Awaara (1951) Indian : Raj Kapoor ♥♥♥♥♥

(2/1/2018) อุดมการณ์ หลักการ ความเชื่อของมนุษย์หาใช่สิ่งต้องถูกต้องเสมอไป กับผู้พิพากษาที่มีทัศนคติ ‘พ่อเป็นโจร มีลูกย่อมต้องกลายเป็นโจร’ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์กลับตารปัตร ลูกแท้ๆของตนเองกลับกลายเป็นโจร ทุกสิ่งอย่างที่เคยยึดถือมั่นพลันพังทลายสูญสิ้น, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

หวนกลับมารับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นความตั้งใจส่วนตัวมาสักพักใหญ่แล้ว เพราะครั้งก่อนมีสิ่งหนึ่งขัดใจมากๆ คือคุณภาพของไฟล์ที่โหลดมาเลวร้ายเหลือทน ใช้เวลาค่อนข้างนานทีเดียวกว่าจะค้นพบฉบับ HD แม้จะไม่ใช่ Remaster (เหมือนว่ายังไม่มี) แต่ก็เพียงพอเหลือเฟือให้เห็นความสวยงามตราตรึงของหนังเรื่องนี้ [จริงๆเส้นผมบังภูเขาเลยนะ เพราะมีหนังเรื่องนี้คุณภาพ HD พร้อมซับอังกฤษอยู่เต็มเรื่องใน Youtube]

Awaara คือภาพยนตร์ Classical Bollywood เรื่องแรกๆที่ผมมีโอกาสได้รับชม [จดจำไม่ได้ว่า ระหว่าง Awaara กับ Pyaasa (1957) เรื่องไหนดูก่อน] รู้จักจากชาร์ท All-Time 100 greatest films ของนิตยสาร TIME มีหนังจากประเทศอินเดียติดอันดับอยู่ 4 เรื่อง ประกอบด้วย The Apu Trilogy, Pyaasa, Roja (ติด 10 Best Soundtracks) และ Awaara (ติด 10 Great Performances) จริงๆผมเขียนครบหมดแล้วนะ แต่จะค่อยๆทะยอยหวนกลับมา Revisit เพราะรู้สึกว่าตอนนั้น ยังเขียนจับใจความได้ไม่ดีสักเท่าไหร่

Ranbir Raj Kapoor (1924 – 1988) นักแสดง ผู้กำกับสัญชาติอินเดีย ได้รับการยกย่องว่า ‘the greatest showman of Hindi cinema’ เกิดที่ Peshawar, British India (ปัจจุบันคือ Khyber Pakhtunkhwa, Pakistan) ในครอบครัว Panjabi Hindu บุตรคนโตของนักแสดงรุ่นบุกเบิก Prithviraj Kapoor เดินทางติดตามพ่อไปทำงานตามเมืองต่างๆ พออายุ 10 ขวบแสดงหนังเรื่องแรก Inquilab (1935), แต่กว่าจะเริ่มโด่งดัง Neel Kamal (1947) ประกบ Madhubala, กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Aag (1948) พร้อมนำแสดงประกบ Nargis, กลายเป็นตำนานกับ Barsaat (1949), Awaara (1951), Shree 420 (1955), Sangam (1964), Mera Namm Joker (1970), Bobby (1973) ฯ

ชื่อของ Raj Kapoor ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังแค่ใน Bollywood เท่านั้น นับตั้งแต่ Awaara (1951) เมื่อส่งออกฉายสหภาพโซเวียต จีน ตุรกี ตะวันออกกลาง และอีกหลายๆประเทศ ต่างประสบความสำเร็จทำเงินล้นหลามถล่มทลาย จนกลายเป็น Iconic ระดับโลก

แซว: มีสามสิ่งที่ชาวรัสเซีย เมื่อพูดถึงประเทศอินเดียจะนึกถึงก่อนเลยคือ พระศิวะ, โยคะ และ Raj Kapoor

สำหรับ Awaara เป็นการร่วมงานครั้งแรกของ Raj Kapoor กับนักเขียนบทในตำนาน K. A. Abbas หรือ Khwaja Ahmad Abbas ที่ก่อนหน้านี้ผลงาน Neecha Nagar (1946) คว้ารางวัล Grand Prix จากเทศกาลหนังเมือง Cannes

ในตอนแรก Abbas มีต้องการให้ Mehboob Khan เป็นผู้กำกับ แต่ทั้งสองเกิดความขัดแย้งเรื่องทิศทางของหนัง และการคัดเลือกตัวนักแสดงนำ โดย Khan คาดหวังให้ Ashok Kumar รับบท Judge และ Dilip Kumar รับบทลูกชาย ทำให้เขาตัดสินใจถอนโปรเจคออกจาก Mehboob Studios มาเข้าร่วม R.K. Films

เหตุผลคือ Abbas พัฒนาบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ด้วยภาพของ Prithviraj Kapoor ขึ้นในใจ ซึ่งเมื่อรับรู้ว่า Raj Kapoor ก่อตั้งสตูดิโอขึ้นใหม่ (R.K. Films) เลยนำโปรเจคนี้ไปเสนอ ซึ่งพอได้อ่านก็เกิดความสนใจเล่นเองกำกับเอง แต่ก็มีความหวาดหวั่นเล็กๆ กลัวพ่อจะไม่ยอมรับตนเองถ้ากำกับหนังที่ท่านแสดง แต่ก็สามารถพูดคุยตกลงกันได้ด้วยดี

Judge Raghunath (รับบทโดย Prithviraj Kapoor) พิพากษาตัดสิน Jagga (รับบทโดย K. N. Singh) ชายบริสุทธิ์ที่ถูกกล่าวหากระทำการข่มขืนผู้อื่น ด้วยหลักการความเชื่อส่วนตน ‘พ่อเป็นโจร มีลูกย่อมต้องกลายเป็นโจร’ ด้วยความเคียดแค้นหลังพ้นโทษ Jagga ลักพาตัวภรรยา Leela (รับบทโดย Leela Chitnis) เพื่อหวังกระทำชำเรา แต่เมื่อพบว่าเธอกำลังตั้งครรภ์เลยเปลี่ยนแผนส่งกลับบ้าน พร้อมสร้างข่าวลือปั่นหัวผู้พิพากษา ให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเด็กในท้องเกิดจากมหาโจร จึงทำการขับไล่ไสส่งออกจากบ้าน

Raju (รับบทโดย Raj Kapoor) อาศัยอยู่กับแม่สองคน มีชีวิตเติบโตขึ้นอย่างยากลำบาก ถูกโรงเรียนไล่ออกเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม พานพบ Jagga เสี้ยมสั่งสอนให้กลายเป็นโจร แม้มิได้เต็มใจนักแต่ก็หาหนทางอื่นไม่ได้, เติบโตขึ้นบังเอิญพบเจอ Rita (รับบทโดย Nagis) เพื่อนสาวสมัยเรียน ทั้งสองตกหลุมรักหลงใหลจนทำให้ Raju คิดกลับตัวเป็นคนดี แต่เมื่อรับรู้ว่าผู้ปกครองของเธอ Judge Raghunath คือพ่อแท้ๆของตนเอง จึงเกิดความเคียดแค้นแสนสาหัส ต้องการเอาคืนผู้เป็นต้นเหตุทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้น

Prithviraj Kapoor (196 – 1972) นักแสดงรุ่นบุกเบิกวงการภาพยนตร์/ละครเวที สัญชาติอินเดีย เกิดที่ Samundri, Punjab (ปัจจุบันคือประเทศ Pakistan) ในครอบครัว Panjabi Hindu โตขึ้นเริ่มจากเป็นนักแสดงละครเวที ย้ายไป Bombay เล่นภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ รับบทสมทบในหนังพูดเรื่องแรก Aiam Ara (1931), โด่งดังกับ Alexander the Gread เรื่อง Sikandar (1941), ช่วงทศวรรษ 40s เป็นผู้ก่อตั้งคณะการแสดง Prithvi Theatres ออกทัวร์ทั่วประเทศ, ผลงานภาพยนตร์เด่นอื่นๆ อาทิ Awaara (1951), Mughal-E-Azam (1960) ฯ

รับบท Judge Raghunath จากทนายความไต่เต้าจนกลายเป็นผู้พิพากษา เป็นคนที่ยึดถือมั่นในหลักการอย่างเคร่งครัด มีแนวคิดหนึ่งไม่เคยเปลี่ยนแปลง ‘พ่อเป็นโจร มีลูกย่อมต้องกลายเป็นโจร’ นั่นทำให้เขาตามืดบอดในสิ่งใกล้ตัว มิอาจใช้หัวใจตัดสินคุณค่าความรักของตนเองได้

ต้องชมเลยว่า Prithviraj คือโคตรนักแสดงรุ่นใหญ่ของ Bollywood ทั้งๆที่ก็ไม่ใช่ Method Acting มาจากสายละครเวที แต่กลับสามารถสวมวิญญาณกลายเป็นตัวละครนั้นๆ แสดงความรู้สึกสะท้อนออกมาจากภายในจิตใจได้อย่างสมจริงทรงพลัง โดยเฉพาะตอนครุ่นคิดเข้าใจความผิดพลาดของตนเอง ตะโกนลั่นร้องเรียก Raju พยายามเอื้อมมือไขว่คว้าแต่ก็ติดกรงขัง ทำได้แค่โอบกอดรัดความอ้างว้างว่างเปล่า

Prithviraj มีความชื่นชอบบทหนังเรื่องนี้อย่างมาก แทบจะตบปากรับเล่นโดยทันที แต่พอรับรู้ว่าลูกชาย Raj จะกำกับแสดงนำกลับปฏิเสธต่อต้านเสียงขันแข็ง ไม่คิดว่าเขาจะมีความรู้สามารถใดๆ (ตอนนั้น Raj เพิ่งจะอายุ 27 ปีเท่านั้น) โชคดีได้นักเขียน Abbas โน้มน้าวจนยินยอม สร้างความยากลำบากในการทำงานให้ Raj อย่างยิ่ง ซึ่งตอนจบของหนังราวกับชีวิตจริงๆของพวกเขา ลูกชายได้ทำการพิสูจน์ความจริงบางอย่างให้พ่อเห็น (พ่อ-ลูก คู่นี้ก็ร่วมงานกันครั้งเดียวในชีวิตเท่านั้น)

Nargis Dutt ชื่อเดิม Fatima Rashid (1929 – 1981) นักแสดงหญิงสัญชาติอินเดีย ได้รับการยกย่องว่า ‘นักแสดงยิ่งใหญ่ที่สุดใน Bollywood’, เกิดที่ Calcutta, Bengal (ปัจจุบันเป็น Kolkata, West Bengal) พ่อเป็นพราหมณ์ (Mohyal Brahmin) ที่ค่อนข้างร่ำรวยแต่ภายหลังเปลี่ยนมานับถืออิสลาม ส่วนแม่เป็นนักร้องเพลงคลาสสิกรุ่นบุกเบิกที่ค่อนข้างโด่งดังทีเดียว ด้วยเหตุนี้จึงมีความสนใจด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก ตอนอายุ 6 ขวบ มีผลงานเรื่องแรก Talash-E-Haq (1935) ได้ชื่อการแสดง Baby Nargis จากนั้นก็เลยใช้ Nargis มาโดยตลอด, เริ่มมีชื่อเสียงจากการเล่นหนังของ Mehboob Khan เรื่อง Taqdeer (1943), Humayun (1945), Andaz (1949), Mother India (1957) ต่อมากลายเป็นชู้รักของ Raj Kapoor มีผลงานดังอย่าง Aag (1948), Barsaat (1949), Awaara (1951), Shree 420 (1955) ฯ

รับบท Rita ทนายความสาวสวย น่ารักไร้เดียงสา เพราะตกหลุมรัก Raju จนหน้ามืดตามัว เห็นผิดเป็นชอบ กงจักรเป็นดอกบัว พูดอะไรมาก็คิดตีความเข้าใจไปอีกอย่าง เมื่อรับรู้ความจริงก็ยังเชื่อใจมั่นคง ต้องการช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถ ขึ้นว่าการเป็นทนายครั้งแรกเพื่อปกป้องคนรัก แม้สุดท้ายจะแพ้คดีแต่ก็ถือว่าทำดีที่สุดแล้ว

ความรักความต้องการที่ Nargis มีให้กับ Raj Kapoor ในบรรดาภาพยนตร์ทั้งหลายของพวกเขา เรื่องนี้น่าจะโดดเด่นชัดเจนที่สุดแล้ว ทั้งสายตา ท่าทางเคลื่อนไหว อารมณ์ความรู้สึก ผู้ชมสามารถรับสัมผัสได้โดยทันที มันช่างเอ่อมากล้นทรงพลังเสียเหลือเกิน จนผมไม่คิดว่าจะมีคู่รักไหนในโลกภาพยนตร์ จะสามารถถ่ายทอดความสมจริงออกมาได้มากยิ่งเท่านี้อีกแล้ว

แซว: ชุดว่ายน้ำของ Nargis สมัยนั้นนี่ฟินกันมากๆเลยนะ เพราะผู้หญิงอินเดียมักไม่ค่อยมีใครกล้าโป๊เปลือยได้ขนาดนี้ (ว่าไปหนังของ Raj Kapoor ชอบที่จะท้าทายกองเซนเซอร์ วับๆแวมๆ แบบนี้บ่อยครั้งทีเดียว)

จริงๆคือ Raj Kapoor แต่งงานจนมีลูกแล้ว แต่ Nargis ผู้มาทีหลัง ร่วมเล่นหนัง ตกหลุม กลายเป็นชู้รัก พยายามเกลี้ยกล่อมเสี้ยมสอนให้เขาเลิกกับภรรยา แต่เจ้าตัวยึดถือหลักการของตนเองอย่างตั้งมั่น จนสุดท้ายเป็น Nargis พบรักใหม่ตอน Mother India (1957) ทั้งคู่เลยแยกจากกันด้วยดี

Raj Kapoor ในบท Raju Ragunath ชายหนุ่มผู้เต็มไปด้วยความสับสนว้าวุ่นวายใจ รับรู้ผิดชอบต้องการเป็นคนดี แต่โชคชะตากลับไม่นำพาถูกชักจูงจมูกโดยคนชั่ว จนเมื่อตกหลุมรักกับหญิงสาว ตั้งปฏิธานแน่วแน่ว่าจะกลับตัว แต่ก็สายเกินสังคมไม่ให้โอกาส และเมื่อรับรู้ความจริงเรื่องพ่อ มิอาจอดรนฝืนทนต่อสิ่งใดๆได้

ภาพลักษณ์ของ Raj Kapoor ถือว่ารับอิทธิพลมาจาก Charlie Chaplin แบบเต็มๆ แต่การแสดงจะมีมิติซับซ้อน หลากหลายอารมณ์กว่ามาก โดยเฉพาะฉากทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส ว่าไปหนังของพี่แกหลายๆเรื่องก็มักมีประเด็นโศกนาฎกรรมอยู่เรื่อยๆ ก็ไม่รู้ในชีวิตพบเจออะไรถึงกลายเป็นคนแบบนี้

ถ้าคุณสังเกตบทโรแมนติกของสองนักแสดงนำ จะพบว่า Raj มักพยายามหลบตา เหม่อมองท้องฟ้า ล่องลอยไปทางอื่น ขณะที่ Nargis จับจ้องมอง ลูบไล้เส้นผม เป็นฝ่ายเดียวเสียด้วยซ้ำที่แสดงความรักเอ่อล้นออกมา แต่ผู้ชมจะรู้สึกว่าเคมีของทั้งสองรุนแรงต่อกันมากๆ นี่สะท้อนทั้งเรื่องราวในหนังและสถานะของทั้งคู่ในชีวิตจริง เหมือนจะเป็นแบบนี้เปะๆเลยนะ

สำหรับ Raju วัยเด็ก รับบทโดย Shashi Kapoor ลูกชายคนรองของรับบท Raj Kapoor, ต้องถือว่า Awaara เป็นหนังของครอบครัว Kapoor โดยแท้ มีถึงสามรุ่นในเรื่องเดียว

ถ่ายภาพโดย Radhu Karmakar ขาประจำของ Raj Kapoor ตั้งแต่ Awaara (1951), Shree 420 (1957) จนถึงเรื่องสุดท้าย ซึ่ง Mera Naam Joker (1970) สามารถคว้ารางวัล National Film Award: Best Cinematography

ความโดดเด่นของงานภาพ คือการใช้มุมกล้อง ก้ม-เงย, แสงเงา และระยะภาพใกล้-ไกล เพื่อสะท้อนจิตวิทยาตัวละครออกมา (รับอิทธิพลจาก Citizen Kane เยอะทีเดียวนะ), โดยเฉพาะการ Close-Up จับจ้องใบหน้าของตัวละคร พบเห็นได้บ่อยครั้ง เพื่อให้ผู้ชมจับจ้องมองเห็นใบหน้านักแสดง ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกออกมาได้อย่างสมจริง

ช่วงต้นเรื่องตอนที่ Judge Raghunath ขับไล่ภรรยา Leela ออกจากบ้าน, จิตใจของผู้พิพากษาขณะนั้นเต็มไปด้วยความปั่นป่วนพลุกพล่าน พาลให้ท้องฟ้าอากาศปั่นป่วน ฝนตกคลื่นลมแรง แสงไฟจากเตาผิงกระพริบสาดส่องพื้นหลังโชติช่วงชัชวาลย์ นี่เป็นฉากที่สะท้อนอารมณ์ของตัวละครออกมาผ่านการจัดฉากพื้นหลังได้อย่างทรงพลัง และให้สัมผัสของ Film Noir อย่างยิ่งเลย

หนังทั้งเรื่องถ่ายทำใน R.K. Studios เพราะเป็นเรื่องแรกของสตูดิโอ ทุนสร้างจัดเต็ม มีการสร้างฉากขึ้นมาค่อนข้างใหญ่ทีเดียว ทั้งบ้าน เมือง รวมถึงบ่อน้ำ ลำธาร และพื้นหลังพระจันทร์ แต่ช็อตที่ถ่ายติดก้อนเมฆ นั่นย่อมต้องท้องฟ้าจริงๆอยู่แล้ว, ซึ่งไฮไลท์ของการออกแบบ คือฉากนรก-สวรรค์ เพื่อประกอบความฝันของ Raju ในบทเพลง Ghar Aaya Mera Pardesi (แปลว่า My wanderer has returned home) ขับร้องโดย Lata Mangeshkar

ให้ข้อสังเกตว่า บทเพลงนี้ดังขึ้นกลางเรื่อง ซึ่งนัยยะของทั้งบทเพลงสื่อถึงช่วงเวลาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันของตัวละคร Raju แบ่งออกเป็น 4 Sequence
– Rita อาศัยอยู่บนสรวงสวรรค์ มีเสี้ยวพระจันทร์ติดระหว่างคิ้ว เครื่องประดับระยิบระยับเหมือนแสงดาว
– Raju อาศัยอยู่ในขุมนรก เร่าร้อนด้วยเปลวเพลิง ซาตานมีความอัปลักษณ์ตะปุ่มตะป่ำ ตัวเขาสวมชุดสีดำ
– เริ่มที่ Om namah shivay (แปลว่า Hail Lord Shiva) สองหนุ่มสาวพบเจอกันที่รูปปั้นของพระศิวะ Rita เป็นผู้ฉุดดึง Raju ขึ้นมาจากขุมนรก แนะนำให้รู้จักสรวงสวรรค์
– ขณะทั้งสองกำลังขึ้นสู่สรวงสวรรค์ชั้นบนสุด กลับถูกภาพซ้อนมารผจญของ Jaggu ทำให้ Raju กลับสู่นรก รูปปั้น ความฝันทุกสิ่งอย่างที่วาดฝันไว้ พลันถล่มพังทลาย

เกร็ด: นี่เป็นครั้งแรกของฉากความฝัน นรก-สวรรค์ ในภาพยนตร์ Bollywood ที่กลายเป็นเทรนด์สะท้อนจิตวิทยาของตัวละครมาถึงปัจจุบัน

ตัดต่อโดย Raj Kapoor, เริ่มต้น Prologue ที่ในชั้นศาล ตัวละคร Raju อยู่ในแท่นของผู้ต้องหา มีทนายความคือ Rita และผู้กล่าวหาคือ Judge Raghunath ที่กล่าวอ้างว่าไม่รู้เหตุผลใดๆทั้งนั้นที่ชายคนนี้ต้องการลอบสังหารตนเอง เรื่องราวต่อจากนี้คือการย้อนอดีต Flashback ดำเนินไปเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน จบด้วยคำตัดสินความผิดและจำคุก

การที่หนังเริ่มต้นแบบนี้ ก็เพื่อชักชวนให้ผู้ชมตัดสินเรื่องราวดังกล่าว ตามทัศนะของคุณเอง ใครเป็นฝ่ายถูก-ผิด สมควรได้รับบทลงโทษทัณฑ์เช่นไร

หลายครั้งทีเดียวที่หนังแทรกภาพท้องฟ้า ก้อนเมฆ ตัวละครจับจ้องมองพระจันทร์ นี่ก็เพื่อให้เกิดสัมผัสของสุนทรียะ เพราะส่วนใหญ่ของหนังสร้างฉากถ่ายทำในสตูดิโอ การเห็นภาพธรรมชาติจักได้เกิดสัมผัสของความสมจริง (Realism) และมีนัยยะสะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครขณะนั้นๆด้วย

เพลงประกอบ ร่วมงานกับคู่หูดูโอ้ Shankar Jaikishan สองนักแต่งเพลงระดับตำนานของอินเดีย ขาประจำของ Raj Kapoor ตั้งแต่ Awaara (1951) สไตล์เพลงคือ Indian Classic ชื่นชอบการผสมผสานดนตรีตะวันตกเข้าไปด้วย

บทเพลงแรกที่กลายเป็นตำนานคือ Awaara Hoon (แปลว่า I am a Vegabond/Trump, ฉันเป็นคนเร่ร่อน) แต่งคำร้องโดย Shailendra ขับร้องโดย Mukesh (1923 – 1976) นักร้องเสียงประจำของ Raj Kapoor, ทำนองสนุกสนาน ร้องเล่นรำพรรณาชีวิตของ Raju ตั้งคำถาม ฉันเป็นใคร? คำตอบก็คือ ฉันมันก็แค่คนเร่ร่อน ล่องลอย เรื่อยเปื่อยไปบนโลก

เกร็ด: Awaara Hoon กลายเป็นเพลงโคตรฮิตในหลายๆประเทศ มีการแปลเป็นภาษาท้องถิ่น รัสเซีย, จีน, ตุรกี, โรมาเนีย ฯ และว่ากันว่าเป็นหนึ่งในเพลงโปรดของท่านประธาน เหมาเจ๋อตุง

บทเพลงคู่ Dam Bhar Jo Udhar Munh Phere (แปลว่า If you’d turn for a while…) ขับร้องโดย Mukesh กับ Lata Mangeshkar ผมจะขอเรียกเพลงนี้ว่า ‘โอ้จันทรา…’ เพราะคำร้องท่อนฮุคหนึ่งที่คนไทยได้ยินแล้วน่าจะจับใจความได้อยู่ [จะบอกว่านี่เป็นคำแรกๆของภาษาฮินดี ที่ผมจดจำได้ขึ้นใจเลยนะ]

เพลงติดเรตมากๆเลยนะ เนื้อร้องแปลได้ประมาณว่า ‘โอ้ จันทร์เจ้าขา หลบหน้าหลบตาเข้ากลีบก้อนเมฆสักแปปได้ไหม ฉันอยากกอดจูบลูบไล้ร่วมรักหลับนอนกับคนรัก’ ประมาณว่ากำลังจะทำเรื่องนอกรีตประเพณี เลยไม่อยากให้เทพเทวดาฟ้าดินเป็นประจักษ์พยานสักเท่าไหร่

สิ่งที่ผมชื่นชอบสุดของเพลงนี้ คือ Nargis มัดผมทำตัวไร้เดียงสา หมุนม้วนบิดตัวลีลา ดิ้นกลิ้งไปมารอบเสากระโดงเรือ (ราวกับเต้นรูดเสา) ขณะที่ Raj นั่งอยู่เฉยๆ จับจ้องมองพระจันทร์อย่างไม่คลาดสายตา ลับก้อนเมฆเมื่อไหร่นะ จะ…

ดี-ชั่ว เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องมีความสัมพันธ์กับเชื้อชาติพันธุ์ ชนชั้นฐานะ หรือภาพลักษณ์หน้าตาเครื่องแต่งกาย แต่คือเนื้อในจิตใจและสำนึก นี่เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า กฎหมายมนุษย์ก็ไม่สามารถใช้ตัดสินพิจารณาได้

สิ่งที่พ่อ Prithviraj Kapoor หรือตัวละคร Judge Raghunath ตัดสินลูกชาย Raj Kapoor ด้วยลักษณะรูปลักษณ์ ความเข้าใจภายนอก นี่เป็นบทเรียนที่มีคุณค่าทรงพลังมากๆ สั่งสอนแนะนำตักเตือนผู้ชมทั้งหลายให้มีสติ เปิดโลกทัศน์ความคิดเข้าใจของตนเอง ใช่ว่าทุกอุดมการณ์ หลักการ หรือความเชื่อที่เคยยึดถือมั่น จะเป็นสิ่งถูกต้องสัจนิรันดร์เสมอไป

ในกรณีของ Prithviraj กับ Raj ผมว่าเป็นเรื่องปกตินะ ที่พ่อมักจะมองลูกเป็นลูกอยู่วันยังค่ำ เพราะตัวเองมีประสบการณ์อาบน้ำร้อนมาก่อนเป็นสิบๆปี แล้วอยู่ดีๆลูกชายที่ยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม จะขึ้นมาเป็นผู้แบกภาระออกคำสั่งกำกับตนเอง มันคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะยอมรับกันอยู่แล้ว … ซึ่งสำหรับ Raj ผมว่าเขาคงจดจำบทเรียนนี้อย่างฝังใจ ไม่เคยที่จะปิดกั้นลูกชายของตนเอง Shashi โตปุ๊ปก็ปล่อยอิสระเลย ไม่มีต้องเล่นแง่ลีลาเหมือนพ่อของตนเอง

บทเรียนหนึ่งที่ผมจดจำฝังใจจากการรับชมหนังเรื่องนี้ คือการครุ่นคิดตามทุกเรื่องในสิ่งที่เราปฏิบัติแสดงออกต่อผู้อื่น ถ้ามันหวนกลับคืนหาตัวเราเมื่อเป็นผู้รับ จะรู้สึกพึงพอใจ มีความเหมาะสมควรหรือเปล่า นี่เรียกว่า ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ ถ้าสามารถนำไปประยุกต์ปรับใช้กับชีวิตจริงได้อยู่เรื่อยๆ ก็น่าจะพบเจอแต่คนดีๆ เพื่อนแท้อยู่รอบตัว

ไม่มีรายงานทุนสร้างหนัง แต่ในอินเดียทำเงินได้ ₹2.3 Crore (ปี 2016 =₹302 Crore =$45 ล้านเหรียญ) ขึ้นแท่นทำเงินสูงสุดตลอดกาลแทน Barsaat (1949) [กำกับ/นำแสดงโดย Raj Kapoor กับ Nargis] แต่ก็ถูกโค่นลงอย่างรวดเร็วปีถัดมาโดย Aan (1952)

ขณะที่สหภาพโซเวียต มีรายงานว่าหนังทำเงินได้ถึง $7.25 ล้านเหรียญ (ปี 2016=$65 ล้านเหรียญ) จากผู้ชม 63.7 ล้านคน ขึ้นแท่นสูงสุดตลอดกาลขณะนั้น จนถึงปัจจุบันเป็นอันดับ 3 ที่มีผู้เข้าชมสูงสุดตลอดกาลของรัสเซีย

ตอนที่ตัวละครของ Nargis รับรู้ว่า Raj Kapoor คือเพื่อนเก่า (ชายคนที่เธอแอบรัก) ไม่ได้เจอหน้ากันถึง 12 ปี ราวกับโชคชะตาฟ้ากำหนด นำพาให้พวกเขาพานพบ ดวงตาของหญิงสาวหยาดเยิ้ม เต็มเปี่ยมด้วยประกายแห่งความสุข อิ่มเอิบเอ่อล้นออกมานอกจอ ทำเอาผมหลอมละลาย ตกหลุมรักหนังโดยทันที

สำหรับวินาทีที่กลายเป็นหนังเรื่องโปรด คือบทเพลง ‘โอ้จันทรา’ เสียงร้องของ Lata Mangeshkar และความน่ารักน่าชัง ม้วนไปมาของ Nargis พาผมขึ้นสวรรค์ไปเลย

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แม้อุดมการณ์ หลักการ ความเชื่อ จะเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในชีวิตมนุษย์ แต่ก็ไม่ควรที่จะปิดกั้นตัวเองรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เพราะถ้าวันใดรับรู้ค้นพบว่า ความเข้าใจของเรามันผิดโดยสิ้นเชิง โลกทั้งใบก็จะล่มสลายพังทลายลงทันที

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอหนัง Bollywood ร้อง-เล่น-เต้น, นักคิด นักปรัชญา ชื่นชอบการครุ่นคิดวิเคราะห์, นักกฎหมาย ทนายความ ผู้พิพากษา, แฟนๆคู่ขวัญ Raj Kapoor กับ Nargis ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง

และบรรดานักโทษ หัวขโมย โจร ผู้ร้ายทั้งหลาย ผู้กระทำความผิดเล็กๆน้อยๆทั้งหลาย อาจช่วยให้เกิดความสำนึกขึ้นได้บ้าง

จัดเรต 13+ กับอุดมการณ์ หลักการ ความเชื่อผิดๆของมนุษย์

TAGLINE | “Awaara คือหนังรักแฝงหลักการชีวิตของ Raj Kapoor และ Nargis โรแมนติกที่สุดในสามโลก”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | FAVORITE


Awara (1951)

(20/12/2015) อีกหนึ่งอัจฉริยะแห่งวงการ bollywood เป็นทั้งโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับและนักแสดง Raj Kapoor ผู้ได้รับฉายาว่า “The Show Man” หรือบางทีก็เรียกว่า Charlie Chaplin ของ Indian cinema ความสำเร็จของ Raj ถูกเปรียบเทียบกับ Clark Gable ทั้งหน้าตาและความนิยม กับผลงานที่ได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุด Awara นี่เป็น 1 ใน All-Time 100 greatest films โดยนิตยสาร TIME อีกด้วย

Raj Kapoor เป็นบุคคลสำคัญมากๆคนหนึ่งของ bollywood สไตล์ของเขานั้นได้ทำการผสมผสานวัฒนธรรมที่หลากหลายเข้ากับวัฒนธรรมอินเดีย ซึ่งตรงข้ามกับ Satyajit Ray ที่จะเน้นทำหนังเกี่ยวกับอินเดียที่เป็นเรื่องใกล้ตัวล้วนๆ มีคำพูดของเขาจากหนังเรื่อง Shree 420 ว่า

Mera joota hai Japani (My shoes are Japanese)
Ye patloon Inglistani (These trousers are English)
Sar pe lal topi Roosi (The red cap on my head is Russian)
Phir bhi dil hai Hindustani (But still, however, my heart is Indian)

ตอนผมดู Awara ตั้งแต่เปิดเรื่องก็รู้สึกเลย ว่านี่เป็นหนังที่มีกลิ่นไอของ hollywood มาก ทั้งการเลือกฉาก สถานที่ เสื้อผ้า เนื้อเรื่อง ตัวละครของ Raj Kapoor ก็มีลักษณะคล้ายกับ Charlie Chaplin แต่เรื่องราวก็ยังคงไว้ซึ่งส่วนประกอบของความเป็นหนัง bollywood ที่ชอบเล่าเรื่องความรัก การแต่งงาน สังคมและวิถีชีวิต หนังนำเสนอภาพจากทั้งสองด้านควบคู่กันไปตลอดเรื่อง

หนังของ Raj Kapoor เต็มไปด้วยการเล่าเรื่องและสัญลักษณ์มากมาย คนไทยดูน่าจะสามารถเข้าใจได้หลายๆฉากเลย มีฉากที่ได้รับการพูดถึงอย่างมาก คือความฝันของพระเอก ซึ่งนำเสนอภาพสวรรค์และนรก สุริยันกับจันทรา (พระอาทิตย์กับพระจันทร์) นี่เป็นส่วนประกอบที่ไม่มีในหนังตะวันตกแน่ๆ จะมีก็แต่ฝั่งตะวันออกเราที่ผสมผสานความเชื่อเข้าไปในหนังด้วย (น่าจะเป็นหนังเรื่องแรกๆเลยที่มีการนำเสนอภาพสวรรค์และนรกออกมาแบบตรงๆแบบนี้ และเป็นหนังเรื่องแรกใน bollywood ที่มีฉากในความฝัน)

เดิมทีหนังเรื่องนี้ที่เขียนบทโดย Khwaja Ahmad Abbas เขาตั้งใจให้ Mehboob Khan กำกับ แต่ก็ตกลงกันเรื่องนักแสดงไม่ได้ เพราะ Mehboob ต้องการให้ Dilip Kumar เป็นพระเอก และ Ashok Kumar เป็นผู้พิพากษา บทหนังจึงมาลงเอยกับ Raj Kapoor ที่ตัดสินใจเล่นเองกำกับเอง และให้ผู้เป็นพ่อแท้ๆ Prithviraj Kapoor เล่นเป็นผู้พิพากษา และ Shashi Kapoor ที่เป็นน้องชายเล่นเป็นพระเอกในวัยเด็ก

ยังมีอีก 1 นักแสดงที่สำคัญมากๆในวงการ bollywood เธอคนนั้นคือ Nargis ผมเปรียบเทียบเธอคือ Noriko แห่ง bollywood ด้วยความที่หน้าตาคล้ายกันมาก แถมได้เล่นหนังที่เป็นเรื่องสำคัญๆ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และ popular มากๆด้วย Nargis เป็นผู้หญิงอินเดียคนแรกที่ได้เข้าชิง Best Actress ของ Academy Award จากหนังเรื่อง Mother India (1957) และเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รางวัล Best Actress จาก National Film Award กับเรื่อง Raat Aur Din (1967) ไม่ดังก็ให้รู้ไปสิ

กับ Awara การแสดงของเธอ มันช่างตราตรึงมากๆ ทั้งแววตา สีหน้า รอยยิ้ม ความรู้สึกมันช่างสมจริงมากๆ จริงๆมันไม่ใช่แค่สมจริงนะ แต่มันจริงๆเลย เพราะเธอตกหลุมรักกับ Raj Kapoor จริงๆ ผมดูแล้วแบบว่า… ทำใจไม่ได้… มันสมจริงมากๆ ตอนนั้น Raj Kapoor แต่งงานไปแล้ว แต่ Nargis จริงๆก็ไปยุให้ Raj เลิกกับภรรยาแล้วมาแต่งกับตน แต่ Raj ไม่ยอม ทั้งคู่ทำหนังด้วยกันหลายเรื่องมากในช่วงนั้น ว่ากันว่า เอาจริงๆทั้งสองก็เป็นชู้กันแต่ก็ไม่มีหลักฐานอะไรยืนยัน สุดท้ายแล้ว Nargis ก็จำต้องไปแต่งกับคนอื่น Sunil Dutt ทั้งคู่ไปเจอกันที่กองถ่ายหนังเรื่อง Mother India ซึ่งหลังจากเธอแต่งงานแล้วก็เริ่มเพลาๆการแสดงลง จนออกจากวงการในที่สุด (ชีวิตแบบเดียวกับ Setsuko Hara หรือ Noriko ของญี่ปุ่นเปะๆเลย อายุก็ห่างกันไม่มากด้วย Setsuko เกิด 1920 ส่วน Nargis เกิด 1929)

Radhu Karmakar ผู้กำกับภาพที่ทุกช็อตในหนังเขาเป็นคนถ่ายเองทั้งหมด เขาเป็นผู้กำกับภาพขาประจำของ Raj Kapoor ใน Awara เป็นหนังขาวดำที่มีการเล่นกับแสงและเงาอย่างชาญฉลาด ดูแล้วแทบทุกฉากจะถ่ายในสตูดิโอเซตฉากขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ทั้งฉากล่องเรือ ฉากชายหาด ที่ดูเหมือนน่าจะใช้สถานที่จริงถ่ายได้ แต่กลับสร้างฉากขึ้นมาให้สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมทุกอย่างได้ ผมสังเกตการถ่ายภาพในหนังมันเหมือนมีด้านเดียว คือเราจะไม่ได้เห็นฉากนั้นโดยรอบ 360 องศา แต่จะเห็นเฉพาะด้านหน้าด้านเดียว เหมือนเวลาไปดูละครเวทีเราจะเห็นเฉพาะด้านหน้าเท่านั้น หนังเรื่องนี้เลยมีการถ่ายภาพที่มีกลิ่นไอของละครเวทีพอสมควร

การเซตฉาก อย่างที่ผมบอก คิดว่าหนังเรื่องนี้ถ่ายกันในสตูดิโอแทบทั้งเรื่อง เซตฉากแบบว่าอลังการ ทุ่มทุนอย่างมาก อย่างฉากในฝันผมก็ไม่รู้มันจำเป็นต้องทุ่มทุนกันขนาดนั้นเลยเหรอ ไม่ใช่ว่าออกไปหาสถานที่ถ่ายทำจริงๆงบประมาณจะถูกกว่าหรือเปล่า … แต่ก็นะ เพราะการที่ถ่ายในสตูดิโอ ทำให้ผู้กำกับสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆมากมายในหนังได้ เช่นว่า ขณะนั้นเป็นอารมณ์โกรธ ก็ใส่ภาพฟ้าแลบ ใช้ไฟกระพริบๆเห็นเป็นเงาสะท้อน หรือการควบคุมให้ฝนตก ควบคุมให้ตรงนี้เห็นเป็นเงา ตรงนี้เห็นเป็นสว่าง เราจะเห็นลักษณะแบบนี้เต็มไปหมดในหนังเรื่องนี้

เพลงประกอบโดย Shankar-Jaikishan ทั้งสองเป็น Dualist นะครับ สไตล์เพลงคือ indian classic ที่ผมบอกว่าหนังเรื่องนี้มีกลิ่นไอของหนังตะวันตก นอกจากภาพ ฉากแล้ว เพลงนี่แหละที่คล้ายๆกับหนัง hollywood มาก คือมีการใช้ไวโอลิน และ Orchestra (ที่ปกติหนัง bollywood มักจะไม่ใช้กัน) ผสมผสาน สลับกับเครื่องดนตรีประจำของ bollywood ไม่น่าเชื่อว่าส่วนผสมนี้จะเข้ากันได้อย่างกลมกลืน ถ้าไม่สังเกตก็ไม่รู้แน่ๆ

สำหรับ Awara Hoon เพลงฮิตของหนังเรื่องนี้ แปลว่า Tramp (จรจัด) มีลักษณะคล้ายๆกับตัวละครที่ Charlie Chaplin ชอบเล่นมากๆ แถมไม่ใช่แค่เรื่องนี้เรื่องเดียว Raj Kapoor ยังแสดงบทที่มีลักษณะคล้ายๆกับ Tramp หลายเรื่อง เขาเลยได้ฉายาหนึ่งว่า Charlie Chaplin แห่ง Bollywood

ตอนหนังเรื่องนี้ออกฉายก็ฮิตมาก ไม่ใช่แค่ในอินเดียแต่ยังรัสเซีย จีน ตุรกี เอเชียใต้ ตะวันออกกลางและอีกหลายๆประเทศ ด้วยความที่มีการเปรียบเทียบเรื่องราวความยุติธรรมในหนัง กับการเลือกปฏิบัติของชาติที่แพ้สงคราม แม้หนังเรื่องนี้จะเกิดขึ้นหลังจาก WW2 จบไปหลายปีแล้ว แต่คนก็ยังพูดถึง แม้แท้ที่จริงหนังเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสงครามเลย แต่ถ้าดูแล้วจะตีความไปแบบนั้นก็ไม่ผิดเสียทีเดียว

ฉากในศาล กับการตัดสินใจ ความยึดมั่นของตัวละคร นี่เป็นหนังที่เกี่ยวกับความเชื่อ เชื่อว่าอะไรถูก เชื่อว่าอะไรผิด และความเชื่อที่ว่าถูก ถูกจริงหรือเปล่า ความเชื่อที่ว่าผิด ผิดจริงหรือเปล่า เราสามารถอยู่กับความผิดในการตัดสินใจนั้นได้ไหม หนังไม่ใช่แค่แฝงแนวคิดพวกนี้ แต่ยังนำเสนอผลลัพท์ของการตัดสินใจนั้นๆด้วย … ย่อหน้านี้พูดถึงเรื่องราวในหนังนะครับ น่าสนใจขึ้นบ้างไหมเอ่ย

นี่เป็นหนังของ Raj Kapoor เรื่องแรกที่ผมดูนะครับ จะลองหาเรื่องอื่นมาดูด้วย ผมค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้มาก เพราะหนังมีแนวคิดที่น่าสนใจทีเดียว การนำเสนอก็เยี่ยมยอด แต่ถ้าเทียบกับ Pyaasa แล้ว ผมชอบ Pyaasa มากกว่า ในส่วนเนื้อเรื่อง การขบคิด ตีความและโดยเฉพาะตอนจบที่ Awara สู้ไม่ได้เลย หนังมันขาด Impact ที่จะทำให้คนดูอึ้ง ทึ่ง พูดไม่ออก แต่ Awara ก็มีการออกแบบ และงานสายเทคนิคที่เหนือชั้นกว่า Pyaasa มากเช่นกัน โดยเฉพาะฉากในความฝันมันยิ่งใหญ่อลังการมากๆ แถมรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ เทคนิคการเล่นกับกล้อง แสงสีและเงา กลิ่นไอเหมือนกันหนัง hollywood เลย

ผมแนะนำให้ลองหาดูนะครับ Awara ผมดูใน Youtube มีซับ eng ค้นหาเอาเองได้เลยนะครับ

คำโปรย : “คู่พระนางที่มีเคมีเข้ากันมากที่สุด Raj Kapoor กับ Nargis ด้วยเทคนิคการเล่าเรื่องที่ผสมผสานวัฒนธรรมตะวันตกเข้ากับตะวันออก งานสร้างฉากที่ยิ่งใหญ่อลังการ เรื่องราวของความรักต่างชนชั้น การตัดสินใจและความเชื่อ Awara เป็นหนังที่คอหนัง bollywood ที่ชอบ hollywood ด้วยห้ามพลาดเด็ดขาด”
คุณภาพLEGENDARY
ความชอบFAVORI

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: