Aparajito (1956) : Satyajit Ray ♥♥♥♥
(17/8/2019) หลังจากเด็กชาย Apu เบิ่งตะวันกับ Pather Panchali (1955) ก็ถึงเวลาที่จะเติบโต ปรับตัว เรียนรู้จักโลกกว้าง ก้าวออกเดินทางสู่เมืองใหญ่ และเผชิญหน้าการสูญเสียสองครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ในไตรภาค The Apu Trilogy ที่โดยส่วนตัวมีความชื่นชอบน้อยสุดคือ Aparajito (1956) แต่ถึงอย่างนั้นเรื่องคุณภาพ ต้องชมว่าเทียบเคียง Pather Panchali (1955) ก็ถึงขนาดไปคว้ารางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice กลายเป็นภาพยนตร์ ‘ภาคต่อ’ เรื่องแรกเรื่องเดียวในประวัติศาสตร์เทศกาลหนัง (Big 3) ที่สามารถคว้ารางวัลใหญ่ไปครอบครอง
เหตุผลที่โดยส่วนตัวไม่ค่อยชื่นชอบ Aparajito สักเท่าไหร่ เกิดจากการมองหนังในมุมของแม่ ตรอมใจตายเพราะคิดถึงลูกจนเสียชีวิต นั้นเป็นสิ่งโง่เง่า เห็นแก่ตัว แสดงถึงความหมกมุ่น มักมาก ไม่สามารถปลดปล่อยวาง เรียนรู้จักเพียงพอดีใน ‘ความรัก’ บ้างเลยหรือไร?
ความรักของแม่ต่อลูก ที่ยิ่งใหญ่เพราะความบริสุทธิ์ไม่ต้องการอะไรตอบแทน แต่ถ้ามีมากล้นจนเกินไป ก็เหมือนเถาวัลย์เลี้อยเลาะ เกาะผูกมัด รัดเหนี่ยวรั้งอิสรภาพของบุตร มิให้ดิ้นหลุดไปไหน … นั่นคือความเห็นแก่ตัวที่จะก่อร่างสร้างอคติ ผู้ถูกรัดจักพยายามดิ้นพร่านให้หลุดพ้นพันธนาการ และเมื่อใดประสบความสำเร็จมักไม่คิดหวนกลับคืนมาอีกเลย
“บุตรของเธอ…ไม่ใช่บุตรของเธอ
เขาเหล่านั้นเป็นบุตรและธิดาแห่งชีวิต”– ปรัชญาชีวิต (A Prophet) โดยคาลิล ยิบราน
Aparajito แปลว่า The Unvanquished, การไม่สามารถเอาชนะ หรือก้าวข้ามผ่านอะไรบางอย่าง ซึ่งในบริบทของหนังนี้ย่อมสื่อถึงแม่ ผู้ไม่สามารถปลดปล่อยวาง คลายความรัก ยึดติดกับลูกชาย Apu ต้องการอยู่เคียงชิดใกล้ ไม่อยากให้เหินห่างไปไหน เพราะตนเองขณะนั้นไม่หลงเหลือใครอีกแล้ว ใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อยไร้ค่า วันๆเฝ้าแต่โหยหา ครุ่นคำนึงถึง จนไม่เป็นอันกินอันนอน หมดสิ้นไร้เรี่ยวแรงกำลังใจ สุดท้ายตรมตรอมตายจากไป หลงเหลือไว้เพียงความทุกข์ทรมานให้คนอยู่เบื้องหลัง
Satyajit Ray (1921 – 1992) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal Presidency ปู่เป็นนักเขียน นักดนตรี จิตรกร นักปรัชญา, บิดาเป็นนักกวี เขียนบทละครเวที แต่พลันด่วนจากไปตอนลูกชายอายุได้เพียงสามขวบ โตขึ้นเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ Presidency College, Calcutta ถึงอย่างนั้นความสนใจส่วนตัวกลับคือวิจิตรศิลป์ แม่เลยโน้มน้าวให้เข้าศึกษาต่อ Visva-Bharati University, Santiniketan จนได้ปริญญาศิลปตะวันออก (Oriental Art) จบออกมาทำงานบริษัทโฆษณา Signet Press เป็นนักออกแบบ Graphic Design รับงานโฆษณา วาดภาพ ทำปกหนังสือ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ Pather Panchali (1929) ของ Bibhutibhushan Bandyopadhyay (1894 – 1950) นักเขียนผู้บุกเบิกวรรณกรรมภาษา Bengali สมัยใหม่ ต่อมาได้มีโอกาสนำหนังสือเล่มดังกล่าวสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Pather Panchali (1955)
Ray ไม่ได้มีความครุ่นคิดอยากสร้างภาคต่อของ Pather Panchali แต่เพราะความสำเร็จอันล้นหลาม เลยได้รับการทาบทามจากนายทุนให้สร้างภาคต่อ ซึ่งก็ได้นำเอา
– ช่วงท้ายของนวนิยาย Pather Panchali ตอนที่ Apu และครอบครัวเดินทางมาถึง Calcutta
– ประกอบกับหนึ่งในสามของนวนิยายภาคต่อ Aparajito จบสิ้นที่การเสียชีวิตของแม่
ดั้งเดิมในฉบับนวนิยาย จะมีตัวละครหนึ่งชื่อ Leela แฟนสาวของ Apu คือบุคคลฉุดเหนี่ยวรั้งเขาไว้ช่วงวันหยุดยาว ทำให้ไม่ได้เดินทางกลับบ้าน (เป็นเหตุให้แม่ตรอมใจเสียชีวิต) ซึ่งผู้กำกับ Ray ได้คัดเลือกนักแสดงหญิงไว้เรียบร้อยแล้ว แต่พอจะถึงวันถ่ายทำจริง คู่หมั้นของเธอกลับไม่ยินยอมอนุญาต จะหานักแสดงใหม่ก็ไม่ทันกาลเสียแล้วเลยปล่อยค้างคาไว้ก่อน … กระทั่งตัดต่อหนังเสร็จรับชมดู ก็พบว่าไม่จำเป็นต้องเพิ่มเติมประเด็นนี้เข้ามา
“I’m never sure, whether Apu’s attachment to the city without the element of the girlfriend is strong enough, the pull that the city exerts is a bit abstract”.
– Satyajit Ray
นอกจากนี้ยังมีหลากหลายรายละเอียดในหนัง ได้รับการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องชีวิตผู้กำกับ Ray อาทิ เมื่อเขาเดินทางมาศึกษาต่อยัง Calcutta ได้ทำงานในโรงพิมพ์ (แบบเดียวกับ Apu) เหน็ดเหนื่อยจนผลอยหลับในชั้นเรียน, นั่งชมเรือ วาดฝันอยากเดินทางไปต่างประเทศ ฯลฯ
เรื่องราวเริ่มต้น ค.ศ. 1920, ครอบครัว Roy เดินทางขึ้นรถไฟมาถึงเมือง Varanasi รัฐ Uttar Pradesh พ่อผู้เป็นพราหมณ์ Harihar (รับบทโดย Kanu Banerjee) หาเลี้ยงชีพจากการสวดมนต์ อธิษฐาน ให้พรกับผู้คนผ่านไปมาบริเวณ Ghats ริมแม่น้ำคงคา กระทั่งค่ำคืนเทศกาล Diwali พลันล้มป่วยเสียชีวิตหลังจากนั้น ทำให้แม่ Sarbajaya (รับบทโดย Karuna Banerjee) ต้องทำงานเป็นคนรับใช้ หาเงินมาจุนเจือดูแลครอบครัว จนกระทั่งได้รับความอนุเคราะห์จากลุง ตัดสินใจเดินทางกลับรัฐ Bengal พักอาศัยอยู่ที่ Mansapota แล้วส่ง Apu ไปฝึกหัดวิชาพราหมณ์เหมือนพ่อ แต่เด็กชายกลับใคร่สนใจเรียนหนังสือ แถมโตขึ้นสอบได้ทุนการศึกษายัง Calcutta
Kanu Banerjee (1905 – 1983) นักแสดงภาพยนตร์/ละครเวที แม้ก่อนหน้านี้มีผลงานอยู่หลายเรื่อง แต่ได้รับการจดจำก็เพียงแค่ Pather Panchali (1955) และ Aparajito (1956), รับบทพ่อ Harihar Roy ที่พอย้ายมาอยู่เมืองใหญ่ ก็สามารถทำงานหาเงิน ช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แต่ไม่รู้โชคชะตาหรือว่าอะไร มีเหตุให้เจ็บป่วยได้ไข้ เสียชีวิตจากไปแบบไม่มีใครคาดคิดถึง
Karuna Banerjee (1919 – 2001) นักแสดงภาพยนตร์/ละครเวที แจ้งเกิดกับ Pather Panchali (1955), Aparajito (1956) และยังได้ร่วมงานผู้กำกับ Ray เรื่อง Devi (1960), Kanchenjungha (1962), รับบทแม่ Sarbajaya Roy ที่ถึงแม้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานต่อความยากจนอีกต่อไป แต่เพราะไม่คุ้นเคยกับเมืองใหญ่เลยเต็มไปด้วยความหวาดระแวง ซึ่งหลังจากสามีพลันด่วนเสียชีวิต ทำให้เธอกลายเป็นหัวหน้าครอบครัว พยายามหาหนทางดีที่สุดเลี้ยงดู Apu จนกระทั่งเติบใหญ่ พยายามฉุดเหนี่ยวรั้งไว้เพราะหลงเหลือลูกเป็นที่พึ่งสุดท้าย แต่เมื่อเขาย้ายไปร่ำเรียนหนังสือยัง Calcutta วันๆก็ได้แต่โหยหา เฝ้ารอคอย จนไม่เป็นอันกินอันนอน
Smaran Ghosal รับบทเด็กชาย Apu วัยสิบขวบ ยังเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ซุกซน มองหาสิ่งเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ กระทั่งพ่อเสียชีวิตจากไป ทีแรกเริ่มครุ่นคิดหันหน้าเข้าหาศาสนา(ติดตามพ่อ) แต่เพราะวันๆไร้ผองเพื่อน รายล้อมไปด้วยผู้ใหญ่ เลยเปลี่ยนมาสนใจการเรียนหนังสือ เอาดีด้านนี้มากกว่า
Pinaki Sen Gupta รับบท Apurba ‘Apu’ Roy วัยรุ่นหนุ่มอายุ 17-18 ปี สอบได้ที่สองของจังหวัด ทุนการศึกษาเดือนละ 10 รูปี แต่ต้องไปเรียนต่อยัง Calcatta ทำให้ต้องร่ำราจากแม่ อยากจะตั้งใจเรียนแต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาดจากอาชีพทำงาน นานๆถึงกลับบ้านได้ที แต่แค่หยุดยาวครั้งนี้ขอเวลาพักผ่อนอ่านหนังสือ กลับได้รับข่าวร้ายที่ก็ไม่รู้จะยินดีหรือเศร้าโศกเสียใจ
ถ่ายภาพโดย Subrata Mitra (1930 – 2001) หลังจากลองผิดลองถูกกับ Pather Panchali (1955) เรื่องนี้ถือว่ามีประสบการณ์มากขึ้น แต่ก็ได้รับความท้าทายใหม่จากการถ่ายทำฉากในเมืองใหญ่
หลายๆอย่างของ Aparajito สามารถเปรียบเทียบ/อ้างอิงถึง Pather Panchali, ไล่ตั้งแต่ Opening Credit ที่วิวัฒนาการขึ้นจากเขียนชื่อทีมงานใส่กระดาษ คราวนี้ปรับเปลี่ยนมาเป็น … ผมว่าก็ยังกระดาษอยู่นะ แต่ใช้เครื่องพิมพ์ตัวอักษร และไม่ยับพับครึ่งเหมือนภาคแรก
ช็อตแรกของหนัง (ไม่นับตอนขบวนรถไฟ) ถ่ายมุมเงยขึ้นฟ้า ขณะที่ Pather Panchali เพื่อนบ้านกำลังสวดอธิษฐาน, Aparajito กำลังให้อาหารนก แผ่ส่วนบุญส่วนกุศล
ความท้าทายของฉากนี้เกิดจากข้อเรียกร้องผู้กำกับ Ray ต้องการสร้างอพาร์ทเม้นท์ในสตูดิโอ แล้วแสงสว่างจะมาจากไหน?
ตากล้อง Mitra ทดลองผิดลองถูกอยู่พักใหญ่ เพราะการจัดแสงโดยทั่วไป (ติดตั้งหลอดไฟไว้บนเพดานสาดส่องลงมา) ทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาดูฝืนธรรมชาติ หยาบกระด้าง จนกระทั่งครุ่นคิดค้นเทคนิค ‘Bounce Light’ ใช้ผ้าขาวขึงเป็นฉากด้านบน สะท้อนแสงสาดส่องขึ้นไปจากเบื้องล่าง ผลลัพท์ทำให้เกิดความเนียนของแสงตกกระทบผิวตัวละคร แนบเนียนจนแทบสังเกตอะไรไม่ออก
เกร็ด: ด้วยเหตุนี้ Mitra เลยได้รับฉายาเจ้าชายแห่งแสงสว่าง (prince of light)
ความที่ Pather Panchali ถ่ายทำยังชนบท ทำให้มีสรรพสัตว์อยู่มากมาย แต่ Aparajito ถ่ายทำในเมืองเป็นส่วนใหญ่ แม้พอพบเห็นสุนัข วัว ลิง แต่บางครั้งก็มาในรูปภาพวาด เปรียบ Apu กับ น่าจะสุนัข เพราะกำลังวิ่งเล่นไล่จับกับเพื่อน (อีกคนจะยืนข้างภาพกระต่าย)
หนังไม่พูดเอ่ยถึงชื่อเทศกาลในค่ำคืนนี้ แต่ชาวอินเดียจะรับรู้ได้ทันทีว่าคือ Diwale เทศกาลแห่งแสงสว่าง (และวันขึ้นปีใหม่ของชาวอินเดีย) เสียงประทัดก็เพื่อขับไล่ความชั่วร้าย แต่กลับกลายเป็นพ่อที่ล้มป่วยหนัก (หรือว่าเขาคือความชั่วร้ายที่กำลังถูกขับไล่)
ผู้กำกับ Ray น่าจะชื่นชอบผลงานของ John Ford มากๆเลยนะ ดูอย่างช็อตนี้ พ่อหมดเรี่ยวแรงล้มลง ถ่ายตรงตรอกที่รอบข้างมีความมืดมิดสนิท สะท้อนถึงปริมาณชีวิตที่กำลังคับแคบลงเรื่อยๆ
ซีนที่ได้รับการพูดถึงมากสุดของหนัง วินาทีที่พ่อเสียชีวิต ตัดไปให้เห็นภาพฝูงนกกำลังโผลออกบินยามพลบค่ำ สะท้อนได้ถึงความตาย จิตวิญญาณได้รับอิสรภาพออกจากเรือนร่างกาย ล่องลอยโบยบินไปสู่โลกหน้า
แม่กำลังต้องตัดสินใจบางอย่างเพื่ออนาคตของลูก นำเสนอด้วยการกำลังเดินลงจากบันได กล้องค้างตำแหน่งนี้ไว้ ใบหน้าค่อยๆประชิดเข้าใกล้ และได้ยินเสียงหวูดรถไฟลอยมา
ขณะที่รถไฟใน Pather Panchali มีนัยยะความเพ้อฝันถึงอนาคต Aparajito กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเดินทาง เฝ้ารอคอย(ของแม่) และการตัดสินใจเลือกของ Apu
บ่อยครั้งที่หนังถ่ายภาพผ่านประตู ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกระหว่างแม่-ลูก, อย่างช็อตนี้ แม่จับจ้องมอง Apu กำลังวิ่งเล่นออกห่างจากเธอไปเรื่อยๆ ไม่สามารถก้าวออกไปวิ่งไล่ ติดตามทันได้อีกต่อไป
ฉากที่ Apu บอกกล่าวกับแม่ว่าได้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่อยัง Calcutta เงาด้านหลังของเธอดูมีขนาดใหญ่ สะท้อนถึงความมืดที่ค่อยๆคืบคลาน ปกคลุมจิตใจ เพราะหลังจากนี้เมื่อลูกรักจากไป แม่คงไม่หลงเหลืออะไรให้แสงสว่างความอบอุ่น
ผมมีความชื่นชอบช็อตนี้เป็นพิเศษ, เสาไม้สองต้นขนาบระหว่างลูกโลก ตะเกียง และแม่กำลังค่อยๆเดินออกจากเงามืดตรงประตู นัยยะถึงกรอบที่ครอบความครุ่นคิด/ต้องการของเธอไว้ สนเพียงอย่างเดียวคืออยากให้ลูกรักอยู่เคียงข้างตนเอง ไม่อยากปลดปล่อยให้เขาก้าวออกไปสู่โลกของตนเอง
ฉากที่แม่ร่ำลากับ Apu ช่างมีความงดงามตราตรึงมากๆ เริ่มต้นจากรอยยิ้มอำลา กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าหา หุบยิ้มลงมาสีหน้าเศร้าสร้อย จากนั้นหันหลังกลับเข้าบ้านไป กล้องถอยห่างออกมา … เวลาอยู่ต่อหน้าลูก แม่พยายามปั้นยิ้มไว้ให้ดูเข้มแข็ง แต่พอลับหลังเท่านั้นเอง ก็เริ่มแสดงออกความรู้สึกแท้จริงออกมา
อนุนามมัย (Synecdoche) คือ การกล่าวถึงส่วนย่อยที่มีลักษณะเด่นของสิ่งนั้นๆ มากล่าวแทนสิ่งที่ต้องการกล่าวถึงทั้งหมด เป็นการเปรียบเทียบโดยนำเอาลักษณะเด่นที่เป็นส่วนหนึ่งมากล่าวแทนทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น
– คนมีสี หมายถึง ข้าราชการ
– มันสมอง หมายถึง ปัญญาชน
ฯลฯ
ในบริบทนี้ผู้กำกับ Ray ต้องการสร้างอนุนามมัยให้กับ ‘Apu’ ซึ่งเมื่อใครๆในโลกกล่าวถึงชื่อนี้ ย่อมสามารถรับล่วงรู้ได้ทันทีว่าหมายถึงภาพยนตร์เรื่องนี้
แม่เฝ้ารอคอย Apu แล้วจู่ๆสุนัขตัวนี้ก็โผล่เข้ามา เป็นการเปรียบเทียบสถานะของเธอตรงๆ ไม่ต่างอะไรจากหมาข้างถนน (ไม่รู้ตัวเดียวกันกับ Pather Panchali หรือเปล่านะ)
ความตายของแม่ เกิดขึ้นขณะยืน/นั่งอยู่ตรงประตู จับจ้องมองถนนที่ลูกชายอาจกำลังเดินกลับเข้ามาหา แม้ในความมืดมิดยามค่ำคืน มองไม่แทบเห็นอะไร แต่อีกประเดี๋ยวหิ่งห้อยระยิบระยับปรากฎเข้ามา ถือว่าตรงกันข้ามกับพ่อที่ขณะเสียชีวิต ฝูงนกจะโบยบินออกจากรัง
Apu เมื่อรับทราบช่าวเร่งรีบเดินทางกลับบ้าน ปรากฎว่าไม่เจอใครทั้งนั้น กระทั่งเดินมาสะดุดรากไม้ พบเห็นลุง(ที่เป็นญาติห่างๆ) ค่อยๆตระหนักขึ้นได้ว่าแม่คงเสียชีวิตจากไปแล้ว กล้องค่อยๆเคลื่อนถอยออกห่าง ไม่มีโอกาสกระทั่งได้พบเห็นหน้าครั้งสุดท้าย
ลุงพยายามชักชวนให้ Apu ปักหลักพักอาศัยอยู่บ้านหลังนี้ แต่เพราะเขาไม่หลงเหลือใครให้เหนี่ยวรั้งต่อไปอีกแล้ว ตัดสินใจเลือกหนทางชีวิตที่สนองความต้องการของตนเอง ก้าวออกจากประตูบ้าน ทอดทิ้งลุงไว้เบื้องหลังภายใน
ตัดต่อโดย Dulal Dutta (1925 – 2010) ขาประจำหนึ่งเดียวของผู้กำกับ Ray, หนังสามารถแบ่งออกเป็น ครึ่งแรก-ครึ่งหลัง ดำเนินเรื่องคู่ขนานสลับไปมาระหว่าง
– ครึ่งแรก, Apu วิ่งเที่ยวเล่น และพ่อหางานทำเลี้ยงดูแลครอบครัว
– ครึ่งหลัง, Apu ร่ำเรียนหนังสือ และแม่อยู่บ้านด้วยความโหยหา
เรื่องราวจะแบ่งออกเป็นตอนๆ แบบเดียวกับ Pather Panchali (1955) แต่จะไม่โดดเด่นชัดเจนสักเท่าไหร่ สามารถสังเกตได้จากการ Fade-into-Black บ่งบอกจุดเริ่มต้น-สิ้นสุด
เพลงประกอบโดย Ravi Shankar (1920 – 2012) นักเล่น Sitra ที่หวนกลับมาร่วมงานผู้กำกับ Ray อีกครั้ง หลังความสำเร็จของ Pather Panchali (1955)
งานเพลงถือว่ามีวิวัฒนาการขึ้นจาก Pather Panchali ไม่ใช่แค่เสียง Sitra ที่โดดเด่นด้วยลวดลีลาแทนอารมณ์ (คลุกเคล้าทั้งความสนุกสนาน และเจ็บปวดรวดร้าว) แต่ยังขลุ่ยไม้ไผ่ดังสอดแทรกขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ มอบสัมผัสอันโหยหวนล่องลอย ทุกข์ทรมาน เพราะชีวิตในเมืองใหญ่มักเต็มไปด้วยความเพ้อฝัน แต่ใช่ว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จนั้นเข้ากับตนเอง
หลายคนอาจมองว่า Apu เป็นเด็กอกตัญญู ทอดทิ้งแม่ให้อยู่ตัวคนเดียว เปล่าเปลี่ยว โหยหา จนเธอหมดสิ้นหวังอาลัย และตรอมใจตายในที่สุด … แต่นั่นมันความผิดของเขาจริงๆนะหรือ?
ในมุมของ Apu ตั้งแต่เด็กพานพบเห็นชีวิตครอบครัวที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก อดมื้อกินมื้อ เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยาพรรคเพื่อนฝูง แต่หลังจากได้อาศัยอยู่เมืองใหญ่แม้ในช่วงเวลาสั้นๆ ช่างมีความสุขสบาย อิ่มหนำ ยิ่งตอนแม่ทำงานคนรับใช้ บ้านหลังใหญ่หรูหราขนาดนั้น ทำให้เด็กชายเกิดความเพ้อใฝ่ฝัน กลายเป็นพราหมณ์แบบพ่อคงไม่มีวันได้รับ ตัดสินใจร่ำเรียนหนังสือ เพื่อสร้างโอกาสให้ได้หวนกลับไปใช้ชีวิตในเมืองใหญ่
เหตุผลของการที่ Apu ตัดสินใจไม่กลับบ้าน สามารถตีความได้หลากหลายอย่าง
– ต้องการเวลาว่างให้ตนเอง อ่านหนังสือ เที่ยวเล่น พักผ่อน ดีกว่าเหน็ดเหนื่อยเสียเวลากับการเดินทางสามชั่วโมงบนรถไฟ
– เบื่อหน่ายเวลากลับไปบ้าน หนังสือก็ไม่ได้อ่าน ถูกแม่อ้อนวอน โน้มน้าว พยายามเรียกร้องโน่นนี่นั่นอยู่ได้
ผมไม่ได้พยายามจะแก้ตัวแทน Apu นะครับ เพราะในปริมาณหนึ่งก็ถือเป็นความผิดของเขาที่ไม่เข้าใจแม่ตนเอง มองไม่เห็นความสำคัญครอบครัว ต้องการทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้เบื้องหลัง โหยหาความสุขสบาย ลุ่มหลงใหลในสังคมเมืองใหญ่ เลยแสดงออกอย่างเห็นแก่ตัวออกมา
อาการเจ็บป่วยของแม่ที่เกิดจากความโหยหาครุ่นคิดถึงต่างหาก มันช่างน่าสมเพศเวทนา ทำไมเธอถึงไม่สามารถมองโลกในแง่ดี เฝ้ารอคอยวันลูกเรียบจบ แต่งงาน กลายเป็นย่าเลี้ยงหลาน … คือมันมีอะไรๆอีกมากมายไม่รู้จบ ที่สามารถเป็นความหวัง กำลังใจ ให้ชีวิตดำเนินอยู่ต่อไป
ทำไมแม่ถึงไม่สามารถปลดปล่อยวาง คลายความยึดติดกับลูกลงได้? เหตุผลทั่วไปใครๆคงมองว่า เพราะเธอไม่หลงเหลือใครให้พึ่งพักพิง เลยไร้ซึ่งเป้าหมายในการดำรงชีพอยู่ต่อไป แต่ผมมองสิ่งเกิดขึ้นกับแม่ สะท้อนถึงวัฒนธรรม/ค่านิยมของอินเดีย ที่ผูกติดวิถีชีวิตกับครอบครัวมากจนเกินไป ผู้หญิงต้องคือช้างเท้าหลัง ไม่สามารถเอาตัวรอดด้วยตนเองถ้าขาดบุรุษ นี่รวมไปถึงปัญหาการศึกษาที่ยังเข้าไม่ถึงหมู่มาก (เหมือนว่าผู้หญิงจะยังไม่ได้รับอนุญาตให้เรียนหนังสือด้วยนะ) คนรู้น้อยย่อมเสมือนกบในกะลา มองไม่เห็นความเป็นไปได้อันไร้จุดสิ่งสุด
สิ่งที่ผู้กำกับ Ray ค้นพบตนเองในตัว Apu คือความพยายามที่จะแหกแหวกธรรมเนียมดั้งเดิมของอินเดีย โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างภาพยนตร์ เพราะยุคสมัยนั้น Bollywood เป็นสูตรสำเร็จที่มีเพียงร้อง-เล่น-เต้น รักโรแมนติกชวนเพ้อฝัน กลายมาเป็น ‘Parallel Cinema’ คู่ขนานที่สามารถสรรค์สร้างเรื่องราวอะไรก็ได้ ไม่จำต้องจมปลักอยู่กับอะไรซ้ำๆ หรือถูกเหนี่ยวรั้งด้วยระบบสตูดิโอเข้ามาควบคุมครอบงำ
Apu ในช็อตสุดท้ายของหนัง สามารถสะท้อนได้ถึงผู้กำกับ Ray เดินออกจากกัปดักความยึดติดในขนบธรรมเนียมภาพยนตร์ Bollywood เพื่อก้าวมุ่งสู่โลกใบใหม่ของตนเอง
หนังได้เสียงตอบรับค่อนข้างแย่ในประเทศอินเดีย เพราะการตรอมใจตายของแม่ แสดงถึงความอกตัญญูของ Apu เป็นสิ่งที่สังคมสมัยนั้น ไม่อยากพบเห็น ยินยอมรับกันไม่ได้เท่าไหร่! (ผู้ชม/นักวิจารณ์ชาวอินเดีย มักให้ความสนใจภาพยนตร์ที่มีคุณประโยชน์ทางสังคม/จริยธรรม มากกว่าคุณค่าทางศิลปะ)
แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice คว้ามาถึงสามรางวัล
– Golden Lion
– New Cinema Award: Best Film
– FIPRESCI Prize
ถึงจะบอกไปตอนต้นว่าไม่ค่อยชื่นชอบหนังเท่าไหร่ แต่ก็เฉพาะในมุมมองความรักของแม่ที่มากล้นเกินไปเท่านั้นนะครับ (มองเป็นเนื้อหาด้อยสุดของทั้งไตรภาคเลย) ภาพรวมถือว่าค่อนข้างชื่นชอบ ประทับใจในไดเรคชั่นผู้กำกับ Stayajit Ray ไม่ด้อยไปกว่า Pather Panchali นอกจากนี้ก็งานภาพสวยๆริมฝั่งแม่น้ำคงคาของ Subrata Mitra และเพลงประกอบไพเราะเสนาะหูโดย Ravi Shankar ยังคงตราตรึงทรงคุณค่าเหนือสิ่งอื่นใด
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ตั้งคำถามตนเองถึงการกระทำของพ่อ-แม่ และ Apu เป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสมหรือเปล่า? ถ้ามันถูกเพราะอะไร? ผิดแล้วแก้ไขอย่างไรให้เหมาะสม? นำมาเป็นบทเรียนสอนใจ อย่าให้เรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นกับตน
จัดเรต PG กับความตาย
คำโปรย | การเดินทางของ Satyajit Ray ใน Aparajito ก็เพื่อสามารถก้าวข้ามผ่าน กัปดักความยึดติดแห่งชีวิต
คุณภาพ | ทรงคุณค่า
ส่วนตัว | ค่อนข้างชอบ
Aparajito (1956) : Satyajit Ray
(7/3/2016) เรื่องที่ 2 ของไตรภาค The World of Apu โดยปรมาจารย์ผู้กำกับ Satyajit Ray หนังเรื่องนี้มักถูกมองว่ามีความยอดเยี่ยมน้อยที่สุดในทั้ง 3 เรื่อง แต่ยังถือว่ามีคุณภาพในระดับสูงมากๆ การันตีด้วยอันดับ 88 ของนิตยสาร Sight & Sound (ต่ำสุดใน 3 เรื่อง) ผมเช็คดูพบว่า ไม่มีหนังไตรภาคเรื่องอื่น ที่ทั้ง 3 เรื่องติดอันดับต่ำกว่า 100 ของนิตยสารนี้อีกแล้ว
ตอนสร้าง Pather Panchali ไม่มีใครคิดว่าผลตอบรับมันจะออกมาดีนัก Satyajit ก็ไม่ได้มีแผนจะทำภาคต่อ แต่เมื่อหนังประสบความสำเร็จ เขาก็ได้รับการกระตุ้นให้สร้างภาคต่อออกมา ครานี้แทนที่ Satyajit จะใช้วิธีการเดิมที่เขาดัดแปลงจากนิยายออกมาอย่างซื่อตรง เขาหาญกล้าที่จะทำการแก้ไขดัดแปลงหลายๆส่วนในประเด็นที่เขาสนใจ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับ Apu ที่กลายเป็นประเด็นหลักของหนังเรื่องนี้ ผมจะเล่าให้ฟังช่วงท้ายๆนะครับ
นิยาย Pather Panchali ของ Bibhutibhushan Bandopadhyay ไม่รู้เหมือนกันว่ามีกี่เล่ม Aparajito เป็นชื่อหนังสือในลำดับที่ 5 ในนิยายจะมีตัวละครหญิงคนหนึ่ง ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของ Apu อย่างมาก (ในนิยายเธอจะกลายแฟนของ Apu) เห็นว่า Satyajit ได้คัดเลือกนักแสดงไว้ด้วยแล้ว แต่คู่หมั้นของเธอไม่ต้องการให้แสดง จึงทำให้ Satyajit ต้องตัดบทของตัวละครนี้ทิ้งไปเลย อิทธิพลที่ว่านี้คือ การเป็นเอกเทศของ Apu นับตั้งแต่ที่พ่อตาย Apu ได้เปลี่ยนไป เขาดูไม่มีความสุขนักเมื่ออยู่กับแม่ และแม่ก็ไม่อยากให้ Apu ไปไหน อยากให้เขาอยู่ใกล้ๆ ความสัมพันธ์ของทั้งสองดูห่างไกลกันออกไปเรื่อยๆ แต่เพราะความเป็นแม่ลูก ทำให้ Apu รู้สึกตัวเองยังมีความรับผิดชอบอยู่ ตัวละครหญิงนี้เป็นจะเป็นคนที่ทำให้ Apu รู้ตัวว่าตัวเองโตแล้ว สามารถเป็นเอกเทศ มีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องทำตามที่แม่ร้องขอก็ได้ แต่เมื่อตัวละครนี้ไม่อยู่ในหนัง ประเด็นนี้เลยหายไป
นักแสดงนอกจากพ่อและแม่ Kanu Banerjee และ Karuna Banerjee แล้ว ที่เหลือเป็นตัวละครใหม่ทั้งหมด Apu ได้นักแสดงคนใหม่ Smaran Ghosal ที่รับไม้ต่อได้ดีทีเดียว Apu คนนี้ยังมีความร่าเริงสดใส เมื่อครอบครัวย้ายเข้าไปอยู่ในเมืองใหญ่ ความรู้สึกเขาเหมือนการได้เจอกับรถไฟครั้งแรก มันดูตื่นตาตื่นใจ ตื่นเต้น เขามีเพื่อนใหม่ ได้ทำอะไรในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่ความสุขนั้นมันก็มีอยู่ไม่นาน เมื่อพ่อของเขาจากไป โลกแห่งความจริงกลับเข้ามาหา Apu อีกครั้ง
Pinaki Sen Gupta รับไม้ต่ออีกครั้งกับ Apu วัยรุ่น เขาอาศัยอยู่กับแม่ในชนบท นี่เป็นสถานที่ที่เขาไม่อยากอาศัยอยู่ เพราะมันทำให้นึกถึงความทรงจำวัยเด็ก(ที่เขาอยากลืม) Apu ตั้งใจเรียน เพื่อเป็นทางออกไปจากสถานที่แห่งนี้ เขาได้ทุนเข้าไปเรียนในเมืองใหญ่ เด็กโตขึ้นกลายเป็นผู้ใหญ่ สักวันเขาต้องออกจากอ้อมอกของครอบครัว ถึงเวลาแล้วที่ Apu อยากออกไปจากสถานที่แห่งนี้ เขารู้สึกไม่พอใจที่แม่ไม่อยากให้เขาไป ทำไมแม่ไม่อยากให้เขาไปละ … เพราะเธอไม่เหลือใครแล้ว Apu คือคนสุดท้าย ผมคิดว่า Apu เข้าใจเหตุผลนี้นะครับ แต่เขาก็ไม่สามารถจะทนอยู่ในสถานที่แห่งนี้ได้ ขนาดว่าเขาขอให้แม่ไปกับเขา แต่แม่ไม่ไป เธอไม่มีแรงเหลือที่จะพบเจอสิ่งใหม่ๆ นี่คือสถานที่สุดท้ายที่รอวันตายของเธอ เมื่อเป็นอย่างนี้เธอก็ไม่สามารถห้าม Apu ได้ เธอจึงต้องปล่อย Apu ไป
ผมก็มีแม่แบบนี้ เลยเข้าใจความรู้สึก Apu ได้เป็นอย่างดี เพราะผมก็เป็นคล้ายๆ Apu คือต้องการเป็นอิสระจากครอบครัว อยากมีชีวิตเป็นของตัวเอง อยากอยู่ด้วยตัวเองไม่ต้องพึ่งใคร แต่ผู้ใหญ่มักจะไม่เข้าใจเรา คิดว่าเราเป็นของเขา และต้องเป็นของเขาตลอดไป ผมไปอ่านเจอในหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ ปรัชญาชีวิต A Prophet เขียนโดย Khalil Gibran (คาลิล ยิบราน) มีเรื่องราวตอนหนึ่งที่มีความหมายดีมากๆ
บุตรของเธอ…ไม่ใช่บุตรของเธอ
เขาเหล่านั้นเป็นบุตรและธิดาแห่งชีวิต
เขามาทางเธอ แต่ไม่ได้มาจากเธอ
และแม้ว่าเขาอยู่กับเธอ แต่ก็ไม่ใช่สมบัติของเธอ
เธออาจจะให้ความรักแก่เขา แต่ไม่อาจให้ความนึกคิดได้
เพราะว่าเขาก็มีความนึกคิดของตนเอง
เธออาจจะให้ที่อยู่อาศัยแก่ร่างกายของเขาได้
แต่มิใช่แก่วิญญาณของเขา
เพราะว่าวิญญาณของเขานั้น อยู่ในบ้านของพรุ่งนี้
ซึ่งเธอไม่อาจเยี่ยมเยือนได้ แม้ในความฝัน…
ถ่ายภาพโดย Subrata Mitra ตัดต่อโดย Dulal Dutta เพลงประกอบโดย Ravi Shankar ทีมงานเดิมยกชุด ด้วยความที่หนังได้ทุนสร้างมากขึ้น ทำให้สามารถจ้างนักแสดง ตัวประกอบได้มากขึ้น ฉากในเมืองเราจะเห็นความพลุกพล่านของผู้คน ตึกรามบ้านช่องสมัยก่อน Subrata สามารถถ่ายทอดภาพวิถีชีวิตของชาวเมืองออกมาได้อย่างสวยงาม สำหรับเพลงประกอบ Ravi Shankar แต่งขึ้นใหม่หมดเลย แต่ยังคงใช้ sitra เป็นเครื่องดนตรีหลักเหมือนเดิม
มีเทคนิคหนึ่งที่เกิดในระหว่างการถ่ายทำ เรียกว่า bounce lighting เหตุเกิดเพราะ ช่วงนั้นมรสุมกำลังเข้า ฝนตกหนักและยาวนาน art director Bansi Chandragupta ตัดสินใจทิ้งแผนที่จะสร้างฉากในบ้านพักจริงๆ (เพราะกลัวมรสุมทำให้ฉากเสียหาย) มาเป็นสร้างในสตูดิโอ Subrata พยายามอธิบายความยากในการถ่ายทำ เพราะฉากพวกนั้นต้องใช้แสงจากดวงอาทิตย์ แต่ถ่ายในสตูดิโอ แสงไฟมันไม่เหมือนแสงอาทิตย์ นั่นทำให้เขาประดิษฐ์อุปกรณ์ bounce lighting มีลักษณะเป็นผ้าทาสีขาวยกถือหลังกล้อง เพื่อสะท้อนแสงจากไฟจำลองเป็นแสงอาทิตย์ นี่เป็นเทคนิคที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และได้กลายมาเป็นเทคนิคที่มีการใช้อย่างกว้างขวาง ในปัจจุบัน หนังแทบทุกเรื่องก็จะมีการยกฉากสีขาวหลบหลังกล้องเพื่อสะท้อนแสงให้ได้ความสว่างตามที่ต้องการ
เราสามารถแบ่งหนังออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือชีวิตในเมืองของพ่อ-แม่ และ Apu มันเป็นช่วงเวลาสั้นๆ หนังนำเสนอวิถีชีวิตในเมืองสมัยนั้นออกมาได้สวยงามมาก คนที่เข้าใจวิถีชีวิตของอินเดียคงจะรู้ว่าทำไมถึงต้องลงไปอาบน้ำตอนเช้า ทำไมกลุ่มของผู้หญิงถึงนั่งฟังพ่อของ Apu อ่านบทกวี ฯ หลังจากพ่อตายก็เข้าช่วงสอง เหลือแค่ 2 แม่ลูก แม่ตัดสินใจกลับไปอยู่บ้านของลุง ส่วน Apu อยากเรียนหนังสือ และได้ค้นพบว่าโลกมันช่างกว้างใหญ่เหลือเกิน มีอะไรมากมายที่เขาอยากรู้อยากเห็น
ประเด็นที่ถือว่าร้อนแรงมากในสมัยนั้น คือการที่ Apu ต้องการเป็นเอกเทศน์จากครอบครัว เขาสนใจที่จะเรียนหนังสือ มากกว่าดูแลแม่ของตัวเอง แม่ที่รอเขากลับบ้านในช่วงวันสำคัญ แต่ Apu กลับใช้เวลานั้นเที่ยวเตร่อยู่ในเมืองไม่กลับบ้าน เชื่อว่าหลายคนอาจมองสาเหตุที่แม่ตาย เพราะตรอมใจที่ถูกลูกทอดทิ้ง ในหนังอธิบายแก้ต่างว่าแม่ป่วยเรื้อรังมานานแล้ว แต่ผมคิดว่าเหตุผลที่ทำให้แม่ตาย คือ เธอไม่มีเป้าหมายอะไรในชีวิตเหลือแล้ว ตอนผมรีวิว Pather Panchali ได้วิเคราะห์ตัวละครพ่อกับแม่ พ่อเป็นคนที่เชื่อในคุณค่าของคน ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ส่วนแม่เธอไม่สนอะไรต้องการแค่อิ่มท้อง เท่านี้ก็สุขแล้ว นี่แสดงถึงเธอเป็นคนไม่มีเป้าหมายอะไรอื่นเลยในชีวิต นอกจากครอบครัวที่มีความสุข เลี้ยงลูกจนโต แต่งงานมีหลาน นี่คือเป้าหมายของเธอ ณ วันที่ Apu ออกจากบ้าน นั่นคือวันที่เป้าหมายของเธอถือว่าทำสำเร็จแล้ว (แม้จะไม่ครบทุกอย่างก็เถอะ) ช่วงเวลาที่เหลืออยู่ เธอไม่สามารถหาเป้าหมายอะไรในการมีชีวิตอยู่ได้เลย … รอวันลูกกลับบ้าน แค่นั้นเหรอ?
สไตล์ของ Satyajit คือการเล่าเรื่อง เขาไม่บอกว่าสิ่งที่ Apu ทำนั้นดีหรือไม่ดี ควรทำหรือไม่ควรทำ แต่เปิดกว้างให้คนดูได้คิดและรู้สึกเอง ส่วนตัวผมไม่คิดว่า Apu เป็นเด็กไม่ดีนะครับ ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปเมื่อลูกโตขึ้น พ่อแม่ไม่ควรคาดหวังอะไรจากเขาแต่ควรจะสนับสนุน นั่นจะทำให้เขากลับมาเอง การถูกบังคับไม่ทำให้เด็กเห็นความสำคัญ แต่ความสมัครใจต่างหาที่เขาจะเห็นมันคือความจำเป็น ปมนี้กับผู้ชายมักจะเกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก เพราะความที่แม่เป็นคนจู้จี้จุกจิก เรื่องมาก ภาพนี้จำติดตา เมื่อเทียบกับพ่อที่ดูสงบ สุขุม ใจเย็น เด็กชายชอบความเท่ห์ๆแบบนี้ เขาจะมีพ่อเป็น idol ประจำตัว โตขึ้นอยากเป็นเหมือนพ่อ (ผู้ชายแท้ๆ ไม่มีใครโตขึ้นอยากเป็นเหมือนแม่นะครับ) ในภาค 2 นี้เรายังเห็นไม่ชัดนะครับ ถ้าภาค 3 นี่ชัดเลย ความคิดของ Apu คล้ายพ่อมากๆ นี่คือเหตุผลที่ผมคิดว่าทำให้ Apu ไม่อยากอยู่กับแม่ อยากเป็นเอกเทศน์และอยากเป็นเหมือนพ่อมากกว่า
ภรรยาของ Satyajit ห่วงสามีของเธอมาก เพราะประเด็นของ Apu นี้รุนแรงมากๆ (สมัยนั้นมอง Apu เป็นเด็กอกตัญญูกันเลย) เธอคิดว่าคนในประเทศเราจะยอมรับลูกที่ทอดทิ้งแม่ให้ตายได้เหรอ “Do you think people in our country will accept a son’s relief at having won his freedom at his mother’s death?” Satyajit เข้าใจประเด็นและตอบว่า ลองดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะตอนที่แม่ตาย Apu มีความรู้สึกเสียใจจริงๆ เมื่อเขาระลึกได้การตายของแม่คือเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเขาไม่น้อย “let’s see what happens. After all, later Apu was full of regret at his initial reaction upon his mother’s death. And as he realized, her death actually came as a very big blow to him.”
ใครดูภาคแรกแล้ว ดูภาคนี้ต่อได้เลย ใครที่เผลอเข้ามาอ่านแต่ยังไม่ได้ดูภาคแรก จงไปหาภาคแรกมาดูก่อนนะครับให้เรื่องมันต่อเนื่องกัน ไม่ควรอยู่ดีๆกระโดดมาดูภาคนี้ แต่จะดูก็ได้ไม่มีใครห้ามคุณได้ แต่อรรถรสบางอย่างจะหายไป ความเข้าใจต่อพื้นฐานของตัวละครมันทำให้คุณอินกันเนื้อเรื่องไม่พอแน่ๆ จัดเรต PG เท่าภาคที่แล้วนะครับ
คำโปรย : “Aparajito เรื่องที่สองของ The Apu Trilogy โดย Satyajit Ray กับความหาญกล้าในการเล่าความปัญหาสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก ด้วยความซื่อตรง และสวยงามที่สุด”
คุณภาพ : SUPERB
ความชอบ : SO-SO
เรื่องความรักเป็นเรื่องซับซ้อนทำไมมองเห็นแก่ตัวละ