Arabian Nights

Arabian Nights (1974) Italian : Pier Paolo Pasolini ♥♥♥♥

ตีความเรื่องเล่านิทานพื้นบ้านอาหรับราตรีในมุมของตัณหา ราคะ ความรักมาพร้อมกับ Sex ด้วยไดเรคชั่นไร้ยางอายของ Pier Paolo Pasolini หรือจะเรียกว่าซื่อตรงต่อสัญชาตญาณความเป็นมนุษย์ คว้ารางวัล Grand Prix จากเทศกาลหนังเมือง Cannes, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

หลายคนคงเคยได้ยินคำพูดสวยหรูประโยคหนึ่ง ‘โลกสวยด้วยความรัก’ ครุ่นคิดดูจะพบว่าแม้งโคตรเพ้อเจ้อนามธรรมเลยนะ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นข้อความนี้ละ

“โลกสวยด้วย Sex”

ไม่มีความจำเป็นใดๆต้องโกหกตัวเอง เพราะ Sex ต่างหากไม่ใช่หรือที่ทำให้ราชสีห์กลายเป็นลูกแมวน้อย จากความทุกข์ทรมานหมองหม่นแปรสภาพสู่โลกสีสันสวยสดใส การอ้างคำพูดเลิศหรู ‘ความรัก’ นั่นก็แค่มายาภาพลวงตา เฉพาะคนที่สามารถมองเห็นเข้าใจสัจธรรมเท็จจริงนี้เท่านั้น ถึงสามารถรับรู้คุณของ Arabian Nights (1974) ควรค่าแก่ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

แค่โปสเตอร์ที่นำมานี้ก็สื่อความหมายได้อย่างลึกล้ำ หนุ่มสาวร่างกายเปลือยเปล่าไร้อาภรณ์ปกปิด ปลายลูกธนูคือแท่งลึงค์/ดิลโด้ เล็งตรงอวัยวะเพศหญิง สำหรับมนุษย์แล้วไม่ว่าตำนานความรักยุคสมัยไหน ล้วนตีความสื่อถึงการมี Sex ได้ทั้งหมดสิ้น

รับชมภาพยนตร์ของ Pier Paolo Pasolini เปิดมุมมองใหม่ให้กับผมเองอย่างมาก โลกทัศน์เกี่ยวกับ Sex, ไดเรคชั่นกำกับนักแสดงสมัครเล่น ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความสมจริงเสมอไป, Neorealist กับหนัง Fantasy/Period ฯ

สิ่งที่โดยส่วนตัวหลงใหลคลั่งไคล้มากสุด คือเรื่องราวตอนหนึ่งคล้ายคลึงนิทานเวตาล ตอนพระวัชรมงกุฎ กับพุทธศริระ (นี่คือตอนที่ผมชื่นชอบสุดในนิทานเวตาลด้วยนะ) ซึ่งตอนนี้ได้ถูกประพันธ์เป็นลิลิตเพชรมงกุฎ โดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) สันนิษฐานว่าแต่งระหว่าง พ.ศ. ๒๓๑๐ – ๒๓๒๒ (สมัยกรุงธนบุรี)

พระเอย ยามยากกลั้น  กระหาย
เสพสิ่งใดอย่าหมาย  อิ่มท้อง
รสใดจะหลงหลาย  ดุจรส ราคนา
พ่ออย่าหลงเลศก้อง  วุ่นว้ายภายหลัง

สำหรับคนอยากอ่านลิลิตเพชรมงกุฎ ฉบับเต็ม: http://vajirayana.org/วรรณคดี-เจ้าพระยาพระคลัง-หน/ลิลิตเพชรมงกุฎ

Pier Paolo Pasolini (1922 – 1975) ผู้กำกับ กวี นักคิด นักเขียน สัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Bologna, Kingdom of Italy เมืองแห่งนักการเมืองซ้ายจัด พ่อเป็นทหารเล่นพนันจนติดหนี้ติดคุกกลายเป็น Fascist ตัวเขาเริ่มเขียนบทกวีตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ชื่นชอบวรรณกรรมของ Dostoyevsky, Tolstoy, Shakespeare, Coleridge, Novalis เลยไม่ค่อยสนใจศาสนาสักเท่าไหร่ โตขึ้นเข้าเรียน Literature College หลงใหลในปรัชญา สุนทรียศาสตร์ และศิลปะที่เป็นรูปเป็นร่าง, ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จับได้ใบแดงกลายเป็นทหาร ไม่ทันไรถูกคุมขังในค่ายกักกัน German Wehrmacht โชคดีสามารถปลอมตัวหลบหนีออกมาได้สำเร็จ แอบทำงานเป็นครูสอนหนังสือแล้วตกหลุมรักลูกศิษย์ชายคนหนึ่ง นั่นทำให้เขารู้ตัวเองครั้งแรกว่าเป็นเกย์

หลังสงครามโลกสิ้นสุดเข้าร่วมพรรค Italian Communist Party เพราะคาดหวังจะสามารถนำพาสิ่งใหม่ๆเข้ามาบริหารประเทศ แต่ช่วงฤดูร้อนปี 1949 ถูก Blackmail ให้ต้องถอนคำพูดไม่เช่นนั้นจะถูกขับออกจากงานสอนหนังสือ ถึงกระนั้นเขาก็ถูกไล่ออกอยู่ดีเพราะให้เด็กวัยรุ่นสามคนดื่มเหล้าเมามาย (ก่อนถึงวัย) ทั้งยังขอให้ช่วยตนเองให้ เมื่อเรื่องราวใหญ่โตเจ้าตัวก็ยืดอกยอมรับอย่างพึ่งพาย แล้วไถลสุนทรพจน์ไปว่าแสดงออกเช่นนั้นเกิดจาก ‘literary and erotic drive’

เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่กรุงโรม เริ่มจากเป็นครูสอนหนังสือ เขียนนิยายเรื่องแรก Ragazzi di vita (1955) ประสบความสำเร็จแต่ได้รับเสียงวิจารณ์ย่ำแย่เพราะเต็มไปด้วยเรื่องราวอนาจาร, ต่อมาตีพิมพ์บทกวีลงนิตยสาร Officina, ร่วมเขียนบทพูดภาพยนตร์เรื่อง Nights of Cabiria (1957), La Dolce Vita (1960) ของผู้กำกับ Federico Fellini, กลายเป็นนักแสดง The Hunchback of Rome (1960), เขียนบท/กำกับหนังเรื่องแรก Accattone (1961) ส่งให้นักแสดงนำชาย Franco Citti เข้าชิง BAFTA Awards: Best Foreign Actor

Pasolini เป็นคนที่ชีวิตเต็มไปด้วยความขัดแย้ง หลายๆทัศนคติของเขายังถูกโต้เถียง สังคมยินยอมรับไม่ค่อยได้ เพราะนิสัยตรงไปตรงมา ไม่คิดปกปิดความสนใจใคร่ต้องการของตนเอง หลงใหลในเรื่องต้องห้าม Taboo, Sex, ความรุนแรง (Sadist) แทบทั้งนั้นใช้ไดเรคชั่นของ Neorealism ถ่ายทำยังสถานที่จริง นักแสดงสมัครเล่นเต็มไปด้วยรอยยิ้ม หลายครั้งสนทนาภาษากวี แฝงข้อคิดลึกล้ำซับซ้อน

ผลงานเด่นๆ อาทิ
– The Gospel According to St. Matthew (1964) คว้ารางวัล Special Jury Prize จากเทศกาลหนังเมือง Venice แถมเข้าชิง Oscar สามสาขา
– The Decameron (1971) คว้ารางวัล Silver Bear: Special Jury Prize จากเทศกาลหนังเมือง Berlin
– The Canterbury Tales (1972) คว้ารางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin
– Arabian Nights (1974) คว้ารางวัล Grand Prix จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
– และผลงานสุดท้ายที่กลายเป็นตำนาน Salò, or the 120 Days of Sodom (1975) ดัดแปลงจากนิยายของ Marquis de Sade

Trilogy of Life คือสามผลงานที่ Pasolini นำเรื่องเล่านิทานพื้นบ้าน Folklore มาตีความนำเสนอในรูปแบบไดเรคชั่นเกี่ยวกับ Sex ประกอบด้วย
– The Decameron (1971)
– The Canterbury Tales (1972)
– Il fiore delle mille e una notte (แปลตรงตัวว่า The Flower of 1001 Nights) ชื่อฉบับฉายต่างประเทศ Arabian Nights (1974)

เรื่องราวของ Nur-e-Din (รับบทโดย Franco Merli) ตกหลุมรักทาสสาว Zumurrud (รับบทโดย Ines Pellegrini) ที่เลือกเขาเป็นนาย แต่เพราะความโง่เขลาเลยถูกลักพาตัวตั้งใจจะรุมโทรมข่มขืน ทำให้ชายหนุ่มต้องออกเดินทางติดตามค้นหาไปตามสถานที่ต่างๆอย่างไร้จุดหมาย โชคยังดีที่หญิงสาวสามารถหลบหนีเอาตัวรอด (ไม่ได้ถูกข่มขืน) ปลอมตัวเป็นชาย จับพลัดจับพลูถึงดินแดนหนึ่งได้รับแต่งตั้งให้กลายเป็นกษัตริย์ จัดงานเลี้ยงทานใหญ่โตทุกวัน เฝ้ารอยคอยสักวันหนึ่ง Nur-e-Din จะเดินทางมาพบเจอ

ระหว่างเฝ้ารอคอยถึงวันนั้น มีการเล่าเรื่องของนักเดินทางที่พานพบเจอสิ่งต่างๆในชีวิต แฝงข้อคิดอันเป็นสาระประโยชน์ (ต่อผู้ชม) ประกอบด้วย
– Aziz (รับบทโดย Ninetto Davoli) ถูกหญิงสาวปริศนา Budur (รับบทโดย Luigina Rocchi) ล่อลวงในวันแต่งงาน ตกหลุมรักใคร่ต้องการครอบครองนางถึงขนาดนำความไปปรึกษากับว่าที่ภรรยา Aziza (รับบทโดย Tessa Bouché) ซึ่งก็ได้ให้คำแนะนำอย่างดีจนเสพย์อารมณ์สุขสมหมาย แต่นั่นก็ทำให้เธอหมดสิ้นสูญอาลัยตายอยากจากโลกนี้ไป ชายหนุ่มก็ยังไม่คิดใคร่สนใจจนกระทั่งถูกจับตัดตอนกลายเป็นขันที ร่ำร้องไห้หาความยุติธรรม ครุ่นคิดได้ตอนนี้ก็ไร้หนทางแก้ไขใดๆ
– Prince Shahzmah (รับบทโดย Alberto Argentino) พบเจอเด็กหญิงคนหนึ่งถูกลักพาตัวโดย The Demon (รับบทโดย Franco Citti) ตั้งใจจะแสดงความหาญกล้าแต่กลับปอดแหกวิ่งหนีหางจุกตูด ถูกปีศาจบีบบังคับให้ต้องเลือกระหว่างชีวิตตนเองกับเธอคนนั้น เมื่อเลือกไม่ได้เลยโดนสาปกลายเป็นลิง ได้รับความช่วยเหลือให้หวนกลับเป็นมนุษย์อีกครั้งแต่ต้องแลกมากกับชีวิตของหญิงสาวอีกคน นับตั้งแต่วินาทีนั้นถอดองค์ทรงเครื่องทุกอย่างกลายเป็นขอทาน ไม่เอาอีกแล้วกับทุกสิ่งอย่างนำพามาด้วยความโชคร้าย
– Prince Yunan (รับบทโดย Salvatore Sapienza) ได้รับภารกิจให้ออกล่องเรือไปต่อสู้กับปีศาจ เสียสละกะลาสีเพื่อความสงบสุขของประชาชี พบเห็นเด็กชายคนหนึ่งถูกสังเวยจึงแอบเข้าไปตั้งใจช่วยเหลือ แต่กลับเป็นเขากลายร่างเป็นปีศาจเสียเอง เช้าวันถัดมาเมื่อเรือของพ่อหวนออกติดตามค้นหา หลังขึ้นฝั่งขอชุดขอทาน ไม่เอาอีกแล้วกับทุกสิ่งอย่างนำพามาด้วยความโชคร้าย
– Prince Tagi (รับบทโดย Francesco Paolo Governale) ตกหลุมรักหญิงสาวเจ้าของภาพวาดชื่อ Dunya รับฟังเรื่องเล่าของของ Aziz, Prince Shahzmah และ Prince Yunan จดจำเป็นบทเรียนสำหรับการครองคู่ เมื่อได้พบเจอกับเธอจึงสามารถอาศัยอยู่ด้วยกันตราบชั่วกัลปาวสาน

นักแสดงส่วนใหญ่ของหนังคือมือสมัครเล่น คนในท้องถิ่น หรือไม่ก็ขาประจำที่เคยร่วมงานกับ Pasolini เว้นเพียงแค่สองนักแสดง
– Giovanni ‘Ninetto’ Davoli (เกิดปี 1948) ตอนอายุ 15 ได้รับการค้นพบโดย Pasolini รับสมทบ The Gospel According to St. Matthew (1964) กลายเป็นคู่รัก ‘the great love of his life’ ร่วมงานทั้งหมด 6 ครั้ง ร้างรากันก่อนหน้า Arabian Nights (1974) เพียงเล็กน้อย
– Franco Citti (1935 – 2016) ได้รับการค้นพบโดย Pasolini เช่นกันตั้งแต่ Accattone (1961) และยังเคยได้สมทบ The Godfather (1972) พูดประโยค “In Sicily, women are more dangerous than shotguns.”

ไดเรคชั่นกำกับการแสดง ถ้าเป็นภาพระยะใกล้หรือ Close-Up นักแสดงหันหน้าเข้าหากล้อง มักมีรอยยิ้มแย้ม ขยับปากดูแล้วน่าจะพูดตามที่ Pasolini บอกอยู่หลังกล้อง (แล้วไปใช้การพากย์เสียงทับทีหลัง), ด้วยไดเรคชั่นดังกล่าวผู้ชมอาจรู้สึกว่าหนังขาดความสมจริงโดยสิ้นเชิง ก็แน่ละนั่นหาใช่ความตั้งใจของผู้กำกับเสียที่ไหนกัน รอยยิ้มของตัวละครสะท้อนถึงความโลกสวยสดใส ชีวิตที่งดงามดั่งเทพนิยาย สุขทุกข์ก็สามารถยิ้มได้

ผมถือว่านี่คือไดเรคชั่นตรงกันข้ามกับ Robert Bresson รายนั้นมองโลกในแง่ร้ายจัดๆ มักให้นักแสดงพูดกระทำซ้ำไปเรื่อยๆหลายสิบร้อยเทค จนร่างกายเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า หน้าบูดบึ้งถมึงทึง กลายเป็นหุ่นที่ไร้อารมณ์ความรู้สึกใดๆ

เมื่อเทียบคนละขั้นตรงข้ามกันแบบนี้จะพบว่า หนังเรื่องนี้ของ Pasolini มีความงดงามเสียยิ่งกว่าฝันหวาน รอยยิ้ม ดวงตาอันสดใสไร้เดียงสา ดูไม่มีพิษมีภัยใดๆ แต่นั่นแลกมากับการขาดความรับผิดชอบในตนเอง โศกนาฎกรรมเรื่องราวเศร้าสลดจึงบังเกิด นำไปเป็นบทเรียนสอนใจได้อย่างดี!

ถ่ายภาพโดย Giuseppe Ruzzolini สัญชาติอิตาเลี่ยน ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานกับ Pasolini เรื่อง Oedipus Rex (1967)

ทั้งหมดของหนังถ่ายทำยังสถานที่จริง ณ ประเทศ Eritrea, Yemen, Nepal ใช้กล้อง Hand-Held พบเห็นความสั่นๆสร้างสัมผัส Neorealist แต่ตำแหน่งของกล้องจะไม่การเคลื่อนที่ (ไม่มี Tracking Shot) มากสุดก็แค่แพนนิ่ง

ความเปลือยเปล่าของตัวละครพบเห็นได้ธรรมดาทั่วไปในหนัง อาจสร้างความรู้สึกตะขิดตะขวง บิดไปบิดมา เหนียงอายให้กับใครหลายๆคน แต่ถ้าสามารถมองว่านั่นคือธรรมชาติของมนุษย์สักพักก็จะเริ่มปรับตัวยอมรับได้ สำหรับคนที่ไม่ก็ลองครุ่นคิดถึงสาเหตุผล ทำให้ถึงต้องเปิดโชว์ให้เห็นโต้งๆขนาดนั้น เพราะนั่นคือวิธีทำให้เรามองเห็นตัวตนของพวกเขาเข้าไปลึกถึงภายใน

มันก็เป็นความซาดิสต์เล็กๆของผู้กำกับ สังเกตว่าหลายคนที่เข้าฉากโป๊เปลือยมีอาการเหนียงอาย ยกมือขึ้นปกปิดของลับของสงวนตนเอง (คนที่ไม่มีอะไรจะอาย ก็จะกล้าเปิดเผยแบบไร้ยางอาย) ผู้โชคร้ายคือ Francesco Paolo Governale เห็นเลยว่าพยายามปกปิด แต่ถูกสั่งให้หลับตาอยู่เฉยๆแล้วแอบถ่ายขณะนั้น

ความฝันของ Dunya มีอยู่ 2 ช่วงขณะ
– นกตัวหนึ่งติดอยู่ในกับดักที่มนุษย์วางไว้ แล้วมีนกอีกตัวหนึ่งพยายามเข้ามาช่วยเหลือให้หนีรอดไปด้วยกัน นี่สื่อถึงสองสิ่งมีชีวิตที่มีความสัมพันธ์รัก เมื่ออีกฝ่ายประสบพบอุปสรรค์ก็พร้อมให้การช่วยเหลือ
– Dunya ยังคงฝันต่ออีกนิด คราวนี้มีนกอีกตัวบินมาติดกับดัก แต่กลับไม่มีใครหรือนกตัวอื่นให้การช่วยเหลือ โดดเดี่ยวเดียวดายเฝ้ารอวันตาย

ภาพที่ Dunya วาดออกมา ประกอบด้วยต้นไม้แทนด้วยชีวิต กวางทองสองตัวกำลังดมดอมกัดกิดใบไม้ที่ยื่นออกมาเป็นอาหาร ตัวหนึ่งเงยหน้าขึ้น อีกตัวเหลียวหลังก้มลง และเลื้อยไม้ที่คล้ายเถาวัลย์พยายามโอบรอบพร้อมที่จะรัดสัตว์ทั้งสองให้ติดกัปดักของตนเอง

ผมมองภาพนี้ตีความกวางสองตัวเปรียบได้กับมนุษย์ชาย-หญิง (ตัวเงยหน้าคือผู้ชาย เหลียวหลังแทนด้วยเพศหญิง) ชีวิตมีความเกี่ยวเนื่องผูกพัน แต่มักที่จะมีมุมมองแนวคิดทัศนะที่แตกต่าง ด้วยเหตุนี้ Dunya เลยเกลียดไม่ชอบผู้ชาย เพราะพวกเขาแตกต่างตรงกันข้ามกับตนเองเสมอไป

ภาพร่างที่ Prince Tagi ตั้งใจทำเป็นโมเสกประดับเพดานบ้านในสวนส่วนตัวของ Princess Dunya ประกอบด้วยหกช่องเหมือนการ์ตูนแก็ก (ภาพชุดบนอ่านจากขวาไปซ้าย ชุดข้างล่างอ่านจากซ้ายไปขวา) ร้อยเรียงเหตุการณ์คล้ายฝันของเธอ แตกต่างที่นกตัวหนึ่งติดกับดักได้รับการช่วยเหลือ นกตัวถัดมาติดอีกก็ได้รับการช่วยเหลือ ถัดๆมายังมีติดอีกก็ได้รับการช่วยเหลือเช่นกัน จนกระทั่งเมื่อไม่หลงเหลือตัวไหนติดกับดักอีกต่อไป ทั้งหมดจึงโบยบินสู่ฟากฟ้าไกลไม่หวนกลับมาติดอีก

ในบรรดา 4-5 เรื่องราวย่อยๆของหนัง ที่ส่วนตัวชื่นชอบสุดก็คือรักสามเส้าระหว่าง Aziz, Aziza และ Budur เพราะความคล้ายคลึงกับนิทานเวตาล ตอนพระวัชรมงกุฎ กับพุทธศริระ เรื่องมีอยู่ว่า

พระวัชรมุกุฏ เจ้าชายแห่งกรุงพาราณสีมี ตกหลุมรักหญิงสาวนางหนึ่ง เธอเป็นใครไม่รู้แต่ได้ใช้ภาษากายในการสนทนาบอกกล่าว เก็บดอกบัวหนึ่งชูขึ้นไหว้ฟ้า เอาเสียบเกศา จากนั้นทัดที่กรรณ กัดด้วยทนต์ ทิ้งลงพื้นเหยียบย่ำด้วยบาทา หยิบกลับขึ้นมาปักที่อุระแล้วเดินจากไป, ด้วยความเคลิบเคลิ้มหลงใหลในความงามของนาง แม้ไม่รู้เรื่องว่าเธอต้องการสื่อสารอะไร นำความไปพูดคุยกับสหายสนิทพุทธศริระได้ความว่า

“เมื่อนางเก็บดอกบัวขึ้นชูไหว้ไปในฟ้านั้น คือการสำแดงความยินดีต่อเทวะที่ได้อำนวยให้ได้นางพบพักตร์อันประเสริฐของพระองค์ เมื่อยกดอกบัวขึ้นทัดหูเป็นที่หมายให้ทราบว่านางเป็นชาวเมืองกรรณาฏกะ แลเมื่อกัดดอกบัวด้วยทนต์ทำสัญญาณให้ทรงทราบว่านางเป็นราชธิดาท้าวทันตวัต เมื่อเหยียบดอกบัวให้เครื่องหมายว่านางชื่อปัทมาวดี แลเมื่อเอาดอกบัวปักที่อุระนั้นเป็นที่หมายว่าพระองค์สิงอยู่ในหฤทัยแห่งนาง”

ความเฉลียวฉลาดของนาง Budur ไม่ทำให้ Aziz หลงใหลก็แปลกพิศดารแล้ว นำความไปพูดคุยกับ Aziza แปลภาษากายพร้อมด้วยวิธีแลกเปลี่ยน คำพูดสื่อสาร ช่างลุ่มลึกล้ำ วาทะความหมาย คมคายยิ่งนัก

“Fidelity is good, but so is infidelity!”

ความจงรักภักดีเป็นสิ่งยอดเยี่ยม เฉกเช่นเดียวกับความไม่ซื่อสัตย์, นัยยะประโยคสุดท้ายที่ Aziza ทิ้งไว้ให้ Aziz ทำให้รอดตัวตายจาก Budur นั่นเพราะเธอยินยอมรับได้กับทุกการกระทำของเขา เสียสละให้ทุกสิ่งอย่างไม่ว่าชายคนนี้จะรักหรือนอกใจเธอก็ตาม เมื่อได้ยินคำพูดประโยคนี้ Budur น้ำตาไหลกับความบริสุทธิ์ ยกย่องในรักมหาศาลของ Aziza เลยแค่กระทำการลงทัณฑ์ตัดตอน เสี้ยมสอนให้หลากจำ เลวร้ายยิ่งกว่าตายทั้งเป็น

ลิงคือต้นกำเนิดเผ่าพันธุ์มนุษย์ มีความเฉลียวฉลาด/รูปลักษณ์ใกล้เคียงที่สุด แต่เพราะมันคือสัตว์ที่ยังคงมีชีวิตด้วยสันชาติญาณ เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว และหมกมุ่นใน Sex จึงถูกเรียกว่าเดรัจฉาน

Prince Shahzmah ถูกสาปให้กลายเป็นลิง เพราะความเห็นแก่ตัว มักมากในกาม มีพฤติกรรมอะไรไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน วิธีการที่เขาจะกลับกลายเป็นมนุษย์คือมีหญิงสาวคนหนึ่งเสียสละตนเองยินยอมแต่งงานครองคู่ วินาทีที่คืนร่างเดิม เธอคนนั้นก็จักมอดไหม้สูญหายไปชั่วนิรันดร

ไฮไลท์ของ Sequence นี้ คือเสียงระฆังดังก้องกังวาลแทบตลอดฉาก ตั้งแต่เกี้ยวขององค์ชายลิงถูกแบกมาจนถึงบ้านของเจ้าผู้ครองเมืองแห่งหนึ่ง ราวกับพิธีกรรมเรียกขวัญเอยขวัญมา มีความศักดิ์สิทธิ์ ชวนให้ขนลุกขนพองอย่างยิ่งเลยละ

นี่ผมก็ไม่รู้ปีศาจอะไรนะ รูปปั้นที่เป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย เมื่อถูกธนูของ Prince Yunan ยิงปักหน้าอก เกาะแห่งนี้จึงถูกธรณีสูบหายลับไปกับผืนแผ่นน้ำ นำพาให้เขาไปโผล่ยังเกาะแห่งหนึ่ง พบเห็นเด็กชายอายุ 14-15 กลายเป็นเครื่องสังเวยของปีศาจ … อะไรกัน ไม่ใช่ว่าฉันเข่นฆ่าทำลายปีศาจตนนั้นหรอกแล้วหรือ

แท้จริงแล้วปีศาจมันไม่ได้มีแค่สิ่งที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ แต่สามารถแปรสภาพเป็นนามธรรมหลบซ่อนอยู่ภายในจิตใจมนุษย์ (จะมองว่าเจ้าปีศาจเข้าสิง Prince Yunan ก็ได้เหมือนกันนะ) ปรากฎตัวออกมาในช่วงขณะที่เหมือนจะไม่มีอะไร นอนหลับอยู่ ใครกันจะไปรู้ตัว … ถ้ามนุษย์เรามีสติคงอยู่กับตัวตลอดเวลา กิเลสมารพวกนี้จักไม่สามารถแทรกซึมแสดงออก ด้วยปฏิกิริยาดั่งสันชาติญาณสัตว์ได้อย่างแน่นอน

ตัดต่อโดย Tatiana Casini Morigi กับ Nino Baragli รายหลังคือยอดฝีมือสัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของผู้กำกับ Sergio Leone มีสองโคตรผลงานระดับตำนาน The Good, the Bad and the Ugly (1966), Once Upon a Time in the West (1968)

แม้ไม่ได้มีระดับความลึกเท่า The Grand Budapest Hotel (2014) แต่หนังก็ใช่วิธีดำเนินเรื่อง Story within a Story ถึงสามระดับขั้น
– เรื่องราวหลักคือ Nur Ed Din กับ Zumurrud
– Nur Ed Din รับฟังนิทานจาก Zumurrud เรื่องกามเทพแผงศรพิสูจน์ความรักระหว่าง Berhane กับ Giana, และตอนอยู่ในฮาเลม เรื่องเล่าของ Prince Tagi ที่ได้พบเจอ Aziz, Prince Shahzmah และ Prince Yunan ก่อนจะปลงใจตกหลุมรัก Princess Dunya
– ความฝันของ Princess Dunya และสามเรื่องเล่าของ Aziz, Prince Shahzmah, Prince Yunan

ด้วยความซับซ้อนขนาดนี้ ทำให้เรื่องราวหลักของหนังหลุดประเด็น หลงลืม หมดความสำคัญไปตั้งแต่กลางเรื่อง กลายเป็นข้อเสียที่ไม่น่าอภิรมย์สักเท่าไหร่ แต่ก็พอเข้าใจเหตุผลได้ว่าเพื่อเพิ่มระยะเวลาให้กับหนัง (คือถ้ามีแต่เรื่องของ Nur Ed Din กับ Zumurrud คงจบไปประมาณไม่ถึงชั่วโมงด้วยซ้ำนะ)

จริงๆถ้าจะเล่าเรื่องแบบนี้ แบ่งออกเป็นตอนๆเลยก็ยังได้ แต่ผู้กำกับคงมองเป็นความท้าทาย ทำอย่างไรให้ 4-5 เรื่องราวนี้สามารถคลุกเคล้าผสมผสานเข้ากันได้อย่างกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว แต่ผลลัพท์กลับไม่ค่อยลงตัวสักเท่าไหร่นะ

เพลงประกอบโดย Ennio Morricone นักแต่งเพลง วาทยกร เล่นทรัมเป็ต อัจฉริยะยอดฝีมือของประเทศอิตาลี ขาประจำหนัง Western ของผู้กำกับ Sergio Leone, คว้า Oscar: Best Original Score จากเรื่อง The Hateful Eight (2015)

ด้วยความที่สไตล์การทำงานของ Morricone มักแต่งเพลงประกอบขึ้นตั้งแต่ก่อนหน้าเริ่มต้นถ่ายทำ แล้วให้ผู้กำกับเลือกใช้ใส่วางเอาเองตามต้องการ (หรือนำไปเปิดในกองถ่ายเพื่อสร้างบรรยากาศให้กับนักแสดง) มันเลยไม่ใช่เรื่องของจังหวะอารมณ์ที่จะให้เข้ากับเหตุการณ์ แต่คือสัมผัสและกลิ่นอายความเป็นอาหรับ ที่ล่องลอยอยู่ตลอดเวลาของหนัง ราวกับผู้ชมจะหลุดเข้าไปในโลกแห่งความเพ้อฝัน ทุกคนยิิ้มร่า ความรักกับ Sex คือสิ่งๆเดียวกัน

Harp/พิณใหญ่ ถือเป็นไฮไลท์ในหลายๆบทเพลงประกอบ ราวกับเสียงสวรรค์ที่รังสรรค์นำพาผู้ฟังให้ล่องลอยเคลิบเคลิ้มหลงใหล ระยิบระยับไปกับความตื่นตระการงามตาในทุกสิ่งอย่างที่พบเห็น สอดคล้องรับเข้ากับสถาปัตยกรรมอาหรับ มีความละเอียดอ่อน สลับซับซ้อน อร่ามงามล้ำ ทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา

การปรากฎตัวของ The Demon ผู้ชมจะรับรู้สึกได้ทันทีด้วยเสียงของ Organ (ที่ใช้บรรเลงตามโบสถ์) งานนี้ต้องมีคนตายอย่างแน่นอน ด้วยสัมผัสของ Morricone ทำเอาจิตตกลงตาตุ่ม อึดอัดหายใจไม่ค่อยจะออก

ทั้งสามสี่เรื่องราวของ Arabian Nights มีใจความสอดคล้องเดียวกัน เป็นบทเรียนสอนชายให้กับคนที่กำลังมีความรัก ไม่ใช่สักแต่จะล่วงล่อหวัง Sex แบบหน้ามืดตามัวทำตัวไร้เดียงสาเพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญสุดคือการรู้จักเข้าใจ ทะนุถนอมสนหัวอกผู้อื่น กล้ายืดอกยอมรับความผิดพลาด และปรับปรุงตัวจากบทเรียนของผู้อื่น ทำได้เช่นนั้นก็จักสามารถครองคู่หญิงสาว ไม่ต้องหวาดหวั่นวิตกเรื่อง Sex รักกันตราบชั่วกัลปาวสาน

เรื่องราวของ Nur-e-Din กับ Zumurrud เสนอแนะว่าไม่ใช่ผู้ชายเท่านั้นที่เป็นช้างเท้าหน้า หลายๆเรื่องโดยเฉพาะความรัก ผู้หญิงมักเพ้อคลั่งยิ่งกว่าหนุ่มๆเสียอีก เธอย่อมมีสิทธิ์เสียงเสมอภาคเท่าเทียมในทุกๆสิ่งอย่าง (รวมถึงการเป็นพระราชาที่มีแต่ผู้ชายเป็นได้ด้วย!) แม้เรื่องราวนำพาให้พวกเขาพลัดพรากแยกจาก ตราบใดไม่ย่นย่อท้อต่ออุปสรรคขวากหนาม มั่นคงต่อความรู้สึกของตนเองไม่คิดแปรเปลี่ยน สักวันหนึ่งย่อมมีโอกาสประสบพบเจอ ครองคู่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขสันติชั่วนิรันดร์

การแต่งงานภายในเครือญาติพี่น้อง (Incest) ก็ไม่รู้ Azizi ถูกบีบบังคับหรือเปล่า แต่เพราะ Aziza รักมากจึงยอมเสียสละหลีกทางให้, ข้อคิดของเรื่องนี้มองได้สองมุมมอง
– ความเห็นแก่ตัวแบบไม่สนคนอื่นของ Azizi สามารถทำร้ายเข่นฆ่าคนตาย ด้วยเหตุนี้เลยได้ผลตอบแทนอย่างสาสมระทมกระปู๋ (สิ่งสำคัญสุด บางทีก็อยู่ใกล้ตัวแต่คนเรามองไม่เห็นจนกว่าจะพบเจอความสูญเสีย)
– ความมืดบอดในรักของ Aziza ทุ่มเทเสียสละให้กับคนไม่เห็นคุณค่า เลยต้องแลกมากับความเจ็บชอกช้ำระกำตรอมใจตาย (รักมากยิ่งเจ็บมาก ควรต้องเรียนรู้จักเพียงพอดีในทุกสิ่ง)

สามครั้งที่ Prince Shahzmah เอาตัวรอดตายมาได้ (จากสงคราม, ปีศาจ, กลายร่างเป็นลิง) ทำให้เขาเรียนรู้จักโทษของความเห็นแก่ตัวเอง สามารถส่งผลกระทบถึงตายให้ผู้อื่นได้ เกิดความสำนึกยางอายต้องการชดใช้ทุกสิ่งอย่างที่เคยกระทำก่อ

สำหรับ Prince Yunan การต่อสู้กับปีศาจไม่ใช่แค่ตัวตนรูปลักษณ์ภายนอกมองเห็นจับต้องได้ แต่คือความชั่วร้ายที่หลบซ่อนอยู่ภายในจิตใจของตนเอง โดยไม่รู้ตัวนั่นสามารถเข่นฆ่าคนให้ตายได้ในยามหลับฝัน สำนึกรู้ตัวว่ายังโง่เขลาอ่อนต่อโลก เกิดความต้องการปลดปล่อยวางทุกสิ่งเลือกทางสายกลาง

สามบทเรียนของ Azizi, Prince Shahzmah และ Prince Yunan ทำให้ Prince Tagi เกิดความเข้าใจในนิยามแห่งรัก ความเสียสละ (โทษของการเห็นแก่ตัว) และความพอเพียง เห็นแก่ตัว-เสียสละต้องอยู่ในระดับเท่าๆกัน เหล่านี้คือวิธีการจะทำให้ชีวิตคู่ยั่งยืนยาวนานตราบชั่วกัลปาวสาน

ขณะที่ Nur-e-Din แม้รับฟังได้ยินทุกเรื่องราว แต่ก็ไม่รู้ว่าจะกลายเป็นบทเรียนสอนใจเขาได้หรือเปล่า หน้าตาทาทางดูเหมือนทองไม่รู้ร้อนยังไงชอบกล อาจเพราะการเดินทางติดตามหา Zumurrud ช่างยาวไกล ยืดเยื้อ เนิ่นนาน จนแทบหมดสิ้นความคาดหวัง ปลดปล่อยให้โชคชะตาฟ้าดินกำหนด มอบศรัทธาเชื่อมั่นให้กับพระผู้เป็นเจ้า สักวันหนึ่งย่อมต้องได้รับผลตอบแทนสาสม

มีความน่าสนใจหนึ่งของ Pasolini เกย์ผู้เปิดเผยตัวเองมาตั้งแต่แรก ก่อนหน้านี้ครองรักอาศัยอยู่ร่วมกับ Ninetto Davoli (ที่รับบท Azizi) แต่เพราะขณะนั้นแฟนหนุ่มบอกเลิกราแล้วหนีไปแต่งงานมีครอบครัวกับผู้หญิง** มันจึงค่อนข้างชัดเจนว่าโชคชะตาของตัวละครนี้คือความตั้งใจของผู้กำกับ ให้อดีตคนรักรับรู้ตัวเองว่าเขาเจ็บปวดรวดร้าวทุกข์ทรมานแสนสาหัสถึงขนาดไหนกัน

**อันนี้อยากให้ลองจินตนาการกันสักนิด ชาย-หญิง ถ้าคนรักหนีไปแต่งงานกับเพศเดียวกัน เช่นว่าแฟนสาวเลิกราแล้วไปติดทอม แฟนหนุ่มเลิกราไปติดเกย์ เป็นคุณจะรู้สึกเช่นไร! (สูญเสียความเชื่อมั่นในน้ำยาตนเองไปเลยละ!) เฉกเช่นเดียวกับชาย-ชาย ครองรักกันมานานแล้วคู่ของตนเลิกราไปแต่งงานกับผู้หญิง นี่ไม่น่าแตกต่างอะไรกันเท่าไหร่นะครับ!

ผู้ชายในหนังของ Pasolini สังเกตว่ามีความด้อยสติปัญญา ซื่อบื้อ เฉลียวฉลาดน้อย ผิดกับหญิงสาวที่มักมาก กร้านโลก ต้องการเป็นช้างเท้าหน้านำชาย เหล่านี้ย่อมคือทัศนคติของผู้กำกับ เพราะตัวเองเป็นเกย์เลยมองหนุ่มๆด้วยความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา มองผู้หญิงคือนางมารร้ายตัวอันตราย (หรือความซับซ้อนที่ยากจะเข้าใจ)

ใน Trilogy of Life เป้าหมายคือนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการมีชีวิตของมนุษย์ ความรักกับ Sex ในทัศนคติของ Pasolini คือสิ่งคู่กันขาดไม่ได้
– รักใครสักคนไม่ว่าชายหญิง ต้องเปลือยกายร่วมรัก Sex Intercourse
– ไม่ว่าชายหญิงเปลือยกายมี Sex ย่อมแสดงถึงพวกเขามีความรักใคร่ต่อกัน

อดีตที่ความเจริญของโลก/ความคิดอ่านมนุษย์ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนนัก ‘ความรัก=Sex’ คงไม่ถือว่าผิดแผกแตกต่างอะไร เป็นสิ่งเติมเต็มกันและกัน ธำรงสืบเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้คงอยู่สืบไป แต่เดี๋ยวนี้เมื่อระบอบทุนนิยมเงินตราเข้ามามีส่วนร่วมปัจจัย รัก+Sex มักแลกมาด้วยปัจจัยผลประโยชน์พลอยได้บางอย่างตามมาเสมอ วิวัฒนาการเช่นนี้น่าเศร้าสลดโดยแท้

เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ประธานกรรมการปีนั้นคือผู้กำกับ René Clair มอบรางวัล Grand Prix (ที่สอง) ให้กับ Arabian Nights ขณะที่รางวัลใหญ่ Palme d’Or ตกเป็นของ The Conversation (1974) โดยผู้กำกับ Francis Ford Coppola

ความรักเป็นสิ่งสวยงาม แต่นั่นยังเทียบไม่ได้เลยกับ Sex การร่วมรักที่จักพาไปถึงสรวงสวรรค์ชั่นฟ้า ถ้ามาคู่เติมเต็มกันและกันถือว่าเป็นความสมบูรณ์แบบของชีวิต แต่ความจริงมักมิได้เป็นเช่นนั้น หนังเรื่องนี้ก็เช่นกัน

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” จนกว่าจะได้ลิ้มลอง และจนกว่าจะสูญเสีย ถึงทำให้มนุษย์รู้จักคุณค่าความสำคัญของความรักและ Sex จดจำไว้เป็นบทเรียนสอนใจ สิ่งที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้ ขออย่าให้มันเกิดขึ้นกับชีวิตจริงเลยเถิด

แนะนำสำหรับผู้ชื่นชอบเรื่องเล่านิทานพื้นบ้านอาหรับราตรี, ชื่นชอบภูมิทัศน์ทะเลทราย เมืองสวยๆของ Eritrea, Yemen, Nepal, เพลงประกอบอันเพราะพริ้งของ Ennio Morricone, และคลั่งไคล้ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Pier Paolo Pasolini ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับภาพโป๊เปลือยและ Sex

TAGLINE | “Pier Paolo Pasolini สร้าง Arabian Nights สอนใจชายได้ลึกไปถึงกระปู๋”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: