Aśoka (2001) : Santosh Sivan ♥♡
ความตั้งใจดีของ Shah Rukh Khan กลับทำให้ความยิ่งใหญ่ของ พระเจ้าอโศกมหาราช ด่างพร้อย, ปัญหาของหนังเรื่องนี้คือการยึดธรรมเนียมของ Bollywood มากเกินไปจนเลยเถิด และแนวทางของผู้กำกับที่ฝีมือยังไม่ถึงขั้น ทั้งๆที่ควรออกมายิ่งใหญ่ ดูจบแล้วควรยกย่องเทิดทูล แต่กลับฉุดให้ตกต่ำ ลงนรกทั้งเป็น
จริงๆผมไม่คิดจะดูหนังเรื่องนี้เลยนะครับ เพราะได้ยินกิตติศัพท์มาพอสมควรว่าเป็นหนังที่เป็นจุดด่างพร้อยของ Shah Rukh Khan (เอาว่าแค่โปสเตอร์หน้าหนังก็ไม่น่าสนใจแล้ว) แต่เพราะความที่เป็นหนังเกี่ยวกับพระเจ้าอโศก หนึ่งในกษัตริย์มหาราชผู้ยิ่งใหญ่ ถ้ามีหนังของท่านสักเรื่องผมก็อยากเห็น ว่าจะสามารถยกย่อง เทิดทูล ทำออกมาได้สมเกียรติขนาดไหน แต่ก็ต้องผิดหวังรุนแรง…
เหมือนว่าภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับกษัตริย์มหาราช จะมีอาถรรพ์หนึ่ง (เพราะผมได้ดูมาหลายเรื่อง ก็ยังไม่พบที่ถูกใจเสียเลย) กับผู้สร้างหรือนักแสดงที่มีบารมีไม่พอ จะไม่สามารถสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับท่านแล้วออกมายอดเยี่ยมประสบความสำเร็จได้ นั่นอาจเพราะ กษัตริย์ที่ได้รับการยอมรับเป็นมหาราช ต้องถือว่าเป็นผู้มีบารมีสูงมากๆ (มีแนวโน้มสูงว่าอาจเป็นพระปัจเจกหรือโพธิสัตว์) ถ้าผู้สร้างไม่ให้ให้ความเคารพ ยกย่อง หรือให้เกียรติมากพอ ย่อมถูกสวรรค์บันดาลให้มีโอกาสล้มเหลวสูงมาก และส่วนใหญ่ก็มักจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
พระเจ้าอโศกมหาราช (Ashoka the Great, พ.ศ. 240 – พ.ศ. 312, 304 BCE. – 232 BCE.) จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโมริยะ ผู้ปรีชาสามารถพระองค์สุดท้ายของราชวงศ์ ปกครองแคว้นมคธ มีพระราชธานีชื่อว่า ปาฏลีบุตร (ปัจจุบันเรียกว่า ปัฏนะ Patna) เป็นพระโอรสของพระเจ้าพินทุสารแห่งราชวงศ์โมริยะ พระมารดานามว่า สิริธรรม มีพระโอรส และธิดารวม 11 พระองค์
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิอโศกมหาราช หรือพระเจ้าอโศกมหาราช เดิมเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่โหดร้าย ชอบการทำสงครามกับแว่นแคว้นต่างๆ จนได้รับสมญานามว่า จัณฑาโศกราช (พระเจ้าอโศกผู้โหดเหี้ยม) แต่หลังจากสงครามกับแค้วนกลิงคะ ที่ว่ากันว่านองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์ มีผู้เสียชีวิตมากมายนักไม่ถ้วย พระองค์ทรงตระหนักได้ กลัวเวรกรรมจะตามทัน จึงกลับตัวกลับใจหันมานับถือพระพุทธศาสนา กลายเป็นองค์เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก ผู้อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญรุ่งเรืองและแผ่ขยายมากที่สุดในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ทำให้ภายหลังทรงได้รับการขนานพระราชสมัญญานามว่า ธรรมาโศกราช (พระเจ้าอโศกผู้ทรงธรรม)
Shah Rukh Khan เล่าให้ฟังว่า ตอนที่กำลังซ้อมเต้นฉากบนรถไฟ (เพลง Chaiya Chaiya ในหนังเรื่อง Dil Se) Santosh Sivan ซึ่งขณะนั้นเป็นตากล้องของหนัง เล่าไอเดียเกี่ยวกับหนังเรื่อง พระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งขณะนั้น SRK หาได้ฟังเข้าใจสิ่งที่ Sivan พูดออกมาไม่ แต่เห็นสายตาที่แน่แน่ว ตั้งมั่น กระตือรือล้น จึงตกปากรับคำว่าจะรับบทนำเล่นหนังเรื่องนี้
Santosh Sivan เริ่มต้นโปรดักชั่นหนัง ก่อนเริ่มเปิดกองถ่ายทำ 2 ปี ค้นคว้าหาข้อมูล พัฒนาบทภาพยนตร์ร่วมกับ Saket Chaudhary ด้วยความตั้งใจไม่ได้ต้องการนำเสนอชีวประวัติทั้งหมดของพระเจ้าอโศก แต่เลือกมาเฉพาะช่วงก่อนหน้าและหลังจากที่ท่านจะได้ขึ้นครองราชย์ กลายเป็นจัณฑาโศกราช แล้วกลับใจเป็นธรรมาโศกราช ผูกเรื่องราว สร้างเหตุผลประกอบ และใส่ความเป็นหนัง Bollywood ร้องเล่นเต้น เรื่องของความรักและครอบครัวเข้าไป
พระเจ้าอโศก รับบทโดย Shah Rukh Khan จะบอกว่าพี่แกไม่เหมาะสมกับบทก็ไม่ใช่ ตอนนั้น SRK ถือว่าประสบความสำเร็จ โด่งดังอย่างมากในอินเดีย Charisma ระดับนี้ถือว่าสูงที่สุดในบรรดานักแสดง Bollywood ขณะนั้น ถ้าพี่แกไม่เรื่องมาก เอาแต่ใจ ทุ่มเทให้กับหนังสักนิด ย่อมสามารถเล่นบทนนี้ออกมาได้ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว แต่ปัญหาความห่วยของหนังไม่ได้อยู่ที่การแสดงของ SRK แม้แต่น้อย
Kareena Kapoor รับบทติษยรักษิต (Kaurwaki) ในประวัติศาสตร์ เป็นลูกชาวประมงและมเหสีองค์ที่ 2 ของพระเจ้าอโศก, ในหนังเพิ่มเติมเรื่องราวของเธอเข้าไปอย่างเยอะ ให้กลายเป็นหญิงแกร่ง และสร้างเรื่องราวของพาวัน (Pawan) [พระเจ้าอโศกปลอมตัว] ให้ทั่งคู่ตกหลุมรัก แต่งงาน แล้วแยกจาก (ก่อนที่พระเจ้าอโศกจะแต่งงานกับมเหสีพระองค์จริง องค์แรกเสียอีก) ช่วงท้ายดิษยรักษิตได้ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชายในศึกสงครามกาลิงคะสู้กับพระเจ้าอโศก, Kareena Kapoor ขณะนั้นยังเป็นนักแสดงหน้าใหม่เอี่ยม ยังไม่มีใครรู้จัก เพิ่งมีผลงาน debut เรื่อง Refugee (2000) ซึ่งตอนแรกคนที่ได้รับความคาดหมายว่าจะได้บทนี้คือ Aishwarya Rai แต่ผู้กำกับอยากได้นักแสดงหน้าใหม่เลยมากกว่า โชคจึงมาตกที่ Kapoor, การแสดงของเธอถือว่ายอดเยี่ยม ยั่วยวน แต่… มันสมควรที่จะเป็นเรื่องราวลักษณะนี้ในหนังของพระเจ้าอโศกหรือ?
พระนางเทวี (Devi) มเหสีองค์แรกของพระเจ้าอโศก รับบทโดย Hrishita Bhatt เธออาจไม่ใช่นักแสดงที่โด่งดังนัก การได้ประกบ SRK ทำให้เธอกลายเป็นนักแสดงมีชื่อไปทันที, การแสดงของเธอถือว่าไม่ได้มีบทบาทอะไรเสียเท่าไหร่ เป็นตัวประกอบที่ออกมาเล่นตัว แต่มีความสวยเป็นเลิศ แต่เธอก็ไม่มีบทบาทมากกับพระเจ้าอโศก (เหมือนเพราะเขาไม่ได้รักเธอ จึงไม่สนใจดูแล แม้ยามท้องก็ยังหน้ามืดตามัว) ภายหลังพระนางเทวีก็พยายามโน้มน้าวพระเจ้าอโศกให้เข้าหาพระพุทธศาสนา
Ajith Kumar รับบท เจ้าชายสุมนะ (Susima Maurya) พระเชษฐาของพระเจ้าอโศก ในประวัติศาสตร์เป็นอุปราช อยู่นครตักกสิลา ในแคว้นปัญจาบ ปรารถนาจะเป็นกษัตริย์สืบต่อหลังพระราชบิดาสวรรคต ได้ทำสงครามรบพุ่งแย่งชิงราชสมบัติกับพระเจ้าอโศก ยาวนานถึง 4 ปี จนในที่สุด พระองค์สิ้นพระชนม์ ศึกสายเลือดจึงยุติ, ในหนังเจ้าชายสุมนะคือตัวร้าย ตัวอิจฉา ที่วางแผนลอบสังหารพระเจ้าอโศกนับครั้งไม่ถ้วนแต่ไม่เคยสำเร็จ สุดท้าย… , การแสดงของ Kumar ถือว่าร้ายลึก แบบเฉลียวฉลาด สามารถสร้างความลังเลให้กับพระเจ้าอโศกได้ แต่ก็ยังมีความชั่วร้ายอยู่ถึงวินาทีสุดท้าย
Danny Denzongpa รับบท Virat (ตัวละครสมมติขึ้น) จากศัตรูกลายมาเป็นเพื่อนสนิทหนึ่งเดียวที่เชื่อใจได้ของพระเจ้าอโศก, ผมชอบการแสดงของ Denzongpa ที่สุดแล้วในหนัง แย่งซีนกวนๆไปเต็มๆเลย แต่พอเข้าโหมดซีเรียส หมอนี่เพื่อนแท้ เพื่อนตาย, ค้นเจอในเครดิตว่าเคยเล่นประกบ Brad Pitt ในหนังเรื่อง Seven Years in Tibet (1997) ถือว่าเป็นนักแสดงมีชื่อเสียงไม่น้อย
ถ่ายภาพโดย Santosh Sivan ก็แน่นอนละ จะไม่ให้ผู้กำกับถ่ายเองได้ยังไง เพราะเขามาจากสายการถ่ายภาพ, แต่งานภาพถือเป็นจุดที่ผมไม่ชอบเอาเสียเลย โฉบเฉี่ยวลื่นไหล เคลื่อนเข้าออก ซูมโฟกัส เป็นยุคสมัยปัจจุบันมากไป จริงอยู่อาจทำให้หนังมีชีวิตชีวา ไม่น่าเบื่อ แต่ผมไม่รู้สึกว่า เป็นสิ่งที่เหมาะกับหนังเรื่องนี้แม้แต่น้อย, หนังแนว Epic ไม่ได้ต้องการความเร็ว แต่ต้องการบรรยากาศและการสัมผัสเพื่อซึมซับความรู้สึก กับหนังที่มีความเร็วของงานภาพและการตัดต่อ ผมขอเรียกว่า Modern ซึ่งหนังเรื่องนี้จัดว่าเป็น Modern แต่พยายามทำให้ Epic แล้วมันจะไปเข้ากันได้ยังไง, ผมละแปลกใจมาก ที่งานภาพของหนังได้รับการยกย่องเหลือเกิน ทั้งๆที่ผมรู้สึกว่า เลวร้ายเสียยิ่งกว่าบทหนังเสียอีก
สถานที่ถ่ายทำของหนัง ปักหลักอยู่ที่อินเดียกลาง (central India) อาทิ Panchmarhi, Maheshwar, Madhya Pradesh, Igatpuri, Bhubaneswar ฉากสงครามถ่ายที่ Jaipur รัฐ Rajasthan (ทางตอนเหนือของอินเดีย) ใช้นักแสดงประกอบ 6,000 คน และช้างกว่า 1,000 ตัว (ผมว่าฉากรบพุ่งในหนังเรื่องนี้ สมจริงกว่า ตำนานสมเด็จพระนเรศวรอีกนะ)
Anu Vardhan คนออกแบบเสื้อผ้า, ไม่มีใครรู้ว่าสมัยนั้นชาวมคธแต่งตัวกันอย่างไร และเพราะ SRK ไม่ต้องการที่จะต้องถอดเสื้อเล่นหนัง จึงทำให้เธอต้องออกแบบเสื้อและผ้าคลุมให้คนมีฐานะสมัยนั้นใส่กัน โดยไม่ให้มีการเย็บหรือเห็นตะเข็บ, ส่วนชุดเหล็กของนักรบ ทำมาจากไฟเบอร์แก้ว (ที่น้ำหนักเบามากๆ) จำนวน 4,000 ชุด, และระหว่างที่ทำการค้นคว้าหาข้อมูล ก็ได้พบว่าคนสมัยนั้นมีความชื่นชอบในรอยสักประเภทต่างๆ จึงใช้ Body Art ที่ลบออกได้ให้กับนักแสดง
ตัดต่อโดย A. Sreekar Prasad, หนังเล่าเรื่องผ่านมุมมองของพระเจ้าอโศก ตอนเด็กและตัดข้ามมาตอนโต แต่ก็มีหลายช่วงที่ตัดเพื่อนำเสนอ ตัวร้ายวางแผนคุยกัน, แก๊กของนายทหารสามคนและหญิงสาว ฯ
เพลงประกอบโดย Sandeep Chowta และ Anu Malik นี่เป็นหนังที่ผมไม่รู้สึกว่าเพลงประกอบมีความไพเราะแม้แต่น้อย ไม่มีความ Epic อลังการ เหมือนกำลังฟังเพลง Rock ที่บรรเลงด้วย Orchestra หาความเข้ากันไม่ได้แม้แต่น้อย, ถ้าหนังมีความสร้างสรรค์สักหน่อย ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านอินเดีย ทำออกมาให้มัน Epic อลังการแบบที่ A.R.Rahman ทำกับ Lagaan (2001) จะทำให้กลิ่นอายรสสัมผัสของหนังออกมาได้ดีกว่านี้ (เพลงประกอบ ให้ความรู้สึกเหมือนว่าเรื่องราวของหนังเกิดในยุค 70s-80s ไม่ใช่ พ.ศ. 200-300), เนื้อร้อง ทำนอง ท่าเต้นไม่ต้องคุยเพราะไม่เคยมอง แต่เห็นว่ามีเพลงหนึ่ง เห็นว่าเข้าชิง Filmfare Award ชื่อ San Sanana แต่งโดย Anand Bakshi ร้องโดย Alka Yagnik และ Hema Sardesai ลองดูนะครับ ถ้านี่เป็นเพลงที่อยู่ในหนัง bollywood ดราม่าทั่วไป ผมคงไม่คิดอะไรมาก แต่นี่หนังของ พระเจ้าอโศกมหาราช น่ะ! ทั้งผู้กำกับและคนแต่งเพลง คิดอะไรอยู่!
หนังชีวประวัติ ใจความคือการเล่าเรื่อง ชีวิต การเติบโตและเหตุผล แนวคิดบางสิ่งบางอย่าง, เป้าหมายของหนังเรื่องนี้ นำเสนอความรักทำให้คนเปลี่ยนไป, ผิดหวังในรัก จึงเกิดความเคียดแค้นฝั่งใจ เพราะได้รักกลับคืน จึงเสียสละและให้อภัย … ใจความลักษณะนี้ผมส่ายหัว นี่ไม่ใช่ใจความที่ผมอยากเห็นในหนังของพระเจ้าอโศกแม้แต่น้อย
กับภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับมหาราช วีรกษัตริย์ หรือบุคคลสำคัญ ใจความ แก่นแท้ของหนัง ควรที่จะนำเสนอ แนวคิด วิถี หรืออะไรที่เป็นสิ่งทำให้ยิ่งใหญ่ หรือเหตุการณ์ที่สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่ประจักษ์, จริงอยู่แก่นของหนังเรื่องนี้ นำเสนอแนวคิดที่ว่า ทำไมพระเจ้าอโศกถึงเป็น จัณฑาโศกราช และภายหลังเปลี่ยนมาเป็น ธรรมาโศกราช แต่เหตุผลของหนังที่นำเสนอ เป็นสิ่งที่ไม่ใช่แก่นแท้สาระ ของพุทธศาสนาแม้แต่น้อย (ศาสนาพุทธสอนเรื่องการปล่อยวาง เดินทางสายกลาง แต่หนังพูดถึงความรักและการเสียสละ นี่มันแก่นของคริสต์ศาสนานะครับ) หมายความว่าผู้กำกับ ผู้สร้างหนังเรื่องนี้ หาได้เข้าใจหลักคำสอน ใจความสำคัญของพระพุทธศาสนาแม้แต่น้อย
คงไม่ต้องบอกก็คงรู้กันว่า พระพุทธศาสนาในอินเดียจบสิ้นสูญสลายไปนานแล้ว, สำหรับผู้กำกับ ผมไม่รู้ว่าเขานับถือศาสนาอะไร (ไม่ใช่พุทธแน่ๆ) แต่ SRK ชัดว่าเขาเป็นมุสลิม (Khan คือชื่อของมุสลิม) ในช่วงเวลาก่อนที่พระเจ้าอโศกจะเปลี่ยนมานับถือศาสนา ที่อินเดียมี 3 ศาสนาหลักคือ ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาเชน และศาสนาพุทธ (มุสลิมเพิ่งจะแพร่เข้ามาอินเดีย ตอนสมัยพระเจ้า Akbar อีกนับเป็นศตวรรษหลังจากนี้) หลักธรรมคำสั่งสอนที่เป็นแก่นแท้ สาระของแต่ละศาสนา ว่ากันตามตรง เป็นเรื่องยากที่คนศาสนาอื่นจะสามารถทำความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ ถ้าไม่ได้เติบโต ศึกษา เรียนรู้มา นี่เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา, กระนั้นถึง SRK ที่ไม่ใช่ชาวพุทธ แต่ผมไม่ถือว่าเป็นความผิดของเขาเท่าไหร่ เพราะนักแสดงสามารถทำความเข้าใจ ตีความ ศึกษาจากบริบทและบทภาพยนตร์ได้ แต่แนวทางของผู้กำกับ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความถูกต้องของเรื่องราว นี่คือสิ่งที่ทำให้ใจความ แก่นสาระของหนังเรื่องนี้เพี้ยนไปสุดๆ
ผมเชื่อว่า จะมีคนคิด ‘พระเจ้าอโศก กลายเป็นคนดี เพราะความรัก’ หลังจากดูหนังเรื่องนี้แน่ ลองถามตัวเอง คุณคิดว่ามันใช่หรือเปล่า
คือผมก็ไม่ได้ต่อต้านอะไรหรอกนะ ถ้าจะสร้างหนังเกี่ยวกับกษัตริย์ลักษณะนี้ ตกหลุมรักหญิงสาวชาวบ้าน แต่งงาน และใช้ประเด็นความรัก/ครอบครัว นำมาเป็นใจความของหนัง แต่เพราะผู้กำกับหาได้เข้าใจเหตุผลอย่างถ่องแท้ ว่าทำไมพระเจ้าอโศกถึงเปลี่ยนจากโคตรชั่วกลายเป็นคนดี มันจึงทำให้ใจความของหนังผิดเพี้ยน บิดเบือนไปทั้งหมด ซึ่งนี่เป็นสิ่งต้องใช้ความเข้าใจทางพระพุทธศาสนาเข้าช่วย กับคนศาสนาอื่นถือเป็นปกติที่จะไม่มีวันเข้าใจได้ แต่กลับยังฝืนสร้าง ฝืนทำ มันคือความไม่เหมาะสม เป็นการดูหมิ่น เหยียดหยามแบบไม่น่าให้อภัยแม้แต่น้อย
ด้วยทุนสร้าง ₹12.50 crore ($1.9 ล้านเหรียญ) หนังทำเงินในอินเดียเพียง ₹11.54 crore ($1.7 ล้านเหรียญ) ถือว่า Flop นะครับ แต่ถ้านับรายได้ทั่วโลก ₹28.03 crore ($4.2 ล้านเหรียญ) คงได้กำไรเล็กน้อย
หนังได้เข้าชิง 5 Filmfare Award ได้มา 1 รางวัล
– Best Film
– Best Director
– Best Actress (Kareena Kapoor)
– Best Cinematography ** ได้รางวัล
– Best Playback Singer – Female
ผมรู้สึกดีใจที่หนังมัน Flop นะครับ ถือเป็นบทเรียนสำคัญของผู้สร้าง (แต่พวกเขาคงคิดไม่ได้หรอก น่าเสียดาย) ที่ทำหนังโดยหาได้เข้าถึงแก่นสาระแท้จริงของบุคคลที่นำมาเป็นใจความหนังไม่, มันต้องแบบ Jodha Akbar (2008) เป็นหนังที่ bollywood ทำได้ดีเยี่ยม เพราะครึ่งประเทศคือมุสลิม และอีกครึ่งประเทศคือฮินดู นั่นคือพวกคุณเข้าใจแก่นแท้ของศาสนาที่มีอยู่ในวิถีของประเทศตนเอง แต่กับพุทธศาสนา ประเทศคุณมันสูญสิ้นไปแล้ว ไม่มีทางและไม่มีวันที่จะสร้างหนังเกี่ยวกับ พระเจ้าอโศกมาหาราช ผู้เป็นที่เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก ทำนุบำรุงพุทธศาสนาออกมาให้ได้ดีเป็นแน่ แบบหนังเรื่องนี้เป็นตัวอย่างแน่
คนศาสนาหนึ่งจะสามารถสร้างหนังที่มีใจเกี่ยวกับศาสนาสอง แล้วได้ผลลัพท์เป็นที่พึงพอใจ จักไม่มีเป็นอย่างแน่
ส่วนตัวคงทราบกันได้ ว่าผมค่อนข้างไม่ชอบหนังเรื่องนี้อย่างรุนแรง สรุปอีกที เพราะ direction ของผู้กำกับ, เรื่องราวของหนังที่ยึดกับธรรมเนียมของหนัง bollywood มากเกินไป, เพลงประกอบ พวกฉากร้องเล่นเต้น ผมเบือนหน้าหนีทุกครั้ง ต้องลุกไปเข้าห้องน้ำ เดินไปกินน้ำ หรือทำอะไรสักอย่าง เพราะมันไม่เข้า มันไม่ใช่ หาความสวยงามไม่ได้
สิ่งเดียวที่ทำให้ผมทนดูจนจบได้ คืออยากรู้แค่ว่า หนังจะทำยังไงให้พระเจ้าอโศกกลายเป็น จัณฑาโศกราช และเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้กลับมาเป็น ธรรมาโศกราช, คือมันก็สมเหตุสมผลในมุมของหนังนะ แต่ผมรู้สึกว่า มันไม่ใช่ ไม่ดีพอ ความหวังเดียวเลยกลายเป็นผิดหวังโดยสิ้นเชิง
ที่ยังให้คะแนนคุณภาพไว้ติ่งเล็กๆ ก็เพราะงานสร้างที่ดูใช้ได้ ส่วนนี้คงศึกษาค้นคว้าเตรียมงานมาอย่างดี, ฉากสงครามก็ถือว่าน่าพอใจ อลังการกว่า ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แน่ๆ, และการแสดงของ Danny Denzongpa ที่น่าประทับใจมากๆ
แนะนำเฉพาะกับแฟนหนัง bollywood เดนตายของ Shah Rukh Khan, Kareena Kapoor และ Hrishita Bhatt
กับคอหนังประวัติศาสตร์ หรือคนอยากรู้ประวัติของพระเจ้าอโศกมหาราช ผมว่าอย่าเสียเวลาเลยนะครับ ไปหาหนังสืออ่านจะได้ความรู้มากกว่า นอกเสียจากคุณอยากเห็นให้ได้ จะลองเสี่ยงดูก็ไม่เป็นไร
จัดเรต 13+ กับความรุนแรงบ้าเลือด
ต้อ
งดให้ผู้กำกับพระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลกเป็นเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ค่ะ