Ballad of a Soldier

Ballad of a Soldier (1959) USSR : Grigory Chukhray ♥♥♥♥

บทกวีรำพันเรื่องราวทหารรัสเซียนายหนึ่ง ได้รับอนุญาตให้ลากลับบ้าน แต่ระหว่างทางพบเจอเรื่องวุ่นๆวายๆ ที่จักทำให้ผู้ชมอมยิ้ม ตกหลุมรัก ก่อนหัวใจแตกสลาย, สามารถเข้าชิง Oscar: Best Original Screenplay

ภายหลังการเสียชีวิตของ Joseph Stalin ค.ศ. 1953 ผู้นำสหภาพโซเวียตคนใหม่ Nikita Khrushchev พยายามทำสิ่งต่างๆที่เป็นการลบล้าง ต่อต้าน (de-Stalinization) ผ่อนปรนมาตรการเข้มงวด รวมถึงวงการภาพยนตร์มีคำเรียก Khrushchev Thaw (ระหว่างกลางทศวรรษ 1950s ถึงกลางทศวรรษ 1960s) คล้ายๆฤดูกาล Prague Spring (1968) คือช่วงเวลาแห่งอิสรภาพในการสรรค์สร้างผลงานศิลปะ โดยไม่ต้องหวาดหวั่นกลัวว่าจะโดนจับหรือถูกแบนห้ามฉาย

ในช่วงทศวรรษ Khrushchev Thaw ถือเป็นอีกยุคทองของวงการภาพยนตร์แห่งสภาพโซเวียต (ถัดจากยุคหนังเงียบที่บุกเบิกเทคนิคตัดต่อ ‘Soviet Montage’) มีหลากหลายผลงานที่พอได้รับอิสรภาพในการสร้างสรรค์ ออกเดินทางไปกวาดรางวัลระดับนานาชาติมากมาย อาทิ The Cranes Are Flying (1957), Ballad of a Soldier (1959), Fate of a Man (1959), Ivan’s Childhood (1962), Nine Days of One Year (1962), I Am Twenty (1965) ฯ

ผมรับรู้จัก Ballad of a Soldier (1959) ระหว่างเขียนบทความ Ivan’s Childhood (1962) ทีแรกก็ไม่ได้มีความกระตือลือร้นสักเท่าไหร่ จนกระทั่งพบว่าคือหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องโปรดของ Hayao Miyazaki เลยรู้สึกว่าคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แอบเหนื่อยหน่ายใจเพราะหนังสงครามจากสหภาพโซเวียต มักเป็นแนวชวนเชื่อ สรรเสริญความยิ่งใหญ่กองทัพ แต่ปรากฎว่า … ผิดคาด!

คงเพราะอิทธิพลจากยุคสมัย Khrushchev Thaw ทำให้ผกก. Grigory Chukhray กล้านำเสนอเรื่องราวที่ไม่ใช่การชวนเชื่อสงคราม แต่แสดงให้ถึงผลกระทบ หายนะ นายทหารหนุ่มผู้มีความละอ่อนวัย สดใส ยังดูไร้เดียงสา ต้องการเดินทางกลับบ้านไปเยี่ยมเยียนมารดา แต่นั่นคือครั้งสุดท้ายก่อนที่พวกเขาจะร่ำลาจากชั่วนิรันดร์ … เตรียมทิชชู่ไว้ด้วยแล้วกัน


Grigory Naumovich Chukhray, Григорiй Наумович Чухрай (1921-2001) ผู้กำกับสัญชาติ Ukrainian เกิดที่ Melitopol (ปัจจุบันคือ Zaporizhzhia Oblast, Ukraine) ครอบครัวหย่าร้างตอนอายุเพียงสามขวบ อาศัยอยู่กับมารดาและพ่อเลี้ยง โตขึ้นอาสาสมัครทหารเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง จากนั้นเข้าศึกษาภาพยนตร์ All-Union State Institute of Cinematography (VGIK) เป็นลูกศิษย์ของ Sergei Yutkevich และ Mikhail Romm จบออกมาทำงานผู้ช่วยผู้กำกับ Kiev Film Studio จนกระทั่งการมาถึงของ Khrushchev Thaw เขียนบท-กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Forty-First (1956) สามารถคว้ารางวัล Special Award จากเทศกาลหนังเมือง Cannes

เรื่องราวโดยย่อของ The Forty-First (1956) ระหว่างสงครามกลางเมือง Russian Civil War (1917-23) นักแม่นปืนสาวกองทัพแดง (Red Army) บังเอิญติดเกาะกับเจ้าหน้าที่ทหารหนุ่มขบวนการขาว (White Army) ทีแรกว่าจะเข่นฆ่า ภายหลังกลับตกหลุมรัก … พล็อตคร่าวๆนี้แสดงถึงใจความต่อต้านสงคราม (Anti-War) ความรักเกิดขึ้นได้แม้กับศัตรูฟากฝั่งตรงข้าม

ด้วยความสำเร็จอันล้นหลามของ The Forty-First (1956) ยอดจำหน่ายตั๋วสูงถึง 25.1 ล้านใบ แถมยังสร้างความประทับใจท่านผู้นำ Nikita Khrushchev ถึงขนาดเอ่ยปากให้การสนับสนุนโปรเจคถัดไปของผกก. Chukhray

Баллада о солдате อ่านว่า Ballada o soldate แปลตรงตัว Ballad of a Soldier นำจากประสบการณ์ตรงของผกก. Chukhray และเพื่อนนักเขียน Valentin Yezhov ต่างเป็นทหารผ่านศึกในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และได้รับประดับเหรียญเกียรติยศเหมือนกัน!

Valentin Ivanovich Yezhov, Валентин Иванович Ежов (1921-2004) นักเขียนบทละคอน/ภาพยนตร์ สัญชาติรัสเซีย เกิดที่ Samara แล้วย้ายมาเติบโตยัง Moscow ก่อนการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง สมัครเข้าโรงเรียนการบิน School for Junior Airmen (ShMAS) เข้าร่วมสู้รบยัง Russian Far East, หลังปลดประจำการสมัครเรียนเขียนบท All-Union State Institute of Cinematography (VGIK) เป็นลูกศิษย์ของ Joseph Manevich และ Alexander Dovzhenko, แจ้งเกิดกับบทภาพยนตร์ Ballad of a Soldier (1959), Wings (1966), White Sun of the Desert (1970), Siberiade (1979) ฯ

I was a soldier. It was as a soldier that I made my way from Stalingrad to Vienna. On the way, I left behind many comrades who were dear to me. What Valentin Ezhov and I wanted to show was not how our hero fought in the war, but what kind of man he was, why he fought. This boy (Alyosha) could have become a good father, a loving husband, an engineer or a scientist, he could have grown wheat or gardens. The war didn’t allow it. He didn’t come back.

Grigory Chukhray

ณ แนวหน้า Eastern Front, นายทหารหนุ่ม Alyosha Skvortsov (รับบทโดย Vladimir Ivashov) อายุเพียง 19 ปี จับพลัดจับพลูทำลายรถถังเยอรมันได้ถึงสองคัน จนได้รับประดับเหรียญเกียรติยศ แต่ร้องขอผู้บังคับบัญชาเปลี่ยนเป็นลาหยุดกลับบ้าน ต้องการไปซ่อมหลังคาที่รั่วไหล

ระหว่างทางกลับก็มีเหตุการณ์วุ่นๆวายๆเกิดขึ้นมากมาย ให้ความช่วยเหลือทหารได้รับบาดเจ็บพบเจอภรรยา ฝากส่งของให้กับคู่หมั้น และยังตกหลุมรักหญิงสาว Shura (รับบทโดย Zhanna Prokhorenko) กว่าจะเดินทางมาถึงหมู่บ้านพบเจอมารดา ยังไม่ทันหายคิดถึงก็จำต้องหวนกลับสู่แนวหน้า


แทนที่จะมองหานักแสดงมีชื่อ หรือเคยผ่านงานการแสดง ผกก. Chukhray ตัดสินใจเฟ้นหานักแสดงหน้าใหม่ Vladimir Ivashov (1939-95) และ Zhanna Prokhorenko (1940-2011) ต่างไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการแสดงใดๆ

We took a big risk. It was risky to give the main roles to quite inexperienced actors. Not many would have done so in those times, but we ventured and did not regret afterwards. Volodya and Zhanna gave the most precious colouring to the film, that is, the spontaneity and charm of youth.

Grigory Chukhray

ความตั้งใจของผกก. Chukhray ในการคัดเลือกนักแสดงหน้าใหม่ เพราะพวกเขายังมีความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ท่าทางเคอะๆเขินๆ ขาดๆเกินๆ แต่นั่นคือเสน่ห์ ‘charm of youth’ สอดคล้องเข้ากับตัวละครที่เพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่สงคราม ไม่รับทราบถึงหายนะ ความชิบหายวายป่วน ยังมองโลกในแง่ดี เอ่อล้นด้วยความหวัง ซึ่งนั่นขัดแย้งต่อสภาพเป็นจริง และโชคชะตาของพวกเขา(ที่รับรู้ตั้งแต่ตอนต้น) จักทำให้ผู้ชมเกิดความเจ็บปวด รวดร้าว หัวใจแตกสลาย

หลังแจ้งเกิดจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งสองนักแสดงนำต่างก็มีงานแสดงติดต่อเข้ามามากมาย แต่น่าเสียดายไม่มีผลงานไหนน่าจดจำไปกว่า Ballad of a Soldier (1959)


ถ่ายภาพโดย Vladimir Nikolayev (1909-95) และ Era Savelyeva (1913-85)

งานภาพของหนังอาจไม่ได้ตื่นตระการตาเหมือน The Cranes Are Flying (1957) แต่ถือว่ามีลูกเล่นในการนำเสนอพอสมควร สังเกตว่ากล้องมักไม่ค่อยขยับเคลื่อนไหว เลยโดดเด่นกับการจัดวางองค์ประกอบ กล้าทดลองมุมกล้องแปลกๆ (โดยเฉพาะมุมเอียงขณะถูกไล่ล่าโดยรถถัง) ตำแหน่งนักแสดงใกล้-ไกล บันทึกภาพทิวทัศน์สวยๆ และเทคนิคซ้อนภาพระหว่างหวนระลึกความทรงจำ

ฉากบนตู้โดยสารรถไฟระหว่าง Alyosha และ Shura ได้รับคำชื่นชมอย่างมากๆ แสงจากภายนอกลอดผ่านช่องว่างผนังไม้ ในช่วงแรกมีความทะมึน อึมครึม ปกคลุมด้วยเงามืด แต่จักค่อยๆส่องสว่าง เงาต่างๆเลือนลาง จนกระทั่งเกิดการฟุ้งกระจาย สะท้อนความสัมพันธ์ทั้งสองที่เริ่มจากปฏิเสธต่อต้าน แต่หลังจากทำความรู้จัก มักคุ้นเคยชิน โดยไม่รู้ตัวตกหลุมรัก แทบไม่อยากพลัดพรากจากกัน

There is something in the tone of this film – in the light structure of thin-branched birch trees floating outside the carriage windows, in the young faces of Alyosha and Shurochka, illuminated by a ray of sunlight through the slits of the teplushka, in the purity and understatement of their relationship, in the smooth, slightly slowed down, as if chanting rhythm in which one episode overflows into another – something that does not fit into the framework of the chronicle, which makes up its external form; in the reality and vital authenticity of its episodes, something ideal.

นักวิจารณ์ Maya Turovskaya

จากคนแปลกหน้า เคยพยายามผลักไส ตีตนให้ห่างไกล แต่เมื่อได้รับรู้จัก มักคุ้นเคยชิน สนิทสนมชิดเชื้อ เกิดความตกหลุมรักใคร่ พอใกล้ถึงเวลาพรากจากลา ขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย Alyosha และ Shura ยืนอยู่ระหว่างตู้โดยสารรถไฟ (เป็นบริเวณที่สามารถแยกตู้โบกี้ออกจากกัน สะท้อนความสัมพันธ์ที่ใกล้ถึงจะต้องร่ำลาจาก)

สังเกตว่าพวกเขายืนนิ่ง จับจ้องตาไม่กระพริบ ราวกับว่าต้องการจดจำใบหน้า ช่วงเวลานี้ไว้ให้แสนนาน แต่ภาพพื้นหลังกลับเคลื่อนพานผ่านไปอย่างรวดเร็ว อีกไม่นานก็จะถึงสถานีปลายทาง และพลัดพรากจากกันชั่วนิรันดร์

หนึ่งในช็อตที่ผมรู้สึกว่าทรงพลังอย่างมากๆ คือการจากลาของ Alyosha และ Shura มุมกล้องช็อตนี้ถ่ายติดท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยเมฆหมอก บรรยากาศทะมึน อึมครึม สะท้อนความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจ อยากจะร่ำร้องไห้ (สังเกตว่าพื้นยังเปียกแฉะ) และสร้างสัมผัสราวกับว่าทั้งสองจะไม่มีโอกาสพบเจอกันอีกต่อไป

พบเจอหน้ามารดายังไม่ทันหายคิดถึง Alyosha ก็จำต้องบอกร่ำลา หมดเวลา ต้องเดินทางกลับแนวหน้า ภาพช็อตนี้อาจเห็นไม่ค่อยชัดนัก แต่ใบหน้าทั้งสองมีร่มเงาไม้พริ้วไหวไปมา แทนความรู้สึกสั่นไหว โหยหาอาลัย ไม่ต้องการพลัดพรากจากไป

ภาพการจากลาของ Alyosha ชวนให้ผมนึกถึงตอนจบภาพยนตร์ My Darling Clementine (1946) ของผู้กำกับ John Ford ซึ่งมีทิศทางมุมกล้องละม้ายคล้ายกันมากๆ (แถมต้องทำถนนให้โค้งๆแบบเดียวกันด้วยนะ) แล้วพอตัดมาฟากฝั่งมารดา สังเกตว่ามีจัดวางตำแหน่งนักแสดงแทนระดับความสำคัญ มารดายืนหน้าสุด ตามด้วยเพื่อนสาวข้างบ้าน และชาวบ้านอื่นๆโบกมืออยู่เบื้องหลัง

สำหรับภาพสุดท้ายของหนัง กล้องค่อยๆเคลื่อนขึ้น (Tilt Up) ขึ้นสู่ท้องฟากฟ้า แน่นอนว่าสื่อถึงความตายของ Alyosha น่าจะไปสู่สุขคติ สรวงสวรรค์

ตัดต่อโดย Mariya Timofeyeva

หนังเริ่มต้นด้วยภาพหญิงวัยกลางคน กำลังก้าวออกเดิน เหม่อมองทางเข้า-ออกหมู่บ้านชนบทห่างไกล ตามด้วยเสียงบรรยายกล่าวถึงบุตรชายที่เสียชีวิตจากสงคราม จากนั้นเล่าเหตุการณ์ย้อนอดีต (Flashback) นายทหารหนุ่ม Alyosha Skvortsov จับพลัดจับพลูทำลายรถถังศัตรูสองคัน ได้รับประดับเหรียญเกียรติยศ จึงร้องขอผู้บังคับบัญชาเปลี่ยนมาเป็นวันลากลับบ้าน ระหว่างทางพบเจอเรื่องวุ่นๆวายๆมากมาย กว่าจะไปถึงเป้าหมายเกือบแทบไม่ทันเวลา

  • อารัมบท, มารดาเฝ้ารอคอยบุตรชายกลับบ้าน
  • แนวรบด้านตะวันออก (Eastern Front)
    • นายทหารหนุ่ม Alyosha จับพลัดจับพลูทำลายรถถังศัตรูสองคัน
    • ได้รับประดับเหรียญเกียรติยศ แต่ร้องขอผู้บังคับบัญชาเปลี่ยนเป็นวันลากลับบ้าน
    • ระหว่างเข็นรถตกโคลนเลน รับฝากของเพื่อนทหาร Pavlov สำหรับส่งให้กับภรรยาสุดสวย
  • เรื่องราวของ Vasya ทหารผู้ได้รับบาดเจ็บจากสงคราม
    • Alyosha มาถึงสถานีรถไฟ พบเจอกับ Vasya ที่สูญเสียขาข้างหนึ่ง ยังสองจิตสองใจว่าจะเดินทางกลับหาภรรยาหรือไม่ แต่ได้รับการโน้มน้าวจนยินยอมขึ้นรถไฟ
    • พูดคุยสนทนา ขับร้องเพลงบนขบวนรถไฟ
    • พอมาถึงสถานีปลายทาง Alyosha ยินยอมเสียเวลาอยู่ร่วมกับ Vasya รอจนกว่าภรรยาจะเดินทางมารับ
  • Alyosha แอบขึ้นรถไฟกับ Shura
    • ด้วยความที่ Alyosha ตกรถไฟขนส่ง จึงขอแอบขึ้นขบวนพิเศษ ด้วยการติดสินบนเจ้าหน้าที่
    • ระหว่างทางหญิงสาว Shura ก็แอบลักลอบขึ้นรถไฟมาเช่นกัน แรกพบเจอเต็มไปด้วยความหวาดกลัวเกรง แต่หลังจากพูดคุยสนทนา ปรับความเข้าใจ ก็ค่อยๆยินยอมรับอีกฝ่าย
    • ระหว่างรถไฟจอดหยุดพัก Alyosha ลงไปเติมน้ำ Shura ถูกจับได้ว่าแอบลักลอบขึ้นขบวนรถไฟ แต่หลังจากผู้บังคับบัญชามาเห็น จึงอนุญาตให้ทั้งสองติดขบวนไปด้วย
    • แต่ระหว่างรถไฟจอดหยุดพักอีกสถานี คราวนี้ Alyosha ลงไปตักน้ำไม่ทัน จึงตัดสินใจโบกรถออกเดินทาง
    • โชคยังดี Shura เฝ้ารอคอย Alyosha อยู่สถานีปลายทาง
  • ของฝากของเพื่อนทหาร Pavlov
    • Alyosha และ Shura ออกติดตามหาภรรยาของนายทหาร Pavlov แต่พบว่าที่อยู่ให้ไว้หลงเหลือเพียงเศษซากปรักหักพัง
    • ติดตามค้นหาจนพบเจอภรรยาของ Pavlov อาศัยอยู่กับชู้รัก สร้างความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง
    • Alyosha จึงนำเสบียงกรังมอบให้กับบิดาของ Pavlov พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล
    • การจากลาระหว่าง Alyosha และ Shura
  • การเดินทางครั้งสุดท้ายของ Alyosha
    • ระหว่างโดยสารขบวนรถไฟ พูดคุยสนทนากับผู้อพยพ
    • โชคร้ายที่สะพานรถไฟถูกทำลาย ทำให้ต้องจอดแน่นิ่ง ไม่สามารถออกเดินทางไปต่อ
    • แต่ระหว่างรอรถไฟคันใหม่ Alyosha ตัดสินใจโบกรถ เดินทางกลับหมู่บ้านเกิด
    • พบเจอมารดา และการร่ำจากลา

การเริ่มต้นด้วยคำพูดบอกบทสรุป โชคชะตาของ Alyosha ทำให้ผู้ชมตระหนักรับรู้อยู่ตลอดเวลาว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวละคร ในตอนแรกผมคาดคิดว่าคงมีเหตุการณ์เลวร้ายบางอย่างเกิดขึ้นระหว่างทาง เลยทำให้ไม่สามารถกลับถึงบ้าน แต่กลายเป็นว่าตอนจบนำเสนอครั้งสุดท้ายที่แม่-ลูก พบเจอหน้า ร่ำจากลาชั่วนิรันดร์ นั่นสร้างความเจ็บปวด รวดร้าว ทำเอาหัวใจแทบแตกสลาย … คือถ้าไม่ใช่การเล่าย้อนอดีต แล้วค่อยมาเปิดเผยโชคชะตาตัวละครช่วงท้าย มันจะเพียงสร้างความตกใจ ‘Shock Value’ หนังจบประเดี๋ยวก็ลืมเลือนไป ผิดกับวิธีการนี้ของหนังทำให้ผู้ชมค่อยๆมอดไหม้ทรวงใน (เพราะรับรู้โชคชะตาตัวละครตั้งแต่แรกแล้ว) ปวดร้ายหฤทัย ใครจะไปหลงลืมความเจ็บปวดนี้ได้ลง


เพลงประกอบโดย Mikhail Pavlovich Ziv, Михаил Павлович Зив (1921-94) นักแต่งเพลงสัญชาติรัสเซีย เกิดที่ Moscow, โตขึ้นอาสาสมัครทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จากนั้นเข้าศึกษาต่อ Moscow Conservatory จบมาเป็นครูสอนดนตรี จนกระทั่งมีโอกาสแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1948 ผลงานเด่นๆ อาทิ Ballad of a Soldier (1959), Clear Skies (1961), อนิเมชั่น Gena the Crocodile (1969), Tryasina (1978) ฯ

งานเพลงของ Ziv รังสรรค์ท่วงทำนองกลิ่นอายโรแมนติก ฟังแล้วติดหูโดยทันที มีความอ่อนไหว ยิ่งใหญ่ทรงพลัง จัดเต็มวงออร์เคสตรา มุ่งเน้นการบดขยี้ บี้หัวใจผู้ฟังให้แหลกละเอียด สร้างความเจ็บปวดรวดร้าว เศร้าโศกเสียใจ การเสียสละชีพเพื่อผืนแผ่นดินมาตุภูมิ เป็นสิ่งคุ้มค่าใช่หรือไม่?

ผมแนะนำให้ลองรับฟัง Prologue เทียบกับ Shura and Alesha และ Epilogue ทั้งสามบทเพลงต่างบรรเลงท่วงทำนองเดียวกัน แต่ปริมาณ/ประเภทเครื่องดนตรีที่ใช้มีความแตกต่างกันพอสมควร Prologue ว่ายิ่งใหญ่อลังการ พอมารับฟัง Shura and Alesha เสียงขลุ่ยและไวโอลินช่างหวานหยดย้อย หัวใจอ่อนระทวย และ Epilogue เพิ่มเติมเครื่องกระทบ โดยเฉพาะเปียโนกระแทกกระทั้น ใครกันจะไปอัดอั้นธารน้ำตาไม่ให้ไหลริน

ปล. งานเพลงของ Mikhail Ziv ถือว่ามีอิทธิพลอย่างล้นหลามต่อทั้ง Hayao Miyazaki และ Joe Hisaishi นั่นกระมังคือเหตุผลที่ทำให้เพลงประกอบหนังเรื่องนี้ ได้ยินครั้งแรกก็รู้สึกมักคุ้นชิน (ผมปรากฎภาพของ Princess Mononoke ลอยขึ้นมาตรงหน้า) โดยเฉพาะการค่อยๆไต่ไล่ระดับจนถึงจุดสูงสุด (Musical Crescendo)

ตั้งแต่ที่ Joseph Stalin ขึ้นมาเป็นผู้นำสหภาพโซเวียต ค.ศ. 1922 พยายามทำให้สื่อภาพยนตร์มีลักษณะชวนเชื่อ (Propaganda) สร้างค่านิยมคอมมิวนิสต์ การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง ก็เสี้ยมสอนให้ประชาชนเสียสละชีพ ปกป้องผืนแผ่นดินมาตุภูมิ เพื่อนำพาประเทศสู่ความยิ่งใหญ่เกรียงไกร

การจากไปของ Stalin ทำให้สหภาพโซเวียตก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ Nikita Khrushchev ออกนโยบาย Khrushchev Thaw ผ่อนคลายมาตรการตึงเครียด ผู้สร้างภาพยนตร์ได้รับอิสรภาพในการสรรค์สร้างผลงาน The Cranes Are Flying (1957), Ballad of a Soldier (1959), Fate of a Man (1959) ฯ ล้วนนำเสนอภาพการสูญเสียคนรัก ครอบครัว เต็มไปด้วยอารมณ์อัดอั้น บีบเค้นคั้น สงครามคือหายนะ ความตาย จิตวิญญาณสูญสลาย แฝงใจความ Anti-War

นายทหาร Alyosha Skvortsov ด้วยวัยเพียง 19 ปี ยังมีความบริสุทธิ์ ละอ่อนวัย ไร้เดียงสาต่อโลก เด็กเกินกว่าจะเข้าใจความเหี้ยมโหดร้ายของสงคราม ครุ่นคิดเพียงอยากเดินทางกลับบ้านไปเยี่ยมเยียนมารดา (จะมองในเชิงสัญลักษณ์ของ ‘มาตุภูมิ’ ก็ได้กระมัง) กลับประสบพบเจอเหตุการณ์วุ่นๆวายๆ เสียสละเวลาของตนเองให้ผู้อื่น ได้รับยกย่องเยี่ยงวีรบุรุษ แต่สุดท้ายกลับไม่หลงเหลืออะไรสักสิ่งอย่าง

สารพัดเรื่องราววุ่นๆวายๆที่ Alyosha ประสบพบเจอระหว่างเดินทางกลับบ้าน ล้วนเป็นสิ่งสะท้อนอิทธิพล ผลกระทบ หายนะจากสงคราม ประกอบด้วย ทหารได้รับบาดเจ็บ/พิการ ล้มป่วยอาการ ‘Shell Shock’, คนรักคบชู้นอกใจ รักแท้แพ้ชิดใกล้, ครอบครัวพลัดพราก อพยพจากถิ่นฐานบ้านเกิด และที่สุดก็คือการสูญเสีย ความตาย มารดาไม่มีโอกาสพบเจอหน้าบุตรชาย

เรื่องราวโรแมนติกระหว่าง Alyosha กับ Shura ก็เพื่อให้ผู้ชมบังเกิดสายสัมพันธ์ เอ็นดูทะนุถนอม สนิทชิดเชื้อตัวละคร ก่อนที่พวกเขาจะต้องพลัดพรากจากลา ไม่มีโอกาสหวนกลับคืนมาพบเจอหน้ากันอีก นั่นสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวทรวงใน หัวใจแตกสลาย ถ้าไม่เพราะสงคราม หนุ่ม-สาวอาจได้ครองรักกัน … แต่ก็อาจเป็นดั่งคำที่ผกก. Douglas Sirk เมื่อตอนสรรค์สร้าง A Time to Love and a Time to Die (1958) เคยกล่าวว่า “If it weren’t for the war this would not be love at all.”

แม้เรื่องราวของหนังจะมีพื้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่สามารถสะท้อนบรรยากาศสงครามเย็น (Cold War) ในช่วงทศวรรษ 50s-60s ได้เป็นอย่างดี! โดยเฉพาะเมื่อตอนแรกพบเจอ Alyosha กับ Shura สังเกตว่าเธอมีปฏิกิริยาปฏิเสธต่อต้าน ครุ่นคิดแต่ว่าอีกฝ่ายจะต้องมาร้ายเท่านั้น พยายามดิ้นรนหลบหนี ปิดกั้น ไม่รับฟัง สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียต & สหรัฐอเมริกา เอาแต่หวาดกลัวเกรงอะไรก็ไม่รู้

ความตั้งใจของท่านผู้นำ Nikita Khrushchev ไม่เพียงผ่อนคลายมาตรการตึงเครียดภายในประเทศ ยังรวมถึงพยายามรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐอเมริกา Ballad of a Soldier (1959) คือหนึ่งใน(สาม)ภาพยนตร์ที่เป็นตัวแทนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม มีเนื้อหาแฝงนัยยะให้ทั้งสองชาติลดทิฐิมานะ หันหน้าพูดคุย ปรับความเข้าใจ (แบบความสัมพันธ์ระหว่าง Alyosha กับ Shura) คาดหวังว่าสักวันสงครามจักสิ้นสุด สองประเทศหวนกลับเป็นพันธมิตร สมานฉันท์ กลมเกลียวกันอีกครั้ง … แต่ความตั้งใจดังกล่าวพลันล่มสลายภายหลัง Khrushchev ถูกขับออกจากตำแหน่งเมื่อปี ค.ศ. 1964 สหภาพโซเวียตกลับกลายเป็นคอมมิวนิสต์เบ็ดเสร็จอีกครั้ง


หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่ในสหภาพโซเวียตมียอดจำหน่ายตั๋วสูงถึง 30.1 ล้านใบ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม กลายเป็นหนึ่งในหลายๆเรื่องได้รับโอกาสเข้าฉายสหรัฐอเมริกาในช่วงแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ภายหลังจาก Lacy-Zarubin Agreement ลงนามเมื่อปี ค.ศ. 1958

โดยคาดไม่ถึงการเข้าฉายในสหรัฐอเมริกาครั้งนั้น ทำให้หนังได้เข้าชิง Oscar: Best Original Screenplay แต่พ่ายให้กับ Splendor in the Grass (1961) นี่น่าจะเป็นครั้งของภาพยนตร์จากสหภาพโซเวียตที่ได้เข้าชิงสาขานี้!

เมื่อตอนเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล Special Award ด้วยคำยกย่อง “high humanism and outstanding quality” นอกจากนี้ยังคว้ารางวัล BAFTA Award: Best Film from any Source และได้เข้าชิงอีกสาขา Best Foreign Actor (Vladimir Ivashov) เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จระดับนานาชาติอย่างล้นหลาม!

ผมไม่แน่ใจว่าหนังได้รับการบูรณะแล้วหรือยัง เพราะของค่าย Criterion Collection มีเพียงจัดจำหน่าย DVD ไม่มีรายละเอียดอื่นใดเขียนอธิบาย … หรือจะหารับชมทางช่อง Youtube ของ Mosfilm คุณภาพ HD พร้อมซับอังกฤษ

ผมแอบเสียดายที่ดันสร้างกำแพงเล็กๆไว้ก่อนหน้า เลยทำให้ระหว่างรับชมไม่สามารถปล่อยตัวปล่อยใจ เพลิดเพลินไปกับเรื่องราวที่มีความโรแมนติก ชวนอมยิ้ม ประมาณกลางเรื่องถึงเริ่มตระหนักถึงความแตกต่าง สุดท้ายเลยแค่ชื่นชอบ ไม่ถึงขั้นตกหลุมรัก แต่ก็ทำให้หัวใจสั่นไหวอยู่ไม่น้อยเลยละ

สิ่งที่ผมประทับใจมากสุดของหนัง คือมนุษยธรรมของ Alyosha ยินยอมเสียสละตนเอง ให้ความช่วยเหลือผู้อื่น ทั้งๆในช่วงเวลาสงครามมีแต่คนเห็นแก่ตัว พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อเอาตัวรอดปลอดภัย นั่นทำให้พอถึงตอบจบ เสียงบรรยายย้ำเตือนสติถึงความสูญเสีย ใครต่อใครย่อมหัวใจแตกสลาย

จัดเรต pg กับบรรยากาศสงคราม

คำโปรย | Ballad of a Soldier งดงาม-เจ็บปวด ตกหลุมรัก-หัวใจแตกสลาย ชวนเชื่อและต่อต้านสงคราม
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: