Battleship Potemkin

Battleship Potemkin (1925) USSR : Sergei Eisenstein ♠♠♠♠♠

แม้เพียงช่วงเวลาสั้นๆของกลุ่มกบฎ Potemkin ที่สามารถยึดเรือรบ ครองใจประชาชนชาว Odessa แต่เมื่อเรื่องไปเข้าหู Tsar Nicholas II ส่งกำลังทหารมาปราบปราม พร้อมกำชับย้ำ ‘ทุกชั่วโมงที่ล่าช้า แลกกับแม่น้ำไหลนองเป็นสายเลือด’ เหตุการณ์นี้ถือเป็นชนวนเหตุแรกๆ ก่อให้เกิดการปฏิวัติรัสเซียตามมาถึงสองครั้ง จนโค่นล้มระบบ Tsarist ลงสำเร็จเมื่อปี 1917

ใครก็ตามเรียกตัวเองว่า ‘คนรักหนัง’ จำเป็นต้องรู้จัก Battleship Potemkin (1925) หนึ่งในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาล เคยได้รับการจัดอันดับ 1 จาก Brussels World’s Fair เมื่อปี 1958 (ครั้งแรกของโลกที่มีการจัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม) แสดงถึงอิทธิพลความสำคัญ แม้ปัจจุบันอาจแปรสภาพหลงเหลือเพียงประวัติศาสตร์ แต่ความยิ่งใหญ่ทรงพลังของหนังยังคงอยู่ (ถ้าสามารถดูเข้าใจ) ล่าสุดเมื่อปี 2012 ได้รับการจัดอันดับสูงถึงที่ 11 จากนิตยสาร Sight & Sound ชาร์ท Critic’s Poll และอันดับ 75 ของ Director’s Poll

สิ่งที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ชวนเชื่อ Masterpiece เรื่องนี้ของ Sergei Eisenstein คือเหตุการณ์จริงแทบทั้งหมด เว้นเพียงฉากตรงบันได Richelieu Steps ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Odessa Steps ไม่มีหลักฐานใดๆบันทึกไว้ว่าเกิดความรุนแรงเข่นฆ่ากันตายที่นี้แห่งเดียว (คือการต่อสู้พบเจอได้ทั่วไปในเมืองท่า Odessa ไม่ใช่แค่เฉพาะตรงบันไดนี้) ซึ่งความตั้งใจของผู้กำกับ ย่อมคือประมวลความรุนแรงทั้งหมดที่เกิดขึ้นในเมือง Odessa นำเสนอในเชิงสัญลักษณ์และภาษา Montage แทนด้วยบันไดนี้เดียวพอ

มีสามผลงานในยุคหนังเงียบของ Eisenstein ไม่ใช่ภาคต่อแต่ถือว่ามีความต่อเนื่องทางช่วงเวลา วิสัยทัศน์ จริงๆต้องการสร้างเป็นซีรีย์ 7 เรื่อง ตั้งชื่อว่า Towards Dictatorship แต่ก็สำเร็จเสร็จแค่นี้แหละ ถ้ามีโอกาสอย่าจมปลักสนแต่ Battleship Potemkin เรื่องเดียวนะครับ หาผลงานอื่นมารับชมด้วยใน Youtube ซับอังกฤษพร้อม จะได้เข้าใจวิสัยทัศน์ตัวตนของปรมาจารย์ผู้กำกับคนนี้อย่างถ่องแท้ (ดูต่อเนื่องกันได้ยิ่งดี)
– Strike (1925)
– Battleship Potemkin (1925)
– October (1928) หรือ Ten Days That Shook The World

ผมเคยรับชม Battleship Potemkin มาก็หลายรอบ ไม่ค่อยที่จะชื่นชอบประทับใจเสียเท่าไหร่ คาดว่าด้วยเหตุผลเดียวเท่านั้นคือดูไม่รู้เรื่อง หนังมีความซับซ้อนลึกซึ้ง ต้องอาศัยประสบการณ์และความรู้ในศาสตร์ภาพยนตร์มากทีเดียวถึงสามารถซึมซับซาบความยิ่งใหญ่ทรงพลัง ซึ่งการหวนกลับมารับชมครานี้ มันทำให้โดยส่วนตัวรู้สึกขนลุกขนพองอย่างบอกไม่ถูก

Sergei Mikhailovich Eisenstein (1898 – 1948) นักทฤษฎี ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติรัสเซีย ได้รับการยกย่องว่าคือ “Father of Montage.” เกิดที่ Riga, Latvia (ขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ Russia Empire) ในครอบครัวชนชั้นกลาง พ่อเป็นวิศวกรต่อเรือทำให้เด็กชาย Sergey วาดฝันโตขึ้นตามรอย เข้าเรียน Institute of Civil Engineering แต่ภายหลังเปลี่ยนใจมาสาย School of Fine Arts, ในช่วงปฏิวัติรัสเซีย 1917 สมัครเข้าร่วม Red Army โค่นล้มระบบ Tsarist เมื่อสำเร็จลุล่วงสมัครงานคณะละครเวที Proletkult Theatre, Moscow ทำงานเป็นนักออกแบบสร้างฉาก เครื่องแต่งกาย ไม่นานนักเริ่มสนใจในสื่อภาพยนตร์ เริ่มจากกำกับหนังสั้น Glumov’s Diary (1923) เขียนบทความ The Montage of Film Attractions (1924) แล้วสร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Strike (1925) เพื่อสนองแนวคิดนี้

“An attraction (in our diagnosis of theatre) is any aggressive moment in theatre, i.e. any element of it that subjects the audience to emotional or psychological influence, verified by experience and mathematically calculated to produce specific emotional shocks in the spectator in their proper order within the whole. These shocks provide the only opportunity of perceiving the ideological aspect of what is being shown, the final ideological conclusion”.

คำอธิบายเปรียบเทียบง่ายๆของทฤษฎี Montage ในวิสัยทัศน์ของ Eisenstein คือสมการคณิตศาสตร์ A + B = C นำภาพสองช็อตมาวางเรียงต่อเนื่องจะทำให้เกิดเป็นอีกความหมายหนึ่ง อาทิ
– น้ำ + ตา = การร้องไห้
– ประตู + หู = การแอบฟัง
– ปาก + นก = การร้องเพลง

เกร็ด: กับคนที่เคยศึกษาทฤษฎี Montage จะรับรู้ว่าจริงๆแล้วมันมี 3 แนวคิด
1) Kuleshov Effect, อธิบายง่ายๆด้วยสมการ A + B = C แต่จะมีลักษณะ ตัวละคร + เหตุการณ์ = ความรู้สึก/ความหมาย
2) Eisenstein Montage, การตัดต่อควรมีเหตุผลในตัวเอง ความขัดแย้งระหว่าง 2 ช็อต จะเกิดขึ้นเป็นความหมายใหม่ขึ้นมา
3) Pudovkin Montage, การสร้างความหมายเกิดจากการเรียงชิดกันของช็อต หรือสมการ A + B = AB ไม่ได้สร้างความหมายใหม่ขึ้นมา แต่เสริมอธิบายกันและกัน

เกร็ด: หนังเรื่องโปรดหนึ่งเดียวของ Eisenstein คือ Snow White and the Seven Dwarfs (1937)

เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีของการปฏิวัติรัสเซียครั้งแรก Russian Revolution 1905 คณะกรรมการกลาง Commission of the Central Executive Committee ตัดสินใจทำหลายสิ่งอย่างเพื่อเป็นโปรแกรมเฉลิมฉลอง ประกอบด้วย เทศกาล, ภาพยนตร์, ละครเวที ฯ

“a grand film shown in a special program, with an oratory introduction, musical (solo and orchestral) and a dramatic accompaniment based on a specially written text”.

นักเขียน/อดีตนักปฏิวัติชื่อดังของรัสเซียขณะนั้น Nina Agadzhanova (1889 – 1974) ได้ถูกขอให้พัฒนาบทภาพยนตร์เพื่อมอบให้ผู้กำกับหน้าใหม่ Sergei Eisenstein ซึ่งผลงานแรกแจ้งเกิด Strike (1925) ได้รับเสียงตอบรับดีล้นหลาม, โดยในบทดั้งเดิมมีทั้งหมด 8 Episode ประกอบด้วยสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น, การสังหารหมู่ชาว Armenian, เหตุการณ์ปฏิวัติที่ St. Petersburg, Moscow Uprising ฯ

ถือว่าเป็นโปรเจคที่ค่อนข้างเร่งรีบ เพราะ Eisenstein ได้รับมอบหมายเมื่อต้นปี 1925 และต้องให้เสร็จสิ้นภายในปีนั้น (ไม่เช่นนั้นจะเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปี ได้เช่นไร) ก็ขนาดว่ามีการเริ่มต้นถ่ายทำไปก่อนแล้วบางส่วนตั้งแต่เดือนมีนาคม แต่บทหนังทั้งหมดมาถึงมือของเขาวันที่ 4 มิถุนายน คาดว่าคงไม่ทันแน่ๆ เลยเลือกเพียง Episode เดียวที่น่าสนใจสุด

Potemkin Uprising 1905 นำโดยนายทหารเรือฝ่ายพลาธิการ Afanasy Matyushenk และลูกเรือ Grigory Vakulenchuk วางแผนก่อการกบฎยึดเรือ เพราะไม่พึงพอใจต่อการบริหารของผู้บังคับบัญชาการ และผลกระทบต่อเนื่องจากความพ่ายแพ้สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น Russo-Japanese War (1904-05) ทำให้สูญเสียสมดุลขั้วอำนาจโลก จักรวรรดิญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทนรัสเซียในทศวรรษนั้น

Battleship Potemkin เป็นเรือก่อนประจัญบาน (pre-Dreadnought) เริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1898 เสร็จสิ้น 1900 ความยาวลำเรือ 115.4 เมตรเดินทางเร็วสุด 16 น็อต (30 km/h) ได้ระยะทางไกล 5,900 กิโลเมตร บรรทุกผู้บัญชาการ 26 คน ลูกเรือ 705 คน สังกัด Imperial Russian Navy ประจำการใน Black Sea Fleet ปลดประจำการเมื่อเดือนตุลาคม 1918 และถูกทำลายกลายเป็นเศษเหล็กเมื่อปี 1923

เกร็ด: ชื่อเรือรบลำนี้มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งทีเดียว
– 1904: Kniaz Potemkin Tavricheskiy (แปลว่า Prince Potemkin of Taurida)
– 1905: Panteleimon (เปลี่ยนชื่อหลังจากยึดคืนได้จากกลุ่มกบฎ)
– 1917: Potemkin-Tavricheskiy
– 1917: Borets za Svobodu

เกร็ด2: เพราะเรือรบ Potemkin ได้กลายเป็นเศษเหล็กไปแล้วตอนปีที่หนังออกฉาย ที่เห็นในหนังคือเรือรบ Dvenadsat Apostolov (แปลว่า Twelve Apostles)

จุดแตกหักของกบฎ Potemkin เริ่มขึ้นวันที่ 27 มิถุนายน 1905 หลังจากเรือแล่นออกจากท่า Sevastopol มีลูกเรือค้นพบว่าเนื้อสำหรับอาหารกลางวันเต็มไปด้วยหนอนขึ้นยั้วเยี้ย ขณะที่หมอประจำเรือเข้ามาตรวจสอบกลับบอกว่าปกติดี สร้างความไม่พึงพอใจให้อย่างยิ่งยวด Matyushenko และ Vakulenchuk จึงรวมกลุ่มพรรคพวกประท้วงไม่ยอมกินอาหารมื้อนี้

เมื่อถึงอาหารกลางวันมื้อนั้นไม่มีใครแตะต้องเนื้อดังกล่าว กัปตันเรือ Yvgeny Golikov สั่งให้ทุกคนเข้าแถวรวมตัวกันบนดาดฟ้าเรือ ออกคำสั่ง

“Whoever wants to eat the borscht, step forward”.

กับคนที่ปฏิเสธไม่ยอมก้าวออกมา Golikov สั่งเรียก Marine Guards ตั้งใจจะสำเร็จโทษยิงประหารชีวิต แต่ขณะเดียวกัน Matyushenko ตะโกนขึ้นพูดว่า

“Enough of Golikov drinking our blood! Grab rifles and ammunition…Take over the ship!”

ก่อนหน้าที่เหล่าผู้บัญชาการจะได้ทันตั้งตัว Matyushenko กับ Vakulenchu ตรงสู่ห้องเก็บอาวุธ ยิงปืนตอบโต้บรรดาผู้เข้าข้างถือหางกัปตัน Golikov ด้วยเวลาไม่ถึง 30 นาทีก็สามารถยึดครองเข้าเรือ Potemkin ได้สำเร็จ แต่ต้องแลกมาด้วยกับการสูญเสีย Vakulenchuk โดยยิงโดยต้นหน Ippolit Gilyarovsky ได้รับบาดเจ็บสาหัสช่วยเหลือไม่ทัน ขณะที่กัปตันเรือ Golikov ถูกยิงเสียชีวิตในห้องพักของตนเอง

Afanasy Matyushenko คือคนเสื้อขาวที่ยืนอยู่ตรงกลาง

ความสำเร็จในการยึดเรือ Potemkin ทำให้ Matyushenko วางแผนการใหญ่ ต้องการปลุกระดมคนชั้นแรงงานและชาวรัสเซีย ให้ลุกขึ้นโค่นล้มระบบ Tsarist ทำการเลือกตั้งกรรมการ 25 คนขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการเรือ ตั้งเข็มมุ่งสู่เมืองท่า Odessa เพื่อตุนเสียง แพร่กระจายข่าวความสำเร็จ และหากลุ่มผู้สนับสนุนเพิ่มเติม

เรือ Potemkin ล่องมาถึงท่าเรือ Odessa ในค่ำคืนนั้น ลูกเรือนำร่างอันไร้วิญญาณของ Vakulenchuk นอนลงบริเวณใกล้ๆ Richelieu Steps ซึ่งถือเป็นบันไดทางเข้าสู่เมือง ตอนเช้าใครเดินผ่านย่อมต้องมองเห็น และมีข้อความเขียนติดหน้าอก

“Before you lays the body of the battleship Potemkin sailor Vakulenchuk who was savagely slain by the first officer because he refused to eat borscht that was inedible”.

ไม่นานนักผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลจากทั่วทุกสารทิศ เข้ามารวมตัวร่วมพิธีศพของ Vakulenchuk ที่ Odessa พร้อมส่งสัญญาณเกรี้ยวกราดไม่พึงพอใจผู้มีอำนาจของรัสเซีย ซึ่งขณะเดียวกันเรื่องราวนี้ก็ได้ไปถึงหูของ Tsar Nicholas II สั่งให้กองทัพรีบเร่งจัดการยุติการรวมตัวของฝูงชนนี้ และกลุ่มกบฎอย่างรวดเร็ว พร้อมกำชับย้ำ

“Each hour of delay may cost rivers of blood in the future”.

บ่ายวันนั้นเมือง Odessa เต็มไปด้วยผู้คน กรรมกรแรงงาน หลายคนเร่งรัดลูกเรือ Potemkin ให้ทำการเข้ายึดครองเมืองเพื่อเป็นฐานบัญชาการใหญ่ แต่แล้วเมื่อพระอาทิตย์ตกดิน ทหารของ Tsar ก็ได้มาถึงพร้อมกราดยิงฝูงชนไปทั่วโดยไม่สนลูกเด็กเล็กแดงใครทั้งนั้น ประเมินผู้เสียชีวิตในค่ำคืนนั้นน่าจะกว่า 1,000 คน

ภาพเหตุการณ์จริง การสู้รบจราจลที่เมืองท่า Odessa

แม้เมือง Odessa จะกลายเป็นจุนไปเรียบร้อย แต่ Matyushenko ตัดสินใจนำพา Potemkin ออกเดินทางต่อ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ก็ได้พบเจอกองเรือหนึ่งของ Tsar นำโดยเรือรบ St. George แต่เพราะลูกเรือต่างรู้สึกสงสารเห็นใจพวกเดียวกันเอง เลยก่อกบฎภายในจนสามารถยึดเรือได้สำเร็จ และกลายเป็นพันธมิตรร่วมกับเรือ Potemkin

เรื่องราวของหนังจบลงเพียงเท่านี้ แต่เหตุการณ์จริงยังมีต่ออีกหน่อย เพราะหลังจากนี้เมื่อ Potemkin และ St. George จ่อเทียบท่าเรือแห่งหนึ่งเพื่อกักตุนเสบียง ยังมีกลุ่มผู้จงรักภักดีใน Tsar (ของเรือรบ St. George) ก่อนการกบฎย้อน (Counter-Mutiny) เข้ายึดคืนเรือรบได้สำเร็จ เป็นเหตุให้ Potemkin ต้องแล่นหนีหัวซุกหัวซุน ขาดน้ำขาดเสบียงไร้ท่าเรือให้การสนับสนุน จนวันที่ 8 กรกฎาคม ผลโหวตยินยอมจำนนยกธงขาว แล่นสู่ท่าเรือ Contanza, Romanian ขอหลบลี้ภัยทางการเมือง สิ้นสุดเหตุการณ์ Potemkin Uprising 1905

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ลูกเรือหลายคนตัดสินใจปักหลักลี้ภัย บางส่วนหวนกลับคืนสู่รัสเซีย ขณะที่ Matyushenko กลายเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงของคณะปฏิวัติ เคยได้พบเจอ Vladimir Lenin ที่ประเทศ Switzerland แอบลักลอบกลับประเทศเพื่อต่อสู้กับ Tsar แต่ก็ถูกจับได้และประหารชีวิตเมื่อเดือนตุลาคม 1907

reference: https://www.history.com/news/mutiny-on-the-battleship-potemkin-110-years-ago

เรื่องราวของ Battleship Potemkin ในบทหนังของ Agadzhanova มีความยาวไม่กี่หน้ากระดาษเท่านั้น นั่นทำให้ Eisenstein ร่วมกับ Grigori Aleksandrov ต้องดั้นสดหลายๆฉากขึ้นมา โดยเฉพาะ Odessa Steps แทบจะขายผ้าเอาหน้ารอด ผลลัพท์สุดท้ายกับตัวหนัง ต่างจากเนื้อหาของบทดั้งเดิมอย่างมากทีเดียว

Eisenstein ยังคงเลือกใช้นักแสดงสมัครเล่นจากคณะ Proletcult Theatre ที่ตนได้เคยทำงานไต่เต้าจนเป็นถึงผู้จัดการ ก่อนเริ่มเกิดความสนใจในวงการภาพยนตร์ กระนั้นก็มีหลายคนเริ่มคุ้นหน้า เพราะเห็นร่วมงานกันมาหลายเรื่องแล้ว อาทิ
– Aleksandr Antonov (รับบท Grigory Vakulinchuk) ขาประจำของ Eisenstein ตั้งแต่หนังสั้น Glumov’s Diary (1923)
– Grigori Aleksandrov (รับบท Chief Officer Giliarovsky) จากนักแสดงกลายเป็นผู้กำกับหนังเพลงในยุค Talkie Era ร่วมกับภรรยา Lyubov Orlova ในผลงานดังอย่าง Jolly Fellows (1934), Circus (1936), Volga-Volga (1938), Tanya (1940) ฯ
– Vladimir Barsky (รับบท Commander Golikov) จริงๆเป็นผู้กำกับ มีผลงานมาก่อนหน้า Eisenstein จะเข้าวงการเสียอีก แต่เลิกสร้างภาพยนตร์หลังการมาถึงของยุคสมัยหนังเงียบ
ฯลฯ

ในทศวรรษหนังเงียบของ Eisenstein จะมุ่งเน้นนำเสนอเรื่องราวที่มีลักษณะเป็นภาพรวมของกลุ่มคน กรรมการแรงงาน ทหาร/ตำรวจ ฯ ไม่เฉพาะเจาะจงลงไปเน้นที่ตัวบุคคลเสียเท่าไหร่ นั่นเพราะทัศนะแนวคิดนี้สอดคล้องกับอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ มนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียม, แต่เมื่อวงการภาพยนตร์เปลี่ยนผ่านสู่ยุคหนังพูด และโลกทัศนคติของผู้กำกับที่แตกต่างออกไป ผลงานยุคหลังๆ Alexander Nevsky (1938), Ivan the Terrible (1944-46) ถึงค่อยกลับมาเน้นนำเสนอที่ตัวบุคคล วีรบุรุษสร้างชาติ (และทำลายชาติ)

ถ่ายภาพโดย Eduard Tisse ขาประจำหนึ่งเดียวของ Eisenstein ไปไหนไปด้วย ร่วมงานกันจนถึงผลงานเรื่องสุดท้าย, ส่วนหนึ่งของหนังใช้ฟุตเทจจาก Archive และมีการสร้างโมเดล(เรือ)จำลอง ให้ดูเหมือนเรือรบ Potemkin มากกว่า Dvenadsat Apostolov ที่ใช้ในการถ่ายทำ

ลำดับภาพไม่มีเครดิต แต่ย่อมต้องเป็น Eisenstein เองนะแหละ, เพราะหนังมิได้มุ่งเน้นนำเสนอที่ตัวบุคคล จะถือว่าใช้มุมมองของลูกเรือรบ Potemkin ในการดำเนินเรื่องก็ยังได้

คำกล่าวเริ่มต้นของหนังจะมี 2 ฉบับ ดั้งเดิมเลยคือของ Leon Trotsky แต่ภายหลังเกิดความขัดแย้งกับ Joseph Stalin เลยมีการเปลี่ยนคำอ้างถึงของ Vladimir Lenin แทน

ฉบับดั้งเดิม

“The spirit of mutiny swept the land. A tremendous, mysterious process was taking place in countless hearts: the individual personality became dissolved in the mass, and the mass itself became dissolved in the revolutionary élan.”

–  Leon Trotsky

ฉบับใหม่

“Revolution is war. Of all the wars known in history, it is the only lawful, rightful, just and truly great war…In Russia this war has been declared and won”

– Vladimir Lenin

เรื่องราวของหนังแบ่งออกเป็น 5 ตอน/องก์ จะมีชื่อปรากฎขึ้นบน Title Card ก่อนเสมอ และตอนจบจะมีข้อความตบท้าย (หมดม้วนฟีล์มด้วยพอดิบพอดี)

ตอนที่ 1: Men and Maggots
เริ่มต้นที่ภาพคลื่นกระทบฝั่ง Matyushenko กับ Vakulinchuk กำลังพูดคุยเกี่ยวกับการปฏิวัติในรัสเซียที่กำลังจะเกิดขึ้น, ขณะนั้นเรือรบ Potemkin จอดเทียบท่าอยู่ที่เกาะ Tendra วันพักผ่อนพอตื่นขึ้นมาพบเจอความหงุดหงิดฉุนเฉียว เพราะเนื้อที่จะเป็นอาหารเช้ากลับเต็มไปด้วยหนอนเน่าขึ้นเต็มไปหมด แต่นายแพทย์ประจำเรือกลับยืนกรานก็ปกติดี ทำให้เกิดการประท้วงเงียบไม่มีใครยอมกินอาหารจานเนื้อมื้อนี้

ภาพแรกของหนัง คลื่นกระทบฝั่ง สะท้อนนัยยะถึงความขัดแย้ง/เกรี้ยวกราด ระหว่างสองสิ่ง (ผืนน้ำ-โขดหิน) อาทิ
– ลูกเรือ กับผู้บังคับบัญชา
– ประชาชน/กรรมาชีพ กับทหารตำรวจ Tsar
– และยังสะท้อนกับทฤษฎี Montage ของผู้กำกับ Eisenstein ที่ว่า ‘การตัดต่อควรมีเหตุผลในตัวเอง ความขัดแย้งระหว่าง 2 ช็อต จะเกิดขึ้นเป็นความหมายใหม่ขึ้นมา’

สภาพในเรือ Potemkin ลูกเรือต่างหลับนอนเปลกันอย่างไม่เป็นที่เป็นทางไร้ระเบียบสิ้นดี นี่สะท้อนถึงความมั่วซั่วสะเปะสะปะ เต็มไปด้วยความขัดแย้ง (สะท้อนเข้ากับทฤษฎี Montage ได้อีกแล้ว) ในจิตใจของมนุษย์ก็คือความคอรัปชั่นคดโกงกิน

หนอนขึ้นเนื้อเน่า สะท้อนความคอรัปชั่นที่พบเห็นกันอยู่จังงังต่อหน้า แต่กลับกลบเกลื่อนเบี่ยงเบนเหมือนนาฬิกายืมเพื่อน ปัดความรับผิดชอบไม่สนใจ นี่คงคือสภาพของ Tsarist ที่ผู้กำกับ Eisenstein ต้องการเปรียบเทียบถึง

น่าจะมีใครนำอาหารจานเนื้อยัดปากพวกผู้บังคับบัญชานี้เหลือเกินนะ กินได้ใช่ไหมไหนลองกินให้ดูหน่อยสิ!

วันๆของลูกเรือ Potemkin มีหน้าที่ทำความสะอาดขัดเช็ดถูเรือรบให้ดูสะอาดใหม่เอี่ยม พร้อมใช้งานในสถานการณ์จริง, ผมมองภาพเหล่านี้เปรียบได้กับเหล่ากรรมกรแรงงาน ที่ต้องทำงานเพื่อสนองผู้มีอำนาจ/ผู้บัญชาการ/ผู้นำประเทศ ให้ได้รับผลประโยชน์ส่วนตน แต่สิ่งที่ตอบสนองต่อพวกเขา จะมีการตัดสลับไปมาของภาพขณะทำครัวปรุงอาหาร มันคือจานเนื้อเน่าที่ไม่มีใครอยากกิน เช่นนี้ใครกันจะไปทนได้

ช็อตขัดท่อกระบอกปืนใหญ่ สัญลักษณ์ของลึงค์/อวัยวะเพศชาย นี่ราวกับสะท้อนว่า การทำงานของเหล่าลูกเรือก็เพื่อสนอง ‘ตัณหา’ ความต้องการทางสัญชาติญาณของท่านผู้นำ

แซว: ข้อเท็จจริงเป็นยังไงไม่รู้นะ แต่นักวิจารณ์หลายคนให้ข้อสังเกตว่า Eisenstein อาจเป็นเกย์หรือไบ จึงมีความลุ่มหลงใหลในสัญลักษณ์นี้ พบเห็นบ่อยๆในภาพยนตร์หลายๆเรื่อง

ตอนที่ 2: Drama on the Deck
ใครก็ตามที่ไม่ยอมทานอาหารจานเนื้อนี้ จะต้องถูกประหารยิงเสียชีวิต เช่นนั้นแล้วใครจะทนได้ เกิดการกบฎลุกฮือขึ้นยึดอำนาจจากผู้บังคับบัญชา แลกมากกับการเสียชีวิตของ Vakulinchuk

ไดเรคชั่นของฉากบนด่านฟ้าเรือ ต้องชมผู้กำกับเลยว่ามีการวางแผนมาอย่างยอดเยี่ยม นักแสดงเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มฝักฝ่าย มุมกล้องเดี๋ยวตัดสลับไปมาก้มเงย ระหว่างผู้บังคับบัญชาและลูกเรือ สมชื่อตอน Drama on the Deck จริงๆ

สังเกต: เรือ Dvenadsat Apostolov ที่ใช้ในการถ่ายทำ จอดแน่นิ่งอยู่ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวใดๆ

ช็อตของ Commander Yvgeny Golikov เป็นภาพมุมเงยขึ้น แสดงถึงพลังอำนาจ ตำแหน่งยศศักดิ์ของตนเองที่อยู่สูงสุดในเรือรบ Potemkin ลำนี้

มือที่เขาชี้ไปนั้น เพื่อให้บรรดาลูกเรือทั้งหลายจินตนาการเห็นภาพซ้อนของการเป็นกบฎ จะถูกแขวนคอลงมาจากบนเสากระโดงเรือ แค่คิดบางคนก็เกิดความหวาดกลัวยอมพ่ายแพ้แล้ว ต้องพวกสายแรงจริงๆเท่านั้นถึงขัดขืนต่อต้าน ไม่ยอมรับการใช้อำนาจในทางที่ผิดแบบนี้

พระเจ้าในมุมของ Eisenstein มาอย่างเซอร์ Special Effect พ่นควันพื้นหลัง(พร้อมแสงไฟ) จัดเต็มอย่างอลังการงานสร้าง แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ปาฏิหารย์ใดๆเกิดขึ้น ทั้งหมดล้วนเกิดจากการวางแผนเตรียมการมาอย่างดี และคำพูดของ Matyushenko ที่สามารถเตือนสติลูกเรือทุกคน ก่อการกบฎยึดเรือ Potemkin ได้สำเร็จ

สังเกตว่าภาพถ่ายมุมเงยแบบเดียวกับ Commander Yvgeny Golikov ถือเป็นลักษณะของ Intellectual Montage ที่กำลังได้รับการพัฒนาขึ้น (แล้วไปโดดเด่นในผลงานต่อไป October) มีความหมายสื่อถึงว่า พระเจ้าไม่ต่างอะไรกับบรรดาพวกผู้นำ/ผู้บังคับบัญชา เลยสักนิด

เกร็ด: แม้ว่าผู้กำกับ Eisenstein พ่อมีเชื้อสาย Jews แล้วเปลี่ยนตามแม่มาเป็น Orthodox Christian แต่ตัวเขาภายหลังบอกว่า ตนเองเป็นพวกนอกรีต Atheist ไม่เชื่อว่าพระเจ้าจริง ช็อตนี้เลยจะสื่อตรงๆว่า พระเจ้ามีจริงเสียที่ไหนกัน!

การตายของ Vakulinchuk ช่างลีลายึกยักเสียเหลือเกิน ห้อยต่องแต่งติดเชือก ราวกับจะกลายเป็นเหยื่อล่อปลาฉลาม, ทีแรกผมก็ไม่เข้าใจว่าช็อตนี้จะสื่อความหมายถึงอะไร แต่เมื่อได้รับชม October (1928) มันจะมีภาพลักษณะคล้ายๆกันนี้แต่เป็นม้าตัวหนึ่งห้อยต่องแต่งลงจากสะพานแขวนที่ถูกดึงขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจเลยว่า นี่คือสัญลักษณ์ของแพะรับบาป ผู้โชคร้ายที่กลายเป็นโจกย์ของสังคม ก่อให้เกิดการรวมตัวเรียกร้องและกลายเป็นผู้นำการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ

ตอนที่ 3: A Dead Man Calls for Justice
เรือ Potemkin ออกเดินทางสู่เมืองท่า Odessa ลูกเรือนำร่างอันไร้วิญญาณของ Vakulinchuk นอนลงกางเต้นท์ไว้ตรงริมน้ำ เมื่อผู้คนมาพบเห็นจึงเกิดกระแสปากต่อปาก ข่าวสารแพร่ไปไวพอๆกับโลกอินเตอร์เน็ต ไม่นานผู้คนดั่งสายธารน้ำตกหลั่งไหลกรูกันเข้ามาร่วมพิธีไว้อาลัย

ไดเรคชั่นตอนเริ่มองก์นี้น่าสนใจมากๆ ด้วยแนวคิดของ Tonal Montage เลือกช็อตสวยๆภาพจากธรรมชาติ ผืนน้ำ แสงอาทิตย์ ร้อยเรียงด้วยจังหวะที่เชื่องช้า รุ่งอรุณหลังความตาย ให้สัมผัสของ ‘คลื่นสงบก่อนพายุคลั่ง’

ผู้คนจำนวนมากมายมหาศาล เดินเรียงรายกันเข้ามาเพื่อให้ได้พบเห็นเข้าใกล้ว่าที่วีรบุรุษ, สังเกตว่าแทบทุกช็อตที่ถ่ายเห็นบรรดาฝูงชน จะต้องมีทิศทางเดินโค้งๆเลี้ยวลด หรือขึ้น-ลงบันได แต่จะมีครั้งเดียวเท่านั้นที่เห็นตรงดิ่ง ซึ่งช็อตนั้นจะมีการปิดภาพด้านข้างซ้ายขวา เห็นเฉพาะตรงกลาง เพื่ออะไรก็ไม่เหมือนกันรู้นะ คงอยากให้ผู้ชมเห็นแค่ฝูงชนเดินตรงลงจากบันไดตรงกลางเท่านั้นกระมัง

ช็อตที่เห็นฝูงชนที่มารวมตัวกันตรงเต้นท์ของ Vakulinchuk มีลักษณะเหมือนบนด่านฟ้าเรือรบ Potemkin อัดแน่นไปด้วยผู้คน ริมฝั่งด้านขวาติดผืนน้ำ และฝั่งซ้ายติดพื้นแผ่นดิน ตำแหน่งนี้ถือว่าอยู่กึ่งกลางระหว่างสองสิ่งที่มีความขัดแย้งกัน

ตอนที่ 4: The Odessa Steps
ประชาชนชาว Odessa ขณะกำลังโบกมือแสดงความสนับสนุนช่วยเหลือเรือ Potemkin ทันใดนั้นเองทหารของ Tsar ได้เดินทางมาถึง กราดยิงผู้คนขณะเดินลงจากบันได Richelieu Steps พร้อมๆกับรถเข็นของเด็กทารกน้อย

ไดเรคชั่นของ Sequence นี้ ใช้แนวคิดของ Overtonal Montage (ส่วนผสมของ Metric, Rhythmic, Tonal)
– (Metric) สร้างจังหวะด้วยฝีเท้าของทหารเดินลงจากบันได (ใน Soundtrack จะได้ยินเสียงกลองดังขึ้นด้วย) ด้วยปริมาณเวลาที่กำหนดไว้อย่างดี
– (Rhythmic) ตัดสลับความต่อเนื่องกับภาพของฝูงชนที่วิ่งหนีตายกันอย่างแตกตื่น ใบหน้าของผู้หญิง คนแก่ และรถเข็นของเด็กทารก
– (Tonal) ก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างขึ้นต่อเหตุการณ์นี้

รถเข็นเด็กทารกที่ไหลตกบันได มีการครุ่นคิดตีความต่างๆนานามากมาย อาทิ
– เด็กทารก คือสัญลักษณ์ของความไร้เดียงสา ประชาชนผู้บริสุทธิ์ถูกเข่นฆ่า + ล้อหมุน คือวัฎจักรชีวิตที่เวียนวนไป กำลังตกบันไดคือความดับสิ้นสูญ = อนาคตที่หมดสิ้นหวัง
– รถเข็นไหลตกบันได + แถวทหารเดินลงบันได = ก้าวสู่หายนะ
– ขณะที่รถเข็นหงายหลัง + จะพอดีกับชายคนหนึ่งเงื้อมมือฟาดไม้ = ความรุนแรง/การกระทำร้ายต่อผู้บริสุทธิ์
– ผู้ชมเกิดความหวาดหวั่นกลัว ‘Horror’ ต่อสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กเมื่อตกบันได สะท้อนเข้ากับความรู้สึกต่อเหตุการณ์เข่นฆ่าล้างประชาชนที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้
ฯลฯ

แซว: สังเกตเงาของช็อตที่เด็กทารกน้อยกำลังตกบันได มีลักษณะเหมือนร่มซึ่งคงใช้กันแดดให้กับทั้งเด็กและตากล้องถ่ายทำ

หนึ่งในช็อตเจ็บปวดรวดร้าวใจที่สุด แม่อุ้มลูกเผชิญหน้ากับแถวทหารเพื่อร้องขอไว้ชีวิต แต่มีหรือพวกเขาจะสนใจในปัจเจกบุคคล, หนังใช้ภาพเงาแทนแถวทหาร เพื่อสื่อความหมายถึง พวกเขาก็เพียงแค่สิ่งไร้ตัวตน/หุ่นยนต์/เงาของ Tsar ทำทุกอย่างไปตามหน้าที่คำสั่งก็เท่านั้น

สังเกตว่าหนังไม่ถ่ายให้เราเห็นใบหน้าของเหล่าทหารผู้โหดเหี้ยมที่เดินแถวลงมาจาก Richelieu Steps นี่เพื่อไม่ให้ผู้ชมเกิดความจดจำในตัวบุคคล แต่มองเห็นเป็นองค์ประกอบโดยรวมความชั่วร้ายของทหารภายใต้การปกครองของ Tsar Nicholas II

อีกช็อตหนึ่งที่ได้รับการจดจำสูงสุดของหนัง หญิงคนหนึ่งถูกยิงเข้าที่ตาโดนกระจกแว่นแตกร้าว, ดวงตา/แว่นตา มักสื่อถึง วิสัยทัศน์ มองการไกล โลกอนาคต ซึ่งช็อตนี้ถูกยิงเข้าที่ตา/กระจกแว่นแตก หมายถึงการจบสิ้นสุด ไร้อนาคต ชีวิตหมดสิ้นความหวัง

จากรูปปั้นราชสีห์หลับกลายเป็นตื่นขื่นขึ้นมา มีทั้งหมด 3 ภาพถือเป็นลักษณะของ Intellectual Montage สื่อความหมายถึง การมิอาจอยู่นิ่งเพิกเฉยได้อีกต่อไป แต่ก็ไม่รู้ว่าจะสื่อถึงกลุ่มปฏิวัติ หรือ Tsar กันแน่ (ผมคิดว่าน่าจะเป็น Tsar มากกว่านะ เพราะสิงโตคือสัญลักษณ์ของเจ้าป่า/ผู้นำมีอำนาจสูงสุด)

ธงสีแดงคือสัญลักษณ์ของ Red Army พรรคคอมมิวนิสต์ ใช้วิธีการลงสีลงในฟีล์มทีละภาพ เห็นว่ามีประมาณ 108 ช็อต โดย Eisenstein ทั้งหมด แต่ในหลายโรงภาพยนตร์ที่ไม่สามารถฉายเห็นภาพสีแดงได้ ก็จะเห็นเป็นธงสีดำ (ตรงกันข้ามกับธงของ Tsar ที่เป็นสีขาว)

ฉากนี้ตอนหนังฉายรอบปฐมทัศน์ เห็นว่าได้รับเสียงปรบมืออย่างเกรียวกราว

ตอนที่ 5: One Against All
เรือ Potemkin ออกจากท่าเรือ Odessa เพื่อเผชิญหน้ากับกองเรือรบของ Tsar ที่กำลังค่อยๆประชิดเข้ามา แต่นั่นคือมิตรหรือศัตรู ลูกเรือทุกคนเตรียมพร้อมรบ สุดท้ายจบสิ้นด้วยสภาวะอาการค้าง Anti-Climax แต่สื่อความหมายถึง กลุ่มคณะปฏิวัติไม่มีวันทิ้งกัน

ทั้ง Sequence นี้เล่นกับการตัดต่อเตรียมการ ใช้ความเร็วและสถานการณ์เพื่อสร้างความระทึกขวัญตื่นเต้น ใครเคยรับชม Dr. Strangelove (1964) ของผู้กำกับ Stanley Kubrick น่าจะได้อิทธิพลแรงบันดาลใจจากตอนนี้ไปเต็มๆ

ภาพเงาที่สะท้อนจากเรือรบ St. George เห็นลูกเรือยืนโบกมือกระโดดโลดเต้น มีความสวยงามมากๆ (แฝงนัยยะถึงสิ่งที่เรือรบลำนี้กลายเป็น ได้แค่เพียงเงาสะท้อนของเรือรบ Potemkin) ขณะเคลื่อนผ่านเรือรบ Potemkin ที่ถ้าใครสังเกตดีๆจะพบว่าจอดแน่นิ่งไม่ไหวติง (คือถ้าเรือทั้งสองลำเคลื่อนไปในทิศทางนี้ ไม่ว่ายังไงต้องชนกันแน่)

นี่เป็นช็อตที่ตรงกันข้ามกับตอน 1-2 ที่มักถ่ายจากด้านบนลงมาเห็นด่านฟ้าของเรือรบ Potemkin แต่วินาทีนี้ราวกับว่าทุกสิ่งอย่างได้กลับตารปัตร แม้เป็นเพียงชัยชนะเล็กๆของกลุ่มกบฎ/คณะปฏิวัติ ก็ราวกับประชาชน/กรรมกรแรงงาน ได้มีสิทธิ์เงยหน้าขึ้นมอง/โค่นล้น ผู้นำ/ผู้มีอำนาจ/Tsarist ให้ลงจากบัลลังก์สูง

เห็นภาพนี้นึกถึงโปสเตอร์หนังเรื่อง Titanic (1997) ขึ้นมาเลย จำไม่ได้ว่าในหนังมีช็อตนี้หรือเปล่า

สำหรับเพลงประกอบ เป็นความตั้งใจของผู้กำกับจะให้มีแต่งขึ้นใหม่ทุกๆ 20 ปี โดยฉบับแรกสุด Edmund Meisel ใช้เวลาเพียง 12 วัน ออกแสดงสดในรอบฉายปฐมทัศน์ที่กรุง Berlin ด้วยวง Salon Orchestra (วงออเครสต้าขนาดเล็ก ใช้เครื่องดนตรีไม่กี่ชนิด อาทิ ฟลุต, ทรัมเป็ต, ทรัมโบน, Harmonium, เครื่องกระทบ และเครื่องสาย ไม่มีวิโอล่า) ได้รับคำแนะนำโดยตรงจาก Eisenstein ที่ตัดสินใจเดินทางไปร่วมงานตั้งแต่ก่อนออกฉาย (เห็นว่าได้มีโอกาสเยี่ยมเยียนผู้กำกับ Fritz Lang ในกองถ่าย Metropolis ด้วยนะ)

“the music for this reel should be rhythm, rhythm and, before all else, rhythm”.

ปัจจุบันมีการเรียบเรียงฉบับนี้เป็น Soundtrack โดย Mark-Andreas Schlingensiepen บรรเลงร่วมกับวง German Filmorchestra Babelsberg หารับชมได้ในฉบับของ Kino Version

Battleship Potemkin คือเรื่องราวชักชวนเชื่อ ‘Propaganda’ สร้างขึ้นให้ประชาชนชาวรัสเซียยุคสมัยนั้น รู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นสหภาพโซเวียต ระบอบการปกครองสังคมนิยม และอดีตท่านผู้นำ Vladimir Lenin (ตอนนั้นเพิ่งเสียชีวิตไปหยกๆปี 1924) โทษว่ากล่าวระบบ Tsarist คือต้นเหตุนำพาประเทศชาติสู่ความล่มจมตกต่ำในยุคก่อนหน้าการปฏิวัติจะสำเร็จลุล่วง

เราจะไม่ทนต่อความเผด็จการ คอรัปชั่น ของผู้มีอำนาจในมือ เห็นกันอยู่ทนโท่ว่าเกิดอะไรขึ้น หนอนขึ้นเนื้อเน่าจะมาเสแสร้งบอกไม่เป็นไรได้อย่างไร แถมการใช้กำลังความรุนแรงเข้าปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนอย่างโหดเหี้ยมเลือดเย็น เช่นนี้ก็ยินยอมรับไม่ได้เช่นกัน

ตอนสุดท้ายของหนัง ถึงมันจะมีลักษณะ Anti-Climax (เตรียมพร้อมจะสู้รบมาอย่างดี สุดท้ายปืนสักนัดกลับไม่ได้ยิง) และข้อเท็จจริงหลังจากนี้ของเรือรบ Potemkin คือหายนะความล้มเหลวของการก่อกบฎ แต่จบแค่นี้มองได้คือความตั้งใจชักชวนเชื่อผู้ชม พี่น้องสมาชิกคณะปฏิวัติทั้งหลาย เมื่อเลือกเดินทางสายนี้แล้วเราจะไม่ทอดทิ้งกันและกัน เป็นตอนจบที่มอบโอกาส ความหวัง สร้างกำลังใจฮึกเหิม (หลังจากรวดร้าวทรมานใจกับ Odessa Steps)

มีตำนานเล่าขานกล่าวว่า ผู้ชมในรัสเซียหลังจากรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบ ตราติดฝังใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น หลงคิดว่าคือเรื่องจริง ออกมาปิดถนนก่อการจราจลด้วยความเกรี้ยวกราดโกรธ ต่อสู้ใช้ความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ/ทหาร ที่เข้ามาสลายการชุมนุม ทั้งๆที่สมัยนั้นไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้วแท้ๆ

ความตั้งใจของ Sergei Eisenstein นอกจากเรื่องการชักชวนเชื่อผู้ชมแล้ว ยังเพื่อสนองทฤษฎี Montage ของตนเอง

“There is no art without conflict,”

ความขัดแย้งของสองภาพทำให้เกิดความหมายใหม่ (A+B=C), ความขัดแย้งระหว่างผู้นำประเทศ/ทหารกับประชาชน ทำให้เกิดโลกยุคสมัยใหม่ ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องที่สนองทั้งอุดมการณ์ และทฤษฎีของตนเองอย่างสมบูรณ์แท้

กาลเวลาผ่านไปสำหรับ Battleship Potemkin ว่ากันว่าอิทธิพลของหนังยังคงทรงพลังอยู่จนถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนค่อยๆลดลงกับการมาถึงของ French New Wave และปัจจุบันนี้ยุคสมัย Post-Modern Cinema หลงเหลือเพียงความทรงจำในหน้าประวัติศาสตร์ หนังสือเรียนวิชาภาพยนตร์สำหรับผู้ต้องการศึกษาเทคนิควิธีการตัดต่อ มันอาจแทบไม่มีคุณค่าอะไรกับผู้ต้องการเสพสาระความบันเทิง แต่คือความท้าทายสำหรับคอหนังเดนตายยุคใหม่ มีปัญญาดูรู้เรื่องเข้าใจ รับสัมผัสถึงความทรงพลังยิ่งใหญ่ได้หรือเปล่า

ออกฉายรอบปฐมทัศน์ทันสิ้นปี 21 ธันวาคม 1925 ที่ Bolshoi Theatre ได้รับเสียงตอบรับดีล้นหลาม เข้าฉายในกรุง Moscow ปีถัดมา ตกแต่งประดับประดาสถานที่ให้คล้ายกับเรือรบ พนักงานสวมชุด Sailor โปรโมทหนัง ประมาณการมีผู้ชมกว่า 300,000 คนในระยะเวลา 3 สัปดาห์

ตามด้วยการเข้าฉายที่ Berlin ไม่ถูกแบนแต่โดนตัดหลายๆฉากออกไป แถม Joseph Goebbels ยังไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ (คือเจ้าตัวก็แอบไปดูก่อน แล้วแสดงความคิดเห็นยกย่องสรรเสริญแบบสุดๆ) แต่กลับประสบความสำเร็จทำเงินล้นหลามแบบคาดคิดไม่ถึง

“a marvelous film without equal in the cinema … anyone who had no firm political conviction could become a Bolshevik after seeing the film”.

–  Joseph Goebbels พูดยกย่อง Battleship Potemkin (1925)

ขณะที่บางประเทศ อาทิ อังกฤษ, ฝรั่งเศส (เผาฟีล์มทุกม้วนที่ส่งเข้าประเทศ) ฯ ไม่ผ่านกองเซนเซอร์ห้ามฉาย เพราะหนังมีเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มกบฎ สร้างความหวาดหวั่นกลัวต่อการลุกฮือยึดอำนาจของพลเมือง/กรรมกรแรงงาน ต้องเวลาล่วงเลยผ่านไปหลายทศวรรษ อย่างสหราชอาณาจักรได้ออกฉายปี 1954 แต่ด้วยเรต X

เมื่อครั้น Douglas Fairbanks และ Mary Pickford เดินทางมาทัวร์ Moscow เมื่อเดือนกรกฎาคม 1926 มีโอกาสรับชม Battleship Potemkin เกิดความชื่นชอบประทับใจอย่างมาก อาสาเป็นผู้จัดจำหน่ายให้ในอเมริกา นี่ทำให้ชื่อของ Eisenstein ข้ามน้ำข้ามทะเลโด่งดังไปถึง Hollywood เป็นครั้งแรก

“The Battleship Potemkin is the most powerful and profound experience of my life”.

– Douglas Fairbanks

(ขณะที่ Pickford เห็นว่าประทับใจหนังมากๆจนน้ำตาร่วง พูดอะไรไม่ออกสักคำ)

อิทธิพลของ Battleship Potemkin ต่อวงการภาพยนตร์ยุคถัดๆมา พบเห็นในหลายๆฉาก/ไดเรคชั่นที่มีความคล้ายคลึง คัทลอกเลียนแบบมาเลย อาทิ
– Odessa Steps ในหนังเรื่อง The Hidden Fortress (1958), Partner (1968), What’s Up, Doc? (1972), Brazil (1985), The Untouchables (1987), Good Bye Lenin! (2003), The Host (2006), 28 Weeks Later (2007) ฯ
– ช็อตถูกยิงเข้าที่แว่นตา อาทิ Foreign Correspondent (1940), Der große König (1942), Bonnie and Clyde (1967), The Godfather (1972), Inglourious Basterds (2009) ฯ
– ช็อตถ่ายเรือ อาทิ Titanic (1997) ฯ
ฯลฯ

เกร็ด: Battleship Potemkin เป็นหนังเรื่องโปรดของ Charles Chaplin, Billy Wilder, Orson Welles, Michael Mann, Paul Greengrass ฯ

สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ คือความลึกล้ำในภาษาและเทคนิคการตัดต่อ Montage เป็นอะไรที่พอเกิดความเข้าใจแล้วจะไม่รู้สึกเบื่อหน่ายแม้แต่น้อย แม้เปรียบได้ดั่งหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ แต่ก็อ่านสนุกเรื่องหนึ่ง

แนะนำคอหนังเงียบ แนวสะท้อนปัญหาสังคม ความคอรัปชั่น, สนใจประวัติศาสตร์รัสเซีย ภาพยนตร์ชวนเชื่อในยุค Soviet Montage, คลั่งไคล้ผู้กำกับ Sergei Eisenstein ไม่ควรพลาด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้กำกับ นักตัดต่อ นักเรียนภาพยนตร์ทั้งหลาย ศึกษาเรียนรู้ทำความเข้าใจ ช็อตต่อช็อตได้ยิ่งดีมีประโยชน์แน่

จัดเรต 15+ กับการภาพความรุนแรง เลือด และการก่อกบฎ

TAGLINE | “Battleship Potemkin ของผู้กำกับ Sergei Eisenstein ได้รับชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ ครั้งสำคัญสุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

2
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
1 Thread replies
5 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
2 Comment authors
ณ.คอน ลับแลOazsaruj Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
Oazsaruj
Guest
Oazsaruj

เรื่องนี้นับวันยิ่งตกอันดับจาก S&S โดยเฉพาะฝั่งผู้กำกับ อีกไม่นานคงหลุด top 100 นับวันหนังเงียบยิ่งตกลงเรื่อยๆ และอีกส่วนเพราะคนรัสเซียที่โหวตมีน้อย และ เป็น Propaganda ใช่รึเปล่าครับ

%d bloggers like this: