Beauty and the Beast (1991)
: Gary Trousdale, Kirk Wise ♥♥♥♡
คนจะงาม งามที่ใจ ใช่ใบหน้า
คนจะสวย สวยจรรยา ใช่ตาหวาน
คนจะแก่ แก่ความรู้ ใช่อยู่นาน
คนจะรวย รวยศีลทาน ใช่บ้านโต
สุภาษิตสอนหญิงของไทย มีความหมายเปรียบได้กับเรื่องราวของ โฉมงามกับเจ้าชายอสูร ผลงานอนิเมชั่นชื่อดังของ Disney ที่มีความสวยงาม ถึงขนาดเป็นหนังอนิเมชั่นเรื่องแรกที่ได้เข้าชิง Oscar สาขา Best Picture และทำรายรับเกิน $100 ล้าน ในอเมริกา
ผมชอบแนวคิดของอนิเมะเรื่องนี้นะ แต่นอกจากบทเพลง Beauty and the Beast ก็ไม่มีอะไรที่ทำให้ผมรู้สึกพึงพอใจได้อีกเลย อาทิ เพลงประกอบทั้งหลายที่คุ้นหู เหมือนเคยได้ยินมาจากหนังเรื่องอื่นแทบทั้งนั้น และเนื้อเรื่องที่มันมีบางสิ่งบางอย่างที่ขาดหายไปไม่เต็มอิ่ม แต่ผมก็ยอมรับในความสวยงามของอนิเมะเรื่องนี้นะครับ ไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถเป็นอนิเมชั่นเรื่องแรกที่สามารถเข้าชิง Oscar สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีได้หรอก
อีกอย่างหนึ่งที่ผมคงต้องรีบชิงพูดไว้ก่อน หนังเรื่องนี้ไม่ได้มีความ Racist แน่ๆ เพราะนาย Walt Disney ณ ขณะนั้นเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว และหนังของสตูดิโอ Disney ก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเยอะ อนิเมะมีใจความที่หลากหลายมากขึ้น กระนั้นมันก็ยังสามารถตีความในแง่มุมอื่นที่ดูเลวร้ายได้ ผมจะเล่าแนวคิดเหล่านั้นให้ฟังด้วย เพื่อให้เห็นทุกแง่มุมของของหนัง อ่านจบแล้วจะยังชอบอยู่หรือเกลียดไปเลยก็อย่ามาโทษกันนะครับ ถือว่าเตือนแล้ว!
Walt Disney เคยมีความสนใจจะดัดแปลง Beauty and the Beast เป็นอนิเมะตั้งแต่เขามีชีวิตอยู่ แต่เมื่อเอาไปให้ทีมนักเขียนบท พวกเขาไม่สามารถดัดแปลงเรื่องราวให้เป็นที่พอใจได้ ผมจินตนาการไม่ออกเลยว่านาย Walt Disney ที่โคตร Racist จะสามารถดัดแปลงเรื่องราวที่ anti-Racist ออกมาได้ได้ยังไง
ปี 1987 หลังจาก Disney สร้างหนัง Live-Action เรื่อง Who Framed Roger Rabbit กำกับโดย Robert Zemeckis ตัวละคร Roger Rabbit นั้นเป็นอนิเมชั่น 2d สร้างโดยสตูดิโอลูกของ Disney ใน London, England กำกับโดย Richard Williams ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี จนทำให้ได้รับข้อเสนอให้เป็นผู้กำกับ Beauty and the Beast ตอนแรกก็ตกลงรับปาก แต่ภายหลังเปลี่ยนใจ แล้วแนะนำ Richard Purdum ที่เป็น animator ผู้ช่วยเขาให้ทำหน้าที่กำกับแทนใน
นี่ถือเป็นหนังอนิเมชั่นเรื่องแรกที่มีการไปจ้างนักเขียนบทจริงๆ Linda Woolverton ให้มาช่วย’เขียน’บทภาพยนตร์, ปกติแล้วอนิเมะของ Disney จะใช้การวาด storyboard ที่เป็นภาพวาดเลย ไม่มีบทหนังที่เป็นตัวหนังสือ นี่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของดิสนีย์และวงการอนิเมชั่นเลยละ
กระนั้นฉบับร่างของหนังก็ถูก Jeffrey Katzenberg ที่เป็น Chairman ของ Disney สั่งให้เริ่มทำทุกอย่างใหม่หมด สร้างความไม่พอใจให้ Purdum จนลาออกจากตำแหน่งผู้กำกับ (เห็นว่าเพราะหนังหม่น dark เกินไป) Disney จึงตัดสินใจเลือก Kirk Wise กับ Gary Trousdale ที่เพิ่งมีผลงานจากการกำกับหนังสั้น Cranium Command ให้มากำกับหนังใหญ่เป็นครั้งแรก
ดัดแปลงมาจาก La Belle et la Bête โฉมงามกับเจ้าชายอสูร นิทานเทพนิยายพื้นบ้านแฟนตาซี เขียนโดย Gabrielle-Suzanne Barbot de Villeneuve ชาวฝรั่งเศส ตีพิมพ์เมื่อปี 1740 ได้รับการปรับปรุงโดย Jeanne-Marie Leprince de Beaumont ตีพิมพ์ในปี 1756 เวอร์ชั่นหลังถือว่าเป็นฉบับที่ได้รับความนิยมทั่วโลกสูงสุด และเป็นเวอร์ชั่นที่ถูกใช้อ้างอิงเพื่อดัดแปลงเป็นอนิเมชั่นเรื่องนี้
ก่อนหน้านี้มีการดัดแปลง La Belle et la Bête เป็นภาพยนตร์มาแล้ว 2-3 ครั้ง แต่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดมีครั้งเดียวฉบับภาษาฝรั่งเศส La Belle et la Bête (1946) โดยผู้กำกับ Jean Cocteau ผมเขียนถึงเรื่องนี้ไว้แล้วนะครับ ลองค้นๆย้อนหาดู
สำหรับนักพากย์ บท Belle ทีแรก Disney ตั้งใจจะใช้บริการ Jodi Benson ที่พากย์ The Little Mermaid มา แต่ก็ตัดสินใจเปลี่ยนเป็น Paige O’Hara นักแสดง Broadway ด้วยเหตุผลที่ ต้องการให้เสียงพากย์ของ Belle ออกมาเป็นผู้หญิง มากกว่าเด็กหญิง (more like a woman than a girl) ผู้กำกับ Wise แสดงความเห็นต่อเสียงของเธอว่า มีความโดดเด่น และโทนเสียงของเธอมีความพิเศษ ที่คล้ายๆกับ Judy Garland (had a unique quality, a tone she would hit that made her special) ตัวละครนี้ถือว่ามีความแตกต่างจากตัวละครอื่นๆในหนัง เราจะเห็นตอนต้นเรื่องชุดของเธอเป็นสีฟ้า ขณะที่ตัวละครอื่นๆในหมู่บ้านจะเป็นโทนสีน้ำตาลอ่อนๆ นิสัย ความคิดก็ต่างจากคนอื่น เพราะเธอชอบอ่านหนังสือ ทำให้มีจินตนาการถึงโลกภาพนอก มีความเพ้อฝัน เธอเป็นหนึ่งในนางเอกของ Disney ไม่กี่คนที่มีพื้นหลังเป็นคนธรรมดาสามัญ แต่ภายหลังเธอได้กลายเป็นเจ้าหญิงจริงๆเสียนี่
The Beast พากย์โดย Robby Benson เสียงของเขามีความใหญ่แต่อบอุ่น (big voice and the warm, accessible side) ราวกับคุณสามารถได้ยินเสียงของเจ้าชายที่อยู่ภายในขนของสัตว์ประหลาด (you could hear the prince beneath the fur) การออกแบบตัวละคร The Beast มีส่วนผสมของสัตว์ป่าหลายๆชนิด เช่น เขา มาจาก American bison (กระทิง), มือและลำตัวเหมือนหมี, หูเหมือนกวาง, ตาเหมือน gorilla, เขี้ยว ฟัน คางเหมือนเสือ, ขาและหางเหมือนหมาป่า คนที่ออกแบบตัวละครนี้คือ Chris Sanders
เดิมทีนิทานต้นฉบับมีแค่ตัวละคร 2 ตัวเท่านั้นไม่มีตัวร้าย Disney เลยตัดสินใจสร้างตัวร้ายขึ้นมาชื่อ Gaston พากย์โดย Richard White ซึ่งดันไปคล้ายกับ Beauty and the Beast (1946) ที่เป็น Live-Action ของฝรั่งเศสเข้าโดยบังเอิญ ชายผู้ต้องการแต่งงานกับ Belle ไม่ใช่เพราะหน้าตาแต่เพราะเขาต้องการแบบนั้น ตัวละครนี้ถือว่าขัดกับธรรมเนียมตัวร้ายของ Disney เพราะปกติตัวร้ายจะหน้าตาหน้ากลัว ทำอะไรที่ชั่วร้าย แต่ Gaston ตัวละครนี้ถือว่าหน้าตาหล่อเหลา ร่างกายกำยำ ล่ำสัน แต่เพราะความที่เขามี Ego ในตัวเองสูงมากๆ จึงเป็นคนเห็นแก่ตัวสุดๆ
ในฉบับนี้ ผมไม่รู้สึกเท่าไหร่ว่า Gaston แสดงออกเป็น homosexual แต่ความต้องการ Belle ของเขา ไม่ได้มีลักษณะแบบตกหลุมรักหรือชายต้องการหญิง แค่ต้องการครอบครองสิ่งที่เห็นว่าทรงคุณค่ากับตน (ออกไปทาง narcissists หลงตัวเองมากกว่า)
ฉากเต้นรำ (ballroom dance) ระหว่าง Belle กับ The Beast เราจะเห็นภาพมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง (dolly) ราวกับเป็นภาพ 3 มิติ นั่นเพราะฉากนี้เป็นการร่วมมือกับ Pixar (ตอนนั้นเพิ่งเริ่มก่อตั้งเป็น Studio ย่อยของ Disney) ที่ได้พัฒนาโปรแกรม CAPS (Computer Animation Production System) โดยการใช้คอมพิวเตอร์สร้างภาพ 3 มิติขึ้นมา ผสมกับภาพ 2 มิติ เพื่อลดปริมาณการวาดภาพในซีนนั้นลง นี่ถือเป็นเรื่องที่ 2 ที่มีการใช้เทคนิคนี้ต่อจาก The Rescuers Down Under ผลลัพท์ออกมาทำได้น่าประทับใจมาก ถือเป็นงานแรกๆของ Pixar และเป็นจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์ 3 มิติ
นอกจากเข้าชิง Oscar สาขา Best Picture แล้ว Beauty and the Beast ยังได้เข้าชิงอีก 6 รางวัล 3 สาขา ด้านเทคนิคเสียงทั้งหมด Best Sound Mixing (ไม่ชนะ), Best Music: Original Score (ชนะ), และ Best Music:Original Song สาขาสุดท้ายนี้ได้เข้าชิงถึง 3 เพลง คือ Belle, Be Our Guest และ Beauty and the Beast เพลงที่ชนะคือ Beauty and the Beast นี่ถือเป็นปัญหาใหญ่ของ Oscar สาขาเพลงเลย เพราะตอนนั้นยังไม่มีการกำหนดว่า หนัง 1 เรื่องจะสามารถส่งเพลงให้เข้าชิงได้สูงสุดเท่าไหร่ หลังจากปีนั้นมา Oscar จึงออกข้อจำกัดให้หนัง 1 เรื่องสามารถส่งเพลงเข้าชิงสาขานี้ได้สูงสุดแค่ 2 เพลงเท่านั้น
เพลงประกอบโดย Alan Menken และ Howard Ashman ทั้งสองเป็นแค่เพื่อนสนิทกันนะครับ ได้ร่วมงานกับ Disney ครั้งแรกใน The Little Mermaid ขณะนั้น Ashman ไปตรวจเลือดและพวกว่าตัวเองเป็น AIDS ตอนทำ Beauty and the Beast ร่างกายเขาอ่อนแอมากๆ แต่ก็ยังสามารถสร้างสรรค์ผลงานจนเสร็จได้ เขาเสียชีวิตก่อนที่หนังจะฉาย ในเครดิตช่วงท้ายหนังจะมีข้อความขึ้นเขียนถึง Ashman ว่า “To our friend Howard, who gave a mermaid her voice and a beast his soul, we will be forever grateful. Howard Ashman 1950–1991.”
ผมเชื่อว่า ทุกคนที่ดูอนิเมชั่นเรื่องนี้ต่างน่าจะพอคิดได้ว่า ‘ความสวยงามไม่ได้อยู่แค่บนใบหน้า แต่อยู่ลึกในจิตใจ’ ความงามนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ใครๆจะพบเห็นได้ตั้งแต่เจอกันครั้งแรก เป็นเรื่องปกติที่เมื่อเราเห็นคนที่หน้าตาอัปลักษณ์ ย่อมจะคิดว่าจิตใจเขาต้องเป็นเช่นนั้น เพียงถ้าเราไม่ปิดโอกาส เปิดใจให้ได้รู้จัก มนุษย์ทุกคนย่อมมีความดีงามอยู่ในตัว ไม่แน่ว่าข้างในของเขาอาจมีความสวยงามในระดับที่เราไม่เคยพบเห็นเลยก็ได้
ความสวยของ Belle อาจตีความเชิงสัญลักษณ์ได้ถึง จิตใจที่บริสุทธิ์ เป็นธรรมชาติ, ความน่าเกลียดของ Beast แสดงถึงความเห็นแก่ตัว เป็นนิสัยอยู่ภายในจิตใจ, ดอกกุหลาบ เป็นสัญลักษณ์ของความหวัง คือตัวตนที่แท้จริงของ Beast ที่ยังมีความดีงามอยู่ แต่เมื่อใดที่ดอกไม้ร่วงหล่นหมดไป ก็เท่ากับความสิ้นหวังกลืนกินหัวใจของเขาไปจนหมดสิ้น
โลกสวยจบแค่นี้นะครับ ต่อไปเป็นอีกมุมหนึ่งของอนิเมะ
มันมีความเป็นไปได้ที่ Belle จะหลงรักคนที่โคตรเห็นแก่ตัวแบบ Beast หรือ? ก็น่าคิดนะครับ ถ้าเรามองอนิเมชั่นเรื่องนี้ว่าเป็นแฟนตาซี มันสามารถจะมองข้ามเหตุผลเหล่านี้ไปได้เลย แต่กับคนที่คิดมาก Beast ตอนเขาเป็นมนุษย์มีความเย่อหยิ่ง จองหอง เห็นแก่ตัว (narcissistic man) พอกลายมาเป็นสัตว์ประหลาด ก็รับตัวเองไม่ได้ สิ้นหวัง กลายเป็นคนขี้โมโห ฉุนเฉียว ผมไปอ่านเจอบทความของโรค Narcissistic Personality Disorder (NPD) ซึ่งเทียบกับตัวละคร Beast ได้ตรงๆเลย วิธีการที่จะรักษาคนป่วยเป็นโรคนี้ยากมากๆ เพราะเขารักตัวเองมากกว่าสิ่งอื่นใดในโลก การที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะสามารถเปลี่ยนผู้ชายประเภทนี้ได้ จะต้องสอนให้เขารู้ที่จะ ‘รัก’ เธอ ซึ่งเอาจริงๆมันก็อาจจะมีแค่วิธีเดียวเท่านั้นที่สามารถทำสำเร็จได้คือ sex
ใช่แล้วครับ อ่านไม่ผิดหรอก บทความที่ผมไปอ่านเจอยังบอกด้วยว่า แนวโน้มของผู้ชายที่สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองให้รักคนอื่นได้ ไม่ใช่ว่าเขาจะเป็นคนดีขึ้นฉับพลัน แต่ยังมีการใช้ความรุนแรง ที่อาจทำร้ายร่างกาย หรือต่อการกระทำทางเพศที่รุนแรง … ไปกันใหญ่เลยนะครับ เหตุการณ์สวยๆงามๆแบบในหนังไม่มีทางเกิดขึ้นในชีวิตได้อย่างแน่นอน
มีคนเปรียบความ narcissists ของ beast คือการกระทำของเด็กๆ ‘ดอกกุหลาบสีแดง จะร่วงหล่นโรยราเมื่อเขาอายุได้ 21 ปี’, กุหลาบสีแดง คือพรหมจรรย์ เลือดและความบริสุทธิ์ ไม่ใช่ของ Belle นะครับ บริบทนี้คือ Beast, ต้องเสียความบริสุทธิ์ให้ได้ก่อนอายุ 21 ถึงจะพ้นคำสาป คำสาป คือหายจากการเป็น narcissists, ทำไมต้องตอนอายุ 21 ? เพราะเป็นอายุที่ถือว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว, สรุปใจความได้คือ การจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่เด็กชายต้องเสียความบริสุทธิ์
ความรักของ Belle เกิดจากความที่เธอเป็นพวก Sado/Maso คือชื่นชอบความแปลกประหลาด, ในตอนแรกถูกคุมขัง พยายามขัดขืนหลบหนี แต่พอเห็น Beast กระทำการช่วยเหลือตนเองก็กลับตกหลุมรัก ในทางจิตวิทยาถือว่าหญิงสาวต้องมีความอัปลักษณ์อยู่ในจิตใจระดับหนึ่ง ถึงสามารถตกหลุมรักคนที่ภายนอกไม่มีอะไรดีเลยได้, และยิ่งถ้าผสมเข้ากับประเด็นใน 2-3 ย่อหน้าที่ผมว่ามา นั่นแปลว่า Belle ต้องได้รับการตอบสนองทางเพศที่รุนแรงและพึงพอใจสุดๆ ถึงเริ่มตกหลุมรักกับ Beast
นี่เป็นหนังอนิเมชั่นอีกเรื่องที่มีใจความแฝงอันชั่วร้าย แต่ส่วนตัวผมไม่มีอคติกับใจความแฝงนี้เท่ากับการเหยียด (Racist) ของหนัง Disney ยุค Walt Disney นะครับ คงเพราะผมมองว่า มันไม่ได้เป็นการไปดูถูกคนอื่น หรือไปสร้างความเสียหายให้ใคร พรหมจรรย์เป็นของส่วนตัว ความรักก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล เรื่องราวของหนังก็เป็นการสานสัมพันธ์ให้เกิดความเข้าใจ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่อยู่ดีๆปุ๊ปปับใช้กำลังบังคับ และตอนจบก็ถือว่า สมยอมทั้งสองฝ่าย แบบนี้ผมจะไปมองเชิงอคติได้ยังไง
มีอีกมุมหนึ่งที่ผมไปเจอมา Beast นั้นอาจมีความหมายถึงโรค AIDS แนวคิดนี้เชื่อว่าอาจเกิดจากการเสียชีวิตของ Howard Ashman ในหนังจะมีเพลงอย่าง Kill the Beast ซึ่งสะท้อนได้ถึงความคิดของคนยุคนั้นต่อผู้ป่วยโรค AIDS ที่มีความหวาดกลัว(เพราะความไม่รู้) ตอนที่ prince ถูกสาปกลายเป็น Beast มันมีแค่ร่างกายภายนอกที่เปลี่ยนไป แต่จิตใจของเขาก็ถูกกัดกร่อนไปด้วยความคิดที่สิ้นหวัง เหมือนคนป่วยที่พอรู้ว่าตัวเองเป็นโรคก็หมดอาลัยตายอยาก Belle เป็นตัวละครที่เป็นเหมือนสะพานเชื่อมความเข้าใจระหว่างผู้ป่วยกับคนปกติ ส่วน Gaston ก็ชัดเจนว่าเป็นคนที่ดูแคลนผู้อื่น และแสดงออกถึงความรังเกียจ
ใครอยากอ่านบทวิเคราะห์หนังต่อโรค AIDS คลิกลิ้งค์ไปอ่านได้เลยนะครับ http://www.sexualfables.com/beauty_and_the_beast.php
ตอนที่ Gaston ตกเหวไปนั้น ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นดวงตาของเขามีรูปหัวกระโหลก เป็นการแอบบอกไว้ว่าหมอนี่ตายแน่นอน ในบทหนัง เห็นว่า Gaston ตกเหวไปแล้วยังไม่ตายนะครับ เขาจะยังมีชีวิตรอด แต่จะถูกหมาป่ารุมกัดตาย ฉากนี้ถูกตัดออก เพราะมันโหดกับเด็กๆไปเสียหน่อย
Delete Scene อีกฉากที่หายไป คือเพลง Human Again ผมได้ดูเวอร์ชั่น 2002 restored ที่ผู้กำกับ Wise และ Trousdale คุยกันเล่นๆแต่เอาจริง ใส่เพลงนี้เพิ่มเข้ามาและทำแอนิเมชั่นให้ใหม่ด้วย สาเหตุที่เพลงนี้ถูกตัดในเวอร์ชั่นต้นฉบับเพราะมันไม่เข้ากับหนัง (it didn’t quite fit) ผมก็ไม่เห็นความจำเป็นของฉากนี้นะครับ มีก็ได้ไม่มีก็ได้
ด้วยทุนสร้าง $25 ล้าน Beauty and the Beast ทำเงินในอเมริกาไป $145 ล้าน และทั่วโลก $351 ล้าน ถือว่าเป็นหนังอนิเมชั่นเรื่องแรกที่สามารถทำเงินเกิน $100 ล้าน และทำเงินสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของปี 1991 เป็นรอง Terminator 2: Judgment Day และ Robin Hood: Prince of Thieves อนิเมะมีการฉายซ้ำ re-release ฉาย IMAX และทำ 3D ด้วย (แปลกๆนะ อนิเมะ 2d ทำฉาย 3d)
ขอแนะนำหนังเรื่องนี้กับทุกคน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ว่าไปนี่ถือเป็นอนิเมะเรื่องแรกของโลกเลยกระมัง ที่มีเนื้อหาไม่ใช่แค่ต่อเด็กๆเท่านั้น แต่ผู้ใหญ่ที่ได้ดูก็จะได้ข้อคิดที่มองเห็นได้มากกว่าแค่ความบันเทิง ถ้าเรามองไม่เห็นความหมายแฝงของหนัง ก็สามารถข้ามมันไปได้เลย จัดเรต PG ไว้เผื่อเพราะมีฉากที่แฝงความรุนแรง โดยเฉพาะการกระทำของ Gaston ผมว่าผู้ใหญ่ดูกับเด็ก แนะนำเขาไปด้วยสักหน่อยก็ดีนะครับ
คำโปรย : “Beauty and the Beast ความงามอยู่ที่ภายใน แต่ต้องเปิดใจถึงจะมองเห็น”
คุณภาพ : SUPERB
ความชอบ : LIKE
Leave a Reply