Batch ’81 (1982) : Mike De Leon ♥♥♥♥
สิ่งที่ผมมองเห็นในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือกิจกรรมรับน้องใหม่ของชมรม Alpha Kappa Omega ใช้จิตวิทยาเพื่อสร้างความเครียดกดดัน ด้วยการกลั่นแกล้งรุนแรงสารพัด (แรงกว่าพี่ว๊ากประมาณสิบเท่า) ทนไม่ได้ก็ลาออกไป แต่ถ้าอยู่ร่วมกันจนถึงกิจกรรมสุดท้าย ก็จักได้รับความประทับใจไม่รู้ลืม
แต่หลังจากผมอ่านหลายๆบทความวิจารณ์ต่างประเทศ ถึงได้เพิ่งพบเห็นอีกมุมมองหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้ ความตั้งใจของผู้กำกับ Mike De Leon ต้องการต่อต้านแนวคิดระบอบ Fascist ที่ขณะนั้นประเทศฟิลิปปินส์อยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำจอมเผด็จการ Ferdinand Marcos กล่าวคือไม่ยอมรับ ไม่เห็นด้วยต่อกิจกรรมรับน้อง ที่มีความเพี้ยนบ้าคลั่งเสียสติแตกลักษณะนี้!
ตอนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผมเป็นหนึ่งในไม่กี่สิบจากพันที่เข้าห้องเชียร์ครบทุกครั้ง (เคย)ร้องได้ทุกเพลง แต่นั่นเพราะรับรู้ว่ากิจกรรมนี้มันก็แค่การเสแสร้งแกล้งทำ มิได้สร้างความเครียดกดดันขี้เยี่ยวเร็ดราดจนทนรับไม่ได้ ว่าไปตัวเองก็ถูกแนวคิดของระบอบ SOTUS ครอบงำกดหัวอยู่ รับชมหนังเรื่องนี้จึงเห็นแจ้งในทุกกระบวนการ เข้าใจสัมผัสได้ถึงอารมณ์ตอนจบของพระเอก ไม่รู้สึกสักนิดว่าการกระทำเหล่านี้มันความเลวชั่วร้าย ป่าเถื่อน บ้าคลั่งเสียสติแตกตรงไหน
แต่ผมก็เข้าใจในมุมของคนนอก พ่อ-แม่ สามัญชนทั่วไป ไอ้กิจกรรมที่ดูผิดแปลกวิปลาสพวกนี้ มันเลวทรามต่ำช้า ไร้สาระประโยชน์ ยอมกันได้ที่ไหนมาทำร้ายร่างกาย ใช้ความรุนแรง แถมยังเสี้ยมสอนปลูกฝังแนวคิดทัศนคติความเชื่อผิดๆอีก
เหรียญมีสองด้าน โลกมีสองขั้วซ้าย-ขวา เรื่องพรรค์นี้เถียงให้ตายก็ไม่ได้ข้อสรุปฝั่งไหนถูกผิด แต่ผมจะพยายามนำเสนอแนวคิดของภาพยนตร์เรื่องนี้ทั้งสองมุมมอง อยู่ที่ว่าคุณจะเห็นเข้าใจอะไรฝั่งไหน เลือกเองแล้วกัน
Miguel Pamintuan de Leon (เกิดปี 1947) ผู้กำกับ นักเขียน ตากล้องสัญชาติ Filipino เกิดที่ Manila ครอบครัวเป็นเจ้าของสตูดิโอ LVN Pictures ทำให้ตั้งแต่เด็กวิ่งเล่นรู้จักแทบทุกคนในกองถ่าย โตขึ้นไปเรียนการถ่ายภาพที่เยอรมัน ต่อด้วยสหรัฐอเมริกา กลับมาตั้งบริษัท CineManila แลปล้างฟีล์ม และรับถ่ายภาพ โดยได้เป็นตากล้อง Maynila: Sa mga Kuko ng Liwanag (1975) ของผู้กำกับ Lino Brocka, กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Itim (1976) แนว Psychological Drama, ผลงานเด่นๆ อาทิ Kung Mangarap Ka’t Magising (1977), Kakabakaba Ka Ba? (1980), Kisapmata (1981), Batch ’81 (1982), Sister Stella L (1984), Hindi Nahahati ang Langit (1985) ฯ
สไตล์ความสนใจของ Leon จำกัดอยู่กับเรื่องความรุนแรง, ปัญหาสังคม, ความรักในครอบครัว Incest (แต่จะไม่มี Sex Scene โจ๋งครึ่งในหนัง) ฯ โดยมักให้ตัวละครได้รับความท้าทายทางจิตวิทยา บีบคั้นจนถึงขีดสุดเกินรับได้ เมื่อเอาชนะก้าวผ่านมาแล้วก็จะมีบางสิ่งอย่างเฝ้ารอคอยอยู่
จุดเริ่มต้นของ Batch ’81 เกิดจากโปรดิวเซอร์ Marichu Maceda ต้องการให้ Mike de Leon สร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับวัยรุ่น (Youth Film) ที่มีพื้นหลังในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศฟิลิปปินส์ขณะนั้น (คงเป็นแนวรักๆใคร่ๆ โรแมนติกกุ๊กกิ๊ก) ด้วยความหัวขบถเล็กๆของผู้กำกับ ยอมตกลงสร้างหนังที่มีพื้นหลังเป็นวัยรุ่น-เรียนมหาวิทยาลัย แต่ขอเลือกสำรวจมุมมองที่ต่างออกไป นั่นคือการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม/ชมรม (Fraternity เรียกย่อๆว่า Frat)
นั่นทำให้ Maceda นึกถึงเหตุการณ์ของลูกชายคนที่ 4 เล่าให้ฟังว่า ปกติเขาจะใส่กางเกงขาสั้นเข้านอน แต่วันหนึ่งกลับสวมขายาว แค่ครั้งเดียวคงไม่อะไรหรอก คืนสอง-สาม-สี่ เอะ! นี่มันผิดปกติแล้วนะ เข้าไปพูดคุยสอบถาม บังคับให้ถอดกางเกง ค้นพบรอยฟกช้ำดำเขียว ซักจนได้คำตอบว่า เกิดจากการเข้ารวมกลุ่มๆหนึ่งนอกโรงเรียน
“Okay, you get out of that frat immediately tomorrow because if you don’t I will personally go to that frat house of yours. If they have no place or no house, I will go to where they meet and then I will give them hell. So you better do it yourself.”
ร่วมพัฒนาเขียนบทกับ Clodualdo del Mundo และ Raquel Villavicencio ตอนแรกทั้งคู่ต่างเกาหัว Mike de Leon เนี่ยนะจะทำหนังวัยรุ่น แต่เมื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความเข้าใจกันไปสักพัก ถึงเริ่มกระจ่างแจ้ง
“Let’s do it like we’re questioning if the present educational system is relevant to real life.”
Mike de Leon เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า ตอนสมัยเรียนไม่เคยเข้าร่วมกลุ่ม/ชมรมใดๆ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องจำเป็นนักในการพัฒนาสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะหลายๆอย่างมันเกิดขึ้นได้เองในบริบทสถานการณ์นั้นๆ เช่น วันเกิดเพื่อนมีเบียร์กระป๋องเดียว ก็ต้องแบ่งกันกัน, มีคนพยายามออกจากกลุ่ม เลยต้องถูกทรมานช็อตไฟฟ้า ฯ
“It’s true I was never a member of any frat, or any club in school for that matter, but I don’t think that was really important. The scenes sort of created themselves and it really didn’t matter to me whether they looked like real frat situations or not. I didn’t know any better, so that sort of gave me the freedom to do what I felt was right in every frat or hazing scene”.
เรื่องราวของ Sid Lucero (รับบทโดย Mark Gil) นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ด้วยความเบื่อหน่ายในชีวิตและการเรียน ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมกลุ่ม Alpha Kappa Omega ที่คาดคิดว่าคงมอบอะไรใหม่ๆให้กับชีวิต แต่ก่อนจะได้เป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ ต้องเข้าทดสอบศักยภาพจากรุ่นพี่ในระยะเวลา 6 เดือน กระนั้นแค่ด่านหนึ่งและสอง ก็มีคนลาออกไปเกินกว่าครึ่ง เพราะคำสั่งที่ถูกบีบบังคับให้ทำนั้น มันมากเกินกว่าคนทั่วไปจะยินยอมรับทนทานได้ไหว
นำแสดงโดย Mark Gil ชื่อจริง Raphael John ‘Ralph’ Gil Eigenmann (1961 – 2014) เกิดที่ Manila ในครอบครัวนักแสดงที่ได้รับความนับหน้าถือตาในวงการ ทำให้ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น โตขึ้นเริ่มมีผลงานการแสดงตั้งแต่อายุ 17 ผลงานเด่น อาทิ Palipat-lipat, papalit-palit (1982), Zuma (1985), Magnifico (2003), Philippino Story (2013) ฯ
Sid Lucero ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการเข้าร่วมกลุ่ม Alpha Kappa Omega จะเกิดประโยชน์อะไรต่อตนเอง แต่ก็ยินยอมปิดหูปิดตาเชื่อฟัง อดรนทนการถูกกดขี่ข่มเหง กลั่นแกล้งสารพัดเพจากรุ่นพี่ นั่นเพราะเขาต้องการรับรู้ให้ได้ว่า ณ ดินแดนปลายทางแห่งนั้นมีอะไรรอคอยอยู่ ซึ่งวินาทีที่ได้พบเจอก็เกิดความซาบซึ้งประทับใจล้นพ้น อารมณ์สุดยิ่งใหญ่มิมีสิ่งใดเสมอเหมือน
ในความตั้งใจแรกสุดของโปรดิวเซอร์ ต้องการคัดเลือกนักแสดงหน้าใหม่ทั้งหมด เพื่อแจ้งเกิดป้อนเข้าสู่วงการ แต่ระหว่างพัฒนาบทไปเรื่อยๆก็เริ่มรับรู้ว่า ตัวละครนี้ต้องใช้นักแสดงที่พอมีชื่อ ฝากฝีมือไว้บ้างแล้ว ถึงสามารถแบกรับหนังทั้งเรื่องได้ ก็มาลงเอยที่ Mark Gil หนุ่มหล่อผู้มี Charisma มุ่งมั่นหนักแน่น เข็มแข็งลูกผู้ชาย เมื่อไว้หนวดก็ดูดี (สะท้อนความดื้อรั้นของตัวละคร) รอยยิ้มมีเสน่ห์สาวๆหลงใหล ก็เหลือเพียงความกล้าบ้าบิ่น ซึ่งระหว่างร่วมงานได้ยินว่าไม่เป็นสองรองใคร
ถ่ายภาพโดย Rody Lacap ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติ Filipino, โดดเด่นอย่างยิ่งกับการจัดแสงเงา เพราะส่วนใหญ่ถ่ายทำฉากภายในห้อง มีความมืดมิดเป็นที่ตั้ง (ถือว่ามีกลิ่นอาย หนังนัวร์พอสมควร) และการใช้มุมกล้อง ทั้งก้ม-เงย เพื่อสร้างสัมผัสทางอารมณ์บางอย่างให้กับผู้ชม
การปิดตาไม่ให้มองเห็น ตีความเป็นเชิงสัญลักษณ์คือการปกปิดความจริง ซึ่งในฉากแก้ผ้าจะมีเสียงสาวๆกรี๊ดกันเจี๊ยวจ๊าว ความเป็นจริงไม่มีผู้หญิงสักคน แต่จินตนาการทำให้หลายคนมีปฏิกิริยาเพ้อไปไกล, นี่สะท้อนถึงสิ่งที่รัฐบาลเผด็จการพยายามสร้างภาพให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด คิดว่ามีอะไรเกิดขึ้น ทั้งๆที่ก็แค่ลมปาก ไม่มีอะไรสักอย่าง
รับน้องสมัยก่อนกับเบียร์นรก น้ำนรก ที่เห็นในหนังนี่กระจอกงอกง่อยมาก ที่ผมเคยโดนมาคือ เพื่อนคนหนึ่งรับไม่ได้ ดื่มเสร็จอ๊วกใส่แก้ว แล้วรุ่นพี่แม้งให้คนถัดไปดื่มทั้งอ๊วกนั้น ก็ชิบหายรอบวงละครับ มองหน้ากันแทบไม่ติด, ความหมายของกิจกรรมนี้ เพื่อนกันจะรังเกียจน้ำลายกันได้ไง (ทีกับแฟน/ภรรยานะ ลิ้นรัวเลียดื่มกินกันได้ทุกอย่างหยด) นัยยะสะท้อนถึงเมื่อเราได้รับหรือต้องทำสิ่งต่างๆด้วยกัน ก็ต้องแบ่งปันสมานสามัคคี ร่วมหัวจมท้าย จะเอาตัวรอดเพียงคนเดียวก็หามีความเป็นลูกผู้ชายไม่
การจัดแสงฉากนี้ค่อนข้างเจ๋งเลยนะ ใช้หลอดไฟดวงเดียวให้ความสว่างทุกอย่าง (ด้านหลังมืดมิดสนิท), การช็อตกระแสไฟฟ้า เพื่อลงโทษเพื่อนคนหนึ่งที่ต้องการลาออกจากกลุ่ม มีนัยยะสะท้อนถึงความเป็นกบฎของชาติ จำเป็นต้องถูกกำจัดให้สิ้นซาก แต่เพราะหนังมันก็แค่เกมจิตวิทยา จะมีใครไหมที่กล้าพอยอมทำ กดปุ่มเพื่อช็อตไฟเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดคนนี้
กับ Sequence ที่ได้รับการกล่าวขวัญมากสุดก็คือการเต้น Cabaret เลียนแบบภาพยนตร์เรื่อง Cabaret (1972) สลับแค่แต่งชายเป็นหญิง, คนที่เคยรับชมหนังเรื่องนั้นมาแล้ว น่าจะจดจำได้ว่ามีพื้นหลังประเทศเยอรมัน ในช่วงการปกครองของ Nazi นี่เป็นการสะท้อนค่านิยมของกลุ่ม Alpha Kappa Omega ชื่นชอบหลงใหลเชิดชูระบบ Fascism ซึ่งไดเรคชั่นของฉากนี้ถ่ายจากด้านล่างของเวที มุมเงยขึ้นไป (เป็นมุมที่ให้สัมผัสของความชั่วร้าย)
หลายคนอาจสงสัยอีกชุดการแสดงของอีกกลุ่ม Sigma Omicron Sigma ขับร้องเพลงอะไร นี่ผมก็หาคำตอบให้ไม่ได้นะ แต่ลักษณะการแต่งตัวของพวกเขาเลียนแบบ Alexander DeLarge จากเรื่อง A Clockwork Orange (1971) ซึ่งหนึ่งในการแสดง มีการรุมทิ่มแทงหุ่นตุ๊กตา นี่เป็นการสะท้อนความรุนแรงเก็บกดจากภายในของพวกเขาออกมา สะท้อนเข้ากับ De Large ชายหนุ่มผู้ถูกทดลองทำให้ต้องเก็บกดความรุนแรงไว้ภายในจิตใจ มิอาจกระทำแสดงออกซึ่งความชั่วร้ายใดๆออกมาได้
ลำดับภาพโดย Jess Navarro, เล่าเรื่องโดยใช้มุมมองของตัวละคร Sid Lucero พร้อมเสียงบรรยายประกอบทั้งเรื่อง ต่อสิ่งต่างๆที่ได้พบเจอในชีวิต ครอบครัว เพื่อนฝูง และการเป็นสมาชิก Alpha Kappa Omega
สำหรับข้อความที่ปรากฎขึ้นคั่น ราวกับชื่อของด่าน/คำอธิบายสรุปย่อต่อสิ่งที่พวกเขากำลังจะประสบพบเจอ แทนช่วงเวลาทำดำเนินไปข้างหน้าเรื่อยๆ 6 เดือนผ่านไปอย่างรวดเร็วโดยไม่รู้ตัว
ใน Restored Trailer มีการตัดต่อขณะหนึ่งเจ๋งมากๆ สำหรับคนที่รับชมหนังมาแล้วน่าจะรู้ว่าสิ่งที่ตัวละครทิ่มแทงคือมนุษย์จริงๆในสงครามกลุ่ม แต่ตัวอย่างตัดให้เห็นเป็นตุ๊กตา เป็นการสะท้อนความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้อย่างทรงพลังยิ่ง
เพลงประกอบโดย Lorrie Ilustre ด้วยดนตรีสไตล์ Retro-Futurist นี่ก็รับอิทธิพลจาก A Clockwork Orange (1971) มาเต็มๆเช่นกัน ใช้เครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ สร้างสัมผัสอันปั่นป่วน อลม่าน ชวนให้เกิดความสับสนมึนงง คือมันจะเรโทรย้อนยุค หรือเพ้อฝันถึงโลกอนาคตกันแน่ ถือเป็นสไตล์ที่มีความขัดแย้งในตัวเอง สอดคล้องกับเรื่องราวของหนังลักษณะนี้อย่างยิ่งเลยละ
ไฮไลท์ของบทเพลงคือช่วงระหว่างสงครามกลุ่ม แรกๆเริ่มชกต่อยกันธรรมดาใช้เสียงบีบแตรแทนระฆังเคาะยก แต่เมื่อบทเพลง Retro-Futurist ดังขึ้น เหตุการณ์ก็เริ่มบานปลาย มีการใช้อาวุธทำร้ายร่างกาย เข่นฆ่าฟันแทงให้ตายไปข้างหนึ่ง
ในความตั้งใจของผู้สร้าง ต้องการสะท้อนกิจกรรม แนวคิด ทุกสิ่งอย่างของกลุ่ม ΑΚΩ กับความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นในช่วงการปกครองของผู้นำเผด็จการ Ferdinand Marcos ขณะที่บรรดาสมาชิกหน้าใหม่ทั้งหลาย แทนได้ประชาชนชาวฟิลิปปินส์ ผู้จำต้องคอยก้มหัว ปิดหูปิดตา ทำตามคำสั่งของรุ่นพี่/ผู้นำ แม้ในเรื่องอันน่ารังเกียจขยะแขยง ใครอดรนทนกลั้นต่อไม่ไหวก็ต้องถูก(ฆ่า)ปิดปาก ซึ่งเป้าหมายปลายทางเมื่อไปถึงจุดสิ้นสุด เรียกได้ว่าการล้างสมองเสร็จสรรพสิ้น กลายเป็นสมาชิก Fascism อย่างสมบูรณ์แบบ
มองภาพกว้างๆระดับนั้นดูน่ากลัวชิบหายเลยนะครับ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับระบบ SOTUS การรับน้องในมหาวิทยาลัย ที่ต้องถือว่าไม่แตกต่างกับสิ่งที่พบเห็นในหนังสักเท่าไหร่ ทำให้เกิดความคับข้องชะล่าใจไม่น้อย กระนั้นสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นต่าง คือความตั้งใจของรุ่นพี่ที่ยอมสุ่มเสี่ยงจัดกิจกรรมนี้ พวกเขาไม่ได้ต้องการล้างสมองรุ่นน้องให้กลายเป็นเผด็จการ แค่ปรับเปลี่ยนทัศนคติแนวคิดให้เข้ากับการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย และมีภูมิคุ้มกันต่อวิถีของสังคมภายนอกต่อไป
ความล่มสลายของ Fascism เกิดจากความคอรัปชั่นคดโกงกินที่มีมากเกิน แต่ประเทศชาติกลับเดินถอยหลัง ทำให้ประชาชนอดรนทนต่อไปไม่ได้แล้ว ร่วมกันปลุกระดมลุกฮือขึ้นมาล้มล้างผู้นำรัฐบาล คนตายเป็นเบือถือว่าเรื่องปกติ วิถีทั่วไปของมนุษย์ แต่ระบบ SOTUS รับน้องของมหาวิทยาลัยที่กำลังค่อยๆล่มสลายลง นี่ไม่ได้เกิดจากการลุกฮือต่อต้าน แต่คือสมัยค่านิยมของมนุษย์ที่เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ปัจจุบันนี้อ่อนแอปวกเปียกอย่างยิ่ง โดยเฉพาะความอดทน แถมชื่นชอบการเรียกร้องความสนใจ ผิดอะไรเล็กๆน้อยๆโวยแตกสามบ้านเจ็ดบ้าน โลกของพวกเขาเธอคงสวยงามราวกับสรวงสวรรค์ อยากรู้จริงๆเมื่อสักวันโดนฉุดคร่าลงขุมนรก แล้วมันจะมีชีวิตอยู่ต่อได้อย่างไร
เผด็จการ คือระบอบแนวความคิดหนึ่งของการปกครอง ไม่มีถูกผิด ดีชั่ว ขึ้นอยู่กับวิธีการนำไปใช้ของผู้คน แต่ส่วนใหญ่แล้วในประวัติศาสตร์โลก ผู้นำเผด็จการแทบทั้งนั้นไม่เห็นมีใครดี ต่างคดโกงกินคอรัปชั่นเป็นทิวแถว นี่ทำให้ใครๆเหมารวมว่า เผด็จการคือระบอบที่ชั่วร้ายอันตราย กัดกร่อนทำลายประเทศชาติไม่ให้เจริญก้าวหน้าไปไหน
ประชาธิปไตยก็ใช่ว่าจะดี เพราะมันมีสิ่งที่เรียกว่าระบบอุปถัมถ์ ครั้งหนึ่งเคยช่วยเหลือเพื่อน/คนรู้จักไว้ คาดหวังว่าสักวันในอนาคตคงมีโอกาสที่ เราจะได้รับการช่วยเหลือนั้นคืนกลับมา ด้วยเหตุนี้ความคอรัปชั่นมันเลยเกิด โกงกินแล้วต้องแบ่งปัน
เหรียญมีสองด้าน โลกมีสองขั้วซ้าย-ขวา ถ้าคุณมองหนังเรื่องนี้ด้วยทัศนคติต่อต้านเผด็จการ คงเกิดความอึดอัดทรมานคับข้องใจ รับไม่ได้กับสิ่งต่างๆที่บังเกิดขึ้น, แต่สำหรับคนเห็นโลกอีกด้านหนึ่ง จะพบเจอคุณประโยชน์ของกิจกรรมนี้ สิ่งวัดศักยภาพของคน ถ้าเรื่องแค่นี้อดรนทนรับไม่ไหว จะสามารถเอาตัวรอดในโลกอันโหดร้ายต่อไปได้เช่นไร
เดิมนั้น Batch ’81 ตั้งใจจะออกฉายปี 1981 (ตามชื่อหนัง) แต่โปรดิวเซอร์ตัดสินใจขึ้นหิ้งเก็บไว้ก่อน รอคอยหาเวลาเหมาะสมค่อยนำออกฉาย เพราะช่วงนั้นปธน. Marcos เพิ่งประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก จึงยังไม่อยากเสี่ยงเพราะกลัวการลุกฮือประท้วง, ระหว่างนั้นลักลอบขนฟีล์มไปเทศกาลหนังเมือง Cannes รอบ Director’s Fortnight ได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม
หนังออกฉายปลายปี 1982 ในฟิลิปปินส์ แม้จะได้รับเสียงตอบรับดีล้นหลาม แต่กลับไม่ทำเงินสักเท่าไหร่
ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าระดับ Masterpiece ของประเทศฟิลิปปินส์เลยนะ แม้คุณภาพในฉบับที่ผมรับชมจะค่อนข้างน่าผิดหวังพอสมควร แต่เชื่อว่าการ Restoration คงทำให้อรรถรสกลับคืนมาอย่างเต็มเปี่ยมสมบูรณ์
ส่วนตัวโคตรจะชอบภาพยนตร์เรื่องนี้เลยละครับ เพราะทำให้หวนระลึกถึงตัวเองในช่วงสมัยเรียน แต่ความโหดพบเห็นในหนังมันแค่จิบๆ (ไม่นับตีกันมีคนตายนะ) ของจริงโดยเฉพาะตอนวันวิ่งประเพณี อารมณ์มันสุดยอดไปเลยละ ทั้งเหนื่อย(ทั้งเมา)ทั้งน้ำตา เป็นความประทับใจน่าจะที่สุดของชีวิตมหาวิทยาลัยแล้ว
แนะนำกับนักกิจกรรม โดยเฉพาะพี่ว๊ากทั้งหลายในมหาวิทยาลัย อาจเป็นแรงบันดาลใจอะไรได้มาก, คอหนังสายโหด Sadist ชื่นชอบความรุนแรงถึงเลือดถึงเนื้อ, นักสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ เปรียบเทียบทำความเข้าใจแนวคิดของ Fascist, รู้จักผู้กำกับ Mike De Leon และนักแสดง Mark Gil ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ กับความรุนแรง บางสิ่งดูน่าขยะแขยง และการยกพวกตีกัน
Leave a Reply