Autumn Sonata (1978) : Ingmar Bergman ♥♥♥♥♡
เป็นความต้องการของ Ingrid Bergman มาแสนนาน ที่จะร่วมงานกับผู้กำกับ Ingmar Bergman แต่นี่คือครั้งแรก ครั้งเดียว ภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย, รับบทแม่ที่ทอดทิ้งลูกสาวไปถึง 7 ปี (รับบทโดย Liv Ullmann) กลับมาพบกันครั้งนี้เพื่อสานความสัมพันธ์ และค้นหาเหตุผลว่าทำไมพวกเธอถึงอยู่ด้วยกันไม่ได้, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
นี่คือผลงานภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของทั้ง Ingrid Bergman และ Ingmar Bergman แต่ทั้งคู่ก็ยังไม่ได้หายหน้าหายตาไปไหน ผันตัวไปเป็นนักแสดง/กำกับ ภาพยนตร์โทรทัศน์แทน,
– Ingrid Bergman ขณะนั้นรู้ตัวเองว่าเป็นมะเร็งเต้านม มีชีวิตได้อีกไม่นาน จึงไม่หักโหมทำอะไรหนักๆอีกต่อไป รับเล่นละครโทรทัศน์อีกเรื่อง ก็เสียชีวิตเมื่อปี 1982 สิริอายุ 67 ปี
– Ingmar Bergman ก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องหนีภาษี ประกาศกร้าวจะไม่สร้างภาพยนตร์ในประเทศสวีเดนอีกแล้ว พาตัวเองเร่ร่อนออกทำหนังต่างประเทศ ซึ่งหนังเรื่องนี้ถ่ายทำในประเทศ Norway ได้ทุนสร้างจาก West Germany แต่สุดท้ายก็กลับบ้านเกิด ผันตัวไปสร้างภาพยนตร์โทรทัศน์แทน
เกร็ด: หลายคนอาจเข้าใจมาโดยตลอดว่า Fanny and Alexander (1982) คือผลงานภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของ Ingmar Bergman (ซึ่งหนังคว้า Oscar หลายสาขาเสียด้วย) แต่ความตั้งใจจริงๆของผู้กำกับ ทำหนังเรื่องนั้นเพื่อออกฉายทางโทรทัศน์เท่านั้น แค่ตอนสร้างเสร็จถูกหลอก/กึ่งบังคับให้ตัดต่ออีกฉบับออกฉายโรงภาพยนตร์ด้วย เราจึงควรถือว่า Autumn Sonata คือความตั้งใจครั้งสุดท้ายของ Ingmar Bergman ในการสร้างภาพยนตร์(ฉายโรงภาพยนตร์)
ในบรรดาภาพยนตร์ของปรมาจารย์ผู้กำกับ Ingmar Bergman ผมเคยชื่นชอบ Wild Strawberries (1957) เป็นที่สุด แต่หลังจากได้ค้นพบบางสิ่งบางอย่างที่แอบซ่อนเร้นในหนังเรื่องนั้น ก็เกิดความรู้สึกต่อต้านไม่พอใจรุนแรง ก็คิดว่าคงไม่มีหนังเรื่องไหนของ Bergman ที่จะทำให้ผมชอบมากๆได้อีกแล้ว (เว้น Persona ไว้ในฐานที่เข้าใจ) จนกระทั่งมาพบ Autumn Sonata ว่าไปแค่ชื่อหนังก็น่าสนใจแล้ว นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้รับชม ก็ไม่รู้เมื่อก่อนมองข้ามไปได้ยังไง เป็นหนังที่มีเรื่องราวและการแสดงอันทรงพลังอย่างรุนแรง ทำให้ผมยิ่งหลงรัก Ingrid Bergman ขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่า Liv Ullmann จะโดดเด่นกว่าก็เถอะ
“The idea of working with Ingrid Bergman was an old desire, but that did not initiate the story. The last time I had seen her was at the Cannes Film Festival at the screening of Cries and Whispers. She had snuck a letter into my pocket, in which she reminded me of my promise that we would make a film together.”
Ingmar Bergman (1918 – 2007) และ Ingrid Bergman (1915 – 1982) ทั้งสองต่างเป็นชาว Swedish รู้จักกันมาแสนนาน น่าจะตั้งแต่ก่อน Ingrid โกอินเตอร์ประสบความสำเร็จกับ Hollywood ต่างให้สัญญาเมื่อมีโอกาสจะทำหนังด้วยกันสักเรื่อง
ครั้งหนึ่ง Ingmar วางแผนดัดแปลงนิยายเรื่อง The Boss, Ingeborg ของ Hjalmar Bergman (ไม่ได้เป็นญาติอะไรกับทั้ง Ingmar และ Ingrid นะครับ นามสกุล Bergman มีเกลื่อนกลาดไปในประเทศสวีเดน) ตั้งใจให้ Ingrid นำแสดง แต่เพราะตอนนั้นเธอแต่งงานอยู่กินกับสามี Roberto Rossellini ที่หึงหวงภรรยามาก แทบจะไม่เคยอนุญาตให้รับการแสดงอื่นนอกจากหนังของตนเอง ทำให้โปรเจคนี้ขึ้นหิ้งค้างไว้สุดท้ายก็ไม่ได้สร้าง
เวลาผ่านมากระทั่ง Ingrid อายุย่างเข้า 60 ก็ไม่มีวี่แววจะได้ร่วมงานกันสักที ทั้งสองบังเอิญพบกันในเทศกาลหนังเมือง Cannes เมื่อปี 1973 ที่ Ingrid เป็นประธานกรรมการสายการประกวด และหนังของ Ingmar เรื่อง Cries and Whispers (1972) ได้เข้าฉาย เธอเขียนจดหมายทวงสัญญาแอบใส่ในกระเป๋าของผู้กำกับ แต่จนแล้วจนรอดก็หาโอกาสไม่ได้สักที
กระทั่งเมื่อวันที่ 30 มกราคม 1976 ขณะที่ Ingmar Bergman กำลังเตรียมการแสดงละครเวทีเรื่อง Dance of Death ที่ Royal Dramatic Theatre ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมคุมขังในข้อหาเลี่ยงภาษี แต่ระหว่างไต่สวนพบว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง หลักฐานไม่เพียงพอ ทำให้ได้รับการปล่อยตัว, เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลกระทบกายใจต่อ Ingmar เป็นอย่างมากถึงที่สุด เกิดอาการสติแตก (nervous break-down) ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหลายเดือน เมื่อทำใจได้แล้วออกมาประกาศต่อสาธารณะ ต่อจากนี้จะไม่สร้างภาพยนตร์ในประเทศสวีเดนอีกแล้ว ปิดสตูดิโอของตนเอง ลอยแพพนักงานกว่าร้อยคน แล้วอพยพลี้ภัยตัวเองไปอยู่ Munich, Germany
แต่เพราะความรักในภาพยนตร์ มิอาจตัดใจเลิกได้ Ingmar จึงใช้เส้นสายจากผู้ที่ยกย่องเทิดทูนผลงานเก่าๆของเขา ทำให้สามารถสรรหางบประมาณทุนสร้างหนังจากสตูดิโอที่ West German และใช้โอกาสนี้พัฒนาโปรเจค Autumn Sonata ให้กับ Ingrid โดยเฉพาะ (คงใช้ชื่อของ Ingrid ในการหาทุนสร้างหนังด้วยละ)
Ingrid รับบท Charlotte Andergast นักเปียโนสูงวัยที่ยังคงได้รับเชิญไปแสดงคอนเสิร์ตอยู่เรื่อยๆ ฝีมือคงต้องถือว่ายอดเยี่ยม สามารถทำความเข้าใจ-ตีความบทเพลงของคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตได้อย่างลึกซึ้ง แต่ความสำเร็จล้นหลามในอาชีพการงานนี้ ต้องแลกมากกับการทิ้งขว้างไม่สนใจสามีและลูก คิดหลอกตัวเองว่าพวกเขามีความสุขดี แต่แท้จริงแล้ว…
การทำงานของ Ingmar ในช่วงวันแรกๆของการถ่ายทำ จะใช้เวลาพูดคุย อ่านบท สนทนารอบโต๊ะกับนักแสดง เพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวและแนวคิดของตัวละคร นี่ไม่ใช่เทคนิคที่ใหม่อะไรในทศวรรษนั้น พัฒนาขึ้นจากยุคสมัยและประสบการณ์ทำงานของผู้กำกับ แต่สำหรับ Ingrid นี่เป็นสิ่งที่เธอไม่เคยพบเจอมาก่อน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ต้องปรับตัว
“I did not have what one would call difficulties in my working relationship with Ingrid Bergman. rather, it was a kind of language barrier, but in a profound sense. Starting on the first day when we all read the script together in the rehearsal studio, I discovered that she had rehearsed her entire part in front of the mirror, complete with intonations and self-conscious gestures. It was clear that she had a different approach to her profession than the rest of us. She was still living in the 1940s.”
จากคำให้สัมภาษณ์ของ Ingmar นี้น่าสนใจมาก เขามองวิธีคิดการทำงานของ Ingrid คือนักแสดงที่ยังติดอยู่ในทศวรรษ 40s ซึ่งเป็นยุคทองของเธอ แต่การมาของ Method Acting นำโดย Marlon Brando เมื่อทศวรรษ 50s ได้พลิกโฉมปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงไปโดยสิ้นเชิง ซึ่ง Ingrid มิได้โอกาสปรับตัวเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกการแสดงยุคสมัยใหม่นี้, แต่จะไปโทษเธอฝ่ายเดียวคงไม่ได้ เพราะคนเคยทำงานด้วยวิธีการนี้มากว่า 20-30 ปี อยู่ดีๆให้เปลี่ยนจะเป็นไปได้อย่างไร
หลายคนอาจสงสัยว่ามันต่างกันยังไง การแสดงในยุคก่อน-หลัง Method Acting?, ในยุค Classic นักแสดงมักได้รับการชี้แนะบอกกล่าว (คำสั่ง) จากผู้กำกับภาพยนตร์ ให้ทำการแสดงโน่นนี่นั่น ทำแบบนี้ พูดอย่างนั้น นักแสดงก็เล่นไปตามบทบาท ท่องบทเรื่อยเปื่อย ท่าทางเคลื่อนไหวก็เป็นไปตามธรรมชาติความสามารถของตน, การมาถึงของ Method Action คือการทำความเข้าใจตัวละครอย่างถ่องแท้ หรือที่เรียกว่า ‘สวมวิญญาณ’ นี่ต้องเกิดจากการครุ่นคิดตีความของนักแสดงนั้นๆผสมรวมเข้าไปด้วย กล่าวคือตัวละครเดียวกัน นักแสดงต่างคน ย่อมได้ผลลัพท์การแสดงที่แตกต่าง (ก็เหมือนบทเพลงคลาสสิก เปลี่ยนผู้เล่น ย่อมมีการตีความบทเพลงที่ต่างออกไป)
สำหรับ Ingrid ตลอดชีวิตการทำงานเธอ เวลาซ้อมบทมักจะจ้องมองจากหน้ากระจก ให้คำพูดท่าทาง การเคลื่อนไหวออกมาจากตนเองโดยธรรมชาติ สมัยนั้นไม่มีใครยังใช้วิธีการแสดง เข้าถึงตัวละครแบบนี้อีกต่อไปแล้ว, Ingmar เมื่อสังเกตพบเช่นนี้คงกุมขมับเลยละ แต่การจะมาเปลี่ยนแนวคิด/วิธีการแสดงเข้าถึงบทบาทของ Ingrid ในวัยนี้ คงแทบเป็นไปไม่ได้ กระนั้นการได้ค้นพบปัญหาตั้งแต่เริ่มต้นโปรดักชั่น และด้วยสปิริตของนักแสดง จึงทำให้เขาเปลี่ยนวิธีการกำกับการแสดงเฉพาะกับเธอ ใช้การพูดออกคำสั่งแนะนำ แม้จะฝืนธรรมชาติแนวทางกำกับของตนเองไปบ้าง แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรให้ดีกว่านี้ได้แล้ว
“If you don’t tell me how I should do this scene, I’ll slap you!”
Ingrid พูดแบบนี้ ก็ไม่รู้ Ingmar เคยโดนตบจริงๆหรือเปล่า!
แต่แค่ความเป็นธรรมชาติของ Ingrid ต้องถือว่าแสดงออกมาได้สุดฝีมือจริงๆ เป็นลักษณะที่ผมไม่คิดมาก่อนจะเห็นเธอสามารถแบบนี้ได้, คงเพราะส่วนหนึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากเรื่องราวของตนเอง ตอนที่หนีไปอิตาลีแต่งงานกับ Rossellini ทิ้งลูกไว้กับสามีเก่า ไม่เคยกลับไปพบเจออยู่หลายปี แค่คิดแบบนี้ก็ทำให้เธอเจ็บปวดรวดร้าวใจอย่างยิ่ง
กับตัวละครนี้ เรายังสามารถมองได้ว่าคือตัวแทนของ Ingmar ด้วยนะครับ ในขณะนั้นที่มีลูก … ก็ไม่รู้กี่คนแล้ว (น่าจะ 8-9 คน) ทอดทิ้งไว้กับภรรยาทั้งหลายอยู่ที่สวีเดน ส่วนตัวเขาออกจากบ้านเพื่อสร้างภาพยนตร์ตามความสนใจ/เห็นแก่ตัวของตนเอง
Liv Johanne Ullmann (เกิดปี 1938) นักแสดง/ผู้กำกับหญิงสัญชาติ Norwegian เริ่มมีผลงานจากการเป็นนักแสดงละครเวทีที่ Norway ก่อนไปเข้าตาผู้กำกับ Bergman ชักชวนเกี้ยวพาจนได้ร่วมงานกันและมีลูกนอกสมรสหนึ่งคน ผลงานเด่นของพวกเขา อาทิ Persona (1966), The Passion of Anna (1969), Cries and Whispers (1972) Autumn Sonata (1978) ฯ เคยคว้ารางวัล Golden Globe Award: Best Actress จากหนังเรื่อง The Emigrants (1971)
Ullmann กับ Ingmar เคยคบชู้กันอยู่สักพักใหญ่ มีลูกด้วยกันหนึ่งคนแล้วแยกย้าย จะว่าไปสถานะทางชีวิตของเธอก็ไม่ต่างจาก Ingrid และ Ingmar สักเท่าไหร่ โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับลูกสาว Linn Ullmann (มีพ่อคือ Ingmar Bergman ซึ่งก็รับบทเล็กๆ ตัวละครเดียวกับแม่ในวัยเด็ก) ก็ไม่รู้หนังเรื่องนี้จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง พ่อ-ลูก คู่นี้ได้บ้างหรือเปล่านะ
รับบท Eve ลูกสาววัยกลางคนที่ชีวิตผ่านอะไรๆมามาก ใส่แว่นหนาเตอะ ฝีปากเบะลง แสดงถึงความเครียดเก็บกดดัน มัดผมเปียเหมือนเด็กที่ยังไม่โต ในจิตใจของเต็มไปด้วยความหวาดกลัว ต่อแม่ผู้ซึ่งพยายามควบคุมบงการทุกสิ่งอย่างในชีวิต มิกล้าขัดขืนคำสั่ง แต่ต้องการหลุดพ้นเอาชนะ แม้มิอาจออกจากกรงขังนี้ได้ อย่างน้อยที่สุดก็เข้าใจว่า ทำไมแม่ถึงเป็นคนอย่างนั้น
แทบไม่ต้องอธิบายว่าทำไมผู้กำกับถึงต้องใช้บริการของ Ullmann เท่านั้น! เพราะเธอเป็นคนเข้าใจความรู้สึกของตัวละครนี้อย่างดีที่สุด ระหว่างคบชู้อยู่กินกับ Ingmar แรกๆก็ไปด้วยกันได้ดี แต่หลังๆเขากลับเลือกภาพยนตร์ สิ่งอื่นสำคัญกว่าครอบครัว ทอดทิ้งเธอและลูกให้โดดเดี่ยว อ้างว้าง เดียวดาย อยู่เบื้องหลัง
กับหนังเรื่องนี้ผมประทับใจการแสดงของ Ullmann เป็นอย่างยิ่ง มีความเหนือชั้นเล็กๆในการตีความตัวละคร กระแทกสะเทือนอารมณ์ได้ทรงพลังกว่า แต่ภาพลักษณ์ของเธอถูกข่มด้วยความเป็นแม่-ลูกของตัวละคร นั่นทำให้ Ingrid เหมือนผู้ใหญ่ และ Ullmann คือเด็กไม่รู้จักโต
ถ่ายภาพโดย Sven Nykvist ที่ถูกลาก(ลักพาตัว)มาจากสวีเดน, กับหนังเรื่อง Cries and Whispers เน้นโทนสี แดง-ขาว-ดำ ส่วน Autumn Sonata จะเน้นสี เหลือง/ส้ม-เขียว-แดง เป็นสีของฤดูใบไม้ร่วง คงใช้ Filter เข้าช่วยในห้องแลปหลังการถ่ายทำ
หลายช็อตมีการจัดองค์ประกอบเหมือน’กรอบรูป’ มักใช้ประตู หน้าต่าง กระจกแทนขอบทั้งสี่ด้าน ลึกเข้าไป นูนออกมา ภาพสะท้อนตัวตน, ซึ่งถ้ากับช็อตพวกนี้กล้องมักแช่นิ่งไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ เห็นตัวละครระยะ Full Shot/Long Shot มีนัยยะถึง’ภาพ’แห่งความทรงจำ
ช็อต Close-Up ใบหน้าตัวละคร ยังคงเป็นความโดดเด่นเช่นเคยในหนังของ Ingmar Bergman กล้องเคลื่อนเข้าใกล้ตัวละคร เห็นริ้วรอยเหี่ยวย่นตีนกา ประกายแสงในดวงตา ผู้ชมจะสามารถรับรู้ความรู้สึกซ่อนเร้น ภายใต้ผิวเนื้อหนังจิตใจของตัวละคร
และทิศทางของใบหน้า การหันมองก็ล้วนมีนัยยะสำคัญ, กับช็อตนี้ Eve จ้องมองแม่ด้วยความสนเท่ห์ (ไม่รู้ด้วยความรักหรือความชัง) แต่ Charlotte สนใจเฉพาะแต่สิ่งที่อยู่ข้างหน้า บรรเลงเปียโนโดยไม่สนใจใยดีลูกสาวแม้แต่น้อย
ช็อตนี้ Charlotte มอง Eve ผ่านกระจก ซึ่งเหมือนจะเบลอๆด้วย มีนัยยะถึงการมองลูกสาวของเธอ เป็นคนอยู่ด้านหลัง ไม่เข้าใจตัวตนแท้จริง (มองเห็นไม่ชัด)
สำหรับช็อตที่ผมชื่นชอบสุดในหนังเป็นขณะเล่าย้อนอดีต เด็กหญิง Eve เฝ้ารอคอยช่วงเวลาที่แม่จะหยุดพักจากการซ้อมเล่นเปียโน เงียบเสียงแล้วเปิดประตูเข้าไปเสริฟน้ำ นั่งลงกับพื้นจ้องมองเธอ แต่ก็ถูกไล่ออกจากห้องเพราะสร้างความหงุดหงิดรำคาญใจ, เปรียบห้องแห่งนี้คือจิตใจของ Charlotte แม้ลูกสาวจะเคยเข้าไปได้ แต่ก็ถูกขับไล่ออกมา ปิดประตูมิดชิดไม่ให้ใครเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเธอ
ตัดต่อโดย Sylvia Ingemarsson, หนังดำเนินเรื่องเพียงหนึ่งวันหนึ่งคืน มีสามเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้น โดยอิงช่วงเวลาจากปริมาณของแสง คือ แสงตอนบ่าย, แสงตอนกลางคืน, และแสงตอนเช้า
“Three acts in three kinds of lighting: One evening light, one night light, and one morning light. No cumbersome sets, two farces, and three kinds of lighting.”
แสงตอนบ่ายมีความอบอุ่นแต่หยาบกระด้าง, เรื่องราวช่วงนี้แม่ลูกทั้งสองต่างใส่หน้ากากเข้าหากัน ยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นมิตร ต่างปกปิดหลบซ่อนความรู้สึกแท้จริงที่อยู่ในจิตใจอย่างมิดชิด
กลางคืนมืดมิดเยือกเย็น มีเพียงแสงไฟจากเทียนตะเกียงนำทางสว่าง, ทั้งสองต่างเปิดเผยความคิดรู้สึกแท้จริงต่อกัน เต็มไปด้วยการปะทะคารม และความคิดเห็นต่าง ในสิ่งที่ส่งผลกระทบทางใจต่อ Eve ให้เธอกลายเป็นคนแบบนี้ในปัจจุบัน
แสงอรุณอุ่นๆ นุ่มนวลยามเช้า, แต่แทนที่ช่วงเวลานี้แม่ลูกจะปรับความเข้าใจกันได้สำเร็จ พวกเธอเหมือนเพิ่งตื่นขึ้นจากฝัน ยังคงแสดงออกต่อกันด้วยรูปแบบเดิม ในสิ่งที่เป็นตัวตนของตนเอง ซึ่ง Eve ก็ได้เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับน้องสาว Helena ถึงผลกระทบทางกายที่ต้นเหตุเกิดจากการกระทำของแม่
เพลงประกอบนั้นไม่มี แต่สำหรับบทเพลง Prelude Op. 28 No. 7 in A major ของ Frédéric Chopin ถือว่าเป็นไฮไลท์ของหนัง บรรเลงโดยอดีตภรรยา Käbi Laretei, การตีความบทเพลงนี้ที่ถูกต้อง คงแบบที่ Charlotte เล่นในฟังครั้งหลัง เพราะตัวตนของ Chopin ถึงเป็นคนอ่อนไหว (Emotional) แต่มิได้มีอารมณ์ซาบซึ้ง เห็นใจ (Sentimental) ต้องถือว่าการตีความ/บรรเลงบทเพลงนี้ สื่อแทนนิสัย ตัวตนของตัวละครออกมาได้ตรงมาก
การเล่นของ Eve มือซ้ายจะค่อนข้างเบาและช้าเนิบ ส่วนมือขวาเน้นลงโน๊ตทุกตัวอย่างมีพลัง ให้สัมผัสของความเจ็บปวดรวดร้าวสุมแน่นเต็มอก อยากที่จะระบายร่ำไห้ออกมาแต่มิกล้า มิสามารถทำได้,
การเล่นของ Charlotte มีความเพียงพอดี มือขวาดังขึ้นกว่าเดิมแต่ไม่กลืนมือซ้าย จังหวะรวดเร็วขึ้น ใส่อารมณ์แต่พอเพียงไม่มากไม่น้อย ทำให้บทเพลงมีความสง่างาม เย่อหยิ่ง จองหอง และอ่อนหวาน
Autumn, ฤดูใบไม้ร่วง เป็นช่วงเวลาที่ใบไม้สีเขียวค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีส้มเหลือง หลุดร่วงจากกิ่งก้านต้นไม้ตกลงสู่พื้น เปรียบกับมนุษย์คือช่วงอายุที่เริ่มโรยรา สูงวัย ชราภาพ ใกล้พบความตาย เป็นช่วงเวลาแห่งการหวนระลึกนึกย้อน ทบทวนเรื่องราวความทรงจำจากอดีตที่ผ่านมา มันอาจมีทั้งสุข-ทุกข์ เศร้า-สมหวัง ลองนำเหตุการณ์ทั้งหลายมาสังเคราะห์ประมวลผล สรุปดูสิว่า ชีวิตของเราประสบความสำเร็จแค่ไหน ได้ทำประโยชน์ เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้าง
Sonata เป็นประเภทของบทเพลงที่ใช้สำหรับเดี่ยวเครื่องดนตรี เช่น Piano Sonata (เดี่ยวเปียโน), Violin Sonata (เดี่ยวไวโอลิน) ซึ่งบางครั้งก็จะมีเครื่องดนตรีบรรเลงประกอบ (Accompaniment) ไม่เกิน 2 ชิ้นเท่านั้น และมีความยาวเพียง 3-4 Movement (1-2 หน้ากระดาษ)
เป็นความตั้งใจของ Ingmar มาสักพักใหญ่ (น่าจะตั้งแต่แต่งงานกับ Käbi Laretei) กับแนวคิดการสร้างภาพยนตร์ ให้มีความสอดคล้องคล้ายคลึงกับบทเพลง แต่ไม่ใช่แค่การใส่แทรกเพลงคลาสสิกเข้ามาในหนัง ยังรวมถึงรูปแบบ วิธีการ องค์ประกอบ ฯ ที่ต้องสามารถเทียบเคียงได้ทุกประการ, สำหรับประเภทบทเพลง Sonata เมื่อเปรียบเทียบกับหนัง ตัวละครประกอบด้วยแม่กับลูก แทนด้วยสองเครื่องดนตรี, เรื่องราวแบ่งออกมาเป็น 3 องก์ = 3 Movement, และการพูดคุยสนทนาสื่อสารของตัวละคร/ภาษาภาพยนตร์ แทนด้วยจังหวะท่วงทำนองที่มีความสอดคล้องรับกัน
Autumn Sonata เป็นเรื่องราวของการทบทวนตนเอง ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านมาแล้วในอดีต มันอาจมีบางสิ่งอย่างที่เคยรับรู้มา แต่แท้จริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ตารปัตรจากความเข้าใจโดยสิ้นเชิง เมื่อรับรู้แบบนี้แล้วเราควรที่จะคิดกระทำแสดงออกเช่นไร
1) หลงลืมปล่อยเลยช่างมัน
2) ยอมรับความจริง เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
พ่อ-แม่ของ Ingmar ขึ้นชื่อเรื่องความเข้มงวดกวดขัน ไม่ค่อยที่จะสนใจรับฟัง เรียนรู้จักทำความเข้าใจลูกๆของตนเอง มันคงไม่แปลกที่เด็กคนหนึ่ง ซึมซับได้รับแบบอย่างเช่นนี้มา โตขึ้นจึงแสดงออกปฏิบัติต่อลูกๆหลานๆ ด้วยวิธีการเดียวกัน, เราสามารถมองหนังเรื่องนี้แทนด้วยตัว Ingmar Bergman ทั้งขณะที่เขายังเป็นเด็ก มีความอึดอัดอั้นทุกข์ทรมานจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ และขณะที่โตเป็นผู้ใหญ่ ลูกๆของเขาได้รับความทุกข์ทรมานจากพ่อที่ไม่สนใจใยดี นี่ต้องเรียกว่าทั้งขาขึ้นขาร่อง แต่แปลกที่หนังเรื่องนี้ไม่ทำให้ผมเกิดอคติใดๆต่อผู้กำกับ เพราะอะไรกัน?
หนังที่สามารถแบ่งเรื่องราวออกเป็นสองฝากฝั่ง ที่ต่างมีเหตุผลความสำคัญของตนเอง พยายามทำความเข้าใจทั้งสองแง่มุมมองอย่างเสมอภาคเท่าเทียม นี่ทำให้ผู้ชมจักไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเกิดอคติต่ออีกฝ่าย, จริงอยู่แม่เป็นผู้หญิงที่เห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ กระนั้นเรายังมองเห็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของเธอ เหตุผลที่ต้องทอดทิ้งลูกสาว เพราะแนวคิดทัศนคติ เห็นโลกในมุมที่สูงกว่า เช่นกันกับฝั่งลูกสาว ที่ภายหลังก็รับรู้เข้าใจ แม่ก็คือแม่ ต่อให้มีความเกลียดชังไม่ชอบหน้า แต่ทุกอย่างย่อมสามารถให้อภัยกันได้ นี่เป็นหลักธรรมของการปล่อยวางเลยนะ
หนังได้เข้าชิง Oscar 2 สาขา
– Best Actress (Ingrid Bergman)
– Best Writing, Screenplay Written Directly for the Screen
ส่วน Golden Globe Award เข้าชิง 2 สาขา ได้มา 1 รางวัล
– Best Foreign Language Film ** ได้รางวัล
– Best Actress (Ingrid Bergman)
มันอาจไม่ใช่การแสดงที่ผมตกหลุมรัก Ingrid Bergman แต่คือความเจิดจรัสจ้า สง่าราศีที่ดูดี ชวนให้เคลิบเคล้มคลั่งไคล้ แม้ตอนสูงวัยจะอวบๆ ริ้วรอยเหี่ยวย่นตีนกาขึ้นเต็มไปหมด แต่ยังคงเต็มไปด้วยเสน่ห์ชวนให้หลงใหล, นี่ต้องชมการกำกับของ Ingmar Bergman ที่สามารถดึงเอาพลังการแสดงของ Ingrid ออกมาได้เต็มศักยภาพในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป มันเลยไม่แปลกที่เธอได้เข้าชิงสาขาการแสดง ทั้งๆที่มีความโดดเด่นน้อยกว่า Liv Ullmann เสียอีก
อีกประการหนึ่งที่ทำให้ผมตกหลุมรักหนังเรื่องนี้อย่างยิ่ง คืองานภาพของ Sven Nykvist ที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายยังไงชอบกล คงด้วยสีสันที่ไม่ฉูดฉาดรุนแรงเกินไป เป็นสีที่ให้เกิดความรู้สึกปล่อยวางจากทุกสิ่ง, โดยส่วนตัวรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้กับ The Silence คือความสมบูรณ์แบบ Masterpiece ที่สุดในงานภาพของ Nykvist (เรื่องนี้ภาพสี อีกเรื่องขาว-ดำ) งดงามยิ่งกว่าสองเรื่องที่คว้า Oscar: Best Cinematography ประกอบด้วย Cries and Whispers (1973) กับ Fanny and Alexander (1983) เสียอีก
แนะนำกับคอหนังดราม่าเนื้อหาปวดตับ สะท้านรุนแรง, ชื่นชอบการแสดง บทเพลงคลาสสิก (ลองเปรียบเทียบดูว่า เห็นองค์ประกอบ รูปแบบของหนังคล้ายกับบทเพลงหรือเปล่า) แฟนๆผู้กำกับ Ingmar Bergman นักแสดง Ingrid Bergman และ Liv Ullmann ห้ามพลาดเด็ดขาด
จัดเรต 15+ กับคำพูดเสียดแทง และการแสดงที่เต็มไปด้วยความอึดอัดอั้น ทนทุกข์ทรมาน
Leave a Reply