Battle Royale

Battle Royale (2000) Japanese : Kinji Fukasaku ♥♥♥♡

‘ชีวิตคือการต่อสู้เข่นฆ่า ผู้ชนะมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น’, เกมนรก โรงเรียนพันธุ์โหด เป็นภาพยนตร์ที่แฝงไปด้วยนัยยะสะท้อนเสียดสีสังคม การเมือง การศึกษา บุคคลผู้สามารถมีชีวิตเอาตัวรอดได้ในโลก Dystopian จะต้อง 1) บริสุทธิ์ดีแท้ ไม่เคยทำร้ายใคร 2) ฆ่าเฉพาะยามจำเป็น เพื่อป้องกันตัวเองและคนที่ตนรักเท่านั้น

ฟังดูไม่น่าเป็นไปได้เลยใช่ไหมละ ในโลก Dystopian สังคมที่เต็มไปด้วยความโหดร้าย รุนแรง ผู้คนมีแต่ความหวาดระแวงไม่เชื่อใจกัน ไร้ซึ่งจิตสำนึกมโนธรรม จริยธรรมใดๆทำให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขสันติ แต่เพราะคนชั่วๆสวมหน้ากากเหล่านั้น พอพบเจอเห็นหน้าก็ชวนหาเรื่องต่อยตี รบราเข่นฆ่าฟันกันเอง จนสักวันหนึ่งคงหมดสิ้นไม่เหลือใคร เช่นนั้นแล้วบุคคลผู้มีความบริสุทธิ์ดีแท้ทั้งกายใจ จะเป็นคนกลุ่มเดียวที่หลงเหลืออยู่บนโลก นี่จะทำให้ยุคสมัยแห่ง Utopia ถือกำเนิดขึ้น ความสงบสันติสุขจะหวนกลับคืนมา

โดยไม่รู้ตัว ผมน่าจะเคยรับชม Battle Royale ไม่ต่ำกว่า 4-5 รอบแล้ว ทั้งๆไม่ได้มีความชื่นชอบเท่าไหร่ แต่ก็บอกไม่ได้ว่ามนต์เสน่ห์อะไรถึงชอบหยิบกลับมาดูบ่อยๆ ครั้งนี้เลยได้เข้าใจตัวเองสักที มันคือ’จิตวิญญาณ’ของหนังอันทรงพลังตั้งแต่บทเพลงแรก Giuseppe Verdi: Messa da Requiem ท่อน Dies irae ที่สูบพลังชีวิตของผมไปหมดทุกครั้งในการรับชม

เกร็ด: Dies Irae แปลว่า Day of Wrath, วันแห่งความพิโรธ/การเอาคืน

เกร็ด 2: บทเพลงนี้ล่าสุดเห็นใช้ในตัวอย่างหนัง Mad Max: Fury Road (2015) โคตรทรงพลังเลยละ

หน้าหนังคือการเข่นฆ่าระหว่างเด็กนักเรียนวัยรุ่น เพื่อเป็นผู้ชนะในเกมของผู้ใหญ่, เนื้อในคือการต่อสู้ทางแนวคิด อุดมการณ์ สะท้อนเสียดสีการมีอยู่ของสังคม การเมือง การศึกษา, และระดับจิตวิญญาณ ค้นพบได้ที่ตอนจบ 2-3 ผู้รอดชีวิต ต่างคือบุคคลในอุดมคติ ที่จะสามารถนำพาความสงบสุขกลับคืนสู่โลก

Kinji Fukasaku (1930 – 2003) ผู้กำกับชื่อดังระดับตำนาน สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Mito, Ibaraki Prefecture ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 อายุยังไม่ถึงสมัครเป็นทหารไม่ได้ อาศัยหลบระเบิดอยู่ใต้ดิน คอยเก็บศพเพื่อนๆที่เสียชีวิตในห้องเรียน, หลังสงครามมีภาพยนตร์เป็นสิ่งระบายความทุกข์ทรมาน เข้าเรียน Nihon University รุ่นแรกของประเทศที่มีสาขาภาพยนตร์ แต่ย้ายไปสาขาวรรณกรรมเพื่อเรียนเขียนบท จบมาทำงานผู้ช่วยผู้กำกับสตูดิโอ Toei ภายใต้ Masahiro Makino, Yasushi Sasaki กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Wandering Detective (1961) มีชื่อเสียงระดับโลกจากการได้ช่วยกำกับ Tora! Tora! Tora! (1970) ตามด้วย Under the Flag of the Rising Sun (1972), l Battles Without Honor and Humanity (1973), Graveyard of Honor (1975), Shogun’s Samurai (1978), The Fall of Ako Castle (1978), Samurai Reincarnation (1981), Fall Guy (1982) ฯ และผลงานสุดท้าย Battle Royale (2000)

Fukasaku ถือเป็นโคตรผู้กำกับยุค New Wave ของญี่ปุ่น แค่ระดับนานาชาติอาจไม่เป็นที่รู้จักสักเท่าไหร่ ด้วยสไตล์ที่เน้นนำเสนอความรุนแรง ด้วยภาพที่เต็มไปด้วยความโหดร้ายรุนแรงอย่างตรงไปตรงมา สะท้อนเสียดสีสังคมญี่ปุ่น ความไร้สาระของสงคราม ตั้งคำถามคุณค่าความเป็นมนุษย์ และมีลายเซ็นต์ Shaky Camera เป็นเอกลักษณ์ เห็นว่าตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 70s โน่นเลย

Fukasaku ในวัยเกือบๆ 70 ปี ก่อนหน้าสร้างหนังเรื่องนี้เป็นผู้กำกับฉาก Cutscene ให้กับ Video Game ของ Capcom/Sunsoft แนว Survival Horror ชื่อ Clock Tower 3 หลังเสร็จสิ้นก็ประกาศว่าภาพยนตร์เรื่องถัดไปจะเป็นแนว Survival Horror เหมือนเกมนี้ เกิดความสนใจในนิยายขายดีเรื่อง Battle Royale (1999) ของนักเขียน Koushun Takami ที่กำลังเป็นกระแสสังคมรุนแรงขณะนั้น อ่านแล้วชวนให้หวนระลึกถึงตอนตัวเองอายุ 15 พบเห็นการตายของเพื่อนๆ ช่วงขณะสงครามโลกครั้งที่ 2 

เห็นว่า Takami เขียนนิยาย Battle Royale เสร็จตั้งแต่ปี 1996 เพื่อส่งเข้าแข่งขัน Japan Horror Fiction Award 1997 สามารถเข้าถึงรอบสุดท้ายตัวเต็งชนะเลิศ แต่เพราะขณะนั้นเกิดข่าวใหญ่ คดีฆาตกรรมกันเองของเหล่าวัยรุ่นนักเรียน ม.ปลาย คณะกรรมการเลยตัดสินใจไม่มอบรางวัลชนะเลิศให้กับเรื่องใดๆ ทำให้กว่าจะได้ตีพิมพ์ล่าช้ามาถึงปี 1999 

ในโลกอนาคต ประเทศญี่ปุ่นเกิดภาวะล่มสลาย (Dystopian) สังคมเสื่อมโทรมทรุดหนัก เด็กและเยาวชนไม่สนใจการเรียน ชื่นชอบใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา ทำให้ครู-อาจารย์เสียชีวิตในหน้าที่มากมาย อาชญากรรมเกิดขึ้นรอบทิศ ข้อสรุปของหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพราะวัยรุ่นไม่ยอมเคารพเชื่อฟังคำสั่งของผู้ใหญ่ รัฐบาลจึงออกมาตรการตอบโต้ด้วยการประกาศ ‘วิธีการปฏิรูปการศึกษายุคใหม่’ สร้างเกม Battle Royale หรือเรียกสั้นๆว่า BR สุ่มตัวอย่างเลือกนักเรียนวัยประมาณ 15 ปีขึ้นมา 1 ชั้นเรียน จำนวน 42 คน พาไปปล่อยทิ้งยังเกาะร้างไร้ผู้คน กติกามีอยู่ง่ายๆ ใครก็ตามสามารถเอาตัวรอดหลงเหลือคนสุดท้ายภายใน 3 วัน จะได้รับสิทธิ์ให้กลับบ้าน

เช้าวันหนึ่ง Noriko Nakagawa (รับบทโดย Aki Maeda) นักเรียนหญิง ม.ต้น ห้อง 3-B ตื่นช้ามาโรงเรียนสาย แต่พอถึงห้องกลับว่างเปล่า มีเพียงครูประจำชั้น Kitano (รับบทโดย Takeshi Kitano) กำลังทอดถอนหายใจอย่างสิ้นหวัง ขณะกำลังเดินออกนอกห้องถูกนักเรียนคนหนึ่งทำร้ายโดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นเหตุให้เขาตัดสินใจลาออก

ผ่านไปสักพัก โรงเรียนจัดทริปพิเศษให้กับเด็กห้อง 3-B โดยไม่รู้ตัวทุกคนตื่นขึ้นในห้องเรียนบนเกาะร้างแห่งหนึ่ง อดีตครูประจำชั้น Kitano เดินเข้ามาสั่งสอนบทเรียนสุดท้าย ประกาศให้เข่นฆ่าแกงกันจนกว่าจะเหลือคนสุดท้าย ถึงได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน

Takeshi Kitano (เกิดปี 1947) นักแสดง ตลก ผู้กำกับ นักเขียนสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Adachi, Tokyo พ่อเป็นจิตรกร (และอาจเป็นยากูซ่า) เข้าเรียนที่ Meiji University สาขาวิศวกรรม แต่ตัดสินใจลาออกไปเป็นตลก ร่วมกับคู่หู Nirō Kaneko ประสบความสำเร็จโด่งดังในชื่อ Two Beat ด้วยทักษะลีลาคำพูดที่คมคาย หลักแหลมไม่เหมือนใคร พอออกมาเดี่ยว กลายเป็นหนึ่งในสาม Comedian โด่งดังสุดในญี่ปุ่น (เทียบเมืองไทยคงระดับหม่ำ จ๊กมก)

สำหรับภาพยนตร์ เริ่มจากนักแสดงตลก ผันมาเป็นผู้กำกับ Violent Cop (1989) โด่งดังระดับโลกจากการคว้างรางวัล Golden Lion เทศกาลหนังเมือง Venice จากเรื่องเล่นเองกำกับเอง Hana-bi (1997), และคว้ารางวัล Silver Lion: Best Director เรื่อง Zatōichi (2003)

รับบท Kitano (ใช้นามสกุลตัวเอง จะได้จดจำเรียกกันง่ายๆ) ครูประจำชั้นที่มีความเคียดแค้นนักเรียนในห้องตนเองเป็นอย่างยิ่ง ภายนอกดูโหดเหี้ยมเลือดเย็น แต่ก็มีเด็กหญิงสาวคนหนึ่งที่ตัวเขารู้สึกดีด้วย เพราะเธอให้ความเคารพนับถือเสมือนพ่อ-ลูกสาว คงแอบลุ้นคาดหวังให้สามารถเอาตัวรอด กลายเป็นผู้ชนะ

ตัวจริงของ Kitano คือตลกหน้าตาย คำพูดจาคมคาย สร้างสีสันรอยยิ้มแย้มให้กับทุกคน แต่หนังเรื่องนี้กลับแสดงออกตรงกันข้าม นี่ไม่ใช่การพลิกบทบาทนะครับ คือการนำเสนอตัวตนอีกมุมหนึ่งของ Kitano ใครมาดีฉันดีตอบ ใครมาร้ายก็ชั่วกลับ

เกร็ด: Kitano เป็นคนวาดภาพตอนจบของหนังเอง ตัวเขามีความสามารถด้านจิตรกรด้วย และเคยกำกับ-นำแสดง วาดภาพเองในภาพยนตร์กึ่งอัตชีวประวัติเรื่อง Achilles and the Tortoise (2008)

Kitano เล่าให้ฟังถึงไดเรคชั่นของผู้กำกับ Fukasaku มีทัศนะว่า ‘นักแสดงมีหน้าที่ทำให้ผู้กำกับพึงพอใจ’ กล่าวคือ บอกให้เคลื่อนขยับยังไงตรงไหนก็ทำตามนั้น ไม่ได้ต้องสนใจเรื่องอารมณ์การแสดงสักเท่าไหร่ เพราะ

“Mr. Fukasaku told me to play myself. I did not really understand, but he told me to play myself, as I ordinarily would be! I’m just trying to do what he tells me.”

ว่ากันตามตรง นักแสดงหนังเรื่องนี้แทบทุกคนมีความสมัครเล่นมากๆ ไม่ได้มีความสมจริง หรือถ่ายทอดอารมณ์อะไรออกมานอกจากคำพูดและการกระทำ มีความเป็นตัวของตนเองอย่างที่สุด, นี่เป็นส่วนที่สร้างความ ‘ดิบ’ ให้กับหนังอย่างยิ่ง ไม่มีใครกลายเป็นตัวละครนั้นๆ เพราะพวกเขาคือตัวละครนั้น

จาก 6,000 คน ที่มีการ Audition รับบทนักเรียนห้อง 3-A คัดเหลือแนวโน้ม 800 คน เข้าแคมป์ 6 เดือน ฝึกฝนร่างกายให้แข็งแกร่ง แล้วคัดเลือกเหลือ 42 คนเล่นหนัง และเพียง 4-5 คนเท่านั้นที่มีบทเด่น

Tatsuya Fujiwara (เกิดปี 1982) นักแสดงจาก Saitama หลังจากแจ้งเกิดกับหนังเรื่องนี้ โด่งดังต่อเนื่องกับ Death Note (2006), Kaiji (2009), Ruronin Kenshin (2012), Erased (2016) ฯ รับบท Shuya Nanahara นักเรียนชายหมายเลข 15 ถึงจะมีความโกรธแค้น Kitano ที่ฆ่าเพื่อนสนิท Yoshitoki Kuninobu แต่ตัวเขาก็ไม่เคยคิดร้ายกับใคร เพราะไม่ต้องการเป็นคนล้มเหลวเหมือนพ่อที่ผูกคอตาย ทิ้งปัญหาไว้มากมาย ด้วยเหตุนี้จึงตั้งปณิธานทำทุกอย่างล้วนเพื่อป้องกันตัวเองและ Noriko (หญิงสาวที่เพื่อนรักแอบชอบ) เท่านั้น

Aki Maeda (เกิดปี 1985) นักร้องนักแสดง เกิดที่ Tokyo ปัจจุบันเน้นซีรีย์โทรทัศน์เป็นส่วนใหญ่, รับบท Noriko Nakagawa นักเรียนหญิงหมายเลข 15 เป็นคนจิตใจดี โอบอ้อมอารี แม้แต่กับ Kitano แอบตกหลุมรัก Shuya แต่ไม่เคยพูดบอก ทำให้มีความเชื่อใจเขาที่สุด และจนถึงเกมจบไม่เคยฆ่าใคร

Tarō Yamamoto (เกิดปี 1974) อดีตนักแสดง ปัจจุบันเป็นนักการเมือง, รับบท Shogo Kawada นักเรียนแลกเปลี่ยนหมายเลข 5 ผู้ชนะ Battle Royale ครั้งก่อน หวนกลับมาเพื่อค้นหาคำตอบรอยยิ้มของแฟนเก่า พ่อเป็นหมอเลยชอบช่วยเหลือคน ให้ความอนุเคราะห์ Shuya กับ Noriko เพราะหวนระลึกถึงตนเองเมื่อครั้งก่อน และตอนจบเป็นผู้ปลดล็อคปลอกคอ ในทางเทคนิคถือว่าชนะการแข่งขันครั้งนี้

Masanobu Ando (เกิดปี 1975) นักแสดงจาก Kawasaki เริ่มมีชื่อเสียงจาก Kids Return (1996) โกอินเตอร์กับ Forever Enthralled (2008), รับบท Kazuo Kiriyama นักเรียนแลกเปลี่ยนหมายเลข 6 ฆาตกรเลือดเย็นเจ้าของสถิติ Most Killed ก่อนตายถูกแรงระเบิดตาบอดมองอะไรไม่เห็น (หมดสิ้นอนาคต) ก่อนถูกลูกซองระเบิดหัวกระจุย

Ko Shibasaki (เกิดปี 1981) นักร้องนักแสดงจาก Toshima, Tokyo ผลงานเด่นๆ อาทิ Go (2001), One Missed Call (2003), House of Himiko (2005), 47 Ronin (2013) ฯ รับบท Mitsuko Souma นักเรียนหญิงหมายเลข 11 หัวหน้าแก๊งหญิงแพศยา ใช้เสน่ห์เล่ห์มารยา เสแสร้งหลอกลวงตบตาฆ่าคนอย่างเลือดเย็น โฉดชั่วร้าย เพราะพื้นหลังตั้งแต่เด็กถูกพ่อกระทำชำเรา ทำให้ปฏิเสธต่อต้านโลก แต่ก็เพลิดเพลินกับมัน มีความโรคจิตเล็กๆ การตายของเธอถูกนักเรียนชายชั่วยิงตาย ต้องบอกว่าสมกันดี

เกร็ด: ถึงตัวละครทั้งหมดในหนังจะอายุ 14-15 ปี แต่นักแสดงส่วนใหญ่เรียนจบ ม.ปลาย บรรลุนิติภาวะแล้วทั้งนั้น แก่สุดคือ Tarō Yamamoto กับ Masanobu Ando อายุ 24-25 ปี

ถ่ายภาพโดย Katsumi Yanagishima ขาประจำของ Takeshi Kitano ผลงานเด่น อาทิ Kikujiro (1999), Go (2000), Zatoichi (2003), The Grudge 2 (2006) ฯ จุดเด่นของหนังคือการถ่ายภาพ Hand-Held กล้องสั่นๆ (Shaky Camera) ให้สัมผัสดิบเถื่อนสมจริงจับต้องได้ อาจดูส่ายๆ ชวนให้มึนเวียนหัวสักหน่อย แต่ผู้ชมเสมือนว่ากลายเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์นั้นๆ

สถานที่ถ่ายทำคือเกาะร้างเล็กๆ Hachijō Kojima (ด้านซ้ายของภาพ) ติดกับเกาะภูเขาไฟ Hachijō-jima (เกาะใหญ่ด้านขวา) อยู่ทางตอนใต้ของ Tokyo ระยะทาง 287 กิโลเมตร ส่วนหนึ่งของ Philippine Sea

ตัดต่อโดย Hirohide Abe, หนังมี 2 ฉบับ Original Release ความยาว 113 นาที และ Special Edition เพิ่มใส่รายละเอียดเล็กๆน้อยๆ และนำเสนอการตายครบทุกตัวละคร กลายเป็น 121 นาที

นิยายความยาว 666 หน้า คงคาดหวังอะไรไม่ได้มากกับหนังแค่ 2 ชั่วโมง แต่ความพยายามนำเสนอความตายครบทุกตัวละครก็ถือว่ามากเกินไปเช่นกัน บางครั้งยังแทบไม่ทันเห็นหน้ารู้จัก เกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วมใดๆ คนๆนั้นก็อาจถูกฆ่าไปเสียแล้ว แต่ก็มีหลายช่วที่บรรจงเล่าเรื่องมากๆ นำเสนอการตายที่เจ็บปวดรวดร้าวไปถึงทรวงเลยละ

นี่ทำให้เอาจริงๆ หนังโฟกัสเรื่องราวหลักๆได้เพียง 4-5 ตัวละครเท่านั้น อาทิ Kitano, กลุ่มของ Shuya-Noriko-Shogo, Kazuo, Mitsuko ฯ เช่นกันกับ Flashback เล่าเรื่องย้อนอดีต ก็มีเฉพาะแค่กับตัวละครสำคัญๆที่กล่าวมานี้เท่านั้น

ผมว่าถ้าหนังกล้าๆตัดตัวละครออกไปบ้าง นำเสนอเฉพาะที่น่าสนใจจริงๆ หรือเล่าเรื่องผ่านสายตา 1-2 ตัวละครหลักก็พอ จะทำให้มีความกระชับฉับไว ไม่อืดอาดยืดยาด สูญเสียจังหวะความต่อเนื่อง หนังคงดูสนุกสนานเพลิดเพลินขึ้นมากทีเดียว

เพลงประกอบเรียบเรียง กำกับวง แต่งเพิ่มโดย Masamichi Amano ร่วมกับ Warsaw Philharmonic Orchestra มีการใช้หลายบทเพลง Western Classic มีชื่อคุ้นหู สร้างพลังขับเคลื่อนให้กับหนัง, วัยรุ่นทั้งหลายจะรู้สึกเหมือนถูกบทเพลงเหล่านี้คืบคลาน เข้าครอบงำ จิตใต้สำนึกของพวกเขา (บทเพลงสร้างสรรค์โดยคีตกวีรุ่นก่อน นำมาเปิดให้คนรุ่นใหม่เคลิบเคลิ้ม คล้อยตาม)

นอกจากบทเพลงที่แนะนำไปตอนต้น Giuseppe Verdi: Messa da Requiem ท่อน Dies irae ยังมี
– Johann Strauss I: Radetzky March, Op. 228
– Johann Strauss II: The Blue Danube
– Franz Schubert: Auf dem Wasser zu singen (To sing on the water), D. 774
– Johann Sebastian Bach: Air on the G String

แต่ไม่ใช่ว่าบทเพลงแต่งขึ้นใหม่ของ Amano จะมีความทรงพลัง ด้อยไปกว่าโคตรเพลงคลาสสิกที่เอ่ยมาแม้แต่น้อย

สำหรับบทเพลงที่ผมชื่นชอบสุด อยู่ในช่วง Battle of Girls กลุ่มของหญิงสาวเพื่อนสนิทที่รักกันดี หลบภัยอยู่ในประภาคาร (Lighthouse) แต่แค่เพียงยาพิษหยดเดียวทำให้เกิดความเคลือบแคลง หวาดระแวงสงสัย ใครกันเป็นฆาตกร หมดสูญสิ้นศรัทธา ทุกคนจบชีพลงแบบไร้ค่า ไร้สาระที่สุด, ตั้งแต่นาที (3.10) เมื่อ Shuya ตะโกนลั่น พวกเธอทำบ้าอะไรกันเนี่ย! นี่เป็นช่วงเวลาที่เจ็บรวดร้าวทรมานใจที่สุดแล้ว

บทเพลงตอนจบของหนัง Shizuka na Hibi no Kaidan o (แปลว่า Climbing the Stairs of Quiet Days) แต่ง/ขับร้องโดยวง Rap Rock ชื่อ Dragon Ash

การดิ้นรนเอาตัวรอด คือสันชาติญาณพื้นฐานของทุกสิ่งมีชีวิต ที่พอคลอดออกมาลืมตาดูโลก ถ้าเป็นลูกมนุษย์ก็จะส่งเสียงร้องไห้งอแง ขยับตัวดิ้นไปมาเรียกร้องความสนใจ เมื่อเติบโตขึ้นก็เช่นกัน วัยเด็กจะเริ่มเรียนรู้ ใคร่สนใจ วัยรุ่นคือช่วงเวลาปรับตัว ค้นหาความถนัดสนใจ พอเป็นผู้ใหญ่ก็ทำงานตามความรู้ความสามารถที่มี ทั้งหมดนี้ก็เพื่อดำเนินชีวิต อยู่รอดปลอดภัย กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม จนกว่าจะหมดสิ้นอายุไข

แต่การต่อสู้ดิ้นรนของมนุษย์เพื่อมีชีวิตนั้น ถ้าเกิดจากแรงขับเคลื่อนทางสันชาติญาณเพียงอย่างเดียว คงมิต่างอะไรจากสัตว์เดรัจฉาน อย่างตัวละคร Kazuo Kiriyama กับ Mitsuko Souma คือสองตัวละครที่เข่นฆ่าผู้อื่นโดยใช้แรงขับเคลื่อน ความต้องการภายใน สันชาติญาณของตนเอง ดิ้นรนเพื่อจะมีชีวิตโดยไม่สนความถูกผิดใดๆ ผลลัพท์สุดท้าย ต่างเสียชีวิตแบบไม่มีใครรู้สึกเห็นใจใยดี สมควร สมน้ำหน้า อยู่ไปก็หนักแผ่นดิน

Shogo Kawada คือหนึ่งในผู้ที่เข่นฆ่าคนอื่นมากมายเพื่อเอาตัวรอดของตนเอง ก็หาได้ดีเลิศประเสริฐศรีประการใด แต่เพราะในจิตใจของเขายังมีคุณธรรมความดีหลงเหลืออยู่ ให้การช่วยเหลือสองพระนางที่ไม่มีทางสู้ นั่นทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในผู้มีชีวิตรอดเมื่อเกมจบ แต่ไม่นานผลกรรมก็ตามทันอย่างรวดเร็ว

Shuya Nanahara กับ Noriko Nakagawa คือสองตัวละครในอุดมคติ ผู้รอดชีวิตจากการที่แทบไม่ได้ทำอะไร แทบไม่ต้องเข่นฆ่าใคร มีความบริสุทธิ์ ไว้เนื้อเชื่อจริงใจต่อกัน ไม่เคยคิดหักหลังทรยศหลอกลวงผู้อื่น ชีวิตของทั้งสองถือว่ามีความสงบสุขสันติยิ่งนัก ได้รับชัยชนะแบบแทบไม่รู้ตัว มีต้องพิสูจน์อะไรบางอย่างช่วงท้ายนิดหนึ่ง แต่ทั้งหมดก็เพียงพอแล้วที่จะบ่งบอกว่า โลกเรานี้ต้องการคนแบบทั้งสองมากที่สุด

ในความตั้งใจของผู้กำกับ Fukasaku ชัดเจนว่าต้องการนำเสนอประเด็นความขัดแย้งแตกต่างระหว่าง วัยรุ่น vs. ผู้ใหญ่ ความคาดหวังแล้วผิดหวัง ข้อเท็จจริงที่เต็มไปด้วยความโป้ปดหลอกลวง (นี่เพราะเป็นสิ่งที่เขาได้พบเจอเข้ากับตัวเอง ตั้งแต่ตอนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2)

“The children who have grown up and witnessed what happened to the adults, their anxiety became heightened as well. So I set Battle Royale within this context of children versus adults.”

สังคมญี่ปุ่นในทศวรรษ 90s เกิดช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก เหตุเพราะเศรษฐกิจขณะนั้นกำลังอยู่ในช่วงวิกฤต แถมเป็นช่วงเวลาเข้าใกล้สหัสวรรษใหม่ ใครๆต่างต้องการอะไรใหม่ๆ ผู้ใหญ่จึงไม่ค่อยมีเวลาสนใจลูกๆหลานๆ ปล่อยปละละเลยจนพวกเขารู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยวเหมือนถูกทอดทิ้ง มีแนวโน้มใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา อาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้น, สังเกตว่าทุกตัวละครที่มี Flashback เล่าเรื่องราวย้อนหลัง ต่างมิได้มีชีวิตที่น่าอภิรมย์เลย แต่พวกเขาก็ต้องอยู่ร่วมทนความทุกข์นั้นไปจนกว่าจะถึงคราตาย

ด้านการศึกษาก็เช่นกัน ว่ากันว่าทศวรรษนั้นในญี่ปุ่น ครู-อาจารย์ ต่างนิยมชอบใช้ความรุนแรงสั่งสอนอบรมนักเรียน (ก็คงเหมือนประเทศไทยนะแหละ ไม้เรียวสร้างคน) คงเป็นช่วงเวลาที่สังคมเริ่มไม่ให้การยอมรับอะไรๆที่มันดั้งเดิม เฉิ่มเฉย ต้องการเริ่มต้นวิธีการ แนวคิด สิ่งใหม่ๆ (ก็เหมือนเริ่มต้นสหัสวรรษใหม่) บุคคลรุ่นเก่าก็ถึงเวลาต้องปรับตัว ถ้าเปลี่ยนไม่ได้ก็คงต้องปลดเกษียณลาออก

และประเด็นด้านการเมือง กับทัศนคติที่คับแคบเห็นแก่ตัวของนักการเมือง ไม่ต้องมองไกลตั้งแต่ตอนนิยายเรื่องนี้ออกวางขาย สมาชิกรัฐภาของญี่ปุ่น (Japanese Parliament) จำนวนหนึ่งพยายามสร้างกระแสให้ทำการแบนห้ามขาย แต่แน่นอนว่าไม่สำเร็จ พอหนังออกฉายก็ยังคงป่วนเช่นเคย แสดงความเห็นว่า ‘crude and tasteless’ แต่กลับทำให้ทั้งหนังและนิยาย กลายเป็นความสนใจของประชาชน ขายดีประสบความสำเร็จเทน้ำเทท่าขึ้นไปอีก

ประโยคสุดท้ายของ Kitano นั่นคืออีกใจความของหนังที่เขาอยากให้ผู้ใหญ่ระลึกอยู่เสมอว่า เด็กๆนั้นเป็นอนาคตของประเทศชาติ พวกเขายังขาดความรู้เข้าใจในวิถีของชีวิตและสังคม การเดินหลงทาง เกิดความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ แต่หาใช่เรื่องที่คนมีวุฒิภาวะแล้วจะไปจองเวรจองกรรม จองล้างจองผลาญ ทำไมไม่ให้โอกาสพวกเขาเสียก่อนละ ถ้าโตแล้วยังมีพฤติกรรมเดิมๆเหล่านี้อยู่อีก สังคมก็มีมาตรการรองรับไว้อยู่แล้วไม่ใช่หรือ

“If you hate someone then you have to live with the consequences.”

ด้วยทุนสร้าง $4.5 ล้านเหรียญ ทำเงินเฉพาะในญี่ปุ่น ¥3.11 พันล้านเยน (=$25 ล้านเหรียญ) ติดหนึ่งในสิบภาพยนตร์ทำเงินตลอดกาลขณะนั้น, เข้าชิง Japan Academy Prize ถึง 7 สาขา แต่คว้ามาได้เพียง 1 รางวัล
– Best Film
– Best Director
– Best Actor (Tatsuya Fujiwara)
– Best Screenplay
– Best Editing ** คว้ารางวัล
– Best Music Score
– Best Sound

และอีก 3 รางวัลพิเศษ
– Newcomer of the Year (Tatsuya Fujiwara)
– Newcomer of the Year (Aki Maeda)
– Most Popular Film

มีหรือด้วยความสำเร็จระดับนี้จะไม่มีภาคต่อ ผู้กำกับ Kinji Fukasaku เตรียมการสร้างภาคสองไว้แล้ว Battle Royale II: Requiem แต่หลังจากถ่ายทำได้ฉากเดียวก็เสียชีวิตจากโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ลูกชาย Kenta Fukasaku เข้ามาสานงานต่อจนเสร็จ ออกฉายปี 2003 แต่ก็ไม่ได้เสียงตอบรับที่ดีแต่อย่างไร

เมื่อปี 2010, Kenta Fukasaku ตัดสินใจหากินกับงานเก่าของพ่อ แปลงหนังเป็น 3 มิติออกฉาย แต่ทำเงินได้แค่นิดหน่อยเท่านั้น น่าจะขาดทุนไม่น้อย

Quentin Tarantino ยกย่องหนังเรื่องนี้ว่า คือภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมสุดในสองทศวรรษตั้งแต่ที่เขาเริ่มกำกับสร้างภาพยนตร์

“If there’s any movie that’s been made since I’ve been making movies that I wish I had made, it’s that one.”

ความยิ่งใหญ่ของหนังเรื่องนี้ คือการครุ่นคิดวิเคราะห์ตาม ที่สามารถสะท้อนเสียดสีสังคม การเมือง การศึกษาได้อย่างเจ็บแสบ และผลลัพท์ในทางอุดมคติที่ทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ, ถ้าคุณสามารถทำความเข้าใจหนังได้ในระดับจิตวิญญาณได้ ก็จะเห็นความสวยงามเลอค่า ที่มากกว่าความตายฉาบหน้าเป็นไหนๆ อาจทำให้ถึงขั้นตกหลุมรักเลยละ แต่ผมขอถอยออกมาก้าวหนึ่ง เพราะความน่าเบื่อหน่ายในการเล่าเรื่อง สองชั่วโมงมันเยิ่นยาวเกินไปมากๆเลยละ

อย่าเอาหนังเรื่องนี้ไปเทียบกับ The Hunger Games Series เลยนะครับ เป็นที่รู้ๆกันอยู่แล้วว่า Battle Royale ลึกซึ้งเหนือกว่ามากๆ แต่ในด้านความบันเทิงเข้าถึงผู้ชม ส่วนตัวมองว่า THG ดูสนุกเพลิดเพลินกว่า BR เป็นไหนๆ

แนะนำกับคอหนัง Survival Horror หลงใหลเลือด ความเจ็บปวดตับ ทุกข์ทรมาน, ชื่นชอบการครุ่นคิดวิเคราะห์ เรื่องราวสะท้อนเสียดสีสังคม การเมือง การศึกษา แนวคิดปรัชญา บทเพลงคลาสสิก, แฟนๆผู้กำกับ Kinji Fukusaku และนักแสดง Takeshi Kitano, Tatsuya Fujiwara ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ ความรุนแรงบ้าคลั่ง การตาย เลือดสาด

TAGLINE | “Battle Royale ชีวิตคือการต่อสู้ดิ้นรน การตายของตัวละครเป็นเพียงสิ่งฉาบหน้าหนัง จิตวิญญาณความยิ่งใหญ่แท้จริงอยู่ที่ผู้รอดชีวิต”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: