Arsenal (1929)
: Alexander Dovzhenko ♥♥♥
หนังเงียบชวนเชื่อเรื่องนี้จริงๆก็ไม่ได้ดูยากอะไร เป็น Expressionist ที่ตรงไปตรงมาเหมือนภาพวาด The Scream ของ Edvard Munch เพียงแต่ผู้ชมสมัยใหม่ที่ไม่ได้เกิดในยูเครนหรือรัสเซีย ไม่รู้อดีตประวัติศาสตร์ของชาตินี้ก็คงส่ายหัวดูไม่เข้าใจแน่นอน
ผมรับชมหนังเรื่องนี้จาก Youtube (มีซับอังกฤษ) พอที่จะเข้าใจบางส่วนของหนังในความคิดของตนเอง แต่พอได้มาค้นคว้าหาข้อมูลรายละเอียดก็พบว่ามันแทบจะคนละเรื่องกับที่ได้เข้าใจ นี่ไม่ได้บ่งชี้ว่าหนังดีหรือไม่ดีนะครับ แค่ในบริบทความตั้งใจของผู้สร้าง ถ้าคุณไม่ได้เกิดยุคสมัยนั้นคงยากที่จะสื่อสารทำความเข้าใจตรงกันได้
Alexander Petrovich Dovzhenko (1894 – 1956) ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติโซเวียต ต้นกำเนิดเป็นชาว Ukrainian รุ่นเดียวกับ Sergei Eisenstein, Dziga Vertov, Vsevolod Pudovkin หนึ่งในผู้บุกเบิกทฤษฎีการตัดต่อ Soviet Montage ที่โด่งดัง, เกิดที่ Sosnytsia, Russian Empire (ปัจจุบันคือประเทศ Ukraine) ตอนอายุ 19 เรียนจบทำงานเป็นครูสอนหนังสือ พอช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สมัครเป็นทหารรับใช้ชาติ จบสงครามเกิด Soviet-Ukrainian ในปี 1919 เข้าร่วมฝ่าย Ukrainian People’s Republic ปะทะกับ Red Army ของรัสเซียก่อนพ่ายแพ้ถูกจับเป็นเชลยสงคราม, เข้าสู่วงการภาพยนตร์ครั้งแรกปี 1926 เริ่มต้นจากเขียนบท ต่อมาเป็นผู้กำกับ ผลงานเรื่องแรก Vasya reformator (1926) ตามมาด้วย Sumka dipkuryera (1927), Zvenyhora (1928) ได้เสียงตอบรับดีมากๆ จนทำให้กลายเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ที่ได้รับการจับตามอง และผลงานสามเรื่องถัดมา Ukraine Trilogy (ประกอบด้วย Zvenigora, Arsenal, และ Earth) ประสบความสำเร็จ ยิ่งใหญ่ที่สุด ได้รับการยกย่องเป็น Magnum Opus
Arsenal ผลงานลำดับที่ 5 เรื่องที่สองของ Ukraine Trilogy มีความเป็น Expressionist สูงมาก มองได้เป็นการแสดงความรู้สึกของผู้กำกับออกมา ต่อเหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น
คงต้องเอ่ยถึงสักหน่อยกับ ลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ (Expressionism) เป็นขบวนการ/แนวคิดทางวัฒนธรรมที่เริ่มต้นขึ้นในประเทศเยอรมนีเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพื่อตอบโต้ต่อกรกับแนวคิดปฏิฐานนิยม (Positivism), ธรรมชาตินิยม (Naturalism) และลัทธิประทับใจ (Impressionism) ถือเป็นวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมหนึ่งของมนุษย์ที่มีความสำคัญ ยิ่งใหญ่ โดดเด่นของโลก, วัตถุประสงค์ของลัทธิ/แนวคิดนี้ก็เพื่อการแสวงหาความหมายของ ‘ความรู้สึกมีชีวิตชีวา’ (being alive) และประสบการณ์ทางอารมณ์แทนความเป็นจริงทางวัตถุ
ภาพ The Scream (1893) ของจิตรกรสัญชาตินอร์เวย์ Edvard Munch [ใครสนใจลองหาหนังเรื่อง Edvard Munch (1974) มารับชมดูนะครับ]
ลักษณะผลงานที่ปรากฏในงานศิลปะ อาทิ จิตรกรรม, วรรณกรรม, การละคร, ภาพยนตร์, สถาปัตยกรรม และการดนตรี มักจะเป็นผลงานที่มีนัยยะสะท้อนอารมณ์รุนแรงจากภายใน (angst) ผลงานชิ้นเอกของยุคสมัยนี้ อาทิ
– ภาพวาด The Scream ของ Edvard Munch
– บทเพลง Der Ring des Nibelungen ของ Richard Wagner
– นวนิยายปรัชญาเรื่อง Thus Spoke Zarathustra ของ Friedrich Nietzsche
– นักประสาทวิทยา Sigmund Freud ค้นพบทฤษฎีจิตวิเคราะห์ [ว่ากันว่าเพราะอิทธิพลของยุคสมัย Expressionism]
– ภาพยนตร์แนว German Expressionism อาทิ The Cabinet of Dr. Caligari (1920) ของ Robert Wiene, Nosferatu (1922) ของ F. W. Murnau, Metropolis (1927) กับ M (1931) ของ Fritz Lang ฯ
คงไม่แปลกอะไรถ้าสร้างภาพยนตร์สมัยนั้น ได้รับอิทธิพลจากลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ ในอเมริกา/Hollywood/ยุโรป นั้นเห็นได้บ่อยชัดเจน แต่ในรัสเซียไม่ค่อยเท่าไหร่ เน้นสิ่งแนวทางที่เรียกว่า Soviet Realism เสียมากกว่า, Alexander Dovzhenko น่าจะเป็นคนแรกๆที่นำเอา Expressionist มาปรับใช้สร้างภาพยนตร์ของรัสเซีย
เรื่องราวของหนังแบ่งออกเป็น 7 เรื่องใหญ่ๆ คล้ายๆกับ Zvenyhora ผลงานก่อนหน้า
ตอนที่ 1: ช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 1917 ณ หมู่บ้านชนบทที่มีเพียงผู้หญิง เด็ก และคนพิการอาศัยอยู่ พวกเธอยืนสงบนิ่งก้มหน้า ใครจะมาทำอะไรก็ช่างไม่สนใจ ราวชีวิตไร้ค่าหมดอาลัยตายอยาก, แม่คนหนึ่งรำพันถึงลูกชาย 3 คนที่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 (ตัดให้เห็นว่าพวกเขานั่งอยู่บนรถไฟ กำลังเดินทางไปรบ) ขณะที่อีกคนกำลังหว่านพืชหวังผลแต่ไร้ซึ่งเรี่ยวแรง, จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 (Tsar Nicholas II) กำลังเขียนบันทึกอยู่ที่ St. Petersburg โดยหาได้ใคร่สนใจสิ่งใดๆ ไม่ทุกข์ร้อนต่อสงครามที่กำลังเกิดขึ้น, ทันใดนั้นเองแม่คนหนึ่งราวกับผีเข้าลงมือทุบตีลูกที่สร้างความรำคาญ ชายอีกคนหนึ่งก็ไม่รู้หงุดหงิดอะไรลงไม้กับม้า พวกเขาเกรี้ยวโกรธากับสงคราม การปกครอง ผู้นำประเทศ ฯ เรียกได้ว่าทุกสิ่งอย่างของประเทศขณะนั้น
ไฮไลท์ของตอนนี้ ขณะนายทหารเยอรมันคนหนึ่งถอดหน้ากากแก๊สออกมา ราวกับเพิ่มดมแก๊สหัวเราะ หลังจากเห็นผลลัพท์ของสงครามอันโหดเหี้ยม ก็หัวเราะอย่างบ้าคลั่งไร้สติหยุดไม่ได้, คนสมัยนั้นเห็นฉากนี้ไม่มีใครหัวเราะออกแน่นอน เจ็บจี๊ดสะท้านถึงขั้วหัวใจ เพราะมันคือความบ้าคลั่ง ภาพหลอนของสงคราม ที่ทำให้คนปกติกลายเป็นเหมือนคนบ้า ยอมรับไม่ได้กับความจริงอันโหดร้ายที่เกิดขึ้นบนโลก
ขณะเดียวกันนายทหารคนหนึ่งที่กำลังเดินเท้าย่าง กรีธาเข้าสู่สนามรบ พอไปถึงแนวหน้า ‘ไหนศัตรู’ นัยยะฉากนี้ไม่ใช่เบื้องหน้าชายคนนี้ไม่มีอะไรนะครับ แต่คือวินาทีที่เขาเข้าใจทุกสิ่งอย่าง ศัตรูที่หมายถึงคือความชั่วร้ายของโลก สิ่งที่เขาเห็นคงมีแต่มนุษย์ตาดำๆเหมือนกัน ไหนศัตรู? เกิดคำถามที่ทำให้ผู้บังคับบัญชาต้องเอาปืนจ่อหัว ‘จงทำตามคำสั่ง’ เมื่อเขาทิ้งปืนขัดคำสั่ง ก็เท่ากับแสดงความขบถเป็นกบฎทรยศหักหลังชาติ จึงถูกลงโทษยิงปืนสังหาร (แต่จะไม่เห็นฉากถูกยิง มีแค่ตอนล้มนอนกับพื้นแล้ว) และผู้บังคับบัญชาหยิบปืนของอดีตนายทหารคนนั้นขึ้นมา แล้วเดินหน้าข้ามศพไปต่อ
ตอนที่ 2: คณะปฏิวัติของ Ukrainian People’s Republic (UPR) ตัดสินใจปล้น (hijack) รถไฟที่เต็มไปด้วยทหารกำลังกลับจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เปิดออกมาเจอปืนกล Arsenal อาวุธสงครามมากมาย ขับรถไฟหนีไปโดยไม่ฟังคำทักท้วงของวิศวกร (เพราะเบรคเสียหรือยังไงสักอย่าง) ผลลัพท์คือพังทลายย่อยยับ การปล้นแทนที่จะได้ดีกลับสูญเสียทุกอย่าง (มีนัยยะถึงสิ่งที่ UPR กระทำนั้นไร้ค่าสิ้นดี) Tymish Stoyan ที่เหมือนจะเป็นหนึ่งใน UPR ตัดสินใจกลับบ้านเกิด Kyiv ตั้งใจทำงานเป็นวิศวกรแรงงาน
ตอนที่ 3: จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 สละบัลลังก์ สิ้นสุดการปกครองระบอบกษัตริย์ หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ 1917 ตรงกับวัน Easter พอดีมีการเฉลิมฉลอง เดินพาเหรด และพิธีมิสซาที่ St. Sophia Square, ทหารปลดประจำการทั้งหลายในยูเครน ล้วนเซ็นชื่อเข้าร่วม Symon Petliura (ว่าที่ผู้นำคนใหม่ของ Ukraine) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของ UPR แต่ Tymish เกิดความลังเล ตัดสินใจเป็นแรงงานเข้าร่วมบอลเชวิก (Bolsheviks, กลุ่มของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย)
ตอนที่ 4: Tymish ตัวแทนบอลเชวิก เข้าร่วมการประชุมรัฐสภาครั้งแรกของยูเครน ที่เมือง Kyiv พยายามที่จะพูดคุยเกลี้ยกล่อมสมาชิกอื่นให้เข้าข้างสนับสนุนโซเวียต แต่ไม่มีใครยอมรับฟังทำให้ต้องออกจากที่ประชุม ขณะเดียวกันรัฐสภาได้รับแจ้งจาก Black Sea Fleet ที่เหมือนกำลังจะเข้ายึดประเทศ ทำให้พวกเขารู้สำนึกแต่ก็สายไปแล้ว เพราะ Tymish ตัวแทนของบอลเชวิกออกจากที่ประชุมไปแล้ว
ตอนที่ 5: แต่ละภาคส่วนของประเทศยูเครนเกิดความชุลมุนวุ่นวาย เพราะประเทศกำลังเข้าสู่สงคราม Ukrainian – Soviet War (1917 – 1921) ระหว่าง Bolshevik vs Ukrainian People’s Republic (UPR) ซึ่งหนึ่งในจราจลคือ Kiev Arsenal January Uprising (หรือ January Uprising) กลุ่ม Bolshevik นำโดย Tymish ร่วมกับกรรมกรแรงงานที่ Kiev Arsenal factory ได้ลุกฮือขึ้นเพื่อต่อต้านรัฐบาลกลางของประเทศยูเครน สนับสนุน Red Army กองกำลังทหารแดงของรัสเซีย
การแสดงออกของผู้คน ประกอบด้วย
– กลุ่ม Bolshevik เตรียมการกักตุนอาวุธและเสบียงทั้งหลาย
– ทหารจากส่วนต่างๆของประเทศกรีธาเตรียมพร้อมสู้รบ
– ชนชั้นกลางทีแรกเหมือนจะไม่สนใจอะไรมาก จิบชาสบายใจเฉิบ แต่พอทหารใกล้มาถึงก็ลุกรี้ลุกรีน กุรีกุจอกันวิ่งหนีเป็นพลวัต
– ขณะที่ประชาชนบางส่วนยืนนิ่งทื่อ ไม่รู้จะทำตัวแสดงออกอย่างไรดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น (ล้อกับเหตุการณ์ตอนที่ 1)
นี่ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสับสนอลวุ่น จึงมีการแสดงออก Expression ด้วยการเอียงภาพกะเท่เร่หลายครั้งทีเดียว
ตอนที่ 6: นายทหารคนหนึ่งฝากจดหมายถึงครอบครัว แต่ยังไม่ทันจ่าหน้าก็เสียชีวิต แม่คนหนึ่งรับมารำพึงพรรณหันหน้าตรงพูดกับผู้ชม ใครก็ได้สักคนช่วยจัดการคนที่อยู่เบื้องหลังการตายของผู้บริสุทธิ์นี้ที
การต่อสู้ดำเนินต่อ แม้จะเข้าสู่ฤดูหนาวแต่ก็มิได้เป็นอุปสรรคไม่ ฝั่ง Bolshevik มีรถถังคันหนึ่งชื่อ ‘free Ukraine’ แต่มีหรืออาวุธแค่นี้จะไปต้านทานกองกำลังทหารที่เยอะกว่ามากกว่าของ UPR ได้
ตอนที่ 7: เมื่อการต่อสู้ยืดเยื้อต่อเนื่องยาวนานถึง 72 ชั่วโมง เหล่า Bolshevik และกรรมกรแรงงานหมดทั้งเรี่ยวแรงและอาวุธตอบโต้ ตัดสินใจยืนขึ้น (final stand)
ช็อตสุดท้ายของหนัง Timosha ที่ไม่เหลืออะไรจะสู้แล้ว ลุกขึ้นยืนถกอกเสื้อ ประกาศก้องถึงการไม่ยอมแพ้ แสดงถึงความเป็นลูกผู้ชายอกสามศอกคิดทำอะไรยึดมั่นในหลักอุดมการณ์ ไม่มีวันผิดหรือเปลี่ยนแปลงคำพูด เสร็จแล้วหนังก็ตัดจบไปเลย ไม่นำเสนอว่าเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น (ถึงเราจะคาดว่าเขาคงถูกยิงตายแน่ แต่นัยยะของฉากนี้ คือภาพการเปิดอกสู่ความเป็นอมตะตลอดกาล)
เรื่องราวของหนังแม้จะเป็นความพ่ายแพ้ของ Bolshevik ต่อรัฐบาลกลางของ Ukraine แต่เพราะปีที่สร้าง 1929 สงคราม Ukrainian – Soviet War ได้จบสิ้นลงไปสักพักใหญ่แล้ว ซึ่งผู้ชนะท้ายสุดก็คือสหภาพโซเวียตหรือฝั่ง Bolshevik ของ Vladimir Lenin ที่ทำให้ยูเครนกลายเป็น Ukrainian Soviet Socialist Republic (หรือ Ukrainian SSR) ส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต, ดังนั้นนัยยะชวนเชื่อของหนังเรื่องนี้จึงคือ ยกย่องความเสียสละของบุคคลผู้ไม่ยอมแพ้ต่อศัตรูของ USSR
Arsenal ที่ไม่ใช่ทีมฟุตบอล แปลว่า คลังสรรพาวุธ, นี่เป็นสิ่งสัญลักษณ์ที่แทนด้วยความเป็นอยู่ของประเทศชาติสมัยก่อน จำเป็นต้องพึ่งพา’สรรพอาวุธ’เพื่อยึดครอง ลุกฮือ ต่อต้าน มีชีวิต ปกป้องตนเอง เอาตัวรอด ฯ การมีปืนในครอบครองสำคัญกว่าจอบเสียมขวานเครื่องมือทำมาหากินเสียอีก ทำให้รัฐบาลยูเครนสมัยนั้น พยายามทำทุกวิถีทาง ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการต่อสู้ปราบปรามกลุ่มกบฎจราจลที่พยายามยึดเอาคลังอาวุธเป็นฐานสถานที่ตั้งมั่น
สรุปก็คือ สมัยนั้นผลแพ้ชนะของสงครามอยู่ที่การครอบครอง Arsenal นั่นเองนะครับ
ต่อเนื่องจาก Zvenigora สู่ Arsenal สู่ Earth หนังเรื่องนี้อยู่กึ่งกลางระหว่างการแปรสภาพ ชี้ชักนำ ความพยายามชวนเชื่อของผู้กำกับ Dovzhenko ต้องการเปลี่ยนแปลงสถานะของประเทศยูเครนจากเดิมที่เป็นประเทศเกษตรกรรม ให้กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม
รับชมหนังเรื่องนี้เป็นการยืนยันความเชื่อของผมที่ว่า ผู้กำกับ Dovzhenko ได้กลายเป็นคนของสหภาพโซเวียตโดยถาวรไปแล้วนะครับ ทั้งๆที่พี่แกเป็นชาวยูเครนแท้ๆ แต่กลับสร้างภาพยนตร์ชวนเชื่อที่ชักชวนให้ประชาชนหันมาเข้าข้างยอมรับ ก้มหัวยินยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองตามคำสั่งร้องขอของสหภาพโซเวียต, จุดเปลี่ยนสำคัญคงเป็นตอนที่ Dovzhenko เข้าร่วมกับ Ukrainian People’s Republic ปะทะต่อต้านกับ Red Army ในช่วงปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution) ความพ่ายแพ้ถูกจับเป็นเชลย มันคงเกิดความเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติ ความคิดจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทัศนะต่อรัฐบาลกลางยูเครนในหนังเรื่องนี้จึงออกไปทางต่อต้าน ละอายที่ได้เคยเข้าร่วม (นั่นเลยทำให้ตอนที่ 2 ยึดรถไฟไปแล้วไง สุดท้ายก็พังทลายสูญสิ้นทุกสิ่งอย่าง)
ส่วนตัวรู้สึกเฉยๆกับหนังเรื่องนี้ แม้จะมีหลายภาพ Expressionist ที่มีความยิ่งใหญ่ตราตรึงมากๆ แต่ตอนรับชมผมคิดตามไม่ค่อยทันเท่าไหร่ เลยไม่ค่อยพึงพอใจกับหนังมากนัก (ออกไปทางหงุดหงิดด้วยที่ดูไม่รู้เรื่อง หนังดูยากจริงๆนะครับ)
และคงเพราะความที่เป็นแนวชวนเชื่อ เมื่อกาลเวลาผ่านไปอิทธิพล ความทรงพลังค่อยๆลดลง จนปัจจุบันแทบไม่หลงเหลือความรู้สึกใดๆอีกต่อไปแล้ว ก็แน่ละนี่มันหนังเมื่อเกือบร้อยปีที่แล้ว ตกยุคตกสมัยถือเป็นเรื่องธรรมดา รับชมหนังเพื่อศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของโลกและภาพยนตร์ไปก็แล้วกัน
แนะนำกับนักประวัติศาสตร์รัสเซีย ยูเครน สนใจภาพยนตร์แนวชวนเชื่อสมัยก่อน, โดยเฉพาะคอหนังเงียบ จิตรกรที่หลงใหล Expressionist และนักตัดต่อที่มีความหลงใหลในเทคนิค Soviet Montage ไม่ควรพลาดเลย
จัดเรต 13+ กับ Expression อันบ้าคลั่งของหนัง
Leave a Reply