Army of Darkness (1992)
: Sam Raimi ♥♥
ทั้งๆที่มันควรจะยิ่งใหญ่ แต่ผู้กำกับ Sam Raimi กลับทำให้อภินิหารกองพันซี่โครง หนังปิดไตรภาค Evil Dead กลายเป็นหนังเกรด B ทุนสูง ต่อสู้รบระหว่างตัวละคร Bruce Campbell มนุษย์ฝั่งดี vs ปีศาจฝั่งชั่ว ที่ต้องย้อนเวลาไปดำเนินเรื่องยุคสมัย Medieval Age ไม่ได้มีความน่าสนใจแม้แต่น้อย
ความสำเร็จระดับนานาชาติของ Evil Dead 2 (1987) ทำให้โปรดิวเซอร์สัญชาติอิตาเลี่ยน Dino De Laurentiis พร้อมสนับสนุนเงินทุนสร้างภาคต่ออีกครั้ง แต่เพราะ Sam Raimi ต้องการให้หนังมีความยิ่งใหญ่เพิ่มขึ้นจากเดิม จึงตัดสินใจหาทุนเพิ่ม นำโปรเจคดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูน Darkman ไปเสนอ Universal Pictures ยินยอมทำตามเงื่อนไขเป็นอย่างดี แม้จะมีปัญหากันเล็กน้อยช่วงการตัดต่อ แต่ผลลัพท์จากการตลาดที่ชาญฉลาด โฆษณาชักชวนผู้ชมอย่างได้ประสิทธิผล ทำกำไรให้หนังอย่างมหาศาล สตูดิโอจึงยอมเจียดเงินส่วนแบ่งมาให้สร้างหนังปิดไตรภาค Evil Dead เรื่องนี้ด้วย
ในตอนแรก Raimi ชักชวน Scott Spiegel ที่ร่วมเขียน Evil Dead 2 ให้มาร่วมพัฒนาบทหนังเรื่องนี้ แต่เจ้าตัวติดงาน The Rookie (1990) ของผู้กำกับ Clint Eastwood จึงบอกปัดปฏิเสธ คราวนี้เลยร่วมงานกับพี่ชาย Ivan Raimi นำแรงบันดาลใจจาก
– A Connecticut Yankee in King Arthur’s Court
– Gulliver’s Travels
– The Seventh Voyage of Sinbad
– Jason and the Argonauts
– The Three Stooges
– Conan The Barbarian
ฯลฯ
ถ้าคุณเคยอ่าน/รับชมภาพยนตร์เรื่องที่กล่าวๆมานี้ ก็คงพบเห็นเข้าใจได้ไม่อยากกับ sub-plot ของหนัง ที่เป็นการคัทลอกมาอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับชื่อหนัง ตอนแรก Raimi วางแผนไว้คือ The Medieval Dead ก่อนมาเปลี่ยนชื่อเป็น Bruce Campbell vs. Army of Darkness ตามคำแนะนำของ Irvin Shapiro เป็นเทรนด์ของหนังเกรด B สมัยก่อนที่จะนำชื่อนักแสดงนำขึ้นหน้า ตามด้วย versus พบกับต่อสู้กับอะไร, แต่เพราะฉบับฉายอเมริกามันจะยาวไปหน่อย Universal เลยตัดให้เหลือเพียง Evil Dead III: Army of Darkness หรือสั้นๆว่า Army of Darkness
Ash (รับบทโดย Bruce Campbell) ได้ถูกส่งตัวย้อนเวลาพร้อมกับรถคันโปรดสู่ยุค Medieval Age ประมาณปี ค.ศ. 1,300 ถูกจับตัวโดย Lord Arthur (รับบทโดย Marcus Gilbert) ด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพวกเดียวกับ Duke Henry the Red (รับบทโดย Richard Grove) แต่การปรากฎตัวของชายคนนี้ ได้ทำให้ The Wiseman (รับบทโดย Ian Abercrombie) คาดการณ์ว่าเขาอาจเป็น The Chosen One ผู้ที่จะสามารถนำหนังสือ Necronomicon กลับคืนสู่มือของมนุษย์ได้
Bruce Campbell เพื่อนรักนักแสดงขาประจำของ Raimi ที่แทบไม่เคยเห็นไปไหนไกลห่าง, หวนกลับมารับบท Ash ครั้งที่ 3 ครานี้สู่โหมด Comedy เต็มตัว สนอย่างเดียวคือทำอย่างไรให้ได้กลับบ้าน มองชาว Medieval ทั้งหลายว่า Primitive (นี่เป็นความ racist ที่รุนแรงมากๆ) เต็มไปด้วยคำหยาบคาย ภาษาแบบว่า ‘Hello Mr. Fancy Pants!’ แน่นอนต้องได้แอ้มสาว Sheila (รับบทโดย Embeth Davidtz) วัตถุทางเพศที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ช่วงกลางเรื่องจะมีแยกร่าง Good Ash กับ Evil Ash (Campbell เล่นเองทั้งสองบท) นัยยะตรงตัวเลยละ เป็นการต่อสู้ระหว่าง ความดี vs ความชั่ว
จาก Comedy ที่เพียงพอดีกับ Horror ใน Evil Dead II มาภาคนี้ตัดความหลอกหลอนสั่นประสาททิ้งไป ช่วงเวลาที่ Campbell เล่นตลกอยู่ตัวคนเดียว มันมีความล้นมากเกิน หลายครั้งไม่ขำสักนิด ฝืนๆยังไงชอบกล คงเพราะสโคปหนังที่ใหญ่มากๆ ทำให้รายละเอียดเล็กๆพวกนี้ถูกมองข้ามไปอย่างมาก กลับกลายเป็นตัวละครลักษณะ Stereotype คาดเดาง่ายเกินไปเสียอย่างนั้น
แต่ต้องยอมรับว่าฉากการต่อสู้กับตนเอง เป็นอะไรที่ยากมากๆ เพราะนักแสดงต้องจดจำทุกท่วงท่าอิริยาบท ตำแหน่งการเคลื่อนไหวของตนเอง เพื่อให้ขณะแสดงอีกรอบตัวละครฝั่งตรงข้าม ต้องสามารถตั้งรับตอบโต้ได้อย่างพอดิบพอดี
“Bruce was cussing and swearing some of the time because you had to work on the number system. Sam would tell us to make it as complicated and hard for Bruce as possible. ‘Make him go through torture!’ So we’d come up with these shots that were really, really difficult, and sometimes they would take thirty-seven takes”.
เกร็ด: Bridget Fonda มารับเชิญในหนังด้วยนะครับ รับบทเป็น Linda แฟนสาว Ash ใน Flashback
เกร็ด2: คาถา Klaatu Verata Nikto นำมาจากหนังไซไฟเรื่อง The Day the Earth Stood Still (1951) เป็นคำสั่งใช้หยุดหุ่นยนต์ Gort ที่จะมาทำลายล้างโลก
ถ่ายภาพโดย Bill Pope ขาประจำคนใหม่ของ Raimi พบเจอกันตอน Darkman และยังร่วมงานกันอีกใน Spider-Man Trilogy นอกจากนี้ยังมี The Matrix Trilogy, Men in Black 3 (2012), The Jungle Book (2016), Baby Driver (2017) ฯ
ไม่แน่ใจตั้งแต่ Darkman หรือเปล่าที่ Raimi เริ่มใช้การวาด Storyboard ทุกช็อตที่ต้องการนำเสนอออกมา นี่ช่วยย่นระยะเวลาการทำงานได้เยอะ และช่วยให้งานถ่ายภาพของตากล้องดูง่ายขึ้นมาก แต่ยังถือว่ามีความท้าทายอยู่อีกหลายระดับ โดยเฉพาะสถานที่ถ่ายทำคราวนี้ไปยัง Bronson Canyon, Vasquez Rocks Natural Area Park ใกล้ๆกับทะเลทราย Mojave Desert กลางวันร้อนมาก กลางคืนหนาวสุดๆ ส่วนฉากภายในถ่ายทำที่ Introvision ใน Hollywood
เทคนิคการถ่ายภาพจะไม่หวือหวาเท่ากับ Evil Dead เรื่องก่อนหน้า แต่ยังมีการเคารพคารวะภาคเก่า อาทิ POV สวมวิญญาณปีศาจ (Evil Force), Stop Motion, Dutch Angle ฯ
ความโดดเด่นของภาคนี้จะมี การต่อสู้กับมนุษย์จิ๋วทั้งหลายที่ออกมาจากกระจก และการเคลื่อนไหวของกองทัพโครงกระดูกช่วงท้าย ซึ่งจะมีการใช้เทคนิค Rear Projection เข้าช่วย สังเกตจากภาพพื้นหลังจะเบลอๆ มักเป็นตอนที่ Campbell ต่อสู้กับตนเอง ช็อตที่ต้องเห็นใบหน้าทั้งสองตัวละครพร้อมกัน
ตัดต่อโดย Bob Murawski ขาประจำของ Raimi พบเจอกันตอน Darkman และยังร่วมงานกันอีกใน Spider-Man Trilogy, Oz the Great and Powerful (2013) ฯ คว้า Oscar: Best Edited จาก The Hurt Locker (2009)
ประมาณ 5 นาทีแรกของหนัง กับการ recap สองภาคแรก เป็นอีกครั้งกับการถ่ายใหม่ แถมมีเปลี่ยนแปลงตอนจบภาคสองนิดนึงด้วยนะ เพื่อให้สามารถดำเนินเรื่องต่อภาคใหม่นี้ได้ … คงมีแต่ผู้กำกับ Sam Raimi เท่านั้นกระมังที่กล้าเปลี่ยนแปลงตอนจบของหนังภาคก่อน
หนังใช้มุมมองของ Ash ทั้งหมด ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นการเล่าให้เพื่อนฟังจากความฝัน/จินตนาการ มากกว่าเกิดขึ้นจริง (เพราะ Prologue กับ Epilogue เหมือนว่า Ash จะทำงานเป็นพนักงานติดป้ายราคาในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง แล้วกำลังเล่าเรื่องราวนี้ให้เพื่อนคนหนึ่งฟัง)
ช่วงสงครามหลังจากแบ่งฝั่ง Good Ash กับ Evil Ash มีการตัดสลับไปมาระหว่างทั้งสอง นี่ก็ยังถือว่าเป็นมุมมองของ Ash อยู่นะครับ นักแสดงคนเดียวกันเหมาสอง
เกร็ด: ในเครดิตการตัดต่อจะมีชื่ออีกคนหนึ่ง R.O.C. Sandstorm นี่คือหนึ่งในนามปากกาของ Sam Raimi นะครับ
ข้อเสียหนึ่งของการได้งบประมาณจากสตูดิโอใหญ่ หลังถ่ายทำเสร็จในช่วงการตัดต่อ Post-Production ค่ายหนังมักจะเข้ามาฉุดดึงกระชากโปรเจคไปจากมือของผู้กำกับ ในกรณีที่ไม่พอใจผลลัพท์การตัดต่อ ซึ่งเรื่องนี้ก็เช่นกัน Universal ได้ทำการเปลี่ยนแปลงตอนจบ เพิ่มฉากที่ Ash ทำงานใน S-Mart เข้ามาแล้วเกิด…, Raimi แสดงความเห็นต่อตอนจบทั้งสองแบบนี้ว่า ชอบแหะ
“Actually, I kind of like the fact that there are two endings, that in one alternate universe Bruce is screwed, and in another universe he’s some cheesy hero.”
เห็นว่า DVD ฉบับ Director’s Cut จะมีการนำ Alternate Ending ดั้งเดิมมาใส่แทนตอนจบที่ S-Mart ผมพบเจอใน Youtube คลิกรับชมดูได้เลย, เพราะความที่ The Wiseman บอกให้ดื่ม 6 หยด แต่พี่แกซัดไป 7 นอนหลับนานไป 100 ปี ตื่นขึ้นมาพบเจอกรุง London ในยุค Post-Apocalypse เอาจริงๆนี่สร้างต่อได้อีกภาคเลยนะเนี่ย!
เพลงประกอบโดย Joseph LoDuca นักแต่งเพลง Jazz สัญชาติอเมริกา หวนกลับมาทำเพลงให้อีกครั้งเพื่อปิดไตรภาค Evil Dead
คราวนี้กลิ่นอายของบทเพลง ออกแนวผจญภัย ต่อสู้ Action เว่ออลังการ มีสัมผัสของยุคสมัย Medieval อยู่นิดๆ ไร้ซึ่งความหลอนหลอกสยองขวัญ ขนลุกขนพองอีกต่อไป
แต่บทเพลงไฮไลท์ของหนัง March Of The Dead ไม่ใช่ผลงานของ LoDuca แต่คือ Danny Elfman ที่ได้ร่วมงานกับ Raimi ตอนสร้าง Darkman ก่อนตามด้วย Spider-Man Trilogy, ไม่แน่ใจเหตุผลเท่าไหร่ที่ทำไม Elfman ถึงแต่งเพลงนี้ แต่ทำให้ LoDuca ต้องเขียนเพลงประกอบอื่นๆ มีสัมผัสกลิ่นอายที่สอดคล้องรับกับเพลงนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้
การกรีธาทัพของความตาย จัดเต็มด้วยออเครสต้าเต็มวง เสียงกลองทิมปานี ตุบ ตุบ ตุบ อย่างเป็นจังหวะต่อเนื่อง เหมือนเสียงฝีเท้ากำลังย่ำเหยียบลงพื้น ไฮไลท์อยู่ที่เสียงเป่าคาริเน็ต ในหนังจะมีโครงกระดูกตัวหนึ่ง หยิบกระดูกขึ้นมาเป่าได้จังหวะพอดิบพอดีเลย!, บางสิ่งอย่างที่ยิ่งใหญ่กำลังคืบคลาน ย่างกรายเข้ามา จงเตรียมพร้อมรับหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้น
(ผมพยายามเงี่ยหูฟังเสียงคาริเน็ตในเพลงนี้ มันพอที่จะได้ยินนะครับแต่จะไม่ดังเด่นชัดแบบในหนัง คงมีการเน้นเสียงเครื่องดนตรีขึ้นมาในกระบวนการ Sound Edited/Mixing เลยได้ยินในหนังค่อนข้างดังทีเดียว)
ความสำเร็จของ Evil Dead 2 และ Darkman ทำให้ผู้กำกับ Sam Raimi เต็มไปด้วยความหยิ่งผยอง ในจิตใจของเขาราวกับว่า ฝ่ายธรรมะสามารถต่อสู้เอาชนะฝ่ายอธรรมที่เข้าครอบงำในช่วงการพ่ายแพ้ Crimewave (1986) ได้สำเร็จแล้ว นี่ทำให้ความหลอกหลอน Horror ได้ลดทอนลงไป ขณะนี้จึงเป็นช่วงเวลาสนุกกับมัน เต็มที่กับชีวิต
ที่ต้องย้อนหวนไปถึงยุค Medieval Age เพราะนี่เป็นช่วงเวลาแห่งการต่อสู้ สงครามอันเกิดจากความเชื่อ ศรัทธา ศาสนา (อาทิ สงครามครูเสด, สงครามร้อยปี ฯ) มนุษย์ยังเต็มไปด้วยความคิดหลงผิด เชื่อเรื่องภูติผีปีศาจ แม่มด สัตว์ประหลาด ฯ เอาจริงๆผมว่าหนังไม่ได้มีนัยยะสำคัญอะไรเกี่ยวกับยุคสมัยแม้แต่น้อย แค่ใช้ประดับเป็นพื้นหลัง สามารถนำกำลังยกทัพทหารของฝั่งมนุษย์ ต่อสู้ปะทะกับฝูงภูติผีปีศาจ โครงกระดูก ผีดิบคืนชีพ ได้ก็เท่านั้น
อาจเป็นอิทธิพลมาจาก Kagemusha (1980) และ Ran (1985) สองผลงาน Masterpiece ยุคหลังของปรมาจารย์ผู้กำกับ Akira Kurosawa เมื่ออารมณ์ความรู้สึกต่อบางสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นอยู่ในจิตใจ จำเป็นต้องใช้ “ปริมาณ” เข้ามาช่วยนำเสนอ อธิบาย เปรียบเทียบ, กองทัพของมนุษย์ฝ่ายดี vs ฝูงผีปีศาจ โครงกระดูก นี่คือการต่อสู้ที่ทุ่มเอาทั้งชีวิตการงาน(ของผู้กำกับ Raimi)เป็นเดิมพัน ถ้าหนังออกฉายประสบความสำเร็จก็เท่ากับมนุษย์เป็นฝ่ายชนะ ตรงกันข้ามเจ๋งสนิทนักวิจารณ์ส่ายหน้า ก็คงหมดสิ้นซึ่งอนาคตในวงการ
ประเด็นเรื่องการเหยียด ทำไม Ash ถึงต้องแสดงความต่อต้านคนยุคสมัยนั้นอย่างออกนอกหน้าขนาดนี้!, จริงๆผมไม่ได้ Sensitive กับประเด็นนี้เท่าไหร่ แค่รู้สึกว่ามันไม่ค่อยเหมาะสมควรนัก แม้จะเป็นหนังแนวตลกเสียดสีล้อเลียนก็เถอะ ซึ่งนัยยะของผู้กำกับอาจต้องการสะท้อนถึงส่วนธรรมะที่อยู่ในจิตใจตนเอง มันช่างมีน้อยและใสซื่อบริสุทธิ์เหลือเกิน แบบนี้จะสามารถไปต่อสู้เอาชนะอธรรมฝ่ายมารที่น่าเกลียดสุดอัปลักษณ์ได้อย่างไร พูดจาประชดเสียดสีก็เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ตัวสำนึก … แต่นี่เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นเลยนะ
ด้วยทุนสร้าง $11 ล้านเหรียญ เปิดตัวในอเมริกาที่ $4.4 ล้านเหรียญ รวมตลอดโปรแกรมทำเงินได้ $11.5 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $21.5 ล้านเหรียญ ไม่ทำกำไรแต่ก็ไม่ถึงขั้นเลวร้าย
สิ่งที่ทำให้ผมเสียความรู้สึกในการรับชมหนังเรื่องนี้ ประกอบด้วย
– การแปรสภาพจากแนว Horror Comedy กลายเป็น Medieval Action Comedy แล้วไม่ได้มีกลิ่นอายสัมผัสของแฟนไชร์ Evil Dead ภาคก่อนๆอยู่สักเท่าไหร่
– การต่อสู้ระหว่าง ธรรมะ vs อธรรม, มนุษย์ vs ผีปีศาจ ที่เป็นนามธรรมล้วนๆ ไม่ได้มีสาเหตุอะไรให้น่าพึงพอใจแม้แต่น้อย
– และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมอันบ้าบอคอแตกของพระเอก ได้พัฒนามาถึงจุดที่ฉันไม่สนใจแคร์อะไรแล้วทั้งนั้น ดูถูกล้อเลียน เสียดสีประชดประชันมันเสียทุกสิ่งอย่าง หยาบคายปากหมาไร้สมอง กลายสภาพเป็น Anti-Hero ที่ไม่น่าลุ้นเชียร์ให้กลับบ้านได้สำเร็จแม้แต่น้อย
ตอนผมเห็น Alternate Ending เป็นฉากจบที่สะใจมากๆ ผลลัพท์ของไอ้เxย Ash มันควรน่าสมน้ำหน้าแบบนี้แหละ ทำตัวเองล้วนๆ อวดฉลาด ปากดี หยิ่งผยองลำพอง ตื่นขึ้นมาครั้งนี้ไร้สิ้นความหวัง อนาคตดับวูบลงโดยสิ้นเชิง
บทเรียนที่ผมจะจดจำอย่างยิ่งหลังจากรับชมหนังเรื่องนี้ ‘ความเย่อหยิ่งจองหองเป็นสิ่งน่าอัปลักษณ์พอๆกับผีปีศาจ’ สิ่งที่ตรงกันข้ามคือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน, โลกจะมีความสงบสุขขึ้นมากถ้ามนุษย์รู้จักการไม่ยึดมั่นถือทิฐิ หลงผิดคิดว่าฉันสำคัญยิ่งใหญ่รู้ทุกอย่าง ไม่มีอะไรมั่นคงจีรังถาวะ เมื่อใดถูกตอกหน้าย้อนศรโต้กลับ ใครที่ไหนจะอยากสงเคราะห์ช่วยเหลือ
ตอนหนังออกฉายได้เรต R แต่สมัยนี้ดูแล้วเรต 13+ ก็น่าจะเพียง ไม่ได้มีฉากน่ารังเกียจขยะแขยง แหวะๆมากเท่าภาคก่อนๆ จะมีก็แต่พฤติกรรมของ Ash ที่เลวร้ายเกินทน
Leave a Reply