Bashu, the Little Stranger

Bashu, the Little Stranger (1989) Iranian : Bahram Beizai ♥♥♥♥

หนึ่งในภาพยนตร์ได้รับการยกย่อง “Best Iranian Film of all time” เรื่องราวของเด็กชาย Bashu หลบหนีสงคราม Iran–Iraq War (1980-88) จากทางตอนใต้มาถึงบริเวณภาคเหนือ พบเจอกลุ่มชาติพันธุ์ Gilak ที่แม้พูดคุยสื่อสารไม่รู้เรื่อง แต่ผู้ชมจักได้เรียนรู้จักสิ่งเรียกว่ามนุษยธรรม, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

เด็กชายแปลกหน้าพลัดหลงเข้ามาในหมู่บ้าน ทั้งๆที่คนส่วนใหญ่พยายามกีดกัน ผลักไส ไม่ต้องการให้พักอาศัย แต่หญิงสาวคนหนึ่ง แม่ลูกสอง พบเห็นแล้วเกิดความสงสารเห็นใจ แม้พูดคุยสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง กลับอาสารับเลี้ยงดูแล ราวกับลูกในไส้แท้ๆ

แม้หนังจะใช้ชื่อเด็กชาย Bashu แต่แท้จริงแล้วคือเรื่องราวของหญิงสาว/มารดาชื่อว่า Na’i (รับบทโดย Susan Taslimi) ผู้มีพฤติกรรมผิดแผกแตกต่างจาก ‘สตรีในอุดมคติ’ ของชาวอิหร่าน เพราะสามีเดินทางเข้าเมืองไปทำงาน เธอจึงต้องทำทุกสิ่งอย่างด้วยตนเอง ทั้งงานบ้านงานเรือน เลี้ยงดูแลบุตรชาย-สาว ให้อาหารสัตว์ รวมถึงฟาร์มเกษตรกรรม ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นหญิงสาวสู้ชีวิต ไม่สามารถทำตัวสงบเสงี่ยมเรียบร้อยดั่งผ้าพับไว้

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ Bashu, the Little Stranger (1989) ได้รับการยกย่องสรรเสริญจากทั้งผู้ชมและนักวิจารณ์ อีกทั้งวิธีการนำเสนอที่เน้นความเรียบง่าย ดูเป็นธรรมชาติ (Naturalism) สามารถเปิดมุมมองโลกทัศน์แก่ผู้ชมชาวอิหร่าน ในแง่ความเป็นแม่ (Motherhood), เสรีภาพสตรี (Feminist) และสิ่งเรียกว่ามนุษยธรรม (Humanity)

สิ่งน่าเกาหัวก็คือหนังถูกดองไว้ 2-3 ปี สร้างเสร็จตั้งแต่ ค.ศ. 1986 กลับออกฉายครั้งแรก ค.ศ. 1989 สาเหตุเพราะโปรดิวเซอร์มองเรื่องราวอ้างอิงถึง Iran–Iraq War (1980-88) มีความละเอียดอ่อนไหว จึงรอคอยให้สงครามสิ้นสุดลงเสียก่อน … แต่ผมว่าข้ออ้างนี้ฟังไม่ขึ้นสักเท่าไหร่


Bahrām Beyzāêi (เกิดปี 1938), بهرام بیضائی นักเขียน ผู้กำกับภาพยนตร์/ละครเวที เกิดที่ Tehran เป็นบุตรของนักกวีชื่อดัง Ne’matallah Beyzai แต่ตัวเขามีความสนใจด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรม ชอบโดดเรียนไปรับชมภาพยนตร์เป็นประจำ แล้วเริ่มหัดเขียนบทละครตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม, โตขึ้นเข้าศึกษาสาขาวรรณกรรม Tehran University โด่งดังจากการตีพิมพ์บทความวิจัย A Study on Iranian Theatre (1965) เล่าย้อนไปตั้งแต่ยุคสมัย ancient Persian, จากนั้นมีผลงานเขียนบท กำกับละครเวที ประสบความสำเร็จถึงขนาดว่าได้รับการยกย่อง “The Shakespeare of Persia”

ความสนใจของ Beyzai ยังครอบคลุมมาถึงวงการภาพยนตร์ หนึ่งในผู้บุกเบิก Iranian New Wave เริ่มจากสร้างหนังสั้น Uncle Moustache (1969), Safar (1970), ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Downpour (1972), ผลงานเด่นๆอื่น อาทิ Ballad of Tara (1979), Death of Yazdgerd (1981), Bashu, the Little Stranger (1986), Killing Mad Dogs (2001) ฯลฯ

ช่วงระหว่างสงคราม Iran–Iraq War (1980-88) ผู้กำกับ Beizai มีโอกาสเดินทางไปตอนเหนือของอิหร่านอยู่บ่อยครั้ง พบเห็นค่ายผู้อพยพลี้ภัยจากทางตอนใต้ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด เลยเกิดความฉงนสงสัยว่าพวกเขาเหล่านั้นมีการปรับตัว รับรู้สึกเช่นไรต่อสภาพแวดล้อมที่ผิดแผกแตกต่างระหว่างเหนือ-ใต้

ในบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับ Beizai เล่าว่านักแสดงสาวขาประจำ Susan Taslimi ที่เคยร่วมงานมาตั้งแต่ Ballad of Tara (1979) และ Death of Yazdgerd (1982) เสนอแนะโปรเจคเกี่ยวกับการเดินทางของเด็กชาย เลยโน้มน้าวให้เธอช่วยพัฒนาบทหนังขึ้นมา

แต่ถึงอย่างนั้น باشو غریبه کوچک อ่านว่า Bashu, Gharibeye Koochak แปลว่า Bashu, the Little Stranger ไม่ได้นำจากบทของ Taslimi เพราะผู้กำกับ Beizai บอกว่าเธออ้างอิงถึงสงครามมากเกินไป เขาเลยครุ่นคิดพัฒนาเรื่องราวขึ้นใหม่ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบัน Institute for Intellectual Development of Children and Young Adults (IIDCYA)

เกร็ด: สถาบัน IIDCYA เคยอนุมัติทุนสร้างภาพยนตร์ดังๆอย่าง The Traveller (1974), The Runner (1985), Where Is the Friend’s Home? (1987), And Life Goes On (1992), Children of Heaven (1998) ฯ


พื้นหลังช่วงระหว่าง Iran–Iraq War (1980-88), เรื่องราวของ Basho เด็กชายเชื้อสาย Alfo-Iranian หลังสูญเสียครอบครัวจากสงคราม จับพลับจับพลูขึ้นรถบรรทุก เดินทางจากบ้านเกิด Khuzestan มาถึงจังหวัดทางตอนเหนือ Gilan แล้วหลบซ่อนตัวอยู่ในฟาร์มของ Na’i (รับบทโดย Susan Taslimi) หญิงสาวชาติพันธุ์ Gilak

แม้ไม่สามารถพูดคุย สื่อสารคนละภาษา (Bashu พูดภาษา Arabic, Na’i พูดภาษา Gilaki) แถมถูกห้ามปรามจากสมาชิกในหมู่บ้าน แต่ด้วยความสงสารเห็นใจ Na’i เลยให้ความช่วยเหลือเด็กชาย Basho ค่อยๆล่อหลอกจนเขายินยอมเปิดใจ จนสามารถกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว


Susan Taslimi หรือ Soosan Taslimi, سوسن تسلیمی (เกิดปี 1950) นักแสดงสัญชาติ Iranian เกิดที่ Rasht, Gilan ทางตอนเหนือของอิหร่าน (ทำให้สามารถสื่อสารภาษา Gilaki) บิดาเป็นโปรดิวเซอร์/ผู้จัดการกองถ่าย มารดาคือนักแสดง พี่ชายก็ทำงานวงการบันเทิง แน่นอนว่าน้องสาวก็ต้องดำเนินตามรอย เข้าเรียนการแสดงยัง University of Tehran จากนั้นมีผลงานละครเวที ได้รับการชักชวนสู่วงการภาพยนตร์โดย Bahram Bayzai แจ้งเกิดกับ Ballad of Tara (1979), Death of Yazdgerd (1982) และ Bashu, the Little Stranger (1989)

รับบท Na’i หญิงสาวชาว Gilak หลังจากสามีเดินทางเข้าเมืองไปทำงาน เธอจึงต้องทำทุกสิ่งอย่างด้วยตนเอง ทั้งงานบ้านงานเรือน เลี้ยงดูแลบุตรชาย-สาว ให้อาหารสัตว์ รวมถึงฟาร์มเกษตรกรรม กระทั่งวันหนึ่งพบเห็นเด็กชายแปลกหน้า ทีแรกๆก็กลัวๆกล้าๆ แล้วครุ่นคิดแผนการล่อหลอกด้วยการวางอาหาร น้ำดื่ม และโคมไฟกักขังในคอกสัตว์ จากนั้นพยายามพูดคุยสื่อสาร แต่ก็ค้นพบว่าอีกฝ่ายไม่สามารถทำความเข้าใจ ถึงอย่างนั้นด้วยความเป็นห่วงเป็นใย เลยอาสารับเลี้ยงดูแล โดยไม่สนคำห้ามปรามของผู้อื่นใด

พฤติกรรมแปลกๆ ส่งเสียงแคว้กๆ วิ่งขับไล่นกกา นั่นแอบสร้างความตกอกตกใจให้ผมอย่างมากๆ เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่สตรีชาวอิหร่านสามารถแสดงออกมา (คนที่ไม่ค่อยรับชมหนังอิหร่าน อาจไม่ตระหนักถึงประเด็นนี้) แต่ในสายตาชาวโลกคงไม่รู้สึกผิดแผกแปลกอะไร จะไปชื่นชมในการแสดงที่เป็นธรรมชาติ ด้วยบุคลิกภาพหญิงแกร่ง จิตใจอันเข้มแข็ง สามารถถ่ายทอดสัมผัสมนุษยธรรมออกมาได้อย่างงดงาม ซาบซึ้ง น้ำตาไหลพรากๆ

หลังเสร็จจากถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ เห็นว่า Taslimi ถูกตำรวจควบคุมตัว กักบริเวณอยู่หลายปี (อาจเพราะการแสดงที่มากเกินบรรทัดฐานสังคม) จนเมื่อได้รับการปล่อยตัวเลยตัดสินใจอพยพย้ายสู่ Sweden กลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์/ละครเวที มีผลงานแสดงบ้างประปราย อาจไม่โด่งดังเทียบเท่าตอนอยู่ Iran แต่ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร


สำหรับ Bashu แม้มีความเฉลียวฉลาด เก่งการเรื่องดนตรี แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายจะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ เพราะพูดคุยกับใครไม่รู้เรื่อง แถมตนเองยังประสบปัญหา Post-traumatic stress disorder (PTSD) พบเห็นภาพมารดา ญาติพี่น้อง หวาดกลัวเสียงระเบิด กระสุนปืน ทั้งๆก็แค่แร้งกาบินโฉบเฉี่ยวในฟาร์ม

แต่ไม่นาน Bashu ก็ค่อยๆปรับตัว เรียนรู้ภาษาสื่อสาร แสดงความเฉลียวฉลาด ให้ความช่วยเหลือ Na’i จนได้รับการยินยอมรับ รวมถึงจากสามีของเธอ กลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว และสามารถเอาชนะปม PTSD ที่ติดค้างคาใจได้สำเร็จ

รับบทโดย Adnan Afravian, عدنان عفراویان เด็กกำพร้าที่หลบหนีสงครามมาจาก Lashkar Abad, Ahvaz แต่ชื่อเสียงความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ได้ทำให้ชีวิตมีอะไรดีขึ้น เพียงบุคคลถูกทอดทิ้ง (เลวร้ายกว่า Bashu เสียอีกกระมัง) มีนักข่าวไปพบเจอเป็นพ่อค้าร้านขายของชำ บุหรี่ ซีดี ไม่ได้มีอนาคตสักเท่าไหร่

Like many teenagers who appeared in the cinema for the first time and created a masterpiece and then were abandoned and alone, I was depressed and confused for a while.

Adnan Afravian ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Asr-e Maa, عصر ما, (แปลว่า Our Times)

ถ่ายภาพโดย Firooz Malekzadeh (เกิดปี 1945), فیروز ملک‌زاده ตากล้องสัญชาติ Iranian เคยร่วมงานผู้กำกับ Bahram Beyzai เมื่อครั้นถ่ายทำหนังสั้น Safar (1972), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Traveler (1974), Stranger and the Fog (1976), The Runner (1984), The Mare (1986), Bashu, the Little Stranger (1989) ฯลฯ

งานภาพของหนังไม่ได้มีลูกเล่นจัดจ้านเหมือน Downpour (1972) แต่เน้นความเรียบง่าย มอบสัมผัสธรรมชาติ (Naturalism) ด้วยแนวคิดของ Neorealist ถ่ายทำยังสถานที่จริง Gilan ทางตอนเหนือติดทะเล Caspian Sea ใช้เพียงแสงธรรมชาติ และนักแสดงสมัครเล่น (ยกเว้นเพียงนักแสดงนำ Susan Taslimi)

คล้ายๆแบบ Downpour (1972) ด้วยทุนสร้างจำกัด ทำให้หนังมีทีมงานอยู่เพียงหยิบมือ อย่างผู้กำกับ Beizai เหมารวมเครดิต Production Design, Costume Design และทุกยามเย็นก็จะต้องมาตัดต่อหนัง ตรวจดูฟุตเทจถ่ายทำใช้งานได้หรือเปล่า


เพราะหนังไม่ได้มีงบประมาณมากมาย จึงใช้ภาพพื้นหลัง Opening Credit บอกใบ้การมาถึงของเครื่องบินรบ บุกเข้ามาโจมตี Khuzestan ทิ้งระเบิดใส่บ้านพักอาศัย ร้องเรียงภาพการระเบิด ฝุ่นควันฟุ้งกระจาย (นี่คือลักษณะหนึ่งของกวีภาพยนตร์) รวมถึงแทรกภาพเหตุการณ์ที่ผู้ชมจะไปตระหนักรับรู้เอาภายหลังเมื่อตอนฉายภาพย้อนอดีตของเด็กชาย Bashu

สังเกตว่าหนังทั้งเรื่องไม่มีการพูดกล่าวถึงอะไรใดๆเกี่ยวกับสงคราม Iran–Iraq War (1980-88) เพียงฉายภาพระเบิดตูมตาม แต่ผู้ชมชาวอิหร่าน(และอิรัก)สมัยนั้น ย่อมสามารถตระหนักรับรู้ได้โดยทันที

ช็อตที่ถือเป็น ‘Iconic’ ของหนัง ภาพแรกของ Na’i แทนที่จะสวมฮิญาบแบบผู้หญิงปกติทั่วไป กลับมีลักษณะดึงไปทางซ้ายและดึงไปขวา เหมือนการละเล่นชักกะเย่อ ซึ่งสามารถสื่อถึงความเป็นบุคคลอยู่ตำแหน่งกึ่งกลาง (คนกลาง) ไม่คล้อยตามความคิดเห็นฝั่งฝ่ายใด กระทำสิ่งต่างๆด้วยวิถีทางของตนเอง

สิ่งที่พบเห็นบ่อยครั้งในหนังคือภาพสรรพสัตว์ ไก่ สุนัข หมูป่า นกกา ฯลฯ ซึ่งมักมีการนำมาเปรียบเทียบคู่ขนานกับมนุษย์ ยกตัวอย่าง

  • โปรยอาหารสัตว์ ไม่ต่างจากทำอาหารให้เด็กๆรับประทาน
  • Na’i บ่อยครั้งพบเห็นพยายามส่งเสียงขับไข่นกกา (เพราะมันบุกรุกเข้ามาทำลายฟาร์มเกษตร) = Bashu หลงครุ่นคิดว่าคือเครื่องบินทิ้งระเบิด

อีกสิ่งหนึ่งที่ปรากฎพบเห็นอย่างบ่อย คือหญิงสาวสวมชุดดำ (มารดา) รวมถึงชายตัวดำ (บิดา) และเด็กหญิงอีกคน (น้องสาว?) แต่กลับไม่มีใครอื่นเหมือนจะมองเห็นนอกจาก Bashu เพราะนั่นนี่คืออาการภาพหลอน ผลกระทบทางจิตใจจากความสูญเสีย มีชื่อเรียก Shell Shock หรือชื่อเรียกทางการแพทย์ PTSD (Post-traumatic stress disorder)

  • Bashu มาจากทางตอนใต้ของอิหร่านพูดภาษา Arabic
  • Na’i และสมาชิกหมู่บ้านแห่งนี้เป็นคนทางตอนเหนือพูดภาษาถิ่น Gilaki
  • ส่วนภาษากลางที่มีการสอนในโรงเรียนคือ Persian หรือ Farsi

ด้วยเหตุนี้เด็กชาย Bashu จึงสามารถอ่านข้อความจากหนังสือ (เป็นภาษา Persian) และทำให้สามารถสื่อสารกับใครต่อใคร … แต่ผมก็แอบแปลกใจว่าทำไม Bashu ถึงไม่พูดภาษากลางตั้งแต่แรก?

ระหว่าง Na’i เดินทางมาขายของที่ตลาด ปล่อยให้ Bashu เดินเตร็ดเตร่จนพบเห็นโปสเตอร์ภาพยนตร์ น่าจะเรื่อง Harakiri (1962) นำเสนอพิธีกรรมคว้านท้อง ‘Seppuku’ ฆ่าตัวตายของซามูไรญี่ปุ่น แต่ผมยังครุ่นคิดไม่ออกว่าต้องการแฝงนัยยะอะไร?

เมื่อครั้น Na’i ล้มป่วยหนัก ไม่มีใครในหมู่บ้านยินยอมให้ความช่วยเหลือ Bashu เลยทำพิธีไล่ผีชื่อว่า Zār ตามวิถีความเชื่อของชาว African (สืบสานต่อมายังผู้อพยพตั้งถิ่นฐานยังอิหร่าน) ด้วยการตีกลองร้องป่าว ใช้กระจกส่องไล่วิญญาณชั่วร้าย ให้โบยบินออกไปจากร่าง(พร้อมกับนกสีขาว)

แม้ในตอนแรกสามีของ Na’i จะปฏิเสธเด็กชายเสียงขันแข็ง แต่เขาก็ตระหนักถึงตนเองที่ไม่สามารถเป็นเสาหลักครอบครัวอีกต่อไป แถมเมื่อ Bashu พูดขอจับมือ ถึงพบเห็นว่าอีกฝ่ายได้สูญเสียแขนข้างหนึ่ง (ผลกระทบจากสงคราม) เลยเปลี่ยนเป็นโถมเข้ามาโอบกอด บังเกิดความเข้าใจกันและกันโดยไม่ต้องเอ่ยคำอธิบายใดๆ

หลายคนน่าจะตระหนักได้ว่าสามีของ Na’i ก็มีลักษณะอาการ Shell Shock ไม่ต่างจาก Bashu สังเกตจากสีหน้าเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ราวกับชีวิตได้พานผ่านเหตุการณ์ร้ายๆมามาก ยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับวิถีปกติ

ก่อนหน้านี้ผมเคยอธิบายไปแล้วว่า Bashu เคยหลงเข้าใจผิด (จากอาการ PTSD) ครุ่นคิดว่านกกาคือเครื่องบินทิ้งระเบิด ซึ่งภาพสุดท้ายของหนัง หลังจากทุกคนสามารถยินยอมรับ กลายเป็นครอบครัวเดียวกัน ต่างร่วมส่งเสียงขับไล่นกกาเหล่านี้ ก็แฝงนัยยะอย่างชัดเจนถึงแนวคิดต่อต้านสงคราม (Anti-Wars) ขับไล่ศัตรูผู้มารุกรานผืนแผ่นดินของเรา

ตัดต่อโดย Bahram Beizai,

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองสายตาของ Bashu เริ่มจากพบเห็นบ้านเกิด Khuzestan ถูกระเบิดพังย่อยยับ พยายามวิ่งหลบหนี แอบขึ้นรถบรรทุก พอตื่นขึ้นพบว่ามาถึงยังสถานที่ไม่มักคุ้น แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจาก Na’i จนสามารถลงหลักปักฐาน ปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตใหม่

  • อารัมบท, การเดินทางของ Bashu
    • พบเห็นบ้านเกิด Khuzestan ถูกระเบิดพังย่อยยับ
    • แอบขึ้นรถบรรทุก เดินทางพานผ่านสถานที่ต่างๆ จนมาถึงจังหวัดทางตอนเหนือ Gilan
  • Bashu, the Little Stranger
    • Na’i ครุ่นคิดหาวิธีการล่อหลอก/สานสัมพันธ์กับเด็กชายแปลกหน้า
    • Bashu พยายามอธิบายที่มาที่ไป (พร้อมภาพ Flashback) แต่ไม่สามารถสื่อสารทำความเข้าใจ
    • ชาวบ้านมารวมตัวที่บ้านของ Na’i แสดงความคิดเห็นไม่ยินยอมรับเด็กชายคนนี้
    • Bashu ล้มป่วย Na’i พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือ
    • พาไปอาบน้ำ แต่ Bashu ดันหวาดกลัวเสียงนกร้อง
    • ถูกเด็กๆในหมู่บ้านกลั่นแกล้ง แต่เขาสามารถอ่านข้อความในหนังสือ
  • การปรับตัวของ Bashu
    • Na’i นำพา Bashu มายังตลาดขายของ
    • Bashu และเด็กๆร้อง-เล่น-เต้น
    • Na’i ล้มป่วยหนัก Bashu พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือ
    • สามีของ Na’i เดินทางกลับมา ทีแรกก็ไม่อยากยินยอมรับ Bashu แต่ทำได้แค่ทอดถอนหายใจ

แม้ลีลาการตัดต่ออาจไม่ได้มีความหวือหวาเมื่อเทียบกับ Downpour (1972) แต่ยังต้องชมว่ามีการลำดับเรื่องราวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ที่ผมชอบมากๆก็คือขณะ Na’i วางอาหาร น้ำดื่ม และโคมไฟ ล่อหลอกให้ Bashu คลายความหวาดกลัว ค่อยๆยินยอมเข้าใกล้บ้านพัก ลักษณะดังกล่าวมอบสัมผัสกวีภาพยนตร์

หนังไม่มีเครดิตเพลงประกอบ แต่ที่ได้ยินจากตอน Opening Credit และเด็กชาย Bashu ขับร้อง-เล่น-เต้น ล้วนเป็นบทเพลงท้องถิ่น นำเสนอในลักษณะ ‘Diegetic music’ เกิดจากการเป่าขลุ่ย ตีกลองร้องป่าว ประสานเสียงอะแคปเปลลา (A cappella) ใช้อุปกรณ์ตามมีตามเกิดเคาะประกอบจังหวะ อาจยกเว้น Closing Credit บรรเลงด้วยเครื่องสาย Tār (تار‎) แต่ก็ไม่รู้บทเพลงของศิลปินใด


มองอย่างผิวเผิน Bashu, the Little Stranger (1989) นำเสนอเรื่องราวมนุษยธรรมของหญิงสาว ให้ความช่วยเหลือเด็กชายแปลกหน้า ทั้งๆไม่รับรู้จัก ไม่สามารถพูดคุยสื่อสาร ถูกใครอื่นปฏิเสธต่อต้าน แต่เธอกลับยังให้การเลี้ยงดูแล รักและเอ็นดู ไม่ต่างจากลูกในไส้แท้ๆ

แต่เนื้อหาที่ซ่อนเร้นมีอยู่หลากหลายประเด็น เริ่มจากมุมมองผู้หญิง (Feminist) พฤติกรรมแสดงออกของ Na’i ถือว่าผิดแผกแตกต่างจาก ‘สตรีในอุดมคติ’ ของชาวอิหร่านที่ควรหลบซ่อนตัวอยู่ภายใต้ฮิญาบ ไม่ควรมีสิทธิ์เสียง แสดงความครุ่นคิดเห็น ต้องศิโรราบอยู่แทบเท้าบุรุษ แต่เมื่อสามีเดินทางเข้าเมืองไปทำงาน หลงเหลือเพียงตัวคนเดียว จึงไม่สามารถยึดถือมั่นขนบประเพณี วิถีทางสังคมได้อีกต่อไป

เหตุผลหนึ่งที่ Na’i ตัดสินใจรับเลี้ยงดูแล Bashu ก็เพราะสันชาตญาณเพศแม่ (Motherhood) จากการที่เธอมีบุตรชาย-สาว เมื่อพบเห็นเด็กชายแปลกหน้า เลยเกิดความรู้สึกสงสาร เห็นอกเห็นใจ ใคร่ฉงนสงสัย บ้านอยู่ไหน? พ่อ-แม่เป็นใคร? เลยตัดสินใจให้ความช่วยเหลือ เอ็นดูเหมือนลูกในไส้แท้ๆ

ประเด็นถือเป็นลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Beizai คือการนำเสนอสภาพสังคมเต็มไปด้วยบุคคลโคตรเห็นแก่ตัว (สะท้อนถึงธาตุแท้ตัวตนของชาวอิหร่านอย่างตรงไปตรงมา) คล้ายๆ Downpour (1971) ที่ใครต่อใครต่างพยายามผลักไสภาระรับผิดชอบ ทำไมฉันต้องยุ่งวุ่นวายกับสิ่งไม่ได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อตนเอง เลยมีแต่คนต้องการขับไล่ Bashu เด็กคนนี้ทำผิดอะไร? แถมพอรับรู้ว่าอีกฝ่ายรับฟังไม่เข้าใจ ก็เลยพูดบอกออกมาต่อหน้าตรงนั้น อย่างไร้ซึ่งความยางอาย

เด็กชาย Bashu บ่อยครั้งพบเห็นภาพหลอน หวนระลึก/ฝันถึงความตายครอบครัว ทำให้เกิดอาการหวาดกลัวตัวสั่น นั่นคือ Shell Shock หรือชื่อเรียกทางการแพทย์ PTSD (Post-traumatic stress disorder) นี่เคลือบแฝงนัยยะต่อต้านสงคราม (Anti-Wars) ผ่านผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเยาวชน ทั้งต่อร่างกาย (สูญเสียครอบครัว/ญาติพี่น้อง) และสภาพจิตใจ (อาการ Shell Shock/PTSD)

ผมมองความตั้งใจของผู้กำกับ Beizai ต้องการนำเสนอการปรับตัวเข้าสู่สภาพแวดล้อมใหม่ นี่ไม่ใช่แค่ชาวใต้ที่อพยพลี้ภัยหนีสงคราม Iran–Iraq War (1980-88) สู่ภาคเหนือเท่านั้นนะครับ แต่สามารถเหมารวมถึงสภาพสังคม/วิถีชีวิตชาวอิหร่านในช่วงการเปลี่ยนผ่าน Iranian Revolution (1978-79) จากอิหร่านปาห์ลาวี (Imperial State of Iran หรือ Pahlavi Iran) เมื่อสามารถโค่นล้มสมเด็จพระเจ้าชาห์ เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน (Islamic Republic of Iran)

แน่นอนว่าผู้กำกับ Beizai ก็เต็มไปด้วยปัญหากับการปรับตัวในช่วงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง เพราะหลายๆเหตุการณ์ติดตามมาอย่าง Iran Cultural Revolution (1980-83) รวมถึงสงคราม Iran–Iraq War (1980-88) ล้วนทำให้เขาค่อยๆสูญเสียความเชื่อมั่นต่อสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน (Islamic Republic of Iran) ที่ว่ากันตามตรงอาจจะเลวร้ายยิ่งกว่าเก่าก่อนเสียอีก

และเรื่องราวของหนังที่เต็มไปด้วยการขับไล่โน่นนี่นั่น ทั้งเด็กชาย (เกษตรกรขับไล่)นกกา รวมถึงวิญญาณชั่วร้าย(เมื่อตอน Na’i ล้มป่วยหนัก) ซึ่งยังสามารถเหมารวมถึง Iraq บุกรุกราน Iran ในสงคราม Iran–Iraq War (1980-88) แต่นี่ไม่ได้หมายถึงผู้กำกับ Beizai ให้การสนับสนุนสงครามนะครับ อย่างที่อธิบายไปแล้วหนังว่าเคลือบแฝงนัยยะต่อต้านสงคราม (Anti-Wars) ด้วยการนำเสนอผลกระทบทั้งทางตรง-ทางอ้อม แนวหน้าสนามรบ-ดินแดนห่างไกล ร่างกาย-จิตใจ และไม่ใช่แค่ปัจจุบัน แต่ยังส่งต่อถึงลูกหลานในอนาคต


หลังจากถูกดองในโถหมักไว้หลายปี ในที่สุดก็ได้ปฐมฤกษ์เข้าฉายช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1989 ยังเทศกาลหนัง Fajr Film Festival พร้อมเสียงตอบรับดีล้นหลาม มียอดจำหน่ายตั๋วในอิหร่านสูงกว่า 773,000+ ใบ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม

แซว: ว่ากันว่าเมื่อเข้าฉายในฝรั่งเศส โรงภาพยนตร์ต้องมีการแจกแถมผ้าเช็ดหน้า ทั้งๆไม่ใช่หนังแนว Tearjearker แต่ผู้ชมล้วนเต็มไปด้วยคราบน้ำตา

ส่วนตัวชื่นชอบหนังระดับหนึ่ง ประทับใจวิธีนำเสนออันเรียบง่าย มอบสัมผัสธรรมชาติ (Naturalism) ถือเป็นโคตรๆผลงานทรงคุณค่าต่อมวลมนุษยชาติ แต่น่าแปลกใจพอสมควรที่ไม่ได้รับการกล่าวถึงสักเท่าไหร่ อาจเพราะไม่เคยคว้ารางวัลระดับนานาชาติใดๆ และมีความจำเพาะเจาะจงในชาติพันธุ์เกินไป กระมังนะ!

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” นี่คือภาพยนตร์ที่จะทำให้ผู้ชมพบเรียนรู้จักสิ่งเรียกว่ามนุษยธรรม ไม่จำเป็นว่าต้องเด็ก คนพิการ หรือผู้ยากไร้ แม้แต่สัตว์เลี้ยง เพื่อนร่วมโลกใบนี้ ถ้ามีโอกาสเราก็ควรให้ความช่วยเหลือ เอื้อเฝื้อเผื่อแผ่ ด้วยน้ำใจไมตรี เมตตากรุณาปราณี ไม่ต้องไปรับฟังเสียงเห่าหอนของผู้อื่นใด อะไรทำแล้วรู้สึกเป็นสุขใจ นั่นคือบุญบารมีที่เราควรสะสมเอาไว้

จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย

คำโปรย | Bashu, the Little Stranger คือภาพยนตร์ที่จะทำให้ผู้ชมเรียนรู้จักสิ่งเรียกว่ามนุษยธรรม
คุณภาพ | นุ
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: