Girlhood (2014) French : Céline Sciamma ♥♥♥♡

จะว่าไป แทบไม่มีนักแสดงผิวสีชาวฝรั่งเศสที่โด่งดังระดับตำนาน นั่นเพราะผู้คนในประเทศนี้ยังเต็มไปด้วยอคติทางเชื้อชาติพันธุ์ แถมยังไม่มีใครลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ เสมอภาคเท่าเทียม บรรดานักแสดงและเรื่องราวในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เฉกเช่นเดียวกัน เป็นกลุ่มบุคคลที่ถูกหลงลืม มองข้าม ทำเหมือนไม่เคยมีตัวตนอีกต่างหาก

Bande de filles แปลว่า Group of Girls, แต่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ Girlhood (2014) ซึ่งโดยไม่รู้ตัวออกฉายปีเดียวกับ Boyhood (2014) ของ Richard Linklater ถึงอย่างนั้นทั้งสองเรื่องกลับมีความแตกต่างตรงกันข้าม! … ขณะที่ Boyhood นำเสนอ ‘Time Lapse’ พัฒนาการ(ทางร่างกาย)สิบสองปีของเด็กชายก้าวสู่วัยรุ่น, Girlhood นำเสนอ 40 วันแห่งการเปลี่ยนแปลง(ทางความครุ่นคิด/จิตใจ)ของหญิงสาวแรกรุ่นวัยสิบหกปี

แต่ขณะที่ Boyhood (2014) ได้รับยกย่องกลายเป็นตำนานขึ้นหิ้งตั้งแต่ออกฉาย, Girlhood (2014) แม้เสียงตอบรับจะค่อนข้างดี กลับค่อยๆถูกหลงลืมเลือนไปตามกาลเวลา

ปัญหาของ Girlhood (2014) แม้มุมมองการนำเสนอจะมีความสดใหม่ (นำเสนอผ่านมุมมองผู้กำกับหญิง/เลสเบี้ยน และเรื่องราวใช้สาวแรกรุ่น/ผิวสีคือตัวละครหลัก) แต่ไดเรคชั่นของ Céline Sciamma โดยเฉพาะ ‘female gaze’ อาจไม่ใช่ทุกคนจะอดรนทน โดยเฉพาะบรรดาบุรุษยึดมั่นในกฎกรอบ มือถือสากปากถือศีล หรืออิสตรีหัวอนุรักษ์นิยม คงมิอาจฝืนกลั้นยินยอมรับอิสรภาพไร้ขอบเขตของหนัง

ผมเองก็บอกตามตรงว่าไม่ค่อยชอบหนังสักเท่าไหร่ แม้มีหลายฉากเจ๋งโคตรๆ (โดยเฉพาะตอนสาวๆเต้นเพลง Diamond) แต่มุมมอง ‘female gaze’ สร้างความกระอักกระอ่วน ลุกรี้ร้อนรน จีงค่อนข้างท้าทายศักยภาพในการรับชม ไม่ใช่ทุกคนจะพบเห็นความงดงามของเพชรที่ซุกซ่อนเร้นอยู่ในตม


Céline Sciamma (เกิดปี 1978) ผู้กำกับ/นักเขียนบทภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Pontoise, Val-d’Oise วัยเด็กชื่นชอบการอ่าน-เขียน หลงใหลในภาพยนตร์เพราะคุณย่ามักเปิดหนัง Hollywood ยุคเก่าๆให้รับชม, พอช่วงวัยรุ่นก็แวะเวียนเข้าโรงหนัง Art House สัปดาห์ละสามวัน, คลั่งไคล้ผลงานของ Chantal Akerman และ David Lynch, ศึกษาต่อยัง École Nationale Supérieure des Métiers de l’Image et du Son (เรียกสั้นๆว่า La Fémis) พัฒนาบทโปรเจคจบ Naissance des Pieuvres ไม่เคยคาดหวังจะเป็นผู้กำกับ แต่หลังจากนำบทดัวกล่าวไปพูดคุยโปรดิวเซอร์ ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอย่างเต็มที่จนได้แจ้งเกิดกลายมาเป็น Water Lilies (2007)

หลังเสร็จจาก Tomboy (2011) ความสนใจของ Sciamma อยากนำเสนอเรื่องราวที่เป็นปัจจุบัน มีความร่วมสมัย ครั้งหนึ่งระหว่างพานผ่านไปห้างสรรพสินค้า Forum des Halles พบเห็นกลุ่มแก๊งค์เด็กผู้หญิงรวมตัวกันทำกิจกรรม ร้อง-เล่น-เต้น พูดคุยเสียงดัง เต็มเปี่ยมด้วยพลัง

I was fascinated by their energy, their group dynamics, their attitude, style and way of dressing… I wanted to find out more about them. They’re not gangs in the US sense of the word just big groups of friends.

Céline Sciamma

เป้าหมายหลักของ Sciamma คือนำเสนอพัฒนาการเติบโต (Coming-of-Age) ของเด็กผู้หญิง, มิตรภาพระหว่างผองเพื่อน, อิทธิพลจากครอบครัว/สังคม ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ และการตัดสินใจเลือกหนทางเดินชีวิตเมื่อสู่ช่วงวัยแรกรุ่น

Sciamma มักถูกนักข่าวสัมภาษณ์ถาม ทำไมถึงนำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงผิวสี (ทั้งๆที่เจ้าตัวเป็นคนขาว) เธอตอบว่าตนเองไม่ได้สร้างหนังเกี่ยวกับคนดำ แต่ต้องการเล่าถึงกลุ่มบุคคลที่ถูกสังคม(ฝรั่งเศส)หลงลืม มองข้าม ซึ่งก็คือสาวๆผิวสีกลุ่มนี้แหละ

I had a strong sense of having lived on the outskirts – even if I am middle-class white girl. I didn’t feel I was making the film about black women but with black women – it’s not the same. I’m not saying, ‘I’m going to tell you what it’s like being black in France today’; I just want to give a face to the French youth I’m looking at.

Girlhood is not about what it’s like to be a black girl, it’s about what it’s like to be a girl.


เรื่องราวของ Marieme (รับบทโดย Karidja Touré) เด็กหญิงสาววัย 16 ปี เชื้อสาย African-French อาศัยอยู่ชายเมืองกรุง Paris ฐานะค่อนข้างยากจน แม้ต้องการเรียนต่อมัธยมปลาย แต่ไม่ได้มีความเฉลียวฉลาดขนาดนั้น ครูเลยแนะนำให้เข้าศึกษาอาชีวศึกษา แต่เจ้าตัวปฏิเสธเสียงขันแข็งเพราะไม่อยากดำเนินรอยตามมารดา วันๆเอาแต่หาเงินจนแทบไม่เคยอยู่บ้าน เธอจึงถูกพี่ชายใช้ความรุนแรง (Abused) กระทำร้ายร่างกายบ่อยครั้ง

วันหนึ่งระหว่างกำลังเดินกลับบ้าน กลุ่มแก๊งค์สามสาวนำโดย Lady (รับบทโดย Assa Sylla) ชักชวน Marieme ไปเที่ยวเล่นยังกรุง Paris ในตอนแรกต้องการบอกปัดปฏิเสธ แต่หลังจากพบเห็นพวกเธอทักทายกับกลุ่มเพื่อนชาย หนึ่งในนั้นคือ Ismaël (รับบทโดย Idrissa Diabate) คนที่แอบชอบมานาน เลยตัดสินใจขอเข้าร่วมกลุ่ม เรียนรู้วิถีทางอันธพาล ลักเล็กขโมยน้อย รีดไถเพื่อนนักเรียน จนมีเงินซื้อโทรศัพท์ สร้อยคอราคาแพง และเรียกตนเองว่า Vic (ย่อมาจาก Victory) ใช้ชีวิตโดยไม่สนความถูก-ผิด

หลังจาก Vic ได้ร่วมรักกับ Ismaël จนเรื่องไปเข้าหูพี่ชาย ใช้กำลังกระทำร้ายอย่างไม่พึงพอใจ เธอจึงตัดสินใจหลบหนีออกจากอพาร์ทเม้นท์ ทำงานกับพ่อค้ายาเสพติด Abou แต่งหน้า สวมวิก ใส่เดรสสั้น ปลอมตัวเป็นเด็กเดินยา แต่หลังจากแฟนหนุ่มรับรู้สิ่งเกิดขึ้นก็ยินยอมรับไม่ได้ นั่นทำให้หญิงสาวมิอาจอดรนทนต่อวิถีชีวิตแบบนี้ได้อีกต่อไป


การคัดเลือกนักแสดงกลายเป็นกระบวนการที่ยุ่งยากและยาวนานถึง 4 เดือนเต็มๆ นั่นเพราะแทบจะไม่มีนักแสดงหญิงผิวสีในฝรั่งเศส ทำให้ทีมงานต้องเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ หน้าโรงหนัง, โรงเรียน, สวนสนุก, ตามท้องถนน ฯลฯ

the process was quite long and we went looking for four months. It was a casting director and two assistants. We basically went everywhere we could find girls. We went to agencies, but there were very few black girls and young girls in agencies. And then we went into theater classes, and high schools, but we met most of them randomly on the street.

Céline Sciamma

ซึ่งหลังจากได้สาวๆมาแล้วก็ต้องนำมาฝึกฝน เข้าคอร์สการแสดง ดูว่าพวกเธอสามารถ ‘improvised’ และเข้าขากับเพื่อนๆนักแสดงได้หรือเปล่า สำหรับบทบาทท้าทายที่สุดก็คือ Marieme/Vic เพราะเป็นตัวละครต้องมีภาพลักษณ์น่าจดจำ และพัฒนาการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลัง

the most challenging part was to find the girl who was gonna play Vic, because obviously she’s in every frame of the film, so she has to be very solid. She has to be a striking face, an unforgettable face, but she also has to have several faces, actually, because she goes through all of these identities.

Karidja Touré (เกิดปี 1994) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Bondy, Ile-de-France ครอบครัวอพยพมาจาก Ivory Coast หลังจากเรียนจบมัธยมต้น ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทแห่งหนึ่ง วันหนึ่งระหว่างมาท่องเที่ยวยังสวนสนุก ถูกแมวมองชักชวนให้มาทดสอบหน้ากล้อง แล้วได้รับบทนำ Girlhood (2014)

รับบท Marieme เด็กสาววัย 16 ปี ที่มีความกลัวๆกล้าๆ ขี้ขลาดเขลา ไม่สามารถโต้ถกเถียงผู้อื่น ชอบก้มศีรษะศิโรราบต่อโชคชะตากรรม แต่หลังจากเข้าร่วมกลุ่มสาวๆ ได้รับการเสี้ยมสอนจาก Lady ให้มีความเป็นตัวของตนเอง ไม่ต้องไปสนอะไรใคร เธอจึงกลายเป็น Vic สาวมั่นที่พร้อมต่อสู้ เผชิญหน้าทุกสิ่งอย่าง ไขว่คว้าครอบครอบทุกสิ่งโหยหา และยังหลังหนีออกจากบ้านกลายเป็นเด็กเดินยา แต่เพียงไม่นานก็จะเริ่มรับรู้ตนเอง ว่าอะไรคือความต้องการที่แท้จริง

แซว: การใช้ชื่อตัวละคร Marieme ผมรู้สึกว่าน่าจะเป็นการอ้างอิงถึง Marianne รูปสัญลักษณ์เชิงบุคลาธิษฐานของสาธารณรัฐฝรั่งเศส (national personification) สตรีเพศผู้เป็นตัวแทนแห่งเสรีภาพ

ไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์จาก Marieme สู่ Vic ที่โดดเด่น ตราตรึง แต่ยังการแสดงของ Touré ที่ค่อยๆดูดี มี Charisma ขึ้นตามลำดับ จากเด็กสาวขี้ขลาด ชอบหลบสายตาผู้อื่น ค่อยๆสามารถเชิดหน้าชูตา เริดหยิ่งทะนง ยิ่งตอนสวมวิกใส่เดรส แค่เพียงท่วงท่าการเดินก็จับจิตจับใจผู้ชม (เปลี่ยนแปรสภาพราวกับเป็นคนละคน) นั่นคือพรสวรรค์ด้านการแสดงที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ได้รับคำชื่นชมล้นหลามจนมีโอกาสเข้าชิง César Award: Most Promising Actress แต่เธอกลับแทบจะไม่มีโอกาสก้าวต่อไปในวงการ เพราะประเทศฝรั่งเศสไม่ค่อยสร้างหนังที่มีนางเอกผิวสี หลังจากนี้เลยได้แค่ตัวประกอบ นักแสดงสมทบเท่านั้นเอง


นักแสดงอีกคนที่ต้องพูดถึงเลยก็คือ Assa Aïcha Sylla (เกิดปี 1996) เกิดที่ 15th arrondissement of Paris ครอบครัวมีเชื้อสาย Sonike อพยพมาจาก Mauritania (ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา) ระหว่างร่ำเรียน Lycée Edgar Quinet Filières Professionnelles ได้รับคำชักชวนจากแมวมองทดสอบหน้ากล้อง Girlhood (2014)

รับบท Lady หัวหน้าแก๊งสี่สาว เป็นคนชักชวน Marieme ให้เข้าร่วมกลุ่ม พาท่องเที่ยว เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ใช้ชีวิตอย่างไม่ยี่หร่าต่ออะไร แต่หลังจากพ่ายแพ้การต่อสู้ให้แก๊งค์คู่อริ ก็ทำให้เธอสูญเสียความมั่นใจในตนเอง หวนกลับเป็น(ชื่อจริง) Sophie มีชีวิตครอบครัวแทบจะไม่แตกต่างจาก Marieme

ตัวละครนี้ถือเป็นกระจกสะท้อน Marieme/Vic ในทิศทางตรงกันข้าม จากเคยเป็นสาวมั่นหลังพ่ายแพ้การต่อสู้เลยค่อยๆตกต่ำ จนสูญเสียความเป็นตัวของตนเอง ถึงอย่างนั้นก็ยังได้รับแรงผลักดัน กำลังใจจากผองเพื่อน ทำให้ยังสามารถมีชีวิตดำเนินต่อไป (ในทิศทางไม่แตกต่างจาก Marieme)

การแสดงของ Sylla มีความโดดเด่นไม่น้อยไปกว่า Touré โดยเฉพาะช่วงแรกๆที่เต็มไปด้วยความจัดจ้าน แรดร่าน ใส่อารมณ์จัดเต็มผ่านสีหน้า ท่าทาง คำพูดออกจากปากล้วนเกิดจากการดั้นสด (Improvised) ทั้งๆตัวจริงเห็นว่าเป็นคนขี้อาย สุภาพอ่อนหวาน แต่เป็นความจงใจของผู้กำกับ Sciamma คัดเลือกเธอเพราะต้องการนำเสนอด้านอ่อนแอในความเข้มแข็งแกร่ง

Lady is the leader of the group and I wanted to cast a non-leader in real life that could play a leader with a weakness she’s trying to hide. Assa just gave it her all; when the cameras stopped rolling, she was this really shy and sweet girl. She was very committed to the role.

Céline Sciamma

ถ่ายภาพโดย Crystel Fournier สัญชาติฝรั่งเศส เริ่มต้นมีผลงานหนังสั้นตั้งแต่ปี 1998 กระทั่งมีโอกาสกลายเป็นตากล้องขาประจำ Céline Sciamma ตั้งแต่ Water Lilies (2007)

งานภาพในหนังของ Sciamma มักถ่ายระยะใกล้ Meduim/Close-Up Shot โดยมีลักษณะ ‘female gaze’ จับจ้องมองด้วยสายตาใคร่รู้ใคร่เห็นของหญิงสาว ซึ่งมักสร้างความกระอักกระอ่วนให้ผู้ชายพบเห็น อาทิ หน้าอก บั้นท้าย อวัยวะเพศหญิง ฯ (เหล่านั้นคือมุมมองปกติในสายตาของอิสตรีเพศ แต่ถ้าบุรุษใดจับจ้องอย่างนั้นจะถูกตีตราว่าเป็นพวกถ้ำมอง ‘voyeur’ โดยทันที)

หนังถ่ายทำย่าน Seine-Saint-Denis และ Hauts-de-Seine ซึ่งอยู่ริมชายขอบของกรุง Paris เป็นที่อยู่อาศัยของบรรดาผู้อพยพ(ชาวแอฟริกัน) ค่าเช่า/ค่าครองชีพไม่สูงมาก ส่วนห้างสรรพสินค้าที่สาวๆเดินทางมาท่องเที่ยวก็คือ Forum des Halles

ฉากแรกของหนังนำเสนอภาพการซักซ้อมอเมริกันฟุตบอล แต่เพราะทุกคนสวมใส่หมวกกันน็อค ผู้ชมเลยอาจไม่ทันสังเกตว่าเป็นการแข่งขันระหว่างสาวๆ … นี่เป็นกีฬาที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่ามีแค่ผู้ชายเล่นได้ แต่มันผิดอะไรที่ผู้หญิงจะเล่น? เพราะชีวิตพวกเธอต่างก็ต้องต่อสู้ พุ่งชน แก่งแย่งชิงลูกบอล วิ่งไปให้ถึงเขตแดนอีกฝั่งฝ่าย ต้องการได้รับชัยชนะไม่แตกต่างกัน

เรื่องราวของการต่อสู้ เผชิญหน้า ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อเป็นผู้ชนะ (ในมุมมองบุรุษเพศ) นี่ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ในวงการภาพยนตร์ แต่เมื่อถูกนำเสนอในมุมมองผู้กำกับหญิง (เลสเบี้ยน) มันจึงมีความสด โลกทัศน์ใหม่ แทบจะยังไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน

บุรุษเพศ จะถูกนำเสนอในลักษณะ stereotypy ให้ดูเหมือนเป็นตัวร้าย พยายามควบคุมครอบงำหญิงสาวต้องอยู่ภายใต้ ทำตามคำสั่ง กลายเป็นวัตถุทางเพศหนึ่งที่พวกเธอต้องคอยหลบหลีก มีความหวาดระแวง เงียบเสียงเวลาเดินผ่าน

เช่นกันกับผู้หญิงผิวขาว มักถูกรุมล้อม รีดไถเงิน ตกเป็นเหยื่อในการถูกกลั่นแกล้ง (bully) นี่เป็นการย้อนรอยสิ่งที่โดยปกติจะพบเห็นในมุมกลับตารปัตรตรงกันข้าม ทำไมพวกฉันถึงจะทำแบบนี้บ้างไม่ได้?

พัฒนาการเสื้อผ้าหน้าผมของ Marieme/Vic มีการเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนตัวตนเธอเองตามแต่ช่วงเวลา

  • เริ่มต้นรัดมัดผมเป็นมวย สะท้อนถึงชีวิตที่ถูกควบคุมครอบงำ ต้องอยู่ในกฎกรอบ (ของครอบครัวและบริบทางสังคม) สวมเสื้อผ้าเก่าๆขาดๆแสดงถึงฐานะ ความยากจน ไม่มีความเป็นตัวของตนเอง
  • ตั้งแต่เข้าร่วมเป็นสมาชิกแก๊งสาวๆ เธอจึงเริ่มปล่อยผมอิสระ (ช่วงกลางๆเรื่องเหมือนจะไม่หวีด้วยซ้ำนะ) เรียกว่าไม่ต้องการอยู่ในกฎกรอบ ถูกครอบงำอีกต่อไป ส่วนเสื้อผ้าก็จะดูหรูหรา แฟชั่น มีราคา (เห็นว่าผู้กำกับ Sciamma ดูแลในส่วน Costume Design เป็นคนเลือกเสื้อผ้าให้ตัวละครทั้งหมด)
  • หลังจาก Marieme ตัดสินใจหลบหนีออกจากบ้าน เธอกลายเป็นคนสองบุคลิกภาพ
    • เด็กเดินยา สวมเดรสแดง ส้นสูง ใส่วิกขาว ทุกย่างก้าวมีความเริดเชิด เย่อหยิ่งทะนงตน
    • แต่ตัวจริงกลับตัดผมสั้นแล้วถักเป็นเส้น(ดูเหมือนทอม) สวมใส่เสื้อผ้าหลวมๆ คอกลม/แขนยาวเชยๆ ไม่มีการปรุงปั้นแต่งใดๆ หรือจะมองว่าคือภาพลักษณ์ธรรมชาติ/เป็นตนเองมากสุดของเธอ

Two Shot ภาพนี้ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว สังเกตว่าทิศทางใบหน้าของสองสาวอยู่ตำแหน่งตั้งฉากกัน แล้วใช้การปรับโฟกัสคม-ชัด ซึ่งสามารถสะท้อนถึงอิทธิพลของเพื่อน Lady (ที่อยู่ด้านหลัง) ทำให้ Marieme กล้าจะทำบางสิ่งอย่าง (ที่โดยปกติจะไม่มีวันทำโดยเด็ดขาด)

ฉากนี้ดำเนินเรื่องในห้องน้ำ (Lady กำลังนอนแช่ในอ่าง) สามารถสื่อถึงความเปลือยเปล่า หรือคือภายในจิตใจของหญิงสาว ซึ่ง Lady ยังมอบสร้อยคอซึ่งจะกลายเป็นอัตลักษณ์ใหม่ของ Marieme เปลี่ยนแปลงตัวตน(จากภายใน)ให้กลายเป็น Vic

ในลักษณะเดียวกับ Two Shot ของ Lady กับ Marieme (คนหนึ่งนอน อีกคนนั่ง และทิศทางศีรษะตั้งฉากกัน) แต่มีการแสดงออกและนัยยกความหมายที่ตรงกันข้ามกับพี่ชาย ยกมือขึ้นมาโอบรัดคอน้องสาว เพื่อต้องการเสี้ยมสั่งสอนให้เธอต้องอยู่ภายใต้ ปฏิบัติตามคำสั่ง ห้ามข้ดย้อนแย้งตนเองเป็นอันขาด

สถานที่ก็คือห้องนั่งเล่น พี่นอนบนโซหา น้องนั่งบนพื้น ทั้งหมดแสดงถึงเปลือกภายนอกที่พวกเขาแสดงออกต่อกัน หาได้มีเข้าใจตัวตน/ความต้องการของอีกฝั่งฝ่ายเลยสักนิด

แม้ว่าครั้งหนึ่ง Marieme จะพยายามควบคุมครอบงำ/ใช้กำลังรุนแรงต่อน้องสาวในลักษณะเดียวกับพี่ชาย แต่หลังจากเธอค่อยๆครุ่นคิด บังเกิดความเข้าใจ มันเลยกลับตารปัตรเล็กๆในฉากนี้ที่เป็น พี่สาวนั่งบนเตียง ส่วนน้องนอนบนตัก พยายามพร่ำสอนจากประสบการณ์ ซึ่งเธอยังแกะมัดมวยผมให้น้อง (นัยยะเดียวกับทรงผมของ Marieme ปล่อยอิสระให้น้องสามารถมีอิสรภาพ เป็นตัวของตนเอง เหมือนภาพร่างนกบนผนังกำแพง)

หลับมาที่ฉากไฮไลท์ของหนัง คือกิจกรรมร้อง-เล่น-เต้น ลิปซิ้งบทเพลง Diamond ของ Rihanna ไม่ใช่แค่ท่วงท่าสอดคล้องเข้าจังหวะ แต่ยังการสาดแสงสีน้ำเงิน (ใครเคยรับชม Moonlight (2016) น่าจะตระหนักว่าแสงน้ำเงิน สะท้อนผิวคนดำได้เปร่งประกายงดงามที่สุด) และพัฒนาการของ Marieme เริ่มจากเหนียงอาย ค่อยๆบังเกิดความหาญกล้า ลุกขึ้นมาโยกเต้น โอ้ลัลล้า จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของผองเพื่อน เรียนรู้จักการใช้ชีวิตวัยรุ่นอย่างคุ้มค่า งดงามเจิดจรัสดั่งเพชรนิลจินดา

ฉากนี้คือจุดสูงสุดของช่วงเวลาวัยรุ่น สามารถปลดปล่อยตัวเองให้โลดเต้น ดิ้นแดนซ์อย่างไม่ต้องหวาดหวั่นวิตกกังวลต่อสิ่งใด แต่หลังจากนี้ชีวิตพวกเธอก็จะค่อยๆกลับลงมา เผชิญหน้าโลกความจริง ต้องสู้ดิ้นรน หาหนทางเอาตัวรอด (เป็นสองการดิ้นที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง)

ไดเรคชั่นการต่อสู้ระหว่างสาวๆ ทั้งสองครั้งต่างพยายามถ่ายระยะ Medium/Close-Up Shot เพื่อให้ผู้ชมราวกับเป็นส่วนหนึ่ง พบเห็นอย่างชิดใกล้ จับต้องได้ ส่งเสียงให้กำลังใจ ซึ่งแฝงนัยยะถึงการต่อสู้กับตนเอง (ของตัวละคร) โดยผู้ชนะจักถอดเสื้อ เปิดโปงความอ่อนแอของอีกฝั่งฝ่าย จนสูญเสียความเชื่อมั่น ไร้จุดยืนในสังคมอีกต่อไป

สำหรับการต่อสู้ของ Marieme นั้นมีสองเหตุผล หนึ่งคือเพื่อแก้ล้างแค้น/เอาคืนให้กับ Lady ขณะเดียวกันมันคือการพิสูจน์ตัวเธอเองในเชิงสัญลักษณ์ ว่าฉันมีความสามารถในการต่อสู้ดิ้นรน เอาชีวิตรอดในสังคมได้ด้วยตัวตนเอง (หลังจากนี้เธอก็จะเริ่มตัดสินใจทำอะไรๆด้วยตนเอง หนีออกจากบ้าน และร่ำลาจากกลุ่ม เพื่อขวนไขว่คว้าสิ่งที่กำลังติดตามหา)

ไม่ใช่ว่าหนังต้องการเซนเซอร์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร ถึงได้ไฟติด-ดับ มองไม่เห็นพวกเขากำลังกอดจูบ (หรือนำเสนอฉากร่วมรัก) แต่ต้องการสะท้อนความสัมพันธ์ของ Marieme และ Ismaël จำเป็นต้องปกปิด ซ่อนเร้น ไม่ให้ใครอื่นรับรู้เห็น (เพราะพอพี่ชายรับรู้เข้า ก็ใช้ความรุนแรงตบตีกระทำร้ายน้องสาวโดยพลัน)

ขณะเดียวกันพื้นหลังที่มีลวดลาย pattern คล้ายรังผึ้ง แต่ผมกลับรู้สึกว่ามันคือกรงขัง ความสัมพันธ์ที่ฉุดเหนี่ยวรั้งอิสรภาพของ Marieme เพราะระหว่างชาย-หญิง มีเพียงการแต่งงาน มีบุตร คือชีวิตตามขนบกฎกรอบ ไม่สามารถดิ้นหลุดพ้น ราวกับถูกควบคุมขังไปชั่วนิรันดร์

ทุกฉากระหว่าง Marieme และ Ismaël สะท้อนพัฒนาการ(ความสัมพันธ์)ตัวละครที่ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป แต่ผมขอกล่าวถึง 2 ฉากร่วมรัก (ที่ก็ไม่ได้นำเสนออะไรโจ่งแจ้ง)

  • Ismaël รูดซิบเสื้อของ Marieme พยายามจะล้วงเข้าไปภายในจิตใจของเธอ แต่เพราะขณะนั้นคือยามเช้าตรู่ (รุ่งอรุณของความสัมพันธ์) นั่นทำให้เธอยังปฏิเสธไม่ให้เขาเข้ามาอยู่ภายในหัวใจ
  • Marieme เข้ามาในห้องของ Ismaël แล้วออกคำสั่งให้เขาถอดเสื้อผ้า นอนคว่ำ นี่สะท้อนถึงความต้องการของเธอ อยากเป็นผู้สามารถควบคุม ออกคำสั่ง ทำในสิ่งที่อยากทำ (ไม่ใช่ให้ผู้ชาย/คนรัก เป็นช้างเท้าหน้าแต่ฝั่งฝ่ายเดียว)

กิจกรรมตีกอล์ฟยังหอไอเฟลขนาดย่อส่วน ศูนย์ราชการ (มั้งนะ) สถานที่สำคัญๆในกรุง Paris สะท้อนถึงวิถีชีวิตที่ต้องดำเนินตามกฎกรอบ เส้นทางที่สังคมกำหนดไว้ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งจำเป็นเสมอไป เพราะเราสามารถตีไซด์โค้ง ก็สามารถพัดลงหลุมที่อยู่อีกฟากฝั่งหนึ่งได้เช่นเดียวกัน

การสวมวิก เดรสแดง เป็นการสร้างภาพบุคคล/อัตลักษณ์ที่ Marieme เพ้อใฝ่ฝันอยากกลายเป็น Vic(tory) แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเพียงการปั้นแต่ง(หน้า) ภาพลวงตาของหญิงสาว แท้จริงมิอาจขวนไขว่คว้า และไม่สามารถเปิดเผยใบหน้าตาต่อสังคม (แต่งแบบนี้เพียงเพื่อเป็นเด็กเดินยา กระทำสิ่งผิดกฎหมายเท่านั้น)

ไดเรคชั่นฉากนี้อาจสร้างความฉงนให้ผู้ชมชั่วระยะหนึ่ง เพราะหลังจาก Marieme ร่ำลาผองเพื่อน ก็มีการ Fade-to-Black แล้วจู่ก็เคลื่อนจากรองเท้า เดินขึ้นบันได เดรสแดง และวิกสีขาว เธอคนนี้คือใคร? แตกต่างตรงกันข้ามกับภาพเคยพบเห็น กระทั่งเธอหันมา ก็อาจทำให้หลายคนตกอกตกใจ มันเกิดอะไรขึ้นกับเธอกันแน่ สูญเสียอัตลักษณ์ตัวตนไปเรียบร้อยแล้วหรือ?

หลายคนอาจไม่ทันสังเกตว่า อัตลักษณ์ทางเพศของ Marieme ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน หลังจากถอดเดรสและวิก พบเห็นตัดผมสั้น ใช้ผ้าในรัดหน้าอก สวมเสื้อหลวมๆ และขณะร่วมงานเลี้ยง เต้นอย่างดื่มด่ำกับ Monica แล้วปฏิเสธ Abou หัวชนฝา, เหล่านี้ชี้นำอย่างเด่นชัดเลยว่า เธอกำลังมีรสนิยมได้หมดถ้าสดชื่น (Bisexual) แต่ค่อนไปทางรักร่วมเพศเดียวกัน (Homosexual)

นี่ไม่ใช่ว่าผู้กำกับ Sciamma ต้องการชี้นำอะไรผู้ชมนะครับ แต่สามารถตีความถึงอิสรภาพทางเพศ เลือกได้ว่าจะเป็นชาย-หญิง กะเทย แล้วมีรสนิยมชื่นชอบชาย-หญิง กะเทย ไม่มีใครสามารถควบคุมครอบงำ บีบบังคับให้ตัวละครต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งอีกต่อไป

ช็อตสุดท้ายของหนัง หลังการตัดสินใจละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง บอกปัดชีวิตแต่งงาน ปฏิเสธหวนกลับบ้าน Marieme เหม่อมองทิวทัศน์กรุง Paris ชีวิตต่อจากนี้จะเป็นเช่นไรกัน? ขณะที่กล้องกำลังเคลื่อนไหลไปด้านหน้า จู่ๆเธอเดินตัดผ่านหน้าตาเฉย ให้ความรู้สึกเหมือนจระเข้ขวางคลอง สื่อถึงการกระทำที่ขัดต่อขนบวิถี ระเบียบข้อบังคับของสังคม (หรือจะสื่อถึงการใช้ชีวิตอย่างอิสรภาพ) … นั่นสะท้อนถึงทิศทางที่ตัวละครจะดำเนินชีวิตไปอย่างแน่นอน

ตัดต่อโดย Julien Lacheray สัญชาติฝรั่งเศส เริ่มจากมีผลงานหนังสั้นอีกเช่นกัน แล้วกลายเป็นนักตัดต่อขาประจำ Céline Sciamma ตั้งแต่ Water Lilies (2007)

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองสายตาของ Marieme/Vic ในช่วงเวลา 40 วัน ร้อยเรียงหลากหลายเรื่องราวที่จักสร้างอิทธิพล กลายเป็นเหตุผลให้เธอเติบโตกลายเป็นสาวแรกรุ่น ด้วยการตัดสินใจต่อสู้ดิ้นรน หาหนทางเอาตัวรอดด้วยตนเอง (โดยไม่พี่งใครทั้งนั้น)

ผมขอแบ่งเรื่องราวออกเป็น 4 องก์ ที่สามารถสังเกตพัฒนาการของ Marieme/Vic เปลี่ยนแปลงทั้งภาพลักษณ์ภายนอก-ความครุ่นคิด/สภาพจิตใจ

  • เด็กหญิง Marieme
    • แนะนำตัวละคร วิถีชีวิต ครอบครัว และโรงเรียน ก้มหน้าก้มตา ศิโรราบต่อโชคชะตากรรม
  • จุดกำเนิด Vic
    • ถูกชักชวนเข้าร่วมกลุ่มของ Lady
    • พามาท่องเที่ยวยังกรุง Paris ได้มีโอกาสเปิดหูเปิดตา เริงระบำไปกับชีวิต
    • Marieme ค่อยๆแปรเปลี่ยนตนเองสู่ Vic สวมชุดสวย มีโทรศัพท์หรู ใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย
  • การพิสูจน์ตนเองของ Vic
    • หลังจาก Lady พ่ายแพ้การต่อสู้คู่อริ ทำให้ความมีชีวิตชีวาของกลุ่มค่อยๆลดน้อยลง
    • Marieme ตัดสินใจเอาคืน/กอบกู้หน้า Lady สามารถต่อสู้เอาชนะคู่อริได้สำเร็จ
    • การตัดสินใจขั้นเด็ดขาดของ Marieme หนีออกจากบ้าน ร่ำลาเพื่อนฝูง เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่
  • ชีวิตใหม่ของ Marieme
    • แต่งหน้า สวมวิก ใส่เดรสสั้น ปลอมตัวเป็นเด็กเดินยา กลายเป็นเด็กเดินยาของ Abou
    • หลังจากถูกแฟนหนุ่มบอกเลิกรา เลยตัดสินใจทำงานครั้งสุดท้าย เข้าร่วมงานเลี้ยงเพื่อตัดขาดความสัมพันธ์กับ Abou
    • บอกปัดชีวิตแต่งงาน ปฏิเสธหวนกลับบ้าน เหม่อมองไปยังกรุง Paris ชีวิตต่อจากนี้จะเป็นเช่นไรกัน?

เพลงประกอบโดย Para One หรือ Jean-Baptiste de Laubier (เกิดปี 1979) สัญชาติฝรั่งเศส หนึ่งในโปรดิวเซอร์ผู้บุกเบิก French Rap ให้กับวง TTC และเมื่อมีโอกาสทำเพลงประกอบภาพยนตร์ ได้กลายเป็นขาประจำของ Céline Sciamma

แทบทุกบทเพลงของหนัง มอบสัมผัสแห่งการเติบโต ด้วยการค่อยๆไล่ลำดับเสียง ด้วยเครื่องดนตรีที่แตกต่างออกไป ในสไตล์ ‘minimalist’ มีความเร่งเร้า รีบร้อนรน สะท้อนช่วงชีวิตวัยรุ่นเปลี่ยนแปลงแทบทุกวินาที จนกว่าจะค้นพบหนทางสอดคล้องความต้องการ หรือสิ่งสามารถเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน นั่นถีงกลายเป็นสรวงสวรรค์ เป้าหมายปลายทางของชีวิต … แต่ทุกบทเพลงก็จะค่อยๆลดระดับเสียง จนกระทั่งเงียบสงัดลง ราวกับว่าไม่เคยไปถีงสถานที่แห่งนั้นสักครั้งเดียว

ลองเปรียบเทียบกับสองบทเพลง Girldhood และ Néon (ดังขี้นช่วงท้ายก่อนขี้น Closing Credit) สังเกตว่าท่วงทำนองมีความละม้ายคล้ายคลีง ใช้การไล่ไต่ระดับตัวโน๊ตด้วยเทคนิคเดียวกัน แต่ความรู้สีกที่ได้รับกลับแตกต่างออกไปอย่างมาก

ขณะที่ Girlhood เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง พัฒนาการของเด็กหญิงสู่สาวแรกรุ่น, Néon มีเพียงระดับเสียงเบา-ดัง มอบสัมผัสแห่งความหวัง แสงสว่างรำไร อนาคตต่อไปคือสิ่งมิอาจครุ่นคิดคาดเดาได้

นอกจากนี้หนังยังเลือกใช้หลายๆบทเพลงชื่อดังที่กำลังได้รับความนิยมในช่วงเวลานั้น เพื่อสร้างสัมผัส ‘ร่วมสมัย’ ให้กับหนัง โดยไฮไลท์มีอยู่ 2-3 บทเพลง เริ่มจาก Dark Allies (2011) แนว Post-punk ของวง Light Asylum ดังขึ้นฉากแรกของหนัง สาวๆกำลังซักซ้อมการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล เผชิญหน้า พุ่งเข้าชน วิ่งไปให้ถึงเป้าหมายของอีกฝั่งฝ่าย ด้วยสัมผัสของเครื่องดนตรีสังเคราะห์ มันจึงฟังดูเหนือจริง

ปล. MV เพลงนี้ในช่อง Official ต้องดูบน Youtube เท่านั้น เพราะมีการจำกัดอายุผู้เข้าชม
LINK: https://www.youtube.com/watch?v=cUyv3HTjNRU

บทเพลงที่ได้รับการพูดกล่าวถึงมากสุดของหนังก็คือ Diamons ขับร้องโดย Rihanna รวมอยู่ในอัลบัม Unapologetic (2012) สามารถไต่ขึ้นอันดับ 1 ชาร์ท Billboard Hot 100 ยอดขายเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเกินกว่า 7.5 ล้านก็อปปี้!

ดังขึ้นขณะสี่สาวกำลังเฮฮาปาร์ตี้ สังสรรค์ไปกับอิสรภาพแห่งความเป็นวัยรุ่น ในห้องพักโรงแรมหรูแห่งหนึ่ง ท่ามกลางแสงสาดสีน้ำเงิน … เราจะเห็นวิวัฒนาการของ Marieme เริ่มจากเหนียงอาย กลัวๆกล้าๆ จนในสุดก็ลุกขึ้นมา และกลายเป็นส่วนหนึ่งของแก๊งค์สี่สาว

เกร็ด: ผู้กำกับ Céline Sciamma จงใจถ่ายทำฉากที่ใช้บทเพลงนี้จนเสร็จสรรพ แล้วค่อยยื่นขอลิขสิทธิ์จาก Rihanna เชื่อว่าเธอน่าจะมีโอกาสได้รับชม พบเห็นความสวยงามลงตัวของฉากดังกล่าว ถึงยินยอมตอบตกลงพร้อมลดค่าลิขสิทธิ์ให้พอสมควร (คือถ้าจู่ๆขอไปใช้เพลงเฉยๆ อาจต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์สูงไม่น้อยเลยละ)

อีกบทเพลงที่ต่อให้ไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่พอได้ยินปุ๊ปก็จักติดหูโดยทันที WOP แนว Hip hop ขับร้องโดย J. Dash ร่วมกับ Flo Rida บันทึกเสียงครั้งแรกปี 2007 โพสลงบน Youtube จนกลายเป็นกระแส viral เลยนำออกมารวมอยู่ในอัลบัม Tabloid Truth (2012) กลายเป็น ‘minor hit’ ติดสูงสุดอันดับ 51 ชาร์ท Billboard Hott 100

เกร็ด: Wop คือชื่อท่าเต้นฮิปฮอปที่ J. Dash และผองเพื่อนร่วมกันครุ่นคิดค้น และเพลงนี้เกิดขึ้นเพื่อใช้เป็นจังหวะให้ท่วงท่าดังกล่าว

ผมรับชมภาพยนตร์ฝรั่งเศสมามากพอสมควร แต่เพิ่งมาตระหนักได้ว่าไม่ค่อยพบเห็นนักแสดงผิวสีสักเท่าไหร่ ทั้งๆที่ถ้าใครเคยไปท่องเที่ยวกรุง Paris นี่เป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติพันธุ์อันดับต้นๆของยุโรป (และของโลกเลยกระมัง) แต่เหตุผลที่พวกเขายังไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากสังคม/คนหมู่มาก เพราะยังถูกตีตราว่าคือข้าทาส ชนชั้นล่าง หาใช่ชนชาว French อย่างแท้จริง

อาจเพราะฝรั่งเศส เคยเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจแห่งการล่าอาณานิคม ยึดครอบครองหลายดินแดนห่างไกล นำคนดำจากทวีปแอฟริกามาเป็นข้าทาส บริวารรับใช้ แม้ในปัจจุบันจะปลดแอกไปหมดสิ้นแล้ว แต่คนผิวสียังเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศแห่งนี้ (ปัจจุบันฝรั่งเศสยังถือเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆของผู้อพยพ เพื่อหลบหนีความทุกข์ยากลำบากในแอฟริกา มารับจ้าง ใช้แรงงาน กรรมกร ฯ ด้วยค่าแรงแสนถูก)

French luxury thinks that associating itself with black models or magazines will cheapen the brands’ image,

France views and portrays itself as a white country. My whole life, I’ve felt erased by the national narrative. People even keep complimenting me on how good my French is. It’s deeply embedded in the national consciousness that [the] ‘true’ identity is one which has been here for ever.

Rokhaya Diallo นักข่าวชาวฝรั่งเศส เชื้อสาย Senegalese

เรื่องราวชีวิตของ Marieme/Vic ถือว่ากระจกสะท้อนภาพแท้จริงของวัยรุ่นฝรั่งเศส (ยุคสมัยนั้น) เพราะตนไม่ได้ผิวขาว ไม่ได้เฉลียวฉลาด จำต้องรวมกลุ่มผองเพื่อนเพื่อหาเรียนรู้วิถีทางต่อสู้ดิ้นรน ถูกสังคมกีดกัด ผู้ชายบีบบังคับ ถ้าฉันไม่ก้าวออกมาจากสถานที่แห่งนั้น คงไม่มีวันที่จะค้นพบตัวตนเอง ได้รับอิสรภาพในสิ่งอยากกระทำ

You want to see a true Paris chick? Just look at me, as French as it gets: I love fashion, I follow trends and local designers, I read Vanity Fair and Vogue. When you look at cinema and the luxury market in France, you only see white faces – as if that’s all there is. It’s hard for everyone else, and it’s totally inaccurate.

Karidja Touré

Girlhood นำเสนอเรื่องราวการเติบโตของ(กลุ่ม)เด็กหญิงสู่สาวแรกรุ่น จากสภาพสังคมที่ถูกหลงลืม มองข้าม อาศัยอยู่ชานกรุง Paris ร่ำเรียนไม่จบเลยไร้โอกาสทางการศึกษา ไม่อยากประกอบอาชีพใช้กรรมกร/แรงงาน แต่ต้องการวิถีชีวิตดีกว่าที่เป็นอยู่ สามารถตอบสนองอิสรภาพ และความพึงพอใจส่วนตน

นอกจากประเด็น Coming-of-Age หนังยังให้ความสำคัญกับมิตรภาพ การรวมกลุ่ม ผองเพื่อนสามารถสร้างอิทธิพล แรงบันดาลใจให้กัน จากเคยอ่อนแอกลายเป็นเข้มแข็งแกร่ง ‘รวมกันเราอยู่’ ซึ่งนั่นคือสิ่งสร้างอิทธิพลต่อชีวิต การเติบโต(เป็นผู้ใหญ่)ด้วยเช่นกัน

The group can often be fine with uniformity and that influence. The group can help you get a voice and find out who you are. The friendship between women was something that I wanted to depict and to unfold. It’s about empowerment and feeling stronger together, but it’s also about tenderness and becoming a woman but also portraying childhood. 

Céline Sciamma

หนังจบลงอย่างปลายเปิดหลังจาก Marieme/Vic ตัดสินใจละทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง (ทั้งอาชีพค้ายา, บอกปัดคำขอแต่งงานของแฟนหนุ่ม และปฏิเสธหวนกลับบ้าน) เหม่อมองออกไปยังกรุง Paris แล้วเดินผ่านหน้ากล้อง ไม่รู้เหมือนกันอนาคตจะดำเนินต่อไปเช่นไร แม้ดนตรีจะพยายามสร้างความหวัง กำลังใจให้ผู้ชม แต่ผมกลับรู้สึกขื่นขมและสิ้นหวัง เพราะมองไม่เห็นหนทางออกของหญิงสาวแม้แต่น้อย

คนที่รับรู้จักรสนิยมเพศของ Céline Sciamma อาจสงสัยว่าทำไมถึงสร้างหนังหญิงรักชายทั่วๆไป? เธอให้คำตอบว่า หนังมีความเป็น ‘queer’ ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนสาว และประเด็นความรัก ไม่ว่าเพศตรงข้าม (Heterosexual) หรือเพศเดียวกัน (Homosexual) ล้วนมีพื้นฐานจากสิ่งๆเดียวกัน

Girlhood is a heterosexual movie. But it’s queer because it definitely also asks the question of how do you build your heterosexual identity? It’s built exactly like a homosexual identity. It’s a construction.


หนังเข้าฉายรอบปฐมทัศน์ Director’s Fortnight ในเทศกาลหนังเมือง Cannes เสียงตอบรับอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี ช่วงปลายปีได้ลุ้น César Awards ถึง 4 สาขา แต่ไม่สามารถคว้ามาสักรางวัลเดียว

  • Best Director
  • Most Promising Actress (Karidja Touré)
  • Best Sound
  • Best Original Music

ผมไม่ได้มีอคติต่อเพศหญิง หรือนักแสดงผิวสี แต่ค่อนข้างมีปัญหากับความโหวกแหวกน่ารำคาญ โดยเฉพาะ ‘female gaze’ ถ่ายเป้ากางเกงสาวๆเวลากระเด้า โยกเต้น มันเป็นการขับไล่ผู้ชมกลุ่มหนึ่งที่(มือถือสากปากถือศีล) ไม่สามารถอดรนทนต่อภาพเหล่านั้นออกไปเลยละ เฉกเช่นนั้นแล้วหนังจะมีความเป็นสากล เข้าถึงคนในวงกว้างได้อย่างไร

แต่ถ้าคุณสามารถพานผ่านชั่วโมงแรกนั้นไปได้ ก็อาจสัมผัสถึงความงดงามประดุจเพชร(ในตม)ของหนัง แทบจะแนวคิดเดียวกับ Boyhood (2014) แม้ทุกสิ่งอย่างรายล้อมรอบล้วนเต็มไปด้วยหายนะ ความเหี้ยมโหดร้าย แต่ถ้าเราสามารถอดรนทน ก้าวข้ามผ่านไปให้ได้ ท้ายสุดก็(อาจ)พบเจออนาคตที่สดใส … มั้งนะ

แนะนำหนังเฉพาะสาวๆ เก้งชะนี บุคคลผู้มีความเป็นหญิงในตนเอง มีแนวโน้มจะได้รับข้อคิด ความบันเทิง สุขหฤทัยระหว่างรับชม, ไม่แนะนำโดยสิ้นเชิงกับพวกมือถือสากปากถือศีล แต่ถ้าอยากลิ้มลองแล้วรู้สึกอดรนทนไม่ได้ ก็อย่างไปฝืนสังขารตนเเองนะครับ แค่ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มันค่อนข้างเฉพาะกลุ่มเกินไปเท่านั้นเอง

จัดเรต 18+ กับวัยรุ่นอันธพาล แบบอย่างไม่ดีต่อเด็กๆ

คำโปรย | Girlgood นำเสนอช่วงเวลาแห่งการเติบโตเป็นสาวของ Céline Sciamma งดงามดั่งเพชร แต่ซ่อนเร้นอยู่ในตม
คุณภาพ | -ในตม
ส่วนตัว | งดงาม

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: