Apollo 13 (1995)
: Ron Howard ♥♥♥♥
มีสองสิ่งที่มนุษย์ให้ความสนใจอย่างสูง ครั้งแรกของโลก (เช่น นักบินอวกาศคนแรก, เหยียบดวงจันทร์คนแรก ฯ) และการประสบหายนะ ช่วงเวลาเป็น-ตาย รอด-ไม่รอด ครึ่งหนึ่งส่งกำลังใจเชียร์-อีกครึ่งคงแช่งให้ประสบความล้มเหลว แต่ถือเป็นช่วงเวลาที่มวลมนุษยชาติ มีจิตใจจดจ่ออยู่กับสิ่งหนึ่งเดียว หลงลืมความเหน็ดเหนื่อย ขัดแย้ง สงครามเย็นไปชั่วขณะหนึ่ง
เมื่อตอนมีสารคดีสมคบคิดที่ว่า NASA และสหรัฐอเมริกา มิได้ส่งคนไปเหยียบดวงจันทร์จริงๆ ผมครุ่นคิดถึงหนังเรื่องนี้ขึ้นมา ถ้าเช่นนั้นจะสร้างหายนะ Apollo 13 ไปเพื่ออะไร? หวนกลับมารับชมครานี้เกิดความเข้าใจบางอย่าง จากคำพูดของตัวละครหนึ่งที่ว่า
“People in my state have been asking why we’re continuing to fund this program now that we’ve beaten the Russians to the moon”.
และตอนส่งสัญญาณถ่ายทอดสดระหว่างเดินทางสู่ดวงจันทร์ ปรากฎว่าไม่มีสถานีโทรทัศน์ช่องไหนเจียดเวลาให้ … เทรนด์แฟชั่นมันตกยุคเร็วขนาดนั้นเลยหรือ! นี่ถ้าไม่ทำการ ‘กระตุ้น’ ด้วยบางสิ่งอย่าง แนวโน้มสูงมากๆที่โครงการ Apollo จะจบสิ้นลงเร็วกว่า Apollo 17 อย่างแน่แท้
แต่กระนั้นผมก็ยังมีความ’เชื่อ’ว่า มนุษย์ชาติได้เคยไปเหยียบย่างบนดวงจันทร์จริงๆ เพราะถ้ามันเป็นสิ่งโป้ปดหลอกลวง ก็เหมือนฐานรากที่สูญเสียความมั่นคง แม้เพียงหินก้อนเดียวก็อาจทำให้พีระมิดล้มครื่นพังทลายลงมาได้เลย (แต่มันก็อาจไม่มีผลอะไรเลยก็ได้ เช่นกันนะ)
เอาว่าการจะรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ให้ตั้งมั่นไว้ในหัวอกเสียก่อน ‘มนุษย์ชาติได้เคยไปเหยียบย่างบนดวงจันทร์จริงๆ’ แล้วคุณจะมีความสุขในการรับชมขึ้น (กระมัง)
Ronald William Howard (เกิดปี 1954) นักแสดง/ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Duncan, Oklahoma ลูกชายคนโตของผู้กำกับ Rance Howard และนักแสดง Jean Speegle Howard มีเชื้อสาย German, Scottish, Irish และ Dutch ตั้งแต่เด็กสนใจด้านการแสดง เข้าเรียน School of Cinematic Arts ไม่ทันจบมีโอกาสแสดงซีรีย์ ซิทคอม ภาพยนตร์ อาทิ The Music Man (1962), American Graffiti (1973), The Shootist (1976), กำกับฉายเดี่ยวเรื่องแรก Grand Theft Auto (1977), ผลงานดังอาทิ Cocoon (1985), Apollo 13 (1995) A Beautiful Mind (2001) ฯ
เรื่องราวดัดแปลงจากหนังสือ Lost Moon: The Perilous Voyage of Apollo 13 (1994) รวบรวมโดย Jeffrey Kluger เขียนจากคำบอกเล่าของ James Lovell ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนยาน Apollo 13 เป็นบทภาพยนตร์โดย William Broyles Jr. (Cast Away, Planet of the Apes, The Polar Express) และ Al Reinert (ผู้กำกับสารคดี For All Mankind)
เริ่มต้นค่ำคืน 20 กรกฎาคม 1969, นักบินอวกาศ Jim Lovell (รับบทโดย Tom Hank) เชิญเพื่อนๆมาร่วมงานเลี้ยงฉลองปาร์ตี้ รับชมวินาทีที่ Neil Armstrong ก้าวเท้าลงเหยียบดวงจันทร์เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ สร้างความอิจฉาเล็กๆเพราะตนเคยนำยาน Apollo 8 ไปโคจรรอบดวงจันทร์เป็นคณะแรกมาแล้ว (แต่ยังไม่ได้รับโอกาสลงไปเหยียบย่าง)
สามเดือนถัดมา ระหว่างที่ Lovell นำพาคณะ VIP ออกทัวร์ Vertical Assembly Building ได้รับการเรียกตัวจากหัวหน้า Deke Slayton เพื่อมอบหมายภารกิจเป็นผู้นำ Apollo 13 แทนที่ ชุดของ Alan Shepard ที่ยังไม่พร้อมบิน ซึ่งก็ได้ Ken Mattingly (รับบทโดย Gary Sinise) และ Fred Haise (รับบทโดย Bill Paxton) ฝึกฝนเตรียมตัวปฏิบัติภารกิจในระยะเวลา 6 เดือน แต่แล้วก่อนถึงกำหนดเพียงสามวัน หน่วยแพทย์กลับอ้างว่าค้นพบเชื้อโรคหัดในกระแสเลือดของ Mattingly ทำให้ต้องเปลี่ยนตัวมาเป็น Jack Swigert (รับบทโดย Kevin Bacon)
11 เมษายน 1970, ยาน Apollo 13 ได้รับอนุญาตปล่อยขึ้นจากฐาน โดยมีผู้อำนวยการบิน Gene Kranz (รับบทโดย Ed Harris) ประจำอยู่ที่ศูนย์ควบคุมภารกิจ Mission Control Center, Huston การเดินทางในช่วงแรกผ่านพ้นชั้นบรรยากาศโลกได้อย่างปลอดภัย แต่ปัญหาแรกเริ่มเกิดขึ้นจากเครื่องยนต์ตัวหนึ่งไม่ทำงาน และระหว่างทางมุ่งสู่ดวงจันทร์ ถังอ๊อกซิเจนเกิดการระเบิด/รั่วไหลจนไม่สามารถหยุดยับยั้งได้ ลูกเรือทั้งสามต้องสูญเสียโอกาสเหยียบย่างลงดวงจันทร์ ตัดสินใจเอาชีวิตรอดไว้ก่อน มุ่งหน้าสู่ Aquarius ยานสำรวจสำหรับใช้ลงจอด ลดการใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อประหยัดพลังงาน คาดหวังว่าจะมีเวลาหลงเหลือเพียงพอให้สามารถโคจรย้อนกลับมาสู่โลกได้อีกครั้ง
สำหรับนักแสดง ขอกล่าวถึงโดยย่อแล้วกัน
– Jim Lovell ผู้นำยาน Apollo 13 ในตอนแรกอยากได้ Kevin Costner มารับบทตนเอง แต่หลังจากมีโอกาสพูดคุยกับ Tom Hanks ก็เกิดความประทับใจแบบไม่คาดคิดมาก่อน เพราะแทบทุกท่วงท่า อิริยาบท น้ำเสียง ลีลาการพูด แทบจะคัดลอก โคลนมาเหมือนเปี๊ยบ ซึ่งช่วงท้ายเมื่อสามพระเอกกลับสู่โลก กัปตันเรือ USS Iwo Jima ก็ได้ Lovell มารับเชิญจับมือกันเอง
– Fred Haise ลูกเรือยาน Apollo 13 เพื่อนสนิทของ Lovell ที่บทบาทแสนจืดจางเสียเหลือเกิน แถมกลายเป็นภาระเพราะอาการป่วย ร่างกายคงปรับตัวกับสภาวะเครียดจัดๆไม่ไหว (ก็น่าจะตั้งแต่อ้วกออกมาครั้งแรก), รับบทโดย Bill Paxton ใบหน้าดูละอ่อน บอบบาง สะท้อนความอ่อนแอกายใจ ดูเหมือนคนพึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้เท่าไหร่
– Jack Swigert จากเป็นตัวสำรอง ไม่คาดหวังจริงจังจะได้เหยียบย่างดวงจันทร์ในครานี้ ส้มหล่นใส่แบบมิอาจตั้งตัวได้ทัน ทำให้ต้องแบกรับความกดดันไว้มากยิ่งทีเดียว, รับบทโดย Kevin Bacon ที่ขณะนั้นมีภาพลักษณ์เด็กเมื่อวานซืน เหมือนคนไร้ความรับผิดชอบ แต่ที่โดดเด่นมากๆคือการสะท้อนความเครียด กดดัน ผ่านสีหน้าอารมณ์ได้อย่างรู้ตนเอง
– Ken Mattingly นักออกแบบ/ควบคุมยาน Aquarius สมาชิกหลักของยาน Apollo 13 หมายมั่นปั้นมือไปโลดแล่นบนดวงจันทร์ แต่ถูกแพทย์ตรวจพบว่ามีเชื้อโรคหัด (ในชีวิตจริง พี่แกก็ไม่เคยป่วยเป็นโรคหัดสักครั้งเดียว!) ท้อแท้สิ้นหวังหมดอาลัย อยากนอนหลับยาวๆให้ตื่นขึ้นมาเริ่มต้นฟ้าใหม่ กลับถูกเจ้าหน้าที่ติดตามตัวมาถึงบ้าน ให้ช่วยหาวิธีทำอย่างไรให้เปิดคอมพิวเตอร์ยาน ด้วยกระแสไฟฟ้าต่ำกว่า 20 แอมป์, รับบทโดย Gary Sinise นักร้องนักแสดงที่ตามติด Tom Hanks มาจาก Forrest Gump (1994) ภาพลักษณ์ของพี่แกดูเป็นคนเฉลียวฉลาด พึ่งพาได้ แต่พอถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังก็หมดอาลัย และเมื่อรับทราบเหตุการณ์หายนะ พยายามทำทุกอย่างเพื่อเพื่อนรัก
(จริงๆก็น่าครุ่นคิดนะว่า ถ้า Mattingly ได้ออกเดินทางร่วมไปกับยาน Apollo 13 แล้วประสบพบเจอเหตุการณ์เดียวกันนี้ จะมีใครสามารถครุ่นคิดหาวิธีการแทนเขา ที่น่าจะเป็นคนรู้เรื่องยาน Aquarius มากสุดนี้ได้)
ไฮไลท์ของหนังต้องยกให้ Edward Allen Harris (เกิดปี 1950) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Englewood, New Jersey, เติบโตขึ้นในครอบครัว Presbyterian ตอนเด็กชื่นชอบการเล่นฟุตบอลจนเป็นดาวของโรงเรียน แต่พอย้ายไปอยู่ New Mexico เกิดความสนใจด้านการแสดง สอบเข้า University of Oklahoma ตามด้วย California Institute of the Arts จบคณะวิจิตรศิลป์ (Bachelor of Fine Arts), เริ่มทำงานจากเป็นนักแสดงละครเวที ซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์สร้างชื่อคือ The Right Stuff (1984) รับบท John Glenn หนึ่งใน Mercury Seven นักบินอวกาศรุ่นแรกของสหรัฐอเมริกา
ผมเพิ่งรับชม The Right Stuff เมื่อวานก่อน พอพบเห็น Harris ก็สะดุ้งเลยละ! เพราะหนังมีการบิ้วมาก่อนเปิดเผยใบหน้า ให้เกิดความฉงนสงสัย ประมาณว่าหมอนี่ต้องเป็นใครสักคนที่สร้างความประหลาดใจให้แน่ (ก็ว่าสมัยนั้นใครเคยรับชม The Right Stuff มาก่อน น่าจะสะดุ้งโหยงแบบผมแน่)
รับบทผู้อำนวยการบิน Gene Kranz เอกลักษณ์คือก่อนเริ่มภารกิจ ต้องใส่สูทแขนกุดสีขาว ราวกับคาวบอย/ฮีโร่อเมริกา เป็นคนเข้มงวด หนักแน่น จริงจัง คร่ำครึสักหน่อย แต่ใครๆต่างให้ความเคารพไว้เนื้อวางใจ เมื่อพบเจอสถานการณ์ฉุกเฉิน สามารถกำหนดภาพรวม ทิศทาง เป้าหมาย เดดไลน์ ด้วยความรวดเร็วไว แบ่งงานให้ลูกน้องแต่ละฝ่าย เค้นเอาศักยภาพ/ความสามารถ ออกมาได้อย่างเต็มที่ทันท่วงที
ภาพลักษณ์ผู้นำของ Harris มี Charisma ทำให้ใครๆเชื่อได้ว่า เขาคือผู้นำที่เก่งกาจ มากประสบการณ์ ไหวพริบปณิธานเป็นเลิศ ราวกับวาทยากรควบคุมวงออเครสต้า แม้มิได้เป็นคนบรรเลงเครื่องดนตรี/ครุ่นคิดหาวิธีการครุ่นคิดแก้ปัญหาในรายละเอียด แต่คือผู้มองเห็นภาพรวม และกำหนดเป้าหมายให้ทุกคนมุ่งไปสู่ เพื่อช่วยเหลือลูกยาน Apollo 13 ได้อย่างทันท่วงที
ถ่ายภาพโดย Dean Cundey ตากล้อง/ผู้กำกับ สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ Halloween (1978), The Thing (1982), Back to the Future (1985), Who Framed Roger Rabbit (1988), Apollo 13 (1995) ฯ
ก่อนหน้าเรื่องนี้ ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับยานอวกาศ NASA มักนิยมแทรก Archive Footage จากเหตุการณ์จริงๆเข้าร่วมด้วย แต่ผู้กำกับ Ron Howard ตัดสินใจท้าทายทีมงาน ด้วยการสร้างฉาก/ถ่ายทำทุกสิ่งอย่างใหม่หมด และด้วยเทคโนโลยี Computer Graphic พัฒนาไปถึงจุดที่สามารถใช้งานได้จริงแล้ว บางช็อตเรียกว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยก็มี (ที่จะถ่ายทำจากสถานที่จริง)
รับชมสมัยนี้อาจยังพอสังเกตได้ว่า CG ไม่แนบเนียนเท่าไหร่ แต่มันก็สมจริงเพียงพอ สามารถบิ้วอารมณ์ให้ขนลุกขนพอง ประทับตื้นตันใจ ซาบซึ้งจนแทบน้ำตาไหลเร็ดริน
การปล่อยกระสวยเชื้อเพลิงที่ใช้หมดแล้วออกจากยานแม่, ผมรู้สึกว่าภาพช็อตนี้จะได้รับความนิยมสูงมากๆกับหนังแนวสำรวจอวกาศ จุดเริ่มต้นคงจากสารคดีเรื่อง For All Mankind (1989) ร้อยเรียงภารกิจโครงการ Apollo ตั้งแต่ทะยานขึ้นท้องฟ้า จนกระทั่งลงจอดดวงจันทร์
แม้ว่า NASA จะอนุญาตให้ทีมงานใช้ศูนย์ควบคุมภารกิจ Mission Control Center ในการถ่ายทำจริงๆ แต่ผู้กำกับ Ron Howard ยืนกรานให้สร้างทั้งฉากนี้ขึ้นมาในโรงถ่ายสตูดิโอ Universal ทำการลอกเลียนแบบได้สมจริงมากๆ ถึงขนาดที่ปรึกษาจาก NASA ยังหลงเข้าใจผิดนึกว่าตนเองอยู่ที่ Huston จริงๆ
ไม่เพียงเท่านี้ อุปกรณ์สื่อสารยังสามารถใช้งานได้จริง เชื่อมโยงต่อกับยานอวกาศ Apollo 13 ที่สร้างขึ้นใกล้ๆ ให้ขณะถ่ายทำพวกเขาสามารถพูดคุยโต้ตอบกันได้อย่างสมจริง
สิ่งยากยิ่งวุ่นวายสุดของหนัง คือการทำให้วัตถุล่องลอยไร้น้ำหนัก นี่เป็นสิ่งที่แม้แต่ผู้กำกับ Ron Howard ยังจนปัญญา ปรึกษาพ่อมดแห่งวงการ Steven Spielberg แนะนำให้ขออนุญาตใช้เครื่องบิน KC-135 สำหรับฝึกนักบินอวกาศ NASA ด้วยเวลาประมาณ 23 วินาที สามารถล่องลอยไร้น้ำหนัก ก็ไม่รู้ต้องถ่ายทำทั้งหมดกี่รอบ กว่าจะได้ฉากเจ๋งๆแบบในหนังออกมา
For actors, being able to actually shoot in zero gravity as opposed to being in incredibly painful and uncomfortable harnesses for special effects shots was all the difference between what would have been a horrible moviemaking experience as opposed to the completely glorious one that it actually was.
– Tom Hanks
ให้ข้อสังเกตนิดหนึ่ง เมื่อเกิดความผิดพลาด/หายนะขึ้นบนยาน Apollo 13 มันจะมีแสงสีเขียว (และแดง) โดดเด่นชัดขึ้นมา ต้องถือว่าเป็นสีคลาสสิกในการสร้างสัมผัสทางอารมณ์ รับรู้ถึงภยันตราย สิ่งชั่วร้าย อุบัติเหตุ
เกร็ดไร้สาระ: ชุดนักบินอวกาศที่สร้างขึ้นใช้ในหนัง ราคาชุดละ 30,000 เหรียญ (แต่ก็ยังถูกกว่าของจริงอีกนะ!)
“Houston, we have a problem.”
ประโยคที่ได้รับการจดจำสูงสุดของหนัง พูดโดย Tom Hank ติดอันดับ 50 ชาร์ท AFI’s 100 Years… 100 Movie Quotes
ในความเป็นจริงคนแรกที่พูดประโยคนี้คือ Jack Swigert พูดว่า “OK Houston, we’ve had a problem here.” แต่เพราะความไม่ชัดเจนในการสื่อสาร ศูนย์ควบคุมภารกิจจึงสอบถามว่า “This is Houston. Say again, please.” จากนั้น Jim Lovell ตอบกลับอย่างคมชัดกริบ “Ahh, Houston, we’ve had a problem.”
สังเกตจากรูปคำ Lovell ใช้คำว่า “we’ve had” ซึ่งหมายถึงปัญหาได้เกิดขึ้นผ่านไปแล้ว แต่ผู้กำกับ Howard ตัดสินใจเปลี่ยนเป็นคำว่า “we have” เพื่อสะท้อนว่า ปัญหาดังกล่าวกำลังขึ้นอยู่ (คือมันก็ใช้ได้ทั้งสอง Tense นะครับ อยู่ที่การตีความปัญหาโลกแตกเสียมากกว่า)
ตัดต่อโดย Daniel P. Hanley และ Mike Hill ทั้งคู่เป็นขาประจำของ Howard ร่วมงานกันตั้งแต่ Night Shift (1982), คว้า Oscar: Best Edited เรื่อง Apollo 13 (1995)
ดำเนินเรื่องในมุมมองของ Jim Lovell (ก็แน่ละ เป็นเจ้าของหนังสือต้นฉบับ) โดยจะมีระบุวันที่ปรากฎขึ้นด้วยเพราะถือว่าคือเหตุการณ์จริง และมีสองครั้งที่เป็นภาพในความฝัน/จินตนาการของ Lovell
– ฝันตอนอยู่บนโลก พบเห็นยาน Apollo 13 ระเบิดเป็นจุน
– จินตนาการตอนอยู่บนยาน Apollo 13 ขณะกำลังเคลื่อนผ่านดวงจันทร์ พบเห็นตัวเองกำลังเหยียบย่างลงวิ่งเล่น
เมื่อเกิดปัญหาระหว่างการเดินทาง จะมีการตัดสลับกลับมาบนโลก ประกอบด้วย
– ศูนย์ควบคุมภารกิจ Mission Control Center กลุ่มคนมากมายที่ครุ่นขบคิดหัวสมองแทบแตก
– บรรดาครอบครัว ภรรยา ลูกๆ ของเหล่านักบินอวกาศ
– ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ รวมถึงรายงานข่าวที่จะมีการนำฟุตเทจขณะเคยให้สัมภาษณ์ มานำเสนอคั่นระหว่างรอลุ้นระทึก
ต้องชมเลยว่า หนังมีการตัดต่อที่บ้าพลังมากๆ ร้อยเรียงรายละเอียดยิบๆย่อยๆมากมายให้เกิดความรู้สึกที่ว่า ทุกคนบนโลกต่างกำลังจดจ่อ ลุ้นระทึก เป็นกำลังใจให้ลูกเรือยานอวกาศ Apollo 13 สามารถหวนกลับสู่โลกได้อย่างปลอดภัย
เพลงประกอบโดย James Horner (1953 – 2015) สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่น อาทิ Aliens (1986), Apollo 13 (1995), Braveheart (1995), Titanic (1997), A Beautiful Mind (2001), Avatar (2009) ฯ
พอมาฟัง Main Title รู้สึกน้ำตาคลอเล็กๆ นี่ถืองานเพลงสไตล์ถนัดของ Horner ผู้ล่วงลับไปก่อนวัยอันควร เต็มเปี่ยมด้วยสัมผัสแห่งจิตวิญญาณ โหยหาไขว่คว้าต้องการบางสิ่งอย่าง แต่มิอาจครอบครองเป็นเจ้าของ ณ ขณะนั้น แต่สักวันหนึ่งเมื่อโอกาสนั้นมาถึง จะขอทำอย่างเต็มที่เพื่อเติมเต็มความเพ้อฝันสูงสุดของตนเอง
บทเพลงที่มีความทรงพลัง ชวนให้ขนหัวลุกขนพองที่สุดของหนัง คือขณะปล่อยตัว The Launch เริ่มต้นด้วยท่วงทำนองแห่งความหวัง เพ้อฝัน รัวกลองเพื่อสร้างจังหวะเร่งเร้า สะสมจนเมื่อทะยานขึ้นสู่ฟากฟ้า ระยิบระยับด้วย Line Bells ลงฉาบเน้นๆ ลุ่มๆด้วย French Horn และประสานเสียงร้องคอรัส เปิดประตูมุ่งสู่อนาคตโลกใหม่ ขอบเขตที่ไร้กำแพงใดๆกั้นขวาง
หายนะที่เกิดขึ้นกับ Apollo 13 คงเกิดจากความผิดพลาดด้านเทคนิค ก็ไม่รู้ว่าแรงงานคนหรือเครื่องจักรกล แต่อย่าไปโทษอุบัติเหตุที่คงไม่มีใครคาดคิดถึงมาก่อนนั้นเลย พิจารณาชื่นชมในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า วิเคราะห์หาความสำเร็จในภารกิจดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร ดูจะน่าสนใจยิ่งกว่า
อย่างแรกเลยคือคือกัปตันยานอวกาศ Jim Lovell สภาวะผู้นำในสถานการณ์เช่นนี้ถือว่ามีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการตัดสินใจระหว่าง ชีวิต-ภารกิจ ซึ่งเขาเลือกอย่างแรกในวินาทีปิดหัวจ่ายถังอ๊อกซิเจน ตรงกันข้ามกับตอนเปลี่ยนตัว Fred Haise กับ Ken Mattingly นั่นเพราะความเห็นแก่ตัว ไม่อยากรั้งรีรอทอดทิ้งความฝันสูงสุดของตนเอง แต่เมื่อโอกาสสถานการณ์นำพามาถึงจุดนี้ ไม่มีอะไรในจักรวาลจะสำคัญมากเท่ากว่าการได้กลับบ้านปลอดภัย!
ลองตั้งคำถามกับตนเองดูนะครับ ถ้าคุณตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น
– จะเลือกทำตามความฝันสูงสุด ย่างเหยียบลงบนพื้นผิวดวงจันทร์แล้วกลายเป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่เสียชีวิตบนดวงจันทร์
– หรือชีวิตของตนมีคุณค่าสำคัญกว่า ยินยอมแพ้แล้วมองหาเป้าหมายอื่น
ไม่รู้เพราะดูหนังมาเยอะ หรืออารมณ์ศิลปินเข้าแทรก ถ้าผมตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นคงเลือกแบบแรก ขอกลายเป็นงานศิลปะชิ้นเอก ‘ตำนาน’ ที่คนจดจำว่ามีความกล้า บ้า ไม่กลัวตาย อาจมากกว่า Yuri Gagarin หรือ Neil Armstrong เสียอีกนะ!
กลับมาต่อกับความสำเร็จของภารกิจนี้ อีกบุคคลหนึ่งที่ขาดไปเสียไม่ได้คือ Gene Kranz ผู้อำนวยการบินของ Mission Control Center มากด้วยประสบการณ์ ไหวพริบ และที่สำคัญคือสามารถมองภาพรวม/เป้าหมายของภารกิจได้ชัดเจน จนสามารถแบ่งงานให้กับลูกน้องแต่ละฝ่าย ครุ่นคิดหาหนทางออก/แก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที
อาจมีหลายคนสงสัยว่า เอาจริงๆ Kranz ก็ไม่ได้เป็นผู้ทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหา นอกเสียจากสั่งงาน แต่ไฉนกลับได้รับเครดิตยกย่องไปเต็มๆแบบนี้? นี่ก็เหมือน Steve Jobs, Elon Musk สองคนนี้ไม่ได้เป็นผู้สร้างโทรศัพท์มือถือหรือรถยนต์ แต่คือบุคคลเบื้องหน้าที่คอยกำกับควบคุมทุกสิ่งอย่างอยู่เบื้องหลัง จริงอยู่พวกเขาอาจไม่ใช่คนทำ แต่ถ้าไม่มีศีรษะ/สมอง แขน-ขา ร่างกายจะสามารถเคลื่อนไหวได้เช่นไร
Apollo 13 คือภาพยนตร์ที่นำเสนอศักยภาพของชาวอเมริกันล้วนๆ พวกเขาสามารถไปถึงดวงจันทร์ แก้ไขปัญหาที่ไม่ใครจินตนาการคาดเดาได้มาก่อน จะมีฉากหนึ่งเอ่ยถึงบางประเทศ (ไม่ได้เอ่ยชื่อ แต่แนวโน้มคงคือสหภาพโซเวียต) เสนอตัวให้การช่วยเหลือแต่กลับถูกบอกปัดปฏิเสธ ‘ฉันสามารถช่วยเหลือตัวเองได้’ เรียนผูกก็ต้องเรียนแก้ ลึกๆแล้วนี่ทำให้ผมถึงเหตุการณ์หมูป่า ทุกอย่างมันกลับตารปัตรตรงข้ามกันเลยนะ ประเทศของเรายินยอมรับความช่วยเหลือจากนานาอารยะประเทศ ความรู้สึกของการมีส่วนร่วมช่างแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง!
นี่ก็แปลว่าความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นจากความสำเร็จในการแก้ปัญหา/เอาตัวรอดของ Apollo 13 ทั้งหมดแท้จริงก็แค่อเมริกันชนกลุ่มเดียวไม่มีชาติอื่น ความรู้สึกยินดีปรีดา ภาคภูมิ ซาบซึ้ง ที่ต่างชาติอย่างเราๆรู้สึก มันคือปฏิกิริยาอาการถูกหลอกหลอม ‘ชวนเชื่อ’ จากภาพยนตร์ ว่านี่คือบทเรียน/เหตุการณ์สำคัญมวลมนุษยชาติ … ผมว่าความสำเร็จในการช่วยเหลือชีวิต 13 หมูป่า ยังมีความยิ่งใหญ่ น่าภาคภูมิใจ สะท้อนความเป็นหนึ่งเดียวกลมเกลียวของคนทั่งโลก มากกว่าเป็นไหนๆ
Ron Howard ถือได้ว่าเป็นผู้กำกับแนว ‘อเมริกันนิยม’ สร้างภาพยนตร์เพื่อปลุกเร้า ให้เกิดความภาคภูมิ รักชาติ สนเรื่องราวที่มากด้วยปมปัญหาขัดแย้ง ก่อนสามารถขมวดจบทุกสิ่งอย่าง Happy Ending สไตล์ Hollywood, เคยให้สัมภาษณ์บอก ในบรรดาผลงานกำกับของตนเอง Apollo 13 คือที่ชื่นชอบโปรดปรานมากสุด
ด้วยทุนสร้าง $52 ล้านเหรียญ เข้าฉายสัปดาห์แรกทำเงิน $25 ล้านเหรียญ สิ้นสุดโปรแกรมที่ $173.8 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $355.2 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม
เข้าชิง Oscar 9 สาขา คว้ามา 2 รางวัล
– Best Picture
– Best Actor in a Supporting Role (Ed Harris)
– Best Actress in a Supporting Role (Kathleen Quinlan)
– Best Adapted Screenplay
– Best Film Editing ** คว้ารางวัล
– Best Art Direction
– Best Sound ** คว้ารางวัล
– Best Original Dramatic Score
– Best Visual Effects
สาขาที่ถูก SNUB อย่างน่าเกลียดมากๆคือ Best Director, ขณะที่รางวัลใหญ่ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พ่ายให้กับ Braveheart (1995) เฉือนเอาชนะตัวเต็งอย่าง Sense and Sensibility แต่ต้องถือว่าเป็นปีสายอ่อนจริงๆ แทบไม่มีเรื่องไหนทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา
(ในชาร์ท Sight & Sound: Critic’s Poll 2012 ไม่มีหนังปี 1995 ติดอันดับซักเรื่อง!)
ส่วนตัวแค่ชื่นชอบหนังเรื่องนี้ อาจเพราะเคยรับชมมาแล้วหลายรอบจนไม่ค่อยรู้สึกอะไรเท่าไหร่ แต่ก็ได้สังเกตเห็นรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ชมการตัดต่อที่บ้าพลังใช่ย่อย และความหาญกล้าบ้าของผู้กำกับ Ron Howard เป็นการตัดสินใจเริ่มต้นจากศูนย์ ท้าทายศักยภาพคนทำงานภาพยนตร์อย่างมาก
แนะนำคอหนังหายนะ ดิ้นรนเอาตัวรอด, ชื่นชอบดาราศาสตร์ ใฝ่ฝันอยากเป็นนักบินอวกาศ สนใจประวัติศาสตร์ Apollo 13, แฟนๆผู้กำกับ Ron Howard, นักแสดงนำ Tom Hanks, Kavin Bacon, Ed Harris ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ กับความลุ้นระทึก ตื่นเต้น จนกลั้นปัสสาวะไว้ไม่อยู่
Leave a Reply