Baraka

Baraka (1992) hollywood : Ron Fricke ♥♥♥♥

สารคดีไร้ซึ่งคำพูดบรรยาย ร้องเรียงภาพสถานที่ เหตุการณ์ วิถีชีวิต ผู้คนจาก 23 ประเทศ Cross-Cutting, Slow-Motion, Time-Lapse กลายเป็นผลงานโคตรปรัชญา โคตร Poetic โคตรตราตรึงอย่างถึงที่สุด

“If man sends another Voyager to the distant stars and it can carry only one film on board, that film might be ‘Baraka’.”

– นักวิจารณ์ชื่อดัง Roger Ebert

Baraka เป็นสารคดีที่สามารถให้คำนิยามได้ว่า “ดาวเคราะห์โลก แห่งศตวรรษ 20” ทำการร้อยเรียงภาพสถานที่ เหตุการณ์ วิถีชีวิต และผู้คนจากหลากหลายประเทศ แม้หลายๆครั้งจะปรากฎเพียงเสี้ยวเศษไม่กี่วินาที แต่ก็สรรค์สร้างเรื่องราว เกิดความเข้าใจระดับสากล (Universal Language)

แต่ความเข้าใจดังกล่าว อาจไม่ใช่สิ่งสามารถสรุปออกมาเป็นคำพูดอธิบาย แต่คือ ‘ความรู้สึก’ ที่เอ่อล้น ซาบซ่าน ตราตะลึงฝังจิตฝังใจ หรือคือ ‘จิตวิญญาณ’ ของดาวเคราะห์โลกที่บังเอิญมีสิ่งมีชีวิต ‘มนุษย์’ อาศัยอยู่ ก็ขึ้นกับว่าคุณจะสามารถพบเห็นมุมมอง ตีความหนังออกมาทิศทางใด

Ron Fricke ผู้กำกับสัญชาติอเมริกัน เริ่มต้นจากเป็นตากล้องที่ชื่นชอบทดลอง สรรค์สร้างสิ่งใหม่ๆ ออกแบบกล้องที่สามารถตั้งโปรแกรมขยับเคลื่อนไหวพร้อมถ่ายภาพด้วยเทคนิค Time-Lapse Photography, ร่วมงานผู้กำกับ Godfrey Reggio เครดิตถ่ายภาพหนัง Koyaanisqatsi (1982), กลายเป็นแรงบันดาลใจกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Chronos (1985), ตามด้วย Sacred Site (1986), Baraka (1992) และ Samsara (2011)

สำหรับ Baraka ด้วยแนวคิดเริ่มต้นเพียง ‘The Celebration of Life’ ทีมงาน 5 คน ใช้เวลา 14 เดือน ออกท่อง 153 สถานที่ 23 ประเทศ จากทั้ง 6 ทวีป มองหาภาพ/เหตุการณ์/เรื่องราวที่น่าสนใจ บันทึกด้วยกล้องสองตัว
– ด้วยฟีล์ม 65mm ระบบ Todd-AO ซึ่งทศวรรษนั้นหมดสิ้นความนิยมไปแล้ว แต่มีความสวยสด อลังการ ยิ่งใหญ่โต [ภาพยนตร์ล่าสุดก่อนหน้านี้คือ The Last Valley (1971)]
– กล้อง 65mm ดัดแปลงโดยผู้กำกับ Fricke เพื่อให้สามารถขยับเคลื่อนไหว สำหรับถ่ายภาพ Time-Lapse Photography

วิธีการทำงานก็คือ เดินทางไปยังประเทศเป้าหมาย หลังจากถ่ายสถานที่สวยๆ ก็เริ่มมองหาโอกาสจากวิถีชีวิตประจำวัน พบเห็นอะไรงามตาก็เก็บภาพไว้, ครั้งหนึ่งที่ญี่ปุ่น ขณะกำลังขับรถหาแรงบันดาลใจ พบเห็นนักบวชกำลังเดินแสวงบุญท่ามกลางฝูงชน หยุดจอดรถตั้งกล้องถ่ายทำ ไม่ได้ขัดจังหวะใดๆของท่าน (เหมือนท่านก็ไม่ได้สนใจอะไรอื่นด้วย) เสร็จแล้วบริจาคเงินแล้วก็จากไป

เทคนิคเด่นๆของหนังประกอบด้วย
– Time-lapse Photography คือการตั้งกล้องไว้เฉยๆหรือตั้งโปรแกรม/กลไกให้ขยับเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ ทิ้งไว้หลายชั่วโมงบางทีเป็นวัน จับภาพไม่ใช่ทุกวินาทีแต่มีอุปกรณ์สามารถตั้งเวลานาทีถ่ายกี่ภาพๆก็ว่าไป สิ่งที่ได้เมื่อนำภาพมาเรียงต่อกันจะเรียกว่า Time-Lapse ภาพของเวลาที่ล่วงเลย หรือจะคือการเร่งความเร็วของการเปลี่ยนผ่าน, แล้ว Time-Lapse แตกต่างจาก Fast Motion เช่นไร? คำตอบคือรายละเอียดของการเคลื่อนไหว ด้วยคอนเซ็ปคล้ายๆกันแต่ปริมาณภาพที่ทำการบันทึกนั้น Fast Motion ในหนึ่งวินาทีมีประมาณเยอะกว่า จึงทำให้มีความลื่นไหลดูเป็นธรรมชาติ (แต่ถ้ามองผ่านๆก็คงไม่ทันสังเกตเห็น)
– และ Slow-Motion คือการถ่ายทำภาพด้วยกล้องอัตราเร็วสูง อาทิ 45fps, 60fps, 120fps แล้วนำมาฉายด้วยเครื่องความเร็วปกติที่โดยเฉลี่ย 25-29fps ภาพที่ได้จึงมีความเชื่องช้า ค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับฉากที่ถ่ายทำในประเทศไทย ประกอบด้วย พระราชวังบางปะอิน, โรงงาน NMB, ถนนพัฒน์พงศ์, ซอยคาวบอย, วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร, วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ฯ

ตัดต่อโดยผู้กำกับ Ron Fricke, โปรดิวเซอร์ Mark Magidson และนักตัดต่อ David Aubrey, มันอาจดูเหมือนว่าสารคดีทำการร้องเรียงภาพต่างๆไปเรื่อยๆ แต่ถ้าสังเกตกันดีๆจะพบเห็นสัมผัสอันต่อเนื่อง จัดแบ่งชุดของภาพออกเป็น…
– อารัมบท, เริ่มจากเทือกเขาหิมาลัย, วัดธิเบต, ลิงแช่น้ำในออนเซ็น … ล้วนสะท้อนจุดสูงสุดของโลก ความหนาวเหน็บ การเริ่มต้นมีชีวิต ก่อนเงยหน้าขึ้นสู่ฟากฟ้า พบเห็นดวงดาว และชื่อหนัง Baraka ปรากฎพร้อมสุริยุปราคา
– ตอนศรัทธาความเชื่อแห่งชีวิต, พระที่ธิเบต, วัดของฮินดู, นักบวชที่ญี่ปุ่น, บาทหลวง สำนักวาติกัน, มุสลิม นครเมกกะ, เยรูซาเล็ม, นครวัด, จบสิ้นที่การแสดง Kecak (Ramayana Monkey Chant) หรือระบำลิง หนึ่งในประเพณีพื้นบ้านของชาวบาหลี [ตัดตอนมาจากรามายณะ (รามเกียรติ์) เล่าเรื่องราวของพระรามกับพลวานรที่ตามไปช่วยนางสีดาจากราวันนา (หรือทศกัณฐ์)]
– ตอนธรรมชาติ, ร้อยเรียงภาพภูเขา Time-Lapse ของท้องฟ้า ก้อนเมฆ ตามด้วยภาพวาดถ้ำ ชนชาวพื้นเมือง Brazil, Kenia, Australia, การเต้น Funeral Dance
– ตอนการแปรสภาพของชีวิต, เริ่มต้นด้วยภาพทะเลสาป, น้ำตก Iguazu, ป่าฝน, สัตว์ป่า, ผู้นำชนเผ่า Kayapo จับจ้องมอง, ต้นไม้กำลังถูกตัด หักโค่น, ระเบิดเหมืองทอง, กลายมาเป็นเมือง Rio De Janerio, ที่อยู่อาศัยยัง Kowloon ของฮ่องกง, แม้แต่หลุมฝังศพยังมีความคล้ายคลึอยู่ราวกับคอนโด
– ตอนวิถีชีวิตมนุษย์, เริ่มจากโรงงานผลิตบุหรี่ การสัญจรไปมาของชาวญี่ปุ่น, พระกำลังเดินธุดงค์ท่ามกลางฝูงชน, ลายสักยากูซ่า, ถนนหนทางใน New York (Time Lapse), ประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, คัดแย่งไก่ ไข่, จบสิ้นด้วย Silent Scream ต้องการกรีดร้อง ตะโกนบางสิ่งบางอย่างออกไป
– ตอนความยากลำบากในชีวิต, เริ่มจากลากำลังลากเกวียนที่เห็นได้ชัดว่ายากลำบาก, ผู้คนท่ามกลางเศษซากกองขยะของ Calcutta, ความยากจน, ต่อสู้ดิ้นรน, ผู้หญิงขายบริการในกรุงเทพฯ จบด้วย Buto Dance หน้าซีดๆหมดเรี่ยวแรง
– ตอนสงคราม/ความขัดแย้ง, เริ่มต้นด้วยเครื่องบินจอดทิ้ง(จากสงครามโลกครั้งที่สอง) เปลวเพลิงจากอ่าวน้ำมัน, อดีตค่ายกักกันนาซี, เขมรแดง, จีนคอมมิวนิสต์ ไล่ย้อนไปเหล่านี้พบเจอได้ตั้งแต่อดีต สุสานจิ๋นซี, อิยิปต์, นครวัด, จบสิ้นด้วยแม่น้ำคงคา และพิธีศพของชาวอินเดีย
– ตอนความสงบ, สะท้อนกับองก์หนึ่ง ร้อยเรียงภาพวิถีปฏิบัติของแต่ละศรัทธา/ความเชื่อ/ศาสนา
– ปัจฉิมบท, ร้อยเรียงภาพ Time-Lapse จากท้องฟากฟ้า และสิ้นสุดด้วยภาพของดวงดาว

สำหรับเพลงประกอบโดย Michael Stearns สัญชาติอเมริกา ผู้หลงใหลดนตรีแนว Ambient Music และจะร่วมงานกับ Fricke อีกครั้งเรื่อง Samsara (2011)

บทเพลงไม่เพียงขยายโสตประสาทผู้ชมต่อภาพที่ร้อยเรียง แต่ยังมีความหลากหลายทั้งจากดนตรีพื้นบ้านแอฟริกัน, ญี่ปุ่น, ซึ่งสอดแทรกด้วยสัมผัสแห่ง’จิตวิญญาณ’ ศรัทธาความเชื่อ อาทิ เสียงกลอง เสียงระฆัง เสียงสวดมนต์ ฯ สามารถเทียบแทนความหมายได้ทั้งดาวเคราะห์โลก!

Baraka มีความหมายในหลายๆภาษาดังนี้
– ศาสนาอิสลาม หมายถึง ความสุข, ลมหายใจ หรือสาระสำคัญของชีวิต
– ศาสนายูดาห์ (Judaism) คือพระพรที่อ่านในพิธีกรรมทางศาสนา
– ภาษา Swahili แปลว่า การอำนวยอวยพร (Blessing)
– สแลงภาษาฝรั่งเศส แปลว่า ขอให้โชคดี (Good Luck)
– ภาษา Serbian แปลว่า กระท่อม เพิ้ง
– ภาษา Turkish แปลว่า หลั่งน้ำตา
– และเป็นตัวละครหนึ่งในเกม Mortal Kombat
ฯลฯ

ผมคงไม่ลงรายละเอียดว่า Baraka มีเนื้อหาใจความสรุปได้เช่นไร เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ผู้ชมควรต้องพบเห็น สัมผัส ครุ่นคิดวิเคราะห์หาคำตอบด้วยตนเอง คำนิยาม “ดาวเคราะห์โลก แห่งศตวรรษ 20” ถือว่าให้คำไบ้มากๆแล้วละ ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับคุณแล้วละ จะมีศักยภาพทำความเข้าใจมากน้อยสักเพียงไร

เห็นว่าสารคดีเรื่องนี้ได้รับการบูรณะเรียบร้อยแล้ว จากฟีล์ม 65mm สู่ภาพความละเอีย 8K ว่ากันว่างดงามกว่าเดิมเสียอีก และยังเป็นเรื่องแรกของโลกด้วย!

สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบสุดของหนังคือวิธีการนำเสนอ เปิดกว้างให้ผู้ชมครุ่นคิดอย่างอิสระเสรี ไม่พยายามชี้ชักนำทางเข้าใจ สามารถมองมุมไหนก็ตลบแตลงพลิกแพลง สานต่อยอดไปได้ไม่รู้จบสิ้น

เอาจริงๆผมก็อยากจัดหนังต้องดูให้ได้ก่อนตาย แต่เชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่คงไม่สามารถครุ่นคิดตีความเข้าใจ พบเห็นเพียงภาพสวยๆนำมาร้อยเรียงต่อกันเท่านั้น … สารคดีเรื่องนี้มีมากกว่านั้นนะครับ!

จัดเรตทั่วไป

คำโปรย | ผู้กำกับ Ron Fricke สรรค์สร้าง Baraka นำเสนอสิ่งที่คือ ‘จิตวิญญาณ’ ของดาวเคราะห์โลก
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ตราตรึง

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: