Barry Lyndon

Barry Lyndon (1975) hollywood : Stanley Kubrick ♥♥♥♥

แม้ภาพยนตร์อัตชีวประวัติ Napoléon Bonaparte จะล่มเหลวไม่เป็นท่า! แต่ผู้กำกับ Stanley Kubrick ยังคงมองหาโปรเจคที่มีพื้นหลังยุคสมัยใกล้เคียง ค้นพบนวนิยาย The Luck of Barry Lyndon (1844) พานผ่านสงครามเจ็ดปี (1756-63) เรื่องราวของชายหนุ่มพยายามทำทุกสิ่งอย่าง ไต่เต้าสู่จุดสูงสุดแห่งชีวิต แล้วครึ่งหลังกลับค่อยๆตกต่ำหวนกลับสู่สามัญ

แม้ตอนออกฉาย Barry Lyndon จะไม่ค่อยทำเงินแถมได้เสียงตอบรับก้ำกึ่ง ผู้ชมบ่นอุบถึงความเชื่องช้าหลับสนิทนิทรา แต่กาลเวลาทำให้หนังมีความละเอียดลุ่มลึกซึ้ง กลายเป็นอีกหนึ่ง Masterpiece โลกไม่รู้ลืมของอัจฉริยะ Stanley Kubrick

“This must be one of the most beautiful films ever made”.

– Roger Ebert, นักวิจารณ์ชื่อดัง

ความสนใจในศตวรรษที่ 18 ของ Kubrick ผมครุ่นคิดว่าเกิดจากต้องการทดลองถ่ายภาพ ให้ออกมามีลักษณะคล้ายภาพวาดงานศิลปะมากที่สุด!

ใครชื่นชอบงานศิลปะ น่าจะพอสังเกตลักษณะการถ่ายภาพของ Barry Lyndon (1975) ค่อนข้างเน้น Landscape Shot จัดวางองค์ประกอบ ตำแหน่งเคลื่อนไหว แสง-สี มีกลิ่นอายเหมือนศิลปินระบายภาพวาด เห็นว่ารับอิทธิพลจาก Thomas Gainsborough (1727 – 1788), William Hogarth (1697 – 1764), Jean-Antoine Watteau (1684 – 1721) ผลลัพท์ออกมาไม่ให้ชมว่า ‘ภาพยนตร์มีความงดงามที่สุด’ ก็กระไรอยู่

ลองรับชมคลิปนี้ดูเองก็แล้วกัน ผมจะได้ไม่ต้องเปรียบเทียบภาพวาดให้เสียเวลา

Stanley Kubrick (1928 – 1999) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Manhattan ครอบครัวเชื้อสาย Jews แต่เจ้าตัวไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า แม้มีความเฉลียวฉลาด IQ สูง แต่ไม่ใคร่สนใจเรียนหนังสือ วันๆหมกตัวอ่านหนังสือ ชื่นชอบถ่ายรูป หลงใหลเบสบอล พออายุ 12 ปี พ่อสอนเล่นหมากรุกติดงอมแงม, อายุ 13 ปี ได้ของขวัญกล้องถ่ายรูป Graflex เปลี่ยนมาหมกตัวในห้องล้างรูปแทน ระหว่างนั้นนำภาพถ่ายขายให้ Look Magazine เรียนจบเลยได้เป็นช่างภาพเต็มตัว

ความหลงใหลในภาพยนตร์เริ่มจากการโดดเรียนไปดู Double-Feature เมื่อเริ่มทำงานจึงรู้จัก Museum of Modern Art หลงใหลผลงานของ Max Ophüls, Elia Kazan เริ่มหมกมุ่นจริงจัง ศึกษาหาความรู้ ทดลองโน่นนี่นั่นด้วยตนเอง สร้างหนังสั้นสารคดีขาวดำเรื่องแรก Day of the Fight (1951), ขนาดยาวเรื่องแรก Fear and Desire (1953), เริ่มมีชื่อเสียงกับ The Killing (1956), เส้นทางสดใส Paths of Glory (1957), Spartacus (1960), เข้าชิง Oscar ครั้งแรก Dr. Strangelove (1964) และ Masterpiece คือ 2001: A Space Odyssey (1968)

หลังเสร็จจาก 2001: A Space Odyssey ผู้กำกับ Kubrick ใคร่สนใจสร้างภาพยนตร์อัตชีวประวัติ Napoléon Bonaparte ความล้มเหลวย่อยยับเยินของ Waterloo (1970) ทำให้นายทุนถอนตัวออกไป เลยเปลี่ยนไปสร้าง A Clockwork Orange (1971) รอคอยให้กระแสเงียบลงก่อนจะได้หวนกลับมาเริ่มต้นใหม่

เมื่อเสร็จจาก A Clockwork Orange ผู้กำกับ Kubrick เล็งนวนิยาย Vanity Fair (1848) แต่งโดย William Makepeace Thackeray (1811 – 1863) นักเขียนเชิงเสียดสี ล้อเลียน สัญชาติอังกฤษ ซึ่งเรื่องราวมีพื้นหลังยุคสมัย Napoleonic Wars (1803–1815) แต่ด้วยความยาวถึง 19 เล่ม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดัดแปลงสร้างภาพยนตร์

“At one time, Vanity Fair interested me as a possible film but, in the end, I decided the story could not be successfully compressed into the relatively short time-span of a feature film … as soon as I read Barry Lyndon I became very excited about it”.

– Stanley Kubrick

ความสนใจในนวนิยาย Vanity Fair ทำให้ Kubrick สรรหาผลงานอื่นของผู้เขียน Thackeray จนกระทั่งพบเจอ The Luck of Barry Lyndon (1844) ตัวสินใจเปลี่ยนมาดัดแปลงสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ดีกว่า!

The Luck of Barry Lyndon ได้แรงบันดาลใจจาก Andrew Robinson Stoney (1747 – 1810) ชายชาว Anglo-Irish อพยพจาก Ireland สู่ Yorkshire แล้วได้ตกถังข้าว แต่งงานกับหญิงหม้าย Mary Eleanor Bowes ผู้เป็น Countess of Strathmore and Kinghorne, แท้จริงแล้ว Stoney ได้ทำการ Blackmail ให้ Bowes แต่งงานกับตนเองเพื่อหวังฮุบสมบัติ โดยใช้ลูกชายของเธอเป็นตัวประกัน ภายหลังเมื่อความกระจ่าง ถูกศาลตัดสินจำคุกสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง

Kubrick ลงมือดัดแปลงนวนิยายเล่มนี้ด้วยตนเอง พยายามคงอะไรๆหลายอย่างไว้ โดยสิ่งเปลี่ยนแปลงไปมากสุดคือมุมมองดำเนินเรื่อง จากเล่าผ่านการบรรยาย/บุคคลที่หนึ่งของ Barry Lyndon สู่เสียงบรรยายใครก็ไม่รู้/บุคคลที่สาม

“I believe Thackeray used Redmond Barry to tell his own story in a deliberately distorted way because it made it more interesting. Instead of the omniscient author, Thackeray used the imperfect observer, or perhaps it would be more accurate to say the dishonest observer, thus allowing the reader to judge for himself, with little difficulty, the probable truth in Redmond Barry’s view of his life. This technique worked extremely well in the novel but, of course, in a film you have objective reality in front of you all of the time, so the effect of Thackeray’s first-person story-teller could not be repeated on the screen. It might have worked as comedy by the juxtaposition of Barry’s version of the truth with the reality on the screen, but I don’t think that Barry Lyndon should have been done as a comedy”.

– ความเห็นของ Stanley Kubrick ต่อการเปลี่ยนมุมมองเล่าเรื่อง

Redmond Barry (รับบทโดย Ryan O’Neal) คือชายหนุ่มหน้าละอ่อน ตกหลุมรักพี่สาว/ญาติแท้ๆของตนเอง ทนไม่ได้เมื่อพบเห็นเธอพยายามอ่อยเหยื่อให้กัปตันทหารอังกฤษ ท้าดวลปืนพลาดพลั้งฆาตกรรม เป็นเหตุให้ต้องหลบหนีออกเดินทาง สมัครทหารข้ามน้ำข้ามทะเลร่วมสู้รบในสงครามเจ็ดปี พบเห็นความตายอันงี่เง่าบัดซบจึงพยายามหลบลี้หนี แต่ถูกจับได้เลยต้องกลายเป็นทหาร Prussian ทำความดีความชอบจนได้ประดับเหรียญเชิดชู หลังสงครามกลายเป็นสายให้ตำรวจ แปรพักตร์ให้ความช่วยเหลือเป้าหมายเพื่อนร่วมชาติ ร่วมกันหลบหนีเดินทางกลับสู่ประเทศอังกฤษ

เมื่อหวนกลับมายังผืนแผ่นดินบ้านเกิด อาชีพหลักของ Barry คือนักต้มตุ๋นโกงไพ่ พบเจอตกหลุมรัก Lady Lyndon (รับบทโดย Marisa Berenson) หลังจากสามีเธอเสียชีวิตจึงใช้มารยาเสน่ห์เข้าตีสนิทจนได้แต่งงาน มีบุตรชายด้วยกันหนึ่งคน, กาลเวลาเคลื่อนผ่านอย่างรวดเร็ว แม้มีชีวิตสุขสบายแต่หาได้มั่นคงถาวร พยายามอย่างยิ่งไขว่คว้าตำแหน่งขุนนาง แต่ไร้ซึ่งทักษะฝีมือความสามารถ ทั้งยังอารมณ์ฉุนเฉียวเกินกว่าเหตุจนทำให้ใครๆตีตนออกห่าง ท้ายสุดถูกท้าดวลปืนกับลูกชายคนโตของ Lady Lyndon ทั้งๆแสดงเมตตากลับถูกย้อนแย้งเข้าหา แม้สามารถเอาตัวรอดชีวิตแต่ไม่สามารถก้าวเดินต่อไปได้อีก


นำแสดงโดย Charles Patrick Ryan O’Neal (เกิดปี 1941) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Los Angeles ครอบครัวมีเชื้อสาย Irish-English โตขึ้นเข้าเรียน University High School ฝีกต่อมวยจนได้ Gloden Gloves ขึ้นชกมวยสากลสมัครเล่น สถิติชนะ 12 แพ้ 4 ครั้ง กระทั่งว่าได้รับเลือกเป็นนักแสดงซีรีย์โทรทัศน์ เลยเลิกต่อยมวยหันมาเอาดีด้านนี้แทน ภาพยนตร์สร้างชื่อคือ Love Story (1970), What’s Up, Doc? (1972), Paper Moon (1973), Barry Lyndon (1975), A Bridge Too Far (1977) ฯ

รับบท Redmond Barry จากเด็กหนุ่มไร้เดียงสาลุ่มหลงใหลในความรัก ต่อสู้ด้วยอุดมการณ์กลับได้รับความสูญเสีย เติบโตขึ้นพบเห็นเป็น-ตายในสนามรบ ต้องการหลบลี้หนีแต่ไม่สามารถขับขี่ไปไหนได้ไกล อึดอัดอั้นโหยหาความสุขสบาย พยายามทำทุกสิ่งอย่างไม่สนถูก-ผิด แต่สุดท้ายก็วกหวนกลับสู่จุดเริ่มต้นสามัญ

เมื่อตอนประกาศสร้างหนัง O’Neal เป็นตัวเลือกที่ดูไม่ค่อยเข้ากับสไตล์ Kubrick สักเท่าไหร่ เพราะชื่อเสียงและผลงานก่อนหน้าล้วนคือ Romantic-Comedy จะสามารถทนกับความโรคจิต Perfectionist ได้เช่นไร!

นักวิจารณ์สมัยนั้นต่างบ่นอุบน่าเสียดาย บทบาทของ O’Neal ค่อนข้างจะตื้นเขินเบาบาง นอกจากใบหน้าละเหี่ยห้อย เศร้าสร้อย สิ้นหวัง ก็แทบไม่พบเห็นด้านอื่นสักเท่าไหร่ แต่ผมว่ากว่าพี่แกจะผ่านแต่ละฉากของหนังไปได้ ต้องใช้ความทุ่มเทพยายามอย่างล้นหลาม -ไดเรคชั่นของ Kubrick มีคำเรียกว่า ‘ผู้กำกับร้อยเทค’- ทุกความหดหู่ทรมาน นั่นคือจิตวิญญาณนักแสดงพรั่งพรูเอ่อล้นออกจากภายในเลยละ!

มีนักข่าวไปสัมภาษณ์ถาม O’Neal ทนไปได้อย่างไรกับ 300 วัน ช็อตหนึ่งหลายสิบร้อยเทค

“a strong suspicion that I was involved in something great”

– Ryan O’Neal

แม้เจ้าตัวจะผิดหวังเล็กๆกับเสียงตอบรับตอนหนังออกฉาย แต่กาลเวลาผ่านไปยังคงตราประทับฝังใน ไม่เคยมีวันไหนไม่มีใครไม่พูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ตนรับฟัง

“Not a day goes by without someone talking to me about Barry Lyndon. It puts a spell on people. I think it’s going to live forever”.


ถ่ายภาพโดย John Alcott (1931 – 1986) สัญชาติอังกฤษ จากเคยเป็นคนจัดแสงเรื่อง 2001: A Space Odyssey (1968) ขึ้นมาเป็นตากล้อง A Clockwork Orange (1971), Barry Lyndon (1975) และ The Shining (1980)

Kubrick มีความชื่นชอบหลงใหลทิวทัศนียภาพของ Dublin, Ireland ตั้งใจให้เป็นสถานที่ถ่ายทำหลักๆ รวมถึงพื้นหลังสงครามเจ็ดปี แต่แล้ววันหนึ่งได้รับโทรศัพท์ลึกลับจาก Provisional Irish Republican Army บอกให้รีบออกนอกประเทศภายใน 24 ชั่วโมง … เรื่องอะไรจะเสี่ยง!

“Whether the threat was a hoax or it was real, almost doesn’t matter … Stanley was not willing to take the risk. He was threatened, and he packed his bag and went home”.

–  Jan Harlan หนึ่งใน Executive Producer

ฉากอื่นๆที่เหลือเลยจำต้องแยกย้ายไปถ่ายทำตามประเทศต่างๆ อาทิ อังกฤษ, สก็อตแลนด์, เยอรมัน ฯ หลายๆฉากสงครามเลยถูกตัดทิ้งออกไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อัตราส่วนภาพของหนัง มีการถกเถียงมากทีเดียวว่าแท้จริงแล้วคือเท่าไหร่? จนกระทั่งมีการค้นพบจดหมายของ Kubrick ส่งถึงโรงภาพยนตร์ระบุไว้ว่า

“Barry Lyndon was photographed in 1-1:66 aspect ratio. Please be sure you project it at this ratio, and in no event at less than 1-1:75”

อัตราส่วน 1-1.66 คือมาตรฐานภาพยนตร์แพร่หลายทั่วยุโรป มีเฉพาะกับ Hollywood และอังกฤษที่นิยม Widescreen (1-1.85) และ Anamorphic (1-2.39) แต่ก็ต้องทำใจนิดนึงกับบาง DVD/Blu-ray บ้างปรับเปลี่ยนอัตราส่วน บ้างตัดขอบทิ้ง ตามความเข้าใจผิดๆถูกๆของผู้จัดจำหน่าย

ไดเรคชั่นการถ่ายภาพที่พบบ่อยจนกลายเป็นตำนานลือเล่าขาน! คือการค่อยๆซูมเข้าหรือออก จากประชิดตัวละครถอยห่างจนเห็นภาพพื้นหลังธรรมชาติกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา จุดประสงค์เพื่อสร้างสัมผัสทางอารมณ์ และแฝงนัยยะความหมายบางอย่างแตกต่างออกไป

แต่สิ่งท้าทายสุดของหนังคือการถ่ายทำฉากกลางคืน Kubrick ยืนกรานจะไม่ใช้แสงไฟจากแหล่งกำเนิดอิเล็กทรอนิกส์ใดๆนอกเสียจากเทียนไข ยุคสมัยนั้นถือว่าเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย ไม่มีใช่เรื่องง่ายแม้แต่การถ่ายภาพนิ่ง! ถึงขนาดต้องขอหยิบยืมกล้อง Super-Fast 50mm (Carl Zeiss Planar 50mm f/0.7) พัฒนาโดย NASA เพื่อใช้ในโครงการ Apollo สำหรับถ่ายภาพใช้แสงน้อยๆบนดวงจันทร์

มันยังไม่จบแค่ได้กล้องคุณภาพดีเท่านั้นนะ! ลองจินตนาการถึงห้องที่เต็มไปด้วยเทียนไขปริมาณมหาศาล อุณหภูมิย่อมเร่าร้อนระอุ ไหนจะแก่งแย่งอ็อกซิเจนสำหรับหายใจอีก แล้วความ Perfectionist ของผู้กำกับ Kubrick ไม่เคยมีเทคเดียวผ่าน กว่าจะถ่ายทำแต่ละฉากเสร็จ … ไม่ค่อยอยากจินตนาการสักเท่าไหร่

การดวลปืน คือสัญลักษณ์การต่อสู้ของสุภาพบุรุษ ลูกผู้ชาย ชนชั้นสูงสมัยก่อน เพื่อเป็นการรักษาเกียรติ หน้าตา ศักดิ์ศรีของตนเอง (และวงศ์ตระกูล) แทบไม่ต่างอะไรกับเกมสงคราม ที่พยายามเข่นฆ่าอีกฝ่ายด้วยข้ออ้างโน่นนี่นั่น เพ้อเจ้อไร้สาระทั้งเพ

แม้ว่าสามี/พ่อจะจากไปแล้ว แต่ชีวิตของแม่(และลูกในครรภ์)จำต้องก้าว’เดิน’ต่อ, ช็อตที่สองของหนังนี้ ทำการชี้นำ ‘Tempo’ จังหวะของการดำเนินเรื่อง มีการค่อยๆเคลื่อนไหว ซูมออกแพนนิ่งอย่างเชื่องช้า แม้ไม่ถึงขนาดผลงานของ Carl Theodor Dreyer แต่ก็มีลมหายใจเฉพาะของตนเอง

ค่อยๆซูมออกจากรูปปั้นเด็ก จนพบเห็น Redmond Barry วัยรุ่นเติบใหญ่ กำลังเล่นไพ่กับลูกพี่ลูกน้อง Nora Brady, นี่อีกเช่นกันคือเกมตัดสินชีวิตของตัวละคร พ่ายแพ้ครั้งนี้เลยถูกยั่วเย้ายวนด้วยความไร้เดียงสา

ผ้าพันคอ สัญลักษณ์ของการผูกมัด เป็นเจ้าค่ำเจ้าของ (เหมือนปลอกคอหมา), ซุกซ่อนไว้ตรงหน้าอก ไม่เพียงสื่อถึงความต้องการ/ตัณหาราคะ ตำแหน่งใกล้หัวใจคือความรู้สึกที่มีให้

ช็อตนี้เริ่มต้นจาก Captain Feeney จับมือเกี้ยวพา Nora Brady ค่อยๆซูมออกจนพบเห็นพื้นหลัง ทิวทัศนียภาพกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา สื่อความหมายถึง ความรัก/ความสัมพันธ์ของทั้งสองคือธรรมชาติแห่งชีวิต แม้จะมีลับลมคมในหลบซ่อนเร้นอยู่ แต่ Redmond Barry ก็ไม่สามารถหยุดยับยั้งสิ่งเกิดขึ้นต่อไปได้

การต่อสู้ดวลปืนระหว่าง Redmond Barry กับ Captain Feeney, กล้องค่อยๆซูมออกจากอาวุธปืนที่กำลังตระเตรียมใส่ลูกกระสุน มาสิ้นสุดช็อตนี้พบเห็นภาพพื้นหลังคือท้องฟ้าคราม เมฆบางส่วน เทือกเขาเล็ก และสายน้ำไหล ถือเป็นธรรมชาติของทุกสิ่งมีชีวิตที่ต้องต่อสู้ เข่นฆ่าแกง แก่งแย่งชิงอิสตรีสำหรับครองคู่

วินาทีก่อนหน้ากำลังจะยิง มีการตัดสลับใบหน้าระหว่าง Barry และ Feeney พบเห็นความตั้งมั่นใจ-สั่นสะท้านขี้ขลาดเขลา รายหลังปืนจะค่อยๆเคลื่อนบดบังตาข้างหนึ่ง สื่อความถึงการแอบอ้าง กลับกลอก หลอกลวง

แม้แต่ในกองทัพทหาร เมื่อเกิดความขัดแย้งก็ต้องท้าพิสูจน์ ต่อสู้แบบลูกผู้ชาย แต่ให้ลองสังเกต
– คู่ต่อสู้ ออกหมัดแบบคนเมา เน้นกำลังแต่ไร้สติปัญญา
– Redmond Barry ใช้สายตาความคล่องแคล่วล่อหลอก หลบทุกดอก แล้วฮุคหนึ่ง-สอง ลำตัว-ใบหน้า

ลีลาการต่อสู้ของ Barry สะท้อนตัวตนออกมาอย่างเด่นชัดเจน กล่าวคือหลบหลีกหนีเอาตัวรอดไว้ก่อน แล้วค่อยใช้เล่ห์กลตอบโต้ ช้าๆได้พร้าเล่มงาม จนสามารถเอาชนะศัตรู

วิธีการที่ผู้กำกับ Kubrick นำเสนอฉากสู้รบสงคราม มีความตรงไปตรงมาเหมือน Alexander Nevsky (1938) ของผู้กำกับ Sergei Eisenstein กล่าวคือเน้นช็อตกว้างๆแล้วเติมนักแสดงยืนเรียงรายให้เต็มเฟรม กรีธาพาเรดเดินเข้าไป เสร็จแล้วมีเรื่องให้ต้องหลบหนีจากการเผชิญหน้าต่อสู้

แซว: นี่ไม่ใช่ครั้งแรกนะครับ Spartacus (1960) ก็เฉกเช่นเดียวกัน อารัมบทจัดทัพเตรียมสงครามมาอย่างดี เสร็จแล้วตัดทิ้งขณะสู้รบเข่นฆ่ากันตาย

ผู้กำกับ Kubrick หลบซ่อนประเด็นอ่อนไหวหลายๆอย่างไว้หลังฉาก นำเสนอแบบผ่านๆไม่ให้โจ่งแจ้ง อาทิ
– Barry ตกหลุมรักลูกพี่ลูกน้อง (Incest)
– ทหารสองคนพรอดรัก (Homosexual)
– Group Sex (Orgy)
ฯลฯ

การพบเห็นชายรักชาย ทำให้ Redmond Barry เกิดความครุ่นคิดที่จะหลบหนีจากกองทัพอังกฤษ มันจะมีวินาทีที่กล้องค่อยๆซูมเข้าไปที่ใบหน้าของเขา นั่นคือระหว่างการครุ่นคิดตัดสินใจ พร้อมแล้วจะทำบางสิ่งอย่าง

ความซวยของ Redmond Barry คือการพบเจอ Captain Potzdorf ที่สามารถล้วงเอาข้อเท็จออกจากคองูเห่าได้สำเร็จ สถานที่คือบริเวณลัดเลาะเลียบกำแพง ร่องรอยต่อขอบเขตแดนที่ Barry ไม่สามารถก้าวข้ามผ่าน/หลบหนีเอาตัวรอดได้สำเร็จ

จริงๆจะมองว่า Barry สามารถหลบหนีมาจนถึงสุดปลายขอบฟ้า ก่อนถูกค้นพบตัวลากพากลับสู่วังวนแห่งการต่อสู้ขัดแย้ง

จริงๆจะปล่อยทิ้งให้เสียชีวิตเลยก็ได้ แต่นี่คือเมตตาธรรมของ Redmond Barry ที่มักมีให้กับศัตรู ยกเสาช่วยเหลือได้ค่าตอบแทนคือยกย่องเชิดชูเกียรติ หนำซ้ำมอบหมายงานพิเศษ … แต่ช่างไม่รู้เลยว่า กำลังรับเลี้ยงงูเห่าที่พร้อมฉกแว้งกัน เอาแค้นคืนได้ทุกโมงยาม

เหตุการณ์แทบทุกอย่างที่ Barry พานผ่านมากับกองทัพอังกฤษ จะเวียนวนหวนกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งตอนเข้าร่วมกองทัพ Prussia แต่จะมีลักษณะแตกต่างกันสักเล็กน้อย
– เริ่มต้นจากอาสาสมัครทหาร, ถูกบีบบังคับให้เข้าร่วมกองทัพ Prussia
– ล้อมวงทหารเพื่อรับชมการชกต่อยตี, ภาพช็อตนี้ขณะมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ
– กรีธาทัพเข้าสู่สมรภูมิรบ, ตั้งมั่นปักหลักยิงปืนตอบโต้อยู่ข้างหลังกำแพง
– คนรู้จัก Captain Grogan ถูกยิง พยายามช่วยเหลือแต่ไม่ทันกาล, Captain Potzdorf ถูกระเบิดเสาทับ ช่วยเหลือรอดมาได้
ฯลฯ

การพบเจอ Chevalier du Balibari ทำให้ Redmond Barry พรั่งพรูอารมณ์ความรู้สึกภายในจิตใจคาคลั่งออกมา เพราะรับรู้ทันทีว่าเขาคือชาวไอริชเหมือนกัน ความสัมพันธ์ของพวกเขาแทบไม่ต่างจากพ่อ-ลูก (ถือว่าเติบเติมส่วนที่ Barry ขาดหายไปตั้งแต่เด็กอีกด้วย) เสี้ยมสอนความรู้ ให้ความช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนผลักดัน … แต่ก็ไม่รู้ห่างหายตัวไปตอนไหน ล่องหนอย่างแนบเนียน

หลังจากหลบหนีเอาตัวรอดจากเยอรมันหวนกลับมาอังกฤษ เป้าหมายของ Redmond Barry คือแต่งงานกับหญิงหม้ายชนชั้นสูง นั่งนอนกินกลายเป็นหนูตกถังข้าวสาร จับจ้องมองให้ความสนใจ Lady Lyndon เฝ้ารอคอยให้ Sir Charles Reginald Lyndon ผู้ชราภาพและพิการ อีกไม่นานคงถึงฝั่งฝาลงโลง

หลังจากแต่งงานในโบสถ์เสร็จสำเร็จ ช็อตภายในรถม้าช่างมีความลุ่มลึกล้ำยิ่งนัก, Barry Lyndon กำลังสูบไปป์อย่างเกษมสำราญ สัญลักษณ์ของการมี Sex ดูดซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกระทั่ง Lady Lyndon ต้องร้องขอให้หยุด แต่กลับถูกเพิกเฉยพร้อมพ่นควันใส่หน้า

ไดเรคชั่นของหนังช่วงนี้ มีลักษณะ 1 ช็อต 1 เรื่องราว รวบเร่งรัดการดำเนินเรื่องเกิดขึ้นผ่านไปอย่างรวดเร็ว
– เริ่มจากแต่งงาน
– ชีวิตออกเดินทาง
– ภาพช็อตนั้น ถือกำเนิดบุตรชาย
– Barry Lyndon สำมะเลเที่ยวเตร่
– Lady Lyndon และลูกๆ แสดงความเบื่อหน่ายต่อสิ่งต่างๆของสามี
ฯลฯ

การสำนึกได้หรือไม่รู้ถูกจับผิด ทำให้ Barry Lyndon ขอคืนดีกับ Lady Lyndon เพราะไม่ต้องการสูญเสียกองเกินกองทองแห่งความสะดวกสบายนี้ไป สถานที่คือในห้องอาบน้ำ ร่างกายของเธอครึ่งหนึ่งยังคงเปลือยปล่าวไม่สามารถปฏิเสธได้ ค่อยๆบรรจงเคลื่อนเข้าไปจุมพิต ไม่รู้จะเรียกโรแมนติกยังไง … คลาสสิกดีกว่ามั้งแบบนี้

การกระทำทุกสิ่งอย่างของ Barry Lyndon ไม่ต่างอะไรกับมายากล ภาพลวงตา กิจกรรมเล็กๆที่มีให้วันเกิดลูกชาย Bryan Patrick Lyndon ก็เฉกเช่นกัน

คำแนะนำของแม่ต่อ Barry Lyndon ถ้าต้องการชีวิตมั่นคงถาวร ต้องได้รับการยอมรับจากชนชั้นสูง เลื่อนขั้นขึ้นเป็นขุนนาง, สถานที่ให้คำแนะนำคือบริเวณสะพาน เรียกได้ว่าร่อยรอยต่อระหว่างชนชั้นล่าง-กลาง-สูง ถ้าต้องการก้าวข้ามต้องสรรหาวิธีไต่เต้าเอาตัวรอดด้วยตนเอง

ความรังเกียจเดียดฉันท์ของ Lord Bullingdon ต่อคนตระกูล Barry ถ่ายทอดผ่านการนำรองเท้าของตนเองให้เด็กชาย Bryan สวมใส่ มันช่างใหญ่เกินตีน ไม่มีความเหมาะสมเพียงพอดีกับตนเอง แถมส่งเสียงดังสร้างความน่าหงุดหงิดรำคาญในที่สาธารณะอีกต่างหาก

นี่ถือเป็นการยั่วโมโหโทโสต่อ Barry Lyndon แถมคำพูดจาหยามเยียมต่อหน้าสาธารณะ เป็นเหตุให้ปะทุระเบิดความเกรี้ยวกราดโกรธ บทลงโทษรุนแรงเกินพอดี ทำให้ถูกติฉินท์ไม่พึงพอใจต่อสาธารณะชน โอกาสไต่เต้าเป็นขุนนางหมดสิ้นลงโดยทันที

การกระทำอันเสียสติแตกของ Barry Lyndon ทำให้เขากำลังจะสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง, ภาพช็อตนี้ทรงพลังมากๆ เริ่มจากจับจ้องใบหน้าอันผิดหวังเศร้าสร้อย ค่อยๆซูมออกจนพบเห็นคฤหาสถ์หลังใหญ่โต นี่ให้ความรู้สึกคล้ายๆ Xanadu ของ Citizen Kane (1941) สถานที่แห่งนี้ยิ่งใหญ่เกินตัวเขาไปเยอะ หาความเหมาะสมเพียงพอดีไม่ได้สักกะนิด

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ Barry Lyndon ถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง ช็อตนี้นี่ชัดเลย จงใจไม่สาดส่องแสงแค่เบื้องหน้า ทะมึนมืดกับตัวละครด้านหลัง นี่ถ้าไม่เดินเข้ามาทักทาย คงไม่รับรู้หรอกว่าเป็นใคร

ผมค่อนข้างสนใจรูปปั้นชายเปลือยฝั่งขวาเป็นอย่างมาก นั่นอาจเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความสำคัญ วิทยฐานะชนชั้นสูง ซึ่งอยู่ตำแหน่งเคียงข้างขุนนาง (จำชื่อไม่ได้คนนี้)

ช่วงนี้จะเป็นการร้อยเรียงภาพแห่งความสิ้นหวังของ Barry Lyndon
– กับลูกชายและสุนัข นั่งตกปลากลางน้ำแบบเศร้าสร้อย
– ช็อตนี้ นั่งตัวเล็กลีบบนเก้าอี้หรูหรา แต่ภาพพื้นหลังขนาดใหญ่โตมโหฬารคือชนชั้นสูงทางสังคม (พวกเขาก็แค่คนชนชั้นล่างต่ำต้อยด้อยค่า)
– ขี่ม้าเลียบลำธาร ฝั่งตรงข้ามกำลังต้อนฝูงวัว, แม้จะอยู่คนละฟากฝั่ง แต่จิตวิญญาณพวกเขาต่างคือคนชนชั้นเดียวกัน
ฯลฯ

ห้องรับประทานอาหารฉากนี้ แสงสว่างสาดส่องมาทางหน้าต่าง นอกนั้นกลับปกคลุมด้วยความมืดมิด ราวกับว่าบางสิ่งอย่างเลวร้าย/อันตราย กำลังค่อยๆคืบคลานเข้ามา, ซึ่งการที่ Bryan Patrick Lyndon รับรู้ล่วงหน้าถึงของขวัญวันเกิด นั่นคือลางบอกเหตุหายนะอย่างแน่นอน

ระหว่างกำลังโกนหนวดเคราได้ครึ่งหนึ่ง Barry Lyndon รับทราบข่าวลูกชาย Bryan แอบไปขี่ม้าโดยไม่สนฟังคำทัดทานของตนเอง, การกระทำครึ่งๆกลางๆดังกล่าวสะท้อนถึงโอกาสแห่งความสำเร็จที่กำลังหมดสูญสิ้นไป … ถัดจากนี้คือเสียลูก ตำแหน่งขุนนางชนชั้นสูงก็เลิกหวังได้แล้ว ฯ

การตกม้าของเด็กชาย (ตัวแทนความหวัง/จิตวิญญาณของ Barry Lyndon) สามารถสะท้อนถึงความมักใหญ่ใฝ่สูงเกินตัวของ Barry Lyndon ไม่สามารถควบคุมตนเอง ในที่สุดได้รับผลกรรมตอบสนอง

สภาพอันหมดสิ้นหวังของ Barry Lyndon นั่งอย่างละเหี่ยเศร้าสร้อย เฝ้ารอคอยวันเวลาให้ผ่านพ้นไป หมดสิ้นแล้วซึ่งเป้าหมายแห่งชีวิต

สถานที่การดวลปืนระหว่าง Barry Lyndon กับ Lord Bullingdon ดูเหมือนคอกสัตว์ พบเห็นกรงนกพิราบขาว นี่คงเป็นสัญลักษณ์ความตกต่ำของทั้งคู่ ต่างหมดสูญสิ้นอิสรภาพ จึงต้องต่อสู้กันว่าใครจะสามารถเงยหน้าลืมตา หวนกลับคืนสู่ความยิ่งใหญ่ ผู้ดีชนชั้นสูง

Lady Lyndon จับจ้องมองใบเสร็จพร้อมๆการซูมเข้าไปที่ชื่อของอดีตสามี Redmond Barry แม้ใบหน้าไม่แสดงปฏิกิริยา แต่ช่องว่างระหว่างการกระทำ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ากำลังครุ่นคิดมีความรู้สึกเช่นไร

ภาพสุดท้ายของหนังช็อตนี้ (ชวนให้ระลึกถึง The Favorite) ห้องโถงอันกว้างใหญ่กลับมีเพียง 4 คนเท่านั้นอาศัยอยู่ นี่แหละคือสถานที่ของคนชนชั้นสูง แม้เต็มไปด้วยพื้นที่ว่างเปล่า แต่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถจับจองเป็นเจ้าของได้

ตัดต่อโดย Tony Lawson สัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่นๆ อาทิ Straw Dogs (1971), Barry Lyndon (1975), Bad Timing (1980), Castaway (1986), The Witches (1990), The Brave One (2007) ฯ

หนังดำเนินเรื่องผ่านเสียงบรรยาย (โดย Michael Hordern) มุมมองบุคคลที่สาม มักเอ่ยถึงเหตุการณ์/สิ่งเกิดขึ้นต่อไปกับตัวละคร Barry Lyndon ซึ่งปรากฎตัวแทบทุกฉากในหนัง

ความแตกต่างเพียงเล็กน้อยของเสียงบรรยายเล่าเรื่อง เปลี่ยนจากตัวละคร Barry Lyndon มาเป็นบุคคลที่สาม ทำให้มุมมองผู้ชมต่อหนังแตกต่างไปโดยสิ้นเชิง
– เพราะถ้าตัวละคร Barry Lyndon เป็นผู้เล่าเรื่อง จะมีการใส่ความคิดเห็นส่วนตัว เข้าข้างตนเองลงไปด้วยให้ดูดี
– ขณะที่มุมมองบุคคลที่สามจะสามารถวางตัวเป็นกลาง พูดเล่าเฉพาะเหตุการณ์พบเห็น ไม่ใช่จากความครุ่นคิดของตัวละคร

หนังแบ่งออกเป็นครึ่งแรก-ครึ่งหลัง คั่นด้วย Intermission
– Part I: By What Means Redmond Barry Acquired the Style and Title of Barry Lyndon.
– Part II: Containing an Account of the Misfortunes and Disasters Which Befell Barry Lyndon
– Epilogue: It was in the reign of George III that the aforesaid personages lived and quarrelled; good or bad, handsome or ugly, rich or poor, they are all equal now.


สำหรับเพลงประกอบ นำจากบทเพลงคลาสสิกชื่อดังจากคีตกวีก้องโลก และดนตรีพื้นบ้าน Irish Folk Song (จากวง The Chieftains) เพื่อมอบสัมผัสยุคสมัย กลิ่นอาย Baroque และ Classical อาทิ
– Handel: Harpsichord suite in D minor, HWV 437 (IV. Sarabande)
– Frederick the Great: Der Hohenfriedberger
– Mozart: March from Idomeneo
– Vivaldi: Cello Concerto in E minor
– Bach: Concerto for two Harpsichords, Strings, and Continuo in C Minor, BWV 1060 (II. Adagio)
– Schubert: Piano Trio in E-flat, Op. 100 (II. Andante con moto)
– Paisiello: Il barbiere di Siviglia

Sarabande (1733) ของ George Frideric Handel (1685 – 1759) คีตกวีสัญชาติเยอรมัน แต่กลับไปประสบความสำเร็จโด่งดังยังสหราชอาณาจักร, แม้ท่วงทำนองเชื่องช้าแต่หนักแน่นมั่นคงทรงพลัง คอยทำหน้าที่กำหนดโทนอารมณ์ สร้างบรรยากาศคลาสสิก ถือเป็น Main Theme ของหนังเลยก็ว่าได้ ดังขึ้นช่วง Opening/Closing Credit และขณะดวลปืน ช่วงเวลาระหว่างความเป็น-ตาย

ขาดไม่ได้กับผลงานของ Frederick the Great (1712-86, ครองราชย์ 1740-86) กษัตริย์ผู้มีความสามารถโดดเด่นทั้งศาสตร์ศิลป์ ประพันธ์บทเพลง Hohenfriedberger Marsch (1975) เพื่อระลึกถึงยุทธการ Battle of Hohenfriedberg (1745) ในสงคราม Second Silesian War (1744-45)

แซว: บทเพลงนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับสงครามเจ็ดปีเลยนะครับ แถมประพันธ์ขึ้นภายหลังด้วย!

Trio No. 2 in E-flat major for piano, violin, and violoncello, D. 929 (1827) บทเพลงสุดท้ายที่ประพันธ์เสร็จของ Franz Schubert (1797 – 1828) คีตกวีสัญชาติ Austrian, บางสิ่งอย่างอันชั่วร้าย ค่อยๆคืบคลานเข้ามากัดกร่อนกินทำลาย สิ่งดีงามที่อยู่ภายในจิตวิญญาณ

มาฟังบทเพลงพื้นบ้าน Irish Folk Song กันบ้าง Mná na hÉireann แปลว่า Women of Ireland คือบทกวีแต่งโดย Peadar Ó Doirnín (1704–1796), และใส่ท่วงทำนองโดย Seán Ó Riada (1931–1971) ในหนังจะไม่มีคำร้อง ผมนำฉบับแปลมาให้อ่านกัน

There’s a woman in Ireland who’d give me a gem and my fill to drink,
There’s a woman in Ireland to whom my singing is sweeter than the music of strings
There’s a woman in Ireland who would much prefer me leaping
Than laid in the clay and my belly under the sod

There’s a woman in Ireland who’d envy me if I got naught but a kiss
From a woman at a fair, isn’t it strange, and the love I have for them
There’s a woman I’d prefer to a battalion, and a hundred of them whom I will never get
And an ugly, swarthy man with no English has a beautiful girl

There’s a woman who would say that if I walked with her I’d get the gold
And there’s the woman of the shirt whose mien is better than herds of cows
With a woman who would deafen Baile an Mhaoir and the plain of Tyrone
And I see no cure for my disease but to give up the drink

ฉากสู้รบสงคราม ขณะกำลังจัดกระบวนทัพ/เดินสวนสนามออกรบ บทเพลงพื้นบ้าน The British Grenadiers แนว Marching Song ดังขึ้นเพื่อสร้างความฮึกเหิม เป็นพละพลัง รัวกลองราวกับหัวใจตุบๆเต้นไม่หยุด

เรื่องราวชีวิตของ Barry Lyndon คือการเดินทางที่รายล้อมด้วยคำล่อลวง! จากเด็กชายหนุ่มบริสุทธิ์ใสซื่อไร้เดียงสา ถูกหลอกว่าฆาตกรรมคนตายจึงต้องออกจากบ้าน ระหว่างทางโดนดักปล้นหมดทุกสิ่งอย่าง จึงอาสาสมัครทหารพบเห็นการต่อสู้ ความเป็น-ตาย ชีวิตช่างแสนบอบบาง พยายามหลบหนีอีกรอบแต่ถูกฝ่ายพันธมิตรจับกุมตัว แถมบีบบังคับให้แปรพักตร์กลายเป็นสาย แทบไม่มีอะไรดีงามประสบเข้าข้างเลยสักครั้งเดียว

เอาจริงๆไม่มีใครสามารถตัดสินการกระทำของ Barry Lyndon ได้หรอกนะครับว่า เป็นสิ่งดี-ชั่ว ถูก-ผิด ประการใด! เพราะทุกสิ่งอย่างพานผ่านเข้ามาในชีวิตเขา ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ ล้วนหล่อหลอมให้เติบโตขึ้นกลายเป็นคนอสุจริต คิดคดทรยศ คบคนพาล ประกอบอาชีพพนันด้วยกลโกง ใช้วิธีโสมมอะไรไม่รู้ลวงล่อหญิงหม้ายให้แต่งงานกับตน

เป้าหมายความต้องการของ Barry Lyndon ก็เพื่อให้ตนเอง แม่ และบุตรชาย ค้นพบเจอความสุขสบายมั่งคั่งในชีวิต ไม่ต้องดิ้นรนทำอะไรก็สามารถดำรงชีพอยู่ได้!

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Barry Lyndon สามารถสะท้อนได้กับโลกทุกยุคทุกสมัยแม้ปัจจุบัน รอบข้างของเรารายล้อมด้วยคำโป้ปด สิ่งมดเท็จหลอกลวงมากมาย จากโลกทัศนคติครอบครัว ขนบวิถีทางสังคม และบรรดาผู้นำประเทศชาติ ต่างอ้างผลประโยชน์ส่วนรวมแต่แท้จริงกอบโกยสนองตัณหาส่วนตน ใครๆต่างลุ่มหลงจมในภาพมายา เพ้อใฝ่ฝันว่าสักวันจะประสบความสำเร็จสุขสบาย ไม่ต้องดิ้นรนทำอะไรก็สามารถดำรงชีพอยู่ได้

เราสามารถเปรียบเทียบ Barry Lyndon เข้ากับ Stanley Kubrick ได้เช่นกัน, พานผ่านสงครามเจ็ดปี=สงครามโลกครั้งสอง เคยสร้างภาพยนตร์ตั้งมั่นในอุดมการณ์ Spartacus (1960) แต่หลังจากนั้นไม่มีอีกแล้วไร้สาระ ประสบการณ์หล่อหลอมเสี้ยมสั่งสอน ปัจจุบันขณะนั้นทำทุกสิ่งอย่างเพื่อสนองความต้องการ พึงพอใจสูงสุดของตนเอง (ต่อการสร้างภาพยนตร์)

ใจความต่อต้านสงคราม (Anti-Wars) โดดเด่นชัดมากทีเดียวในหนัง ทหารเดินเรียงหน้าเข้าหาห่ากระสุนแบบไม่กลัวตาย นั่นนะหรือเกียรติศักดิ์ศรี วีรชนเพื่อประเทศชาติ โง่งี่เง่าไร้สาระเสียมากกว่า!

หลังสงครามเจ็ดปีสิ้นสุด ติดตามมาด้วยช่วงเวลาของการค้นหาหนอนบ่อนไส้ ส่งสายสืบเข้าล้วงความลับข้อมูล นี่แทบไม่ต่างอะไรกับช่วงเวลาสงครามเย็น เอาตัวรอดมาได้ด้วยการตลบแตลง เล่นพนันด้วยกลโกง เพื่อมิให้อีกฝ่ายจับได้ไล่ทัน

อนาคตถูกเปรียบเทียบแทนสองตัวละคร
– ลูกชายของ Barry Lyndon ตัวแทนแห่งความหวังกลับตกม้าตาย! สูญสิ้นทุกสิ่งอย่างวาดฝันไว้ (นี่แปลว่า เด็กรุ่นใหม่ไร้สิ่งที่คืออนาคตของตนเอง)
– Lord Bullingdon เติบโตขึ้นกลายเป็นเด็กเมื่อวานซืน พร้อมเอาคืนบุคคลที่ฉวยฉกชิง แย่ง ‘สิทธิ์’ สิ่งที่คือของตนเอง ไร้สามัญสำนึกและจิตเมตตา … ไม่ต่างอะไรกับ Barry Lyndon เมื่อตอนยังหนุ่มแน่น พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อตัวตนเอง

สูงสุดกลับคืนสู่สามัญ นั่นคือวัฏจักรวังวนแห่งชีวิต เฉกเช่นเดียวกับการเดินทางของ Barry Lyndon ออกจากบ้านไปไกล ประสบความสำเร็จแค่ไหน สุดท้ายสูญเสียสิ้น และหวนกลับมาตายรังยังจุดเริ่มต้น


ด้วยทุนสร้าง $12.2 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกาได้เพียง $9.1 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $20.2 ล้านเหรียญ ไม่ประสบความสำเร็จดั่งที่ Warner Bros. คาดหวังไว้

แม้เสียงตอบรับตอนออกฉายจะก่ำกึ่ง แต่เรื่องคุณภาพถือว่าการันตี เข้าชิง Oscar 7 สาขา คว้ามา 4 รางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Adapted Screenplay
– Best Cinematography ** คว้ารางวัล
– Best Production Design ** คว้ารางวัล
– Best Costume Design  ** คว้ารางวัล
– Best Original Score ** คว้ารางวัล

เรื่องที่คว้าภาพยนตร์ยอดเยี่ยมคือ One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975) ส่วนตัวถือว่าเหมาะสมกับสถาบันนี้ดี แถมยังเป็นปีที่การแข่งขันรุนแรงมากๆ อีกสามเรื่องคือ Dog Day Afternoon, Nashville และ Jaws ใครชนะถือว่าเหนือกาลเวลาทั้งนั้น

แซว: สามรางวัลของหนังที่พลาด ล้วนเป็นชื่อของ Stanley Kubrick นี่แสดงว่าเขาไม่ถูกโฉลกเท่าไหร่กับ Oscar

สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบสุดในหนังคือการถ่ายภาพ รองลงมาคือความลุ่มลึกของบท โปรดักชั่น เลือกสรรค์บทเพลง และไดเรคชั่นผู้กำกับ Stanley Kubrick แม้เชื่องชาแต่พาให้ดื่มด่ำ พบเห็นความสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ

แนะนำคอหนัง Costume Period อิงประวัติศาสตร์สงครามเจ็ดปี, จิตรกร ช่างภาพ นักดนตรี หลงใหลยุคสมัย Baroque, แฟชั่นดีไซเนอร์ นักออกแบบฉาก, แฟนๆผู้กำกับ Stanley Kubrick และนักแสดงนำ Ryan O’Neal ไม่ควรพลาด

จัดเรต 15+ กับสงคราม ความตาย เล่นพนัน ดวลปืน

คำโปรย | ผู้กำกับ Stanley Kubrick วาดภาพระบายสี Barry Lyndon ออกมางดงามระดับวิจิตรศิลป์
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: