …
ช็อตที่ขึ้นลือชาสุดของหนังคือ Split Screen พบเห็นได้ 3 ครั้งในหนัง,
ครั้งแรกสุด เชื่อว่าหลายคนคงไม่ได้สังเกตเท่าไหร่ เพราะไม่ได้ใช้ 2 ฉากตรงกันข้าม แต่ตัวละคร Annie Hall ปรากฏขึ้นจากสองฝั่งซ้าย-ขวา ดูแล้วคงไม่ใช่นักแสดงแทนแน่ วิธีการของฉากนี้คือถ่ายทำสองครั้งแล้วตัดสองฟีล์มมาต่อกัน ไม่ได้ต่างอะไรจาก Split Screen เสียเท่าไหร่
เห็นชัดแน่ๆกับช็อตนี้ บนโต๊ะอาหาร เป็นการเปรียบเทียบเรื่องราวบนโต๊ะกินข้าวของสองครอบครัว แต่ฝั่งหนึ่งจะเป็นตอนโต อีกฝั่งจะเป็นความทรงจำตอนเด็ก
สำหรับครั้งสุดท้าย เชื่อว่าหลายคนคงโดนหลอกเพราะคิดว่าใช้การตัดฟีล์มจริงๆ แท้จริงแล้วเป็นการสร้าง 2 ฉากขึ้นมาพร้อมกันอย่างเนียนๆ
มันไม่ใช่แค่กับ Split Screen นะครับ หลายครั้งตัวละครยังมีการแบ่งซ้าย-ขวา แยกข้าง ล้วนมีนัยยะแสดงถึงการแบ่งแยกบางสิ่งอย่าง ชาย-หญิง, อดีต-อนาคต, เห็นด้วย-เห็นต่าง, หยิน-หยาง ฯ เพราะหนังเป็นเรื่องราวของคนสองคน มันเลยมีช็อตลักษณะนี้จำนวนมากทีเดียว
การที่ Woody Allen ได้ร่วมงานกับ Gordon Willis ทำให้เขามีวิวัฒนาการความเข้าใจเทคนิคด้านการถ่ายภาพมากขึ้นทีเดียว ยกย่องว่าเป็น ‘a very important teacher’ และ ‘technical wizard’
“Gordon was a very important teacher to me, from a technical point of view. He’s a technical wizard. He’s also a great artist. He showed me things about camera and lighting; it was a real turning point for me in every way. From then on, I really count Annie Hall as the first step toward maturity in some way in making films.”
นอกจาก Annie Hall กับไตรภาค The Godfather ยังมีอีกไฮไลท์หนึ่งที่ต้องบอกว่า ผมคลั่งไคล้มากที่สุดของ Gordon Willis คือผลงานเรื่อง Manhattan (1979)
ตัดต่อโดย Ralph Rosenblum ขาประจำในช่วงแรกของ Allen, ความตั้งใจแรกสุดของผู้กำกับ ต้องการให้หนังมีเรื่องราวกับเกิดขึ้นในหัวของตัวละคร Max ซึ่งใช้การตัดต่อสลับไปมา ไม่เรียงลำดับตามช่วงเวลา อดีต-ปัจจุบัน, ความทรงจำ-จินตนาการ, ความจริง-ความฝัน คลุกเคล้าปะปนเปกระโดดไปมา ต้องใช้การสังเกตสักหน่อยถึงสามารถรับรู้ได้ว่าฉากไหนคืออะไรตอนไหน (ผมรู้สึกว่า หนังเรื่องนี้ดูง่ายกว่า 8½ เยอะเลยละ) แต่ด้วยความยาวของฉบับตัดต่อแรกที่ได้มากกว่า 2 ชั่วโมง 20 นาที มันนานเกินไปมากๆ
“I felt that the film was running off in nine different directions, It was like a first draft of a novel… from which two or three films could possibly be assembled.”
– Ralph Rosenblum
ด้วยเหตุนี้ พล็อตรองหลายๆอย่างจึงถูกตัดออกไป และหนังโฟกัสเฉพาะที่เรื่องราวความสัมพันธ์โรแมนติกระหว่าง Max กับ Annie นี่ทำให้ใจความสำคัญของหนังเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
“I didn’t sit down with Marshall Brickman and say, ‘We’re going to write a picture about a relationship.’ I mean the whole concept of the picture changed as we were cutting it.”
– Woody Allen
ผลลัพท์ที่ออกมา 90 นาทีของหนัง จึงไม่ใช่ความตั้งใจโดยแท้ของผู้กำกับแม้แต่น้อย นี่ทำให้ Allen ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงความผิดหวัง ไม่พึงพอใจต่อหนังเรื่องนี้
“When Annie Hall started out, that film was not supposed to be what I wound up with. The film was supposed to be what happens in a guy’s mind … Nobody understood anything that went on. The relationship between myself and Diane Keaton was all anyone cared about. That was not what I cared about … In the end, I had to reduce the film to just me and Diane Keaton, and that relationship, so I was quite disappointed in that movie”
ผมค่อนข้างสนใจฉบับเต็มของหนังเป็นอย่างมาก น่าเสียดายที่ไม่มีการ Restoration หรือ Director’s Cut ออกวางขาย เพราะคิดว่าวิสัยทัศน์ของ Woody Allen ดูน่าสนใจกว่าผลลัพท์เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับหญิงสาวเป็นไหนๆ
ภาพรวมของการตัดต่อ ถือว่ามีความทะเยอทะยานที่ยิ่งใหญ่ ชักชวนให้ผู้ชมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการคิดวิเคราะห์ทำความเข้าใจตัวละคร และตัวตนของผู้กำกับ Woody Allen, อย่างฉากแรกสุดของหนัง การพูดคุยสนทนาจ้องหน้าผู้ชม นี่เป็นการสื่อสารเพื่อเรียกร้องความสนใจ ปรับเปลี่ยนทัศนะมุมมอง อธิบายลักษณะของหนังว่าเป็นการเล่าถึงตัวตนของเขาเอง จะเรียกว่าเป็นการเกริ่น Prologue หรือคำแนะนำการรับชมหนังก็ได้ เทียบกับบทความก็คือย่อหน้าแรก ที่มักเป็นการสรุปภาพรวมคร่าวๆ
“Annie and I broke up. And I still can’t get my mind around that.”
หรือจะมองว่านี่คือโจทย์ และหนังทั้งเรื่องคือสถานการณ์ คำตอบไม่ได้แอบซ่อนอยู่ตรงๆ ต้องใช้การสังเกตคิดวิเคราะห์ค้นหาคำตอบ แต่ละคนไม่จำเป็นว่าต้องได้เหมือนกัน แต่มันควรมีบางสิ่งอย่างที่ใกล้เคียงกัน
ระหว่างทางของหนัง จะมีฉากที่นักแสดงหันหน้ามาพูดคุยกับผู้ชม (Breaking the Fourth Wall) ที่หนังทำแบบนี้ได้เพราะการเล่าเรื่องเป็นมุมมองในในหัว/ความคิด/ความทรงจำ ของตัวละคร/ผู้กำกับ มันเลยไม่แปลกที่อยู่ดีๆเขาจะหันมาพูดคุยสนทนากับตัวประกอบ ผู้ชม หรือมีเสียงบรรยายอธิบาย (ดังขึ้นในหัว)
บทเพลงในหนังของ Woody Allen มักเป็นแนว Pop/Jazz/Classic ตามรสนิยมความชื่นชอบส่วนตัวของผู้กำกับ ใช้เพื่อตบมุข สร้างสัมผัสกลิ่นอายความรู้สึก เข้ากับบรรยากาศของหนัง, มี 2 บทเพลงที่ Diane Keaton ขับร้องในไนท์คลับ
It Had to Be You เพลงป๊อปล้ำยุค 30s แต่งทำนองโดย Isham Jones ต้นฉบับไม่มีคำร้องนะครับ แต่งเพิ่มโดย Gus Kahn วางแผ่นเสียงจัดจำหน่ายเมื่อปี 1924, น่าเสียดายเพลงนี้ในหนังถูกขัดจังหวะด้วยเสียง Sound Effect ต่างๆมากมายในไนท์คลับ ดังรบกวนสมาธิของ Keaton ทำให้ขับร้องไม่ค่อยเต็มความสามารถเสียเท่าไหร่
เกร็ด: บทเพลงนี้ได้รับความนิยมสูงมาก ได้ถูกนำมาใส่ในหนังหลายสิบเรื่องเลยทีเดียว อาทิ The Roaring Twenties (1939) ขับร้องโดย Priscilla Lane, It Had to Be You (1947) ขับร้องโดย Ginger Rogers, Casablanca (1942) ขับร้องโดย Dooley Wilson, Living in a Big Way (1947) เต้าโดย Gene Kelly ประกบ Marie McDonald, Theme หลักหนังเรื่อง When Harry Met Sally… (1989) ฯ
Seems Like Old Times เพลงป๊อป แต่งทำนองโดย Carmen Lombardo คำร้องโดย John Jacob Loeb บันทึกเสียงขับร้องโดย Guy Lombardo วางแผ่นเสียงจัดจำหน่ายปี 1945, ฉบับที่ขับร้องโดย Diane Keaton ได้รับการจัดอันดับ 90 ของ AFI’s 100 Years…100 Songs เมื่อปี 2004
แถมให้กับ La Dee Dah คำพูดติดปากของ Annie Hall มาจากชื่อเพลงของคู่หูดูโอ้ Billy & Lillie (Billy Ford กับ Lillie Bryant) ร่วมกับ Billy Ford และ The Thunderbirds ทำนองโดย Frank C. Slay, Jr. คำร้องโดย Bob Crowe วางแผ่นเสียงจัดจำหน่ายปี 1958 ติดชาร์ท U.S. Billboard Hot 100 สูงถึงอันดับ 9
ประโยคนี้ยังติดอันดับ AFI’s 100 Years…100 Movie Quotes อันดับที่ 55
Annie Hall ในมุมของผู้ชมทั่วไป จะมองว่าคือหนังรักโรแมนติกไม่สมหวัง ของชายผู้ปัญหากับระบบความคิด ได้พบเจอกับหญิงสาวผู้ร่าเริงสดใส ดูไปก็เข้าคู่น่ารักกันดี แต่พอความสัมพันธ์เริ่มแน่นแฟ้น ต่างกลับพยายามปฏิเสธซึ่งกันและกัน จนเมื่อแยกจากกลายเป็นความทุกข์ระทมช้ำใจ เพิ่งมาตระหนักได้เมื่อสูญเสียความรักซึ่งกันและกันไปแล้ว
ผู้ชมที่มองหนังในลักษณะนี้ ดูจบคงเกิดอาการ’ฟิน’ อารมณ์ประมาณอึดอัดอั้น ตั้งคำถาม ทำไม? ทำไม! สงสารตัวละครของ Woody Allen ตกหลุมหลักสไตล์การใช้ชีวิตของ Annie Hall ความกุ๊กกิ๊กน่ารักของทั้งคู่ ได้แปรสภาพกลายเป็นหนังรอม-คอม (โรแมนติก-คอมเมอดี้) เรื่องราวความรักระหว่างคนสองคนที่ตรงกันข้ามสุดขั้วแต่เติมเต็มซึ่งกันและกัน (odd pairing) เป็นอิทธิพลให้หนังแนวนี้มากมายนับไม่ถ้วน
สำหรับผมแล้วมองหนังเรื่องนี้ คือการครุ่นคิดวิเคราะห์สภาพจิตใจของตัวละคร Max/ผู้กำกับ Woody Allen อะไรคือสิ่งที่ทำให้เขากลายมาเป็นคนแบบปัจจุบันนี้ มีเรื่องราวพื้นฐานอะไร มองโลกอย่างไร และความสัมพันธ์กับผู้หญิงแบบไหน รวมเรียกว่า ‘ประมวลผลทางความคิด ความทรงจำ จิตวิญญาณ ของผู้กำกับตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบันอายุ 40 ปี’
เรื่องความสามารถ แนวคิด ผลงาน ผมคงไม่โต้เถียงว่า Woody Allen เป็นผู้กำกับระดับปรมาจารย์แนวหน้าของโลก เฉลียวฉลาด รอบรู้ คิดเล็กคิดน้อย เก่งเรื่องการคิดวิเคราะห์ โดยเฉพาะกับสภาพจิตใจของตัวเอง และมีเทคนิคการนำเสนอที่แตกต่าง สร้างความสดใหม่ให้กับยุคสมัย, ก็มีหนังหลายเรื่องที่โดยส่วนตัวชื่นชอบ อาทิ Manhattan (1979), The Purple Rose of Cairo (1985), Midnight in Paris (2011) ฯ [แต่ผมยังรับชมไม่ครบนะ พี่แกสร้างหนังมา 40-50 เรื่องแล้วกระมัง เยอะมากๆ] แต่สำหรับ Annie Hall ถือเป็นข้อยกเว้นเพราะเป็นหนังแนวอัตชีวประวัติ ที่จะทำให้คุณเข้าใจตัวตนแท้จริงของเขา ซึ่งเหตุผลที่ผมไม่ชอบหนัง เพราะทำให้ได้ค้นพบตัวตนของ Woody Allen ว่าเป็นคนไร้ซึ่งศีลธรรมจรรยา เห็นแก่ตัว มองโลกในแง่ร้าย และต่อต้านสังคม ไม่สมควรอย่างยิ่งต่อการได้รับยกย่องให้กลายเป็นแบบอย่างต่อผู้อื่น
ตอนที่ Allen อยู่กินฉันท์ภรรยากับ Mia Farrow มีหนึ่งในลูกสาวบุญธรรมสัญชาติเกาหลี Soon-Yi Previn ที่ติดมากับอดีตสามี André Previn พวกเขาอาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน วันหนึ่ง Farrow กลับบ้านมาพบเจอภาพเปลือยของลูกสาว ที่ถ่ายโดย Allen ทำให้ค้นพบว่า คนรักของตนมีความสัมพันธ์ชู้สาวกับลูกสาวบุญธรรม ซึ่งหลังจากขึ้นโรงขึ้นศาลเรื่องราวใหญ่โต ต่อมาทั้งคู่ก็ได้แต่งงานฉันท์สามีภรรยา
โลกเรามีคนสองประเภท
– หนึ่งคือคนที่รับได้กับเหตุการณ์ลักษณะนี้ ก็เด็กหญิงสาวมันร่าน ผู้ชายมันก็มีอารมณ์ ชาติก่อนคงเคยทำบุญร่วมกันมา แค่มองตาคงถาโถมเข้าใส่
– การ Incest แม้จะไม่ใช่กับสายเลือดแท้ๆ แต่กระทำแบบนี้กับบุคคลในครอบครัว ถือเป็นเรื่องผิดศีลธรรมมโนธรรม ยินยอมรับไม่ได้
ประเด็นเรื่องใต้กางเกงของผู้กำกับ/นักแสดงทั้งหลาย ผมไม่ค่อยมีความสนใจเท่าไหร่หรอกนะ อยากมีผัวเมียเป็นสิบก็เรื่องของเขา โคแก่กินหญ้าอ่อน หนูตกถังข้าวสาร ฯ แต่เมื่อใดที่ศิลปินนำเอาเรื่องส่วนตัวถ่ายทอดลงสู่งานศิลปะ จะเพื่อการบำบัดทางจิต สนองกิเลสตัณหา หรือสร้างข้ออ้างของตนเองให้ผู้อื่นเข้าใจตนเอง นี่เป็นสิ่งที่ผมจำเป็นต้องแสดงความคิดเห็น ชอบไม่ชอบ สมควรไม่สมควร เพราะไม่ใช่ทุกเรื่องราวจะสามารถนำมาเผยแพร่ออกสู่สาธารณะได้อย่างเหมาะสม
กับ Annie Hall เมื่อหนังหลงเหลือเพียงความสัมพันธ์รักโรแมนติกระหว่างชายหนุ่มกับหญิงสาว Sex จึงเป็นสิ่งเดียวที่นำทางหนังเรื่องนี้ ในระดับหมกหมุ่น ทำตัวให้ดูน่าสงสารเพราะความรักไม่สมหวัง แต่แท้จริงตัวเขาหาได้สนใจแยแสต่ออะไรยังไงไม่, นี่ไม่ใช่ความรักโรแมนติกเลยนะครับ แต่เป็นการนำเสนอแนวคิดทัศนะ ข้อแก้ต่างให้กับตัวเอง เพราะฉันเป็นแบบนี้ตั้งแต่เกิดจนโต มีความคิดเห็นอย่างนี้ จึงต้องแสดงออกมาลักษณะนี้
ด้วยทุนสร้าง $4 ล้านเหรียญ ทำเงินเฉพาะในอเมริกา $38.3 ล้านเหรียญ สูงสุดในบรรดาหนังของ Woody Allen สมัยนั้น ปัจจุบันถือว่าตัวเลขสูงเป็นอันดับ 4 รองจาก Manhattan (1979), Hannah and Her Sisters (1986) และ Midnight in Paris (2011)
เข้าชิง Oscar ทั้งหมด 5 สาขา ได้มา 4 รางวัล ประกอบด้วย
– Best Picture ** ได้รางวัล
– Best Director ** ได้รางวัล (หนึ่งในผู้ประกาศ King Vidor รับรางวัลแทน)
– Best Actor (Woody Allen)
– Best Actress (Diane Keaton) ** ได้รางวัล
– Best Writing, Screenplay Written Directly for the Screen ** ได้รางวัล
มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมไม่รู้สึกเสียเวลาในการรับชมหนังเรื่องนี้ คือการค้นพบว่า หนังชีวประวัติที่น่าสนใจที่สุดในโลก คือการสร้างด้วยลักษณะจิตวิเคราะห์แบบหนังเรื่องนี้ กล่าวคือ คุณต้องเข้าไปในหัว ความคิด จิตวิญญาณ ของบุคคลนั้นๆ จะสามารถทำให้ผู้ชมสามารถรับรู้ตัวตนทุกสิ่งอย่าง ถึงขนาดอาจพยากรณ์อนาคตการกระทำของเจ้าของชีวประวัตินั้นได้เลย, แต่การจะทำได้ขนาดนั้น ผมว่าก็มีแต่ผู้กำกับระดับปรมาจารย์ ที่จะทำภาพยนตร์อัตชีวประวัติของตนเองได้เท่านั้น
นี่ไม่ใช่หนังรักโรแมนติกที่ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ในความคิดของผม แต่คือหนังอัตชีวประวัติเชิงจิตวิเคราะห์ที่มีความยอดเยี่ยมที่สุดในโลก
แนะนำกับหนุ่มสาวผู้แสวงหาเรื่องราวของความรัก และต้องการล่อลวงคู่ครองให้มี Sex, สนใจชีวประวัติของผู้กำกับ Woody Allen และ Diane Keaton, ผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งหลาย เรียนรู้การทำงานจากปรมาจารย์ และตากล้องผู้ชื่นชอบรู้จัก Gordon Willis ในตำนาน
จัดเรต 13+ กับทัศนคติ ความไร้ศีลธรรม และชักชวนให้มี Sex
Leave a Reply