Belle Mecanique

Ballet Mécanique (1924) French : Fernand Léger, Dudley Murphy ♥♥♥♥

การเริงระบำของจักรกล คือภาพยนตร์แนวทดลอง (Experimental) ด้วยอิทธิพลของ Dadaism เปรียบเทียบระหว่างมนุษย์กับเครื่องยนต์กลไก ทั้งภาพและเสียงต่างมีความตื่นหู ตื่นตา แปลกใหม่ เปิดประสบการณ์ไม่ซ้ำแบบใคร

Dada หรือ Dadaism ลัทธิหรือกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะในช่วงต้นศตวรรษ 20th พัฒนาการมาจากลัทธิเหนือจริง (Surrealism) ยุคหลังบาศกนิยม (post-Cubism) ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการก่อกบฎต่อทุกสรรพสิ่งอย่าง Anti-Logic (หรือ Nonsense), Anti-Reason (หรือ Irrationality), Anti-Bourgeois ฯ

เกร็ด: ปรับปราเล่าว่าชื่อกลุ่มเคลื่อนไหว Dada เกิดจากศิลปิน Richard Huelsenbeck นำเอามีดตัดกระดาษ (Paper Knife) ทิ่มเข้าไปในพจนานุกรมภาษาเยอรมัน-ฝรั่งเศส ผลลัพท์ได้สุ่มคำว่า Dada ศัพท์แสลงภาษาฝรั่งเศสแปลว่า ม้าโยก ซึ่งสอดคล้องผลงาน/บุคลิกของสมาชิกกลุ่มที่พยายามเย้ยหยันสังคม ทำตัวเหมือนเด็กๆ ยุ่งเหยิง ไร้สาระ (ใครเคยรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ย่อมพบเห็นลีลาเข้าๆออกๆ โยกเยกไปมา)

ผมเคยพยายามจะเขียนถึง Ballet Mécanique (1924) ตั้งแต่เมื่อครั้นรวบรวมคอลเลชั่นหนังเงียบ แต่จนแล้วจนรอด แบบเดียวกับ Wavelength (1967) คือไม่รู้จะคิดเขียนอะไรยังไง ตอนนั้นยังไม่ค่อยเข้าใจหนังทดลอง หวนกลับมารับชมคราวนี้พบเห็นความทะเยอทะยาน คลุ้มบ้าคลั่ง ตระหนักว่าคือผลงานมาสเตอร์พีซทั้งภาพและเสียง

หลายคนอาจงงๆว่านี่มันหนังเงียบไม่ใช่หรือ? ผู้ประพันธ์เพลง George Antheil ได้เข้ามามีส่วนร่วมขั้นต้น พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แล้วสรรค์สร้างผลงานด้วยแนวคิดเดียวกัน (ยุคสมัยหนังเงียบ มักมีการใช้เปียโน/วงดนตรีร่วมบรรเลงระหว่างฉายหนัง ‘accompaniment’) แต่เพราะความคิดเห็นแตกต่าง ภายหลังจึงแยกทาง แล้วต่อยอดเป็นบทเพลง Ballet Mécanique ของตนเอง … ถึงอย่างนั้นทั้งภาพยนตร์และบทเพลงของ Antheil ก็ถูกมองว่าคือสิ่งหนึ่งเดียวกันอย่างแยกไม่ออก ฉบับหารับชมได้ในปัจจุบันล้วนนำบทเพลงของ Antheil เรียบเรียงประกอบพื้นหลัง


Dudley Bowles Murphy (1897-1968) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Winchester, Massachusetts บิดาคือ Hermann Dudley Murphy (1867-1945) จิตรกรภูมิทัศน์ Modernist ชื่อดัง, บุตรชายต้องการดำเนินตามรอยเท้าพ่อ เข้าศึกษาจิตรกรรมและออกแบบ Boston Museum School ตามด้วย National Academy of Design, แต่ภายหลังเปลี่ยนความสนใจมายังสื่อภาพยนตร์ สรรค์สร้างหนังสั้นเรื่องแรก Soul of the Cypress (1921) เล่าปรัมปรา Orpheus

ช่วงปี ค.ศ. 1923 ระหว่างที่ Murphy เดินทางนำผลงานมาฉายยังฝรั่งเศส มีโอกาสรับชม Le Retour à la Raison (1923) แปลว่า Return to Reason หนังสั้นแนวทดลองกำกับโดย Man Ray เกิดความชื่นชอบประทับใจ พยายามติดต่อเข้าหา และเสนอแนะอยากร่วมงานกันสักครั้ง

Man Ray ชื่อจริง Emmanuel Radnitzky (1890 – 1976) ศิลปินสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ South Philadelphia, Pennsylvania ครอบครัวอพยพจากรัสเซีย เชื้อสาย Jews, ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบการวาดภาพ ออกแบบ โตขี้นเลยตัดสินใจเป็นจิตรกร (ขัดใจครอบครัวที่อยากให้เป็นสถาปนิก) ดิ้นรนหาเงินจากเป็นนักวาดโฆษณา ซึมซับรับอิทธิพล Dadaism จากการร่วมงาน Marcel Duchamp, แล้วอพยพสู่ฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1921 ปักหลักยังย่าน Montparnasse สรรค์สร้างภาพยนตร์ Avant-Garde อาทิ Le Retour à la Raison (1923), Emak-Bakia (1926), L’Étoile de Mer (1928), Les Mystères du Château de Dé (1929) โดยมักเลือกใช้แฟนสาว Kiki de Montparnasse (ชื่อจริง Alice Prin) มาเป็นนางแบบ นักแสดงนำ

ด้วยความที่ Murphy เป็นทั้งตากล้อง/นักเทคนิคที่มีประสบการณ์ทำงาน อุปกรณ์ถ่ายภาพครบครัน นั่นสร้างความสนอกสนใจให้ Ray ตอบตกลงด้วยข้อแม้ว่าจะร่วมกันทำผลงานที่มีพื้นฐานแนวคิด Dadaism

ในส่วนทุนสร้างของหนัง Murphy ได้รับความช่วยเหลือจากนักกวี Ezra Pound (1885-1972) สัญชาติอเมริกัน ขณะนั้นปักหลักอาศัยอยู่กรุง Paris เคยเขียนจดหมายถึงบิดา เล่าถึงความสัมพันธ์ของตนเองกับเพื่อนใหม่คนนี้

Dudley Murphy, whom I met in Venice in 1908, he being then eleven, turned up a few days ago. His dad is a painter, he is trying to make cinema into art. I knew him as a kindhearted man, always ready to help others.

Ezra Pound

ไม่มีรายละเอียดระบุว่า Pound นอกจากสนับสนุนเรื่องงบประมาณ ยังมีส่วนร่วมในความคิดสร้างสรรค์มากน้อยเพียงใด แต่ก่อนหน้านี้เขาเคยมีส่วนร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวศิลปะคติวัฏฏารมณ์ (Vorticism) ตัดสลับช่องสีที่สื่อถึงความคลุมเครือรวม ซึ่งก็มีความละม้ายคล้าย แนวคิดเดียวกับบาศกนิยม (Cubism) ต้นกำเนิดลัทธิ Dadaism

The vortex is the point of maximum energy. It represents, in mechanics, the greatest efficiency. We use the words ‘greatest efficiency’ in the precise sense–as they would be used in a text book of Mechanics.

Ezra Pound เคยเขียนบทความถึงกลุ่มเคลื่อนไหว Vorticism

ช่วงปลายปี ค.ศ. 1923 เมื่องบประมาณเริ่มหร่อยหรอ Pound เสนอแนะให้ติดต่อหาเพื่อนจิตรกร Fernand Léger เชื่อว่าจะสามารถเข้ามาช่วยเหลือ สานต่อโปรเจคนี้ให้สำเร็จลุล่วงโดยดี แต่ Ray กลับครุ่นคิดเห็นต่าง เพราะรับรู้จักอุปนิสัย/สันดานธาตุแท้อีกฝ่าย ว่ามีความเรื่องมาก เผด็จการ อาจเข้ามาเปลี่ยนแปลงหลายๆสิ่งอย่างจนไม่หลงเหลือเค้าโครงเดิม สิ่งที่ตนเคยสรรค์สร้างมา เลยตัดสินใจขอถอนตัว พร้อมเน้นย้ำกับ Murphy และไม่ต้องการปรากฎชื่อบนเครดิต (แต่พวกเขาก็ยังเป็นมิตรสหาย ไม่ได้จากกันเพราะความขัดแย้งใดๆ)


Joseph Fernand Henri Léger (1881-1955) จิตรกร นักแกะสลัก สร้างภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Argentan, Lower Normandy โตขึ้นร่ำเรียนสถาปนิก ทำงานเป็นนักออกแบบ ร่างพิมพ์เขียว (Draftsman) ก่อนหันความสนใจมายังงานศิลปะเมื่ออายุ 25 ปี ช่วงแรกๆรับอิทธิพล Impressionism แต่หลังย้ายมาปักหลัก Montparnasse กลายเป็นสมาชิก Cubism (สไตล์ของ Léger มีคำเรียกเฉพาะ Tubism เพราะลักษณะรูปทรงกระบอก ดูเหมือนท่อน้ำ), ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อาสาสมัครทหารฝรั่งเศส ประจำการอยู่แนวหน้า Argonne ครั้งหนึ่งเคยเกือบตายจากการถูกโจมตีด้วย Mustard Gas

เกร็ด: ก๊าซมัสตาร์ด (Mustard gas) เป็นก๊าซไม่มีสี กลิ่นคล้ายหอมหรือกระเทียม ละลายน้ำได้เล็กน้อย หากได้รับปริมาณมากจะทำให้เกิดภาวะชะงักงัน ผิวหนังไหม้ พุพอง ระคายเคืองตา คันอย่างรุนแรง แสบจมูกแน่นหน้าอก คลื่นไส้อาเจียน หากได้รับในปริมาณมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ ปัจจุบันได้มีการนำสารกลุ่มนี้มาใช้เป็นยารักษามะเร็ง

ประสบการณ์จากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทำให้ Léger สรรค์สร้างผลงาน The Card Players (1917) ด้วยการออกแบบมนุษย์/ทหารเหมือนหุ่นทรงกระบอก กำลังจั่วเล่นไพ่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นยุคสมัย Mechanical Period (1918-23)

I was stunned by the sight of the breech of a 75 millimeter in the sunlight. It was the magic of light on the white metal. That’s all it took for me to forget the abstract art of 1912–1913. The crudeness, variety, humor, and downright perfection of certain men around me, their precise sense of utilitarian reality and its application in the midst of the life-and-death drama we were in … made me want to paint in slang with all its color and mobility.

Fernand Léger

ภาพแรกซ้ายมือคือ The Card Players (1917), ส่วนภาพสองชื่อว่า Mechanical Elements (1920) นำมาให้เห็นเป็นตัวอย่างผลงานของ Léger ในยุคสมัย Mechanical Period (1918-23)

หลังได้รับชักชวนมาร่วมงาน Léger ทำการเพิ่มเติมรายละเอียดโน่นนี่นั่นกว่าครึ่ง! อย่างแรกคือหุ่นกระบอก Charlie Chaplin สำหรับนำเข้า-ออกภาพยนตร์ (อารัมบท-ปัจฉิมบท) “Charlot présente le Ballet Mécanique” จากนั้นสิ่งต่างๆที่มีลักษณะทรงกระบอก เอ็ฟเฟ็กระยิบระยับ สะท้อนความสนใจของเจ้าตัวจากยุคสมัย Mechanical Period

สิ่งหลงเหลือของ Man Ray น่าจะพวกเอ็ฟเฟ็กตัวอักษร ถ่ายทำนักแสดง Katherine Murphy (ภรรยาของ Dudley Murphy) รวมถึง Kiki de Montparnasse (แฟนสาวของ Man Ray) เห็นว่ามีฉากที่ Kiki เปลือยกายโอบกอดกับ Ray แต่ก็ถูก Léger ตัดทิ้งนำออกไป เพราะไม่ต้องการให้โดนตีตราว่าเป็นหนัง Erotic

แต่สิ่งเลวร้ายที่สุดของ Léger คือขอให้ Murphy ตัดทิ้งเครดิตทั้งหมดของหนัง (Murphy ก็ยินยอมทำตามด้วยนะ!) ขึ้นข้อความเพียงแค่ว่า “un film de Fernand Léger.” นั่นทำให้ผู้ชมยุคสมัยนั้นส่วนใหญ่ครุ่นคิดว่า โปรเจคนี้ดำเนินการโดย Léger แต่เพียงผู้เดียว … เป็นจริงตามที่ Ray คาดคิดไว้เปะๆ

เกร็ด: นอกจาก Ballet Mécanique (1924) ก่อนหน้านี้ Fernand Léger เคยเป็นผู้ออกแบบฉากห้องแลปในภาพยนตร์ L’Inhumaine (1924) กำกับโดย Marcel L’Herbier ผมเคยเขียนถึงโคตรหนังเงียบเรื่องนี้ คุณภาพถือว่าไม่ธรรมดาทีเดียว


ตัวละคร The Little Tramp ของ Charlie Chaplin ยุคสมัยนั้นมีชื่อเสียงอย่างมากๆในฝรั่งเศส นำมาตัดแปะให้กลายเป็นหุ่นกระดาษ (Paper Puppet) สไตล์ Cubist สามารถขยับเคลื่อนไหวเล็กๆ เปิดหมวกทักทาย พบเห็นเริ่มต้น-สิ้นสุด อารัมบท-ปัจฉิมบท นำเข้า-ออกภาพยนตร์ “Charlot présente le Ballet Mécanique”

จริงๆช่วงกลางเรื่องยังจะพบเห็น The Little Tramp ปรากฎตัวขึ้นมาเริงระบำอีกครั้งสองครั้ง ท่าทางขยับเคลื่อนไหวอาจดูแปลกๆประหลาด แต่สามารถสื่อถึงองค์ประกอบร่างกายมนุษย์ แบ่งออกเป็นชิ้นส่วนเล็กส่วนน้อย ไม่ต่างจากเครื่องยนต์กลไก นำมาปะติดแปะต่อให้ชีวิตดำเนินไป

เกร็ด: ตัวละคร The Little Tramp ถือกำเนิด ค.ศ. 1914 ดำเนินมาถึงปี ค.ศ. 1924 มีหนังสั้นกว่า 60+ เรื่อง (1-2 reel) และหนังยาวเพียง The Kid (1921)

เธอคนนี้คือ Katherine Murphy ภรรยาผู้กำกับ Dudley Murphy กำลังไกวชิงช้า โยกไปโยกมา ปรากฎตัวไม่ใช่แค่ตอนเริ่มต้น (หลังจากหุ่นกระดาษ The Little Tramp) แต่ยังแทรกแซมอยู่อีกครั้งสองครั้ง ด้วยมุมกล้องทิศทางต่างกัน สามารถสะท้อนถึงการทำงานของเครื่องยนต์กลไก ขึ้นๆลงๆ เวียนไปวนมา ทำซ้ำๆติดต่อเนื่องนับครั้งไม่ถ้วน

และอีกครั้งหนึ่งพบเห็นเธอกำลังดอมดมดอกไม้ ผมตีความว่าต้องการสื่อถึงสุนทรียะ ความงดงามของชีวิต และจักรกล ไม่ได้แตกต่างกันสักเท่าไหร่

เธอคนนี้คือ Kiki de Montparnasse ฉายา Queen of Montparnasse ชื่อจริง Alice Ernestine Prin (1901-53) นักแสดง นางแบบ จิตรกร ศิลปิน สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Châtillon-sur-Seine, Côte d’Or

Kiki พบเจอ Man Ray เมื่อปี ค.ศ. 1921 เริ่มจากเป็นนางแบบ(เปลือย)ทั้งภาพถ่าย ภาพวาด รวมถึงนักแสดงภาพยนตร์ Le Retour à la raison (1923) และอีกหลายๆเรื่อง พวกเขาครองรักกันอย่างดูดดื่มจนถึงปี ค.ศ. 1929

สารพัดมุมกล้องจับจ้องใบหน้าของ Kiki มีทั้งใช้กระดาษบดบัง พบเห็นเพียงริมฝีปาก ดวงตา กล้องเคลื่อนจากซ้ายไปขวา รวมถึงถ่ายภาพผ่าน ‘Triangular Kaleidoscope’ เพื่อสื่อถึงองค์ประกอบต่างๆของมนุษย์ แบบเดียวกับหุ่นกระดาษ The Little Tramp สามารถแบ่งออกเป็นชิ้นส่วนเล็กส่วนน้อย ไม่ต่างจากเครื่องยนต์กลไก

ช็อตนี้เป็นการถ่ายภาพสะท้อนลูกตุ้มเหล็ก (เพราะช็อตถัดไปจะถ่ายให้เห็นลูกตุ้มเหล็กที่ใช้ในภาพนี้) อาจดูไม่ค่อยเห็นชัดเจนนัก แต่เชื่อว่าชายสวมไทด์คือ Fernand Léger ส่วนตากล้องไกลๆย่อมเป็น Dudley Murphy (เพราะ Man Ray ไม่อยู่แล้วตอน Léger เข้ามามีส่วนร่วมกับโปรเจค)

ชายคนนี้คือผกก. Dudley Murphy ปรากฎตัวเข้ามาอย่างแนบเนียน และผมจงใจวาดสามเหลี่ยม เพื่อแสดงให้เห็นถึงลักษณะของ ‘Triangular Kaleidoscope’ ผมไม่ค่อยแน่ใจวิธีการว่าเกิดจากการใช้เลนส์ Kaleidoscope (ไม่รู้สมัยนั้นมีหรือยัง) หรือแค่เอากระจกสามบานมาประกบติด หรืออาจจะถ่ายผ่าน Optical Prism ไม่ก็เพียงตัดแปะซ้อนภาพภายหลังถ่ายทำ (Post-Production) … มันมีหลากหลายวิธีเพื่อให้ได้ ‘Kaleidoscope Effect’ ออกมาลักษณะนี้

จุดประสงค์ก็อย่างเดิมๆ เพื่อให้ผู้ชมพบเห็นองค์ประกอบต่างๆ แยกชิ้นส่วน จากคนละมุมมอง ต่างทิศทาง สร้างสัมผัสเครื่องยนต์กลไก ทำซ้ำไปซ้ำมาไม่รู้จุดจบสิ้น

ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าเธอคนนี้คือใคร อาจเป็นแม่บ้าน คนงาน แต่ระหว่างกำลังเดินขึ้นบันได หนังทำการฉายภาพซ้ำแล้วซ้ำอีก (Repetition) กี่รอบก็ไม่รู้ขี้เกียจนับ เพื่อสะท้อนวิถีชีวิต (ที่เธอก็คงแบกหามสิ่งของขึ้นลงบันไดนับครั้งไม่ถ้วน) ไม่ต่างจากเครื่องจักรกล (ทำงานเดิมๆซ้ำไปซ้ำมานับครั้งไม่ถ้วนเช่นกัน)

สารพัดจักรกล รวมถึงผลิตภัณฑ์อย่างเครื่องครัว เครื่องพิมพ์ดีด ขวดไวน์ ฯ ล้วนสื่อสัญลักษณ์เหมารวมถึงวัตถุนิยม (Materialism) สิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกสบาย ก่อเกิดประโยชน์ใช้สอย เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน แถมบางสิ่งอย่างเป็นปัจจัยแทบจะขาดไม่ได้ เหล่านี้ถือเป็นวิถีแห่งโลกยุคสมัยใหม่ (Modern Era) มนุษย์-จักรกลกลายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

The film flashes through over 300 shorts in less than 15 silent minutes. The subjects of these fleeting images are diverse and difficult to quickly catalog: bottles, hats, triangles, a woman’s smile, reflections of the camera in a swinging sphere, prismatically crafted abstractions of light and line, gears, numbers, chrome machine (or kitchen) hardware, carnival rides, shop mannequin parts, hats, shoes, etc. All interweave a complex cinematic metaphor which bonds man and machine.

นักวิจารณ์ Donald Faulkner

On a volé un collier de perles de cinq millions แปลว่า We stole a five million pearl necklace. เอิ่ม … เราโจรกรรมสร้อยคอไข่มุกราคา 5 ล้าน มันเกี่ยวอะไรกับหนังเรื่องนี้กัน?

ผมเองก็ยังขบครุ่นคิดไม่ออกว่าหนังต้องการสื่ออะไร เพียงพบเห็นตัวอักษร 000 มันช่างดูละม้ายคล้ายสร้อยคอไข่มุก และมีครั้งหนึ่งแทรกภาพดวงตาของ Kiki de Montparnasse อย่างมีลับลมคมใน หรือว่าเธอคือโจร?? (อาจตีความว่าเธอคือคนขโมยหัวใจของ Man Ran ก็ได้กระมัง) … ความไม่มีปี่มีขลุ่ยของซีเควนซ์นี้ น่าจะเกิดจากการตัดทิ้งหลายๆรายละเอียดของ Fernand Léger มันเลยดูขาดๆเกินๆ แต่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อภาพรวมของหนังที่เป็นการทดลองผิดลองถูก ลองอะไรไม่รู้ก็ได้เหมือนกัน

สำหรับชื่อหนัง Ballet Mécanique มาจากชื่อภาพวาด Ballet Mécanique (1917) ตีพิมพ์ลงนิตยสาร 391 ของจิตรกร Francis Picabia (1879-1953) สัญชาติฝรั่งเศส เพื่อนรู้จักของ Man Ray และ Marcel Duchamp เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกกลุ่มเคลื่อนไหว Dadaism (คือหนึ่งในเพื่อนที่สร้างอิทธิพลให้ Man Ray สนใจใน Dadaism)

ผมพยายามจับจ้องมองภาพวาดนี้อยู่สักพักใหญ่ๆ ทีแรกเห็นเป็นรูปแกะสลักน่าจะทำมาเหล็ก สำหรับเป็นหัวเสาแบบพวกสถาปัตยกรรมกรีก-โรมัน แต่สังเกตไปมาเกิดจินตนาการเหมือนหญิงสาวกำลังยืนห้อมล้อมวงกลม คล้ายการล้อมวงจับมือ หรือจะมองเป็นท่าเต้นบัลเล่ต์ก็ได้กระมัง (เปลี่ยนจากเรือนร่งมนุษย์มาเป็นเหล็ก/กลไก ก็สอดคล้องเข้ากับชื่อภาพ Ballet Mécanique)

เพลงประกอบโดย George Johann Carl Antheil (1900-59) นักเปียโน/แต่งเพลง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Trenton, New Jersey ครอบครัวอพยพจากเยอรมัน, เริ่มเรียนเปียโนตั้งแต่อายุ 6 ขวบ แล้วกลายเป็นลูกศิษย์ของ Constantine von Sternberg (ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ Franz Liszt) ขณะเดียวกันก็ซึมซับอิทธิพล Dadaism ที่กำลังได้รับความแพร่หลายขณะนั้น

ค.ศ. 1922 ตัดสินใจเดินทางสู่ยุโรป เพื่อมองหาความท้าทาย ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ แต่ขณะนั้นยังอดมื้อกินมื้อ อาศัยอยู่กับแฟนสาวที่อพาร์ทเม้นท์บนร้านขายหนังสือ Shakespeare and Company ทำให้มีโอกาสคลุกคลีวงในกับ Erik Satie, James Joyce, Virgil Thomson, Ernest Hemingway ฯ จากนั้นได้รับการชักชวนจาก Ezra Pound ให้มาทำเพลงประกอบภาพยนตร์ Ballet Mécanique (1924)

แม้ว่า Antheil จะตบปากรับคำ Pound มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ Murphy และ Ray แต่เจ้าตัวไม่เคยมีความสนใจในสื่อภาพยนตร์ (เห็นว่าไม่เคยรับชมหนังด้วยซ้ำ) กระทั่งการมาถึงของ Léger ด้วยข้ออ้างความคิดสร้างสรรค์แตกต่าง จึงขอแยกทางออกไปสรรค์สร้าง ‘My Ballet Mécanique’ ของตนเอง

My Ballet Mécanique is a new FOURTH DIMENSION of music. My Ballet Mécanique is the first piece of music that has been composed OUT OF and FOR machines, ON EARTH. My Ballet Mécanique is the first piece of music that has found the best forms and materials lying inert in a medium that AS A MEDIUM is mathematically certain of becoming the greatest moving factor of the music of future generations.

George Antheil

งานเพลงของ Antheil ต้องบอกว่าระห่ำไม่แพ้ภาพยนตร์ ทำการครุ่นคิดคำนวณท่วงทำนองด้วยสมการคณิตศาสตร์ ประกอบเข้ากับเครื่องดนตรี เปียโน 16 หลัง, 3 ไซโลโฟน, 7 กระดิ่งไฟฟ้า, 3 ใบพัดเครื่องบิน, เสียงไซเรน, 4 กลองเบส และฆ้องหนึ่งใบ เหล่านี้เพื่อสร้างเสียง ‘mechanistic’ หรือ ‘industrial sound’

เอาจริงๆเปียโนแค่ 2 หลัง การเล่นประสานเสียงก็ทำได้ยาก แต่ Antheil กลับเรียกร้องเปียโนถึง 16 หลัง ทางทฤษฎีอาจจะทำได้ แต่ในทางปฏิบัติยุคสมัยนั้นถือว่าเพ้อเจ้อไร้สาระ! มากสุดในการแสดงรอบปฐมทัศน์จึงใช้เปียโนเพียง 2 หลัง ร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆอีกแค่ 6 ชิ้น บรรเลงโดยกลไกอัตโนมัติ

คอนเสิร์ต Ballet Mécanique ของ George Antheil ความยาว 30 นาที (มากกว่าความยาวหนังเกือบเท่าตัว) ทำการแสดงรอบปฐมทัศน์ที่ Paris เมื่อปี ค.ศ. 1926 โดยไร้ซึ่งนักดนตรี เพียงเครื่องดนตรี และอุปกรณ์จักรกลขยับเคลื่อนไหวอยู่บนเวที ปรากฎว่าเสียงตอบรับเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด หนวกหู น่ารำคาญ “all hell broke loose”. ถึงขนาดมีเหตุชกต่อยเกิดขึ้นหลังคอนเสิร์ต จนแผนการแสดงอื่นๆถูกยกเลิกโดยพลัน

Antheil พยายามจะปรับปรุง รื้อฟื้น แก้ไขบทเพลง แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ประสบความสำเร็จในช่วงชีวิต และครั้งหนึ่งก็ยินยอมร่วมทำการแสดงสดกับหนังเงียบ Ballet Mécanique ครั้นฉายที่ Museum of Modern Art (MoMA) เมื่อปี ค.ศ. 1934 น่าเสียดายโน๊ตเพลงฉบับเรียบเรียงใหม่เพื่อการนี้ (ลดความยาวดั้งเดิม 30 ให้สอดคล้องระยะเวลาหนัง 16 นาที) ได้สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย

เกร็ด: มีนักวิชาการ/ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ คาดการณ์กันว่าเมื่อตอน Antheil ได้รับมอบหมายจาก Pound ดนตรีที่ครุ่นคิดสร้างขึ้นฉบับแรกๆคงเป็นแค่ ‘piano accompaniment’ และเสียงเอ็ฟเฟ็กอื่นๆเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยเท่านั้น (เพื่อความสะดวกในการแสดงสด) แต่หลังจากแยกตัวออกมา Antheil เลยขยับขยายแนวคิดให้กลายเป็นเปียโน 16 หลัง! เต็มศักยภาพที่เขาเชื่อว่ามนุษย์จะสามารถทำได้ในอนาคต

ถึงอย่างนั้นบทเพลงนี้ที่กลายเป็นตำนานของ Antheil แม้ในปัจจุบันก็ยังแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะให้นักดนตรีเล่นเปียโนพร้อมกัน 16 หลัง! แต่ด้วยการมาถึงของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้าช่วยเหลือ จึงประสบความสำเร็จในที่สุดเมื่อปี ค.ศ. 1998 โดยวง Percussion Ensemble แห่ง University of Massachusetts Lowell

อิทธิพลต่อวงการเพลงของ Ballet Mécanique ถือว่าพอสมควรทีเดียว อาจไม่ใช่ความบ้าบิ่นด้วยการซิงโครไนซ์ (Synchronous) เปียโน 16 หลัง แต่รสสัมผัสของบทเพลงได้ยินจากผลงานของ John Cage, Terry Riley, John Adams หรือแม้แต่ Philip Glass ก็มีกลิ่นอายละม้ายคล้ายอยู่เล็กๆ

ผมพยายามมองหาคลิปเปียโน 16 หลัง ไม่ใช้นักดนตรี ความยาว 30 นาที แต่ก็ไม่พบเจอใน Youtube เลยเลือกเอาคลิปมากสุดเท่าที่จะหาได้คือเปียโน 10 หลัง (นักเปียโน 6 คน + 4 เล่นด้วยจักรกล) รายละเอียดอื่นๆเห็นแล้วน่าตื่นตาตื่นใจ คุณภาพดูดีที่สุดด้วย กำกับวงโดย Ulrich Pöhl

แถมให้อีกคลิปสำหรับคนยังนึกภาพไม่ออกว่า บทเพลงนี้สามารถบรรเลงด้วยอุปกรณ์จักรกลทั้งหมดได้อย่างไร มีลักษณะแบบนี้นะครับ (ในคลิปใช้เปียโนแค่ 4 หลัง)

ต้นศตวรรษที่ 20th เป็นช่วงที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสมัย Machine Age (1880-1945) เครื่องจักรกลกำลังแพร่หลาย ขยับขยาย ส่งอิทธิพลต่อศาสตร์หลายๆแขนง จนกระทั่งการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (1914-18) คือช่วงเวลาที่พบเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน (เพราะเป็นสงครามที่นำเอานวัตกรรม/เครื่องจักรกลใหม่ๆเข้ามาใช้ในการสู้รบมากมาย)

ในวงการศิลปะก็เฉกเช่นเดียวกัน Cubism และ Dadaism ถือว่ารับอิทธิพลเต็มๆจากยุคสมัย Machine Age โดยเฉพาะศิลปินอย่าง Fernand Léger, Marcel Duchamp, Francis Picabia ฯ ต่างพยายามสรรค์สร้างผลงานผสมผสานระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรกล เพราะในอนาคตมีความเชื่อมั่นว่า Man & Machine จะกลายเป็นสิ่งหนึ่งเดียวกัน

The Mechanical Ballet dates from the time when architects talked about machine civilization. There is a new realism in this era that I personally used in my paintings and in this film. This film is above all the proof that machines and fragments, that manufactured everyday objects are possible and plastic. Contrasting objects, slow and fast passages, rests, intensities, the whole film is built on this. The close-up, which is the only cinematographic invention, I used. The object fragment also served me; by isolating it, we personalize it. All this work led me to consider the event of objectivity as a very current and new value.

Fernand Léger

อ่านจากบทสัมภาษณ์ของ Léger พบเห็นการใช้คำพูดอย่าง ‘personally use’, ‘only … I used’, ‘served me’มีความชัดเจนอย่างมากๆว่าพี่แกเหมารวม Ballet Mécanique (1924) ว่าเป็นโปรเจคตนเองทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่สนใจผู้ร่วมงานอื่นอย่าง Dudley Murphy, Man Ray หรือแม้แต่ Ezra Pound ถึงขนาดมีนักวิจารณ์ให้คำนิยามบรรดาผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้

The story behind the making of Ballet Mécanique reveals a great deal about the personalities involved: about Pound’s generosity, Léger’s ruthlessness, Man Ray’s wariness, Murphy’s naiveté, Antheil’s egomania.

Mike Springer จากเว็บไซด์ OpenCulture.com

ฉบับหนังเงียบเข้าฉายรอบปฐมทัศน์ วันที่ 24 กันยายน ค.ศ. 1924 ในเทศกาลงาน Internationale Ausstellung neuer Theatertechnik (International Exposition for New Theater Technique) ซึ่งรวบรวมผลงาน Avant-Garde/ภาพยนตร์แนวทดลอง (Experimenatal) มาจัดแสดงที่ Vienna แต่เห็นว่าเสียงตอบรับของหนังไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ น่าจะเพราะดูกันไม่รู้เรื่อง นามธรรมเกินไป แตกต่างจากขนบการเล่าเรื่อง (non-narrative) ในยุคสมัยนั้น

แต่หลังจากนำออกฉายตามสถานที่ต่างๆ นักวิจารณ์ก็เริ่มตระหนักถึงความล้ำยุคสมัย เทคนิคนำเสนอดูตื่นตาตื่นใจ เข้าถึงจุดประสงค์แท้จริงที่ต้องการเปรียบเทียบวิถีชีวิตยุคใหม่ vs. เทคโนโลยี/เครื่องจักรกลไก สะท้อนการมาถึงของยุคสมัย Machine Age (1880-1945)

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ ‘digital restoration’ คุณภาพ 2K เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2014 ซึ่งได้นำเอาการเรียบเรียงดัดแปลงบทเพลงของ George Antheil โดย Paul D. Lehrman เข้ามาเป็นประกอบพื้นหลัง สามารถหารับชมได้ทาง Youtube

เอาจริงๆผมประทับใจเพลงประกอบมากกว่าตัวหนังเสียอีก นั่นเพราะเรื่องราว/งานภาพมันดูมั่วๆซั่วๆ สะเปะสะปะ (การมาถึงของ Léger น่าจะทำให้หลายสิ่งอย่างปรับเปลี่ยนแตกต่างไปจากดั้งเดิมพอสมควร) แต่เรายังสามารถเพลิดเพลินกับภาพรวมของหนัง เป้าหมายผู้สร้างที่ต้องการมอบสัมผัสแปลกใหม่ ตื่นหู-ตื่นตา เปิดประสบการณ์ไม่ซ้ำแบบใคร ใครชื่นชอบแนวทดลอง (Experimental) ต้องหาลองรับชมสักครั้งนะครับ

จัดเรต pg สำหรับภาพกราฟฟิกชวนเวียนศีรษะ

คำโปรย | การเริงระบำของจักรกล Ballet Mécanique ตื่นหู ตื่นตา แปลกใหม่ เปิดประสบการณ์ไม่ซ้ำแบบใคร
คุณภาพ | ด้อิส์
ส่วนตัว | เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: