Ashani Sanket (1973)
: Satyajit Ray ♥♥♥♡
ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อันดุเดือด ประชาชนตาดำๆอาศัยอยู่มุมหนึ่งของโลก ไม่ได้มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องอะไรด้วยเลย แต่กลับได้รับผลกระทบเต็มๆ (Distant Thunder) นำแสดงโดย Soumitra Chatterjee ขาประจำของ Satyajit Ray ที่พยายามทำทุกสิ่งอย่าง แลกกับการไม่ให้ตนและภรรยาต้องประสบทุพภิกขภัย ทนหิวโหยในระดับที่คุณอาจคาดไม่ถึง, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
หนังของ Alfred Hitchcock ขึ้นชื่อเรื่องการสำรวจอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ อาทิ Psycho/The Bird นำเสนอความหวาดกลัว, Vertigo คือ Obsession ความคลั่งไคล้ยึดติด, Notorious พูดถึงความต้องการ (lust), Rebecca ความอิจฉาริษยา ฯ แต่มีอารมณ์/ความรู้สึกหนึ่งที่ Hitchcock ลืมหรือไม่ได้อยู่ในความสนใจ นั่นคือความ’หิว’กระหาย มนุษย์จะคิดกระทำอะไรได้บ้าง เพื่อไม่ให้ทนทุกข์ทรมานจากความหิว
Ashani Sanket หรือ Distant Thunder หนังรางวัล Golden Bear ของ Satyajit Ray นำเสนอการดิ้นรนของความ’หิว’กระหาย เพื่อให้ท้องอิ่มยังชีพ ในระดับที่สุดของความเป็นไปได้ ท้าทายให้ผู้ชมครุ่นคิดหาคำตอบของปัญหาที่ว่า การกระทำนั้นมันสมควรหรือเปล่า ระหว่าง ‘ยึดมั่นในอุดมการณ์ที่กินไม่ได้’ กับ ‘ไม่สน ทำทุกอย่างเพื่อให้อิ่มท้อง’ ระหว่างท้องหิวจนตัวตาย กับช่างมันฉันต้องมีชีวิตอยู่ ก็ขึ้นกับปรัชญาชีวิตของคุณแล้ว จะตัดสินใจเลือกอย่างไร
ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง Ashani Sanket แต่งโดย Bibhutibhushan Bandopadhyay นักเขียนชาว Bengali คนเดียวกับที่แต่ง Pather Panchali, Aparajito, Apur Sansar ที่ Satyajit Ray เคยดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ The Apu Trilogy
Ray มีความชื่นชอบหลงใหลวรรณกรรมของ Bandopadhyay เป็นอย่างมาก ให้คำยกย่องว่า ‘มีทักษะลีลาการเขียน โดยเฉพาะประโยคคำพูดของตัวละคร สามารถอธิบายภาพลักษณ์ของตนเองได้อย่างชัดเจน’
“His lines fit the characters so well, they are so revealing that even when the author provides no physical description, every character seems to present itself before us simply through the words it speaks.”
ปี 1943 ที่รัฐเบงกอล (Bengal) ประเทศอินเดีย (ขณะนั้นยังเป็นเมืองขึ้นของสหราชอาณาจักร) ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า Great Famine ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ ตัวเลขประมาณการณ์ผู้เสียชีวิต 2.1 ล้านคน จากสภาวะทุพโภชนาการ, การอดอยาก และโรคระบาด อาทิ อหิวาตกโรค (cholera), ไข้มาลาเรีย (malaria), ฝีดาษ (smallpox), โรคบิด (dysentery) และโรคลิชมาเนีย (Leishmaniasis)
ปัญหาของทุพภิกขภัยครั้งนี้ เป็นผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อประเทศให้ความสำคัญกับทหารที่ไปรบมากกว่าประชาชนที่อยู่เบื้องหลัง เสบียงอาหาร/ยารักษาโรค จึงถูกจำกัดควบคุมทำให้ขาดแคลนในพื้นที่ห่างไกล ราคาของสินค้าจากเดิมแค่ไม่เท่าไหร่ พุ่งทะยานสูงขึ้นกว่า 10 เท่าตัว คนจนไม่มีทางหาซื้อได้ พ่อค้าถูกขโมยปล้นชิง ผู้คนเห็นแก่ตัว ไม่มีใครอยากให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
Bibhutibhushan Bandopadhyay และ Satyajit Ray ต่างมีชีวิตผ่านช่วงเวลาทุพภิกขภัยครั้งใหญ่นี้มาเหมือนกัน แต่เหมือนทั้งสองตอนนั้นจะไม่ได้อาศัยอยู่ใน Bengal ถือว่ามีความโชคดีที่ไม่ต้องผ่านความทุกข์ยากลำบากขนาดนั้น, Bandopadhyay คงเขียนนิยายเล่มนี้ จากการสังเกตเหตุการณ์เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง ส่วน Ray คงต้องการสะท้อนเรื่องราว ผลกระทบของสงครามสู่สายตาชาวโลก (ขณะนั้นสงครามเวียดนามกำลังปะทุรุนแรง หนังเรื่องนี้มีความเป็นไปได้ว่าอาจมีนัยยะสื่อถึงด้วยนะครับ)
Gangacharan Chakravarti (รับบทโดย Soumitra Chatterjee) อาศัยอยู่กับภรรยา Ananga (รับบท Bobita) ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในรัฐเบงกอล ตัวเขาเป็นทั้งพราหมณ์ แพทย์ ครูสอนหนังสือ เรียกว่าพหูสูต เฉลียวฉลาดมีปัญญารอบรู้จนได้รับการเคารพยกย่องนับถือจากชาวบ้าน แต่กระนั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลกระทบมาถึง ก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายที่ Gangacharan จะสามารถทำอะไรเพื่อให้ตนและภรรยาอิ่มท้อง อยู่รอดผ่านช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากนี้ไปได้
Soumitra Chatterjee (เกิดปี 1935 – ยังมีชีวิตอยู่) นับจากวันที่ย่างเท้าเข้าไปแอบดูกองถ่าย Jalsaghar (1958) โดยไม่รู้ตัวกลายเป็นนักแสดงนำในหนังเรื่องถัดไปของ Satyajit Ray เรื่อง Apur Sansar (1959) ไม่เชื่อมั่นในตนเองว่าจะแสดงหนังได้ จนกระทั่งถ่ายทำวันแรกเทคแรกเทคเดียวผ่าน ถึงเพิ่งรู้ตัว … ปี 2012 ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ลำดับสูงสุดของวงการภาพยนตร์ Dadasaheb Phalke
นับครั้งไม่ถ้วนที่ได้ร่วมงานกับ Satyajit Ray จนถือว่าเป็นผู้กำกับ-นักแสดงคู่บารมี อาทิ Apur Sansar (1959), Abhijan (1962), Charulata (1964), Aranyer Din Ratri (1969), Sonar Kella (1974), Joi Baba Felunath (1978), Ghare Baire (1984), Ganashatru (1989) ฯ ขณะเดียวกันยังได้ร่วมงานผู้กำกับชื่อดังทางฝั่งวงการภาพยนตร์ Bengali อาทิ Mrinal Sen เรื่อง Akash Kusum (1965), Tapan Sinha เรื่อง Kshudhita Pashan (1960) ฯ คว้ารางวัล National Film Award: Best Actor จากเรื่อง Podokkhep (2006)
ตัวละคร Gangacharan Chakravarti แม้จะได้รับการนับหน้าถือตายกย่องเป็นอย่างดี เหมือนจะฝากผีฝากไข้ได้ แตกต่างจากบทบาทเดิมๆของ Chatterjee ที่มักรับบทตัวละครที่พึ่งพิงพาอะไรไม่ได้เลย แต่ช่วยหลังๆของหนังจะเห็นว่า อีกแล้ว! มีเหตุการณ์บางอย่างที่ตัวละครนี้เอาตัวรอดเองไม่ได้ จำต้องได้รับการช่วยเหลือจาก… ภรรยา
Farida Akhter หรือชื่อการแสดง Bobita (เกิดปี 1948) เธอเกิดหลังจากปีที่มีการแบ่งแยกดินแดนอินเดีย ถือสัญชาติ Pakistan ตอนเล่นหนังเรื่องนี้ West Pakistan ก็เพิ่งได้รับอิสรภาพกลายเป็นประเทศ Bangladeshi ตัวเธอจึงถือสัญชาติ Bangladeshi, กับหนังเรื่องนี้ทำให้ Bobita กลายเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงอย่างมาก ซึ่งเธอก็อุทิศตัวเองให้กับวงการภาพยนตร์ Bangladeshi จนประสบความสำเร็จล้นหลาม แต่เราคงไม่มีโอกาสรับชมหนังของเธอได้อีกแน่
Ananga คือหญิงสาว/ภรรยาที่อุทิศตนทุ่มเทให้กับสามี ตามแบบฉบับผู้หญิงอินเดียดั้งเดิม นี่เองเป็นเหตุให้การเห็นสามีเหน็ดเหนื่อยหิวโหยจึงเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้, หญิงสาวไม่ได้เป็นคนเฉลียวฉลาด หรือมีอุดมการณ์อะไรสูงส่ง แต่มีความกล้าที่จะเสียสละตัวเอง กระทำในสิ่งที่… ยินยอมแลกมา ทั้งนี้ไม่ใช่ด้วยความเห็นแก่ตัว แต่เพื่อคนที่ตนรักยิ่ง
ถ่ายภาพโดย Soumendu Roy, นับตั้งแต่ Subrata Mitra เพื่อนสนิทตากล้องขาประจำคนแรกของ Ray มีปัญหาเรื่องสายตา ก็ได้ Roy ที่เคยเป็นคนจัดแสง เข็นกล้อง ร่วมงานกันมาตั้งแต่ยุคแรกๆ ก้าวหน้าขึ้นมาเป็นตากล้องขาประจำในยุคหลังๆ, นี่ถือเป็นหนังภาพสีเรื่องแรกของ Ray ด้วยนะครับ
หนังมีการถ่ายภาพย้อนแสงอยู่หลายครั้ง ทำให้มองไม่เห็นใบหน้าของตัวละครซึ่งมีนัยยะความหมายถึงการ’ไม่เหลียวมอง’ กับช็อตสุดท้ายของหนัง ถ้าเปรียบรัฐบาลประเทศอินเดียดั่งแสงสุริยัน ภาพย้อนแสงของประชาชนผู้หิวกระหายนี้เปรียบได้กับมุมมืด การมองไม่เห็น เทียบสถานะเหตุการณ์ทุพภิกขภัยครั้งนี้ ไม่มีใครที่ไหนจะหันมาเหลียวแล
ตัดต่อโดย Dulal Dutta ขาประจำของ Ray, หนังเริ่มต้นที่ Ananga และเหมือนว่าจะใช้มุมมองของเธอเป็นหลักในการเล่าเรื่อง แต่หลายครั้งก็มีการส่งไม้ต่อเล่าเรื่องในมุมมองสามี แต่เดี๋ยวไม่นานก็วนกลับมาหาเธออีก และไคลน์แมกซ์ของหนังก็เป็นเรื่องราวการตัดสินใจของ Ananga
เพลงประกอบโดย Satyajit Ray นับตั้งแต่ไม่ได้ร่วมงานกับ Ravi Shankar ก็ทำเพลงประกอบเองมาโดยตลอดตั้งแต่ Paras-Pathar (1958), งานเพลงมีลักษณะเป็น Impressionist ให้เกิดความรู้สึกประทับใจ ตราตรึง อาจมีทำนองตื่นเต้นเร้าใจบ้าง แต่ใช้เพื่อสร้างบรรยากาศให้กับเรื่องราว ไม่ได้มีนัยยะเร้าเร้าสร้างอารมณ์ให้กับหนัง
ฟ้าคะนองที่ดินแดนไกลไม่รู้ตรงไหน บางครั้งอาจเห็นแค่ลำแสงฟ้าแลบ นานๆหลังจากนั้นถึงค่อยได้ยินเสียงคำรามกึกก้อง, ก็เหมือนหนังเรื่องนี้ สงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่ตรงไหนไม่มีใครรู้ แต่พวกเขาได้ยินเสียง ได้รับอิทธิพลผลกระทบ ข้าวยากหมากแพง ร้ายรุนแรงขึ้นเรื่อยๆจนข้าวไม่มีขาย อาหารไม่มีกิน ทีนี้จะอยู่กันยังไงละ ดิ้นรนอดทนไม่ได้ก็รอวันตาย แต่มันก็มีทางเลือกอีกหนึ่งสำหรับบางคน แลกมาสิกับบางสิ่งอย่าง ปล้นชิง ลักฆ่า ข่มขืน ฯ แทบจะการันตีได้ว่าทำแบบนี้แล้วมีชีวิตอยู่รอดแน่ แต่ทำแล้วความเป็นมนุษย์ยังจะหลงเหลืออยู่หรือเปล่า
นี่เป็นสิ่งที่ผมเองก็ไม่สามารถแนะนำให้คำตอบที่ถูกต้องได้ ในใจตอนนี้คิดว่า “ไม่! ฉันไม่มีวันทำแบบนั้นแน่” แต่ตราบใดไม่เจอเข้ากับตัวเอง ไม่มีใครบอกได้ว่า ความหน้ามืดหิวกระหายจะก่อให้เกิดอะไรขึ้นได้บ้าง
ทุกข์ทรมานจากความหิว จริงๆผมมีบทเรียนจากหนังเรื่อง Guide (1965) มาแล้วนะครับ หิวจนตายเป็นยังไง ทำอย่างไรถึงทนได้ แต่นั่นต้องมากับอุดมการณ์ระดับสูงส่งจริงๆถึงทำได้ คนธรรมดาอย่างเราๆผมคิดว่า เป็นไปได้ยาก แต่ให้รับรู้ว่าทำได้ก่อนก็เพียงพอนะครับ
นี่ยังดีนะ ที่พวกเขายังไม่ถึงระดับฆ่าหมาฆ่าแมว กินกันเองกลายเป็น Cannibal ถ้ามันถึงระดับนั้นจริงๆ มนุษย์ชาติคงได้จบสิ้นแล้วละครับ
ส่วนตัวแค่ชอบหนังเรื่องนี้ คุณภาพฉบับที่ผมดูค่อนข้างแย่ ทำให้ไม่สามารถดื่มด่ำเต็มอิ่มกับหนังได้เต็มที่ ประทับใจสุดก็ใน direction ของผู้กำกับ(เช่นเคย) และการแสดงของ Soumitra Chatterjee กับ Bobita เยี่ยมยอดจริงๆ
ผมจัดหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” จริงๆก็ไม่มีประโยชน์อะไรเท่าไหร่หรอก แต่เพราะสถานการณ์โลกช่วงนี้มีแนวโน้มสูงที่จะเกิด ‘สงครามโลกครั้งที่ 3’ อีกทั้งแทบทุกสำนักพยากรณ์ในโลก ไม่ว่าความเชื่อศรัทธาไหนล้วนบอกว่าเกิดแน่ (แต่ไม่ได้บอกว่าเมื่อไหร่) หนังเรื่องนี้น่าจะสามารถใช้เป็นบทเรียนให้กับเราๆ ที่อาจมิได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไร แต่การันตีว่าได้รับผลกระทบแน่ๆ ข้าวยากหมากแพง ผู้คนเห็นแก่ตัวสนใจแค่ตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้ เรียนรู้จดจำไว้เป็นบทเรียน ขออย่าให้มันเกิดขึ้นจริงเลยเถอะ เพี้ยง!
แนะนำกับนักสังคมศาสตร์, ประวัติศาสตร์ (อินเดีย), เศรษฐศาสตร์, บริหารจัดการ ฯ ผู้นำชุมชน ผู้นำประเทศ ศึกษาเรียนรู้ปัญหาไว้เป็นดี อนาคตถ้ามันเกิดขึ้นฝากให้ช่วยคิดทำ แก้ไขบางสิ่งอย่าง อย่าให้เรื่องพรรค์นี้เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ความเอื้อเฝื้อเผื่อแผ่เสียสละเท่านั้น ถึงจะช่วยให้ทุกคนผ่านช่วงเวลายากลำบากนี้ไปด้วยกันได้
จัดเรต 13+ กับความทุกข์ทรมาน ยากลำบาก และความเห็นแก่ตัวของมนุษย์
Leave a Reply