Aranyer Din Ratri

Aranyer Din Ratri (1970) Indian : Satyajit Ray ♥♥♥♥

Days and Nights in the Forest เรื่องราวของสี่หนุ่มเดินทางไปพักผ่อนวันหยุดริมชายป่า ปลดปล่อยชีวิตให้ได้รับอิสรภาพเสรี พยายามอย่างยิ่งจะแหกแหวกกฎ ประเพณี ทุกสิ่งอย่าง กระทั่งพานพบเจอหญิงสาวสวยสองคนอาศัยอยู่บ้านข้างๆ ความมีอารยะถึงค่อยๆหวนคืนสติกลับมาทีละนิด

ปกติแล้วผลงานภาพยนตร์ของ Satyajit Ray จะไม่อึมครึม มืดหมอง หม่นขนาดนี้ (แต่ผมยังรับชมไม่ครบทั้งหมดนะครับ เลยบอกไม่ได้ว่าเรื่องนี้ดาร์กสุดๆแล้วหรือยัง) ถือว่าเป็นการเดินทางเพื่อค้นพบ เผชิญหน้า สิ่งชั่วร้ายที่หลบซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจ ปลดปล่อยสันชาติญาณสัตว์ออกสู่ธรรมชาติป่าดงพงไพร

สี่หนุ่มมีความแตกต่างคนละมุม ดูยังไงก็ไม่น่าสมัครคบหาเป็นเพื่อนพึงพาอาศัยกันได้ แต่นั่นน่าจะคือการเปรียบเทียบถึงชนชั้น วรรณะทางสังคมอินเดีย เมื่อพวกเขาต้องเผชิญหน้าเหตุการณ์ต่างๆ แต่ละคนจะมีวิธีแก้ปัญหา จัดการ ปฏิกิริยาโต้ตอบสนอง(ด้วยสันชาติญาณ)เช่นไร

นั่นคือความลุ่มลึกล้ำในระดับปราชญ์ รับชม Days and Nights in the Forest เพียงผ่านๆย่อมไม่สามารถพบเห็นความงดงามที่หลบซ่อนเร้นอยู่ภายใต้ ซึ่งความตั้งใจของผู้กำกับ Ray ต้องการสะท้อนเสียดสีสภาพสังคมอินเดียยุคสมัยนั้น (ที่เต็มไปด้วยความแตกแยก คอรัปชั่น และกำลังห้ำหั่นแบ่งแยกประเทศเพราะความแตกต่างทางศาสนา) ส่งผลกระทบต่อคนรุ่นใหม่ โหยหาอิสรภาพ ไม่ต้องการถูกจำกัดอยู่ในกฎกรอบ ขณะเดียวกันถือได้ว่าเป็นการค้นหาอัตลักษณ์ตัวตนเอง (ของผู้กำกับ และความเป็นอินเดีย) เผชิญหน้าด้านมืด โอบรับสิ่งชั่วร้ายภายใน เมื่อสามารถเรียนรู้เข้าใจ ก็จักทำให้ชีวิตสามารถก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้


Satyajit Ray (1921 – 1992) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Calcutta, Bengal Presidency ปู่เป็นนักเขียน นักดนตรี จิตรกร นักปรัชญา, บิดาเป็นนักกวี เขียนบทละครเวที แต่พลันด่วนจากไปตอนลูกชายอายุได้เพียงสามขวบ โตขึ้นเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ Presidency College, Calcutta ถึงอย่างนั้นความสนใจส่วนตัวกลับคือวิจิตรศิลป์ แม่เลยโน้มน้าวให้เข้าศึกษาต่อ Visva-Bharati University, Santiniketan จนได้ปริญญาศิลปตะวันออก (Oriental Art) จบออกมาทำงานบริษัทโฆษณา Signet Press เป็นนักออกแบบ Graphic Design รับงานโฆษณา วาดภาพ ทำปกหนังสือ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ Pather Panchali (1929) ของ Bibhutibhushan Bandyopadhyay (1894 – 1950) นักเขียนผู้บุกเบิกวรรณกรรมภาษา Bengali สมัยใหม่ ต่อมาได้มีโอกาสนำหนังสือเล่มดังกล่าวสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Pather Panchali (1955)

ผลงานในยุคที่สามของผู้กำกับ Ray มักเป็นการสำรวจตัวตนเอง ค้นหาอัตลักษณ์ เผชิญหน้าด้านมืดที่อยู่ภายในจิตใจ ซึ่งสิ่งที่เขามองหาสำหรับ Aranyer Din Ratri เริ่มต้นครุ่นคิดถึง 4 ตัวละคร
– Asim (รับบทโดย Soumitra Chatterjee) ร่ำรวยสุดในกลุ่ม อาชีพการงานมั่นคง เอ่อล้นด้วยความมั่นใจ(ในตนเอง) ลุ่มหลงใหลในบทกวี สวมใส่เสื้อผ้าดูหรูหรา สูบบุหรี่ราคาแพง เหตุผลการเดินทางครั้งนี้เพื่อทดลองรถใหม่ และพยายามทำตัวนอกคอกนอกรอย ไม่ต้องการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ใดๆ
– Sanjoy (รับบทโดย Subhendu Chatterjee) เป็นคนเงียบๆ ขรึมๆ เหนียงอาย จีบสาวไม่ค่อยเก่ง ยึดถือมั่นในศีลธรรมมโนธรรม มีสติสามารถหยุดยับยั้งชั่วใจอะไรๆ เหตุผลของการเดินทางครั้งนี้ เพราะชื่นชอบสถานที่ (เหมือนจะเคยมาท่องเที่ยวก่อนหน้า) และต้องการพักผ่อนคลายจากหน้าที่การงาน
– Hari (รับบทโดย Samit Bhanja) ร่างกายบึกบึนกำยำ ‘Sportman’ เป็นคนง่ายๆ ทึ่มๆ ซื่อตรง อยากได้อะไรก็พูดบอกออกมา ถ้าไม่ได้ด้วยเงินก็คิดแต่จะใช้กำลังควบคุมครอบงำ เหตุผลการเดินทางครั้งนี้ เพื่อหลงลืมสาวที่ตนเพิ่งเลิกรา
– Sekhar (รับบทโดย Rabi Ghosh) เป็นคนเฮฮาปาร์ตี้ ‘Happy-go-Lucky’ ขี้หลีแต่ไร้เสน่ห์ ชอบพูดจาโผงผาง สามารถตีสนิทเข้าหาคนอื่นได้ง่าย มีความต้องการตรงไปตรงมา หลงใหลการเล่นพนัน เหตุผลการเดินทางครั้งนี้ เพราะเพื่อนๆเรียกร้องมาเลยไม่คิดปฏิเสธแต่อย่างใด

จากนั้นมองหาสถานที่สำหรับการผจญภัย ได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมคลาสสิกเรื่อง Palamau (1880) แต่งโดย Sanjib Chandra Chattopadhyay (1834 – 1889) ซึ่งชาวเบงกาลีเป็นที่รู้จักมักคุ้นอย่างดี สมัยนั้นยังคงเป็นดินแดนรกร้าง ป่าดงพงไพร อยู่ห่างไกลไปทางทิศตะวันตก สามารถพานพบเจอชนเผ่าพื้นเมือง Santhal สาวๆที่นั้นผิวดำ แต่งตัวโป๊เปลือย ดื่มเหล้าเมามายไม่ต่างจากบุรุษ ซึ่งราวกับสรวงสวรรค์ของชาวเมืองเลยก็ว่าได้

“Bengalis are so accustomed to the plains that even a mere hillock delights them. Men and women drink together in Palamau, but I’ve never seen a local woman drunk, although the men are often completely intoxicated. The woman are dark-skinned, and all young. They are scantily dressed and naked from the waist up”.

– Sanjoy อ่านจากหนังสือ Palamau เมื่อตอนเริ่มต้นออกเดินทาง

เมื่อเริ่มพัฒนาบทไปได้สักพักยังไม่มีชื่อหนัง หวนระลึกนึกถึงนวนิยาย Aranyer Din Ratri (1968) แต่งโดย Sunil Gangopadhyay (1934 – 2012) นักเขียน/นักกวีชื่อดังสัญชาติ Bengali เลยติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ และนำเพียงโครงสร้าง แนวคิด ไม่ใช่เนื้อเรื่องราวทั้งหมดมาปรับใช้ในภาพยนตร์

เกร็ด: ปีเดียวกันนี้ผู้กำกับ Ray ยังได้ดัดแปลงนวนิยายอีกเล่มของ Sunil Gangopadhyay กลายมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง Pratidwandi (1970) ซึ่งมีเนื้อหาตรงต่อ/เคารพต้นฉบับมากกว่า


Soumitra Chatterjee (เกิดปี 1935) นักแสดงขาประจำผู้กำกับ Ray ตั้งแต่ Apur Sansar (1959) ปกติแล้วมักรับบทตัวละครที่มีความใสซื่อ ไร้เดียงสา มาครานี้พลิกบทบาทกลายเป็นชายหนุ่มผู้มีความเย่อหยิ่งทะนง แต่งองค์หรูหรา มารยาเป็นเลิศ เชื่อมั่นในความคอรัปชั่นของมนุษย์ แต่ก็พ่ายรักให้กับ Aparna (รับบทโดย Sharmila Tagore) คู่ขวัญเจอะเจอกันมาตั้งแต่ชาติปางก่อน ยินยอมใจอ่อนศิโรราบ หมดสิ้นความอหังการกลายเป็นลูกแมวน้อยโดยทันที

Subhendu Chatterjee (1936-2007) ไม่ได้เป็นญาติพี่น้องอะไรกับ Soumitra นะครับ เพิ่งเริ่มเข้าวงการจากผลงานแจ้งเกิด Akash Kusum (1965) และโด่งดังระดับนานาชาติกับ Aranyer Din Ratri (1969), รับบท Sanjoy มักประกบคู่หู Ashim แต่งตัวดูดี มีความเฉลียวฉลาด รสนิยมคล้ายๆกัน เพิ่มเติมคือจิตสำนึกมโนธรรม มักหาเรื่องรั้งรีรอ สติปัญญายับยั้งสันชาตญาณตนเอง ไม่ให้ครุ่นคิดกล้าตัดสินใจกระทำอะไร จะเรียกว่าไก่อ่อนคงไม่ผิดเท่าไหร่ แต่ในสถานการณ์เช่นนั้นคงตอบยากว่าควรทำเช่นไร

Samit Bhanja (1944 – 2003) นักแสดงหนุ่มร่างบึกบึน ผลงานเด่นๆอย่าง Surer Agun (1965), Hatey Bazarey (1967), Guddi (1971), รับบท Hari เป็นคนขี้เหนียงอาย ทึ่มทื่อ ตรงไปตรงมา ชอบใช้กำลัง/สันชาติญาณมากกว่าสติปัญญาแก้ไขปัญหา ด้วยเหตุนี้พอกระเป๋าสตางค์หาย โทษทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่สอบถามไตร่ตรองให้รอบคอบดูเสียก่อน ด้วยเหตุนี้ผลกรรมเลยตอบสนองย้อนแย้ง น่าจะได้รับบทเรียนแห่งความเจ็บปวดอย่างสาสม

Rabi Ghosh (1931 – 1997) หนึ่งในนักแสดงขาประจำผู้กำกับ Ray ร่วมงานกันมาตั้งแต่ Abhijan (1962), โด่งดังสุดก็ Goopy Gyne Bagha Byne (1968) และภาคต่อ Hirak Rajar Deshe (1980), รับบท Shekhar แม้เป็นคนสนุกสนานร่าเริง สร้างสีสันให้ทริปนี้ แต่ไร้รสนิยม ความครุ่นคิดอ่านของตนเอง เพื่อนชวนมาก็ไป ลุ่มหลงใหลในการพนันขันต่อชีวิต หมกมุ่นยึดติดจนหมดตัวไม่หลงเหลืออะไร

Sharmila Tagore (เกิดปี 1944) นักแสดงหญิงขาประจำผู้กำกับ Ray ตั้งแต่ Apur Sansar (1959) ซึ่งเรื่องนั้นรับบท Aparna ภรรยาผู้โชคร้ายของ Apu นำแสดงโดย Soumitra Chatterjee, มาเรื่องนี้ตัวละครชื่อ Aparna อีกเช่นกัน ยังคงเต็มไปด้วยมารยาหญิง เล่นหูเล่นตายั่วหยอกเย้า เพิ่มเติมคือความเฉลียวฉลาดปราชญ์เปรื่อง สามารถเข้าใจกลเกมของหนุ่มๆ จึงแสร้งทำเป็นยินยอมพ่ายแพ้ แล้วตลบแตลงย้อนกลับ ทำเอา Asim สูญเสียขายขี้หน้า ขาดความเชื่อมั่นใจในตนเอง ส่วนเธอเพราะถือไพ่เหนือกว่า เลยทอดทิ้งความหวังเล็กๆให้เขา แต่อะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนั้นคงไม่มีใครคาดเดา

Kaberi Bose (1938 – 1977) นักแสดงหญิงชาวเบงกาลี ไม่ค่อยได้รับงานแสดงสักเท่าไหร่, รับบทแม่หม้ายลูกติด Jaya สูญเสียสามีจากการฆ่าตัวตาย (สามีจริงๆของ Bose ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตไม่นานก่อนหน้า) สร้างความเปล่าเปลี่ยว ระทมทุกข์ ทีแรกเหมือนจะไม่ได้ใคร่สนใจหนุ่มๆ แต่ลึกๆกลับใคร่ครวญโหยหา เหตุที่เลือก Sanjoy เพราะคงพบเห็นความใกล้เคียงกับตนเอง แต่เขากลับมิอาจหาญกล้า กระทำสิ่งนอกเหนือสามัญสำนึกของตนเอง

Simi Garewal (เกิดปี 1947) นักแสดง, พิธีกร, Talk Show เกิดที่ Ludhiana, East Punjab แล้วไปเติบโตยังประเทศอังกฤษ หวนกลับมาอินเดียกลายเป็นนักแสดง Son of India (1962), Tarzan Goes to India (1962), ปกติแสดงหนัง Bollywood มักได้รับบทสมทบ อาทิ Mera Naam Joker (1970), Andaz (1971), Kabhi Kabhie (1976), สำหรับ Aranyer Din Ratri (1970) รับบท Duli หญิงสาวชนเผ่า Santhal ผิวสีเข้ม ผู้มีความขี้เล่น ซุกซน มักมาก ร่านสวาท เห็นเงินคือพระเจ้า พร้อมยอมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้มา นำไปใช้ดื่มด่ำแต่ไม่เห็นเมามาย ถือว่าเข้าขากับ Hari ใช้เงินเพื่อสนองตัณหา อย่างอื่นนอกเหนือสันชาตญาณไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการ


ปกติแล้วตากล้องขาประจำของผู้กำกับ Ray จะคือ Subrata Mitra แต่หลังจาก Teen Kanya (1961) เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับสายตา บางทีก็ติดโปรเจคอื่นไม่ว่างมาช่วยงาน เลยผลักดัน Soumendu Roy (เกิดปี 1933) จากเคยเป็นผู้ช่วย จัดแสง ตั้งแต่ Pather Panchali (1955) ขึ้นมารับเครดิตถ่ายภาพ

ความโดดเด่นของหนัง คือการใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อม แสง-ความมืดจากธรรมชาติ สามารถสะท้อนถึงสภาพจิตวิทยาของตัวละครออกมา (ก่อนหน้านี้ Ray เคยทดลองแนวคิดดังกล่าวกับ Kanchenjungha ใช้เมฆ หมอก แสงอาทิตย์ แทนอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร)

หนังไม่ได้เริ่มต้นที่ผองเพื่อนทั้งสี่อยู่ร่วมช็อตเดียวกัน แต่คือตัวใครตัวมัน ตัดสลับไปมาตามตำแหน่งที่นั่งบนรถเก๋ง
– คนขับ Ashim เป็นหัวหน้ากลุ่ม นำพาเพื่อนๆออกเดินทาง ทดลองรถใหม่
– Sanjoy นั่งด้านหลัง น่าจะคือคนเลือกสถานที่ กำลังอ่านเกร็ดที่น่าสนใจให้รับฟัง
– Hari อยู่เบาะหน้า เพราะครุ่นคิดว่าตนเองจะสามารถบงการโน่นนี่นั่น แต่ก็เป็นได้แค่ตัวตลกขบขัน
– Shekhar นอนหลับอยู่ด้านหลัง ไม่ได้ใคร่สนใจอะไรสักเท่าไหร่

ที่ต้องแวะปั๊มน้ำมัน สงสัยจะเพราะภาพสวยๆช็อตนี้ สะท้อนถึงการเดินทางของสี่หนุ่ม เพื่อเติมเต็มพลังให้ชีวิต หวนกลับมามีเรี่ยวแรง กระชุ่มกระชวย เกิดกำลังใจในการทำงานที่เหน็ดเหนื่อยยากลำบาก

Opening Credit ทีแรกจะเป็นตัวอักษรสีดำ ปรากฎท่ามกลางทิวทัศน์สองข้างทางเคลื่อนผ่านไป แต่นับตั้งแต่ชื่อหนังช็อตนี้ปรากฎขึ้น กลับมีลักษณะตารปัตรตรงกันข้าม พื้นหลังกลับกลายเป็นสีดำ เฉพาะส่วนของตัวอักษรถึงพบเห็นภาพข้างทางเคลื่อนผ่านไป, นัยยะคงสื่อถึงกลางวัน-กลางคืน (ตามชื่อหนัง Days and Nights in the Forest ) ซึ่งทุกสิ่งอย่างจะกลับตารปัตรตรงกันข้ามระหว่างเริ่มต้น-สิ้นสุด ด้วยเช่นกัน

ฉากย้อนอดีต (Flashback) ครั้งเดียวของหนัง Hari ครุ่นนึกถึงแฟนสาวที่เพิ่งเลิกรา เอาจริงๆผมว่าไม่จำเป็นต้องใส่มาเลยนะ เพราะผู้ชมสามารถคาดเดาได้อยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา และพอไม่มีตัวละครอื่นที่มีฉากย้อนอดีต นั่นทำให้หนังขาดความสมดุลแบบแปลกๆ

ซึ่งเหตุผลที่ผมครุ่นคิดว่า ผู้กำกับ Ray ใส่ฉากย้อนอดีตนี้เข้ามา ก็เพื่อแนะนำตัวละครที่มัวแต่นอนหลับฝัน ให้ผู้ชมได้เกิดความเข้าใจโดยทันทีว่าเป็นบุคคลเช่นไร (ตัวละครอื่นไม่ได้นอนหลับระหว่างเดินทาง เลยไม่จำเป็นต้องฉากย้อนอดีตหวนระลึกความทรงจำ)

มันอาจเป็นช็อตมองอะไรไม่ค่อยเห็น แต่สังเกตว่าเงาของ Hari ปกคลุมใบหน้าหญิงสาว นั่นสะท้อนถึงความต้องการควบคุม ครอบงำ เป็นเจ้าของในตัวเธอ … แต่หญิงสาวส่วนใหญ่(สมัยนี้) ไม่มีใครชื่นชอบผู้ชายบ้าพลัง วางอำนาจ ปากดีแบบนี้แน่

สภาพถนนหนทางมุ่งสู่ Palamau สังเกตว่าสองฟากฝั่งรายล้อมด้วยต้นไม้ที่แลดูแห้งแล้ง ไร้ชีวิตชีวา ซึ่งสะท้อนสภาพจิตใจของหนุ่มๆ ขาดความสดชื่น กระชุ่มกระชวย หมดสิ้นเรี่ยวแรงจากการทำงาน (กำลังออกเดินทางมาท่องเที่ยวเพื่อเติมเต็มพลังงาน)

“Thank God for corruption”.

– Ashim

เป็นเสียงล่องลอยที่สะท้อนค่านิยมยุคสมัยนั้น คนส่วนใหญ่เลิกที่จะยึดถือมั่นในเกียรติ ศักดิ์ศรี อุดมการณ์ ความถูกต้องเหมาะสม … แต่มองอีกมุมหนึ่ง เหตุผลที่คนเฝ้าประตูยินยอมรับเงินก้อนนี้ เพราะภรรยากำลังป่วยหนัก ไม่มีค่ารักษาพยาบาล นี่อาจจะช่วยแบ่งเบาอะไรๆให้เขาได้มากทีเดียว

แม้สี่หนุ่มจะเดินทางมาปลดปล่อยอิสรภาพให้กับตนเอง แต่พวกเขาก็ราวกับถูกคุมขังอยู่ด้านหลังเหล็กดัด ซึ่งสามารถเรียกได้ว่า ‘คุกแห่งอิสรภาพ’

เป็นนวัตกรรมการตักน้ำจากบ่อที่ช่างคิดจริงๆ ไม่รู้เป็นความบังเอิญของสถานที่ หรือก่อสร้างขึ้นเพื่อแฝงนัยยะถึง ไม่ว่ามนุษย์จะทำตัวหัวสูงขนาดไหน ถ้าต้องการตักน้ำ/ดำรงชีวิต ก็ต้องถูกชักดึงลงมาติดพื้นดิน ไม่แตกต่างจากสามัญชนทั่วไป

ครั้งแรกจะมีเพียง Shekhar มาถึงแล้วอาบน้ำอาบท่า โกนหนวดเครา แต่งตัวหล่อเหลา ทั้งๆไม่รู้จะไปอวดอะไรใคร ส่วนคนอื่นเพราะมาปลดปล่อย อิสรภาพ เลยไม่ครุ่นคิดที่จะเสียเวลามาทำอะไรแบบนี้

เผาหนังสือพิมพ์ เป็นสัญลักษณ์ ตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่ต้องการรับล่วงรู้ข่าวสาร ความวุ่นวายอะไรทั้งนั้น ช่วงเวลานี้ขอแค่เพียงสนุกสนาน หรรษาไปกับวันหยุดพักผ่อนก็เพียงพอแล้ว

น่าเสียดายที่ผมหารับชมฉบับบูรณะไม่ได้ ฉากถ่ายทำขณะพระอาทิตย์กำลังตกดิน เลยพบเห็นเป็นความมืดมิดเสียส่วนใหญ่ ซึ่งสะท้อนถึงสภาพจิตใจตัวละครทั้งสี่ ขณะนี้ต้องการการพักผ่อนคลาย กำลังออกเดินทางไปดื่มเหล้า เฉลิมฉลอง เมามาย

วันที่สองหลังกลับจากตลาด สี่หนุ่มยืนจับจ้องเห็นสองสาวกำลังเล่นแบดมินตัน สังเกตว่า
– Shekhar ยืนเสนอหน้าใกล้รั้วที่สุด เขาจะคือบุคคลทำให้เพื่อนๆได้เข้าไปร่วมวงใน
– Ashim กับ Sanjoy ยืนอยู่ระหว่างกลาง สวมแว่นดำ เว้นว่างระยะห่าง
– Hari อยู่ไกลสุด หลังเสา ซึ่งเขาจะขอปลีกตัวไปก่อน ไม่ได้ใคร่สนใจอะไรพวกนี้สักเท่าไหร่ (ยกเว้นตอนเล่นแบดมินตัน)

แบดมินตัน เป็นกีฬาใช้การตีโต้ระหว่างสองฝั่ง ซึ่งก็คือชาย-หญิง หนุ่ม-สาว สะท้อนการจับคู่ตัวละคร
– Ashim มักไปไหนมาไหนกับ Sanjoy
– Shekhar คือคู่แว้งกัด Hari
– Aparna เป็นญาติกับ Jaya
– Ashim จีบ Aparna
– Sanjoy เกี้ยวพา Jaya
– Hari ร่วมรัก Duli
– หลงเหลือทอดทิ้ง Shekhar ช่วยตัวเองไปกับการเล่นพนัน

ฉากที่บ้านของ Aparna เหมือนว่าผู้กำกับ Ray จะรับอิทธิพลเต็มๆจาก Jean-Luc Godard ทิ้งรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ชื่อหนังสือ ปกแผ่นเสียง เพื่อเป็นการอ้างอิงความสนใจของตัวละคร (สะท้อนรสนิยมความชื่นชอบของผู้กำกับเองด้วย)

ระหว่างการสนทนาบนระเบียง มีการกล่าวถึง Romeo and Juliet น่าจะฉบับปี 1968 ของผู้กำกับ Franco Zeffirelli ซึ่งมีฉากเกี้ยวพาระหว่าง Romeo & Juliet คลาสสิกมากๆตรงระเบียง

“…this is the east and Juliet is my sun”.

ขณะนั้น Aparna ยืนฝั่งซ้ายมือ(ตะวันตก)ของ Ashim เป็นคารมจีบสาวที่คมคายไม่เบา

การมาถึงของสาวๆระหว่างสามหนุ่มกำลังอาบน้ำ มีเพียง Ashim และ Hari ไม่มีอะไรต้องอับอาย แต่สำหรับ Sanjoy ผู้มีความเหนียงอาย เร่งรีบทิ้งตัวลงนอนราบ ไม่ต้องการเปิดเผยเรือนร่างให้พวกเธอพบเห็น

แซว: Hari เป็นคนที่เล่นแบดมินตันสุดตัวจนกระเป๋าสตางค์หล่น แต่กลับไม่พบเห็นอาบน้ำชะล้างร่างกาย

สองสาวเมื่อพบเห็นสภาพขี้เมาสุดกู่ของหนุ่มๆ
– Aparna หัวเราะยิ้มร่า เบิกตายิ้ม จดจำทุกสิ่งอย่าง
– Jaya เกิดความเหนียงอาย ยกมือขึ้นปิดตา ไม่อยากจดจำภาพอุจาดฝังใจ

มาดของหัวหน้ารีสอร์ทคนนี้ เคร่งขรึม หวีผมเนี๊ยบ สวมแว่นปกปิดบังตนเอง มุมกล้องเงยขึ้นท้องฟ้า พวกเอ็งหาข้ออ้างอะไรมาข้าไม่ฟังทั้งนั้น … จนกระทั่งสองสาวเข้ามาช่วยเหลือไว้ บอกว่าเป็นเพื่อนรู้จัก พี่แกเลยถอดแว่น ทำท่านอบน้อม ประณีประณอม ยินยอมอนุญาตให้อยู่ต่อเฉยเลย

ความคอรัปชั่น บางครั้งไม่ได้ซื้อกันด้วยเงิน แต่อำนาจ ยศฐา อิทธิพล ความเกรงอกเกรงใจผู้มีพระคุณ


ผู้กำกับ Ray ถือว่าฉากเล่นเกมความทรงจำนี้ คือ Sequence ยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิตตนเอง ซึ่งชื่อบุคคลตัวละครเอ่ยมา ล้วนสะท้อนถึงรสนิยม ความชื่นชอบ สนใจของพวกเขาทั้งหมด
– Jaya เอ่ยถึง Rabindranath Tagore (1861 – 1941) นักปราชญ์ นักเขียน นักกวี สัญชาติเบงกาลี ยังเป็นปู่ของ Sharmila Tagore (และไอดอลผู้กำกับ Ray)
– Sanjoy เอ่ยถึง Karl Marx และเหมาเจ๋อตุง ต่างเป็นผู้นำระบอบสังคมนิยม เน้นความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคม ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น
– Aparna เอ่ยถึง Cleopatra (คงจะเปรียบเทียบความงาม และเล่ห์เหลี่ยมเข้ากับตนเอง), Don Brandman (นักกีฬาคริกเก็ตชาวออสเตรเลีย ได้รับการยอมรับว่ายิ่งใหญ่ตลอดกาล), Robert F. Kennedy น้องชายของปธน. John F. Kennedy ถูกลอบสังหารเหมือนพี่ 5 ปีถัดมา, และจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งจักรวรรดิฝรั่งเศส
– Shekhar เอ่ยถึง Atulya Ghosh (1904 – 1968) นักการเมืองชาวเบงกาลี ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำที่ชาญฉลาด ซื่อสัตย์ ผู้จัดงานทางการเมืองยอดเยี่ยมที่สุด
– Hari เอ่ยถึง Helen of Troy เลื่องลือชาเรื่องงาม หญิงสาวผู้เป็นชนวนศึกในสงครามเมืองทรอย
– Ashim เอ่ยถึง Shakespere (วินาทีนั้นทำให้ Aparna เงยหน้าขึ้นมอง เพราะเขาเคยเอ่ยถึง Rome & Juliet), Rani Rashmoni (1793 – 1861) ผู้ก่อตั้งวิหาร Dakshineswar Kali Temple, Teckchand Thakur (1818 – 1883) นักเขียนสัญชาติชาวเบงกาลี, Mumtaz Mahal จักรพรรดินีแห่งอินเดีย ราชวงศ์โมกุล หลังจากสวรรคต พระสวามี Shah Jahan สร้าง Taj Maha ให้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งรัก

พูดถึงฉากปิคนิค มักทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ Partie de campagne (1936) ของผู้กำกับ Jean Renoir ที่เป็นเป็นแรงบันดาลใจให้หนังเรื่องนี้ รวมไปถึง Kapurush (1965) ด้วยนะ

หลังเกมจบ ทั้งหกก็ได้ผลัดกันเล่นชิงช้าสวรรค์ หมุนเวียนวนไปดั่งวัฏจักรชีวิต
– Ashim คู่กับ Aparna
– Sanjoy คู่กับ Jaya
– และ Hari คู่กับ Shekhar

กำไลข้อมือ มักเป็นสัญลักษณ์ที่ชายหนุ่มใช้คล้องใจหญิงสาว (หนึ่งในของหมั้นแต่งงาน) ซึ่งแน่นอนว่าฉากนี้ Ashim ต้องการจ่ายให้ Aparna แต่สุดท้ายกลับถูกเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด Shekhar ยืมเงินไปเล่นพนันหมดตัวซะงั้น!

ความชื่นชอบพนันขันต่อของ Shekhar แฝงนัยยะของการปล่อยปละให้ชีวิตล่องลอย ดำเนินไปกับโชคชะตา ไม่ครุ่นคิดหาความมั่นคง หรือตัดสินใจทำอะไรด้วยเงื้อมมือตัวตนเอง

ผิดกับ Aparna เธอลงพนันแค่เกมสองเกม ได้กำไรแล้วหยุดเลิกเล่น กล่าวคือแรกเริ่มต้นปล่อยให้โชคชะตานำพา จากนั้นตัดสินใจเลือกหนทางเดินชีวิตด้วยตัวตนเอง

สำหรับ Hari เลือกใช้ชีวิตดำเนินไปด้วยสันชาตญาณสัตว์ ชักลากพา Duli เข้ามากลางป่า เอาเงินมาหลอกล่อ แล้วเสพสุขสมหวัง ได้รับความอิ่มหนำแล้วจากไป แลกมาด้วยการถูกดักตีหัว เลือดอาบไหล เงินทองถูกขโมยหมดกระเป๋า (ได้เงินหายสมใจอยาก)

เรื่องราวทางฝั่ง Ashim กับ Aparna แรกเริ่มเดินสวนทางกับใครอื่น สะดีดสะดิ้งด้วยเล่ห์มารยา ค่อยๆพูดบอกเปิดเผยความจริงหลายๆอย่างเกี่ยวกันตนเอง ให้เขารู้สึกอับอายสูญเสียหน้า แต่ขณะเดียวกันแปรสภาพเป็นตกหลุมรัก ต้องการศิโรราบทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้เธอมาครอบครอง

สำหรับ Sanjoy ถูก Jaya ลากพาตัวกลับมาบ้าน ท่ามกลางความมืดมิดที่ค่อยๆคืบคลานยามเย็น มองอะไรแทบไม่เห็น แต่เด่นชัดเจนในความยั่วหยอกเย้า เรียกร้องให้เขาตอบสนองตัณหาความต้องการ … แต่ชายหนุ่มกลับยื้อยักลังเล บางสิ่งอย่างค้ำคอไว้ ไม่สามารถตอบสนองเสียงเพรียกเรียกร้องของเธอได้

ช็อตนี้แอบล้อกับความฝันของ Hari ที่เงาปกคลุมใบหน้าของหญิงสาว, คราวนี้เงาของ Aparna ปกคลุมในหน้า Ashim ขณะจับจ้องมองดูกวางน้อยในป่าใหญ่วิ่งผ่านไป มันช่างเป็นน่ารัก ไร้เดียงสา คือธรรมชาติแห่งชีวิต ผู้หญิงสามารถเป็นช้างเท้าหน้า ก้าวเดินนำ ชักนำบุรุษให้ติดตามหลัง

เพราะไม่มีกระดาษเลยจดที่อยู่/เบอร์โทรศัพท์? เขียนไว้บนธนบัตร … ผมมองนัยยะดังกล่าว ความรักคือการซื้อขายแลกเปลี่ยน เสมอภาคเท่าเทียม ถ้าอยากได้ฉันมาครอบครอง ก็จำต้องหายินยอมศิโรราบ ให้อิสรภาพตามที่ฉันร้องขอต้องการ

โชคชะตาของสี่หนุ่ม พวกเขาหวนกลับมาเป็นคู่ๆ
– Hari ในสภาพเลือดอาบ
– Shekhar เงินหมดตัว

ขณะที่ Ashim และ Sanjoy ต่างสูบบุหรี่ เสพความสุขอันเกิดจากความผิดหวังเล็กๆ
– Ashim ยังมีความหวัง เพราะได้ที่อยู่ของ Aparna
– Sanjoy ก็ไม่รู้เสียดาย หรือดีใจ ได้พลัดพรากจาก Jaya เสียที

มันเป็นความรู้สึกโดยส่วนตัวลึกๆ อยากให้ Ashim ได้เผลอมอบทิป คือธนบัตรใบที่ Aparna เขียนที่อยู่/เบอร์โทรศัพท์ให้ไป แต่ดูแล้วตัวละครคงไม่น่าเผลอเรอเช่นนั้นแน่ ถึงอย่างนั้นถ้าเป็นจริง มันคงสร้างความน่าอับอาย สูญเสียดายไม่เบา เมื่อตระหนักถึงผิดพลาดครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตดังกล่าว

ไข่ เป็นการตบมุกช่วงท้าย คือสัญลักษณ์สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างสี่หนุ่มกับสถานที่แห่งนี้ ซึ่งราวกับทำให้พวกเขาเกิดใหม่ ฟักไข่ ออกมาเป็นตัวตน มีความเป็นคนเพิ่มมากขึ้นกว่าเก่าก่อน

ตัดต่อโดย Dulal Dutta (1925 – 2010) ขาประจำหนึ่งเดียวของผู้กำกับ Ray, หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสี่หนุ่ม ออกเดินทางจาก Calcutta มุ่งสู่ Palamau โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 องก์
– การเดินทางมาถึง Palamau ทำความคุ้นเคยสถานที่ และจบคืนแรกด้วยสภาพเมามาย
– เช้าวันใหม่ พานพบเจอสาวๆ พบปะเริ่มต้นสานสร้างความสัมพันธ์
– บ่ายและค่ำคืนนั้น พานพบเจอเรื่องน่าอับอายขายหน้าสารพัด กำลังถูกไล่ที่, ขณะอาบน้ำสาวๆขับรถผ่านมาพอดี, ดึกดื่นเมามายหัวราน้ำ, ตื่นสายโด่งไม่ทันรับประทานอาหารเช้า ฯ
– สาย-บ่ายวันที่สาม การปิคนิคใต้ร่มไม้ เล่นเกมจำชื่อ
– ยามเย็นท่องเที่ยวงานเทศกาล ทั้งสี่จะแยกย้ายกันไปตามคู่ขา/ความสนใจ แล้วตัดสลับสับไปมา

เพลงประกอบโดย Satyajit Ray เป็นส่วนเล็กๆที่คอยเติมเต็มสัมผัสทางจิตวิญญาณของตัวละคร ซึ่ง Opening Credit ทำการผสมผสานเครื่องดนตรีตะวันตกเข้ากับดนตรีพื้นบ้านอินเดีย (และเสียงคอรัส) สะท้อนถึงการเดินทางของคนรุ่นใหม่ รับอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาในวิถีชีวิต ความครุ่นคิด และอะไรหลายๆอย่างมากมาย

ส่วนใหญ่ของบทเพลงคือ Diegetic Music ดังขึ้นขณะอยู่ในร้านเหล้า ตัวละครขับร้อง หรือเทศกาลช่วงท้าย ซึ่งเมื่อหนุ่มๆทั้งสี่แยกย้าย บทเพลงที่เติมเต็มความเพ้อฝัน/ต้องการของพวกเขาจะดังขึ้นคลอประกอบ
– Shekhar หลังจากเสพสมกับ Duli ท่วงทำนองดนตรีราวกับพวกเขาอยู่บนสรวงสวรรค์
– Aparna ขณะเล่าเบื้องหลังชีวิตให้ Ashim ท่วงทำนองเต็มไปด้วยความหดหู่สิ้นหวัง แต่พอพบเห็นกวางน้อยเดินผ่าน แปรเปลี่ยนเป็นท่วงทำนองแห่งความหวัง
– Sanjoy กับ Jaya ได้ยินบทเพลงที่มีความอ้อยอิ่ง ยั่วเย้ายวน สร้างความมึนตึง ฉันจะครุ่นคิดตัดสินใจเช่นไรดี เสียงนาฬิกาดังติกๆ นับถอยหลังจนกระทั่งเวลาแห่งความรักหมดสิ้น


แม้ว่าประเทศอินเดียได้รับอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรเมื่อปี 1947 แต่ก็ถูกวางกัปดัก ถ่วงความเจริญ เพราะดินแดนตอนเหนือทั้งฝั่งตะวันออก-ตก ไม่มีการขีดเส้นแบ่งแยกดินแดนผู้นับถือศาสนาฮินดู-อิสลาม ความขัดแย้งลุกลามบานปลายใหญ่จนเกิดเป็นสงครามขนาดย่อมๆ Kashmir War ก่อกำเนิดสองประเทศอินเดีย-ปากีสถาน แต่ความรุนแรงกลับไม่เคยสงบสิ้นสุดลงมาจนยุคสมัยปัจจุบัน

Days and Nights in the Forest นำเสนอเรื่องราวของสี่หนุ่มชาวเมือง เติบโตขึ้น/เริ่มต้นทำงานในช่วงเวลาคาบเกี่ยว ได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ ดินแดนถูกแบ่งแยกออกเป็นฝั่งฝ่าย กิจการภายใน/รัฐบาลบริหารประเทศด้วยความคอรัปชั่นคดโกงกิน เมื่อประชาชนระดับรากหญ้าพานพบเห็นเช่นนั้น มีหรือจะไม่ซึมซับ รับทราบ และด้วยสภาพเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่อันทุกข์ยากลำบาก ไร้เงินทอง ท้องอิ่ม รักษาโรคภัยไข้เจ็บ ถึงแม้มิอยากกระทำความผิด/สูญเสียอุดมการณ์ แต่นั่นคือโอกาสที่เป็นประโยชน์สุขต่อตนเอง มีหรือจะไม่ไขว่คว้าไว้

กลางวัน-กลางคืน ไม่ใช่แค่ท้องฟ้าธรรมชาติสว่าง-มืด ยังสะท้อนได้กับจิตใจมนุษย์มีทั้งดี-ชั่ว สุข-ทุกข์ หัวเราะ-ร้องไห้ ตกหลุมรัก-โกรธเกลียดชัง ฯลฯ ซึ่งทั้งสี่ตัวละครของหนัง สามารถสะท้อนความแตกต่างทางชนชั้น วรรณะ สังคมอินเดีย(ยุคสมัยนั้น)
– Ashim วรรณะกษัตริย์ ผู้นำกลุ่ม ร่ำรวยด้วยเงินทอง รสนิยม ความสนใจ เป็นคนเชื่อมั่นในตนเองสูง เย่อหยิ่งทะนอง และเต็มไปด้วยความคอรัปชั่นกัดกร่อนกินอยู่ภายใน
– Sanjoy วรรณะพราหมณ์ ผู้มีจิตสำนึกอันดีของกลุ่ม ฐานะใช้ได้ มีการศึกษาสูง แลดูเฉลียวฉลาด แต่ขณะเดียวกันเพราะยึดถือมั่นในขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมมากเกินไป จนมิอาจขยับเขยื้อนตัวไปไหน
– Shekhar ไวศยะ (แพศย์) ผู้มีฝีปากเป็นเลิศ เก่งการค้าขาย ชื่นชอบพนันขันต่อ ไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายกับชีวิต
– Hari ไพร่ ศูทร หรือชนชั้นกรรมแรงงาน เก่งในเรื่องใช้กำลังวังชา สนเพียงสิ่งสนองตัณหา กำลังกาย ไร้ซึ่งสติปัญญาครุ่นคิดไตร่ตรองใดๆ

ขณะที่สามสาว ถือเป็นตัวแทนระดับจิตสำนึกและสันชาตญาณมนุษย์
– Aparna ภาพลักษณ์สวยบริสุทธิ์ ทั้งยังสติปัญญาเฉลียวฉลาด มากด้วยจิตสำนึก คุณธรรม/ศีลธรรม ใช้สติควบคุมตนเอง โหยหาอิสรภาพเสมอภาคเท่าเทียม
– Jaya เปลือกนอกทำเป็นเสแสร้ง เล่นตัว สร้างภาพเป็นคนดี แต่ภายในเร่าร้อนรุนแรง มีความต้องการตอบสนองสันชาตญาณตนเอง
– Duli ทั้งภายนอกและภายใน ต่างแสดงออกด้วยสันชาตญาณ ความต้องการ พึงพอใจส่วนตนเท่านั้น

นี่เองทำให้ผมได้ข้อสรุปว่า
– Days and Nights ก็คือจิตใจมนุษย์ที่ผันแปรเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา
– Forest ดินแดนเปรียบเสมือนจิตสำนึก สันชาติญาณ สะท้อนความเป็นมนุษย์ที่หลบซ่อนเร้นอยู่ภายในทุกคน

Days and Nights in the Forest จึงคือเรื่องราวการผจญภัย เพื่อเผชิญหน้ากับด้านมืด-ด้านสว่าง จิตสำนึก-สันชาตญาณ ของตัวตนเอง เพื่อเรียนรู้จัก ทำความเข้าใจ ถ้าค้นพบสิ่งผิดพลาด น่าอับอายขายขี้หน้า ก็สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไข ให้ตนเองสามารถแสดงออกในสิ่งถูกต้องเหมาะสมควร ในกาลต่อไปได้

สำหรับผู้กำกับ Ray ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนการ ‘ค้นหาอัตลักษณ์’ ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวละคร ตัวเขาเอง ยังรวมไปถึงชนชาวอินเดีย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นพานผ่านช่วงเวลาแห่งการแบ่งแยก ได้รับอิทธิพลมากมายจากชาติตะวันตก แล้วเราจะหลงเหลืออะไรธำรงไว้ซึ่งความเป็นภารตะ


เมื่อออกฉายในอินเดีย แน่นอนว่าหนังไม่ประสบความสำเร็จทั้งเสียงวิจารณ์และรายรับ

“People in India kept saying: What is it about, where is the story, the theme?. . . . And the film is about so many things, that’s the trouble. People want just one theme, which they can hold in their hands”.

– Satyajit Ray

แต่พอส่งออกฉายต่างประเทศยังเทศกาลหนังเมือง Berlin แม้ไม่ได้รางวัลอะไรติดไม้ติดมือกลับมา กลับเป็นที่ถูกอกถูกใจนักวิจารณ์ ถึงขนาดติด Top 10 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีของนิตยสาร Cahiers du Cinéma

สิ่งที่ผมชื่นชอบอย่างมากในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการครุ่นคิดค้นหาคำตอบ ทำไมชายหนุ่มทั้งสี่ถึงออกเดินทางมายังป่าดงพงไพร ดินแดนไกลปืนเที่ยงขนาดนี้ มันช่างลุ่มลึกลับ สลับซับซ้อน ซ่อนนัยยะความหมายไว้มากมาย และคำตอบสนองสันชาตญาณส่วนตัว เมื่อพวกเขาพบเจอสาวๆ Sharmila Tagore, Kaberi Bose และ Simi Garewal ไม่เพียงโดดเด่น สง่างามกว่า ยังมีความเป็น ‘มนุษย์’ มากกว่าบุรุษไหนๆ

สำหรับผู้ชมประเทศต่างประเทศอย่างเราๆ เบื้องต้นแนะนำให้มองสาสน์สาระหนังที่บทเรียนของแต่ละตัวละคร
– Ashim เริ่มต้นเต็มไปด้วยความเย่อหยิ่ง ทะนงตน อ้างอวดดี ค่อยๆถูกบั่นทอนความเชื่อมั่นจาก Aparna ได้รับความอับอายขายขี้หน้า ท้ายสุดเริ่มสำนึกตัวได้ พอมีความหวังจะแก้ไขปรับเปลี่ยนมุมมองชีวิตใหม่
– Sanjoy เป็นคนขาดความเชื่อมั่น กระตือรือร้น กล้าครุ่นคิดทำอะไร เมื่อเผชิญหน้ากับ Jaya พบเห็นการแสดงออกที่คาดไม่ถึง ซึ่งคงจะตราฝังลึกภายในจิตใจ ให้ค่อยๆเกิดความอาจหาญ ตัดสินใจอะไรขึ้นเองได้บ้าง
– Shekhar ติดเล่นการพนันจนหมดตัว ขากลับเลยไม่หลงเหลืออะไร แต่จะสำนึกตัวบ้างไหม … น่าจะเป็นไปได้ยาก!
– Hari เพราะชื่นชอบการใช้กำลังตัดสิน/แก้ไขปัญหา เลยโดนดีเข้ากันตนเองน่าจะรู้สำนึกตัวขึ้นมาบ้าง ซึ่งก็เช่นเดียวกับ Shekhar น่าจะเป็นไปได้ยากยิ่ง!

จัดเรต 15+ ต่อการแสดงออกด้วยความเห็นแก่ตัว คอรัปชั่น

คำโปรย | Aranyer Din Ratri คือการเดินทางเพื่อเผชิญหน้าด้านมืด-สว่าง ภายในจิตวิญญาณของผู้กำกับ Satyajit Ray
คุณภาพ | ลุ่ลึล้ำ
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: