Beau Travail

Beau Travail (1999) French : Claire Denis ♥♥♥♥

เมื่อภาพยนตร์เกี่ยวกับทหารสร้างโดยผู้กำกับหญิง ทุกสิ่งอย่างเลยย้อนแย้งกลับตารปัตร โดยเฉพาะมุมมอง ‘Female Gaze’ ชายแท้ๆอาจโคตรเกลียด ขณะที่ชายทั้งแท่งคงคลั่งไคล้หลงใหล จัดได้ว่าคือ Masterpiece เรื่องสุดท้ายแห่งศตวรรษ 20

สักประมาณกลางเรื่อง ผมเกิดอาการรังเกียจ ขยะแขยง หวาดสะพรึงกลัวต่อภาพยนตร์เรื่องนี้! สัมผัสถึงมุมมองภาพที่เสียดแทงเข้าไปส่วนลึกภายในจิตใจ ก่อนตระหนักขึ้นมาได้ว่านั่นคือ ‘Female Gaze’ มุมมองเพศหญิงต่อเรือนร่างบุรุษ ราวกับต้องการ ‘ข่มขืน’ กระทำชำเรา

คนส่วนใหญ่อาจรู้จัก ‘Male Gaze’ สายตาที่ผู้ชายมักจับจ้องมองผู้หญิงด้วยความหื่นกระหาย ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของเรื่อนร่างกาย แต่หนุ่มๆทั้งหลายเคยครุ่นคิดย้อนกลับบ้างไหม ว่าการแสดงออกเช่นนั้นสร้างความรังเกียจ ขยะแขยง หวาดสะพรึงกลัวต่ออิสตรีเพศมากน้อยแค่ไหน!

Beau Travail เป็นภาพยนตร์ที่จะทำให้บุรุษเพศเกิดความรู้สึกหวาดหวั่น หมดสิ้นหวังไร้ค่า นี่ฉันกำลังทำบ้าอะไรอยู่? เปรียบเทียบกองกำลังทหารประจำการอยู่ประเทศ … อะไรก็ไม่รู้ … และคำถามของผู้กำกับ Claire Denis ต่อสิ่งที่นานาอารยะเคยแสวงโหยหา ‘Colonialism’ ยึดครอบครองเป็นเจ้าของ เพื่อสนองความพึงพอใจส่วนตนเท่านั้นเองนะหรือ!

หลายคนอาจรู้สึก ยังมีอีกหลายเรื่องคู่ควรกว่า “Masterpiece เรื่องสุดท้ายแห่งศตวรรษ 20” อาทิ The Color of Paradise, The Wind Will Carry Us, Eyes Wide Shut, Fight Club ฯ แต่การจัดอันดับของนิตยสาร Sight & Sound: Critic’s Poll (2012) ภาพยนตร์ปี 1999 มีเพียงเรื่องนี้เรื่องเดียวเท่านั้นนะครับ คำนิยมดังกล่าวถือว่ามาจากฝั่งนักวิจารณ์เองเลยละ

ขอเตือนไว้ก่อนว่า Beau Travail เป็นหนังที่ดูยาก มากด้วยสัญลักษณ์ภาษาภาพยนตร์ ต้องใช้การครุ่นคิดวิเคราะห์อย่างหนัก และมักตีความเข้าใจอาจแตกต่างกันไป ไม่มีถูกผิดในกรณีนี้นอกจากตัวเราเอง


Claire Denis (เกิดปี 1946) ผู้กำกับหญิงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris แต่เติบโตขึ้นตามประเทศอาณานิคมฝรั่งเศสในทวีปแอฟริกา (Colonial French Africa) สืบเนื่องจากพ่อทำงานเป็นข้าราชการ ประจำการอยู่ Burkina Faso, Cameroon, French Somaliland, Senega จนเมื่อเธอและน้องสาวเติบใหญ่ เลยย้ายกลับมาปักหลักเรียนหนังสือยังฝรั่งเศส ด้วยความใช้ชีวิตต่างประเทศเสียเคยจึงยากยิ่งจะปรับตัวปรับใจ

“When I came back to France I realised that I had seen things that other children had not seen – elephants, zebras, deserts. What other children dreamed about, I had actually seen with my own eyes”.

– Claire Denis

สิ่งบันเทิงในทวีปแอฟริกา นอกจากวิ่งเล่นสนุกสนานท่ามกลางทิวทัศนียภาพสวยๆ คือฟีล์มเก่าๆที่เพิ่งถูกส่งออกนำเข้ามาฉาย ทำให้มีโอกาสรู้จักภาพยนตร์อย่าง War and Peace (1956), Pather Panchali (1955) ฯ กลายเป็นแรงบันดาลใจเปลี่ยนจากเรียนเศรษฐศาสตร์ สู่การสร้างภาพยนตร์ยัง Institut des hautes études cinématographiques (IDHEC) จบออกมาทำงานผู้ช่วย Jacques Rivette, Costa-Gavras, Jim Jarmusch, Wim Wenders

“This is when I really fell in love with cinema. I began to love the whole process of organising the technology, the actors, and the team. For me, it is a total experience of art in action”.

สำหรับภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Chocolat (1988) กึ่งอัตชีวประวัติตนเอง เกี่ยวกับครอบครัวอาศัยอยู่ในประเทศอาณานิคม Cameroon ออกฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes และได้เข้าชิง César Award: Best First Work, ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Nenette and Boni (1996), Beau Travail (1999), White Material (2009) ฯ

Beau Travail ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า Good Work, ดัดแปลงหลวมๆจากนวนิยาย Billy Budd, Sailor (1888) ของนักเขียนสัญชาติอเมริกัน Herman Melville (1819 – 1891) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Typee (1846), Moby-Dick (1851)

Billy Budd เป็นนวนิยายเล่มสุดท้ายที่เขียนไม่จบของ Melville แต่ได้รับการยกย่องว่าคือ Masterpiece ถูกนำไปแต่งเพิ่มเติมโดย Raymond M. Weaver ศาสตราจารย์ด้านวรรณกรรมภาษาอังกฤษ แห่งมหาวิทยาลัย Columbia University ตีพิมพ์วางขายปี 1942

Denis ร่วมงานกับ Jean-Pol Fargeau นักเขียนขาประจำสัญชาติฝรั่งเศส น่าจะด้วยสาเหตุผลต้องการมุมมองผู้ชายในการรังสรรค์สร้างเรื่องราวเป็นหลัก

เรื่องราวของ Sergent Galoup (รับบทโดย Denis Lavant) จ่าทหารสัญชาติฝรั่งเศส สังกัด French Foreign Legion ประจำการยังประเทศ Djibouti ภายใต้ผู้บังคับบัญชา Lieutenant Colonel Bruno Forestier (รับบทโดย Michel Subor) การมาถึงของนายทหารใหม่ Gilles Sentain (รับบทโดย Grégoire Colin) กำลังทำให้ทุกสิ่งอย่างเปลี่ยนแปลงไป สร้างความอิจฉาริษยาต่อ Galoup หาเรื่องลงโทษทัณฑ์รุนแรง ปล่อยทิ้งท่ามกลางทะเลทรายอันร้อนระอุด้วยเข็มทิศพังๆ เมื่อความทราบถึงท่านผู้พัน ส่งกลับประเทศขึ้นศาลทหาร โทษฐานลุอำนาจเกินความถูกต้องเหมาะสม

เกร็ด: สำหรับคนนึกแผนที่ไม่ออก Djibouti อยู่ตรงไหนของทวีปแอฟริกา

Denis Lavant (เกิดปี 1961) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Neuilly-sur-Seine, Hauts-de-Seine เมื่อตอนอายุ 13 ด้วยความหลงใหล Marcel Marceau สนใจการแสดงละครใบ้ เข้าเรียน Paris Conservatoire กับอาจารย์ Jacques Lassalle ได้งานละครเวที โทรทัศน์ บทสมทบเล็กๆภาพยนตร์ Les Misérables (1982), รับบทนำครั้งแรก Boy Meets Girl (1984), ผลงานเด่นๆ อาทิ Les Amants du Pont-Neuf (1991), Beau travail (1999), Holy Motors (2012)

รับบท Sergent Galoup ผู้ทุ่มเททุกสิ่งอย่างในชีวิตให้กับอาชีพรับราชการทหาร แต่การมาถึงของลูกน้องหน้าใหม่ แก่งแย่งชิงความโดดเด่นสนใจต่อลูกน้องและผู้บังคับบัญชา ทีแรกเหมือนจะชื่นชอบกลับแปรสภาพสู่ความโกรธเกลียด ครุ่นคิดหาข้ออ้าง ลงโทษทัณฑ์อย่างรุนแรงเกินความจำเป็น ท้ายสุดย้อนแย้งผลกรรมทันควันเข้ากับตนเอง

ใบหน้าอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของ Lavant สร้างความน่าเกรงขาม ลูกผู้ชายเข้มแข็งแกร่ง เย่อหยิ่งทะนงตนในวิทยฐานะ ตำแหน่งหน้าที่การงานของตนเอง แต่ลึกๆมีบางสิ่งอย่างหลบซ่อนเร้นอยู่ภายใน ไฮไลท์คือการระบายทุกสิ่งอย่างคั่งค้างออกมา ตอนจบแบบที่ไม่มีใครคาดคิดถึงอย่างแน่นอน!

เราสามารถมองตัวละครนี้คือชายแท้ๆ ผู้มีความหวาดหวั่นกลัวเกรงต่อการสูญเสียอำนาจบารมี ขุ่นเขืองทหารหนุ่มนายใหม่ ตอนจบระบายความอึดอัดคับข้องแค้นจากภายในออกมา, ขณะเดียวกันตีความได้ถึง เกย์! แรกเริ่มตกหลุมรักทหารหนุ่มนายใหม่ แต่เกิดความขัดแย้งภายในเพราะไม่สามารถแสดงออก สัมผัสจับต้องการ (ได้แค่จ้องหน้าเดินวน) แปรสภาพสู่ความอิจฉาริษยา และตอนจบระบายความแต๋วแตก ตัวตนแท้จริงออกมาผ่านท่วงท่าลีลา


ถ่ายภาพโดย Agnès Godard ตากล้องหญิงสัญชาติฝรั่งเศส จากเคยเป็นผู้ช่วยตากล้องหนังของ Wim Wender, Joseph Losey, Peter Greenaway, Alain Resnais ฯ กลายเป็นเพื่อนสนิท/ขาประจำผู้กำกับ Claire Denis ตั้งแต่เรื่องแรก

แซว: Agnès Godard ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดใดๆผู้กำกับ Jean-Luc Godard นะครับ

หนังทั้งเรื่องถ่ายทำด้วยกล้อง Hand-Held มีความสั่นๆสมจริง ปักหลักถ่ายทำยังประเทศแถบ West African อาทิ Djibouti, Ethiopia ฯ พบเห็นทิวทัศนียภาพพื้นหลังกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ขณะเดียวกันเวลาถ่ายทำตัวละครกลับระยะประชิดใกล้ Close-Up

ไดเรคชั่นของ Denis ค่อยข้างให้อิสระนักแสดง มักมี Improvised การถ่ายทำอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเรื่องนี้ได้ตัวประกอบคนหนึ่งเป็นอดีตนายทหาร เลยให้คำแนะนำการฝึกซักซ้อมจนเป็นกิจวัตร แล้วอยู่ดีๆผู้กำกับก็ให้ Godard หยิบกล้องมาถ่ายทำ

การเคลื่อนไหวอย่างพร้อมเพรียงจนดูเหมือนมีการตระเตรียมมาอย่างดี แท้จริงแล้วเกิดจากการเปิดบทเพลงคลาสสิกบรรเลง ต้องการแค่บรรยากาศผ่อนคลาย โดยไม่รู้ตัวสร้างจังหวะขยับเคลื่อนไหวให้นักแสดง หาได้ซักซ้อมถ่ายทำหลายเทคเลยสักนิด (ส่วนใหญ่ 1-2-3 เทคเท่านั้นเอง)

มุมมอง ‘Female Gaze’ มีลักษณะเด่นที่สามารถจับจ้องได้ อาทิ
– จับจ้องเรือนร่าง(ที่มักเปลือยเปล่า ถอดเสื้อผ้า) แต่ไม่ใช่หัวนม แก้มก้น หรืออวัยวะเพศแบบตรงๆ คือส่วนที่มีกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ ดูเข้มแข็งแกร่ง ‘ลูกผู้ชาย’ นั่นคือความเซ็กซี่บุรุษ (ในนิยามของผู้หญิง)
– มุมกล้องเวลาถ่ายผู้ชาย มักมีความพยายามกด ขี่ ข่ม ก้มลง หลายๆครั้งให้เสมือนว่ามีความต่ำต้อยด้อยค่า ศิโรราบสยบอยู่ภายใต้แทบเท้า

ช็อตแรกของหนัง คือภาพวาดสีดำ(เหมือนเงามืด)บนผนังกำแพงเลือด นี่เป็นการเล่าย่อ/สะท้อนประวัติศาสตร์มนุษย์ ภาพของการยึดครอบครองเป็นเจ้าของ พบเห็นเพียงบุรุษยืนตระหง่านพร้อมอาวุธ ตระเตรียมการครอบครองเป็นเจ้าของผืนแผ่นดินอื่น หรือที่เรียกว่า ‘Colonialism’

ล้อกับท้ายเรื่องที่เป็นพระเอกเต้น ช็อตถัดมาภาพของหญิงสาว แฟนชาว Djibouti ของ Sergent Galoup เราสามารถวิเคราะห์การมีตัวตนของเธอได้สองแบบ
– หนึ่งคือ มีตัวตนจริงๆ ผู้คอยระบายตัณหาราคะ ความบันเทิงผ่อนคลายยามค่ำคืนของแฟนหนุ่ม
– สองคือ ไม่มีตัวตน ถืออีกด้านหนึ่งภายในจิตวิญญาณของ Sergent Galoup (เพศเกย์ หมายถึง มีความเป็นผู้หญิงในตนเองสูง)

การเต้น คือวิธีทางระบายออก ปลดปล่อยจิตวิญญาณของตัวละครให้เป็นอิสระ ซึ่งกลางเรื่องจะมีครั้งหนึ่ง พบเห็นหญิงสาวเต้นเซ็กซี่ต่อหน้ากระจกเงา สะท้อนนัยยะความหมายนี้ได้อย่างชัดเจน

การดำเนินเรื่องของหนังจะไม่นำเสนอรายละเอียดทุกสิ่งอย่าง บางครั้งแค่เพียงเศษเสี้ยว หนึ่งภาพ หนึ่งช็อต หนึ่งเหตุการณ์ ก็สามารถครุ่นคิดทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด

อย่างช็อตนี้กล้องค่อยๆเคลื่อนจากเงาบนพื้น พบเห็นทหารหาญยืดยืนทำสมาธิรับแสงตะวัน ราวกับ Stonehenge! รับฟังโอเปร่า Excerpts from Billy Budd (1951) ประพันธ์โดย Benjamin Britten, นี่เป็นการนำเสนอกิจวัตรยามเช้าของกองกำลังทหารฝรั่งเศส ทำในสิ่งที่เหมือนจะมิได้มีสาระประโยชน์อันใด ท่ามกลางผืนดินแดนแห่งความเวิ้งว้างว่างเปล่า

แซว: แม้การโกนศีรษะเป็นหน้าที่นายทหาร แต่ความโล่งเกรียนดูเหมือนสัญลักษณ์ ลึงค์ แห่งความเป็นบุรุษเพศ

เสียงพูดแรกของหนังมาจากคำบรรยายขณะกำลังเขียนบันทึกของ Sergent Galoup มุมกล้องเงยขึ้นราวกับกำลังพักผ่อนอยู่บนสรวงสรรค์ แสดงออกถึงความเย่อหยิ่งทะนง อำนาจบารมีของตนเอง, ขณะที่ต้นไม้ใหญ่หลงเหลือเพียงกิ่งก้านไร้ใบ ก้าวออกไปถากถางตัดออกให้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ภายนอก ทุกอย่างต้องถูกกำหนดควบคุมไว้ในมุมมองสายตาของตนเอง

เปรียบตึกร้างแห่งนี้กับประเทศด้อยพัฒนา ว่างเปล่าไม่ได้มีอะไร กองกำลังทหารซักซ้อมรบเข้าไปยึดครอบครองเป็นเจ้าของ (ถูกล่าเป็นอาณานิคม) ปักหลักตั้งถิ่นฐานทัพที่มั่น เพื่อคาดหวังใช้ประโยชน์ในอนาคตต่อไป

ฉากซ้อมต่อสู้ใต้น้ำจะพบเห็น ‘Female Gaze’ แบบเน้นๆ แหวกว่ายไปกับช็อต Close-Up เรือนร่างกายอย่างใกล้ชิด, ขณะที่เจ้ามีดอันนี้สำหรับทิ่มแทง มันก็สามารถแทนด้วยอวัยวะเพศชาย (ลึงค์) ไว้ต่อสู้ข่มกัน

ภาพถ่ายใต้น้ำ มักสื่อถึงบางสิ่งอย่างหลบซ่อนเร้นอยู่ภายใน(จิตใจ) บริบทของหนังนี้สามารถสะท้อนถึงความต้องการ ชาย-ชาย เป็นสิ่งไม่สามารถเปิดเผยบอกออกไปกับใครได้ ซึ่งจะมีช็อตถัดมาถ่ายภาพระยะไกล Commandant Bruno Forestier ยืนจับจ้องมองอยู่ตรงตาข่ายลวด ราวกับคุกที่ไม่สามารถดิ้นรนหลบหนี ได้รับอิสรภาพออกไปได้

การได้รับบาดเจ็บที่เท้าของ Gilles Sentain เหมือนถูกหนามแหลมทิ่มแทง เลือดออกราวกับเปิดบริสุทธิ์เสียตัว … ที่เหลือก็ไปจินตนาการกันต่อเองว่าสื่อถึงอะไร

ความเข้าใจของผมก็คือ Commandant Bruno Forestier คือผู้บังคับบัญชาที่เป็นเกย์ คัดเลือกสรรค์ Gilles Sentain เพื่อมาปรนเปรอปรนิบัติตนเอง การพบเจอกันยามค่ำคืนเข้าเวรขณะนี้ แฝงนัยยะถึงการมี Sex เจ้านายสูบบุหรี่กำลังได้รับความพึงพอใจ ใบหน้าครึ่งหนึ่งของทั้งคู่อาบไปด้วยความมืดมิด (กระทำบางสิ่งที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น) รับล่วงรู้ไปถึง Sergent Galoup จึงเกิดความอิจฉาริษยา เพราะตนเองไม่ใช่ลูกน้องคนสนิทหัวหน้าอีกต่อไป อันเป็นจุดเริ่มต้นของความโกรธเกลียด ครุ่นคิดวางแผนกำจัดให้พ้นทาง

งานใหม่ของกองกำลังทหาร คือขุดดินสร้างถนนเปิดช่องสำหรับขนส่งเดินทาง มองในเชิงสัญลักษณ์ถึงการนำพาความเจริญเข้าสู่ประเทศอาณานิคม … แต่นั่นมันหน้าที่ความจำเป็นของฝรั่งเศส ในการช่วยเหลือนำพาความเจริญสู่ประเทศอื่นจริงๆนะหรือ?

ฉากเดินวนรอบจับจ้องมองของ Sergent Galoup กับ Gilles Sentain สามารถตีความได้ดังนี้
– มองเผินๆ เหมือนหนึ่งในกิจวัตรของทหาร ซักซ้อมการเผชิญหน้า เตรียมต่อสู้ประชิดตัว
– การแสดงออกความตึงเครียด ขัดแย้งระหว่าง Sergent Galoup กับ Gilles Sentain จับจ้องมองราวกับจะกัดกิน เข่นฆ่ากันตาย

Sergent Galoup กำลังลงโทษนายทหารคนหนึ่งกระทำผิดกฎ ให้ขุดหลุมในบริเวณเส้นวงกลมที่เขาขีดล้อมไป สังเกตว่าภาพถ่ายจากภายในอาการผ่านหน้าต่างตรึงตาข่าย/ลวดเหล็ก นัยยะถึงมุมมองอันคับแคบจำกัดของตนละคร ทำไปนี่เพื่อสนองความพึงพอใจส่วนตนเท่านั้นเอง

นัยยะการขุดดิน ผมว่าน่าจะตรงกับสำนวน ‘ฝังตนเอง’ นำพาตนเองสู่จุดจบ หายนะ

ที่นี่คือ Salt pan หรือ Salt Flats ทะเลสาบเกลือ ใน West Africa พบเจอที่ Lake Karum, Ethiopia เป็นสัญลักษณ์รสชาติความเค็มของชีวิตที่ Gilles Sentain ได้รับการปฏิบัติจากหัวหน้า/ผู้บังคับบัญชา ขาวโพลนสุดลูกหูลูกตาด้วยความสิ้นหวัง ไร้เรี่ยวแรงชีวิตก้าวเดินต่อ

เข็มทิศพัง สัญลักษณ์ของการเดินทางอันไร้เป้าหมาย ไม่สามารถหวนกลับสู่ค่าย/กองบัญชาการ นี่เป็นการสื่อถึงอนาคตอันสิ้นหวังของกองทัพ การมีอำนาจ ความพยายามครอบงำประเทศ/ผู้อื่น ‘Colonialism’ ถึงการจุดจบสิ้น

จริงๆช็อตนี้ก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษแต่อดประทับใจในสไตล์ไม่ได้, ขณะที่ Sergent Galoup ถูกบีบบังคับให้ลาออกจากทหาร เดินทางกลับฝรั่งเศส วิธีการคือเดินทางโดยเครื่องบิน แต่หนังกลับแทรกภาพนี้เข้ามาแทน (พร้อมเสียงเครื่องบินดัง) มันสามารถเทียบแทนสัญลักษณ์การเดินทางได้เช่นกัน แต่มีความแดกดันประชดประชันแฝงอยู่ นั่นคืออนาคตอันสิ้นหวัง และฝูงอีกาเฝ้ารอวันรุมทิ้งเศษซากที่ประเทศผู้ล่าจะทอดทิ้งไว้ให้เป็นอาหารโอชา

ความรุนแรงของหนัง ถูกนำเสนอด้วยภาพแค่นี้แหละ Sergent Galoup จัดปูเตียงสำหรับเอนทอดกายครั้งสุดท้าย มือถือปืนขึ้น แล้วตัดควับไป … สรุปฆ่าตัวตายหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ ให้ไปครุ่นคิดจินตนาการกันต่อเอง

Masterpiece ของหนังคือช็อตนี้ เต้นประกอบบทเพลง The Rhythm of the Night (1993) ขับร้องโดย Corona, ว่ากันว่า Denis Lavant เต้นเทคเดียวผ่าน นี่มันระดับโปร!

เห็นว่าในบทหนัง ความแต๋วแตกของ Sergent Galoup จะเกิดขึ้นก่อนเขาฆ่าตัวตาย แต่ผู้กำกับเกิดความลังเลเปลี่ยนใจมาใส่เป็น Ending Shot นี่ทำให้นัยยะความหมายเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง
– คือถ้าใส่ก่อนฆ่าตัวตาย นี่ก็แค่การระบายปลดปล่อยตนเอง
– แต่เมื่อใส่มาท้ายที่สุด เพิ่มเติมคือจิตวิญญาณได้รับอิสรภาพ และมีความเป็น ‘Dance of the Death’

ไม่เพียงเท่านั้น ระหว่างกำลังเต้นอย่างเมามัน อยู่ดีๆ Closing Credit ปรากฎขึ้น และผ่านไปอีกสักพักตัดกลับมาแดนซ์ต่อ! นั่นเป็นจุดจบที่ไม่ใช่จุดจบ คือการเริ่มต้นใหม่ของบางสิ่งอย่างที่สูงส่งกว่าความตาย

และที่สุด ผมขอเรียกการเต้นนี้ว่า “Dance of Century” การเต้นที่สามารถสะท้อนถึงจุดจบของยุคสมัย การล่าอาณานิคม และศตวรรษ 20 มันช่างเหมาะกับคำนิยมหนังที่ว่า ‘Masterpiece เรื่องสุดท้ายแห่งศตวรรษ 20’

หนังใช้เวลาถ่ายทำไม่เท่าไหร่ แต่ผู้กำกับให้เวลาการตัดต่อโดย Nelly Quettier ทดลองโน่นนี่นั่น ปรับเปลี่ยนแปลงจนมีความแตกต่างไปจากบทหนังดั้งเดิมพอสมควร

ดำเนินเรื่องผ่านเสียงพูดซึ่งดังขึ้นจากการจดบันทึกไดอารี่ของ Sergent Galoup ตั้งแต่การมาถึงของ Gilles Sentain สร้างความเปลี่ยนแปลงให้บังเกิดขึ้น จบสิ้นที่การปลิดชีวิตฆ่าตัวตายของเขาเอง

หลายคนอาจรู้สึกเบื่อหน่ายกับการร้อยเรียงภาพกิจวัตรประจำวันของทหารหาญ แต่นั่นคือความงดงามต่อเนื่องของหนัง ที่ชักชวนผู้ชมตั้งคำถามถึงสาระความจำเป็น เอาเวลาไปทำอย่างอื่นไม่ดีกว่าหรือ?


สำหรับเพลงประกอบ แทบทั้งหมดสามารถมองว่าคือ Diegetic Music ดังผ่านวิทยุ ผับบาร์ โดยเนื้อคำร้องมักมีใจความสอดคล้อง/สะท้อนเข้ากับเรื่องราวขณะนั้นๆ ประกอบด้วย
– Simarik ขับร้องโดย Tarkan, บทเพลงเต้นตอนต้นเรื่อง ที่มีจ๊วบๆจุ๊บๆ
– Tourment d’amour ขับร้องโดย Franky Vincent
– Excerpts from Billy Budd โอเปร่าของ Benjamin Britten ได้ยินตอนยืนยืดรับแดด ออกเดินทางสู่ Djibouti
– บทเพลงเต้นตอนจบ The Rhythm of the Night ขับร้องโดย Corona
ฯลฯ

Beau Travail คือเรื่องราวของชายคนหนึ่งที่ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของบางสิ่ง แต่เมื่อไม่อาจสำเร็จลุล่วงแปรสภาพสู่ความขุ่นเคืองคับข้องแค้น ระบายแสดงออกด้วยความก้าวร้าวคลุ้มคลั่ง เป็นเหตุให้เกิดโศกนาฎกรรมย้อนแย้งตามมา

ที่ผมอธิบายด้วยความหมายกว้างๆ เพราะอยากชี้ชักนำให้เห็นว่า ไม่จำเป็นที่เราจะต้องตีความหนังในมุม ‘Male Identity’ เท่านั้น เพราะเป้าปลายแท้จริงของผู้กำกับ Claire Denis ถือเป็นลายเซ็นต์ประจำตัว คือเปรียบเทียบความต้องการยึดครอบครองเจ้าของ ไม่แตกต่างอะไรกับ ‘Colonialism’ การล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ด้วยข้ออ้างเผยแพร่วัฒนธรรมความเจริญ แท้จริงเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ เอารัดเอาเปรียบประเทศด้อยพัฒนา

ฝรั่งเศสเข้ายึดครองดินแดนแถบ West African (ฉายา Horn of Africa) ที่ขณะนั้นมีเพียง Ethiopia เป็นศูนย์กลางตั้งชื่อว่า French Somaliland (1894–1967) ปรับเปลี่ยนให้ Djibouti City จากเมืองท่าเล็กๆสู่ศูนย์กลางขนส่งทางเรือ แออัดคับคั่งไปด้วยพ่อค้าแม่ขายจากโดยรอบทวีป, ช่วงระหว่างสงครามครั้งที่สอง อาณานิคมนี้ถูกอิตาลีเข้ายึดครอง กระทั่งความพ่ายแพ้ฝ่ายอักษะจึงหวนกลับสู่ฝรั่งเศสอีกครั้ง จนได้รับอิสรภาพเมื่อปี 1967 และแยกตัวออกประเทศ Djibouti ปี 1977

การกระทำอะไรหลายๆอย่างของกองกำลังทหาร กิจวัตรประจำวัน, ขุดดิน สร้างถนน, ลงโทษทัณฑ์ ฯ ล้วนสะท้อนความไร้สาระ ไม่จำเป็นต้องมีตัวตนอยู่ในประเทศแห่งนี้ด้วยซ้ำ เพราะผืนแผ่นดินแดนโดยรอบล้วนมีเพียงความเวิ้งว้างว่างเปล่า ใครไหนจะโง่งี่เง่าไปสร้างเมืองอาศัยอยู่!

การให้ตัวละคร Sergent Galoup มีสถานะกึ่งกลางระหว่างผู้บังคับบัญชา Commandant Bruno Forestier และลูกน้องนายทหารทั้งหลาย (โดยมี Gilles Sentain เป็นตัวแทนพลทหาร) ชี้ชักนำให้เห็นว่า การใช้อำนาจปกครองผู้อื่น ในทางที่ดีย่อมเป็นที่รักใคร่ ตรงกันข้ามแสดงออกด้วยความเห็นแก่ตัว/คอรัปชั่นเมื่อไหร่ กรรมจากเบื้องบนย่อมชักนำพาให้ย้อนกลับมาคืนสนอง

เมื่อฝรั่งเศสถูกบีบจากนานาอารยะ พร้อมการลุกฮือขึ้นมาประท้วงต่อต้านของเหล่าอาณานิคม เป็นเหตุให้ต้องยินยอมปลดปล่อยมอบอิสรภาพหวนคืนกลับสู่เจ้าของเดิม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเหมือนหมาขี้แล้วสะบัดตูดหนี ทอดทิ้งความขัดแย้งวุ่นวายให้เกิดขึ้นพลันวัน ดินแดนแถบ French Somaliland นี่ระดับหายนะเลยนะ Djibouti โชคดีที่เป็นเมืองท่า ทั้งยังสามารถแยกตัวออกจาก Ethiopia ได้สำเร็จ ใครรู้จักประเทศ Somalia ฉายา ‘โจรสลัดแห่งศตวรรษ 20’ นั่นคือตัวอย่างความล่มจม อันมีต้นสาเหตุจากยุคสมัยล่าอาณานิคม


หลายคนเกาหัวจนล้าน ก็อาจไม่เข้าใจว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ Masterpiece เช่นไร? ขอยกเอา 3 เหตุผลบอกกล่าว
1) ปกติแล้วหนังเกี่ยวกับทหารมักสร้างขึ้นโดยผู้ชาย แต่เรื่องนี้ผู้กำกับหญิง เป็นการนำเสนอมุมมองอันแตกต่าง ไร้ซึ่งภาพความรุนแรงอย่างมีสไตล์ และแทนที่จะนำเสนอดี-ชั่ว ถูก-ผิด จำเป็น-ไร้สาระ เลี่ยงเบี่ยงเบนสู่เรื่องราวธรรมดาสามัญ ชีวิตประจำวันทหาร แล้วให้ผู้ชมครุ่นคิดทำความเข้าใจทุกสิ่งอย่างด้วยมุมมองของตนเอง

2) ความโดดเด่นที่เป็นของคู่กันคือการถ่ายภาพของ Agnès Godard ด้วยลักษณะ ‘Female Gaze’ มีการจัดวางองค์ประกอบอย่างมีสไตล์ แปลกแตกต่างจากมุมมองสายตาผู้ชายกำกับภาพเป็นไหนๆ

3) ตอนจบที่หลุดโลกไปเลย ทำให้คนที่เบื่อหน่ายา เกลียดชังความเฉื่อยชาอะไรก็ไม่รู้ ยังต้องอึ้งทึ่งคาดคิดไม่ถึง แม้งอะไรว่ะ! เป็นภาพแทนจุดสิ้นสุดศตวรรษ 20 ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

เกร็ด: ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างแรงบันดาลใจให้ Greta Gerwig กลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ น่าจะเป็นเรื่องโปรดของเธอด้วยกระมัง

ทีแรกผมไม่ได้ชื่นชอบหนังเรื่องนี้สักเท่าไหร่หรอกนะ แต่หลังจากผ่านการครุ่นคิด วิเคราะห์ เกิดความเข้าใจ ตระหนักได้ถึงความลุ่มลึกล้ำ งดงามสมบูรณ์แบบในอีกมุมมองแตกต่าง คำเรียก “Masterpiece เรื่องสุดท้ายแห่งศตวรรษ 20” ไม่ผิดเลยนะถ้าสามารถทำความเข้าใจได้ถึงจุดนี้

แนะนำคอหนัง Art House ชื่นชอบการครุ่นคิดวิเคราะห์ แฝงประเด็นชาย-ชาย Colonialism ในมุมมองผู้กำกับหญิง Claire Denis, และแฟนๆนักแสดง Dennis Lavant, Michel Subor ไม่ควรพลาด!

จัดเรต 18+ กับบรรยากาศความคลุมเคลือ เนื้อหาสาระแฝงความรุนแรง และเรือนร่างเปลือยอกผู้ชาย

คำโปรย | มุมมองผู้กำกับ Claire Denis ต่อบุรุษเพศ สงคราม และการล่าอาณานิคม ต้องยกย่องสรรเสริญเลยว่า Beau Travail!
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: