Baccano! (2007)
อนิเมะซีรีย์ 16 ตอน จากผู้กำกับ Takahiro Omori ที่มีผลงานอย่าง Natsume’s Book of Friend และ Durarara!! ผลิตโดยสตูดิโอ Brain’s Base นี่เป็นอนิเมะที่มีการตัดต่อเจ๋งมากๆ เล่าเรื่องผ่านมุมมองของหลายๆตัวละคร ใช้พื้นหลังเป็นอเมริกาปี 1930 มีส่วนประกอบของแก๊งค์มาเฟีย หัวขโมย ปืน ระเบิด ปล้นรถไฟ ขุดทอง การเล่นแร่แปรธาตุ ผสมผสานด้วยเพลง Jazz เพราะๆ ใครชอบกลิ่นอายของยุคสมัยนี้ไม่ควรพลาด
ผมได้ยินกิตติศัพท์ของอนิเมะเรื่องนี้มาพอสมควร ก่อนที่จะรู้จักชื่อผู้กำกับเสียอีก หลังจากดู Steins;Gate จบ ผมมีความสนใจในอนิเมะที่มีการเล่าเรื่องที่ซับซ้อน เป็นเหตุให้ได้รู้จัก Baccano! และ Durarara!! ได้ยินว่าอนิเมะทั้งสองมีการตัดต่อที่ดูยากมากๆ เป็นความท้าทายที่น่าสนใจ ซึ่งเมื่อได้สัมผัสแล้ว ก็พบว่าจริง นี่เป็นการตัดต่อที่ดูยาก แต่ไม่ถึงกับยากเกินไป เมื่อจับจุดได้ก็สามารถเข้าใจเรื่องราวได้โดนทันที และเมื่อดู Baccano! จบ จะมีความรู้สึกค้างคาบางอย่างจนต้องรีบหา Durarara!! มาต่อทันที (ทั้งๆที่เรื่องราวมันคนละแนวกันเลยเถอะ)
ผมเคยเปรยๆถึง Takahiro Omori มานิดหน่อยตอน Natsume Yūjin-chō ผมมารู้จักเขาตอนเขียนรีวิว Natsume พบว่าเขากำกับ Baccano! และ Durarara!! ด้วย เป็นเป็นความแปลกใจไม่น้อย เพราะมันคนเป็นอนิเมะคนละสไตล์กันเลย แต่ยอมรับทั้ง 3 เรื่องนี้ถูกอรรถรสผมมาก ดูในผลงานของผู้กำกับ รู้สึกเขาจะชอบทำอนิเมะแนวรอมคอมมากกว่านะ สงสัย Baccano! กับ Durarara!! เป็นข้อยกเว้นของเขา (ตามใบสั่งสตูดิโอ) ผมไม่รู้เกิดอะไรขึ้นกับ Baccano! ถึงไม่มี seasons ต่อมาสักทีนะครับ ถึงเราอาจจะมองว่ามันจบแล้วก็ได้ แต่ต้นฉบับมันยังมีต่ออีกเยอะเลย
ดัดแปลงมาจาก Light novel เขียนโดย Ryōgo Narita เขาเขียน Durarara ด้วยนะครับ สำหรับ Baccano! มีถึง 21 เล่มแล้ว จำนวนเล่มมากกว่า Durarara!! อีก แต่ไฉน Durarara!! กลับมี seasonss 2-3-4 ต่อมาแต่ Baccano! ไม่มี! สงสัยยอดขายไม่ดีเลยไม่ได้ทำต่อ (ผมไม่รู้ยอดขายนะครับ) ด้วยความที่ผู้กำกับเป็นคนเดียวกัน ดัดแปลงจาก Light Novel คนเขียนคนเดียวกัน เราจะเห็นตัวละครของ Baccano! ไปโผล่ใน Durarara!! ด้วย
แรงบันดาลใจของผู้เขียน เกิดจากความสนใจอยากเขียนเรื่องราวในยุค Prohibition (ช่วงปี 1920 ถึง 1933) เป็นช่วงที่ในอเมริกาเต็มไปด้วยมาเฟีย โสเภณี ฆาตกรรม ยาเสพติด ยังไม่เคยมี Light Novel เรื่องใดในญี่ปุ่นเลยที่มีเรื่องราวแบบนี้ Narita ดูหนังเรื่อง The Untouchable (1987-Brian De Palma) เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ ในความตั้งใจแรกเขาต้องการเขียนเรื่องเกี่ยวกับนักเวทย์เก่าแก่ (ancient) คนหนึ่งตื่นขึ้นในยุค Prohibition แล้วต้องการยึดครอง New York กลุ่มของมาเฟียจึงรวมตัวกันเพื่อต่อสู้ วิธีการเขียนของ Narita ไม่ใช่การวางพล็อตทั้งหมด แต่เขาสร้างตัวละครขึ้นมาก่อน แล้วให้ตัวละครดำเนินเรื่อง มีเคลื่อนไหว (movement) อย่างอิสระ ไม่ยึดติดกับพล็อตเดิม ทำให้เรื่องราวตอนเขียนเสร็จเปลี่ยนไปจากความคิดแรกพอสมควร กระนั้นการเขียนแบบนี้ทำให้นิยายมีความแตกต่างและโดดเด่นมาก เล่มแรกที่เขียนเสร็จใช้ชื่อว่า The Rolling Bootlegs ซึ่ง Narita ส่งเข้าประกวด Dengeki Novel Prize ในปี 2002 และได้รางวัล Gold Prize ลำดับที่ 3 นั่นทำให้เขากลายเป็นนักเขียนที่ถูกจับตามอง นิยายเล่มนี้ตีพิมพ์เมื่อกุมภาพันธ์ 2003
ผมไม่อยากสปอยเนื้อเรื่องนะครับ แต่ขอสปอยวิธีการตัดต่อแล้วกัน อนิเมะใช้การเล่าเรื่องผ่านมุมมองของหลายๆตัวละครในเหตุการณ์เดียวกัน ที่เรียกว่า point-of-view แบบ non-linear (ไม่ต่อเนื่อง) แต่ใช่ว่าทั้งเรื่องจะวนอยู่ที่เหตุการณ์เดียวนะครับ เหตุการณ์มันดำเนินไปข้างหน้าอย่างช้าๆ มีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน ตัวละครก็อยู่ในสถานที่ต่างๆ การเล่าเรื่องแบบนี้ก็เพื่อเก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆในทุกเหตุการณ์ ซึ่งมันจะจุดที่เชื่อมกันของแต่ละเหตุการณ์อยู่ เมื่อใดที่ถึงจุดเชื่อมนั้นเราจะรู้สึกทึ่งในคนเขียนบท และผู้กำกับที่นำเสนอออกมาได้เจ๋งมากๆ นี่ไม่ใช่หนัง/อนิเมะเรื่องแรกที่มีการตัดต่อแบบนี้นะครับ มันเริ่มมาจาก Rashomon โน่นเลย เรื่องอื่นๆที่ดังๆหน่อย เช่น Vantage Point, Game of Throne ฯลฯ แค่การตัดต่อก็น่าสนใจแล้วนะครับ
กระนั้นมันก็มีจุดที่ทำให้คนดูสับสนอยู่ เพราะเปิดเรื่องมาตอนแรกมันเล่าอะไรก็ไม่รู้ เป็นการแนะนำตัวละครที่แปลกมากๆ ผมเองก็ปรับตัวแทบไม่ทัน แต่อย่าเพิ่งยอมแพ้นะครับ ทนดูต่ออีก 2-3 ตอนก็น่าจะเริ่มจับทางได้ มันมีหลายเรื่องราวที่ดำเนินคู่ขนานกัน บางเรื่องราวก็เอาตอนจบขึ้นก่อนแล้วค่อยๆเล่าย้อน บางเรื่องราวก็ไปเฉลยตอนท้าย เราไม่จำเป็นต้องเข้าใจว่า timeline ที่แท้จริงเป็นยังไงก็สามารถสนุกไปกับอนิเมะได้ การตัดต่อแบบนี้ไม่ต้องไปเข้าใจมันเปะๆนะครับ คิดมากไปก็ปวดหัว แต่ถ้าคนชอบคิดรับรองไม่ผิดหวังแน่ เพราะมันตัดต่อแบบกระโดดไปมาไม่แคร์คนดูเลย คนดูหนังเก่งๆมักจะชอบทำนายอนาคต ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในฉากต่อไป แต่กับ Baccano! ไม่ว่าเดายังไงก็ผิดครับ เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าฉากต่อไปจะไปเล่าตรงไหน ตัวละครไหน จะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ความที่เราคาดการณ์อะไรไม่ได้นี่แหละที่ทำให้อนิเมะเรื่องนี้สุดยอดมากๆ
ทีมพากย์อนิเมะชุดนี้ มีเด่นๆเยอะมาก จะพูดถึงตัวละครที่ผมชอบแล้วกัน ความตั้งใจแรกของผู้เขียนคือให้ Firo เป็นพระเอก พากย์โดย Hiroyuki Yoshino (Allelujah Haptism-Gundam OO, Favaro Leone-Rage of Bahamut: Genesis) แต่กลายเป็นไปๆมาๆ หมอนี่บทหายไปนานพอสมควร เขาไม่โผล่ในช่วงปล้นรถไฟเลย แต่ตอนจบได้แต่งงานกับนางเอก Ennis พากย์โดย Sanae Kobayashi (Akira Toya-Hikaru no Go, Reiko Natsume-Natsume’s Book of Friends, Canon-Fafner) ผมชอบเสียงเธอนะ ห้าวๆเหมือนผู้ชาย แต่ข้างใจบอบบาง ต้องการคนดูแลเอาใจใส่ ขณะที่ตัวร้าย Szilard พากย์โดย Kinryū Arimoto ปู่ยังมีชีวิตอยู่นะครับ ล่าสุดก็พากย์ Whitebeard ใน One Piece นะครับ นี่เป็นตัวร้ายที่หน้าตาดูน่ากลัว การกระทำก็น่ากลัว แต่ไฉนกลับไม่รู้สึกว่าเป็นตัวร้ายที่ดูอันตรายเลย
ลายเส้นอนิเมะเรื่องนี้ถือว่าแปลกนะครับ การเคลื่อนไหวมันดูเหมือนจะขาดๆหายๆ คงเป็นความจงใจของคนทำ Ito Satoshi เป็น art director เห็นว่าเขาไป scout สถานที่ที่จะใช้ประกอบในอนิเมะยังสถานที่จริง อาทิ Manhattan,Chinatown, Little Italy, Brooklyn ฯ แม้แต่รถไฟเครื่องจักรไอน้ำ ก็ไปขอศึกษาจาก Steamtown National Historic Site ที่ Pennsylvania
เพลงประกอบโดย Makoto Yoshimori ใครชอบ Jazz เสียง Saxophone, Trumpet, Trombone ละก็ ห้ามพลาดเลย! ระหว่าง Cowboy Bebop กับ Baccano! ผมเลือกไม่ได้ว่าเรื่องไหนเพลงเพราะกว่า แต่ทั้งสองเอา Jazz มาใส่ได้ลงตัวสุดๆเลย เพลงเปิดของ Baccano! เพราะมากๆ ไม่มีตอนไหนที่ทำให้คุณอยากกดข้ามเพลงเปิดเลย (เผื่อคนไม่สังเกต ครึ่งหลังของเพลงเปิดจะใส่พรีวิวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วไว้ด้วย ทำให้เพลงเปิดแต่ละตอนมีภาพไม่ซ้ำกัน)
วันนี้ผมคงไม่วิเคราะห์เนื้อเรื่องนะครับ ไม่อยากสปอยเนื้อเรื่องสักนิดเลย แต่จะเล่าเป็นความรู้สึกตอนระหว่างดูแล้วกัน Baccano! มันมีความบ้าระดับหนึ่ง คือ ตัวละครหลักไม่มีใครกลัวตาย เขาเลยสามารถทำสิ่งบ้าๆที่ไม่มีใครคาดคิดได้ ศัตรูของพวกเขาดูร้ายกาจ แต่ไม่มีช่วงไหนเลยที่ดูแล้วจะรู้สึกเครียด ตอนแรกผมไม่ชอบ 2 ตัวละครตัวแย่งซีนที่มีเสียงพากย์น่ารำคาญมากๆ Isaac กับ Miria (พากย์โดย Masaya Onosaka [Vash the Stampede-Trigun]และ Sayaka Aoki) ทั้งสองพาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่บ้ามากๆ แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปเรื่อยๆ ผมกลับรู้สึกถึงความบริสุทธิ์ใสซื่อของทั้งสอง คิดอะไรก็พูดออกมาแบบนั้น ไม่มีความชั่วร้ายเจือปนเลย ทั้งสองเป็นคู่รักที่น่ารักมากๆ ส่วนคู่รักตอนจบระหว่าง Firo และ Ennis ถือเป็นรักแรกพบที่ประหลาดๆชอบกล (ใครดูแล้วก็คงเข้าใจว่าประหลาดยังไง) แต่ก็เข้ากันดีนะครับ
16 ตอนของอนิเมะเรื่องนี้ เนื้อเรื่องหลักมี 13 ตอนเท่านั้น (อีก 3 ตอนคือของแถม) ดูวันเดียวก็จบ ความยาวเท่ากับดูหนังยาวๆ 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น ดูจบแล้วอาจจะอยากหาอนิเมะที่มีการตัดต่อคล้ายๆกันนี้ดูอีก แนะนำ Durarara!! นะครับ ผู้กำกับคนเดียวกัน จาก Light Novel โดยผู้เขียนคนเดียวกัน สตูดิโอผู้สร้างเดียวกัน และมีการเล่าเรื่อง Point-Of-View แบบ non-Linear เหมือนกัน จะพลาดได้ยังไง
ผมแนะนำให้กับคออนิเมะ และคนที่ชอบแนวมาเฟีย gangster เพลง jazz ผมคิดว่านี่ไม่ใช่อนิเมะที่ดูแล้วจะรู้สึกเครียด ภาพอนิเมะที่ลดความรุนแรงลงไป พร้อมกับเนื้อเรื่องที่มีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้ฉากต่อสู้ที่รุนแรง ดูเบาบางลงไปมาก จัดเรต 15+ สำหรับฉากรุนแรงนะครับ
คำโปรย : “ใครชอบอเมริกายุค 193x แก๊งค์มาเฟีย ขุดทอง ปืน ระเบิด ปล้นรถไฟ เพลง jazz ไม่ควรพลาด Baccano!”
คุณภาพ : SUPERB
ความชอบ : LOVE
Leave a Reply