Ashes and Diamonds (1958) : Andrzej Wajda ♥♥♥♥♡
หนังสัญชาติ Polish กำกับโดย Andrzej Wajda ว่ากันว่านี่เป็นหนังที่ดีที่สุดของประเทศ Poland, หนึ่งในหนังโปรดของ Martin Scorsese และแนะนำให้ Leonardo DiCaprio เพื่อเตรียมรับบทในหนังเรื่อง The Departed (2006)
อีกหนึ่งหนังหายากที่เชื่อว่าน้อยคนจะได้รู้จัก ต้องขอบคุณ Martin Scorsese ที่มีหนังโปรดจากหลากหลายประเทศ ไม่เช่นนั้นผมก็คงไม่มีโอกาสได้รู้จักหนังเรื่องนี้เป็นแน่, คำกล่าวที่ว่า ‘หนังดีที่สุดของประเทศ Poland’ อาจไม่เกินคำคุยนัก ถึงผมจะไม่เคยดูหนังเรื่องอื่นของประเทศนี้เลย แต่ก็รู้สึกได้ว่าความยอดเยี่ยมเทียบเท่า Citizen Kane (1941) ผสม Rome, Open City (1945) ถ้าไม่ดีที่สุดก็ต้องอยู่ระดับแนวหน้าของประเทศเลยละ
Andrzej Wajda มีหนังที่เคยได้เข้าชิง Oscar สาขา Best Foreign Language Film ถึง 4 เรื่อง ไม่เคยได้รางวัลจน Oscar ก็ต้องยก Honorary Award ให้เมื่อปี 2000, เคยได้ Palme d’Or กับหนังเรื่อง Man of Iron (1981) และ Honorary Golden Berlin Bear ในปี 2006, ต้องถือว่า Wajda เป็นผู้กำกับที่ทำหนังคุณภาพ คนสำคัญมากๆคนหนึ่งในวงการภาพยนตร์ที่คอหนังควรรู้จักไว้นะครับ
หนังสามเรื่องแรกของผู้กำกับ Wajda ประกอบด้วย A Generation (1954), Kanal (1956) หนังเรื่องนี้ได้ไปฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes และได้รางวัล Special Jury Prize (ร่วมกับ The Seventh Seal ของ Ingmar Bergman ในปีนั้น), และ Ashes and Diamonds (1958) ทั้งสามเรื่องถูกเรียกว่าเป็นหนัง Wajda Wars Films Trilogy โดยมีเรื่องราวสะท้อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นในประเทศ Poland ถึงจะไม่ใช่ภาคต่อกัน แต่มีลักษณะ ใจความ พื้นหลังที่คล้ายคลึงกัน, ผมยังไม่ได้ดูอีก 2 เรื่องนะครับ คิดว่าเรื่องราวคงไม่ได้ต่อกัน ดูเรื่องไหนก่อนก็ได้ไม่ต้องเรียง
ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันของ Jerzy Andrzejewski นักเขียนชาว Polish ตีพิมพ์ปี 1948, ในวันที่เยอรมันประกาศยอมแพ้สงคราม 8 พฤษภาคม 1945 แต่ใช่ว่าโลกทั้งใบจะสงบสุข ในโปแลนด์กลุ่มผู้นำของประเทศยังคงมีความขัดแย้งกันว่าใครจะขึ้นมามีอำนาจบริการประเทศต่อไป, Home Army 2 คน ได้รับภารกิจลอบสังหารหนึ่งในผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์… สงครามจบลงแล้ว นี่ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่อีกหรือ?
นำแสดงโดย Zbigniew Cybulski ผู้ได้รับฉายาว่า ‘James Dean แห่ง Poland’ ด้วยสไตล์การแสดงและภาพลักษณ์ (สวมเสื้อหนังและใส่แว่นกันแดดอันใหญ่) ชอบรับบทตัวละครนอกรีตฝั่งคณะปฏิวัติ (nonconformist rebels) และเสียชีวิตเร็วตอนอายุ 40 จากอุบัติเหตุในกองถ่าย (James Dean เสียชีวิตตอนอายุ 24), Cybulski เริ่มต้นจากการเป็นตัวประกอบ และเริ่มได้รับบทนำจากหนังเรื่อง Krzyż Walecznych ซึ่งฉายปีเดียวกับ Ashes and Diamonds ทั้งสองเรื่องทำให้เขากลายเป็นดาราดังของโปแลนด์ ที่นักวิจารณ์ให้คำชมว่า “young and wrathful”
การแสดงใน Ashes and Diamond ต้องถือว่าพี่แกเจ๋งมากๆ เหมือนวัยรุ่น playboy อารมณ์แกว่งๆ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อย, นี่คล้ายกับการแสดงของ Jean-Paul Belmondo ใน Breathless (1960) โดยผู้กำกับ Jean-Luc Godard, ซึ่งสุดท้ายชะตากรรมพระเอกทั้งสองเรื่องคล้ายกันด้วย คือโดยยิงแล้วเต้น (เดินเซไปเซมา) ก่อนล้มลงเสียชีวิต
ผมค่อนข้างเชื่อว่า Godard น่าจะได้แรงบันดาลใจลึกๆขณะสร้าง Breathless มาจาก Ashes and Diamond เป็นแน่ (มีอะไรหลายๆอย่างที่คล้ายๆกัน โดยเฉพาะบุคคลิกนิสัยของตัวละคร และการเกี้ยวพาราสีของคู่พระนาง) ซึ่งผมได้ยินว่า Ashes and Diamond ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังเรื่อง The Wild One (1953) ของผู้กำกับ László Benedek อีกที, ผมยังไม่เคยดู The Wild One แต่ได้ยินว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคู่พระนาง ที่ Marlon Brando กับ Mary Murphy แสดงใน The Wild One เป็นต้นแบบให้ Zbigniew Cybulski กับ Ewa Krzyżewska ใน Ashes and Diamond และกลายเป็น Jean-Paul Belmondo กับ Jean Seberg ใน Breathless
Marty มอบการบ้านให้ Leo ศึกษาการแสดงของ Cybulski ช่วงขณะที่ตัวละครมีความสับสนวุ่นวายทางความคิด ใจต้องการทำอย่างหนึ่ง แต่หน้าที่ทำให้เขาต้องทำอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเราจะได้เห็น DiCaprio ถ่ายทอดอารมณ์นี้ออกมาได้สมจริงมากๆ
เกร็ดหนัง: เห็นว่าแว่นกันแดดที่ Cybulski ใส่ หลังหนังฉายขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
Ewa Krzyżewska รับบท Krystyna (ผมอ่านว่า Christina) สาวเสิร์ฟในบาร์ ที่มีความพิศวงน่าสงสัย แม้เธอจะทำตัวเหมือนมีกำแพงบางๆที่ปกปิดสิ่งที่อยู่ในใจไว้ แต่เมื่อได้เจอกับพระเอก ถูกเขาชักชวนขึ้นห้อง เธอกลับทำตามและแสดงท่าทีจะทุ่มเทกายใจให้กับเขา แม้รู้ว่าอาจเป็นแค่ One Night Only ก็เถอะ, หนังไม่ได้บอกรายละเอียดอะไรมากกับตัวละครนี้ ความฉงนของคนดูก็เหมือนกับพระเอกนะแหละ แปลกใจว่าทำไมเธอถึงมาหาเขา ภูมิหลังเดียวที่เรารู้ก็คือ เธอเคยอาศัยอยู่ในชนบท Poznan แล้วย้ายมา Warsaw พ่อแม่เสียชีวิตไปแล้ว ไม่มีญาติพี่น้องอื่น แค่นี้เองครับ!, ผมคิดว่าเธอคงมีความเหงา อ้างว้าง โดดเดี่ยวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พ่อแม่เสียชีวิตทำให้เธอต้องเลี้ยงดูตัวเอง อาจจะอาศัยอยู่กับเพื่อน แต่เพื่อนไม่ใช่คนรัก คงมีผู้ชายมาจีบเธอมากมาย แต่ยังไม่เจอคนถูกใจ เขานี่แหละที่อาจโดนใจเธอ
ถ่ายภาพโดย Jerzy Wójcik ต้องบอกว่านี่เป็นหนังที่มีงานภาพสุดยอดมากๆ, การเคลื่อนกล้องที่มีชีวิตชีวา มีจังหวะเคลื่อนเข้าออกพร้อมกับตัวละคร เล่นกับทิศทาง กระจกเงา (เราจะใบเห็นหน้าตัวละครสะท้อนผ่านกระจกเงาหลายครั้ง), ภาพถ่ายใกล้ชัด ไกลเบลอ, เราจะเห็นภาพมุมเงยตลอดทั่งเรื่อง (ตัวละครอยู่สูงกว่าระดับสายตาของกล้อง) นี่เกิดจากความชื่นชอบ Citizen Kane ของ Wójcik นะครับ ทุกฉากเขาเลยต้องถ่ายให้เห็นเพดาน, มีการถ่ายผ่านวัตถุ ซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความหมายอะไรบางอย่าง, หนึ่งฉากในตำนานของเรื่องนี้ เป็นภาพที่แปลกประหลาดมากๆ กางเขนพระเยซูห้อยกลับหัว (ดั่งภาพ) สถานที่แห่งนี้เป็นโบสถ์ที่ถูกทิ้งร้างจากสงคราม (น่าจะถูกระเบิดลง) นี่เปรียบเหมือนนรกบนดิน
มีฉากหนึ่งที่ Martin Scorsese และ Francis Ford Coppola เห็นแล้วถึงกับอึ้งทึ่ง เป็นจังหวะที่พระเอกสังหารเป้าหมายสำเร็จ แล้วทรุดตัวล้มลงพิงพระเอก (ฉากนี้มีคนวิเคราะห์ว่าเหมือน father-son hug ในลักษณะกลับกัน) ขณะเดียวกันพลุด้านหลังก็ถูกจุดขึ้น (ประมาณว่าเฉลิมฉลอง) นี่เป็นฉากที่มีจังหวะเปะมากๆ เป็นแรงบันดาลใจให้ Coppola สร้างฉากลักษณะคล้ายกันนี้ในการตายของตัวละครสำคัญใน The Godfather ภาค 2 และ Quentin Tarantino ใส่ฉากนี้ตอนการตายของ… ใน Pulp Fiction
สำหรับฉากจบ หลังจากพระเอกโดนยิงก็วิ่งหนีจากตำรวจ แต่ไม่รู้วิ่งยังไง ไปโผล่ในทุ่งกองขยะ ก่อนถึงฉากนี้เพลง Chopin: Polonaise in A-flat major, Op. 53 (ผมฟังเทียบอยู่หลายรอบ ไม่ผิดแน่ เพลงนี้แหละครับ แค่ในหนังเล่นได้เพี้ยนมากๆ) ถูกบรรเลงขึ้นและการเต้นรำ (ที่คล้าย funeral-like dance), ขณะพระเอกกำลังวิ่งหนีสุดชีวิต มันเหมือนเขากำลังเต้น(ดิ้นรน)ก่อนหมดแรงล้มลง เสียชีวิตในท่าที่เหมือนเด็กในครรภ์แม่ (fetus-like position), คำอธิบายฉากนี้ที่ผมชอบที่สุดคือ “on a rubbish heap of history” (ตายบนกองขยะในเสี้ยวประวัติศาสตร์) จบแบบนี้แสดงถึงความคิด/ความรู้สึกของผู้กำกับต่อช่วงเวลาสงครามโลกที่เกิดขึ้น
ตัดต่อโดย Halina Nawrocka, เหตุการณ์ในหนังดำเนินไปด้วยเวลา 1 วันเต็มๆ (เริ่มจากบ่ายจนถึงเช้าอีกวันหนึ่ง) แต่ใครจะไปคิดว่ามีเรื่องราว เหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ที่สามารถฆ่าเวลา แล้วทำให้แนวคิดของตัวละครสามารถเปลี่ยนไปได้, หนังใช้การเล่าเรื่องผ่านหลายมุมมองตัวละคร แต่มุมมองหลักเป็นของพระเอก ตัดสลับกับของสหาย หัวหน้า และของเป้าหมาย ที่พัวพันกันอยู่อย่างใกล้ชิด และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างคาดไม่ถึง
เพลงประกอบโดย Filip Nowak เปิดเรื่องมาจะได้ยินเสียงขลุ่ยที่มีทำนองโหยหวน จากนั้นเสียง Sound Effect นกที่ดังผิดปกติ แสดงถึงช่วงเวลาบ่ายชิลๆ ที่ดูธรรมดาทั่วไปวันหนึ่ง, เพลงประกอบของหนังจะได้ยินขึ้น ถ้าไม่จากเครื่องเสียง ก็เป็นวงดนตรีที่เล่นในร้านอาหารเท่านั้น เพราะหนังเรื่องนี้ถือเป็น Realist มีความสมจริงสูง บ้างจะเรียกว่า Film Noir เพราะบรรยากาศหนังที่มืดหม่น เรื่องราวสีเทาและภาพหนังสีขาวดำ
ชื่อหนัง Ashes and Diamonds มาจากบทกลอนแต่งโดย Cyprian Norwid กวีชาว Polish ที่แต่งขึ้นในศตวรรษที่ 19 พูดถึงเพชรที่ขึ้นรูปจากความร้อนและแรงกดดัน (heat and pressure) จากถ่านหิน (Ashed), กลอนบทนี้แกะสลักอยู่ในซากปรักหักพังแห่งหนึ่ง นางเอกเป็นคนอ่าน (แต่อ่านสองท่อนสุดท้ายไม่ได้) เป็นพระเอกที่จดจำกลอนบนนี้ได้ และร่าย 2 ท่อนสุดท้ายให้ฟัง
So often, are you as a blazing torch with flames
of burning rags falling about you flaming,
you know not if flames bring freedom or death.
Consuming all that you must cherish
if ashes only will be left, and want Chaos and tempest
Or will the ashes hold the glory of a starlike diamond
The Morning Star of everlasting triumph.
ขี้เถ้ากับเพชร มันเกี่ยวกับหนังยังไง? นี่คือใจความของหนังเลยนะครับ พระเอกและนางเอกต่างผ่านสงครามซึ่งเปรียบได้กับเปลวไฟและความกดดัน หลังจากเยอรมันประกาศยอมแพ้สงครามนั่นคือจุดสิ้นสุด ผลลัพท์ที่หลงเหลือกับพระเอกคือตัวแทนของความสับสนวุ่นวาย (คือ Ashes) มีแต่ความตายที่เป็นคำตอบ ส่วนหญิงสาวที่แสดงความรักให้เขาเห็น เปรียบเหมือนกับดวงดาวที่เปร่งประกาย (เหมือน Diamond) มีอิสระภาพคือคำตอบ, บทสรุปของทุกสิ่งจะเกิดขึ้นในตอนเช้า (Morning Star)
ผมมองเห็นหนังเป็นการให้คำนิยามคน 2 ประเภทที่ผ่านสงครามมา 1) คนที่จะยังยึดติดอยู่กลับอดีต กับภาพความทรงจำขณะสงคราม ไม่สามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้ และ 2) คนที่จดจำหรือละทิ้งอดีต แล้วเดินต่อไปข้างหน้าอย่างไม่มีวันหยุด, 2 ประเภทนี้ก็สามารถเปรียบกับ Ashes และ Diamond ได้เช่นกันนะครับ
คำถามหนึ่งของหนัง คือ มีความจำเป็นที่ยังจะต้อง ‘ฆ่า’ อยู่หรือเปล่า? ซึ่งหนังให้ทั้งคำตอบที่เป็นรูปธรรม (กับหัวหน้าของพระเอก) และไม่ให้คำตอบใดๆเป็นนามธรรม (กับพระเอก), มีสิ่งหนึ่งที่เราต้องระลึกไว้ในใจขณะดู คือเหตุการณ์ในหนังดำเนินไปในเวลาแค่ 1 วัน 1 คืนเต็มๆเท่านั้น การที่อยู่ดีๆพระเอกตัดสินใจที่จะไม่อยากฆ่า เขายังคงมีความลังเลในใจอยู่ นั่นทำให้เขาเปลี่ยนใจกลับมาตัดสินใจฆ่า เวลาถือเป็นตัวแปรสำคัญของหนัง มันน้อยเกินไปสำหรับเขาที่จะคิด ทบทวน หาคำตอบ และสถานการณ์ก็ถูกบีบบังคับให้ต้องตัดสินใจทันที (เพราะอาจไม่มีโอกาสทำสำเร็จได้อีกแล้ว)
หนังทำให้เราดูเหมือนพระเอกตัดสินใจ ‘ผิดพลาด’ ตั้งแต่ที่เขาเลือกฆ่า หลังจากทำสำเร็จท่าทีเขาก็ลุกรี้ลุกรน ขณะหนีก็ยื้อๆยักๆ มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยมาก นี่แสดงถึงความวุ่นวาย ว้าวุ่นในจิตใจคน ซึ่งมองภาพใหญ่ได้ถึงระดับประเทศ ความวุ่นวายในช่วงเปลี่ยนผ่านยุคสมัย ใครจะมาเป็นผู้นำคนต่อไป ใครจะเข้าข้างใคร ข้างไหนจะดีกว่า สงครามจบแต่ชีวิตมันไม่จบต้องดำเนินต่อไป, การตายของพระเอกถือเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นนะครับ เพราะมันสะท้อนของสิ่งที่เขาเป็น คือเถ้าถ่าน (Ashed) ที่ต้องสูญสลายไป กลับกลายสู่จุดเริ่มต้น ซึ่งการทำให้เขาขดตัวเหมือนเด็กในครรภ์ เป็นอะไรที่เจ๋งมากๆ ผมชอบฉากนี้มากๆเลย แม้มันจะดูจงใจไปหน่อยก็เถอะ
คนส่วนใหญ่ที่ไม่ชอบหนังเรื่องนี้ เพราะความที่มันเป็น melodrama มีความยื้อเยื้อ อืดอาด และยาวนาน (หนังยาว 110 นาที ไม่ถึงสองชั่วโมงด้วยซ้ำ) ผมก็รู้สึกหนังยาวไปนิดนะครับ คือมีหลายอย่างที่เวิ่นเว้อ แต่ไม่มีฉากไหนที่ไม่จำเป็นเลย มีเหตุผลรองรับต่อเรื่องราวทั้งหมด, นี่อาจเพราะประสบการณ์การดูหนังของคุณยังน้อยไปหน่อย ผมเลยจัดความยากในการดูหนังเรื่องนี้ที่ Intermediate (ปานกลาง) ทำใจให้สบายๆ ค่อยๆซึมซับความสวยงามของหนังที่มีในทุกองค์ประกอบ ดูครั้งที่ 2, 3 คุณจะยิ่งหลงรักหนังเรื่องนี้มากขึ้นเป็นแน่
แนะนำกับคนทำงานสายภาพยนตร์ คนที่ชอบคิดวิเคราะห์ หาความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่แฝงไว้มากมายในหนัง, พระเอกหล่อๆ, คนชอบหนังแนวสงคราม ประวัติศาสตร์ไม่ควรพลาดเลย
จัดเรต 13+ กับความรุนแรง การตายและกองขยะ
[…] Ashes and Diamonds (1958) : Andrzej Wajda ♥♥♥♥♡ […]