Barefoot Gen (1983) : Mori Masaki ♥♥♥♡
(mini Review) ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอภาพ ‘นรกบนดิน’ ช่วงเวลาก่อน-หลัง เหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูลงที่ฮิโรชิมา แม้จะเป็นภาพอนิเมชั่นแต่ยังชวนให้สะอิดสะเอียนสยดสยอง ท้องไส้ปั่นป่วน แม้อารมณ์จะไม่รุนแรงเท่า Grave of the Fireflies (1988) แต่มีภาพติดตาไม่รู้ลืม
วินาทีที่เครื่องบิน B-29 Superfortress ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลงที่ฮิโรชิมา กับคนที่ยังไม่เคยรับชมอนิเมชั่นเรื่องนี้ อยากให้ลองจินตนาการว่าจะมีการนำเสนอออกมาเช่นไร? จะบอกว่าพอถึงฉากนี้ผมใจหายวาบลงตาตุ่ม มันเป็นสิ่งไม่มีทางที่ภาพยนตร์คนแสดงเรื่องไหนจะกล้าสามารถนำเสนอ จินตนาการออกมาได้ลึกล้ำเท่านี้แน่ๆ ภาพของคนที่ถูกความร้อนมหาศาลค่อยๆหลอมละลาย เนื้อหนังเน่าเปื่อยสยดสยอง ตาถล่นเล็ดออกจากเบ้า ฯ ถ้าภูมิคุ้มกันของผมไม่สูงพอเชื่อว่าได้วิ่งไปอ๊วกแน่
Barefoot Gen เป็นผลงานมังงะของ Keiji Nakazawa (1939 – 2012) เขียนขึ้นจากเรื่องจริงประสบการณ์ส่วนตัว ของการเป็นผู้รอดชีวิตในเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา ตอนอายุได้ 6 ขวบ พ่อ พี่สาวและน้องชายติดอยู่ในซากปรักหักพัง (ไม่สามารถช่วยเหลือได้ถูกไฟครอกเสียชีวิต) เหลือเพียงแม่และน้องสาว (ที่กำลังจะคลอด) แต่ก็เสียชีวิตไม่กี่สัปดาห์ต่อมาเพราะขาดน้ำนมประทังชีพ
มังงะเรื่องนี้ ตอนแรกตีพิมพ์ลงในนิตยสารรายสัปดาห์ Weekly Shōnen Jump ในปี 1973 ได้รับความนิยมปานกลาง เขียนอยู่ปีเศษๆก็ถูกสั่งตัดจบ แต่ผู้เขียนไม่ยอมจึงย้ายไปลงนิตยสารอื่น อาทิ Shimin (Citizen), Bunka Hyōron (Cultural Criticism), และ Kyōiku Hyōron (Educational Criticism) ใช้เวลา 12 ปี รวมได้ 10 เล่ม กลายเป็นภาพยนตร์คนแสดง 3 ภาค กำกับโดย Tengo Yamada
– Barefoot Gen Part 1 (1976)
– Barefoot Gen: Explosion of Tears (1977)
– Barefoot Gen: Part 3 Battle of Hiroshima (1980)
เป็นภาพยนตร์อนิเมชั่น สร้างโดย Madhouse จำนวน 2 ภาค กำกับโดย Mori Masaki และมี Keiji Nakazawa เป็นโปรดิวเซอร์ควบคุมงานสร้างเองเลย
– Barefoot Gen (1983)
– Barefoot Gen 2 (1986)
โดยรวมแม้คุณภาพของอนิเมชั่นเรื่องนี้จะถือว่าดาดๆทั่วไปในยุคสมัยนั้น และผมค่อนข้างรำคาญกับเสียงพากย์ของตัวละครเด็กๆในหนังที่ร่าเริงผิดปกติ (การพากย์สมัยก่อนถือว่ายังขาดความสมจริงอยู่มาก) แต่สิ่งที่มีความโดดเด่นล้ำเหนือการเวลา คือการนำเสนองานภาพที่มีความ Hyper-Realism ยิ่งกว่าสมจริง มีความรุนแรงเว่อไปมากๆ แต่กลับสั่นสะท้าน สะเทือนจิตใจของผู้ที่ได้รับชมอย่างรุนแรง นี่เป็นสิ่งไม่ว่ายุคสมัยไหนเห็นแล้วจะต้องเกิดความสะอิดสะเอียนสยดสยอง ท้องไส้ปั่นป่วน หวาดกลัวตัวสั่นขนหัวลุก จริงอยู่มันไม่น่าอภิรมย์ แต่ผมเชื่อว่านี่ยังเทียบไม่ได้กับอารมณ์ความรู้สึกของผู้ประสบอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ ย่อมต้องเลวร้ายกว่านี้เป็นร้อยเป็นพันเท่า โอ้! แค่นี้ก็ถือว่ารุนแรงทรมานมากๆแล้ว ขออย่าให้มันเกิดขึ้นอีกเลยในยุคสมัยเราและต่อๆไป
ผมนำเพลง Ending ของอนิเมชั่นเรื่องนี้มาให้ฟัง ถึงจะไม่รู้ชื่อเพลงแต่ฟังจากทำนองคำร้องแล้ว สัมผัสได้ถึงกำลังใจและความหวัง เมื่ออะไรๆเลวร้ายเกิดขึ้นผ่านไป ก็ถึงเวลาต้องเริ่มต้นใหม่ เพราะชีวิตยังไม่จบสิ้น วันนี้ยังไม่ตายก็ต้องลุกขึ้น ต่อสู้ก้าวเดินต่อไป
นี่เป็นอนิเมชั่นที่หาดูได้ยาก ถ้าไม่ใช่คออนิเมะก็อาจไม่รู้จัก แต่ถ้าคุณเคยดู Grave of the Fireflies (1988) หรือ In This Corner of the World (2016) ขอแนะนำ Barefoot Gen อีกเรื่องนะครับ, ผมยังไม่ได้ดูภาคสองต่อแต่คิดว่าไม่น่าสนใจเท่าภาคนี้แน่ เพราะเป็นเรื่องราว 3 ปีถัดจากนี้ เน้นเรื่องราวดราม่าเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไฮไลท์ของอนิเมชั่นเรื่องนี้ ผมว่าอยู่ที่ฉากนั้นแหละ วินาทีที่ฮิโรชิมาถูกทิ้งระเบิด มันเป็นภาพตราตรึงที่ยากจะลืมเลือนเสียจริง
จัดเรต 15+ กับภาพความรุนแรงทั้งหลาย (จริงๆควรจะเรต R ด้วยซ้ำ แต่เพราะมันเป็นภาพอนิเมชั่นที่ค่อนข้างเก่า วัยรุ่นจึงน่าจะพอรับได้อยู่)
Leave a Reply