Around the World in Eighty Days

Around the World in 80 Days (1956) hollywood : Michael Anderson ♥♥♡

ตื่นตระการตาไปกับการผจญภัยรอบโลก 80 วัน พร้อมนักแสดงรับเชิญร่วมสร้างสีสันมากมาย ถ่ายทำด้วยกล้อง Todd-AO 70mm เพลงประกอบโคตรไพเราะโดย Victor Young พบเห็นกระบวนพยุหยาตราชลมารคประมาณ 10 วินาที และ Closing Credit อนิเมชั่นโดย Saul Bass เพียงเท่านี้ก็สามารถคว้ารางวัล Oscar: Best Picture

การมาถึงของเทคโนโลยีภาพสี และฟีล์มขนาด 70mm ในช่วงกลางทศวรรษ 50s [เริ่มต้นที่ Oklahoma! (1955)] ยกระดับประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ให้เพิ่มสูงขึ้นอย่างล้นหลาม จนสามารถเรียกได้ว่ายุคสมัยแห่งความ ‘Epic’ อลังการ มีถึง 4 เรื่องคว้ารางวัล Oscar: Best Picture
– Around the World in 80 Days (1956)
– The Bridge on the River Kwai (1957)
– Ben-Hur (1959)
– Lawrence of Arabia (1962)

ประสบการณ์ใหม่ที่ว่านี้ได้เปิดโลกทัศน์ผู้ชม ถูกความยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์ถาโถมเข้าใส่ เกิดความอิ่มหนำสุขสำเริงราญ ปัจจุบันมีคำเรียกขาน ‘ฟิน’ พึงพอใจอย่างถึงที่สูงสุด! แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนผ่าน เปิดซิงเสร็จสิ้นไปนาน อารมณ์เฉื่อยชาเฉิ่มเชยทั่วไป นั่นทำให้หลายๆเรื่องที่อดีตเคยยิ่งใหญ่ ปัจจุบันเสื่อมคลายมนต์ขลังความชื่นชอบนิยม

Around the World in 80 Days รับชมในยุคสมัยนี้ถูกผู้ชมตีตราหน้า คว้า Oscar: Best Picture มาครอบครองได้อย่างไร! เพราะแทบไม่มีเนื้อหาอะไรจับต้องได้ นอกเสียจากความอลังการงานภาพสี 70mm แต่ดูในจอโทรทัศน์ แท็บเล็ต มือถือ จะไปเข้าถึงประสบการณ์สุดยิ่งใหญ่ได้เช่นไร

แต่หนังก็มีข้อเสียอื่นด้วยนะครับ คือความมากเกินไปของผู้กำกับ Michael Anderson ไม่รู้เสียดายฟุตเทจที่ถ่ายทำมาหรืออย่างไร ตัดต่อได้ความยาวกว่าสามชั่วโมง ให้ตายเถอะ! ต้อนกระทิงอย่างเดียวก็เบื่อแทบแย่แล้ว


Le tour du monde en quatre-vingts jours (1873) หรือ Around the World in Eighty Days คือนวนิยายผจญภัย แต่งโดยนักเขียนชื่อก้องโลก Jules Gabriel Verne (1828 – 1905) สัญชาติฝรั่งเศส เจ้าของฉายา ‘Father of Science Fiction’ ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Journey to the Center of the Earth (1864), From the Earth to the Moon (1865), Twenty Thousand Leagues Under the Sea (1870) ฯ

Verne ประพันธ์ Around the World in Eighty Days ในช่วงระหว่าง Franco-Prussian War (1870–71) แม้ชีวิตเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่เกิดแรงบันดาลใจระหว่างอ่านหนังสือพิมพ์ยามบ่าย ณ Paris Café แห่งหนึ่ง พบเห็นข่าวความสำเร็จการเชื่อมทางรถไฟสองฟากฝั่งตะวันออก-ตก (First Transcontinental Railroad) ของสหรัฐอเมริกา นี่ทำให้การเดินทางรอบโลกมีแนวโน้มความเป็นไปได้ด้วยระยะเวลาสั้นสลงมาก

“I have a great number of scientific odds and ends in my head. It was thus that, when, one day in a Paris café, I read in the Siècle that a man could travel around the world in 80 days, it immediately struck me that I could profit by a difference of meridian and make my traveller gain or lose a day in his journey. There was a dénouement ready found. The story was not written until long after. I carry ideas about in my head for years – ten, or 15 years, sometimes – before giving them form”.

– Jules Verne

แม้สไตล์ถนัดของ Verne จะคือ Sci-Fi โลกอนาคต แต่นวนิยายเรื่องนี้ดำเนินเรื่องยุคสมัยปัจจุบัน การเดินทางเกินครึ่งค่อนเวียนวนอยู่ใน British Empire ศตวรรษนั้นครอบครองอาณานิคมครึ่งค่อนโลก (จนได้รับฉายา ‘sun never sets’) และวันสิ้นสุดการเดินทาง 21 ธันวาคม 1872 คือวันที่ตีพิมพ์นวนิยายเรื่องนี้ตอนแรก

การเดินทางในนวนิยายประกอบด้วย
– ระยะเวลา 7 วัน, เริ่มจาก London นั่งรถไฟมา Brindisi, Italy แล้วขึ้นเรือ Mongolia ข้ามทะเล Mediterranean ถึงช่องแคบ Suez
– ระยะเวลา 13 วัน, จากช่องแคบ Suez เดินทางด้วยเรือ Mongolia ผ่านทะเลแดงสู่มหาสมุทรอินเดียจนถึง Bombay, India
– ระยะเวลา 3 วัน, จาก Bombay เดินทางด้วยรถไฟถึง Calcutta
– ระยะเวลา 13 วัน, จาก Calcutta เดินทางด้วยเรือ Rangoon ข้ามช่องแคบมะละกา สู่ทะเลจีนใต้จนถึง Victoria, Hong Kong
– ระยะเวลา 6 วัน, จาก Hong Kong ขึ้นเรือ Carnatic ผ่านทะเลจีนใต้ ทะเลจีนตะวันออก และมหาสมุทร Pacific จนถึง Yokohama, Japan
– ระยะเวลา 22 วัน, จาก Yokohama ขึ้นเรือ General Grant ข้ามมหาสมุทร Pacific จนถึง San Francisco, United States
– ระยะเวลา 7 วัน, จาก San Francisco นั่งรถไฟถึง New York City
– ระยะเวลา 9 วัน, จาก New York ขึ้นเรือ China ผ่านมหาสมุทร Atlantic มาถึง London และขึ้นรถไฟสิ้นสุดปลายทาง Liverpool

ความสำเร็จล้นหลามของ Around the World in Eighty Days ไม่แปลกที่จะได้รับการดัดแปลงสื่ออื่น ก่อนหน้านี้ประกอบด้วย
– ละครเวที ปี 1874, สร้างโดย Verne และ Adolphe d’Ennery เปิดการแสดงที่ Théâtre de la Porte Saint-Martin, Paris จำนวน 415 รอบการแสดง ก่อนย้ายไป Théâtre du Châtelet ต่อเนื่องอีก 2,195 รอบ ยาวนานถึง 64 ปี
– หนังเงียบ Around the World in Eighty Days (1919) นำแสดงโดย Conrad Veidt
– ละครวิทยุ ปี 1946, สร้างโดย Orson Welles ออกอากาศรายการ The Mercury Theatre on the Air และตนเองให้เสียง Phileas Fogg
– ละครเวที ปี 1946, สร้าง/นำแสดงโดย Orson Welles ตั้งชื่อว่า Around the World แต่ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

Michael ‘Mike’ Todd (1909 – 1958) โปรดิวเซอร์ละครเวที/ภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Minneapolis, Minnesota ครอบครัวเป็นผู้อพยพชาว Polish เชื้อสาย Jews ฐานะยากจน มีพี่น้องถึง 9 คน แม้มีความสามารถทางการแสดงตั้งแต่เด็ก จำต้องออกจากโรงเรียนรับจ้างทำโน่นนี่นั่นเพื่อช่วยเหลือครอบครัว เปิดบริษัทก่อสร้างจนมีโอกาสทำงานในโรงถ่ายหนัง Hollywood แต่การมาถึงของ Great Depression ขาดทุนล้มละลาย เลยผันตัวสู่ธุรกิจโรงละคร กลายเป็นเจ้าของ Federal Theatre Project, Chicago ประสบความสำเร็จพอสมควร กระทั่งทศวรรษ 50s ร่วมก่อตั้ง Cinerama เพื่อนำเทคโนโลยี Widescreen มาใช้ในภาพยนตร์ แต่พบเห็นจุดข้อจำกัด/จุดบกพร่อง เลยลาออกมาควบกิจการ American Optical Company ตั้งชื่อเทคโนโลยีฟีล์มว่า Todd-AO ทดลองกับ Oklahoma! (1955) และผลักดันโปรเจค Around the World in 80 Days ให้เป็นรูปเป็นร่าง

มอบหมายให้ James Poe (Cat on a Hot Tin Roof, Summer and Smoke, Lilies of the Field), S. J. Perelman (Monkey Business, Horse Feathers) ดัดแปลงบทภาพยนตร์ และ John Farrow เป็นผู้กำกับ แต่เมื่อเริ่มถ่ายทำเพียงสัปดาห์เดียวกลับถูกไล่ออก (Farrow ได้ขึ้นเครดิตเขียนบทแทน) ส้มหล่นใส่ Michael Anderson

Michael Joseph Anderson (1920 – 2018) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ London ทั้งตระกูลเป็นนักแสดงตั้งแต่รุ่นทวด เข้าสู่วงการจากบทสมทบ Housemaster (1938), In Which We Serve (1942), ต่อด้วยกลายเป็นผู้ช่วย และกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Private Angelo (1949), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Dam Busters (1955), Around the World in 80 Days (1956), Logan’s Run (1976) ฯ

พื้นหลังปี 1872 กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร, Phileas Fogg (รับบทโดย David Niven) ได้รับคำท้าทายจากสี่เกลอสมาชิก Reform Club ด้วยเงินพนัน £20,000 ปอนด์ (เทียบปี 2015 เท่ากับ £1.8 ล้านปอนด์) ต่อการเดินทางรอบโลกระยะเวลา 80 วัน ร่วมกับคนรับใช้ใหม่ Passepartout (รับบทโดย Cantinflas) ขึ้นบอลลูนมุ่งสู่ฝรั่งเศส แต่กลับไปโผล่ประเทศสเปน ต่อด้วย อิตาลี, อินเดีย, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา สุดท้ายจะสามารถเดินทางทันกำหนดระยะเวลาหรือไม่!


James David Graham Niven (1910 – 1983) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Belgravia, London โตขึ้นเข้าเรียนโรงเรียนทหาร Royal Military College, Sandhurst จบออกมาได้ยศรองผู้พัน สังกัดทหารบก ได้รับมอบหมายสังกัด Highland Light Infantry ประจำอยู่ Malta, Dover เบื่อหน่ายในความสงบลาออกมาเป็นอาจารย์ เซลล์แมนขายวิสกี้ มุ่งสู่อเมริกากลายเป็นตัวประกอบ เข้าตาเซ็นสัญญา MGM เริ่มมีชื่อเสียงกับ Dodsworth (1936), The Prisoner of Zenda (1937), The Dawn Patrol (1938), Wuthering Heights (1939) ฯ พอสงครามโลกครั้งที่สองหวนกลับไปรับใช้ชาติ ขึ้นฝั่งร่วมกับพันธมิตรในวัน D-Day จนได้ยศพันโท ก่อนกลับอเมริกามีผลงานสร้างชื่อคือ A Matter of Life and Death (1946), จากนั้นกลายเป็นตำนานกับ Around the World in 80 Days (1956), Separate Tables (1958) ** คว้า Oscar: Best Actor, The Guns of Navarone (1961), The Pink Panther (1963), รับบท James Bond เรื่อง Casino Royale (1967) ฯ

รับบท Phileas Fogg ผู้ดีชาวอังกฤษที่มีความตรงต่อทุกสิ่งอย่าง เวลาทำอะไรต้องเปะๆ ไม่ยินยอมรับการเปลี่ยนแปลงแม้แต่เล็กน้อย ยินยอมรับคำท้าพนันเดินทางรอบโลกไม่ใช่แค่เรื่องเงินทองแต่ด้วยเกียรติศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย ระหว่างทางพานพบเจอเหตุการณ์โน่นนี่นั่น จิตใจค่อยๆโอนอ่อนผ่อนตาม ให้ความช่วยเหลือตกหลุมรักหญิงสาว เธออาจเป็นคนเดียวในโลกเข้าใจตัวตนแท้จริงของเขา

ความตั้งใจแรกของโปรดิวเซอร์ Mike Todd อยากได้ Cary Grant แต่พอไม่สามารถเกลี้ยกล่อมได้ในระยะเวลาหกเดือนเลยขอยอมแพ้ และแค่พบเจอพูดคุยซักถาม Niven อยากรับบท Phileas Fogg ไหม? เจ้าตัวตอบทันควัน ‘I’d do it for nothing!’

ความเนี๊ยบของ Niven มาดสุภาพบุรุษไม่มีหลุด ดูเป็นผู้ดีอังกฤษโดยแท้ แม้การแสดงอาจดูแข็งทึ่มทื่อไปสักหน่อย แต่ผู้ชมพบเห็นแล้วจักจดจำภาพลักษณ์ รับล่วงรู้บุคลิกนิสัยตัวละครได้โดยทันที … ไม่มีอะไรมากกว่านี้

เกร็ด: ในบรรดาตัวละครทั้งหมด Niven ให้สัมภาษณ์บอกว่า ชื่นชอบประทับใจ Phileas Fogg ที่สุดแล้ว


Mario Fortino Alfonso Moreno Reyes หรือ Cantinflas (1911 – 1993) นักแสดง/ตลก สัญชาติเม็กซิกัน เกิดที่ Santa María la Redonda, Mexico พี่น้องแปดคน ตั้งแต่เด็กมีความเฉลียวฉลาดปราดเปรี่ยว ขี้เล่นสนุกสนานเลยเคยทำงานคณะละครสัตว์ ร้องเล่นเต้นออกทัวร์จนมีชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับชักชวนแสดงภาพยนตร์ No te engañes corazón (1939), ผลงานสร้างชื่อ Ahí está el detalle (1940), El supersabio (1948), แจ้งเกิดระดับนานาชาติกับ Around the World in 80 Days (1956), Pepe (1960) ฯ

รับบท Passepartout คนรับใช้ใหม่ของ Phileas Fogg นิสัยร่าเริงสนุกสนาน ไม่ชอบยึดติดอยู่กับกฎกรอบเกณฑ์ วันๆต้องหยอกล้อหลีสาว เป็นเหตุให้ไขว้เขว้หลงลืมสิ่งที่กำลังจะทำได้โดยง่าย และด้วยความใสซื่อบริสุทธิ์ จึงตกอยู่ในสถานการณ์เป็นตายบ่อยครั้ง เอาตัวรอดมาได้ด้วยโชคช่วยแบบสุดๆ

เกร็ด: Passepartout สามารถแปลได้ว่า ‘Goes Everywhere’ สะท้อนตัวละครที่สามารถทำได้ทุกสิ่งอย่าง

ดั้งเดิมบทบาทนี้ในนวนิยายแทบไม่มีอะไรโดดเด่น แต่การได้ Cantinflas ถือเป็นนักแสดงชื่อดังฝั่งละตินอเมริกา จะมาแค่สมทบตัวประกอบก็กระไรอยู่ ผู้สร้างเลยเพิ่มเติมส่วน Comedy และความสามารถเฉพาะตัวต้อนวัวกระทิง ไม่ต้องใช้สแตนอินเล่นโลดโผนเองได้ทุกช็อตฉาก

เกร็ด: Cantinflas เคยให้สัมภาษณ์บอกสิ่งอยากสุดของหนัง คือการขี่จักรยานล้อสูง Penny-Farthing นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด!

สำหรับนักแสดงรับเชิญมีประมาณ 40 คน (น่าจะเยอะสุดที่ปรากฎในหนังเรื่องหนึ่งแล้วกระมัง) ยกดังๆที่ผมรู้จักมาก็แล้วกันนะ
– Shirley MacLaine รับบท Princess Aouda (นางเอกที่ถูกตัดบท เพราะเธอท้องระหว่างถ่ายทำ เลยไม่สามารถทำอะไรได้มาก)
– Robert Newton รับบท Inspector Fix (โดยไม่รู้ตัว หมอนี่เป็นคนที่สามเดินทางรอบโลกสำเร็จ 80 วัน)
– Noël Coward
– Sir John Gielgud รับบท Foster คนรับใช้เก่าของ Fogg ที่กำลังขอลาออก
– Charles Coburn
– Peter Lorre รับบทสจ๊วตบนเรือ SS Carnatic
– Marlene Dietrich โฮสเทจที่ San Francisco
– John Carradine รับบท Col. Stamp Proctor
– Frank Sinatra นักเปียโน
– George Raft
– Ronald Colman
– Buster Keaton ผู้ควบคุมรถไฟ (จาก San Francisco ถึง Fort Kearney)
– Victor McLaglen ต้นหน SS Henrietta


ถ่ายภาพโดย Lionel Lindon (1905 – 1971) สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ Going My Way (1944), The Blue Dahlia (1946), Around the World in 80 Days (1956), I Want to Live! (1958), The Manchurian Candidate (1962) ฯ

ความที่เทคโนโลยี Todd-AO มีความเร็วขับเคลื่อน 30fps ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้กับเครื่องฉายฟีล์มทั่วไป 35mm ความเร็ว 24fps วิธีการของหนังคือถ่ายทำสองครั้ง สิ้นเปลืองงบประมาณไม่น้อย

หนังเดินทางไปรอบโลก 13 ประเทศ สร้างฉาก 140 เซ็ตที่ Hollywood (หยิบยืมโรงถ่ายของสตูดิโอ RKO-Pathe, RKO, Universal-International, Warner Brothers, Columbia Pictures และ Twentieth Century Fox) ตัวประกอบ 68,894 คน สัตว์อีก 8,552 ตัว (แกะ 3,800 ตัว, ควาย 2,448 ตัว, ลา 950 ตัว, ม้า 800 ตัว, ลิง 512 ตัว, วัวกระทิง 17 ตัว, ช้าง 15 ตัว, Skunks 6 ตัว และนกกระจอกเทศ 4 ตัว) แต่ใช้เวลาถ่ายทำเพียง 75 วัน ถือว่ามีความรวดเร็วสูงมากๆ

งบประมาณเกือบครึ่งล้าน หมดไปกับค่าตัดเย็บเสื้อผ้า 74,685 ตัว ถือเป็นสถิติปริมาณเครื่องแต่งกายสูงสุดขณะนั้น (ไม่รู้ถูกทำลายไปหรือยังนะ!)

ฉากใหญ่สุดของหนังคือต้อนกระทิง นี่ไม่มีในนวนิยายของ Jules Verne ใส่เข้ามาเพราะต้องการขายความสามารถพิเศษของ Cantinflas โดยเฉพาะ! ตอนแรกเรียกรวมพลเมืองยัง Chinchón, Spain มาได้กว่า 6,500 คน แต่ยังไม่พึงพอใจโปรดิวเซอร์ต้องการหลักหมื่น ที่เหลือได้จาก Madird อยู่ห่างไป 45 กิโลเมตร

กลัวว่าภาพที่ออกมาจะดูหลอกๆ (เพราะใช้กล้องถ่ายทำขนาดใหญ่) โปรดิวเซอร์เลยทุ่มทุนซื้อรถไฟ สร้างทางให้สามารถถล่มพังทลายได้จริงๆ [นี่ล้อกับหนังเรื่อง The General (1926) ที่ Buster Keaton กำกับ/นำแสดง], เช่นกันกับเรือเดินสมุทร สำหรับข้าม Atalantic Ocean สามารถถอดชิ้นส่วนประกอบกันกลางทะเลเลยละ

ฉากผจญภัยได้รับการพูดถึงกล่าวขวัญมากที่สุด คือล่องบอลลูน นี่ไม่มีในนวนิยายของ Jules Verne อีกเช่นกัน โปรดิวเซอร์ใส่เพิ่มเข้ามาเพื่อโชว์อ๊อฟกล้อง Todd-AO เพื่อถ่ายทำภาพสวยๆจากมุมสูงโดยเฉพาะ! แซวว่า David Niven เป็นโรคกลัวความสูง ช็อตถ่ายทำสองนักแสดงบนบอลลูนลอยขึ้นจากพื้นเพียงระยะ 49 เมตรเท่านั้น

ทิ้งท้าย 10 วินาที กับภาพกระบวนพยุหยาตราชลมารคจากเมืองไทย ได้รับพระบรมราชานุญาตเป็นกรณีพิเศษจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ล่องแม่น้ำเจ้าพระยา ติดพื้นหลังพระบรมหาราชวัง, ฟุตเทจจากเมืองไทยมีอีกช็อตหนึ่งนะ แต่เป็นตอนพลบค่ำเลยมองไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่

ด้วยปริมาณฟุตเทจ 680,000 ฟุต (=210,000 เมตร) ใช้ระยะเวลา 9 เดือนเต็ม ตัดต่อโดย Gene Ruggiero และ Howard Epstein ให้หลงเหลือเพียง 25,734 ฟุต (=7,844 เมตร) ความยาว 179 – 183 นาที**

เกร็ด: สาเหตุที่หนังมีความยาวไม่เท่ากัน เกิดจากความเร็วของเครื่องเล่น คือถ้าต้นฉบับจากฟีล์ม 35mm (25fps) จะได้ความยาว 179 นาที แต่ถ้านำจากฟีล์ม 70mm (30fps) เล่นในเครื่องเล่น 25fps ผลลัพท์เลยยาวนานขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย

ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองหลักๆของสองนักผจญภัย Phileas Fogg และ Passepartout ซึ่งพอพวกเขาเดินทางถึงแห่งหนใด ก็มักตัดสลับกลับมายัง Reform Club เพื่อแจ้งข่าวสารต่อสี่เกลอนักพนันขันต่อ พูดคุยสนทนาแสดงปฏิกิริยาต่อสิ่งได้ยินมา

หนังเริ่มต้นแนะนำตัวละครแบบหยาบๆ สร้างความสัมพันธ์ระว่าง Fogg กับ Passepartout อย่างหลวมๆ แล้วให้เวลากับการผจญภัยแต่ละประเทศ ร้อยเรียงมอนเทจภาพทิวทัศน์สวยๆสองข้างทาง ตัดสลับปฏิกิริยาอึ้งทึ่งไม่เคยเห็นของตัวละคร ดำเนินไปเช่นนี้เวียนวนมาหลายครั้งจนกลายเป็นสูตรสำเร็จ ผู้ชมที่จินตนาการแผนที่โลกไม่ออกคงรำพัน เมื่อไหร่จะถึงจุดสิ้นสุดเส้นชัยสักที!

ตรงกันข้ามกับคนล่วงรู้จักภูมิทัศน์ของโลกเป็นอย่างดี คงโคตรหงุดหงิดหัวเสีย ล่องเรือผ่านพม่า/ช่องแคบมะละกา ไฉนกลับมีภาพพระราชวัง แม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร, หรือฉากที่ญี่ปุ่น Great Buddha แห่ง Kamakura อยู่ห่างจาก Yokohama พอสมควรเลยนะ!


เพลงประกอบโดย Victor Young (1900 – 1956) นักแต่งเพลงสัญชาติอเมริกา ผู้มีหลายผลงานคลาสสิกมากมาย อาทิ Reap the Wild Wind (1942), For Whom the Bell Tolls (1943), So Evil My Love (1948), The Greatest Show on Earth (1952), The Quiet Man (1952), Shane (1953) และผลงานสุดท้ายก่อนเสียชีวิตคือ Around the World in 80 Days (1957)

จัดเต็มด้วย Symphoney Orchestra มอบสัมผัสที่คือจิตวิญญาณเหมือนดั่งลูกโป่ง/บอลลูน ล่องลอยตามแรงลมอยู่บนฟากฟ้า เคลื่อนไหลไปตามโชคชะตา ชีวาก็เฉกกัน!

น่าเสียดายผมหาอนิเมชั่นความยาว 7 นาที สรรค์สร้างโดย Saul Bass มาให้รับชมไม่ได้ (หาดูในหนังเอาเองแล้วกันนะครับ) ด้วยระยะเวลาดังกล่าวสมัยนั้นถือว่านานมากๆ จนกลายเป็นสถิติ Closing Credit เยิ่นยาวที่สุด ก่อนถูกแซงโดย Superman (1978)

แซว: ปัจจุบันยาวสุดน่าจะ Lord of the Rings มั้งนะ!

จริงๆหนังมีบทเพลงขับร้อง Around the World แต่งเนื้อโดย Harold Adamson แต่ไม่ได้ถูกนำใส่ในหนัง บันทึกเสียงครั้งแรกโดย Bing Crosby ต่อมาได้รับการ Re-Record นับครั้งไม่ถ้วนทีเดียว (โด่งดังกว่า Soundtrack ของหนังอีกมั้งนะ!)

เกร็ด: ฉบับขับร้องโดย Crosby ติดสูงสุดอันดับ 25 ชาร์ท Billboard Hot 100

จากความเชื่อว่าโลกแบน ได้รับการพิสูจน์เปลี่ยนเป็นโลกกลม ต่อมา Christopher Columbus แล่นเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกค้นพบทวีปอเมริกา (เป็นการยืนยันว่าโลกกลม) เทคโนโลยีค่อยๆวิวัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ รถต่อเรือต่อรถไฟต่อเครื่องบิน จนในที่สุดสามารถเดินทางรอบโลกในระยะเวลาเพียง 80 วัน

เกร็ด: ตั้งแต่ปี 1993 จะมีการแข่งขันเดินทางรอบโลก เลียนแบบ Around the World in 80 Days ตั้งชื่อรางวัลว่า Jules Verne Trophy สถิติเมื่อปี 2017 โดย Francis Joyon ชาวฝรั่งเศส ใช้เวลา 40 วัน 23 ชั่วโมง 30 นาที 30 วินาที

สูตรสำเร็จเรื่องราวแนว Travelogue ผู้เดินทางจะได้เปิดโลกทัศน์ พบเห็นสิ่งใหม่ๆ เรียนรู้จักวัฒนธรรมแตกต่าง ค่อยๆแปรสภาพภายใน อาจจากเคยตึงเครียดซึมเศร้าหมองหม่น สู่ความโอนอ่อนผ่อนคลายยิ้มแย้มสุขสบาย, ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เฉกเช่นเดียวกัน
– Phileas Fogg จากเคยเป็นคนตรงกว่าไม้บรรทัด ระหว่างทางพบเจอตกหลุมรักหญิงสาว เริ่มแสดงออกน้ำใจไมตรี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ภายในอันโอนอ่อนโยนค่อยๆผ่อนคลายออกมา
– สำหรับ Passepartout แม้ดูไม่แตกต่างตั้งแต่ต้นจนจบ แต่บทเรียนชีวิตมากมายระหว่างเดินทาง รอดมาได้หลายครา คงเกิดความจดจำฝังใจบ้าง … ไม่มากก็น้อย

ข้อคิดดีสุดที่ผมหาได้จากหนัง, การออกเดินทางสู่โลกกว้างจะทำให้เราค้นพบมุมมองใหม่ๆ ไม่จมปลักอยู่กับความคร่ำครึโบราณ เพราะชีวิตคืออิสรภาพ! เปิดออกแล้วโบยบิน จักพบเห็นได้ยินว่ามีอะไรอีกมากที่เรามิเคยล่วงรับรู้

และมิตรภาพระหว่างการเดินทาง คือสิ่งสวยงามมากๆถ้าใครได้พบเจอ!


ด้วยทุนสร้าง $6 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $33 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $42 ล้านเหรียญ สูงสุดอันดับสองของปีรองจาก The Ten Commandments (1956)

เข้าชิง Oscar 8 สาขา คว้ามา 5 รางวัล
– Best Picture **คว้ารางวัล
– Best Director
– Best Writing, Adapted Screenplay **คว้ารางวัล
– Best Cinematography, Color **คว้ารางวัล
– Best Film Editing **คว้ารางวัล
– Best Art Direction-Set Decoration, Color
– Best Costume Design, Color
– Best Music, Scoring of a Dramatic or Comedy Picture **คว้ารางวัล

ถ้ามองเมื่อตอนหนังออกฉาย Around the World in 80 Days ถือว่าคือเต็งหนึ่ง เพราะเพิ่งคว้ารางวัล Golden Globe: Best Motion Picture – Drama แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปย้อมมองคู่แข่งเรื่องอื่น The Ten Commandments, Giant, The King and I และ  Friendly Persuasion ดูดีมีภาษีกว่าทั้งนั้น จากเคยยิ่งใหญ่กลายเป็นปีอัปยศของ Academy เทียบแล้วอาจเป็นรองแค่ The Greatest Show on Earth (1952)

เกร็ด:
– Around the World in 80 Days กลายเป็นชื่อภาพยนตร์ยาวสุดคว้า Oscar: Best Picture ถูกเทียบเคียงโดย One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975) และแซงได้เรื่อง The Lord of the Rings: The Return of the King (2003)
– Victor Young หลังจากเข้าชิง Oscar มาทั้งหมด 22 ครั้ง เสียชีวิตก่อนได้รับรางวัลจากหนังเรื่องสุดท้ายนี้
– หนึ่งในนักเขียนบท S. J. Perelman ไม่ได้เข้าร่วมรับรางวัล แต่ได้ส่ง Hermione Gingold อ่านโน๊ตที่เขียนไว้ เธอพูดว่า

“I’m very proud to receive this object d’art on behalf of Mr. Perelman, who writes … he cannot be here for a variety of reasons, all of them spicy. He’s dumbfounded, absolutely flummoxed. He never expected any recognition for writing ‘Around the World in Eighty Days’. And, in fact, only did so on the expressed understanding that the film would never be shown”.

เมื่อก่อนผมเคยชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้ เริ่มรู้จักหลังรับชม Around the World in 80 Days (2004) ฉบับนำแสดงโดยเฉินหลง แต่ครานี้หวนกลับมาดูรู้สึกผิดหวังโดยสิ้นเชิง ‘รูปสวยใจทราม’ นอกจากภาพสวย เพลงเพราะ อย่างอื่นเละตุ้มเปะพอๆกับหนังของ Michael Bay เลยก็ว่าได้

แนะนำคอหนังผจญภัยรอบโลก หลงใหลวัฒนธรรมหลากหลาย ชื่นชอบผลงาน Jules Vern, งานภาพสวยๆอลังการ (เหมาะรับชมในโรงภาพยนตร์จอใหญ่ๆ) เพลงประกอบไพเราะ, และแฟนๆนักแสดงอย่าง David Niven, Cantinflas, Shirley MacLaine ฯลฯ

จัดเรตทั่วไป ไม่มีพิษมีภัย

คำโปรย | Around the World in 80 Days เรียกได้ว่า ‘รูปสวยใจทราม’ เหมาะสำหรับรับชมในโรงภาพยนตร์เท่านั้น
คุณภาพ | รูปสวยใจทราม
ส่วนตัว | ค่อนข้างผิดหวัง

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: