Babel

Babel (2006) hollywood : Alejandro González Iñárritu ♥♥♥♥

4 ประเทศ 4 เรื่องราว แม้ถูกแบ่งแยกด้วยพรมแดน ภาษา ศาสนา เชื้อชาติพันธุ์ แต่มนุษย์ทุกคนบนโลกนั้นล้วนต้องพานพบเจอ ‘ความตาย’ สัจธรรมความจริงที่ไม่มีใครไหนสามารถหลบหลีกหนีได้รอดพ้น

หอคอยบาเบล (Tower of Babel) ปรัมปราในหนังสือปฐมกาล, พระคัมภีร์ไบเบิล (11:1-9) เชื่อกันว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์ได้ร่วมมือร่วมใจ ก่อร่างสร้างหอคอยให้สูงเสียดฟ้า ความมุ่งหมายเพื่อรวบรวมอารยธรรมต่างๆเข้าไว้ด้วยกัน แต่พระเจ้ากลับเล็งเห็นการกระทำดังกล่าวท้าทายพระองค์ นำมาซึ่งความเย่อหยิ่งผยองจองหองเห็นแก่ตัว จึงทรงดลบันดาลให้เกิดสายฟ้าผ่าฟาด พังทลายหอคอยนี้ลง และสาปแช่งให้มนุษย์จากเคยพูดภาษาเดียวกลายเป็นไม่สามารถสื่อสารเข้าใจกัน หมดสิ้นความสามัคคีสมัครสมานฉันท์ จนต้องแยกย้ายกระจัดกระจายไปปักหลักอาศัยอยู่ทั่วโลก

ภาพยนตร์เรื่อง Babel นำเสนอความแตกต่างของมนุษย์ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก อันเป็นต้นสาเหตุความขัดแย้ง เห็นต่าง ไม่สามารถทำความเข้าใจกัน ทั้งๆชีวิตล้วนมีเป้าหมายปลายทางเดียวเท่านั้นคือ ‘ความตาย’ แต่กลับหาความสามัคคีสมานฉันท์ไม่ได้เลยสักนิด

ใครเคยรับชม Amores perros (2000) และ 21 Grams (2003) สองผลงานก่อนหน้าของผู้กำกับ Iñárritu คงจะพานพบเห็นโครงสร้าง แนวความคิดที่สัมพันธ์คล้ายคลึง ซึ่งเรื่องสุดท้ายใน Trilogy of Death ได้ขยายขนาดใหญ่ออกสู่ระดับโลก โดยจุดร่วมเชื่อมโยงแปรเปลี่ยนจากอุบัติเหตุรถชน กลายมาเป็น ‘อาวุธปืน’ สัญลักษณ์ของการต่อสู้/เข่นฆ่า เพื่อให้ชีวิตสามารถดิ้นรนเอาตัวรอดอยู่ได้


Alejandro González Iñárritu (เกิดปี 1963) ชื่อเล่น Negro ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ Mexican เกิดที่ Mexico City คนสุดท้องจากพี่น้อง 7 คน เมื่ออายุ 16 ปี ทำงานในเรือขนส่งสินค้าข้ามมหาสมุทร Atalantic จึงมีโอกาสเปิดโลกกว้าง ท่องเที่ยวยุโรป แอฟริกา สองปีถัดมาเรียนต่อสาขาสื่อสาร Universidad Iberoamericana, จบแล้วได้เป็นนักจัดรายการวิทยุ สถานี WFM ต่อมากลายเป็นโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ โฆษณา จนกระทั่งรู้จักเพื่อนนักเขียน Guillermo Arriaga ร่วมกันก่อตั้งสตูดิโอ ร่วมงานสร้างหนังสั้น ซีรีย์โทรทัศน์ และภาพยนตร์เรื่องแรก Amores perros (2000)

ผลงานในช่วงทศวรรษแรกๆของ Iñárritu จะยังไม่เน้น Long Take งานภาพมีความโฉบเฉี่ยวฉวัดเวียน ตัดต่อรวดเร็วฉับไว นำเสนอเรื่องราวหลากหลายมุมมองที่ไม่สัมพันธ์ แตกต่างกัน แต่สามารถเชื่อมโยงด้วยบางสิ่งอย่าง ขณะที่หัวข้อสนใจมักเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สรรพสัตว์ ธรรมชาติ เกิด-ตาย/การมีชีวิต

เกร็ด: ภาพยนตร์เรื่องโปรดของ Iñárritu คือ Andrei Rublev (1966)

รอยบาดหมางระหว่าง Iñárritu กับ Arriaga เริ่มต้นตั้งแต่ 21 Grams (2003) เพราะผู้กำกับปฏิเสธที่จะให้เครดิตร่วมในส่วนการสร้างสรรค์ผลงาน (น่าจะเป็นเครดิตผู้กำกับร่วม) เพราะถือว่าคือวิสัยทัศน์ตนเองทั้งหมดในการรังสรรค์ภาพออกมาจากตัวหนังสือ

สำหรับ Babel ถึงทั้งสองยังคงร่วมงานกันอยู่แต่ถือเป็นครั้งสุดท้าย ส่วนหนึ่งน่าจะนำเอาร่องรอยบาดหมางดังกล่าวมาเป็นแรงบันดาลใจ เพราะอะไร? ทำไม? พูดคุยกันรู้เรื่องแท้ๆ กลับยังมีความครุ่นคิดเห็นแตกต่างไม่ลงรอย

Iñárritu ใช้เวลาเป็นปีๆในการศึกษาค้นคว้า ซึมซับหลากหลายวัฒนธรรมที่เลือกมาเป็นพื้นหลังเรื่องราว

“I spent one year [trying] to really assimilate, absorb, and be very respectful with every culture. I tried to not judge them, or portray them as stereotypes or cartoonish—you know, the misbehaving Muslims, or the lazy Mexicans, or the selfish Americans. Compassion is the word for this film”.

–  Alejandro González Iñárritu

ความตั้งใจแรกคือการค้นหาสิ่งที่ทำให้มนุษย์แบ่งแยก/แตกต่างกัน แต่ระหว่างพัฒนาบทหนังไปเรื่อยๆได้เกิดวิวัฒนาการปรับเปลี่ยนแปลงไป ที่สุดลงเอยด้วยแนวคิด อะไรที่สามารถทำให้มนุษย์ร่วมกันเป็นหนึ่งได้

“I started out making a film about what really separates us. But during the process I was transformed—and my films are extensions of myself. I ended up doing a film about what unites us”.

หนังแบ่งออกเป็นสี่เรื่องราว ดำเนินเรื่องสลับกันไปมา
– ท่ามกลางทะเลทราย Morocco, Abdullah ขายปืนไรเฟิล .270 Windchester ให้กับ Hassan Ibrahim เพื่อใช้ยิงขับไล่หมาไนจากฝูงแกะ ส่งต่อให้บุตรชายสองคน Yussef และ Ahmed แต่ทั้งสองกลับนำทดลองยิงเล่งไปที่รถบัสคันหนึ่ง
– ชายแดนสหรัฐอเมริกา/Mexico, Amelia (รับบทโดย Adriana Barraza) รับเลี้ยงเด็กสองคน Debbie (รับบทโดย Elle Fanning) และ Mike (รับบทโดย Nathan Gamble) เพราะพ่อ-แม่ของพวกเขาไม่สามารถกลับบ้านได้ทันวันงานแต่งงานลูกชายของเธอ จึงตัดสินใจพาเด็กๆข้ามพรมแดนไปร่วมงานด้วยยัง Tijuana, Mexico โดยมีหลานชาย Santiago (รับบทโดย Gael García Bernal) เป็นผู้ขับรถ แต่ขากลับดันดื่มเหล้าเมามาย ขณะกำลังข้ามพรมแดนกลับจึงมีเรื่องวุ่นวายให้…
– กลับมาที่ Morocco, เรื่องราวของ Richard Jones (รับบทโดย Brad Pitt) และภรรยา Susan (รับบทโดย Cate Blanchett) เดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนทำใจหลังการสูญเสียลูกคนที่สามโดยเฉียบพลัน (SIDS) แต่ระหว่างการเดินทางเธอพลัดโดนกระสุนลูกหลงจากไหนก็ไม่รู้ ได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่โรงพยาบาลช่างอยู่ห่างไกลเสียเหลือเกิน
– ที่ญี่ปุ่น, Chieko Wataya (รับบทโดย Rinko Kikuchi) วัยรุ่นสาวหูหนวก เธอยังไม่สามารถปรับตัวได้หลังจากแม่ฆ่าตัวตาย ประกอบกับพ่อ Yasujiro Wataya (รับบทโดย Kōji Yakusho) ที่ไม่ใคร่สนใจใยดีเธอสักเท่าไหร่ จึงพยายามอ่อยเหยื่อลวงล่อผู้ชาย แต่ดันไม่มีใครไหนเอา จนกระทั่ง…


William Bradley ‘Brad’ Pitt (เกิดปี 1963) นักแสดง โปรดิวเซอร์สัญชาติอเมริกา เป็นดาราชายน่าจะถือได้ว่ามีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในโลก, ผลงานแรกที่ทำให้เขาเริ่มเป็นที่รู้จักคือ Thelma & Louise (1991), A River Runs Through It (1992) จนนักวิจารณ์ชมว่าต่อไปคงโด่งดังเหมือน Robert Redford สมัยหนุ่มๆ ประสบความสำเร็จอย่างสูงกับ Seven และ 12 Monkeys ตามมาด้วย Fight Club (1999) และผลงานอื่นๆ อาทิ Ocean’s Eleven (2001), Troy (2004), Mr. & Mrs. Smith (2005) ฯ

ช่วงต้นทศวรรษ 2000s ผู้ชมมักไม่ค่อยเห็น Brad Pitt แสดงบทบาทดราม่าเข้มข้นสุดเหวี่ยงแบบ 12 Monkeys หรือ Fight Club มักเน้นขายความเซ็กซี่ หล่อเหลา Martinee Idol แต่เรื่องนี้ได้รับคำท้าทายจาก Iñárritu ทำไมนายไม่ลองแซมผมขาว รับบทตัวละครที่แก่กว่าตนเองดูสักหน่อย (ตอนนั้น Pitt อายุ 45 ปี รับบทตัวละครอายุ 50 ปี)

รับบท Richard Jones สูญเสียลูกคนสุดท้อง ทำให้อยู่ดีๆหายตัวไปไม่บอกกล่าว (ประมาณไปค้นหาตนเองแบบ Paris & Texas) หวนกลับมาชักชวนภรรยา ออกเดินทางสานความสัมพันธ์ยังดินแดนไกลปืนเที่ยง Morocco ทีแรกทั้งคู่ก็ยังประติดไม่ประต่อ กระทั่งอยู่ดีๆภรรยาถูกกระสุนลูกหลง แม้ตนเองไม่ได้รับบาดเจ็บอะไร แต่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว พยายามอย่างยิ่งจะหาหนทางช่วยเหลือเธอให้จงได้

แม้จะแค่บทบาทเล็กๆไม่กี่นาที แต่นั่นแหละคือศักยภาพความสามารถของ Pitt ที่หวนกลับมาทุ่มเทให้กับการแสดงอย่างเต็มที่อีกครั้ง เอ่อล้นด้วยอารมณ์ ความอึดอัดอั้น เกรี้ยวกราดโกรธ มิอาจควบคุมสติสตางค์ตนเองได้ ทั้งๆไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆทางกาย แต่ถือว่าทุกข์ทรมานรวดร้าวใจอย่างถึงที่สุด

“I want Brad Pitt to [blend in] with humanity, so he’s not Brad Pitt anymore. It’s not about celebrities. It’s not about movement and explosions. I want the people to really feel the weight of the dead. I want the people to feel the weight of pain”.

–  Alejandro González Iñárritu


Catherine Elise Blanchett (เกิดปี 1969) นักแสดงหญิงสัญชาติ Australian เกิดที่ Ivanhoe, Victoria มีชื่อเสียงจากการรับบท ราชินีอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ ในหนังเรื่อง Elizabeth (1998), โด่งดังสุดจากการรับบท Galadriel ใน Lord of the Rings Trilogy (2001-2003), ตามด้วย The Aviator (2004) คว้า Oscar: Best Supporting Actress, Blue Jasmine (2013) คว้า Oscar: Best Actress, ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานกับ Haynes เรื่อง I’m Not There (2007)

รับบท Susan Jones เฉกเช่นเดียวกับ Richard จิตใจเต็มไปด้วยความรวดร้าวทุกข์ทรมานหลังจากสูญเสียลูกคนสุดท้อง แต่เพราะไม่สามารถหลบลี้หนีหายหน้าหายตาไปแบบสามีเพราะต้องคอยเลี้ยงดูแลลูกๆอีกสองคน เมื่อเขากลับมาจึงยินยอมทำตามคำร้องขอ ทั้งๆเต็มไปด้วยความขลาดหวาดสะพรึงกลัว ไม่รู้ฝังใจอะไรต่อ Morocco ว่าเป็นดินแดนอันตราย ขนาดว่าตนเองโดนกระสุนลูกหลงยังพยายามปฏิเสธขัดขืน แต่หลังจากเสพกัญชาเข้าไป จิตใจค่อยๆสงบลงและเริ่มครุ่นคิดเข้าใจอะไรบางอย่างขึ้นได้

ช่วงทศวรรษ 2000s สังเกตว่า Blanchett ชอบรับงานที่หลากหลาย ท้าทายความสามารถตนเองขึ้นเรื่อยๆ สำหรับ Babel แม้เป็นบทเล็กๆคลุกกองเลือด ทีแรกเห็นว่าจะบอกปัดปฏิเสธ แต่เพราะอยากร่วมงาน Iñárritu เลยยินยอมตอบตกลง แถมเป็นการอารัมบทก่อนร่วมงานครั้งแรกกับ Pitt ก่อนต่อด้วย The Curious Case of Benjamin Button (2008)

ภาพลักษณ์ผมบลอนด์ของ Blanchett สะท้อนความไฮโซ หัวสูง สีหน้าสายตาเต็มไปด้วยความหวาดสะพรึงกลัวทุกสิ่งอย่างของประเทศ Morocco แถมคำพูดประโยคแรก ‘เรามาที่นี่กันทำไม?’ แสดงถึงการปกปิดกั้น ไม่ยินยอมรับอะไรจากใครอื่นนอกจากตัวตนเอง ซึ่งเธอก็กำลังค่อยๆมีโอกาสได้รับเรียนรู้ เกิดวิวัฒนาการ แต่ก็ไม่รู้ท้ายที่สุดจะสามารถปรับเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด

ตัวละครของ Richard และ Susan ต่างสะท้อนสันดาน/ตัวตน สามารถเปรียบเทียบแทนได้กับชนชาวอเมริกัน ที่เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่งหัวสูง ทะนงตน เห็นแก่ตัว เกิดความเข้าใจอะไรผิดๆโดยง่าย และครุ่นคิดว่าเงินสามารถซื้อได้ทุกสิ่งอย่าง


Rinko Kikuchi (เกิดปี 1981) นักแสดงหญิงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Hadano, Kanagawa เมื่อตอนอายุ 15 ปี ได้รับชักชวนเข้าสู่วงการโดยแมวมอง ทดสอบหน้ากล้องได้บทสมทบ Will to Live (1999) ของผู้กำกับ Kanade Shindo, กระเสือกกระสนดิ้นรนไปเรื่อยๆจนพอมีชื่อเสียงกับ The Taste of Tea (2004), กระทั่งได้รับเลือกให้แสดง Babel (2006) แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที กลายเป็นนักแสดงญี่ปุ่นคนแรกได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress

รับบท Chieko Wataya เด็กหญิงเป็นใบ้ นิสัยเลือดร้อนเพราะเต็มไปด้วยความอึดอัดอั้นจากพบเห็นการตายของแม่ต่อหน้าต่อตา ต้องการหาทางระบายแต่พูดบอกออกไปไม่ได้ แถมพ่อก็ไม่เคยให้ความสนใจใยดี แปรสภาพกลายเป็นความร่านพิศวาส ต้องการร่วมรักมี Sex กับใครก็ได้ ถึงขนาดถอดกางเกงในโชว์แต่กลับไม่มีใครไหนใคร่เอา จนสุดท้าย…

ทีแรกผู้กำกับ Iñárritu อยากได้นักแสดงญี่ปุ่นที่เป็นใบ้จริงๆ แต่ก็ยกเว้นไว้สำหรับ Kikuchi ให้มาทดสอบหน้ากล้อง ใช้เวลาเป็นปีๆกว่าจะยินยอมตอบตกลงเลือกเธอ “I will give you Chieko.”

Kikuchi ไม่ใช่ผู้หญิงสวยหรือดูร่านสวาท แต่ใบหน้าและสายตาเธอมีอะไรบางอย่างลึกลับหลบซ่อนเร้นไว้ภายใน ซึ่งการไม่สามารถพูดออกมาต้องถ่ายทอดด้วยภาษากายเท่านั้น มันเลยยิ่งเด่นชัดจับต้องได้ถึงอารมณ์ความรู้สึกนั้น … ลึกๆผมแอบเสียดายนะ เพราะการแสดงของเธอตราตรึงมากๆ แต่ผู้ชมส่วนใหญ่คงจดจำแค่ ‘Hairy Monster’ วับๆแวมๆได้เป็นอย่างดี


Adriana Barraza (เกิดปี 1956) นักแสดง/ครูสอนการแสดง สัญชาติ Mexican เกิดที่ Toluca, Estado de Mexico มีพี่น้อง 4 คน เมื่อตอนอายุ 18 ปี ตั้งครรภ์บุตรสาวโดยไม่ทราบใครเป็นพ่อ หลังจากนั้นจึงต้องแต่งงานกับสามีคนแรก ขณะเดียวกันเข้าเรียนคณะวิจิตรศิลป์ Autonomous University of Chihuahua เริ่มต้นจากกำกับละครเวที, แสดงรายการโทรทัศน์, ภาพยนตร์เรื่องแรก The First Night (1998), คุ้นหน้าคุ้นตากับ Amores perros (2000), แจ้งเกิดโด่งดังทั่วโลกกับ Babel (2006)

รับบท Amelia Hernández แม่เลี้ยงเด็กที่กำลังตระเตรียมตัวกลับ Mexico เพื่อร่วมงานแต่งงานของลูกชายคนโต แต่นายจ้างซึ่งคือ Richard และ Susan Jones เกิดเรื่องราววุ่นๆบางอย่างที่ทริป Morocco ทำให้ไม่สามารถกลับมาบ้านทันกำหนดเดิม ซึ่งพอหาคนดูแลแทนไม่ได้เลยตัดสินใจพาพวกเขาไปร่วมงานด้วย ทุกสิ่งอย่างเป็นไปด้วยดีจนกระทั่งขากลับขณะกำลังจะข้ามพรมแดน เมื่อหลานชาย Santiago ในสภาพมึนเมาไม่สามารถสื่อสารพูดคุยรู้เรื่องกลับตำรวจ พุ่งแหกด่านขับรถหลบหนี และทอดทิ้งทั้งสามไว้กลางทะเลทราย เช้าตื่นขึ้นมาท่ามกลางอากาศอันร้อนระอุ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาทางกลับบ้าน

เริ่มต้นเป็นตอนที่ดูเหมือนไม่มีอะไรน่าสนใจ ไฮไลท์เริ่มต้นเมื่อตัวละครถูกทอดทิ้งกลางทะเลทราย ความลุ่มร้อนระอุไม่ใช่แค่สภาพอากาศภายนอกเท่านั้น แต่ยังจิตใจของเธอที่มิสามารถหาหนทางออกจากเขาวงกดแห่งนี้ เลยจำต้องทอดทิ้งเด็กๆตามลำพัง สีหน้า สายตา ท่วงท่าการเดินของ Barraza ให้ตายเถอะ! มันเป็นการกระทำที่โง่เขลาก็จริงอยู่ แต่ผู้ชมนั้นรับรู้จะเกิดความสงสาร เข้าใจเหตุผล แถมโชคชะตากรรมสุดท้ายของเธอเป็นอะไรที่ น่าเศร้าสลดยิ่งนัก!

เกร็ด: Barraza ลงทุนเพิ่มน้ำหนักถึง 35 ปอนด์ เพื่อบทบาทนี้โดยเฉพาะ (แต่พอจะลดเหมือนจะเอาไม่ลงหรือเปล่านะ)


ถ่ายภาพโดย Rodrigo Prieto ตากล้องสัญชาติ Mexican ของผู้กำกับ Iñárritu แจ้งเกิดโด่งดังกับ Amores perros (2000) และโกอินเตอร์ อาทิ 8 Mile (2002), Alexander (2004), Brokeback Mountain (2005), Argo (2012), Silence (2016), The Irishman (2019) ฯ

แม้เรื่องราวจะประกอบด้วย 4 ประเทศ แต่สถานที่ถ่ายทำใช้เพียง 3 ประเทศเท่านั้น (ฉากในสหรัฐอเมริกา ถ่ายทำในประเทศเม็กซิโก) ประกอบด้วย
– Japan ประกอบด้วย Ibaraki และ Tokyo
– Mexico ประกอบด้วย El Carrizo, Tijuana และทะเลทราย Sonora
– Morocco ประกอบด้วย Ouarzazate และ Taguenzalt

ความตั้งใจของ Iñárritu ต้องการให้แต่ละประเทศมีสัมผัสพื้นผิวที่แตกต่างกันออกไป พบเห็นทั้ง 16mm, 35mm (สังเกตจากความหยาบละเอียดของภาพ) ขณะที่ฉากทิวทัศน์สวยๆเห็นว่าใช้ Anamorphic Lens (2.39:1) แต่นำเสนอในอัตราส่วน Widescreen (1.85:1)

เฉดสีหลักคือ แดง น่าจะเพราะต้องการให้เป็นสัญลักษณ์ของชีวิต การต่อสู้ดิ้นรน และความตาย ซึ่งแต่ละประเทศจะมีการปรับย้อมให้แตกต่างกันเล็กน้อย
– Morocco สีแดงไหม้ (Burnt Red)
– Mexico สีแดงทั่วไป
– Japan สีแดงอมม่วง (Magenta Red)

หนังทั้งเรื่องถ่ายทำด้วยกล้อง Hand-Held ซึ่งจะมีความสั่นไหว (เหมือนชีวิต) พบเห็นระยะภาพคลอบคลุมตั้งแต่ Close-Up ถึง Extreme Long Shot มุมก้ม-เงย หลายครั้งหลบซ่อนด้านหลังตัวละคร ถ่ายผ่านกรอบมุมมอง และเทคนิค Whip-Pan สำหรับปรับเปลี่ยนทิศทางการสนทนาอย่างรวดเร็ว (แทนการตัดต่อ) ฯลฯ

ช็อตแรกของหนังเริ่มต้นด้วยการเดินทางของชีวิต Abdullah นำปืนมาขายให้กับ Hassan Ibrahim ถ่ายทำตอนกลางวัน ท่ามกลางผืนแผ่นดินแดนอันเวิ้งว้างว่างเปล่า กล้องเคลื่อนติดตามตัวละครไปทิศทางด้านขวา (คู่ขนานชีวิต)

ช็อตสุดท้ายของหนังถือว่าตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับภาพแรก ถ่ายทำตอนกลางคืน กล้องค่อยเคลื่อนออกจากสองตัวละครในทิศทางตั้งฉาก ล่องลอยออกไปพานพบเห็นตึกรามบ้านช่องสูงใหญ่ ไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่าด้วยส่วนผสม CGI หรือใช้เทคนิคอะไรกันแน่ แต่มอบความฉงนสงสัยคล้ายๆหนังเรื่อง I Am Cuba (1964) ยังไงชอบกล

ทั้งสี่เรื่องราวดูเหมือนว่าจะมีความสมมาตรกันชอบกล อย่างสองช็อตนี้
– ตอนต้นเรื่อง ฝั่งลูกชายคุยกับพ่อ
– ตอนท้ายเรื่อง ฝั่งพ่อคุยกับลูกชาย

คือมันช่างดูน่าพิศวงงงงวย แต่สามารถเติมเต็มครบรอบดั่งวัฎจักรชีวิต

ตัดต่อโดย Douglas Crise และ Stephen Mirrione รายหลังคือขาประจำของ Iñárritu ตั้งแต่ 21 Grams (2003),

หนังดำเนินเรื่องโดยสลับไปมาระหว่าง 4 เรื่องราว มีลักษณะเหมือนจิ๊กซอว์/โมเสส วางเรียงรายกระจัดกระจาย แต่จะมีปริมาณไม่ละเอียดมากเท่า 21 Grams (เพราะเรื่องนั้นตัดสลับแทบจะช็อตต่อช็อต) และทุกเหตุการณ์ดำเนินไปข้างหน้าในระยะเวลา 1 วัน 1 คืน (แต่ไม่จำเป็นว่าต้องคู่ขนานเกิดขึ้นพร้อมกัน)

สังเกตว่าทุกครั้งของการสลับเปลี่ยนเรื่องราว มันจะมีความสัมพันธ์บางอย่างที่คล้องจองกันระหว่างสองฉาก อาทิ
– เด็กชายชาว Morocco วิ่งหลบหนีหลังจากยิงรถบัส -> เด็กชาย Mike วิ่งหลบหลังโซฟา
– Amelia ตัดสินใจพาเด็กๆสองคนออกเดินทางไปร่วมงานแต่งที่ Mexico -> Richard กับ Susan กำลังออกเดินทางท่องเที่ยวยัง Morocco
– Susan ถูกยิง -> ทีมวอลเล่ย์บอลของ Chieko ถูกทำแต้มที่เหมือนจะฟาลว์
– หลังจาก Chieoko โชว์ของลับ -> ภาพของฝูงแกะในหุบเขา
ฯลฯ

ผมนำช็อตนี้มาเพราะวินาทีแรกที่พบเห็นจินตนาการเตลิดเปิดเปิงไปไกลมากๆ มุมกล้องจงใจถ่ายผ่านโขดหินซ้าย-ขวา (เหมือนเรียวขาของหญิงสาว) และฝูงแกะกึ่งกลางดูราวกับ ‘Hairy Monster’

เพลงประกอบโดย Gustavo Santaolalla สัญชาติ Argentine ขาประจำผู้กำกับ Iñárritu, คว้ามาแล้วสองรางวัล Oscar: Best Original Score จากเรื่อง Brokeback Mountain (2005) และ Babel (2006)

สไตล์ของ Santaolalla ยังคงเป็นกีตาร์นำ, บทเพลง Iguazu ท่วงทำนองราวกับการเริงระบำ สะท้อนความสลับซับซ้อนชีวิตที่แตกแขนงแยกออกเป็นหลายร้อยพันหมื่นล้านผู้คน/วัฒนธรรม แต่ทั้งหมดนั้นสามารถเชื่อมโยง มีบางสิ่งอย่างสอดคล้องจองร่วมกันหนึ่งเดียว นั่นความตายที่ไม่มีใครหลบลี้หนีพ้น

เสียงไวโอลินอันโหยหวน บ่งบอกว่าชีวิตไม่ว่าจะพานผ่านความทุกข์ยากลำบาก การสูญเสีย ความตาย แต่ ‘Life Goes On’ ทุกสิ่งอย่างยังคงดำเนินต่อไปไม่มีสิ้นสุด ตราบใดที่เราสามารถเรียนรู้ เติบโต ย่อมเกิดความหวัง และหนทางสามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรคปัญหาไปได้

ทั้งสี่เรื่องราวของหนัง เวียนวนอยู่กับเหตุการณ์สูญเสียใครบางคน/บางสิ่งอย่าง
– ครอบครัว Jones สูญเสียลูกคนสุดท้อง เสียชีวิตจากไปอย่างเฉียบพลัน (SIDS) ทำให้พ่อ-แม่ Richard-Susan เต็มไปด้วยความเจ็บปวดรวดร้าวทุกข์ทรมาน
– ครอบครัว Wataya สูญเสียภรรยา/แม่ ไปกับการฆ่าตัวตาย ทำให้พ่อตีตนออกห่าง (น่าจะคือสาเหตุที่เขาเดินทางไปล่าสัตว์ยัง Morocco) ส่วนลูกสาวกลายเป็นคนร่านราคะ ต้องการใช้ Sex เพื่อลงโทษ/บำบัด/ระบายความคลุ้มคลั่งภายในออกมา
– การเสียชีวิตของพี่ชาย Ahmed ทำให้น้องชาย Yussef ยินยอมรับสารภาพความจริงว่ายิงปืนโดยไม่ตั้งใจ
– และการสูญหายตัวไปของหลาน Santiago ทำให้ Amelia ขาดสติครุ่นคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ปล่อยทอดทิ้ง Debbie และ Mike ไว้กึ่งกลางทะเลทราย นั่นทำให้เธอสูญเสียทุกสิ่งอย่างโดยไม่ตั้งใจ

จุดเริ่มต้นของหนังเกิดจากความตายของภรรยา ทำให้ Yasujiro เดินทางสู่ Morroco มอบปืนให้กับ Abdullah ขายต่อให้ Hassan Ibrahim ส่งต่อลูกชาย Yussef กับ Ahmed ยิง Susan ได้รับบาดเจ็บสาหัส Richard จึงกลับบ้านไม่ทันกำหนดการเดิม Amelia เลยนำพาเด็กๆ Debbie กับ Mike ออกเดินทางไปร่วมงานแต่งยัง Mexico อันเป็นเหตุให้ Santiago ดื่มสุราเมามาย ขณะเดินทางกลับเข้าประเทศถูกตำรวจไล่ล่า และตัดสินใจทอดทิ้งพวกเขาไว้ท่ามกลางทะเลทราย

การจะครุ่นคิดค้นหาต้นตอ ใครผิด? เป็นอะไรที่ผิดมากๆ เพราะการที่ Amelia หลงทางอยู่กลางทะเลทราย มันเกี่ยวอะไรกับการเสียชีวิตภรรยาของ Yasujiro จะไปโทษว่ากล่าวเธอคือต้นตอทุกสิ่งอย่างได้อย่างไร?

เรื่องพรรค์นี้จึงไม่ใช่การโบ้ยบ้ายป้ายสีความผิดใส่ผู้อื่น แต่คือโชคชะตากรรมที่ราวกับโดมิโน่/ห่วงโซ่ แม้จะอยู่คนละซีกโลกแต่กลับเชื่อมโยงเกิดความสัมพันธ์กันโดยไม่รู้

“This film, for me, is about compassion. And it’s about borders—not specifically the ones that are built physically, but those that are built within ourselves … through prejudice; through stereotypes; through branding people, cultures, ideas, or even ideologies. … I think the only way that we can break down those walls is through compassion. Every time that we judge, or every time that we criticize, we have lost that element. And without that element, we are losing our humanity, I think”.

–  Alejandro González Iñárritu

ความแตกต่างทางลักษณะกายภาพของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด คือมโนทัศนคติ ภาพลวงตาที่มนุษย์จินตนาการสร้างสรรค์ขึ้น สาเหตุเพราะความไม่เข้าใจต่อกัน มัวแต่หมกมุ่นครุ่นยึดติดอยู่กับตนเอง จึงไม่สามารถมองเห็น ‘จิตวิญญาณ’ ตัวตนแท้จริงของใครอื่น

ในความเข้าใจของผู้กำกับ Iñárritu มีเพียงความเมตตากรุณา เห็นอกเห็นใจ ‘compassion’ หรือคือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถึงสามารถพังทลายขอบเขตพรมแดนขวางกั้น (เชิงนามธรรม) เปิดโลกทัศน์ทางความคิด และก่อเกิดเสมอภาคเท่าเทียมในสังคม

เมื่อพูดถึงเรื่องใกล้ตัวของ Iñárritu ให้สัมภาษณ์เล่าว่า ตนเองต้องข้ามพรมแดนสหรัฐอเมริกา-เม็กซิโก ทุกๆหกเดือนเพื่อต่อวีซ่า บางครั้งก็ง่าย บางครั้งก็โคตรยาก ราวกับพิธีกรรมบางอย่างเพื่อแสดงความอวดอ้างดีในตนเอง แบ่งแยกพรรคพวกพ้องต่างชาติออกจากกัน

“I cross the border every six months. It’s difficult. Sometimes it’s like a ritual of humiliation. It’s very sad hearing people’s stories while I’m waiting for my visa. I feel privileged compared to how some people are treated. I spoke to one guy who waited three days and he was rejected; he only wanted to cross the border to go to the nearest hospital. The officials don’t care”.

คล้ายๆกับ 21 Grams ที่สามารถมองผลกระทบจากวินาศกรรม 11 กันยายน เหตุการณ์แค่เพียงชาวอเมริกันโดนยิงในกลุ่มประเทศแถบแอฟริกา กลับถูกประโคมข่าวใหญ่โตโด่งดังทั่วโลก แถมพาดหัวว่าเป็นการก่อการร้าย สัมพันธ์ระหว่างประเทศแทบจะขาดสะบั้น!

ตัวละคร Chieko Wataya ดูเป็นคนร่านราคะ มักมากในกามคุณ กล้าเปิดโชว์เรือนร่างกายให้ผู้อื่นได้พบเห็น แต่ถ้ามองเชิงนามธรรม คือความพยายามร้องเรียกให้ผู้อื่นหันมาสนใจ แม้ไร้ซึ่งน้ำเสียงพูดคุยสนทนา แต่ก็ยังสามารถสื่อสารกันได้ เพราะอะไร? ทำไม? ถึงไม่มีใครมองฉันจากตัวตนแท้จริงภายใน!


เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ามา 3 สามรางวัล
– Best Director
– Prize of the Ecumenical Jury
– Technical Grand Prize มอบให้ Stephen Mirrione สำหรับความโดดเด่นด้านการตัดต่อ

ด้วยทุนสร้าง $20 ล้านเหรียญ ทำเงินในสหรัฐอเมริกา $34.3 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $135.3 ล้านเหรียญ ประสบความสำเร็จไม่น้อยเลยทีเดียว

เข้าชิง Oscar 6 สาขา 7 รางวัล
– Best Film
– Best Director
– Best Supporting Actress (Adriana Barraza)
– Best Supporting Actress (Rinko Kikuchi)
– Best Original Screenplay
– Best Film Editing
– Best Original Score ** คว้ารางวัล

เกร็ด:
– Alejandro González Iñárritu กลายเป็นผู้กำกับสัญชาติ Mexican คนแรกได้เข้าชิง Oscar: Best Director
– ครั้งแรกอีกเช่นกันที่สองนักแสดงหญิง จากภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน ไม่ใช่อเมริกันทั้งคู่ เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress (ไม่เชิงว่าแพ้ทั้งคู่เพราะตัดคะแนนกันเองนะครับ Jenifer Hudson จาก Dreamgirl เป็นเต็งหนึ่งอยู่แล้ว)
– หนังพลาดรางวัลใหญ่ให้กับ The Departed (2006) ของ Martin Scorsese แต่ถูกข้อครหาเพราะ Babel เหมาะสมกว่าแทบทุกประการ

ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้ แต่ก็ตราตรึงเพียงการแสดงของ Rinko Kikuchi ที่มีความหาญกล้า ผลักดันตัวละครไปถึงจุดน้อยคนนักจะสามารถไปถึง ซึ่งใน Trilogy of Death เรื่องที่ผมชื่นชอบสุดคือ 21 Grams (2003) > Amores perros (2000) > Babel (2006)

จริงอยู่ที่ไดเรคชั่นของ Iñárritu กับ Babel โดดเด่นลงตัวสุดใน Trilogy of Death แต่เรื่องราวตอนอื่นๆ (นอกจากของ Rinko Kikuchi) ดูไม่น่าสนใจสักเท่าไหร่เลยนะ!

แนะนำนักปรัชญา ครุ่นคิดถึงเป้าหมายชีวิต, นักสังคมศาสตร์ ศึกษาผลกระทบความแตกต่างของสังคม, นักจิตวิทยา ทำความเข้าใจสภาวะทางจิตใจตัวละคร, แฟนๆผู้กำกับ Alejandro González Iñárritu และทีมนักแสดง Brad Pitt, Cate Blanchett, Gael García Bernal, Kōji Yakusho, Adriana Barraza, Rinko Kikuchi ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับภาพโป๊เปลือย พฤติกรรมเห็นแก่ตัว เต็มไปด้วยความเข้าใจผิด

คำโปรย | ผู้กำกับ Alejandro González Iñárritu ผสมผสานคลุกเคล้าความแตกต่างของ Babel ได้อย่างกลมกล่อมลงตัว จนสามารถมองเห็นเป้าหมายปลายทางหนึ่งเดียวเท่านั้นของชีวิต
คุณภาพ | ล่
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: