Au Hasard Balthazar (1966) : Robert Bresson ♥♥♥
(26/7/2018) ดำเนินเรื่องในมุมมองโลกทัศน์ของเจ้าลาน้อย Balthazar ผ่านเจ้านายทั้ง 7 ที่มีทั้งดี-ชั่ว ทะนุถนอมเอ็นดู-ใช้ความเกรี้ยวกราดรุนแรง เพราะมิอาจพูดคุยโต้ตอบสื่อสาร ก็ทำได้แต่วางตัวเพิกเฉยเป็นกลาง ราวกับนักบุญ เรียกว่าตัวแทนของพระเยซูคริสต์คงไม่ผิดอะไร
“Everyone who sees this film will be absolutely astonished because the film is really the world in an hour and a half”.
– Jean-Luc Godard
ความ Masterpiece ของภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ผมมองไม่เห็นเมื่อตอนรับชมครั้งแรก อาศัยประสบการณ์ครุ่นคิดวิเคราะห์ถึงรับรู้ความสอดคล้องที่ลงตัว ต้องไดเรคชั่นนี้เท่านั้นของ Robert Bresson ถึงสามารถถ่ายทอดเรื่องราวในสายตาของสัตว์ออกมาได้อย่างงดงาม แต่ขณะเดียวกันในความรู้สึกส่วนตัวกลับยังคงเต็มไปด้วยอคติ ทั้งไดเรคชั่นของผู้กำกับ และโลกทัศนะวิธีการคิดของเขา
จริงๆผมก็คิดไปไม่ถึงหรอกนะว่า Balthazar คือตัวแทนของพระเยซูคริสต์ บังเอิญไปพบเจอบทความที่ชี้แนะความสัมพันธ์หลายๆอย่าง อาทิ
– Balthazar ได้รับการ Baptism (ปกติแล้วสัตว์จะไม่มีสิทธิ์ได้รับการจุ่มศีล เพราะถือเป็นพิธีกรรมเฉพาะของชาวคริสเตียน) แถมเคยถูกเรียกว่า Saint Balthazar
– นางเอกที่มีความเอ็นดูเอื้ออาทรณ์ Balthazar มากสุดชื่อ Marie (เป็นชื่อภาษาฝรั่งเศสของ Mary)
– Balthazar ผ่านเจ้านายทั้งหมด 7 คน สื่อได้ถึงบาป 7 ประการ (The Seventh Deathly Sins) ความชั่วร้ายสูงสุดที่มนุษย์กระทำแสดงออกมาได้
– ความเจ็บปวดทุกข์ทรมานที่ Balthazar ได้รับผ่านการกระทำของมนุษย์ ก็เสมือนพระเยซูคริสต์แบกรับบาปกรรมทั้งหมดทั้งปวงของชาวโลก ถูกเฆี่ยนทุบตี สวมมงกุฎดอกไม้ เดินแบกกางเขน (ลากเกวียน, แบกของ) เจ้านายคนหนึ่งชอบดื่มไวน์ อีกคนเดินส่งขนมปัง ฯ
– ตอนจบเสียชีวิตท่ามกลางฝูงแกะสีขาว (ชาวคริสต์ มักเปรียบเทียบตัวเองเหมือนลูกแกะ, ขณะที่คนเลี้ยงแกะ Shepard คือพระ/บาทหลวง ผู้ชี้แนะนำสั่งสอนศาสนา ให้ดำเนินไปในเส้นทางถูกต้อง)
ฯลฯ
สำหรับชื่อ Balthazar (หรือ Balthasar, Balthassar, Baltazar) เป็นคำจากภาษา Akkadian แปลว่า ‘Bal ผู้ปกป้องกษัตริย์’ คือ 1 ใน 3 โหราจารย์/นักปราชญ์ (Three Wise Men) ออกเดินทางจากทิศตะวันออก ติดตามดาวดวงหนึ่งบนท้องฟ้าไปยังเมือง Bethlehem เพื่อเข้าเฝ้าในวันพระสูติกาล และมอบของมีค่าสามอย่างทองคำ, กำยาน, มดยอบ แก่กษัตริย์องค์ใหม่ของชาวยิวที่บังเกิดมา
เกร็ด: ถ้ายึดตาม Gospel of Matthew จะไม่ปรากฎชื่อของโหราจารย์ทั้งสาม แต่ก็มีพระคัมภีร์ทางฝั่งตะวันออก (Biblical Magi) ระบุไว้ประกอบด้วย
– Melchior ชาว Persian
– Caspar ไม่มีระบุสัญชาติ แต่คาดกันว่าคือชาว Indian
– Balthazar ชาว Babylonian
Robert Bresson (1901 – 1999) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Bromont-Lamothe หลังเรียนจบมัธยมมุ่งสู่ Paris เป็นจิตรกรขายภาพวาด ตามด้วยทำงานตากล้อง ถ่ายรูป เขียนบท กำกับหนังสั้นเรื่องแรก Public Affairs (1934), ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าร่วมกลุ่ม French Resistance ถูกจับได้กลายเป็นนักโทษสงคราม Prisoner-of-Wars ไม่รู้ถูกปล่อยตัวหรือหนีเอาตัวรอดสำเร็จ สร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Angels of Sin (1943), ค่อยๆพัฒนาสไตล์ของตนเองจนเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง Diary of a Country Priest (1951), สมบูรณ์แบบกับ A Man Escaped (1956), ผลงานเด่นอื่นๆ Pickpocket (1959), Au Hasard Balthazar (1966), Mouchette (1967), L’argent (1983) ฯ
มีสามสิ่งที่คืออิทธิพลความสนใจของผู้กำกับ คาทอลิก, งานศิลปะ และประสบการณ์จากค่ายกักกันนาซี เหล่านี้หลอมรวมให้เขามีมุมมองต่อโลกในทางโหดร้าย อันตราย ราวกับนรกบนดิน สร้างภาพยนตร์ที่นักแสดงมีลักษณะไร้ซึ่งจิตวิญญาณตัวตน เรื่องราวเต็มไปด้วยความสิ้นหวังหดหู่ จะมีก็เพียงศาสนาที่เป็นหนทางออก(จากโลกใบนี้ของ Bresson)
สำหรับ Au Hasard Balthazar ผู้กำกับให้นิยามดังนี้
“Au Hasard Balthazar is about our anxieties and desires when faced with a living creature who’s completely humble, completely holy, and happens to be a donkey: Balthazar”.
เรื่องราวของ Marie (รับบทโดย Anne Wiazemsky) จากเด็กสาวบ้านๆ มีความหลงรักใน Balthazar ที่เพิ่งลืมตาดูโลกไม่นาน แต่จำต้องจากบ้านชนบทไปไกลหลายปี หวนกลับมีอีกมาโตเป็นสาวแล้ว ขณะที่เจ้าลาน้อยก็เติบใหญ่เช่นกัน ซึ่งด้วยวัยของมันจึงถูกนำไปใช้แรงงานอย่างหนัก เปลี่ยนมือเจ้าของไปมาหลายครั้ง ถูกกลั่นแกล้ง ใช้ความรุนแรงสารพัด เว้นเพียงทุกครั้งเมื่อหวนกลับหา Marie จะได้รับความเอ็นดูทะนุถนอมจากเธอเสมอ
Anne Wiazemsky (1947 – 2017) นักแสดงหญิงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Berlin พ่อเป็นอดีตเจ้าชายแห่งรัสเซีย อพยพลี้ภัยสู่ฝรั่งเศสในช่วงปฏิวัติ Russian Revolution ได้งานเป็นนักการทูต หลังสงครามโลกครั้งที่สองประจำอยู่เยอรมัน วัยเด็กชอบติดตามพ่อไปเรื่อยๆ จนหวนกลับกรุง Paris เมื่อปี 1962 เรียนจบ Ecole Sainte Marie de Passy ได้รับเลือกจาก Robert Bresson แสดงนำแจ้งเกิด Au Hasard Balthazar (1966) ไม่ได้ตั้งใจจะสานงานแสดงต่อ แต่เมื่อถูกชักชวนโดย Jean-Luc Godard พัฒนาความสัมพันธ์จนได้แต่งงาน มีผลงานร่วมกันคือ La Chinoise (1967), Week End (1967), One Plus One (1968)
รับบท Marie ตอนเด็กเต็มไปด้วยความน่ารักสดใส แต่หลังจากแม่เสียเติบโตเป็นวัยรุ่นผู้ใหญ่ที่ลึกๆแล้วเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานซึมเศร้าหมอง พ่อเป็นครูใหญ่สอนหนังสือได้รับความไว้วางใจให้ดูแลฟาร์มปศุสัตว์ แต่ด้วยความเย่อหยิ่งทะนงในศักดิ์ศรี ไม่ยอมเปิดเผยบัญชีรายรับ-จ่าย ทำให้เกิดเสียงลือเสียงเล่าอ้างหนาหูว่าคดโกงกิน นำไปสู่ศาลตัดสินล้มละลาย เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นคงในจิตใจของหญิงสาวเช่นกัน ทำให้แม้จะเคยตกหลุมรักเพื่อนเล่นวัยเด็ก Jacques แต่กลับยอมเสียตัวให้หนุ่มนักเลงประจำหมู่บ้าน Gérard ที่ภายหลังร่วมกับผองเพื่อนรุมโทรมข่มขืน โอละหนอชีวิต สุดท้ายตรอมใจตายเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว
ไดเรคชั่นในการกำกับภาพยนตร์ของ Bresson ตั้งชื่อว่า ‘actor-model’ ให้นักแสดงเล่นฉากเดิมซ้ำๆ เคลื่อนไหวเดินพูดเป็นสิบร้อยครั้ง เพื่อให้ร่างกายเกิดความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยอ่อนล้า ไม่หลงเหลือซึ่งเรี่ยวแรงการแสดงปั้นแต่งใดๆจนกลายสภาพเป็น ‘หุ่น’ เมื่อนั่นการถ่ายทำจริงๆจึงเริ่มต้นขึ้น เพื่อจับภาพทุกสิ่งอย่างดำเนินเป็นไปอย่างธรรมชาติสามัญที่สุดแล้วของเรือนร่างกาย นี่คือสิ่งที่ในนิยามของผู้กำกับเรียกว่า ‘pure cinema’ หรือ ‘จิตวิญญาณแท้จริงของมนุษย์’
เช่นนั้นแล้วการคัดเลือกนักแสดงดูจากอะไร? Bresson มักเลือกใช้คนที่ไม่เคยมีผลงานการแสดงหรือมือสมัครเล่นนอกวงการ (เพราะจะได้ไม่มีทัศนคติขัดแย้งกับไดเรคชั่นเขา) โดยดูจากหน้าตา รูปลักษณ์ภายนอก มีความใกล้เคียงกับภาพวาดในจินตนาการของตนเอง
ในกองถ่าย Au Hasard Balthazar เห็นว่า Bresson กับ Wiazemsky พัฒนาความสัมพันธ์กันจนตกหลุมรัก ถึงขนาดเคยขอแต่งงานหลายครั้ง แต่ได้รับการปฏิเสธร่ำไป ที่เธอมีความกล้าเช่นนั้นเพราะการยอมเสียตัวให้นักแสดงในกองถ่าย เพื่อเรียนรู้จักว่าอารมณ์ถูกข่มขืนเป็นเช่นไร แม้นั่นไม่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านการแสดง แต่สังเกตได้จากดวงตาอันใสบริสุทธิ์ของเธอ ภายในเต็มไปด้วยความรวดร้าวราน หวาดหวั่นสั่นกลัวไปถึงขั้วของหัวใจ
สำหรับ Balthazar คือเจ้าลาน้อยที่ไม่เคยผ่านการฝึกใดๆ เพราะ Bresson ต้องการจับภาพที่เป็นธรรมชาติสุดๆของมันเช่นกัน เว้นเสียแต่ในฉากละครสัตว์ ใช้เวลานานทีเดียวกว่าจะให้มันเคาะเท้าหลายๆครั้งแบบนั้นได้
ถ่ายภาพโดย Ghislain Cloquet สัญชาติ Belgian ที่อพยพย้ายมาทำงานในฝรั่งเศส ได้ร่วมงานกับ Bresson สามครั้ง Au Hasard Balthazar (1966), Mouchette (1967), A Gentle Woman (1969) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Night and Fog (1956), Le Trou (1960), Classe Tous Risques (1960), The Young Girls of Rochefort (1967), Love and Death (1975), Tess (1979) **คว้า Oscar: Best Cinematography ฯ
ตัดต่อโดย Raymond Lamy ขาประจำของ Bresson ตั้งแต่เรื่องแรกจนถึง Four Nights of a Dreamer (1971) ยกเว้นเพียง The Trial of Joan of Arc (1962) ใช้บริการของ Germaine Artus
ถึงจะบอกว่าหนังดำเนินเรื่องในสายตาของ Balthazar แต่ก็มิใช่จากมุมมองบุคคลที่หนึ่งของมัน แค่ในทุกๆฉากจะเห็นเจ้าลาน้อยยืนปรากฎหลบซ่อนอยู่ไม่ห่าง ไม่มีภาพไหนไกลเกินกว่าระยะการมองเห็น
ลักษณะการดำเนินเรื่อง สังเกตว่าสามารถแบ่งออกเป็นตอนๆ ใช้การ Dissolve เพื่อแทนการเคลื่อนผ่านของเวลาและเรื่องราว ซึ่งก็แน่นอนว่ามันต้องมีช็อตลักษณะนี้ คือภาพขอลาน้อยซ้อนทับกับมนุษย์ที่เป็นเจ้านาย เพื่อสื่อถึงไม่ว่าจะคนหรือสัตว์ ต่างก็มีชีวิตทรงคุณค่าไม่แตกต่างกัน
จริงๆแล้วศาสนาคริสต์ไม่ได้เสี้ยมสอนความเข้าใจเช่นนี้เลยนะครับ ถึงพระเจ้าจะสร้างสรรพสัตว์ขึ้นมา แต่ก็มิได้กำหนดค่าให้สูงศักดิ์เทียมเท่ากับมนุษย์ หรือเมื่อหมดสิ้นลมหายใจตายไปได้ขึ้นสรวงสวรรค์ เช่นนั้นแล้วการที่หนังจงใจเปรียบเทียบ คน=สัตว์ หรือ Balthazar=พระเยซูคริสต์ ต้องถือว่าเป็นการลบหลู่ ‘Blasphemous’ ขั้นรุนแรงทีเดียวละ
ถึงกระนั้นผู้กำกับ Bresson ไม่ใช่คริสเตียนแบบแท้ๆหรือเคยเข้าโบสถ์ ความเชื่อของเขาคือ ‘self-conscious Catholic’ ซึ่งนักวิจารณ์หลายคนมองว่าน่าจะรับอิทธิพลจาก Jansenism แนวคิดนิกายหนึ่งของศาสนาคริสต์ที่เคยแพร่หลายกว้างขวางในฝรั่งเศสช่วงศตวรรษ 17-18 มีมุมมองว่าชีวิตได้ถูกลิขิตไว้แล้ว เป็นตายดีชั่วคือประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า (All is grace) มนุษย์=สัตว์มีความเท่าเทียม และการไถ่โทษไม่มีอยู่จริง
หัวหน้ากลุ่มวัยรุ่นอันธพาล Gérard เนี่ยนะเป็นนักร้องนำในโบสถ์! นี่มันหลอกลวงชัดๆ การแสดงออกภายนอกตรงกันข้ามกับตัวตนแท้จริงในจิตใจ นี่คงต้องสะท้อนลักษณะของ ‘ซาตานในคราบนักบุญ’ ถัดจากช็อตนี้ตัดไปเห็นใบหน้าของ Marie ไม่อยากเชื่อสายตาว่าคนร้องจะคือหมอนี่ ก็ไม่รู้คือจุดเริ่มต้นความพิศวาสสมยอมหรือเปล่านะ
ลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Bresson’ คือการถ่ายภาพ Close-Up เลื่อนไหลติดตามการเคลื่อนไหวของมือ เช่น ลูบไล้ วาง จับมือ ฯ เพื่อให้พบเห็น รับรู้รายละเอียดของการกระทำในระยะประชิดใกล้ oujเรียกได้ว่า ‘โลกแห่งการกระทำ’
มุมกล้องของการมองก็เช่นเดียวกัน ทำการ Close-Up เฉพาะตำแหน่งเพื่อให้ผู้ชมเกิดจินตนาการเข้าใจบางสิ่งอย่างจะเกิดขึ้นถัดไป, อย่างช็อตนี้ดูไปก็เหมือนไม่มีอะไร แต่เมื่อตัดสลับกับใบหน้าของหนุ่มนักเลง Gérard มันเลยสื่อความหมายได้ว่า หมอนี่กำลังใคร่สนใจ ต้องการครอบครองเรือนร่างของ Marie
ในบรรดาไดเรคชั่นเล่าเรื่องของหนัง ฉากการเสียตัวครั้งแรกของ Marie ถือว่ามีเทคนิคแพรวพราวสุดแล้ว ไร้ซึ่งบทพูดสนทนานอกจากเสียงบอก ‘ไม่เอา!’ เล่นแง่งอนไม่ยินยอมไปเรื่อย จนถึงจุดๆหนึ่งก็ปล่อยตัวกายใจ Fade to Black ภาพมืดสนิท ก็น่าจะจินตนาการเองได้ว่าเกิดอะไรขึ้นต่อไป
หลายครั้งทีเดียวที่หนังชอบถ่ายช็อตนี้ ให้เห็นดวงตากลมๆอันไร้ซึ่งแววของ Balthazar เต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ว่างเปล่า ไม่มีใครล่วงรับรู้อารมณ์ภายในของมัน แล้วจะใช้การตัดสลับแบบ Montage กับภาพอื่นๆเพื่อสื่อความหมายแทนสิ่งที่มันมองเห็น
เกร็ด: เทคนิคการตัดต่อ Montage มีมาตั้งแต่ยุคสมัยหนังเงียบ เริ่มต้นทางฝั่งสหภาพโซเวียตโดย Sergei Eisenstein, Vsevolod Pudovkin ใช้การสลับไปมาระหว่างสองภาพ ทำให้ผู้ชมเกิดอารมณ์/ความเข้าใจ/ความรู้สึก ไปในทิศทางลักษณะนั้น อาทิ
– ภาพใบหน้าของคน + จานอาหาร = ทั้งๆที่ชายคนนั้นมิได้มีปฏิกิริยาโต้ตอบแสดงความรู้สึกใดๆ แต่ผู้ชมเมื่อเห็นภาพอาหารย่อมเกิดความครุ่นคิดเข้าใจ หมอนี่คงหิวอย่างแน่นอน
– ใบหน้าคน + โลงศพ/คนตาย = ความโศกเศร้าจากการสูญเสีย
– ใบหน้าคน + ร้องเล่นเต้นรำ = ความสนุกสนาน ครึกครื้นเครง
ฯลฯ
ช็อตนี้ที่ผมแคปมา คือขณะที่ Balthazar กำลังจับจ้องเฝ้ามอง ตัดสลับไปมาระหว่างใบหน้าของมัน กับสรรพสัตว์ที่อาศัยอยู่ในกรงขัง อาทิ เสือ, หมี, ลิง, ช้าง ฯ ความไร้ซึ่งอิสรภาพมิอาจกระทำอะไรได้ดั่งใจ ตรงกันข้ามกับเจ้าลาน้อยอยู่ภายนอกโลกกว้าง โอ้ละหนอชีวิตช่างไร้ซึ่งความเท่าเทียมกันเสียเหลือเกิน
บั้นปลายชีวิตของ Balthazar ลาดำท่ามกลางฝูงแกะขาว อิสรภาพที่ไม่ถูกกดขี่บีบบังคับจากมนุษย์หรือสัตว์ตนใด ความตายของมันก็เช่นกันเป็นไปตามธรรมชาติวิถี เรียบง่าย ธรรมดาสามัญ
กับคนไทยเชื่อว่าหลายคนคงคิดถึงสำนวน ‘แกะดำ’ บุคคลที่ชอบทำอะไรแตกต่างจากพวกพ้อง ผิดแผกแปลกกว่าคนอื่น (มักสื่อถึงในทางไม่ค่อยดีมากกว่า)
สำหรับเพลงประกอบ จะมีเพียง Franz Schubert: Piano Sonata No.20 in A Major, II. Andantino (D. 959) ในหนังบรรเลงโดย Jean-Joël Barbier แค่เพียงเสียงของ Piano Sonata ก็ได้มอบสัมผัสถึงโลกที่เต็มไปด้วยความรวดร้าวทุกข์ทรมานแสนสาหัส ยะเยือกเย็นหนาวเหน็บไปถึงขั้วหัวใจ เสียงลมหายใจค่อยๆแผ่วเบาลงจนเงียบหาย ดินแดนแห่งนี้ไร้ซึ่งสีสัน จิตวิญญาณของชีวิต ความตายเท่านั้นกระมังคือหนทางออก
เกร็ด: บทเพลงนี้ยังใช้ประกอบ Winter Sleep (2014) หนังสัญชาติ Turkish คว้ารางวัล Palme d’Or ให้สัมผัสที่หนาวเหน็บทางอารมณ์ไม่แตกต่างกัน
Sound Effect ถือว่ามีบทบาทต่อหนังมากทีเดียว เริ่มต้นตั้งแต่ Opening Credit เสียงร้องแรกเกิดของลาน้อย มันช่างโหยหวนรวดร้าวเหมือนห่านถูกบีบคอ เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานแสนสาหัส ตามด้วยกระดิ่งกริ๊งๆราวกับดนตรีจากเสียงสวรรค์ (ตอนจบเสียงกระดิ่งก็ดังชัดมากเช่นกัน คงสื่อถึงการเดินทางสู่สรวงสวรรค์หลังความตาย) นอกจากนี้ยังมีอีกหลายครั้งที่หนังใช้เสียงประกอบ ดำเนินเรื่องแทนการนำเสนอภาพ อาทิ รถลื่นไถลตกข้างทางแต่ได้ยินแค่ดังโครมคราม, ตำรวจพูดคุยกระซิบกระซาบปืนดัง ไม่ทันเห็นตัวแต่ขวัญกระเจิงวิ่งหนีหาย ฯ
Balthazar ในช่วงชีวิตแรกเกิดยังเต็มไปด้วยความสุขสบายหรรษา ดื่มนมจากอกมารดา ได้รับการ Baptism จากเด็กๆสามคน แต่พอเติบโตขึ้นกลับต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัสจากเจ้านายที่ทำร้าย เฆี่ยน ทุบตี ใช้งานอย่างหนัก เผาหาง พูดจาถากถาง ตีตรา โดนยิงและทอดทิ้งให้เดียวดาย ราวกับเป็นสิ่งมีชีวิตที่คอยรับเคราะห์ เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อผลประโยชน์ของมวลมนุษย
เช่นกันกับ Marie ที่แทบเป็นคู่ขนานของ Balthazar วัยเด็กเคยสุขหรรษา พอเติบโตขึ้นจำต้องเปลี่ยนผู้ชาย/เจ้าของครอบครองอยู่เรื่อยๆ ออกจากครอบครัวถูกสังคมประณามเหยียดหยาม, สมยอมกับ Gérard กลายเป็นเรื่องคาวฉาวโฉ่, หนีออกจากบ้านขายตัวให้พ่อค้า (ทีแรกจะแลกกับเงินแต่ก็ไม่เอา), ปฏิเสธคำขอแต่งงานของ Jacques เพราะไม่อยากให้ร่วมรับเคราะห์โชคชะตา, สุดท้ายโดนรุมโทรม หมดสิ้นหวังอาลัยตายอยากในชีวิต
ทั้ง Balthazar และ Marie ต่างคือผู้ที่มิอาจกำหนดควบคุมโชคชะตาชีวิตของตนเองได้ พบเจอเรื่องราวร้ายๆมากมายโดยไร้สาเหตุผล มันอาจเพราะกลไกวิถีของโลกที่ลิขิตด้วยความเหี้ยมโหดร้ายทารุณ สังคม/จิตใจผู้คนเลวต่ำทรามจนหาความน่าอาศัยอยู่มิได้ เช่นนั้นแล้วบุคคลผู้เปี่ยมล้นด้วยความบริสุทธิ์กายใจ มีหรือจะสามารถธำรงชีพอยู่ได้ด้วยความสงบสุข
ความน่าสนใจของ Au Hasard Balthazar คือบริบทสิ่งรอบข้างที่ดำเนินเกิดขึ้นไปพร้อมๆกับชีวิตของเจ้าลาน้อย มันจับจ้องเฝ้ามองดูวิถีมนุษย์ พบเห็นการกระทำต่างๆนานา ดี-ชั่ว ถูก-ผิด แต่แค่รับรู้เห็นแล้วนิ่งเฉย ไม่ตอบโต้แย้งหรือขัดขืน (แต่หลายครั้งก็ดิ้นรนเป็นพิธีโดยสันชาติญาณ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น) ความรู้สึกเป็นเช่นไรอยู่ที่ผู้ชมจะครุ่นคิดทำความเข้าใจ เพราะเราไม่มีทางรับล่วงรู้อารมณ์แท้จริงของ Balthazar ดวงตาของมันช่างอ้างว้างเปล่าไม่บ่งบอกอะไรทั้งนั้น
นี่คือโลกทัศน์ของผู้กำกับ Bresson ที่เป็นคนมองโลกในแง่ร้ายระดับสูงสุด สืบเนื่องจากช่วงสงครามโลกครั้งที่สองตกเป็นนักโทษในค่ายกักกัน มีชีวิตอยู่รอดไปวันๆด้วยความหวาดหวั่นระแวง เป็นตายคงเรื่องของโชคชะตาฟ้ากำหนด คนดีๆบริสุทธิ์แท้(เช่นเขา) คงไร้ที่อยู่ได้บนโลกใบนี้แน่แท้ นั่นทำให้ค้นพบเจอศาสนาหลักคำสอนของพระผู้เป็นเจ้า และเข้าใจว่าสรวงสวรรค์หลังความตายเท่านั้นคือหนทางออก
ความตายของทั้ง Balthazar และ Marie ถือเป็นความมี ‘มนุษยธรรม’ ที่สุดแล้วจะนำเสนออกมาได้ เพราะโลกสุดอัปลักษณ์เลวทรามใบนี้ ก็อย่างที่บอกไปคนดีแท้ย่อมไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ สรวงสวรรค์หลังความตายเท่านั้นคือหนทางออก
ความเกลียดที่ผมมีต่อหนังของ Bresson ไม่ใช่เพราะแฝงนัยยะอ้างอิงถึงศาสนา แต่คือทัศนคติต่อโลกที่เลวร้ายขั้นรุนแรง ไร้ซึ่งความเชื่อมั่นต่อจิตวิญญาณของมนุษย์ (ถ่ายทอดออกมาผ่านไดเรคชั่นกำกับภาพยนตร์เลยนะ!) ทุกคนเป็นดั่งหุ่นจักรกลเคลื่อนไหวด้วยโปรแกรม/โชคชะตาที่ฟ้าลิขิตมาให้แล้ว สังคมรอบข้างเต็มไปด้วยความรุนแรงเหี้ยมโหด ยิ่งดูยิ่งทรมานพอๆกับปีนขึ้นเขาเอเวอร์เรส (ภูกระดึงก็แทบแย่แล้ว)
โลกของเรานี้ มันไม่ได้เลวร้ายบัดซบสิ้นดีถึงระดับภาพยนตร์ของ Bresson ความมีมนุษยธรรมก็ยังพบเห็นอยู่ได้เรื่อยๆ ซึ่งสิ่งสำคัญสุดไม่ใช่อะไรต่างๆนานาที่เกิดขึ้นภายนอก แต่คือภายในจิตใจเราเองจะค้นพบความสงบสุขสันติได้หรือเปล่า จะปล่อยวางไม่ยึดติดแบบเจ้าลาน้อย Balthazar แค่จับจ้องมองไม่แสดงปฏิกิริยาโต้ตอบใดๆ นั่นก็สอดคล้องกับแนวคิดทางพุทธอยู่นะ
เกร็ด: Au Hasard Balthazar คือหนังโปรดของ Michael Haneke, Aki Kaurismäki, Wes Anderson, Richard Linklater ฯ
แนะนำคอหนังแนวโศกนาฎกรรม (อิงศาสนา), สัตว์แพทย์-นักสิทธิสัตว์ รักสัตว์ทั้งหลาย, ตากล้องถ่ายภาพ ผู้กำกับ, แฟนๆผู้กำกับ Robert Bresson และสาวน้อยมหัศจรรย์ Anne Wiazemsky ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ กับการสื่อนัยยะความถึงความชั่วร้ายต่างๆนานา ใช้ความรุนแรงต่อสัตว์ ฆ่า ขโมยของ ข่มขืน หลอกลวง เมามาย
TAGLINE | “Au Hasard Balthazar คือความสมบูรณ์แบบในไดเรคชั่นของผู้กำกับ Robert Bresson แต่เป็นจุดตกต่ำสุดของมวลมนุษยชาติ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | WASTE
Au Hasard Balthazar (1966)
(6/2/2016) หนังฝรั่งเศสเรื่องนี้ กำกับโดยหนึ่งในผู้กำกับแนวหน้าของโลก Robert Bresson บอกตามตรงว่าไม่มีอะไรในหนังเรื่องนี้ที่ทำให้ผมรู้สึกชอบสักนิด รวมถึงสไตล์การกำกับของผู้กำกับคนนี้ แต่ก็อยากเอามาเล่าให้ฟัง เพราะมันเป็นประสบการณ์ที่แปลกมาก หนังที่ได้รับการยอมรับว่าถ่ายทอดออกมายอดเยี่ยมมากๆ นิตยสาร Sight & Sound จัดอันดับหนังเรื่องนี้สูงถึงอันดับ 16 แต่หนังกลับทำให้ผมเกลียดมันเข้าไส้ เป็นแบบนั้นได้ยังไง ไปดูกัน
นี่เป็นหนังที่ดูเหมือนกึ่งๆอัตชีวประวัติของ donkey ลาน้อยตัวหนึ่งชื่อ Balthazar หนังใช้การเล่าเรื่องผ่านสายตาของลาตัวนี้ แต่นี่ไม่ใช่หนังแนวรักษ์สัตว์ รักษ์โลกอะไร นี่เป็นหนังดราม่าที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของคน การตัดสินใจ ทางเลือก ทางแยก เพียงแค่เล่าผ่านมุมมองของสัตว์ตัวหนึ่งที่ได้พบเห็น นี่เป็นหนังที่ไม่นำเสนออารมณ์อะไรเลย คนดูจะเห็นว่าหนังเป็นการนำเรื่องราว เหตุการณ์ต่างๆมาเล่าต่อๆกัน ไม่มีอารมณ์การแสดงแฝงอยู่เลย ถือเป็นหนังที่แปลกมากๆ ถ้าคุณอยากจะรู้สึกต้องคิดวิเคราะห์ แล้วสังเคราะห์ออกมาด้วยตัวคุณเอง
ผมไปอ่านเจอว่า Robert Bresson เป็นผู้กำกับที่ไม่ชอบให้มีการแสดงในหนังของเขา โดยเขามักจะเลือกนักแสดงหน้าใหม่ๆที่ไม่มีประสบการณ์ทางการแสดงมาเล่น และในตอนเข้าฉาก ก็จะสั่งให้นักแสดงเล่นฉากเดิมซ้ำๆ 10-20-30 รอบ จนกว่าเขาจะรู้สึกว่านักแสดงไม่มี acting เหลืออยู่แล้ว เป็นการเคลื่อนไหวที่ออกมาธรรมชาติจริงๆ ไม่ใช่จากการแสดง ผมไม่ได้ชื่นชอบวิธีการกำกับแบบนี้นักนะครับ กระนั้นเรายังเห็นผู้กำกับปัจจุบันหลายคนที่ใช้การกำกับแบบนี้ อาทิ David Fincher ผู้กำกับไทยก็มี หม่อมน้อย นักแสดงต้องเล่นให้ได้ตามที่ผู้กำกับต้องการเปะๆถึงจะไปฉากต่อไปได้ ถึงกระนั้นวิธีที่ Bresson นั้นมีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้นักแสดง นำเอาความคิดความรู้สึกของตัวเองออกมาผสมกับการแสดง จุดนี้จะเห็นชัดเลยในหนัง นี่เป็นหนังที่มีการเล่าเรื่อง ที่ไม่มีอารมณ์อะไรเลย
นักแสดงนำหญิง Anne Wiazemsky ผมชอบการแสดงของเธอนะ ผมรู้สึกว่าเธอเป็นตัวละครเดียวที่ผมสามารถจับต้องได้ โดยเฉพาะสีหน้าและสายตา ผมได้ยินว่าเธอยังเป็นหญิงสาวบริสุทธิ์ไร้เดียงสาก่อนเล่นหนังเรื่องนี้ แต่เพราะเรื่องราวในหนังมีทั้งจูบ กอด เสียตัว เห็นว่าเธอเสียสาวให้กับใครสักคนในกองถ่าย เพื่อให้เข้าใจความรู้สึกของตัวละคร นี่ไม่ใช่ความตั้งใจของผู้กำกับ แต่มันมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นจริงๆ มันทำให้ผมไม่ชอบวิธีการของ Bresson มากๆ เพราะหนังเรื่องนี้มันขับเคลื่อนให้คนที่จะรู้สึกหรือสัมผัสได้ ต้องผ่านจุดที่ถ้าคุณไม่เคยประสบการณ์แบบนี้มา คุณก็จะไม่สามารถถ่ายทอดสิ่งที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอให้ได้
คงต้องพูดถึง donkey ลาน้อยผู้เป็นตัวละครที่เล่าเรื่อง หนังเกี่ยวกับสัตว์ทั่วไป เราสามารถสัมผัสอารมณ์ของมันได้ ผ่านสายตา การแสดง การเคลื่อนไหว การกระทำ แต่เจ้า donkey ตัวนี้ เปรียบเหมือนหุ่น ที่นอกจากเราจะไม่รับรู้อารมณ์ใดๆของมันแล้ว หนังยังทำทุกอย่างให้คนรู้สึกว่า นี่เป็นหนังที่ดูแล้วอึดอัด ทรมาน ผมไปอ่านเจอจากที่ไหนสักที ชาวคริสต์เชื่อว่าคนที่จะไปสวรรค์ได้มีแต่มนุษย์เท่านั้น แล้วสัตว์ละ… ชาวพุทธเราคงรู้ว่านี่เป็นความเชื่อที่ผิด มนุษย์กับสัตว์ไม่ต่างกัน ครั้งหนึ่งมนุษย์เคยเกิดเป็นสัตว์ สัตว์ครั้งหนึ่งก็เคยเกิดเป็นมนุษย์ ด้วยผลของบุญและกรรมที่ต่างกันทำให้ชาตินี้คนหนึ่งเกิดเป็นมนุษย์ คนหนึ่งเกิดมาเป็นสัตว์ กับการที่ชาวคริสต์มองอย่างนี้ ผมจึงรู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไหร่ หนังตั้งคำถามกับแนวคิดแบบนี้ แต่เชื่อว่าคำตอบของเขาคงไปในแนวทางที่ไม่ถูกแน่นอน ผลลัพธ์ของมันกลับทำให้รู้สึกว่า นี่เป็นหนังที่นำเสนอภาพการกระทำของมนุษย์ต่อสัตว์ออกมาได้โหดร้ายมาก
เหตุที่นักวิจารณ์ หรือผู้กำกับมากมายชื่นชมหนังเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งเพราะวิธีการเล่าเรื่องที่เปรียบเสมือนทางแยกจำนวนมาก เจ้าลาตัวนี้ได้ผลัดเปลี่ยนมือเจ้าของบ่อยครั้ง ได้เจอกับคนที่หลากหลาย ครั้งหนึ่งก็กลับมาพบกับหญิงสาวผู้ที่เคยเป็นเด็กหญิง จากนั้นก็เปลี่ยนไปมาอีก ถ้าเปรียบกับชีวิตก็การได้เจอกับผู้คนหลากหลาย มีทั้งคนที่หวังดี กระทำดี และคนที่หวังไม่ดี กระทำไม่ดี ที่หนังใช้ลาเป็นมุมมองเล่าเรื่อง เพราะถ้าใช้มนุษย์ที่ไปเจอกับคนต่างๆ เราจะไม่สามารถเห็นการกระทำที่ฝังลึกในใจของใครต่อใครได้ แต่กับสัตว์ เมื่อมนุษย์มองว่าสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต่ำต้อย จึงสามารถนำเสนอความคิดอันชั่วร้ายของมนุษย์ออกมาได้ เพราะคิดว่าสัตว์ไม่มีทางเข้าใจ นี่เป็นจุดในหนังเด่นชัดมาก เป็นจุดที่ผมยอมรับว่าดีมากพอที่จะทำให้หนังเรื่องนี้มีค่า แต่ความรุนแรงหลายๆอย่างในหนัง เช่น เอาหนังสือพิมพ์มัดหางลาแล้วจุดไฟ, ใช้ไม้ตี เตะต่อย เมื่อลาไม่ทำตามคำสั่ง ขนาดว่าหนังถ่ายด้วยภาพขาวดำแต่ผมเห็นฉากพวกนี้ รู้สึกรุนแรงมากๆ ทนดูแทบจะไม่ได้
ถ่ายภาพโดย Ghislain Cloquet นี่เป็นหนังเรื่องแรกที่เขาถ่ายภาพให้หนังของ Bresson ปกติจะใช้บริการของอีกคนหนึ่ง Cloquet ให้คำจำกัดความหนังของ Bresson ว่าเป็นคนที่ทำให้โลกของการถ่ายภาพพัฒนาขึ้นไปอีกระดับ would evolve a cinematic style of subtle, sun-dappled radiance; without extending the photography into extremes of chiaroscuro contrast ศัพท์เทคนิคผมอ่านไม่เข้าใจเท่าไหร่ แต่น่าจะเกี่ยวกับการใช้แสงอาทิตย์ในการถ่ายภาพ โดยไม่ต้องปรับกล้องให้มี contrast สูงๆ จะสังเกตว่าหนังเรื่องนี้ภาพจะหม่นๆเป็นพิเศษ ถึงหนังจะไม่มีอารมณ์อะไร แต่เราก็รู้สึกว่า ความหม่นของภาพทำให้เกิดความเศร้าหมอง เก็บกด เคร่งเครียด
ตัดต่อโดย Raymond Lamy นี่เป็นหนังที่มีการตัดต่อไปมาบ่อยครั้งมากๆ แต่ละฉาก ตัวละครจะพูดไม่กี่ประโยค จากนั้นก็ตัดไป อาจจะตัดไปหน้าตัวละครอื่นที่พูดด้วย หรือตัดไปการกระทำ หรือฉากอื่นเลย จุดที่ทำให้เรารู้ว่าหนังเล่าเรื่องผ่านมุมมองของ donkey คือตัดไปที่หน้าของเจ้าลาบ่อยครั้ง แต่ก็แววเดียวครับ ให้เรารู้ว่า ‘ฉันคือลา เห็นอยู่นะ’ ผมไม่ชอบการตัดต่อแบบนี้เลย มันทำให้เรื่องราวไม่ต่อเนื่อง หลายครั้งที่ เอะ จบประเด็นแล้วเหรอ หนังมันเล่าผ่านสายตาเจ้าลาก็จริง แต่สิ่งที่ลาเห็นมันคือคน หนังเล่าเรื่องราวของคนที่เข้ามาในสายตาของเข้าลา แต่เราไม่สามารถจับทางหรือจับเวลาได้ว่า นี่เป็นช่วงไหน เวลาไหน ทิ้งประเด็นไว้มากมาย การตัดต่อให้ความรู้สึก passive มากๆ ให้เราเห็นแต่จับต้องไม่ได้ ตัดต่อแบบนี้เหมาะกับหนังของ Bresson เท่านั้น เพราะมันทำให้หนังไม่สามารถทำอารมณ์อะไรได้เลย ไม่ทันที่เราจะรู้สึกดีใจ เสียใจไปกับตัวละคร หนังตัดไปเรื่องอื่นแล้ว ถ้าคุณต้องการอารมณ์ความรู้สึกจากการดู คุณต้องวิเคราะห์ และสังเคราะห์มันขึ้นมาเอง
เพลงประกอบ Jean Wiener ผมมองว่า ถ้าหนังเป็นแบบนี้ จริงๆไม่ต้องมีเพลงประกอบก็ได้ ใช่ครับ จริงๆหนังแทบจะไม่ใช้เพลงประกอบเท่าไหร่ เพราะเพลงประกอบมันใช้ประกอบกับหนังเพื่อสร้างอารมณ์ แต่หนังเรื่องนี้ไม่มีอารมณ์ใดๆ จะใส่มาทำไม มันก็มีบางฉากการสนทนาที่ใส่เพลงเข้ามา เพื่อให้เข้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของหนังเท่านั้น และตอนจบของหนัง ผมรู้สึกตอนจบใส่เพลงประกอบเข้ามาเพื่อบอกให้รู้ว่าหนังจบ ไม่ได้เพื่อให้เราเกิดอารมณ์อะไรต่อเจ้าลาเลยนะครับ และเพลงที่ใช้ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการเดี่ยวเปียโน ตอนหนังเปิดมา เสียงเดี่ยวเปียโน ให้ความรู้สึกหวิวๆ ราวกำลังสูญเสียอะไรบางอย่าง เป็นตัวเลือกที่เยี่ยมทีเดียว
นักวิจารณ์แทบทุกคน เมื่อวิจารณ์หนังเรื่องนี้จะพูดถึงคำพูดของ Jean-Luc Godard ที่มีต่อหนังเรื่องนี้ว่า “Everyone who sees this film will be absolutely astonished because this film is really the world in an hour and a half.” ทุกคนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้จะตกตะลึง เพราะนี่เป็นหนังเกี่ยวกับโลกด้วยความยาวเพียงชั่วโมงครึ่ง อะไรคือ “โลก” ในความหมายของ Jean-Luc Godard นี่เป็นหนังเกี่ยวกับเหตุการณ์ เรื่องราวต่างๆที่ ลาน้อยตัวหนึ่งได้พบเห็น เขาคือผู้เข้ามาและจากไป อายุของลาเทียบไม่ได้กับคน เต็มที่ก็ 10-20 ปี ในหนังผมประเมินว่าไม่เกิน 10 ปี ช่วงชีวิตของลาสั้นกว่าคนมาก แค่ 10 ปี มนุษย์เพิ่งจะโตจากเด็กเป็นวัยรุ่น แต่ลานั้นเกิดถึงตาย เมื่อเรามองในมุมมองนี้ก็จะเล่นว่า หนังเล่าเรื่องโลกที่ลาน้อยได้ประสบพบเจอ หนึ่งช่วงเวลาของชีวิตสัตว์ตัวหนึ่ง แนวคิดอาจจะคล้ายๆกัน แต่ผมไม่ได้มองแบบ Godard นะครับ ผมมองว่านี่เป็นหนังเกี่ยวกับชีวิต เรื่องราวเล่าผ่านเจ้าลาตั้งแต่เกิดจนตาย แต่เราไม่เห็นอะไรเกี่ยวกับเจ้าลาตัวนี้ มันไม่เคยพูด มีแต่เสียงร้อง เราไม่ได้เห็นสิ่งที่ลาน้อยเห็น แต่เราเห็นมนุษย์ที่ใช้ชีวิต มนุษย์เป็นตัวละคร มนุษย์เล่าเรื่อง มันคือช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตมนุษย์ เด็กหญิงผู้ไม่แน่ใจในตัวเอง ชายหนุ่มที่ต้องการความรักจากหญิงสาว พ่อที่หยิ่งในศักดิ์ศรี นายธนาคารที่สนใจแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง ชายขี้เมาที่ขอแค่ตัวเองมีกิน มีที่ซุกหัวนอน นี่เป็นเรื่องราวของคน ไม่ใช่เรื่องราวของลาเลยแม้แต่น้อย ถ้าเราตัดเจ้าลานี่ออกไป มันก็คือหนังทั่วๆไปเรื่อยนี้ แต่แค่การใส่เจ้าลานี่มา มันทำให้เราหนังสามารถนำเสนอสิ่งที่อยู่ในใจของมนุษย์ออกมาได้ชัดเจนมากๆ
ไม่ว่าหนังเรื่องนี้จะมีอะไรที่ให้ข้อคิด ให้พูดถึงมากมาย แต่กระนั้นผมก็ไม่รู้สึกชอบหนังเรื่องนี้ ใจผมก็ไม่อยากแนะนำหนังที่ตัวไม่ชอบให้คนอื่นดูนะครับ แต่กับคนที่ชอบดูหนังเก่าๆ หนังดีๆ อยากให้ลองดูหนังเรื่องนี้ดู คุณอาจจะเห็นมุมมองอื่นที่สวยงามของหนัง นี่เป็นหนังที่ให้คนดูไปสังเคราะห์อารมณ์เอง หนังไม่นำเสนออารมณ์ใดๆทั้งสิ้น กระนั้นผมเชื่อว่าคนอ่านคงรู้สึกได้นะครับว่าผมมีความรู้สึก อารมณ์ต่อหนังยังไง นี่เป็นประสบการณ์ที่แปลกมาก และคือเหตุผลที่ผมไม่ชอบมันเลย ผมเตือนไว้สำหรับคนดูทั่วไป หรือคนรักสัตว์ ไม่แนะนำให้ดูหนังเรื่องนี้ครับ และจัดเรต 15+ ถึงหนังไม่มีคำพูดที่รุนแรง แต่มีการกระทำส่อถึงแสวงความรุนแรง อาจจะสอนแนวคิดผิดๆต่อเด็กๆได้
คำโปรย : “Au Hasard Balthazar นี่เป็นหนังเกี่ยวกับชีวิตคน จากมุมมองของลาน้อยตัวหนึ่ง สไตล์กำกับของ Robert Bresson คนดูจะไม่สามารถรับรู้อารมณ์ของตัวละครหรือลาน้อยได้ แต่ความรู้สึกที่ได้จากการดู นี่เป็นประสบการณ์แปลกมาก ถ้าไม่ชอบก็เกลียดหนังไปเลย ”
คุณภาพ : SO-SO
ความชอบ : WASTE
ผมไม่ค่อยเห็นด้วยแฮะ เรื่องที่บอกว่าผู้กำกับมองโลกในแง่ร้าย ผมกลับมองว่ามันคือการนำเสนอความเป็นจริงในด้านมืดมากกว่า และ มันก็มีแสงสว่างสอดส่องในความมืดนั้นผ่านความเชื่อศาสนาของเขา ซึ่งมันไม่มีถูกผิดหรอก หวังว่าจะกลับมาเขียนอีก มุมมองจะเปลี่ยนก็ได้