Apocalypse Now (1979)
: Francis Ford Coppola ♥♥♥♥♡
(13/5/2018) ออกเดินทาง(ล่องเรือ)สำรวจจิตใจของตนเอง ว่าใกล้จะกลายเป็นคนบ้าเสียสติแตกหรือยัง โดยเป้าหมายปลายทางอยู่ในป่าลึกท่ามกลางอารยธรรมโบราณ มีพันเอกผู้บ่นพึมพัมแต่คำว่า ‘Horror’ คือตัวแทนของสิ่งชั่วร้ายด้านมืดมิดสุดในจิตใจมนุษย์, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ถึงพื้นหลังของเรื่องราวจะคือสงครามเวียดนาม หน้าหนังมีใจความต่อต้าน (Anti-War) แต่แท้จริงแล้ว Apocalypse Now ต้องการสำรวจ ท้าทาย ต่อสู้กับด้านมืดความชั่วร้ายในจิตใจ จะเอาชนะได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่ที่ตัวเราเอง
Apocalypse Now เป็นภาพยนตร์ที่ครั้งหนึ่งในชีวิต สมควรต้องหาโอกาสรับชมในโรงภาพยนตร์ ความยิ่งใหญ่อลังการของหนัง ไม่มีทางที่ผู้ชมจะสามารถสัมผัสผ่านได้แค่จากหน้าจอโทรทัศน์ หรือมือถือแท็ปเล็ตภาพเล็กๆ มันจะเป็นการเหยียดหยามเกียรติเสียด้วยซ้ำ เหมือนเอาหูฉลามชามละหลายพัน โยนให้หมาข้างถนนกิน คงอร่อยปากมันแต่หาได้รับรู้คุณค่าราคาแม้แต่น้อย
ผมแอบเสียดายทึ่งหนังโลกครานี้ไม่ว่างไปรับชม แถมฉายต้นฉบับ Theatrical Release ความยาว 147 นาที ที่หา(โหลด)ดูได้ยากยิ่ง ส่วนใหญ่จะพบแต่ Apocalypse Now Redux ความยาว 196 นาที มีการเพิ่มหลายฉากเติมเต็มเรื่องราวให้สมบูรณ์ขึ้น (แต่ก็มีความอืดอาด เยิ่นเย้อขึ้นเช่นกัน), กระนั้นการ Revisit บทความนี้ จะอ้างอิงพูดถึงฉบับ Original โชคดีบังเอิญหามาได้ ส่วนตัวรู้สึกชื่นชอบประทับใจมากกว่า Redux เสียอีกนะ
จุดเริ่มต้นของ Apocalypse Now มาจากคำท้าของ George Lucas และ Steven Spielberg ต่อเพื่อนสนิท John Milius นักเขียน/ผู้กำกับ สัญชาติอเมริกัน ที่ตอนนั้นอาสาสมัครเป็นทหารเข้าร่วมสงครามเวียดนาม แต่ถูกบอกปัดเพราะป่วยเป็นโรคหอบหืบ, เมื่อไม่ได้ไปไหนก็ต้องหางานทำ รับคำท้าพัฒนาบทภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับสงครามเวียดนาม หวนระลึกถึงนิยายเรื่อง Heart of Darkness (1899) ของนักเขียน Joseph Conrad (1957 – 1924) สัญชาติ Polish-British ปรับเปลี่ยนเรื่องราวจากการเดินทางล่องแม่น้ำ Congo มุ่งสู่ใจกลางของทวีปแอฟริกา มาเป็น Nùng River (แม่น้ำนี้ไม่มีอยู่จริง แต่คาดว่าคือชื่อสมมติของแม่น้ำโขง) มุ่งสู่ดินแดนอารยธรรมโบราณของประเทศกัมพูชา
นิยาย Heart of Darkness ได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน Joseph Conrad ก่อนหน้าแต่งนิยายขายเคยเป็นพ่อค้าเรือเดินสมุทร (Merchant Marine) ออกเดินทางทั่วยุโรป เมื่อปี 1890 ได้รับมอบหมายให้ล่องเรือตามลำแม่น้ำ Congo ระหว่างทางเกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นมากมาย
เรื่องราวของ Charles Marlow พ่อค้าเรือเดินสมุทร ได้รับมอบหมายจากบริษัทค้างาช้าง (Ivory Trading Company) ให้เดินทางล่องแม่น้ำ Congo ขึ้นไปสืบสวนตรวจสอบ Mr. Kurtz ผู้จัดการ Trading-Post สาขาหนึ่งในทวีปแอฟริกา ที่ไปสร้างความประทับใจให้ชาวเผ่าพื้นเมืองเคารพยกย่องราวกับพระเจ้า แม้ปริมาณงาช้างที่ส่งออกมาจะมากล้นเกินความต้องการ แต่ถือว่าผิดปกติ มันเกิดอะไรขึ้นกับชายคนนี้หรือเปล่า?
เกร็ด: คำพูดประโยคสุดท้ายของ Mr. Kurtz พึมพัมออกมาก่อนตายว่า “The horror! The horror!” ซึ่งหนังก็เคารพคารวะนิยาย ด้วยการเลือกใช้ข้อความนี้ในตอนจบเช่นกัน
สำหรับชื่อหนังแรกสุดมี Working-Title คือ The Psychedelic Soldier แต่ฟังดูเฉิ่มเชยไปหน่อย ครั้งหนึ่งพบเห็นเข็มกลัด (Badge) ของชาวฮิปปี้ มีข้อความว่า ‘Nirvana Now’ รู้สึกว่าเจ๋งดี ตรงกันข้ามก็คือ Apocalypse Now เจ๋งกว่า
แม้ Milius จะเคยกำกับภาพยนตร์มาบ้าง แต่คิดว่าโปรเจคนี้เหมาะกับเพื่อนสนิท George Lucas พวกเขาร่วมเตรียมงานสร้างกันถึง 4 ปี (พร้อมๆกับ American Graffiti และ Star Wars) เดินทางไปสำรวจหาสถานที่ถ่ายทำยังประเทศฟิลิปปินส์เรียบร้อยแล้ว ตั้งงบประมาณ $2 ล้านเหรียญ ใช้กล้อง 16mm ถ่ายทำแบบสารคดี (Cinéma Vérité) คิดจะใช้ทหารจริงๆบันทึกภาพขณะสู้รบในสงครามด้วย แต่เพราะสตูดิโอ Fox วิตกกังวลในความปลอดภัยของ Lucas เพราะเกี่ยวเนื่องพัวพันกับหลายงานเหลือเกิน เลยขอให้เขาตัดสินใจขึ้นหิ้งโปรเจคนี้ไว้ก่อน
สำหรับ Coppola เมื่อรับรู้การมีตัวตนของโปรเจคนี้ เกิดความหลงใหลใคร่สนใจอย่างมาก จ่ายค่าลิขสิทธิ์ล่วงหน้าให้ Milius สูงถึง $15,000 เหรียญ และบอกจะเพิ่มให้อีก $10,000 เหรียญ ถ้าได้รับการอนุมัติสร้าง พูดคุยกับ George Lucas ที่เพราะงานล้นมือ เลยยอมปล่อยให้เพื่อนสนิท หลังเสร็จจาก The Godfather Part II (1974) ก็เริ่มออกหาที่ทางถ่ายทำ ประเมินงบตั้งต้นไว้ที่ $12-14 ล้านเหรียญ
Francis Ford Coppola (เกิดปี 1939) นักเขียน ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Detroit, Michigan ครอบครัวสืบเชื้อสายอิตาเลี่ยน ปู่ทวดอพยพจาก Naples, พ่อเป็นนัก Flutist ประจำวง Detroit Symphony Orchestra, มีพี่น้องสามคนเป็นคนกลาง (น้องสาว Talia Shire เป็นนักแสดง) ตอนเด็ก Coppola ป่วยเป็นโปลิโอ จำต้องพักรักษาตัวอยู่บ้านหลายเดือน ช่วงนั้นทำให้เขารู้จักการเล่นหุ่นเชิด (Puppet Theater) อ่านหนังสือ A Streetcar Named Desire เกิดความสนใจด้านการละคร ตอนแรกตั้งใจเลือกเรียนดนตรีตามพ่อ แต่เมื่อรับชม October: Ten Days That Shock the World (1928) ของ Sergei Eisenstein ตัดสินใจแน่วแน่ต้องการเป็นผู้สร้างภาพยนตร์
หลังเรียนจบจาก Hofstra University และ University of California, Los Angeles กำกับภาพยนตร์แนวทดลองเรื่องแรก Tonight for Sure (1962) ดิ้นรนไปเรื่อยๆจนกระทั่ง You’re a Big Boy Now (1966) ออกฉายสายประกวดหลักเทศกาลหนังเมือง Cannes แถมเข้าชิง Golden Globe Award: Best Motion Picture – Musical or Comedy ถูกจับตามองฐานะหนึ่งในผู้กำกับรุ่น New Hollywood, คว้า Oscar ตัวแรกจากการเขียนบทดั้งเดิม Patton (1970) เลยได้รับโอกาสกำกับ The Godfather (1972) โด่งดังกลายเป็นตำนานโดยทันที
Coppola ให้คำนิยาม Apocalypse Now ว่า ‘a comedy and a terrifying psychological horror story’ โดยตั้งใจให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์อันเลวร้ายของสงคราม และมีปฏิกิริยาไม่แตกต่างจากผู้คนที่ผ่านมันมา
“I wanted to take the audience ‘through an unprecedented experience of war and have them react as much as those who had gone through the war’.”
ในช่วงระหว่างสงครามเวียดนาม, Captain Willard (รับบทโดย Martin Sheen) ได้รับการเรียกตัวจาก Colonel Lucas (รับบทโดย Harrison Ford) เพื่อปฏิบัติภารกิจลับ ติดตามล่าฆ่าสังหาร Colonel Walter E. Kurtz (รับบทโดย Marlon Brando) ผู้ประวัติการทำงานดีเลิศยาวเป็นหางว่าว แต่เหมือนจะเริ่มเสียสติแตกกลายเป็นคนบ้า หายตัวข้ามเวียดนามไปหลบซ่อนยังประเทศกัมพูชา นั่นทำให้ Willard ต้องขึ้นเรือ River Patrol Boat (PBR) ล่องย้อนขึ้นไปบน Nùng River พบเจอเหตุการณ์ต่างๆและความสูญเสียมากมายแบบคาดคิดไม่ถึง
เกร็ด: สังเกตว่าหนังไม่มีเครดิตต้นเรื่องและตอนจบ แต่กฎหมายเรื่องลิขสิทธิ์จำต้องให้เห็นโลโก้หรือตัวอักษรแทนชื่อหนังปรากฎอยู่ ซึ่งวิธีการที่ผู้กำกับใช้ สังเกตกันพบหรือเปล่าเอ่ย? มี Graffiti ฉากหนึ่งเขียนว่า Our Motto: Apocalypse Now ในฉากที่กลุ่มพระเอกเดินทางถึงใจกลางของประเทศกัมพูชา
Martin Sheen ชื่อจริง Ramón Gerard Antonio Estévez (เกิดปี 1940) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Dayton, Ohio พ่ออพยพจากสเปน แม่มาจากไอร์แลนด์ ครอบครัวพี่น้องสิบคน ตอนเด็กป่วยเป็นโปลิโอนอนรักษาตัวอยู่บ้านเป็นปีๆ แม่เสียตอนอายุ 11 เกือบต้องถูกส่งไปสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า โชคดีได้รับการอนุเคราะห์จาก Holy Trinity Catholic Church ทำให้มีศรัทธาในศาสนาแรงกล้า, สนใจการแสดงจากการรับชม James Dean แต่พ่อไม่อนุญาติ โตขึ้นเลยขอเงินจากบาทหลวงคนสนิทเดินทางสู่ New York สานฝันจนมีโอกาสสมทบซีรีย์โทรทัศน์ แสดง Broadway โด่งดังจาก The Subject Was Roses (1968), Badlands (1973), มาทดสอบบท Michael เรื่อง The Godfather แม้จะไม่ได้ แต่ก็เข้าตาผู้กำกับ Coppola กลายเป็นตัวเลือกแรกของ Apocalypse Now (1979) กระนั้นเพราะ Sheen ตบปากรับคำเล่น Mean Streets (1973) ของผู้กำกับ Martin Scorsese ไปแล้ว ก็ว่าคงหมดโอกาส สุดท้ายภายหลังถูกขอสลับตัวกับ Harvey Keitel (เพราะทำตัวเรื่องมากเกินในกองถ่าย Coppola เลยขอแลกเปลี่ยนนักแสดงกับ Scorsese)
แม้ Sheen จะไม่เคยเข้าชิง Oscar สักครั้ง แต่ก็กลายเป็นตำนานจากซีรีย์ The West Wing (1999–2006) คว้ารางวัล Emmy และ Golden Globe for Television
รับบท Captain Benjamin L. Willard ทหารผ่านศึกที่เข้าร่วมสงครามเวียดนามมากว่า 3 ปี ตราติดตรึงกับภาพความโหดร้ายสูญเสีย จิตใจค่อยๆแปรสภาพเหมือนสัตว์ป่า โหยหาเลือดและภารกิจ สิ่งที่จะทำให้ตนเองรู้สึกมีชีวิตและลืมเลือนภาพติดตราของสงครามชั่วคราว, เมื่อได้รับภารกิจติดตามล่าสังหารผู้พัน Kurtz เกิดความใคร่สนใจอย่างยิ่งยวดต่อชายคนนี้ เพราะมีประวัติพื้นหลังใกล้เคียงกับตนเอง ระหว่างเดินทางก็ค่อยๆศึกษาเรียนรู้จักทำความเข้าใจ เพื่อว่าขณะเผชิญหน้าจะได้พร้อมตัดสินใจ ลงมือหรือทำอะไรกับเขาดี
ตัวละครนี้เวลาอยู่ตัวคนเดียว เกือบจะเป็นคนบ้าเสียสติแตก ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกอัดอั้นทุกข์ทรมานภายในไว้แทบไม่อยู่ คล้ายกับนกในกรงที่พยายามดิ้นรนหาทางออกไปสู่โลกภายนอก แต่เมื่อไหร่ได้รับติดต่อจากผู้บังคับบัญชา ออกเดินทางเพื่อปฏิบัติภารกิจ ภายนอกสุขุมสงบนิ่ง (จริงๆจะเขียนว่าเยือกเย็น แต่นึกเห็นภาพเหงื่อเม็ดโป้งๆท่วมตัว คงใช้คำนี้ไม่ได้แน่) ปั้นหน้าเครียดจริงจังตลอดเวลา และการแสดงออกหนักแน่นด้วยหลักการไม่สั่นคลอน
นักแสดงที่เป็นตัวเลือกแรกของ Coppola คือ Steve McQueen แต่ได้รับการบอกปัดเพราะไม่อยากทำงานนอกอเมริกา ตามด้วย Al Pacino เข็ดหลาบจากการถ่ายทำ The Godfather Part II, นักแสดงอื่นๆ อาทิ Tommy Lee Jones, Keith Carradine, Nick Nolte
เห็นว่าระหว่างถ่ายทำ Sheen อยู่ดีๆหัวใจล้มเหลวขึ้นมา โชคดีได้รับการช่วยเหลือทันพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ผู้กำกับ Coppola ติดต่อน้องชายของเขา Joe Estevez ทั้งใบหน้าและน้ำเสียงโคลนมาเหมือนกันเปี๊ยบ ให้มาเป็นนักแสดงแทน ซึ่งเสียงบรรยายของตัวละครทั้งหมดที่ได้ยิน ก็เป็นของ Estevez เช่นกัน เพราะขณะนั้น Sheen หาเวลาว่างไม่ได้เลย ติดพันหลายโปรเจค
ฉากที่ผมชื่นชอบสุดของ Sheen เห็นว่าพี่แกจงใจดื่มจนเมา (ในวันเกิดครบรอบ 36 ปี) ขณะนั้นติดเหล้าหนักมากกำลังหาวิธีเลิก เลยขอแสดงฉากนี้โดยขอให้กล้องถ่ายไปเรื่อยๆไม่มีคัท รำมวยถอดเสื้อผ้า ชกกระจกเลือดอาบบาดนิ้วโป้งเป็นแผล และเห็นว่าเกือบได้มีเรื่องชกต่อยผู้กำกับเพราะตั้งใจจะสั่งหยุดถ่ายทำ, พอหลังสร่างเมาเห็นตัวเองในสภาพนี้รับไม่ได้ เลยได้เลิกเหล้าจริงๆ
Marlon Brando Jr. (1924 – 2004) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน ผู้ทรงอิทธิพลสุดในวงการภาพยนตร์ เกิดที่ Omaha, Nebraska, ตั้งแต่เด็กมีความสามารถพิเศษอย่างหนึ่ง คือการเลียนแบบพฤติกรรมของเพื่อนๆ และสามารถแสดงออกมาเช่นนั้น ‘in character’ ได้ตลอดเวลา โตขึ้นมุ่งสู่ New York เข้าเรียนการแสดงที่ Erwin Piscator’s Dramatic Workshop มีอาจารย์คือ Stella Adler ที่ได้นำเอาทฤษฎีของ Stanislavski มาสั่งสอน ปรับประยุกต์เป็นสไตล์ของตนเอง มีผลงาน Broadway หลายเรื่อง กระทั่งได้รับเลือกให้แสดงใน A Streetcar Named Desire จึงมีโอกาส Debut กับภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด, ตามด้วย On the Waterfront (1954), The Godfather (1972), Last Tango in Paris (1972) ฯ
รับบท Colonel Walter E. Kurtz นายทหารผู้มีความสามารถเก่งกาจ ปฏิบัติภารกิจทุกอย่างสำเร็จลุล่วง ได้รับประดับเกียรติยศนับไม่ถ้วน แต่ครั้งหนึ่งเมื่อวิธีการของเขาเกินกว่าที่ผู้บังคับบัญชาจะยินยอมรับได้ ‘unsound’ เลยถูกตีตราหน้าว่าเป็นคนบ้าเสียสติแตก ตัดสินใจพาหน่วยทหารของตนหลบหนีเข้าสู่ดินแดนประเทศกัมพูชา แต่นั่นทำให้เขาป่วยหนักใกล้ตาย เฝ้ารอคอยวันที่ใครสักคนจะมามารับรู้ สานต่อ เผยแพร่ข้อเท็จจริงสู่โลกภายนอก
สิ่งที่ทำให้ Kurtz กลายสภาพเป็นเช่นนั้น เพราะภารกิจนานับประการที่ได้รับมอบหมาย ค่อยๆสะสมเพิ่มพูนความอัดอั้นเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ภาพความโหดร้ายตราติดตรึงฝังใจไม่ลืมเลือน นั่นไม่ใช่สิ่งเรียกว่า Trauma แต่คือ Horror ที่ได้หลอกหลอนเขย่าขวัญสั่นประสาทอยู่ภายในตลอดเวลา มีเพียงหนทางเดียวเท่านั้นจะสามารถลบเลือนเอาชนะได้ นั่นคือความตาย
เกร็ด: Brando รู้สึกว่า Kurtz เป็นชื่อที่ไม่เหมาะกับทหารอเมริกันแม้แต่น้อย ตลอดการถ่ายทำเลยเปลี่ยนเป็น Leighley แต่นั่นเพราะเขาไม่เคยอ่านนิยาย Heart of Darkness แถมไม่ยอมแลระหว่างการถ่ายทำด้วยเพราะกลัวสร้างอิทธิพลให้กับตนเอง ซึ่งหลังจากถ่ายทำเสร็จถึงมีโอกาสได้อ่านจนจบ เกิดความชื่นชอบหลงใหล ถึงขนาดสั่งให้ (ใช้คำว่า Demand เลยนะ) ผู้กำกับเปลี่ยนชื่อตัวละครกลับเป็น Kurtz โดยทันที
แม้ Brando จะคือตัวเลือกแรกของ Coppola แต่สภาพและความมากของเขาขณะนั้นเป็นที่ดูแคลนต่อหลายๆสตูดิโอจนไม่ค่อยมีใครอยากจ้างวาน แถมค่าตัวสูงถึง 3.5 ล้านเหรียญ กับระยะเวลาถ่ายทำ 6 สัปดาห์ และต้องจ่ายก่อนล่วงหน้า $1 ล้านเหรียญ ซึ่งถ้าตกลงไม่สำเร็จก็มีตัวเลือกรองๆอย่าง Jack Nicholson, Robert Redford, James Caan แต่บทบาทนี้ถือว่าเป็นของ Brando เท่านั้นที่ยินยอมตอบตกลง
วันแรกของการถ่ายทำมาถึงฟิลิปปินส์ในสภาพสมบูรณ์อ้วนพี ตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์ที่ควรเป็นโดยสิ้นเชิง สร้างความร้าวฉานให้ Coppola อย่างยิ่ง แต่จะไล่ออกยกเลิกสัญญาก็สายเกินแล้ว เลยต้องใช้วิธีถ่ายทำแต่ในความมืด สวมชุดดำมองเห็นแค่ใบหน้าระยะประชิด Close-Up แล้วว่าจ้างนักแสดงหุ่นล่ำบึกบึนเข้าฉากสวมรอยแทน
แต่จากที่ควรเป็นปมด้อยของหนัง กลับกลายเป็นตำนานที่สร้างความลึกลับพิศวงให้กับตัวละคร ดูเหมือนวิญญาณแห่งความชั่วร้ายที่ล่องลอยอยู่ท่ามกลางความมืดมิด และการแสดงของ Brando ที่โคตรจะ Surreal สมเกินจริงไปมาก (บางคนคงฟังไม่รู้เรื่องด้วยว่าตัวละครพูดอะไรอยู่ นั่นมันภาษามนุษย์หรืออะไรกันแน่?) ยิ่งทำให้ตัวละครนี้แม้งหลอนน่ากลัวชิบฉาย พูดคำว่า Horror ออกจากปาก สั่นสะท้านไปถึงขั้วหัวใจของผู้ชม
เกร็ด: บทกลอนที่ตัวละครนี้อ่านนำจาก The Hollow Men (1925) ประพันธ์โดย T. S. Eliot (1888 – 1965) สัญชาติอเมริกัน ที่เห็นว่าได้แรงบันดาลใจจากนิยาย Heart of Darkness ด้วยนะ
Robert Selden Duvall (เกิดปี 1931) นักแสดงยอดฝีมือสัญชาติอเมริกัน คว้า Oscar: Best Actor จากเรื่อง Tender Mercies (1983) ผลงานเด่นอื่นๆ To Kill a Mockingbird (1962), True Grit (1969), MASH (1970), The Godfather (1972), Network (1976), Apocalypse Now (1979) ฯ
รับบท Lieutenant Colonel William ‘Bill’ Kilgore ผู้บัญชาการทหารอากาศ Air Cavalry ที่ชื่นชอบการเล่น Surf เป็นชีวิตจิตใจ มีความเก๋าเกมรักพวกพ้องและรู้วิธีปลุกใจลูกน้อง (เปิดเพลง Wagner: Ride Of The Valkyries) แต่จริงๆแล้วตัวเขาเหมือนจะไม่สนอะไรอย่างอื่นนอกจากความสำราญของตนเอง เพราะนั่นอาจคือสิ่งเดียวที่ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองเหมือนกำลังมีชีวิตอยู่
นักแสดงที่เป็นตัวเลือกแรกของ Coppola คือ Gene Hackman แต่เจ้าตัวบอกปัดเพราะไม่อยากบินไปเสี่ยงตายถึงฟิลิปปินส์ ส้มหล่นใส่ Duvall ที่แม้จะเป็นบทสมทบเล็กๆ (แต่ก็ถ่ายทำเป็นเดือนอยู่) แต่ต้องภาพลักษณ์อันโคตรนิ่งราวกับพ่อพระของเขาเท่านั้น ถึงสามารถกล้ายืนถอดเสื้อในสนามรบ ขณะที่คนอื่นวิ่งกระโดดหลบลงหลุม ไร้ซึ่งความกลัวเกรงต่อสิ่งใดๆใต้หล้า
ถ้าไม่อยากเป็นบ้า ก็ต้องเล่นเป็นคนบ้าเสียเอง, นัยยะของ Sequence นี้ เปรียบเทียบการต่อสู้รบ/สภาพจิตใจของทหารในสงคราม เข้ากับกีฬาเซิร์ฟโต้คลื่น ที่ผู้เล่นต้องพยายามทำให้ตัวเองอยู่บนกระดานโต้เหนือน้ำให้ยาวนานที่สุดโดยไม่ลื่นล้มตก เพราะถ้าพลาดพลั้งเผลอจมลงเมื่อไหร่ก็อาจสูญเสียสิ้นชีวิต พิการ หรือกลายเป็นบ้าเสียสติแตกได้
เกร็ด: ในฉบับ Redux คุ้นๆว่าหนังตบมุกด้วย Kilgore ถูกขโมยกระดานโต้คลื่น คงสื่อนัยยะถึง เมื่อไม่มีงานอดิเรกนี้หมอนี่คงกลายเป็นบ้าแน่ๆ
และ Duvall ได้กลายเป็นเจ้าของวลีเด็ดที่กลายเป็นตำนาน ติดอันดับ 12 ของชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Movie Quotes
“I love the smell of napalm in the morning”.
สำหรับนักแสดงสมทบอื่นๆ ขอเอ่ยถึงแค่คร่าวๆที่พอมีชื่อเสียงแล้วกัน
Laurence Fishburne (เกิดปี 1961) ในเครดิตใช้ชื่อ Larry Fishburne รับบท Tyrone ‘Mr. Clean’ Miller มือปืนหน้าละอ่อนประจำเรือ เพราะความที่ยังเด็กอยู่มาก ทำให้หลงผิดกระทำการพลาดพลั้งขั้นรุนแรง กราดยิงคนตายแบบไม่ตั้งใจ จากนั้นผลกรรมตามทันท่วงทีแบบที่จะทำให้ผู้ชมรวดร้าวทุกข์ทรมานใจแบบสุดๆ, Fishburne ขณะนั้นอายุเพียง 14 ปี แต่โกงอายุหลอกว่าตัวเองอายุ 17 แต่เพราะความล่าช้าของโปรเจค หนังได้ออกฉายตอนที่เขาอายุครบ 17 พอดี *-*
Dennis Lee Hopper (1936 – 2010) นักแสดงรุ่นใหญ่ที่มีผลงานตั้งแต่ Rebel Without a Cause (1955), Giant (1956), กำกับภาพยนตร์เรื่อง Easy Rider (1969) ฯ รับบท นักข่าวอเมริกันไร้ชื่อ พบเจอตอนที่กลุ่มของพระเอกมาถึงใจกลางของประเทศกัมพูชา พูดจาน้ำไหลไฟดับฟังไม่ได้สดับ หมอนี่ท่าจะบ้า สติสตางค์ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว สร้างสีสันความน่ารำคาญมากยิ่งนักแล
Harrison Ford (เกิดปี 1942) รับบท Colonel G. Lucas [ชื่อนี้เพื่อเป็นการอ้างอิงถึง George Lucas ที่เกี่ยวข้องกับโปรเจคตั้งแต่แรก] ผู้บังคับบัญชาของ Capt. Willard ออกคำสั่งให้เขาไปปฏิบัติภารกิจติดตามล่าสังหาผู้พัน Kurtz
ถ่ายภาพโดย Vittorio Storaro ตากล้องระดับตำนานสัญชาติอิตาเลี่ยน ที่โดดเด่นในด้านการจัดแสงสี ขาประจำของ Bernardo Bertolucci คว้า Oscar: Best Cinematography ถึง 3 ครั้ง จากเรื่อง Apocalypse Now (1979), Reds (1981), The Last Emperor (1987)
หนังปักหลักถ่ายทำอยู่ประเทศฟิลิปปินส์เป็นเวลา 5 เดือน Coppola ได้เช่าบ้านหลังใหญ่พาครอบครัวไปอาศัยพักร้อนเลยทีเดียว และเห็นว่าได้มีโอกาสพูดคุยพบเจอท่านผู้นำเผด็จการ ปธน. Ferdinand Marcos อาสาให้ความช่วยเหลือส่งเฮลิคอปเตอร์หลายสิบลำมาเข้าฉาก แต่ก็ได้ใช้ถ่ายทำไม่กี่วันเท่านั้นต้องเรียกกลับ เพื่อนำไปสู้รบกับฝ่ายกบฎต่อต้านรัฐบาล
มีหลากหลายเหตุผลของการเลือกสถานที่ถ่ายทำยังฟิลิปปินส์
– ถ่ายทำยังประเทศเวียดนามย่อมไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะชาวเวียดกงสมัยนั้นเกลียดอเมริกันเข้ากระดูกดำ
– ถ่ายยังประเทศกัมพูชาก็ไม่ได้ ขณะนั้นเขมรแดงเข้ายึดครองพนมเปญ ขับไล่อเมริกาออกนอกประเทศ
– เมืองไทยก็ใช่ย่อย ทศวรรษนั้นมีทั้ง มีทั้ง 14 ตุลา กับ 6 ตุลา การเมืองไร้ซึ่งเสถียรภาพ ต่างชาติที่ไหนจะอยากเข้ามาลงทุน
ด้วยเหตุนี้ก็เหลือฟิลิปปินส์ของท่านผู้นำเผด็จการ ปธน. Ferdinand Marcos แม้จะมีการสู้รบขัดแย้งภายในบ้าง แต่ก็ยังถือว่าปลอดภัยกว่าสามชาติที่ว่ามานี้อย่างมาก
อีกเหตุผลหนึ่งคงเพราะมีต้นปาล์มสูงใหญ่ขึ้นปริมาณมาก ล้อกับคำว่าระเบิดนาปาล์มได้เป็นอย่างดี ซึ่งเราคงต้องถือว่า ต้นปาล์ม ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของป่าฝนเขตร้อน และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปเรียบร้อยแล้ว (คงเริ่มต้นจากสงครามเวียดนาม และการนิยามความหมายของหนังเรื่องนี้กระมัง)
โคตรเทคนิคที่พบเห็นบ่อยมากในหนังเรื่องนี้คือการซ้อนภาพ 2-3 ไม่แน่ใจถึง 4 ชั้นเลยหรือเปล่า ซึ่งนัยยะความหมายมักสื่อถึงสิ่งที่ตัวละครจินตนาการมองเห็น หรือภาพที่มันตราตรึงฝังใจ
สำหรับช็อตเปิดเรื่อง ผมเห็นทั้งหมด 3 ภาพที่ซ้อนกันอยู่
– ใบหน้าของ Willard นอนหันหัวลง กลับตารปัตรตรงกันข้ามกับผู้อื่น นั้นคือความลุ่มหลงใหลในสิ่งชั่วร้าย/ความรุนแรง
– ไฟลุกท่วมต้นปาล์ม แทนสัญลักษณ์ของสิ่งชั่วร้าย/ความรุนแรง ที่หลบซ่อนอยู่ในจิตใจ
– ภาพของเพดานห้อง/พัดลมหมุนเป็นวงกลม สะท้องถึงวิถีวัฏจักรชีวิของ Willard เฝ้ารอคอยเวลาภารกิจ เพื่อหวนกลับสู่รากเหง้าของตนเอง
เกร็ด: ระเบิดลงต้นปาล์มที่ปรากฎในฉากต้นเรื่องนี้ นำจากมุมกล้องหนึ่งที่ไม่ได้ใช้ของฉากระเบิดนาปาล์มตอนกลางเรื่อง
ช็อตสวยงามที่สุดของหนัง ภาพเฮลิคอปเตอร์บินเรียงหน้ากระดานเข้าหาพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า, ผมยกให้ช็อตนี้งดงามเป็นรองเพียงพระอาทิตย์โผล่ขึ้นจากขอบฟ้า ของหนังเรื่อง Lawrence of Arabia (1962)
“They’d never let you in the U.S., the environmentalists would kill you.”
– Francis Ford Coppola
ฉากระเบิดต้นปาล์มนั่นของจริงไม่มีหลอก เตรียมการด้วยน้ำมันเบนซินกว่าสองร้อยแกลลอน ร่วมกับยางรถยนต์ (เพื่อให้เกิดควันโพยพุ่ง) เครื่องบินทิ้งระเบิดและเฮลิคอปเตอร์แค่โฉบผ่านเท่านั้น ระเบิดจุดจากด้านล่างภาคพื้นดิน เทคเดียวผ่านไม่งั้นสิ้นเปลืองงบประมาณเกิน (และคงปลูกป่าปาล์มใหม่ไม่ไหวแน่)
ผมว่ามันจะสวยงามกว่านี้อีกนะ ถ้าการระเบิดเป็นแบบปูพรมไล่ไปจากซ้าย->ขวา แต่ก็เอาเถอะมันไม่ใช่ง่ายๆที่จะเตรียมการได้เว่ออลังการขนาดนี้ ซึ่งถ้าสังเกตกันให้ดีๆกับภาพช็อตนี้ รัศมีของระเบิดอยู่ในกรอบของภาพโดยพอดี (คงคำนวณตำแหน่งกันมาอย่างเปะๆแล้วสินะ)
เกร็ด: ตัดต่อเฉพาะฉากนี้ใช้เวลา 1 ปีเต็มกว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้น ประเมินแล้วใช้ฟุตเทจเพียง 10% ของที่ถ่ายทำเท่านั้น
มันมีต้นมะม่วงในป่าฝนด้วยหรือ? (เห็นแต่ต้นกล้วย) คุ้นๆว่าในฉบับ Redux จะมีขณะพบเจอต้นมะม่วงจริงๆด้วยนะ แต่สิ่งที่มีแน่ๆคือเสือโคร่ง แอบสงสัยเหมือนกันว่าพระเอกวิ่งหนีเอาตัวรอดได้อย่างไร
“Never get out of the boat”.
เปรียบเรือกับขนบธรรมเนียม กฎระเบียบของสังคม เหมือนว่านี่เป็นคำแนะนำเสี้ยมสั่งสอน ถ้าไม่จำเป็นจริงๆเราก็ไม่ควรลงเรือ เดินเข้าไปเสี่ยงอันตรายในป่ารก ทำสิ่งนอกลู่นอกทาง ขัดแย้งต่อรูปแบบวิถีชีวิตปกติทั่วไป
คำพูดประโยคนี้ยังสะท้อนถึงสิ่งที่ Willard ครุ่นคิดเข้าใจว่าคงเป็นสิ่งเกิดขึ้นกับผู้พัน Kurtz เพราะได้ทำสิ่งนอกเหนือระเบียบกฎเกณฑ์ของทหาร จึงถูกหมายหัวให้เขาต้องเดินทางมาจัดการลอบสังหารครั้งนี้
การมาถึงของไต้ฝุ่น Olga เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 1976 พังทลายฉากนี้หลงเหลือเพียงเศษซาก ต้องเสียเวลาเพิ่มเป็นเดือนเพื่อเริ่มก่อสร้างขึ้นใหม่หมด ถลุงงบเพิ่มขึ้นกว่า $2 ล้านเหรียญ (นักแสดงส่วนใหญ่บินกลับอเมริกากันเลย เพราะต้องพักกองกว่า 6-8 สัปดาห์)
ฉากนี้ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริงเมื่อปี 1965 นำโดย Jo Collins ที่ได้เป็น Playmate of the Year เดินทางมายังเวียดนามเพื่อมอบขวัญกำลังใจให้ทหารหาญ จนได้รับการยกย่องเป็น Honorary G.I. ซึ่งในหนังนำแสดงโดย Cynthia Wood เธอได้เป็น Playmate of the Year คนล่าสุดเมื่อปี 1974
นัยยะของฉากนี้ นำเสนอสิ่งที่สามารถ(ขัดเจรวด)เหนี่ยวรั้งไม่ให้มนุษย์กลายเป็นคนบ้าคลั่งเสียสติแตก กระนั้นย่อมมีคนที่อดรนทนไม่ได้ กระโดดข้ามจากฝั่งอัฒจันทร์ขึ้นมาบนเวทีกลาง เป็นเหตุให้พวกเธอต้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินหนี แต่ก็มีที่พยายามเกี่ยวเหนี่ยวรั้งดึงนางฟ้าจากสรวงสวรรค์ ให้หล่นตกลงมาสู่ภาคพื้นดิน
เกร็ด: ในฉบับ Redux จะมีฉากหลังจากนี้ที่เฮลิคอปเตอร์น้ำมันหมด ทำให้ลูกเรือได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความสำราญกับน้ำมันเชื้อเพลิง
สะพาน Do Lung Bridge สถานีสุดท้ายที่มีทหารอเมริกันประจำการอยู่ พรมแดนแบ่งแยกระหว่างโลกอารยธรรมกับดินแดนคนเถื่อนอำมหิต กั้นขวางโดยสะพานที่ต้องถูกทำลายทุกค่ำคืนและสร้างขึ้นใหม่ตอนรุ่งเช้า ไร้ซึ่งผู้ควบคุมบังคับบัญชาการทุกสิ่งอย่างดำเนินไปด้วยธรรมชาติของมันเอง
ความน่าสนใจของสะพานนี้ ทำไมมันถึงถูกทำลายยามค่ำคืน และต้องสร้างขึ้นใหม่ทุกรุ่งเช้า?
– ช่วงเวลากลางวันที่ทุกสิ่งอย่างดำเนินไปตามปกติ สะพานนี้คือสิ่งเชื่อมต่ออารยธรรมความเป็นมนุษย์ ต่อสิ่งที่รับรู้พบเห็นได้ด้วยตาเปล่า (หรือเปลือกนอกของผู้คน)
– ขณะที่ยามค่ำคืนมืดมิดสนิทมองไม่เห็นอะไร ความชั่วร้ายบางอย่างมักค่อยๆย่องย่างกรายเข้ามา การระเบิดสะพานก็เพื่อปิดกั้นทำลายสิ่งเชื่อมต่อนี้ ไม่ให้มันข้ามฝั่งเข้ามารุนรานความสงบสุขของจิตใจเราเอง
สถานที่นี้มองในเชิงสัญลักษณ์ คือสิ่งเชื่อมต่อระหว่างสองฝั่งโลก/สองสิ่ง เมื่อล่องเรือข้ามผ่านย่อมหมายถึงการเดินทางสู่โลกอีกใบ (หรือภายในเบื้องลึกของจิตใจตนเอง) ที่มนุษย์ทั่วไปมักไม่ยินยอมไปต่อ เพราะเต็มไปด้วยความเคว้งคว้างว่างเปล่า หมอกควันปกคลุมสะท้อนถึงอะไรๆก็สามารถเกิดขึ้น ไม่มีอะไรมั่นคงแน่นอนทั้งนั้น
หมอก/ระเบิดควัน น่าจะถือว่าเป็นหนึ่งในลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Coppola เพื่อแสดงถึงความคลุมเคลือ อนาคตที่มองไม่เห็น อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้, อย่างช็อตนี้หลังจากแล่นเรือผ่านสะพาน American Do Lung Bridge ดินแดนถัดจากนี้มันคืออะไรก็ไม่รู้ ใช้หมอกในความหมายเชิงสัญลักษณ์ คลาสสิกทีเดียว
ผมไม่แน่ใจเรื่องสีของระเบิดควันสักเท่าไหร่ พบเห็นหลากหลายมาก อาทิ เหลือง, ส้ม, แดง, ม่วง ฯ อาจจะสะท้อนอารมณ์บางอย่างของฉากนั้นออกมา
ทั้ง Sequence นี้ สร้างเมืองที่ดูเหมือนนครโบราณขึ้นมา คงเพราะประเทศกัมพูชามีนครวัตเคยเป็นอดีตสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ (ก่อนหน้าปี 2007 ยังถือเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่อยู่นะครับ แต่เพราะแพ้คะแนนโหวตเลยถูกนำออกไป ปัจจุบันคือมรดกโลก) เป็นการสะท้อนถึง สถานที่ซึ่งปัจจุบันนั้นได้สูญสิ้นความมีอารยะธรรมไปหมดสิ้นแล้ว ผู้คนชนเผ่าที่อาศัยอยู่ก็มีแต่ความป่าเถื่อนอำมหิต
คงไม่ผิดอะไรจะเปรียบสถานที่ไร้ซึ่งอารยธรรมมนุษย์แห่งนี้ เข้ากับด้านมืดมิดสนิทความชั่วร้ายภายในจิตใจของมนุษย์
ดั้งเดิมในบทหนังหลังจากที่ Willard ออกเดินทางกลับสู่โลกอารยธรรม วิทยุติดต่อให้ทหารอากาศทิ้งระเบิดทำลายสถานที่แห่งนี้ แต่เพราะ Coppola ต้องการตอนจบเชิงสัญลักษณ์ที่คือสันติภาพ เลยยกเลิกแผนการนี้ไม่ได้ถ่ายทำไว้ กระนั้นเมืองโบราณที่อุตส่าห์สร้างขึ้นนี้ก็ต้องถูกระเบิดทำลายอยู่ดี เพราะทางการฟิลิปปินส์ไม่ต้องการให้หลงเหลือเศษซากอารยธรรม กลายเป็นสถานที่หลบลี้ภัยของพวกกบฎ/กลุ่มต่อต้านรัฐบาล
ช็อตโผล่ขึ้นจากขุมนรก โคตรเจ๋งตรงแสงไฟที่สว่างขึ้นมา ทำให้พบเห็นควันที่ลอยอยู่เหนือน้ำ (ควันมันสะท้อนแสงสินะ)
ทำไม Willard ต้องทาหน้าเข้มจนจำไม่ได้? มันไม่ใช่แค่การพรางตัวของทหารหน่วย Commando เท่านั้นนะครับ แต่มีนัยยะถึง ต่อสู้กับปีศาจ/พญาเสือ ก็ต้องกลายร่างเป็นอสูร พวกเดียวกันถึงสามารถต่อกรกันได้, สำหรับสีเขียว เสื้อของทหาร ในบริบทของหนัง Anti-War เรื่องนี้ ย่อมสะท้อนถึงความชั่วร้าย/ปีศาจ
ฉากหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึง พร้อมความขัดแย้งรุนแรงกับพวก Animal Rights กระทำรุนแรงต่อสัตว์, นี่เป็นฉากที่ได้แรงบันดาลใจจากพิธีกรรมของชาวเผ่าพื้นเมือง Ifugao Tribe ซึ่งตอนถ่ายทำจริงๆจะไม่ใช่แค่ควายตัวนี้ที่ถูกฆ่า แต่มีสัตว์ต่างๆอีกมากมายหลายคันรถที่ถูกตัดออกไป (แค่นี้เชื่อว่าหลายคนก็แทบแย่แล้ว เพราะมันคือการฆ่าตายต่อหน้ากล้องจริง)
มันจำเป็นด้วยหรือที่ต้องนำเสนอ พิธีกรรมอันป่าเถื่อนรุนแรงขนาดนี้? ก็ใช่นะสิครับ เพราะสถานที่แห่งนี้คือโลกที่สะท้อนด้านมืดมิด ความชั่วร้ายในจิตใจของคน บรรดาสัตว์เหล่านี้เปรียบได้กับเครื่องสังเวยแห่งความตาย ถูกเข่นฆ่าด้วยความไร้ซึ่งมนุษย-อารยธรรม
หนังเรื่อง Citizen Kane (1940) คำพูดสุดท้ายของนาย Kane ที่กลายเป็นตำนานคือ “Rosebud” ขณะที่หนังเรื่องนี้ผู้พัน Kurtz พูดย้ำๆซ้ำๆคำว่า “The Horror!” สายตาล่องลอยออกไป ราวกับกำลังมองเห็นภาพที่สร้างความหลอกหลอนตราติดตรึงฝังใจของตนเอง แม้ในวินาทีสุดท้ายของชีวิตก็ยังมิลบเลือนจางหายไปได้หรือยังไง?
ช็อตสุดท้ายของหนัง เต็มไปด้วยภาพซ้อน 3-4 ชั้น นี่ถือว่าสะท้อนกับตอนต้นเรื่อง และความหมายกลับตารปัตรกันด้วย
– ตอนต้นเรื่องภาพซ้อนของ Willard จะนอกกลิ้งเกลือกเหมือนคนตาย แต่ช็อตสุดท้ายนี้จะเห็นว่าเขาล่องเรือออกไป นั่นสะท้อนถึงว่าตัวเองกำลังจะได้หลุดพ้นออกจากวิถีวังวนของความชั่วร้าย ‘Horror’ นี้ได้
– ภาพระเบิดต้นปาล์มยังคงพบเห็นได้ลางๆ เห็นเปลวเพลงและเฮลิคอปเตอร์เคลื่อนผ่าน
– ภาพรูปปั้นโบราณสถาน ที่น่าจะแสดงถึงสถานที่ขุมนรกแห่งนี้
– และภาพใบหน้าของผู้พัน Kurtz ราวกับได้กลายสภาพเป็นวิญญาณแห่งความชั่วร้ายอยู่กึ่งกลางภาพ และพูดคำว่า “The Horror” ซ้ำไปซ้ำมาอีกเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนหันหน้าไปทางขวาแล้วค่อยๆจางหายไป
รวมๆแล้วความหมายของภาพซ้อน 3-4 ชั้นนี้ ต้องการนำเสนอว่า บุคคลผู้สามารถเข่นฆ่าต่อสู้เอาชนะสิ่งชั่วร้ายกาจที่หลบซ่อยอยู่เบื้องลึกภายในจิตใจของตนเองได้สำเร็จ ก็จะสามารถออกเดินทางก้าวเดินสู่โลกใบใหม่ด้วยอนาคตที่สดใส
ความลึกล้ำของช็อตจบนี้ ต้องยกย่องว่ามีวิสัยทัศน์ยิ่งใหญ่ไม่ด้อยไปกว่าตอนจบของ Napoléon (1927)
รวมๆแล้ว หนังเริ่มต้นถ่ายทำมีนาคม 1976 เสร็จสิ้นปิดกล้องพฤษภาคม 1977 แน่นอนว่างบประมาณต้องบานปลายไปมากๆ โชคดีที่เพื่อนสนิท George Lucas ร่ำรวยมหาศาลจากความสำเร็จของ Star Wars (1977) ติดต่อขอยืมเงินเข้ามาสมทบส่วนขาด เลยทำให้โปรดักชั่นลุล่วงได้โดยดี
ตัดต่อ/ลำดับภาพโดย Richard Marks, Walter Murch, Gerald B. Greenberg, Lisa Fruchtman ด้วยฟุตเทจปริมาณมากมายมหาศาล ใช้เวลาเฉพาะส่วนของการตัดต่อเกือบๆ 2 ปี กว่าจะได้ฉบับอันน่าพึงพอใจออกฉาย
เรื่องราวดำเนินไปในมุมมองสายตา จินตนาการของ Captain Benjamin L. Willard พร้อมเสียงบรรยายความรู้สึกนึกคิดอ่าน (ให้เสียงโดย Joe Estevez) ผู้ชมแทบจะได้เข้าไปในหัวของตัวละครเลยละ
ลักษณะของการเล่าเรื่องแบ่งออกเป็นบทๆ (Chapter) ที่มักเริ่มต้นและจบสิ้นในตอนของมันเอง สามารถแบ่งคร่าวๆได้เป็น
– แนะนำภารกิจ ออกเดินทาง
– Napalm in the Morning
– เสือโคร่ง
– Playmate of the Year
– Viet Cong
– Do Lung Bridge
– จดหมายจากบ้าน
– หมอกแห่งความตาย
– (ฉบับ Redux) French Plantation
– สถานนีปลายทาง เผชิญหน้ากับผู้พัน Kurtz
ภาษาของการตัดต่อที่พบเห็นบ่อย คือการเปลี่ยนภาพด้วยเทคนิค Cross-Cutting หรือ Fade-In <> Fade-Out โดยเฉพาะฉากเดินทางโดยเรือ/เฮลิคอปเตอร์ เพื่อสร้างสัมผัสความต่อเนื่องให้กับผู้ชม รู้สึกว่าสองภาพเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นต่อกัน ในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ล่วงเลยผ่านไป (เป็นการย่นระยะเวลาการเดินทางด้วย)
ไฮไล์ของการตัดต่อคือฉากไคลน์แม็กซ์ ตัดสลับ Cross-Cutting ไปมาระหว่างพิธีกรรมของชาวพื้นเมือง กับ การต่อสู้ของ Willard vs. Kurtz ซึ่งวินาทีที่อีโต้จามคอควาย จะพอดิบพอดีขณะไม้ของ Willard ทุบศีรษะ Kurtz ความตายของสัตว์สังเวยตัวนี้ ก็เท่ากับจุดสิ้นสุดของความชั่วร้ายภายในจิตใจของพระเอก
สำหรับเวอร์ชั่นของหนัง บอกตามตรงผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามีปริมาณมากน้อยเท่าไหร่ เพราะผู้กำกับ Coppola ชอบการเล็มโน่นนี่นั่นเปลี่ยนแปลงไปกับการฉายที่แตกต่าง เท่าที่ได้ยินก็มีตัดต่อแรก 5 ชั่วโมง, ฉายเมือง Cannes, ฉายโรงภาพยนตร์, ฉายโทรทัศน์, ลง VHS แต่เอาเป็นว่าปัจจุบันมีหลงเหลือ 3 ฉบับ
– ฉบับ Theatrical Release ความยาว 2.27 ชั่วโมง (147 นาที)
– ฉบับ Redux ความยาว 3.16 ชั่วโมง (196 นาที)
– ฉบับ Workprint ความยาว 5.30 ชั่วโมง (330 นาที)
ฉบับ 5 ชั่วโมงถือว่าเป็น Holy Grail ที่หายากมากๆ [แต่เหมือนมีการซุ่มทำ Digital Restoration อยู่นะครับ] ใครสนใจรายละเอียดความแตกต่างคลิกอ่านดูนะครับ
LINK: https://cinephiliabeyond.org/the-holy-grail-of-workprints-the-five-hour-rough-version-of-apocalypse-now/
เกร็ด: หนังฉบับ Theatrical Release จะไม่มี Credit ใดๆปรากฎขึ้น เว้นเพียงตอบจบเฟดดำขึ้นข้อความ Copyright 1979 Omni Zoetrope นี่เป็นความตั้งใจของ Coppola ที่ต้องการเลียนแบบการรับชมละครเวที ที่รายชื่อนักแสดง/ผู้สร้าง (และของที่ระลึก) ใช้การพิมพ์แจกโบรชัวร์ก่อนเข้าโรงภาพยนตร์ นี่ถือเป็นของหายากในปัจจุบันเลยนะ
เพลงประกอบ ในตอนแรกวางตัว Isao Tomita นักแต่งเพลงสัญชาติญี่ปุ่น หนึ่งในผู้บุกเบิก Electronic Music, Space Music เชี่ยวชาญในเครื่องสังเคราะห์เสียง ก็ถึงขนาดเดินทางมายังฟิลิปปินส์เพื่อพูดคุย แต่ต้นสังกัดของเขากลับเสียงขันแข็งไม่อนุญาต บินกลับประเทศอย่างน่าผิดหวัง
ด้วยเหตุนี้ Coppola เลยหวนกลับไปหาพ่อ Carmine Coppola ร่วมด้วยช่วยกันเขียนเพลงประกอบ Original Score ให้กับหนัง ซึ่งก็เลือกใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้า/คีย์บอร์ด ผสมผสานกับสิงสาราสัตว์ เสียงเฮลิคอปเตอร์ ฯ สร้างสัมผัสอันหลอนๆ ชวนให้ขนลุกซู่ เขย่าขวัญสั่นประสาท น่าหวาดสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่ง
การเลือกใช้เครื่องดนตรี Electronic ให้สัมผัสที่เหมือนโลหะวัตถุ มีความหยาบแข็งกระด้าง (คล้ายๆปืน) รู้สึกถึงอันตราย เหมือนความตายกำลังค่อยๆคืบคลาน ย่างกรายเข้ามาอย่างเชื่องช้า กัดกร่อนทำลายจิตใจให้ค่อยๆหมดสิ้นหวัง สะสมความรวดร้าวทุกข์ทรมาน อัดแน่นอกพร้อมปะทุระเบิดออกได้ทุกเมื่อ
แต่ไฮไลท์ของเพลงประกอบ ไม่ได้มาจาก Original Score เลยนะ, บทเพลงในฉากแรกและไคลน์แม็กซ์ (ตอนฆ่าควาย) ชื่อ The End (1967) แต่ง/ขับร้องโดยวงร็อค The Doors นำโดย Jim Morrison เป็นแนว Psychedelic Rock ดนตรีของคนเสพยา ให้สัมผัสที่เคลิบเคลิ้มล่องลอย จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว
ในหนังฉบับ Theatrical Release จะยาวประมาณ 3-4 นาที ขณะที่ Redux ความยาว 6:28 นาที ขณะที่เพลงเต็มๆไม่เซนเซอร์คำหยาบ 11:41 นาที (มันร้องห่าอะไรของมันว่ะ!)
“Father?” “Yes, son?” “I want to kill you”
“Mother? I want to…”
บทเพลงมีเนื้อร้องที่เต็มไปด้วยความเพี้ยน บ้าคลั่งเสียสติแตก ผมพยายามทำความเข้าใจก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องสักเท่าไหร่ แต่อารมณ์ความรุนแรงของมันต้องถือว่าโคตรลึกล้ำทรงพลัง จุดเริ่มต้นคือจุดจบที่เป็นเพื่อนแท้นิจนิรันดร์
บทเพลงแนะนำตัวละคร (I Can’t Get No) Satisfaction (1965) ของวง The Rolling Stones แต่งโดย Mick Jagger กับ Keith Richards ติดอันดับ 1 ชาร์ท US Billboard Hot 100 ยอดขายระดับ Gold เกินล้านก็อปปี้, เพลงนี้ดังขึ้นจากวิทยุ พร้อม Lance ขณะกำลังเล่นโต้คลื่นอยู่ท้ายเรือ ช่างเป็นความไม่พึงพอใจเอาเสียเลยจริงๆ (เอามือก่ายหน้าผาก)
(I Can’t Get No) Satisfaction คือโคตรเพลงฮิตที่ติดอันดับ 2 ของชาร์ท 500 Greatest Songs of All Time ของนิตยสาร Rolling Stone เป็นรองเพียง Like A Rolling Stone (1965) ของ Bob Dylan
Richard Wagner: The Ride of the Valkyries หรือที่มักเรียกติดปากว่า Wagner Theme นำจากโอเปร่าเรื่อง Die Walküre (1870) องก์ 3 ท่อน 2 ดังขึ้นราวกับเพลงชาติปลุกใจทหารหาญ ระหว่างการออกเดินทางเข้าสู่สนามรบ(ด้วยเฮลิคอปเตอร์)
นักวิจารณ์ทั่วโลกต่างยกย่องการเลือกใช้บทเพลงนี้ในฉากดังกล่าว ว่ามีความทรงพลังตราตรึงที่สุดในวงการภาพยนตร์
แถมท้ายกับ Playmate of the Year บทเพลง Suzie Q (1957) ต้นฉบับขับร้องโดย Dale Hawkins แนว Rockabilly ในหนังเลือกของ Flash Cadillac (ไม่รู้เพราะอะไร) แต่ขอนำต้นฉบับมาให้รับฟังดีกว่า (เพราะผมชอบมากกว่า)
Apocalypse Now คือเรื่องราวของการเดินทางเพื่อสำรวจค้นหาศึกษา ทำความเข้าใจด้านมืดมิดชั่วร้ายที่หลบซ่อนอยู่เบื้องลึกภายในตัวของเราเอง และหาวิธีต่อสู้เอาชนะ เพื่อหวนกลับคืนสู่วิถีปกติของโลก
หลังการเดินทางข้ามผ่านสะพาน Do Lung Bridge ที่เป็นรอยต่อระหว่างโลกอารยธรรมกับดินแดนคนเถื่อนอำมหิต ต่อจากนี้คือการพิสูจน์คุณค่าของความเป็นมนุษย์
– Tyrone ‘Mr. Clean’ Miller (ตัวละครของ Laurence Fishburne) มือปืนประจำเรือที่ยังเป็นเด็กน้อยอ่อนต่อโลก การกระทำของเขาก่อนหน้านั่นถือว่าคือความผิดพลาดโง่เขลา ไม่รู้จักการครุ่นคิดถึงหัวอกของผู้อื่น ฆ่าเวียดกงบริสุทธิ์อย่างไร้สาระ ด้วยเหตุนี้ผลกรรมที่ได้รับ ขณะกำลังฟังเสียงอ่านของแม่ผ่านเทปที่แนบมาผ่านจดหมาย ถูกลูกหลงยิงเสียชีวิตแบบไม่ทันตั้งตัว
– Chief Petty Officer George Phillips กัปตันคนขับเรือผิวสี พอเห็นเรือของเวียดกงก็รีบตรงเข้าไปตรวจสอบทั้งๆที่ Willard ขอให้ช่างมัน แต่เขายืนกรานตามหน้าที่ ฟังจากน้ำเสียงคำพูดเต็มไปด้วยความเหยียดหยาม (คนผิวสีในอเมริกันมักถูกคนผิวขาวเหยียดหยามต่อต้าน นี่คงเป็นการสะท้อนกลับของตัวละครนี้ ที่แสดงความรังเกียจเหยียดผิวเหลืองชาวเอเชีย/เวียดกง ออกมาอย่างชัดเจน) ผลลัพท์ทำให้เกิดโศกนาฎกรรมที่คาดไม่ถึง ซึ่งโชคชะตาก็นำพาให้สุดท้ายเขาถูกหอกแทงทะลุหัวใจ ชอบเหยียดหยามดูถูกความป่าเถื่อนมากใช่ไหม ตายด้วยอาวุธสุดแสนโบราณเนี่ยแหละ สะท้อนความไร้ค่าของจิตใจคนที่สุดแล้ว
– Jay ‘Chef’ Hicks อดีตพ่อครัวที่ขณะเผชิญหน้ากับเสือโคร่งในป่าก็วิ่งหนีหางจุกตูด เอาตัวรอดแล้วก็พูดจาด่ากราดฟังไม่ค่อยเสนาะหูสักเท่าไหร่ ซึ่งถึงมีชีวิตมาถึงใจกลางขุมนรก ปากปฏิญาณจะไม่ขอตายยังสถานที่แห่งนี้ แต่กลับถูกเชือดตัดหัวโดยพญาเสือตัวจริง (Kurtz ทาหน้าแบบทหาร ดูเหมือนลวดลายเสือโคร่ง) เพราะความปากหมาเห่าของตนเองแท้ๆ
สำหรับการต่อสู้ระหว่าง Captain Benjamin L. Willard vs. Colonel Walter E. Kurtz เปรียบได้กับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของมนุษย์ ระหว่างฝั่งที่พอมีแสงสว่างหลงเหลืออยู่บ้าง กับด้านมืดมิดสนิทสุดแสนชั่วร้าย ผู้ชนะมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่ตัดสินชี้โชคชะตาชีวิต
ยังมีชายอีกคนหนึ่ง Lance B. Johnson นักเล่นเซิร์ฟที่ครั้งหนึ่งแสดงความมีเมตตากรุณา รับเลี้ยงเอ็นดูหมาน้อยของชาวเวียดกง คงด้วยเหตุผลนี้กระมังสะท้อนถึงคุณความดีงามอยู่บางอย่างในจิตใจ แม้จะเหมือนไร้จิตวิญญาณเมื่อถูกอิทธิพลความชั่วร้ายเข้าครอบงำ แต่หยดหยาดน้ำฝนได้ชะล้างเรียกสติให้หวนคืน ได้รับโอกาสกลับสู่โลกแห่งอารยธรรม
การจะเอาชนะด้านมืดสิ่งชั่วร้ายที่อยู่ภายในจิตใจของตนเอง วิธีการพูดง่ายแต่ทำยากสุด คือการเผชิญหน้ากับมันตรงๆ ศึกษาเรียนรู้ทำความเข้าใจทุกมุมมองรอบด้าน หาทางต่อสู้ขัดขืน บางครั้งเราอาจต้องเจ็บตัวแลกกับบางสิ่งอย่างบ้าง แต่ผลลัพท์เมื่อได้รับชัยชนะมันจะเป็นสิ่งทรงคุณค่ามากยิ่ง ที่จะไม่ทำให้เราหวนกลับไปเป็นเช่นนั้นอีก
สิ่งที่ผมทึ่งมากๆกับหนังคือ Martin Sheen ที่ขณะนั้นกำลังประสบปัญหา Alcoholism ใช้หนังเรื่องนี้เข้าฉากนั้นเพื่อเผชิญหน้าต่อสู้กับตนเอง ชกกระจกแตกได้รับบาดแผล พบเห็นฟุตเทจรำมวยอับอายขายขี้หน้ารับไม่ได้ จนสุดท้ายเลิกยุ่งไม่แตกเหล้าอีก (ไม่รู้ตลอดชีวิตหรือเปล่านะ) นี่สะท้อนสิ่งที่ตัวละครของเขาออกเดินทาง พบเจอ ต่อสู้และได้รับชัยชนะมาเลย
สำหรับผู้กำกับ Coppola ผมว่ามันจะตรงกันข้ามสักหน่อยนะ เพราะกว่าที่จะสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้สำเร็จ เขาก็แทบกลายเป็นคนบ้าเลยนะ
“We were in the jungle, there were too many of us, we had access to too much money, too much equipment and little by little, we went insane”.
แต่ความสำเร็จอันล้นหลามจนได้กลายเป็นตำนาน ก็เชื่อว่าคงทำให้เขาหายบ้า และหลังจากนี้พี่แกก็จะเริ่มเพลาๆตัวเองในการสร้างลงแล้ว ไม่มีอะไรหลงเหลือให้ต้องพิสูจน์อีก
เพราะเมื่อหลายปีก่อน The Conversation (1974) คว้ารางวัล Palme d’Or ทางผู้จัดงานของเมือง Cannes เลยต้องการให้ผลงานถัดไปของ Coppola ได้ออกฉายในเทศกาลอีก แต่เพราะยังตัดต่อใส่เสียงไม่เสร็จสมบูรณ์ จึงขึ้นข้อความว่า ‘work in progress’ ปรากฎว่าแค่นั้นเสียงตอบรับกลับดีล้นหลาม ยืนปรบมือกันหลายนาที คว้ามาครองได้ 2 รางวัล
– Palme d’Or (ร่วมกับ The Tin Drum)
– FIPRESCI Prize (รางวัลของนักวิจารณ์)
แซว: ความล่าช้าของโปรเจคทำให้หนังมีชื่อเล่นมากมาย อาทิ Apocalypse When? Apocalypse Never? นักแสดง Steve McQueen ยังเคยตั้งชื่อเล่นตอนรู้ว่าหนังมีสามตัวละครหลักว่า Apocalypse Three
ด้วยทุนสร้างที่บานปลายไปสองเท่าตัว $31.5 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $78 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลกประมาณ $150 ล้านเหรียญ, เข้าชิง Oscar 8 สาขา คว้ามา 2 รางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Supporting Actor (Robert Duvall)
– Best Writing, Screenplay Based on Material from Another Medium
– Best Cinematography ** คว้ารางวัล
– Best Film Editing
– Best Art Direction-Set Decoration
– Best Sound ** คว้ารางวัล
ถือเป็นปีอัปยศของงานประกาศรางวัล Oscar เพราะสองตัวเต็งปีนั้น Apocalypse Now กับ All That Jazz กลับพลาดสองรางวัลใหญ่ Best Picture และ Best Director ให้กับ Kramer vs. Kramer (1979) ของผู้กำกับ Robert Benton ด้วยเหตุผลสุดแสนงี่เง่า เพราะทั้ง Francis Ford Coppola และ Bob Fosse ต่างเคยคว้ารางวัลใหญ่ไปแล้ว ก็ควรแบ่งปันให้ผู้อื่นบ้าง
ก่อนหน้าเขียนบทความนี้เมื่อสองปีก่อน จริงๆผมคลั่งไคล้ Apocalypse Now มากๆเลยนะ เพราะมันเจ็บจี๊ด แสบสะท้าน เสียสติแตก แต่สงสัยเพราะผมมัวแต่มองเรื่องความเหมาะสมในการนำเสนอ และยังทำความเข้าใจความแท้จริงของหนังไม่ได้ เลยให้คะแนนแค่ชื่นชอบไป, หวนกลับมารับชมครานี้ พอได้เข้าใจเป้าหมายปลายทางแท้จริงของหนัง ความหลงรักคลั่งไคล้เสียสติแตกจึงหวนกลับมา คงไม่ผิดอะไรจะบอกว่า นี่คือ “หนังสงครามดีที่สุดในโลก”
สำหรับเหตุผลที่ผมชื่นชอบฉบับ Theatrical Release มากกว่า Redux เพราะความกระชับของหนัง ไร้ซึ่งไขมันส่วนเกิน ทำให้เรื่องราวมุ่งสู่เป้าหมายแบบไม่ค่อยเถลไถลไปไกลนัก ครุ่นคิดทำความเข้าใจภาพรวมได้ง่ายกว่า
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” จดจำฝังใจกับเหตุการณ์ทุกสิ่งที่พบเห็น อย่าให้ความด้านมืดความชั่วร้ายไร้ศีลธรรมเข้าครอบงำจิตใจของคุณ ใช้สมองครุ่นคิดและรักษาสติสัมปชัญญะให้อยู่กับเนื้อตัวตลอดเวลา ทุกลมหายใจเข้าออก ทำได้เช่นนั้นก็ไม่มีอะไรให้น่าหวาดสะพรึงกลัวแล้วแต่น้อย
แนะนำคอหนังสงคราม แนวต่อต้าน (Anti-War) พื้นหลังสงครามเวียดนาม, ทหาร ตำรวจ ผู้นำประเทศ อย่าให้สงครามมันบังเกิดขึ้นอีกเลย, นักคิด นักปรัชญา ค้นหาความหมายของคำว่า ‘Horror’, จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ศึกษาพฤติกรรมปัญหาทางจิต, แฟนๆผู้กำกับ Francis Ford Coppola และนักแสดง Martin Sheen, Marlon Brando, Robert Duvall ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ กับความ Horror นานับประการ
TAGLINE | “Apocalypse Now คือชัยชนะของผู้กำกับ Francis Ford Coppola ต่อวันโลกาวินาศ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE
Apocalypse Now (1979)
(28/2/2016) ถ้าผมบอกว่านี่คือหนัง Horror ก็คงไม่ผิด กับนิยามที่ผมให้ไว้กับ The Carbinet of Dr. Caligari นี่คือหนังที่นำเสนอความ Horror ของสงครามออกมาได้ยอดเยี่ยมที่สุด บ้าคลั่งที่สุด กำกับโดย Francis Ford Coppola การันตีด้วย Palme d’Or และอันดับที่ 14 ของนิตยสาร Sight & Sound ว่ากันว่านี่เป็นหนังแนวสงครามที่ดีที่สุดในโลกเรื่องหนึ่ง
ผมพยายามดู Apocalypse Now หลายรอบทีเดียวสมัยยังเด็กๆ แต่ก็ไม่เข้าใจ แม้งหนังไรฟร่ะ! เปิดเรื่องมาก็งงๆ ดูแล้วมึนๆ แถมยาวอีก ตอนจบก็หลอนๆ อะไรกัน horror สรุปคือดูไม่เข้าใจ ไม่แน่ใจว่าสักรอบที่เท่าไหร่ที่ผมเริ่มเข้าใจหนังเรื่องนี้ คงเมื่อตอนที่ผมเริ่มจับได้ว่าหนังพยายามนำเสนออะไร ความทรงจำที่เหลืออยู่ต่อหนังเรื่องนี้ คือหนังแม้งบ้ามาก มี 2 ฉากที่ผมจำติดตาเลย คือ Napalm in the Morning กับ ฉากขอค้นเรือแล้วยิงทุกคนตายหมด สองฉากแบบว่า fuck มากๆ เจ็บปวด เจ็บจริง รุนแรง สงครามมันทำให้คนบ้าคลั่งได้ขนาดนี้เลยเหรอ ตอนนั้นผมยังไม่เข้าใจความหมายของที่แท้จริงของคำว่า Horror ด้วยซ้ำ ล่าสุดกลับไปดู มันทำให้ผมเห็นชัดเจนมากๆ ว่าแท้จริงแล้วใจความของ Apocalypse Now คือ Horror ภาพความทรงจำที่ติดตาจากสงคราม หนังนำเสนอภาพหลอนนี้โดยใช้การซ้อนภาพ ขณะที่ตัวละครหลับอยู่ซ้อนกับเฮลิคอปเตอร์บิน ระเบิด เสียงปืน เราจะเห็นแต่ละตัวละครมีการรับมือกับความบ้าคลั่งนี้แตกต่างกันออกไป เป้าหมายสุดท้ายของหนังไม่ได้ให้เราตัดสินว่าใครบ้ากว่ากัน แต่เป็นให้ตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดความบ้าคลั่งนี้ ถ้าเป็นคุณในสถานการณ์นั้น จะกลายเป็นแบบนั้นไหม
จากนิยายของ Joseph Conrad เรื่อง Heart of Darkness พื้นหลังของหนังกับนิยายต่างกันนะครับ เห็นว่านิยายเล่มนี้ ดำเนินเรื่องกับคนพื้นเมืองใน Congo ทวีป Africa ใช้หอก ดาบและธนู แต่ในหนังเป็นสงครามเวียดนาม ใช้ปืน (ในหนังมีฉากที่ตัวละครตายด้วยหอกด้วย เพื่อเป็นการให้เกียรติกับนิยาย) กระนั้นใจความสำคัญของนิยายก็ยังอยู่ ตรงที่ตัวละครหนึ่งถูกมองว่าเป็นเหมือนคนบ้า คิดว่าตัวเองเป็นพระเจ้า และประโยคสุดท้าย “Horror, Horror” ก็มาจากนิยาย
John Milius ได้รับความท้าทายจาก Coppola ให้เขียนบทหนังเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม เพราะเห็นว่าตอนนั้น Milius ตั้งใจจะเป็น volunteer เข้าร่วมสงครามเวียดนาม แต่ก็แห้ว คำขอถูกปฏิเสธเพราะเขาเป็นโรคหอบหืด (asthma) เขาจึงมีได้ไอเดียที่จะดัดแปลง Heart of Darkness เป็นนิยายที่เขาเคยอ่านเมื่อสมัยยังเด็ก ก่อนหน้านั้นมีคนพยายามแปลงนิยายมาเป็นหนังหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่มีใครทำสำเร็จ เห็นว่าบทหนังร่างแรกเขียนเสร็จตั้งแต่ปี 1969 ใช้ชื่อว่า The Psychedelic Soldier ซึ่ง Coppola อ่านแล้วชอบ เลยให้ Milius เขียนทุกอย่างที่เขาอยากใส่เข้าไปในหนัง เกิดเป็น Draft กว่า 10 ฉบับ นับหน้าได้พันกว่าหน้า และชื่อหนังได้เปลี่ยนเป็น Apocalypse Now เป็นชื่อที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการเห็น badge ของฮิปปี้ที่กำลังฮิตในช่วงนั้นที่เขียนว่า “Nirvana Now”
Coppola ให้คำนิยามบทของ Milus ว่า เป็นเรื่องตลกและความหลอนทางจิตวิทยาที่น่ากลัว “a comedy and a terrifying psychological horror story” Pre-production เริ่มต้นเมื่อ 1974 ตอนนั้นขอให้ George Lucus กำกับด้วย แต่ Lucus ไม่ว่าง (กำลังทำ Star Wars อยู่) ซึ่งกว่าจะได้เริ่มทำแบบจริงจังก็หลังจากเขาทำ The Godfather II เสร็จหลังปี 1975
นักแสดงแรกที่อยู่ในความสนใจของ Coppola คือ Steve McQueen เล่นเป็น Willard แต่ McQueen ปฏิเสธเพราะเขาไม่อยากไปอยู่นอกอเมริกาถึง 17 สัปดาห์ (4-5 เดือน), Al Pacino ก็ปฏิเสธเพราะกลัวป่วยในฉากที่อยู่ในป่า, Jack Nicholson, Robert Redford, James Caan แต่ละคนก็มีข้ออ้างต่างๆกันไป จะมีก็ Harvey Keitel ที่ตอบตกลง แต่กลับไม่ถูกใจ Coppola เสียเท่าไหร่ เลยมาจบที่ Martin Sheen ที่เคยมา cast เป็น Michael ตั้งแต่สมัย The Godfather และสำหรับบท Kurtz เห็นว่า Coppola ตั้งใจให้ Orson Welles แต่เหมือนเขาจะเล่นหนังไม่ไหวแล้ว เลยไปอ้อนให้ Marlon Brando มาเล่นด้วยค่าตัว 3.5 ล้านดอลลาร์ เพื่อเข้าฉาก 1 เดือน (เป็นค่าตัวที่สูงมากๆสมัยนั้น)
เราจะเห็นนักแสดงชื่อดัง(ในปัจจุบัน) หลายคนที่มาร่วมแสดงหนังเรื่องนี้ เป็นบทรับเชิญเล็กๆ เพราะตอนนั้นยังไม่ดัง ผมรู้สึก Surprise ไม่น้อยที่ได้เห็นพวกเขาในบทก่อนที่จะดัง อาทิ Harrison Fore, Robert Duvall, Laurence Fishburn (เฮียแกเด็กมากๆ ผอมด้วย)
หนังไปถ่ายทำกันที่ Manila (Philippines) ที่ไม่ถ่ายทำที่เวียดนาม เป็นเหตุผลที่เข้าใจได้อยู่ เพราะอเมริกาถือว่าแพ้สงครามเวียดนามนะครับ และตอนนั้นเวียดนามปิดประเทศอยู่ด้วย ไม่มีทางที่จะเข้าไปทำอะไรได้เลย ระหว่างถ่ายทำตอนนั้นเห็นว่าพายุเข้า มีฉากที่เซ็ตไว้แล้วเสียหายใช้การไม่ได้ ทำให้ต้องสร้างใหม่ ทำให้หนังใช้งบเกินไปกว่า 2 ล้านดอลลาร์ รวมแล้วหนังเรื่องนี้ใช้ทุนสร้างไปกว่า 31 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเกินกว่าหนังสงครามร่วมยุคอย่าง The Deer Hunter หรือ Coming Home ที่ใช้ทุนสร้าง 12-13 ล้านดอลลาร์ไปเกือบ 3 เท่าตัว กระนั้นหนังก็ทำกำไรคุ้มทุน ทำรายได้ 150 ล้านดอลลาร์
มีเกร็ดตลกๆหนึ่งของหนังคือ Marlon Brando ที่ตอนบินไปถ่ายหนังนั้น ตอนนั้นเขาอ้วนมากๆ ไม่เหมาะกับบทที่ผู้พันที่ผ่านโลกมาเยอะ Coppola เลยใช้วิธีให้ Brando สวมชุดสีดำ และถ่ายแต่หน้าของเขา แล้วเอา body ของคนหุ่นดีๆมาเข้าฉากแทน … ฮืม!
ถ่ายภาพโดย Vittorio Storaro นี่เป็นหนังที่มีการถ่ายภาพสวยมากๆ โดยเฉพาะฉาก Napalm in the Morinig เราจะเห็นเฮลิคอปเตอร์นับสิบบินเข้าฉาก มันดูสิ้นเปลืองมากๆ แต่ความรู้สึกที่ได้คือความ Epic ที่ไม่เคยมีหนังสงครามเรื่องไหนทำมาก่อน เราจะเห็นคนจำนวนมากวิ่งหลบกระสุนหลบระเบิด ฉากระเบิดก็ตูมตามสมจริงสุด ฉากทิ้งระเบิดเป็นระนาบนี่สวยมากๆ ผมคิดว่าฉากนี้สวยที่สุดในหนังแล้ว เพราะจังหวะ มุมกล้อง มันต้องเปะๆ ไม่มีเทคสองแน่ๆ
ฉากระเบิดสะพาน เป็นฉากรบตอนกลางคืนที่สวยมาก เต็มไปด้วยหลอดไฟ และพลุหลายสีสัน (มันคือระเบิดนะครับไม่ใช่พลุ) ผมเห็นฉากนี้นึกถึงสะพานของ The Good, The Bad and The Ugly มันสร้างขึ้นมาเพื่อให้ถูกระเบิดโดยเฉพาะ
เทคนิคที่เห็นบ่อยๆคือการซ้อนภาพ คิดว่าคงทำตอนในช่วง post-production นะครับ ได้ยินว่าหนังมีการตัดต่อหลายเวอร์ชั่นมาก อย่างน้อยก็ 4 เวอร์ชั่นโดย 4 นักตัดต่อ Richard Marks, Walter Murch, Gerald B. Greenberg และ Lisa Fruchtman เฮีย Coppola แกเป็นเด็กที่เอาแต่ใจมาก หนัง delay มากๆก็ตรง post-production นี่แหละ ช้าที่การตัดต่อกับเพลงประกอบ ที่พอตัดไม่ได้ดั่งใจก็สั่งรื้อตัดใหม่ เขาเอาเวอร์ชั่นที่ยังไม่เสร็จไปฉายที่ Cannes ได้รับคำวิจารณ์ที่รุนแรงขนาดว่า “a disappointing failure” แต่กระนั้นเวอร์ชั่นนี้ก็ได้ Palme d’Or
เพลงประกอบ ทีแรกติดต่อ Isao Tomita ที่ใช้ดนตรี electronic กับหนัง The Planets ของ Gustav Holst ขนาดว่า Tomita บินมาถึงที่ Philippines แล้วแต่ก็ต้องเก็บของกลับบ้านเพราะติดสัญญาของต้นสังกัด ทำเพลงให้ไม่ได้ ไปๆมาๆ เฮีย Coppola ก็ทำเพลงเองเลย ผมชอบตัวเลือกเพลง Cavalgada das Valquírias (Ride of the Valkyries) แต่งโดย Richard Wagner มากๆ มันทำให้ผมนึกถึง 8 1/2 ของ Fellini ฉากนั้นเอาจริงๆก็แทบไม่ได้ยินเสียงเพลงหรอก ได้ยินเสียงระเบิด เสียงปืน กับเสียงเฮลิคอปเตอร์ แต่มันคาดไม่ถึงที่ เพลงนี้ดันสร้างบรรยากาศเข้ากับฉากนั้น มีความหลอนผสมกับความยิ่งใหญ่ ลองกดฟังดูนะครับ
ตอนจบของหนังมี 2 เวอร์ชั่น หลายคนคงเดาได้ เวอร์ชั่นหนึ่งคือตัวเอกจับมือกับเป้าหมายของเขา นี่เป็นตอนจบที่ Coppola ต้องการ ในนิยายก็จบเปิดกว้างคล้ายๆกันนี้ แต่ไม่รู้ทำไมสุดท้ายเลือกจบแบบในหนัง ผมวิเคราะห์ดูก็ยังหาสาเหตุไม่ได้ว่าทำไมพระเอกถึงทำแบบนั้น ผมมองว่า 2 ตัวละครทั้ง Willard และ Kurtz มีความบ้าที่ใกล้เคียงกันมากๆ มันไม่น่าจบที่ Willard ฆ่า Kurtz ด้วยซ้ำ ทั้งสองเข้าใจกันและกัน และเข้าใจถึงความบ้าคลั่งของสงคราม พวกเขาสามารถตอบโต้กับความบ้าคลั่งนั้นได้ เชื่อว่าถ้าทั้งสองถ้าได้ร่วมมือกัน ไม่ใช่แค่อเมริกาที่จะแพ้สงคราม แต่เวียดกงก็อาจจะแพ้ด้วยแน่
วิธีที่จะทำให้ดูหนังเรื่องนี้ให้เข้าใจง่ายที่สุด คือไม่ต้องเข้าใจมันครับ ให้ใช้ความรู้สึกดู นี่เป็นหนังที่ทำให้คนดูเกิดอารมณ์บางอย่าง ถ้าใช้ตาดูอย่างเดียวอาจจะไม่เข้าใจ ผมแนะนำให้ลองแบ่งหนังออกเป็นช่วงๆ แบ่งไม่ยากนะครับแต่ละช่วงจะมีเรื่องราวจบภายในตัวชัดเจนอยู่ เมื่อแบ่งแล้วให้วิเคราะห์เรื่องราวเหล่านั้นดู แต่ละเรื่องจะมีความบ้าคลั่งบางอย่าง ทำความเข้าใจว่ามันว่าเป็นแบบนั้นเพราะอะไร ทำไมตัวละครถึงแสดงออกมาแบบนั้น เขามีปัญหาอะไร ถ้าสามารถคิดได้ ก็เกือบจะเข้าใจหนังได้ทั้งหมดเลย เหลือแค่หาจุดร่วมของแต่ละเรื่องซึ่งใช้การวิเคราะห์สักหน่อยก็จะเข้าใจได้ว่าหนังต้องการเล่าอะไร
นี่เป็นเรื่องราวนำเสนอผลกระทบของสงครามต่อทหารที่เข้าร่วมรบ จากคนปกติเมื่อผ่านสงคราม เห็นสิ่งที่เกิดขึ้น การฆ่าคน ณ เวลานั้นไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย คนที่ตายไม่ใช่แค่ศัตรู แต่รวมถึงเพื่อนฝ่ายเดียวกัน ภาพความตาย เสียงระเบิด เสียงปืน มันเป็นสิ่งที่ติดตาพวกเขา แต่ละคนจะมีวิธีการรับมือกับมันต่างกัน เมื่อคุณอยู่ในระดับนายพลหรือนายพันที่มียศ มีอำนาจ คุณจะมีสิทธิพิเศษบางอย่างใช้รับมือกับความรู้สึกพวกนั้น ไม่มีกฎหมายข้อใดบอกว่า ห้ามเล่น surf ระหว่างทำสงคราม มันอาจจะไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม แต่ก็ไม่ใช่ทำไม่ได้ ฟังดูมันไร้สาระมากๆใช่ไหมครับ คงมีแต่คนบ้าที่เล่น surf ขณะที่ทหารคนอื่นๆกำลังสู้รบ มีชีวิตเป็นเดิมพัน แต่นายพลคนนี่กลับทำอะไรที่ให้ตัวเองมีความสุข … ไมใช่นะครับ คิดแบบถือว่าไม่ถูก คนที่มองแบบนี้แสดงว่าคุณดูหนังแค่ในฐานะคนดูทั่วๆไปเท่านั้น ความเข้าใจของผมคือ นี่คือวิธีต่อกรกับความเครียดและความบ้าคลั่งของเขา มันคือสิ่งจำที่ต้องทำเป็นเพื่อไม่ให้ตัวเองตกอยู่ในสภาวะเสียสติ ถ้าเขาไม่ทำสิ่งนี้และเอาใจไปตั้งอยู่กับการต่อสู้เพียงอย่างเดียว เขาอาจจะทำอะไรที่มากกว่าแค่ยิงปืนใส่ศัตรู และกลายเป็นคนบ้าที่ควบคุมสติไม่อยู่ไปเลยก็ได้
ลองสังเกตดูผลลัพท์ที่เกิดขึ้นกับสมาชิกในเรือนะครับ แรกๆดูทุกคนก็ปกติดี แต่เมื่อล่องเรือขึ้นไปเรื่อยๆ เจอกับเหตุการณ์ต่างๆ แต่ละคนเริ่มแสดงอาการออกมา มันเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ชัดเจนสุดก็ตอนที่พวกเขายิงผู้บริสุทธิ์บนเรือ มันไม่มีเหตุผลอะไรเลย ทำไมพวกเขาทำแบบนั้น สงครามมันส่งผลกระทบต่อจิตใจของพวกเขาอย่างรุนแรงมากๆ ทั้งความเครียด ความหวาดกลัว หวาดระแวง แค่เห็นว่าเป็นเวียด ก็เหมารวมไปหมดว่าเป็นเวียดกง สติที่เริ่มคุมไม่อยู่ สุดท้ายแล้วในเรือลำนั้นก็ไม่มีใครที่จะเป็นปกติ หรือกลับเป็นปกติได้ ถ้าไม่บ้าอยู่แล้ว ก็กลายเป็นคนบ้าไปเลย
พระเอก ว่ากันตรงๆ หมอนี่มันบ้าตั้งแต่ต้นเรื่องแล้ว แต่มีบางอย่างรั้งเขาไว้ นั่นคือ ภารกิจ เป็นสิ่งที่ทำให้เขาโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ หนังทั้งเรื่องคือการพยายามทำความเข้าใจศัตรูที่ต้องฆ่า และพระเอกก็พบว่าจิตใจหมอนั่นไม่ต่างจากเขาเลย คนอื่นอาจมองว่าเขาบ้า แต่เขาบ้างจริงหรือเปล่า แล้วข้างในเขาละมองว่าตัวเองบ้าหรือเปล่า หนังดำเนินไปจนถึงจุดที่บอกว่า คุณไม่มีสิทธิ์จะมาตัดสินว่าตัวละครนั้นบ้าหรือไม่บ้า (แต่คุณมีสิทธิ์ฆ่าผม) ผมเชื่อว่าเมื่อสงครามจบ พระเอกนี่ถ้าไม่กลายเป็นมือปืนรับจ้าง ก็ต้องอาศัยอยู่ในป่ากลับเข้าเมืองไม่ได้แล้ว ไม่ใช่เพราะสิ่งที่เขาทำ แต่ความทรงจำและความคิดที่ฝังลึกในใจ สงคราม การต่อสู้กลายเป็นเหมือนยาเสพติดที่ขาดไม่ได้ ถ้าขาดแล้วมันจะทำให้เขาคลั่ง เป็นบ้าและอาจถึงตายได้ ระหว่างโรงพยาบาลบ้ากับป่า เขาต้องเลือกเข้าป่าแน่ๆ สงครามไม่มีวันจบสำหรับเขา ถ้าไม่ศัตรูตาย เขาก็ต้องตาย
ล่าสุดนี่ผมดูเวอร์ชั่น Redux 3 ชั่วโมง เพิ่มเข้ามา 49 นาที ผมจำไม่ได้ว่าหนังเพิ่มอะไรไปบ้างนะครับ เวอร์ชั่น Redux มันจะเอาหลายอย่างที่ตัดออกในเวอร์ชั่นทั่วไปใส่เข้ามาช่วยเติมเต็มให้กับหนัง ที่อ่านเจอก็ตรง French Planetary และ love scene … พอคุ้นๆว่าเวอร์ชั่นแรกๆที่ผมดูมันไม่มี love scene นี่หว่า เวอร์ชั่น Redux นี่จัดเต็มเลย สำหรับตอนฆ่าวัวตอนท้ายๆ เห็นว่าวัวจริง ฆ่าจริง ตายจริง โอ้! หนังเกือบไม่ได้ฉายเพราะฉากนี้ มันรุนแรงมากๆ สมัยนั้นพวกองค์กรรักษ์สัตว์ทั้งหลายยังไม่ได้เข้ามาวุ่นวายกับหนังมากเหมือนปัจจุบัน เตรียมใจไว้เยอะๆก่อนจะดูหนังเรื่องนี้นะครับ
ฉากการตายของตัวละครที่ผมเห็นแล้วอึ้ง ทึ่ง พูดไม่ออก คิดได้ยังไง! คือตัวละครของ Laurence Fishburne ไม่แน่ใจว่ามีเฉพาะในเวอร์ชั่น Redux หรือเปล่านะครับ ขณะนั้นตัวละครนี้เพิ่งได้จดหมายจากที่บ้านเป็นเทป และกำลังเปิดฟัง แม่ของเขาก็กำลังพูดไปโน่นนี่ ขณะนั้นมีทหาร(หรือคนพื้นเมือง)ก็ไม่รู้ โจมตีพวกเขาจากฝั่ง และตัวละครนี้ก็โดนลูกหลงตาย เทปยังเล่นอยู่ แม่ของเขายังพูดต่อ ประมาณว่า “กลับบ้านเมื่อไหร่จะ…” โหยๆๆ มันกลืนไม่เข้า คายไม่ออก ดูแล้วเจ็บรุนแรงมาก
ผมแนะนำหนังเรื่องนี้กับคนชอบหนังสงคราม และอยากเห็นความบ้าคลั่งที่ยิ่งใหญ่ เรต 18+ มันคือเรต R นะครับ ระวังให้มากๆถ้าจะให้เด็กดู มันรุนแรง บ้าคลั่งและสมจริงมากๆ ดูแล้วอาจสติแตกได้ เตรียมตัว เตรียมใจ ตั้งสมาธิให้พร้อมก่อนดู ใครทนเห็นเลือดไม่ได้ก็ให้ผ่านไปเลย ดูแล้วหนักหัวแน่นอน
คำโปรย : “Apocalypse Now หนังสงครามที่เจ๋ง และบ้าคลั่งที่สุดในโลก กำกับโดย Francis Ford Coppola”
คุณภาพ : RARE-GENDARY
ความชอบ : LIKE
Leave a Reply