
The Fabulous Baron Munchausen (1962)
: Karel Zeman ♥♥♥♥
การผจญภัยของ Baron Munchausen ช่างมีความมหัศจรรย์ พิลึกพิลั่นยิ่งนัก เริ่มต้นขึ้นเรือเหาะกลับจากดวงจันทร์, ลักพาตัวเจ้าหญิงแห่งจักรวรรดิ Ottoman, หลบหนีลงเรือถูกกลืนกินอยู่ในท้องปลายักษ์, ควบขี่ม้าเดินทางใต้ท้องทะเลลึก ฯ ทำออกมาในสไตล์ภาพแกะสลักไม้ (Wood Engraving) ได้รับอิทธิพลจาก Gustave Doré
เมื่อตอน Invention for Destruction (1958) มีการออกแบบ ‘visual style’ ในลักษณะภาพแกะสลักเส้น (Line Engraving) ก็สร้างความตื่นตระการ ละลานตามากๆแล้ว, The Fabulous Baron Munchausen (1962) บอกเลยว่าเหนือล้ำขึ้นอีกระดับด้วยภาพแกะสลักไม้ (Wood Engraving) แถมไม่ได้มีแค่สีขาว-ดำ ลวดลายเส้นตรงยาวๆอีกต่อไป อย่างฉากพระราชวัง Ottoman Empire เชื่อว่าหลายคน(รวมถึงตัวผมเอง)แรกพบเห็นย่อมต้องตกตะลึง อึ่งทึ่งในรายละเอียด ใช้เวลาเตรียมงานสร้างกี่ปีกันเนี่ย??

เมื่อตอนเขียนถึง Invention for Destruction (1958) ผมชี้ให้เห็นปัญหาใหญ่ๆ ถึงการดำเนินเรื่องอย่างเอื่อยเฉื่อย เชื่องชักช้า รับชมไม่นานจะเริ่มเกิดความเฉื่อยชินชา, สำหรับ The Fabulous Baron Munchausen (1962) จริงๆก็ยังเชื่องช้าอยู่ (เพื่อให้เวลาผู้ชมซึมซับความงดงามในแต่ละช็อตฉาก) แต่การผจญภัยของ Baron Munchausen ล้วนคาดเดาอะไรไม่ได้ เต็มไปด้วยเหตุการณ์เว่อวังอลังการ สอดแทรกอารมณ์ขบขัน รวมถึงเฉดสีสันปรับเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (จริงๆถ่ายภาพขาว-ดำ แล้วใช้การลงสีสัน ‘Film Tinting’) ทำให้หนังดูสนุกสนาน เพลิดเพลิน แทบไม่รู้สึกน่าเบื่อหน่าย … คงต้องเรียกว่าผลงานมาสเตอร์พีซของผกก. Karel Zeman
เกร็ด: Terry Gilliam มีโอกาสรับชม Baron Prášil (1962) ระหว่างเตรียมงานภาพยนตร์ The Adventures of Baron Munchausen (1988) เกิดความตระหนักถึงแนวคิดที่ละม้ายคล้ายคลึงกัน พยายามผสมผสานคนแสดง (Live-Action) เข้ากับอนิเมชั่น (Animation) ใครสนใจลองหามารับชมดูนะครับ
I remember when I was doing Baron Munchausen seeing a picture in a [British Film Institute] catalogue from Karel Zeman’s Baron Munchausen and saying, “Wow, what is this?” and eventually seeing the film, and saying, “Wow, that’s great,” because he did what I’m still trying to do, which is to try and combine live action with animation. His Doré-esque backgrounds were wonderful. The film captured the real spirit of the character.
Terry Gilliam
ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Baron Munchausen ตัวละครสมมติสร้างโดย Rudolf Erich Raspe (1736-94) นักเขียนชาว German ปรากฎตัวในหนังสือ Baron Munchausen’s Narrative of his Marvellous Travels and Campaigns in Russia (1785)
Baron Munchausen ได้แรงบันดาลใจจากบุคคลมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ Hieronymus Karl Friedrich, Freiherr von Münchhausen (1720-90) เกิดที่ Bodenwerder, Hanover ในตระกูล Rinteln-Bodenwerder ช่วงวัยรุ่นเคยเข้าร่วมสู้รบสงคราม Russo-Turkish War (1735-39) เลยกลายเป็นบุคคลพอมีชื่อเสียงในแวดวงชนชั้นสูง German
ขณะที่ตัวละครสมมติ Baron Munchausen เป็นบุคคลคุยโวโอ้อวดเก่ง จนได้รับฉายา Lügenbaron (แปลว่า Baron of Lies) ชอบกล่าวอ้างว่าเคยผจญภัยรอบโลก, ขึ้นเรือเหาะสู่ดวงจันทร์, นั่งบนกระสุนปืนใหญ่, ต่อสู้กับจระเข้ขนาด 40 ฟุต, ถูกกลืนกินโดยปลาขนาดยักษ์ยังทะเล Mediterranean ฯลฯ
แม้ว่าบุคลิกภาพของ Baron Munchausen จะดูสุขุมเยือกเย็น เหมือนเป็นคนมากด้วยประสบการณ์ ครุ่นคิดแก้ปัญหาด้วยเหตุผล ไม่ใช่ด้วยอารมณ์ แต่วิธีการของเขาช่างแปลกประหลาด พิศดาร เว่อวังอลังการ! วัตถุประสงค์ของผู้เขียน ต้องการเสียดสีล้อเลียน (Social Satire) สร้างความบันเทิง เพลิดเพลินผ่อนคลาย ไม่ได้แฝงนัยยะความหมายอะไรลึกซึ้ง
ถึงแม้ว่าหนังสือของ Raspe เกี่ยวกับ Baron Munchausen จะมีเพียงเล่มเดียว! แต่ด้วยยอดขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ได้รับการแปลหลากหลายภาษา ทำให้ถูกลอกเลียนแบบ/ดัดแปลงเป็นสื่อต่างๆติดตามมามากมาย อาทิ หนังสือการ์ตูน (Comic Novel), ละคอนเวที, ซีรีย์วิทยุ, โทรทัศน์, อนิเมชั่น, และสื่อภาพยนตร์ที่น่าสนใจ อาทิ
- หนังเงียบเรื่องแรก Les Hallucinations du baron de Münchausen (1911) แปลว่า Baron Munchausen’s Dream กำกับโดย Georges Méliès
- ภาพยนตร์ผจญภัย Baron Prášil (1940) กำกับโดย Martin Frič
- ภาพยนตร์ชวนเชื่อนาซี Münchhausen (1943) กำกับโดย Josef von Báky
- ภาพยนตร์เพลงตลกเยอรมัน Münchhausen in Afrika (1957) นำแสดงโดย Peter Alexander
- ภาพยนตร์ผสมอนิเมชั่น The Fabulous Baron Munchausen (1962) กำกับโดย Karel Zeman
- ภาพยนตร์อนิเมชั่นฝรั่งเศส The Adventures of Baron Munchausen (1979) กำกับโดย Jean Image
- ภาพยนตร์โทรทัศน์รัสเซีย The Very Same Munchhausen (1979) กำกับโดย Mark Zakharov, นำแสดงโดย Oleg Yankovsky
- ภาพยนตร์แฟนตาซี The Adventures of Baron Munchausen (1988) กำกับโดย Terry Gilliam
Karel Zeman (1910-89) ผู้กำกับภาพยนตร์/อนิเมชั่น สัญชาติ Czech เกิดที่ Ostroměř, Austria-Hungary (ปัจจุบันคือ Czech Republic) ตั้งแต่เด็กมีความหลงใหลในหุ่นเชิดชัก (Puppet Theatre) แต่ครอบครัวบีบบังคับให้ร่ำเรียนบริหารธุรกิจ อดรนทนได้ไม่นานก็เดินทางสู่ฝรั่งเศส เข้าโรงเรียนสอนโฆษณา จบออกมาทำงานออกแบบกราฟฟิก ระหว่างนั้นมีโอกาสร่วมทำ(โฆษณา)อนิเมชั่น สะสมประสบการณ์ก่อนเดินทางกลับประเทศ ท่องเที่ยวลัดเลาะไปยัง Egypt, Yugoslavia, Greece, ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พยายามเสี่ยงดวงอยู่ Casablanca แต่สุดท้ายจำต้องเดินทางกลับประเทศหลังจาก Czechoslovakia ถูกยึดครองโดย Nazi Germany
ช่วงระหว่างสงครามได้เป็นหัวหน้าแผนกโฆษณาบริษัทแห่งหนึ่งในเมือง Brno ต่อมาได้รับชักชวนจากผกก. Elmar Klos เข้าร่วมสตูดิโออนิเมชั่น Bata Film Studios ณ Zlín เริ่มจากทำงานเป็นผู้ช่วยนักอนิเมเตอร์ชื่อดัง Hermína Týrlová, จากนั้นร่วมงาน Bořivoj Zeman กำกับหนังสั้นเรื่องแรก Vánoční sen (1945) [แปลว่า A Christmas Dream] ส่วนผสมระหว่างคนแสดง (Live Action) และ Puppet Animation
ด้วยความสำเร็จอย่างล้นหลามของ Invention for Destruction (1958) ทำให้ผกก. Zeman ต้องการสานต่อโปรเจคที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน (ผสมผสานระหว่าง Live-Action และ Animation) ร่วมงานนักเขียน Josef Kainar และ Jiří Brdečka ช่วยกันเลือกเรื่องราวการผจญภัยของ Baron Munchausen ที่มีความน่าสนใจ … เพราะไม่สามารถดัดแปลงเนื้อหาจากต้นฉบับนวนิยายได้ทั้งหมดอยู่แล้ว
สิ่งเพิ่มเติมเข้ามาคือเรื่องราวนักบินอวกาศ Tony และเจ้าหญิงที่ถูกลักพาตัว Princess Bianca (ทั้งสองตัวละครไม่มีกล่าวถึงในต้นฉบับนวนิยาย) โดย Baron Munchausen พยายามทำตัวเป็นมือที่สาม แต่ก็มิอาจแทรกแซงความรักคนหนุ่มสาว … ส่วนเพิ่มเติมเข้ามานี้ ช่วยสร้างอรรถรส แต่งแต้มสีสัน อารมณ์ขัน และทำให้การผจญภัยมีความโรแมนติก น่าติดตามยิ่งๆขึ้นอีก
เรื่องราวเริ่มต้นจากชายหนุ่ม/นักบินอวกาศ Tony (รับบทโดย Rudolf Jelínek) ขึ้นยานสำรวจเดินทางมาถึงดวงจันทร์ แต่พอก้าวลงมานั้นกลับพบเห็นร่องรอยเท้ามนุษย์มากมาย แล้วจู่ๆได้รับการทักทายจากกลุ่มชายแปลกหน้านำโดย Baron Munchausen (รับบทโดย Miloš Kopecký) หลังดื่มฉลอง สังสรรค์เฮฮา รับปากอาสาพาสมาชิกใหม่ทัวร์โลกมนุษย์ ลงเรือเหาะเทียมม้าติดปีก โบยบินมายังจักรวรรดิ Ottoman ช่วงศตวรรษที่ 18
Baron Munchausen นำพา Tony มาพบเข้าเฝ้าสุลต่านแห่งจักรวรรดิ Ottoman แต่เพราะไม่รับรู้พิธีรีตรอง เลยถูกหมายหัว บุคคลอันตราย สร้างความสนอกสนใจให้กับ Princess Bianca ขอให้เขาลักพาตนเองหลบหนีออกจากสถานที่แห่งนี้ แล้วทั้งสามก็ได้ออกผจญภัย พานผ่านเหตุการณ์สุดมหัศจรรย์มากมาย … ท้ายสุดหนุ่มสาวก็ได้ครองรัก และทั้งสามก็ออกเดินทางกลับสู่ดวงจันทร์อีกครั้ง
Miloš Kopecký (1922-96) นักแสดงสัญชาติ Czech เกิดที่ Prague ตั้งแต่เด็กชื่นชอบดนตรีและการแสดง แต่ไม่สามารถสอบเข้าเรียนต่อแห่งไหน ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองถูกส่งไปค่ายแรงงาน (มารดาเสียชีวิตที่ Auschwitz) หลังจากนั้นเข้าร่วมกลุ่ม Větrník (นักแสดง Avant-Garde) มีผลงานละครเวที ไต่เต้าจากตัวประกอบ จนได้รับบทนำ แล้วผันตัวสู่วงการภาพยนตร์ ผลงานเด่นๆ อาทิ The Fabulous Baron Munchausen (1962), Lemonade Joe (1964), The Mysterious Castle in the Carpathians (1981) ฯ
รับบท Baron Munchausen ชายวัยกลางคน แต่งตัวภูมิฐาน วาดมาดผู้ดีมีสกุล สุขุมเยือกเย็น แต่ชอบคุยโวโอ้อวดเก่ง ว่าตนเองได้พานผ่านการต่อสู้ สมรภูมิรบ ผจญภัยเจ็ดย่านน้ำ กระทำสิ่งเว่อวังอลังการ และยังสามารถเอาตัวรอดมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อได้พบเจอชายหนุ่ม Tony ระหว่างอยู่บนดวงจันทร์ ครุ่นคิดว่าอีกฝ่ายคือมนุษย์ต่างดาว เลยขันอาสาพาท่องเที่ยวรอบโลก สถานที่แรกคือเข้าเฝ้าสุลต่านแห่งจักรวรรดิ Ottoman ให้ความช่วยเหลือเจ้าหญิง Princess Bianca แล้วเกิดความอิจฉาริษยาคนหนุ่มสาว พยายามเกี้ยวพาราสี คุยโวโอ้อวดเก่ง แสดงความสามารถเหนือมนุษย์ แต่ก็ไม่สามารถทำให้เธอหันมาเหลียวแลมอง
การคัดเลือกนักแสดงของผกก. Zeman ถือว่าประสบความสำเร็จกว่า Invention for Destruction (1958) โดยเฉพาะ Kopecký ไม่เพียงภาพลักษณ์ รูปร่างหน้าตา แต่งตัวได้อย่างภูมิฐาน แต่ยังบุคลิกภาพ วางมาดผู้ดีมีสกุล ท่าทางสุขมเยือกเย็น คุยโวโอ้อวดเก่ง ชอบยืนเต๊ะท่าเท่ห์ มั่นหน้า เต็มไปด้วยความลุ่มหลง ทะนงตน ถือว่าโคตรๆเหมาะสมกับบทบาท Baron Munchausen
ผมชอบความมั่นหน้าของ Baron Munchausen เชื่อว่าฉันเก่ง ฉันทำได้ทุกสิ่งอย่าง เรื่องราวการผจญภัยสุดเว่อวังอลังการของฉัน ย่อมสามารถซื้อใจเจ้าหญิงสาวให้ตกหลุมรัก แต่อาจเพราะวัยวุฒิ วางตัวสูงส่งเกินไป ผู้สาวไม่ชอบผู้ชายโอ้อวดเก่ง ต่อให้พยายามสักเพียงไหนเลยเป็นได้แค่หมาหัวเน่า เก่าเกินเข้าใจคนรุ่นใหม่ เลยทำเป็นเสียสละให้อย่างเท่ห์ๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องยินยอมรับความพ่ายแพ้ในครั้งนี้ … ช่างเป็นบุคคลลุ่มหลงตนเองเสียจริงๆ (Narcissist)
Jana Brejchová (เกิดปี 1940) นักแสดงสัญชาติ Czech เจ้าของฉายา “Czech Brigitte Bardot” เกิดที่ Prague ครอบครัวมีฐานะยากจน สมัยเรียนอนุบาลได้รับเลือกแสดงภาพยนตร์ Olověný chléb (1954) ทำให้มีความสนใจสนใจด้านการแสดง แต่ก่อนจะมีโอกาสเข้าสู่วงการ เคยทำงานเป็นช่างพิมพ์ดีดอยู่หลายปี จนกระทั่งได้รับเลือกแสดงภาพยนตร์ Wolf Trap (1957), ผลงานเด่นๆ อาทิ Desire (1958), Suburban Romance (1958), Higher Principle (1960), The Fabulous Baron Munchausen (1961), The House in Karp Lane (1965), Beauty in Trouble (2006) ฯ
รับบท Princess Bianca เจ้าหญิงจากแดนไกล ถูกโจรสลัดลักพาตัวมาขายให้สุลต่านแห่งจักรวรรดิ Ottoman โดนกักขังหน่วงเหนี่ยว ไม่ต่างจากนกในกรง โหยหาอิสรภาพชีวิต จนได้พบเจอกับชายหนุ่ม Tony ที่ไม่หวาดกลัวเกรงอำนาจของสุลต่าน จึงเขียนจดหมายขอให้พาหลบหนี ออกผจญภัยสู่โลกกว้าง
แซว: ทีแรกผมนึกว่า Jana Brejchová คือบุคคลเดียวกับที่แสดงภาพยนตร์ Invention for Destruction (1958) แต่ปรากฎว่าคนละคน เธอคนนั้นชื่อ Jana Zatloukalová
Brejchová มีความละอ่อนวัย รอยยิ้มทำให้โลกแจ่มใส ช่วงแรกๆคือสาวน้อยเดือดร้อน (Damsel in Distress) แต่หลังได้รับความช่วยเหลือก็แสดงอาการคลั่งรัก ภักดีต่อ Tony ไม่หลงเหลือพื้นที่หัวใจให้กับ Baron Munchausen เกี้ยวพาอย่างไรเธอยังก็ไม่แลเหลียว นั่นทำให้ผู้ชมชื่นชม ประทับใจ รู้สึกสั่นไหว หญิงสาวในอุดมคติ … บทบาทอาจไม่ได้เน้นการแสดงสักเท่าไหร่ แต่ศรัทธาในรักทำให้ผู้ชมอิ่มอุ่นหฤทัย ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม
Rudolf Jelínek (เกิดปี 1935) นักแสดงสัญชาติ Czech เกิดที่ Kutná Hora (ปัจจุบันคือ Czech Republic) สำเร็จการศึกษาด้านการแสดงจาก Theatre Faculty of the Academy of Performing Arts in Prague (DAMU) จากนั้นเริ่มมีผลงานละครเวที เคียงคู่ภาพยนตร์ อาทิ The Fabulous Baron Munchausen (1961), The Assassination (1965) ฯ
รับบทนักบินอวกาศ Tony คาดว่าน่าจะมาจากโลกอนาคต (หรือก็คือปัจจุบันนี้แหละ) มีความเฉลียวฉลาดในวิทยาศาสตร์ มากล้นอุดมการณ์ หาญกล้าบ้าบิ่น ตกหลุมรักแรกพบ Princess Bianca แม้หลังจากนั้นบทบาทจะค่อยๆเลือนลาง เหินห่าง แต่ก็ไม่เคยจางหายไปจากจิตใจของหญิงสาว (และผู้ชม)
เมื่อตอน Invention for Destruction (1958) ผกก. Zeman คัดเลือกนักแสดงบทบาท Simon Hart ได้ขัดใจผมมากๆ ควรจะเป็นอย่าง Jelínek ใบหน้าหนุ่มแน่น ละอ่อนวัย ท่าทางเก้งๆกังๆ ยังขาดความเชื่อมั่น ไม่ค่อยรับรู้วิถีทางโลก มีอะไรๆให้ต้องเรียนรู้อีกมาก ขณะเดียวกันมีความแน่วแน่ ยึดถือมั่นอุดมการณ์ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ กล้าพูด กล้าแสดงออก พร้อมเผชิญหน้าผดุงความยุติธรรม
ตัวละครนี้เริ่มต้นได้อย่างน่าสนใจ แต่หลังจากพลัดหลงกับ Princess Bianca (และ Baron Munchausen) บทบาทก็ค่อยๆเลือนลาง เหินห่าง แต่ยังคงค้างคาอยู่ในจิตใจหญิงสาว (และผู้ชม) เมื่อหวนกลับมาพบเจอก็เอาแต่พร่ำพรอดรัก ทำเอา Baron Munchausen (และผู้ชม) ไม่ต่างจากหมาหัวเน่า ไม่อยากเข้าไปเป็นมือที่สาม/ขัดขวางความสุขของคนหนุ่มสาว
ถ่ายภาพโดย Jirí Tarantík (1926-98) ตากล้องสัญชาติ Czech เกิดที่ Chrastany (ปัจจุบันคือ Czech Republic) โตขึ้นร่ำเรียนการถ่ายรูปยัง Státní grafické škole v Praze (State School of Graphics in Prague) จากนั้นเข้าทำงาน Barrandov Studios เป็นผู้ช่วยตากล้อง ช่วงอาสาสมัครทหารร่วมสังกัด Československému armádnímu filmu (Czechoslovak Army Film) หลังปลดประจำการมีโอกาสร่วมงานผกก. Karel Zeman อาทิ Invention for Destruction (1958), The Fabulous Baron Munchausen (1962) ฯ
ทุกช็อตฉากของ The Fabulous Baron Munchausen (1962) เต็มไปด้วยรายละเอียด ผสมผสานระหว่างนักแสดง (Live-Action) เข้ากับอนิเมชั่นเคลื่อนไหว (Traditional, Cut-Out, Stop-Motion) และเทคนิคภาพยนตร์ (Miniature, Double Exposure, Matte Painting) เพื่อทำให้ ‘visual style’ มีลักษณะเหมือนภาพแกะสลักไม้ (Wood Engraving) ได้รับอิทธิพลจาก Gustave Doré
เกร็ด: Paul Gustave Louis Christophe Doré (1832-1883) นักแกะสลัก จิตรกรชาวฝรั่งเศส แห่งยุคสมัย Romanticism โด่งดังจากผลงานภาพพิมพ์และแกะสลักไม้ (Wood Engraving) มักได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมเลื่องชื่อ พระคัมภีร์ไบเบิล (Vulgate Bible) และมหากาพย์ Dante: Divine Comedy




Gustave Doré ยังเคยวาดภาพการผจญภัยสุดพิลึกพิลั่นของ Baron Munchausen ซึ่งหนังนำเอาหลายๆผลงานมาแทรกใส่ใน Opening Credit และใช้อ้างอิงต้นแบบสถานที่ รวมถึงสัตว์ประหลาดด้วยนะครับ




ไม่ใช่แค่ลวดลายละเอียดที่มีความงดงามวิจิตรศิลป์ หนังถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ จากนั้นนำไปแต่งแต้มลงสีสัน (Film Tinting) เพื่อสร้างความหลากหลาย ขยับขยายโสตประสาทรับชม ซึ่งจะปรับเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา (กลางวันโทนเหลือง-ส้ม, กลางคืนสีน้ำเงิน-ดำ) สถานที่พื้นหลัง รวมถึงอารมณ์ศิลปินผู้สร้าง
สังเกตว่าบางช็อตฉากไม่ได้แค่ลงสีเดียว แต่ยังมีการไล่ระดับ ปรับความเข้ม-สว่าง (ตามทิศทางลำแสง) รวมถึงแต่งแต้มตรงโน้นนิดตรงนี้หน่อย ดอกไม้ ดวงตา เสื้อผ้า พระอาทิตย์ ดวงจันทร์ ฯลฯ เชื่อว่าหลายคนคงถูกล่อหลอกสนิทใจว่าหนังถ่ายทำด้วยฟีล์มสีอย่างแน่แท้




เอาจริงๆไม่จำเป็นต้องซูมเข้าไป ผู้ชมส่วนใหญ่ก็น่าจะคาดเดาได้อยู่แล้วว่าจรวดรูปร่างหน้าตาเช่นนี้ เป็นการเคารพคารวะนวนิยายไซไฟ De la Terre à la Lune, trajet direct en 97 heures 20 minutes (1865) [แปลว่า From the Earth to the Moon: A Direct Route in 97 Hours, 20 Minutes] ผลงานลำดับที่ #4 ในซีรีย์ Voyages Extraordinaires แต่งโดย Jules Verne (1828-1905) นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส
และขณะเดียวกันยังเป็นการอ้างอิงถึงโคตรภาพยนตร์ A Trip to the Moon (1902) กำกับโดย Georges Méliès เฉกเช่นเดียวกัน


สำหรับกลุ่มชายแปลกหน้าบนดวงจันทร์ พวกเขาไม่ใช่บุคคลสุ่มสี่สุ่มห้า แต่คือต่างนักผจญภัยในโลกวรรณกรรม สามคนแรกมาจากนวนิยาย From the Earth to the Moon (1865) ประกอบด้วย
- Mr. Barbicane ชื่อเต็มๆคือ Impey Barbicane ประธานชมรม The Baltimore Gun Club ผู้มีความเชื่อว่าสามารถประดิษฐ์สร้างอาวุธปืนที่มีอานุภาพแรงสูง สามารถส่งคนไปถึงบนดวงจันทร์
- Captain Nicholl of Philadelphia แม้เป็นศัตรูคู่ปรับของ Mr. Barbicane แต่เป็นผู้ออกแบบเกราะ โครงสร้างภายนอกของกระสุนปืนดังกล่าว
- Michel Ardan นักผจญภัยชาวฝรั่งเศส ต้องการร่วมออกเดินทางสู่ดวงจันทร์ร่วมกับ Mr. Barbicane และ Captain Nicholl
และบุคคลที่สี่ Savinien de Cyrano de Bergerac (1619-55) นักกวี นักเขียนนวนิยาย/บทละคร สัญชาติฝรั่งเศส เลื่องชื่อในผลงานประเภทเสียดสีล้อเลียน (มีคำเรียก French Satirists) หนึ่งในนั้นคือ Histoire Comique par Monsieur de Cyrano Bergerac, Contenant les Estats & Empires de la Lune (1657) [แปลว่า Comical History of the States and Empires of the Moon] เล่าเรื่องราววุ่นๆเกี่ยวกับการเดินทางสู่ดวงจันทร์ของตัวละครชื่อ Cyrano … เชื่อกันว่าน่าจะคือหนังสือเล่มแรกเขียนบรรยายถึงวิธีการเดินทาง (Spaceflight) สู่ดวงจันทร์
เกร็ด: เรื่องราวชีวิตของ Cyrano de Bergerac ได้รับการดัดแปลงเป็นบทละครเวที Cyrano de Bergerac (1897) ประพันธ์โดยนักเขียนชาวฝรั่งเศส Edmond Rostand (1868-1918) ซึ่งยังทำการผสมผสานคลุกเคล้าหลากหลายผลงานเขียน นำเสนอเรื่องราวการผจญภัยคล้ายๆแบบ Baron Munchausen เต็มไปด้วยความเว่อวังอลังการ หนึ่งในนั้นก็คือเดินทางสู่ดวงจันทร์เฉกเช่นเดียวกัน

บางคนอาจยังสับสน มึนๆงงๆกับซีเควนซ์บนดวงจันทร์ แต่พอ Baron Munchausen นำพา Tony มาท่องเที่ยวยังจักรวรรดิ Ottoman มีหลายสิ่งอย่างที่สร้างความตลกขบขันอย่างชัดเจน อาทิ
- นางรำทำท่าขยับโยกเต้น ตามพวงองุ่นของสุลต่าน … แฝงนัยยะถึงเผด็จการเบ็ดเสร็จ ใช้อำนาจในการบีบบังคับให้ขยับเคลื่อนไหวตามคำสั่ง
- ขณะเข้าเฝ้าสุลต่าน ด้วยความที่ Tony ไม่เคยรับรู้พิธีรีตรองจึงตั้งใจจะก้าวขึ้นบนบัลลังก์เพื่อขอจับมือ แต่แท่นที่เหยียบย่างดันมีสรรพาวุธลับพุ่งออกมา แต่แทนที่เขาจะถอยหลังกลับมีท่าทางสนุกสนาน ลองเหยียบครั้งสองสามจนสร้างความไม่พึงพอใจให้กับสุลต่าน … นี่ไม่ใช่แค่ Cultural Shock ของทั้ง Tony และสุลต่าน แต่ยังสื่อถึงการท้าทายอำนาจ ไม่หวาดกลัวเกรงอันตราย


เพื่อช่วยเหลือ/ลักพาตัวประกัน Princess Bianca ยามค่ำคืน Baron Munchausen และ Tony จึงแอบบุกเข้าไปในพระราชวัง ระหว่างเผชิญหน้าต่อสู้ทหารรักษาพระองค์ มีการจงใจทำให้ไฟดับ ปกคลุมอยู่ในความมืดมิด เพียงเห็นภาพกระพริบ แสงเงาสลัวๆ Baron Munchausen ต่อสู้กับทหารกระดาษ (ทำจาก Cut-Out) พยายามตัดต่อให้สอดคล้องท่วงทำนองเพลงที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานครื้นเครง
ผมครุ่นคิดอยู่นานว่าควันสีแดงมันคืออะไรกัน?? พลันฉุกครุ่นคิดได้ว่านั่นอาจคือควันไฟจากการเผาพระราชวัง คงเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ ระหว่างควบม้าหลบหนีเอาตัวรอด




ผมไม่ได้สนใจนับหรอกว่าเจ้าปลายักษ์มันออกผจญภัยไปทั่วเจ็ดน่านน้ำหรือไม่ แต่พบเห็นทั้งกลางวัน-กลางคืน ขั้วโลกเหนือ-ใต้ สภาพอากาศร้อน-หนาว ฝนตก-แดดออก-ท้องฟ้ามืดครึ้ม เรียกได้ว่าทุกช่วงเวลา ทุกสถานที่แห่งความเป็นไปได้ ซึ่งจะมีการแต่งแต้มแสงสีสันให้แตกต่างกันออกไป
เกร็ด: ใครได้รับชมคลิปเบื้องหลังที่ผมใส่ไว้ใน Invention for Destruction (1958) น่าจะผ่านตาเจ้าปลายักษ์ตัวนี้ เป็นโมเดลจำลองที่ต้องใช้สตั๊นแมนถึงสามคนยก และสองคนควบคุมระหว่างแหวกว่ายอยู่ในสระน้ำ … ขนาดของเจ้าปลายักษ์ตามคำโอ้อวดของ Baron Muchausen คือใหญ่พอๆกับทะเลสาป Geneva (ถ้าวัดเฉพาะพื้นผิวน้ำ กว้างสุดxยาวสุด = 73×14 ตารางกิโลเมตร)




ช่วงระหว่างที่ Baron Munchausen และ Princess Bianca ติดอยู่ในท้องเจ้าปลายักษ์ Tony ครุ่นคิดหาวิธีการช่วยเหลือด้วยการพยายามก่อสร้างเรือจักรกลที่มีความล้ำยุคสมัยนั้น (จะมองว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ Steampunk ก็ได้กระมัง) สังเกตบริเวณด้านหลังของเรือมีภาพวาด Adam กับ Eve กำลังถูกล่อลวงโดยอสรพิษ(ซาตาน)ให้รับประทานผลแอปเปิ้ลจากสวนอีเดน (เป็นภาพวาดที่ลงรายละเอียดสีสันได้อย่างสวยงาม)
ในบริบทนี้แอปเปิ้ลจากสวนอีเดน คือสัญลักษณ์แทนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีของ Tony เพราะเขาเป็นนักบินอวกาศ น่าจะมาจากโลกอนาคต จึงพยายามใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา แต่ครั้งนี้เหมือนจะไม่สำเร็จเพราะ Baron Munchausen และ Princess Bianca สามารถเอาตัวรอดกลับออกมาจากท้องเจ้าปลายักษ์เรียบร้อยแล้ว!


ระหว่างหนุ่ม-สาวกำลังพรอดรัก Baron Munchausen ไม่อยากทนเห็นภาพบาดตาบาดใจ เลยปล่อยให้ตนเองถูกนกยักษ์ลักพาตัว หลังจากดิ้นหนีเอาตัวรอด จึงออกผจญภัยใต้ท้องทะเลลึก … ผมมองว่านี่คือช่วงเวลาครุ่นคิดทบทวนตนเอง การผจญภัยใต้พื้นผิวน้ำสามารถสะท้อนจิตใต้สำนึกตัวละคร ซึ่งจะมีการรำพันถึงนางเงือก ภายนอกแม้ดูยั่วเย้ายวน เต็มไปด้วยความลุ่มหลงใหล แต่ภายในอาจซุกซ่อนเขี้ยวเล็บ ฉลามปลอมตัวมา
แซว: แน่นอนว่าหนังไม่ได้ลงทุนถ่ายทำใต้น้ำจริงๆ แค่เพียงเอาตู้ปลามาวางไว้หน้ากล้อง แล้วให้นักแสดงทำท่าแหวกว่าย นั่งอยู่บนเบาะด้านหลัง เพียงเท่านี้ก็สามารถหลอกตาผู้ชมได้สนิทใจ

เมื่อตอนที่ Princess Bianca อยู่สองต่อสองบนเรือชูชีพลำน้อยกับ Baron Munchausen ต่างอาบฉาบด้วยแสงจันทรา ท้องฟ้าเต็มไปด้วยดาวดารา หญิงสาวสอบถามถึงคู่รักบนดวงจันทร์ เขาตอบว่าสถานที่บนนั้นมีความน่าพิศวงสงสัย
ตรงกันข้ามกับตอนอยู่สองต่อสองกับ Tony บนเรือลำใหญ่ ไร้แสงจันทรา ร่างกายปกคลุมด้วยเงามืดมิด และยังพูดบอกด้วยความเชื่อมั่นว่า สักวันมนุษย์จักครอบครองดวงดาวบนท้องฟากฟ้า สามารถขบไขปริศนาจักรวาล หลงเหลือเพียงเรื่องความรัก ดวงตาของเธอที่ยังคงเต็มไปด้วยความลึกลับ


สิ่งที่มีความโรแมนติกในมุมมองของ Baron Munchausen คือความห้าวหาญ การต่อสู้ และสงคราม บนหน้าอกประดับเกียรติยศเต็มบ่า ซึ่งหนังทำการเสียดสีล้อเลียนด้วยการใช้ ‘Sound Effect’ เสียงรัวกลอง(นึกว่าเสียงปีน)ดังขึ้นพร้อมปรากฎเครื่องราชอิสริยยศ และชุดนายพลมีอีกาดำเกาะอยู่บนศีรษะ … เพลงประกอบระหว่างการสู้รบสงคราม จะได้ยินเสียงอีกาดังขึ้นบ่อยครั้ง สัญลักษณ์แทนความตาย สิ่งชั่วร้าย เศษซากปรักหักพัง (อีกาชอบกินซากสัตว์)


การผจญภัยนั่งบนกระสุนปืนใหญ่ของ Baron Munchausen จงใจให้เขาพานผ่านสมรภูมิสงคราม สนามสู้รบ ยุคสมัยก่อนคือวิธีพิสูจน์ความหาญกล้า ลูกผู้ชาย ถ้าสามารถเอาตัวรอดกลับมาได้ ย่อมกลายเป็นบุคคลมีชื่อเสียง เกียรติยศ ผู้คนนับหน้าถือตา … ขัดย้อนแย้งกับมุมมองคนรุ่นใหม่ Tony ทำไมฉันต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงเป็น-ตาย (Anti-War) เสียเวลาทำสิ่งตอบสนองความต้องการหัวใจ

ระหว่างที่ Baron Munchausen กำลังหมกม่วนอยู่กับความโรแมนติกของสงคราม, Tony ก็เอาแต่พร่ำพรอดคำหวาน เกี้ยวพาราสี Princess Bianca นำเอาหนังสือเคยวาดเล่น เทพนิยายแต่งไว้ตั้งแต่เด็ก (นี่ฟังเหมือนคำพูดของผกก. Zeman เสียมากกว่านะ) ภาพประกอบคำบรรยายสะท้อนเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้น และกำลังจะบังเกิดขึ้น
- เจ้าหญิงติดอยู่ในหอคอยสูง เฝ้ารอเจ้าชายมาให้ช่วยเหลือ = Princess Bianca เคยถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวโดยสุลต่านแห่ง Ottoman Empire
- เจ้าชายวางแผนปล้นดินปืน นำไปโยนใส่บ่อน้ำ นี่คือเหตุการณ์ที่กำลังจะบังเกิดขึ้นต่อไป
- และเมื่อจุดไฟโยนลงในบ่อน้ำ แรงระเบิดจะทำให้พวกเขาออกเดินทางสู่ดวงจันทร์




แต่เหตุการณ์จริงบังเกิดขึ้นนั้น บุคคลที่ถูกคุมขังกลับเป็น Tony (ล้อกับตอนต้นเรื่องที่ Princess Bianca เคยเป็น ‘damsel in distress’) เพราะการลักขโมยดินปืน(โยนลงบ่อน้ำ) เกือบทำให้พ่ายแพ้สงคราม เลยถูกตีตราคนทรยศขายชาติ … ในบริบทดังกล่าวยังสามารถมองการกระทำของ Tony ในเชิงต่อต้านสงคราม (Anti-War) ได้ด้วยเช่นกัน!
กลายเป็น Princess Bianca ให้ความช่วยเหลือ พาหลบหนี และบุคคลจุดชนวนระเบิดก็คือ Baron Munchausen ด้วยความไม่รู้อิโน่อิเหน่ จำใจต้องร่วมเดินทางกลับดวงจันทร์ไปพร้อมกัน

ตัดต่อโดย Věra Kutilová, แม้หนังจะเริ่มต้นการเดินทางด้วยยานอวกาศของ Tony ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ แต่เรื่องราวทั้งหมดกลับนำเสนอผ่านมุมมองตัวละคร Baron Munchausen อาสาพาชายหนุ่มลงเรือเหาะ ออกผจญภัยยังดาวเคราะห์โลก ย้อนเวลากลับสู่ช่วงศตวรรษที่ 18
- Tony เดินทางด้วยยานอวกาศลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ พบเจอกับ Baron Munchausen ดื่มฉลอง สังสรรค์เฮฮา รับปากอาสาพาสมาชิกใหม่ทัวร์โลกมนุษย์
- ลงเรือเหาะเทียมม้าติดปีก โบยบินมาถึงยังจักรวรรดิ Ottoman เข้าเฝ้าสุลต่าน ยามค่ำคืนทำการลักพาตัว Princess Bianca ควบม้าหลบหนีสามวันสามคืน
- Baron Munchausen พา Tony และ Princess Bianca กระโดดลงทะเล ขึ้นเรือโดยสาร ตั้งใจจะออกเดินทางสู่ยุโรป แต่ยังถูกกองทัพเรือของสุลต่านไล่ล่า ห้อมล้อมพร้อมโจมตีจากทั่วสารทิศ
- หลังเอาตัวรอดจากสมรภูมิรบ เรือชูชีพของ Baron Munchausen และ Princess Bianca ได้พลัดจากจาก Tony แล้วพวกเขาถูกกลืนกินลงในท้องปลายักษ์ เดินทางไปเจ็ดย่านน้ำ ก่อนถูกสังหารโดยพวกนักล่า
- เจ้าปลายักษ์เกยตื้นริมชายฝั่ง ทำให้ Princess Bianca หวนกลับมาพบเจอ Tony พรอดคำหวาน เกี้ยวพาราสี โดยไม่มีใครสนใจ Baron Munchausen ถูกนกยักษ์ลักพาตัว พอสามารถดิ้นหลบหนี ก็ออกผจญภัยใต้ท้องทะเลลึก
- หลังจาก Baron Munchausen กลับมาพบเจอหนุ่ม-สาว ทั้งสามออกเดินทางสู่ปราสาท/ป้อมปราการแห่งหนึ่ง กำลังเตรียมทำสงครามรบพุ่ง แต่เกือบพ่ายแพ้เพราะไม่สามารถจุดชนวนระเบิด โยนความผิด/ใส่ร้ายป้ายสี Tony ถูกจับกุมข้อหาก่อการกบฎ Princess Bianca จึงหาหนทางช่วยเหลือ แอบพากันหลบหนี แล้วโดยไม่รู้ตัวบังเกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่
- เป็นเหตุให้ทั้งสามโบยโบกบิน ล่องลอยกลับสู่ดวงจันทร์ หนุ่มสาวมอบคำสัญญารักมั่น ส่วน Baron Munchausen พร่ำรำพันถึงความโรแมนติกของศิลปินนักกวี
การเพิ่มเติมเรื่องราวในส่วนของ Tony และ Princess Bianca ทำให้การผจญภัยของ Baron Munchausen มีเป้าหมายและชีวิตชีวามากขึ้น แต่ผมยังรู้สึกว่าหนังใช้ประโยชน์จากทั้งสองตัวละครไม่คุ้มค่าสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะตั้งแต่หวนกลับมาพบเจอกัน เอาแต่พร่ำพรอดรักจนสร้างความอิจฉาริษยาต่อ Baron Munchausen (และผู้ชม)
เพลงประกอบโดย Zdeněk Liška (1922-83) สัญชาติ Czech เกิดที่ Smečno, Bohemia ทั้งปูและบิดาต่างเป็นนักดนตรีสมัครเล่น ทำให้วัยเด็กมีโอกาสฝึกฝนไวโอลิน แอคคอร์เดียน แต่งเพลงแรกสมัยเรียนมัธยม จากนั้นเข้าศึกษาต่อ Prague Conservatory ทำงานเป็นวาทยากร ครูสอนดนตรี ก่อนเข้าร่วม Zlín Film Studios กลายเป็นขาประจำผู้กำกับอนิเมชั่น Jan Švankmajer, ผลงานเด่นๆ อาทิ The Fabulous Baron Munchausen (1962), The Shop on Main Street (1965), Marketa Lazarová (1967), The Valley of the Bees (1968), The Cremator (1969), Fruit of Paradise (1970), Shadows of a Hot Summer (1977) ฯ
งานเพลงของ Liška อาจไม่ได้ท่วงทำนองติดหูโดยทันทีเหมือน Invention for Destruction (1958) แต่ก็เต็มไปด้วยการทดลองแปลกใหม่ (Experimental) เพื่อสร้างบรรยากาศผจญภัย เน้นความสนุกสนาน สอดแทรกอารมณ์ขัน ผันแปรเปลี่ยนไปตามสถานที่พื้นหลัง และพยายามทำให้คล้องจองภาพเหตุการณ์ปรากฎขึ้น ยกตัวอย่าง …
- มีการไล่ระดับเสียงเครื่องสายให้สูงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆปรากฎภาพก้อนเมฆ ท้องฟ้า พออยู่เหนือชั้นบรรยากาศ จรวดเดินทางมาถึงดวงจันทร์ จะได้ยินเครื่องสังเคราะห์ และคลื่นความถี่ค่อยๆเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน (หนังไซไฟสมัยนั้น ถือเป็นเสียงเอเลี่ยน สัญญาณจากนอกโลก)
- เดินทางมาถึงจักรวรรดิ Ottoman ย่อมได้ยินดนตรีพื้นบ้านตะวันออกกลาง
- ฉากการต่อสู้ในพระราชวัง(สุลต่าน)ถือเป็นไฮไลท์ของหนังเลยก็ว่าได้! มีความพยายามทำให้ภาพปรากฎขึ้น และเสียงดนตรี/ไซโลโฟนที่ได้ยิน มีความสอดคล้องจองกัน แม้กระทั่งเสียงฟันดาบโช้งเช้ง ยังกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของเพลงประกอบ และที่สำคัญคือท่วงทำนองสนุกสนาน ครึกครื้นเครง อลเวง ชวนให้อมยิ้มเล็กๆ
- ควบม้าหลบหนีจากพระราชวังสุลต่าน เครื่องเป่าลมทองเหลือสร้างท่วงทำนองประจัญบาน ชวนให้นึกถึงหนังแนว Western Cowboy ระหว่างฉากไล่ล่าสุดมัน
- ฉากสู้รบยุทธนาวี เต็มไปด้วยเสียง ‘Sound Effect’ จากเครื่องสังเคราะห์ที่มีความเหนือจริง (นึกว่าเอเลี่ยนยิงปืนเลเซอร์ใส่กัน) เพราะระเบิดแต่ลูกที่ยิงออกมา ผลลัพท์สร้างความสับสนอลเวง มันเกิดห่าเหวเหตุการณ์อะไรขึ้น
- แม้จะติดอยู่ในท้องเจ้าปลายักษ์ Baron Munchausen กลับยังมีอารมณ์อยากเต้นรำกับ Princess Bianca ต่อให้เรือโคลงเคลง โยกเยกไปมา ยังได้ยินท่วงทำนองเพลงคลาสสิกสำหรับเริงระบำ
- ระหว่างก้าวเดินออกจากท้องปลายักษ์ ได้ยินเสียง Harpsichord บรรเลงบทเพลงแห่งชัยชนะ ก้าวออกมาสู่อิสรภาพ
- การผจญภัยใต้ท้องทะเลลึกของ Baron Munchausen ได้ยินเสียงทรัมเป็ตบรรเลงท่วงทำนอง Slow-Jazz มีความล่องลอย โดดเดี่ยวอ้างว้าง ชีวิตดำเนินไปอย่างไร้เป้าหมาย
- บทเพลงมาร์ชระหว่างเตรียมการสู้รบ แต่พอถึงช่วงเข้าสู่สงครามจะเริ่มได้ยิน ‘Sound Effect’ อย่างเสียงหมา-กา-ไก่ บางครั้งดังขึ้นแทนกระสุนปืนใหญ่ (ถ้าใครตั้งใจรับฟังอาจได้หัวเราะจนท้องแข็ง)
รายละเอียดเพลงประกอบคร่าวๆที่ผมยกมานี้ ช่วยเสริมสร้างอรรถรสในการรับชมอย่างมากๆ ฟังสนุก เพลิดเพลิน เกิดความบันเทิง และอาจได้หัวเราะท้องแข็ง ถือเป็นอีกผลงานโคตรๆน่าประทับใจของ Liška สอดคล้องเข้ากับการผจญภัยสุดมหัศจรรย์ของ Baron Munchausen ได้อย่างแปลกพิศดาร
การผจญภัยของ Baron Munchausen ช่างมีความแปลกประหลาด พิลึกพิศดาร เว่อวังอลังการ ขัดต่อหลักการทางวิทยาศาสตร์ ตามกฎจักรวาลไม่น่าบังเกิดขึ้นได้ แต่ภาพยนตร์/นวนิยายเรื่องนี้คือจินตนาการของผู้สร้าง นำพาผู้ชมออกเดินทางสู่ความเป็นไปได้ไม่รู้จบสิ้น Infinite Possibility!
สักวันหนึ่งมนุษยชาติอาจสามารถสร้างยานอวกาศ เดินทางไปย่ำเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จ (หนังสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1962 ก่อนหน้า Neil Armstrong ก้าวย่างเหยียบดวงจันทร์ ค.ศ. 1969) แต่ปัจจุบัน(นั้น)สถานที่แห่งนี้ยังเป็นดินแดนโรแมนติกของนักคิด นักเขียน นักผจญภัย ศิลปินสรรค์สร้างผลงานศิลปะ หนุ่ม-สาวพรอดรักภายใต้แสงจันทรา
Luna till now belonged to the poets, to the dreamers, to daring fantasists and adventurers in powdered wigs. To fantasists in frock coats, and those in bizarre helmets from the pages of our latest novels. And of course to lovers, to them Luna was always most dear!
Baron Munchausen
ในขณะที่ Invention for Destruction (1958) นำเสนอเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก นักวิทยาศาสตร์ประดิษฐ์สุดยอดอาวุธ(เปรียบเทียบได้ตรงๆกับพลังงานนิวเคลียร์)ที่ถือเป็นดาบสองคม มีทั้งคุณประโยชน์และมหันตโทษ ขึ้นอยู่กับผู้ครอบครองและวิธีการนำไปใช้ เพื่อสร้างหรือทำลายล้าง
The Fabulous Baron Munchausen (1962) นำเสนอเรื่องราวแฟนตาซี การผจญภัยของนักคิด นักเขียน นักกวี ศิลปินสรรค์สร้างผลงานศิลปะ ฯ ผลงานของพวกเขาล้วนเป็นสิ่งไม่มีพิษภัย ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใด อะไรๆล้วนสามารถบังเกิดขึ้นได้ จินตนาการไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีถูก ไม่มีผิด ขอแค่ให้ได้ครุ่นคิดเพ้อฝัน
แต่ละเหตุการณ์ผจญภัยของ Baron Munchausen มองผิวเผินเหมือนไม่น่าจะมีนัยยะอะไรซุกซ่อนเร้น แต่ล้วนเต็มไปด้วยสาระข้อคิด บางครั้งทำการเสียดสีประชดประชัน ‘Social Satire’ นำเสนอความผิดปกติของสังคมในประเด็นต่างๆกัน
- การจะเข้าเฝ้าสุลต่านแห่งจักรวรรดิ Ottoman เต็มไปด้วยพิธีรีตอง มีความเรื่องมาก เจ้ากี้เจ้าการ ทำอะไรไม่พอใจก็ใช้ความรุนแรง กักขังหน่วงเหนี่ยว … เคลือบแฝงนัยยะต่อต้านการใช้อำนาจ/เผด็จการ Anti-Totalitarian
- การสู้รบยุทธนาวี (รวมถึงสงครามช่วงไคลน์แม็กซ์ก็ได้เช่นกัน) ใช้เรือรบมากมายล้อมจัดการเรือลำเดียว แต่ผลลัพท์กลับทำให้ทั้งกองทัพพังทลาย เสียหายย่อยยับเยิบ … สามารถมองเป็น Anti-War สงครามนำมาซึ่งหายนะ ไม่เว้นแม้แต่พวกเดียวกันเอง
- ถูกกลืนกินในท้องปลายักษ์ แต่กลับไม่มีใครตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง เรียนรู้ที่จะอดรนทน ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม/ผู้คนรอบข้าง เฝ้ารอคอยโอกาส สักวันต้องสามารถแก้ปัญหา ค้นพบทางออก หวนกลับสู่โลกภายนอกอีกครั้ง
- การผจญภัยใต้ท้องทะเลลึกของ Baron Munchausen จะมีพูดกล่าวถึงสิ่งยั่วเย้ายวนอย่างนางเงือก แม้มีความงดงามแต่อาจซุกซ่อนเขี้ยวเล็บ ปลาฉลามปลอมตัวมา
- Tony ไม่ได้มีความสนใจในการสู้รบสงคราม เพียงขโมยดินปืนเพื่อเตรียมออกเดินทางกลับสู่ดวงจันทร์ แต่ถูกตีตราเป็นคนทรยศขายชาติ … ในบริบทนี้ยังสามารถมองถึงประเด็นต่อต้านสงคราม (Anti-War) เพราะการกระทำของเขาทำให้ไม่เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน
ภาพยนตร์แฟนตาซีของผกก. Zeman เหมือนไม่น่าจะมีการเมืองเคลือบแอบแฝง แต่เหตุการณ์ผจญภัยที่คัดเลือกใส่เข้ามานั้น ชัดเจนมากๆว่าเป็นการแสดงทัศนะต่อต้านเผด็จการ (Anti-Totalitarian) ต่อต้านสงคราม (Anti-War) [พูดง่ายๆก็คือต่อต้านคอมมิวนิสต์ ไม่เอาสหภาพโซเวียต] โดยเฉพาะเรื่องราวของ Tony ที่แต่งเติมเพิ่มเข้ามา (ไม่มีอยู่ในต้นฉบับนวนิยาย) สามารถเทียบแทนความครุ่นคิด/จินตนาการเพ้อฝัน ชีวิตจริงอาจไม่สามารถทำอะไรเช่นนั้น นอกเสียจากสรรค์สร้างภาพยนตร์เท่านี้แล
ภาพสุดท้ายของหนัง ต้องถือเป็นช็อตลายเซ็นต์ของผกก. Zeman เลยกระมัง! เมื่อตอน Invention for Destruction (1958) พบเห็นหมวกกำลังจมลงสู่ก้นเบื้องมหาสมุทร สื่อถึงหายนะที่บังเกิดขึ้นได้จากเทคโนโลยี (ดาบสองคม) ถ้าถูกนำไปใช้ในทางไม่ถูกต้อง อาจก่อให้เกิดหายนะ จุดจบมวลมนุษยชาติ, แต่ครานี้พบเห็นโยนเขวี้ยงขว้าง หมวกล่องลอยสู่จักรวาลเวิ้งว้าง หมายถึงความเพ้อฝันจินตนาการไม่มีที่สิ้นสุด!

ก่อนจะเข้าฉายในประเทศบ้านเกิด เดินทางไปตามเทศกาลหนัง Locarno Film Festival (Switzerland), Venice Film Festival (ไม่มีการระบุว่าในหรือนอกสายการประกวด), San Francisco International Film Festival ฯ ไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่สามารถทำเงินใน Czechoslovakia สูงถึง 4.7 ล้าน CZK (=$14.2 ล้านเหรียญ)
ปัจจุบัน The Fabulous Baron Munchausen (1962) ได้รับการบูรณะ คุณภาพ 4K โดย Nadace české bijáky ร่วมกับ Karel Zeman Museum และ Czech Television พร้อมๆกับ Journey to the Beginning of Time (1955) และ Invention for Destruction (1958) เสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2015 รวบรวมอยู่ในบ็อกเซ็ต Three Fantastic Journeys by Karel Zeman ของค่าย Criterion Collection
เกร็ด: นิตยสาร Home Cinema Choice ของประเทศอังกฤษ ทำการโหวตเลือก The Fabulous Baron Munchausen (1962) มอบรางวัล Best Digitally Restored Film เมื่อปี ค.ศ. 2017 เอาชนะภาพยนตร์อย่าง The Wages of Fear (1953), The Thing (1982) และ Mulholland Drive (2001)
แม้เรื่องราวอาจไม่ได้มีความน่าสนใจอะไร แต่การผจญภัยของ Baron Munchause เต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ พิลึกพิลั่น สอดแทรกอารมณ์ขัน ตื่นตระการทั้งภาพและเสียง สร้างความตกตะลึง อึ่งทึ่ง หลายๆคนอาจถึงกับอ้าปากค้าง! เป็นความประทับใจยิ่งกว่า Invention for Destruction (1958) แต่ก็แล้วความชอบนะครับ ส่วนตัวคิดเห็นว่า The Fabulous Baron Munchausen (1962) สมควรค่าแก่การยกย่องมาสเตอร์พีซ
น่าเสียดายที่ผมมีเวลาจำกัด คงไม่มีโอกาสเขียนถึงผลงานอื่นๆของผกก. Zeman แต่ถ้าใครสนอกสนใจ แนะนำผลงานอาทิ The Voyage of Sinbad (1971) [มีทั้งหมด 7 เรื่องสั้น], A Thousand and One Nights (1974), The Sorcerer’s Apprentice (1978) ฯ
จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย
Leave a Reply